แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๒๔ การประพฤติพรหมจรรย์ ๑๐ ประการ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระมหาเถระ พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล วันนี้ขึ้นมงคลข้อที่ ๓๒ “พฺรหฺม จริยญฺจ” การประพฤติพรหมจรรย์ ในมงคลข้อนี้ท่านแสดงว่าการประพฤติพรหมจรรย์เป็นมงคล คำว่า ”พรหมจรรย์” นั้น แปลว่า การประพฤติอย่างพรหม คำว่า ”พรหม”นั้น ก็เป็นคำที่ใช้อยู่แล้วในศาสนาพราหมณ์ศาสนาฮินดูมาก่อน เพราะนับถือพระพรหมเป็นใหญ่ก็เลยเรียกกันว่าพราหมณ์ ศาสนาพราหมณ์ ผู้ที่ยึดถือข้อปฏิบัติของพระพรหม
ลัทธิพราหมณ์หรือว่าฮินดูนั้น ก็หมายถึงพระพรหมผู้สร้าง สร้างโลก ผู้ที่ทำความดีแล้วไปเกิดเป็นพรหมอยู่กับพระพรหม แล้วก็เชื่อกันว่าผู้ที่จิตบรรลุถึงความ เป็นพรหมแล้วจะหมดความรู้สึกทางเพศ ข้อปฏิบัติของพราหมณ์ของฮินดูที่บอกว่า พรหมมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพรหม “พรหมัน ปรมาตมัน” เพราะว่าพรหมไม่มีเพศ ไม่มีพรหมผู้ชาย ไม่มีพรหมผู้หญิง พวกพรหมจึงไม่ยุ่งในการเสพกาม ไม่มีการสืบพันธุ์ ด้วยเหตุที่ว่าความรู้สึกทางเพศเป็นเครื่องตัดสินความเป็นพรหมตามที่ว่ามานี้ ความเข้าใจที่ว่าผู้หญิงไม่เคยสมสู่กับผู้ชาย เขาเรียกว่าหญิงพรหมจรรย์ก็น่าจะต้องเพ่งถึงความรู้สึกทางเพศอีกด้วย คือหญิงที่เป็นพรหมจรรย์ หรือว่าเป็นพรหมจารีนั้นก็ย่อมมีเฉพาะเยาว์วัย คือยังไม่มีความรู้สึกทางเพศ หรือมีแต่ยังไม่ได้แต่งงานเท่านั้นเอง อันนั้นก็คือเป็นภาษาโลกๆ ที่เข้าใจกัน ดังนั้น การประพฤติพรหมจรรย์นั้นในทางศาสนาฮินดูได้มีมาก่อนแล้ว ซึ่งมีจุดประสงค์อยู่ที่การขจัดความรู้สึกทางเพศ แต่จุดมุ่งหมายปลายทางของเขาอยู่ที่การกระทำเพื่อให้ตนบรรลุถึงพรหมโลกเท่านั้น สุดแค่พรหมโลกเพราะว่าไปต่อไม่ได้ สุดแค่สมาบัติ ๘
แต่พระพุทธศาสนาเรามีหลักการอยู่ว่า การที่คนเราจะบรรลุโลกุตระภูมิ ก็คือเหนือโลกเหนือวัฏสงสารได้ จะต้องปลีกตัวออกจากกามารมณ์และได้วางวิธีการนี้เอาไว้ แต่ได้ยืมคำพูดของพราหมณ์ที่ว่าพรหมจรรย์นั้นมาเป็นชื่อของวิธีการทางพุทธด้วย เพราะว่าพระพุทธองค์ พระพุทธเจ้านี้ก่อนที่จะตรัสรู้ พระองค์ก็อยู่ในวรรณะกษัตริย์ที่นับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนตั้งแต่พระองค์ประสูติ จนกระทั่งออกผนวชเกี่ยวข้องกับพราหมณ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมีพราหมณ์มาทำนายตั้งแต่มีปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระพุทธมารดา พอประสูติแล้วพราหมณ์ก็มาทำนาย การตั้งชื่อขนานพระนามเกี่ยวข้องกับพราหมณ์ทั้งหมด