แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มาประพฤติพรหมจรรย์ ตอนที่ ๖๗ กลับมาหาระบบของพระพุทธเจ้า เราต้องพากันเสียสละ ถ้าไม่เสียสละ เราก็หนักวัดวาศาสนา
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
พระพุทธเจ้าบอกให้เราทุกคนประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ขั้นต้นสำหรับประชาชนคือศีล 5 ตั้งมั่นในพระพุทธเจ้า ตั่งมั่นในพระธรรม เราปฏิบัติอย่างนี้ก็ถือว่าเราดำเนินสู่อริยมรรคมีองค์ 8 เรียกว่าเดินสู่ความเป็นพระอริยสงฆ์ สำหรับพรหมจรรย์เบื้องต้น พรหมจรรย์ระดับกลางก็คือผู้ที่ สละพวกบ้านเรือน พวกศีล 8 เรารู้จักอารมณ์ รู้จักความคิด อันไหนไม่ดี เราไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ เค้าเรียกว่าเราหยุดมี sex ทางความคิด มี sex ทางอารมณ์ เราหยุดบริโภคสิ่งที่ทำให้เราหลง พวกที่ไม่บวชก็ปฏิบัติได้ ถึงเป็นพระอริยเจ้าอนาคามี พรหมจรรย์สูงสุดก็คือศีลของนักบวช สามเณร อย่างนี้ก็ทำตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สามเณรอายุไม่ถึง 20 ก็เป็นพระอรหันต์ได้ ถือว่าเป็นผู้ประพฤติหรหมจรรย์สูงสุดเหมือนกัน
เราเดินทางในครอบครัวของเรา อยู่ในวัดของเรา เราต้องพากันเข้าใจอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ ครอบครัวของเราต้องไม่มีอบายมุข อบายภูมิ ทุกคนย่อมไม่ขี้เกียจขี้คร้าน ไม่ตามใจตัวเอง ไม่ตามอารมณ์ตัวเอง ไม่กินเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน คบเพื่อนไม่ดี พ่อแม่ก็เป็นตัวอย่างแบบอย่าง พระพุทธเจ้าให้เราใช้ทรัพยากร เช่นว่ามีเงิน 100 ก็แบ่งเป็น 4 ส่วน ถ้ามีเงิน1000 อย่างนี้ก็แบ่งเป็น 4 ส่วน ยกตัวอย่างอย่างนี้ในการดำเนินชีวิต ต้องมีการวางแผนในการใช้เงิน เราต้องปรับใจเข้าหาเงิน อย่าไปปรับเงินเข้าหาความโลภ ความโกรธ ความหลง ต้องปรับอย่างนี้ ทุกคนต้องมีความสุขในการทำงาน ถ้าเด็กๆ ก็มีการเรียนหนังสือ ขยัน รับผิดชอบ อดทน อย่าให้หน่อแนวความขี้เกียจ ความเห็นแก่ตัว อยู่ในสายสัมพันธ์ ในสายครอบครัวของเรา ลูกเราจะเป็นอย่างนี้ได้ก็มาจากพ่อมาจากแม่
พระผู้ที่บวชมาก็ต้องทำเหมือนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเสียสละ ฉันอาหารวันหนึ่งเพียงหนเดียว อะไรก็ไม่เอา หมู่มวลมนุษย์เทวดา หรือว่าพรหม ก็เคารพนับถือ เพราะท่านเสียสละ ไม่ต้องกลัวอดตาย ก็ต้องเสียสละ ไม่ต้องสะสมอะไร ฉันอาหารเพียงแค่บิณฑบาตรได้อะไร ได้ก็เสียสละไป อย่าไปกลัวไม่มีอยู่ ไม่มีฉัน ไม่ต้องเก็บไว้ มันต้องเสียสละ ถ้าเราเก็บไว้ก็เป็นสันนิธิ ต้องอาบัติ ถ้าเราเสียสละ ไม่อดตายหรอก ที่เราจะอดตายก็เพราะเราไม่เสียสละ ประชาชนเค้าทำใจไม่ได้ มันเป็นขบวนการแห่งการทุจริตต่อธรรมวินัย เราไม่ทำจริง ไม่ปฏิบัติจริง เราอย่าเป็นคนยากคนจน และมาบวชมาเอาศาสนาเลี้ยงชีพ ทำมาหากิน
ปัจจัยที่มันเกิดมาในวัดของเราก็ต้องแบ่งกันให้ถูกต้องให้ยุติธรรม พวกที่เกี่ยวข้องกับวัดกับวา อย่ามาหากินกับวัด วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง จิตใจอย่างนี้เค้าเรียกว่าจิตใจเปรต จิตใจหลง มาอุปถัมภ์ อุปัฏฐากวัดดูแลพระศาสนา เพื่อจะกิน เราก็รู้อยู่แล้วเปรต เช่นญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ตั้งอยู่บนความประมาท ลาภสักการะเกิดขึ้น ก็เอาของ กินของวัด เพราะถ้าเราไม่เอาธรรม ไม่เอาพระวินัย จะถือพรรคถือพวก มันต้องใจแข็ง เราบวชแล้วเราอย่าไปคิดว่า เอาเก็บเงินไว้ให้ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแฟ็บ ค่าสบู่ ค่าอะไรต่างๆ อันนั้นมันเป็นของสงฆ์ ถ้าเราให้เป็นสงฆ์ เราไม่อดหรอก
ไวยาวัจกรนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่มีศีล 5 ต้องเป็นผู้เอาศีลเอาธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง อย่างนั้นมันไม่ใช่ อันนี้มันเป็นเปรตประจำวัด ผู้ที่มาวัดก็อย่าพากันมาโลภเพื่อจะแย่งของกัน แย่งข้าวก้นบาตร อาหารก้นบาตรกันอย่างนี้มันไม่ได้ ใจมันเศร้าหมอง ใจมันมีมลทิน เพราะเราทุกคนต้องมาเป็นผู้ให้ เป็นผู้เสีลสละ อย่างนี้คนโบราณเค้าทรายเม็ดหนึ่ง ผู้ที่มุ่งมรรคผลนิพพาน เค้าไม่ให้ติดเท้ากลับบ้าน
เพราะเราถือว่าจิตใจของเรามีความโลภ วัดไหนมีเอกลาภเยอะ วัดนั้นมีเปรตเยอะ เพราะกินของสงฆ์ เพราะความยากจนก็ดี หรือบางคนไม่ยากจนก็ดี แต่นิสัยมันโลภ มักง่าย พวกแม่ขาว แม่ชี เรามันเป็นพวกใจอ่อน ชอบเอาของให้โยมที่เป็นพรรคเป็นพวก เราน่ะใจอ่อนก็พาลได้นะ
เพราะอาคารที่จะรับน้ำหนักได้ก็ต้องมีเหล็กเส้นใหญ่ และก็หลายเส้นละก็หุ้มด้วยปูนสเต๊งสูง อย่างนี้มันถึงแข็งแรง จิตใจของเราต้องแข็งแรง เราต้องรักษาไว้ทั้งธรรม ทั้งพระวินัย ถ้างั้นใจเราทิ้งธรรม ทิ้งวินัย ทิ้งศีลไปแล้วมันจะมีปัญหา เพราะเราลืมไปว่า ของนี้มันไม่ใช่ของเรา มันเป็นของสงฆ์ โยมมันแย่งขยะกัน คนนั้นก็พูดว่าคนนี้ไม่ดี คนนี้ก็ว่าไม่ดี เพื่อกำจัดเสนียดในการที่จะครองวัด ครองศาสนากัน เวลาวัดแต่ละวัดมีปัญหาเรื่องแย่งอาหารการกินกัน เพราะว่าพระเอาพรรค เอาพวกเอาญาติพี่น้อง ไม่ได้เอาพระธรรม เอาพระวินัย โยมเค้าก็ไม่ไว้วางใจ
เราก็ต้องรักษาธรรม รักษาพระวินัยไว้ อย่าไปใจอ่อน ดูตัวอย่างหลวงพ่อใหญ่หลวงพ่อกัณหานี่ คนจังหวัดจันท์ถวายทุเรียนมาหลายร้อยลูก หลวงพ่อนี่แบ่งให้ทุกครอบครัวหลายหมู่บ้านอย่างนี้ ไม่เอาแต่หมู่เฮา ถ้าระบบหมู่เฮาหมู่เรา นี่ก็ถ้าได้ของมาก็คิดถึงแต่คนที่รักกัน ชอบกันให้ผลประโยชน์เรา อันนี้ไม่ใช่ศาสนา นี้คือนิติบุคคล เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เราก็ไม่ใช่สถาบันพระศาสนา เป็นนิติบุคคลไป พวกอันนี้แหละ เอาของเก็บของสังฆทานไว้ ไปให้พี่ให้น้อง ไปขายอย่างนี้มันไม่ใช่ ไม่ใช่ศาสนา มันเป็นเปรตประจำวัด พวกนี้ก็รู้ดีพวกขายสังฆทาน ไปซื้อกลับคืนมาจากวัด แล้วขายให้ประชาชน เช่นว่าผ้าไตร ไตรละ 3000 ไปซื้อกับพระคืนมาไตรละ100-200 เราต้องพากันเสียสละ ถ้าเราไม่เสียสละ เราก็หนักวัด หนักศาสนา เราอย่าให้มีอคติ อย่าไปรักใคร ชอบใครอะไร ต้องเอาความเป็นธรรม ความยุติธรรม เราถึงจะกลับมาหาระบบของพระพุทธเจ้า ถ้างั้นมันตกอยู่ในนิติบุคคลอย่างนั้นไม่ได้
