แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๒๘ จิตที่ไม่โศก ไม่เศร้า ไม่เสียใจ ไม่แห้งใจ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจจงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ในวันนี้ขึ้นมงคลข้อที่ ๓๖ “อโสกํ” แปลว่าจิตที่ไม่เศร้าโศก
มงคลข้อที่ ๓๖ มีพระบาลีที่ว่า “อโสกํ” ซึ่งแปลว่าจิตที่บรรลุพระนิพพานแล้ว ไม่เศร้าโศก ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากตั้งแต่การเห็นอริยสัจ การทำพระนิพพานให้แจ้ง จิตที่ไม่หวั่นไม่ไหวไม่กระทบกระเทือนด้วยโลกธรรม จนมาถึงข้อนี้ ก็คือเป็นจิตที่ไม่เศร้าโศก ซึ่งเป็นการสรรเสริญคุณของพระนิพพาน จิตที่บรรลุโลกุตรภูมิคือพ้นวิสัยของชาวโลก
เรื่องของจิตนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะจิตนั้นเป็นนามธรรม ไม่ใช่วัตถุ ที่เราจะสามารถจับต้องมองเห็นรู้ได้ว่ามีรูปร่างอย่างไร เราจะพยากรณ์ว่าจิตนั้นมีรูปร่างสูงต่ำดำขาวไม่ได้ เพราะว่าจิตไม่มีรูปร่าง แต่ที่เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อจิตที่ได้แสดงออกมาทางกายทางวาจานั่นแหละ เราจึงจะสามารถรู้ได้ว่าคนผู้นี้มีจิตใจเป็นอย่างไร ถ้าไม่อย่างนั้น เราจะไม่มีทางรู้เป็นอันขาด
มงคลข้อนี้เราจะทราบได้ถึงเรื่องจิตไม่โศกว่ามีลักษณะอย่างไร และสิ่งไดที่ทำให้เกิดความเศร้าโศก เรื่องของความโศกเศร้าหรือว่าจิตโศกนั้น ส่วนมากมักจะเข้าใจกันดี เพราะตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งตอนนี้หรือว่าจนกระทั่งบัดนี้มักจะประสบกับตัวเองอยู่บ้างแล้วเกือบทุกคน คำว่า ”โสกะ” หรือคำว่า “โศก” ภาษาบาลีใช้ ส-เสือ โสกะ สันสกฤตก็ใช้ ศ-ศาลา แปลว่าแห้ง คือแห้งผาก ซึ่งตรงข้ามกับคำว่าชุ่มชื่น จิตที่แห้งผากนั่นเองที่เรียกว่า โศกเศร้า อาการของจิตแห้งผาก ยังแยกออกไปอีกคือ ปริเทวะ โทมนัสสะ แล้วก็อุปายาสะ ที่เราสวดมนต์กันทุกเช้าๆ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ เป็นเรื่องของจิตใจ ปริเทวะ-ความร่ำไรรำพัน โทมนัสสะ-ความเสียใจ อุปายาสะ-ความคับแค้นใจ แต่ในมงคลข้อนี้ แสดงถึงความโศกไว้คำเดียว
ที่ว่าโศกหรือว่าใจแห้งนั้นน่ะ เกิดจากอะไร ซึ่งข้อนี้ขอให้ทุกท่านได้พิจารณาจากพระพุทธพจน์ ก็คือคำของพระพุทธเจ้าคำที่ว่า “เปมโต ชายเต โสโก” ความโศกเกิดจากความรัก หมายความว่า เพราะมีรัก จึงมีโศก ถ้าไม่มีรัก ก็ไม่มีโศก รักมากก็โศกมาก รักน้อยก็โศกน้อย ไม่มีรักเลยก็ไม่โศกเลย และความจริงก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
สมมุติว่า ในข่าวทาง internet หรือว่าข่าวหนังสือพิมพ์ลงข่าวรถคว่ำคนตายหมด เราก็เพียงแค่รับทราบแล้วก็สงสาร แค่นั้นแหละ เครื่องบินตก รถทัวร์คว่ำ ตรงนั้นตรงนี้ เราทราบแล้ว เราก็แค่สงสาร แต่ถ้าเราทราบว่าคนตายในจำนวนนั้นมีเพื่อนรักของเรา มีญาติของเรา มีคนที่เรารู้จักนี้ร่วมอยู่ด้วยคนหนึ่ง ความโศกก็จะเกิดขึ้นในใจแต่ก็ยังพอกินได้นอนหลับ แต่ถ้าบังเอิญคนๆ นั้น เป็นญาติสนิท เป็นลูกเป็นหลานหรือว่าเป็นพ่อเป็นแม่ของเรา หรือเป็นภรรยาเป็นสามีที่เรารักมากๆ ความโศกก็จะมากขึ้น เรื่องของความโศกเกิดขึ้นเพราะความรักความผูกพันเป็นสาเหตุ จิตโศกหมายถึงสภาพจิตที่แห้งผาก เหมือนดินแห้งใบไม้แห้งหมดความชุ่มชื่นเนื่องจากไม่สมหวังในความรัก ทำให้มีอาการเหี่ยวแห้งหม่นไหม้ โหยหาขึ้นในใจ ใจซึมเซา ไม่อยากรับรู้อารมณ์อื่นใด ไม่อยากทำการทำงาน สรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีความทุกข์อยู่นี้ก็เพราะว่ามีความผูกพันในคน สัตว์ สิ่งของจึงต้องติดบ่วงแห่งทุกข์ แม้แต่พญาราชสีห์ หากติดบ่วงของนายพรานแล้วก็ย่อมสิ้นกำลังแล้วก็อำนาจได้รับแต่ความทุกข์ทรมาน มนุษย์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน แม้จะมียศฐาบรรดาศักดิ์มากเพียงใด ตำแหน่งสูงใหญ่โตขนาดไหน ร่ำรวยมหาศาลขนาดไหน หากติดบ่วงแห่งความรักและความผูกพันย่อมต้องสิ้นฤทธิ์เพราะตกอยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา ย่อมมีจิตที่โศกเศร้าเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน
ปกติใจของเรานี้มันซนเหมือนลิง ที่เคยอธิบายไว้หลายวัน จิตประดุจลิงชอบคิดโน่นคิดนี่ รับอารมณ์อย่างโน้นอย่างนี้ เดี๋ยวจะฟังเพลงไพเราะๆ เดี๋ยวไม่เอาอีก ไปกินดีกว่า ไปกินอาหารอร่อยดีกว่า ไปดูก็ดูเต็มที่ เดี๋ยวนอนดีกว่า ไปเที่ยวดีกว่า เปลี่ยนไปเรื่อย ไม่อยู่ในอารมณ์ใดนาน แต่แปลกตรงที่ว่าพอใจนี้ไปเจออารมณ์ของความรักเข้าเท่านั้น มันไม่เปลี่ยน มันติดหนึบเลยเหมือนกับลิงติดตัง พูดถึงลิงติดตัง บางท่านอาจไม่เข้าใจ คำว่า ”ตัง” เป็นคำโบราณ ก็หมายถึงว่ายางไม้ ยางไม้ที่เขาเอาไปเคี่ยวจนเหนียวหนึบ เหมือนยางมะตอยที่ทำถนน แล้วเอาไปป้ายไว้ตามต้นไม้ ตามที่ต่างๆ เอาไว้ดักนกดักสัตว์ เวลาสัตว์มันมาเกาะติดเข้า มันจะดิ้นไม่หลุด ลิงเวลามันมาเจอตังหรือว่ายางไม้เข้านี้ มันจะใช้ขาข้างหนึ่งแหย่ดูตามประสาที่มันซุกซน พอมันติดหนึบ มันดึงไม่ขึ้น มันจะใช้ขาอีกข้างหนึ่งมาช่วยยัน ขาข้างนั้นก็ติดหนึบเข้าไปอีก จะใช้ขาอีกสองข้างมาช่วยยันก็ติดตังหมดทั้งสี่ขา ใช้ปากช่วยดัน ปากก็ติดอีก ตกลงทั้งสี่ขาแล้วก็ปากติดแน่นอยู่อย่างนั้น ดิ้นไม่หลุด รอให้คนมาจับไป นี่คือลิงติดตัง
คนเราก็เหมือนกัน จะเป็นความรัก รักในคน รักในสัตว์ รักในสิ่งของ ก็ทำให้เกิดความเศร้าโศกได้ทั้งนั้น แต่ที่หนักก็มักจะเป็นเรื่องคน โดยเฉพาะความรักของชายหนุ่มหญิงสาว ลงได้รักกันแล้ว หนุ่มรักสาว สาวรักหนุ่มก็ตาม ทีแรกก็บอกว่าจีบไปอย่างนั้นแหละ พักเดียวถอนตัวไม่ออก ร้อนถึงขนาดไม่เห็นหน้า ไม่ได้คุยกินข้าวไม่ลง
โดยปกติแล้ว ความรักมันเหมือนแม่น้ำทำให้ใจมันเบ่งตัวขึ้น มีความอิ่มตัว ถ้ารักมากก็ยิ่งอิ่มตัวมาก ดูแต่หนุ่มสาวยามรักกัน รักกันมากๆ ลืมกินข้าวกินน้ำเพราะใจมันอิ่ม อิ่มด้วยกาม แต่พอความรักหมดไป หมายความว่าใจมันอยากรักอยู่ แต่มันไม่มีรักที่จะรัก ใจจะเหี่ยวแห้งซูบซีดลงที่เรียกว่าโศก ทุกคนที่มีความผิดหวังเรื่องรัก แล้วมันมีอาการแบบนี้ทุกคน ทุกคนในโลกนี้ล้วนแต่ประสบมาไม่มากก็น้อย ไม่รักคู่รัก ก็รักญาติ รักพี่รักน้อง รักเพื่อนรักฝูง สารพัดที่เป็นความรัก อาการเหล่านี้มันแสดงออกมาทางกาย เป็นต้นว่า ร่างกายซูบซีด ใบหน้าหม่นหมอง อากัปกิริยาต่างๆ มันผิดแปลกไปจากธรรมดา ไม่มีความร่าเริงเลยเพราะว่าความผิดหวัง
ตามปกติใจของคนเรานั้นเป็นธรรมชาติที่ตะกละอารมณ์ อยากดูอยากฟังอยู่ทุกขณะ การที่จิตใจมันติดอารมณ์นั้นเพราะมียางเหนียวอยู่อย่างหนึ่งอยู่ในจิตอยู่ในใจ นั่นคือความรัก คือความเสน่หา ที่ภาษาไทยพูดกันเสมอก็คือคำว่าเสน่ห์ คำว่าเสน่ห์ในภาษาไทยนี้มาจากคำภาษาบาลีก็คือคำว่า”สิเนหะ” สิเนหะแปลตรงตัวว่ายางเหนียว แปลว่ายางเหนียว ตรงตัวเลย ถ้าใครมาบอกเราว่า คนนั้นเสน่ห์แรงจัง คนนี้เสน่ห์แรงจริง ให้รู้ตัวไว้เลยว่า นั่นแหละคือยางเหนียวหนึบเลย อย่าเข้าไปใกล้ เดี๋ยวจะติดยางเหนียวเข้า จะเป็นลิงติดตังแล้วจะดิ้นไม่หลุด แล้วก็เป็นอย่างนี้ เสร็จทุกรายไป ตอนรักเขายังไม่เท่าไหร่ แต่ว่ารักแล้วเขาไม่รักเรานี่ หรือเมื่อความรักกลายเป็นอื่นเข้า หรือเขาตายจากเราไปก็ตาม หรือว่าพลัดพรากจากกันก็ตาม มันจะแห้งผากขึ้นมาทีเดียว แต่ก่อนเคยชอบรับอารมณ์อย่างนั้นอย่างนี้ พอถึงตอนนี้ ใครจะมาร้องเพลงให้ฟัง ฟังเพลงที่เคยชอบ มันก็รำคาญ จะชวนไปเที่ยวดูหนังก็รำคาญ จะร้องจะรำจะเล่นอะไร จะกินจะดื่ม มันรำคาญไปหมด ข้าวก็ยังไม่อยากกิน มันเบื่อ เพราะใจมันแห้งผาก ซึมเซารับอารมณ์อย่างนั้น นี่แหละคืออาการที่มันจิตโศก บางคนนึกว่าก็แล้วถ้าความรักสมหวังก็คงไม่เป็นไร จิตไม่โศกล่ะสิ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะเราก็รู้อยู่แล้วว่า ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น แม้กระทั่งร่างกายของเรา มันก็มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากหนุ่มจากสาว ก็ต้องเป็นกลางคน เป็นคนแก่ ความทุกข์กายทุกข์ใจมันก็เกิดขึ้นมา ผิวหนังเหี่ยวย่น ผมก็หงอกขาว ฟันก็ร่วง นัยน์ตาก็มัว เปลี่ยนแปลงไปหมด ความจำก็เลอะเลือน ทุกสิ่งทุกอย่างมันอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งสิ้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อนัตตาก็คือมันบังคับไม่ได้ อย่าแก่นะ สต๊าฟไว้ที่อายุ ๒๐ มันก็สต๊าฟไม่ได้ เพราะว่ามันบังคับไม่ได้ บังคับไปให้เครียด บังคับไม่ให้เจ็บ บังคับให้ป่วย มันบังคับไม่ได้เลย มันเป็นอนัตตา ทุกอย่างมันต้องเป็นอย่างนี้ มันไม่เที่ยง มันต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แตกดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ลงว่าใครได้รักอะไรเข้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์หรือว่าสิ่งของ ก็ให้เตรียมตัวเอาไว้ว่าโศกแน่นอน ถ้ารักมากก็โศกมาก รักน้อยก็โศกน้อย ถ้ารักหลายๆ อย่างก็โศกถี่หน่อย นี่เป็นอย่างนี้ โบราณท่านเลยสรุปเตือนสติไว้ว่า ผู้ใดมีความรักถึงร้อย ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึงร้อย ผู้ใดมีความรัก ๙๐ ๙๐ % ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ ๙๐ ถ้ามีความรัก ๘๐ ผู้นั้นก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๘๐ ถ้ามีความรัก ๔๐ ผู้นั้นก็ต้องทุกข์ถึง ๔๐ ถ้ารัก ๒๐ ทุกข์ถึง ๒๐% ถ้ามีความรักสัก ๑๐% ก็มีความทุกข์ ๑๐ มีความรักถึง ๕ ก็ต้องมีความทุกข์ถึง ๕ มีความรัก ๓ ก็ต้องมีทุกข์ถึง ๓ ถ้ามีความรัก ๒ ก็ต้องมีความทุกข์ ๒ ถ้ามีความรัก ๑ ก็ต้องมีทุกข์ ๑ ผู้ใดไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีความทุกข์ เรากล่าวว่าผู้นั้นไม่มีความเศร้าโศก ปราศจากกิเลสคือธุลี ไม่มีอุปายาสะคือความเสียใจ ความคับแค้นใจ ความตรอมใจ ความกลัดกลุ้มใจ ในเรื่องของการผูกพันด้วยอำนาจของความรักนี้ มันติดภพติดชาติ แต่พอเวลาเปลี่ยนร่างกาย เปลี่ยนภพภูมินี้ มันก็จะเปลี่ยนไปตามภพภูมิ ไปตามอัตภาพตามกิเลสที่นำไปเกิด
มีเรื่องหนึ่งที่จะยกมาเป็นอุทาหรณ์ ในอดีตกาลมีพระราชานามว่า อัสสกะ ครองราชย์อยู่ในนครปาฏลิ แคว้นกาสี พระองค์มีอัครมเหสีองค์หนึ่งนามว่าอุพพรี เป็นที่รักใคร่โปรดปรานของพระองค์มาก มีรูปโฉมงดงาม พระนางได้สิ้นพระชนม์ลง พระราชาทรงโศกเศร้าอาดูร เสวยทุกข์โทมนัสยิ่งนักเพราะการสิ้นพระชนม์ของพระนาง พระองค์จึงให้เชิญพระศพของพระนางนี้ลงในราง แล้วก็ใส่น้ำมันหล่อเอาไว้ ใส่น้ำมันหล่อเลี้ยงเอาไว้ เหมือนกับดองศพเอาไว้ ยกไปตั้งไว้ใต้พระแท่นไสยาสน์ก็คือใต้ที่พระบรรทม ทรงอดพระกระยาหาร บรรทมกรรแสง ปริเวทนาการ มองดูแต่พระศพของพระนางที่ยังสดเหมือนคนนอนหลับนี่แหละ แต่ว่าตายแล้ว ทั้งพระราชมารดา พระราชบิดา หมู่พระประยูรญาติ มิตร อำมาตย์ พราหมณ์ คฤหบดีเป็นต้นนี้ พากันปลอบโยนแค่ไหนว่าอย่าเศร้าไปเลย สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง พระองค์ก็ไม่ยินยอม รำพันอยู่อย่างนั้น ๗ วันก็แล้ว ๑๐ วันก็แล้ว
ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ก็คืออดีตชาติของพระพุทธเจ้าเราเป็นดาบส สำเร็จอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ อยู่ที่หิมพานต์ แล้วก็ตรวจดูชมพูทวีปด้วยทิพยจักษุ เห็นพระราชาองค์นี้เศร้าโศกอยู่ ก็คิดว่าเราควรจะเป็นที่พึ่งของราชาองค์นั้น จึงไปโดยอากาศ แล้วก็ไปนั่งอยู่ในอุทยานที่แผ่นหิน ราวกับว่าพระปฏิมาทองคำ คราวนั้น มาณพ พราหมณ์ชาวนครพาราณสีคนหนึ่งไปพบเห็นเข้า จึงไหว้แล้วก็พูดคุยกันมา ก็ถามว่า พระราชาทรงตั้งอยู่ในธรรมคือครองราชย์ด้วยธรรมหรือไม่ มานพหนุ่มก็ตอบว่า พระคุณเจ้า พระราชาทรงตั้งอยู่ในธรรม แต่ว่าพระมเหสีเพิ่งจะสิ้นพระชนม์ไปนี้ ก็เล่าให้ฟังว่า พระองค์เชิญพระศพของพระนางไว้ในราง แล้วก็บรรทมพร่ำเพ้อรำพันด้วยความเศร้าโศกเสียใจติดในความรักของพระนาง พระคุณเจ้าจะไม่ช่วยพระราชาให้พ้นจากทุกข์บ้างหรือ พระโพธิสัตว์ก็ตอบว่า มานพ เราไม่รู้จักพระราชา หากพระราชาเสด็จมาถามนี้ เรานี่แหละจะทูลบอกที่ที่พระมเหสีไปเกิด แล้วจะให้พระนางได้สนทนากับพระราชาทีเดียว มานพนั้นก็ไปเข้าเฝ้า แล้วพระราชาพอได้ทราบว่าจะได้เจอ จะได้ทราบว่าคนที่รักที่สุดของตัวเองไปเกิดตรงไหน จะได้คุยกัน คนที่เสียใจขนาดนั้นด้วยสิ่งที่มองไม่เห็นรีบเสด็จมาถามเลยว่า พระคุณเจ้า รู้ที่เกิดของพระมเหสีจริงรึ จริง มหาบพิตร แล้วตรัสถามว่าไปเกิดที่ไหน ฤาษีก็เลยทูลตอบว่า ถวายพระพร พระนางทรงมัวเมาในรูปสมบัติ อาศัยความมัวเมาในร่างกายตัวเอง ไม่ทรงทำกรรมดี จึงไปเกิดในกำเนิดเป็นหนอน อยู่ในมูลโคก็คือหนอนขี้วัว พระราชาตรัสว่า ข้าพเจ้าไม่เชื่อ ถ้าเช่นนั้นอาตมาจะแสดงให้พระองค์ แล้วจะให้นางพูด พระโพธิสัตว์ได้ทำให้หนอน ๒ ตัวมาด้วยอานุภาพของตน แล้วก็อธิษฐานขอให้หนอน ๒ ตัวนี้ จงชำแรกก้อนโคมัยก็คือก้อนขี้วัวสดๆ นี้ออกมาเบื้องพระพักตร์ของพระราชา หนอน ๒ ตัวก็ออกมาตามนั้น พระโพธิสัตว์ เมื่อจะแสดงพระเทวีจึงทูลว่า มหาบพิตร พระเทวีของพระองค์จากพระองค์ไปแล้ว เดินตามหลังหนอนตัวผู้ ทอดพระเนตรดูเถิด พระราชาบอกว่า พระคุณเจ้า เป็นไปได้อย่างไร ข้าพเจ้าไม่เชื่อ สัตว์ที่เกิดในกำเนิดหนอนนี้จะเป็นอุพพลี มเหสีของข้าพเจ้าได้อย่างไร? พระโพธิสัตว์ก็บอกว่า ถ้าเช่นนั้นจะให้สื่อสารให้ดู แล้วพระโพธิสัตว์ท่านก็ใช้กำลังแห่งสมาบัติ ๘ อภิญญา ๕ นี้ อภิญญา ๕ คือมีฤทธิ์ เป็น super power ที่เกิดขึ้นจากกำลังฌาน สมาบัติ เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของมนุษย์ บางคนไม่รู้ไม่เห็นบอกว่าวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ก็โมเมว่ามันไม่มีจริง มีสิ่งอีกมากมายที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้แต่มีอยู่จริง