แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๑ ผู้ที่จะบวชเพื่อเป็น "พระแท้" ในพระพุทธศาสนาต้องสละทางโลกทุกอย่าง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ผู้ที่จะบวชในพระพุทธศาสนา ต้องสละทางโลกทุกอย่าง เช่น ไม่รับเงินรับทองหรือให้ผู้อื่นรับไว้เพื่อตน ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ฟังวิทยุ ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่เล่นคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่ให้ติดต่อกับผู้หญิง ทั้งหมดนี้เป็นความเสื่อม ความเศร้าหมอง สำหรับผู้ที่จะบวชประพฤติพรหมจรรย์ ก่อนจะบวชต้องไปอยู่วัดเป็นนาคถือศีล ๘ ฝึกท่องคำขานนาค และฝึกทานข้าววันละครั้งเดียวเหมือนกับพระ ตื่นแต่เช้าทำวัตรสวดมนต์ ฝึกห่มผ้า ครองผ้า ล้างบาตร เช็ดบาตร รักษาบาตร รักษาผ้าจีวร ศึกษาพระวินัยและมารยาทของความเป็นพระให้เข้าใจ เมื่อบวชเป็นพระจะได้ปฏิบัติไม่ผิดพลาด เมื่อฝึกได้ดีแล้ว ครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนเห็นสมควรจึงจะให้บวชได้.
บวชใหม่ต้องฝึกปฏิปทาถือนิสัยของความเป็นพระให้ดีๆ บวชมาใหม่หรือเป็นพระที่มีพรรษาน้อยๆ เบื้องต้นต้องฝึกปฏิปทาถือนิสัยของความเป็นพระให้ดีๆ ต้องสวดมนต์ทำวัตรเช้าวัตรเย็น ปัดกวาดเช็ดถูโบสถ์ ศาลา ลานวัด ล้างห้องน้ำ อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ บิณฑบาตทุกๆ วัน เวลาออกไปบิณฑบาตและกลับจากบิณฑบาตให้รับบาตรครูบาอาจารย์ ไม่ให้นำอาหารหรือน้ำปานะไปฉันที่กุฏิ ต้องรักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ปฏิบัติวัตร ๑๔ และศีลอภิสมาจารมารยาทของความเป็นพระ ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง เป็นศีลขาดด่างพร้อยมีมลทิน ฝึกกราบฝึกไหว้ให้ได้มาตรฐาน เวลาจะพูดกับพระที่บวชก่อนต้องประนมมือ ไม่ให้นั่งสูงกว่าผู้ที่บวชก่อน เวลาทำอะไรเกี่ยวข้องกับพระที่บวชก่อนต้องขอโอกาสก่อนทุกครั้ง เวลาพูดต้องใช้คำศัพท์ เช่น ครับ ผม ท่าน ฝึกไม่ให้พูดเรื่องทางโลก พูดได้เฉพาะเรื่องทางธรรม ถ้าไม่มีกิจธุระจำเป็นก็ไม่ต้องพูด ฝึกเดิน ยืน นั่ง นอน ห่มผ้าให้เรียบร้อย ให้สำรวมระวังรักษาศีลสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ให้มันได้ทุกสิกขาบท เวลาฉันเวลาดื่มต้องนั่งฉันนั่งดื่มให้เรียบร้อย ไม่ให้ยืนฉันยืนดื่ม เวลาปัสสาวะก็ต้องนั่งให้สำรวมระวัง ฝึกถือธุดงควัตร ฝึกอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ สิ่งไหนที่ไม่ดีเราอย่าไปคิด ให้ฝึกสวดมนต์ สวดท่องพระปาฏิโมกข์ให้ได้ ฝึกเย็บผ้าสบง จีวร ทำขาบาตร ทำร่มกลด ฝึกรักษาผ้าจีวร รักษาบาตร ฝึกปลงผมเอง ฝึกเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตัวต้องทำตัวเหมือนผู้ใหม่เสมอ ถ้าเรามองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ เราจะเป็นพระเป็นเณรที่ไม่มีพื้นฐาน
เขาจะปลูกบ้านสร้างเมืองวัตถุถาวรอะไรก็ต้องมีพื้นฐาน เช่น ความคิดของเรานั้นถ้าอันไหนมันไม่ดีเราก็จะพูดจะทำขยายไปเรื่อยกลายเป็นพระอลัชชีไป ข้อวัตรปฏิบัติให้เราทำทุกๆ วัน ถ้าไม่ทำก็ไม่มีบุญที่จะเกื้อหนุน บางทีเราชอบขี้เกียจขี้คร้านเห็นแก่ตัว ไม่ชอบทำตามข้อวัตรระเบียบวินัย ทำให้จิตใจของเราหยาบมีมลทินเศร้าหมอง จิตใจของเราตกต่ำไม่มีกำลังจิตกำลังใจ มีแต่คิดเรื่องทางโลก มีแต่คิดอยากจะสึกเพราะเราไม่มีความดีให้กับตัวเอง ตราบใดถ้าจิตใจของเรามันยังเป็นคนชอบทำอะไรตามใจ ทำอะไรสบาย มันยังไม่ใช่จิตใจของพระ ผู้ที่บวชมาใหม่ที่ยังถือนิสัยอยู่มันจึงจำเป็นต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัย.