เราดูตัวอย่างอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพล ท่านเสียสละ ท่านไม่เอาใจตัวเอง ไม่เอาอารมณ์ตัวเอง ตั้งแต่ท่านเสด็จขึ้นครองราช บอกว่าจะกลับมาประเทศไทย จะไม่ทิ้งประชาชนปวงชนชาวไทย ตั้งแต่วันนั้นท่านไม่ได้เสด็จออกนอกประเทศเลย เพราะต้องแก้ปัญหา นี่เราทำตามอารมณ์ เจ้าอาวาสต่างๆ ก็ไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ขยันทำวัตร ไม่ขยันกวาดวัด ไม่ขยันนั่งสมาธิสวดมนต์ แล้วขยันที่จะไปประจบคฤหัส แล้วจะไปเที่ยววัดนู้นวัดนี้ หรือไปเที่ยวต่างประเทศ มันไม่ใช่อย่างนี้ เราดูตัวอย่างสิ อย่างเมื่อสมัยปีก่อนๆ ในหลวงมหาวชิราลงกรณ์เสด็จไปอยู่ที่ประเทศเยอรมันบ่อย ประชาชนก็ยังมีความทุกข์ เดี๋ยวนี้พระองค์ท่านทรงรู้แล้ว ท่านก็ไม่เสด็จไป ทุกคนก็มีความสุข เพราะท่านเป็นลูกชายของในหลวงมหาภูมิพล พระองค์ท่านก็ทรงทำเหมือนทูลกระหม่อมพ่อ ตั้งแต่กลับมา ก็เป็นที่พึ่งของปวงชนชาวไทย พระองค์ท่านทำไมสุดยอดอย่างนี้ ได้เห็นความแน่นอน เห็นความชัดเจนของพระองค์ท่านเลย พระองค์ท่านทำไมทำได้
พระคุณเจ้าทั้งหลายก็อย่าเอาแต่พาประชาชนเที่ยวทัวร์ ต้องกลับมาพัฒนาวัดนะ อย่าไปเป็นผู้ใจบุญรับนิมนต์ไปทั่วโลก การบริหารวัดก็ต้องกลับมาบริหารตัวเอง กลับมาหาข้อวัตร ข้อปฏิบัติ เราจะได้แก้ไขปรับปรุงตัวเอง เราต้องเสียสละซึ่งตัวซึ่งตน ไปตามกฏของความถูกต้อง มันมีหลักการ เราก็มาอย่างนี้ พระเราก็ทำหน้าที่กวาดวัดทำอะไรๆ ดูแลพวกอันนี้ดีๆ เพราะเราก็เอาสิ่งเหล่านี้มาเสียสละ เอาสิ่งนี้มาบำเพ็ญบารมี โอ๋...พระพุทธเจ้าเข้าสู่ระบบหมด แม้แต่เข้าห้องน้ำ ห้องน้ำก็ต้องทำอย่างไรๆ ต้องเข้าสู่ระบบ ที่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ วัดเราก็จะเปลี่ยนแปลง ครอบครัวเราก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดี การพัฒนามันก็ก้าวไปไกล เพราะเราพัฒนาทั้งเทคโนโลยี และก็พัฒนาทั้งใจไปพร้อมๆ กัน เราก็จะเป็นคนทันสมัยทั้งทางจิตใจ และทางเทคโนโลยี ไม่ใช่ปล่อยวางไม่เอาอะไรอย่างนั้นเค้าเรียกว่า เป็นโมหะ
พระพุทธเจ้าท่านเมตตาทุกๆ คน ให้พากันปฏิบัติธรรมปฏิบัติธรรมทำอย่างไร..? ปฏิบัติธรรม' ก็คือ ทำตามธรรม ไม่ให้ทำตามความอยากตามความต้องการของเรา เพราะว่าความอยาก ความต้องการของเรานี้มันทำให้เรามีปัญหา ทำให้ชีวิตจิตใจของเราตกต่ำ
ปฏิปทาของเราแต่ละคนนี้เป็นสิ่งที่จำแนกชีวิตจิตใจ...ฐานะและคุณธรรมน่ะ "ความจริงก็คือความจริง ไม่เคยเอนเอียงไปกับใคร ทุกคนทำดีก็ได้ดี ทุกคนทำชั่วก็ได้ชั่ว สัตว์โลกทั้งหลายย่อม เป็นไปตามกรรม ทุกคนจะหลีกหนีไปไม่พ้น
พระพุทธเจ้าท่านให้เราเน้นมาหาที่ตัวเรานี้แหละ... ถึงจะยากจะลำบาก ถึงเหน็ดเหนื่อยเท่าไหร่ก็ต้องพากันประพฤติปฏิบัติธรรม 'อินทรีย์สังวร' สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้ตั้งอยู่ในธรรมด้วยความไม่ประมาท
“คนฉลาดก็ตายเพราะความฉลาดของตัวเอง ใครมีความรู้ความสามารถอะไร ก็ตายเพราะความรู้ความสามารถของตัวเอง ถ้าไม่เอาธรรมเป็นใหญ่เป็นหลัก เป็นข้อวัตรปฏิบัติ”
ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นน่ะมันไม่ได้ไปตามใจของเราเลย พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาปรับที่กาย วาจา ใจของเรา เราไม่ต้องวิ่งไปหามรรคผลพระนิพพานที่ไหน หาทางดับทุกข์ที่ไหน ท่านให้กลับมาหาตัวของเรา คือปฏิปทาของเรา ให้อริยมรรค คือหนทางที่ประเสริฐ ที่นับแล้วก็มีองค์ ๘ ประการเป็นหลัก เป็นปฏิปทาของเรา
เราทุกๆ คนน่ะวิ่งหาความสุขความดับทุกข์ แต่มัน ก็ดับไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้มาแก้ที่กาย วาจา ใจ ที่ปฏิปทาของเรา
