แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๒๕ การเห็นอริยสัจ ความจริงอย่างประเสริฐของชีวิตและจิตใจ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อม จงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน เอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันจันทร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล วันนี้เป็นมงคลข้อที่ ๓๓ “อริยสจฺจาน ทสฺสนํ ” การเห็นอริยสัจในมงคลข้อที่ ๓๓ นี้ เป็นการปฏิบัติสูงขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ปูพื้นฐานตั้ง แต่ต้น ๆ เว้นจากการคบคนพาล แล้วก็ให้คบบัณฑิต แล้วก็จะพัฒนากาย พัฒนาใจมาเรื่อย ๆ เป็นการยกระดับพื้นฐานชีวิตจิตใจให้สูงขึ้นโดยลำดับ เป็นการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ซึ่งเรียกว่า “อริยสจฺจาน ทสฺสนํ ” การเห็นอริยสัจ
อริยสัจ เป็นธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เจ้าชายสิทธัตถะได้ความเป็นพระพุทธเจ้า ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เป็นองค์สมเด็จพ่อของเรา ที่ทรงเผยแผ่ธรรม ประกาศธรรมจนมีพระพุทธศาสนาจนทุกวันนี้ ก็เพราะว่า ทรงรู้อริยสัจ ทรงเห็นอริยสัจ ที่เป็นความจริงอันประเสริฐ คนที่รู้ทั่วถึงธรรม ผู้เห็นธรรม ดวงตาเห็นธรรมในพระพุทธศาสนา เห็นอะไร? ก็คือเห็นอริยสัจนี่เอง
“ อริยะ ” แปลว่า
๑. ความหมายที่ ๑ ผู้ฆ่าข้าศึก คือกิเลส นี่คือความหมายหนึ่ง
๒. ความหมายที่ ๒ แปลว่า ผู้บรรลุธรรม คือ มรรคและผล
๓. ความหมายที่ ๓ แปลว่า ผู้ไกลจากกิเลส
๔. ความหมายที่ ๔ แปลว่า ผู้ที่ชาวโลกพึงเข้าไปใกล้ เพราะอะไร? เพราะว่า
ถ้าเข้าไปใกล้ ได้ฟังธรรม จะได้รับประโยชน์อย่างมากมาย เป็นบุญมหาศาล
๕. ความหมายที่ ๕ ก็คือว่า ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ ผลอันประเสริฐก็หมายความว่า การที่ทำอะไรกับพระอริยเจ้า ถ้าเป็นบุญ ก็บุญมหาศาล ถ้าเป็นบาป ก็เป็นบาปมหาศาลเช่นเดียวกัน เป็นอันตรายอย่างหนัก เป็นกรรมอย่างหนัก แต่ถ้าเป็นบุญ ก็เป็นบุญอย่างมากมายมหาศาล ทีนี้คำว่าสัจจะ “สัจจะ” แปลว่าความจริง สันสกฤตใช้คำว่า สัตย ภาษาไทยก็ยืมมาใช้ ก็คือคำว่า “สัตย์” นั่นเอง สัตย์ ส-เสือ ไม้หันอากาศ
ต-เต่า ย-ยักษ์ การันต์ มาจากบาลีคือคำว่า “สัจจะ” ความหมายเดียวกัน
แปลว่าความจริง
ทัศนะ แปลว่า การเห็น เครื่องรู้เห็น สิ่งที่เห็น การแสดง แปลว่าการเห็น ก็คือทัศนะ “อริยสจฺจาน ทสฺสน ” จึงแปลว่า การเห็นความจริงอันประเสริฐ หรือ การเห็นความจริงของพระอริยเจ้า การเห็นความจริงที่ทำให้คนเป็นพระอริยะ เป็นหลักธรรมที่ปรากฏอยู่ในเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ที่พระองค์ทรงแสดงครั้งแรกแก่นักบวชปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ เพราะเป็นการแสดงธรรมครั้งแรกหลังจากได้ตรัสรู้ จึงเรียกว่า “ปฐมเทศนา” แปลว่า ล้อ แปลว่าจักร ล้อหรือว่าจักร จะประกอบด้วยองค์ประกอบ ๓ ส่วน ดุม กำ แล้วก็กง
จักรแห่งธรรมนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอุปมาเปรียบเทียบ โพธิปักขิยธรรม ธรรมที่พาผู้ประพฤติ ผู้ปฏิบัติ ให้ถึงความหลุดพ้น เป็นดุม
แล้วก็ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ นี้ เป็นกำ ก็คือเป็นซี่ หรือถ้าปัจจุบันก็คือเป็นตรงส่วนที่เรียกว่า “แม็ค” ของล้อ
แล้วก็อริยสัจ ๔ เป็นกง กงก็คือเป็นวงล้อข้างนอก ส่วนโพธิปักขิยธรรมนี้ เป็นดุมตรงกลาง ที่เป็นแกนกลางของล้อรถ เพราะฉะนั้น ธัมมจักฯ ที่เปรียบประดุจกับล้อแห่งธรรมที่หมุนไป อริยสัจ ๔ จึงเป็นวงล้อ แล้วอริยสัจนี้เป็นการค้นคว้า เป็นการวิจัยปัญหาเรื่องของความทุกข์ด้วยปัญญาของพระองค์เอง ไม่เคยมีผู้ใดสั่งสอนมาก่อน แล้วก็ไม่ได้อ้างว่าคำสอนนี้เป็นคำสอนของพระเจ้าเบื้องบน เวลามีใครมาถามพระพุทธเจ้า พระ พุทธเจ้าก็จะบอกว่า เราไม่มีครู ไม่มีอาจารย์ แต่ว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ รู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นการวางรากฐานความเป็นจริง กล้ารับรองความเป็นจริงด้วยตัวเอง
ซึ่งผิดกับศาสนาอื่น ซึ่งเมื่อค้นพบอะไรแล้วต้องโยนให้พระเจ้า ขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า เพราะเกรงว่าจะไม่มีผู้ใดเชื่อมั่น แต่พระองค์ก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงทำอย่างนั้น
อริยสัจเป็นศาสตร์อิสระอีกชนิดหนึ่ง ว่าด้วยการทำตนให้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ แล้วก็ความมืดมนทั้งปวง หลักวิชาที่ทำให้คนบรรลุ เป็นพุทธะ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าผู้ค้นพบอริยสัจ ดังนั้นแล้ว อริยสัจนี้ที่เป็นความจริงอันประเสริฐ พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ๔ ประการ
ทุกข์ ความจริงอันประเสริฐ คือความบีบคั้น ความทรมานกายทรมานใจ
สาเหตุให้เกิดทุกข์อันเป็นสมุทัย
แล้วก็ความดับทุกข์ คือ นิโรธ
แล้วก็ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ คือ มรรคมีองค์ ๘