ผู้ที่บวชมาแล้วต้องอยู่กับครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติได้มาตรฐานและเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ข้อวัตรปฏิบัติ มีการบังคับเข้มงวดต่อลูกศิษย์ลูกหา ไม่ให้ทำอะไรตามใจตามกิเลส
ถ้าปฏิบัติอยู่กับครูบาอาจารย์ไม่ครบ ๕ พรรษา จะไปไหนตามอำเภอใจที่ไหนไม่ได้เด็ดขาด เพราะยังไม่พ้นนิสัยพระผู้บวชใหม่ สังเกตดูพระที่อยู่กับครูบาอาจารย์ยังไม่ครบ ๕ พรรษา หลบหลีกข้อวัตรปฏิบัติจากครูบาอาจารย์ไปก่อนจะเป็นพระที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อไปเป็นประธานสงฆ์หรือเป็นเจ้าอาวาสก็เป็นไม่ได้มาตรฐาน เพราะขาดการฝึกไม่ครบขบวนการในภาคปฏิบัติจะทำให้ศาสนาเสื่อม จะเป็นพระวัดบ้านก็ไม่ใช่ เป็นพระวัดป่าก็ไม่ใช่ พระประเภทนี้ควบคุมตัวเองยังไม่ได้ จะไปไหนก็ไปตามใจ เห็นใครไปไหนก็จะตามไป ปีหนึ่งๆ เห็นรอบประเทศไทยตั้งหลายรอบ ถ้ามีโอกาสไปประเทศนอกได้ก็ไป เราเป็นชาวพุทธเป็นผู้อุปัฏฐากอุปถัมภ์พระต้องดูให้ดี สาเหตุที่ศาสนาเสื่อมมาจากเจ้าอาวาสหรือประธานสงฆ์ที่ปฏิบัติไม่ได้มาตรฐาน ลูกวัดก็ยิ่งแย่.
เราบวชเป็นพระแล้ว ไม่ควรที่จะเอาเวลาที่มีค่าไปพูดคุยคลุกคลีสรวลเสเฮฮากับคนอื่นหรือที่กุฏิอื่น ให้เราเดินจงกรมให้มากนั่งสมาธิให้มาก ต้องฝึกเข้าสมาธิให้ได้ให้เกิดความชำนิชำนาญ บทบริกรรมให้ท่องพุทโธ พุทโธในใจ ถ้าจะเจริญอานาปานสติก็ให้ฝึกหายใจเข้าหายใจออกให้สบาย รู้ลมเข้า รู้ลมออกให้สบาย เมื่อใจมันสงบลง ลมมันจะละเอียดก็ให้อยู่กับตัวผู้รู้ เมื่อผู้รู้เป็นหนึ่งก็ให้ปล่อยวางอาการทางกายทั้งหมดอยู่กับผู้รู้ จิตใจจะก็เกิดสภาวะ คือ วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา
เมื่อใจเราสงบ อยู่ว่างๆ ก็ให้พิจารณาร่างกายของเรา ตอนที่พระอุปัชฌาย์ให้กรรมฐานเราตอนที่เรากล่าวคำขอบวชทีแรกคือ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ตัวนี้สำคัญมาก เพราะตัวนี้เปรียบเสมือนระเบิดปรมาณูที่จะทำลายสังสารวัฏ เป็นเครื่องมือเป็นอุปกรณ์ให้พิจารณาแยกออกเป็นชิ้นเป็นส่วนสู่พระไตรลักษณ์ จนมันเกิดภาพติดตาติดใจ ไม่ให้พิจารณาครั้งเดียวหรือสองครั้ง ให้พิจารณาจนใจละอุปาทาน ละตัวละตน เราเดินก็พิจารณา นั่งก็พิจารณา นอนก็พิจารณา เราทำกิจวัตรก็ให้พิจารณา ขณะที่ใจเราสงบ แล้วมันจะไม่อยากพิจารณา เราก็ต้องถอนจากความสงบแล้วก็พิจารณาร่างกายของเรา จะได้ถอนสักกายะทิฎฐิ เราจะได้ละตัวละตนได้ ถ้าเราไม่ภาวนาตัวนี้มันก็เป็นเพียงความสงบเฉยๆ ยังละสักกายะทิฎฐิไม่ได้ เมื่อเราทำเช่นนี้แล้ว เราจะได้เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง ตรัสรู้จริง เราจะได้ไม่สงสัยในข้อวัตรปฏิบัติว่าสามารถทำให้เราบรรลุธรรมได้จริง ถ้าเราเจริญสติรู้ตัวทั่วพร้อมเฉยๆ เราก็ได้แต่รู้ตัวทั่วพร้อม ถ้าเรารักษาศีลดีเราก็จะได้ความบริสุทธิ์ แต่ตัวที่สำคัญที่ทำให้เราเป็นพระได้ก็คือ การพิจารณาร่างกายสู่พระไตรลักษณ์ การพิจารณาไม่ใช่เรื่องง่ายต้องอาศัยความเป็นอิสระไม่คลุกคลีกับใคร.