เราทุกๆ คนนี่ทำอะไรในชีวิตประจำวันนี้บาปกรรม มันมีกับเราตลอด ไม่ว่าเราพูด ไม่ว่าเราคิด ไม่ว่าเรากระทำ ถึงแม้คนอื่นจะไม่รู้ คนอื่นจะไม่เห็น คนอื่นจะไม่ได้ยิน แต่บาปกรรมที่เรากระทำนั้นหาได้อภัยให้เราไม่ บาปกรรมนั้นต้องถึงเราแน่นอน ไม่ชาติเดี๋ยวนี้ก็ชาติหน้าแน่นอน...ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราทำอะไรเรารู้ของเราหมด ไม่ว่าที่ลับที่แจ้ง ต่อหน้า หรือว่าลับหลังใคร... เมื่อเราปกปิดตัวเองไม่ได้นั่นน่ะ
พระพุทธเจ้าท่านถึงให้เรามาแก้ที่จิตที่ใจ อันไหนไม่ดีไม่ถูกต้องน่ะ พระพุทธเจ้าท่านห้ามเราคิดเป็นเด็ดขาด ถ้าคิดมันต้องมีปัญหาแน่ ที่เราปฏิบัติไม่ได้ถึงมรรคถึงผล ก็เพราะความคิดของเรานี้แหละที่มันมาขวางกั้นให้เราไม่เข้าถึงพระนิพพาน มันจะไปพระนิพพานได้อย่างไร... เพราะตัวที่ไปพระนิพพาน คือ ตัวจิตตัวใจ เมื่อใจของเรามันยังไม่สะอาด มันยังสกปรก มันยังมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง มันยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ มันไม่ตัด มันไม่ทิ้ง มันยังเห็นโลกดีกว่าธรรม มันจะไปพระนิพพานได้อย่างไร... พระพุทธเจ้าท่านให้ เราเน้นไปที่ ใจ' ของแต่ละคนนะ "
ให้ทุกคนกลับมาดู ใจ' ตัวเอง ว่าตัวเองน่ะตั้งมั่นในพระรัตนตรัยแล้วหรือยัง เป็นคนละอายต่อบาป เป็นคนเกรงกลัวต่อบาปแล้วหรือยัง เห็นภัยในวัฏฏสงสารแล้วหรือยัง เลิกคิดในสิ่งที่มันไม่เหมาะสมแล้วหรือยัง ถ้ายัง... ก็ต้องแก้ไข นี้ถือว่าเป็นคนหยาบถือว่าเป็น 'คนอลัชชี' ที่ไม่มีความละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป กล้าคิดกล้าปรุงแต่งในสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้คิดไม่ให้ปรุงแต่ง
การทำบาปทางกายที่หยาบๆ นั้นน่ะก็ถือว่ามันยังน้อยอยู่... แต่การทำบาปทางจิตใจที่มันคิดไม่ดี คิดไม่เหมาะสมน่ะมันมีมาก เมื่อมันมีมากอย่างนี้มันจะแก้ไขตัวเองได้อย่างไร เพราะเราทำบาปทำกรรมทางความคิดตลอดเวลา
คนเราน่ะมันอยากคิด...มันก็ต้องอดคิด ก็ต้องมีสมาธิ 'สมาธิ' เป็นสิ่งที่ขวางกันหรือปิดกั้น เปรียบเสมือนเราทำเขื่อนใหญ่ๆ เพื่อกันเอาน้ำเก็บน้ำ เพื่อจะใช้อะไรได้ตามความต้องการ 'สมาธิ' นี้เป็นเครื่องที่สำคัญ เป็นเครื่องที่แข็งแรงนะ ที่เราปล่อย...ที่ให้มันคิดแล้วบอกตัวเองว่ามันอดคิดไม่ได้ ที่มันอดคิดไม่ได้ก็เพราะว่าเราไม่ได้อด ไม่ได้ทน "ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา" "ขันติ คือ ความอดกลั้นเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง"
พยายามอด...พยายามทน...พยายามทวนกระแส เพื่อพัฒนาจิตใจ อย่าได้พากันตั้งอยู่ในความประมาท
บวชหลายปีมันก็ไม่มีประโยชน์อะไรถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติและแก้ปัญหาไม่ถูกจุด มันก็ไม่ยากลำบากเกิน ทุกคนปฏิบัติได้ทำได้ แต่ไม่เห็นความสำคัญในการประพฤติปฏิบัติธรรม
คนเรามันขี้เกียจขี้คร้าน เห็นแก่ตัว ติดสุขติดสบาย แต่ธรรมชาติความเป็นจริงน่ะ เค้าไม่ได้ยกเว้นให้คนขี้เกียจขี้คร้านติดสุขติดสบาย เค้าไม่ได้ผลัดวันประกันพรุ่งว่า...อากาศร้อน อากาศหนาว อากาศเย็น ฝนตกแดดออก ทุกอย่างต้องเป็นไปตามความจริง เป็นไปตามสัจธรรม
สัจธรรม คือ ความจริง เราต้องปรับจิตปรับใจเข้าหาความจริงให้ได้ ปฏิบัติธรรมให้ได้ มรรคมีองค์ ๘ สมณะที่ ๑ ๒ ๓ ๔ มันมีอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกๆ คน ไม่ว่าเป็นโยมหรือเป็นบรรพชิตน่ะ ทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะประพฤติปฏิบัติได้เหมือนๆ กันหมดน่ะ
ที่เราพากันมีทุกข์ มีปัญหาน่ะ เพราะว่าความประพฤติของเรามันบกพร่องในทางที่ดีๆ เพราะความเห็นแก่ตัวของเรา มองข้ามใจของเรา มองข้ามวาจา กิริยา การกระทำของเรา เรามันยังเซ่ออยู่ เรามันยังเบลออยู่ มันยังงงอยู่ ทำอะไรไม่ทันท่วงทีทุกๆ อณูในชีวิตประจำวันน่ะ
ถ้าเราปฏิบัติน่ะ... มันดีนะ เพราะว่าความสุขที่หัวใจของเราเป็นพระอริยเจ้า พระโสดาบันก็มีความสุขมากกว่าคนที่ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีแต่จิตใจเป็นปุถุชนอยู่ เพราะคนเรามีทรัพย์สมบัติมากเท่าไหร่มันก็ดับทุกข์ไม่ได้ ถ้าจิตใจไม่สงบ
เราปฏิบัติธรรมไปน่ะใจของเราก็มีความสุข ครอบครัวเรามันก็มีความอบอุ่นมีความสุข มีบ้านก็ไม่หลงบ้าน มีรถก็ไม่หลงรถ มีลาภ ยศ สรรเสริญก็ไม่หลงน่ะ เพราะอันนี้มันเป็นสิ่งภายนอก มันเป็นของใช้ชั่วคราว มีร่างกายก็ไม่หลงร่างกาย ร่างกายนี้เป็นสัจธรรมแก่ไปทุกวันๆ มีทั้งแก่ ทั้งเจ็บ ทั้งไม่สะดวกสบายไปทุกวันน่ะ มันเป็นของจริงอย่างนี้แหละเราไปติดเค้าไม่ได้น่ะ
“เราเอา...ใจ...กาย...ของเรามาพัฒนาจิตใจของเรา เพื่อให้มันแยกจิตออกจากกาย เพราะคนเรานี้...มันแก่ ก็แก่ที่กาย มันเจ็บมันก็เจ็บที่กาย ที่มันตายมันก็ตายที่กาย แต่ใจของเรามันเป็นนามธรรม มันไม่ได้แก่...ไม่ได้เจ็บ...ไม่ได้ตาย"
ที่มันทุกข์เพราะใจมันหลง หลงไปยึดเอาร่างกายเป็นของเราน่ะ มันก็เลยทุกข์ มันก็เลยมีปัญหา ต้องฝึกปล่อยฝึกวางทางจิตใจว่า เราไม่ได้เป็นผู้หญิง ไม่ได้เป็นผู้ชาย ไม่ได้เป็นคนเด็ก คนแก่ เราไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น อันนี้มันเป็นธรรมะเป็นธรรมชาติ มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปทุกขณะ ทุกลมหายใจ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่มีอะไรตั้งอยู่ถาวร ทุกอย่างมันต้องสลายไปในที่สุด ร่างกายไม่ใช่ของเรา ต้องฝึกปล่อยฝึกวาง ฝึกทำใจให้สงบ ฝึกให้มีสมาธิ เพราะคนเก่งคนฉลาดมันหลงในสวรรค์ มันหลงในลาภ ยศ สรรเสริญ
"มันไม่รู้จักทำใจให้สงบ ไม่รู้จักทำใจให้ปล่อยให้วาง มีร่างกายดีก็ลืมตัว...มีลาภ ยศ สรรเสริญ ก็ลืมตัว เค้าเรียกว่าเป็น 'วัวลืมตีน' อย่างนี้ไม่ได้นะ”
ทุกท่านทุกคน... อย่าไปลืมตัว พระพุทธเจ้าน่ะท่านไม่ลืมตัวนะ ท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าเราลืมตัวแล้วเราก็จะไปเป็นทุกข์กับลูกกับหลาน กับพี่กับน้อง เพราะเรามายึดเอาร่างกายเป็นของเรา ทุกอย่างมันจึงเป็นกระบวนการของความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงไปหมด
คนเค้าพูดกันว่าบริจาคร่างกายเป็นทานน่ะ...มันได้บุญมาก "การบริจาคร่างกาย ก็คือ การละสักกายทิฏฐิ" ละที่ความเห็นผิดว่าร่างกายเป็นเราเป็นของๆ เรา คนเรามันเห็นแก่ตัวมากนะ วันไหนตัวขาวผิวเนียนอย่างนี้ก็ดีอกดีใจ เดือนหนึ่งๆ ก็เสียเครื่องสำอางหรือเฟอร์นิเจอร์ที่แต่งตัวไปมากมาย 'มันหลง' อย่างนี้แหละ เค้าว่าเราสวยเราก็หลง เค้าว่าเราหล่อเราก็หลง เค้าว่าเราขาว เรางามเราก็หลง ท่านว่า เราเกิดมาเราไม่ใช่เกิดมาเพื่อสร้าง 'บารมีหลง' นะ ต้องสร้างบารมีเพื่อลดสักกายทิฏฐิ
