แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๒๗ จิตที่ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมทั้ง ๘ ที่มากระทบ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจจงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันพุธที่ ๒๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล วันนี้ขึ้นมงคลข้อที่ ๓๕ “ผุฏฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ” แปลว่าจิตไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมที่เข้ามากระทบ
ชีวิตบนโลกใบนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราหนีไม่พ้นที่จะต้องพบกับความไม่แน่นอน บางครั้งก็สมหวัง บางคราวก็ไม่สมหวัง ซึ่งเป็นธรรมดาของโลก เมื่อมีลาภก็ต้องมีเสื่อมลาภ มียศก็มีเสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ คละเคล้าปะปนกันไป ความเปลี่ยนแปลงตามธรรมดาของโลกนี้เรียกว่าโลกธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ประจำโลก มีอยู่แล้วในโลกนี้ ก่อนที่เราจะเกิดมาสิ่งเหล่านี้มันก็มีอยู่แล้ว หรือว่าแม้เราจะหมดอายุขัย ลาลับจากโลกนี้ไปแล้ว สิ่งเหล่านี้มันก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน แล้วใครจะถือเอาเป็นสิทธิ์เฉพาะตนก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นของสาธารณะสำหรับมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลก แล้วก็สรรพสัตว์ทั้งหลาย
เรื่องอาการของใจนั้นเป็นเรื่องที่รู้ยากเห็นยากว่าเป็นอย่างไร เราจะรู้ได้ก็เพราะว่าเขาแสดงอาการออกมาให้เราเห็น คนนี้คนนั้นมีจิตใจเป็นอย่างไร คืออาการของมันไม่อยู่กับร่องกับรอย ประเดี๋ยวดีใจประเดี๋ยวเสียใจ พอดีใจก็แช่มชื่น พอเสียใจก็เหี่ยวแห้ง หดหู่ ร้องไห้รำพัน แล้วแต่อารมณ์ที่มากระทบ อาการที่จิตใจของเราเอนเอียงไปทางดีใจบ้างเสียใจบ้างอย่างนี้เรียกว่าจิตหวั่น เหมือนกับเปลวไฟที่ถูกลมพัด มันจะเอนเอียงไปตามกระแสลมพัดทันที จิตไหวหมายถึงว่าไหวไปตามอารมณ์ที่ตัวชอบใจ ทั้งนี้เพราะไปติดใจไปชอบใจ อาการที่จิตไหวไปตามอารมณ์ที่รักที่ชอบนี้แหละเรียกว่าจิตไหว อาการที่จิตยังมีความหวั่นแล้วก็ความไหวเรียกว่าจิตหวั่นไหว สิ่งที่ทำให้จิตมันหวั่นไหวนี้ก็คือโลกธรรม
คำว่า”โลกธรรม”ก็คือธรรมของโลก ธรรมะนี้เป็นคำกลางๆ แปลว่าธรรมชาติก็ได้ แปลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเอง สภาวธรรมก็ได้ ถ้าใส่คำว่ากุศลเข้าไป เป็นกุศลธรรมก็แปลว่าของดี ถ้าเป็นอกุศลธรรมก็เป็นความไม่ดี เหมือนกับคำว่ากรรมนี่แหละ เป็นคำกลางๆ ถ้ากุศลกรรมก็คือกรรมดี ถ้าอกุศลกรรมก็คือกรรมไม่ดี เหมือนกับคำว่าทิฏฐิที่แปลว่าความเห็น เป็นคำกลางๆ ถ้าใส่สัมมาทิฏฐิเข้าไปก็เป็นความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็คือความเห็นผิด แต่ถ้ามันมาโดดๆ เช่นคำว่าธรรม เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่อย่างนี้ ก็หมายถึงว่าต้องเป็นกุศลธรรมเป็นความดีแน่นอน แต่ถ้าเราเข้าใจว่า ถ้าพูดถึงคำว่ากรรมนี้ เราก็จะมองไปในทางลบทันทีว่า เป็นกรรมเป็นเวร หรือคำว่าทิฏฐิที่แปลว่าความเห็น ถ้ามันมาคู่กับหมวดของกิเลส เช่น ตัณหา มานะ ทิฏฐิ คือเป็นความเห็นผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิแน่นอน เพราะฉะนั้น โลกธรรมตรงนี้ก็คือ ธรรมของโลก ธรรมที่มีแก่สัตว์โลก ไม่มีผู้ใดเลยล่วงพ้นไปได้ แปลกแต่ว่าจะยินดีหรือว่ายินร้าย หรือว่าไม่ยินดีไม่ยินร้ายเท่านั้นเอง แบ่งออกเป็น ๘ อย่างด้วยกัน คือไปทางทำให้จิตไหว ๔ อย่าง แล้วก็ทำให้จิตหวั่น ๔ อย่าง
๑. ลาภ เมื่อมีลาภก็คือสิ่งที่ได้มา ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง สมบัติพัสถาน สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ เมื่อมีลาภ คนเราก็ฟูใจ เพลิดเพลินจนขาดสติปัญญา เราต้องไม่ขาดสติและหมั่นพิจารณาว่ามันไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน สักวันหนึ่ง มันก็ต้องจากเราไป เพราะว่าสมบัติพัสถานมันเป็นของกลาง ของโลก เราเกิดมาก็ยืมโลกใช้แต่เพียงชั่วคราว เมื่อถึงเวลากลับ เมื่อถึงเวลาตาย ก็ต้องส่งคืนให้แก่โลก กลายเป็นของคนอื่น เปลี่ยนมือไปเรื่อย สมบัติผลัดกันชม จะอยู่กับลูกกับหลานกับทายาท หรือว่าอาจจะอยู่กับคนที่เป็นศัตรูมาแย่งชิงไป ถูกขโมย เสียหายเพราะว่าภัยต่างๆ หรือไม่ก็ถูกริบ บางทีก็ถูกคนมาแย่งชิงเอาไป เปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ สมบัติผลัดกันชม
๒. ยศ คือคนเราพอมียศมีตำแหน่ง ก็มักจะเหลิงหยิ่งผยอง ตอนแรกยังไม่มียศไม่มีตำแหน่ง กินธรรมดาง่ายๆ กินภาชนะธรรมดาได้ ถ้วย จาน ช้อน แก้ว ธรรมดาได้หมด แต่พอมียศมีตำแหน่งเข้ามาแล้ว อะไรๆ มันก็จะเปลี่ยนไป ภาชนะก็ต้องหรู แก้วก็ต้องหรู ถ้วยจานก็ต้องหรู โน่นนี่นั่นก็ต้องหรูไปหมด เพราะว่าแบกเกียรติเอาไว้ เรื่องกามเรื่องกินเรื่องเกียรติจึงเป็นเรื่องหนักของคน กามเป็นสิ่งที่ต้องดิ้นรนแสวงหา แล้วก็เรื่องกินก็ต้องดิ้นรนหาเช้ากินค่ำ แล้วก็เกียรติเป็นเรื่องที่ต้องแบกไว้ มันหนัก การที่แบกเกียรติยศ ยศ ตำแหน่ง หน้าที่ เลยทำให้เหมือนกับเอาหัวโขนมาสวมเอาไว้ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นอิสระ ยศนี้ คนเราพอมียศมีตำแหน่งก็มักจะเหลิงหยิ่งผยอง เราต้องมีสติพิจารณาว่าตามความเป็นจริง ที่เขาให้ตำแหน่งเราก็เพราะว่า เขาเห็นว่าเรามีประโยชน์ เมื่อเรามีประโยชน์ เราก็ต้องใช้ตำแหน่งนั้นให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ วันหนึ่งข้างหน้า ถ้ามีคนที่เก่งกว่าหรือว่าหมดประโยชน์หรือว่าเกษียณอายุ หมดอำนาจหน้าที่ไปก็ต้องปลดออก ต้องวางต้องถอดหัวโขนออกไป
๓. สรรเสริญ คนเราส่วนมากบ้ายอ พอมีคนยกย่องสรรเสริญเข้า ก็มักจะเหลิง หลงตัวเอง คิดเข้าข้างตัวเอง เราต้องใช้สติพิจารณาว่า ที่เขายกย่องสรรเสริญเราวันนี้ เพราะเขาได้ประโยชน์จากเรา แต่วันหนึ่งข้างหน้า ถ้าไม่มีผลประโยชน์จะยกยอปอปั้นไหม?
