โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มาประพฤติพรหมจรรย์ ตอนที่ ๖๒ อย่าไปตามเข็มทิศของตัณหา มาสร้างปัญญาให้เป็นเข็มทิศสู่ความดับทุกข์
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
เราโชคดี ที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธบารมีมาบอกมาสอน เราต้องหยุดตามใจตัวเอง หยุดตามอารมณ์ตัวเอง ทำตามความรู้สึก เพราะว่าอวิชชา ความหลงอย่างนี้แหละมันเก่งมาก นำเราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร จนมาถึงขณะนี้ปัจจุบันนี้ ให้ทุกท่านทุกคนรู้พากันมารู้จัก ว่าเรานี้ต้องหยุดเวียนนว่ายตายเกิด เดินตามพระพุทธเจ้า เอาพระธรรมเป็นหลัก ควบคุมความคิดของเราทุกคน มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ มีรู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ มันอยากตามใจตัวเอง อยากตามอารมณ์ตัวเอง อยากตามความรู้สึก เรียกว่าไม่รู้จักพระเทวทูตทั้ง ๔
คนเราน่ะมันเป็นไปได้อย่างไรน่ะ ตามอารมณ์ ตามความคิด มันมีความสุข มีแต่ความทุกข์ มีแต่ปัญหา มีแต่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก ทุกๆ คนต้องพากันรู้จัก เหมือนที่กล่าวเมื่อวานนี้ เปรตที่มันทุกข์ทรมารที่สุด ก็เพราะว่าเปรตเค้าไม่รู้ทุกข์ เค้าก็ตามอารมณ์ ตามความคิด และผลกรรมเค้ามาอย่างนี้ แล้วก็เค้าได้รับโอกาศพิเศษจากพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เค้าก็ยังดันทุรังไป
เปรตเป็นสัตว์ที่ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะกรรมเก่าที่ตนสร้างไว้ในชาติปางก่อนจำพวกหนึ่ง ต่างจากผี (อสุรกาย) และสัตว์นรก
เปรตมี 2 ประเภท คือเปรตที่เสวยทุกข์ในเวลากลางวัน ตกกลางคืนมาเสวยสุขในวิมานดุจดังเทวดา เปรตพวกนี้เรียกว่า เวมานิกเปรต (เปรตมีวิมาน) อีกประเภทหนึ่งคือเปรตที่ได้รับแต่ความทุกข์ทรมานอดอยากปากแห้ง คอยรับผลบุญที่ญาติอุทิศให้อย่างเดียว เปรตพวกนี้เรียกว่า ปรทัตตูปชีวิเปรต
ถ้าดูตามนี้ เปรตก็คล้ายสัตว์นรกประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้นในคัมภีร์ศาสนาบางครั้งก็เรียกว่าสัตว์นรก บางครั้งก็เรียกว่าเปรต หรือเรียกปนกันทั้ง 2 ชื่อ ดังเรื่อง เปรตทุสะนะโส ดังนี้
ตำราหลายเล่มเล่าเหตุการณ์หลังจากตรัสรู้ใหม่ๆ พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารหลังจากฟังธรรมแล้วทรงเลื่อมใส มอบถวายสวนไผ่ให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธองค์และสาวก ทรงถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แต่มิได้กรวดน้ำอุทิศกุศลผลบุญไปให้แก่บุพการีผู้ล่วงลับไป ตกดึกคืนนั้นพระองค์ได้ยินเสียงร้องโหยหวน นัยว่าเป็นเสียงเปรตมาร้องขอส่วนบุญ ที่ว่าเปรตร้องขอส่วนบุญนั้น เปรตมันมิได้มายืนแลบลิ้นยาวเฟื้อยพูดว่าขอส่วนบุญหน่อย
ตำราทางศาสนาท่านว่า พวกมันกำลังตำนรกจ๋อมแจ๋มๆ อยู่ รู้สึกนึกผิดชอบชั่วดีอยากสารภาพความในใจของตนว่า ถ้าฉันพ้นจากนรกแล้วไปเกิดเป็นคนใหม่ ฉันจะทำบุญอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ทำอีกแล้วบาปกรรมเข็ดจริงๆ ให้ดิ้นตาย อะไรทำนองนั้น แต่พอโผล่ขึ้นมายังไม่ทันกล่าวถ้อยคำให้ครบประโยคก็ต้องดำดิ่งลงไปตกกระทะทองแดงอีก จึงกล่าวได้เฉพาะคำแรก เปรตตัวแรกกล่าวว่า ทุ ตัวที่สองกล่าว สะ ตัวที่สามกล่าว นะ ตัวที่สี่กล่าว โส แล้วจมดิ่งลงไปภายใต้เสียง ทุ.ส.น.โส. พระเจ้าพิมพิสารกำลังหลับเพลินอยู่ พลันสะดุ้งตื่นขึ้นมาด้วยความหวาดกลัว เช้าขึ้นมาจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
เมื่อกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระองค์ตรัสกับพระเจ้าพิมพิสารว่า เสียงที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงพวกเปรตที่เคยเป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารตั้งแต่ชาติปางก่อนมาร้องทุกข์ขอส่วนบุญ ทรงเล่าให้ฟังว่า พวกนี้ชาติก่อนได้ขโมยกินอาหารที่เขาเตรียมจะถวายพระสงฆ์ ด้วยผลกรรมอันนั้นจึงมาเกิดเป็นเปรต เสร็จแล้วจึงบอกให้พระเจ้าพิมพิสารกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่พวกเขา ตั้งแต่นั้นมาไม่ปรากฏว่าพระเจ้าพิมพิสารได้ยินเสียงโหยหวนอีกเลย
ซึ่งไม่เฉพาะพระเจ้าพิมพิสารเท่านั้นที่ทรงได้ยินเสียงร้องของเปรตทุ-สะ-นะ-โส สี่ตนนั้น ว่ากันว่าพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาผู้ครองแคว้นโกศลก็ทรงได้ยินครั้งหนึ่ง ทำให้พระองค์ตกพระทัยมาก เพราะเสียงที่ได้ยินนี้แหละเกือบทำให้พระราชาพระองค์นี้วิบัติฉิบหายไปกว่าเดิม ถ้าไม่ได้พระนางมัลลิกาเทวีแนะนำให้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เรื่องราวเป็นดังนี้
วันหนึ่งขณะพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเลียบพระนคร ขบวนเสด็จได้ผ่านไปตามถนนหลวง ประชาชนต่างก็ยืนเฝ้าถวายความจงรักภักดีชมพระบารมีเต็มสองฟากถนน ภรรยาสาวของชายฐานะยากจนคนหนึ่งยืนแอบมองขบวนเสด็จอยู่ทางหน้าต่างบ้าน บังเอิญพระราชาทอดพระเนตรเห็นใบหน้านาง นางรู้ตัวว่าพระเจ้าแผ่นดินเห็นจึงหลบ อาการที่นางหลบหายเข้าไปในห้อง ปรากฏแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลดุจพระจันทร์เพ็ญถูกกลุ่มเมฆกลืนหายไปฉันใดฉันนั้น พระคัมภีร์อธิบายไว้อย่างนี้ มันอะไรจะขนาดนั้น!
แสดงว่าเจ้าหนุ่มคนยากมีเมียสวย สวยขนาดพระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรเห็นครั้งเดียวก็ทรงถูกศรรักปักทรวงเสียแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จกลับเข้าวัง แล้วใบหน้าอันงดงามของนางก็ยังปรากฏชัดแจ๋วแหววในพระทัยไม่เลือนหายไป จึงรับสั่งให้มหาดเล็กไปสืบดูว่าหญิงคนนั้นมีสามีหรือยัง ถ้ายังก็จะได้รับเข้าเป็นมเหสี
มหาดเล็กไปสืบความมากราบทูลว่า สตรีนางนั้นมีสามีแล้ว เป็นชายยากจนคนหนึ่ง ทรงสดับดังนั้นก็ทรงนิ่ง ของรักของหวงคนอื่นไม่อยากคิดแก่งแย่ง ทรงคิดว่าประเดี๋ยวก็คงจะลืมไปเอง แต่ที่ไหนได้ ยิ่งวันเวลาผ่านไปก็ยิ่งคิดถึงนางมาก ไม่รู้เพราะอะไร จนกระทั่งทรงทนต่อไปไม่ไหวแล้ว จึงทรงวางแผนจะเอานางมาเป็นมเหสีให้ได้ รับสั่งให้ตามชายคนยากสามีนางเข้าเฝ้าทันที
เจ้าหนุ่มนี้ถึงจะยากจน มีการศึกษาน้อย แต่ก็มีความรู้สึกไวพอสมควร นึกว่าที่พระเจ้าแผ่นดินให้ตามตัวเข้าเฝ้าคงจะเนื่องมาแต่ภรรยาสวยเป็นต้นเหตุแน่นอน พอเขาไปถึง พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งว่า ตั้งแต่วันนี้ไป ข้าแต่งตั้งให้เจ้าเป็นมหาดเล็กคนสนิทคอยรับใช้ข้า
ใครมันจะกล้าขัดขืนเล่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้ทำอะไรก็ต้องทำ ที่ทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นมหาดเล็กคนสนิท ก็เพื่อจะหาช่องโอกาสทำโทษเขาถ้าเขาทำผิด และจะได้ริบเอาภรรยาทันที แต่เจ้าหนุ่มก็รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา จึงมิได้ประมาท ตั้งใจทำหน้าที่อย่างดีหาช่องให้ตำหนิมิได้ จนในที่สุดพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทนความคิดถึงนางไม่ไหวจึงตัดสินพระทัยว่า ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เห็นจะต้องเอาด้วยกลละ จึงรับสั่งให้เขาไปเอาของบางอย่างมา ด้วยตรัสว่า ที่ชื่อโน้นแห่งแม่น้ำในที่สุดประมาณ ๕ โยชน์ นำเอาดอกโกมุท ดอกอุบลและดินสีอรุณมาให้ทันในเวลาเราอาบน้ำในเวลาเย็น, ถ้าเธอไม่พึงมาในขณะนั้น, เราจักลงอาญาแก่เธอ."
ดินสีอรุณนี้ว่ากันว่ามีอยู่เฉพาะภพพญานาค (เห็นจะเป็นตามลุ่มแม่น้ำอะไรสักแห่ง) อยู่ไกลมาก เขาจะต้องรีบเร่งไปเอา ในคัมภีร์อธิบายว่า ได้ยินว่า เสวก (ผู้เข้าเฝ้า) ลำบากกว่าทาสแม้ทั้งสี่. จริงอยู่ ทาสทั้งหลาย มีทาสที่เขาไถ่มาด้วยทรัพย์เป็นต้น ยังได้เพื่อจะพูดว่า "ผมปวดศีรษะ, ผมปวดหลัง" แล้วพักผ่อน.
คำที่ทาสทั้งหลายกล่าวแล้วได้พักผ่อนนั่น ย่อมไม่มีแก่เสวก, เสวกควรทำการงานตามรับสั่งเท่านั้น เพราะเหตุนั้น บุรุษนั้นคิดอยู่ว่า "เราต้องไปเป็นแน่แท้ ชื่อว่าดินสีอรุณกับดอกโกมุทและดอกอุบล ย่อมเกิดในภพแห่งนาค, เราจักได้ที่ไหน?" กลัวแต่มรณภัย ไปเรือนแล้วกล่าวว่า "น้อง อาหารสำหรับเราเสร็จแล้วหรือ?" ภรรยากล่าวว่า "ยังตั้งอยู่บนเตา นาย." เขาไม่อาจจะรออยู่ จนกว่าภรรยาจะปลงภัตลงได้ จึงให้ภรรยาเอากระบวยตักน้ำข้าวเท (ปนกับ) ข้าวที่แฉะนั้นเอง ลงในกระเช้าพร้อมด้วยกับตามแต่จะได้ ถือเอาแล้ว เดินดุ่มไปแล้วสิ้นทางโยชน์หนึ่ง.
เมื่อเขากำลังเดินไปนั่นแหละ อาหารได้สุกแล้ว. เขาแบ่งภัตไว้หน่อยหนึ่ง กระทำไม่ให้เป็นเดนบริโภคอยู่ พบคนเดินทางคนหนึ่ง จึงกล่าวว่า "ภัตหน่อยหนึ่งเท่านั้น ฉันแบ่งออกกระทำไม่ให้เป็นเดนมีอยู่, เธอจงรับไปบริโภคเถิด นาย." เขารับไปบริโภคแล้ว. แม้เขาเอง ก็โปรยภัตลงในน้ำกำมือหนึ่ง บ้วนปากแล้ว ประกาศขึ้น ๓ ครั้งด้วยเสียงอันดังว่า "ขอพวกนาค ครุฑ และเทวดาผู้สิงอยู่ในประเทศแห่งแม่น้ำนี้ จงฟังคำของข้าพเจ้า; พระราชาทรงปรารถนาจะลงอาญาแก่ข้าพเจ้า ทรงบังคับข้าพเจ้าว่า "เธอจงนำเอาดินสีอรุณกับดอกโกมุทและดอกอุบลมา", ก็ภัตที่ข้าพเจ้าให้แก่มนุษย์เดินทางแล้ว, ทานที่ข้าพเจ้าให้แล้วนั้น มีอานิสงส์ตั้งพัน, ภัตที่ข้าพเจ้าให้แก่ปลาทั้งหลายในน้ำ, ทานที่ข้าพเจ้าให้นั้นมีอานิสงส์ตั้งร้อย, ข้าพเจ้าให้ผลบุญประมาณเท่านี้ ให้เป็นส่วนบุญแก่ท่านทั้งหลาย; ท่านทั้งหลายจงนำดินสีอรุณกับดอกโกมุทและดอกอุบลมาให้แก่ข้าพเจ้าเถิด."
พระยานาคผู้อาศัยอยู่ในประเทศนั้น ได้ยินเสียงนั้น จึงไปสู่สำนักบุรุษนั้นด้วยเพศแห่งคนแก่ กล่าวว่า "ท่านพูดอะไร?" บุรุษนั้นจึงกล่าวซ้ำอย่างนั้นนั่นแหละ, เมื่อพระยานาค กล่าวว่า "ท่านจงให้ส่วนบุญนั้นแก่เรา", จึงกล่าวว่า "เราให้ นาย" เมื่อพระยานาคกล่าวแม้อีกว่า "ท่านจงให้" ก็กล่าว (ยืนคำ) ว่า "เราให้ นาย", พระยานาคนั้นให้นำส่วนบุญมาอย่างนั้นสิ้น ๒-๓ คราวแล้ว จึงได้ให้ดินสีอรุณกับดอกโกมุทและดอกอุบล (แก่บุรุษนั้น).
ฝ่ายพระราชาทรงดำริว่า "ธรรมดามนุษย์ทั้งหลาย มีมนต์มาก, ถ้าบุรุษนั้นพึงได้ (ของนั้น) ด้วยอุบายบางอย่างไซร้, กิจของเราก็ไม่พึงสำเร็จ", ท้าวเธอรับสั่งให้ปิดประตู (เมือง) เสียแต่วันทีเดียว แล้วให้นำลูกดาลไปยังสำนักของพระองค์.