การศึกษาศิลปวิทยาก็เรียนกับอาจารย์ที่เป็นพราหมณ์ อภิเษกสมรสตอนพระชนมายุ ๑๖ ก็พราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีจนกระทั่งออกผนวช แล้วก็มาเรียนสมาธิกับอาจารย์ที่เป็นดาบสก็คือฤาษี ก็เป็นพราหมณ์ทั้ง ๒ ท่าน คือ อุทกดาบสและอาฬารดาบส ๒ ท่าน จนได้สมาบัติ ๘ บำเพ็ญทุกรกิริยาก็เป็นวิธีการของพราหมณ์ แต่พระองค์ก็ทรงเห็นว่ามันเป็นทางตัน มันไปต่อไม่ได้ พระองค์เลยมาค้นพบวิธีด้วยพระองค์เอง นั่นก็คือเดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ จนกระทั่งเป็นสัมมาสัมพุทธะ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
ทีนี้ พระองค์จึงได้เอาคำนี้ “พฺรหฺมจริย” ก็คือพรหมจรรย์ เอามาเป็นชื่อของวิธีการในพระพุทธศาสนาด้วย เพราะเป็นเรื่องตัดกามารมณ์เหมือนกัน เว้นแต่วิธีและจุดหมายนั้นต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงปฏิเสธพรหมจรรย์แบบของพราหมณ์โดยมีสมาธิเป็นพื้นฐาน ที่เชื่อว่าประพฤติพรหมจรรย์แล้วจะได้ไปเป็นพรหม ก็ทรงรับรองอยู่บางส่วน แต่ทรงเปิดเผยว่าพรหมจรรย์อย่างนั้นไม่อาจจะบรรลุโลกุตระภูมิ ก็คือพ้นโลก พ้นวัฏสงสาร คือมรรคผลพระนิพพานได้ ซึ่งตอนนี้พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ในสีหนาทสูตรว่า “หีเนน พฺรหฺมจริเยน ขตฺติเย อุปปชฺชติ” บุคคลย่อมเข้าถึงความเป็นกษัตริย์ด้วยพรหม จรรย์ชั้นต่ำ “มชฺฌิเมน จ เทวตฺตํ” ย่อมเข้าถึงความเป็นเทพเทวดา เป็นท้าวมหาพรหมด้วยพรหมจรรย์ชั้นกลาง “อุตฺตเมน วิสุชฺฌติ” ย่อมหมดจดจากอาสวะกิเลสด้วยพรหมจรรย์ชั้นสูง ดังนั้น ตามพระพุทธพจน์นี้แสดงว่าพรหมจรรย์มีอยู่ ๓ ชั้นด้วยกันอย่างเลว อย่างกลาง แล้วก็อย่างสูงสุด แล้วก็ให้ผลต่างกันตามการประพฤติ ตามการปฏิบัติ ตามการบำเพ็ญตบะ และทรงแสดงว่าพรหมจรรย์ของพราหมณ์ที่ทำเพื่อความเป็นพรหมนั้นเป็นพรหมจรรย์อย่างกลางเท่านั้นเอง แต่ก็ไม่ได้ทรงวิจารณ์ว่าวิธีประพฤติพรหมจรรย์อย่างที่เขาทำกันนั้นผิดหรือถูก แต่พระ องค์มาต่อยอด มาต่อยอดให้สูงกว่านั้น ชาวสวนชาวไร่หลังจากถางป่าเผาหญ้าแล้วต้องรีบปลูกพืชผักผลไม้ที่ต้องการลงไป ก่อนที่หญ้าจะกลับระบาดเกิดขึ้นมาใหม่ฉันใด คนเราเมื่อบำเพ็ญตบะแล้วทำความเพียรเผากิเลสจนเบาบางลงแล้ว ก็ต้องรีบปลูกฝังคุณธรรมต่างๆ ลงในใจ ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์เพื่อยกระดับจิตให้สูงขึ้นก่อนที่กิเลสมันจะฟูกลับขึ้นใหม่อีก ฉันนั้น