เราบวชมาเป็นพระต้องฝึกรวดเร็วว่องไว คล่องแคล่ว อย่าให้เฉิ่ม อันไหนดีรีบทำ อันไหนไม่ดีรีบหยุด เห็นคนอื่นเขาทำดีก็ให้รีบทำ อย่าเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ถ้ายังมีความขี้เกียจขี้คร้านอยู่นั้นไม่ใช่อารมณ์ของพระ เพราะพระจะไม่มีความขี้เกียจขี้คร้าน ถ้าเรามัวแต่เจริญสติเจริญสมาธิอย่างเดียวมันจะเชื่องช้า เฉิ่มติดสงบติดช้า ติดนั่งหลับ แต่พอเรามาทำอะไรรวดเร็วคล่องแคล่วแล้วจะฟุ้งซ่าน ถ้าทำช้าๆ เฉิ่มๆ มันจะสงบดี นักปฏิบัติใหม่เลยเข้าใจว่าทำอะไรช้าๆ เฉิ่มๆ ดี ทำช้าก็ให้มันได้ ทำเร็วก็ให้มันได้ ครูบาอาจารย์สอนให้ทุกคนรวดเร็วว่องไว ฉะฉาน มองอะไรให้มันเข้าใจได้เร็ว มันจะได้แยกแยะอะไรผิดอะไรถูกได้รวดเร็ว การปฏิบัติอยู่ที่ไหนก็ทำได้ คนส่วนมากไปโทษสิ่งภายนอก ให้คุณสิ่งภายนอก ที่แท้จริงมันอยู่ที่ตัวเรา เพราะว่าศาสนาคือภาคปฏิบัติ ปฏิบัติทางกาย ทางวาจา ทางใจเรา.
ห้ามพระภิกษุสามเณรที่บวชมาแล้วประพฤติตนไม่เหมาะไม่ควร เช่น ขับรถยนต์ รถเครื่อง รถจักรยาน รถอีแต๋น สวมเสื้อ โพกหัว สวมหมวก ใส่กางเกง ใส่ร้องเท้าผ้าใบ ใส่แว่นตาดำ สะพายเป้ ใส่กำไรข้อมือ จับของที่ยังไม่ได้รับประเคนที่ยังไม่ได้ถวาย และห้ามพระภิกษุอย่าเห็นแก่ความสะดวกรวดเร็วจนขาดการยับยั้งชั่งใจ โดยการขุดดิน ฟันต้นไม้ ตัดหญ้าเอง เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องผิดต่อพระวินัย ทีแรกทำไปก็เขินอายไป ต่อไปก็จะถามว่ามีที่ไหนอีกบ้างให้ทำ บางทีก็รู้ว่าผิด ไม่เหมาะไม่ควรแต่ก็ทำไปเพราะความคึกคะนอง บางทีก็อ้างว่าไม่มีโยมทำให้ หรือมีโยมทำให้ก็ไม่ถูกใจไม่ทันใจ
และก็ห้ามพระภิกษุสามเณรเดินทางไปในสถานที่ไม่เหมาะสม ที่ญาติโยมไปท่องเที่ยวไปชมการละเล่นกัน เช่น สวนสัตว์ สวนสนุก น้ำตก ชายทะเล ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด ร้านขายเครื่องเสียง ขายเทป ขายซีดี วีดีโอต่างๆ หรือสถานที่ชุมนุมเดินขบวน ทุกวันนี้ก็มีแนวโน้มที่จะทำกันขยายผลไปเรื่อยเพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ คนหนึ่งทำได้อีกคนหนึ่งก็ทำตาม เหมือนกับถ้าเจ้าอาวาสขับรถหรือมีโทรศัพท์มือถือหรือตัดต้นไม้ ลูกวัดก็จะทำตาม ทีนี้จะบอกกันเตือนกันก็ไม่ได้ เพราะทุกคนก็ทำเหมือนๆ กัน กลายเป็นประชาธิปไตยไปหมด ธรรมาธิปไตยก็หายไป การกระทำเหล่านี้เป็นการเหยียบย่ำพระธรรมวินัยให้สูญหายไป ให้พระภิกษุสามเณรทุกท่านช่วยกันสืบทอดจรรโลงรักษาพระพุทธศาสนาให้รุ่นลูกรุ่นหลาน อย่าพากันทำลายทางอ้อม เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้ใช้สอยได้อยู่อาศัยนี้ก็ได้มาจากพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงวางระเบียบแบบแผนไว้ดีแล้ว ให้เราพากันกตัญญูต่อท่าน เหมือนอย่างเราบริโภคผลไม้ เราก็ไม่ควรที่จะไปทำลายต้น ทำลายกิ่งก้านของต้นผลไม้นั้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวของพระภิกษุสามเณรที่ล่อแหลมต่อการประพฤติปฏิบัติจึงให้ควรระมัดระวัง.
นักบวชอย่าไปติดเรื่องอยู่เรื่องฉัน เรื่องอ้วนเรื่องผอม เรื่องผิวพรรณ เรื่องสง่าราศี ให้เรานอนพออยู่ได้ ฉันพออยู่ได้ อย่าไปติดในรสชาติอาหาร น้ำปานะ โค้ก แป๊บซี่ เนยใส เนยข้น น้ำอ้อย น้ำตาล ปรมัตถ์ สมอ มะขามป้อม ตะไคร้ ขิงข่า โหระพา โกโก้ กาแฟ ลิโพ กระทิงแดง เอ็มร้อย ถ้าเราไปฉันอิ่มเหมือนกับเราฉันข้าวตอนเช้าก็เท่ากับเราบริโภคอาหารในยามวิกาลเหมือนกัน ให้เรารู้จักเบรกตัวเอง ให้มันอยู่แบบอดๆ อยากๆ หน่อย อย่าอยู่อย่างชูชก อย่าไปบริโภคเหมือนชูชก เราพยายามฝึกอดฉันน้ำปานะบ้าง อดฉันข้าวบ้าง อดฉันปรมัตถ์บ้าง ใจมันจะได้เกิดความฟุ้งซ่านบ้าง จะได้มีการทำใจให้สงบ เราจะได้อยู่เหนือธาตุเหนือขันธ์เหนือเวทนาทางกายบ้าง.