พระพุทธเจ้าทรงตรัสเตือนไว้เสมอเลยว่า ครั้งหนึ่ง ตอนที่พระพุทธองค์เสด็จพระดำเนินนี้ เพื่อที่จะเดินไปปรินิพพานจากไวสาลีไปยังกุสินารา หันไปตรัสกับภิกษุทั้ง หลายว่า “จตุนฺนํ ภิกฺขเว อริยสจฺจานํ อนนุโพธา อปฺปฏิเวธา เอวมิทํ ทีฆมทฺธานํ สนฺธาวิตํ สํสริตํ มมญฺเจว ตุมฺหากญฺจ ” แปลว่า “เพราะไม่ได้ตรัสรู้ ไม่เข้าใจในอริยสัจธรรมทั้งหมดเหล่านี้ ตถาคตแล้วก็พวกเธอจึงเร่ร่อน ระหกระเหิน ท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่สิ้นกาลนาน” เพราะอะไรเราจึงต้องเวียนว่ายตายเกิด? ก็เพราะเราไม่รู้ตัวนี้ ไม่เห็นตรงนี้ เรียนจบปริญญากี่ใบๆ ทำงานเก่ง เป็น CEO ระดับโลกแค่ไหน ก็พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดไม่ได้ เพราะไม่ได้มีปัญญาที่จะมารู้เห็นความจริงของชีวิต ปัญญาทางโลก ที่ชาวโลกยอมรับว่าดีเยี่ยมขนาดไหน อัจฉริยะขนาดไหน แต่มันดับทุกข์ไม่ได้ ยังต้องระหกระเหินเร่ร่อน เสียอกเสียใจ น้ำหูน้ำตาไหล บอบช้ำอยู่ในวัฏสงสารเรื่อยไป เพราะอะไร? เพราะไม่รู้อริยสัจ เพราะไม่รู้ความจริงอันประเสริฐนี้ โดยที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ชนเหล่าใด ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนพาล ทั้งบัณฑิต ทั้งมั่งมี ทั้งยากจนขัดสน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำ ทั้งเล็ก ทั้งใหญ่ ทั้งสุก ทั้งดิบ ย่อมมีความแตกทำลายเป็นที่สุดฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น
“สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” ทรงตรัสเตือนไว้เสมอ
ความเข้าใจในเรื่องอริยสัจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมเข้าใจอริยสัจแล้ว จะสามารถหลีกเลี่ยงจากทุกข์ด้วยการกำหนดรู้ แล้วก็หลีกเลี่ยงให้พ้นจากเหตุให้เกิดทุกข์ด้วยการละ อีกทั้งยังสามารถรู้แจ้งความดับทุกข์ โดยอาศัยการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ดังนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมนี้ จึงต้องกำหนดรู้กาย รู้ใจ ขันธ์ ๕ ที่เป็นบ่อเกิดแห่งอริยสัจ เป็นที่สุดแห่งโลกอยู่ตรงนี้
เหมือนที่เคยเล่าเอาไว้ ที่มีฤาษีท่านหนึ่ง ถ้าเทียบปัจจุบันก็คือนักดาราศาสตร์ แต่ท่านไม่ได้มีอุปกรณ์ค้นคว้าแบบที่โลกปัจจุบันทำ ที่ใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องเข้าไป กล้องโทรทรรศน์ที่นักวิทยาศาสตร์คิดขึ้นมานี้ มันเห็นได้แค่บางดาว ไม่ได้เห็นทั้งหมด เห็นไกลสุด ดาวพลูโต หรือปัจจุบันอาจจะไกลกว่านั้น แต่มันยังไม่ถึงที่สุด ฤาษีท่านนี้ ท่านใช้อุปกรณ์ในการค้นคว้าของท่านคือร่างกาย บวกด้วยอภิญญาสมาบัติ ก็คือฤทธิ์ เดินทางโดยที่ไม่กิน ไม่ขับ ไม่ถ่าย เป็นร้อยปี เพื่อที่จะไปถึงที่สุดของโลก ก็ไปไม่ถึง สิ้นอายุขัย ตายลงที่ที่แห่งหนึ่ง ยังไม่ถึงที่สุดโลก จนกระทั่งเกิดเป็นพรหม แล้วมาถามพระพุทธเจ้านะว่า ที่สุดแห่งโลกอยู่ตรงไหน พระพุทธองค์ก็ตรัสเลยว่า เราย่อมบัญญัติโลก เหตุเกิดขึ้นของโลก คือสมุทัย ความดับของโลก แล้วก็วิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับของโลก อยู่ที่กาย ที่มีประมาณ ๑ วา ที่มีใจครอง ที่มีสัญญาตรงนี้
พระพุทธพจน์ตรงนี้ พระพุทธเจ้าบอกว่า เราย่อมบัญญัติทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ วิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ ที่เป็นที่สุดของโลก ของวัฏสงสารอยู่ในร่างกายที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบตรงนี้ ไม่ใช่ที่อื่น เพราะต่อให้ส่งยานอวกาศ ยานอะพอลโล ไวขนาดไหน มันก็ไปไม่ถึงที่สุด ก็ต้องถึงจุดใดจุดหนึ่ง แล้วก็ต้องกลับลงมา เพราะมันยังไม่ได้ออกจากวงจรแห่งวัฏสงสาร ที่สุดแห่งโลกจึงอยู่ในกายในใจนี้ ที่เป็นที่นำมาประพฤติ นำมาปฏิบัติ
การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา เน้นที่การประกาศอริยสัจ ๔ บางทีก็แสดงโดยย่อบ้าง โดยพิสดารบ้าง โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของผู้ฟังธรรมในแต่ละโอกาส ในพระสูตรแรกๆ คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แสดงอริยสัจสี่ไว้เป็นหลักอย่างชัดเจน ดังนั้น อริยสัจ ๔ จึงเป็นหัวใจของคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า แล้วก็เป็นเทศนา เป็นเทศน์ที่พระพุทธองค์ตรัสแสดงด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านั้น ไม่มีใครคิดได้
ในธรรมจักรเลยสรุปว่า ไม่มีสมณะพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม ที่จะหมุนคืน ก็คือคัดค้านไม่ได้ เพราะไม่มีใครรู้ใครเห็นมาก่อน จะบอกว่ามันไม่ใช่ มันไม่จริง มันก็ไม่ใช่ เพราะมันคือความจริง นี่แหละคือผลแห่งการค้นคว้าวิจัยของพระพุทธองค์ ที่เอาชีวิตและจิตวิญญาณเป็นเดิมพัน ในการสร้างบารมี ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป จนได้รู้ได้เห็นความจริงตรงนี้