เมื่อวานได้กล่าวถึงบำเพ็ญตบะ การบำเพ็ญตบะก็เหมือนกับเป็นการเตรียมที่เตรียมทาง เตรียมที่ดินไว้อย่างดี ปรับที่เอาไว้ที่จะปลูกทำการเกษตร ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ หญ้ามันก็จะขึ้น เปรียบเหมือนกับที่บำเพ็ญตบะอยู่ในศีล ถ้าไม่เอาธรรมใส่เข้าไป ไม่มีวิธีการประพฤติพรหมจรรย์เข้าไปนี้ กิเลสมันก็จะทำให้ใจเราดึงลงต่ำอีก มันก็จะฟูขึ้นมาในใจอีก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า จิตใจของคนเรานี้อาจจะแบ่งเป็นภูมิชั้นได้เป็น ๔ ระดับตามการฝึกฝนของตนเอง
ระดับแรก กามาวจรภูมิ ก็คือ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามารมณ์ ยังมีความรู้สึกความชอบอารมณ์ทางกาม อารมณ์ทางเพศ ยุ่งเกี่ยวกับกามคุณอยู่ ชอบในรูปสวยๆ เสียงไพเราะๆ กลิ่นหอมๆ อาหารอร่อย ถูกต้องสัมผัสดีๆ พวกนี้ก็เป็นภูมิจิตของคนสามัญทั่วไป อยู่ในอบายภูมินี้ก็มีกาม สัตว์เดรัจฉานก็มีกาม เปรตก็มีกาม แล้วก็เทวดา ๖ ชั้น ก็ยังมีกามารมณ์อยู่
ทีนี้ พอระดับสูงขึ้นไปกว่านั้น เรียกว่า รูปาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูปารมณ์ ก็คือมีความสุขพอใจอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาน คือภูมิจิตของผู้ฝึกสมาธิมามากจนกระทั่งได้รูปฌาน หรือว่าฌานสมาบัติตั้งแต่ฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ไม่ได้สนใจในเรื่องของกามารมณ์อะไร อิ่มเอิบในพรหมวิหารธรรมคือความเป็นอยู่ด้วยความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งเป็นสุขที่ประณีตกว่ากามารมณ์ เหมือนกับพระพรหมบนดิน ละโลกนี้ไปแล้วก็ไปเกิดเป็นรูปพรหม เพราะท่านเห็นว่าสุขในกามมันเหมือนกับเนื้อติดฟัน มันนิดเดียวเอง สุขน้อยแต่ว่าทุกข์มาก แต่สุขที่มันประณีตกว่านั้นสูงกว่านั้น ก็คือสมาธิสุข ฌานสุข ท่านได้รับอารมณ์ ได้รับความสุขจากสมาธิ ท่านจึงพอใจอยู่ เพราะมันเป็นความสุขที่ละเอียดที่ประณีตกว่ากามารมณ์เยอะแยะมากมาย
ภูมิจิตระดับที่ ๓ อรูปาวจรภูมิ เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ใน อรูปารมณ์ มีความสุขอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาน ก็ได้แก่ภูมิจิตของผู้ที่ทำสมาธิจนกระทั่งได้อรูปฌาน มีความสุขที่ละเอียดประณีตกว่าอารมณ์ของรูปฌานอีก เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว ไปเกิดเป็นอรูปพรหม ก็คือฌานสมาบัติชั้นสูง ตั้งแต่ ๕ จนถึง ๘ อย่างเช่นอาจารย์ที่เป็นดาบสทั้งสองของพระพุทธเจ้าตั้งแต่เป็นพระโพธิสัตว์ เมื่อละสังขารแล้วไปเกิดในอรูปพรหม คือมีความสุขตามแบบฉบับของท่าน แต่พระพุทธเจ้าไปโปรดไม่ได้เพราะไม่มีร่างกาย เมื่อไม่มีร่างกาย หูไม่มี ตาไม่มี มองไม่เห็น ฟังเทศน์ไม่ได้ มีแต่จิตอย่างเดียว จึงเสียโอกาสไปยาวนาน