โดยเฉพาะเรื่องจิตเรื่องใจ เรื่องกำลังของสมาธิ กำลังของฌาน อภิญญา เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ แต่มีอยู่จริงๆ พระโพธิสัตว์ท่านก็เลยทำด้วยอานุภาพของตนให้สื่อสารเป็นภาษามนุษย์ได้ ทีนี้พระโพธิสัตว์ก็ถามว่า ในอัตภาพล่วงแล้ว ท่านเป็นอะไร? ก็คือชาติที่แล้วนี้ เกิดเป็นอะไรมา หนอนก็ตอบว่าเป็นมเหสีของพระเจ้าอัสสกะชื่ออุพพรี แล้วถามว่า บัดนี้ พระเจ้าอัสสกะได้มาอยู่ตรงหน้าเจ้าแล้วนี้ จะกลับไปเป็นมเหสีสุดที่รักของพระองค์อีกหรือไม่? พระเจ้าอัสสกะได้ยินคำถามจากดาบสก็ดีพระทัย หวังจะให้นางนี้ตอบรับ แล้วก็เผื่อดาบสนี้จะใช้ฤทธิ์ของท่านให้นางฟื้นคืนชีพ สิ่งเหล่านี้ คนที่เข้าใจผิดๆ ทำมานาน โดยเฉพาะอียิปต์ ทำไมต้องทำมัมมี่เอาไว้ มัมมี่ฟาโรห์ มัมมี่ของมเหสี มัมมี่ของคนชั้นสูง ก็เผื่อว่าจะกลับมา จะฟื้นคืนชีพ ด้วยความหลงผิดเข้าใจผิด ก็ทำมัมมี่กันอย่างนี้ อันนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่พระราชาเก็บศพเอาไว้ก็คิดว่าสักวันหนึ่งจะฟื้นคืนชีพ ทีนี้หนอนตัวนั้นก็พูดว่า ไม่เจ้าค่ะ ในครั้งนั้นพระราชาเป็นสวามีของข้าพเจ้าก็จริง แต่บัดนี้ข้าพเจ้ามีสามีใหม่เป็นที่รักยิ่ง แม้จะให้สังหารพระเจ้าอัสสกะ เอาเลือดจากพระศอมาล้างเท้าสามีใหม่ของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ทำได้ โอ...ตอบขนาดนั้นน่ะ พระราชาจากที่ทั้งห่วงหา ทั้งรักอยู่ดีๆ เสียอกเสียใจขึ้นมาทันทีว่า เจ้าพูดอย่างนี้ได้อย่างไร เมื่อก่อนเคยรักกันดีกันขนาดไหน จะเห็นได้ว่าความสุขและความทุกข์เก่าถูกความทุกข์และความสุขใหม่บดบังไปเสียแล้ว เพราะเกิดชาติใหม่มันลืมหมด มันลืมไปหมด คนที่เราเคยรักเคยผูกพันห่วงหาอาทรขนาดไหน เมื่อตายไปแล้ว ไปอยู่ภพภูมิใหม่มันลืมหมด เพราะระลึกชาติไม่ได้ มันกดทับ มันเป็นวงจรของธรรมชาติ จากนั้น พระราชาก็ได้สติขึ้นมา ก็ถอนลูกศรคือความเศร้าโศกเสียใจออกไปได้ แล้วพระองค์ พระองค์ก็คือพระศาสดานี้ ตรัสประชุมชาดกว่า พระเจ้าอัสสกะในครั้งนั้น ก็คือภิกษุรูปนี้ที่กำลังกระสันอยากจะสึก ที่พระพุทธเจ้าเล่าเรื่องนี้ก็เพราะว่า มีภิกษุรูปหนึ่งอยากสึกมาก เพราะคิดถึงภรรยาเก่า ฉันไม่ได้ นอนไม่หลับ บิณฑบาตมาก็ขดอยู่ในห้อง ข้าวบูดอยู่ในบาตร ประมาณนั้น คิดถึง พอไปบิณฑบาต ไปรับบาตรกับภรรยาเก่า แล้วภาพ ภาพมันจดอยู่ในห้วงแห่งความคิด ปรุงแต่งตลอดเวลา อยากจะสึก พระพุทธเจ้าก็เลยยกเรื่องนี้มาให้ฟัง ก็บอกว่า เธอนี้ในอดีตก็คือพระเจ้าอัสสกะ ส่วนภรรยาเก่าของเธอก็คือพระเทวีอุพพรีหรือว่าหนอนมูลโค ส่วนมานพนั้นก็คือสารีบุตร ส่วนดาบสที่ช่วยให้สติเธอตอนนั้นก็คือเราตถาคตในบัดนี้
จากเรื่องที่ยกมานี้ ก็คือพระศาสดา พระพุทธเจ้านี้ยกให้ฟังว่า ความเศร้าโศก ความรัก พอเวลามันจะอยู่ในภพภูมิไหน มันมีกันตลอด แล้วทำไมถึงยินดีพอใจ อย่างหนอนมูลโคนี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นสัตว์ชั้นต่ำมาก มันเกิดจากเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย เชื้อธุลี แต่ว่าจะเกิดในภพภูมิไหน มันก็ยินดีพอใจในภพภูมินั้น ๆ เพราะมันมีกิเลสตัวหนึ่งที่เป็นตัวนำมาเกิด คือตัณหา ตั้งแต่ที่เคยเล่าที่ว่าปฏิสนธิแรกที่เป็นจุดเล็ก ๆ เหมือนหยาดน้ำมันใส เหมือนน้ำมันงา จุดกำเนิดแรกของคนในนั้นมันมีปฏิสนธิจิต ก็คือจิตที่ตัวนำมันเกิด แล้วก็ ภวนิกันตโลภชวนะ คือความยินดีพอใจ ติดอกติดใจในภพชาติ ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเกิดอยู่ในภพภูมิไหน ก็พอใจในความเป็นอย่างนั้น ๆ เพราะว่ามันเป็นวงจรของธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติ
จากตรงนี้จะทราบได้เลยว่า จิตใจนี้ถ้ายังไม่ถอนลูกศร คือความโศกออกไป ด้วยวิปัสสนาปัญญา ด้วยสติ ด้วยสมาธิ มันก็โศกเศร้าเสียใจ แล้วก็ประวัติศาสตร์โลกไม่นานมานี้ อย่างเช่น ทัชมาฮาล ทุกคนเคยได้ยินทัชมาฮาลนะ สร้างขึ้นมาเมื่อประมาณ ๕๐๐ ปีก่อน ในยุคเดียวกันกับพระเอกาทศรถของประเทศไทย