ทีนี้ เรื่องอริยสัจ เป็นของที่มีอยู่ในตัวของเราทุกคนอยู่แล้ว แต่มองไม่เห็น เพราะถูกหมอกเมฆ ถูกม่านคืออวิชชา คือความโง่ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดบังเอาไว้ ความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ มันก็มีอยู่แล้วในตัวของเรา ไม่ต้องไปศึกษาค้นคว้าที่ไหน ไม่ต้องไปลงทุน ลงแรงในการศึกษา ซึ่งผิดกับการศึกษาสภาวะสัจจะบางอย่าง ที่นักวิทยาศาสตร์กระทำกันอยู่นั้น ต้องลงทุนนับเป็นพัน ๆ ล้านดอลลาร์ ต้องส่งต้องสร้างจรวดออกไปศึกษาถึงในอวกาศ บางคนถึงกับเสียชีวิตในขณะศึกษา นับว่ามีภัยอันตรายรอบด้าน บางคนก็ต้องไปอยู่ในที่ลึกลับ ไปในเกาะที่มีมนุษย์กินคน ไปในเกาะที่มีสัตว์ร้ายๆ เพื่ออยากรู้ความจริงเล็กน้อยของธรรมชาติ บางทีตายไปยังไม่รู้ด้วยซ้ำไป นักวิทยาศาสตร์มาก มายที่ตายลงไปเพราะว่าอยากรู้อะไรบางอย่าง แล้วเอาชีวิตนี้แหละเดิมพัน
แต่ความเป็นจริงแล้ว ความดับทุกข์ไม่ต้องไปแสวงหาที่อื่น แต่มาหาที่กาย ที่ใจ ของเราตรงนี้ เมื่อรู้สัจจะที่ต้องการแล้วจึงจะพ้นทุกข์ได้ แต่ความจริงของนักวิทยา ศาสตร์ที่เขาหากันนี้ ในทางโลกๆ ไม่สามารถทำให้ผู้ที่รู้แล้วนี้ จิตใจดีขึ้นอย่างไร อย่างมากก็แค่คลายข้อสงสัยได้บางอย่างว่า อ้อ...เป็นอย่างนี้นี่เอง มันอยู่ตรงนี้ มันเป็นอย่างนี้ มันมีวิวัฒนาการอย่างนี้ มันเป็นผลมาจากอย่างนี้ รู้แค่นั้น แต่ทุกข์ยังเท่าเดิม กิเลสยังเต็มหัวใจเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือ อีโก้ ถือเนื้อถือตัวว่า อ้อ...ฉันรู้ขึ้นมาอีก รู้มากขึ้นมาอีก กิเลสเท่าเดิม
ส่วนการศึกษาในอริยสัจนั้น ไม่มีโทษ ไม่มีภัย ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย เมื่อรู้แล้วมีคุณประโยชน์อย่างเดียว แต่ไม่ค่อยจะทำกัน เพราะมันขัดใจ มันทวนโลก ทวนกระแส มันไม่ชอบ อะไรไม่ชอบล่ะ? กิเลสไม่ชอบ ที่บอกว่าเราไม่ชอบ เราไม่ชอบ เราตรงนี้ก็คือกิเลสนั่นแหละ ที่มันไม่ชอบ ไม่อยากฟัง ไม่อยากรู้ ไม่อยากเห็น
อริยสัจ ความจริงที่ทำให้ผู้รู้นี้เป็นพระอริยเจ้าได้ หมายความว่า ใครก็ตามเมื่อรู้ เมื่อเห็นอริยสัจจริงๆ ด้วยการประพฤติการปฏิบัติ ไม่ใช่รู้จากการฟัง รู้จักการอ่าน รู้จักการคิด ต้องรู้ด้วยตาปัญญา จึงจะเป็นพระอริยเจ้าได้
รู้ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่ารู้จักตัวหนังสือ หรือว่าท่อง หรือว่าบ่น ถ้ารู้อย่างนั้นนะ คงจะรู้ตั้งแต่เรียนประถมแล้ว เพราะวิชาพุทธศาสนาของชั้นประถม ป. ๒ ป. ๓ ก็บอกแล้วว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็รู้แค่นี้ สวดมนต์ก็อ่านทุกตัวอักษร ในบทธรรมจักรแปล อ่านทุกตัวอักษร เดือนหนึ่งสวดตั้งหลายครั้งก็ยังเหมือนเดิม กิเลสก็ยังเท่าเดิมนะ เพราะอะไร? เพราะมันเป็นการรู้จำ เป็นการรู้จากการท่อง รู้จากการอ่าน เป็นการรู้จากการคิด รู้แบบนั้นไม่ใช่รู้จริง เป็นเพียงแค่สัญญา จำเอาไว้ ความรู้นี้... ไม่ได้ทำให้เป็นพระอริยเจ้าได้ แต่เป็นบันไดที่จะนำไปสู่ความรู้อย่างแท้จริง คือรู้ด้วยปัญญา รู้ด้วยดวงตาเห็นธรรม อันเกิดจากการประพฤติปฏิบัติวิปัสสนา เดินตามทางสายเอก พระพุทธองค์จึงตรัสเป็น “การเห็น” ทำไมต้องใช้คำว่าการเห็น ทำไมไม่ใช้ว่า รู้อริยสัจเป็นมงคลสูงสุด แต่ตรัสว่า ทัศนะ “เห็น” เห็นในที่นี้ไม่ใช่เห็นด้วยตาเนื้อ แต่เห็นด้วย “ปัญญาจักษุ” คือตาใน ตาแห่งปัญญา
ทุก ๆ ประเทศมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นแม่บทของกฎหมายอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ทุกศาสนาในโลกก็มีหลักคำสั่งสอนที่เป็นแม่บทของศาสนานั้น ๆ เช่น คริสต์ก็มีบัญญัติ ๑๐ ประการ อิสลาม พราหมณ์ ก็มีคำสอนที่เป็นแม่บทของเขา แม่บทของพระพุทธศาสนา ก็คืออริยสัจ ๔ ต้องรู้ ต้องเข้าใจ อย่าไปเบื่อ ถ้าเบื่อ แสดงว่ากิเลส ความเห็นแก่ตัว มันพาเราเบื่อ ต้องรู้ให้เท่าทัน อย่าส่ายหน้า อย่าหันหลังให้กับพระธรรม ไม่อย่างนั้นจะไปไม่รอด
อริยสัจ ๔ คือความจริงที่มีอยู่คู่โลก แต่ไม่มีใครเห็น จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ คือทั้งรู้ แล้วก็เห็น แล้วก็ทรงชี้ให้เราดู ให้รู้จักว่า
ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจต่างๆ
สมุทัย สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
นิโรธ ความดับทุกข์
และมรรค วิธีปฏิบัติเพื่อไปสู่ความดับทุกข์
ถ้าจะเปรียบกับโรคภัยไข้เจ็บเพื่อให้เรามองเห็นได้ง่ายขึ้น ความทุกข์ก็เปรียบ เสมือนกับสภาพที่ร่างกายเรากำลังป่วยเป็นโรค เจ็บไข้ ไม่สบาย ปวดหัว ตัวร้อน
หรือเป็น covid โรคต่าง ๆ นี้ ความทุกข์อยู่ในสภาพก็คือ ที่ป่วยเป็นโรคอยู่
สมุทัย เปรียบเสมือนกับเชื้อโรค ร่างกายมันต้องไปรับเชื้ออะไรมาสักอย่าง จึงทำให้ป่วย ถ้าไม่รับเชื้ออะไรเข้ามา ร่างกายมันก็เป็นปกติ
นิโรธ เปรียบเสมือนกับสภาพที่หายจากโรค เป็นปกติ สุขภาพแข็งแรง
มรรค เปรียบเสมือนกับยารักษาโรคให้หายป่วย รวมทั้งการพักผ่อน ดื่มน้ำ ดูแลร่างกาย ทำกายภาพบำบัด เป็นมรรคที่จะทำให้ถึงนิโรธ
คนทุกคนในโลกนี้ ล้วนแต่มีความทุกข์กันทั้งนั้นแหละ เหมือนคนป่วย แต่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองป่วยจากอะไร อะไรเป็นสาเหตุ จะแก้ไขรักษาให้หายป่วยหายทุกข์ได้อย่างไร บางคนก็ต้องไปหาหมอ ป่วยนิดป่วยหน่อยต้องไปหาหมอแล้ว เครียดก็ไปหาหมอ ประสาทก็ไปหาหมอ ปวดหัวตัวร้อนนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ไปหาหมอ เพราะว่าอะไร?