๔. สุข ในยามมีความสุขคนเรามักจะประมาท เพลินในสุข ติดในสุข ติดในสบาย เราต้องใช้สติปัญญาพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงเหตุปัจจัยว่า วันหนึ่งข้างหน้า ความสุขที่เราได้รับอยู่นี้อาจจะกลายเป็นความทุกข์ หรือเมื่อปัจจัยที่ทำให้สุขนั้นหมดไป เราก็จะพบกับความทุกข์
ทั้ง ๔ อย่างนี้ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นของที่คนทุกคนต้องการปรารถนา ที่ยังไม่ได้ก็ต้องเสาะแสวงหากัน เลยต้องมีการแย่งมีการชิง เพราะของบางอย่างมันมีน้อย พอมีน้อย มันมีลิมิต เลยต้องแย่ง ต้องชิง ต้องไขว่คว้า ต้องหามา พอได้มาแล้วก็ต้องพยายามรักษาเอาไว้ หวงแหนด้วย กอดรัดเอาไว้ ว่าของกู ของกู อาการที่แสวงหาหรือว่าอาการที่ห่วงต้องรักษานี่แหละเป็นสิ่งที่ไหว ไหวไปตามอารมณ์ ขอให้สังเกตดูตัวเราเองก็แล้วกันว่า เมื่อได้รับของ ๔ อย่างนี้แล้วมีอาการอย่างไร? เมื่อได้ลาภ เมื่อได้วัตถุสิ่งของ ลาภสักการะเข้ามา ทรัพย์สินเงินทองอะไรก็แล้วแต่ พอได้มาแล้วจิตเป็นอย่างไร? พอมียศตำแหน่งมีคนยกย่องจิตเป็นอย่างไร พอมีคนสรรเสริญมีคนชมเชยมีคนยกย่อง จิตเป็นอย่างไร เพราะมีความสุขกายสุขใจ จิตเป็นอย่างไร? เราสังเกตดูจะได้เห็นชัดๆ
ทีนี้ ต่อไปอีก ๔ อย่างเป็นฝ่ายที่ทำให้จิตหวั่น โลกธรรม ๕ ๖ ๗ ๘
๕. ก็คือว่าเสื่อมลาภ เมื่อขัดสนคนเราก็มักจะโทษโชคชะตาวาสนา แต่ทางที่ถูก เราต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าที่เรายากจนขัดสนไม่มีลาภ มีแต่หนี้มีแต่สินเพราะอะไร? เราทำดีที่สุดแล้วหรือยัง? ขี้เกียจขี้คร้านหรือเปล่า?
๖. เสื่อมยศ เมื่อมียศก็มีคนนับหน้าถือตา พอเสื่อมยศก็หมดคนที่จะนับหน้าถือตา เราก็ไม่ควรจะโศกเศร้าเสียใจ ควรจะพิจารณาด้วยสติปัญญาตามความเป็นจริงว่าเมื่อมีประโยชน์กับเขาอยู่ เขาก็นับหน้าถือตา พอหมดราคาเขาก็ย่ำยีนินทา
๗. นินทา ทุกคนในโลกนี้ ไม่มีใครต้องการให้คนอื่นนินทา แต่ว่าในโลกนี้ “นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต” คนไม่ถูกนินทาไม่เคยมีในโลก ย้ำอีกครั้งหนึ่ง คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังถูกนินทา เราควรทำใจให้สงบว่า การนินทาเป็นโลกธรรม คนไม่ถูกนินทาไม่มีในโลกนี้ เขานินทาเรา ตัวเขาก็ถูกนินทาเช่นกัน หรือมองอีกมุมหนึ่ง เขายกเราขึ้นมาพูดเอามานินทาแสดงว่ามีความสำคัญกับเขา อาจจะอะไรสักอย่างนี้ มีความสำคัญอะไรบางสิ่งบางอย่าง เขาเลยต้องยกมาพูด ยกมานินทา อาจจะดีกว่าเด่นกว่าหรืออาจจะด้อยกว่า แสดงว่าเรายังมีความสำคัญกับเขามาก ที่เขาพูดถึงนี่ เป็นคนพิเศษที่โลกจำ ถ้าคนธรรมดาโลกขี้เกียจจำ เขาคงไม่นินทาถึง อย่างนี้เป็นต้น พอคิดอย่างนี้มันก็จะเป็นสุขขึ้น
๘. ความทุกข์ ไม่มีใครในโลกนี้ที่ต้องการความทุกข์ ทุกคนรักสุขเกลียดทุกข์ ทุกคนต่างก็ปรารถนาแต่ความสุข แต่สุขทุกข์มันเป็นโลกธรรมที่ทุกคนจะต้องพบ เมื่อความทุกข์วิ่งเข้ามาหา เราก็ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาให้เห็นจริง ตามเหตุตามปัจจัยของมันว่า เพราะเราทำได้ยังไม่ดีพอจึงมีความทุกข์เกิดขึ้น เพราะเรายังไม่เก่งพอจึงมีความทุกข์ตามมา เมื่อเรากำจัดต้นตอของความทุกข์ได้ ความสุขก็จะเกิดขึ้น เหมือนเรารู้ว่าต้นตอของความทุกข์คือตัณหาที่อยู่ในอริยสัจนี้ สมุทัย ตัณหาความยินดีในกาม รูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่นหอม อาหารอร่อย ถูกต้องสัมผัสดี อะไรพวกนี้เป็นของที่คนติดอกติดใจ ต้นตอมัน แล้วก็ความอยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็น อยากเด่นอยากดัง ไม่อยากเป็นอย่างนั้น ไม่อยากเป็นอย่างนี้ มันเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ เป็นต้นตอแห่งความทุกข์ ทั้ง ๔ อย่างนี้ ก็คือเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา แล้วก็ทุกข์ เป็นของที่ทุกคนคอยหวาดระแวงอยู่ แล้วก็คอยห่วงพะวงว่าจะต้องได้รับ หรืออย่างที่เราเรียกกันว่ามันหวั่น มันหวั่นใจ คือหวั่นว่าจะต้องสูญเสียของที่รัก หวั่นว่าจะต้องถูกถอดยศ ถอดตำแหน่ง ถอดอำนาจ หวั่นว่าจะต้องถูกคนนินทา หวั่นว่าจะต้องได้รับความทุกข์ เป็นของที่คนทุกคนเกลียด แม้ว่ามันจะกลับกลายผ่านไปแล้ว ก็ยังหวั่นว่ามันจะหวนกลับมาอีก ทำให้จิตใจของคนเราอยู่ไม่เป็นปกติสุข เพราะว่าไม่อยู่กับปัจจุบัน ติดอดีต พะวงถึงอนาคต
พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนเอาไว้ในโลกธรรมสูตรว่า
“ภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้ หมุนไปตามโลก แล้วโลกก็ย่อมหมุนไปตามโลกธรรมทั้ง ๘ คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย ลาภก็ดี ความเสื่อมลาภก็ดี ยศ ความเสื่อมยศก็ดี นินทา สรรเสริญ สุขทุกข์ ก็ดีนี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ”