พระภิกษุสามเณรที่บวชมาแล้ว ไม่ควรฉันปานะและยาปนมัตต์สมุนไพรที่ปรุงแต่งจนเกินไป ตีความพระวินัยคลาดเคลื่อนเข้าข้างตนเอง อ้างว่าวัดนั้นก็ฉันกัน ครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ก็ฉันกัน เพื่อความใสะอาดบริสุทธิ์ของพระวินัย และตัดปลิโพธความกังวล จึงได้ห้ามพระภิกษุสามเณรหลังจากเที่ยงวันไปแล้วหยุดฉันปานะและยาปนมัตต์สมุนไพรจำพวก บ๊วยเค็ม บ๊วยหวาน ลูกท้อ ลูกสมอจีน มะขามแก้ว ไอศรีมแท่ง ลูกอมเยลลี่ ขนมเยลลี่ผสมบุกเป็นถ้วยๆ รังนก เนื้อเฉาก๊วย ว่านหางจระเข้ สาหร่ายทะเลที่เป็นแผ่น เนยกวนปรุงรส ตำลูกยอ เมล็ดทานตะวัน กระเทียมดอง หอมหัวใหญ่หัวเล็ก พริกหยวก ใบแมงลัก ใบโหระพา ใบกระเพรา ใบสะระแหน่ ผักชีเทศ ใบบัวบกที่ยังไม่ได้ผ่านการกรองเป็นน้ำปานะ เนื้อลูกพรุนและมะนาวที่เป็นลูกๆ ที่ยังไม่ได้ผ่านการกรองเป็นน้ำปานะ
ส่วนใหญ่เป็นของที่ญาติโยมนำมาถวาย แต่ไม่ทันได้คิดว่าถ้าฉันไปแล้วจะทำให้พระเณรเสีย หรือบางทีญาติโยมก็คิดว่าพระท่านไม่ค่อยได้ฉันอะไรมากมายอยู่แล้ว อาหารก็ฉันมื้อเดียว ตอนบ่ายก็ฉันได้แต่น้ำหวาน น้ำผลไม้ ก็อยากให้พระเณรท่านได้ฉันของดีๆ แปลกๆ พิสดารบ้าง ให้พระเณรได้ผ่อนคลายบ้าง ปฏิบัติอย่างเดียวเดี๋ยวจะเครียด พระเณรองค์ไหนที่ท่านตบะดีฉันไปแล้วก็ไม่เป็นอะไรไม่เสีย หรือบางทีท่านก็มีข้อวัตรของท่าน แยกแยะว่าอันไหนควรฉันไม่ควรฉันอย่างนี้ก็ดีไป แต่สำหรับผู้ที่ตบะยังไม่กล้าแข็งพอก็ยังไม่รู้จักแยกแยะว่าอันไหนควรฉันไม่ควรฉัน เมื่อฉันไปแล้วก็ติดอกติดใจขวนขวายหามา ไม่เคยสั่งโยมก็กล้าที่จะสั่งให้โยมหามา บางทีก็ปรุงแต่งเอามาผสมรวมกันเพิ่มรสเพิ่มชาติ วันไหนไม่ได้ฉันก็หงุดหงิดรำคาญใจ ไม่ได้ฉันก็ทำสมาธิไม่ได้เดินจงกรมก็ไม่สะดวก เดินทางไปไหนก็พกติดตัวติดย่ามเป็นเสบียงไปเป็นหอบๆ
สังเกตดูครูบาอาจารย์ที่ท่านเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ท่านจะไม่ยุ่งกับเรื่องการขบฉันมาก มีอย่างไรก็ฉันอย่างนั้น ถ้าสิ่งไหนที่มันส่งเสริมกิเลสท่านจะไม่เอาด้วย และท่านก็จะสงวนรักษาพระเณรมาก ท่านจะห้ามไม่ให้พระเณรทำ ห้ามไม่ให้พระเณรฉัน มันเป็นเรื่องใหญ่โตมากถ้าการขบฉันของพระเณรซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสารกลับกลายมาเป็นการขบฉันเพื่อส่งเสริมกิเลส มันถึงกับขวางกั้นคุณธรรมความดีไม่ให้เกิดมีขึ้นถ้าเราติดในเรื่องการฉัน ถึงแม้ในพระวินัยจะไม่ได้ห้ามไว้ แต่ถ้ามันทำให้พระเณรเสีย ทำให้พระเณรใจแตก ท่านก็จะถือว่าเป็นมหาภัยที่สุด ถ้าเป็นยาปรมัตถ์สมุนไพรที่ปรุงแต่งมากเกิน ท่านก็จะว่าเป็นยาเบื่อพระเบื่อเณร ถ้าเป็นน้ำปานะที่พิสดารเกินท่านก็จะว่าเป็นน้ำพาพระเมา พระเณรฉันแล้วเมาติดกันงอมแงม ไม่มีก็ถามหา บางคนตั้งแต่ยังไม่ได้บวชก็ยังไม่เคยได้ฉันของดีๆ แปลกๆ พิสดารอย่างนี้ ทำให้เพิ่มความหลงเข้าไปอีก หรือบางทีผู้ที่ไม่รู้มาพบเห็นเข้าก็จะเข้าใจว่าพระเณรฉันอาหารในเวลาวิกาลก็มี.