อยากให้หาย ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ พอเราไม่รู้ เราไม่รู้ว่าป่วยจากอะไร บางคนก็บอกว่า จะไปรู้ได้อย่างไร เพราะว่าไม่ได้เรียนหมอมา แต่พอไปหาหมอ หมอเขาจะบอกว่าให้ทำอย่างนี้ ๆ แล้วต้องไปหาถูกหมอด้วย ปวดหัวก็ต้องไปหาหมอ ถ้าเป็นโรคหัวใจก็ต้องไปหาหมอหัวใจ ปอดก็ต้องไปหาหมอปอด ถ้าไปหาผิดหมอเขาก็รักษาไม่ได้
คนทุกคนอยากหายโรค อยากรู้สาเหตุว่า ทำไม ๆ ถึงเป็นอย่างนี้ๆ ในมงคลข้อนี้ จะทำให้เข้าใจถึงแก่นแท้ของชีวิต ให้รู้กันเลยว่าที่เราทุกข์ ๆ กันอยู่ทุกวันนี้ สาเหตุมาจากอะไร? เราจะได้รีบปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์กันเสียที
อริยสัจความจริงข้อหนึ่ง คือทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจต่าง ๆ
พระพุทธองค์ทรงพบความจริงว่า สรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนตกอยู่ในความทุกข์ทั้ง สิ้น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เป็นคนยากคนจน ยาจกเข็ญใจ วณิพกพเนจร จะเป็นสูงส่ง นายกรัฐมนตรี เป็นประธานาธิบดี เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือแม้กระทั่งเป็นเทพ เทวดา เป็นพรหม ก็มีทุกข์ทั้งนั้น ต่างกันแต่เพียงว่าทุกข์มาก ทุกข์น้อย ทุกหยาบ ทุกข์ละเอียด และมีปัญญาพอที่จะรู้ตัวหรือเปล่าเท่านั้น
ความทุกข์ในอริยสัจนี้ แตกต่างจากความทุกข์ในไตรลักษณ์ ความทุกข์ในไตรลักษณ์นั้น เป็นสภาพที่มันทนอยู่ไม่ได้ เช่น เรานั่งนานๆ ปวดแข้ง ปวดขา ก็ต้องขยับ ต้องพลิกไปพลิกมา นั่งนาน ๆ ง่วง นั่งนาน ๆ ชา นี่คือความทุกข์ในไตรลักษณ์ที่มันบีบคั้น มันอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ แต่ความทุกข์ในอริยสัจนั้น หมายถึงความทุกข์อันเกิดจากการเบียดเบียนต่าง ๆ นานา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแยกแยะให้เราเห็นว่า ความทุกข์นี้มีถึง ๑๑ ประเภทใหญ่ ๆ แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะใหญ่ ๆ คือ
๑. สภาวะทุกข์ ได้แก่ความทุกข์อันเป็นผลโดยตรงจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทุกข์ประเภทนี้เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะมันเป็นทุกข์ประจำสังขาร ชาติปิทุกขา-เกิดก็เป็นทุกข์ ชราปิทุกขา-แก่ก็เป็นทุกข์ มรณัมปิทุกขัง-ตายก็เป็นทุกข์ เพราะว่า เมื่อเราเกิดมาแล้ว เราก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย วิธีป้องกันความทุกข์ชนิดนี้ก็คือ ไม่เกิด ขออย่าได้ผุดได้เกิดอีก ก็คือให้ดับทุกข์ได้ จึงจะไม่ผุดไม่เกิด
ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาหลักธรรม อย่างมากที่สุดก็บอกได้แต่เพียงว่า ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ ส่วนการเกิด... กลับถือว่าเป็นสุข เป็นพรพิเศษที่พระเจ้าประทานมาให้จากสรวงสวรรค์ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรู้แจ้งโลกด้วยพระปัญญา ทรงชี้ให้เราเห็นว่า เกิดนั่นแหละมันเป็นตัวทุกข์ ทุกข์ตั้งแต่ต้องนอนขดอยู่ในท้อง พอจะคลอดก็ถูกมดลูกบีบรัดดันออกมา ศีรษะที่ถูกผนังช่องคลอดบีบจนกะโหลกเบียดซ้อนเข้าหากัน จากหัวกลม ๆ บางทีก็กลายเป็นรูปยาว ๆ จนแทบขาดใจ เพราะฉะนั้น ทันทีที่คลอดออกมา สิ่งแรกที่เด็กทำก็คือ ร้องสุดเสียงด้วยความเจ็บปวด เพราะมันเจ็บจริง ๆ นะ
การเกิดนี่เอง มันจึงเป็นต้นเหตุของทุกข์ ผู้ที่เป็นแม่ก็ต้องทุกข์ สมัยก่อนนี้คลอดลูกเจ็บมากนะ ที่คลอดตามธรรมชาติ แล้วก็พอเกิด จึงเป็นที่มาของความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ถ้าเลิกเกิดเมื่อไหร่ ทุกข์ที่มันเป็นขบวน มันจะค่อย ๆ หมดไป
อีกอย่างหนึ่ง ที่คนมักจะเข้าใจกันก็คือว่า คิดว่า ชราทุกข์ ทุกข์คือความแก่ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่ออายุ ๖๐-๗๐ ปี แต่จริงๆ แล้วมันเกิดทันทีที่เราเกิดขึ้นมา เราก็เริ่มแก่แล้ว ชราทุกข์เริ่มเกิดตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก็ค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เซลล์ในร่างกายเริ่มแก่ตัวไปเรื่อยๆ เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่า ชรานี้...เป็นมาตั้งแต่เกิด ถ้ามันไม่มีชรานะ เด็กคลอดมาอย่างไร ทุกวันนี้ก็คงอยู่ในสภาพนั้นนะ คงนอนแบเบาะอยู่เหมือนเดิม แต่เพราะว่าชรา คร่ำคร่า เปลี่ยนแปลง เป็นผู้ใหญ่ เป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นกลางคน เป็นคนแก่คนเฒ่า จนกระทั่งตาย ชรามันเริ่มมาตั้งแต่เกิดแล้ว นี่คือความทุกข์ที่เป็นสภาวะทุกข์ประจำสังขาร สุดท้ายแล้วก็คือความตาย
๒. ปกิณณกทุกข์ คือทุกข์จร เกิดกับแต่ละคนด้วยระดับที่ต่างกันไป ไม่แน่นอน เป็นความทุกข์ที่เกิดจากจิตใจที่หย่อนสมรรถภาพ ไม่อาจจะทนต่อเหตุการณ์ภายนอกที่มากระทบตัวเราได้ ผู้มีปัญญาจึงต้องรู้จักฝึกควบคุมใจตนเอง ก็จะสามารถบรรเทาทุกชนิดนี้ได้ เป็นความทุกข์อันเกิดจากไม่สามารถทนต่อการกระทบของเหตุภายนอกได้ มีอยู่ ๘ อย่าง คือ
- โสกะ - เศร้าโศก เสียใจ
- ปริเทวะ - อาการคร่ำครวญ ร้องไห้
- ทุกขะ - มีอาการเจ็บกาย เจ็บใจ
- โทมนัสสะ - เสียอกเสียใจ น้อยใจ
- อุปายาสะ - อาการท้อแท้ใจ กลุ้มใจ
- อัปปิเยหิ สัมปโยคะ - ความขัดข้องหมองใจ ตรอมใจ จากการที่ประสบพบเจอกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก
- ปิเยหิ วิปปโยคะ - ความเศร้าโศกเสียใจเมื่อต้องพลัดพรากจากคนรักของรัก
- ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ - ความหม่นหมองจากการปรารถนาสิ่งใดแล้ว ไม่ได้ดั่งใจ ทุกข์
นี่เป็นผลของการวิจัยความทุกข์ในทางพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ พระองค์จึงทรงเป็นเหมือนกับ แพทย์ผู้ชำนาญโรค สามารถแยกแยะอาการของโรค
ให้เราดูอย่างละเอียดชัดเจน ซึ่งเป็นโรคประจำกาย ประจำใจของเรา ที่มีอยู่ทุกคน
รู้หรือไม่รู้ มันก็มีอยู่ เพราะมันเป็นทุกข์ประจำสังขาร
