แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๒๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๒๖ การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน อันเป็นการหมดกิเลสสิ้นอาสวะทั้งปวง
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจจงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันอังคารที่ ๒๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล วันนี้ขึ้นมงคลข้อที่ ๓๔ “นิพฺพานสจฺฉิกิริยา” ซึ่งแปลว่า การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
เมื่อเห็นอริยสัจแล้ว ก็เข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ ถ้าเราไม่รู้อริยสัจ ๔ แล้ว เราก็ไม่ได้ประพฤติ ไม่ได้ปฏิบัติ เราก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ เราก็จะหยุดปัญหาไม่ได้ การเวียนว่ายตายเกิดมันไม่หยุด พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระพุทธบารมีตั้งหลายล้านชาติ ทรงรู้อริยสัจ ๔ ปฏิบัติตามอริยสัจ ๔ ถึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เรียกว่า ตายจากกิเลส สิ้นอาสวะ ตายจากอวิชชาที่มันพาท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร ความหลงทั้งหลายทั้งปวงได้หยุดลง เรียกว่ากิเลสนิพพาน คือความหลงมันนิพพานไปแล้ว มันดับไปแล้ว แม้ว่าร่างกายของพระพุทธเจ้ายังไม่ได้นิพพาน ต่อจากนั้นอีก ๔๕ ปี พระวรกายถึงจะปรินิพพาน นิพพานเป็นเรื่องของปัญญา เรื่องรู้ เรื่องเห็นอริยสัจ ๔ อริยสาวกก็ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ พระนิพพานนี้เป็นเรื่องจิตเรื่องใจที่หมดกิเลสสิ้นอาสวะ นิพพานไม่เหมือนบ้าน ไม่เหมือนปราสาท ไม่ใช่เมือง ไม่ใช่นคร ไม่ใช่ภพภูมิ เป็นเรื่องสิ้นกิเลสสิ้นอาสวะ เป็นการหยุดการเวียนว่ายตายเกิด สิ่งที่เป็นพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่นิติบุคคล สิ่งที่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพก็ไม่ใช่นิติบุคคล สิ่งที่เป็นพระศาสนาไม่ใช่นิติบุคคล เป็นเรื่องหยุดก่อนอวิชชา หยุดก่อนวัฏสงสาร เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มี สิ่งที่จะเกิดต่อไปก็ไม่มี ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นสภาวธรรม เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เมื่อไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยแล้ว เรื่องมันก็จบ เราทำ เราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เข้าใจเหมือนพระพุทธเจ้า เราถึงจะแก้ปัญหาได้
ศาสนาต่างๆ ก็มาในแนวเดียวกันนี่แหละ ผ่านสวรรค์ ผ่านพรหมโลก ที่เรายังมีความเข้าใจผิดคิดว่านิพพานคงจะเป็นอย่างโน้น คงจะเป็นอย่างนี้ นิพพานไม่ได้มี ไม่ได้เป็น เป็นสภาพที่ไม่มีอะไรปรุงแต่ง ที่เราเอานิมิตมาพูดกัน อันนั้นมันเป็นอาการของจิต ผู้ที่รู้พระนิพพาน คือผู้ที่หมดกิเลสสิ้นอาสวะ รู้ได้เฉพาะตน ไม่มีใครให้ยศให้ตำแหน่ง ไม่มีใครแต่งตั้งให้ได้ ไม่มีใบประกาศ นียบัตรให้ ทุกท่านทุกคนต้องเข้าใจพระพุทธเจ้า เข้าใจพระศาสนา นี่เป็นสัจธรรม เป็นความเป็นจริง เป็นอริยสัจ ๔ เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ พระพุทธเจ้าถึงมีความสุข ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอยู่ที่ไหนก็มีแต่ความสุข มีแต่ความดับทุกข์ พระอรหันต์ถึงมีแต่ความสุข ความดับทุกข์ เป็นความสุขที่ไม่เกี่ยวกับอามิส คือวัตถุสิ่งของที่เป็นเหยื่อของโลกที่คนหลงใหลติดกันอยู่
“นิพพาน” หมายถึงความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์ เป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาของเรา คำว่านิพพานเป็นคำที่ใช้กันในปรัชญาหลายระบบในอินเดีย โดยใช้ในความหมายของการหลุดพ้น แต่การอธิบายเกี่ยวกับสภาวะของนิพพานนั้น แตกต่างกันออกไปตามสติปัญญาความสามารถของศาสดา ของเจ้าลัทธิ ในปรัชญาอุปนิษัทเชื่อว่านิพพาน หรือว่า ”โมกษะ” โมกษะมาจากบาลีว่า “โมกขะ” แปลว่าความหลุดพ้น ก็คือที่เราใช้กันคำว่า “โมกข์” ข-ไข่ การันต์ คือการที่อาตมันย่อยหรือชีวาตมัน เข้ารวมเป็นเอกภาพกับพรหมมัน นี่คือของพราหมณ์ “พรหมมัน”ก็คือ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระพรหม สูงสุดแค่ความเป็นมหาพรหม แต่ในพระพุทธศาสนาอธิบายว่า นิพพานคือการหลุดพ้นจากอวิชชา จากตัณหา ซึ่งแสดงออกในรูปของความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ได้หมายความว่า เป็นการหลุดพ้นของอัตตาหรือว่าตัวตนในโลกนี้ไปสู่ภาวะของพระนิพพาน คำสอนของอุปนิษัทก็คือของพราหมณ์ไม่ได้หมายความเหมือนอย่างนั้น แต่ความหมาย หมายถึงดับสนิทของพุทธศาสนาเรานี้ หมายถึงดับสนิทแห่งความเร่าร้อน แล้วก็เครื่องผูกพันร้อยรัดทั้งหลายทั้งปวง เราลองนึกดูง่ายๆ กองไฟที่มันร้อนระอุ พอมันดับลงจะเป็นความเย็นทันที ความทุกข์ ความเร่าร้อนที่มันเผาอยู่ภายในใจด้วยความโลภ ด้วยไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ มันเผาให้ร้อนอยู่ทุกวี่ทุกวัน ทุกๆ อนุวินาทีแต่เรามองไม่เห็น เพราะมันมีม่าน ม่านคืออวิชชา คือความหลงบังเอาไว้ จึงทำให้เหมือนกับคนตาบอด ถึงมีตาดีก็เหมือนกับคนตาบอดเพราะมองไม่เห็น เมื่อกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลายทั้งปวงมันดับลงจึงเป็นนิพพาน คือเป็นความเย็น เย็นแบบสนิท ดับสนิท
พระพุทธศาสนาถ้าปราศจากนิพพานแล้วก็ไม่เกิดเป็นศาสนาขึ้นมา ในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี เจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา พระองค์ก็ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม โดยทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิ ทรงต่อยอดด้วยวิปัสสนา จนกระทั่งได้ญาณ ๓ ยามต้นทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้ ทั้งในอดีตและอนาคต ทั้งของตนและก็ของผู้อื่น ทรงรู้แจ้งแทงตลอดทั้งหมด ยามที่ ๒ ก็คือประมาณสี่ทุ่ม(๒๒:๐๐ น.) ถึงตี ๒(๐๒:๐๐ น.) ทรงบรรลุจตูปปาตญาณ รู้การเกิดการดับของสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการมีตาทิพย์ สามารถมองเห็นการเกิดขึ้นการตายของวิญญาณทั้งหลาย ยาม ๓ คือยามสุดท้าย ตั้งแต่ตี ๒ เป็นต้นมาจนถึงก่อนอรุณขึ้น ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ คือรู้วิธีกำจัดกิเลส ด้วยอริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ยามต้น ยามกลางเป็นผลของสมาธิ ถ้านับก็คืออยู่ในอภิญญา การที่ระลึกชาติได้ การที่มีตาทิพย์ที่เป็นทิพยจักษุเป็นผลของสมาบัติ แต่ในยามสุดท้ายที่พระองค์ทรงบรรลุอาสวักขยญาณนี้เป็นผลของวิปัสสนา ทรงรู้วิธีกำจัดกิเลสด้วยอริยสัจ ๔ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยามสุดท้ายก่อนที่จะสว่างนี่แหละที่พระองค์ทรงบรรลุคือพระนิพพาน ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับอาสวักขยญาณ ญาณปัญญาที่สิ้นกิเลสอาสวะ
ในสมัยก่อนพุทธกาล คำว่านิพพานเป็นคำที่ใช้สื่อสารกันอยู่ในชีวิต ประจำวัน แต่เมื่อผู้ที่แสวงหาการพักผ่อนทางจิตวิญญาณรับคำนี้มา ความหมายก็เปลี่ยนไปอีกนัยหนึ่ง ตามสติปัญญาที่เจ้าลัทธิในยุคนั้นจะค้นพบความสงบเย็นของจิตใจได้ แต่โดยเนื้อหาสาระแล้ว ก็ยังสื่อถึงความดับความเย็นอยู่นั่นเอง แต่เหตุที่ทำให้จิตใจเย็นนั้ มีแตกต่างกันไป
บางยุคบางสมัยก็พบว่าความสุขที่เกิดจากกามารมณ์ เมื่อได้เสพกามเต็มที่หรือว่าความสงบที่เกิดจากสมาธิที่เป็นสมาบัติ นั่นคือนิพพานตามความหมายของพราหมณ์ ที่อาจารย์ทั้งสองของพระพุทธเจ้าคือท่านอาฬารดาบส อุทกดาบส ท่านก็เข้าใจว่าสมาบัติ ๘ ของท่านนั้นแหละคือนิพพาน เพราะมันตัน มันไปต่อไม่ได้ บางลัทธิก็บอกว่าอยู่ในสวรรค์ ไปเกิดในสวรรค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระผู้เป็นเจ้า ก็จะเห็นได้ว่า ตามประวัติศาสตร์โลกสอนแต่เรื่องทวยเทพเทวดาที่มาก่อนพระพุทธเจ้าอีก ในอียิปต์ก็เป็นเทพไอคุปต์ แถวกรีกโรมันก็เป็นเทพปกรณัมกรีก มีมหาเทพซุสอยู่บนเทือกเขาโอลิมปัส เต๋า ลัทธิเต๋าที่มีมาก่อนพุทธอยู่ในประเทศจีน ก็สอนเรื่องเทพเทวดา เง็กเซียนฮ่องเต้ ความจริงก็คือองค์เดียว กันนั่นแหละ จะมหาเทพซุส หรือว่าเง็กเซียนฮ่องเต้หรือว่าพระอินทร์ องค์เดียว กันทั้งหมด เอามาเรียกต่างกันเฉยๆ แต่องค์เดียวกัน สวรรค์ก็สวรรค์เดียวกัน ไม่ได้แบ่งแยกว่าอันนี้สวรรค์ของกรีก อันนี้สวรรค์ของอียิปต์ อันนี้สวรรค์ของไทย อันนี้สวรรค์ของเต๋า ความจริงแล้วมันคืออันเดียวกัน ขนาดโลกมนุษย์ที่เราอยู่ยังโลกเดียวกันเลย แผ่นดินผืนน้ำเดียวกัน ดินฟ้าอากาศก็อันเดียวกัน ลมหายใจก็อากาศเดียวกัน นรกสวรรค์ภพภูมิก็อันเดียวกัน เพียงแค่มาแบ่งแยกตามความคิดตามปัญญาของนักคิดนักปราชญ์ในอดีตทั้งหลายที่มาแบ่งแยกกัน แต่ความจริงคืออันเดียวกัน มรรคมีองค์ ๘ ก็เช่นเดียวกัน ใครประพฤติ ใครปฏิบัติก็ถึงความดับคือพระนิพพานเช่นเดียวกัน คนคริสต์ คนอิสลาม คนอียิปต์ คนจีน คนกรีก คนโรมันมาเจริญวิปัสสนาก็บรรลุพอๆ กัน เพราะไม่ได้เกี่ยวถึงการแบ่งแยกเชื้อชาติศาสนาเพราะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือใช้ความหมาย คือคำว่าสัตว์โลกก็อยู่ในโลกเดียวกัน เพราะฉะนั้น อยู่ที่ว่าปัญญาของศาสดาจะนำพาไปถึงได้เพียงแค่ไหน
พระพุทธองค์เมื่อทรงออกบวชใหม่ๆ ก็ได้เดินทางไปศึกษาเรื่องนิพพาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมนักปราชญ์ นักปฏิบัติ โยคี ดาบสสมัยนั้นจนได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะสมาบัติ ก็คือสมาบัติ ๘ ที่เรียกว่าเป็นนิพพานของศาสนาพราหมณ์ แต่ก็กลับเห็นว่าไม่ใช่นิพพานที่แท้จริง มันแค่ข่มกิเลสไว้เฉยๆ กิเลสมันก็ยังมีอยู่เต็มหัวใจ ยังเป็นปุถุชนเต็มขั้น แล้วพระองค์จึงได้ลาจากอาจารย์ มาค้นคว้าหานิพพานด้วยพระองค์เอง เพราะพระองค์ทรงคิดว่ามันต้องมีต่อ มันไม่ได้ตันแค่นี้ เพราะพระองค์ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ทางจิตใจ ทรงค้นพบต่อไป ลองผิดลองถูก ด้วยการทำทุกรกิริยาอยู่เกือบ ๖ ปี จนกระทั่งได้ตรัสรู้ธรรม ค้นพบพระนิพพานที่แท้จริง ไม่ใช่นิพพานที่มีสอนกันอยู่อย่างที่แล้วๆ มา พระพุทธองค์เมื่อทรงได้ค้นพบความสงบเย็นอย่างสูงสุด สูงกว่าความสุขที่เกิดจากกาม สูงกว่าความสุขที่เกิดจากสมาธิ จากฌานสมาบัติจึงเรียกภาวะนั้นว่านิพพานเช่นกัน แต่ได้อธิบายความหมายเสียใหม่ว่าความสิ้นไปแห่งตัณหา คือความอยากทั้งหลายทั้งมวลนี้สิ้นไปแห่งความอยากให้เรื่องของกาม ความอยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็น อยากเด่นอยากดัง ความไม่อยากเป็นอย่างนั้น ไม่อยากเป็นอย่างนี้ มันหมดสิ้นไปจึงเป็นพระนิพพาน ส่วนมรรควิธีคือเส้นทางปฏิบัติที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งซึ่งพระนิพพาน ก็คืออริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องเป็นเบื้องต้น มีสัมมาสมาธิเป็นที่สุดนั่นเอง
เรื่องนิพพานนี้เป็นเรื่องที่ยาก แล้วก็เหลือวิสัยที่สามารถจะอธิบายบรรยายได้ถูกต้อง แต่ถึงกระนั้น ก็ต้องอธิบายตามแนวทางของพระไตรปิฎก แล้วก็อุปมาที่ท่านยกขึ้นมาเปรียบเทียบ เพื่อให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น คำว่า นิพพาน เมื่อแยกออกแล้วมาจาก ๒ คำด้วยกัน คือคำว่า นิ + วาน, นิ = พ้น, วาน = ธรรมที่เป็นเครื่องเกี่ยวโยงไว้ คือตัณหา เมื่อรวม ๒ บทเข้าด้วยกันแล้ว นิวาน = ธรรม ที่พ้นจากเครื่องเกี่ยวโยง ก็คือ หมายถึงพ้นจากตัณหา ท่านได้ให้ความหมายไว้ว่า “วินติ สํสิพฺพตีติ วานํ”ธรรมชาติใดย่อมเป็นผู้เกี่ยวไว้ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า “วาน” ได้แก่ ตัณหา “วานโต นิกฺขนฺตนฺติ นิพฺพานํ” ธรรมชาติใดย่อมพ้นจากเครื่องเกี่ยวโยงคือตัณหา ธรรมชาตินั้น สภาวะนั้น คุณลักษณะแบบนั้นชื่อว่านิพพาน ท่านได้ให้คำอธิบายไว้ว่า ตามธรรมดาของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลก ความเกิด ความตายของแต่ละบุคคลที่ผ่านมาแล้ว มากมายจนไม่สามารถจะคำนวณได้ว่าเคยเกิดเคยตายมาแล้วเท่าไหร่ ต่อไปข้างหน้า ความเกิดความตายก็จะมีอยู่อย่างนี้ไปเรื่อย ถ้าหากจะเอากองกระดูกของเราที่เวียนว่ายตายเกิดจนถึงทุกวันนี้ กี่ภพกี่ชาติเอามากองรวมกันนี้ กองกระดูกคงจะใหญ่กว่าภูเขาหิมาลัย น้ำตาที่หลั่งออกมาเพราะความร้องไห้ เสียอกเสียใจ ด้วยความพลัดพรากจากคนรักของรัก ประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก เสียอกเสียใจ ปรารถนาอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจ น้ำตาที่ร้องไห้ออกมาที่หลั่งออกมามากกว่าน้ำในทะเล เลือดเนื้อก็มากขนาดนั้น เพราะ ฉะนั้น มันสุดจะคณานับได้ เพราะอะไรจึงต้องเวียนอยู่อย่างนี้? ก็เพราะไม่รู้อริยสัจ เพราะไม่ได้ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เพราะยังมีตัณหาเป็นตัวนำ ความทะยานอยาก ความพอใจ ติดใจ ต้องการในอารมณ์ต่างๆ นั่นเองเป็นเครื่องเกี่ยวสัตว์ไว้ไม่ให้หลุดพ้นไปจากความเกิด ความตายได้ ท่านเปรียบเหมือนกับช่างเย็บผ้า ที่เอาผ้าหลายๆ ชิ้นมาเย็บให้ติดต่อกัน ตัณหาเปรียบเหมือนกับช่างเย็บผ้า คือเกี่ยวสัตว์เอาไว้ในภพภูมิเก่าแล้วก็ให้ติดอยู่ในภพภูมิใหม่ไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ จึงชื่อว่า วานะ เป็นอย่างนั้นจริงๆ
ตั้งแต่เรามาเกิด ตัณหาเป็นตัวนำมาเกิด เกิดจากตัณหาของพ่อของแม่ พ่อแม่สมสู่กันเสพพันกัน เกิดมาจากตัณหาของพ่อของแม่ ปฏิสนธิจิตครั้งแรกตั้งแต่อยู่ในท้องแม่นี้ ตั้งแต่เราที่มาเกิดอยู่ในท้องแม่ ในวิทยาศาสตร์ของหมอเขาก็ต้องเอาเครื่องอุลตร้าซาวด์มาส่อง ๒ เดือนไปแล้วถึงจะรู้ว่าท้อง แต่พระพุทธเจ้าทรงรู้ลึกกว่านั้น ทรงรู้แม้กระทั่งว่า จุดกำเนิดของคนที่เหมือนกับหยาดน้ำใสๆ ที่มันเกิดมาจากสเปิร์มตัวแข็งแรงที่สุดของพ่อมาชนกับรังไข่ของแม่ มันไม่ได้มีแค่จุดใสๆ แต่มันมีจิตวิญญาณ ปฏิสนธิวิญญาณ แล้วก็มีกิเลสตัวหนึ่ง “ภวนิกันติโลภชวนะ” คือความยินดีพอใจ ติดอกติดใจในภพภูมิ คือตัวตัณหานี่เอง จะเกิดเป็นอะไรก็ยินดีอยู่อย่างนั้น เป็นสัตว์ก็ยินดีในความเป็นสัตว์ เป็นคนก็ยินดีในความเป็นคน เป็นเทวดาเป็นพรหม เป็นโน่นเป็นนี่ ก็ยินดีในความเป็นของตัวเอง เพราะตัณหามันเย็บ มันต่อ มันคอยทอ เหมือนกับเย็บผ้าเอาไว้ สำหรับพระนิพพานนั้นเป็นธรรมชาติที่พ้นจากตัณหาไปแล้ว จึงชื่อว่านี่ “นิวาน” ตามความหมายของภาษา คำว่า “วาน” เป็นชื่อของธรรมชาติ เป็นชื่อของสิ่งที่ไม่ดี คือมันชื่อของกิเลส แต่พอมีคำว่า “นิ” มาอยู่ข้างหน้า มันจึงกลายเป็นของดีที่สุดไป เช่นเดียวกับคำว่าขีณาสพ เราเคยได้ยินบ่อย อรหันตขีณาสพ “ขีณาสพ” มาจากคำว่า ขีณ + อาสว, ขีณ = หมด แปลว่าสิ้น ภาษาสันสกฤตใช้คำว่าเกษียณ ภาษาไทยก็เอามาใช้เต็มๆ ก็คือคำว่าเกษียณ สิ้นอายุราชการ ก็ใช้คำว่าเกษียณอายุ ก็คือคำบาลีว่า “ขีณ” แปลว่าสิ้น อาสวะก็คือกิเลสที่มันหมักหมมอยู่ในสันดาน มันเป็นของไม่ดี แต่พอ “ขีณ” มานำหน้า กลายเป็นขีณาสวะ หรือขีณา สพ กลายเป็นของดี ก็คือแปลว่า สิ้นกิเลส สิ้นอาสวะ คำว่า “นิวาน” ก็เช่นเดียวกัน “นิวาน” ก็คือ “นิ” แปลว่าไม่ เป็นคำปฏิเสธ เหมือนภาษาอังกฤษคำว่า no พอมาอยู่ตรงข้างหน้าคำว่า “นิวาน” ก็คือคำว่านิพพาน ก็คือไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลายทั้งปวง เพราะดับอวิชชา ดับตัณหา ดับอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น กิเลสทั้งหมดได้หมดสิ้นไป
ทีนี้ คำแทนชื่อที่ใช้เรียกพระนิพพานนี้มีมากมายหลายชื่อ แต่ที่เราได้ยินกันบ่อย แล้วก็ ทุกรูปที่บวชมาต้องได้ยิน นั่นก็คือว่า คำสรุปสุดท้ายของคําบอกอนุศาสน์ตรงที่ว่า "อเนกปริยาเยน โข ปน เตน ภควตา ชานตา ปสฺสตา อรหตา สมฺมาสมฺพุทฺเธน สีลํ สมฺมทกฺขาตํ สมาธิ สมฺมทกฺขาโต ปญฺญา สมฺมทกฺขาตา ยาวเทว ตสฺส” ตรงนี้ “มทนิมฺมทนสิส ปิปาสวินยสฺส อาลยสมุคฺฆาตสฺส วฏฺฏูปจฺเฉทสฺส ตณฺหกฺขยสฺส วิราคสฺส นิโรธสฺส นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย” ซึ่งความหมายก็แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นอเนกปริยาย แล้วทรงแสดงไว้โดยชอบซึ่งศีล ทรงแสดงสมาธิไว้โดย ชอบทรงแสดงปัญญาไว้โดยชอบ จนกว่าจะกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
๑.“มทนิมฺมทโน” แปลว่าสร่างความเมา คำนี้ไพเราะมาก “มทนิมฺมทโน” ที่มันทำความเมาให้สร่างไป หมายถึง หมดความเย่อหยิ่งในชาติวรรณะ ในตระกูลว่าตนเองเลิศกว่าคนอื่น หมดความมัวเมาเพราะยศตำแหน่ง หลงอำนาจ ไม่เพลิดเพลินไปตามวัย ตามความมั่งมี ด้วยความอำนวยความสะดวกทั้งหลายทั้งปวง ทุกอย่างที่มีที่มันทำให้เราหลง จนกระทั่งเสียการเสียงาน เพราะเมา เมาในอายุ เมาในวัย เมาในชีวิต เมาในความสวยความงาม เมาในทรัพย์สมบัติ ความเมามันสร่างไป มันหมดไป เมื่อพระนิพพานเกิดขึ้น
๒. “ปิปาสวินโย” นำออกเสียซึ่งความกระหาย คือหมดความกระหายอยากที่เป็นไปด้วยอำนาจของตัณหา กระหายน้ำ ดื่มน้ำแล้วมันก็อิ่ม แต่ความกระหายอยากด้วยอำนาจของตัณหา กิเลสที่มันมายุอยู่ในใจนี้ มันไม่อิ่มมันไม่เต็มหรอก เหมือนไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ ทะเลไม่อิ่มด้วยน้ำ จิตที่มันโลภ มันก็ไม่เคยอิ่มเต็มด้วยตัณหา
๓. “อาลยสมุคฺฆาโต” ถอนขึ้นด้วยดีซึ่งความอาลัย คือการถอนอาลัยคือถอนตัณหาได้อย่างเด็ดขาด เช่น ตัณหาที่อยากในกาม รูปก็สวย เสียงก็ไพเราะ กลิ่นก็หอม อาหารก็อร่อย ถูกต้องสัมผัสก็ดี มันถอนออกได้
๔. “วฏฺฏูปจฺเฉโท” ความเข้าไปตัดซึ่งวัฏฏะ ก็คือตัด ตัดภพตัดชาติ ตัดวัฏสงสาร ตัดการเวียนว่ายตายเกิด เพราะอำนาจของกิเลสกรรมวิบากที่มันนำพาเรามาเกิดนี้ เหมือนอยู่ในวงกลม cycle of life วงกลมของชีวิตด้วยกิเลส กิเลสมีความอยาก มีความหลง มีความมืด มีความบอด พอหลงแล้วมันทำให้ทำกรรม พอทำกรรมแล้วมันไม่ใช่หายไปกับสายลม มันมีผลของกรรมดีกรรมชั่วเป็นวิบาก มันก็วนอยู่อย่างนี้ เป็นวงกลมอยู่อย่างนี้ มันออกไม่ได้ แต่พอพระนิพพานเกิด มันตัด มันตัดวงกลม เหมือนผ่าวงกลมออกไป แบ่งวงกลมออก จึงทำให้พ้นออกจากวัฏสงสารได้ คือเช่นว่า เมื่อเกิดกิเลสขึ้นนี้ทำกรรม ทำกรรมได้รับผลของกรรม แล้วก็กิเลสมันก็กลับเกิดมีขึ้นอีก จึงเป็นเหตุทำให้วนอยู่อย่างนี้จนกว่าจะตัดวงจรแห่งวัฏฏะได้ด้วยอริยมรรค อริยผล จนถึงพระนิพพาน
๕. “ตณฺหกฺขโย” สิ้นไปแห่งตัณหา นั่นก็คือว่า สิ้นตัณหาสาม คือความอยากในกาม อยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็น อยากเด่นอยากดัง ไม่อยากเป็นอย่างนั้น ไม่อยากเป็นอย่างนี้ มันตัดออกได้หมดสิ้นไปหมด
๖. “วิราโค” คือวิราคะ สิ้นกำหนัด ปราศจากกามราคะ เพราะกามราคะมันเป็นเชื้อ มันเป็นยาง มันเป็นเชื้อที่มันติดอยู่กับเมล็ดพันธุ์ที่มันทำให้งอกเงยอยู่ในภพภูมินั้นภพภูมินี้ เพราะว่ามีเชื้อกาม
๗. “นิโรโธ” ก็คือความดับ ดับตัณหาได้สิ้นเชิง ปราศจากความทุกข์ นิพ พานัง ธรรมชาติที่ไม่มีเครื่องเสียดแทง คือการดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงเสียได้ ทั้งหมดทั้งมวลนี้
คำทั้ง ๘ นี้มีปรากฏอยู่ตรงที่คําบอกอนุศาสน์ ที่พระพุทธองค์ทรงให้ประพฤติปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา จนกว่าจะกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ที่เป็นที่ทำความเมาให้สร่าง นำออกเสียซึ่งความกระหายอยาก ด้วยอำนาจของตัณหา ถอนอาลัย ตัดวัฏฏะ สิ้นตัณหา สิ้นกำหนัด จนกระทั่งถึงความดับคือพระนิพพาน
ทีนี้ นิพพานมี ๒ อย่าง ในคัมภีร์ท่านก็ได้จำแนกไว้ ๒ ลักษณะ ก็คือว่า
สอุปาทิเสสนิพพาน คือดับกิเลส แต่ว่ายังมีร่างกายเหลืออยู่ คือกิเลส ความยึดมั่น ถือมั่น ทั้งหลายทั้งปวงมันดับไป แล้วก็เหลือร่างกายนี้เพื่อมาใช้ทำคุณประโยชน์แก่ชาวโลก เป็นการตายครั้งแรก เรียกว่าตายก่อนตาย นิพพานครั้งแรกเรียกว่าตายก่อนตาย ตายก่อนตายในที่นี้หมายถึงว่า กิเลสมันตาย แต่ร่างกายยังอยู่ แต่เอาร่างกายที่เหลือนี้ ทำคุณประโยชน์แก่ชาวโลก เพราะว่ากิจของท่าน กิจของตนได้ทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก ท่านก็เอาร่างกายนี้บำเพ็ญประโยชน์ ดังเช่นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ องค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เมื่อท่านเสร็จภาระหน้าที่ของท่าน กิจของท่านจบลงแล้ว ท่านก็ใช้ธาตุขันธ์ของท่านทำประโยชน์แก่ชาวโลก แก่พระศาสนา แล้วก็
นิพพานอย่างที่สองก็คือว่า อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีขันธ์ ๕ เหลืออยู่ เมื่อร่างกายชีวิตินทรีย์นี้มันหมดอายุขัยลง ร่างกายมันก็ต้องดับลงไปตามอายุขัย จึงเป็นการนิพพานอย่างสมบูรณ์ ก็คือกิเลสนิพพานไปนานแล้ว ขันธนิพพาน ก็คือร่างกายขันธ์ ๕ ก็แตกดับไปตามธรรมชาติ คืนสู่ธรรมชาติ แล้วก็โดยการเข้าถึงนิพพาน
การเข้าถึงมีสามลักษณะคือ
๑. อนิมิตตนิพพาน หมายถึง นิพพานนั้นไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีรูปร่าง การสงัดจากนิมิตอารมณ์ที่ทำให้เกิดกิเลส หรือว่าความแก่ ความตาย เป็นต้น เรียกว่านิพพานไม่มีนิมิต ผู้เจริญวิปัสสนาจนสามารถเห็นสามัญลักษณะ คือความเป็นจริงของไตรลักษณ์ เห็นอนิจจังคือความไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นทุกข์ มันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นอนัตตา คือบังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ไม่ใช่ตัวกูของกู เห็นชัดอย่างนี้ จนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นอารมณ์ นิพพานที่เป็นอารมณ์แก่ผู้ที่เห็นอนิจจังนั้น คือเห็นความไม่เที่ยง ชื่อว่า อนิมิตตนิพพาน คือผู้ที่เห็นนิพพานโดยที่ไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย ด้วยอำนาจของปุพเพกตปุญญตา คือบุญเก่าแต่ปางก่อนแรง ด้วยอำนาจของศีล
๒. อัปปณิหิตนิพพาน หมายถึง นิพพานนั้นไม่มีอารมณ์เป็นที่น่าปรารถนา การสงัดสงบจากความดิ้นรนอันเป็นเหตุให้เกิดสรรพทุกข์ทั้งปวง เรียกว่าอัปปณิหิตนิพพาน ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนาจนกระทั่งเห็นไตรลักษณ์ คือทุกข์ ความทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรเปลี่ยนไป อันหาเป็นปณิธิ ก็คือหาที่ตั้งไม่ได้เช่นนี้แล้ว เพ่งความทุกข์ต่อไปจนกระทั่งบรรลุมรรคผลพระนิพพาน เป็นบุญเก่า เป็นอานิสงส์เก่า เป็นผลแห่งการประพฤติปฏิบัติแรงด้วยกำลังของสมาธิ
๓.สุญญตนิพพาน หมายถึง นิพพานสูญสิ้นจากกิเลสและความยึดมั่นถือมั่นและขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือกายใจไม่มีอะไรเหลืออยู่ ผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนาจนกระทั่งเห็นไตรลักษณ์ ท่านเห็นอนัตตาชัด เห็นความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นความว่างเปล่า เช่นนี้แล้ว เพ่งอนัตตาต่อไปจนบรรลุมรรคผล มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ นี่เป็นผลของการปฏิบัติ เป็นปุพเพกตปุญญตา เป็นบุญเก่า แรงด้วยอำนาจของปัญญา
สามลักษณะนี้จึงหมายถึงว่า ผู้ที่พิจารณาเห็นอนิจจังนี้ชัดเจนจนกระทั่งบรรลุนิพพานด้วยการเห็นอนิจจัง ด้วยอำนาจของศีลที่แรง เห็นทุกข์ได้อย่างชัดเจน เห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นไตรลักษณ์อย่างที่ ๒ ชัดเจน จนกระทั่งเห็นทุกขเวทนาชัด จนบรรลุตรงนั้น กำลังแห่งสมาธิกล้า อย่างที่ ๓ ปัญญาแรงกล้า จะเห็นอนัตตาอย่างชัดเจน ความไม่มีตัวไม่มีตน บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นความว่างเปล่า สุญญตา สามอย่างนี้
พระนิพพานนั้นว่าโดยสภาวะลักษณะแล้วมีอย่างเดียวก็คือว่า สันติลักษณะ คือสงบจากกิเลส แล้วก็ขันธ์ ๕ ที่กล่าวว่า นิพพานโดยสภาวะลักษณะของตนแล้วมีอยู่อย่างเดียวนั้นหมายความว่า ไม่เหมือนกับวัตถุสิ่งของที่มีสิ่งๆ เดียว แต่มีหลายเจ้าของ ฉะนั้น จะใช้ของสิ่งนั้นพร้อมๆ กันไม่ได้ ต้องผลัดกันใช้ทีละคน ส่วนพระนิพพานนั้นไม่เป็นเช่นนั้น พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อปรินิพพานย่อมเข้าสู่สันติสุขด้วยกันทั้งนั้น แสดงให้เห็นว่า นิพพานคือสภาพสุขสงบอย่างแท้จริงที่นับไม่ถ้วน แล้วแต่จำนวนพระอรหันต์ที่ปรินิพพานไป นิพพานนั้นเป็นผลสำเร็จทางจิตใจของบุคคล ซึ่งทำให้เกิดมีขึ้นได้ในชีวิตนี้ ไม่ต้องไปร้องขอตอนตาย บางศาสนาให้อ้อนวอน อ้อนวอนเทพเจ้า จึงทำให้เหมือนกับว่ากว่าจะไปได้อยู่กับพระผู้เป็นเจ้าได้ก็คือหลังตายแล้ว เหมือนกับคนที่จะรักษาโรคให้หายขาดตอนตาย มันจะมีประโยชน์อะไร แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น ไม่ได้สอนให้หาพระนิพพานตอนตาย แต่ให้ประพฤติปฏิบัติเพื่อให้พระนิพพานเกิดตอนที่ยังเป็นๆ อยู่นี่แหละ เพราะตายแล้วมันไม่แน่นอนว่าจะไปทางไหน จะไปเอานิพพานตอนตายไม่ได้ ถ้าจะปรารถนาว่า ขอบรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้น....เทอญนี้ มันไกลไป โน้น....เทอญนี้ ไม่รู้ภพไหนชาติไหน ต้องนิพพานในปัจจุบัน สติ สมาธิ เกิดในปัจจุบัน มันก็ดับทีละขณะ เห็นความเกิดดับของกายของใจดังที่อธิบายไว้อย่างละเอียดในทางสายเอก เพราะฉะนั้น ตามความหมายของมงคลข้อนี้ นิพพานเป็นผลสำเร็จทางจิตใจของบุคคล ซึ่งเกิดมีในชีวิตนี้เอง กระบวนการการสร้างหรือทำนิพพานให้แจ้ง นั่นก็คือว่า ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ปัญญา วิชชา ญาณ แสงสว่างเกิดขึ้น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ก็คือว่า ความหลง ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่นหายไป สภาพนิพพานเกิดขึ้น ผลพลอยได้จากพระนิพพานก็คือว่า สะอาด สว่าง สงบ จิตไม่หวั่นไหว จิตไม่โศก จิตปราศจากธุลี จิตเกษม เป็นต้น
เรื่องของพระนิพพานนั้นเป็นเรื่องที่พูดกันยากและยากที่จะชี้ลงไปได้ว่าอยู่ที่ไหน สำหรับนิพพานของพระอรหันต์ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ เราก็กล่าวได้ว่านิพพานอยู่ที่จิต อยู่ที่ใจของท่านนั่นเอง แต่นิพพานโดยสภาวะที่มีอยู่นั้น อยู่ไหน? คนเราตั้งคำถามนี้ แล้วก็สงสัยกันมาตลอดเพราะยังไม่ถึง เพราะว่าชีวิตประจำวันของเรานั้นนี้ เมื่อพูดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นต้องเข้าใจว่ามีอยู่ เช่นว่า นราธิวาสอยู่ทางใต้ของประเทศไทย เชียงรายอยู่ทางเหนือ แล้วก็วัดพระแก้วอยู่ในกรุงเทพฯ อย่างนี้ มันก็มีอยู่ นรกสวรรค์เราก็รู้ว่ามีอยู่ เพราะสัมผัสได้ ที่เราพูดถึงนั้นเป็นวัตถุซึ่งมีรูปมีร่างจึงมีอยู่อันจำกัด เราสามารถบอกที่อยู่ได้แน่นอน เช่น สถานที่นี้อยู่ในอเมริกา สถานที่นี้อยู่ที่อังกฤษ สถานที่นี้อยู่จีน อยู่อียิปต์ เป็นต้น แต่นิพพานนั้นเป็นสภาวธรรม ไม่จำกัดสถานที่ ไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลา เพราะฉะนั้น จึงบอกไม่ได้ว่า นิพพานอยู่ที่ไหน ถ้าบอกไปว่าอยู่ที่นั่นอยู่ที่นี่ เท่ากับว่านิพพานเป็นตัวเป็นตนนิพพานเป็นอัตตา แต่ความจริงนิพพานไม่ใช่อัตตา เป็นการผิดความหมาย ถ้าบอกว่านิพพานเป็นเมืองแก้ว นิพพานเป็นเมืองสวรรค์ นิพพานมีวิมาน เป็นเมืองแก้วชั้นนั้นชั้นนี้ ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ไปถวายข้าวพระ พุทธเจ้าอย่างนี้ นี่คือถือว่าผิดพลาดไป ซึ่งเป็นความผิด เพราะพระนิพพานเป็นอนัตตา นิพพานมีคุณลักษณะ ซึ่งไม่มีคุณลักษณะใดๆ ที่เรารู้แล้วนี้เหมือน ฉะนั้น การบรรยายลักษณะของนิพพาน ท่านอุปมาได้เหมือนกับเป็นการเปรียบเทียบให้ฟัง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวที่อยู่ของนิพพานด้วยการปฏิเสธ เช่น ทรงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย สภาวะนั้น ก็คือนิพพานนั้น มีอยู่ที่ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มี แล้วก็อากาสานัญจายตนะ จนถึงเนวสัญญาอายตนะ ที่เป็นอรูปฌาน อรูปพรหม ก็ไม่ใช่ โลกนี้ก็ไม่ใช่ โลกอื่นก็ไม่ใช่ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ทั้งสองก็ไม่ใช่ อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวเลยซึ่งอายตนะ ก็คือสภาวะนิพพานนั้น ว่าเป็นการมา การไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ ก็คือการตาย เป็นการเกิด คือนิพพานนั้นหาที่ตั้งมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้ นั่นแล ที่สุดแห่งทุกข์
นิพพานเป็นธรรมชาติที่เห็นได้ยากยิ่ง เหตุที่เห็นได้ยากเพราะนิพพานเป็นธรรมชาติอันละเอียดลึกซึ้ง ไม่เหมือนกับสิ่งที่มนุษย์รู้เห็นอยู่ในภพภูมิทั้งสาม ความรู้ ความคิด การคาดคะเนของมนุษย์ก็ย่อมจำกัดขอบเขตอยู่ในภพภูมิทั้งสามนี่เอง เกี่ยวข้องอยู่กับอารมณ์ในภพทั้งสาม ก็คือว่าในวงจรนี้ วงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ก็พูดกันอยู่เฉพาะในนี้ เข้าใจกันอยู่เฉพาะในนี้ กราบไหว้บูชากันอยูก็จะวนอยู่เฉพาะในนี้ แต่พอพูดถึงสภาพนอกโลก นอกวัฏสงสารจึงงงไปหมด ถ้าสิ่งใดอยู่นอกเหนืออารมณ์ของภพภูมิทั้งปวง มนุษย์ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ แม้ผู้ที่จะบรรลุถึงพระนิพพานแล้ว เช่นพระอรหันต์ บางทีท่านก็ไม่สามารถจะอธิบายคุณลักษณะของพระนิพพานได้ คือมันเป็นสิ่งที่เหนือคำพูด เหนือเหตุเหนือผล เหนือวิทยาศาสตร์ เหนือภาษาที่จะสื่อให้คนธรรมดาเข้าใจได้ เพราะไม่มีคำพูดใดๆ ในภาษามนุษย์ จะอธิบายลักษณะของพระนิพพานได้ถูกต้อง เพราะว่าคำพูดของมนุษย์ย่อมถูกบัญญัติขึ้นตามประสบการณ์ของมนุษย์เท่านั้น อย่างคำพูดที่เราพูดกันอยู่ในประเทศไทย คนประเทศอื่นเขาก็ฟังไม่รู้เรื่อง ภาษาประเทศอื่นเราก็ฟังไม่รู้เรื่อง เพราะมันจำกัดอยู่ในภูมิภาค อยู่ในถิ่นนั้นๆ เพราะฉะนั้น สภาวะของพระนิพพานนี้จึงไม่สามารถจะเอาคำบรรยายของมนุษย์มาอธิบายให้เข้าใจได้ นิพพานเป็นภาวะที่พ้นจากสภาพทั้งหลายที่ปุถุชนคนที่หนาแน่นด้วยกิเลสรู้จัก นอกเหนือออกไปจากการรับรู้ที่ถูกความหลง ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่นครอบงำ แล้วก็มันเป็นพ้นวิสัยจากคนธรรมดานี้ เหมือนกับเลื่อนฉากออกก็มองเห็นท้องฟ้า นิพพานไม่มีลักษณะอาการเหมือนสิ่งใดที่คนเราเคยรู้เคยเห็นจึงไม่อาจจะนึกคิดได้ แต่จะว่านิพพานไม่มีก็ไม่ถูก มีอยู่ ถ้าไม่มี พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านจะนิพพานได้อย่างไร แล้วกิเลสท่านไปอยู่ตรงไหนล่ะ? ทำไมท่านไม่มีกิเลส? เป็นเรื่องที่น่าคิด พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ก็มีกิเลสเต็มหัวใจเหมือนกับเรามาก่อน แล้วทำไมท่านถึงสามารถกำจัดมันออกไปได้ สามารถทำลายมันออกไปได้ เป็นเรื่องที่เราต้องมาประพฤติ มาปฏิบัติตาม เพื่อที่จะให้พอนึกถึงสิ่งที่ตนนึกไม่เห็น คิดไม่เข้าใจ บางทีสิ่งที่เราไม่รู้ไม่เห็นนี้ก็เลยเชื่อว่ามันไม่มี เพราะวิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ วิทยาศาสตร์ของคนที่คิดค้นขึ้นมานี้ มันมีขอบเขตจำกัด อย่างที่เคยเล่าอธิบายไว้หลายๆ อย่างนี้ สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งรู้นี้ แต่มีปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเรามานานแล้ว เช่น เรื่องปรมาณู พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นสองพันกว่าปี เรื่องการกำเนิดของโลก เรื่องดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ พวกนี้มีหมด แต่พระพุทธเจ้าไม่ค่อยจะพูดมาก เพราะมันไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ ทุกข์ก็ยังอยู่เท่าเดิม ความเจ็บปวดรวดร้าว เสียอกเสียใจก็ยังมีอยู่เท่าเดิม มันไม่หมดไป พระพุทธองค์จึงเน้นสอนเรื่องความดับทุกข์จริงๆ
ทีนี้ ก็มีข้อเปรียบเทียบที่น่าฟังเรื่องหนึ่งให้เห็นนิพพานชัดๆ นั่นคือ เรื่องปลา มันไม่รู้จักบนบก มีความย่อของเรื่องอุปมาว่า ปลากับเต่ามันเป็นเพื่อนสนิทกัน ปลาอยู่แต่ในน้ำ รู้จักแต่เรื่องราวความเป็นไปในน้ำ แต่เต่ามันเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก รู้จักทั้งบนบก รู้จักทั้งในน้ำ วันหนึ่ง เต่ามันไปเที่ยวบนบกแล้ว ลงในน้ำพบกับปลา ก็เล่าให้ปลาฟังถึงความสดชื่นที่ได้ไปเดินเที่ยวบนผืนดินแห้ง ในท้องทุ่งโล่งที่ลมพัดเบาสบาย พอปลาฟังไปได้สักหน่อย ไม่เข้าใจ อะไรกันนะที่ว่าเดินนี้ พื้นดินแห้งอะไร ทุ่งโล่งๆ ลมพัดผิวเย็นสบาย แม้แต่ความสดชื่นอย่างนั้น ปลามันก็ไม่รู้จัก เพราะมันคิดว่า ความสุขที่ไม่มีน้ำนี้ มันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะปลามันรู้จักแต่เรื่องในน้ำ ลองมันขึ้นไปบนบกสิ มันก็อยู่ไม่ได้ มันก็ดิ้นๆ มันก็ตาย ทีนี้ปลามันทนไม่ได้จึงพูดขัดขึ้นมา แล้วก็ซักถามหาความเข้าใจ เต่าก็เล่าอธิบายด้วยศัพท์บนบก ปลาก็ซักถามด้วยศัพท์ในน้ำ เต่าก็ได้แต่ปฏิเสธ ปลาจะให้เต่าอธิบายด้วยศัพท์ในน้ำ เต่าก็อธิบายไม่ได้ เพราะไม่รู้จะเอาอะไรมาเปรียบเทียบ เพราะปลามันมองไม่เห็น ในที่สุด ปลาก็ลงข้อสรุปไปว่า เต่าโกหก เรื่องที่เล่าไม่จริงทั้งสิ้น จะเดินได้อย่างไร ผืนดินแห้งมีอยู่ตรงไหน ทุ่งโล่งๆ มีอยู่หรือ ลมพัดฉิวเบาสบายต้องตัวแล้วสดชื่น มันก็ไม่มี ตามเรื่องนี้ ความจริงนี้ ปลามันเป็นฝ่ายเข้าใจผิด สิ่งที่เต่ามันเล่านี้มีอยู่จริง แต่พ้นวิสัยของความรู้ของปลา เพราะปลามันยังไม่เคยขึ้นไปอยู่บนบก มันจึงไม่เข้าใจ ข้อเปรียบเทียบอีกอย่างหนึ่ง คือ ความรู้ทางการรับรู้ สัมผัสที่ต่างกันนี้ ตามธรรมดา ความรู้ทางอายตนะของคน ก็คือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ ย่อมมีลักษณะอาการที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่อาจเทียบกันได้ รูปกับเสียงไม่มีอะไรเทียบกันได้ เสียงกับกลิ่นไม่มีอะไรเทียบกันได้ ดังนี้เป็นต้น สมมุติว่าคนผู้หนึ่งตาบอดมาตั้งแต่เกิด ไม่เคยมีสัญญา คือความจำเกี่ยวกับเรื่องรูป คือการมองเห็น ไม่มีใครสามารถไปอธิบายสีเขียว สีแดง สีส้ม สีชมพู หรือว่าลักษณะรูปร่างของต้นไม้ ภูเขา อาคาร บ้านเรือนให้เขาเข้าใจได้ ด้วยความรู้จากสัญญาก็คือความจำที่เขามีทางการรับรู้ ทางอื่นๆ ไม่ว่าจะอธิบายรูปลักษณะนั้นนี้ มันดังมันเบา มันทุ้มมันแหลม มันเหม็นหอม เปรี้ยว หวานอย่างไร หรือถ้าใครไม่มีประสาทจมูกมาแต่เกิด ใครจะอธิบายให้เขาเข้าใจ เรื่องเหม็น เรื่องหอม เรื่องกลิ่นกุหลาบ กลิ่นส้ม กลิ่นมะลิ อะไรอย่างนี้ เขาไม่เข้าใจ เขาคงจะปฏิเสธทีเดียว คนที่ตาบอดมาตั้งแต่เกิดก็เช่นเดียวกันนี้ เขาไม่รู้จักว่าสีเขียวเป็นอย่างไร สีเหลืองเป็นอย่างไร สีแดงเป็นอย่างไร หนักเบา อ้วนผอม เป็นอย่างไร ยิ่งกว่านั้น มนุษย์ที่มีความรู้สึก อายตนะขั้นต้นสำหรับรับรู้ลักษณะอาการต่างๆ ของโลก ที่เรียกว่าอารมณ์นี้ เพียงห้า ถ้ามีแง่ของความรู้ที่นอกเหนือจากนั้นไป มนุษย์ย่อมไม่อาจรู้ เพราะว่าจะคุ้นเคยแค่ ๕ เซนส์(sense) พอ sixth sense เซนส์ที่ ๖ แล้วนี่ เลยเริ่มจะชักงงๆ ไม่เข้าใจ คิดว่ามันไม่มีอยู่จริง เพราะมันงงนี่ พอไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ก็โมเมเลยว่ามันไม่มี ทั้งที่มันมีอยู่ แต่มองไม่เห็น แล้วทีนี้ เพราะไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น นึกไม่เห็นนี้ คิดไม่เข้าใจ ก็เลยฟันธงไปด้วยตัวเองเลยว่ามันไม่มี เหมือนคนที่ไม่เชื่อ นิพพานจะอยู่ตรงไหน อย่าว่าแต่นิพพานเลย นรกสวรรค์ยังไม่เชื่อเลย ชาตินี้ชาติหน้ายังไม่เชื่อเลย คิดว่าตัวเองเกิดมาตายครั้งเดียว อยากทำอะไรก็ทำไป อยากกินเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน ขี้เกียจขี้คร้าน ก็ทำไป เกิดมาเพื่อจะเอา เพื่อจะกอบเพื่อจะโกย เพื่อจะร่ำเพื่อจะรวย หาความสุข ไม่ต้องเกิดไม่ต้องตายอีกแล้วนี้ คิดว่าชาติเดียว ยิ่งคนที่ไม่เชื่อแบบนี้ ท่านเลยบอกว่าเหมือนคนมีตาดีแต่ว่าตาบอด บอดด้วยตาปัญญา เพราะว่าพระนิพพานนี้เป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจ เหมือนกับเต่านี้ยากที่จะไปอธิบายให้ปลาฟังได้ว่าเรื่องบนบกเป็นอย่างไร เหมือนกับคนที่ตาดีไปอธิบายให้กับคนตาบอดฟังว่าสีนั้นสีนี้ ดินฟ้าอากาศเป็นอย่างไร เขาก็ไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่เห็น ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ก่อนที่จะทรงประกาศธรรม ทรงนึกทรงดำริว่าธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ลึกซึ้ง เห็นยาก หยั่งรู้ตามยาก สงบ ประณีต ตรรกะหยั่งไม่ถึง คือไม่ใช่วิสัยของตรรกะ ไม่ใช่วิสัยของนักคิด ไม่ใช่วิสัยของปรัชญา มันละเอียดอ่อน เป็นวิสัยที่บัณฑิตเท่านั้นจะพึงทราบได้ จึงทำให้พระองค์ทรงขวนขวายน้อย ไม่ปรารถนาที่จะทรงแสดงธรรม ประกาศธรรม ท้าว สหัสบดีพรหมทรงทราบเลยมาทูลอาราธนาให้พระองค์ทรงแสดงธรรม แล้วก็มีข้อความที่เป็นคาถาต่อไปว่า ธรรมที่เรารู้ถึงโดยยากเวลานี้ไม่ควรประกาศ ธรรมนี้ไม่ใช่สิ่งที่สัตว์ผู้ถูกราคะ โทสะ ความโกรธครอบงำจะเข้าใจได้ง่าย สัตว์ทั้งหลายผู้ถูกกามราคะย้อมเอาไว้ ถูกกองความมืดคืออวิชชาความหลงห่อหุ้ม จะไม่เห็นภาวะที่มันทวนกระแส ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง เห็นยาก ละเอียดยิ่งอย่างนี้ จนกระทั่งพระองค์ทรงมาอาศัยความกรุณาว่า อุปมาเหมือนกับดอกบัว ๔ เหล่า บัณฑิตผู้ที่มีธุลี คือกิเลสในดวงตาน้อยคงมีอยู่ พระองค์จึงแสดงธรรม จึงทำให้พระพุทธ ศาสนามั่นคงอยู่จนทุกวันนี้
พระนาคเสนเถระ พระอรหันต์สมัยหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ๕๐๐ ปี ตอบปัญหาของพระเจ้ามิลินท์ว่า ผู้ที่ยังไม่ได้นิพพานก็รู้ว่านิพพานเป็นสุข เพราะได้ยิน ได้ยินเสียงของผู้ที่ได้นิพพานว่าพระพุทธเจ้ามีจริง แต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานดับขันธ์ไปแล้วไม่อาจชี้ได้ว่าอยู่ที่ไหน เหมือนกับเปลวไฟที่มันดับไปแล้วก็ไม่อาจจะชี้ได้ว่า เปลวไฟที่มันลุกอยู่เมื่อกี้นี้ มันหายไปไหน อาจชี้ได้เพียงพระธรรมของพระพุทธเจ้าเท่านั้น นิพพานมีอยู่จริง แต่ว่าไม่มีใครอาจแสดงให้เห็นได้ว่า นิพพานมีสี มีรูปร่าง เล็กใหญ่ สั้น ยาว อย่างไร เปรียบเหมือนกับลมนี้ มันมีอยู่ ที่มันพัดแผ่วไปมานี้ แต่ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ลม ตัวมันเป็นอย่างไร หน้าตามันเป็นอย่างไร แต่สัมผัสได้ด้วยความเย็นที่มันต้องกาย เพราะบอกไม่ได้ว่า ลมมันมีรูปร่างอย่างไร อ้วน ใหญ่ กลม สูง ยาว สั้น อย่างไร ไม่รู้ แต่รู้ว่ามันมี นิพพานเป็นของไม่ควรกล่าวว่า เกิดขึ้นแล้ว หรือยังไม่เกิด จักต้องเกิด ไม่ควรกล่าวว่า เป็นอดีต เป็นอนาคตหรือปัจจุบัน ไม่ควรกล่าวว่า เป็นของต้องเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู รู้ด้วยจมูก แล้วก็ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัสด้วยกายอย่างใดเลย นิพพานเป็นของต้องรู้ด้วยใจ พระอริยสาวกผู้ปฏิบัติชอบย่อมเห็นนิพพานด้วยใจที่บริสุทธิ์ สงบ ประณีต เที่ยงตรง ไม่มีเครื่องกางกั้น ไม่มีอามิส ไม่มีอามิสก็คือว่า ไม่ติดเหยื่อของโลก ไม่มีวัตถุ ไม่มีรูปร่าง นิพพานไม่มีของเปรียบ ไม่อาจชี้รูปหรือว่าสัณฐาน วัย ปริมาณแห่งนิพพานได้ ด้วยเครื่องเปรียบเทียบ ด้วยเหตุ หรือว่าด้วยปัจจัย หรือว่าด้วยนัยยะอะไรเลย นิพพานธาตุที่สงบ เป็นสุข ละเอียด ประณีตนั้นมีอยู่ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เมื่อพิจารณาสังขารตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมกระทำให้แจ้งนิพพานธาตุด้วยปัญญา นี่คือคำตอบที่พระนาคเสน พระอรหันต์ตอบพระเจ้ามิลินท์ เพราะพระเจ้ามิลินท์นี้ เชื้อสายกรีก ก็ได้รับเชื้อสายมาเลยว่า เป็นนักคิด นักปรัชญา นักโต้วาที ถามสมณะชีพราหมณ์จนบางวัดนี่ร้างไปเลย เพราะตอบปัญหาของพระเจ้ามิลินท์ไม่ได้ จนกระทั่งพระอรหันต์ พระนาคเสน เป็นผู้มีปัญญา มีปฏิภาณ มีปฏิสัมภิทา ตอบปัญหาของพระเจ้ามิลินท์ได้ทั้งหมด อยู่ในคัมภีร์มิลินทปัญหา เล่มใหญ่พอสมควร จนพระเจ้ามิลินท์ ออกบวช บรรลุเป็นพระอรหันต์ตาม
ที่ตั้งของนิพพานไม่มี นิพพานไม่ได้ตั้งอยู่ในทิศใด แต่นิพพานมี ผู้ปฏิบัติชอบเมื่อเห็นความตั้งและความเสื่อมไปของสังขาร คือกาย ใจ ด้วยการพิจารณา ก็กระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ดังเช่น กองไฟมีอยู่ ที่ตั้งของไฟก็มีอยู่ เมื่อบุคคลเอาไม้มาสีกันเข้า มันก็ได้ไฟฉันนั้น นิพพานเป็นโลกุตระ แปลว่าพ้นจากโลก จึงไม่สามารถจะอธิบายด้วยสิ่งใดๆ ในโลกนี้ พระบรมศาสดาทรงพยายามสื่อให้มนุษย์ได้ทราบด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยการอุปมา ด้วยการเปรียบเทียบ การเปรียบเทียบที่ชัดเจนที่สุดมีอยู่ ๓ เรื่อง คือผู้สัมผัสนิพพานนี้ เปรียบเหมือนกับหยาดน้ำบนใบบัว เหมือนกับเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่ไม่ติดปลายเหล็กแหลม เปรียบประดุจเปลวประทีป ก็คือว่าเปลวไฟที่มันดับ หมดไปทั้งเปลว หมดทั้งประทีป หมดทั้งไข หมดทั้งไส้ อุปมาแรก คือ
๑. จิตของผู้สัมผัสนิพพาน เปรียบเหมือนกับหยาดน้ำบนใบบัว หมายถึงว่า บุคคลผู้เป็นพระอรหันต์นั้น ไม่ติดคือไม่ติดแน่น ไม่ติดพันได้แก่ เป็นผู้ไม่ติด แล้วก็ไม่ติดแน่น ไม่ติดพัน ออกสลัด หลุดพ้น ไม่เกี่ยวข้องกับกิเลสเหล่านั้น มีใจเป็นอิสระอยู่ เหมือนหยาดน้ำ มันไม่ติดอยู่บนใบบัว มันกลิ้งไปกลิ้งมา แล้วมันก็ร่วงลง เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า มุนีผู้สงบ ไม่ติดพันในรูปที่เห็น ไม่ติดพันในเสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้ เหมือนหยาดน้ำบนใบบัวที่ไม่ติดบนใบบัวฉะนั้น คือเห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ความโกรธกระทบ มันก็หลุดออกไป เพราะว่าท่านไม่เก็บเอาไว้ ท่านไม่เอาเข้ามาในใจ เพราะท่านตัด ไม่ได้ต่อ
อุปมาที่ ๒ เมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดที่ปลายเหล็กแหลม ขันธ์ ๕ ทรงตัวอยู่ ไม่ได้แตกไป แล้วก็กองขันธ์ ๕ ในอนาคตไม่ได้มี ส่วนขันธ์ที่เกิดในปัจจุบันก็ดำรงอยู่ เหมือนเมล็ดผักกาดบนปลายเหล็กแหลม ฉะนั้น จิตของพระอรหันต์นี้เปรียบดังเหล็กแหลม ส่วนอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบ เหมือนเมล็ดผักกาด เมล็ดผักกาดมันเล็กมาก พอเอาเมล็ดผักกาดวางบนปลายเหล็กแหลม เมล็ดผักกาดมันได้โอกาสเพียงแค่สัมผัสปลายยอดเหล็กแหลมเท่านั้น มันก็กลิ้งร่วงลงไป มันไม่ได้ติดหนึบอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าปุถุชนเต็มขั้นนี้ ติดหนึบเลย เห็นปุ๊บก็สวยไม่สวย ชอบไม่ชอบ ได้ยินปุ๊บก็ไพเราะ เขานินทาก็เครียด ดมกลิ่นก็เหมือนกัน หอมไม่หอม ชอบไม่ชอบ อารมณ์ ๒ อย่างนี้เกิดตลอด ชอบไม่ชอบ แต่พระอรหันต์ไม่ใช่อย่างนั้น กระทบแต่ไม่กระเทือน มันออกไป
อุปมาที่ ๓ เปลวไฟมันดับลงไป พระพุทธองค์ทรงตรัสอุปมา อนุปาทิเสสนิพพาน ก็คือว่า การตายครั้งที่ ๒ นิพพานครั้งที่ ๒ กิเลสตายแล้ว แล้วก็ร่างกายก็ตายด้วยประดุจดังเปลวประทีปดับลง ดังในบทรัตนสูตรท่อนสุดท้ายที่ว่า “ขีณัง ปุราณัง นะวัง นัตถิ สัมภะวัง วิรัตตะจิตตายะติเกฯ” ตรงนี้ พระขีณาสพเหล่าใด สิ้นภพเก่าแล้ว ไม่มีการเกิดใหม่ ทั้งมีจิตเบื่อหน่ายในภพจะเกิดต่อไป ท่านเหล่านั้นชื่อว่า มีพืชสิ้นแล้ว ไม่มีฉันทะ ความพอใจในภพภูมิงอกขึ้นมาอีก ย่อมดับสนิทเหมือนกับดวงไฟดวงนี้ดับไป หมายความว่า เมื่อเปลวไฟมันดับลงไปนี้ มันหมดทั้งไข หมดทั้งน้ำมัน หมดทั้งไส้เทียน เมื่อพระอรหันต์เสียชีวิต ก็คือละสังขาร จิตแล้วก็รูปกายย่อมดับลง ไม่มีเกิดในภพภูมิอีกต่อไป เหมือนไฟที่มันไหม้จนหมด เทียนก็หมด ไส้ก็หมด ไฟก็ดับลงไป ไม่เหลือเชื้อ อุปมาทั้งสามนี้เป็นการตีความหมายของสภาวะนิพพานเช่นกัน ที่อุปมาแรกเหมือนกับหยาดน้ำบนใบบัว เหมือนกับเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่ไม่ติดบนปลายเหล็กแหลม เปรียบเหมือนกับนิพพานที่กิเลสนิพพาน แต่ว่าร่างกายยังอยู่ คือจิตท่านนิพพานไปแล้ว กิเลสนิพพานไปแล้ว ร่างกายของท่าน ต่อให้มีอะไรมากระทบแต่ไม่กระเทือน มันก็หลุดออกไป ร่วงออกไป ท่านไม่ได้ต่อ เพราะกิเลสอาสวะสิ้นไป ส่วนเปลวแห่งประทีปที่ดับพร้อมไส้ พร้อมไขพร้อมเชื้อนั้น เหมือนกับนิพพานครั้งที่ ๒ นิพพานโดยไม่เหลือเชื้อ
ในความหมายของมงคลข้อนี้ “นิพฺพานสจฺฉิกิริยา” ทำพระนิพพานให้แจ้ง ท่านก็ขยายไว้ว่า “ยถาวุตฺตสฺส นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยา นาม ตสฺส ปตฺติ วา ปจฺจเวกฺขณา วา สาทิฏฺฐธมฺม สุขวิหาร เหตุโต มงฺคลนฺติ เวทิตพฺพา” หมายความว่า การบรรลุก็ดี การพิจารณาเห็นประจักษ์ก็ดีซึ่งนิพพานนั้น ชื่อว่าการทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานนั้นเป็นมงคลอย่างยิ่ง เพราะเป็นเหตุแห่งการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน คือการครองชีพอยู่ด้วยความปลอดโปร่งโล่งเบาในชาติปัจจุบันนี้เอง ไม่ใช่ไปเสวยสุขในภพภูมิใดๆ อีก
ทีนี้ ท่านก็สรุปง่ายๆ ว่า
๑. นิพพานไม่ใช่ภูมิหรือว่าดินแดน ซึ่งมีอยู่แล้วในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ณ เวลานี้ แล้วก็พยายามจะไปกันให้ถึงนี้ แต่ภาวะนิพพานเป็นสภาวะหรือว่าคุณภาพของจิตใจ ซึ่งมีอยู่ในตัวของแต่ละคน
๒. นิพพานเป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นอยู่กับความเชื่อ ความเห็นหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร นิพพานก็ยังเป็นนิพพานอยู่นั่นเอง
๓. นิพพานเข้าใจได้ด้วยการสัมผัสของจริง ไม่ใช่ด้วยการอ่านหรือการฟังคำบรรยาย เหมือนรสอาหารนี้ ต่อให้พรรณนาหยดย้อยอย่างไร มันรู้ไม่ได้หรอก เพราะยังไม่ได้ลิ้มชิมรส แล้วก็
๔. ผู้บรรลุนิพพาน ไม่ต้องออกไปอยู่นอกสังคมหรือว่านอกโลก พระพุทธ เจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านบรรลุพระนิพพาน ท่านตรัสรู้ธรรม ท่านรู้เห็นธรรม ดวงตาเห็นธรรมเกิดนี้ ท่านก็ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ แต่เป็นผู้ไม่ติดในโลก ง่ายๆ ก็คือว่า ไม่ติดทั้งดีทั้งชั่ว รู้ตัวทั่วพร้อมผ่องใส รู้ควรไม่ควรทำอันใด กระทบแต่ไม่กระเทือน นี่คือภาวะไม่ติดทั้งดีทั้งชั่ว รู้ตัวทั่วพร้อมผ่องใส เพราะว่าสติสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ รู้ควรไม่ควรทำอันใด รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ กระทบแต่ไม่กระเทือน อะไรเข้ามากระทบแต่จิตท่านไม่กระเทือน เพราะท่านไม่ได้รับเข้ามา มันกระทบออกไป เหมือนมีคนมาถามหลวงปู่ดูลย์ว่า ท่านมีความโกรธไหม? พระอรหันต์มีความโกรธไหม? พระอนาคามีความโกรธไหม? ท่านก็ตอบว่า มี แต่ไม่เอา ก็คือความหมายเดียวกัน มี แต่ไม่เอา ก็คือว่า กระทบแต่ไม่กระเทือน เหมือนหยาดน้ำบนใบบัว มันก็กลิ้งตกไป เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่ไม่ติดที่ปลายเหล็กแหลม มันก็กระเด็นกระดอนออกไป ฉันใดฉันนั้น ไฟใดเสมอด้วยราคะไม่มี โทษใดเสมอด้วยความโกรธก็ไม่มี ทุกข์ใดๆ เสมอด้วยขันธ์ ๕ ไม่มี สุขใดเสมอด้วยความสงบไม่มี ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารการปรุงแต่งเป็นทุกข์อย่างยิ่ง บัณฑิตผู้มีปัญญาทราบเนื้อความนั้นตามความเป็นจริงแล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เพราะพระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาทุกท่านปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เจริญยั่งยืนนานอยู่ในร่มเงาแห่งพระบวรพุทธศาสนา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติด้วยกันทุกท่านเทอญ