แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มาประพฤติพรหมจรรย์ ตอนที่ ๖๓ ต้องอาศัยข้อวัตรปฏิบัติเพื่อฝึกใจ เพื่อละความเห็นแก่ตัว
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
ความรู้ความเข้าใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เราเรียนหนังสือนี้ก็เพราะต้องการรู้ การศึกษานี้ถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อรู้แล้วต้องเอาความรู้นี้มาประพฤติมาปฏิบัติ การพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์หรือให้เป็นพระอริยเจ้านี้ ต้องพัฒนาที่ความรู้ พัฒนาภาคประพฤติปฏิบัติ การเรียนการศึกษาทั้งหมด คือหลักเหตุหลักผล เราก็มาเข้าสู่ระบบแห่งการประพฤติการปฏิบัติ ด้วยเราทุกๆคน ทุกท่านทุกคนต้องพากันปฏิบัติเอง เค้าเรียกว่ารุ่นพ่อสู่ลูก รุ่นลูกสู่หลาน มันเป็นการส่งไม้ต่อกัน ถ้าเรามีแต่ความรู้ มีแต่ความเข้าใจ แต่เราไม่ปฏิบัติ ก็ถือว่ามันขาดตอน เราดูแล้วโลกมีปัญหา สังคมมีปัญหา เพราะเรามีความรู้แล้วเราไม่ได้เอาความรู้มาประพฤติมาปฏิบัติ การพัฒนาก็ต้องพัฒนาทั้งระบบ เป็นระบบตั้งแต่ความคิด คำพูด การกระทำ ให้มันเป็นเหตุเป็นผล เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้ถึงมี พระพุทธเจ้าท่านให้เราพัฒนาไปไกลไปอีก เพราะคนเราถ้าทำตามความรู้ตามหลักเหตุผลแล้ว ความจนก็จะไม่มี
เพราะว่าความรู้กับการปฏิบัตินี้จะปิดอบายมุขอบายภูมิ ศาสนาพุทธนี้ถึงเป็นศาสนาผู้รู้ ศาสนาที่ประกอบด้วย ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าน่ะให้เอาความรู้ความเข้าใจนี้มาประพฤติปฏิบัติ ที่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เรามีศาสนาพุทธแล้วก็มีแต่ชื่อ มีแต่สำมะโนครัว อย่างนี้ก็ถือว่ามันยังไม่ได้ ทุกคนต้องพากันเข้าใจใหม่ เพราะไม่มีใครมาทุกข์ให้เราได้ ไม่มีใครมีสุขให้เราได้ ปัญหาต่างๆ นั้นมันไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก อยู่ที่เรายังไม่รู้ เหมือนที่กล่าววันก่อนนี้ว่า มาจากไหน จะไปที่ไหนอย่างนี้ไม่รู้ ทุกคนก็รู้ว่ามันดี ถึงพากันประพฤติปฏิบัติ ศาสนาพุทธนี้ไม่เสื่อมเพราะว่ามันมีระบบที่เข้าสู่มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ นิพพานสมบัติ ตามลำดับอะไรอย่างนี้ มันจะเป็นกฎแห่งกรรม เค้าเรียกว่ากฏอิทัปปัจจตา เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้ถึงมี
เราจะเอาตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกไม่ได้ ต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เพื่อที่จะพัฒนาใจของเรา ใจของเราทุกคนมันหลง เค้าถึงเรียกว่า พระพุทธเจ้าถึงให้ยานแก่เรา ยานนี้ก็คือศีล ยานนี้คือสมาธิ ศีลนี้สิกขาบทน้อยใหญ่ นั้นแหละคือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็คือธรรมะ ผู้ประพฤติปฏิบัติตามศีล จิตตั้งมั่นในความถูกต้อง ความเป็นธรรม ความยุติธรรม นั้นแหละคือสมาธิ ที่เราไม่ตามใจตัวเอง ไม่ตามอารมณ์ตัวเอง เพราะสิ่งเหล่านี้มันยังเป็นความปรุงแต่ง นั้นคือตัวปัญญาที่เราจะต้องพัฒนาตัวเองในชีวิตประจำวัน มันจะเป็นปัจจุบัน ที่เป็นพระธรรม เป็นพระวินัย มันจะก้าวไปอย่างนี้ ผู้ที่รวยเป็นมหาเศรษฐีก็แก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าไม่ได้พัฒนาใจไปพร้อมกัน พัฒนาธรรมไปพร้อมๆ กัน
ทุกศาสนาก็ต้องพากันไปแนวเดียวกันนี้แหละ เราทุกท่านทุกคนก็พากันเข้าใจ ว่าทุกท่านทุกคนต้องมาสร้างระบบจิตใจให้ตัวเอง ระบบวาจา ระบบการกระทำให้กับตัวเอง เราถึงจะไปได้ เรียกว่าสาราณียธรรม เป็นการสมัครสมานสามัคคีกันทุกท่านทุกคนก็ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เราทุกท่านทุกคนถึงจะไว้ใจกันได้ แล้วก็ทุกคนก็อยากจะเข้าสู่ระบบ มันต้องจัดการกับตัวเองก่อน ไปจัดการกับคนอื่นได้อย่างไร ถ้าไปจัดการกับคนอื่นก็ไม่ใช่ข้าราชการ เค้าเป็นข้าราชกินไป ถ้าไปจัดการกับคนอื่นก็ไม่นักการเมือง นักกินเมือง เราทำระบบตั้งระบบอะไรเนอะ ระบบกินครึ่งหนึ่งทำงานครึ่งหนึ่งอย่างนี้ไม่เอา ระบบนั้น ไม่ใช่ธรรมะ ถึงหลงไหลในวัตถุตัวตน
ทำไมครอบครัวเราเป็นอย่างนี้ ก็เพราะครอบครัวของเราไม่ได้เข้าสู่ระบบธรรมะ ทำไมโรงเรียนเราเป็นอย่างนี้ เพราะว่าไม่ได้เข้าสู่ระบบธรรมะ ทำไมหน่วยราชการเป็นอย่างนี้ เพราะว่าไม่ได้เข้าสู่ระบบธรรมะ มันผิดน่ะ มันไม่ใช่การปฏิบัติ มันกลายเป็นวิบัติไป ก็ทุกคนน่ะเพียงแต่ไม่เอาตัวตนเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นหลักมันก็ง่าย ที่มันซิกแซกมันยากลำบาก ก็เพราะว่ามันจะเอาตัวตนเป็นใหญ่ การเรียนการศึกษาอย่างนั้น ไม่ได้เพื่อต่อยอดแห่งความสงบ มันเพื่อควบคุมความวุ่นวาย
เราทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์ต้องใช้ร่างกายนี้มาทำประโยชน์ เพราะทุกคนส่วนใหญ่ก็ไม่เกิด 100 ปี ก็ต้องจากโลกนี้ เราเกิดมาต้องมาเสียสละ ถ้าเราไม่เสียสละศีลก็ไม่มีหรอก สมาธิก็ไม่มีหรอก ไม่ต้องพูดเรื่องพระนิพพาน นิพพานอะไรเห็นแก่ตัวขนาดนั้น นิพพานไม่มีการเดินขบวนหรอก
ที่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติพระวินัยปิฎก 21,000 พระธรรมขันธ์ ก็ระบบทางจิตใจ และก็ออกมาทางระบบทางกาย ทางวาจา ที่เอาความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง มันเป็นระบบ ถ้าเรารู้จักระบบมันก็จะพัฒนาไปได้ วัดทุกวัด จะเป็นวัดบ้านวัดป่า มันก็สงบหมดแหละ มันจะไม่เห็นแก่ตัว มันจะไม่เอาเปรียบคนอื่น มันจะไม่เป็นกาฝากสังคม กระบวนการธรรมจักรมันจะเคลื่อน ก็จะหมุนธรรมจักรไป ไม่ใช่หมุนความเห็นแก่ตัวไป
เราจะไปพร้อมๆ กัน เพราะถ้าอย่างนั้น ก่อตั้งประเทศไปมันก็เสียหาย มีครอบครัวก็ไม่ได้พัฒนาครอบครัวไปสู่มรรคผลนิพพาน มันเป็นมนุษย์มืด มาจากความมืด ก็จะไปเพิ่มความมืดเป็น “บรมมหามืด” ไป เราประพฤติปฏิบัติไป มันจะดีขึ้น เพราะว่ามันอยู่ที่ปัจจุบัน เอาปัจจุบัน เราอย่าไปเข้าใจ ปฏิบัติไม่ถูกจะทำจะตายก็ไม่ได้ มันต้องมาเสียสละ ความเห็นแก่ตัว สละตัวตน ถึงมันเป็นสักกายะทิฏฐิ สำคัญว่าเก่งกว่าเค้าก็ไม่ใช่ สำคัญว่าเสมอเค้าก็ไม่ได้ สำคัญว่าด้อยกว่าเค้าก็ไม่ได้ เพราะว่าอันนี้เป็นความปรุงแต่งเราต้องมาเสียสละ ไม่เสียสละเห็นไหม อย่าง พระมหาสิวะ มีลูกศิษย์ตั้ง 30,000กว่ารูป ที่เทศน์สอน ตัวเองก็เป็นปุถุชนเพราะว่าเอาตัวตนเป็นหลัก ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูก ละก็มันทำไปมันก็ยิ่งเครียด ถึงทางจงกรมจะลึกเป็นศอกก็ไม่ได้บรรลุ
อริยมรรค์มีองค์ ๘ ทุกคนต้องเอามาใช้เอามาปฏิบัติ การปฏิบัติธรรม กับการทำงานมันก็อันเดียวกัน มันไปแยกกันได้อย่างไร เราก็มีตัวมีตน มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อย่างนี้ ไปแยกกันได้อย่างไร มันไม่มีอะไรแยกกันหรอก ให้เข้าใจ การเรียนการศึกษาอย่างนี้ เราพากันประพฤติ พากันปฏิบัติ ผู้ที่มาบวชมาอะไรต้องฝึกระบบความคิด ฝึกระบบอะไรทุกอย่างต้องฝึก ถ้าไม่ฝึกไม่ปฏิบัติ มันไม่เป็นหรอก เพราะการคิดอย่างนี้ การทำอย่างนี้ มันเหมือนการฟักไข่ ฟักไข่ ๓ อาทิตย์ มันจะค่อยๆ ไปเอง ถ้าไม่มีการประพฤติการปฏิบัติอย่างนี้แหละ เราเห็นพากันอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ทำอย่างนู้นอย่างนี้ เราก็มองเห็นเป็นเรื่องแปลกไป ส่วนใหญ่เค้าไม่ทำกัน เค้าไม่ทำก็เพราะว่า ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันเลยขาดตอนไป เลยเห็นสิ่งที่ถูกต้องเป็นเรื่องแปลกไป เหมือนที่สังคายนาครั้งที่ ๒ เห็นพระอรหันต์ปฏิบัติอย่างนี้ๆ พวกนั้นนึกว่าเป็นของแปลก ขับไล่พระอรหันต์หนี เพราะว่ามันแปลก เห็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เห็น เอ๊...ทำไมมันแปลกดี มันไม่แปลกนะ อันนี้ของจริงของแท้นะ ถึงจะไปเผยแผ่เมืองนอกมัน ก็ไปไม่ได้หรอก นอกจากไปนอนแผ่ ท่านจะเผยแผ่ในเมืองไทย ก็ไม่ได้หรอก เพราะว่ามันยังไม่ได้เข้าสู่พระพุทธศาสนา มีแต่พากันนอนแผ่
การที่เราร่ำเรียน เพื่อร่ำรวย ไม่ได้ผิดอะไร แต่เราควรร่ำเรียน เพื่อร่ำรวย ด้วยการมีศีลธรรม กำกับด้วย เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่าง สุข สงบ และสันติ
ที่โลกเรายังคงวุ่นวาย ไม่ใช่เพราะเราขาดแคลน คนเรียนเก่ง คนมีความรู้ โลกเรามีคนแบบนั้นมากมาย คนที่เราขาดแคลนคือ ..... เราขาดคนที่ใช้คุณธรรมนำความรู้ต่างหาก
จะไปเรียนเรื่องต่างๆ ได้ปริญญา มาไม่รู้กี่สิบปริญญาแต่ไม่มีเรื่องดับทุกข์เลย ในทางธรรมะไม่เรียกว่าวิชชา, ต่อเมื่อมันมีส่วนแห่งการดับทุกข์ได้ จึงจะเรียกว่าวิชชา
ปญฺญาย ติตฺตีนํ เสฏฺฐํ น โส กาเมหิ ตปฺปติ ปญฺญาย ติตฺตํ ปุริสํ ตณฺหา น กุรุเต วสํ
"บรรดาความอิ่มทั้งหลาย ความอิ่มด้วยปัญญาประเสริฐที่สุด เพราะผู้อิ่มด้วยปัญญานั้น ย่อมไม่เดือดร้อนด้วยกามทั้งหลาย ตัณหาย่อมไม่สามารถกระทำบุคคลผู้อิ่มด้วยปัญญาให้อยู่ในอำนาจได้"
คำว่า ศึกษานั้น มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต ศึกษา มาจากคำว่า... ศิกษา ในภาษาสันสฤต และ สิกขา ในภาษาบาลี อันแปลความหมายว่า การเรียนรู้ ที่จะทำให้เห็นเอง
สิกขา มาจาก สยํ+อิกขฺ สยํ แปลว่า เอง อิกขฺ แปลว่า เห็น
สิกขา จึงแปลว่า การเห็นด้วยตัวเอง การเห็นประโยชน์ได้ด้วยตัวเอง
ในวัชชีปุตตสูตร มีข้อความ ตอนหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าขณะทรงประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ขณะนั้นได้ มีภิกษุชื่อวัชชีบุตรเข้าไปเฝ้า แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า สิกขาบท ๑๕๐ ที่ยกขึ้นแสดงทุกกึ่งเดือน ข้าพระองค์ไม่สามารถศึกษาได้หมด พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามว่าเธอจักสามารถศึกษาในสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ได้หรือไม่ ภิกษุวัชชีบุตรจึงกราบทูลรับแล้วปฏิบัติตาม คำแนะนำของพระพุทธเจ้า ครั้นต่อมาเมื่อภิกษุวัชชีบุตรได้ศึกษาสิกขา ๓ แล้วก็สามารถละราคะ โทสะ และโมหะได้อันเป็นการทำให้ภิกษุวัชชีบุตรไม่ทำกรรมที่เป็นอกุศล ไม่ประพฤติสิ่งเลวทรามอีก
อีกที่หนึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องของไตรสิกขา ซึ่งปรากฏอยู่ใน ทุติยสิกขัตตยสูตร ซึ่งมีใจความสำคัญ ดังนี้ คือ พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับสิกขา ๓ ประการ ในลักษณะปุจฉาและวิสัชชนาด้วยพระองค์เองว่า สิกขาบท ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ ๑) อธิศีลสิกขา ๒) อธิจิตตสิกขา ๓) อธิปัญญาสิกขา ภิกษุในธรรม วินัยนี้มีศีล....สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เรียกว่า อธิศีลสิกขา ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัด จากกามทั้งหลาย บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ นี้เรียกว่า อธิจิตตสิกขา ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติขึ้นไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วย ปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน นี้เรียกว่า อธิปัญญาสิกขา
การเสียสละและรับผิดชอบ มีความตั้งมั่น เป็นธรรมะภาคปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติบูชา การปฏิบัติบูชานี้เป็นของยาก มันต้องเสียสละและรับผิดชอบ มีความตั้งมั่น มันต้องลงแรงประพฤติปฏิบัติด้วยตนเอง ทุกคนนั้นไม่อยากเสียสละ ไม่อยากรับผิดชอบ ไม่อยากมีความตั้งมั่นชัดเจน ในชีวิตประจำวันมีความต้องการเสพสุข เสพสบาย ในการกิน การอยู่ การเล่น การเที่ยว เอาความสุขทางกายไปเป็นวันๆ วันแล้วก็วันเล่า วันนี้ก็ปฏิบัติอย่างนี้ รุ่งนี้ก็ปฏิบัติอย่างนี้ ไม่มีอะไรจะดีขึ้น จะเจริญขึ้น ปล่อยให้กาลเวลามันผ่านไปโดยตั้งอยู่ในความประมาท 'ความดี' ก็รู้ว่ามันดีก็ไม่ปฏิบัติ 'ความชั่ว' ก็รู้ว่ามันชั่วก็ยังปฏิบัติ นี้คือบุคคลที่พ่ายแพ้
ในชีวิตประจำวันของตัวเอง การเสียสละจึงเป็นข้อวัตรปฏิบัติ ที่เราจะได้ฝึกตน ปฏิบัติตน การนั่งสมาธิ เดินจงกรม ทำวัตรสวดมนต์นี้มันเป็นของยาก มันเป็นสิ่งที่ทุกคนที่จะเสียสละความขี้เกียจขี้คร้าน ความง่วงเหงาหาวนอน การที่นั่งสมาธิตรงต่อเวลา การทำวัตรสวดมนต์ตรงต่อเวลา คือ ข้อวัตรปฏิบัติที่เราทุกคนจะต้องประพฤติปฏิบัติ เพื่อฝึกตนปฏิบัติตน
ทำไมเราถึงเป็นอย่างนี้...? ก็เพราะว่าเรานี้กลัวความดี กลัวความถูกต้อง กลัวสมาธิ การนั่งสมาธิตอนเช้า การทำวัตรเช้านั้น ย่อมได้บุญมาก... ได้อานิสงส์มากยิ่งกว่าตอนเย็น เพราะเราได้ฝืนตัวเอง ได้อด ได้ทน เราได้ทำความเพียร ได้ตั้งมั่นในการเสียสละ และรับผิดชอบในความดี มีใจหนักแน่นในการประพฤติการปฏิบัติ การนั่งสมาธิตอนตีสาม ตีสี่ ทำวัตรสวดมนต์ตีสี่นั้น ถึงมีบุญมีกุศลมากกว่าทำวัตรเย็น นั่งสมาธิตอนเย็น เพราะตอนเย็นนั้นมันเป็นเรื่องง่ายๆ
"เรื่องง่ายๆ" เราก็ยังพากันหลบกันหลีก อย่างนี้ชื่อว่าเราเป็นคนเสียสละน้อย เป็นคนรับผิดชอบน้อย เป็นผู้ที่สมาธิไม่แข็งแรง การหลบหลีกในการนั่งสมาธิ ทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น เป็นความเสื่อมของเรานะ เป็นการเสียเวลา พลาดโอกาส พลาดความดี พลาดบารมี เสียคุณธรรม
ปรัชญาของชีวิตในการเรียนการรู้การศึกษานี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ยัง ไม่ยิ่งเท่ากับนำตัวเองมาประพฤติมาปฏิบัติ การเสียสละและรับผิดชอบ มีความตั้งมั่น อนาคตบุคคลผู้นั้น ก็ย่อมเข้าถึงความสุขความดับทุกข์แน่นอน ชื่อว่า 'เป็นบุคคลที่มีหลักของชีวิต'
ในวัดๆ หนึ่งน่ะเขาต้องมองว่าครูบาอาจารย์รูปไหน พระองค์ไหน เณรองค์ไหน แม่ชีคนไหน อุบาสก อุบาสิกาคนไหนเป็นผู้ที่รับผิดชอบ เป็นผู้ที่เสียสละ เป็นผู้ที่ตั้งมั่นในธรรม เพราะ 'งามในเบื้องต้น' คือการเสียสละ 'งามในเบื้องต้น' คือความรับผิดชอบ 'งามในท่ามกลาง' คือเป็นบุคคลที่หนักแน่น ตั้งมั่นในภาคประพฤติปฏิบัติ 'งามในที่สุด' คือผู้ที่ไม่ตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง
ใจของคนเรามันกลัวความดี กลัวศีล กลัวสมาธิ กลัวปัญญาของพระพุทธเจ้า "จะรักษาศีล ๕ ก็กลัว จะรักษาศีล ๘ ก็ยิ่งกลัว รักษาศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็ยิ่งกลัว..."
ทุกคนส่วนใหญ่รักษาศีล ก็ปฏิบัติศีลไม่ได้ เมื่อปฏิบัติศีลไม่ได้ ธรรมมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร... เพราะความรับผิดชอบไม่มี ถ้าเรามีความรับผิดชอบน้อย เสียสละน้อย สมาธิมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร..? มันเป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งสุดวิสัยที่จะเป็นไปได้
พระพุทธเจ้าสอนเราไม่ให้เอาความสุขทางกาย ไม่ให้เอาความสุขทางเนื้อหนัง ไม่ให้เอาความสุขในการกิน การนอน การเล่น การเที่ยว ให้เอาความสุขในการเสียสละ ให้เอาความสุขในการรับผิดชอบ ให้เอาความสุขในการตั้งมั่นในธรรม ในคุณธรรม เหนื่อยก็ช่างมัน ลำบากก็ช่างมัน... ธรรมะมันต้องมีการประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่มีการประพฤติการปฏิบัตินั้น มันจะเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุมีผลนั้น เป็นไปไม่ได้
เราอาศัยบารมีของคุณพ่อคุณแม่ในเรื่องเงิน เรื่องสตางค์ เรื่องทรัพย์สมบัติ ในการเรียนการศึกษา อยู่สบาย กินสบาย เราอาศัยบารมีของพระพุทธเจ้าพากันมาบวช มาอยู่วัด แต่ถ้าเราไม่ตั้งใจประพฤติไม่ตั้งใจปฏิบัติ เราก็เปรียบเสมือนเป็นกาฝากของสังคม เท่ากับเปรตตัวหนึ่งประจำวัด "ที่เราแต่งตัวนุ่งห่มทำเยี่ยงอย่างพระอริยเจ้านั้น แต่ในจิตในใจการประพฤติของเรานั้นไม่ใช่..! มันคือ 'เปรตที่แท้จริงประจำวัด' นั้นเอง"
ให้เราทุกๆ คนน่ะสำรวจตัวเองว่า เราเป็นเปรตประจำวัดหรือไม่..? หรือเป็นผู้ที่มีศรัทธาตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เพื่อสร้างความดี สร้างบารมี สร้างคุณธรรม
พระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้ประเสริฐ มีความดี มีบารมี มีคุณธรรม ญาติโยมให้ความเคารพนับถือ กราบไหว้ ถวายปัจจัย ๔ เราก็ได้อาศัยบารมีของท่านเพื่อทำตามท่าน
ถ้าเราไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เราตั้งอยู่ในความประมาท ตัวเราเองนั้นแหละคือกำลังเป็น 'เปรตประจำวัด' เปรตมันกลัวทำวัตรสวดมนต์ เปรตมันกลัวนั่งสมาธิ เปรตมันกลัวเดินจงกรม เปรตมันชอบส่งใจไปตั้งแต่ภายนอก บริโภคกามคุณ ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมะ ไม่ใช่พรหมจรรย์
พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านไม่ให้เราพากันกินบุญของพระพุทธเจ้า โดยไม่ได้สร้างบารมี กรรม คือการกระทำของเรานั้น มันทำให้ประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ส่วนรวมให้เจริญ หรือให้เสื่อม
"ถ้า 'ความหลง ความเห็นแก่ตัว' อยู่ที่ไหน...ที่นั้นย่อมเสื่อม" มันกินทั้งบ้าน กินทั้งเมือง ความหลง ความเข้าใจผิด ไปอยู่ที่ไหน...ที่นั่นย่อมนำมา แต่ความเสื่อม ไม่ว่าประเทศ ไม่ว่าครอบครัว ไม่ว่าในวัด"
ความดี ความประเสริฐน่ะ เป็นสิ่งที่ทุกคนที่จะต้องรับผิดชอบ จำเป็นจะต้องเสียสละสิ่งที่ไม่ดีออกจากใจของเรา เราจะไปโทษพระพุทธเจ้าไม่ได้ ไปโทษครูบาอาจารย์ไม่ได้ ไปโทษสถานที่ไม่ได้ ไปโทษบุคคลภายนอกไม่ได้ "กรรมใครใครก่อ คือการประพฤติปฏิบัติของเราเอง"
ชีวิตนี้เป็นสิ่งที่จะต้องปฏิบัติ เป็นสิ่งที่จะต้องทวนกระแส ตื่นขึ้น นั่งสมาธิทำวัตรสวดมนต์ตอนเช้า อย่าเห็นแก่นอน เอาชีวิตจิตใจของเราถวายพระพุทธเจ้า ถวายพระธรรม เพื่อจิตใจของเราจะได้เป็น 'พระอริยสงฆ์'
เมื่อเราอยู่ในตำแหน่ง อยู่ในแบบในฟอร์ม เราก็ต้องปฏิบัติให้สมตำแหน่ง สมแบบ สมฟอร์ม พระพุทธเจ้าให้เราปฏิบัติ เพื่อเคารพกราบไหว้นับถือตัวเองให้ได้
ถ้ามันอ้วน แต่ใจของเราเป็นเปรตมันจะดีมั้ย ถ้าเราสุขสบายทางเนื้อหนัง 'ใจ' ของเราเป็นเปรต เป็นอสุรกายมันจะดีมั้ย...? เรายังจะหน้าด้าน หน้าทน หน้าไม่อายอยู่ไปเรื่อยๆ อยู่ไปเป็นวันๆ อย่างนั้น ท่านว่า "เราเป็นคนไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป"
"ความละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาปเป็นธรรมคุ้มครองเรา ไม่ให้ตกลงไปในที่ต่ำไปในที่ชั่ว"
คนเราทุกคนน่ะใหม่ๆ มันคิดไม่ดีมันก็อายๆ แต่ถ้าคิดบ่อยๆ ความละอายมันก็หายไป การกระทำก็เหมือนกัน การทำผิดครั้งแรก ก็ละอายก็กลัว แต่เมื่อทำหลายครั้งมันเลยไม่ละอาย
ความละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาปนี้ดีและสำคัญ เพราะคนเรามันเริ่มต้นจากใจ จากความคิด มันเริ่มบาปตั้งแต่ความคิดน่ะ ความเห็นแก่ตัวของเรานี้มันล็อกเราอยู่ทุกๆ ครั้งเลย ต้องอาศัยธรรมะของพระพุทธเจ้า ให้เรารู้จักเสียสละ รู้จักรับผิดชอบ ให้เราตั้งมั่น
เรามาอยู่วัด เรามาปฏิบัติน่ะ เรามาอยู่ในสนามที่จะต้องฝึก ต้องฝึกให้ได้ ฝึกให้มันเป็น ให้มันได้มาตรฐาน เพื่อสืบทอดต่อยอดพระพุทธศาสนา ตัวอย่างดีๆ มันไม่ค่อยมี เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่มาอยู่วัด มาปฏิบัติมันก็มีแต่ปุถุชนหรือสามัญชนน่ะ มันยังไม่ใช่พระอริยเจ้า
พระพุทธเจ้าถึงให้เอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง คือเอาพระพุทธเจ้า เอาพระธรรม เอาพระอริยสงฆ์เป็นหลัก อย่าได้มองเอาเพื่อนฝูงที่ขี้เกียจ ไม่รับผิดชอบ ไม่เสียสละ ไม่มีความตั้งมั่นเป็นตัวอย่างเป็นแบบอย่าง มันจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเสียการ เสียงาน เสียเวลาที่ได้มาอยู่วัด ที่ได้มาบวช
การที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นของยาก การที่จะได้มาบวชก็เป็นของยาก การจะได้ประพฤติปฏิบัติก็เป็นของยาก ให้เราเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เดินตามรอยอื่นนั้นไม่ได้ ไม่ถูกต้อง จิตใจต้องหนักแน่นเข้มแข็ง อย่าเอาอารมณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ต้องเอาธรรมะเป็นที่ตั้ง เพราะอารมณ์ของตัวเอง นั้น คือความยึดมั่นถือมั่น คือบุคคลที่อยู่ในโลกส่วนตัว
ใครเค้าจะปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัตินั้นเราไม่สน... เราไม่เกี่ยว... เราพยายามปฏิบัติตัวเอง ฝึกตัวเอง เน้นที่ตัวเอง เพราะเวลาต่างๆ นั้น ครูบาอาจารย์ได้ตั้งไว้อยู่แล้ว พระธรรม พระวินัยนั้นพระพุทธเจ้าตั้งไว้อยู่แล้ว เป็นเครื่องมือ เป็นอุปกรณ์ เป็นเทคโนโลยีที่จะให้เราได้ฝึก ได้หัด
'ใจ' มันเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวมีตน มันต้องอาศัยข้อวัตรปฏิบัติเพื่อฝึกใจ เพื่อละความเห็นแก่ตัว อวิชชา คือความหลง ถ้ามันไม่เก่งจริงมันคงไม่นำเราเวียนว่ายตายเกิดตั้งหลายภพหลายชาติ มันหลอกมันลวงเราในชีวิตประจำวัน เราก็ยังพอใจให้เค้าหลอกไปเรื่อยๆ ยินดีให้กิเลสมันหลอก เรามันติดอกติดใจในการเวียนว่ายตายเกิดน่ะ ชอบอยากจะเกิด อยากจะไปในที่ชอบๆ ที่ชอบเรา คือความทุกข์ ตามไปเท่าไหร่ก็ยิ่งทุกข์ ไม่มีอะไรประเสริฐยิ่งไปกว่าพระรัตนตรัย ให้เราพากันเข้าใจอย่างนี้
นี้เราบริโภคอาหารแล้วพักผ่อน บริโภคอาหารแล้วไปเที่ยวโน่น เที่ยวนี่ บริโภคอาหารแล้วคุยกัน เราก็พลาดโอกาส พลาดเวลาที่เราจะได้ฝึกใจของเรา ฝึกสมาธิของเรา ฝึกเจริญปัญญาของเรา ที่จะเอาตัวเองไปประพฤติปฏิบัติ พัฒนาตัวเองยิ่งๆ ขึ้นไป
ผู้ที่ทำงานก็ให้มีความสุขในการทำงาน ให้มีความสุขในการเสียสละ ให้มีความสุขในการรับผิดชอบ เราอย่าไปคิดว่าทำแต่งาน ไม่มีเวลาที่ปฏิบัติธรรม 'การทำงาน' นั่นแหละ คือการปฏิบัติธรรม คือ การเสียสละ คือการตั้งมั่น เราทำงานเพื่อส่วนรวม ไม่ได้ทำงานเพื่อจะเอามาเป็นส่วนตัวของเรา เพื่อให้ส่วนรวมมันก้าวไปในทางที่ดี เพราะการงานนี้มันคู่กับความดี คู่กับลมหายใจ
อย่าไปคิดว่าทำงานนี้มันหนักเหลือเกิน มันลำบากเหลือเกิน มันเหนื่อยเหลือเกินเลย อย่าไปคิดอย่างนั้น ให้เราคิดว่ามันทำงานนั่นแหละคือการเสียสละ นี่แหละคือความสุขความดับทุกข์ คือการสร้างบารมี สร้างความดี
เราอย่าไปคิดว่าเราทำแต่งาน เราไม่ได้ทำความเพียรเหมือนกับคนอื่นเลย ให้เข้าใจอย่างนี้ว่า เค้าเดินจงกรมเพื่อให้ใจสงบ เค้านั่งสมาธิ ก็เพื่อให้ใจสงบ เค้าทำอะไรก็เพื่อให้ใจสงบ ให้สมาธิตั้งมั่น เราทำงานเพื่อเสียสละเพื่อตั้งมั่นเพื่อใจสงบ ผลออกมามันก็เหมือนกันน่ะ เหมือนกับผู้ที่บริโภคผักผลไม้ ก็คือร่างกายแข็งแรง ผู้ที่บริโภคข้าว ขนม ร่างกายก็แข็งแรงเหมือนกันเราจะทำอะไรก็เพื่อธรรมะ เพื่อการปฏิบัติธรรม เราไม่ได้ทำเอาส่วนตัวเรา ไม่ได้ทำเอาครอบครัวเรา เราทำเพื่อธรรม เพื่อเสียสละ ให้เราเข้าใจอย่างนี้ จะได้มีความเห็นที่ดี ที่ถูกที่ต้อง
"ทำความดี จะเป็นการนั่งสมาธิ ไหว้พระ สวดมนต์ เดินจงกรม หรือทำงานส่วนรวมต่างๆ นั้น พระพุทธเจ้าไม่ให้เราท้อใจ อาการท้อใจนั้น มันเป็นอาการของความเห็นแก่ตัว แม้แต่ผีตนหนึ่งอย่างนี้ มันเป็นเปรต เป็นผี มันก็ไม่อยากจะตายนะ
ยกตัวอย่างมีเปรตตนหนึ่งนี่ เราอุทิศบุญกุศลให้เค้า เค้าก็ร้องห่ม ร้องไห้ เค้าก็ไม่อยากไปผุดไปเกิด อวิชชาความหลงของเราก็เหมือนกัน เมื่อเราทำความดี มันก็ชอบท้อแท้ ไม่มีกำลังจิตกำลังใจ อย่างนี้เค้าเรียกว่า เป็นการขังเสือไว้ เมื่อเสือมันอดอาหาร มันก็ผอมน่ะ เสือมันจะตายมันก็ต้องผอม ใจท้อแท้นั้น เค้าเรียกว่า "ใจเสือผอม ใจเสือที่ใกล้จะตาย" เราอย่าไปสนใจมัน
ความเพียรนี้ต้องก้าวไปเรื่อยๆ เป็นปฏิปทา เป็นความเพียร ที่จะต้องทำติดต่อกันไปทุกวันคู่กับลมหายใจของเรา เมื่อเรามีลมหายใจ เราก็ต้องทำความเพียร เสียสละ รับผิดชอบ มีความตั้งมั่นไปเรื่อยๆ เดินตามรอยของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ทุกท่านทุกคนก็จะได้บรรลุถึงมรรคผลพระนิพพานด้วยกันทุกท่านทุกคน...