คำว่าไม่ได้สดับคือไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้ฟังธรรมอย่างเดียวไม่พอ แล้วก็ไม่ได้น้อมเข้ามาสู่ใจ ไม่ได้นำไปประพฤติไปปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ในพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า ผู้ไม่ได้สดับก็หมายความว่า ผู้ยังไม่ได้ฟัง ยังไม่ได้นำไปประพฤติ นำไปปฏิบัติ พอไม่ได้สดับ ไม่ได้นำเข้าสู่ใจ ไม่ได้นำไปปฏิบัติ พอสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แล้วทีนี้ แม้แก่อริยสาวกผู้ได้สดับก็จะมีความแตกต่างกัน ตรงนี้ พระพุทธองค์จะตรัสบอกให้รู้ว่า ระหว่างปุถุชนผู้ที่ไม่ได้สดับฟังธรรมไม่ได้ปฏิบัติกับอริยสาวกผู้ได้ประพฤติได้ปฏิบัติมีความแตกต่างกันอย่างไร พระพุทธเจ้าก็ตรัสต่อไปว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ลาภย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับฟังธรรม เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ลาภนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าลาภนั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ นี้ เมื่อเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาก็ไม่ได้ตระหนักชัดว่าทั้งลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข นี้ ที่มันเกิดขึ้นแล้วแก่เรา เขาไม่รู้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยง คือมันมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันเป็นทุกข์คืออยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แล้วก็บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทั้งลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ก็ย่อมจะครอบงำจิตของเขาได้ เมื่อมันครอบงำนี้ เขาก็จะยินดีในฝ่ายที่ชอบ แล้วก็จะยินร้ายก็คือไม่ชอบ เสียอกเสียใจในฝ่ายที่ไม่ชอบ คือไปยินดีในเรื่องการได้ลาภ ได้ยศ ในเรื่องของสรรเสริญ ในเรื่องของสุข แต่พอเวลาเกิดสิ่งตรงข้ามเข้ามา ก็คือว่า เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา แล้วก็ทุกข์ ก็คือเสียอกเสียใจ ยินร้าย เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมไม่พ้นไปจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศกเสียใจร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความคับแค้นใจทั้งหลาย เรากล่าวว่า ไม่พ้นไปจากทุกข์ได้เลย”
แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสต่อไปว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ลาภย่อมเกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้ได้สดับฟังธรรมและประพฤติปฏิบัติตามนี้ อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ลาภเกิดขึ้นแก่เรา ก็แต่ว่าลาภนั้นมันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ แล้วมันก็มีแปรปรวนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ เขาก็ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า มันเป็นไตรลักษณ์ น้อมลงสู่ไตรลักษณ์ พิจารณาเป็นด้วยสติด้วยปัญญา เมื่อเป็นเช่นนั้น โลกธรรม ๘ เหล่านี้ก็จะครอบงำจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินดีในลาภที่เกิดขึ้น ไม่ยินร้ายในความเสื่อมลาภ ไม่ยินดีในยศตำแหน่ง ไม่ยินดีในคำสรรเสริญ ไม่ยินดีในสุข แล้วก็ไม่ยินร้าย ก็คือไม่เสียอกเสียใจเมื่อเวลาเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา แล้วก็ทุกข์เกิดขึ้นแก่ท่าน เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านก็ย่อมพ้นไปจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศกเสียใจร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความคับแค้นใจทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นความแปลกกัน ผิดกัน แตกต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับฟังธรรมกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ”
จากพระพุทธพจน์ตรงนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า มันเป็นของที่มีประจำอยู่ในโลก ไม่ว่าใครก็จะต้องประสบทั้งนั้น คนที่ดีๆ แต่พอเกิดความหวั่นไหว โดยเฉพาะความไหว ไหวก็คือในสิ่งที่ชอบ พอมันไหวขึ้นมานี้ มันทำชั่วได้ อย่างเช่น ต้องการลาภ ต้องการทรัพย์สินเงินทอง ต้องการยศตำแหน่งให้มันขึ้น ต้องการได้รับคำสรรเสริญ ถึงกับฉ้อโกงทุจริตโกงกินคอร์รัปชั่นก็มี