ภูมิจิตระดับสูงก็คือระดับที่ ๔ โลกุตระภูมิ เป็นชั้นที่พ้นจากโลก “โลกอุตร”แปลว่าเหนือโลก หรือว่า “โลกอุดร” แปลว่าเหนือโลก พ้นจากโลก พ้นจากวัฏสงสาร ได้แก่ภูมิจิตของพระอริยบุคคล มีความสุขละเอียดประณีตลึกซึ้งกว่านั้นมากมาย จนสุดจะประมาณได้
ในชั้นโลกียภูมินั้น มีความสุขแล้วก็มีทุกข์ คละเคล้ากันไป แล้วก็มีการยักย้ายถ่ายเทขึ้นลงได้ เช่นว่า ผู้ที่อยู่ในอรูปเป็นอรูปพรหม เพราะตอนนั้นท่านมีจิต กรรมเก่าก็ยังมีอยู่ บุญเก่าก็ยังมีอยู่ พอสิ้นบุญจากอรูปพรหมแล้วนี้ พรวดลงนรกก็ได้ มาเกิดในมนุษย์ก็ได้ แล้วแต่บุญแต่กรรมจะนำไป ถ้าไม่ได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม มัวประมาท อาจจะตกลงมาอยู่ในกามาวจรภูมิ ผู้อยู่ในชั้นกามาวจรภูมิอาจจะเป็นเทวดา ถ้าตั้งใจทำสมาธิก็จะเลื่อนไปอยู่พรหมโลกก็ได้ ขึ้นๆ ลงๆ เลื่อนไปเลื่อนมา แต่มันก็ยังวนอยู่อย่างนี้ วนอยู่ในวงจรปฏิจจสมุปบาท วนอยู่ในวงจรวัฏสงสารแห่งการเวียนว่ายตายเกิด “วัฏฏะ” แปลว่า วน “สังสาระ” หรือ “สงสาร” ภาษาบาลีแปลว่าท่องเที่ยวท่องเที่ยวแล้วก็วน วนอยู่ในวงกลมนี้ มันออกไม่ได้ เพราะไม่มีทางออก หรืออยากจะออกแต่ ไม่มีวิธีการที่จะออกไป ก็แสวงหากันมากมาย แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบวิธีการที่จะออกจากวัฏฏวน ตรงนี้ก็คือ การประพฤติพรหมจรรย์ ดังนั้น จึงเป็นที่แน่นอนว่าในชั้นโลกียภูมินี้ ถึงจะมีความสุขก็สุขอย่างโลกๆ มันยังมีทุกข์ระคนอยู่มากมาย เหมือนที่เราเจอกันนี่แหละ มากมายนับไม่ถ้วน มีลูกมีครอบ ครัวก็คิดว่าจะสุข พอมีเข้าจริงๆ ก็มีเรื่องกลุ้มอกกลุ้มใจให้ทุกข์จนได้ เหมือนในเวลาหน้าร้อนก็คิดว่าหน้าฝนจะสุข พอถึงหน้าฝนน้ำท่วมอากาศชื้น ตกมากไปไหนไม่ได้ก็หวังว่าหน้าหนาวจะสบาย พอหนาวจริงๆ ก็ร้อนดีกว่า มันหนาวเหน็บไม่อยากตื่นขี้เกียจไปอย่างนี้ เลยไม่ทราบว่าสุขที่แท้จริงมันอยู่ตรงไหน
ท่านเปรียบความสุขทางโลกโลกีย์นี้เหมือนกับพยับแดด เราคงเคยเจอกันในหน้าร้อนมองไปบนถนนไกลๆ จะเห็นเป็นพยับแดดระยิบระยับอยู่ในอากาศเต็มไปหมด หรือเห็นเหมือนกับมีน้ำอยู่บนผิวถนน แต่พอเข้าใกล้ไปดูจริงๆ กลับไม่เห็นมีอะไรเลย สุขทางโลกโลกีย์ก็เหมือนกัน หวังไว้ข้างหน้าเดี๋ยวว่าจะเจอความสุข ถ้าเราอยากได้อย่างนั้นได้อย่างนี้ คงจะมีความสุขด้วยกันตราบชั่วนิรันดร เพราะนิยายเขาบรรยายไว้อย่างนั้น มีความสุขตราบเท่านิรันดร มีความสุขแต่สุขจริงหรือเปล่า? หวังแต่จะได้เจอความสุขแต่พอเจอเข้าจริงๆ นี้ กลับกลายเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
ด้วยเหตุนี้ จิตของคนที่ตกอยู่ในโลกียภูมิทางพระพุทธศาสนาท่านจึงใช้คำว่า “สังสารจิต” แปลว่าจิตที่มันวิ่งวุ่นวิ่งสับสนวนไปเวียนมา จะวิ่งไปไหนล่ะ? ก็วิ่งตะครุบความสุข แต่สุขในโลกโลกีย์มันเป็นสุขกลับหลอกหลอน มันเป็นสุขกลับหลอกกลับหลอน จิตก็เลยกลับกลอกไปด้วยประการสำคัญ ก็คือว่า สุขโลกีย์มันหนีได้ พอเราจะทัน มันก็หนี เมื่อมันหนี เราก็ตามแล้วก็ตามไม่ทันสักที เพราะว่าไม่เคยอิ่มไม่เคยเต็ม ลองสังเกตดู สุขทางโลกีย์ที่ว่าเป็นยอดสุขนั้น มันมีจริงไหม? สมมุติว่าตำแหน่งทางโลกเป็นร้อยตรีก็คิดว่าเป็นร้อยโทคงจะสุข พอเป็นร้อยโทก็คิดว่าเป็นร้อยเอกคงจะสุข ไล่ตามขั้นไป ร้อยเอกก็คิดว่าเป็นพันตรี พันตรีก็เป็นพันโทน่าจะดีกว่า จนเป็นนายพลก็ยังคิดว่ามีความสุขข้างหน้าที่ดีกว่าของตน มาถึงภิกษุก็เหมือนกัน ถ้าติดในยศถาบรรดาศักดิ์ คิดว่าเป็นพระครูแล้ว เป็นเจ้าคุณคงจะดี เป็นเจ้าคุณแล้วก็ต้องเลื่อนขึ้นไปชั้นนั้นๆ วิ่งตามไม่ทัน หากวิ่งตามตะครุบสุขไปเรื่อย จะกี่วัน กี่เดือน กี่ปี กี่ชาติ วิ่งตามตะครุบไปได้ สุขโลกีย์มันได้นิดๆ หน่อยๆ แต่คว้าติดทุกข์มาทุกที หากหักลบกลบหนี้ดูแล้วทุกข์มันมากกว่าสุขเสียอีก และที่สำคัญที่สุด จิตที่มันวิ่งวุ่นสับสนมีโอกาสพลาดพลั้งได้ง่าย เหมือนคนที่วิ่งวุ่นสับสนนั่นแหละมีหวังจะหกล้มตกหลุมตกบ่อเข้าจนได้ จิตก็เหมือนกันนะ วิ่งไล่จับตามความสุขหัวซุกหัวซุน คนที่ระวังไม่ดี หกล้มเข้า เข้าคุกเข้าตะรางก็เยอะ เพราะว่าประมาท หรือบางที ถลำตัวลงอบายภูมิ เปรต นรก อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานก็มาก
อุปมาความสุขในโลกียภูมิ ๓ ชั้นนั้น ท่านอุปมาว่าความสุขในชั้นกาม กามา วจร อบายภูมิ ๔ มนุษย์ ๑ แล้วก็ของเทวดา ๖ ชั้น ที่ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของกามเป็นสุขชั้นต่ำ ยังยุ่งเกี่ยวกับกาม เป็นสุขเหมือนกับเด็กเล่นขี้เล่นดิน เด็กมันเล่นมันก็สนุก แต่มันไม่รู้หรอก ว่าขี้เป็นอย่างไร ดินเป็นอย่างไร แต่มันเป็นสุขแบบเด็กๆ รูปาวจรภูมิเป็นสุขที่สูงขึ้นมาหน่อย เป็นความสุขเหมือนคนมีการมีงานทำ มีงานมีการที่ถูกใจทำแล้วก็เพลิดเพลินไป อรูปาวจรภูมิเป็นสุขที่สูงขึ้นมาอีก สุขระดับของอรูปฌานนี้ สุขเหมือนกับพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เห็นลูกๆ ซึ่งตนเลี้ยงดูอบรมมามีความเจริญก้าวหน้า หรือเห็นการงานที่ตนทำสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ก็ชื่นชมผลงานของตน