ที่เราแต่งเนื้อตัวแต่งตัว...เพื่อปกปิดสิ่งที่น่าเกลียดเฉยๆ เพื่อเข้าสังคมเฉย ๆ เพราะร่างกายของเรามันน่าเกลียดสกปรก ถ้าไม่ได้อาบน้ำ ไม่ได้แต่งตัวมันก็เป็นสิ่งที่น่าเกลียด อย่ากันพาหลง พยายามละกาย ละสักกายทิฏฐิ มาพัฒนาใจของเรา ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจของเราสงบ ทุกท่านทุกคนต้องฝึกสมาธิให้ได้
เรื่องภายนอกน่ะใครเค้าจะดีเค้าจะชั่ว ใครจะรวยจะจน จะมีปัญหาอะไรต่างๆ ทั้งการบ้านการเมือง ดินฟ้าอากาศอะไรต่างๆ ก็ช่างหัวมัน เราก็ฝึกจิตใจของเราสงบ เราทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ในชีวิตประจำวันของเราน่ะ ใจของเราถึงจะสงบ คุณธรรมของเรามันถึงจะเกิด ปรับปรุงตัวเองไปที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเป็นหลักตายตัวว่า... "สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง" นี้แน่นอนเป็นอมตะ
ปฏิปทาของเรามันต้องจับวางเลย ถ้าเราช้านิดหนึ่งน่ะ อย่างนี้ก็ปล่อยให้กาลเวลามันผิดพลาดน่ะ เราก็ถูกเวลากลืนกิน การทำกุศลให้ถึงพร้อมมันก็ไม่มี พระพุทธเจ้าท่านให้เอาบ้านของเรานั่นแหละเป็นที่ปฏิบัติ ผู้ที่อยู่วัดก็เอาวัดเป็นที่ปฏิบัติ อย่าพากันสัญจรพเนจรไปหาธรรมะไกลเกินมากเกิน มันมีอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว
ท่านบอกทุกวันว่า... ทุกคนอย่าลืม อย่าประมาท ต้องกลับมาแก้ไขตัวเอง ต้องกลับลำ เมื่อตัวเอง ก็รู้ในใจตัวเองแล้วว่าตัวเองมีความผิดพลาดอะไร เราจะไปโทษว่าเราเป็นคนบุญน้อย วาสนาน้อย บารมีน้อยมันไม่ถูกมันไม่ยุติธรรม เพราะทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ ขอให้เชื่อพระพุทธเจ้า ขอให้ทำตามพระพุทธเจ้า ทำได้ทุกคนนั่นแหละ
กรรมเก่านิสัยเก่าน่ะ ทิฏฐิมานะมันมากน่ะ ต้องพากันแก้ไข พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราพากันเป็น 'คนดื้อตาใส' ให้เรากล้าปฏิบัติ กล้าตัด กล้าแก้ไขตัวเอง ทำไปปฏิบัติไป ไม่ให้คนอื่นมารู้มาเห็นน่ะ เพราะเราเองมันเป็นคนรู้คนเห็น การหมดกิเลสสิ้นอาสวะเราเองก็เป็นคนรู้ ไม่ต้องไปคิดว่า... ไม่อยากเกิดอีกแล้ว อยากไปพระนิพพานน่ะ เพราะว่ามันคิดเฉยๆ อยากเฉยๆ น่ะมันไม่มีประโยชน์ มันมีแต่สร้างบาปสร้างกรรมให้ตัวเอง "รู้แล้วไม่ยอมปฏิบัติ..."
เราเก่งภายนอกน่ะ มันใช้ไม่ได้ มันต้องเก่งภายใน คือ กลับมาแก้ไขจิตแก้ไขตัวเอง ให้มันเคารพตัวเองได้ กราบไหว้ตัวเองได้...ถึงจะว่าแน่ นี่คนเรามันกลัวตาย กลัวผอม กลัวยากลำบาก มันเลยไม่เข้าถึงคุณธรรมคุณงามความดี ความกลัวนี้แหละ...ท่านเปรียบเสมือนความคิดของอสุรกาย มันไม่กล้าหาญทำความดี มันก็เป็นผีอยู่อย่างนั้นแหละ"
มันเป็นอสุรกายน่ะลักษณะจิตอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรากลัว...ทุกคนต้องปักหลักสู้ ปฏิบัติสู้ ต้องละเอียดในตัวเองให้มากขึ้น ไม่ให้ตามอารมณ์ เพราะสัจธรรม คือความจริงนั้นไม่มีอารมณ์ ไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง ไม่ต้องสนใจอารมณ์หรอก...