ดังนั้น เราจึงต้องหมั่นพิจารณา แล้วก็มีสติอยู่ทุกขณะ นึกอยู่เสมอว่าไม่มีใครหรอกในโลกนี้ที่จะได้รับฝั่งที่ดีแต่อย่างเดียว ไม่มีใครถูกสรรเสริญหรือว่าถูกติเตียนแต่อย่างเดียว ถึงคนเลวอย่างไรก็ตามก็ยังมีผู้สรรเสริญ ก็คือว่าคนเลวก็สรรเสริญพวกคนเลวด้วยกัน ธรรมดาของผู้ที่มีจิตไม่มั่นคงย่อมจะหวั่นไหวเป็นธรรมดา แต่สำหรับผู้ที่มีจิตใจมั่นคงแล้วนั้นไม่หวั่นไหวในโลกธรรม เพราะว่าท่านเข้าใจชัดทราบชัดจึงเป็นความแตกต่างกันตรงนี้ ใครๆ ก็อยากได้ความสมปรารถนากันทั้งสิ้น อยากมีโชคมีทรัพย์สมบัติพรั่งพร้อม อยากได้รับการยอมรับนับถือ มีตำแหน่งสูงๆ ไปไหนมีแต่คนยกย่องสรรเสริญ มีความสุขกายสุขใจอยู่เนืองนิตย์ สิ่งเหล่านี้เป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ทุกคน แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ได้ทุกอย่างตามปรารถนา พอเราไม่เข้าใจ ความทุกข์มันก็เกิดขึ้น เครียดเป็นโรคจิตเป็นโรคประสาท บางครั้งชีวิตเราก็อาจจะพบกับสิ่งที่ตรงกันข้าม เมื่อได้ก็ต้องมีเสีย เมื่อมียศก็ต้องเสื่อม อย่างนี้คละเคล้ากันไป พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ก็ยังถูกนินทา
ขอยกเรื่องหนึ่งขึ้นมา ในสมัยพุทธกาล มีอุบาสกคนหนึ่งชื่ออตุละกับพวกพ้องอีกหลายร้อยคนได้มาที่วัดพระเชตวัน ตั้งใจมาฟังธรรม แล้วก็เข้าไปหาพระ เรวตะ พระเรวตะที่เป็นน้องชายของพระสารีบุตร พระเรวตะกำลังเจริญภาวนาเข้าฌานสมาบัติอยู่ ท่านมีปกติยินดีในหลีกเร้น เพราะว่าท่านชอบอยู่ป่าเป็นวัตร พระเรวตะ ท่านภาวนาเงียบๆ จึงไม่ได้พูดคุยอะไรกับอุบาสก อุบาสกเหล่านั้นจึงโกรธท่านว่าพระไม่ยอมคุยด้วย ลุกเดินจากไปด้วยความไม่พอใจ เดินเข้าไปกราบ ไปหาพระสารีบุตร ท่านถามว่า “โยมมาวัดมีความปรารถนาสิ่งใดหรือ?”
อุบาสกเหล่านั้นก็ตอบว่า “กระผมมาเพราะว่าต้องการฟังธรรม”
พระสารีบุตรเป็นพระธรรมเสนาบดี อัครสาวกเบื้องขวา เป็นเลิศทางปัญญา เวลาแสดงธรรมจึงเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้แสดงธรรมให้แก่อุบาสกเหล่านั้นฟัง แต่อุบาสกนั้นก็ฟังแล้วก็ยังไม่พอใจอีก บอกว่าเทศน์นานเกิน เทศน์เยอะเกิน เทศน์ละเอียดซึ้งเกินไป จึงเดินเข้าไปหาพระอานนท์ บอกว่าพระสารีบุตรแสดงธรรมมากเกินไป พระอานนท์ก็เลยเทศน์สั้นๆ อุบาสกเหล่านั้นก็โกรธอีกหาว่าสั้นไป จึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ก็ตรัสถามว่า “อุบาสกทั้งหลายพวกเธอมาทำอะไรกัน?”
อุบาสกเหล่านั้นจึงทูลตอบว่า “พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ามาเพื่อฟังธรรม แต่ยังไม่ถูกใจธรรมะของใครเลย พระเรวตะก็ไม่ยอมสนทนาธรรมด้วย มาขอฟังธรรมจากพระสารีบุตรก็เทศน์นานเกินไป เทศน์แต่เรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง จากนั้นจึงไปขอฟังธรรมจากพระอานนท์ ท่านก็เทศน์สั้นเกินไปอีก พวกข้าพระพุทธเจ้าไม่สามารถจะเข้าใจได้ จึงรู้สึกไม่พอใจ จึงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าข้า” ทูลอย่างนั้น
เมื่อพระพุทธองค์ได้ฟังดังนั้นจึงตรัสว่า “อตุละเอ๋ย การนินทาสรรเสริญเป็นของเก่า มีมานานแล้ว ชนทั้งหลายย่อมติเตียนทั้งคนนิ่ง ทั้งคนพูดมากและพูดน้อย คนที่ถูกนินทาหรือถูกสรรเสริญเพียงอย่างเดียวในโลกนี้ไม่มีเลย แม้แต่พระราชาผู้เป็นใหญ่ปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม ก็ยังมีทั้งคนนินทาและคนสรรเสริญ พระจันทร์และพระอาทิตย์ แม้ส่องสว่างแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายบนพื้นโลก บางครั้งได้รับการสรรเสริญ บางครั้งก็นินทา พระจันทร์พระอาทิตย์ไม่รู้อะไรด้วยเลย ก็ยังไปด่าพระอาทิตย์ว่าร้อนเกินไป ไปด่าพระจันทร์ แม้เราตถาคตเอง ผู้กำลังนั่งแสดงธรรมแก่พุทธบริษัททั้ง ๔ ในท่ามกลางมหาสมาคม บางพวกก็สรรเสริญ บางพวกก็นินทา ดังนั้น การนินทาหรือสรรเสริญของคนพาลจะเอามาเป็นประมาณไม่ได้ แต่การติเตียนหรือว่าสรรเสริญของบัณฑิตจึงเป็นการติเตียนและสรรเสริญที่แท้จริง บุคคลใดมีความประพฤติดี มีศีลและปัญญา ใครเล่าจะติเตียนผู้นั้นได้ แม้เทวดาและพรหมทั่วหมื่นจักรวาลก็สรรเสริญคุณธรรมของบุคคลนั้น”