เราบวชมาแล้วเราอย่ามาหลงในปัจจัยไทยทานที่ญาติโยมนำมาถวาย ส่วนใหญ่ของที่เขาถวายมีแต่ของดีๆ อันนั้นก็ดี อันนี้ก็ดีตามยุคตามสมัยเรื่อย จุดมุ่งหมายของการบวชเราไม่ได้ต้องการมาเอาสิ่งเหล่านี้ อย่าเป็นผู้มีรสนิยมสูง นักบวชเราควรใช้สิ่งของที่จำเป็นและต้องประหยัด ถ้าของมันเหลือเฟือก็จัดจ่ายไปให้คนอื่นเขาใช้สอยกัน ความเจริญของพระมันอยู่ที่จิตใจของเราไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลง เป็นผู้อยู่เหนือโลกธรรม ไม่ให้ลาภ ยศ สรรเสริญ มาครอบงำจิตใจ บางที่พระเณรก็มากเกินไปชอบขอของจากพ่อ จากแม่ จากเพื่อนฝูง เรามาบวชมาปฏิบัติแล้วยังไปรบกวนมันเป็นสิ่งที่น่าละอายแก่ใจ บางคนก็ไม่ยอมใช้ของสงฆ์ของที่มีอยู่ในวัด พอจะมีโยมเลื่อมใสก็ชอบสั่งเขา บางทีก็ว่าจะเอาไปถวายครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ ความเป็นจริงแล้วครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้ยินดีในสิ่งเหล่านั้น ท่านยินดีในการประพฤติปฏิบัติของลูกศิษย์ที่เป็นผู้มีความน่าไว้เนื้อเชื่อใจในข้อวัตรการปฏิบัติธรรม เป็นตัวอย่างที่ดีของเพื่อนสหธรรมมิกผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ไม่นำความเสียหายมาสู่ครูบาอาจารย์เพื่อนฝูง ว่าเป็นคนดีแต่พูดแต่ปฏิปทาน่ารังเกียจ ให้เราทุกท่านถือว่าเรามากตัญญูกตเวทีต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ ท่าน.
พระเณรอันตราย พระเณรส่วนใหญ่ชอบปกปิดความผิดของกันและกัน เพราะว่าเวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ก็ปฏิบัติอย่างหนึ่ง อยู่ธรรมดาก็ปฏิบัติอย่างหนึ่ง ทำให้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ไป ก็เลยกลายเป็นกลุ่มเป็นแก๊ง ใครทำผิดก็ช่วยกันปกปิดไว้เพราะใครพูดให้ครูบาอาจารย์ฟังได้เรื่องแน่ ถือว่าไม่ใช่พรรคไม่ใช่พวก พระเณรที่ตั้งใจปฏิบัติดีก็กลายเป็นไม่มีพรรคไม่มีพวก ที่ปฏิบัติถูกธรรมถูกวินัยกลายเป็นถูกมองว่าทำไม่ถูกไม่ควร ไม่มีน้ำใจ ตามที่จริงแล้วสิ่งไหนที่ไม่ถูกก็ควรบอกกันเตือนกัน ดูท่าทางแล้วถ้าบอกเตือนกันไม่ได้ก็กราบเรียนครูบาอาจารย์ ท่านจะได้ช่วยแก้ไข พระเณรพวกนี้จะช่วยกันทุกวิถีทาง เช่น ไม่ลุกทำวัตรทำกิจวัตร ไม่ออกบิณฑบาตก็จะมีสายเอาน้ำปานะไปให้ เอาเมล็ดทานตะวันเอาเนยไปให้ พระภิกษุสามเณรชนิดนี้เรียกว่าเป็นพระภิกษุมหาโจร เป็นผู้ทำลายคณะสงฆ์ ทำลายครูบาอาจารย์ ทำลายศาสนา เป็นการสร้างบาปสร้างกรรมอันใหญ่หลวง เป็นการเสี้ยมสอนให้ผู้ที่ไม่เคยทำความผิดให้ทำความผิด อ้างว่าวัดโน้นก็ทำกัน วัดนั้นก็ทำกัน มีแต่วัดเราที่ไม่ทำไม่เป็นไรไม่ผิด พระเณรชนิดนี้ให้ทุกคนดูถูกไว้เลยว่าเป็นพระไม่ดีใช้ไม่ได้ อย่าได้เอาเป็นตัวอย่างเด็ดขาด เป็นการเข้าใจผิด มีความเป็นมิจฉาทิฎฐิที่มีความเห็นเข้าใจว่า ช่วยกันปกป้องกันชื่อว่ารักกันเมตตากัน นี้เป็นการคบค้าสมาคมเยี่ยงมหาโจร เมื่อถึงคราวแบ่งผลประโยชน์ไม่ลงตัวก็แตกกัน วัดทุกวัด สำนักทุกสำนัก ไม่น่าจะมีมารศาสนาชนิดนี้อยู่ในสถานที่นั้นๆ ถ้าเราไม่พากันปกปิด ความเสื่อมเสีย ความเศร้าหมอง ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็จะมีไม่ได้ ทุกอย่างมันไม่สายเกินไป เมื่อเราเข้าใจอย่างถูกต้อง ต้องเดินตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ผู้เป็นตัวอย่างของเราทุกๆ ท่าน.