“ทุกขัง อริยสัจจัง ปริญเญยยัง ” อริยสัจ ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์ เป็นสิ่งที่เราต้องรู้จัก
อริยสัจที่ ๒ คือสมุทัย
เหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลายดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่ฝึกสติสมาธิมาน้อย หาเหตุแห่งความทุกข์ไม่เจอ จึงโทษไปต่าง ๆ นานา ว่า เป็นการลงโทษของพระเจ้าบ้าง ของผีป่าบ้าง ของปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษบ้าง โน่นนี่นั่น โทษไปทั่ว ถ้าเป็นจริงละก็ ผีคงสะดุ้งนะ เพราะอะไร ๆ เกิดขึ้นมา ก็ไปโทษ โทษผี โทษเทวดา โทษป่า โทษเขา
แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมองเห็นความจริงอย่างชัดเจนว่า ที่เราทุกข์ ๆ
กันอยู่ทุกวันนี้ สาเหตุมาจาก ตัณหา คือ ความทะยานอยาก ที่มันอยู่ในใจของเรา
ทรงแสดงอาการไว้ ๓ ประการ ก็คือว่า
๑. กามตัณหา ความอยากได้ อยากได้เงิน อยากได้ทอง อยากสนุก อยากมีแฟนเยอะ ๆ หรือว่า อยากเห็นของสวย ๆ งาม ๆ อยากเห็นของหล่อ ๆ อยากฟังเสียงไพเราะ ๆ อยากดมกลิ่นหอม ๆ อยากรับประทานอาหารอร่อย ๆ อยากถูกต้องสัมผัสที่อ่อนนุ่ม มันเป็นกามตัณหา ความอยากตรงนี้ พออยากปุ๊บ มันไม่หยุดแค่ความอยาก
มันตามใจ มันอยาก แล้วมันพาร่างกายให้ทำตาม ต้องทำโน่น ทำนี่ แสวงหา ไขว่คว้าให้ได้มา ต้องเก็บรักษา ต้องคุ้มครอง พอมันพรากจากเราไป พอมันสูญสลายไป ก็ต้องเสียอกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ วงจรก็เป็นอยู่อย่างนี้
๒. ภวตัณหา คือความอยากเป็น อยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็น อยากเด่น อยากดัง อยากสารพัด อยากแล้วก็ต้องทำตามทีนี้ เช่น ตอนนี้มียศตำแหน่งอยู่ตรงนี้ อยากได้ยศสูงกว่าขึ้นไป ก็ต้องไปไขว่คว้า ต้องไปแสวงหา สารพัดอยาก มันเป็นเหตุแห่งความทุกข์
๓. วิภวตัณหา ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากเป็นอย่างนั้น ไม่อยากเป็นอย่างนี้ ไม่อยากเป็นคนจน ไม่อยากเป็นคนแก่ ไม่อยากเป็นคนขี้โรค สุดท้าย...ไม่อยากตาย ทั้งนั้นนะ เป็นเหตุแห่งความทุกข์
มนุษย์เราเกิดมานี้ เกิดมาจากตัณหา เราลองคิดดูสิ เรานี้มาจากตัณหาของพ่อของแม่ พ่อแม่ต้องมีตัณหาต่อกัน มาสมสู่กัน จึงมีตัวเราออกมา เกิดมาจากตัณหา ลอยคออยู่ในตัณหา เคยชินกับตัณหา คุ้นเคยกับตัณหา จนเห็นตัณหาเป็นเพื่อนสนิท เป็นเพื่อนรัก เป็นเพื่อนร่วมเป็นร่วมตาย กอดคอกันตายด้วย กินด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ถ้าขาดตัณหาเสียแล้ว เขาก็กลัวว่าจะขาดรสชาติของชีวิตที่เคยได้ เคยอยู่เคยเป็น แต่ความเป็นจริงตัณหานั้น...ถ้าเป็นเพื่อน ก็คือเพื่อนเทียม ที่คอยหลอกล่อ
นำทุกข์มาให้เรา แล้วเขาก็ยืนหัวเราะชอบใจเวลาที่เราต้องเสียอกเสียใจ พลัดพราก อาการสารพัดอย่างที่ประสบอยู่ทุกวัน
พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าเป็นเหมือนแพทย์ผู้ชำนาญ ทรงแยกแยะสาเหตุของโรค สาเหตุของทุกข์ ให้เราเห็นว่ามาจากอะไร สาเหตุของทุกข์นี้ เชื้อโรคชนิดไหน กิเลสชนิดใด
“ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพงฺ ” อริยสัจความจริงอันประเสริฐ คือทุกข์
สมุทัยก็คือสาเหตุให้เกิดทุกข์นี้ ต้องละ เราต้องไปละ
การค้นพบของพระพุทธเจ้า เป็นการค้นพบเหตุของความทุกข์โดยตรง เป็นการค้านลัทธิศาสนาฝ่ายเทวนิยมทั้งสิ้น ที่สอนกันว่าความทุกข์ของมนุษย์เกิดจากการลง โทษลงทัณฑ์ของพระผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นใหญ่บนสวรรค์ รวมทั้งเชื่อเรื่องผีเรื่องสาง พวกนี้ พระองค์ทรงค้านหมด เพราะความจริงไม่ใช่อย่างนั้น แต่หลาย ๆ คน... บางศาสนาเขาสอนกันให้เชื่อแต่พระเจ้า อ้อนวอนพระเจ้า พอได้อะไรมา ก็ขอบคุณพระเจ้า
พอเกิดความทุกข์ขึ้นมา ไม่ได้ดั่งใจ ก็ต้องไปขอโทษพระเจ้า โยนให้พระเจ้าหมด แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น มันมาจากกรรมและผลของกรรมทั้งสิ้น
ถ้าจะเปรียบคำสอนของพระพุทธเจ้ากับลัทธิอื่นๆ ก็คล้ายกับคนโบราณ
คนโบราณ เช่น ตอนที่เป็นโรคอหิวาตกโรค โรคอหิวาตกโรคก็คือโรคห่า ที่เป็นแล้วมันติดกันตายเป็นเบือ เหมือน covid ที่ยังไม่มีอะไรรักษา หรือเป็นไข้มาลาเรีย คนสมัย ก่อนไม่รู้ แล้วก็มีความเชื่อถือว่า เกิดมาจากผีในป่าบ้าง ผีในมหาสมุทรบ้าง ผีในทะเลบ้างมาลงโทษเรา พอคิดอย่างนั้นก็มีการเซ่นไหว้ อ้อนวอนกับผีสางนั้น แต่เมื่อวิทยาการได้ก้าวหน้า แล้วก็ค้นพบว่า อ๋อ... การที่เป็นโรคอหิวาต์นั้น ไม่ได้มาจากผีป่า ผีทะเลอะไรเลย มันเกิดมาจากกินของผิดสำแดง หรือเกิดจากเราได้รับเชื้อโรคจากการกินน้ำไม่ได้ต้ม ส่วนไข้มาลาเรียนั้นก็ไม่ได้เกิดมาจากผีทะเลอีกเช่นกัน ค้นพบว่ายุงต่าง หาก ยุงก้นปล่องมันนำเชื้อมา ยุงจะเกิดได้ก็เพราะว่าทำให้มีน้ำขัง มันเป็นพาหะเชื้อยุง ซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อไข้มาลาเรียมาสู่เรา พอคนมองข้ามไป พอเกิดเป็นไข้ เป็นอะไรขึ้นมา ก็ไปโทษผีโทษสาง โทษนางไม้ โทษเทวดา โทษพระเจ้า ว่าทำให้เกิดเป็นทุกข์อย่างนี้
ตรงกันข้าม พระพุทธเจ้าทรงชี้มาที่ตัวเองว่า ใจเรานั่นแหละที่มันทำให้เกิดทุกข์ ใจที่มันเต็มไปด้วยตัณหานี้ เหมือนไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ ทะเลไม่อิ่มด้วยน้ำ คนโลภก็ไม่เคยอิ่มเต็มไปด้วยตัณหา สาเหตุอยู่ตรงนี้
อริยสัจที่ ๓ คือความดับทุกข์
หมายถึงสภาพที่ใจมันหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง ทำให้หมดตัณหา จึงหมดทุกข์ ทรงค้นพบลักษณะของความทุกข์ที่แท้จริง ที่ปลอดภัยที่สุดว่าเป็นอย่างไร ซึ่งได้คำตอบว่า ความพ้นทุกข์ที่แท้จริงนั้นน่ะ จิตจะต้องหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง ตราบใดที่เรายังมีกิเลสอยู่ ความทุกข์มันก็ต้องมีอีก ยังไม่พ้นเด็ดขาด จิตที่หมดกิเลสแล้วเรียกสั้นๆ ว่า นิพพาน คือหมดจากกิเลส เครื่องร้อยรัดทั้งปวง