เมื่อจบพระธรรมเทศนา อุบาสกหลายร้อยคนเหล่านั้นก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ดังนั้น การนินทาหรือว่าสรรเสริญจึงไม่ใช่ของใหม่ มันมีมานานแล้ว แล้วก็จะยังคงมีต่อไป หากเราได้พบกับสิ่งเหล่านี้อย่าได้หวั่นไหว เราจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำพูดถ้อยคำของใคร ต่อให้เขาว่าเราดี แต่ถ้าเราทำชั่วมันก็คือชั่ว ต่อให้เขาว่าเราทำไม่ดี ผิดอย่างนั้น ผิดอย่างนี้ แต่ถ้าเราทำดีทำถูกแล้วมันก็คือดี ทองแท้ เพชรแท้ อย่าได้กลัวไฟลน จะเป็นทอง จะเป็นเพชร ไปที่ไหนๆ ก็คือทอง ก็คือเพชร แต่ถ้าหวั่นไหว เสียอกเสียใจ ทำใจไม่ได้ พวกนี้ ยังขึ้นๆ ลงๆ กับนินทาสรรเสริญ เราจึงต้องฝึกให้มาก ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟลน เพชรก็คือเพชร ทองก็คือทอง เพราะฉะนั้น จงอย่าได้หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งหลาย
จากเรื่องที่ยกมานี้ก็เป็นเรื่องชี้ให้เราเห็นได้ว่า ไม่มีใครพ้นไปจากโลกธรรมไปได้ แปลกแต่ว่าใครจะยินดีหรือว่ายินร้ายหรือไม่เท่านั้นเอง ผู้ที่ไม่รู้จักโลกธรรม ๘ ว่ามันเป็นของไม่เที่ยง คือมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ย่อมยินร้ายยินดีในเมื่อพบโลกธรรม ส่วนผู้ที่รู้ว่าโลกธรรมเป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ก็ย่อมไม่ยินดีไม่ยินร้าย เวลาได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่มีฟูใจ เพราะฉะนั้น ตรงนี้แหละจึงทำให้คนแต่ละคนนี้สุขทุกข์แตกต่างกันออกไปเมื่อโลกธรรมทั้งหลายนี้กระทบเข้ามา ดังที่ได้อธิบายเมื่อวานนี้ กระทบแต่ต้องทำให้ไม่กระเทือน แต่เพราะเรารับเข้ามา ปรุงแต่งเข้ามา พออะไรมากระทบมันก็เลยกระเทือน กระเทือนใจ เป็นความเสียอกเสียใจ คิดมาก เราจะต้องฝึกจิตด้วยสติด้วยสมาธิ มนุษย์เรานี้เป็นภพภูมิที่มีศักยภาพในการฝึก “ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ” ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้ที่ฝึกตนดีแล้วเท่านั้นเป็นผู้ประเสริฐที่สุด คำว่าฝึกตนในที่นี้ก็หมายความว่าฝึกจิต ฝึกจิตตัวเองให้อดทนได้ ให้เข้มแข็ง ให้แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะมีอะไรมากระทบ แต่อย่าไปกระเทือน รับแต่เราไม่เอาเข้ามาในใจ ตัดออกไป เราต้องตัด เราอย่าไปต่อ ถ้าต่อเมื่อใดมันก็ทุกข์เมื่อนั้น จึงต้องทำให้เข้าใจเช่นนี้
ทีนี้ ตรงนี้ท่านก็ได้อธิบายว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนภิกษุทั้งหลายไม่ให้ยินดียินร้ายต่อโลกธรรม “ภิกษุทั้งหลาย เธออย่ายินดีต่อการสรรเสริญ อย่ายินร้ายต่อการนินทา ให้รับและปฏิเสธความจริง ถ้าเธอทั้งหลายยินดียินร้าย ก็จักเป็นอันตรายแก่เธอ จักเป็นความลำบากใจแก่เธอทั้งหลาย”
จากข้อความทั้งหลายที่ยกขึ้นมาแสดงนี้ เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า บุคคลผู้ที่มีใจที่หวั่นไหวไปกับโลกธรรมนั้นย่อมเป็นผู้ที่มีความทุกข์มีความเดือดร้อนอย่างแน่นอน เพราะว่าความเป็นจริงก็คือไม่มีใครพ้นไปจากโลกธรรมไปได้ มันแปลกตรงที่ว่าจะรับได้มากรับได้น้อย ผู้ที่ไม่รู้จักโลกธรรม ๘ ว่ามันเป็นของไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาย่อมยินดียินร้ายในเมื่อพบโลกธรรม ส่วนผู้ที่รู้ว่าโลกธรรมเป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ย่อมไม่ยินดีไม่ยินร้าย เวลาได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ไม่ยินดี ไม่มีใจฟูขึ้นผิดปกติ เวลาไม่ได้ลาภ ไม่ได้ยศ ไม่ได้สุข ไม่ได้สรรเสริญ ก็ไม่ยินร้าย ไม่มีใจฟุบลงผิดปกติ หรือเมื่อได้แล้วเสื่อมไป หรือเมื่อเสื่อมลาภ ยศ ถูกติเตียน ได้ทุกข์ก็ไม่ยินร้าย กัลยาณปุถุชนก็คือคนดี คนที่ฝึกจิตมาดีนี้ ถึงจะยินดียินร้ายก็ไม่แสดงออกมาทางกายวาจาจนให้เสียกริยามารยาท ส่วนปุถุชนที่เป็นพาลคือไม่รู้จักคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือว่ารู้แต่ไม่ได้นำมาประพฤติ นำมาปฏิบัติ ไม่รู้จักธรรมดาของโลก ก็ย่อมแสดงความยินดียินร้ายออกมาทางกายทางวาจาจนเสียกิริยาเสียมารยาท คนทั้งโลกมักจะมองไม่เห็นเป็นไตรลักษณ์จึงลุ่มหลงมัวเมายินดียินร้าย หวั่นไหวในโลกธรรมจึงทำให้ตัวเองต้องตกอยู่ในห้วงทุกข์ตลอดมา ผู้ที่กระทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว ท่านเห็นพระนิพพานซึ่งอยู่พ้นกฎของไตรลักษณ์เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยน แปลง พ้นการเวียนว่ายตายเกิด มีความสุขอย่างยิ่ง เป็นบรมสุขที่ไม่กลับมาทุกข์อีกจึงไม่ยินดีไม่ใยดีในโลกธรรม ไม่ขุ่นมัว ไม่หลงใหล ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมซึ่งเป็นของไม่เที่ยง อยู่ในกฎของไตรลักษณ์ ท่านจะได้ลาภได้ยศ มีคนสรรเสริญยกย่องหรือว่าเป็นสุข ท่านก็เฉย จิตไม่ไหว ท่านจะเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย หรือว่าตกทุกข์ ท่านก็เฉย จิตท่านก็ไม่หวั่น คนทั่วไปเวลาป่วยไข้มักจะเกิดความทุกข์ทั้งกายทั้งใจ แต่ผู้ที่ทำนิพพานให้แจ้งแล้ว ใจอยู่ในพระนิพพาน