อันตรายของพระภิกษุสามเณรทั้งบวชเก่าและบวชใหม่ ได้แก่ เรื่องผู้หญิง พระเณรเราต้องไม่ประมาท ตราบใดที่เรายังไม่สิ้นกิเลส เราอย่าไปเปิดโอกาสให้กิเลสมันมาถล่มทลายเรา คือว่าเราบวชมาแล้ว เราหมดหน้าที่ของความเป็นโยมแล้ว เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปคิดชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราะการบวชนั้นต้องบวชทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมาเกี่ยวข้องเขาจะมาเกี่ยวข้องกับเราไม่ได้เป็นเด็ดขาด ส่วนใหญ่โยมทำบุญตักบาตรถวายทานเป็นผู้หญิง เพราะเขาถือว่าเป็นหน้าที่เป็นความรับผิดชอบในครอบครัว ในพระศาสนาและในการสร้างคุณงามความดี ให้เราปฏิบัติตามพระวินัยให้เคร่งครัด หากมีเหตุจำเป็นให้เกี่ยวข้องกับผู้หญิงต้องห้ามอยู่กับผู้หญิงสองต่อสองหรือกับผู้หญิงหลายคน หรืออยู่ในที่ลับหูลับตากับผู้หญิง ไม่เขียนจดหมายหรือโทรศัพท์ติดต่อกับผู้หญิง พยายามไม่ให้ผู้หญิงมาเกี่ยวข้องกับเราโดยการเป็นอุปัฏฐากส่วนตัว ไม่เดินทางไปไหนมาไหนกับผู้หญิง ไม่ไปบ้าน ไม่ไปในสถานที่ๆ มีอุบาสิกาโดยไม่มีเหตุสมควร ถ้าชอบให้โยมผู้หญิงเป็นโยมอุปัฏฐากรับผิดชอบนั้นแสดงว่าไม่ถูกต้องแล้ว พระส่วนใหญ่ที่ตั้งใจว่าจะบวชไม่สึกมุ่งมรรคผลนิพพานมักจะมาเสียกับผู้หญิงนี้แหละ ถ้าไม่ถึงกับสึกก็ร่อแร่หมดสภาพหาความเจริญได้ยาก
อันตรายของพระใหม่ เณรใหม่ รวมถึงพระเก่า เณรเก่า คือ "เรื่องการคลุกคลีกับผู้หญิง...." การประพฤติปฏิบัติธรรม 'ศีลข้อแรก' ของการประพฤติ ปฏิบัติธรรม ไม่ว่าพระเก่า พระใหม่ มันมีปัญหาทั้งนั้น "ไม่ให้พูดกับผู้หญิงสองต่อสอง โดยไม่มีใครอยู่ด้วย..." 'มันเป็นความเสื่อม...'
โยม' ก็ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับพระ 'พระ' ก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกับโยม ในเขตพระเด็ดขาด ในวัดวาอาราม' ถ้าผู้หญิงไม่มีความจำเป็น อย่าผ่านเข้าไป
ครูบาอาจารย์ พระพุทธเจ้า ท่านให้แยกเป็นสัดส่วนชัดเจน หลวงตามหาบัวบอกว่า พวกนี้ชอบยุ่งเหลือเกิน การโทรศัพท์นี้ทำให้เสื่อมมาก "พระก็เมตตาโยม โยมก็มีปัญหาเยอะ... มาถามพระ"
การพูดในทางโทรศัพท์ เขาเรียกว่า ผิดวินัย ถ้าพูดกับผู้หญิงสองต่อสอง ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องพูด ก็ต้องพูดออกเสียงให้ทุกคนได้ยินเพื่อที่จะได้คุ้มกันอาบัติ ไม่ให้ต้องอาบัติ ส่วนใหญ่พระเณรเรามันประมาทมาก พระพุทธเจ้าท่านตรัสสั่งไว้แล้ว "ไม่ให้พูดกับผู้หญิงสองต่อสองลับหูลับตา ไม่ว่าสาวเล็ก สาวใหญ่ สาวแก่แม่หม้าย แม่หม้ายทรงเครื่อง"
ฝ่ายผู้หญิงก็ต้องระมัดระวัง... ส่วนใหญ่โยมผู้หญิงชอบมาคุยกับพระ เพราะว่าพระพูดดี พูดเพราะ พูดให้กำลังใจ ต้องให้ผู้หญิงทุกๆ คนระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องนี้ สิ่งที่มันจะขลัง จะศักดิ์สิทธิ์ก็หมดไป
ผู้ที่มาอยู่วัดไม่ควรจะมีโทรศัพท์ มาอยู่วัดไม่กี่วันมันคงไม่ตาย...ที่มันอยากโทร อยากเล่นอินเทอร์เน็ต ฟังเพลง พวกที่มาอยู่วัดต้องตัดมันหมด ถ้าไม่อย่างนั้นเรามาอยู่วัดก็เพียงกาย แต่ใจเราไม่อยู่
ยิ่งเราเป็นผู้หญิง เราเป็นโยมวัด โทรศัพท์ไปหาผู้ชายเป็นสิ่งที่แย่ที่สุด ไม่เหมาะ ไม่ควร "ถ้าใครทำแล้วก็แล้วไป เอาใหม่ ทำใหม่...
