แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๒๙ จิตที่ปราศจากธุลีคือกิเลส
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระมหาเถระ พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจจงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล วันนี้ขึ้นมงคลข้อที่ ๓๗ “วิรชํ ” แปลว่าจิตที่ปราศจากธุลี
ในมงคลบทนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้นตามลำดับ ก่อนอื่นเราจะต้องทำความเข้าใจคำว่าธุลี คำว่าธุลีตามความหมายของโลก แปลว่าฝุ่น ฝุ่นละออง หรือว่าฝุ่นที่มันละเอียดมาก เกือบจะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เมื่อมันปลิวไปเกาะกับของที่ใสสะอาดมาก เช่น กระจกเงาแล้วจึงจะเห็น แต่ตอนเวลาพัดมานี้อยู่ในอณูอากาศเรามองไม่เห็น แต่พอมันมาติดกับกระจกใส กระจกเงา จะมองเห็นชัดทันทีว่ามันเป็นฝ้าขึ้นมา คือมันทำให้ของใสนี้กลายเป็นของมัวเข้า ของจำพวกนี้เลยทำให้เสียความผุดผ่อง ในที่นี้จึงหมายถึง ธุลีที่คือกิเลสอย่างละเอียด ที่เกาะซึมแทรกหุ้มห่อจิตใจของเราอย่างซ่อนเร้นบาง ๆ ทำให้ความผุดผ่องความใสสะอาดนั้นมันเสียไป ถ้าไม่สังเกตก็จะไม่เห็นไม่รู้ โดยเฉพาะในที่ทั่วไปนี้ เราจะเคยได้ยินคำว่า “อปฺปรชกฺขชาติกา ” ที่อยู่ในบทที่เราเรียกกันว่าอาราธนาธรรม “พฺรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติฯ ” ท้าวสหัสบดีพรหม ผู้ที่เป็นท้าวมหาพรหม
ของโลก “กตญฺชลี อนธิวรํ อายาจถ สนฺตีธ สตฺตา อปฺปรชกฺขชาติกา เทเสตุ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชนฺติ ” ท่านมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าให้แสดงธรรม โดยการให้ความหมายว่า สัตว์ผู้มีธุลีคือกิเลสในดวงตาน้อยก็ยังมีอยู่ “อปฺปรชกฺขชาติกา” ก็ใช้คำเดียวกัน ก็คือคำว่า “รช” ก็คือคำว่าธุลี ธุลีในจักษุในที่นี้จึงหมายถึงกิเลสที่มันอยู่ในหัวใจ มันเป็นกิเลสที่ละเอียดแทบจะมองไม่เห็น เมื่อแสดงคุณสมบัติของธรรมจักษุที่ อยู่ในบทธรรมจักรฯ ที่แปลว่าดวงตาเห็นธรรม ก็จะมีคำว่า “วิรชํ วีตมลํ ธมฺมจกฺขุํ อุทปาทิ ” แปลว่าธรรมจักษุอันปราศจากธุลีไม่มีมลทินได้เกิดขึ้นแล้วแก่ท่านอัญญาโกณฑัญญะ ที่ว่า “ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ ”
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา อันนี้คือสิ่งที่ท่านได้รู้แจ้งแก่ใจของท่านด้วยการฟังธรรมจักร ๓ รอบ อริยสัจ ๔ ที่มีรอบ ๓ อาการ ๑๒ ท่านฟังจบลง แล้วก็ธรรมจักษุที่ปราศจากธุลีเกิดขึ้นแก่ท่าน จึงได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน แล้ว “วิรชํ ” ในระดับดวงตาเห็นธรรม ปราศจากกิเลสบางอย่าง แต่ยังมีกิเลสบางอย่าง อันนี้คืออยู่ในธรรมจักร แต่ว่า “วิรชํ ” ก็คือจิตที่ปราศจากธุลีในมงคลข้อนี้ หมายถึงจิตของผู้บรรลุพระนิพพานซึ่งปราศจากกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง เพราะว่าสืบเนื่องมาจากการเห็นอริยสัจ การทำพระนิพพานให้แจ้ง แล้วก็จิตที่ถูกโลกธรรมทั้ง ๘ มากระทบไม่หวั่นไหว แล้วก็เมื่อวานได้บรรยายถึง “อโสกํ ” จิตที่ไม่โศกแล้วก็ “วิรชํ ” จิตที่ปราศจากธุลี แล้วก็พรุ่งนี้ก็จะเป็น “เขมํ ” จิตเกษม เป็นอิสระ ทั้ง ๔ สภาวะนี้ก็คือ เป็นคุณสมบัติของจิตพระอรหันต์ทั้งสิ้น
จิตที่ปราศจากธุลีก็คือ จิตที่หมดกิเลสแล้วทั้งหยาบทั้งละเอียดอย่างถอนรากถอนโคน ไม่มีทางฟื้นกลับเข้ามาในใจได้อีก ทำให้จิตสะอาดผ่องใส นุ่มนวล ควรแก่การงาน นั่นก็ได้แก่จิตของพระอรหันต์นั่นเอง คำของคนไทยที่เป็นปริศนาในงานศพ เราจะเห็นคำว่า “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น” ฟื้นไม่มี ก็หมายถึงจิตของพระอรหันต์ ที่กิเลสมันดับไปแล้วมันไม่ฟื้น ไปไม่กลับ เรารู้ว่าคนตายแล้วมันไม่กลับมา หลับไม่ตื่นหมายถึง คนที่หลับใหลด้วยอำนาจของกิเลสนิทรา มักจะหลับใหลอยู่อย่างนั้นนะ ปลุกแล้วปลุกเล่าก็นอนต่อ เพราะมันมีความสุขกับการนอนกอดกิเลส นอนกอดตัณหา นอนกอดความอยาก นอนกอดกาม นอนกอดความอยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็น อยากเด่นอยากดัง กินด้วยกัน นอนด้วยกัน นั่งด้วยกัน ตายไปด้วยกัน มันเกาะติดใจไปทุกภพทุกชาติ เป็นยางเหนียว เป็นความเสน่หา แบบเมื่อวานที่ได้เล่า มันเลยหลับไม่ตื่น แต่เมื่อเจริญวิปัสสนาเห็นแจ้งนี้ กิเลสมันดับแล้ว มันดับเลยด้วยพระนิพพาน ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้นก็คือความตาย เพราะฉะนั้น ตรงฟื้นไม่มี ก็คือจิตของพระอรหันต์ ในพระพุทธศาสนาท่านสอนว่า สิ่งที่ทำให้ใจของเรามัวหมองก็คือกิเลส คนเรานี้ ถ้ากิเลสมันเกาะเข้าแล้ว มันมืดมัวลงไป มัวมากมัวน้อย ก็ตามแต่ขนาดของกิเลสนั้น ๆ ดังที่ท่านว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใส มีรัศมีเหมือนดวงจันทร์ แต่อาศัยกิเลสที่จรมาเป็นครั้งคราว จิตนี้จึงเศร้าหมอง เหมือนก้อนเมฆบดบังดวงจันทร์ให้อับแสง กิเลสที่จรมาก็คืออาคันตุกกิเลสทั้งหลายทั้งปวงที่มันจรเข้ามาในจิต