จะเกิดความทุกข์อะไรอันเนื่องมาจากสังขารนี้ก็ตาม ทุกข์นั้นมันจะหยุดอยู่แค่กาย กินเข้าไปไม่ถึงใจท่าน ท่านที่มีจิตที่มั่นคงตลอด เพราะว่าท่านมีจิตมั่นคง มีจิตไม่หวั่นไหว โบราณท่านเลยสอนว่า อยากจะรู้ว่าใครถึงคราวตกทุกข์ได้ยากแล้ว จะพิลาปรำพันโอดครวญแค่ไหนให้ดูอย่างนี้ ถ้าคนๆ นั้นเวลาดีใจ ได้ของถูกใจ ก็หัวเราะฮ่าๆ ๆ นี้ รู้เลยว่าเมื่อถึงคราวเสียใจเสื่อมลาภ เขาจะต้องร้องไห้โฮๆ เป็นช้างร้องทีเดียว เมื่อดีใจมาก พอเสียใจมาก ก็ต้องร้องไห้หนัก ร้องไห้หนักมาก ตรงกันข้าม ถ้าเวลาดีใจเขาก็แค่ยิ้มๆ ก็รู้เลยว่าถึงตอนเสียใจ อย่างมากก็คงจะแค่กัดฟันหรือนิ่งไปสักพักแล้วก็หาย ความจริงเป็นอย่างนั้น ท่านจึงให้ข้อเตือนใจไว้ว่า ถ้าดีใจก็จงยิ้มเพียงมุมปาก เมื่อถึงคราวเสียใจจะได้ไม่ถึงกับร้องไห้ เพราะฉะนั้น จะเจอความทุกข์ขนาดไหน ความเสื่อมลาภเสื่อมยศ ถูกนินทาปานใด สู้ทนทำความดีไปเถิด ยิ่งเจอหนักมากขึ้นแสดงว่า มันใกล้จะพ้นแล้ว เหมือนยิ่งดึกก็ยิ่งใกล้สว่าง
นอกจากนี้ เราทุกคนจะต้องฝึกจิตฝึกใจอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้าหายใจออกให้สบาย หายใจเข้าหายใจออกให้มีความสุข อยู่กับพุทโธ เจริญอานาปานสติกัน จนใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ เกิดปัญญาสว่างไสว น้อมใจไปสู่วิปัสสนา เห็นไตรลักษณ์ เห็นอริยสัจ ๔ ทำพระนิพพานให้แจ้งให้ได้ จึงจะมีจิตที่ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมอย่างแท้จริง ถ้าไม่มีโลกธรรม ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีลาภ เสื่อมลาภ ไม่มียศ เสื่อมยศ ไม่มีนินทา สรรเสริญ ไม่มีอะไรอย่างนี้ เราก็ไม่มีข้อวัตรข้อปฏิบัติที่จะให้เราได้อบรมบ่มอินทรีย์ ที่เราชอบอาหารอร่อย ไม่ชอบอันนี้ ไม่ชอบอันนั้น อันนี้เป็นความรู้สึกของอารมณ์ที่มันมาปรุงแต่งเฉยๆ เป็นความรู้สึกของมนุษย์ ของสวรรค์ที่ทำเช่นนี้ มนุษย์เลยมีความสุขแค่แบบกามาวจรที่ยังวนเวียนอยู่ในกาม แต่ความสุขก็ต้องผ่านไป ความทุกข์ก็ต้องผ่านไป เราต้องรู้จักสวรรค์ เราอย่าไปหลงสวรรค์ ถ้าหลงแล้วมันจะมีโทษ เพราะมันยังข้อง “สัคคะ” แปลว่าข้อง สวรรค์แปลว่าข้อง มันติดมันข้องอยู่ในกาม
เราทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์ คือผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเพื่อพระนิพพาน พระนิพพานอยู่ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามอารมณ์ตัวเอง ไม่ทำตามความรู้สึกของตัวเอง เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง เอาธรรมเป็นการดำเนินชีวิต หยุดก่อน ลาก่อนวัฏสงสาร เราเป็นผู้ที่จะต้องหยุดอบายมุข อบายภูมิให้กับตัวเอง เดินตามรอยของพระพุทธเจ้าที่ท่านบำเพ็ญพุทธบารมีมาตั้งหลายล้านชาติ มาบอกมาสอน มาบอกเรื่องอริยสัจ ๔ เรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ เดินตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘ ในปัจจุบัน อดีตมันก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตมันก็ปฏิบัติไม่ได้ อยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเอาศีลสมาธิปัญญาที่พระพุทธเจ้าบอกสอน ไม่มีใครที่จะไว้วางใจเหมือนพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่บุคคลตัวตน เป็นธรรมะ เป็นกระบวนการ เป็นหลักเหตุผล หลักวิทยาศาสตร์ เหนือวิทยาศาสตร์ไปอีก ก็คือไม่มีความยึดมั่นถือมั่น มีปัญญาที่แท้จริง
ทุกคนที่มันมีปัญหาที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกอย่างนี้ เพราะว่ามันตามใจตัวเอง การประพฤติการปฏิบัติของเรา มันต้องอยู่ที่เรา อยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าเราจะเป็นนักบวชหรือว่าเราเป็นประชาชน ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก ประพฤติพรหมจรรย์ระดับต้น ศีล ๕ ระดับกลาง ศีล ๘ ศีล ๑๐ ระดับสูง ศีล ๒๒๗ เราพัฒนาทางเทคโนโลยีทางจิตใจไปพร้อมๆ กัน ที่พระพุทธเจ้าย่อยให้เห็นเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ เราต้องทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ทุกคนต้องปฏิบัติเอง ไม่มีใครปฏิบัติให้เราได้ ความเพลิดเพลินน่ะ มันต้องเพลิดเพลินทุกคนนั่นแหละ เพราะอาหารมันก็อร่อย เสียงมันก็ไพเราะ อะไรๆ ก็มีความสุข ถ้ามีสิ่งที่สุข มันก็ต้องมีสิ่งที่ทุกข์คู่กันไป เพราะอันนั้นมันคือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก นี่คืออริยสัจ ๔ ให้เรามารู้ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ว่าเราคิดอย่างนี้ไม่ได้ เราพูดอย่างนี้ไม่ได้ เราทำอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าเราไม่ได้ทำตามใจตัวเอง ไม่ได้ทำตามอารมณ์จะมีความสุขได้อย่างไร ไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามอารมณ์ตัวเองอย่างนี้สิ มันถึงจะมีความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่ประกอบด้วยปัญญา ที่เอาศีลออกมาใช้ เอาสมาธิออกมาตั้งมั่น อริยมรรคมีองค์ ๘ ความเห็นถูกต้อง แล้วก็ปฏิบัติถูกต้อง แล้วก็ตั้งมั่นเป็นอุดมการณ์ คนเราเกิดมาต้องทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนั้น เราไปตามกระบวนการที่เป็นสิ่งแวดล้อม มันไม่ได้ ต้องมีสติสัมปชัญญะ มีตัวปัญญา