ความพ้นทุกข์ที่ว่านี้ ก็ไม่ตรงกับทัศนะของเจ้าลัทธิอื่น ๆ ศาสนาอื่น ๆ อีกเหมือน กัน ตามความเห็นของเจ้าลัทธิ ศาสนาต่าง ๆ สอนความพ้นทุกข์ในลักษณะต่างกัน เช่น การคอยให้ผู้วิเศษรับไปอยู่สวรรค์ การทรมานตัวให้มันมึนชาต่อความรู้สึก การตัดความ รู้สึกทางกาม ตัดความรู้สึกทางเพศ ลักษณะความพ้นทุกข์ดังกล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธว่า ไม่ใช่ความหลุดพ้นอย่างแท้จริง มันเป็นเพียงแค่การข่มทุกข์เอาไว้ชั่ว คราวเท่านั้น เหมือนหินทับหญ้า หญ้ามันไม่ได้ตายเพราะรากมันยังอยู่ มันก็แค่เหลือง ๆ แค่นั้นเอง พอเอาหินออก มันก็ขึ้นมาเหมือนเดิม งอกเหมือนเดิม เพราะเชื้อยังอยู่
รากยังอยู่ เป็นความพ้นทุกข์ที่ยังไม่ได้พ้นจริง ๆ แต่คนเหล่านั้นนึกเอาเองว่า พ้นแล้ว เหมือนคนเป็นไข้ แค่อาการของมันสงบชั่วคราว ก็เข้าใจว่าหายแล้ว แท้จริงมันยังมีเชื้อโรค เชื้อไข้ เต็มอยู่เต็มอัตรา เพียงแต่มันสงบ มันถูกข่มไปด้วยยาเท่านั้น
การคอยรับความช่วยเหลือจากผู้อื่นโดยไม่มีกำหนดแน่นอนนี้ ก็เป็นความสุขด้วยความหวังของตนเท่านั้น เหมือนคนที่ไม่มีอาหารจะกิน แต่เมื่อความหวังว่าจะต้องมีคนเชิญไปกินอาหาร ระหว่างการรอคอยนั้น ก็คงต้องกลืนน้ำลายตัวเองไปพลาง มันเป็นการสร้างความสุขได้ แต่มันไม่ใช่ความพ้นทุกข์ที่แท้จริงเพราะมันไม่ได้อิ่ม
การทรมานตัวให้มันมึนชาต่อความทุกข์ เช่น อัตตกิลมถานุโยค ที่การบำเพ็ญ
ทุกรกิริยาทำกันนะ เช่น คนที่มีความเห็นว่า ความทุกข์ทั้งหลายเกิดมาจากร่างกาย
พอกายได้รับความสะดวกสบายมากเกินไป ต้องทรมานร่างกายให้มันได้รับความลำบาก (ทุกรกิริยา) พระพุทธองค์ก็เคยทรงทำวิธีนี้ อดอาหาร กลั้นลมหายใจแทบตาย แต่กิเลสก็ยังเต็มหัวใจอยู่เหมือนเดิม แล้วจะได้เห็นความทุกข์อื่น เป็นเรื่องเล็กน้อยไป
ต้องทรมานมาก ๆ เขาคิดกันอย่างนั้น เพราะจิตใจหรือว่าร่างกายได้รับการทรมาน จนตายด้านเสียแล้ว วิธีนี้ก็ไม่ใช่ความพ้นทุกข์ที่แท้จริง ตัวเองก็ยังทุกข์ อยู่ในกองทุกข์นั้นเอง แต่ทำตัวไม่ให้รู้จักทุกข์ คล้าย ๆ กับคนที่อยู่กลางป่า มีสัตว์ร้ายแล้วก็อสรพิษมาก ตัวเองนี่นึกกลัวอันตราย อยากทำให้ตัวเองพ้นอันตราย แต่ใช้วิธีทำให้ตัวเอง
ตาบอดเสีย ทำให้หูหนวกเสีย งูมาจะได้ไม่ต้องเห็น เสือร้องจะได้ไม่ต้องได้ยิน หรือคนที่อยู่ในป่าแล้วกลัวผี ก็ปิดหูปิดตาเสีย หลับตาจะได้ไม่ต้องเห็น อุดหูจะได้ไม่ต้องได้ยิน คิดว่าตัวเองพ้นอันตรายแล้ว ส่วนการทำใจให้เข้าสู่ภวังค์ ตัดความรู้สึกทางกายเสีย ไม่รู้สึกหนาว ไม่รู้สึกร้อน คิดว่าตัวเองพ้นทุกข์แล้ว นั่นเป็นเพียงความฝัน เหมือนคนไข้ที่นอนหลับฝันว่าตัวเองหายจากไข้ มีกำลังร่างกายแข็งแรงดี พอตื่นแล้วก็เป็นไข้อยู่นั่นเอง นี่ก็ไม่ใช่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เหมือนกับการได้อภิญญาสมาบัติของนักพรตฤาษีทั้งหลาย ที่มีกำลังมีฤทธิ์ แต่ว่ากิเลสมันยังอยู่เท่าเดิม
เราจะสังเกตได้ว่า คำสอนอื่นๆ ของเจ้าลัทธิอื่นๆ เป็นการสอนให้หลบทุกข์ แต่พระพุทธศาสนาสอนให้รู้ทุกข์ ให้กำหนดทุกข์ แล้วก็ทำลายความทุกข์ จึงจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ ความทุกข์มันถึงจะหมดไป ต้องทำใจให้หมดจากกิเลส เหมือนกับไฟที่มันลุกเพราะมีเชื้อ การใช้น้ำดับ เป็นการระงับที่ปลายเหตุ ตราบใดที่ยังมีเชื้อไฟอยู่ พอได้รับเหตุปัจจัย ไฟนั้นก็ยังต้องติดอีก ส่วนการทำลายไม่ให้มีเชื้อเหลืออยู่ ไฟมันก็ติดไม่ได้
ดังนั้น เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงอย่างนี้แล้ว จึงได้ทรงแสดงหนทางต่อไปถึงความดับทุกข์ นั่นคือ มรรคมีองค์ ๘
“ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพงฺ ” ความจริงอันประเสริฐ คือความดับทุกข์นี้ เราต้องทำให้แจ้ง นี่คือความจริง
อริยสัจ ๔ คือมรรค
หมายถึงวิถีทางแห่งความพ้นทุกข์ ซึ่งท่านได้แสดงถึงการปฏิบัติเพื่อก้าวไปสู่ความพ้นทุกข์ มีอยู่กันด้วย ๘ หัวข้อ เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘
พระพุทธเจ้าเป็นแพทย์ผู้ชำนาญ ทรงทราบเหตุที่ทำให้เกิดโรค เกิดทุกข์ชัดเจนแล้ว ก็ทรงสอนเราว่า ที่เราป่วย เราทุกข์ เพราะว่าเจ้าตัณหา ซึ่งเป็นเสมือนเชื้อโรคนี่เอง ถ้าต้องการหายจากโรค หายเด็ดขาด ไม่กลับมาเป็นโรคนั้นอีก ก็ต้องกำจัดเชื้อโรคนั้นให้มันหมดไป โดยพระองค์ทรงมอบยาดี ยาวิเศษ ให้เราใช้กำจัดเชื้อโรคที่เป็นตัวทุกข์ นั้นก็คือ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่จะทำให้เราดับทุกข์ได้ เริ่มต้นจากมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ที่เป็น สัมมาทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐิมีอยู่ ๒ ระดับ
๑. ระดับพื้นฐานก็คือว่า ให้รู้จักบุญ รู้จักบาป รู้จักดี รู้จักชั่ว รู้จักบุญคุณพ่อแม่ รู้จักนรก รู้จักสวรรค์ รู้จักโลกนี้ โลกหน้า
๒. สูงขึ้นมาหน่อยก็คือ ต้องรู้จักอริยสัจ ๔ เห็นอริยสัจ ๔ จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิอย่างสมบูรณ์
ความเห็นถูก แล้วจึงนำพาไปสู่การคิดถูก สัมมาสังกัปปะ
คิดถูกคิดอย่างไร? คิดชอบคิดอย่างไร? คิดออกจากกาม คิดไม่พยาบาท คิดไม่เบียดเบียน คิดไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
เมื่อเห็นถูกคิดถูก จึงทำให้พูดดี พูดชอบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดโกหกหลอกลวง
พูดดีแล้วก็ทำดี ทำดี ทำการงานชอบก็คือว่า ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์
ไม่ทุจริตฉ้อโกงคอรัปชั่น ไม่ประพฤติผิดในกาม
ทำงานถูกต้อง สัมมาอาชีวะ ก็คือว่า เป็นการเลี้ยงชีวิตในทางที่ถูก ในทางที่ชอบ ไม่เบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่น
ต่อมาความพยายามถูก มีความพยายามชอบ ก็คือว่า พยายามที่จะให้บาปอกุศลที่มันมีอยู่นี้ให้มันหมดไป พยายามอย่าให้บาปใหม่มันเกิดขึ้นมา พยายามให้ความดีที่มันยังไม่เคยเกิดมีเลยให้มันเกิดมีขึ้น แล้วก็พยายามรักษาคุณงามความดีนั้นให้มันคงอยู่ตลอดไป
เมื่อปูพื้นฐานดีเช่นนี้แล้ว สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จึงเกิดขึ้นมาโดยลำดับ