พระเจ้าชาห์จาฮาน มีมเหสีองค์หนึ่งที่รักกันมาก รักเดียวใจเดียวด้วย ไปไหนมาไหนไปด้วยกันตลอด แม้กระทั่งออกสงครามก็ไปออกรบด้วยกัน มีลูกด้วยกันถึง ๑๔ คน พระมเหสีองค์เดียวนี้คือรักกันมาก วันหนึ่งพระนางตกเลือดตอนคลอด ตอนให้ประสูติกาล ลูกคนที่ ๑๔ พระเจ้าชาห์จาฮานเสียอกเสียใจ เหมือนกับพระเจ้าอัสสกะคนนี้แหละ เสียใจ อยากทำสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดให้พระนาง ก็คือทัชมาฮาล เป็นสุสานหินอ่อน ใช้เงินในท้องพระคลังมากมาย จนสร้างเสร็จ พอสร้างเสร็จแล้ว พระองค์ก็ อย่างนี้เลยนะ เสด็จไปทุกวัน ๆ ก็อยู่กับหลุมศพ จนมีความคิดที่จะสร้างทัชมาฮาลสีดำขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำยมุนา แต่พระโอรสองค์ใหญ่คือพระเจ้าออรังเซพเห็นว่าพระราชบิดาใช้ทรัพย์ในท้องพระคลังหมดไปมาก เพราะสิ่งที่เอามาสร้างทัชมาฮาลนี้มีแต่ของล้ำค่าทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะของในประเทศนะ แต่ว่าเป็นของล้ำค่าจากนานาอารยประเทศ อัญมณี ของประดับต่างๆ เอามาประดับตรงนี้หมด ถ้าจะสร้างอีกองค์หนึ่งประเทศยากจนแน่ ราชวงศ์โมกุลที่เป็นราชวงศ์ของกษัตริย์อิสลาม พระเจ้าออรังเซพก็เลยยึดอำนาจ แต่ไม่ได้ฆ่านะ แต่ให้ขังเอาไว้ ขังเอาไว้ที่พระราชวังอัครานี้ มีช่องหน้าต่าง สามารถมองเห็นทัชมาฮาล พระเจ้าชาห์จาฮานสูญเสียพระนางไปตั้งเป็นสิบ ๆ ปี แต่ความเศร้าโศกไม่เคยถอนออกไป มองผ่านช่องหน้าต่างไปที่ทัชมาฮาล คือหลุมศพของพระมเหสีทุกวัน อยู่ในที่คุมขัง ๘ ปี จึงสิ้นพระชนม์ลง ในประวัติศาสตร์บันทึกว่า เหมือนกับเอาเศษแก้วหรือเศษอะไรสักอย่างนี้เชือดพระศอคือฆ่าตัวตาย
ถ้าเรามองดูอีกมุมหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสาร ด้วยบุพกรรม พระองค์ถูกกักขังเหมือนกัน ถูกลูกก็คือพระเจ้าอชาตศัตรูกักขัง แต่ว่าพระองค์เป็นโสดาบัน พระองค์ก็มองผ่านหน้าต่าง เพื่อที่ไปเห็นพระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าที่เขาคิชฌกูฏ ลูกสั่งให้คนเอามีดมากรีดเท้าเพื่อไม่ให้พ่อเดินจงกรมได้ เพราะรู้ว่าบีบอย่างไรก็ไม่ตายสักที ให้อดอาหารก็แล้วก็ยังมีความสุข มีอายุอยู่ได้ด้วยการเดินจงกรม ให้เอามีดมากรีดเท้าเดินจงกรมไม่ได้ ทนพิษทรมานด้วยบาดแผล แต่ว่าพระองค์มองชายผ้ากาสาวพัสตร์ที่อยู่ที่พระคันธกุฎี กุฏิของพุทธเจ้าที่เขาคิชฌกูฏ ทุกวัน ๆ ด้วยความเลื่อมใสในพระบรมศาสดาจนกระทั่งสวรรคตลง พระราชา ๒ องค์นี้ประวัติศาสตร์คล้ายกัน แต่ว่าคติที่ไปนั้นต่างกันมาก พระเจ้าพิมพิสารสวรรคตลง แต่ว่าเป็นพระอริยะเจ้า ภพภูมิท่านแน่นอน ไม่ต้องลงอบาย แต่พระเจ้าชาห์จาฮานนี้ตายลงด้วยความรัก ด้วยความเศร้าโศก เศร้าโศกด้วยพลัดพรากจากพระมเหสี เศร้าโศกที่ต้องมาถูกกักขัง จิตที่ดับลงด้วยจิตที่เศร้าโศก เพราะฉะนั้น คติทางไปจึงแตกต่างกัน
ทุกคนที่ผ่านมานี้ ตลอดระยะเวลาแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ น้ำตาที่หลั่งออกมาเพราะความเสียใจ เพราะการร้องไห้จากการพลัดพรากจากคนรัก ของรัก จากการประสบพบเจอกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ตลอดระยะเวลากี่ล้านชาติที่เวียนว่ายตายเกิดมา เพราะอวิชชาเป็นตัวนำด้วยความไม่รู้หลงทำผิดทำถูก น้ำตามากกว่าน้ำในทะเลเสียอีก ไม่ใช่น้อยแล้วก็ไม่รู้จะจบลงเมื่อใด ถ้ายังไม่ได้ตัดวงจรแห่งวัฏสงสาร แต่ว่าจิตใจของพระอริยเจ้านี้ไม่มีรัก คือไม่มีความรักแบบสิเนหะแบบที่เป็นยางเหนียว เพราะท่านตัดรักได้แล้วโดยสิ้นเชิง มีแต่ความรักความเมตตาแบบอัปปมัญญาไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ ดังนั้น ใจของท่านจึงไม่แห้ง ไม่มีโศก ดังพระบาลีว่า “เปมโต วิปฺปมุตฺตสฺส นตฺถิ โสโก กุโต ภยํ ” เมื่อไม่รักแล้ว ความโศกก็ไม่มี ความกลัวก็ไม่มี กล่าวคือ ความแตกต่างของหัวใจของปุถุชนกับใจของพระอริยเจ้านั้นนี้ไม่เหมือนกัน ใจของพระอริยเจ้านั้นเป็นใจไม่อยากรัก ส่วนใจของปุถุชนนั้นอยากรัก แต่มันก็อดรักเพราะไม่มีจะรัก ใจของพระอริยเจ้านั้นท่านสุขอยู่ในตัวเอง ไม่ต้องไปพึ่งความรักวัตถุภายนอก คนภายนอก ส่วนใจของคนธรรมดาไม่สุขอยู่ในตัว แต่สุขเพราะรัก รักวัตถุ รักสิ่งของ ส่วนใหญ่รักคน รักเพศตรงข้าม พอหมดรักแล้วมันเลยแห้งใจ ไม่ว่าจะเป็นเราหมดรักหรือว่าคนอื่นหมดรักนี้ เหมือนปลาไม่มีน้ำ มันก็จะแห้งอยู่อย่างนั้นแหละ เหมือนจะตาย แต่มันไม่ตาย มันดิ้น ต้องหาความรักใหม่ไปเรื่อยๆ เหมือนกับเป็นการเติมน้ำให้ปลาที่น้ำจะแห้ง สุดท้าย ชีวิตก็ไม่ได้อะไร จบลงแบบนี้ก็เสียชีวิตหรือว่าเสียโอกาสไปอีกชาติหนึ่งแล้วที่ต้องมาจมปลักอยู่ในโคลนตม จมปลักอยู่ในน้ำแห่งความรัก จมปลักอยู่ในความแห้งใจ จมปลักอยู่ในความเศร้าโศก อย่างเราเป็นคนธรรมดา ปุถุชนเมื่อเวลาคิดจะรักใครแล้วก็ขอให้ระวังอยู่สักหน่อย เพราะความรักมันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ เราอย่าไปทุ่มเทความรักของเราไปทั้งหมด มันจะต้องเหลือไว้บ้าง ที่ว่าเหลือ ไม่ใช่ให้รักเผื่อเลือกนะ แต่ให้รักไว้เผื่อความผิดหวัง จะได้มีน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจไว้บ้าง จะได้ไม่แห้งผากไปเสียหมดเวลาเสียใจขึ้นมา มีนักปราชญ์บางท่านบอกว่า ให้แบ่งความรักของเราไว้ ๓ ส่วนคือ เอาไว้รักคนที่เรารัก ทุ่มเทไว้กับการงาน แล้วก็สงวนพลังไว้เพื่อความผิดหวัง ความที่เราจะระวังจิตใจของเราไม่ให้หลงไปด้วยอำนาจของความเศร้าโศกนี้จึงจะเป็นมงคลอย่างยิ่ง ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว ขณะที่ใจของท่านอยู่กับพระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ความรักจะเข้าไปรบกวนท่านไม่ได้ ตัดได้
ใจท่านจึงไม่แห้ง ไม่มีโศก ความจริงจิตที่ไม่โศก จิตที่บริสุทธิ์ จิตที่เกษมปลอดภัยนี้ เป็นจิตของพระอรหันต์เท่านั้น มงคลข้อที่ ๓๕ ๓๖ ๓๗ ๓๘ สี่ข้อนี้ เป็นสภาพจิตของพระอรหันต์ ก็คือจิตที่ไม่หวั่นไม่ไหวด้วยโลกธรรม จิตที่ไม่เศร้าโศก จิตที่บริสุทธิ์ คือปราศจากธุลี แล้วก็จิตที่เกษมปลอดภัย แต่สำหรับปุถุชน อย่างไรนี้ ก็ต้องมีความเศร้าโศกอยู่บ้าง เพราะฉะนั้น พระบาลีบางครั้งจึงเรียกปุถุชนว่า โศกีประชา แปลว่าเหล่าสัตว์ผู้ยังต้องเศร้าโศกอยู่ คนมีกิเลสอยู่เรียกว่าคนยังต้องเศร้าโศก เพราะมีเรื่องจะต้องให้เศร้าให้โศกจนได้นั่นแหละ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องร้องห่มร้องไห้ น้ำตาเป็นเผาเต่าตลอดทั้งวันทั้งคืน ยังมีเวลาที่จิตใจผ่องใสเบิกบาน ไม่โศกไม่เศร้าเป็นครั้งเป็นคราวหรือว่าหลายครั้งหลายคราว
ท่านผู้รู้ ท่านก็ให้วิธีปฏิบัติ เพื่อไม่ให้จิตเศร้าโศกเสียใจเมื่อคราวเผชิญกับความผันผวนของชีวิต มีอยู่ ๒ วิธีด้วยกัน
๑. ให้เจริญมรณสติ คือพิจารณาถึงความตายไว้เสมอว่าชีวิตเราไม่ยั่งยืน เราเกิดมาแล้วไม่กี่ปีก็ต้องตาย ความตายต่างหากที่มันยั่งยืน เมื่อนึกถึงความตายบ่อยๆ เข้านี้ จะเข้าใจความจริงของชีวิต ไม่ประมาทในชีวิต ความโลภโมโทสันก็จะลดลง ความอยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็น อยากเด่นอยากดัง มันจะเบาบางลง
๒. ก็คือให้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เจริญสติ เจริญสมาธิ จนกระทั่งมรรคผลเกิดขึ้น ถึงขั้นนี้แล้ว รับรองว่าไม่เศร้าไม่โศก ไม่เสียใจเลย
ในอรรถกถาท่านเล่าเรื่องของคน ๕ คนที่เจริญมรณสติอยู่เป็นประจำ
จนเข้าถึงความจริงของชีวิตไว้อย่างน่าสนใจ ขอนำมาถ่ายทอดให้ฟังดังนี้ วันหนึ่ง พ่อกับลูกชายคนโตของครอบครัวไปทำนา ขณะที่พ่อไถนาอยู่ ลูกชายถูกงูกัดตาย พ่อวางคันไถ อุ้มศพลูกชายวางไว้ที่คันนา สั่งคนไปบอกภรรยาว่า วันนี้ให้นำอาหารไปให้พอสำหรับคนเดียวกินก็พอนะ ไม่ต้องจัดไว้ ๒ ชุด ภรรยาคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกชายเป็นแน่ จึงชวนลูกสะใภ้ ลูกสาวคนเล็กแล้วก็คนรับใช้ในบ้านไปด้วย พอไปถึง ต่างคนต่างก็ช่วยกันหาไม้มาก่อเป็นเชิงตะกอน ยกศพขึ้นเผาด้วยใบหน้าอันสงบ ไม่มีใครโศกเศร้าเสียใจเลย ร้อนถึงท้าวสักกะคือพระอินทร์ ปลอมเป็นพราหมณ์เฒ่า เข้ามาถามว่าทำไมไม่มีใครร้องไห้เสียใจสักคนนี้ ทั้งที่คนที่ตนรักตายไปทั้งคน ผู้เป็นพ่อก็ตอบว่า ลูกชายฉันตายไปก็เหมือนกับงูลอกคราบเก่าทิ้งเท่านั้น เขาไปตามทางของเขาแล้ว เขาไม่รับรู้หรอกว่า ญาติพี่น้องเขาคร่ำครวญหวนไห้ถึงหรือไม่ คิดดังนี้จึงไม่ร้องไห้ให้เสียน้ำตา เพราะคนฉลาดถึงร้องไห้ไปคนตายก็ไม่รับรู้หรอก เพราะเขาไปเกิดแล้ว ตายแล้วเกิดทันทีนะ ไม่ใช่ล่องลอยวนอยู่กับญาติ ที่เราสัมผัสกันว่าวนอยู่กับญาติ นั่นคือเกิดแล้ว แต่อยู่ในภพภูมิที่เรียกว่าอสุรกาย เพราะห่วง ห่วงลูกห่วงหลาน ห่วงทรัพย์สินศฤงคาร ห่วงบ้าน ห่วงอะไรต่างๆ นี้ เพราะมีห่วง มันถึงต้องวนเวียนอยู่ตรงนั้น แล้วผู้เป็นแม่ก็บอกว่า เวลาเขามา เราก็ไม่ได้เชิญเขามา เวลาเขาไป เขาก็ไม่ได้บอกเรา เขามาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น ถึงเราร้องไห้ถึงเขา เขาก็ไม่รู้ ฉันคิดดังนี้ จึงไม่ร้องไห้ ก็จริงนะ เวลามาก็ไม่ได้เชิญมา ตั้งแต่ท้องขึ้นมานี้ เราไม่รู้หรอกว่า ลูกมาเกิดเป็นใคร เหมือนแขกที่มาจากต่างโลก เหมือนแขกที่มาจากต่างภพภูมิที่มาอยู่ในท้องเรา ไม่รู้หรอกว่ามาจากไหน ด้วยบุญด้วยกรรมทำร่วมกันมา มันนำมา แต่เนื่องจากว่าด้วยความเลี้ยงดูฟูมฟักทะนุถนอมอยู่ในท้อง ๙ เดือน ๑๐ เดือน ผูกพันเป็นแม่เป็นลูก พอเวลาจะตายไปไม่ได้ร่ำลา เพราะความตายมันไม่ได้มีนิมิต ไม่ได้มีเครื่องหมาย คนที่คิดแบบนี้ไม่ใช่ว่าไม่รักนะ แต่ว่าเข้าใจในความเป็นจริงของโลก ภรรยาเก่าของเขาตอบว่า คนที่ร้องไห้ถึงคนที่ตายไปแล้วไม่ต่างอะไรกับเด็กร้องไห้อยากได้พระจันทร์ อยากได้พระอาทิตย์ ร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือดก็ไม่ได้ดวงจันทร์ ไม่ได้ดวงอาทิตย์มาเป็นของเล่น เพราะว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ น้องสาวเขาก็พูดว่า ถ้าฉันมัวแต่ร้องไห้ถึงเขาก็จะผ่ายผอมไปเปล่า เขาไม่รู้เห็นหรอกว่าญาติมิตรเศร้าโศกถึงเขา เมื่อคิดอย่างนี้จึงไม่ร้องไห้ คนใช้ในบ้านนั้นก็พูดว่า หม้อที่แตกไปแล้วประสานใหม่ไม่ได้ นายฉันตายแล้วกลับคืนไม่ได้ เมื่อคิดแบบนี้จึงไม่ร้องไห้ คนที่เข้าใจในชีวิตนี้เขาจะไม่โศกเศร้าฟูมฟายเกินเหตุ เมื่อถึงคราวพลัดพราก
แล้วก็มีอีกเรื่องหนึ่ง นางมัลลิกาซึ่งเป็นภรรยาของพันธุลเสนาบดี เสนาบดีพร้อมกับลูกอีก ๓๒ คนไปออกรบ แต่ว่าเป็นกลลวงของพระเจ้าปเสนทิโกศล ให้คนลอบฆ่า ด้วยมีคนยุแยงตะแคงรั่วว่า เสนาบดีท่านนี้กับลูกนี้จะเป็นกบฏ พอได้ยินคำว่ากบฏ มันเสียดแทงใจของพระเจ้าปเสนทิโกศล ท่านก็เลยไม่ได้พิจารณาอะไร สั่งคนลอบฆ่า ฆ่าจนตายหมด มีคนส่งข่าวเอาหนังสือใส่ในชายพกมา ใส่ในกระดาษจดมาให้ มาส่งข่าวให้กับภรรยาท่านคือนางมัลลิกา ขณะนั้นนางมัลลิกากำลังเลี้ยงพระอยู่ ทั้งพระสารีบุตร พระอานนท์ พระอรหันต์สาวกมากมาย ตอนนี้กำลังเสิร์ฟอาหารหรือเรียกว่าอังคาสนี้ กำลังอังคาส มีคนใช้ของนางนี้ลื่นทำภาชนะแตกตรงหน้าพระ ทีนี้ น่าจะพระอานนท์ ก็เกรงว่านางมัลลิกาจะดุคนใช้ ก็บอกว่าวัตถุภาชนะทั้งหลายมันมีอันแตกไปเป็นธรรมดานะ มันแตกไปแล้ว นางมัลลิกาเป็นโสดาบัน นางก็เลยหยิบจดหมาย คือนางรู้ นางเปิดจดหมายดู อ้อ...ว่าตอนนี้สามีกับลูกเราเสียชีวิตแล้ว นางก็เก็บอาการเสียใจ เก็บจดหมาย แล้วก็เลี้ยงพระต่อไป ก็เลยส่งจดหมายให้พระคุณเจ้าดู บอกว่า ท่านเจ้าคะ ขนาดสามีแล้วก็ลูกๆ ของดิฉันนี้ตายไปทั้งหมด ดิฉันยังไม่ได้เสียใจเลย นับประสาอะไรกับภาชนะที่มันจะแตกไป จากตรงนี้เป็นเครื่องวัดได้ว่า พระอริยเจ้าระดับโสดาบันที่เป็นเบื้องต้น ท่านทำใจเป็น ไม่ร้องห่มร้องไห้ฟูมฟาย ท่านทำใจเป็น ท่านอนาถบิณฑิก นางวิสาขา ลูกหลานมากมาย บางทีนางก็ร้องไห้เหมือนกัน นางวิสาขานางร้องไห้ แต่ว่านางเข้าใจ เข้าใจในความเป็นจริงของโลก เข้าใจในความเป็นจริงของชีวิต ของสังขาร
เพราะฉะนั้นแล้ว ในโลกนี้ มีสิ่งอยู่ ๕ ประการที่ไม่ว่าจะเป็นใครในโลกนี้ จะเป็นสมณพราหมณ์ ผู้ขลัง ผู้ศักดิ์สิทธิ์ จะเป็นเทวดา มาร พรหม หรือว่าใครๆ ในโลก ไม่พึงจะให้ได้ มีอยู่ ๕ อย่าง ๑. ขอให้ข้าพเจ้าอย่าแก่ ๒. ขออย่าให้ข้าพเจ้าเจ็บป่วย ๓. ขออย่าให้ข้าพเจ้าตาย ๔. ขอสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดาของเรานี้ ก็คือพวกวัตถุสิ่งของอะไรนี้ มันอย่าเสื่อมไปนะ มันอย่าสิ้นไปนะ แล้วก็อย่างที่ ๕ ขอสิ่งที่มันมีความฉิบหายเป็นธรรมดาของเรา อย่าฉิบหายไป พร ๕ ข้อนี้ไปบนบานไปขอที่ไหนก็ไม่มีใครให้ได้ จะไปจุดธูป จะไปไหว้ภูเขา จะไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะไปบนบานอะไร หรือแม้กระทั่งจะไปขอกับพระพุทธเจ้าเอง บอกว่า ขออย่าให้ข้าพระองค์แก่ ขออย่าให้ข้าพระองค์เจ็บป่วย ขออย่าให้ข้าพระองค์ตาย มันให้ไม่ได้ เพราะว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นเรื่องของชีวิต สิ่งทั้ง ๕ ประการนี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าไม่พิจารณารู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังขารก็จะทำให้เราเป็นทุกข์ แต่อริยสาวกผู้ได้สดับรับฟังข้อความแห่งธรรมนี้ พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงของความไม่เที่ยง พิจารณาสิ่งเหล่านี้บ่อยๆ ผู้นั้นจะไม่มีความเศร้าโศก ย่อมดับทุกข์ร้อนได้ด้วยตนเอง
พวกเราปุถุชนทั่วไปนี้ แม้ยังไม่สามารถตัดรักได้เด็ดขาด แต่ถ้าหมั่นทำสมาธิ เจริญสติ เจริญมรณานุสติเป็นประจำ ก็จะทำให้ความรักที่มันมีอิทธิพลเหนือใจเรานี้ มันจะไม่มีอิทธิพลมากอีกต่อไป มีสติดี มีความเด็ดเดี่ยวก็จะมีจิตที่เศร้าโศกน้อยกว่าคนทั่วไป อาการก็จะไม่หนักหนาสาหัสนัก เพราะนึกถึงความตาย แล้วทำให้ใจมันคลายออกจากความรัก ที่ท่านว่า“นึกถึงความตายสบายนัก มันหักรักหักหลงในสงสาร ช่วยกำจัดความมืดโมหันอันธการ ทำให้หาญหายสะดุ้งไม่ยุ่งใจ” จึงเป็นต้นทาง จะทำให้คลายออกจากความรัก ซึ่งเป็นต้นทางของความเศร้าโศก พอคิดว่าเราเองก็ต้องตาย จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เท่านี้ก็เริ่มจะได้คิด ความโศกความรักเริ่มหมดไปจากใจ มีสติมาพิจารณาตนเอง ไม่ประมาท ขวนขวายในการสร้างความดี เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญภาวนาเต็มที่ ก็จะสามารถทำ
พระนิพพานให้แจ้ง แล้วก็จะเป็นผู้ตัดความรักตัดความโศกออกจากใจได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด
พระพุทธองค์ตรัสว่า “ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์ที่มากมายหลายอย่างนี้มีอยู่ในโลก ก็เพราะว่าอาศัยสัตว์หรือว่าสังขาร ก็คือการปรุงแต่งในสิ่งอันเป็นที่รัก เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร่ำไร ความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ที่มีความสุข ปราศจากความโศก เพราะเหตุนั้น ผู้ใดปรารถนาความไม่โศกอันปราศจากกิเลสดุจธุลีแล้ว ไม่พึงทำสัตว์ หรือว่าวัตถุ สิ่งของ สังขารใดๆ ในโลกไหนๆ ให้เป็นที่รักของเราเลย”
ดังนั้นแล้ว ต้องทราบเลยว่า ใจของพระพุทธเจ้า ใจของพระอรหันต์ คือใจที่ไม่มีความทุกข์ เป็นใจที่มีความเห็นถูกต้อง สิ่งที่มาเกี่ยวข้อง ท่านได้เห็นตามความเป็นจริง คือเห็นอริยสัจ ๔ ว่า ทุกข์ทางกายมันเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ ใจที่เป็นตัวผู้รู้ของท่านนั้นนี้ เป็นใจที่บริสุทธิ์ ไม่มีอวิชชา ไม่มีความหลง เป็นธรรม
เป็นปัจจุบันธรรม แต่ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็มีกับท่านทุกท่านทุกองค์
แต่ว่าใจของท่านไม่มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก สิ่งที่แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากนั้น มันเป็นแต่สภาวธรรม ที่เป็นผลของกรรม คือผลของการกระทำที่นำท่านมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ใจของท่านที่ได้พระนิพพานแล้ว ก็คือใจของท่านนิพพานไปแล้วเมื่อตรัสรู้ เรียกว่ากิเลสนิพพาน คืออวิชชาความหลงมันนิพพาน กิเลสมันตายลงไป ยังเหลือแต่ร่างกายที่เอาไว้ทำคุณประโยชน์ เผยแผ่ช่วยเหลือประชาชน ใจท่านไม่มีความโศก อยู่ที่ไหนก็มีแต่ความสุขใจ มีแต่ความดับทุกข์ มีแต่พระนิพพาน พระนิพพานเป็นเรื่องของจิตของใจ ที่มีหลายอาจารย์บรรยายนิพพานเป็นเมือง เป็นนคร เป็นวัตถุ เป็นปราสาท เป็นวิมานนั้นล้วนแต่เป็นอาการทางจิตใจ คือนิมิต ไม่ใช่พระนิพพานที่แท้จริง พระนิพพานได้แก่จิตใจของเราที่หมดกิเลสสิ้นอาสวะ ไม่มีอวิชชา ไม่มีความหลง ผู้ที่สิ้นอาสวะ จะรู้ได้เฉพาะตน ไม่มีใครมาแต่งตั้งให้ ไม่มีใครมาประพฤติปฏิบัติแทนเราได้ ผู้ที่ประพฤติ ผู้ที่ปฏิบัติ ถ้าจิตใจละสังโยชน์ได้ ๓ คือละความเห็นแก่ตัว ความที่เป็นตัวกู ของกู ความลังเลสงสัย ความประพฤติย่อหย่อนอ่อนแอ ละสังโยชน์ ๓ ก็จะมีความสุขในระดับหนึ่ง ละสังโยชน์ ๕ ก็คือละกาม ละพยาบาท ละความโกรธได้ ก็จะมีความสุขขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ถ้าละสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐ ก็จะมีความสุข ความดับทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง เป็นบรมสุขที่รู้ได้เฉพาะตน
เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผู้ที่โชคดี กาลเวลาเป็นของมีค่า จึงขอเชิญได้มาปฏิบัติ เพราะอริยมรรคมีองค์ ๘ ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เป็นการพัฒนาทางกายทางใจไปพร้อม ๆ กัน เป็นเหตุที่ดี ได้พากันปิดอบายมุข ปิดอบายภูมิให้กับตนเอง มีปัญญา ไม่หลง ไม่ประมาท มีความสุขในการปฏิบัติ มีอยู่ มีกิน มีใช้ ด้วยสติ
ด้วยปัญญา ด้วยความเป็นธรรม ด้วยความเป็นปัจจุบันธรรม ให้เรานี้เอาความเป็นมนุษย์ที่ไม่มีหนี้มีสินที่มีความสุขเป็นทางผ่าน เอาสวรรค์ที่เป็นความสุข ที่เป็นสุขอย่างละเอียด สุขอันเป็นทิพย์ให้เป็นทางผ่าน แล้วไม่ติดไม่หลง มีวิปัสสนา เป็นปัญญาที่เห็นแจ้งตามความเป็นจริงของกายของใจ ที่น้อมลงสู่ไตรลักษณ์ให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นการทำลายอวิชชาความหลง ความยึดมั่นถือมั่น ความเห็นแก่ตัว เป็นผู้ที่เข้าถึงปัจจุบันธรรม เป็นผู้ไม่มีความโศก เป็นผู้ที่เรียกว่าสุคะโต อยู่ก็ดี ไปก็ดี พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องปฏิบัติตาม มรรคมีองค์ ๘ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู ซิกข์ ศาสนาใดๆ ก็ตามหรือไม่มีศาสนาก็ตาม ถ้าหากประพฤติปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างนี้ จิตใจก็จะมีแต่ความสุข มีแต่ความสงบ ความร่มเย็นแล้วก็อบอุ่น เหมือนหน้าหนาวที่มีฮีตเตอร์ช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เหมือนหน้าร้อนก็มีแอร์คอนดิชันที่ให้ความเย็นอยู่ในตัวที่เป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรมไปอย่างนี้
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัย และบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