'อารมณ์' นั้นคือ 'สีลัพพตปรามาส' ลูบๆ คลำๆ ในคุณธรรมคุณงามความดี ถ้าเราไม่เอาชีวิตถวายต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ เราปฏิบัติอย่างนี้แหละ ชีวิตของเรามันจะดีได้อย่างไร จะเจริญได้อย่างไร จะมีประโยชน์อย่างไร...ในการเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วไม่ได้สร้างความดี ไม่ได้สร้างบารมี
"ศีลก็ต้องสังวรนะ" ศีลของเรานี้น่ะได้แก่ตัวที่จะนำให้เราเป็นพระอริยสงฆ์ ศีลเราแต่ละข้อนั่นน่ะเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าชีวิต พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราลูบคลำศีล ไม่ให้ไปปฏิรูปศีลเพื่อเข้าหากิเลสของตัวเอง"
'ศีล' นี้คือ ข้อบังคับจิตใจไม่ให้เกิดบาปเกิดกรรม เกิดเวรเกิดภัย การรักษาศีลนี้ ก็คือ การมาตัดความโลภ ความโกรธ ความหลง 'ศีล' นี้แหละ คือพื้นฐานของความดีทั้งหลายทั้งปวงที่จะเกิดขึ้น... ที่โยมมีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะเรื่องศีล ที่พระมีปัญหาอยู่ก็เพราะเรื่องศีล ที่สังคมมันเดือดร้อนอยู่ก็เพราะเรื่องศีล เรื่องศีลนี้สำคัญน่ะ ถ้าใครจะเป็นบรรพชิตที่ต้องการมีความก้าวหน้าเพื่อมรรคผลนิพพานต้องเน้นเรื่อง 'ศีล'
"ถ้าทิ้ง 'ศีล' แล้ว ก็หมายความว่า ชีวิตของความเป็น 'บรรพชิต' ของเรา นั่นน่ะมันเหลือแต่รูปแบบ" รูปแบบคืออะไร...?
รูปแบบ คือ ปลงผมแล้วก็ห่มจีวร มีแต่จะหมดไป เสื่อมไป ตัวเองก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่สร้างบาปสร้างกรรม ประชาชนทั้งหลายก็ไม่ได้ประโยชน์ เราก็ไม่ได้เป็นพระที่แท้จริง เราก็เป็นบุคคลคนหนึ่งที่อยู่ในรูปแบบ คือเอาศาสนา เป็นเครื่องทำมาหากิน อย่างนี้มันไม่เกิดประโยชน์เลย
ศีลนี้ปฏิบัติให้มันเคร่งๆ ไว้มันไม่ตายหรอก มันจะอดก็ช่างมัน หิวก็ช่างมัน ลำบากก็ช่างมัน ต้องเอาศีลไว้ก่อน อย่าไปลูบๆ คลำๆ เรื่องอยู่ เรื่องกิน เรื่องเงิน เรื่องสตางค์ เรื่องผู้หญิง เรื่องญาติพี่น้องวงศ์ตระกูล พระพุทธเจ้าท่านให้ เราเอาศีลเป็นใหญ่ เอาศีลเป็นหลัก เอาศีลเป็นประธานการประพฤติปฏิบัติของเรามันถึงจะมีประโยชน์
สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าสิ่งไหนที่เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์อย่าพากันประพฤติปฏิบัติ มันส่งออกไปแต่ข้างนอก มันเลยไม่ได้มาแก้จิตแก้ใจของเราเอง วันหนึ่งก็มีธุระมาก ไหนจะไปหาโยมคนโน้นโยมคนนี้... ไปกิจนิมนต์โน้นกิจนิมนต์นี้... ไปช่วยเหลือคนโน้นคนนี้... 'จิตใจ' น่ะสลายหมด เพราะว่าประพฤติตัวในสิ่งที่ไม่ใช่พรหมจรรย์ เรื่องศีลนี้ถึงเป็นเรื่องสำคัญพระพุทธเจ้าท่านถึงตรัสว่า 'ศีลสังวร' น่ะ
พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ทุกคนประมาท พระที่บวชใหม่ที่ต้องการความเจริญ ต้องการมรรคผลนิพพาน อย่าได้เอาพระที่บวชเก่าที่ตกเกรดไม่ได้มาตรฐานนี้เป็นตัวอย่าง พระที่อยู่ในวัดด้วยกันเค้านับถือเราไม่ได้นี้...แสดงว่าเป็น 'พระตกเกรด' พระที่โยมเลื่อมใสเยอะ แต่ว่าพระอยู่ในวัดไม่เลื่อมใสอย่างนี้... 'พระตกเกรด' นะ
พระที่ดี คือเพื่อนสหธรรมิกที่อยู่ในวัดเคารพเลื่อมใสอย่างนี้ ถึงว่าเป็นพระที่ดี นี้แหละ... พระในวัดไม่ยอมรับมีแต่โยมนอกวัด สังคมต่าง ๆ ยอมรับ อย่างนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ มันเผาตัวเอง เพราะว่าเราผิดศีล เราอ่อนธรรมวินัย หลงโลก... หลงสิ่งที่ไม่ใช่ พรหมจรรย์
พระเราไม่ต้องเก่ง ไม่ต้องฉลาด ขอให้รักษาศีลได้ดี ทุกอย่างมันก็ดีหมด 'ศีลสังวร' นี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะได้สร้างรากฐานให้เราน่ะ
พระใหม่ๆ ให้ตั้งอกตั้งใจ อย่าได้เอาตัวอย่างพระที่มันไม่ดี ไม่ได้มาตรฐาน เค้าจะดังก็ช่างมัน... เค้าจะมีชื่อเสียงก็ช่างมัน... เค้าจะมีเงินมีสตางค์ มีลาภยศ มีสรรเสริญ มีนารีสีกามากก็ช่างเค้า... ถือว่าอันนี้ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัย ไม่ใช่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า "พระองค์ไหน เณรองค์ไหนล่ะที่แต่ก่อนมีความคิดเหมือน 'พระนอกธรรมวินัย' นั้นน่ะ... ต้องกลับลำกลับเนื้อกลับตัวนะ พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้"
เรื่องบริโภคอาหาร เรื่องบริโภคปัจจัยนี้แหละ...พระพุทธเจ้าท่านก็ว่าสำคัญ ให้รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง...เห็นแก่ความเอร็ดอร่อย...จนทิ้งศีล ทิ้งธรรมทิ้งวินัยนะ ไม่ได้มาเน้นทางจิตทางใจ แก้จิตแก้ใจ พระพุทธเจ้าท่านให้เราเป็นคน 'โภชเนมัตตัญญุตา' อย่าไปลุ่มหลงในสิ่งที่เป็นวัตถุ สิ่งที่ไม่ให้เราได้พัฒนาจิตใจ 'อดเอาทนเอา' ของเอร็ดอร่อยมันอยากมากต้องการมาก เราก็เฉยๆ ไว้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ในอนาคตต่อไปน่ะ พระเณรเราจะไปหลงในการอยู่การฉัน ในการบริโภคปัจจัยที่ดีๆ อาหารอร่อยๆ น่ะ แล้วจะลืมตัวไม่มีสติสัมปชัญญะ ยับยั้งชั่งใจ ใจจะถูกเผาเร่าร้อนด้วยกิเลสตัณหาราคะต่างๆ
"ต้องเบรกตัวเอง' ใครเค้าจะทำก็ช่างเค้า ใครเค้าจะลุ่มหลงก็ช่างเค้า 'ต้องมีสติ" ไม่เป็นไร... เราจะไม่อ้วนเท่าเค้า...ไม่เป็นไร เราอาจจะไม่ได้กินของดีเท่าเค้า...ก็ไม่เป็นไร อ้วนก็ต้องตายอยู่แล้ว ผอมก็ต้องตายอยู่แล้ว มีชื่อเสียงก็ต้องตายอยู่แล้ว สู้เราพัฒนาแก้จิตแก้ใจทำใจให้เรานิ่งให้สงบไม่ได้ "เสียเวลาของเราเปล่าๆ ที่เราจะมาหลงในขยะ มาหลงในสิ่งปฏิกูลของพรหมจรรย์นี้ไม่ได้"
ต้องรู้จัก 'โภชเนมัตตัญญุตา' พระใหม่ๆ นี้น่ะเราบวชระยะสั้นก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ พระเก่าๆ พระโหลๆ ปฏิบัติไม่ดี เราไม่ต้องเอาเป็นตัวอย่าง พระอย่างนี้มันหาดูง่ายหรอก แต่พระที่ดีๆ มันหาลำบาก วัดที่มีชื่อเสียงก็ไม่ใช่ว่ามันจะมีพระดีหมดทุกองค์ พระปลอมมันก็มี มันผสมกันอยู่นั่นแหละ เราก็ไม่ต้องไปมองดูว่าใครดีใครชั่ว ถ้าเราไปมองว่าใครดีใครชั่ว เราจะเป็นคนพาลเป็นอันธพาล ไปเอาดีเอาชั่วเอาสิ่งที่ไม่มีสาระมาใส่จิตใส่ใจของเรา ไปเพ่งโทษคนอื่น เรื่องของเขาเราไม่เกี่ยว ช่างหัวมัน
ให้ตาผ้าขาวใหม่ ๆ ให้พระใหม่ ๆ เข้าใจนะ ไม่อย่างนั้น เราจะเป็นคนพาลเป็นอันธพาลเอาสิ่งที่ไม่ดีมาใส่ใจ แล้วหมดกำลังใจในการประพฤติปฏิบัติ ใครจะทำชั่วก็เรื่องของเขา เราอย่าเอาไปเป็นตัวอย่าง เรามองข้ามไปเฉยๆ ไว้ "กรรมใดใครก่อก็ช่างหัวเขา ใครทำไม่ดีก็ช่างหัวเขา" พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนั้น เราต้องทำดีเพื่อสร้างเรตติ้งของเราในการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะความสุขความดับทุกข์เราต้องสร้างของเรา เพราะทั้งตัวสติทั้งปัญญามันมีอยู่ในตัวเรานี้แหละ"