สัมมาสติ ระลึกชอบ ท่านก็หมายถึงสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเราก็สามารถย้อนไปฟังได้ ในเรื่องของทางสายเอก
แล้วก็สัมมาสมาธิ มีใจตั้งมั่นชอบ จะเป็นพื้นฐานอย่างนี้
มรรคทั้ง ๘ ข้อนี้ ถ้าขยายออกไปแล้ว ก็จะได้คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าย่อเข้ามาก็คือ ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นหัวใจของพระศาสนา
ศีล ก็คือ มรรคมีองค์ ๘ ข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕
- สัมมาวาจา-เป็นคนพูดดีพูดชอบ
- เป็นคนทำดีทำถูกต้อง
- เป็นผู้ประกอบอาชีพในทางที่ถูก คือตัวศีล
ตัวสมาธิ ก็คือข้อ ๖, ๗, ๘
- สัมมาวายามะ - พยายามถูก
- มีความระลึกชอบ - สัมมาสติ
- มีความตั้งมั่นชอบ - สัมมาสมาธิ
ส่วนตัวปัญญาคือ ๒ ข้อแรก
- มีความเห็นถูกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ
- แล้วก็มีความคิดถูก ก็คือสัมมาสังกัปปะ
ศีล สมาธิ ปัญญา แต่ทำไมพระพุทธเจ้าต้องเริ่มด้วยปัญญา เพราะต้องมีความเห็นชอบ มีความเห็นถูกก่อน ไม่อย่างนั้นทำไม่ถูกหรอก
มรรคทั้ง ๘ ข้อนี้ ต้องปฏิบัติไปพร้อมๆ กันในชีวิตประจำวัน จะทำให้เห็นอริยสัจได้อย่างชัดเจน และพ้นทุกข์ได้ โดยที่ไม่ต้องไปวิงวอนพระเจ้า หรือใครๆ
“ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพงฺ ”
ความจริงอันประเสริฐ คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้ “ภาเวตพฺพงฺ ” เราพึงบำเพ็ญ ก็คือพึงปฏิบัติ พึงประพฤตินั่นเอง
เมื่อได้ฟังอริยสัจมาถึงตรงนี้ เราก็รู้แล้วว่า ทุกข์มีกี่ประเภท อะไรบ้าง อะไรที่ทำให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้มรรคมีองค์ ๘ จำได้หมดนะ จำได้ สวดได้ แต่นี่ยังไม่เรียกว่าเห็นอริยสัจ เป็นแต่เพียงฟัง แล้วก็จำอริยสัจได้เท่านั้น การเห็นอริยสัจแต่ละข้อๆ นี้ เห็นด้วยปัญญาที่เจริญวิปัสสนา เห็นถึง ๓ รอบ เห็นอริยสัจ ๔ ถึง ๓ รอบจึงเป็นอาการ ๑๒ ที่มีรอบ ๓ อาการ ๑๒
การเห็นอริยสัจ แปลกกว่าการเห็นอย่างอื่น คือเมื่อเห็นแล้วสามารถทำได้ด้วย เช่น เห็นสมุทัย เหตุแห่งทุกข์ ว่าคือตัณหา ก็จะเห็นว่าตัณหานี้ต้องละ แล้วก็ละตัณหาได้ด้วย จึงจะเป็นการเห็นที่บริบูรณ์จริง ๆ
ถ้าเปรียบเสมือนกับการรู้เรื่องยา จะเป็นความรู้ที่บริบูรณ์ก็ต้องรู้อย่างนี้คือ
๑. รู้ว่า นี่เป็นยานะ
๒. แล้วก็รู้ว่า ยานี้ควรกิน
๓. แล้วก็รู้ว่า อ้อ... ยานี้เราได้กินแล้ว หายแล้ว
มีหน้าที่ ๓ อย่างนี้
ทุกข์ คือความจริงอันประเสริฐ ทุกข์ ควรรู้ ทุกข์ เราได้รู้แล้ว
เหตุให้เกิดทุกข์คือตัณหา คือความจริง เราก็ควรละ เราละได้แล้ว อย่างนี้เป็นต้น
จึงเป็นญาณ ๓ (สัจญาณ) รู้ว่าเป็นความเป็นจริง รู้ว่าเป็นของจริงของชีวิต รู้อย่างนี้เป็น RQ คือรู้ความจริงของชีวิต เป็นปัญญาอันชาญฉลาดที่จะรู้ความจริงของชีวิต (Realistic Quotient)
RQ ปัญญาที่รู้ความเป็นจริงของชีวิต เป็นสัจญาณ รู้ตรงนี้
กิจจญาณ รู้ว่า พอรู้แล้วต้องรู้ว่าควรทำอย่างไร รู้ว่าอันนี้ต้องรู้ อันนี้ต้องละ อันนี้ต้องทำให้แจ้ง อันนี้ต้องปฏิบัติ อย่างนี้
กตญาณ รู้ว่าทำแล้ว
การเห็นอริยสัจนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่า เมื่อเห็นข้อใดข้อหนึ่ง ข้อที่เหลือก็จะเห็นทั้งหมด เช่น เมื่อเห็นทุกข์ ก็จะเห็นสมุทัย เห็นนิโรธ เห็นมรรคด้วย เห็นสมุทัย ก็จะเห็นทุกข์ เห็นนิโรธ เห็นมรรคด้วย จะเห็นพร้อมกันทั้งหมด เพราะไม่ใช่การเห็นด้วยตา หรือการนึกคิดเป็นธรรมดา หรือไม่ใช่การนึกคิดเห็นธรรมดา แต่เป็นการเห็นด้วยธรรมจักษุ เห็นด้วยปัญญาจักษุ คือตาปัญญา ก็คือดวงตาเห็นธรรมนั่นเอง
มนุษย์คือผู้ที่ประเสริฐ เกิดมาเพื่อพระนิพพาน เพื่อมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง พระพุทธเจ้าคือผู้ที่เห็นอริยสัจ ๔ บำเพ็ญพุทธบารมีตั้ง ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป นับเวลายาวนานหลายล้านชาติ แล้วนำมาบอกมาสอนพวกเรา ศาสนาพุทธ ก็คือผู้รู้ รู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง เป็นอริยสัจ ๔ รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ และความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ รู้สภาพความเป็นจริงถึงเป็นพุทธะ
พื้นฐานของผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดคือ ผู้ที่ยังไม่รู้อริยสัจ ๔ การดำเนินชีวิต เราต้องรู้อริยสัจ ๔ ต้องอาศัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรามีตา มีหู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ เป็นอุปกรณ์ตัวผู้รู้ ในชีวิตประจำวันของเรา เราต้องเรียน เราศึกษาอย่างนี้ ก็เพื่อเป็นอุปกรณ์ เพื่อรู้ ทุกคนต้องพากันสนใจ เอาใจใส่เป็นพิเศษ เราจะได้ถึงศาสนา ถึงภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เพราะว่า คำว่าศาสนา คือตัวผู้รู้... รู้อริยสัจ ๔ นี่เอง จึงจะเป็นศาสนาพุทธจริงๆ
ศาสนาพุทธก้าวไปไกลถึงที่สุด คือพระนิพพาน ถ้าเราไม่รู้ ก็ต้องทำทั้งผิด ทั้งถูก ทั้งดี ทั้งชั่ว ก็เป็นได้แต่เพียงคน ปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นการประพฤติ การปฏิบัติ เพราะอดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ มันอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเราต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันปรินิพพานไปแล้ว โอวาทครั้งสุดท้ายก็ทรงตรัสบอกสอนแก่เราว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด เพราะรูปมันก็สวย เสียงมันก็ไพเราะ อาหารมันก็อร่อย ที่อยู่ที่อาศัยก็สะดวกสบาย อันนี้มันเป็นแค่มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ หรือว่าความสุขสงบที่เป็นพรหมโลก ก็ยังมีทุกข์อยู่ พวกนี้ก็ยังเวียนว่ายตายเกิด มันเป็นเพียงถนนผ่าน เราทุกคนต้องเอา พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มาเสียสละ
การประพฤติปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันที่ก้าวไป การปฏิบัตินี้ทุกแง่ทุกมุมว่า คือ