ประเทศไทยเราที่ตั้งประเทศไทยมา เอาพระพุทธศาสนามาพร้อมกับประเทศไทย ตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ถึงจะมีหลายศาสนามารวมกัน ก็เริ่มร่วมกันทำมาหากิน ที่ไหนมีอาหารการกินก็ไปหากินที่นั่น แต่จุดหมายเดิมที่ตั้งประเทศไทยก็เพราะว่าเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ ครอบครัวเราจะมั่นคงถาวรก็เพราะเอาธรรมะเป็นใหญ่ เราทุกคนต้องมีครอบครัวที่เป็นอริยวงศ์ คือวงศ์ของพระอริยเจ้า ผู้มีศีล ๕ ผู้ที่เอาธรรมะเป็นหลัก ผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์เบื้องต้น คนเราถ้าใจมันอยู่กับปัจจุบันอย่างนี้ มันก็ไม่มีเรื่องมาก ที่มันมีเรื่องมากเพราะมันยุ่งกับเรื่องอดีต แล้วก็วิตกกังวลกับเรื่องอนาคต ปัจจุบันเราก็มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เสียสละในปัจจุบัน มันก็จะเป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรม ปัจจุบันเราคิดเป็นวางแผนเป็น อริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มันละเอียด เพื่อรักษาเปลือก รักษากระพี้ รักษาสายพันธุ์ไว้ให้ลูกหลาน เมื่อกิจภาระหน้าที่ของตนเสร็จแล้วก็ต้องช่วยเหลือคนอื่น เพราะว่าผู้ผ่านไปแล้วก็รู้เรื่องว่าทำอย่างนี้ผิด ทำอย่างนี้ถูก เพราะรู้แล้วว่าไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำ มันก็ไม่มีอะไร ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าไม่ใช่บรรลุแล้วก็เสวยวิมุตติสุขอยู่อะไรอย่างนั้น มันก็ยังชื่อว่ามีความหลงอยู่แค่สมาธิเอง เพราะท่านไม่ได้ทำความเพียรแล้ว ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เพราะท่านจบภาระหน้าที่ ท่านเดินจงกรมก็เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง พระอรหันตขีณาสพถึงเสียสละก็เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เราไปกลัวท่านไม่ได้พักผ่อน ก็เลยไปตั้งเวรตั้งยามให้ท่านได้พักผ่อน เวลานั้นตื่น เวลานี้ไม่ให้ญาติโยมไปรบกวนท่าน ยิ่งท่านได้เสียสละท่านยิ่งแข็งแรง พระพุทธเจ้าทรงเสียสละมาก ทรงบรรทมวันหนึ่งแค่ ๔ ชั่วโมง ทำงานเสียสละเพื่อเทวดาและมนุษย์ เพื่อสัตว์โลกตั้ง ๒๐ ชั่วโมง คนเราเวลามันมีค่า เราต้องทำงานเสียสละ ถ้าไม่ทำมันก็เป็นโมหะ เป็นความหลง ต้องให้ถึงพระนิพพานคือนิพพานกิเลส ให้กิเลสมันนิพพาน ให้กิเลสมันตาย มันตายจากใจก่อนเราที่ร่างกายเราจะตายจริงๆ นิพพานทางกายก็อย่างเหมือนพระพุทธเจ้า ๔๕ ปีข้าง หน้าโน้น ท่านถึงมีความสุขมาก มีความสุขจริงๆ เสด็จพระราชดำเนินเดินเหินไปไหนก็สว่างไสว มีความสุข ถึงจะตากแดดตากลม หรือว่าไม่ได้พักไม่ได้นอนหลับ แต่ว่ามีความสุข มีความดับทุกข์ ท่านไม่มีอะไร ไม่ต้องมีห้องแอร์แต่ใจท่านก็เย็น เพราะว่าสงบเย็นเป็นพระนิพพาน เรื่องนินทาสรรเสริญท่านก็รู้แจ้ง เพราะตาท่านไม่ได้บอด หูท่านไม่ได้หนวก ท่านไม่ได้เป็นคนอัมพฤกษ์อัมพาต แต่ใจท่านสว่างไสว ท่านก็เหมาะสมที่จะได้ให้ประชาชนเห็นหน้าเห็นตา ได้บุญได้กุศล ได้เป็นมงคล เหมาะที่จะได้รับการฟังธรรมจากท่าน การถวายอาหารถวายของ การได้กราบไหว้ถึงเป็นบุญเป็นกุศล การถวายของถึงมีบุญมีกุศลมาก
พระในโลกนี้ที่เราเห็นนั้นนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่ใช่พระ เป็นเพียงภิกษุ พระก็ยังมีหลายขั้น มีพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ การได้ฟังธรรมะจากใจจากพระพุทธเจ้าก็ได้ฟังจากของแท้ ของจริง ไม่ใช่ของปฏิรูปที่เป็นสัทธรรมปฏิรูป ที่คนที่เทศน์คนที่แสดงแอบแฝงไปด้วยผลประโยชน์ แล้วก็ปฏิรูปคำสอนดึงเข้ามาหาตัวเอง แต่ว่าไม่ใช่อย่างนั้น ธรรมะจากใจของพระพุทธเจ้า ได้ฟังจากของแท้ของจริง ไม่ใช่ของปฏิรูป ไม่มีประโยชน์แอบแฝง เพื่อจะให้โยมทำบุญทำกุศล การได้เห็นสมณะถึงได้เป็นบุญเป็นกุศลอย่างยิ่ง ถ้าท่านได้เสียสละอย่างนี้ ร่างกายท่านก็แข็งแรง เพราะว่าคนทางโลกเขาก็ทำการทำงาน หรือว่าการงานที่ต้องทำเอกสารในออฟฟิศอะไร ไม่ได้ออกกำลังกายเหมือนกับกรรมกร เขาก็ทำโยคะ ออกกำลังกาย พระก็เดินจงกรม แต่ว่าการเดินจงกรมของท่านคือปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรม เพื่อให้ร่างกายมันแข็งแรง โดยเฉพาะที่บอกว่า เพื่อไม่ให้บรรลุธรรมนี้ เพราะท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านจบหน้าที่ของท่านแล้ว ท่านเดินจงกรมก็เพื่อว่าร่างกายแข็งแรง แต่ผู้ที่ยังไม่เสร็จกิจยังไม่เสร็จภาระหน้าที่ ก็ต้องสมาธิ เดินจงกรม เพียรประพฤติเพียรปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ไป เพื่อให้ได้บรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ
พระก็คือพระธรรม คือพระวินัย ที่รักษาศีลเยอะ ไม่กลัว เพราะใจไม่มีปัญหา การรักษาศีลก็เพื่อให้เป็นตัวอย่างของลูกของหลาน ทุกวันนี้เอามาประพฤติเอามาปฏิบัติ ก็ยิ่งดียิ่ง เพราะว่ากุฏิเสนาสนะ สิ่งอำนวยความสะดวกความสบายมีมากมาย เราพัฒนาใจให้เท่าทัน เราเอาข้อดีของสิ่งเหล่านี้เป็นสัปปายะ เพื่อจะเป็นความก้าวหน้าในการประพฤติในการปฏิบัติ
ในสภาวะปัจจุบันนี้ แม้สังคมเศรษฐกิจจะแปรปรวนอย่างไรก็ตาม อย่าได้หวั่น อย่าได้ไหว ให้ตั้งใจทำความดีต่อไปเถิด หว่านพืชเช่นไรย่อมได้ผลเช่นนั้น ถ้าเราประกอบเหตุดี ผลที่ออกมาย่อมจะดีตามไปด้วยตามการกระทำความดีนั้น เราควรเพียรพยายามให้ถึงที่สุด และถ้าหากพบปัญหาอะไรที่หนักๆ นั่นแสดงว่าใกล้จะพ้นแล้ว ดังคำโบราณที่กล่าวว่า ยิ่งมืดแสดงว่ายิ่งดึก ยิ่งดึกก็ยิ่งใกล้สว่าง ดังนั้น ให้หมั่นสะสมความดีกันต่อไป อดทน เข้มแข็ง ถ้าใจเราไม่เข้มแข็ง แล้วอะไรมันจะเข้มแข็ง ต้องฝึกใจให้อดทนอดกลั้นจึงจะเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในมงคลข้อนี้ชัดเจนเลยว่า “ผุฏฐสฺส โลกธมฺเมหิจิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ” จิตของผู้ใดอันโลกธรรมทั้งหลายถูกต้องแล้วไม่หวั่นไหวจึงได้ชื่อว่าเป็นมงคลอันสูงสุด
การได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นทุกข์เพราะต้องแสวงหา ผู้ที่ได้มาแล้ว มีแล้ว ถ้ายังคิด ยังติด ยังยึดอยู่ก็ยังเป็นทุกข์ เพราะต้องรักษาต้องหวงแหน ไม่ต้องการให้ของที่ได้มานั้นเสื่อมไป สูญไป ดังนั้น บุคคลผู้ที่มีจิตใจไม่หวั่นไหวเพราะโลกธรรม รู้สภาพตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมมีความวิบัติแปรปรวนไปเป็นตามธรรมดา แล้วใจก็จะเป็นสุข ด้วยเหตุนี้ การที่มีจิตใจไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมทั้ง ๘ จึงจัดว่าเป็นมงคล แล้วก็เป็นมงคลอย่างสูงสุดด้วย
คนทั่วไปอยู่บนยอดเขาด้วยการมุ่งหมายแก่งแย่งกันเพื่อคำว่าชนะ ไม่สามารถยืนอยู่ได้อย่างเป็นสุข ย่อมโดดเดี่ยว ย่อมเย็นยะเยือกด้วยความหนาวเหน็บ สายตาที่สาดส่องไปเบื้องล่างไปเบื้องต่ำนี้ มีแต่ความหวาดระแวงทุกวินาทีว่าจะมีผู้ใดไหมหนอที่กำลังหมายจะมาแทนที่เรา จะมาแย่งชิงของเรา จะมาเอาของเราไป ส่วนทายาทคือลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่บนยอดเขา พึงมีใจดุจภูเขาศิลาล้วนเป็นแท่งเดียว ดั่งคำสอนแห่งองค์พระพุทธบิดร สามารถยืนอยู่ได้อย่างเป็นสุขปราศจากความอ้างว้างโดดเดี่ยวและเหน็บหนาว มีไตรลักษณ์คือจิตที่เห็นแจ้งตามความเป็นจริงของกาย ของใจว่า มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ สายตาที่สาดส่องไปเบื้องล่าง มีแต่เมตตาอันหาประมาณมิได้ ปรารถนาอย่างยิ่งยวดว่า มาเถิดท่านทั้งหลาย จงมายืนอยู่จุดตรงนี้ ที่เป็นความสุข ความพ้นทุกข์ร่วมกับเรา “เสโล ยถา เอกฆโน วาเตน น สมีรติ เอวํ นินฺทาปสํสาสุ น สมฺมิญฺชนฺติ ปณฺฑิตา” ภูเขาศิลาล้วนเป็นแท่งเดียว ย่อมไม่สั่นสะเทือนด้วยลมฉันใด บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะนินทาและสรรเสริญฉันนั้น ภูเขาศิลาเป็นแท่งเดียวคือไม่มีโพรง ย่อมไม่กระทบกระเทือน ย่อมไม่สั่นสะท้านสะเทือน คือไม่เอนเอียง ไม่หวั่นไหวด้วยลม ด้วยลมที่พัดมาจากทิศเหนือ ใต้ ออก ตก เป็นต้น ฉันใด เมื่อโลกธรรมทั้ง ๘ นี้ คือมีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สุข สรรเสริญ นินทา ครอบงำอยู่ บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่เอนเอียง คือไม่หวั่นไหว ไม่สะเทือนด้วยอำนาจของความยินดีหรือว่ายินร้ายฉันนั้น
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาให้ทุกท่านปรราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เจริญยิ่งยืนนานอยู่ในร่มเงาแห่งพระบวรพุทธศาสนา เป็นผู้ที่มีจิตไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมทั้ง ๘ จนกว่าจะถึงความพ้นทุกข์คือพระนิพพานเทอญ