เขารีบเร่งวิ่งกลับมาทันเวลาพอดีแต่เข้าเมืองไม่ได้ ประตูเมืองปิดไวกว่าปกติ เพราะพระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้ปิดก่อนเวลา เมื่อเขาเข้าเมืองไม่ได้ ก็รู้ทันทีว่าชะตาเข้าตาร้ายแล้ว จึงแขวนดินสีอรุณไว้ที่ประตู ประกาศให้เทพารักษ์ทราบด้วยเสียงดังว่า ข้าแต่เทพยดาทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงเป็นพยานว่า ข้าได้ทำตามพระบัญชาของพระราชาทุกประการ แต่ข้าไม่สามารถเข้าในเมืองได้ ข้าไม่ผิด ว่าแล้วเขาก็มุ่งหน้าไปยังวัดขออาศัยพระนอน
ตรงนี้ผู้แต่งตำราเขียนเสียดสีไว้เจ็บแสบว่า ธรรมดาคนทั้งหลายเวลามีความสุข สหายก็ไม่ค่อยคิดถึงพระถึงเจ้า พอมีความทุกข์มาละก็นึกถึงพระขึ้นมาทันที
คืนนั้นทั้งคืนพระเจ้าปเสนทิโกศลมิสามารถข่มพระเนตรหลับลงได้ นึกว่าพรุ่งนี้แหละ ข้าจะให้คนไปตามนางมาเป็นของข้า ขณะที่คิดอกุศลอยู่นั้น พระองค์ก็ได้ยินเสียงก้องกระหึ่มน่าขนลุกขนพองเป็นอย่างยิ่ง เสียงที่ว่านั้นก็คือ ทุ-สะ-นะ-โส ทรงปลุกมหาดเล็กขึ้นมาฟังด้วย ก็ไม่มีใครได้ยินสักคน
เช้าขึ้นมาจึงทรงเรียกโหราจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาจับยามสามตาทำนายทายทักว่ามันจะเกิดเภทภัยประการใด
โหราจารย์แกก็งงเต๊ก เคสอย่างนี้ไม่เคยพบ จึงพลิกตำราไม่ทัน มืดแปดด้าน ครั้นจะกราบทูลว่าไม่ทราบก็กลัวศีรษะหลุดจากบ่า จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ นิมิตนี้ร้ายแรงนัก เหตุร้ายจะเกิดแก่พระองค์และพระนครถ้าหากไม่แก้ จะแก้อย่างไรล่ะ อาจารย์
ขอเดชะ ต้องจัดบูชายัญอย่างใหญ่ยิ่ง มีนำสัตว์อย่างละ 100 มาฆ่าบูชายัญ คือช้าง 100 ม้า 100 โคผู้ 100 โคนม 100 แพะ 100 แกะ 100 ไก่ 100 สุกร 100 เด็กชาย 100 เด็กหญิง 100 การฆ่าสัตว์บูชายัญนี้เป็นของปกติในสังคมอินเดียที่มีความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
แต่คราวนี้ไม่ฆ่าเฉพาะสัตว์ หากรวมถึงฆ่าเด็กหญิงเด็กชายอย่างละ 100 ด้วย มันมิใช่เรื่องเล็กเสียแล้ว เสียงร่ำไห้ของเด็กๆ ที่รู้ตัวว่าถูกนำมาเพื่อเข้าพิธีบูชายัญ เสียงโหยหวนของพ่อแม่พี่น้องญาติมิตรของเด็กๆ เหล่านั้นน่าเวทนาเป็นอย่างยิ่ง
พระนางมัลลิกาเทวีทรงทราบเรื่อง จึงรีบเข้าเฝ้าพระราชสวามี กราบทูลชี้แจงให้รู้ผิดชอบชั่วดี ทำให้สายพระเนตรของพระองค์สว่างขึ้น ทรงรับสั่งให้ปล่อยเด็กชาย เด็กหญิง ปล่อยสัตว์ต่างๆ ที่นำมาทรงรับสั่งให้เลิกล้มพิธีบูชายัญ รีบเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามคำกราบบังคมทูลของพระนางมัลลิกาเทวี
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้พระองค์ฟัง ทรงชี้แจงถึงบาปบุญคุณโทษให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทราบแล้วตรัสว่า เสียง ทุ-สะ-นะ-โส ที่ทรงได้ยินนั้นมิใช่ลางร้ายอะไร แต่เป็นเสียงของสัตว์นรกที่ต้องการสารภาพบาปที่ตนทำ แล้วทรงเล่าว่า
ในอดีตกาลนานมาแล้ว มีบุตรเศรษฐี 4 คน เป็นเพื่อนสนิทกัน กินด้วยกัน เที่ยวด้วยกัน อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนคนหนึ่งเสนอว่า พวกเรามีเงินทองใช้จนตายก็ไม่หมด เราน่าจะเสพสุขให้เต็มที่ สุขที่น่าตื่นเต้น เมื่อเพื่อนๆ ถามว่าสุขที่น่าตื่นเต้นน่ะอะไร เพื่อนคนต้นคิดกล่าวว่า ก็เป็นชู้กับเมียเขาสิ ตื่นเต้นดี ภรรยาคนอื่นที่สวยๆ มีเยอะแยะ ดูความคิดอันพิเรนทร์ของเขา!
อีก 3 คนที่เหลือเห็นดีเห็นงามด้วย จากนั้นมาบุตรเศรษฐีเพลย์บอยทั้ง 4 ก็เที่ยวจีบเมียชาวบ้าน เอาเงินหว่าน อย่างว่า แข็งดังหินเงินง้าง อ่อนได้ดังประสงค์ ภรรยาสาวของใครต่อใครตกเป็นเมียบำรุงบำเรอความสุขของเจ้า 4 คนนี้มากมาย ไม่มีใครทำอะไรได้เพราะอำนาจเงินของพวกเขา
เมื่อพวกเขาตายไปไปเกิดในนรก เสวยผลกรรมอยู่เป็นเวลาถึงหนึ่งพุทธันดร จนกระทั่งถึงสมัยพระพุทธกาลนี้ สัตว์นรก 4 ตัวนี้รู้สึกสำนึกในบาปกรรมที่ตนทำ อยากจะประกาศว่า ต่อไปนี้ถ้าได้กลับไปเกิดเป็นมนุษย์อีกจะเลิกทำชั่วเด็ดขาด จะทำแต่ความดี แต่ไม่มีเวลาได้พูดตามต้องการ พูดออกมาได้เฉพาะคำต้น
เปรตตัวแรกต้องการพูดว่า ทุชชีวิตะชีวิมหา เยสันโน นะทะทามหะเส วิชชะมาเนสุ โภเคสุ ทีปัง นากัมหะ อัตตะโน (เมื่อยังเป็นมนุษย์มีโภคทรัพย์มากมาย เราก็ไม่ได้ให้ทาน ไม่ทำให้พึ่งแก่ตัว ทำแต่ความชั่วช้าสารเลว)
ตัวที่สองต้องการพูดว่า สัฏฐี วัสสะสะหัสสานิ ปะริปุณณานิ สัพพะโส
นิระเย ปัจจะมานานัง กะทา อันโต ภะวิสสะติ (เราตกนรกหมกไหม้เป็นเวลาหกหมื่นปีแล้ว เมื่อไรจะสิ้นเวรสิ้นกรรมเสียที)
ตัวที่สามต้องการพูดว่า นัตถิ อันโต กุโต อันโต นะอันโต ปฏิทิสสะติ ตะทาหิ ปะกะตัง ปาปัง มะมะ ตุยหัญจะ มาริสา (ไม่มีที่สิ้นสุดดอก เมื่อไหร่เล่ามันจะสิ้นเวรสิ้นกรรม ก็พวกเราทำแต่ความชั่วช้าสารเลวนี่เพื่อนเอ๋ย)
ตัวที่สี่ต้องการพูดว่า โสหัง นูนะ อิโต คันตวา โยนิง ลัทธานะ มานุสิงวะทัญญู สีละสัมปันโน กาหามิ กุสะลัง พะหุง (ถ้าเราได้เกิดเป็นมนุษย์อีก เราจะให้ทานรักษาศีล จะทำบุญกุศลเป็นอันมาก)
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสดับพระพุทธเจ้าตรัสจบลงก็มีพระโลมชาติชูชัน (พูดง่ายๆ ว่าขนลุก) รำพึงในใจว่าเกือบไปไหมกู เกือบไปเกิดเป็นเปรตทุสะนะโสพวกนี้ ท้าวเธอทรงดำริว่า "ชื่อว่าปรทาริกกรรมนี้หนักหนอ, ได้ยินว่า ชนทั้ง ๔ ไหม้แล้วในอเวจีนรกตลอดพุทธันดรหนึ่ง จุติจากอเวจีนรกนั้นแล้ว เกิดในโลหกุมภี อันลึก ๖๐ โยชน์ ไหม้แล้วในโลหกุมภีนั้นถึง ๖ หมื่นปี, แม้อย่างนี้ กาลเป็นที่พ้นจากทุกข์ของชนเหล่านั้น ยังไม่ปรากฏ, แม้เราทำความเยื่อใยในภรรยาของชายอื่น ไม่ได้หลับตลอดคืนยังรุ่ง, บัดนี้ จำเดิมแต่นี้ไป เราจักไม่ผูกความพอใจในภรรยาของชายอื่นละ"
จึงกราบทูลพระตถาคตว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบความที่แห่งราตรีนานในวันนี้."
ฝ่ายบุรุษนั้นนั่งอยู่ในที่นั้นนั่นแล ฟังถ้อยคำนั้นแล้ว คิดว่า "ปัจจัยมีกำลัง เราได้แล้ว" จึงกราบทูลพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชาทรงทราบความที่แห่งราตรีนาน ในวันนี้ก่อน, ส่วนข้าพระองค์เองได้ทราบความที่แห่งโยชน์ไกล ในวันวาน."
พระศาสดาทรงเทียบเคียงถ้อยคำของคนแม้ทั้งสองแล้ว ตรัสว่า “ราตรีของคนบางคนย่อมเป็นเวลานาน, โยชน์ของคนบางคนเป็นของไกล, ส่วนสงสารของคนพาลย่อมเป็นสภาพยาว” เมื่อจะทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า ทีฆา ชาครโต รตฺติ ทีฆํ สนฺตสฺส โยชนํ ทีโฆ พาลาน สํสาโร สทฺธมฺมํ อวิชานตํ ฯ
ราตรีของคนผู้ตื่นอยู่ นาน, โยชน์ของคนล้าแล้ว ไกล, สงสารของคนพาลทั้งหลายผู้ไม่รู้อยู่ซึ่งสัทธรรม ย่อมยาว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทีฆา เป็นต้น ความว่า ชื่อว่าราตรีนี้มีเพียง ๓ ยามเท่านั้น, แต่สำหรับผู้ตื่นอยู่ อยู่ข้างนาน คือว่า ย่อมปรากฏเป็นราวกะว่า ๒ เท่า ๓ เท่า;
บุคคลผู้เกียจคร้านมาก ทำตนให้เป็นเหยื่อของหมู่เรือด นอนกลิ้งเกลือกอยู่ตลอดจนพระอาทิตย์ขึ้นก็ดี ผู้เสพกาม บริโภคโภชนะที่ดีแล้ว นอนอยู่บนที่นอนอันเป็นสิริก็ดี ย่อมไม่รู้ความที่ราตรีนั้นนาน,
ส่วนพระโยคาวจรผู้เริ่มตั้งความเพียรตลอดคืนยังรุ่งก็ดี พระธรรมกถึกแสดงพระธรรมกถาตลอดคืนยังรุ่งก็ดี บุคคลผู้นั่งฟังธรรมอยู่ในที่ใกล้อาสนะตลอดคืนยังรุ่งก็ดี ผู้ที่ถูกโรคทั้งหลายมีโรคในศีรษะเป็นต้นถูกต้องแล้ว หรือผู้ถึงทุกข์ มีการตัดมือและเท้าเป็นต้น ถูกเวทนาครอบงำก็ดี คนเดินทางไกล เดินทางตลอดคืนก็ดี ย่อมรู้ความที่ราตรีนั้นนาน.
บทว่า โยชน์ เป็นต้น ความว่า แม้โยชน์ก็มีเพียง ๔ คาวุตเท่านั้น, แต่สำหรับผู้ล้าแล้ว คือผู้บอบช้ำแล้ว อยู่ข้างไกล คือว่าย่อมปรากฏเป็นราวกะว่า ๒ เท่า ๓ เท่า.
จริงอยู่ คนเดินทางตลอดทั้งวันล้าแล้ว พบคนเดินสวนทางมา ถามว่า "บ้านข้างหน้าไกลเท่าไร?" เมื่อเขาบอกว่า "โยชน์หนึ่ง" ไปได้หน่อยหนึ่ง ก็ถามคนแม้อื่นอีก, แม้เมื่อคนอื่นนั้นบอกว่า "โยชน์หนึ่ง" ไปได้หน่อยหนึ่งอีก ก็ถามแม้คนอื่นอีก, แม้เขาก็กล่าวว่า "โยชน์หนึ่ง" คนเหล่านั้น ถูกคนผู้เดินทางนั้นถามแล้วๆ ก็บอกว่า "โยชน์หนึ่ง" เขาคิดว่า "โยชน์นี้ ไกลจริงหนอ" ย่อมสำคัญโยชน์หนึ่งเป็นราวกับว่า ๒-๓ โยชน์.
บทว่า พาลานํ เป็นต้น ความว่า ส่วนสงสารของชนพาลทั้งหลาย ผู้ไม่รู้ประโยชน์ในโลกนี้และประโยชน์ในโลกหน้า คือผู้ไม่อาจเพื่อกระทำที่สุดแห่งสังสารวัฏ ผู้ไม่รู้แจ้งสัทธรรม อันต่างด้วยธรรม มีโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เป็นต้น ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายรู้แล้วกระทำที่สุดแห่งสงสารได้ ย่อมชื่อว่ายาว.
แท้จริง สงสารนั้น ชื่อว่ายาว ตามธรรมดาของตนเอง. สมจริงดังพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้มีที่สุดอันใครๆ ไปตามไม่รู้แล้ว เบื้องต้น เบื้องปลาย (แห่งสงสารนั้น) ย่อมไม่ปรากฏ."
แต่สำหรับชนพาลทั้งหลาย ผู้ไม่สามารถจะทำที่สุดได้ ย่อมยาวแท้ทีเดียว.
ในกาลจบเทศนา บุรุษนั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมากก็บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น
คนเราน่ะไม่อยากแก่มันเป็นไปไม่ได้ ก็เท่ากับเราเป็นคนบ้า ไม่อยากเจ็บมันก็เป็นไปไม่ได้ ก็เท่ากับเราเป็นคนบ้า ไม่อยากตาย ไม่อยากพลัดพราก ก็เท่ากับเราเป็นคนบ้า เราเป็นคนบ้า เรายังไม่รู้จักว่าตัวเองเป็นคนบ้า ทั้งๆ ที่ปรากฏการณ์มันในชีวิตประจำวันนี้ มาให้เราได้ฝึกใจ ปฏิบัติใจเพื่อหยุดเป็นคนบ้า เราปล่อยจนมันเป็นป่าใหญ่ ดงใหญ่ มืดไปหมด เป็นมนุษย์กลางคืน เป็นมนุษย์มืด ที่นี้แหละเราไปคิดอย่างไรๆ เพราะคิดหลายครั้งมันก็มากขึ้นมากขึ้น ถึงแม้เราจะสมาทานบวชไปสึกอย่างนี้ แต่เราไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ เราก็ทำไปตามความคิดอย่างนี้ มันคิดมันก็คิดมากขึ้นๆ มันก็เต็มโอ่ง เต็มฝาย เพราะความคิดที่ว่าความคิดนี่ ความคิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิมีแต่นำความพินาศมาให้เรา
เราจะไปเอาปุถุชนในโลกนี้เป็นหลักไม่ได้ เราต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก การเกิด การแก่ เจ็บ ตาย การหาอาหาร การทุกข์ทรมานมันยาก เราก็ต้องรู้ว่าวิธีแก้ก็คือเรารู้ รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ เราต้องมาจัดการกับตัวเอง เราอย่าไปจัดการว่าคนนู้นทำผิด คนนู้นทำถูก เราคิดหลายครั้งมันต้อง และก็ทำตามความคิด มันก็มีแต่ความยากจน จนทั้งทรัพย์ จนทั้งอริยทรัพย์ พวกที่บวชอยากจะสึกก็เพราะไม่รู้จักอริยสัจ ๔
เราก็ต้องมารู้จักอริยสัจ ๔ นะ เพราะกิเลสของเรามันก็พัฒนาของเค้า ทางธรรมเราไม่ได้พัฒนาเลย เมื่อเราคิดๆ หลายครั้ง มันก็เป็นเหมือนต้นมะม่วง เดี๋ยวมันก็โตขึ้นๆ คิดละมันก็ออกดอก ออกผล ก็คิดไปเรื่อยมันก็แก่ แก่และมันก็ต้องห่าม ห่ามมันก็สุก สุกเดี๋ยวมันก็ล่วงหล่น เพราะความคิดมันออกดอก ออกผลอย่างนี้แหละ ทำอย่างไรมันถึงจะไม่คิด เราก็คนเราต้องรู้ว่ามันไม่ถูกต้อง เราก็ต้องหยุด หยุดด้วยอานาปานสติ มารู้ลมเข้าให้ชัดเจน มารู้ลมออกให้ชัดเจน หรืออย่างมากก็กลั้นใจเลย ใจมันจะขาดเดี๋ยวมันก็กลับมา
เราก็คิดกำหนดให้เห็นความเป็นคนแก่ให้มันชัดเจน คนแก่ที่สุด คนเจ็บที่สุด ให้เห็นแบบชัดเจน คนตายที่แต่ก่อนน่ะ ยังไม่ตาย อะไรก็อยากไปหมด เห็นเวลาตายแล้ว เอาอะไรไปได้ละ ไม่เห็นเอาอะไรไปได้ ถ้าเราคิดอะไรมากๆมันก็ไปอยากนั้น มันขึ้นอยู่ที่ปริมาณ เราน่ะ กรรมใครๆก่อ กรรมของเราก่อเราก็ต้องแก้ของเรา เราอย่าว่าปฏิบัติไม่ได้ ไปคิดอย่างนั้นได้อย่างไร ความคิดอย่างนี้นะ ว่าทำไม่ได้มันเป็นมิจฉาทิฏฐิ
คนเราเกิดมาความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องตามพระพุทธเจ้านี่สำคัญ พ่อแม่นี่สำคัญ เพราะว่าถ้าเราไม่มีพ่อมีแม่ เราก็ไม่ได้เป็นคนดี ไม่ได้เป็นเศรษฐี ไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า การอุปัฏฐากอุปถัมภ์พ่อแม่ เพราะพ่อแม่ ที่ได้รับความสุขสำเร็จในชีวิตก็เพราะว่าลูกนี่ได้เป็นพระอริยเจ้า ไม่ใช่ลูกฉันเป็นเศรษฐีหรอก ความสุขความดับทุกข์ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่ได้เกี่ยวกับคนรวย ไม่ได้เกี่ยวกับคนจน เกี่ยวกับผู้ที่ได้มีเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน เพราะว่าความสุขที่ทางวัตถุ ถ้าเราไม่รู้จักมันก็ถือว่ายังเป็นความโง่ เราต้องรู้จัก เพราะเราเกิดมานี่ก็ เราก็มาใช้ร่างกาย เพื่อทำความดี พ่อเราแม่เราอะไรทุกอย่าง มาใช้ชีวิตเพื่อพระนิพพาน เราต้องรู้จักอย่างนี้แหละ
ถ้าเราสงสารตัวเอง ก็ต้องพาตัวเองประพฤติ พาตัวเองปฏิบัติ เราจะได้รู้ความสุขความดับทุกข์ของที่สูงสุดก็คือการเดินตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าอย่างนั้นน่ะ เราไม่รู้จักความดับทุกข์ที่แท้จริง เราตามอารมณ์ไป ตามความคิดไป สติสัมปชัญญะมันสมบูรณ์เมื่อไหร่ ความสุขความดับทุกข์อยู่ที่เรามีเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง มีสติ รู้ว่าอันนี้ผิด รู้ว่าอันนี้ไม่ถูก มีสัมปชัญญะ มีปัญญา ว่าเราต้องหยุดตัวเองแล้ว เราต้องเบรกตัวเองแล้ว เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้ถึงมี พัฒนาอย่างนี้ ทุกคนน่ะต้องจัดการกับตัวเองอย่างนี้ๆ เราไม่ต้องไปหาพระนิพพานที่ไหนหรอก พระนิพพานอยู่ที่เรามีเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องในปัจจุบันนี้แหละ เราทำได้ปฏิบัติได้ เราจะได้เปลี่ยนฐานใหม่
ไปธุดงค์ เดินธุดงค์ในป่า เช่น ป่าเขาใหญ่ ป่าทุ่งใหญ่ ป่านู้น ป่านี้ ภูเขามีอะไร มันถึงจะมีภูเขาสูง เราจะตรงไปเลยไม่ได้ เราต้องไปตามที่มันไปได้ ทางนู้นก็ไปลงหน้าผาลงเหว คนเรานี่ไปตามใจตัวเองไม่ได้ ภูเขาบางภูเขาเราใช้เข็มทิศมันมีแร่ที่จะดึงแม่เหล็ก ดึงเข็มทิศไปทางทิศเหนือตลอด เราก็ไปตามเข็มทิศ เข็มทิศนั้นคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง คือความอยาก คนเราต้องรู้ว่าวัฏฏะสงสารนี่ มันดึงเราเป็นแม่เหล็ก ผู้มีปัญญาเค้าก็ตัดสินใจเดินตรงข้ามกับเข็มทิศที่มันดึงเราไปภูเขาลูกนี้แหละ เมื่อพ้นรัศมีคือถึงกระแสแห่งพระนิพพาน เดี๋ยวแม่เหล็กภูเขานี้มันก็ดึงเราไม่ได้ มันก็จะดึงเราไม่ได้
นี่แหละทุกๆ คนถูกแม่เหล็กใหญ่ คือความอยาก มันดึงเรา เราต้องรู้จักความอยาก ความอยากนี่คือมหาภัย คืออันตราย ถ้ามีอยาก และก็มีไม่อยาก ก็จะมีความปรุงแต่ง เราต้องรู้จักความคิด รู้จักอารมณ์ รู้จักความอยาก ถ้าเราไม่รู้จักความคิด ไม่รู้จักอารมณ์ ไม่รู้จักความอยาก สติสัมปชัญญะเรามันจะสมบูรณ์ได้อย่างไร เราจะเข้าถึงธรรม ถึงปัจจุบันธรรมได้อย่างไร เราต้องรู้จักว่าแม่เหล็กใหญ่มันดึงเรา เพราะเข็มเล็กนิดเดียว แม่เหล็กมันเป็นภูเขาใหญ่มันดึงพวกนี้ไม่เป็นขบวนเลย เราต้องรู้จักทุกข์ รู้จักวัฏฏะสงสาร เราจะได้ออกจากแม่เหล็กที่ดึงดูดเรา ถ้าเราไปเชื่ออารมณ์ เชื่อความคิด ละก็เท่ากับเราเป็นเข็มเล็กๆ มันก็วิ่งเข้าหาแม่เหล็กหมด
เราก็ต้องตั้งมั่นในความถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เดินตามพระพุทธเจ้า โดยยาน ยานคืออะไร ยานก็คือศีล คือสมาธิ ที่จะนำเราออก ศีลมันคืออะไร คือพระพุทธเจ้า เราไม่อยากรักษาศีล เราไม่มีความสำคัญในการรักษาศีล แสดงว่าเราไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ยานคือพระธรรม คือคำสั่งสอน คือเราต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เราอย่าเอาตัวตน เราต้องทำอย่างนี้ เราจะได้รู้อริยสัจ ๔ ว่าเราจะได้หยุดความเป็นบ้าของเรา เราจะหยุดความโง่ของเรา แม่เหล็กที่ยิ่งใหญ่นั้นที่มันดึงหมู่สัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิด มันจะได้ไม่ดึงเราไป เพราะว่าปัญหานี้แก้ไขได้ อย่าให้โง่ไปทั้งประเทศมันไม่ได้ เพราะว่าทางออกมันมีอยู่
หลวงพ่อนี่เดินธุดงค์ เข็มทิศสมัยก่อนก็ใช้เข็มทิศไม่ได้ เพราะมีคอมมิวนิสต์ ไม่มีคอมมิวนิสต์ละก็ใช้เข็มทิศ ถ้าภูเขาลูกไหนมันจะดึงทิศเหนือไปหาแต่ภูเขาอย่างนี้นะ ที่นี่แหละเรารู้แล้วว่าภูเขาลูกนี้มันมีแร่สำหรับดึงเข็มทิศ เราก็ไม่สนใจ เราก็มีสัมมาทิฏฐิ เราก็เดินไปพ้นรัศมีแล้วมันก็จะเข้าปกติ กระแสแห่งพระนิพพานก็เหมือนกัน มันอันเดียวกัน เหมือนกับไปในป่าพอเห็นเถาวัลย์หลายก็น้อยๆ เราก็ยังไม่เอามันออก เพราะเห็นว่ามันน้อย เราไม่ได้ไปหลายปี ที่นี้แหละมันก็เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4-5-6 นิ้ว มันเอามีดไปฟันไม่ได้ มันต้องเอาเลื่อนโซ่ เพราะอันนี้ก็สันดานของกิเลสถ้าให้มันโต มันก็เป็นมหาเถระหมด นึกว่าจะผู้ที่มาบวชเป็นเถระ เถระเพราะบวชนานเฉยๆ แต่ไม่ได้เป็นมหาเถระ หรือว่ามหาปล่อยวาง มันเป็นมหายึดมั่นถือมั่น ความยึดมั่นที่ยิ่งใหญ่ ทิฏฐิพระ มานะของอวิชชานี้มันถึงเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เรียกว่ามหาเถระ มหาเถระยึดมั่นถือมั่น เราต้องตัดห้ำหั่นให้มันขาดสะบั้นไปด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิอย่างนี้