อริยมรรคมีองค์ ๘
ประเทศไทยเรา คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เพราะว่าประเทศไทยนี้ ตั้งประเทศมาพร้อมๆ กับพระพุทธศาสนา แล้วก็นำพระพุทธศาสนาเข้ามา เอาหลักการ หลักวิชาการของพุทธ คือเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง แต่ถ้าเราเป็นพุทธเพียงแค่ในสำมะโนครัว แค่ในทะเบียนบ้าน แต่เรายังไม่เข้าใจ ผู้ที่มาบวชก็ยังไม่เข้าใจ ผู้ที่เป็นประชาชนก็ยังไม่เข้าใจ ๙๙.๙% ยังไม่เข้าใจศาสนาแท้ๆ เพราะเราสนใจแต่เรื่องทำมาหากิน เรื่องธุรกิจหน้าที่การงาน แล้วก็หลงเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งเหล่านั้น
ความเป็นจริงแล้ว ต้องเข้าใจเรื่องธุรกิจหน้าที่การงาน เข้าใจเรื่องจิตเรื่องใจไปพร้อมๆ กัน ทำให้เราได้ปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน ไม่อย่างนั้น ทำให้เราเสียโอกาส เสียเวลาไปมาก ชีวิตของเรามันเลยตกไปสู่อบายมุข สู่อบายภูมิ มันขาดความมีพุทธะอยู่ในใจ มีพระธรรมอยู่ในใจ มีพระอริยสงฆ์อยู่ในใจ เราไม่ได้เข้าใจถึงอริยสัจ ๔ ไม่ได้แก้ปัญหา มันเลยเป็นสร้างปัญหา
การปฏิบัตินี้ ทุกศาสนาก็ไปทางเดียวกัน แต่คนเห็นแก่ตัวเพราะความหลง มันทำให้เราไม่รู้จักอริยสัจ ๔ มันเลยไปแบ่งพรรค แบ่งพวก แบ่งก๊ก แบ่งเหล่า เลยแตกความสมัครสมานสามัคคี เป็นนิติบุคคลไป ครอบครัวเราต้องเอาธรรมะเป็นหลัก ชีวิตของเราจึงจะก้าวไปด้วยสติ ด้วยปัญญา ต้องเน้นที่ปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญ ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องเอามาใช้ในปัจจุบัน ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ต้องเอามาใช้ เอามาทำงานในปัจจุบัน
เราอย่าเพลิดเพลิน เราอย่าประมาท ทุกคนนะที่ยังเวียนว่ายตายเกิด
ก็ชื่อว่ายังเพลิดเพลิน ยังประมาท คนเรามันเก่งทางโลกก็จริง เก่งการเรียนการศึกษา เก่งทางหลักเหตุหลักผล ทางโลกก็เก่ง การเก่งนั้นมันเก่งเพื่อความเห็นแก่ตัว ยังไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับทุกข์ ไม่ได้พัฒนาใจไปพร้อมๆ กัน
ความรู้ความเข้าใจก็เป็นโทษเหมือนกัน เราจะเห็นคนทำผิดส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนมีความรู้ มีความสามารถทั้งนั้นนะที่มากินบ้านกินเมือง ที่ปกครองคณะสงฆ์ ผู้ที่ปกครองส่วนใหญ่ ส่วนราชการ การเมือง มีแต่คนเก่งๆ ทั้งนั้น แต่ถ้าเก่งไปในทางเห็นแก่ตัว
ก็จะทำความผิดอย่างมาก เพราะไม่รู้อริยสัจ ๔ ถ้ารู้อริยสัจ ๔ เขาจะไม่ทำบาป
เขาจะมีศีล ๕ เขาจะเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เขาจะพัฒนาทั้งเทคโนโลยี พัฒนาทั้งใจไปพร้อมๆ กัน
ถ้าเราไม่เอาศีลใช้ทำงาน เราจะไม่มีภาคประพฤติภาคปฏิบัติเลย ถ้าเราไม่เอาสมาธิความตั้งมั่น เรายังไม่มีภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถ้าเราไม่เอาปัญญาเพื่อหยุดการเวียนว่ายตายเกิด ปัญญาที่เห็นภัยในวัฏสงสาร ที่เสียสละอย่างนี้ เอามาใช้ เอามาปฏิบัติ มันก็ไม่ได้
อริยสัจที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบ นี่แหละ คือหลักเหตุผลของพระพุทธศาสนา สอนให้เรารู้จักเหตุ รู้จักผล ถ้าสรุปเหตุผลก็จะได้ดังนี้ คือว่า
- เหตุคือสมุทัย มรรคคือผล
- ทุกข์คู่กับนิโรธ เป็นเหตุเป็นผลกัน ต้องอยู่อย่างนี้
สาเหตุของความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น เราจะต้องสอบสวนหาสาเหตุ และก็หาทางดับเหตุนั้น และไม่ใช่เป็นการไปบวงสรวงเทวดา หรือเครื่องรางของขลังอะไรต่างๆ เหมือนกับเราเจ็บป่วย เราก็ต้องหาสาเหตุว่าเราเป็นอะไร แล้วหาทางรักษาให้ถูกกับโรคที่เราเป็น ก็จะหายจากโรคร้ายนั้นได้
การเห็นอริยสัจเป็นการเห็น ๒ ชั้น
๑. เห็นชั้นธรรมดา สามารถที่จะใช้ธรรมนี้ในการดำเนินชีวิตในทางที่ถูกต้อง แล้วก็ต้องทำใจของเราให้รับฟังเหตุผลด้วย
๒. ในชั้นสูง การเห็นอริยสัจนั้น ไม่ใช่เห็นจากการฟังการอ่านการคิดเอา แต่ต้องปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ จึงทำให้เกิดปัญญา สัมมาทิฏฐิ เป็นวิปัสสนาปัญญา จึงจะเป็นการเห็นอริยสัจที่สมบูรณ์
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เคยตรัสกับปุโรหิตของพระเจ้าโกศลว่า
“มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถือเอาภูเขา ป่าไม้ อาราม แล้วก็เจดีย์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง นั่นไม่ใช่สรณะอันเกษม ไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด บุคคลอาศัยที่พึ่งนั้นแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม
พระอริยสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ คือเห็นทุกข์
เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ แล้วก็มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ อันเป็นเครื่องระงับทุกข์ นั่นเป็นสรณะที่พึ่งอันเกษม นั่นเป็นสรณะที่พึ่งอันสูงสุด บุคคลอาศัยสรณะที่พึ่งนั้นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ”
การเห็นอริยสัจด้วยปัญญานั้น ทำให้เราเป็นคนหายมืด เป็นคนหายตาบอด หายหลงในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เลิกงมงายในลัทธิพิธีกรรมที่ไร้สาระเสีย ถ้าเราปฏิบัติได้ขั้นนี้แล้ว ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือความดับทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นที่ปรารถนาของคนทั้งหลายทั้งปวง ที่แสวงหากันอยู่
ด้วยเหตุนี้ การเห็นอริยสัจ จึงเป็นมงคลอย่างสูง
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัย และบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษา ให้ทุกท่านปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เจริญยั่งยืนนานอยู่ในร่มเงาแห่งพระบวรพุทธศาสนา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ด้วยกันทุกท่านเทอญ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee