แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มาประพฤติพรหมจรรย์ ตอนที่ ๗๐ ผู้มุ่งหวังความเจริญ ความงอกงาม ต้องมาละกามที่เป็นสิ่งเสพติดของใจ
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เรามีร่างกายก็เพื่อมาสร้างคุณมาสร้างประโยชน์ เรามีความรู้มีความเข้าใจก็เอามาสร้างคุณประโยชน์ เรามีอุปกรณ์ เช่นว่า เรามีบ้านมีรถ มียศ มีตำแหน่งเพื่อมาทำประโยชน์ ทุกอย่างมีทั้งคุณและโทษ อะไรก็ไม่น่ากลัวที่ความเห็นผิด ความเข้าใจผิดปฏิบัติผิด นี้เป็นอันตราย อย่างเทคโนโลยีสมัยใหม่เกิดมาด้วยการพัฒนาจากวิทยาศาสตร์ จากเหตุจากผลของหมู่มวลมนุษย์ เราก็ต้องรู้จัก เราต้องฉลาด อย่างเช่น อาหารเป็นเพียงยา เสนาสนะเป็นบ้านเป็นรถ ถือว่าเป็นยาที่จะให้เราได้นอนได้พักผ่อน รถนี่ก็ถือว่าเป็นยาที่จะให้เราทุ่นแรงในการเดินทาง ถือว่าเป็นการเยียวยาเพื่อพัฒนาของเรา
แต่เทคโนโลยีนี่มัน ถ้าเราไม่รู้จักมันก็เป็นโทษ พระพุทธเจ้าถึงให้เราพิจารณาให้เกิดปัญญาเอาสิ่งเหล่านั้นมาใช้ อย่างเทคโนโลยี อย่างโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊คมันก็มีประโยชน์ เพราะแต่ก่อนมันไม่สะดวกไม่สบายอย่างนี้ แต่อันนี้มันก็เป็นโทษอย่างนี้แหละ ในการพัฒนาประเทศก็ต้องใช้เทคโนโลยีใช้อะไร แต่ก่อนก็ใช้เสียมใช้จอบ เดี๋ยวนี้ก็ใช้แมคโคร ใช้รถแทรกเตอร์ ที่นี้แหละ เรื่องปัญญาสัมมาทิฏฐิ เราต้องรู้จัก ถ้าเราไม่รู้จักเราจะกลายเป็นผู้ที่ขุดหลุมฝังตัวเอง เราไม่รู้จักลูกเราขวบ สองขวบ เราปล่อยให้เค้าเล่นโทรศัพท์มือถือ รู้ไหมนั้น เด็กมันมี sex ทางอารมณ์ พวกการ์ตูนก็ดี พวกเกมส์ก็ดี แต่บางทีคนใหญ่แล้วก็ยังเล่นเกมส์อยู่ แล้วก็คิดว่าลับสมองไม่ใช่นะ มันให้อาหารกิเลสนะ เหมือนกับต้นไม้ เราปลูกหน้าฝน วัชพืชนะ ฝนตกลงมามันก็ขึ้นสนั่นหวั่นไหว เราไปตาม เราก็ไปให้ปุ๋ย ให้อากาศ ให้แสงแดด ไอ้พวกมันก็ยิ่งงาม แต่เราก็ไม่รู้จักว่านี่คือทุกข์ นี่เหตุเกิดทุกข์ ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เราไม่ได้ใช้เทคโนโลยีให้เกิดสติปัญญา ทีนี้แหละ เพราะสิ่งเหล่านั้นมันอำนวยความสุข รู้หรือเปล่า สุขนั้นมันเป็นกาม มันเป็นกาม ทำให้เราหลงติด เราต้องมีสติมีปัญญา เราต้องตั้งมั่น ถ้าอย่างนั้นพระเรานี้ไปไม่ได้ ไปไม่รอด ต้องเข้มแข็ง ต้องยึดพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
เหมือนกับเราไปในยานพาหนะที่ข้ามมหาสมุทร ข้ามทะเล เราต้องอยู่ในเรือ เราไปเครื่องอยู่ในเครื่องบินเราจะออกจากเครื่องบินได้อย่างไร ออกจากรถ ออกจากเรือได้อย่างไร อันนั้นคืออุบัติเหตุ เพราะเรื่องโทรศัพท์มือถือ ก็พูดอีก เพราะว่าอันนี้มันเป็นอันตรายของผู้ที่จะสู่มรรคผลพระนิพพาน เรื่องสตรี เรื่องสตางค์ มันเป็นกาม ผู้ที่จะหาวิธีเอาพระที่เก่งๆ ที่ฉลาด หรือพระอะไรต่างๆ สึก ประการแรกเค้าก็ต้องไปกราบไปไหว้ ถวายของซื้อโทรศัพท์ดีๆ ให้ วีดีโอคอลได้ติดต่อกัน สุดท้ายแล้วก็วีดีโอให้ดูทั้งหมดเลย มันเป็นการวางแผนของพญามาร ลูกสาวพญามาร
ลูกสาวพญามาร ในพระไตรปิฎก มีข้อความว่า “…ลำดับนั้น มารธิดา คือนางตัณหา นางอรดี นางราคา จึงพากันหลีกออกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วร่วมกันคิดอย่างนี้ว่า ความประสงค์ของบุรุษมีต่างๆ กันแล อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรนิรมิตเพศเป็นนางกุมาริกาคนละร้อย ๆ ฯ”
หมายความว่า ธิดามารคิดว่า ผู้ชายจะใจแข็งเพียงใด ก็ย่อมมีจุดอ่อนถึงจะมาบวช แต่ถ้าเจอการยั่วยวนในรูปแบบต่างๆ และกับหญิงในวัยต่างๆ วัยละ ๓๐๐ รูปแบบ ก็ไม่น่าจะมีชายใดหลุดพ้นไปได้
นางราคา ก็คงจะเน้นเนรมิตเป็นหญิงที่ยั่วราคะเป็นหลัก เช่น มาเต้นส่ายร่ายรำ, นุ่งห่มน้อยชิ้น, ทำเป็นอายบ้าง ไม่อายบ้าง, ทำเป็นเปิดวับๆ แวมๆ, ทำกระซิบกระซาบ, ฯลฯ พูดหยาบๆ ก็คือ ยั่วให้เกิดอารมณ์ทางเพศ
นางตัณหา ก็คงจะเน้นเนรมิตเป็นหญิงที่ยั่วตัณหา คือไม่ได้มีเฉพาะอารมณ์ทางเพศ แต่รู้สึกว่า หญิงนี้สมฐานะเรา จะทำให้เราได้รับคำสรรเสริญ ได้ยศ ได้ตำแหน่ง ฯลฯ เช่น เป็นหญิงสง่างาม, มีเสื้อผ้าอาภรณ์อลังการ, ดูมีจิตใจอ่อนโยน เล่นหยอกล้อกับเด็กๆ, รู้สึกอบอุ่น, ดูเก่ง - ฉลาด, พูดจาฉะฉาน, ฯลฯ คือสนองกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
ส่วนนางอรดี … คงจะมีได้หลายแบบ เช่น - แกล้งทำหน้าบึ้งใส่, แกล้งพูดให้เจ็บใจ, ทำสะบัดสะบิ้ง, ทำเป็นไม่ยินดี, ทำงอน ฯลฯ เพื่อยั่วให้ชายมาสนใจ จนลืมตัว จิตส่งออกมาที่นาง - แกล้งทำเป็นว่า กำลังมีอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ, กำลังเศร้า, กำลังมีปัญหา, ทำสะอึกสะอื้น, ฯลฯ ยั่วให้ชายสงสาร เข้ามาปลอบ เข้ามาให้คำปรึกษา คือยั่วให้เกิดความเห็นอกเห็นใจก่อน จนลืมตัว จิตก็ส่งออกไปที่นาง
น่ากลัวทั้งสามนาง !!!
ถึงอย่างนั้น พระพุทธองค์ก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึงเลย เพราะพระองค์สิ้นกิเลสแล้วอย่างยอดเยี่ยม ก้าวล่วงบ่วงมารไปได้แล้ว จิตหลุดพ้นดีแล้ว เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก นำสัตว์โลกทั้งหลายให้ข้ามพ้นบ่วงมารไปได้ด้วยพระสัทธรรม
การวางแผนของพญามาร ลูกสาวพญามาร โอ๋...มันเป็นอย่างนี้มาเป็น 10 ปี 20 ปี แต่กว่าเราจะรู้เราก็เสียพระไปเยอะแล้วนะ นี้ข้อมูลเพียบ ข้อมูลแน่นนะ แต่อันนี้พูดความจริงสู่สาธาณะชนไม่ได้น่าเกียจ รู้แต่ว่าสิ่งเหล่านี้เอง พระเก่งๆ พระฉลาด บวชมาแล้วมันเก่งมันฉลาด พวกนี้เค้าเอาอันนี้นะ ถึงแม้อย่างไรก็ เพราะพระนี่มันสติปัญญาก็ไม่เกิด เพราะว่ามันเป็นกาม การที่ทำตามใจตามอารมณ์ตัวเองนั้นน่ะคือ การสนองทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน เพิ่มความรุนแรงให้กับตัวเอง ให้กับกิเลส ให้อาสวะ ให้อวิชชา ให้ความหลง ทุกท่านทุกคนต้องพากันมีสติมีสัมปชัญญะ ทุกคนมันเป็นเหมือนกันหมด มันเลยเป็นประชาธิปไตย จะมีใครมาบอกมาสอน
'อันตรายภัยในพระศาสนา' ส่วนใหญ่มาจากเรื่อง "สตรีเพศ ลาภสักการะ ข้าวของเงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ" พระพุทธเจ้าท่านตรัสพระธรรมวินัยข้อนี้ว่า เป็นต้นเหตุในการประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์พระ ถึงจะเป็นพระใหม่ พระเก่า พระมัชฌิมา พระพุทธเจ้าท่านให้ถือว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
เรามาบวช หรือว่ามาเป็นโยมปฏิบัติที่วัดเพื่อมุ่งมรรคผลนิพพาน เรื่องนี้พระพุทธเจ้าท่านถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญนะ พระพุทธเจ้าท่านถึงไม่ให้เราเกี่ยวข้อง คลุกคลี ถ้าไม่จำเป็นเราอย่าไปเกี่ยวข้องอย่าไปทำตัวเป็นผู้เมตตาสูง สงสารอยากจะเทศน์ อยากจะพูดอยากจะคุย ทุกวันนี้ยิ่งอันตราย พระก็มีโทรศัพท์ โยมก็มีอยากจะสอน
โทรศัพท์ มันคิดถึงเมื่อไหร่ก็โทรเมื่อนั้น ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีเบรก ไม่อดไม่ทน พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้แล้วว่า "ไม่ให้อยู่ในที่ลับหูลับตา" สองสิ่งนี้มันอยู่ในที่ลับหูลับตาทั้งนั้น ถ้าเราทำอย่างนั้น 'มันผิดศีล ผิดพระวินัย' ถ้ามีเหตุมีปัจจัย มีธุรกิจที่จำเป็น ที่สำคัญ ก็ให้เปิด 'speakerphone' ให้คนอื่นรู้ว่าเราพูดอะไร ยิ่งแย่ไปใหญ่พวกที่มีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก ไอแพด ยิ่งลงนรกหลุมลึกมากไปอีก
พวกเราและท่านถ้าใครมีการกระทำแบบนี้ ถ้ามีความประพฤติแบบนี้ ถือว่าผิด ถือว่าใช้ไม่ได้ "ท่านกำลังจะทำลายตัวท่านเอง กำลังจะทำลายพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า"
วัตถุต่างๆ นั้นมันมีทั้งคุณและโทษ แต่ผู้ที่มีอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ส่วนใหญ่ก็นำใช้ไปในทางให้เกิดโทษ บาปอกุศลมันมาหลายแง่หลายมุม หลายรูปแบบ มันมาในทางขาวบริสุทธิ์ผุดผ่อง มันมาชวนเราไปกราบครูบาอาจารย์ ไปวิเวกในป่า ครูบาอาจารย์ พระพุทธเจ้า ท่านถึงตรัสไว้ สั่งไว้ "เวลาไปไหนมาไหน อย่าไปกับผู้หญิง ไม่ให้ผู้หญิงไปด้วย"
บางทีนี้เรามันแย่มาก เราอยากคุยกับผู้หญิง หรือเราอยากมาคุยกับพระ แต่ลึกๆ มันไม่ใช่ธรรมะธัมโม มันมีแต่เรื่องกิเลส ตัณหา ราคะ ไม่ใช่ธัมมะธัมโมเลย ชวนเพื่อนไปเป็นเพื่อน ชวนพระ ชวนเณร ไปเป็นเพื่อน ชวนโยมไปเป็นเพื่อน บางทีคนอื่นเค้าไม่อยากไป เพราะมันไม่มีสาระ ไม่มีประโยชน์อะไร ไปนั่งคุยกันอ้อแอ...อ้อแอ้... พูดคุยหยอกล้อกับสีกานารี ไม่มีความเป็นพระเป็นนักปฏิบัติเลย
ผู้ที่หวังความเจริญ ความงอกงาม ห้ามกระทำแบบนี้ ห้ามมีพฤติกรรมแบบนี้เป็นเด็ดขาด ท่านต้องถามตัวเองว่า "ท่านบวชมา เพื่ออะไร ท่านมาอยู่วัดเพื่ออะไร?" อุดมการณ์ของเรา ทุกท่านทุกคนต้องมุ่งมรรคผลพระนิพพานแน่นอน แต่ที่เราไปไม่ถึงจุดหมายก็เกิดจากความประมาท ความอ่อนแอโดยตัวเราไม่รู้ตัว เราไม่เป็นตัวของตัวเอง
เราเป็นผู้หญิง จะเป็นแม่ชีก็ดี จะเป็นอุบาสิกาที่มาปฏิบัติธรรมก็ดีเรื่องนี้สำคัญนะ เราอย่าไปอยากคุยพิเศษกับพระองค์ใด เณรองค์ใด จะด้วยความเสื่อมใสหรือเหตุผลใดๆ ก็ดี พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้อนุญาต ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องคุยในสถานที่ส่วนรวม มีผู้นั่งดู นั่งฟัง บุคคลที่นั่งฟัง ต้องเป็นบุคคลที่เกรงกลัวต่อบาป ละอายต่อบาป ถ้าจิตใจของเรามันไม่ปฏิบัติอย่างนี้ มันเป็นจิตใจที่ใช้ไม่ได้ เราทุกท่านทุกคนต้องระวังให้ดีๆ สถานที่ในวัดเป็นสถานที่อภัยทาน ปราศจากสิ่งที่เป็นมลทินปราศสิ่งที่เป็นสิ่งสกปรก
ครูบาอาจารย์ท่านบอกเรา เป็นนักปฏิบัติ ต้องปฏิบัติ พระวินัยและพระธรรมอย่าให้ขาดตกบกพร่อง อันไหนไม่ดีเราอย่าเอามาเป็นตัวอย่าง ให้เรามายก 'พระธรรมวินัย' ไว้เหนือเศียรเกล้า
ส่วนใหญ่เราไปมองสังคมเสื่อม ไปมองวัดเสื่อม ศาสนาเสื่อม พระพุทธเจ้าท่านให้เรามามองดูตัวเอง....มันเสื่อมหรือเจริญ
เรามีความตั้งใจดี เราต้องแก้ไข พยายามเหินห่างในสิ่งที่ไม่ดี ส่วนใหญ่คนพวกนี้มันชอบซิกแซก สลับชับช้อน มันมีแง่ มีมุม มีเหลี่ยม ที่จะทำความชั่วให้ได้
พระพุทธเจ้าท่านให้เราเพิ่มความละอายเกรงกลัวต่อบาปให้มากขึ้นอีก ถ้าเราไม่มีความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป ความเป็นพระ เป็นเณร เป็นนักปฏิบัติ มันก็ไม่เหลืออะไรแล้ว ต้องเน้น ต้องกลับมาหาเรื่องความละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป เราปกปิดคนอื่นได้ เรามารยาสาไถยต่อคนอื่นได้ แต่เราปกปิดมารยาสาไถยตัวเราไม่ได้หรอก เพราะเรารู้ตัวเองหมด
การปฏิบัติธรรมต้องเน้นมาที่จิตที่ใจ เพื่อเคารพ เพื่อกราบไหว้ตัวเอง เราอย่าไปปิดประตูธรรมะ ไม่ให้ธรรมะเกิดโดยไม่รู้จัก เราบวชมาหลายปีแล้ว ปฏิบัติมาหลายปีแล้ว ไปอยู่วัดที่เค้าปฏิบัติเคร่งๆ ครัดๆ เราไปอยู่มาแล้ว แต่เราก็ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย เราเป็นคนที่อาภัพไม่มีวาสนาเหรอ...?
มันจะมีบุญ มีวาสนา ได้อย่างไร? เพราะท่านเป็นคนไม่ละอายต่อบาป ไม่สะดุ้งต่อบาป ไม่เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ไม่ได้ปฏิบัติเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ท่านทิ้งธรรม ทิ้งวินัย เป็นคนที่มีทิฏฐิมานะ ถือตัวถือตนเป็นคนหัวดื้อ หน้าด้าน ไม่เชื่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ปฏิบัติพระวินัยก็เบื่อ เดินจงกรม นั่งสมาธิก็เบื่อ ฟังเทศน์ ฟังธรรมก็เบื่อ นี้แสดงให้เราเห็นว่าเราตกอยู่ในอันตรายของพระภิกษุเก่า ของพระภิกษุใหม่ เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติธรรม การประพฤติปฏิบัติเป็น 'สิ่งที่ทวนกระแส' ให้ทุกท่านทุกคนรู้จักใจตัวเองนะ รู้จักอารมณ์ของตัวเอง จะได้ผ่านด่านสำคัญๆ ที่ทุกท่านทุกคนต้องผ่าน
ทุกคนก็ต้องพากันแก้ตัวเองนะ เมื่อเจ้าอาวาสมันเป็นอย่างนี้ เมื่อเจ้าคณะตำบลมันเป็นอย่างนี้ เมื่อเจ้าคณะอำเภอมันเป็นอย่างนี้ เจ้าคณะจังหวัดมันเป็นอย่างนี้ พระผู้ใหญ่มันเป็นอย่างนี้แหละ มันจะบอกพระผู้น้อยได้อย่างไร พระผู้ใหญ่นะ หรือว่าพ่อแม่นะ ต้องพากันรู้จักภัยพิบัติภายใน เรารู้จักแต่ภัยพิบัติ พายุถล่มบ้าน รู้จักแต่ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ที่จริงภัยพิบัติมันอยู่ในใจของเราทุกคน คืออวิชชา คือความหลง ให้รู้จักนะมันไม่ได้อยู่ไหลหรอก การที่เราทำตามใจตัวเอง ทำตามอารมณ์ตัวเอง ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย มันไม่มีที่สุด มันไม่มีที่สิ้นนะ นี่แหละคือทุกข์ นี่แหละคือเหตุเกิดทุกข์ จึงต้องมาดำเนินตามข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์
เราต้องเข้าใจ สติสัมปชัญญะเราต้องมี ต้องหายใจเข้าให้มีความสุข หายใจออกให้มีความสุข หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย จะเป็นสัมภเวสีไปเรื่อยไม่ได้ เดี๋ยวจะว่าสมัยทุกวันนี้ไม่มีหรอกพระอรหันต์ มันจะมีได้อย่างไร เพราะว่ามันตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก มันจะมีได้อย่างไงๆๆ เราต้องรู้ว่า เพราะเราไม่ตามธรรมวินัย
เราตั้งมั่นในพระรัตนตรัย ตั้งมั่นในพระพุทธเจ้า สมณะที่ 1 2 3 4 มันถึงจะมีแก่เรา ถ้าเราทำอย่างนี้มันก็ง่ายหรอก ถ้าเราเป็นคนหัวดื้อ ทิฏฐิมานะมากอย่างนี้ มันแก้ไม่ได้หรอก ให้ทุกคนพากันตั้งอกตั้งใจ เราเป็นคนโชคดี เราเป็นมนุษย์เราก็ต้องพัฒนา ถ้าเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์มันก็เป็นได้แต่เพียงคน คนมันก็กลายเป็นเปรต เป็นผี เป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นอสูรกาย เป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์เดรัจฉาน นั้นก็คือใจมันอยู่กับอบายมุข มันก็ต้องตกสู่ในภพภูมิต่ำอบายภูมิตั้งแต่ยังไม่ตาย
พระผู้ที่บวชก็พากันรู้นะ ว่านี่แหละคือภัยยิ่งใหญ่ ภัยพิบัติ ประชาชนก็พากันรู้เลย ทั้งพ่อ ทั้งแม่ ทั้งลูก ทั้งหลาน อันนี้เราต้องระมัดระวัง ของมีคมมันบาด เราได้ยินแต่ไฟฟ้ามันช๊อต ไหม้บ้าน ไหม้ตึก ไหม้อะไร เราก็ตกอกตกใจ แต่ที่ไหนได้อวิชชาความหลงมันช๊อตเราจนไม่มีบ้านอยู่แล้ว มันทำลายบ้านของเราคือ ทำลายความถูกต้อง ความเป็นธรรฒ ความยุติธรรม มันไหม้เรา มันช๊อตอยู่ มันลุกท่วมหัวทั้งกลางวัน กลางคืน เราก็ยังยิ้มแย้มแจ้มใสอยู่ไม่ได้
พระพุทธเจ้าบอกเรา พวกท่านกำลังทำอะไรภัยพิบัติมันเกิดขึ้นแก่เรา เราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก นั้นคือภัยพิบัตินะ ท่านทำไมมั่วแต่ไปใส่สูทผูกเนคไท แต่งหน้า แต่งตา ทำไมท่านไม่แต่งใจ แต่งคุณธรรมของท่าน ให้บาปที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดขึ้้น ให้บาปที่มันเห็นอยู่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ไม่ให้มันเกิดขึ้น
พระศาสดาได้ตรัส พระคาถานี้ว่า โก นุ หาโส กิมานนฺโท นิจฺจํ ปชฺชลิเต สติ อนฺธกาเลน โอนทฺธา ปทีปํ น คเวสถ ฯ เมื่อโลกสันนิวาสอันไฟลุกโพลงอยู่ เป็นนิตย์ พวกเธอยังจะร่าเริง บันเทิงอะไรกันหนอ เธอทั้งหลายอันความมืดปกคลุมแล้วแล้ว ทำไมจึงไม่แสวงหาประทีปเล่า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเป็นคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า "เมื่อโลกสันนิวาสนี้ อันไฟ ๑๑ อย่าง มีราคะเป็นต้นลุกโพลงแล้วเป็นนิตย์, เธอทั้งหลายจะมัวร่าเริง หรือเพลิดเพลินอะไรกันหนอ? นั่นไม่สมควรทำเลย มิใช่หรือ? ก็เธอทั้งหลายอันความมืดคืออวิชชาซึ่งมีวัตถุ ๘ ปกคลุมไว้ เหตุไร จึงไม่แสวงหา คือไม่ทำประทีปคือญาณ เพื่อประโยชน์แก่การกำจัดความมืดนั้นเสีย?"
อันว่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งมนุษย์และเทวดา ได้ถูกไฟ 11 กองเผาอยู่เสมอ เป็นเหตุให้รับทุกข์นานาประการ 11 กอง คือ 1. ราคะ ความกำหนัดชอบใจ อยากได้กามคุณ 5 อันมี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นต้น 2. ไฟโทสะ คือ ความโกรธ มีความไม่พอใจเป็นลักษณะ 3. ไฟโมหะ ความลุ่มหลงใน รูป กลิ่น เสียง รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ลังเลใจฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ 4. ชาติ คือ ไฟแห่งความเกิดอันเป็นทุกข์ 5. ความชรา คือ ไฟแห่งความแก่อันเป็นทุกข์ 6. มรณะ คือ ไฟแห่งความตายอันเป็นทุกข์ 7. โสกะ คือ ไฟแห่งความเศร้าโศก 8. ปริเทวะ คือ ไฟแห่งความทุกข์ลำบากกายใจ 9. ทุกขัง คือ ไฟแห่งความทุกข์ลำบากกายใจ 10.โทมนัส คือ ไฟแห่งความเสียใจ 11. อุปายาส คือไฟแห่งความคับแค้นใจ
ไฟทั้ง 11 กองนี้แหล่ะที่เผาผลาญสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้พากันงมงาย เวียนว่าย ตายเกิด ได้รับทุกข์ต่างๆ
อวิชชา ๘ อันมี ๑. ความไม่รู้ใน "ทุกข์" ๒. ความไม่รู้ใน "สมุทัย" ๓. ความไม่รู้ใน "นิโรธ" ๔. ความไม่รู้ใน "มรรค" ๕. ความไม่รู้ใน "ความไม่รู้อดีต" ๖. ความไม่รู้ใน "ความไม่รู้อนาคต" ๗.ความไม่รู้ในทั้ง "อดีตและอนาคต" ๘. ความไม่รู้ใน "ปฏิจจสมุปบาท"
เราต้องรู้จักว่าอาหารของการเวียนว่ายตายเกิดคืออะไรนะ มรรคผลนิพพานมันไม่หมดสมัยไม่ล้าสมัย ยิ่งประพฤติปฏิบัติ ยิ่งจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก โจรในพระศาสนามันก็จะได้หมดไป โจรทางข้าราชการก็จะได้หมดไป พวกโจรในการเมืองก็จะหมดไป เราต้องรู้จักโจร รู้จักมหาโจร ที่เราว่าเราบวชเป็นพระ มันเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ได้เป็นพระหรอก ถ้าเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง เอาสตางค์ เอาสตรีเป็นที่ตั้ง เป็นพระไม่ได้เป็นได้แต่เพียงโจร เราเป็นข้าราชการไม่ได้หรอก เป็นได้แต่ข้าราชกิน เป็นนักการเมืองไม่ได้หรอก เป็นผู้ทรงเกียรติไม่ได้หรอก เพราะใจของเราไม่ตั้งอกตั้งใจพากันมาเสียสละ ผู้ที่จะเป็นผู้นำตัวเองก็คือผู้ที่เสียสละ
ข้าราชการ นักการเมืองมันหาคนดีไม่ได้หรอก เพราะว่าถ้าเราไม่เอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ถ้าไม่เอาธรรมะเป็นหลัก เลยหาคนดีไม่ค่อยมี เพราะว่าคนดีเค้าก็ไม่อยากไปอยู่ในซุ้มโจร ซุ้มโจรใหญ่ที่สุดของประเทศอยู่ที่นายก อยู่ที่รัฐมนตรี อยู่ที่ สส. สว. ต้องพากันรู้จัก ทุกท่านทุกคนที่ทำหน้าที่ต้องจัดการโจรทั้งหลายทั้งปวง ที่มันหลงในเรื่องสตรี สตางค์ ลาภ ยศ สรรเสริญ ที่ไม่ได้เสียสละ ที่ไม่ได้เอาธรรมะเป็นหลัก พรรคพรรคต่างๆ มันเลยจบลงมาที่พรรคเงิน ก็ลื่นไปลื่นมาเป็นปลาไหลพิเศษ เพราะปลาไหลนี้เป็นปลาไหลพิเศษ มันลื่นไปลื่นมา ผิดมันก็เป็นถูก ถูกมันก็ว่าเป็นของผิด
การเรียนการศึกษาของเราถึงเป็นการที่เสียสละ ถ้าอย่างนั้นเราจะไปเรียนมันทำไม อนุบาล ประถม มัธยม หรืออุดมศึกษา ปริญญาต่างๆ ก็เรียนมาเพื่อเพิ่มความโง่ เพิ่มความหลง ความเห็นแก่ตัว มันไม่ใช่ เราอย่าให้โจรทั้งหลายทั้งปวงเชิดหน้าชูตานะ
พระพุทธเจ้าท่านบอกเรา สอนเรา ให้พากันรู้จักทุกข์ ให้รู้เหตุแห่งการดับทุกข์ ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยรู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุแห่งการเกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้เข้าถึงความดับทุกข์
คนเราทุกๆ คนมีความเห็นแก่ตัว มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวในตน เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เอาตัวเองเป็นใหญ่ เอาตัวเองเป็นประธาน ทุกๆ คนจึงเปรียบเสมือนแมลงเม่าพากันบินเข้ากองไฟ
การที่จะไปแก้สิ่งภายนอกนั้นเป็นของง่าย แต่ทุกคนที่จะไปแก้ไขตัวเองนั้นมันเป็นของยาก เพราะเราทุกๆ คนนั้นคิดอยากจะได้แต่สั่งที่ตามใจ ได้สิ่งที่ปรารถนา นั้นคือความสุข คือความดับทุกข์ สิ่งที่ถูกต้องแล้ว เราทุกคนน่ะ จะเอาตามถูกใจ ตามปรารถนาไม่ได้ มันจะก่อภัย ก่อโทษ ก่อเวร ก่อกรรมให้กับเรา
ทุกท่านจึงต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ ต้องอดให้ได้ ต้องทนให้ได้ ถ้าเราไม่อด ไม่ทน ไม่ฝืนน่ะ ใจของเรามันจะไม่สงบ มันจะไม่เย็น พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา" ขันติ คือความอดทนเป็นเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง ทุกคนต้องอด ต้องฝืน ต้องทน ทำสิ่งที่ถูกต้อง คือเราไม่ทำตามความอยาก มันอยากคิดสิ่งที่ไม่ดี เราก็ไม่คิด มันชอบใจ เราก็ไม่ทำตามไม่ชอบใจ เราก็ไม่ทำตาม
ชีวิตของเราจะประเสริฐได้ เราต้องเอาธรรมเป็นที่ตั้ง เจริญสติสัมปชัญญะให้มากๆ เราถึงจะได้ยินคำที่เขาพูดกันว่า เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน ให้มีสติ มีความสงบอยู่กับการทำงาน เพื่อให้ใจของเราเกิดความสงบ
ทุกท่านทุกคนนั้นรู้อยู่ว่า... อันไหนดี อันไหนชั่ว อันไหนผิด อันไหนถูก แต่มันละไม่ได้ อดไม่ได้ หยุดไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นอำนาจของความเพลิดเพลิน
ทุกคนส่วนใหญ่มีความกลัว จะรักษาศีล ๕ ก็กลัว จะรักษาศีล ๘ ก็กลัว จะอดอาหารทานวันละครั้งก็กลัว สิ่งที่ดีน่ะมันกลัวหมด ลักษณะอย่างนี้ คืออาการใจของเราเป็นอสุรกาย มันกลัวความดี ความกลัวลักษณะนี้ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราสนใจมัน
ความกลัวนั้นเป็นความยึดมั่นถือมั่น เป็นอาการของตัวของตนทุกๆ ท่านทุกคน พระพุทธเจ้าท่านให้มีสติสัมปชัญญะ ให้จิตใจเข้มแข็ง ไม่ต้องกลัวความดี ไม่ต้องกลัวสิ่งที่มันดี ถ้ามันจะตายก็ให้มันตายเพราะเราได้ทำความดี มันผอมก็ช่างมัน มันจะเหนื่อยก็ช่างมัน จะทนอย่างไรเราก็ต้องสู้น่ะ เพื่อเราจะได้ก้าวไปข้างหน้า
การประพฤติปฏิบัติธรรมมันต้องเอาชีวิตว่ากัน เอาชีวิตเดิมพันในการทำความดี ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ ไม่ปฏิบัติอย่างนี้ ตัวเราเองมันจะหาความสุข ความเจริญในอนาคตไม่ได้ ทุกคนนั้นเป็นคนมักง่าย ไม่อยากปลูก ไม่อยากสร้าง แต่ต้องการผลประโยชน์ ต้องการทรัพย์ ต้องการอริยทรัพย์ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาปรับจิตปรับใจ มามีความสุขในการทำความดี มามีความสุขในการที่จะฝืน ที่จะทน เพราะเราทุกคนนั้นได้ทำสิ่งที่ดี สิ่งที่ประเสริฐ เราได้เกิดมาในท่ามกลางคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่า ตายาย
ที่ตั้งอยู่ในโลกธรรมน่ะ คือเอาวัตถุเป็นที่ตั้ง ไม่เอาธรรมเป็นที่ตั้ง เราทุกคนต้องมาสู้ มาทนด้วยปีก ด้วยลำแข้งของเราเอง ถ้ามีการประพฤติปฏิบัติอยู่ที่ไหน ที่นั่นก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ในที่นั้น ไม่ว่าที่บ้าน ที่วัด ที่ทำงานต้องเป็นที่ดีทั้งนั้น
คนเรามันมีความเพลิดเพลินอย่างมาก... ถ้าได้ยินเสียงเพลง เสียงดนตรี ก็ยากที่จะควบคุมตัวอยู่ ถ้าได้รู้ ได้เห็นรูปสวยๆ ได้ยินเสียงเพราะๆ อาหารดีๆ น่ะ ทุกคนย่อมควบคุมตัวเองไม่อยู่
ถ้าทุกท่านทุกคนไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ไม่เห็นภัย ไม่เห็นโทษในวัฏฏสงสาร ย่อมตกไปในสิ่งแวดล้อม ทุกคนนั้นต้องพยายามมีสติ มีสัมปชัญญะในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มันยั่วยวนกวนใจ มีแต่ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน บรรเลงด้วยเสียงสวรรค์
ทุกท่านทุกคนนั้นต้องเป็นตัวของตัวเอง ฝึกมีสติ มีสัมปชัญญะให้ได้ พยายามอย่าให้สิ่งภายนอกมันดึง มันลากเราไป เหมือนกับคนไม่มีเจ้าของ
ให้ทุกท่านทุกคนมีจิตสำนึกว่า ตัวเรานี่แหละจะประพฤติปฏิบัติในท่ามกลางสิ่งแวดล้อม ในชีวิตประจำวันเพื่อเราจะได้เป็นตัวของตัวเอง
'ตัวของตัวเอง' ในที่นี้หมายถึง จิตใจของเราให้เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติ ก็คือ ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ถ้าเรายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง แสดงว่าใจของเราไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นธรรมะที่บริสุทธิ์
ทุกๆ คนนั้นย่อมมีความเป็นคนขี้เกียจมาก ต้องพยายามฝืน พยายามอด พยายามทน พยายามขยัน ความขี้เกียจขี้คร้านนั้นมันทำให้เราเป็นคนเชื่องซึม เฉื่อยชา คิดไม่เป็น สิ่งที่น่าทำ...ก็ไม่ทำ
ความเกียจคร้านเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องฝืน ต้องอด ต้องทน เราอย่ามาเอาความสุขกับการเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน สมองก็สะลึมสะลือ พระพุทธเจ้าท่านให้เรากระฉับกระเฉง รวดเร็ว ถ้าเราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน เราจะช่วยเหลือตัวเองได้ไม่เต็มที่เต็มร้อย ถ้าเป็นคุณหมอก็เป็นคุณหมอเฉพาะทาง ถ้าการเรียนก็การเรียนเฉพาะทาง ถ้าเราเป็นคนขยันปัญญาของเรามันก็เกิดรอบทิศ ต้องเป็นคนมองโครงสร้างชีวิตออก เป็นคนรู้จักคิดว่า... อันนี้ควรพูด ควรทำ ควรหยุดทำ
ความขยันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โลกนี้ สังคมนี้ต้องการคนขยัน ต้องการคนฉลาด ถ้าเราไม่ขยัน เราจะเป็นคนฉลาดไปไม่ได้ เพราะระบบสมอง สติปัญญาเข้าถึงทางตัน เพราะความขี้เกียจขี้คร้านมันมาปิดมาบัง
พระพุทธเจ้าท่านขี้เกียจไม่เป็น ท่านถึงเป็นพระพุทธเจ้า การเรียน การศึกษา การงานก็ดี ที่มันไม่เจริญก้าวหน้าเพราะเราไม่ขยัน ไม่ต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ชีวิตนี้ถึงต้องสมาทานความดี สมาทานความขยัน สมาทานความอดทน สมาทานความไม่ท้อแท้ท้อถอย สมาทานการต่อสู้ สู้ชีวิต ถือว่าดีเราต้องสมาทาน ไม่กลัวปัญหา ไม่กลัวอุปสรรค เพราะว่าปัญหานั้น อุปสรรคนั้นเป็นสิ่งที่ดี ที่จะได้พัฒนาจิตใจ ให้เรามีความอดทน เพื่อจะได้ตั้งมั่นในความดี ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่กลัวทั้งนั้น จะกลัวทำไม? เพราะมันเป็นข้อสอบ เป็นบททดสอบเพื่อจะให้อดทน
ชีวิตนี้เราเกิดมาเพื่อเป็นนักสู้ ไม่เป็นคนท้อแท้ท้อถอย ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะเป็นเปรต เป็นอสุรกาย คอยรับส่วนบุญส่วนกุศลจากคนอื่น จากพ่อแม่ 'คนดี' โลกนี้ย่อมต้องการ อยู่ที่วัดเขาก็ต้องการคนดี อยู่ที่ทำงาน เขาก็ต้องการคนดี 'คนดี' เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เป็นสิ่งที่หอมหวนทวนลม ทุกท่านต้องตั้งใจ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ลูบๆ คลำๆ เหยาะๆ แหยะๆ ชีวิตของเรานี้ไม่มีใครมาประพฤติปฏิบัติให้เรา ทุกท่านทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติเอง
เราทุกๆ คนจะไปทุกข์อยู่ทำไม ทุกข์แล้วก็ไม่มีประโยชน์อะไร ต้องสู้ ต้องทน มีความสุข มีปิติ มีใจเป็นหนึ่งในการทำความดี ชีวิตของเราทุกคนจะได้เข้าถึงความดับทุกข์ ได้มาทั้งโภคทรัพย์ ได้ทั้งอริยทรัพย์ โดยไม่มีโทษ...มีเวร...มีภัย เราจะได้มาด้วยการสมาทานความดี ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท