แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๓๐ จิตที่ปลอดโปร่งเกษมจากโยคะ คือ เกลียวเชือกกิเลสที่ร้อยรัด
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระมหาเถระ พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจจงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคลวันนี้ก็เป็นวันสุดท้าย มงคลข้อที่ ๓๘ “เขมํ ” จิตที่หลุดพ้น จิตที่เกษม ยอดสุดของมงคลชีวิต
พระพุทธองค์ตรัสว่า เขมํ แปลว่าจิตเกษม หมายถึงว่า ผู้ที่ดำเนินตามปฏิปทาแห่งมงคลในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงค้นคว้า ค้นคว้าในการสร้างบารมี ใช้ชีวิตและจิตวิญญาณในการอุทิศชีวิตสร้างบารมี ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป กว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะเรื่องของมงคลที่เป็นที่ถกเถียงกันว่าอะไรเป็นมงคลของโลก คนที่ชอบดูก็จะเอาพวกสีเอาพวกแสง เอาพวกสิ่งที่เห็นเป็นมงคล เช่น สีเขียวเป็นมงคล สีขาวเป็นมงคล สีแดงเป็นมงคล สีดำเป็นมงคล บางทีรถสีเขียวก็ยังบอกว่ารถคันนี้สีขาว ก็คือติดสี เอาสิ่งที่เห็นเป็นมงคล บางกลุ่มที่ชอบฟังก็บอกเน้นเอาเสียง เช่นคำว่าเสียงตูม มันจะดังตูมตาม เวลาทำอะไรก็ได้ต้องมีใบมะตูม มีใบมะตูมเข้ามาเป็นของมงคล เพื่อที่จะให้มงคล บางทีชอบดมกลิ่น ชอบของอร่อย ชอบถูกต้องสัมผัส ก็เอาวัตถุสิ่งของเหล่านั้นเหล่านี้เป็นมงคล จึงมีวัตถุมงคลต่างๆ บูชาภูเขา บูชาต้นไม้ ต้นไม้นี้ชื่อมันก็สมมุติมาทีหลังว่า ต้นมะขาม ต้นมะยม ต้นพยุง แต่ว่าคนที่ไปติดสมมุติก็เลยบอกว่า ถ้าปลูกต้นพยุงมันน่าจะพยุงชีวิตเรา ปลูกต้นมะขามมันน่าจะเกรงขาม ปลูกต้นมะยมเดี๋ยวจะมีคนนิยม ต้นรัก ยิ่งกาฝากรักแล้วจะเป็นเสน่ห์ เป็นแต่เพียงความยึดติด แล้วก็สมมุติทั้งนั้นแหละ ต้นไม้ ตัวของมันเองมันยังไม่รู้เลยว่า มันชื่อต้นมะขาม มันชื่อต้นมะยม มันชื่อต้นมะตูม มีแต่คนไปยึดไปติดไปหลง แล้วก็เอาจิตไปผูกพันกับมัน หลงบูชาว่ามันเป็นมงคล มีมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว ที่ต้องการจะหาความสุขความดับทุกข์ หาสิ่งที่เป็นมงคล ก็เลยไปบูชาภูเขาบ้าง บูชาต้นไม้ บูชาพระจันทร์ บูชาพระอาทิตย์ บูชาไฟ บูชาจอมปลวก บูชาสารพัดที่คิดว่าจะบูชาได้ แล้วก็ขอ ขอมงคล แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งเหล่านั้นยังมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
จะเอามาหยิบ เอามาจับ เอามาต้อง เอามาเป็นที่พึ่งอะไรไม่ได้เลย
ความเป็นมงคลนี้เถียงกันมาถึง ๑๒ ปี เถียงกันอยู่ถึง ๑๒ ปี ส่วนใหญ่ก็คือนักคิด นักปราชญ์ทั้งหลายนี้แหละที่ถกเถียงกัน หาข้อสรุปไม่ได้ แบ่งกันเป็น ๓ พวกในสมัยนั้น เหมือนสามก๊ก ก๊กหนึ่งก็เอาสิ่งที่เห็นเป็นมงคล อีกก๊กหนึ่งเอาสิ่งที่ฟังเป็นมงคล อีกก๊กหนึ่งเอาสิ่งที่จับต้องสัมผัส วัตถุสิ่งของ พวกนี้เป็นมงคล แตกกันออกเป็น ๓ พวก เทวดาที่ไม่รู้ ส่วนใหญ่ก็ไม่รู้แหละเพราะว่าไม่เคยมีใครมาบอกว่าอะไรเป็นมงคล ก็เห็นคล้อยตามพวกมนุษย์ ก็แบ่งกันเป็นพวกเป็นเหล่า จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร ท้าวสักกะเทวราชที่เป็นพระอินทร์เลยส่งเทพบุตรท่านหนึ่งเป็นตัวแทนเพื่อที่จะมาทูลถามมงคล
มงคลนี้เป็นเรื่องใหญ่ของชาวโลก เป็นหนึ่งใน ๕ โกลาหล คำว่าโกลาหลก็คือว่าสิ่งที่ถกเถียงกัน เป็นเรื่องใหญ่ ประกาศกึกก้องกันทั่วไป
อย่างแรก ๑. กัปปโกลาหล จะมีเหล่าเทวดามาประกาศบอกว่าอีกแสนปีข้างหน้า โลกจะพินาศ โลกจะแตก คือกัปจะพินาศ ให้รีบเร่งทำความดี เพื่อที่จะไปเกิดในภพภูมิที่สูงกว่านี้ อันนี้คืออย่างแรก
๒. พุทธโกลาหล จะมาป่าวประกาศว่า อีก ๑,๐๐๐ ปีข้างหน้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะมาเสด็จอุบัติในโลก ให้สร้างบารมี สร้างความดี บำเพ็ญเพียรเพื่อที่จะได้เกิดมาพบกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๓. จักวัดติโกลาหล จะมีผู้มาป่าวประกาศว่าอีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า พระเจ้าจักรพรรดิจะมาอุบัติในโลก พระเจ้าจักรพรรดิก็คือ เหมือนกับเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ที่ปกครองโลกหรือว่าครึ่งโลกหรือว่า ๑ ใน ๓ ของโลก อย่างเช่น พระเจ้าอโศกมหาราช
๔. มงคลโกลาหล เหล่าเทพเทวดาจะมาประกาศว่า อีก ๑๒ ปีข้างหน้า จะมีผู้รู้มงคล บอกมงคล
๕. โมเนยยโกลาหล จะป่าวประกาศว่า อีก ๗ ปีข้างหน้าจะมีผู้ที่ปฏิบัติโมเนยยปฏิปทา ซึ่งเรื่องเหตุเกิดขึ้นของมงคลก็ได้กล่าวไว้ในตอนแรกๆ
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เพราะคนส่วนใหญ่ต้องการมงคล ต้องการความโชคดี ต้องการความสุข ต้องการความสวัสดี แต่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นมงคลจริง ๆ จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสบอก ตรัสบอกถึงมงคลกับเทวดาและมนุษย์ผู้ต้องการมงคล ซึ่งก็ได้แสดงมาเป็นเวลา ๑ เดือน ๓๐ ตอนวันนี้พอดี ทั้งหมด ๓๘ ข้อ เริ่มต้นจากการไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต จนกระทั่งพัฒนาจิตให้สูงขึ้นโดยลำดับ ละเอียดขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งมาถึงข้อสุดท้ายก็คือว่า จิตที่เกษมเป็นจุดยอดสุด นั่นก็คือจิตที่เกษม คำว่าเกษมแปลว่าปลอดภัย พ้นจากภัยทั้งปวงโดยสิ้นเชิง ผู้ที่ถูกคุมขังเมื่อได้รับอิสรภาพ หลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการแล้วย่อมมีอิสรเสรีมีความสุขกายสุขใจฉันใด ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลายทั้งปวงแล้ว ย่อมมีจิตเกษมฉันนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในพันธนสูตรว่า นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวว่าเครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยโซ่ตรวน ทำด้วยหญ้า ทำด้วยขื่อ ทำด้วยแป ทำด้วยไม้นี้ ว่ามันเป็นเครื่องจองจำที่มันแข็งแรงมั่นคงเลย แต่ท่านทั้งหลายกล่าวว่า ความรักใคร่ ความที่เอาจิตไปรักไปใคร่ในทรัพย์สมบัติพัสถาน ความห่วงหาอาลัยในบุตรในภรรยาทั้งหลาย ทั้งในคนในสัตว์ในสิ่งของที่เอาจิตไปผูกเป็นความรักใคร่ขึ้นมา นั่นแหละเป็นเครื่องจองจำที่มั่นพาให้ตกต่ำ เป็นเครื่องจองจำที่มันผูกหย่อนๆ แต่ว่าแก้ได้ยาก นักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องจองจำเช่นนั้นแล้วหลีกออกจากกาม บางท่านก็บวช บางท่านก็ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้ไม่มีความอาลัยเพราะละกามทั้งหลายได้
ชีวิตเราเหมือนถูกจองจำ โดยมีโลกนี้เป็นคุกขนาดใหญ่ ทันทีที่เกิดมาลืมตาดูโลก เราก็ต้องไปผจญกับภัยต่างๆ นานาชนิด ที่พร้อมจะเอาให้ถึงตายอยู่ทุกวินาที เหมือนว่ายน้ำอยู่ท่ามกลางความมืด อยู่กลางทะเลมหาโหด ภัยทั้งหลายเหล่านี้ แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทก็คือว่า ภัยภายในกับภายนอก
ภัยภายใน พอเราเกิดมาก็มีภัยชนิดนี้มาคอยดักรุมล้อมรอบตัวเราอยู่ตลอดเวลา ข้างหลังคือชาติภัย-ภัยจากการเกิด ข้างขวาชราภัย-ภัยคือความแก่ ข้างซ้ายพยาธิภัย-ภัยคือความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบาย ข้างหน้ามรณภัย-คือภัยจากความตายนี้ ที่เราต้องเจอทุกวันนี้ ชีวิตเดินไปนี้เป็นการก้าวย่างสู่ความตายทุกๆ ขณะ ภัยเหล่านี้มันรุมล้อมเราทั้งซ้ายทั้งขวา ทั้งหน้าทั้งหลัง ทุกด้านเลย ใครๆ ก็หลีกเลี่ยงไปไม่ได้
ภัยภายนอก มีอยู่นับไม่ถ้วน เช่น ภัยจากคน ผัวร้ายเมียเลว ลูกชั่ว เพื่อนไม่ดี คนพาลคนเกเร นับไม่ถ้วน ภัยจากธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฟ้าผ่า พายุทอร์นาโด พายุดีเปรสชั่น เป็นต้น แล้วก็ภัยจากบาปจากกรรมที่มันตามมาทัน ถูกล้างผลาญทุกรูปแบบ เคยเบียดเบียนสัตว์ก็ทำให้ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยพิกลพิการ เคยโกหกไว้มากก็ทำให้ความจำเลอะเลือน เคยนินทาว่าร้ายใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นมากก็ต้องทำให้ได้รับอย่างนั้นเหมือนกัน ถูกใส่ร้ายป้ายสี ไปลักไปขโมย ไปโกงของเขา พอถูกจับได้ก็ถูกขังคุก ลงโทษ สารพัดสารเพมากมายอยู่ในโลกที่มาจากบาปกรรมเก่านี้
ตามธรรมดาจิตของเราปุถุชน เป็นจิตที่อยู่ในวงล้อมของอันตรายร้อยแปดพันประการ เพียงแต่เกิดมาเป็นคนเท่านั้นก็มีภัยใหญ่ดักหน้าดักหลัง ขนาบข้าง คือความแก่ ความเจ็บ ความตายพวกนี้ นอกนั้นก็ยังมีภัยเล็กภัยน้อยสารพัดที่จะประสบ แต่บุคคลผู้ดำเนินตามมรรควิธี คือมรรคมีองค์ ๘ ทางที่พระพุทธเจ้าทรงปูไว้ให้แล้วนี้ ย่อมพ้นย่อมเป็นผู้เกษมจากโยคะ การที่เราต้องตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของภัยทั้งหลาย ดิ้นกันไม่หลุด เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ก็ยังต้องรับทุกข์รับภัยกันอยู่ไม่รู้กี่แสนกี่ล้าน ๆ อย่าง
กี่ล้าน ๆ ชาติมาแล้วนี้ ทั้งนี้ เพราะว่าถูกผูกอยู่ด้วยโยคะ
โยคะไม่ใช่การออกกำลังกาย ยืดเส้นยืดสาย แต่โยคะในภาษาบาลี ความหมายของพระพุทธเจ้าหมายถึง กิเลสที่มันผูกสัตว์เอาไว้ในภพในชาติ มีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน
๑. กามโยคะ ความยินดีพอใจในกามคุณ อยากเห็นของสวย ๆ หล่อ ๆ อยากฟังเพลงไพเราะ ๆ อยากได้สวมเสื้อผ้าสวย ๆ นุ่มนวล สวมสบาย อยากเห็นรูปงาม ๆ สัมผัสที่นุ่มนวล ดมหอม ๆ ได้แฟนสวย ๆ มีสมบัติเยอะ ๆ ความใคร่ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเหมือนกับเชือกเกลียวแรกที่มันผูกมัดตัวเราเอาไว้ให้สัตว์โลกติดอยู่ ข้องอยู่ หลงอยู่ พ้นไปไม่ได้ นี่แหละมันคือเหยื่อของโลก “อย่าหลงเหยื่อเชื่ออยากจะยากจิต อย่าหลงติดรสเหยื่อ เชื่อตัณหา อย่าหลงกินหลงนอนสิ้นเวลา อย่าหลงว่าชีวิตเราจะยาวนาน” พวกกามคุณเหล่านี้มันคือค่าจ้าง หลวงพ่อท่านจะบอกตลอดเลยว่าคนเราถ้าไปติด ไปยึด ไปหลงในกามคุณ ๕ ไปหลงใหลใฝ่ฝันมันนี่ไม่ต่างอะไรกับคนที่รับจ้างมาเกิด พอเกิดแล้วก็มีพวกกามคุณเหล่านี้ รูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่นหอม อาหารอร่อย ถูกต้องสัมผัสนิ่มนวลเป็นค่าจ้าง พอเป็นค่าจ้างอย่างเดียวด้วยนะ มันต้องทำงาน ทำงานอย่างไร ดิ้นรนไขว่คว้า แสวงหา แล้วก็ได้ค่าจ้างไปวันๆ แล้วก็ตาย เกิดมาก็มาทำอย่างนี้อีก มาเกิดใหม่อีก ก็มาหลงใหลใฝ่ฝันในกามคุณเหมือนเดิม จึงเป็นคนรับจ้างมาเกิด โดยมีของเหล่านี้เป็นค่าจ้าง แล้วก็พ้นไปไม่ได้
๒. ภวะโยคะ ความยินดีพอใจในรูปฌาน อรูปฌาน ที่มันเป็นอนุสัย เป็นสังโยชน์อย่างละเอียดนี้ คนที่พ้นเชือกเกลียวแรก พ้นกามได้ก็มาเจอเชือกเกลียวที่ ๒ นี้ คือเมื่อได้เจอความสุข ความสุขที่มันสูงกว่ากามสุขนี้ มันยังมีความสุขที่มันสูงกว่านั้นมาก ความสุขในกามเหมือนเนื้อที่มันติดฟัน มันไม่ได้อร่อย มันไม่อิ่มด้วย นิดเดียว ก็เหมือนกับวัวมันเคี้ยวเอื้อง มันก็ไม่อร่อย หรือเหมือนกับสุนัขแทะกระดูก เนื้อมันก็ไม่มี แต่มันได้แค่ความเค็ม ความมันแค่นั้น กามสุขมันนิดเดียวแต่มันทุกข์มาก สุขที่มันสูงกว่านั้นคือสมาธิสุขกับฌานสุข ฌานสุข-สมาธิสุขเหล่านี้ เกิดจากกำลังของสมาธิ กำลังของฌาน เป็นเชือกเกลียวที่ ๒ ยินดีพอใจในรูปฌาน-อรูปฌาน แล้วก็ติดอยู่ในนั้น ตายไปเกิดเป็นพรหม เป็นรูปพรหม-อรูปพรหม ซึ่งก็ยังไม่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
หมดบุญก็ต้องลงมาเจอภัยในวัฏสงสารอีกต่อไป เหมือนเชือกเกลียวที่ ๒ ที่มันผูกเอาไว้
๓. ทิฏฐิโยคะ คือความยึดถือ ความคิดเห็นที่มันผิด ๆ ของตนเอง เช่น เห็นว่าบุญบาปไม่มี กรรมดีกรรมชั่วไม่มี พ่อแม่ไม่มีพระคุณต่อตนเอง โลกนี้โลกหน้าไม่มีจริง เห็นว่าตนเองจะพ้นทุกข์ได้นี้ด้วยการบวงสรวงอ้อนวอน เซ่นไหว้ บูชา เป็นความเห็นผิดที่หลงทำกันอยู่ ใจยังมืดอยู่ ยังไปหลงยึดความเห็นผิด ๆ อยู่ เชือกเกลียวนี้มันประกอบจิตของสัตว์โลกทั้งหลายให้ยินดีอยู่ในทิฏฐิ คือความเห็น เห็นผิด เห็นผิดจากความถูกต้อง เห็นผิดกับของที่จริงที่แท้จริง อย่างเช่นว่า สัสสตทิฏฐิ เห็นว่าโลกเที่ยง เกิดมาแล้วมันเที่ยงแท้แน่นอนไม่แปรผัน เคยเป็นมาอย่างไรก็จะเป็นไปอย่างนั้น คือเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว เมื่อตายไปก็ยังต้องเป็นมนุษย์อีก เกิดเป็นเทพก็ต้องเป็นเทพอีก นี่คิดว่าโลกเที่ยง ซึ่งศาสนาพราหมณ์บางกลุ่มก็สอนกันแบบนี้ โดยเฉพาะเอาเรื่องชนชั้นวรรณะมากำกับ เกิดเป็นกษัตริย์ ยินดีในความเป็นกษัตริย์ ชนชั้นสูงไม่เท่าไร แต่ว่าเกิดเป็นคนชั้นต่ำก็ยินดีอยู่อย่างนั้น เป็นคนวรรณะศูทร เป็นคนวรรณะจัณฑาล ก็ก้มหน้ารับกรรมยินดีพอใจในความเป็นเช่นนั้น ไม่กล้าฝ่าฝืนที่จะพัฒนาตนให้สูงขึ้นมา เพราะเกรงว่าพระเจ้าจะลงโทษ แล้วก็คิดว่า เกิดมาเป็นมนุษย์อาจจะเป็นมนุษย์อีก หรือท้ายที่สุดไปอยู่กับพระพรหมอย่างนี้ นี่คือกลุ่มที่เห็นว่าโลกเที่ยง อีกกลุ่มหนึ่ง เห็นว่าตายแล้วสูญ อุจเฉททิฏฐิ สูญโดยประการทั้งปวง กลุ่มนี้จะไม่เชื่อบุญเชื่อบาป ทำตามใจ ตามอารมณ์ ทำตามความคิด อยากดื่มเหล้ากินเบียร์ก็กิน อยากเสพยาเสพติดก็เสพ อยากผิดลูกผิดเมียเจ้าชู้ก็ทำ อยากทำอะไรสารพัด ทำไปหมดเพราะคิดว่าบาปไม่มีบุญไม่มี เกิดมาชาติ เดียวตายหนเดียว กลุ่มที่ไม่มีศาสนาจะเป็นกันอย่างนี้ แล้วก็เป็นอย่างนี้มาตั้งพัน ๆ ปีแล้ว ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ อนาคตก็จะยังมีอยู่ กลุ่มที่มีความเห็นแบบนี้จะไม่เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป ไม่สนใจเรื่องศาสนา ทั้งที่ธรรมชาติมันก็ทำหน้าที่ของมัน
เกิด แก่ เจ็บ ตาย เรื่องบุญเรื่องบาปมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่กฎของศาสนาพุทธ แต่มันคือกฎของธรรมชาติ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม จะเชื่อไม่เชื่อ เชื้อชาติศาสนาไหนก็เหมือนกัน ไม่ได้ต่างกันเลย ลองคิดดูสิว่า ลมหายใจก็ลมหายใจเดียวกัน โลกที่อยู่ก็โลกเดียวกัน สวรรค์ก็สวรรค์เดียวกัน นรกก็นรกเดียวกัน เพียงแต่ความสามารถของศาสดาจะเอามาถ่ายทอดได้มากแค่ไหน อย่างเช่น ทุกศาสนาสอนเรื่องเทพ ติดต่อกับเทพได้ ศาสนาเต๋าก็บอกว่ามหาเทพผู้เป็นใหญ่คือเง็กเซียนฮ่องเต้ กรีกโรมันก็บอกว่ามหาเทพซุส มหาเทพจูปีเตอร์ที่อยู่บนเทือกเขาโอลิมปัสใหญ่สุด ทางฝั่งฮินดูก็มีพระอินทร์ พุทธก็มีพระอินทร์ รวมๆ ความแล้วนี้ องค์เดียวกันไหม? เพราะว่ามหาเทพซุสมีอาวุธเป็นสายฟ้า เง็กเซียนฮ่องเต้ เง็กแปลว่าสีเขียว หมายถึงมหาเซียนที่มีร่างกายเหมือนหยกเขียว พระอินทร์ก็ตัวสีเขียว สรุปแล้วองค์เดียวกันนี่นา เพียงแค่เอามาเรียกต่างกัน จะเห็นได้เลยว่า โลกสวรรค์ก็ไม่ได้แบ่งว่า สวรรค์คริสต์เป็นแบบนี้ สวรรค์อิสลามเป็นอย่างนี้ สวรรค์จีนเป็นอย่างนี้ ความจริงมันคืออันเดียวกัน แค่แบ่งเขตแบ่งแดนเฉยๆ เหมือนโลกมนุษย์เรานี่แหละ เพราะฉะนั้นแล้ว คำว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม มันไม่ได้แบ่ง จะเชื่อหรือไม่เชื่อ มันก็ทำหน้าที่ของมัน อย่างพระอาทิตย์ขึ้นมาให้แสงสว่าง แล้วไฟให้ความร้อน คนสองคนนี้เถียงกัน คนหนึ่งเถียงว่าไฟไม่ร้อน อีกคนหนึ่งเถียงว่าไฟมันร้อน พอไปจับแล้วร้อนทั้งคู่ เหมือนกับเหล้า บางคนเชื่อว่าไม่เมา บางคนเชื่อว่าเมา พอไปกินแล้วมันเมาเหมือนกัน เรื่องกรรมดีกรรมชั่วก็เช่นเดียวกันนี้ ต่อให้เชื่อหรือไม่เชื่อ มันก็ทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้น เพราะมันคือกฎธรรมชาติ คือกฎแห่งกรรม ไม่ได้แบ่งแยก คริสต์ทำบาปก็บาปเหมือนกัน อิสลามทำบาป ก็บาปเหมือนกัน ทำดีก็ดีเหมือนกัน เดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ว่าจะเป็นใครเชื้อชาติไหน วรรณะไหน ศาสนาไหน คนป่าคนเขาก็บรรลุธรรมได้พอกัน อย่างเมื่อวานที่ได้ยกถึงท่านเว่ยหล่าง ที่ท่านเป็นคนป่าคนเขา ไม่รู้หนังสือ อ่านหนังสือไม่ออก แต่จิตของท่านใส จิตของท่านสว่าง จิตของท่านตื่นรู้ พอฟังธรรมนิดเดียว อยู่กับครูบาอาจารย์นิดเดียวท่านก็รู้แจ้งมีดวงตาเห็นธรรม
ต่อไปเชือกเกลียวที่ ๔ อวิชชาโยคะ เครื่องประกอบจิตสัตว์ทั้งหลายให้ยินดีอยู่ในอวิชชา ในโมหะ คือความหลงใหลในสังขารทั้งหลาย สังขารที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกำเนิดในภพทั้งสาม ที่ทำให้เกิดรูปเกิดนาม เกิดกายเกิดใจตามยถากรรมที่ทำเอาไว้ อวิชชาความมืดมนเหล่านี้ทำให้ไม่รู้จักทางมนุษย์ ทางสวรรค์ ทางนิพพาน มีอวิชชานี้ เป็นเครื่องกางกั้นปิดบังเอาไว้ ปิดบังอะไร? ปิดบังปัญญา ปิดบังปัญญาของปุถุชนผู้ที่หนาแน่นเต็มไปด้วยกิเลสให้มืดมนอนธการ ไม่รู้เท่าทันสังขาร ไม่รู้เท่าทันกายใจที่มันเกิดดับ นี่คืออวิชชา ตัณหา อุปาทาน อวิชชานี้มันปกปิดมาช้านานอเนกชาตินับไม่ถ้วน ท่านจึงเรียกว่าอวิชชาโยคะ เครื่องประกอบสัตว์ไว้ด้วยอวิชชา ปกปิดในเบื้องหน้าสิ้นกาลนาน นั่นคือความไม่รู้แจ้งในพระสัทธรรม ความสว่างของใจยังไม่พอ ยังไม่เห็นอริยสัจ ๔ ไม่เห็นทางพ้นทุกข์พ้นภัย นี่คือเป็นเชือกเกลียวที่ ๔
ทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นเหมือนเชือกสี่เกลียวที่มันผูกมัดตัวเราเอาไว้กับภพกับชาติ ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไม่รู้จบสิ้น ทำให้ต้องมาพบกับภัยต่าง ๆ ดิ้นกันไม่หลุด โยคะทั้ง ๔ เป็นเสมือนกับเชือก มันผูกสัตว์ให้ติดอยู่ ส่วนพระอริยบุคคล ท่านได้ตัดเชือกแก้เชือกทั้ง ๔ เกลียวนี้ได้หมดสิ้นแล้วตั้งแต่บรรลุธรรม ชั้นพระอนาคามี พระโสดาบัน พระสกทาคามียังแก้เชือกทั้ง ๔ เกลียวนี้ไม่ได้ พระอนาคามีท่านตัดเชือกแก้เชือกเกลียวแรกได้หมด นั่นก็คือกามราคะ ท่านตัดไป แล้วก็ทำเชือกเกลียวที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ให้มันหย่อนๆ ทำให้มันหย่อนขึ้น มันไม่รัด มันไม่ดึงท่านอีกต่อไป พอบรรลุเป็นพระอรหันต์ก็ตัดเชือกอีก ๓ เกลียวจนหมดสิ้น เมื่อท่านได้ทำลายเชือกที่ร้อยรัดไว้ทั้งสิ้น ๔ เกลียว ก็หลุดออกจากวงล้อมของภัยโลกีย์ทุกชนิด ดำรงอยู่ในโลกุตระคือพระนิพพาน อันเป็นบรมสุขเกษมศานต์ จิตเกษม ความเกษมจากโยคะกิเลสที่ร้อยรัดที่เหมือนกับเชือกทั้งสี่เกลียวนี้ก็เกิดขึ้นแก่ใจของท่าน มงคลสุดยอดของชาวพุทธก็คือว่า การตัดเชือกที่มันร้อยรัด ๔ เกลียวนั้นเสีย ตีฝ่าวงล้อมแห่งภัยคือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เข้าสู่โลกุตระภูมิก็คือมรรคผลพระนิพพาน ตามรอยบาทแห่งพระบรมศาสดา
ขออธิบายคำว่าจิตเกษม คำว่า“เกษม” มาจากคำบาลีว่าเขมะ รากศัพท์มาจากคำว่า ขี ขี-ธาตุ ที่แปลว่าสิ้นไป ลง ม-ปัจจัย แปลงอีเป็นเอ เอา มะ มาใส่กัน ก็เป็นเขมมะ พอเป็นภาษาสันสกฤตนี้ ตัว ข-ไข่ จะแปลงเป็น กษ จะเป็น ก-ไก่ ษ-ฤาษี จากคำว่า
“เขมะ” หรือคำว่าเขม พอเป็นสันสกฤตจึงเป็นคำว่า”เกษม” เช่น คำว่าทุ่งนานี้ บาลี คือคำว่า “เขตตะ” พอมาเป็นภาษาสันสกฤตก็เป็น “เกษตร” คำว่า “ขัตติยะ” แปลว่ากษัตริย์ พอเป็นสันสกฤตก็เป็นคำว่า “กษัตริยะ” หรือภาษาไทยก็คือใช้คำว่ากษัตริย์ คำว่า “ขีนะ” ที่แปลว่าสิ้น สันสกฤตใช้คำว่า “เกษียณ” เกษียณอายุราชการ “ขีร” น้ำนม ก็ใช้เหมือนกัน “เกษียร” เพียงแต่ว่าลงท้ายด้วย ร-เรือ เคยได้ยินคำว่าเกษียรสมุทรในทะเลน้ำนม เป็นต้น
คำว่า “เขมะ” หรือคำว่า “เกษม” แปลได้ ๕ ความหมาย
๑. แปลว่าสภาวะที่ไม่มีภัย เมื่อบรรลุถึงสภาวะนั้นแล้วก็จะปลอดภัยจากภัยทั้งปวง ไม่ต้องหวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อสิ่งใด ๆ เพราะภัยไม่มี
๒. สภาวะที่เป็นเหตุสิ้นไปแห่งไฟ คือกามราคะ เป็นต้น เมื่อบรรลุถึงสภาวะนั้นคือพระนิพพานแล้ว ไฟคือราคะ โทสะ โมหะ เป็นอันว่าดับลงอย่างสนิทสิ้นไปอย่างสิ้นเชิง
๓. เป็นที่สิ้นไปแห่งความไม่งาม คือเมื่อบรรลุถึงสภาวะนั้น คือพระนิพพาน จะมีแต่ความดี ความงามความถูกต้อง
๔. สภาวะที่ทำให้ความไม่สบายสิ้นไป เมื่อบรรลุถึงสภาวะนั้นคือพระนิพพานแล้วจะไม่มีความทุกข์ นอกจากทุกข์ตามสภาวะ เช่น ความหิว ความเจ็บป่วย ความแก่ เป็นต้น เพราะถึงแม้กิเลสท่านหมดไป แต่ว่าธาตุขันธ์ร่างกายมันก็ยังทำหน้าที่ของมัน เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา
๕. แปลว่าเป็นที่สิ้นไปแห่งอุปัทวะ คืออันตรายและอุปสรรคนานาประการ เมื่อบรรลุถึงสภาวะนั้นแล้วจะมีแต่ความโปร่งโล่ง ปลอดจากข้อขุ่นเคืองขัดข้องด้วยประการทั้งปวง
สรุปความหมายของคำว่า “เขมะ-เขมัง” คือคำว่าเกษม ก็คือว่า ดีงาม เจริญ ปลอดโปร่ง สบาย ปลอดภัย เป็นอิสระเสรี ไม่มีที่ไหนปลอดภัยถ้าหัวใจยังไม่ปลอดกิเลส ไม่มีที่ไหนปลอดภัยถ้าหัวใจยังไม่ปลอดกิเลส จิตเกษมจึงจะเป็นสภาพจิตที่หมดกิเลสแล้ว โยคะ เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ เชือกทั้ง ๔ เกลียวได้ถูกฟันขาดสะบั้นโดยสิ้นเชิง จิตเป็นอิสรเสรีทำให้คล่องตัว ไม่ติดขัด ไม่อึดอัดอีกต่อไป ไม่มีภัยใด ๆ มาบีบคั้นได้อีก จึงมีความสุขอย่างแท้จริง พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ที่มีจิตเกษมได้อย่างแท้จริงนั้นก็คือ จิตของผู้ที่มีพระนิพพานเป็นอารมณ์อยู่ตลอดเวลา นั่นคือ จิตของพระอรหันต์นั่นเอง จิตของพระอรหันต์นั้น นอกจากจะหมดกิเลสแล้วก็ยังทำให้มีความรู้ ความสามารถพิเศษอีกหลายประการ เช่น วิชชา ๓ อภิญญา ๖ วิชชา ๘ ปฏิสัมภิทา ๔ เป็นต้น
อภิญญา ๖ เราเคยได้ยิน อภิญญา ๕ เกิดมาจากกำลังของสมาธิ กำลังของฌาน แต่ยังไม่ถึง ๖ มันก็ขึ้น ๆ ลง ๆ นี้ เหมือนบางท่าน บางองค์ ตอนสมาธิสูง ๆ ฌานสูง ๆ
มีอภิญญา แต่พอเกิดความโลภ จิตมันเศร้าหมอง ทำให้ฌานเสื่อม เหมือนเครื่องดับ เครื่องดับมันวูบลงเลย แต่ถ้ามีอภิญญา ๖ อยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น ไม่มีทางเสื่อม “อภิญญา” แปลว่าความรู้อันยิ่งยวด เหนือความรู้จากการตรองด้วยหลักเหตุผล เหนือความคิดความจินตนาการ เป็นอจินไตย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า super power คือเป็นกำลังอย่างยิ่งใหญ่
๑. คือ อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ เหาะเหินเดินอากาศ แปลงกายเป็นสิ่งต่าง ๆ ย่อขยายตัวได้ หายตัวได้ เป็นต้น
๒. ทิพยโสต มีหูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตของผู้อื่น รู้ว่าเขากำลังคิดอะไร เป็นต้น
๔. บุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้ ว่าชาติอดีต ชาติที่แล้วก่อนหน้านั้นกี่ชาติ ๆ เกิดเป็นอะไรมา
๕. จุตูปปาตญาณ มีตาทิพย์ รู้อดีต รู้อนาคต
๖. อาสวักขยญาณ นี้สำคัญมาก คือทำกิเลสให้หมดสิ้นไป สิ้นกิเลส สิ้นอาสวะ
๕ ข้อแรกยังเป็นโลกีย์ ขึ้นๆ ลงๆ ตามสภาพจิต ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสรรเสริญยกย่อง แต่มันมีอยู่ แต่พระพุทธองค์ไม่อยากให้พระแสดง จึงห้ามพระแสดงฤทธิ์ แต่ทรงสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์คือคำสอน คำเทศนา การแสดงธรรม
ไม่ได้ทรงสรรเสริญอิทธิปาฏิหาริย์ ถ้าใครแสดงพระพุทธเจ้าปรับอาบัติ ดังนั้นแล้ว
การละกิเลสสิ้นอาสวะจึงสำคัญที่สุด เพราะเป็นเรื่องของจิตของใจ
แล้วก็วิชชา ๓ วิชชา ๓ ก็คือ ย่อเข้ามา ก็เหลือเพียงแค่ความหยั่งรู้พิเศษอันเป็นผลจากการทำสมาธิ ภาวะที่ปัญญาซึ่งเป็นปัญญาสูงสุดจะเข้าถึงธรรมบรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์ได้นี้จะต้องเข้าถึงภาวนามยปัญญานี้เท่านั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสละชีวิต สละเลือด สละเนื้อ สร้างบารมีจนได้ภาวนามยปัญญา บรรลุวิชชา ๓ คืนวันตรัสรู้
ยามแรก ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติของตัวเองได้ไม่มีที่สิ้นสุดว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานี้ มันบอบช้ำมันทุกข์ทรมานขนาดไหน ทำให้เกลียดทำให้กลัว ทำให้เบื่อหน่ายในวัฏสงสาร
ยามที่ ๒ ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ คือตาทิพย์ ระลึกชาติ รู้จุติ รู้อุบัติ รู้อดีต อนาคตของผู้อื่นได้
ยามที่ ๓ สำคัญที่สุด ทรงบรรลุ อาสวักขยญาณ ในปัจฉิมยาม เวลาใกล้สว่าง พระองค์ทำความรู้ให้กิเลสหมดสิ้นไป นั่นคือทำอาสวะให้สิ้นไปนั่นเอง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลายนี้ บางรูปก็มีอภิญญา บางรูปก็ไม่มีอภิญญา บางรูปเพียงแค่สิ้นกิเลสสิ้นอาสวะ แต่ไม่มีอภิญญาก็มี บางท่านสมบูรณ์ก็มี อยู่ที่สิ่งที่เรียกว่าของเก่าคือปุพเพกตปุญญตา สิ่งที่ทำมาไม่เหมือนกันนั่นเอง
ทีนี้ วิชชา ๘ ขยายมาอีก เป็นความรู้แจ้ง ความรู้วิเศษ ๘ อย่าง
๑. วิปัสสนาญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นสังขารโดยไตรลักษณ์ อันนี้อธิบายหลายครั้งนะเรื่องวิปัสสนาญาณ
๒. มโนมยิทธิ ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ ฤทธิ์ทางใจ
๓. อิทธิวิธี ก็คือแสดงฤทธิ์ เหมือนในอภิญญา ๖
๔. ทิพยโสต หูทิพย์
๕. เจโตปริยญาณ
๖. บุพเพนิวาสานุสติญาณ
๗. ทิพยจักษุ
๘. อาสวักขยญาณ
ก็เหมือนอภิญญา ๖ เพียงแค่เพิ่ม ๒ ข้อแรกเข้ามา
ต่อไป ปฏิสัมภิทา ๔ คือความสามารถพิเศษในการสั่งสอนผู้อื่น พระอรหันต์บางรูปบรรลุเป็นพระอรหันต์เฉย ๆ ก็มี บางท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ เป็นต้น ปฏิสัมภิทา คือความสามารถพิเศษในการสั่งสอนในการเผยแผ่ ได้แก่
๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ ในธรรม เห็นข้อธรรมใด ๆ
ก็สามารถอธิบายขยายความออกไปได้โดยพิสดาร
๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรมสามารถสรุปข้อความได้อย่างกระชับ เก็บความสำคัญได้หมด
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ ก็คือแตกฉานในเรื่องของภาษาทุกภาษา ทั้งภาษาของมนุษย์ ภาษาสัตว์ ภาษาเทพ เข้าใจได้
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ มีไหวพริบปฏิภาณดีมาก คือเป็นผู้ฉลาดมาก ฉลาดพิเศษ สามารถอธิบายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ดี ตอบคำถามได้อย่างแจ่มแจ้ง
ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ นี้ เป็นความชาญฉลาด เป็นความสามารถ เป็นความเลิศในการเผยแผ่ ในการสั่งสอนที่เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์นั่นเอง พระพุทธองค์ทรงยกย่องตรงนี้
การปฏิบัติธรรมมีอานิสงส์มากมายถึงปานนี้ เราทุกคนจึงต้องตั้งใจฝึกฝนตนเองตามมงคลต่าง ๆ ที่ได้อธิบายดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ทำอย่างเอาจริงเอาจัง มีฉันทะในการประพฤติในการปฏิบัติ ไม่ช้าเราก็จะเป็นผู้รู้จริงทำได้จริงผู้หนึ่ง มีจิตเกษมปลอดภัยจากภัยต่างๆ และมีความรู้พิเศษตามเยี่ยงอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันตสาวกทั้งหลาย จิตเกษมนี้ หมายถึงจิตของพระพุทธเจ้า จิตของพระอรหันต์
เรามาเดินตามรอยของท่าน เพราะท่านสร้างบารมีของท่านประพฤติปฏิบัติจนได้เป็นพระพุทธเจ้า จนได้เป็นพระอรหันต์ ทุกท่านทุกคนต้องพากันมารู้ทุกข์ สิ่งที่เราทำตามใจของตัวเอง ทำตามอารมณ์ของตัวเอง ตามความรู้สึก มันคือความทุกข์ เราต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ จิตใจของเราถึงจะเข้าหาความสุขความเกษมได้ การประพฤติการปฏิบัติของเราอยู่ที่ปัจจุบัน เราทุกคนถือว่าเป็นผู้มีบุญ เป็นผู้ที่โชคดี เพราะหนทางนี้เป็นหนทางที่ถูกต้อง เป็นหนทางที่ประเสริฐ เป็นหนทางไปสู่ความเกษม เรียกว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีโทษ ไม่มีภัย ปลอดภัย เราทุกคนต้องเรียกเอาศีล เอาสมาธิ เอาปัญญาพร้อมกันให้มันเกิดเป็นภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถือว่าเป็นความสุขของเรา เป็นความดับทุกข์ของเรา เพราะสิ่งที่เราเข้าใจบางอย่างมันก็ยังมีคุณยังมีโทษ
เราเกิดมา เรามีธาตุทั้ง ๔ มีขันธ์ทั้ง ๕ มีอายตนะทั้ง ๖ มันก็มีภาระ มันหนัก
สัตว์ทุกชนิดก็มีภาระที่จะต้องบริหารธาตุ บริหารขันธ์ อาหารของเราที่ได้มา ต้องมาจากการไม่เบียดเบียน มันถึงจะเข้าถึงความสุขความเกษมได้ มาจากการไม่เบียดเบียน
ไม่ปล้น ไม่ลัก ไม่ประพฤติผิด ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเรียกว่าศีล ใจของเราต้องมีสัมมาสมาธิ คือจิตใจตั้งมั่นในธรรม ทุกคนต้องใจเข้มแข็ง ความรู้ความเข้าใจความฉลาด เรามีการศึกษา สมัยนี้ถึงปริญญาเอกแล้ว เราทุกคนต้องมีปัญญา ต้องไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญกุศล เราดูสัตว์ใหญ่ ๆ มันไปกินสัตว์เล็ก สัตว์เล็กก็ไปกินสัตว์เล็กกว่า
คนมีการศึกษามักจะเอาเปรียบคนที่ไม่มีการศึกษา มีการสร้างเครื่องทุ่นแรง สร้างปืน สร้างระเบิด อันนี้มันไม่ใช่หนทางที่เกษม เราดูแล้ว พวกสัตว์นี้มันน่าสงสาร แสวงหาเหยื่อ พวกนี้ ทุกคนมีภาระ บางคนพิการเกิดมาเดินไม่ได้ แล้วก็ยังมีความเห็นผิดไปเบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่น ๆ อีก เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม มันไม่ใช่ทางแห่งความสุขความเกษม มันเป็นความสุขของตัวเอง ความสุขชั่วครู่ชั่วคราว รักษาธาตุรักษาขันธ์ แต่มันเป็นการทำร้ายคนอื่น บางทีเราไปเห็นสัตว์มันพิการ คนพิการก็สงสาร คนเห็นแก่ตัว เอาแต่ตัวเอง เอาแต่พ่อแต่แม่ตัวเอง มีชีวิตอยู่ด้วยปาณาติบาต ด้วยการเอาชีวิตของคนอื่น เอาของคนอื่น อันนี้ไม่ใช่หนทางอันเกษม ไม่ใช่ธรรมะ เป็นความเห็นแก่ตัว มันเอาตัวรอดด้วยความเข้าใจผิด คนเกิดมาคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ใช่เรื่องธรรมดา มันเป็นเรื่องความหลง เรื่องอวิชชา มันไม่ใช่หนทางอันเกษม เราดูตัวอย่าง ยิ่งมีการเรียนการศึกษาสูง ยิ่งสนใจความสุขความทุกข์ของคนอื่นน้อย เช่น คนอยู่ในเมืองกรุงที่เจริญ เขาไม่สนใจว่าบ้านติดกันใกล้กันเป็นใครเป็นอะไร สนใจแต่เรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องความสุข ความสะดวกความสบาย ซื้อถูกขายแพง โกงกิน คอร์รัปชัน มันไม่ใช่หนทางอันเกษม ในโลกนี้ถึงหานักการเมืองแทบไม่มี มีแต่นักกินเมือง ข้าราชการก็มีน้อยแทบจะไม่มี มีแต่ข้าราชกิน เพราะว่าพากันเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถือเงินเป็นพระเจ้า ไม่คิดว่าสวรรค์เป็นทางผ่าน ไม่ควรจะมาทำบาป
พระพุทธเจ้าตอนเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงบำเพ็ญเนกขัมมะบารมีคือการออกบวช ในชาติที่เกิดเป็นพระเตมีย์ ที่เราเรียกว่าพระเตมีย์ใบ้ เมื่อพระชนมายุ ๑๑ เดือน ๑๑ เดือนท่านรู้ความ เห็นพระบิดารับสั่งลงโทษโจรอย่างทารุณ บางกลุ่มถูกตัดคอ บางกลุ่มถูกทุกข์ทรมาน บางกลุ่มถูกกลบฝังทั้งเป็นอย่างนี้ ด้วยจิตที่ผ่องใสในขณะที่เป็นเด็กท่าน ระลึกชาติได้ว่า ครั้งหนึ่งพระองค์เคยเกิดเป็นกษัตริย์ครองราชย์อยู่ ๒๐ ปี ก็สั่งลงโทษคนมากมาย ครั้นตายแล้วต้องไปเกิดในนรกอยู่ถึง ๘ หมื่นปี กว่าจะได้ไปเกิดในดาวดึงส์สวรรค์ ทรงรู้สึกเกรงกลัวว่าจะต้องเป็นกษัตริย์ต่อจากพระราชบิดา และต้องสั่งลงโทษคนทำผิดจนต้องตกนรกอีก จึงแสร้งทำเป็นคนง่อยเปลี้ย หูหนวก เป็นใบ้ ทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นกาลกิณีเป็นตัวอัปรีย์ กระทั่งเมื่ออายุ ๑๖ ปี กำลังจะถูกฝังในป่าช้า จึงแสดงตนว่าไม่ได้เป็นคนง่อยเปลี้ยแล้วก็ออกผนวชเลย บวชเป็นนักพรตอยู่ในป่า พระราชบิดาและพระราชมารดาและราษฎรทราบข่าวติดตามมา ได้ฟังธรรมจากพระเตมีย์ เกิดความเลื่อมใสขอออกบวชด้วย ครั้นสิ้นชีวิตลง ก็ไปเกิดในพรหมโลก อันนี้คืออดีตชาติชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า ในการบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ หนึ่งในบารมี ๑๐ อย่าง มีอย่างหนึ่งเรียกว่าเนกขัมมะบารมี คือบารมีในการออกบวช หลีกออกจากกาม หลายชาติท่านเกิดมาแล้วก็ออกบวช เป็นนักพรต เป็นฤาษี อย่างเช่นเป็นสุเมธดาบส ตอนที่ชาติเป็นพระเตมีย์ก็เช่นเดียวกัน ท่านบำเพ็ญเนกขัมมะบารมีอย่างยิ่งยวด ๑๖ ปี ที่ท่านแกล้งเป็นใบ้ เป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา เพราะไม่อยากทำบาปทำกรรม เพราะว่าไม่ต้องการทำบาปทั้งปวง ถึงจะทำถูกต้องตามกฎหมายแต่ว่ายังไม่ถูกต้องตามธรรม
ใจของเรานี้ยากที่จะไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อย่างพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระฉันอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ได้ แต่ต้องไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ ไม่ยินดี ผู้ประพฤติต้องพัฒนาใจตัวเอง อย่าไปยินดีในรสอาหาร อย่าไปยินดีในความสุขอะไรอย่างนี้ ถ้ายังยินดีอยู่มันก็บาป พระอรหันต์ท่านเป็นผู้เกษมจากโยคะคือท่านไม่ยินดี ไม่ยินดีในความอร่อย หรือความไม่อร่อย เพราะท่านละเสียซึ่งกามแล้ว ความอร่อยจึงไม่มี มีเพียงแต่ว่า บริโภคเพื่อให้ร่างกายมันดำรงอยู่ได้เท่านั้น เข้าสู่ความเกษม เรื่องจิตเรื่องใจเป็นเรื่องที่สำคัญ ทุกคนทุกท่านยังเป็นเสขบุคคลอยู่ คือบุคคลที่ต้องศึกษา ต้องประพฤติต้องปฏิบัติ ต้องพัฒนาจิตใจไปสู่ความเกษมให้ได้ อย่างหลวงพ่อไปเห็นหมามันพิการ เดินลากขาลากอะไรไปมานี้ มันก็ขวนขวายหาอาหารเพราะมันยังมีความหิว มีความปรารถนาอยู่ อย่างเห็นงูกินเขียด มันก็เพื่อเอาตัวรอด แต่การเอาตัวรอดมันเป็นบาป บางคนเขาไม่อยากฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ประพฤติผิดอะไรหรอก แต่ความกดดันปัญหามันกดดันธาตุขันธ์ กดดันจิตใจ สมาธิไม่แข็งแรง จิตก็ไม่เข้าสู่ความเกษม
ในโลกนี้มันมีแง่คิดเยอะ ความสุขความดับทุกข์นี้ มันถึงเหนืออวิชชา เหนือกามอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด คนเราอยากหนีจากความยากลำบาก ไกลพ่อไกลแม่ไปอยู่ต่างจังหวัด ไปอยู่ต่างประเทศ ก็เพราะเรื่องอาหาร เรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องธาตุเรื่องขันธ์ เขารู้ก็แต่ความดับทุกข์ทางกาย แต่เขาไม่รู้จักความดับทุกข์ทางจิตใจ เขาไม่รู้จักภาวนาวิปัสสนา ไม่รู้จักทำใจของตนให้สงบ สมาธิของเขาก็ไม่แข็งแรงพอ เขาไม่รู้จักเจริญอานาปานสติ ให้ลมหายใจอยู่กับเนื้อกับตัวจนตัดภายนอกได้ เอาวิปัสสนามาปฏิบัติว่าทุกอย่างนี้ ยังมีความสงบ ไม่แน่ไม่เที่ยง คนเห็นแก่ตัวจะเอาแต่ตัวเอง ห่วงแต่ลูกห่วงแต่หลาน แต่อะไร แต่มันเป็นการทำลายคนอื่น มันไม่เข้าสู่ความเกษม เพราะว่าปัญญาเพียงเอาตัวรอดเฉย ๆ ไม่ใช่ปัญญาที่เป็นธรรม เป็นความยุติธรรม พวกสัตว์ป่าอย่างช้าง กวาง กระทิง มันหิวน้ำ หลวงพ่อให้เขาขุดน้ำ มันลงมากินที่เรากำลังขุดอยู่นี้ แล้วก็มองดูว่าคนที่ขุดไม่อันตรายมันก็ลงมา เพราะความหิวมันกดดัน
การไม่เบียดเบียนถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่เกิดเป็นสังฆเภท เกิดเป็นความทะเลาะเบาะแว้งแตกแยกเป็นกลุ่ม เป็นพรรค เป็นพวก ก็เพราะว่าเรื่องผลประโยชน์ เรื่องอาหาร เรื่องที่อยู่ที่อาศัย แย่งกาม แย่งความรวย แย่งความสุข แย่งกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันมาเป็นของตน แย่งอำนาจกันเป็นใหญ่ แย่งความสุขโลก ๆ พวกนี้คือแค่อารมณ์สวรรค์ มนุษย์เราจะประเสริฐได้ก็ด้วยการฝึกตน มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมก็คือมีความสุขในการทำงาน การทำงานกับการปฏิบัติธรรมก็คืออันหนึ่งอันเดียวกัน พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน “โก หิ นาโถ ปโร สิยา ” คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ “อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ ” เมื่อมีตนที่ฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้โดยยากคือพระนิพพาน พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าชัดเจนอยู่แล้ว เราเอาพระธรรมคำสอนนั่นแหละมาประพฤติมาปฏิบัติ เน้นลงที่ปัจจุบัน สิ่งภายนอกให้ทุกคนตัดออกให้หมด ทิ้งอดีต ทิ้งอนาคต สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เราก็ตัดออกไปให้เป็นศูนย์
มาโฟกัสที่ปัจจุบันขณะเพื่อให้เป็นธรรมะล้วน ๆ ปราศจากตัวตน จึงต้องทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ กายจึงจะวิเวกได้ จิตใจจึงจะวิเวกได้ สงบระงับสังขารการปรุงแต่งทั้งหลาย จึงจะเป็นอุปธิวิเวกได้ในที่สุด
ในคัมภีร์สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค มีพระสูตรหนึ่งชื่อว่า ปฐมทารุขันธสูตร เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ตรัสถึงผู้ที่บวชผู้ที่มาประพฤติพรหมจรรย์ในพระศาสนา อุปมาเหมือนกับท่อนไม้ลอยน้ำ ขอยกเอาบางส่วนของพระสูตรมา โดยเน้นที่ข้อความที่สอนอย่างดีอย่างลึกซึ้ง เป็นสิ่งที่น่าคิดน่าตรึกตรองและประพฤติปฏิบัติตามมาก เป็นอนุสติสำหรับบรรพชิต เป็นหลักคิดสำหรับประชาชนได้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับริมฝั่งแม่น้ำคงคาในเขตเมืองโกสัมพีพร้อมภิกษุหมู่ใหญ่ พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นท่อนไม้ขนาดใหญ่ท่อนหนึ่ง ถูกกระแสน้ำพัดลอยมาริมฝั่งแม่น้ำคงคา แล้วพระองค์ก็ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอเห็นท่อนไม้ท่อนใหญ่โน้นที่ถูกกระแสน้ำพัดลอยมาในแม่น้ำคงคาหรือไม่?” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เห็นพระพุทธเจ้าข้า” พระองค์ตรัสต่อว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้ ไม่เข้าไปใกล้ฝั่งโน้น ไม่จมในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกอมนุษย์จับเอาไว้ ไม่ถูกน้ำวนดูดเอาไว้ ไม่เน่าภายใน ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ท่อนไม้นั้นจักลอยไหลเลื่อนไปสู่ทะเลได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะกระแสน้ำแห่งแม่น้ำคงคาลุ่มลาดไหลไปสู่ทะเล ข้อนี้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเธอจะไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้หรือฝั่งข้างโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวนดูดเอาไว้ ไม่เป็นผู้เน่าในไซร้ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ พวกเธอจะน้อมเอียงโอนไปสู่พระนิพพานได้ เพราะเหตุใด? เพราะสัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้องนี้ ย่อมโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่พระนิพพานฉันนั้นเหมือนกัน” ตรงนี้เป็นอุปมา เป็นปริศนาธรรม
ที่พระพุทธองค์ตรัสบอกว่า ไม่ติดฝั่งโน้น ไม่ติดฝั่งนี้ คำว่าฝั่งนี้ได้แก่อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ติดฝั่งโน้นก็คืออายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและธรรมารมณ์ ถ้าไม่ติดฝั่งนี้ ไม่ติดฝั่งโน้น มันก็จะลอยไปได้ พอลอยไปแล้ว ทำอย่างไรจึงจะไม่จมในท่ามกลาง ที่ว่าจมในท่ามกลางหมายถึงนันทิราคะ คือความผูกพันกับสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตจิตใจ ยินดีในคน ในวัตถุ ในสัตว์ ในสิ่งของ หรือว่าไม่เกยบก คำว่า “เกยบก” เป็นชื่อของอัสมิมานะ ก็คือว่า ความทะนงตน เย่อหยิ่งจองหองพองขน ไม่มี “คารโว นิวาโต ” คือไม่มีความเคารพ ไม่มีความนอบน้อม ก็จะเกยบกอยู่อย่างนั้น ไม่ลอยต่อไป ถูกมนุษย์จับไป หมายถึงว่า ภิกษุผู้ที่คลุกคลีเพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ อยู่กับชาวบ้าน ยุ่งเรื่องของชาวบ้าน เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อเขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ถึงการประกอบตนในกิจการที่จะบังเกิดขึ้นของเขานั่นแหละ นั่นคือการคลุกคลีกับคฤหัสถ์กับชาวบ้านอย่างไม่เหมาะสม นี่เรียกว่าถูกพวกมนุษย์จับไป ถูกอมนุษย์จับไปก็หมายความว่า ภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์แต่ว่าไม่ได้ปรารถนาพระนิพพาน ปรารถนาจะเป็นเทวดา ปรารถนาจะเป็นเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง หรือว่าจะเป็นพรหมองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยการบำเพ็ญวัตร บำเพ็ญตบะ ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์แต่ไม่ได้ปรารถนาพระนิพพาน เรียกว่าถูกอมนุษย์จับเอาไว้ ถูกกระแสน้ำวนดูด หมายความว่าเพลิดเพลินในกามคุณ ๕ เสียงไพเราะ รูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่นหอม อาหารอร่อย ถูกต้องสัมผัสดี ๆ พวกนี้ ยินดีพอใจในกามเหมือนกับถูกน้ำวนดูดเอาไว้ ถ้าไม่ถูกทั้งสิ่งนี้ แล้วที่สำคัญ เน่าใน ถ้าไม่เน่าใน รับรองว่าพัดไปถึงทะเล ที่เปรียบประดุจพระนิพพานได้แน่นอน ความเป็นของเน่าภายใน หรือความเน่าใน หมายถึงว่า ภิกษุผู้ทุศีล ทุศีลคือไม่มีศีล มีธรรมลามก ไม่สะอาด มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการงานปกปิดไว้ ไม่เป็นสมณะก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่เป็นพรหมจารีก็ปฏิญญาว่าตนเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้เน่าภายใน มีใจชุ่มไปด้วยกาม เป็นดุจขยะมูลฝอย นั่นคือการเสแสร้งทำเป็นผู้ทรงศีล ทั้งที่ไม่ใช่ผู้ทรงศีลโดยแท้ นี่คืออุปมาของพระพุทธเจ้า ถ้าหากบอกว่า ไม่ติดฝั่งนี้ฝั่งนั้น ไม่จมในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้ ไม่เน่าใน ก็จะพัดพาไปสู่พระนิพพานอย่างแน่นอน ทุกคนทุกท่านก็เหมือนกันนี้ที่เป็นผู้ปฏิบัติธรรม ที่เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ต้องรู้จักฝั่งนี้ ฝั่งโน้น ต้องรู้จักการจม ต้องรู้จักการเกยบก ต้องรู้จักการถูกมนุษย์ถูกอมนุษย์จับไว้ แล้วก็ความเน่าใน ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ ไม่ติด ไม่ข้อง ไม่จม ไม่เน่าใน ก็จะพัดพาโน้มเอียงไปสู่พระนิพพานอย่างแน่นอน
สัตว์ทั้งหลายผู้ปรารถนาความสุขในโลกนี้และโลกหน้าและสุขอย่างยิ่งคือพระนิพพาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสรุปมงคลทั้ง ๓๘ นี้เอาไว้ว่า ผู้ที่ปรารถนาความสุขในโลกนี้และโลกหน้าและสุขอย่างยิ่งคือพระนิพพานนี้ ละการคบคนพาลเสีย คบแต่บัณฑิต บูชาผู้ที่ควรบูชา อยู่ในปฏิรูปเทสคือประเทศสถานที่ที่เหมาะสม แล้วก็ความเป็นผู้ที่มีบุญเอาไว้ในกาลก่อนตักเตือน มีบุญเก่าไม่พอ บุญเก่าตักเตือนกระตุ้นเตือนให้บำเพ็ญกุศลใหม่อยู่เรื่อยไป ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบ แล้วก็ประกอบตนให้เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก เป็นผู้มีพาหุสัจจะ มีศิลปวิทยา เป็นผู้ทำได้ทำเป็น มีวินัยเป็นเครื่องรักษาตัว กล่าวแต่วาจาสุภาษิตคือพูดดี ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ เป็นผู้มีวาจาสุภาษิต พูดด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ยังไม่ได้ละเพศคฤหัสถ์ตราบใด ก็คือว่า ยังเป็นฆราวาสเป็นประชาชนก็ชำระหนี้เก่าด้วยการบำรุงเลี้ยงพ่อแม่ แล้วก็ประกอบหนี้ใหม่ด้วยการสงเคราะห์บุตรภรรยา ทำไมถึงว่าหนี้เก่าหนี้ใหม่ ชำระหนี้เก่าคือเราทุกคนเป็นหนี้พ่อแม่ทุกคน ใช้หนี้ท่านด้วยการกตัญญูกตเวทีเลี้ยงดูท่าน สร้างหนี้ใหม่ก็คือ เลี้ยงดูบุตรภรรยา เมื่อเราแก่เฒ่าชราลง ลูกเมียบุตรภรรยานั้นก็จะตอบแทนเรา ท่านเรียกว่าเป็นการสร้างหนี้ใหม่ ถึงความมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ ด้วยความเป็นผู้มีการงานไม่อากูล ไม่ขี้เกียจ ไม่ขี้คร้าน ไม่ทำงานคั่งค้าง ยึดสาระความเป็นแก่นสารแห่งชีวิตด้วยทาน คือเป็นผู้ให้เป็นผู้เสียสละ แล้วก็แก่นสารแห่งชีวิตด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม กระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่คนแก่ชนของตนด้วยการสงเคราะห์ญาติและประโยชน์เกื้อกูลแก่คนเหล่าอื่น ด้วยความเป็นผู้มีการงานอันไม่มีโทษ งดเว้นการทำร้ายผู้อื่นด้วยการเว้นจากบาป การทำร้ายตนเองด้วยการระวังในการดื่มกินของเมา ของมึนเมา เพิ่มพูนฝ่ายกุศลด้วยความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ละเพศคฤหัสถ์ด้วยความเป็นผู้เพิ่มพูนบุญกุศล แม้จะตั้งอยู่ในภาวะของบรรพชิต ก็ยังข้อวัตรข้อปฏิบัติปฏิปทาให้สำเร็จด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์ ในศีล สมาธิ ปัญญา ในความไม่ประมาทในการต้อนรับอาคันตุกะ ในพระอุปัชฌาย์อาจารย์ เป็นต้น แล้วก็ด้วยความถ่อมตน ละความละโมบในปัจจัยในวัตถุสิ่งของด้วยความเป็นผู้สันโดษ ยินดีตามมีตามได้ ตามควร ตั้งอยู่ในสัปปุริสภูมิคือภูมิปัญญาของบุคคลดีด้วยความเป็นผู้กตัญญู ละความเป็นผู้มีจิตหดหู่ด้วยการฟังธรรม ครอบงำอันตรายทุกอย่างด้วยขันติคือความอดทนอดกลั้น ทำตนให้มีที่พึ่งด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย แล้วก็ดูการประกอบข้อปฏิบัติด้วยการเห็นสมณะ คือผู้สงบจากบาปจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง เมื่อเห็นด้วยตาฟังธรรมด้วยหู น้อมธรรมะมาประพฤติมาปฏิบัติขัดเกลาให้เกิดเป็นมงคล บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยด้วยการสนทนาธรรมด้วยการฟังธรรม ถึงสีลวิสุทธิ์ ความหมดจดแห่งศีลด้วยการบำเพ็ญตบะ คือ สำรวมอินทรีย์ ถึงจิตตวิสุทธิ์ ความบริสุทธิ์แห่งจิตด้วยการประพฤติพรหมจรรย์คือสมณธรรม และธรรมวิสุทธิ ๔ นอกนั้นให้ถึงพร้อมด้วยปัญญาอันเห็นแจ้งอันเป็นปริยายแห่งการเห็นอริยสัจ ๔ ตามข้อปฏิบัตินี้ กระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานที่นับได้ว่าคืออรหันตผล คือความเป็นพระอรหันต์ ครั้นกระทำให้แจ้งแล้วซึ่งพระนิพพานจะเป็นผู้มีจิตไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมทั้ง ๘ เหมือนภูเขาที่ไม่สั่นสะเทือนด้วยแรงลมที่พัดมาจากทิศทั้ง ๔ ที่ไม่หวั่นไหวด้วยลมและฝนฉันนั้น เป็นผู้มีจิตไม่เศร้าโศก ปราศจากธุลีคือละอองกิเลส มีจิตที่เกษม ปลอดภัย ปลอดโปร่ง เป็นผู้แม้แต่ศัตรูผู้หนึ่งให้พ่ายแพ้ไม่ได้ในที่ทั้งปวง ทั้งจะถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสรุปไว้ว่า บุคคลทั้งหลายกระทำมงคลเช่นที่กล่าวมานี้แล้ว เป็นผู้อันมารให้พ่ายแพ้ไม่ได้ในที่ทั้งปวงย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ นั่นเป็นอุดมมงคลสูงสุดของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาให้ทุกท่านปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เจริญยิ่งยืนนานอยู่ด้วยอุดมมงคลแห่งชีวิตทั้ง ๓๘ ประการ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติด้วยกันทุกท่านเทอญ