ในมงคลทีปนี ท่านได้แสดงธุลีเอาไว้ ๓ อย่างก็คือ ราคะ โทสะ แล้วก็โมหะ ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นชื่อของธุลีของจิตใจ ทำให้จิตใจของบุคคลนั้นมัวหมองด้วยอำนาจราคะ ด้วยอำนาจความรัก ด้วยอำนาจโทสะ ความเกลียด ความชัง ความไม่ชอบ ความขัดใจ ขุ่นเคืองใจ ด้วยอำนาจของโมหะคือความหลง
อำนาจราคะ คืออำนาจของความรักนี้ ลองได้หุ้มห่อจิตใจของผู้ใดแล้ว ย่อมจะทำให้ผู้นั้นมืดมัว ไม่สามารถที่จะรู้ผิดรู้ชอบ บุคคลผู้ใดถูกอำนาจกามราคะเข้าครอบงำย้อมใจแล้ว ย่อมกระทำกาเมสุมิจฉาจาร ผิดลูกผิดเมีย ผิดประเวณีลูกเมียผู้อื่น สามีคนอื่น แม้กระทั่งท้ายที่สุด พ่อแม่พี่น้อง พี่สะใภ้ น้องเขย ก็ล่วงเกินกันได้ เพราะอำนาจของราคะ ยิ่งในปัจจุบันนี้ยิ่งเห็นได้ชัด และก็มีข่าวกันอยู่เป็นประจำ บางทีถึงกับฆ่ากันตาย ยิงกันตาย เพราะอำนาจของราคะตัวเดียว ยิ่งประวัติศาสตร์โลกสมัยก่อนทำศึกกัน ประชาชนล้มตายเพราะว่าชิงสาวงาม โดยเฉพาะประวัติศาสตร์จีน เห็นได้ชัด อย่างเช่นในสมัยสามก๊ก นางเตียวเสี้ยน ที่ว่าพ่อลูกฆ่ากัน ตั๋งโต๊ะกับลิโป้ ทำสงครามกันก็เพราะว่าแย่งสาวงาม ราคะเหมือนกัน ประวัติศาสตร์โลกนี้มีมากมายให้เห็นเกี่ยวกับเรื่องกามราคะ แต่ว่ามองไม่เห็น เพราะมันย้อมใจ ย้อมสีใดก็เป็นสีนั้น เหมือนเอาผ้ามาย้อมด้วยสี สีมันก็ติด ใจที่ถูกราคะย้อมแล้ว มันก็จะมืด มันจะเป็นสีดำ บางทีเราก็เห็นเป็นสีชมพู สีของความรัก แต่ที่ไหนได้ มันปิดบังตาให้มืดให้บอด แล้วก็ให้ถึงความทุกข์ บางทีทุกข์เจียนตาย หรือว่าโทษทัณฑ์ที่จะได้รับ อำนาจราคะจึงเป็นเสมือนธุลีที่มันบดบังใจคนไม่ให้เห็นความผิดความถูก ไม่เห็นผิดชอบชั่วดี เหมือนกับกระจกบังหน้ารถ ลองได้ถูกฝุ่นละอองจับเสียก็มองไม่เห็นทาง ขับรถชนนั่นชนนี่ในที่สุด อำนาจของราคะนี้ ท่านบอกว่ามีโทษน้อย แต่ว่ามันคลายช้า คนจะรักกันอยู่กันฉันสามีภรรยานี้ ถือว่าไม่ได้ผิดศีลผิดธรรม ขออย่าไปนอกใจหรือไปมีชู้ก็แล้วกัน โทษของราคะมันไม่ค่อยหนักหนา แต่การจะเลิกนั้นมันยากมาก เลยบอกว่ามันมีโทษน้อยแต่มันคลายช้า คนลองรักกันนี้แค่ไม่เห็นหน้าไม่กี่วันก็ทำท่าจะตายเอาให้ได้ บางทีตายแล้วเกิดใหม่ ใจก็ยังติดหนึบด้วยยางเหนียวคือสิเน่หาที่เรียกกันว่าบุพเพสันนิวาสนี้ มันคือยางเหนียว มันคือความเสน่หาที่ผูกใจกันเอาไว้ทุกภพทุกชาติ ผูกพันกันอยู่อย่างนั้น จะเลิกก็ยาก นี่คือธุลี คือกิเลสตัวแรก
ธุลีตัวที่ ๒ คือโทสะ-ความประทุษร้าย เรื่องของโทสะก็เหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็จะคลุมจิตใจของเราไม่ให้เห็นผิดถูกอีกเหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วย่อมประทุษร้ายแม้แต่บิดามารดา พี่น้องชายหญิง บรรพชิตทั้งหลาย บางทีถึงฆ่าพ่อฆ่าแม่ ทำอนันตริยกรรม ทำกรรมหนักก็มี คนเราลองได้มีความโกรธมีโทสะขึ้นมาแล้ว เห็นช้างตัวเท่าหมู คือสู้ดะ หรือทำลายไม่เลือกเพราะอำนาจของโทสะ โทสะนี้มีโทษมาก แต่ว่ามันคลายเร็ว เวลาโกรธขึ้นมาขัดใจขึ้นมาฆ่าได้ทันที บางทีถึงขนาดฆ่าพ่อฆ่าแม่ ทำอนันตริยกรรมก็ยังได้ มีโทษมาก แต่ว่าพอมันได้ทำอะไรที่มันสาแก่ใจแล้ว มันก็จะคลายลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะว่าได้เอาคืน หรือถ้าเขามาขอขมาลาโทษ มาขอโทษขอโพย เอาอกเอาใจ ไม่นานก็หาย โทสะมีโทษมากแต่ว่าคลายไปเร็ว
ธุลีตัวที่ ๓ คือโมหะ ความหลง เมื่อมีความหลงผิดเกิดขึ้น ก็ย่อมจะทำบาปกรรมได้หลายอย่างหลายสถาน โมหะนี้คือความหลง มันถึงเป็นต้นตอของราคะ แล้วก็เป็นต้นตอของโทสะ ความโกรธ ทั้งนี้เพราะว่าความหลงนี้คืออวิชชา มันเป็นเหตุให้ตกอยู่ในอำนาจของราคะ โทสะ แล้วมองไม่เห็น เพราะมันเป็นม่านบดบังตา ท่านจึงกล่าวว่า เป็นธุลีที่มีโทษมากด้วย คลายช้าด้วย ตัวอวิชชาความหลงนี้เพราะไม่รู้พระสัทธรรมจึงมีโทษมาก พระพุทธพจน์ตอนหนึ่งของพระพุทธองค์ที่บอกว่า “ทีฆา ชาครโต รตฺติ ทีฆํ สนฺตสฺส โยชนํ ทีโฆ พาลาน สํสาโร สทฺธมฺมํ อวิชานตํ ” เวลากลางคืนสำหรับคนนอนไม่หลับมันนาน นอนพลิกไปพลิกมา ตาค้างนอนไม่หลับ คิดโน่นคิดนี่ กว่าจะตี ๑ กว่าจะตี ๒ กว่าจะเช้านี่ มันรู้สึกเหมือนนานสำหรับคนนอนไม่หลับ แล้วก็ระยะทางเพียงแค่ ๑ โยชน์ ๑๖ กิโลเมตร มันยาวไกลสำหรับคนที่เหนื่อยล้า แต่ว่า “ทีโฆ พาลาน สํสาโร ” สังสารวัฏคือการเวียนว่ายตายเกิดของบุคคลผู้ไม่รู้พระสัทธรรม พระสัทธรรมก็คืออริยสัจ ๔ ผู้ไม่รู้อริยสัจ ๔ มันยาวนานแสนนานสุดจะกำหนดได้ว่ามันจะไปจบลงตรงไหน จะไปสิ้นสุดตรงไหน เพราะความไม่รู้พระสัทธรรม ไม่รู้อริยสัจ ๔ ทำให้เราหลง หลงไปทำบาป ตกนรกเสียย่ำแย่ ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ถ้าจะเอากองกระดูกมากองรวมกันมากกว่าภูเขาเสียอีก ของเราที่เวียนว่ายตายเกิดมานี้ เปลี่ยนร่างไปเรื่อยๆ เกิดเป็นคน เกิดเป็นสัตว์ เป็นเทวดา เป็นพรหม วนเวียนอยู่อย่างนี้ ด้วยอำนาจของกรรมที่นำไป แล้วก็ต้องทิ้งร่างวางขันธ์ ทุกภพทุกชาติเหมือนกับเปลี่ยนรถคันใหม่ จิตมันก็ไปเกิดตามอำนาจของกรรม กระดูกที่เราเคยอาศัยอยู่มานี้ ถ้าจะเอามารวมกันจริงๆ ก็คงมากกว่าภูเขาอีก ทนทุกข์กันมาตลอดก็เพราะว่าโมหะคืออวิชชานี้เอง แล้วแถมเจ้าโมหะคือความหลงมันยังคลายช้าอีกด้วย คนที่ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษกว่าจะแก้ได้ บางทีหืดขึ้นคอเลย บางทีต้องรอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่อ ๆ ไปโน่นมาโปรด ยังไม่รู้ว่าจะแก้หายหรือเปล่า
กิเลสในใจคนก็คือที่เป็นธุลีนี้ มีอยู่ ๓ ตระกูลใหญ่ๆ คือตระกูลราคะ โทสะ โมหะ มันก็ยังแตกแยกย่อยแตกสาขาออกไป กิเลสแต่ละตระกูลก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ที่หยาบมากๆ เห็นได้ชัดที่เหมือนขยะมูลฝอย แล้วก็เล็กลงเหมือนกับฝุ่นผง จนถึงที่ละเอียดมากๆ เหมือนกับธุลีที่มองไม่เห็น บางคนเจอแล้วยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามันคือกิเลส มองไม่ออก ถ้ามันเป็นกิเลสอย่างหยาบๆ เหมือนกับเรามองเห็นขยะเป็นเศษกระดาษ เป็นเศษผง เป็นเศษอาหาร เราก็เห็นชัดว่านี่มันคือขยะ แต่ฝุ่นละอองนี้มันมองไม่เห็น
ตระกูลแรก ตระกูลราคะก็แยกย่อยออกมา ราคะหรือว่าโลภะอยู่คือตระกูลเดียวกัน คือความกำหนัดยินดี ความรัก อยากได้ในคน สัตว์ สิ่งของ หรือว่าอารมณ์ที่น่าใคร่ มีตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียดดังนี้ มันแยกย่อยออกมา ก็คือ
๑. อภิชฌาวิสมโลภ ความโลภอย่างแรง จนกระทั่งแสดงออกมา เช่น เป็นการปล้นจี้ ลักขโมย ทุจริต โกงกิน คอร์รัปชั่น
๒. อภิชฌา เพ่งเล็งทรัพย์ของผู้อื่น จ้องๆ จะเอาของเขา แต่ยังสงวนท่าทีไม่แสดงออก มันขึ้นอยู่ในใจก่อน เห็นอันนี้ เออดี อันนี้ราคาแพง อันนี้ของหรู อันนี้ของมีค่า อันนี้ของหายาก พออภิชฌาเกิดขึ้นนี้ มันเล็งเอาไว้แล้ว ทำอย่างไรหนอจะมาเป็นของเรา มันเพ่งเล็งเอาไว้
๓. โลภะ ความอยากได้ ความโลก แล้วก็ละเอียดลงมาอีก กามราคะ พอใจในกาม รักเพศตรงข้าม ยังมีความรู้สึกทางเพศ ไม่ว่าจะเพศเดียวกัน เพศตรงข้าม ทั้งหมดนั่นแหละที่เป็นความรู้สึกทางเพศ ยังยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี่คือกามราคะ แล้วก็ละเอียดส่งมาอีก รูปราคะ ความยินดีในอารมณ์ของรูปฌาน เป็นเรื่องของผู้ฝึกสมาธิจนได้ฌาน ฌาน ๔ ที่เกิดเป็นรูปพรหม มันเป็นความสุขมาก โดยเฉพาะสุขของฌาน สุขของสมาธิ แต่พระพุทธเจ้าบอกว่ามันคือกิเลส เพราะมันยังมีความติดใจ ติดใจในความเป็นรูปฌาน ติดใจในความเป็นพรหม แต่ว่าฮินดูบอกว่าอันนี้สูงสุดแล้ว ความเป็นพรหมคือสูงสุดแล้ว แต่พระพุทธเจ้าบอกว่ายังไม่ใช่ ต้องต่อยอด เพราะเป็นพรหม เป็นมหาพรหม อย่างไรยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ละเอียดลึกขึ้นมาอีกก็คือ อรูปราคะ ความติดใจยินดีในอารมณ์ของอรูปฌาน เป็นเรื่องของผู้ฝึกสมาธิจนได้อรูปฌาน ก็คือตั้งแต่อากาสานัญจายตนะจนกระทั่งถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะนี้ คือสมาบัติ ๕ ๖ ๗ ๘ ที่เกิดเป็นอรูปพรหม มีแต่จิตแต่ไม่มีร่างกาย เพราะท่านเห็นว่า ตอนเป็นคนนี้ มีร่างกาย มีขันธ์ ๕ มันเป็นของหนักเน้อ เพราะมันหนักอย่างนี้ ทำอย่างไรถึงจะไม่มีร่างกาย มีแต่จิตก็พอ จึงเป็นผู้ที่มีขันธ์ ๔ ขันธ์ อรูปพรหม มีขันธ์ ๔ ขันธ์ ลบรูปขันธ์ไป ก็เหลือเพียงแค่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีขันธ์ ๔ ขันธ์ ส่วนเรามี ๕ ขันธ์ เทวดามี ๕ ขันธ์ พรหมมี ๕ ขันธ์ ขันธ์ ๆ เดียวก็คืออสัญญีสัตว์ อสัญญสัตตาพรหมนี้ ที่คิดว่าการมีจิต มีความคิด มีอารมณ์ มีความรู้สึกอย่างนั้น อย่างนี้ มันเป็นทุกข์ ขอมีแต่ร่างกายอย่างเดียว พอท่านไปเกิดอยู่ในชั้นนั้น อสัญญาสัตตพรหมหรือว่าอสัญญีพรหม เหมือนกับพระพุทธรูป มีแต่รูปขันธ์ แต่ไม่มีจิต จิตมันดับ จิตมันสงบไปในภพภูมินั้น แต่อายุท่านตั้ง ๕๐๐ มหากัป เหมือนพระพุทธรูป โลกเกิดดับตั้ง ๕๐๐ ครั้ง ท่านก็ยังอยู่ แต่ไม่รู้เรื่องอะไร สร้างกุศลต่อก็ไม่ได้ เพราะว่าฟังเทศน์ก็ไม่ได้ เจริญจิตก็ไม่ได้เพราะไม่มีจิต มีแต่รูปขันธ์ พอสิ้นบุญจากนั้นแล้ ก็ไปตามบุญตามกรรม ที่ว่ามาในตระกูลของราคะ ตระกูลโลภะ ๔-๖ ก็คือกามราคะ รูปราคะ อรูปราคะจัดเป็นกิเลสละเอียดเรียกว่าธุลี ธุลีที่อยู่ในตระกูลของราคะนี้
ต่อไป ตระกูลโทสะ คือความไม่ชอบใจ ความคิดร้ายทำลายผู้ที่ทำให้ตนโกรธ มีตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด หยาบๆ ก็คือพยาบาท พยาบาท ผูกอาฆาตจองเวร อยากจะแก้แค้น ไม่ยอมให้อภัย แก้แค้น ๑๐ ปีก็ไม่สาย บางทีผูกเวรกันข้ามภพข้ามชาติยังไม่ยอมกัน เลยเรียกกันว่าเจ้ากรรมเจ้าเวร เจ้ากรรมนายเวรที่เราเข้าใจกันนั่นแหละ เพราะความไม่ปล่อยไม่วาง ผูกพยาบาท ผูกอาฆาต เช่น พระเทวทัต ตั้งแต่ชาติที่เป็นพ่อค้า เป็นเพื่อนกันกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนเป็นโพธิสัตว์ ผูกพยาบาทตั้งแต่นั้นมา ก็ผูกมาตลอด จนกระทั่งเป็นพระเทวทัต ต่อไป โทสะ โทสะคือความคิดร้ายทำลาย เช่น
คิดจะฆ่า คิดจะแตะต้อง คิดจะด่า คิดจะเผาบ้าน คิดจะทำให้อาย คิดในทางเสีย ๆ หายๆ กับคนอื่น แล้วก็ลึกไปกว่านั้นละเอียดกว่านั้น ก็คือโกธะคือความโกรธ โทสะ โกธะนี้ มันต่างกันนะ โทสะคิดร้าย โกธะมันละเอียดมาอีก เดือดดาลใจ คิดโกรธแต่ยังไม่ถึงคิดทำร้ายใคร คือมันขุ่นขึ้นมาในใจ แล้วก็ลึกกว่านั้นอีก ปฏิฆะ ความขัดใจ เป็นความไม่พอใจลึก ๆ แต่ยังไม่ถึงกับโกรธ แต่มันขัดใจ เหมือนกับมันก่อตะกอนขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แล้วมันก็ลงไปนอน มันยังไม่ฟุ้งขึ้นมาถึงข้างบน ปฏิฆะนี้จึงเป็นธุลี เป็นกิเลสที่ละเอียดในตระกูลโทสะ เป็นหนึ่งในสังโยชน์
ต่อไป ตระกูลโมหะ ความหลง เป็นอาการที่จิตมืดมน ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ส่วนความไม่รู้ในวิทยาการต่างๆ เช่น ไม่รู้จักการเรียนหนังสือพวกนี้ ยังไม่ใช่โมหะ คนที่มีความรู้วิทยาการมากเพียงใด จะมีปริญญากี่ใบก็ตาม หากยังไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ไม่รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ก็ชื่อว่าตกอยู่ในโมหะ คือตกอยู่ในอวิชชา อยู่ในความโง่ทั้งสิ้น โมหะจึงไม่ใช่ว่าไม่รู้จักการไม่ได้เรียนหนังสือ แต่คือไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ไม่รู้จักดี ไม่รู้จักชั่ว ไม่รู้จักบุญคุณพ่อแม่
มีตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียดดังนี้
๑. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณ
เห็นว่าบุญไม่มี บาปไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี เป็นต้น
๒. โมหะ หลงผิด ความไม่รู้ผิดชอบชั่วดี
๓. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่า เป็นตัวกูของกู คิดว่าร่างกายนี้เป็นของเราจริง ๆ มันยึด มันติด มันแนบแน่น ติดมาตลอด จะลุก จะนั่ง จะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว เป็นตัวเราตลอด ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดแล้วในทางสายเอก ก็จะอธิบายคร่าว ๆ
๔. วิจิกิจฉา ลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรม ยังไม่มั่นใจ ๑๐๐% บุญบาปมีจริงไหม? ทำสมาธิแล้วสงบไหม? ปฏิบัติธรรมแล้วจะตัดกิเลสได้จริงไหม? สงสัยมันก็คือโมหะ
๕. สีลัพพตปรามาส ติดอยู่ในศีลพรตอันงมงาย เชื่อหมอดู เชื่อหมอเดา เชื่อศาลพระภูมิ เชื่อพระเจ้า เชื่อไสยศาสตร์ เครื่องรางของขลัง ละเอียดกว่านั้นก็คือว่า ประพฤติย่อหย่อนอ่อนแอ
๖. มานะ ถือตัวถือตนว่าดีกว่าเขา เสมอเขา เลวกว่าเขาเป็นต้น มานะ ๙
๗. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน เป็นอาการที่จิตไหวกระเพื่อมน้อย ๆ ยังไม่หยุดนิ่งสงบบริบูรณ์ ไม่ได้หมายถึงความฟุ้งซ่าน ไม่รู้เหนือไม่รู้ใต้อย่างที่คนทั่วไปเป็น แต่ว่ามันละเอียด อุทธัจจะนี่ พระอนาคามีก็มี รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชานี้ พระอนาคามียังมี แต่มันละเอียดเหมือนฝุ่นละอองนิด ๆ ที่ยังเช็ดไม่หมด
๘. อวิชชา คือความไม่รู้ ความหลง ตั้งแต่ ๓ ถึง ๘ ก็คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มานะ อุทธัจจะ อวิชชานี้ เป็นกิเลสอย่างละเอียดในตระกูลโมหะ โดยสรุปแล้ว ธุลีที่เป็นกิเลสอย่างละเอียดทั้ง ๓ ตระกูลนี้ พอรวมกันเข้า ก็จะได้ ๑๐ ประการ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ทั้ง ๑๐ นี้ เราจะคุ้นชื่อกันมานาน เพราะได้อธิบายไว้แล้วว่า มันมีอีกชื่อว่า สังโยชน์ พอมันรวมกันแล้ว มันจึงเรียกว่าสังโยชน์ เพราะมันคือกิเลส เป็นธุลีอย่างละเอียด สังโยชน์ ๑๐ ประการ เพราะมันเป็นของละเอียด มันแยกย่อยมาจากกิเลสแต่ละตระกูล แต่ละตระกูล แล้วมารวมกันเข้า จึงเป็นสังโยชน์ ๑๐
พระโสดาบันจะละธุลีคือกิเลสได้สาม คือ ความยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวกูของกู ความลังเลสงสัย แล้วก็สีลัพพตปรามาส การประพฤติย่อหย่อนอ่อนแอ ความประพฤติที่ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัยหมดไป เพราะฉะนั้น ในธรรมจักรฯ ท่านจึงใช้คำว่า “วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง อุทะปาทิ ” ธรรมจักษุที่ปราศจากธุลี ก็คือปราศจากธุลี ๓ ตัวนี้ แต่ธุลีอย่างอื่นยังมีอยู่ ต่อไป พระสกทาคามี ท่านก็ละสังโยชน์ได้ ๓ แต่ว่าทำกามราคะ กับทำปฏิฆะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองให้มันเบาบางลงไป ส่วนพระอนาคามีก็ละได้อีก ๒ ก็คือ กามราคะ ปฏิฆะ ความขุ่นข้องหมองใจ จึงละสังโยชน์ ธุลีได้ ๕ ส่วนพระอรหันต์ละได้ทั้ง ๑๐ ได้อย่างสิ้นเชิง มีจิตผ่องใสบริสุทธิ์ตลอด ใจของพระอริยเจ้านี้เป็นใจที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง เพื่อที่จะให้เห็นคุณภาพของจิตด้านนี้ ท่านจึงได้แสดงว่า วีรชํ ที่แปลว่าปราศจากธุลี คือกิเลสที่มันทำให้ใจเศร้าหมอง แม้ว่าจะเป็นละอองกิเลสชิ้นละเอียด ก็ไม่เกาะเกี่ยว
การขจัดกิเลสอาสวะ เป็นจุดมุ่งหมายของผู้ที่แสวงหาทางหลุดพ้น เพราะตราบใดที่ยังมีกิเลสครอบงำจิตใจอยู่นี้ ชีวิตก็ต้องระทมทุกข์อยู่ตลอดเวลา ทั้งทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ แล้วก็ทุกข์ที่มันเกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว หากเรายังหาสาเหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ เราก็เปรียบเสมือนคนไข้ที่ถูกโรครุมเร้าอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะไปอยู่ ณ แห่งหนตำบลใดก็ไม่มีความสุข หรือเหมือนกับอุปมาสุนัขขี้เรื้อน สุนัขขี้เรื้อนมันไม่รู้ว่ามันเป็นขี้เรื้อน
มันไปนอนอยู่ใต้ร่มไม้มันก็ไม่สบาย ไปนอนอยู่ใต้โพรงไม้ก็ไม่สบาย ไปนอนกลางแจ้งก็ไม่สบาย ไปซุกอยู่ใต้ถุนบ้านก็ไม่สบาย มันก็คันยิบ ๆ ตลอดเวลา เพราะมันไม่รู้ว่ามันเป็นขี้เรื้อน แต่มันไปโทษสถานที่ โทษว่าเอาตรงนั้นสว่างไป ตรงนี้มืดไป ตรงนี้คนพลุกพล่าน ตรงนี้ชื้นไปอีก ตรงนี้เงียบไปอีก โทษสถานที่ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้ธุลี คือกิเลส ไม่รู้กิเลสของตัวเองนี้ก็เลยดิ้นรน ไปอยู่ตรงนั้นก็ไม่สบาย ไปอยู่ตรงนี้ก็ไม่สบาย ไปอยู่ป่าอยู่เขาก็ไม่สบาย อยู่ในที่ชุมชนก็ไม่สบาย อยู่วัดบ้านวัดป่าก็ไม่สบาย อยู่ตรงไหนก็ไม่สบาย เพราะว่าไม่รู้ใจคือกิเลส
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ว่า “กายสุจิํ วาจาสุจิํ เจโตสุจิมนาสวํ สุจิํ โสเจยฺยสมฺปนฺนํ อาหุ นินฺหาตปาปกํ ” ผู้มีความสะอาดกาย สะอาดวาจา สะอาดใจ ปราศจากกิเลสอาสวะ ถึงพร้อมด้วยความสะอาด ล้างบาปได้แล้ว บัณฑิตจึงเรียกว่า เป็นผู้ล้างบาป ล้างธุลี คือกิเลส ได้อย่างสิ้นเชิง จึงขอยกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับธุลี คือกิเลสนี่แหละ เป็นเรื่องของบุคคลคนหนึ่งที่ไม่รู้หนังสือ อ่านหนังสือไม่ออก แต่ว่าจิตของท่านมีพุทธะ นั่นก็คือท่านเว่ยหล่าง ท่านเว่ยหล่างเกิดอยู่ในชนบท ท่านก็ได้อ่านได้ฟัง ได้ฟังคนสาธยายธรรมนี้ ของคัมภีร์นิกายเซน ท่านก็อยากตามหาอาจารย์ ท่านก็จากบ้านทางทิศใต้ไปอยู่วัดทางตอนบนของจีน เพื่อไปสมัครเป็นลูกศิษย์ของพระโพธิธรรมองค์ที่ ๕ นั่นก็คือท่านหงเหริ่น (หวางยั่น) โพธิธรรมองค์ที่ ๑ ก็คือท่านตั๊กม้อ ที่ท่านมาจากอินเดีย ตามพุทธนิกายเซนก็เชื่อถือกันว่า สืบทอดบาตรจีวรเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นสังฆปรินายก ถ่ายทอดธรรมะ ถ่ายทอดบาตรจีวร สืบทอดมาจากพระมหากัสสปะ ที่พระพุทธเจ้ามอบสังฆาฏิให้กับพระมหากัสสปะ พระมหากัสสปะส่งต่อให้พระอานนท์ แล้วก็สืบมาเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงท่านตั๊กม้อ ท่านตั๊กม้อก็มาเผยแผ่ที่ประเทศจีน เป็นพระโพธิธรรม สังฆปรินายกองค์แรก ถ้านับกันอย่างนั้น สืบต่อมาจนถึงองค์ที่ ๕ คือท่านหงเหริ่น เมื่อหลวงพ่อหงเหริ่น ซึ่งเป็นพระโพธิธรรมองค์ที่ ๕ ได้ถามท่านเว่ยหล่างว่า เจ้าเป็นคนป่า ไม่รู้หนังสือ จะมาเรียนธรรมะได้อย่างไร เป็นคำถามเพื่อลองภูมิ ปรากฏว่า ท่านต้องอึ้งกับคำตอบ ท่านเว่ยหล่างตอบไปว่า จะคนป่าคนเขา คนที่ไหนๆ ความเป็นพุทธะในจิตใจก็หาทำให้เกิดความแตกต่างได้ไม่ หลวงพ่อโพธิธรรม ก็คือหลวงพ่อหงเหริ่น ก็เลยเข้าใจเลยว่า เว่ยหล่างเป็นคนป่าคนเขาทางใต้ก็จริง แต่คนนี้ไม่ธรรมดา แล้วจึงใช้อุบายก็คือไล่ให้ไปอยู่ในครัว เพื่อไม่ให้ใครมาจ้องมองและทำอันตรายอะไรกับเขา เพราะความอิจฉาริษยามันมีอยู่ในวัด ท่านเว่ยหล่างทำงานอยู่ในวัดประมาณ ๘ เดือน ผ่าฟืน ก่อไฟ หุงข้าว ต้มน้ำ ทำงานกรรมกรในวัด จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านเจ้าอาวาสก็คือท่านหงเหริ่น ขอให้ศิษยานุศิษย์เขียนโศลก โศลกก็คือเหมือนกับเป็นความจากจิตใจ เป็นเหมือนกับบทกวีมาส่งท่าน เพื่อวินิจฉัยว่าผู้ใดจะเข้าใจสภาพธรรมได้อย่างถ่องแท้บ้าง หากโศลกของผู้ใดแสดงนัยยะว่า ผู้เขียนนี้เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว ผู้นั้นจะได้รับการสถาปนาเป็นสังฆปรินายกองค์ต่อไป เพราะท่านก็อายุชรามาก ศิษย์ร่วมสำนักไม่มีใครกล้าพอที่จะเขียนโศลกธรรมได้ ยกเว้นศิษย์หัวกะทิลูกศิษย์ต้นๆ ชื่อว่าชินเชา ซึ่งเป็นหัวหน้าศิษย์ ได้ผูกเป็นคำกวี เขียนถึงอรรถถึงธรรมที่ตัวได้เห็นแล้ว ไปเขียนไว้ที่ผนังช่องทางเดินของท่านอาจารย์หงเหริ่น ว่า “กายของเราคือต้นโพธิ์ ใจของเราคือกระจกเงาอันใส เราเช็ดมันโดยระมัดระวังทุก ๆ โมงยาม ไม่ให้ฝุ่นละออง ไม่ให้ธุลีมันจับได้” เวลาเที่ยงคืน พระสังฆปรินายก ก็คือท่านหงเหริ่น ได้ให้คนไปตามตัวศิษย์เอกชินเชามาที่หอ แล้วก็ถามว่า เป็นคนเขียนโศลกนั้นใช่หรือไม่ ชินเชาก็ตอบไปว่า “ใช่ครับ กระผมไม่ได้เห่อเหิมเพื่อตำแหน่งสังฆปรินายก เพียงแต่หวังว่า หลวงพ่อจะกรุณาบอกให้ทราบว่า โศลกนั้น แสดงว่ามีแววแห่งปัญญาอยู่ในนั้นบ้างสักเล็กน้อย หรือหาไม่” ท่านหงเหริ่นก็ตอบว่า “โศลกของเจ้านี้ แสดงว่าเจ้ายังไม่ได้รู้แจ้งจิตเดิมแท้ เจ้ามาถึงประตูแห่งการบรรลุธรรมแล้วตั้งนาน แต่เจ้ายังไม่ได้ก้าวข้ามธรณีประตูเข้าไป การแสวงหาความตรัสรู้อันสูงสุดด้วยความเข้าใจอย่างของเจ้าที่มีอยู่ในขณะนี้ ยากจะสำเร็จได้ เพราะไปแก้ที่ปลายเหตุ จะเช็ดกระจกอย่างเดียว เจ้ากลับไปก่อนดีกว่า ไปคิดอีกสัก ๒-๓ วัน แล้วค่อยเขียนโศลกบทใหม่มาให้ฉัน ถ้าโศลกของเจ้าแสดงว่า เจ้าเข้าพ้นประตูไปแล้ว ฉันจะมอบผ้าสังฆาฏิ แล้วก็ธรรมะแห่งนิกายเซน หรือว่านิกายธยานะให้สืบทอดต่อไป”
ผ่านไป ๒ วัน บังเอิญเด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินผ่านบริเวณที่ท่านเว่ยหล่างตำข้าวอยู่ เด็กคนนั้นก็ได้เดินท่องโศลกของท่านชินเชาที่จำมาจากฝาผนังอย่างดัง ๆ ท่านเว่ยหลางแม้ไม่รู้หนังสือ เคยถูกพระสังฆปรินายกหยอกว่าเป็นคนป่า คนดอย แต่กระนั้น เมื่อได้ฟังโศลกนี้ของเพื่อนร่วมสำนัก ท่านก็รู้ได้ทันทีว่า ผู้เขียนนี้จิตยังไปไม่ถึงไหน วิถีแห่งการตรัสรู้จึงเกิดธรรม ท่านจึงเกิดฉันทะอยากจะเขียนโศลกขึ้นมาบ้าง แต่ท่านไม่รู้หนังสือ เขียนหนังสือไม่เป็น เมื่อสบโอกาส จึงให้เสมียนคนหนึ่งที่เข้ามาในวัดนี้ ช่วยเขียนโศลกของท่านเองบ้าง ก็เขียนไว้ที่ข้างฝานี้ โศลกของท่านกล่าวว่า “ไม่มีต้นโพธิ์ ไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่า แล้วฝุ่นคือธุลีจะลงจับที่อะไร?” ไม่มีต้นโพธิ์ ไม่มีทั้งกระจกเงาอันสะอาดใสนี้ เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว ฝุ่นธุลีมันจะลงจับที่อะไร นี่คือโศลกของท่าน เมื่อเสมียนเขียนโศลกนี้ลงที่ผนังแล้ว ทั้งพวกลูกศิษย์แล้วก็คนนอกทุกคนที่อยู่ที่นั่น ต่างพากันประหลาดใจอย่างยิ่ง จิตใจเต็มตื้นไปด้วยความชื่นชม เขาพากันกล่าวแก่กันและกันว่า น่าประหลาดเหลือเกิน ไม่ต้องสงสัยเลย เราไม่ควรตัดสินใครว่าเป็นอย่างไร ด้วยการเอารูปภายนอกเป็นประมาณ มันเป็นไปได้อย่างไรกันหนอ ที่พวกที่คนป่าคนดอยที่เราเข้าใจกันนี้ จะเป็นผู้ที่จิตตื่นรู้ เราพากันใช้สอยพระโพธิสัตว์ผู้อวตาร ให้ทำงานหนักแต่เรามานานถึงเพียงนี้ พระสังฆปรินายกท่านทราบเหตุการณ์โดยตลอด เห็นคนเหล่านั้นพากันเต็มตื้นไปด้วยอาการอัศจรรย์ใจ ท่านจึงถอดรองเท้า เอารองเท้าลบโศลกของท่านเว่ยหล่างทิ้งเสีย เพื่อไม่ให้พวกคนที่มักริษยาพากันทำร้ายท่านเว่ยหล่างได้ ซึ่งการกระทำของพระสังฆปรินายกนั้นนี้ ทำให้คนเหล่านั้นพอใจ ที่คิดว่าแม้ผู้เขียนโศลกอันนี้ ก็ยังไม่ใช่ผู้ที่เห็นแจ้งจิตเดิมแท้เหมือนกัน คือยังไม่ใช่ผู้ที่ตื่นรู้ แต่ความจริงเป็นอุบายของท่าน เพราะท่านกลัวว่าท่านเว่ยหล่างจะถูกทำร้าย เลยเอารองเท้าลบ เป็นการแสดงภาวะเซนของท่าน แต่ความจริงท่านเว่ยหล่างฉลาดมาก จิตของท่านตื่นรู้แต่ท่านหงเหริ่น ทำแบบนี้ก็เพราะว่า ป้องกันท่านจะถูกรังแก ต่อมาพระสังฆปรินายกจึงเรียกท่านเว่ยหล่างไปพบกลางดึกคืนหนึ่ง ก็คือไปที่ครัว เอาไม้เท้ากระแทกพื้น ๓ ครั้ง ท่านว่าอย่างนั้น แล้วก็เดินออกไป ท่านเว่ยหล่างก็รู้ทันทีว่า ยามสามให้ไปพบท่าน กลางดึกท่านก็ไปพบท่านหงเหริ่น แล้วก็ฟังเทศน์ เทศนาจนท่านเว่ยหล่างหมดความสงสัยในพุทธธรรม พร้อมมอบบาตรและจีวรกับคัมภีร์นี้ เพื่อให้เป็นพระโพธิธรรมสังฆปรินายกองค์ที่ ๖ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ออกบวชเลย แล้วบอกให้หนีออกจากบ้านไปทางตอนใต้นานถึง ๑๕ ปี บางทีไปหลบอยู่กับพรานป่าบ้าง เป็นต้น จากนั้นมา ท่านเว่ยหล่างก็เป็นสังฆปรินายกองค์ที่ ๖ จะรู้จักกันอีกในชื่อหนึ่งก็คือ ท่านฮุ่ยเหนิง (Hui Neng) ซึ่งสรีระสังขารของท่านก็ยังอยู่ เป็นพันปีแล้ว น่าจะอยู่ที่วัดหนานหัวแห่งเมืองเฉากวน มณฑลกวางตุ้ง อยู่ตรงนั้น
จากตรงนี้ก็เป็นเรื่องการสอนธุลีคือกิเลสเช่นเดียวกัน จิตพุทธะเหมือนกัน ตื่นรู้เหมือนกัน จิตตรัสรู้เหมือนกัน เพราะมาจากพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน จะเห็นได้ว่า หากประพฤติปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ไม่ต้องแบ่งหรอกว่า เป็นสายเหนือ สายใต้ เป็นธรรมยุต มหานิกาย เป็นวัดบ้าน วัดป่า หรือจะเป็นคนไม่มีศาสนา คนไม่รู้หนังสือก็ตามที หากมาปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ เพียรประพฤติปฏิบัติดังนี้ ก็บรรลุได้พอๆ กัน กิเลสประกอบด้วยราคะ ความกำหนัดยินดี โทสะความขัดเคืองขุ่นข้องหมองใจ แล้วก็โมหะความลุ่มหลงมัวเมา สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถที่จะครอบงำบังคับจิตใจของผู้ที่หลุดพ้นได้อีกต่อไป ใจของท่านจึงสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจหยาดน้ำที่ไม่ติดอยู่บนใบบัว เหมือนกับผลตาลสุกที่หลุดออกจากขั้ว แล้วก็มีความสว่างไสวไม่มีประมาณ เหมือนกับอาทิตย์อุทัยที่ส่องแสงให้ความสว่างแก่โลกหล้า จิตใจของพระอริยะเจ้า ของพระอรหันต์ เป็นจิตใจที่มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เป็นจิตใจที่กระทบผัสสะเสียสละแล้วก็ปล่อยวาง เป็นจิตใจที่เป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม เป็นจิตใจที่รู้ตื่นเบิกบาน แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะติดข้องอยู่ในใจ เพราะรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง ท่านอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว จิตใจนั้นรู้จักสมมุติ จิตใจจึงเป็นวิมุติ หลุดพ้น อย่างเรานี้ ยังติดในตัวในตน ในพ่อ ในแม่ ในบ้าน ในลาภ ยศ สรรเสริญ แต่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ใจท่านไม่มีติด อันนี้เป็นความสุข เป็นความดับทุกข์ที่สมบูรณ์ ไม่มีการประพฤติ ไม่มีการปฏิบัติแล้ว เพราะท่านเสร็จกิจ เสร็จภาระหน้าที่ อยู่จบพรหมจรรย์ ท่านฉันภัตตาหาร ทำอะไรต่างๆ ก็ไม่ได้เพื่อตัวท่าน เพื่อสุขภาพร่างกายทรงอยู่ได้ เพื่อช่วยเหลือคนอื่น เพื่อเผยแผ่ ท่านเดินจงกรมอยู่ได้เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง พระอรหันต์ท่านเข้าสมาธิเพื่อพักผ่อนสมองเฉย ๆ ไม่ใช่เพื่ออะไร เพื่อให้ร่างกายพักผ่อนเฉย ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับจิตใจ เพราะจิตใจของท่านเป็นนิโรธแล้ว คือความดับทุกข์อยู่แล้ว จิตใจของท่านเป็นนิพพานตลอดกาล
พระที่หมดกิเลสสิ้นอาสวะ ท่านเสียสละขยันกว่าพวกเราเสียอีก เพราะพวกเรามันยังเห็นแก่ตัว แต่ท่านใช้ร่างกายเหมือนใช้รถยนต์ ใช้อุปกรณ์ต่างๆ จะไม่มีตัวท่านอยู่ในนั้นจะตายจะอยู่ก็ไม่สำคัญ เหมือนท่านเจ้าคุณพุทธทาส ท่านเผยแผ่ธรรมะ ก็มีความสุขทั้งวันทั้งคืนจนวาระสุดท้าย วันเวลาคือการทำงาน คือการเสียสละ หลวงปู่ชาก็เหมือนกัน เราเห็นท่านไม่หยุด เราเลยไปตั้งเวลาให้ท่านรับแขก เวลานั้นจำวัด เวลานี้ ความเป็นจริงแล้ว ถ้าท่านเสียสละ ท่านถึงจะแข็งแรงๆ เพราะคนเรานี้ สมองเราถ้าเรามีความสุข ถ้าเรามีสัมมาทิฏฐิ คิดอย่างนี้ก็ไม่ทำให้เสียสมอง ที่มันเสียสมองเพราะว่ามันยังทุกข์ใจ มีความยึดมั่นถือมั่น มันถึงเสียสมอง ถ้าสมองมีความสุขมีสัมมาทิฏฐิ สมองมันไม่เสีย สมองจะดีมาก พวกคนแก่เห็นไหม ไม่ทำอะไร ไม่เสียสละ มีแต่ความยึดมั่นถือมั่น ห่วงลูก ห่วงหลาน ห่วงทรัพย์สินนี้ ก็เลยเป็นอัลไซเมอร์ เอาเงินร้อยเงินพันมานับอยู่อย่างนั้น ด้วยความยึดมั่นถือมั่น คนเราน่ะ ถ้าร่างกายไม่ได้ออกกำลังกาย มันก็ไม่แข็งแรง ถ้าไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้ออกกำลังใจ สมองมันก็เสื่อมเร็ว คนถึงไม่เข้าใจ พ่อแม่แก่แล้ว อยากให้พ่อแม่มีความสุข ไม่ให้ทำงานอะไรเลย ไม่ให้ท่านใช้สมอง พ่อแม่เลยเป็นอัลไซเมอร์กันเป็นแถบเลย ถ้าเราเอาสมองมาใช้งานให้มีความสุข มาเสียสละอย่างนี้ สมองก็จะมีคุณ นี่เราคิดแต่ยึดมั่นถือมั่น อย่างคิดเรื่องเรียน ก็คิดแต่จะเอาใบประกาศ A๔ คิดแต่จะเอาใบปริญญา คิดแต่จะทำการทำงาน มีแต่จะเอา ไม่มีความสุขในการเสียสละ สมองเลยถูกทำลาย เพราะสมองไม่ได้มีสัมมาทิฏฐิ การเสียสละเลยเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ใหญ่ยิ่ง บางคนลูกมาทำงานแทน ประคับประคองพ่อแม่ไม่ให้คิด ไม่ให้ทำอะไร พ่อแม่ก็ยิ่งตายเร็ว ไม่เป็นไรนะ ถ้าเราคิดในสิ่งที่ดี ในสิ่งที่ถูก ในสิ่งที่เป็นธรรม ในสิ่งที่เสียสละ สมองมันก็เอามาทำประโยชน์ เราเป็นที่ปรึกษาของลูกของหลานในสิ่งที่ดี ๆ อย่าไปแต่จะเอาอะไร ๆ ยิ่งแก่ก็ยิ่งไม่อยากตาย ก็ยิ่งตายเร็วเท่านั้นแหละ เพราะคิดไม่ถูก มันจะตายเมื่อไหร่ก็ช่างหัวมัน มันอยากอยู่ถึงเมื่อไหร่ก็ช่างหัวมัน มันต้องมีสัมมาทิฏฐิ รู้จักใช้สมองในสิ่งที่ดี เหมือนพระอริยเจ้า อย่างพระพุทธเจ้า ท่านทรงปลงพระชนมายุสังขารตอนเท่านั้นเท่านี้ เพราะว่าพญามารมาอาราธนาให้ท่านปรินิพพาน พระอานนท์เป็นพระโสดาบันตอนนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงนิมิตโอภาส เพื่อให้ท่านอาราธนาให้พระองค์มีอายุอยู่ต่อ แสดงนิมิตถึง ๑๖ ครั้ง ที่ราชคฤห์ ๑๐ ครั้ง ที่ไวสาลีอีก ๖ ครั้ง พระอานนท์ก็ไม่ได้เอะใจ ไม่อาราธนา ถ้าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าจะอยู่ได้อีก ๔๐ ปี เป็น ๑๒๐ ปี แล้วอีกอย่างหนึ่งก็เป็นการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงอธิษฐานมาอย่างนั้น ทำไมพ่อแม่ทุกคนอายุ ๘๐-๙๐ ปี หลงๆ ลืมๆ เพราะว่าไม่เสียสละ เมื่อจิตใจไม่เสียสละ มันก็เลยห่วงแต่ลูก ห่วงแต่หลาน ไม่เสียสละมันก็ทำลายสมอง ความยึดมั่นถือมั่นนี้มันทำลายสมอง ความยึดมั่นถือมั่นมันทำให้ตัวเองนอนไม่หลับ ทำให้จิตใจของเรามันเศร้าโศกเพราะว่ายึดมั่นถือมั่น เป็นการทำลายตัวเอง เราจึงต้องมาเข้าใจ เป็นผู้เสียสละ รู้จักกิเลส ทำลายกิเลส รู้จักธุลีที่มันแปดเปื้อนอยู่ในใจนี้ แล้วก็ชะล้างทำลายล้างมันออกไปด้วยวิปัสสนาปัญญา
กิเลส ถ้าจะจัดเป็นระดับ ท่านจัด ๓ ระดับ ก็คือว่า ระดับอนุสัย มันเป็นกิเลสที่มันลึกซึ้งมากนะ ที่มันซึมลึก นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน เป็นพื้นฐานของจิต ถ้าไม่กระทบอย่างแรง ก็ไม่แสดงตัวออกมา ท่านเปรียบเหมือนกับตะกอนที่มันนอนอยู่ก้นตุ่มน้ำ
น้ำในตุ่มนั้นจะมองดูใสน่าดื่ม แต่ถ้ากวนน้ำในตุ่มอย่างแรง ตะกอนนั้นก็จะฟุ้งขึ้นมา ทำให้น้ำมันขุ่น ดื่มกินไม่ได้ ถ้าพูดตามหลักวิชา คนที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ทุกคนนี้ ที่ยังเป็นเสขบุคคลอยู่นี้ จะมีกิเลสที่เป็นอนุสัยกิเลสทั้งนั้น
ระดับปริยุฏฐานกิเลส ก็คือว่า กิเลสที่มันกลุ้มรุมจิต เป็นประเภทที่ทำให้จิตฟุ้งซ่าน กลัดกลุ้มคุกรุ่นอยู่ภายใน แต่ยังไม่ได้แสดงออกมาเป็นพฤติกรรม เป็นคำพูด เป็นการล่วงละเมิดอะไร ยกตัวอย่างเรื่องความโกรธ ถ้าเป็นเพียงความขัดใจที่มันแฝงลึก เป็นพื้นของจิต ท่านเรียกมันว่า ปฏิฆะ ที่มันเป็นธุลี ที่มันเป็นสังโยชน์นี้ คือความขัดเคือง ความขุ่นข้องลึก ๆ หรือเราเรียกประมาณว่า มันจี๊ดขึ้นมา แล้วมันหายไป ถ้ามันถูกยั่วยุมากขึ้น ๆ มันจะสำแดงออกมาเป็นโกธะ คือความโกรธ ความเดือดดาล นี่เป็นอยู่ในระดับที่มันเห็นชัดขึ้นมา เรียกว่าระดับกลุ้มรุมนะ ถ้าระงับไว้ไม่อยู่ มันก็จะกลายเป็นโทสะ ตอนนี้ก็เห็นชัดขึ้นมาแล้ว เป็นความกราดเกรี้ยว หรือบันดาลโทสะ พอถึงขั้นนี้ ไม่ใช่ยืนหน้าบูดเบี้ยวเฉยๆ นะ ถึงขั้นลงไม้ลงมือ ชกต่อยทุบตีไปตามเรื่อง นี่คือมันแสดงออกมา
ระดับวีติกกมะ หมายถึงกิเลสที่มันควบคุมไม่อยู่แล้ว มันต้องแสดงออกมาเป็นพฤติกรรม เป็นการกระทำ เป็นคำพูด
ยกตัวอย่างในเรื่องของความรัก หนุ่มเห็นสาวสวยน่ารักไปหมดทุกอย่าง นึกชอบลึกๆ อยู่ในใจ การนึกชอบลึกๆ นี้ มันเป็นอนุสัยที่มันนอนเนื่องอยู่ในจิต วันดีคืนดีก็ครุ่นคิดคำนึงกระสับกระส่าย ด้วยความคิดถึงเขา จิตใจมันว้าเหว่วุ่นพิกล ฝันถึงทั้งหลับ แล้วก็ตื่น พอมันกลุ้มรุมอย่างนี้ เรียกว่าเป็นปริยุฏฐานกิเลส มันกลุ้มรุมจิตใจ วันดีคืนดี อาจจะเรียกว่าวันร้ายคืนร้ายก็ได้ สบโอกาสเหมาะๆ อยู่กันสองต่อสอง ลับหูลับตาคน ก็ทำมิดีมิร้ายกัน เพราะอดทนรนต่อไปไม่ไหวแล้ว อันนี้คือ ขั้นวีติกกมะ คือเป็นขั้นล่วงเกิน ขั้นล่วงละเมิด
เห็นหรือยังว่า ถ้าปล่อยกิเลสให้มันฟุ้งขึ้นมาจนกระทั่งถึงขั้นควบคุมไม่อยู่นี้
คนดี ๆ ก็จะกลายเป็นอาชญากร พระก็จะกลายเป็นอลัชชี เป็นผู้ที่ไม่มีความละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป ท่านจึงสอนวิธีระงับกิเลสในขั้นต่าง ๆ ไว้ว่า กิเลสอย่างละเอียด ก็คือที่เป็นอนุสัยที่มันนอนเนื่องอยู่ในกมลสันดานนี้ละได้ด้วยการเจริญวิปัสสนาเท่านั้น กิเลสอย่างกลางที่มันกลุ้มรุมจิต ที่มันมาคอยรบกวน เป็นความฟุ้งซ่าน เป็นความคิดถึง เป็นความอะไรต่างๆ นี้ละได้ด้วยสมาธิ กิเลสอย่างหยาบละได้ด้วยศีล ถ้ามันจะออกมาทางคำพูด ทางการกระทำ ถ้าเรามีศีลคอยควบคุมปุ๊บ มันจะเบรกทันที พูดไม่ได้นะ ผิดศีลนะ ทำไม่ได้นะ ผิดศีลนะ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ มีใจปราศจากธุลี หมดจดจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ทั้งหยาบ ทั้งกลาง ทั้งละเอียด จึงเป็นใจที่ผ่องแผ้ว ใสสะอาดอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ใจของท่านหวั่นไหวหรือเศร้าหมองได้ ส่วนคนเราธรรมดานี้ แม้ทำจิตไม่ได้ถึงขั้นของพระอริยเจ้า แต่ก็ต้องคอยพยายามระวังจิตของเราอย่าให้ตกลงไปในอำนาจของความรัก ความชังและความหลง โดยเฉพาะต้องระวังอย่างยิ่ง ระวังไว้มาก ๆ ที่สำคัญนี่แหละ จึงต้องระวังจิตของเราให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เป็นผู้ปกครอง ยิ่งต้องระวังมาก เอียงมาก คนที่อยู่ใต้ปกครองก็แย่ ผู้ปกครองเหมือนยานพาหนะ รถ เรือ ส่วนผู้อยู่ใต้ปกครองเหมือนผู้โดยสาร ถ้ารถหรือว่าเรือมันเอียงไปเอียงมา ผู้โดยสารก็อยู่ไม่เป็นสุข ท่านจึงสอนวิธีระงับกิเลสแต่ละขั้น แต่ละขั้นไว้ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น จึงต้องระวังจิตให้ดี อย่าให้ธุลีมันเข้ามาครอบงำจิตของเราได้ การที่ไม่ให้ธุลีมันเข้ามาครอบงำจิตนี่แหละจึงจะเป็นมงคลอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทรงตรัสบอกว่า ผู้ใดกำจัดโลภะได้แล้ว ไม่โลภในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ ความโลภย่อมหมดไปจากใจของผู้นั้น เหมือนหยาดน้ำตกจากใบบัว ผู้ใดกำจัดโทสะได้แล้ว ไม่ประทุษร้ายในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย โทสะย่อมหมดไปจากใจของผู้นั้นเหมือนผลตาลสุกหล่นจากขั้ว ผู้ใดกำจัดโมหะได้แล้ว ไม่หลงในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง ผู้นั้นย่อมกำจัดความหลงได้ เหมือนอาทิตย์อุทัยขจัดความมืดให้หมดไปฉันนั้น ใจที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ไม่มีธุลี ไม่มีมลทิน จึงเป็นมงคลอย่างยิ่ง
เราเดินตามรอยพระพุทธเจ้า เดินตามรอยพระอรหันต์ เราต้องทำอย่างท่าน ปฏิบัติอย่างท่าน ใจเรายังไม่ถึง แต่เราก็ต้องรู้แผนที่ รู้แนวทางปิดรอยรั่ว ปิดรอยโหว่ เริ่มต้นจากใจ ใจที่มันสั่งการต่าง ๆ นี้ เราต้องมารู้จักจิต รู้จักใจ
รู้วาจา รู้กาย เพื่อให้เกิดความวิเวก เป็นกายวิเวก จิตวิเวก เพื่อที่จะพัฒนาไปเป็นความสงบ เป็นความวิเวกจากกิเลสที่เป็นอุปธิวิเวก สิ่งที่เป็นมลทินทั้งหลาย ต้องมาเปลี่ยนแปลงตนเอง เข้าสู่การประพฤติการปฏิบัติ เพราะชีวิตเรานี้เป็นชีวิตที่ประเสริฐ เกิดมาเพื่อสร้างบารมี สร้างความดี เพื่อหมดมลทิน ปราศจากธุลีแห่งจิตใจ ทุกคนเป็นผู้โชคดีต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติ ไม่มีคำว่าสายถ้าประพฤติปฏิบัติในปัจจุบัน เราทำได้ ปฏิบัติได้ทุกคน เราจะได้เอาพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติ “พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ สรณํ คจฺฉามิ ” ถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระอริยสงฆ์ ผู้ไม่มีธุลี ไม่มีมลทิน เราปฏิบัติตามรอยท่าน คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ทำตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกของตัวเอง เพื่อจะได้หมดธุลี คือกิเลส หมดมลทิน หมดความเศร้าหมองได้ในที่สุด
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