พระเราส่วนใหญ่บวชมาแล้วผิวพรรณก็ผ่องใส นิสัยก็เรียบร้อยมีความสงบ มีสติมีปัญญา พูดก็เพราะ เป็นสาเหตุทำให้ผู้หญิงชอบมาพูดคุยมาคลุกคลี ไม่ว่าสาวเล็กสาวใหญ่ สาวแก่แม่ม่าย ภรรยาเขา ให้เราถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญหรือเป็นโลกวัชชะ ผิดทั้งทางโลกและทางธรรม อย่าให้เกิดความเศร้าหมอง ให้เรารักษาพระวินัยเราเหมือนกับพระสารีบุตรตอนที่ไปภาวนาในป่ากับพระโมคคัลลานะแล้วป่วย มีเทวดาได้ยินพระสารีบุตรสนทนากับพระโมคคัลลานะว่า เคยได้ฉันข้าวมธุปายาสแล้วหาย จึงไปเข้าฝันชาวบ้านให้ทำข้าวมธุปายาสมาใส่บาตร พระโมคคัลลานะจึงได้นำมาให้พระสารีบุตรฉัน แต่พระสารีบุตรรู้ด้วยพระปัญญาญานว่าอาหารนี้ได้มาโดยมิชอบเพราะมีเทวดาไปบอกชาวบ้านให้ใส่บาตร ท่านจึงให้พระโมคคัลลานะเทข้าวมธุปายาสทิ้งเสีย ทันทีที่ข้าวมธุปายาสตกถึงพื้น โรคท้องของพระสารีบุตรก็หายฉับพลัน การรักษาศีลของพระอริยะเจ้าเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ทุกวันนี้พระกรรมฐานนั่งอยู่กับผู้หญิงโดยไม่มีผู้ชายนั่งอยู่ด้วยก็มีมาก ให้เราดูตัวอย่างครูบาอาจารย์ ท่านจะไม่นั่งคุยกับผู้หญิงสองต่อสอง ถ้ามีเหตุที่จะต้องพูดคุยก็มีพระเณรหรือโยมผู้ชายนั่งอยู่ด้วย ถ้าหมดธุระจำเป็นแล้วก็กล้าบอกให้โยมกลับบ้าน ให้มีความเคารพต่อพระพุทธเจ้ามากกว่าเกรงใจผู้หญิง ก็ให้พระเก่าพระใหม่อย่าไปหลงประเด็น ให้ยึดถือพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ดี เราจะได้บรรลุถึงมรรคผลนิพพานได้ตามปรารถนา.
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ถ้าเราเอาไม้สดมาก่อไฟ มันก่อไม่ติด ขนาดไม้แห้งแล้ว มันก็ยังติดยาก" เราต้องเอาสิ่งที่ดีๆ เอาความรู้สึกที่ดีๆ พวกท่านหลายคนคงจะทำความผิดเรื่องนี้มาแล้ว ครูบาอาจารย์สั่งสอนก็ให้พากันหยุด อย่าให้มีเรื่องนี้อีก แต่ก่อนครูบาอาจารย์ก็บอกบ้าง แต่ไม่ชัดเจน วันนี้ชัดเจนแล้วนะ
ถ้าเราปฏิบัติไม่ได้ก็ไม่ควรอยู่วัด กินข้าววัด เพราะวัดนี้เป็นสถานที่ฝึกพระฝึกเณร ฝึกญาติโยม เป็นสถานที่มุ่งพระนิพพาน "ไม่ว่าเราจะมีเหตุมีผลด้วยประการใดก็ตาม... ที่เรามาบวช ที่เรามาอยู่วัด พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ก็ให้เราประพฤติปฏิบัติกัน ถ้ามิเช่นนั้น ไม่ใช่ใครที่ทำให้ศาสนาเสื่อม ก็พวกเราเองนี้แหละ...
พวกที่รู้มากแล้ว คือพวกที่ไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป ไม่ว่าเรารับประเคนอาหารที่โรงครัว จะเป็นพระก็ดี เป็นโยมก็ดี พวกนี้มันต้องสำรวมระวัง
พระอานนท์กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า "จะปฏิบัติอย่างไรกับสตรีเพศ?"
พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า "ไม่เห็นเลยน่ะดี ถ้าเห็นก็ไม่ต้องพูด ถ้าจะพูดก็ต้องมีสติ..."
'ทางเขตพระ' ก็ให้พระรับผิดชอบเรื่องความสะอาด ผู้หญิงก็อย่าไปก้าวก่ายล้ำเขตพระ 'ทางเขตผู้หญิงอุบาสิกา' ทางพระทางเณร ลูกศิษย์ผู้ชายก็ไม่ให้เข้าไปกวาดตาด ให้มันเป็นหน้าที่ของเจ้าถิ่น "ถ้ามันก้าวก่ายกัน แสดงว่ามันมีอะไรผิดปกติ.."
ถ้ามีเหตุอะไรที่จะไปในเขตอุบาสิกา พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ไม่ให้เราไปคนเดียว ต้องมีพระไปด้วย มีผู้ชายไปด้วย ผู้หญิงก็เหมือนกัน ถ้ามีธุระจำเป็น ก็ต้องมีเพื่อนผู้หญิงไปด้วยกัน ไม่ใช่คิดจะไปก็ไป มันไม่ถูกต้อง มันเสียหาย
ตั้งแต่วันนี้ขอให้ทุกท่านทุกคนทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ อย่าไปอนุโลมปฏิโลม ศีลเรามันจะด่าง มันพร้อย มันเศร้าหมอง ผ้าเหลืองมันจะลุกเป็นไฟ ฝ่ายผ้าขาวผู้หญิงก็ลุกเป็นไฟเหมือนกัน
ศีลข้อประพฤติพรหมจรรย์นี้เป็นข้อใหญ่ เป็นข้อแรก เป็นต้นพรหมจรรย์ ถ้าเราไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป เราก็คิดว่าไม่เป็นไร ไม่เป็นไร ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ พูดอย่างนั้นมันไม่จริง "สมมุติ' ก็ให้เป็นสมมุติ 'ธรรมวินัย' ก็ให้มันเป็นธรรมวินัย
"ถ้าเราว่ามันอยู่ที่ใจแล้ว เราฉันข้าว กินข้าวทำไม...? ทำไมไม่ให้ มันอยู่ที่ใจ...?"
พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนว่า "ถ้าเราเห็นผู้หญิงตั้งแต่เข่าขึ้นไปจนถึงไหปลาร้า ท่านให้พิจารณาให้เป็น 'อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา' นอกจากพระอรหันต์ พระอนาคามี"
ทำไมให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา? ก็เพราะให้เราทำลายตัวตนของเขา เพราะจิตใจประกอบไปด้วย 'ความหลง' ครูบาอาจารย์ว่าก็ไม่ฟัง เพราะเราคิดตั้งแต่ว่า พระองค์นี้ก็ยังทำ ครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ก็ยังทำ
เราต้องทำตามพระพุทธเจ้า เราอย่าเอาพวกที่บวชนานแล้วไม่ได้รักษาศีล ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติเป็นตัวอย่าง เดี๋ยวจะหลงทิศหลงทาง เดี๋ยวจะเป็นพระอรหันต์แต่งตั้ง
พระพุทธเจ้าท่านให้เราเอา 'ธรรมวินัย' ไว้... พวกเราทุกคนพ่อแม่ก็รัก ครูบาอาจารย์ก็รัก ทุกคนก็รัก หวังให้ท่านเป็น 'พระสุปฏิปันโน' เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ให้ทุกคน ทุกท่านระลึกไว้ให้ดีๆ พยายามให้ 'ศีล' แก่ตนเอง พยายามให้ 'สมาธิ' แก่ตนเอง พยายามให้ 'ปัญญา' แก่ตนเอง
ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี นอกจากพระพุทธเจ้า นอกจากพระธรรมวินัย นอกจากพระอริยสงฆ์ พยายามให้กำลังใจตัวเองว่า พระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ไม่ได้กดดันเรา ท่านกำลังเมตตาเรา ให้ขุมทรัพย์เรา
อันนี้เป็นหลักของการประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ก็ตั้งแต่ศีล 5 ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ พระวินัยปิฏก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และต้องเอามาประพฤติเอามาปฏิบัติในปัจจุบัน ที่เป็นการดำเนินชีวิตเรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ นี่เป็นทางสายกลาง ไม่ทำตามความชอบ ความไม่ชอบ นี่เป็นพระธรรมเป็นพระวินัย เป็นมรรคเป็นหนทาง เมื่อเราทำตาม เราถึงจะได้ใช้ปัจจัยทั้ง ๔ เป็นยารักษาโรค ยารักษาโรคเป็นเครื่องบรรเทา มันเป็นสิ่งที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มันเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องกัน ที่อำนวยให้หมู่มวลมนุษย์ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีและก็ได้พัฒนาทางจิตใจ
และการปกครองตัวเองก็ต้องประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อเราปกครองตัวเองได้ ถึงจะปกครองผู้อื่นได้ เรานำตัวเองได้ก็นำผู้อื่นได้ ถึงเราไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า เราก็ต้องคิดอย่างพระอริยเจ้า ถึงจะชื่อว่าเป็นการบวช เป็นการอบรมบ่มนิสัย พวกกุลบุตรลูกหลานที่คิดจะบรรพชาทั้งหมด ก็ต้องคิดอย่างนี้ๆ ถ้าเราไม่คิดอย่างนี้เราก็ไม่มีหลักการ ไม่มีโครงสร้างไม่มีจุดยืน มันเป็นผู้ที่บวชมาอาศัย มันเป็นทางออกของคนจน มันไม่ใช่ทางออกของผู้ดำเนินตามพระพุทธเจ้าสู่มรรคผลพระนิพพาน
ทั้งพระทั้งประชาชนก็ต้องไปตามหลักเหตุผล ไปตามหลักวิทยาศาสตร์ ไปตามหลักธรรม เราจะเอาอวิชชานำหน้า เอาความหลงเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งไม่ได้ เราต้องเป็นมนุษย์ที่หู ตา สว่าง มนุษย์ที่มีปัญญา และเราก็เอาปัญญามาประพฤติมาปฏิบัติ ที่เรียกว่าความประพฤติที่เป็นศีล คือความตั้งมั่น การปกครองที่ดีที่สุดของประเทศของเราต้องปกครองด้วยธรรมาธิปไตย เดินตามรอยบาทพระบรมศาสดา ตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลอดุลยเดช เราถึงจะเข้าถึงเศษฐกิจพอเพียง ด้วยประการฉะนี้ เราจะมีใจดีใจสบาย คลายทุกข์ คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งไปการปล่อยวาง และการสำรวมตนอยู่ในธรรม