แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง มาประพฤติพรหมจรรย์ ตอนที่ ๕๒ ให้เรามาเน้นเข้าหาตัวเองแก้ไขตัวเอง เพื่อที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ภายใน
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมในองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระมหาเถระ พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้วันอาทิตย์ที่ ๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ทำไมพวกที่อยู่ทางบ้านก็เป็นคนทุกข์ เป็นคนจน ผู้ที่มาบวชก็เป็นคนทุกข์ เป็นคนจน จนอริยทรัพย์ นี่แสดงถึงความเห็นเรานี้ยังไม่ถูกต้อง ความเข้าใจของเรายังไม่ถูกต้อง เพราะเราจะเป็นคนรวย เข้าถึงเศรษฐกิจพอเพียง จะเป็นได้เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องอย่างนี้ เริ่มต้นจากตัวเราของเราเองนี่แหละ เพราะต่อไปเราผู้ที่อยู่ทางโลกก็จะเป็นพ่อเป็นแม่ ผู้ที่บวชก็จะเป็นครูบาอาจารย์ พวกนี้มันจนเพราะว่าเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเอง เราถึงเป็นคนจน
ผู้ที่มาบวชเป็นพระก็มีความทุกข์กัน มีความสุขกันไม่ถึง ๕๐ % ภาพรวมส่วนใหญ่ประชาชนที่อยู่ในบ้าน อยู่ในครอบครัวก็มีความทุกข์กัน มีความสุขไม่ถึง๕๐% พระก็ล้วนแต่มีหนี้มีสิน โยมก็ล้วนแต่มีหนี้สิน พระมีหนี้อะไร? มีหนี้ทางจิตใจที่เราติด เรายึด เราหลง เราเพลิดเพลินในกามคุณ นี่แหละคือความยากจน เพราะใจของเรามันยังเป็นเปรต มันยังไม่อิ่มไปด้วยกาม ไม่อิ่มไปด้วยตัณหา เรายังมีเซ็กส์ทางความคิด มีเซ็กส์ทางอารมณ์ เรายังยินดีในสตรี ยินดีในสตางค์ ยินดีในลาภยศสรรเสริญ อย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นภิกษุที่ยากจน เป็นสามเณรที่ยากจน ใจของเรายังไม่ได้เป็นพระ ใจของเรายังไม่พอ เราก็มาถลุงอยู่อย่างนี้อีก
ประชาชนเขายากจนก็เพราะเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน เราไม่รู้ทุกข์ เราก็ไม่ขวนขวายในการทำงาน ไม่ขวนขวายในการเรียนการศึกษา ไม่สนใจที่จะพัฒนาตนเอง อย่างนี้แหละ มันติดเป็นนิสัยมาตั้งแต่พ่อตั้งแต่แม่ เราทุกคนต้องมาเป็นลูกที่ดีกว่าพ่อแม่ เป็นอภิชาติบุตร เราต้องมากอบกู้วงศ์ตระกูล เผ่าพันธุ์แห่งความเป็นมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้นไป เราจะได้เข้าถึงพระพุทธศาสนา
เราเป็นภิกษุ เป็นนักบวช เราก็จะได้เข้าถึงพระพุทธศาสนา เรื่องความทุกข์ความยาก ติดการพนัน มีเพศสัมพันธ์ มีเซ็กส์ทางโทรศัพท์ พวกเด็กๆน่าสงสาร เราทุกคนก็ไปโทษให้ลูกให้หลานเราว่าคนสมัยนี่พูดไม่ฟัง อันนี้มันเป็นเรื่องเสพติด มันทำลายระบบสมองสติปัญญา มันเข้าสู่ระบบแห่งการเวียนว่ายตายเกิด มันไม่รู้จักทุกข์ ไม่ว่าพระก็มีเรื่องมีปัญหา มีอะไรในสังคมเยอะแยะขึ้นทวีคูณ เพราะว่าเอาชื่อพระเฉยๆ แต่ว่าความประพฤติไม่ได้เป็นพระ ไม่ได้เข้าสู่ระบบของพุทธศาสนา มันยังเป็นไปตามสัญชาตญาณ ทั้งฝ่ายนักบวช ทั้งฝ่ายประชาชน เราไม่ได้ควบคุมรายรับรายจ่ายเรื่องจิตเรื่องใจของเราเลย เราต้องคุมรายรับรายจ่ายเรื่องจิตเรื่องใจด้วย รายรับรายจ่ายเรื่องปฏิปทาของเรา เพราะว่ามันต้องเสียสละ มันต้องมีเหตุมีปัจจัยอย่างนี้ๆ
เมื่อวานก็พูดไปแล้ว แต่วันนี้พ่อแม่ครูบาอาจารย์ขอให้ซ้ำอีก ต่อยซ้ำอีกเพื่อความละเอียดเพราะจิตใจมันจะได้สว่างไสวเหมือนพระอริยเจ้า พระอริยเจ้า
อันนี้ท่านไม่คิด อันนี้ท่านไม่พูด อันนี้ท่านไม่ทำ เพราะท่านมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ยังไงมันไม่เป็นไรหรอก มันไม่สาย เราไม่ต้องไปแก้ที่อื่นเน้นที่เรา ที่ตัวเรานี่แหละ เพราะเราคนหนึ่งก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้เยอะ เหมือนประเทศสิงคโปร์ ลีกวนยูคนเดียวที่เปลี่ยนเมืองสิงคโปร์ให้เจริญอย่างทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาภูมิพลอดุลยเดชพระองค์เดียวที่ทำให้ประเทศไทยมีความตั้งมั่นในคุณธรรม ในเศรษฐกิจพอเพียง ให้เราเข้าใจอย่างนี้
เราอย่าไปว่ามันแก้ไม่ได้ ต้องไปแก้คนอื่น มันต้องแก้ที่ตัวเอง ทุกคนต้องเน้นแก้ที่ตัวเอง มันไปแก้ภายนอก พอมันยากจนก็จะไปซื้อแต่หวย หวยออนไลน์หวยบนดิน หวยใต้ดินสารพัด แล้วหวยมันก็พัฒนาไปเรื่อยๆ อบายมุขเลยมีทั้งหวยออนไลน์ หวยอะไรสารพัด วันนึงก็เล่นตั้งแต่เช้าจนค่ำก็ไม่หมด ทั้งประเทศต่างประเทศเขาก็เล่นกันได้หมด พวกบ่อนพวกอะไรอย่างนี้ เพราะนี่เราไม่มีความสุขที่จะมาแก้จิตแก้ใจเลย จะไปแก้แต่ภายนอกไม่ได้ มันไม่ได้พัฒนาใจของเรา ไม่ได้พัฒนาบ้านของเราเลย
พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกๆคนมาปฏิบัติธรรม มาแก้ที่จิตแก้ที่ใจ แก้ที่กิริยามารยาท แก้ที่คำพูด แก้ที่การกระทำ ทุกท่านทุกคนปฏิบัติเอง ต้องปรับปรุงแก้ไขตัวเองให้มันดีขึ้น ให้มันประเสริฐขึ้น อย่าได้พากันไปแก้ไขแต่สิ่งภายนอกอย่าได้พากันไปแก้ไขแต่คนอื่น เพราะปัญหาต่างๆในโลกนี้ล้วนเกิดมาจากจิตจากใจ เกิดจากกิริยามารยาท จากคำพูด จากการกระทำของเราเองส่วนใหญ่ เราก็จะพากันไปแก้ไขแต่สิ่งภายนอก แก้ไขบุคคลอื่น แท้จริงแล้วปัญหาต่างๆที่มันกำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ล้วนเกิดจากการกระทำจากตัวของเรา เรายังตั้งอยู่ในความประมาท ไม่เห็นความสำคัญในการประพฤติในการปฏิบัติธรรม ไม่เห็นความสำคัญในการแก้ไขประพฤติปฏิบัติตัวเอง แล้วก็พากันไปโทษแต่สิ่งภายนอก ความคิดอย่างนี้มันไม่ยุติธรรม เราทุกคนนี้แก้ไขตัวเองได้ ปรับปรุงตัวเองได้ มันยังดีกว่าคนอื่นปรับปรุงคนอื่นซะอีก ถึงจะยาก ถึงจะลำบาก เราก็ต้องมาแก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง สร้างตัวเอง พัฒนาตัวเอง ส่วนใหญ่แล้วถ้าเรามาแก้ไขตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง มันไม่ชอบ มันรู้สึกอึดอัด มันขัดเคือง ถ้าไม่แก้ไขตัวเองมันก็ไม่ได้ เพราะปัญหาต่างๆมันอยู่ที่เราทุกคน เราทุกคนต้องเชื่อมั่นในการกระทำดีของตัวเอง ทำดีเราก็ได้ดี เราปรับปรุงตัวเอง ชีวิตของเราก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
ทุกท่านทุกคนกำลังมีความเห็นผิด เข้าใจผิดที่คิดจะแก้ตั้งแต่สิ่งภายนอกคิดแต่ที่จะแก้ไขบุคคลอื่น พระพุทธเจ้าท่านให้เราพยายามแก้ตัวเอง ปฏิบัติตัวเองเมื่อเราปฎิบัติได้ คนอื่นเขาก็จะเคารพนับถือหรือพากันทำตามเอง ถ้าเราเป็นคนป่วย เราจะไปสอนคนป่วยเหมือนกัน เขาไม่ศรัทธาเรา เมื่อเราเป็นคนผอม เราไปขายยาอ้วนอย่างนี้ เขาก็ไม่กล้าซื้อยาเรา เพราะเขามองดูแล้วคนขายก็ยังผอมอยู่ทุกท่านทุกคนต้องแก้ที่ตัวเอง ให้ใจของตัวเองมันสงบ ให้ใจของตัวเองเย็น ให้กิริยามารยาทของตัวเองมันสงบมันเย็น ให้คำพูดของเรามันเกิดความสงบเกิดความเย็น ให้การกระทำของเราเกิดความสงบเกิดความเย็น ให้มันเย็นมาจากกายจากวาจาของเราถึงจะเป็นที่เคารพนับถือของตัวเองและเพื่อนฝูงคนอื่นได้ ให้เราทุกๆคนกลับมามองดูตัวเอง พิจารณาตัวเอง ส่วนไหนมันบกพร่อง ส่วนไหนที่จะต้องเพิ่มเติม ส่วนไหนมันมากเกิน ต้องแก้ไข มีความสุขในการทำความดี มีความสุขในการเสียสละ มีความสุขในการทำงาน เพราะคนเราทุกๆคนนั้นมันมีความสุขอยู่ที่ใด้ประพฤติได้ปฏิบัติ มีความสุขอยู่ที่เราได้แก้ไขปรับปรุงตัวเอง ไม่ใช่มีความสุขเพราะมีเงินมาก มีอำนาจวาสนามาก อย่างนั้นมันไม่ใช่ ความสุขความดับทุกข์อยู่ที่ใจสงบ อยู่ที่ใจรู้จักพอ เป็นคนเห็นภัยในวัฏสงสาร ไม่ตามความอยาก ไม่ตามอารมณ์ ไม่ตามสิ่งแวดล้อม มีใจสงบใจเย็น มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์รักศีลรักธรรม รักการประพฤติการปฏิบัติที่จะแก้ไขตัวเอง เอาศีล ๕ เป็นที่ตั้ง ผู้ที่ถือศีลเนกขัมมะก็เอาศีล ๘ เป็นที่ตั้ง ผู้ที่ถือเพศบรรพชิตก็เอาศีล ๒๒๗ เป็นที่ตั้ง รักในศีล ชอบในศีล ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เป็นผู้ละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป ไม่เห็นแก่เงิน เห็นแก่โภคทรัพย์ เห็นแก่สมบัติ เพราะว่าศีลนั่นแหละคือพระพุทธเจ้า ศีลนั่นแหละคือตัวพระธรรม ศีลนั่นแหละคือตัวที่จะทำให้เราเป็นพระอริยสงฆ์ ถ้าเราไม่รักศีล ไม่ชอบศีล ก็คือเราไม่รัก ไม่เคารพพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่มีศีล ธรรมะก็เกิดไม่ได้ เพราะว่าศีลคือบาทฐานความดีทั้งหลายทั้งปวง เหมือนเราจะสร้างบ้านสร้างประเทศ เราต้องมีพื้นที่ มีพื้นฐาน ศีลจึงเปรียบเสมือนแผ่นดินที่จะรองรับคุณธรรมคุณงามความดี ศีลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
การประพฤติการปฏิบัติธรรม บางทีใจของเราไม่รู้จักธรรมะ พระพุทธเจ้า ท่านถึงให้เราปฏิบัติในศีล ตั้งอยู่ในศีลข้อนั้นข้อนี้ เพราะใจของเราจะได้เป็นธรรมใจของเราจะได้ไม่มีความเห็นแก่ตัว ทุกคนมันมีทิฐิมานะ มีความเห็นแก่ตัวมาก มันไม่รู้จักธรรมะ พระพุทธเจ้าท่านจึงให้วางหลักเกณฑ์ มีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ เพื่อวางรากฐาน วางขบวนการของการที่จะเข้าถึงธรรม เข้าถึงความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ถ้าเราไม่อยากปฏิบัติธรรม ไม่อยากแก้ไขตัวเองพัฒนาตัวเอง พระพุทธ เจ้าท่านให้เราเข้าใจเลยว่าเรายังมีความเข้าใจผิด มีความเห็นผิด กำลังสร้างวัฏสงสารให้ตัวเอง ท่านถึงให้ทุกคนมาปฏิบัติธรรม เพื่อจะได้เข้าหาความสุข ความสงบ ความร่มเย็น
ชีวิตของคนเราทุก ๆ คนนี้มันเหมือนละคร ละครที่เขาแต่งกันเอามาแสดงกันเป็นเรื่องเป็นราว มันเป็นอย่างนั้นแหละ เดี๋ยวนี้เขากำลังให้เราแสดงละครกัน ดังที่ว่า
“อันโลกนี้เหมือนโรงละคร ปวงนิกรเราท่านเกิดมา
ต่างร่ายรำทำทีท่า ตามลีลาของบทละคร
บางครั้งก็เศร้าบางคราวก็โศก บางทีก็ทุกข์หัวอกสะท้อน
มีรักมีร้างมีจากมีจร พอจบละครชีวิตก็จากลา
อันว่าตอนละครชีวิต เป็นสิ่งน่าคิดพินิจหนักหนา
กว่าฉากจะปิดชีวิตจะลา ต้องทรมากันสุดประมาณ
ชีวิตเหมือนละครทุกตอนบท มีสลดโศกเศร้าเคล้าสุขสันต์
มีหัวเราะร้องไห้รักใคร่กัน ที่สุดนั้นหลุมฝังศพจบการแสดง
ดูละครโขนหนังแล้วยั้งจิต มองชีวิตการเล่นเช่นโขนหนัง
มีทั้งโศกมีทั้งสุขทุกข์ประดัง ไม่กี่ครั้งก็ลาลับกลับเข้าโรง”
ใครเป็นคนให้เราแสดงละครล่ะ? เดี๋ยวนี้ คนที่ให้เราแสดงละครก็ได้แก่พญามาร คือตัวกิเลสที่มันอยู่ในจิตในใจของเรา มันมีทั้งพญามาร มีทั้งเสนามาร เทวบุตรมาร ลูกหลานของพญามารล้วนแต่เป็นมารทางจิตทางใจของเราทั้งนั้น มันให้เราทำ ให้เราปฏิบัติ ให้เราแสดง มันมาจัดการสะสม สะสมความรู้สึกเดิมๆ ความรู้สึกรักๆใคร่ๆ โลภบ้าง โกรธบ้าง หลงบ้าง ยินดียินร้าย เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ตัวกิเลสเหล่านี้เหมือนกับผู้กำกับอยู่เบื้องหลัง ชักใยอยู่เบื้องหลัง มันคือกฏแห่งกรรมกฏธรรมชาติ
ในศาสนาพราหมณ์ฮินดู เขาเอาพระเจ้าของเขาเป็นบุคลาธิษฐาน เขาบอกว่าพระศิวะ เวลาท่านร่ายรำที่เรียกว่าศิวนาฏราช ที่พระศิวะกำลังร่ายรำ การร่ายรำของพระศิวะ ท่านร่ายรำไปท่าไหนเปรียบเสมือนกับโลกหรือว่าสัตว์โลกจะเป็นไปตามการร่ายรำของท่าน อันนี้เป็นปริศนาธรรม หลวงพ่อพุทธทาสท่านชี้ชัดตรงๆเลยว่าพระเจ้าของต่างศาสนามันก็คือธรรมชาติ เพียงแต่ว่าคนที่เขียนคัมภีร์ขึ้นมาคือฤาษี ฤาษีท่านไม่ได้ตรัสรู้ธรรม อย่างมากท่านก็ได้แค่ฌานสมาบัติ มีฤทธิ์ มีหูทิพย์ตาทิพย์ ได้อภิญญาห้า แต่ไม่มีอภิญญาหก เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีอาสวักขยญาณ ไม่หมดกิเลส ท่านก็เขียนตำรา เขียนคัมภีร์เป็นบท เป็นละคร เป็นฉากๆ มหากาพย์ภารตะ มหากาพย์รามเกียรติ์พวกนี้เกิดขึ้นก่อนพระพุทธศาสนาเสียอีก เล่ากันมาหลายพันปี ทุกอย่างมาจากฤาษีเขียนทั้งสิ้น ท่านอาจจะไปเห็นธรรมชาติ แต่ไม่รู้จะเอามาบอก เอามาถ่ายทอดยังไง ก็เลยเอามาในรูปแบบของเทพเจ้า แต่ทีนี้พอคนเราหลง หลงในบุคคล หลงในตัวตนก็เลยบูชาเป็นเทพองค์นั้น เป็นเทพองค์นี้ อ้อนวอนขอเพื่อให้เข้าถึงความจริง เพื่อให้เข้าถึงความร่ำรวย ขอให้อะไรๆ ก็ Thank God, Thank God ขอบคุณพระเจ้า ขอบคุณพระเจ้าอย่างเดียว ทั้งที่ความจริงแล้วมันคือกฏแห่งกรรมทั้งสิ้น ตรงที่ว่าเป็นไปตามการร่ายรำของพระศิวะ ที่ว่าศิวนาฏราชเป็นบุคลาธิษฐาน ก็หมายความว่ามันก็คือกฎธรรมชาติ
พระพุทธองค์ทรงอุบัติเกิดขึ้นมาในท่ามกลางศาสนาพราหมณ์ พระวิษณุ พระพรหม พระอะไร พระองค์เคยได้ยินหมดแหละ เพราะพระองค์อยู่ในตระกูลที่นับถือศาสนาพราหมณ์ ตั้งแต่ประสูติจนกระทั่งตรัสรู้มีพิธีพราหมณ์เกี่ยวข้องตลอด ตอนไปบำเพ็ญพรต เรียนกับอาจารย์จนได้สมาบัติ ๘ ก็เรียนกับพราหมณ์ แต่พระองค์เห็นว่ามันไม่ใช่ทาง มันเป็นทางตัน มันไปต่อไม่ได้ พระองค์เลยไปต่อยอด ต่อยอดด้วยพระองค์เองจนกระทั่งสัมมาสัมพุทธะตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ทรงค้นพบความเป็นจริง นั่นก็คือว่าอริยสัจ ๔ แท้ที่จริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่เที่ยงเลย มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ
พอพระองค์ทรงเข้าใจธรรมชาติ เห็นธรรมชาติและสอนวิธีที่จะพ้นจากวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อพระองค์ถอนตัวเองออกมาได้ ก็ทรงสั่งสอนลูกศิษย์ให้ถอนตัวเองขึ้นมา เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงเป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตใจ สอนให้คนเข้าใจ เข้าถึงธรรมชาติแท้ๆ เพราะเราเกิดมาในธรรมชาติ แต่ถ้าหากเราไม่รู้จักธรรมชาติของกายของใจ ไม่รู้จักธรรมชาติของจิต ไม่รู้จักธรรมชาติของกรรมและผลของกรรมแล้ว เกิดมาก็เสียเปล่า หากมัวแต่แย่งกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันมาครอง แย่งอำนาจกันเป็นใหญ่ จะเกิดจะตาย เกิดตายเกิดตายกี่รอบ ก็ยังมาหลงแต่ของเดิมๆ หลงในเนื้อหนังมังสา หลงในเงิน หลงในทอง หลงในรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ จะกี่ชาติก็ทุกข์เหมือนเดิม ตายเหมือนเดิม ยังทุกข์คือเก่า ทุกข์อย่างเก่า แถมยังเพิ่มความโง่ให้กับตัวเอง เอาของเสียๆ เอาของที่มันเป็นทางแห่งความเสื่อมใส่เข้าตัวเอง กินเหล้ากินเบียร์ เจ้าชู้ เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน ขี้เกียจขี้คร้าน ชีวิตติดลบเลย ชีวิตขาดทุน ชีวิตไม่มีบวก ชีวิตไม่มีประโยชน์ ดังนั้นแล้ว พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนมองใจของเราว่ามีพญามารมากน้อยเท่าไหร่ ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ พระพุทธเจ้าท่านถึงเมตตาเรา เมื่อมันมีพญามารก็ต้องมีพระพุทธเจ้าที่จะมาแก้มาร เราทุกคนต้องตั้งมั่นในพระพุทธเจ้า ตั้งมั่นในพระธรรม เราถึงจะได้เป็นพระอริยสงฆ์ พยายามมาแก้ที่จิตที่ใจที่ตัวเอง อย่าได้พากันหลงเพลิดเพลินในความสุข ความสะดวกสบาย ในความร่ำรวย ความมีความเป็น ความเด่นความดัง ทุกท่านทุกคนเวลาละสังขารไปจะเอาเงิน เอาสตางค์ เอาชื่อเสียงเกียรติยศเหล่านี้ไปด้วยไม่ได้ เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผู้ประเสริฐแล้ว จิตใจไม่ประเสริฐ จิตใจไปหลงตามพญามาร เทวบุตรมาร เทวธฺิดามารนี่ ชีวิตของเรานี่แย่เลยนะ
พระพุทธเจ้าท่านให้ทุกท่านทุกคนกลับมาหาความสงบ อย่าได้พากันวิ่งตามความอยาก วิ่งตามอารมณ์ ตามความสวย ความเพลิดเพลิน ความเอร็ดอร่อยนี้ มันเป็นเหยื่อ มันเป็นรางวัลสินจ้าง ให้พวกเราทุกคนหลงเพ้อละเมอฝัน ฝันทั้งกลางวัน ฝันทั้งกลางคืน ไม่นอนก็ฝัน แล้วมันหลับมันก็ยังฝัน คิดว่าตัวเองได้บริโภคสิ่งที่ดีแล้วมันจะมีความสุข ที่ไหนได้ มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น ถ้าเราตามอารมณ์ ตามความคิด ตามความอยากไปนี่ แย่เลยนะเรา
เราต้องมาทำเหมือนพระพุทธเจ้า คนเรานี้ถ้าใจไม่มีความโลภ ไม่มีความอยากความต้องการ มีแต่เป็นผู้ให้ มีแต่เป็นผู้เสียสละ มันมีความสุขมาก เราดูตัวอย่างคุณพ่อคุณแม่ของเราทุกๆคนตกเป็นทาสพญามารกันหมด พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้หยุดเป็นทาส นี่เราทุกคนพากันสมัคร พากันเป็นทาสเพราะความ สุข ความสะดวกความสบาย มันเป็นทาส มันเป็นสิ่งเสพติด ทุกคนเสพแล้วมันติด มันเป็นเหยื่อของพญามาร เป็นทาส เป็นทาสวัตถุ ไม่ได้เป็นไท ไม่ได้เป็นอิสระเลย ท่านให้เราพยายามอด พยายามทน ให้ใจหนักแน่น ให้ใจเข้มแข็ง สมาธิเราทุกคนมันน้อยเหลือเกิน มันเรียกว่าแทบไม่มีสมาธิเสียเลย ใจมันไม่หนักไม่แน่น มันไม่หยุดตัวเองเสียเลย มันมีแต่ความอยาก สนองความต้องการ เราปฏิบัติอย่างนั้นไม่ได้ เราต้องหยุดตัวเอง ต้องแก้ไขตัวเอง เราทุกคนนี้มันแก่ไปทุกๆวัน ถ้าเราไม่แก้ไข เราไม่ปรับปรุง เดี๋ยวมันจะไม่ทันเวลา เพราะเวลาชีวิตของทุกคนมันมีน้อย มีจำกัด ความอยากของคนมันร้อนระอุ มันจะระเบิด มันจะเป็นระเบิด แล้วใครเป็นคนระเบิดล่ะ? ก็ตัวเราเองเป็นคนระเบิด เพราะเราไปทำตามความอยาก ถ้ามันจะตายก็ตายเพราะได้ทำความดี ตายเพราะจิตใจมีสมาธิ คนเราถ้าใจไม่มีสมาธิ ถึงจะมีความรู้มาก มีความรู้หลาย เป็นคนฉลาด มันก็แก้ไขตัวเองไม่ได้ ดับทุกข์ไม่ได้ ปัญญาไม่เกิดมีแต่ความอยากมันเกิด มีแต่อาสวะมันเกิด สมาธินี้ทุกคนต้องแข็งแรง ต้องแข็งแกร่ง ต้องอดต้องทน ต้องมีความเพียร
ทุกท่านทุกคนต้องเอาชนะใจตัวเอง ชนะอารมณ์ตัวเอง อย่าไปประมาทอย่าไปคิดว่าตัวเองมันฉลาด เดี๋ยวแก้วันหลังก็ได้ ขอโอกาสก่อน ขอเพลิดเพลินก่อนขอผัดวันประกันพรุ่งก่อน เดี๋ยวก่อนๆ พรุ่งนี้ สัปดาห์หน้า เดือนหน้า ปีหน้าค่อยทำอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนเราอย่างนั้น ไม่ได้สอนว่าให้เราไปแก้วันหลัง ท่านสอนให้เราพากันมาแก้ไขมาปรับปรุง มาเห็นแจ้งในปัจจุบัน ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ใครจะไปรู้ความตายในวันพรุ่งนี้ เพราะวันพรุ่งนี้ก็คือวันนี้แหละ เพราะทุกอย่างมันจะเป็นปัจจุบันเลื่อนไปเรื่อยอยู่อย่างนี้ ถ้าเราไม่แก้ไขในปัจจุบันถือว่าเราไม่รู้จักคำว่าความดับทุกข์ เราทุกคนทำได้ เราทุกคนปฏิบัติได้ แล้วก็พร้อมแล้วที่ทุกคนจะต้องประพฤติปฏิบัติ แต่จิตใจของเรามันมีความบกพร่องอยู่เป็นนิจว่าขออีกสักหน่อย ๆ ขอโอกาสก่อน ขอไปเรื่อย แบบนั้นชาติหน้าก็ไม่ได้ เราเป็นพระ เราเป็นเณร เราเป็นชี เราก็ปฏิบัติอยู่ที่วัด เราเป็นญาติเป็นโยม เราก็ปฏิบัติอยู่ที่บ้านที่ทำงาน เพราะทุกอย่างมันแก้ที่ตัวเรา ที่ปฏิปทาของเราเอง พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราผัดวันประกันพรุ่ง ถ้าเราแก้ตัวเองได้ ทุกหนทุกแห่งก็จะเป็นที่อยู่ที่มีความสุขเพราะปัญหาทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวของเราเอง อย่าไปคิดว่าเป็นเพราะสิ่งโน้นสิ่งนั้นสิ่งนี้มาลิดรอนสิทธิเสรีภาพของเรา มันเป็นเพราะเรานี่เองแหละ เราสร้างตัวเองปฏิบัติตัวเองจะได้พึ่งพาอาศัยตัวเองได้ แล้วคนอื่นเขาก็จะได้พึ่งพาอาศัยตัวเราได้ แล้วทุกอย่างมันจะดี เรตติ้งของการเป็นมนุษย์มันก็จะสูงขึ้นดีขึ้น ทุกคนก็จะต้องการเรา การบอกสอนหรือการนำ ทุกคนทำความดีมันก็จะง่ายขึ้น เพราะการประพฤติการปฏิบัติมันแจ่มแจ้งในกายวาจาใจของเรา ว่าปฏิบัติอย่างนี้มันใช้ได้ ดับทุกข์ได้ เพราะมนุษย์เราเกิดมาถือว่าเป็นผู้ที่ประเสริฐ เป็นผู้ที่เกิดมาเพื่อสร้างความดี สร้างบารมี สร้างคุณธรรม ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็เป็นได้แต่เพียงคนสะเปะสะปะ ทำทั้งดีทั้งชั่ว แล้วก็ทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจ ยังไม่ตายก็ตกนรกเสียแล้ว ตกนรกทั้งเป็นเสียแล้ว
เราทุกคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ว่าวิทยาศาสตร์ภายนอกเน้นแต่เรื่องภาย นอก เน้นแต่เรื่องวัตถุ เราไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่จะมาเน้นภายในตัวเราเอง เราเป็นนักวิทยาศาสตร์ภายนอกมันก็ดี แต่มันก็ไม่ดียิ่งเท่ากับที่เราเป็นนักวิทยา ศาสตร์ภายในตัว พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาเน้นเข้าหาตัวเองเพื่อที่จะเป็นนักวิทยา ศาสตร์ภายใน เป็นวิทยาศาสตร์ที่จะมาแก้จิตแก้ใจ แก้ไขตัวเอง มันถึงจะเป็นการกระทำที่สุดแห่งความทุกข์หรือกองทุกข์ได้
หลักการของพระพุทธศาสนากับหลักวิทยาศาสตร์มีทั้งส่วนสอดคล้องแล้วก็แตกต่างกัน วิทยาศาสตร์นี้ ในด้านความเชื่อ วิทยาศาสตร์ถือหลัก หลักว่าก่อนจะเชื่ออะไรนั้นมันต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นจริงได้เสียก่อน วิทยาศาสตร์เชื่อในเหตุผลไม่เชื่ออะไรลอยๆ ต้องการหลักฐานมายืนยัน วิทยาศาสตร์ไม่อาศัยศรัทธา แต่อาศัยเหตุผล เชื่อการทดลองว่าให้ความจริงแก่เราได้ แต่ไม่เชื่อการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะทุกอย่างดำเนินอย่างมีกฎเกณฑ์ มีเหตุผล และวิทยา ศาสตร์อาศัยปัญญาและเหตุผลเป็นตัวตัดสินความจริง
พระพุทธศาสนาก็มีหลักความเชื่ออย่างเดียวกับวิทยาศาสตร์ ดังหลักคำสอนที่ปรากฏในกาลามสูตร พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่าการจะเชื่ออะไรแค่ไหนนั้นจะต้องทดลองพิสูจน์ด้วยตัวเอง โดยอาศัยสติปัญญาและเหตุผลแล้วค่อยเชื่อโดยวิธีดังต่อไปนี้ ก็คือว่า
หนึ่ง อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะฟังตามๆกันมา เสียงลือเสียงเล่าอ้าง เขาว่าอย่างนั้น เขาว่าอย่างนี้ ถ้าเชื่อมันก็หูเบาเต็มที พระพุทธเจ้าสอนเลยว่าอย่าเชื่อ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะฟังตามๆกันมา
สอง อย่าเพิ่งไปปลงใจเชื่อเพียงเพราะถือสืบๆกันมา อะไรที่ถือกันเป็นประเพณีสืบกันมา บอกว่าของบรรพบุรุษปู่ย่าตายาย ไม่ใช่ว่ามันจะถูก ๑๐๐ % เพราะยังไม่ใช่ประเพณีของพระอรหันต์ ยังเป็นประเพณีของปุถุชน มหาปุถุชนอยู่
สาม อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการเล่าเรื่อง
สี่ อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการอ้างคัมภีร์
ห้า อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะนึกคิดเอาเอง คิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้น คิดว่ามันจะเป็นอย่างนี้
หก อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการคาดคะเนเอา ตั้งสมมติฐานแล้วก็คาดคะเนเอา
เจ็ด อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะการตรึกตรอง
แปด อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะตรงกับความคิดเห็นของตนๆ
เก้า อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะรูปลักษณะรูปร่างน่าเชื่อถือ
สิบ อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อเพียงเพราะเขาเป็นครูของเรา
แล้วพระองค์ก็ทรงสอนต่อไปว่าเมื่อใดที่เราอาศัยปัญญาทดสอบด้วยตนเองแล้วเห็นว่าคำสอนใดเป็นคำสอนที่มีคุณประโยชน์แล้วจึงค่อยเชื่อ ทรงสอนไม่ให้เชื่ออย่างงมงาย เน้นการทดสอบและการปฏิบัติ เมื่อทดสอบได้ผลทางปฏิบัติแล้วจึงเชื่อ เพราะฉะนั้นจึงมีคำสำทับในธรรมคุณที่บอกว่า “สันทิฐิโก” – เห็นได้ด้วยตนเอง มาจากการทดลองทำ ทดลองปฏิบัตินี่แหละ
พระพุทธศาสนาสอนเรื่องศรัทธาเหมือนกัน แต่ศรัทธาไม่ใช่วิธีสุดท้ายที่จะตัดสินว่าความจริงคืออะไร ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องชักจูงให้คนเข้าไปทดสอบความจริง แต่ตัวที่ตัดสินความจริงไม่ใช่ศรัทธาแต่คือปัญญา ในคำสอนเรื่องอริยมรรคมีองค์แปด เป็นหนทางที่จะพามนุษย์ไปสู่พระนิพพานเป็นความจริงอันสูงสุดนั้นไม่ปรากฏว่ามีศรัทธาอยู่ด้วย ในการสอนหลักธรรมต่างๆเพื่อเป็นแนว ทางในการปฏิบัตินั้น หากในหลักธรรมใดมีศรัทธาอยู่จะต้องมีปัญญากำกับเสมอ อย่างเช่นในหมวดธรรมที่เป็นเหมือนกับหมวดธรรม ๗ หมวดที่จะพาคนไปสู่ความดับทุกข์ ในพละ ๕ อินทรีย์ ๕ ก็จะมีตัวศรัทธาเป็นตัวนำ แต่สุดท้ายมาจบที่ปัญญาปัญญามันต้องกำกับศรัทธา ศรัทธามากปัญญาน้อยก็เป็นคนงมงาย บางทีหนักไปทางโง่ซะอีก ปัญญามากขาดศรัทธา เชื่อตัวเอง เชื่อแต่ตัวเอง เอาความคิดเห็นของตัวเองเป็นตัวตัดสิน ในหลักอริยสัจก็มีศรัทธา เชื่อ แต่ว่าสุดท้ายมาจบด้วยปัญญา ศรัทธา ศีล หิริโอตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา เพราะปัญญาเป็นตัวตัดสินเป็นบทสรุป เป็นบทจบ เป็นบทสุดท้าย
ทีนี้ ในด้านความรู้ วิทยาศาสตร์และพุทธศาสนายอมรับความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ ประสบการณ์หมายถึงการที่ตา หู จมูก ลิ้น กายได้ประสบกับความ รู้สึกนึกคิดบางอย่างเช่น ดีใจ เสียใจ รู้สึกอยากได้ เป็นต้น วิทยาศาสตร์เริ่มต้นจากประสบการณ์ คือการที่ได้พบเห็นสิ่งต่างๆแล้วเกิดความอยากรู้อยากเห็นก็มาแสวง หาคำอธิบาย วิทยาศาสตร์จะไม่เชื่อหรือว่ายึดถืออะไรล่วงหน้าอย่างตายตัว แต่จะอาศัยการทดสอบด้วยประสบการณ์ สืบสาวไปเรื่อยๆ จะไม่อ้างถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆที่อยู่นอกเหนือประสบการณ์และการทดลอง พระพุทธองค์ก็ทรงเริ่มคิดจากประสบการณ์ คือประสบการณ์ที่พระองค์ได้เห็นด้วยพระองค์เอง คือเห็นความแก่ตลอด ๒๙ ปีไม่เคยเห็นคนแก่ ไม่เห็นคนเจ็บ ไม่เห็นคนตาย พอเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายและที่สำคัญที่สุดคือความทุกข์ พระองค์มีจุดประสงค์ ทำไมถึงสละบ้าน สละเรือน สละลูก สละเมียที่เป็นสุดที่รักออกบวช ก็เพื่อที่จะเอากายเอาใจของพระองค์เป็นอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ในการทดลอง ที่จะค้นหาสาเหตุของทุกข์ เพราะอยู่ในวังต่อไปมันหาสาเหตุไม่พบหรอก เพราะมีแต่ความสุข ความสะดวกความสบาย ในการค้นหานี้พระองค์มิได้เชื่ออะไรล่วงหน้าอย่างตายตัว ไม่ทรงเชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้าหรือว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆที่จะให้คำตอบได้ แต่ได้ทรงทดลองโดยอาศัยประสบการณ์ของพระองค์เองดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์มีส่วนหนึ่งที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยในเรื่องนี้คือ วิทยาศาสตร์เน้นความสนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ประสบการณ์ด้านสัมผัส ตา หูจมูก ลิ้น กาย แต่พระพุทธศาสนาเน้นความสนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากประสบ การณ์ทางจิตใจ เพราะวิทยาศาสตร์เขาเอาแค่ทวารห้า เอาแค่ sense ทั้งห้า sense จากการเห็น จากการฟัง จากการได้กิน จากการลิ้มรส จากการถูกต้องสัมผัส เพราะมันเห็น มันจับต้อง มันมองเห็นมองดูได้ แต่เรื่องจิตเรื่องใจมันมองไม่เห็น มันทดลองไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าเอา sense ที่หก เอาทวารหกคือเรื่องจิตใจ
ทีนี้ ความแตกต่างกัน มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ต้องการรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุ อะไรเป็นผลที่ตามมา เช่น เมื่อเกิดฟ้าผ่าขึ้น ต้องรู้ว่าอะไรคือสาเหตุของฟ้าผ่าและผลที่ตามมาหลังจากฟ้าผ่าแล้วจะเป็นอย่างไร พระพุทธศาสนาก็มุ่งเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆเช่นเดียวกัน แต่ต่างตรงที่พระพุทธศาสนาเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์มากกว่ากฎเกี่ยวกับสิ่งที่ไร้จุดหมาย ไร้ชีวิต จุดหมายปลายทางของพุทธศาสนาคือสอนให้คนเป็นคนดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น
วิทยาศาสตร์ลงทุนไปนับไม่ถ้วนกับการค้นหาความลับของจักรวาล ดูดวงเดือน ดูดวงดาว ส่งยานอวกาศออกนอกโลกออกไปถึงดวงจันทร์ ไปถึงดวงดาวต่างๆ ต้องการจะรู้ทางช้างเผือกเป็นอย่างไร หลุมดำเป็นอย่างไร ปรากฏการณ์ต่างๆเป็นอย่างไร แต่เรื่องเหล่านี้พระพุทธเจ้ามีใครมาถาม พระพุทธองค์จะไม่ตอบหรือตอบก็ตอบเพียงสั้นๆ เพราะพระองค์ทรงเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องของความดับทุกข์ ถึงจะรู้ไป จะรู้มากแค่ไหน จะรู้จนตัวตาย สุดท้ายกิเลสมันก็ยังเท่าเดิม มันไม่ได้หมดไป เพราะฉะนั้น จึงมุ่งเกี่ยวกับเรื่องจิตเรื่องใจ
ปรากฏการณ์ต่างๆต้องมาทดลอง ต้องมามองดู ต้องมาโฟกัสที่จิตที่ใจ วิทยาศาสตร์ต้องการเรียนรู้กฏธรรมชาติ หาทางควบคุมธรรมชาติ เอาชนะธรรมชาติ หรือพูดอีกนัยนึงก็คือว่าวิทยาศาสตร์เน้นการควบคุมธรรมชาติภายนอกอย่างที่เราเห็นๆกัน แต่พระพุทธเจ้าสอนให้คนควบคุมภายในจิตใจของตัวเอง ลำดับแต่ความสามารถที่ควบคุมธรรมชาติได้ ไม่อาจทำให้ความสงบสุขเกิดขึ้นในโลกมนุษย์ มนุษย์ต้องรู้จักควบคุมตัวเองให้มีจิตใจที่ดีงาม ความสุขสงบเย็นจึงจะเกิดขึ้น ดังคำที่บอกว่าโลกภายนอกมิได้วุ่นวายแต่ใจคนต่างหากที่มันวุ่นวาย จะไปแก้ภายนอกจะไปควบคุมโลกภายนอก มันแก้ไม่ได้ ต้องมาควบคุม ต้องมาแก้จิตแก้ใจ ดัดให้มันตรง วิทยาศาสตร์มุ่งปรับธรรมชาติแต่พุทธศาสนามุ่งปรับจิตใจคน วิทยาศาสตร์ยอมรับโลกแห่งสสารที่รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าว่ามีจริง โลกที่อยู่พ้นจากนั้นวิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับ ซึ่งความจริงวิทยาศาสตร์มิได้ปฏิเสธเพียงแต่ยังไม่ยอมรับเพราะมันพิสูจน์ไม่ได้ เพราะวิทยาศาสตร์เชื่อว่าประสาทสัมผัสเป็นเครื่องมือสุดท้ายที่จะตัดสินความจริง ส่วนพระพุทธศาสนา พระองค์พระพุทธเจ้าทรงสอนชี้ว่ามีสัจธรรมสูงสุดคือพระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะที่ประสาทสัมผัสของมนุษย์ปุถุชนที่หนาแน่นเต็มไปด้วยกิเลสตัณหาไม่สามารถจะรับรู้ได้ สิ่งที่มีอยู่จริงสองพวกใหญ่ๆก็คือว่าสังขตธรรมแล้วก็อสังขตธรรม สิ่งที่มันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งกับสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้คือพระนิพพาน วิทยาศาสตร์ยอมรับสิ่งที่มันปรุงแต่ง สิ่งที่มันมองเห็น สิ่งที่มันคิดที่เป็นสังขตะ ส่วนอสังขตะที่มันมิได้มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง อยู่เหนือการรับรู้ของวิทยาศาสตร์
สัจธรรมในพระพุทธศาสนามีทั้งที่สามารถแสดงให้ประจักษ์และไม่สามารถแสดงประจักษ์ แต่แสดงโดยการประจักษ์แก่ใจตนเองได้ นั่นก็คือว่ามีทั้งที่เราสามารถรับรู้ด้วยตาและรับรู้ด้วยใจ ความจริงระดับต้นๆ ระดับกลาง ใครอาจจะเข้าใจและเห็นความจริงได้ เช่น คนที่โลภมากๆ โกรธมากๆ อิจฉาริษยาเขามากๆ ไม่มีความสงบสุขแห่งจิตใจได้อย่างไร แต่คนที่มีเมตตา ไม่ปรารถนาร้ายต่อใครๆ มีความสุข ไม่มีเวร ไม่มีภัยอย่างไรบ้าง อันนี้เราสามารถสัมผัสความจริงเหล่านี้ สามารถแสดงให้ประจักษ์ได้ ชี้ให้ดูตัวอย่างได้ ยกอุปมาให้ฟังได้ ส่วนสภาวะอันสูงสุดมันยากจะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจ เป็นสภาวะที่ผู้รู้เองเห็นเองพึงประจักษ์เฉพาะตัว ที่เป็นปัจจัตตังเวทิตัพโพวิญญูหิ เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน
วิทยาศาสตร์มิได้สนใจเรื่องศีลเรื่องธรรม เรื่องความดีความชั่ว เขาสนใจแต่ค้นเอาความจริงมาตีแผ่ให้ประจักษ์เพียงอย่างเดียว เช่น วิทยาศาสตร์ค้นพบเรื่องระเบิดแต่ควรระเบิดอะไร ไม่ควรระเบิดอะไร ไม่อยู่ในขอบข่ายวิทยาศาสตร์ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์จึงมีทั้งคุณอนันต์ แล้วก็โทษมหันต์ อย่างที่ผ่านๆมา ที่เกิดสงครามโลกครั้งที่สองก็มาจากวิทยาศาสตร์นี่แหละ เป็นยุคที่วิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาเลย
ส่วนคำสอนของพระพุทธเจ้าเน้นเรื่องศีลเรื่องธรรม ความดีความชั่ว มุ่งให้มนุษย์มีความสุขเป็นลำดับชั้นไป จนถึงความสุขสงบอันสูงสุดคือพระนิพพาน มนุษย์เราทุกวันนี้บางทีกำลังงมงายในเหตุผล งมงายในเหตุผลที่มาพร้อมกับวิทยาศาสตร์และตรรกะศาสตร์ ตรรกะศาสตร์ก็คือการตรึกนึกคิด คาดคะเน วิเคราะห์ วิจัย ค้นคว้าพวกนี้ ซึ่งมันน่ากลัวยิ่งกว่าการงมงายในไสยศาสตร์เสียอีก ไสยศาสตร์มันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของคนมีปัญญาน้อยก็คือคนโง่ แต่ว่าไอ้ความงมงายในเหตุในผลในวิทยาศาสตร์ที่บอกว่าอะไรมองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ไม่เชื่อ พวกนี้น่ากลัว ฉลาดแต่น่ากลัวคือไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ไม่รู้จักดีจักชั่ว ไม่รู้กฎแห่งกรรม คิดแต่ว่าตัวเองเกิดมาชาติเดียวตายหนเดียว อยากทำอะไรก็ทำไป ความงมงายในเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์มันน่ากลัวกว่าไสยศาสตร์ หลักการสำคัญในพระพุทธศาสนามันเลยเวทนาหกไปเสียอีก เป็นหลักสำคัญของปฏิจจสมุปบาท
ปฏิจจสมุปบาทคือวิทยาศาสตร์ในพระพุทธศาสนา สอนเรื่องเหตุเรื่องผล เมื่อมีอายตนะคือมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ต้องมีผัสสะ มีการกระทบ เมื่อมีการกระทบ การมอง การเห็น การได้ยินได้ฟังแล้ว มันมีความรู้สึกมีเวทนา มีฟิลลิ่ง พอความรู้สึกเกิดขึ้น ยินดียินร้าย มันอยากนะ เมื่อยินดีมันอยากให้มันอยู่ในใจตลอดไป อยากกับอันนั้นกับสิ่งนั้นกับคนนั้น พอไม่ชอบมันก็ไม่อยาก นี่คือตัวตัณหา พอตัณหาปุ๊ป พอมันอยากแล้วมันยึดๆ ยึดว่าเราชอบของเรา คนนี้ของเรา อันนี้ของเรา ตรงนั้นตรงนี้ของเรา ไอ้อุปาทานการยึดติดนี่แหละ ยึดติดตรงนี้มันเลยก่อกระบวนการให้เกิดทุกข์ต่อไป วิทยาศาสตร์พิสูจน์ตรงนี้ไม่ได้ แต่พระ พุทธเจ้าเอาความจริงตรงนี้มาบอกมาสอนสภาวะจนให้ถึงที่สุดแห่งความดับทุกข์ หลวงพ่อชาท่านใช้คำว่านอกเหตุเหนือผล นอกเหตุเหนือผล ฝรั่งอาจจะเรียกว่า transcendental หรืออะไรก็แล้วแต่ หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุก็บอกว่าจงหลุดพ้นเสียจากการหลุดพ้น ลึกในลึก จงหลุดพ้นเสียจากการหลุดพ้น คืออย่าไปยึด อย่าไปติด ไม่มีอะไรน่าเอาทั้งนั้น จะเป็นอะไรมันก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอย่าเป็นอะไรเลย การที่ไม่เป็นอะไรเลยมันจึงมีความสุข หลวงพ่อพุทธทาสบอกว่าการที่คนเราไม่มีอะไรเสียเลย เวลานั้นเป็นเวลาที่มีความสุขที่สุด เพราะมันไม่ยืด จิตมันว่าง จิตมันเบา จิตมันสบาย
หลวงพ่อสมเด็จโตวัดระฆังสอนนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่๔ ที่ ๕ ท่านสอนแบบปริศนาธรรม เขาบอกว่าเขามาถามหลวงปู่เจ้าคุณสมเด็จโตว่าโลกของเรานี่อายุมากแค่ไหน? ท่านก็บอกว่าโลกเรานี้มีอายุเท่ากับอาตมานี่แหละ ฟังแล้วอาจจะงง คำว่าโลกนี่ เพราะมันมีตั้งสามอย่าง โลกคือดินฟ้าอากาศโลกก็คือหมู่สัตว์และโลกคือความคิด ท่านมุ่งถึงโลกคือชีวิตจิตใจ ท่านก็บอกว่าโลกก็มีอายุเท่ากับอาตมานี่แหละ ฝรั่งถามว่าใจกลางของโลกอยู่ตรงไหน? ท่านลงไปตรงหน้าพระอุโบสถ เอาไม้ตะพดของท่านปักลง ท่านก็บอกว่านี่แหละใจกลางของโลก ถูกต้องตามนั้นเพราะว่าโลกทรงกลม จะอยู่จุดไหนก็คือใจกลางของโลกทั้งนั้น เพราะโลกไม่ได้เป็นมุมเหลี่ยม โลกเป็นทรงกลม
หลวงพ่อชาสอนอีกจุดนะว่าคนเราคิดเท่าไหร่ ๆ มันก็ไม่รู้ เมื่อหยุดคิดจึงจะได้รู้ จิตคิดจิตไม่รู้ จิตที่รู้จะเป็นจิตที่ไม่คิด ยิ่งคิดมันยิ่งไม่รู้ ยิ่งอยากรู้มันก็ยิ่งไม่หยุดคิด แต่เมื่อหยุดคิดจิตมันจึงจะได้รู้ แตกต่างจากคำสอนของนักวิทยาศาสตร์นักวิทยาศาสตร์ก็จะสอนว่าจงคิด ๆ ๆ แล้วท่านจะรู้
สภาวะแห่งการประพฤติการปฏิบัติธรรม แห่งความสุขความดับทุกข์ มันไม่อาจจะคิดเอาได้ เพราะถ้าเช่นนั้นคนที่ genius ที่ IQ สูงๆ คงตรัสรู้กันหมดแล้วเพราะว่าคิดเอา แต่ในขณะเดียวกัน พวกโง่ปานบัวเหล่าที่สี่ก็คงยากที่จะบรรลุธรรมได้ หลวงพ่อพุทธทาสเคยพูดว่าพวกฝรั่งมันฉลาดมาก คิดค้นอะไรในเชิงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีได้มากมายอย่างเหลือเชื่อ ถ้าพวกเขาจะอุทิศเวลามาศึกษาวิทยาศาสตร์ทางจิตใจ คือพุทธธรรมกันมากๆคงจะได้บรรลุธรรมกันมาก หลายทีเดียว Albert Einstein เขาก็เลยบอกว่าศาสนาที่จะยอมรับกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้ ให้เหตุผลให้คำตอบกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้ ศาสนานั้นต้องเป็นศาสนาแห่งจักรวาล ไอน์สไตน์เป็นชาวยิว เป็นคริสต์ เขาไม่ได้พูดโดยตรงแต่เขาใช้คำว่าศาสนาแห่งจักรวาล นั่นก็คือศาสนาพุทธนั่นเอง ที่เมื่อถึงจุดที่สุดแห่งการบรรลุธรรม มันคือเข้าถึงอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติและจักรวาล ไม่มีอะไรสงสัยอีกต่อไป แต่นั่นแหละ ท่านก็บอกว่าจะไปสอนให้แมลงวันมันเลิกตอมอาจมแล้วหันมาดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ มันคงยากอยู่ เพราะติดสุขติดสบาย ติดวัตถุ ถือเงินเป็นพระเจ้า ถือแต่วิทยาศาสตร์ภายนอก งมงายในเหตุผลอะไรที่มันมองไม่เห็น ที่สัมผัสจับต้องไม่ได้ก็คิดว่ามันไม่มี ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าท่านบอกท่านสั่งสอนนี้มันดีนะ มันเป็นการกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์เราอย่าได้เข้าใจผิดว่าได้ทำตามอารมณ์มันจะมีความสุข ถ้าทำตามอารมณ์ นั่นแหละมันคือการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อพระพุทธเจ้าท่านบอกท่านสอนเราว่ามีแต่ทุกข์ที่เกิดขึ้น มีแต่ทุกข์ที่ตั้งอยู่ มีแต่ทุกข์ที่ดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดนอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ เราก็ต้องฟัง พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่รู้จักเข็ดรู้จักหลาบ เป็นผู้ที่รู้จักเจ็บแล้วก็ให้รู้จักจำ อย่าได้ทำตามอารมณ์ทำตามความอยากไปอีก เราเป็นนักวิทยาศาสตร์ภายนอกมันก็ดี แต่ว่ามันจะไม่ดียิ่งเท่ากับที่เราเป็นนักวิทยา ศาสตร์ภายในโดยเฉพาะเรื่องจิตเรื่องใจ พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาเน้นเข้าหาตัว เองเพื่อที่จะได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ภายในที่จะแก้ไขตัวเอง มันถึงจะเป็นการกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์คือพระนิพพานได้
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาทุกท่าน ให้เป็นผู้ปราศจากสัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆอย่าได้มาพ้องพาน เจริญยิ่งยืนนานด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติด้วยกันทุกท่านเทอญ