ศาสนาโดยทั่วไปอย่างสูงที่สุดก็สอนให้คนเราพัฒนาจิตไปถึงขั้นอรูปารมณ์ ก็คืออรูปพรหมเท่านั้น เช่น ศาสนาพราหมณ์ ก็สอนให้คนมุ่งเป็นพระพรหม แต่ทีนี้พอพระพรหมอายุยืนนาน ก็มีความคิดเป็นมิจฉาทิฐิขึ้นมาว่าตัวเองเป็นอมตะ อย่าง เช่นท้าวผกาพรหม ในบทพาหุงอันสุดท้าย “ทุคคาหะ ทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง” ท้าวผกาพรหมเป็นท้าวมหาพรหมอยู่บนพรหมโลก ท่านระลึกชาติของท่าน จะกี่ชาติๆก็เห็นแต่ท่านเป็นพรหมอยู่ชั้นนั้นชั้นนี้ ไม่เคยเห็นเป็นอะไรอย่างอื่นนอกจากความเป็นพรหมเลย เพราะว่าการระลึกชาติของท่านก็มีขีดจำกัด ไม่ได้ไปสุด ไม่ได้ทะลุปรุโปร่งแบบสัพพัญญุตญาณ ท่านก็เลยคิดว่าเป็นอมตะ ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นี่แหละเป็นอมตะแล้ว คนทั้งหลายที่สามารถสื่อกับพระพรหมได้ ก็รับคำสอนนี้มา ก็ต้องให้ได้สมาธิ ต้องไปอยู่กับท่านเพื่อจะได้เป็นอมตะอยู่พรหมโลก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัย จึงไปสอน ไปสอนด้วยฤทธิ์ก่อน แล้วก็สอนด้วยพระธรรม ปราบด้วยฤทธิ์แล้วก็ตบด้วยพระธรรม จนกระทั่งท่านเห็นจริงๆ ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าระลึกชาติได้ไกลกว่า รู้ถึงขนาดว่าก่อนจะมาเป็นพรหมนั้นเคยเป็นลูกของนายพรานมาก่อน แล้วเห็นด้วยว่าวันข้างหน้าถ้ายังมิจฉาทิฏฐิอยู่อย่างนี้จะเป็นอย่างไร ท่านเลยสลดใจ มีสัมมาทิฏฐิขึ้นมาว่า ถึงจะไม่มีกาม ไม่มีอารมณ์ทางเพศ แต่กิเลสก็ยังมีอยู่ ยังเป็นปุถุชนเต็มขั้นอยู่ ยังต้องขึ้นๆ ลงๆ อยู่ แต่พระพุทธศาสนาเรา พระพุทธเจ้ามาต่อยอดให้คนมุ่งหน้าสู่โลกุตระ คือมรรคผลพระนิพพาน
อุปมาโทษของกามที่มนุษย์ทั้งหลายหลงใหลคลั่งไคล้ยินดีติดอยู่
๑. กามเปรียบเหมือนกับท่อนกระดูกเปล่า ไม่มีเนื้อและเลือดติดอยู่ พอเมื่อสุนัขมันหิวมาแทะ มันแทะเข้า ยิ่งแทะก็ยิ่งเหนื่อยยิ่งหิว อร่อยก็ไม่เต็มอยาก ไม่เต็มอิ่ม พลาดท่าแทะพลาดไปถึงฟันหักก็ได้ พวกเราก็เหมือนกัน ที่หลงว่ามีคู่รักแล้วแต่งงานแล้วจะมีความสุข พอมีเข้าจริงๆ ไม่เห็นจะสุขจริงสักราย ต้องมีเรื่องขัดใจให้ตะบึงใส่กัน กลุ้มจิตกลุ้มใจให้ห่วงกังวล ทั้งห่วงทั้งหวงทั้งหึง ไม่เว้นแต่ละวัน หนักข้อเข้าถึงกับจะกระโดดตึก กระโดดน้ำตาย หรือผูกคอตายเสียก็มาก ต่อมาก พอจะมีสุขบ้างก็ประเดี๋ยวประด๋าว พอให้มันๆ เค็มๆ เหมือนกับสุนัขแทะกระดูกเท่านั้นเอง
๒. กามเปรียบเหมือนกับชิ้นเนื้อที่แร้งหรือว่าเหยี่ยวมันคาบบินมา แร้งกา หรือว่าเหยี่ยวตัวอื่นก็จะมาเข้ารุมจิกแย่งเอา คือไม่เป็นของสิทธิ์ขาดแก่ตัว ผู้อื่นแย่งชิงไปได้ คนทั้งหลายต่างก็ต้องการหมายปองเอา จึงต้องเข่นฆ่ากันเป็นทุกข์แสนสาหัส เราลองสังเกตดูก็แล้วกัน ที่มีข่าวกันอยู่บ่อยๆ ฆ่ากัน ชิงรักหักสวาทกัน ประวัติศาสตร์แผ่นดินจีนง่ายๆ นางงามล่มเมือง ที่ว่าทำสงครามกันเพราะว่าชิงสาวงาม อย่างนี้เป็นต้น ก็เพราะว่ากามทั้งนั้น หรือว่ารอบๆ ตัวนี้ มีบ้างไหมที่กว่าจะได้แต่งงานกัน ก็ฝ่าดงมือฝ่าดงเท้าแทบตาย ถูกตีหัวเสียก็หลายที พอแต่งแล้วก็ยังไม่แน่เดี๋ยวใครมาแย่งไปอีก ยิ่งสวยเท่าไหร่ ยิ่งหล่อเท่าไหร่ ก็ยิ่งอันตรายเท่านั้นเป็นต้น เลยเปรียบเหมือนกับชิ้นเนื้อที่แร้งหรือว่าเหยี่ยวคาบบินมา
๓. กามเปรียบเหมือนกับคนถือคบเพลิงที่ทำด้วยหญ้า ลุกโพลงเดินทวนลมไปไม่ช้าก็ต้องทิ้ง มิฉะนั้นก็ต้องโดนไหม้มือ ระหว่างเดินก็ต้องถูกควันไฟรมหน้าทั้งเหม็นควันทั้งร้อนระอุ แต่เมื่อมีแล้ว แต่งแล้ว รักกันแล้วก็ต้องทนอยู่ต่อกัน ต้องทนทุกข์ทรมานย่ำแย่ คนเราที่ตกอยู่ในกามก็เหมือนกัน ต้องทนรับทุกข์จากกามทำงานงกๆเงิ่นๆ หาเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย ต้องกลุ้มอกกลุ้มใจ ลูกจะเรียนที่ไหนดี?จะเกเรหรือเปล่า? ภรรยาจะนอกใจไหม? เดี๋ยวก็มีเรื่องขัดอกขัดใจกัน เสร็จแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะได้อยู่ด้วยกันตลอด อ้าว เดี๋ยวก็ต้องมีอันพลัดพรากจากกันไป อุบัติเหตุบ้าง เอ้าเป็นมะเร็งตายเสียแล้ว เป็นโรคนั้นโรคนี้ตาย หรือเผลอประเดี๋ยวเดียว ก็ต้องแก่ตายกันเสียแล้ว ไม่ได้อยู่กันไปได้ตลอด เหมือนกับคบเพลิงหญ้า ที่มันร้อนระอุ ถือไว้ได้ไม่นานก็ต้องทิ้ง
๔. กามเปรียบเหมือนกับหลุมถ่านเพลิงอันร้อนแรง ผู้ที่รักชีวิต ทั้งๆ ที่รู้ว่าหากตกลงไปแล้ว ถึงไม่ตายก็ต้องสาหัส แต่ก็แปลก เหมือนมีอะไรมาพรางตาเอา ไว้ เหมือนมีแรงลึกลับมาคอยฉุดให้ลงหลุมอยู่ร่ำไป เราก็เคยได้ยินท่านสอนนะว่าที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ก็เชื่อ แต่พอออกไปแล้ว ไปเจอสาวๆ สวยๆ เจอหนุ่มหล่อๆ เข้าก็เหมือนฟ้าผ่า ลืมหมด เลยเป็นในทำนองว่าความรักมันทำให้คนตาบอด มีตาเนื้อแต่ว่าตามันบอด มันถูกม่านกิเลสมาบังตา ม่านแห่งกามราคะ ม่านแห่งความรักความหลงมันมาบังตาเอาไว้ มองไม่เห็นความจริง พ่อแม่สอนก็ไม่ฟัง ครูบาอาจารย์สอนก็ไม่ฟัง เห็นแต่เขาดีฝ่ายเดียว เวลาจะแต่งงานก็คิดถึงแต่ความสวยความหล่อความถูกใจ หาได้มองเห็นไปถึงความทุกข์อันจะเกิดจากกามในวันข้าง หน้าไม่ ไม่ได้มองถึงความทุกข์ที่จะเกิดจากชีวิตของการครองเรือน เพราะหลงแต่รูปลักษณ์ภายนอก
๕. กามเปรียบเหมือนกับความฝัน เห็นทุกอย่างเฉิดฉายอำไพแต่ไม่นานก็ผ่านไป พอตื่นขึ้นมาก็ไม่เห็นมีอะไรเลย มันคือความฝันเหลือไว้แต่ความเสียดายนะ โอย...น่าจะฝันต่ออีกสักหน่อย คนเราที่จมอยู่ในกามก็เหมือนกัน แรกๆ ก็คุยกัน กะหนุงกะหนิงจ๊ะจ๋า อยู่กันไม่นานก็พูดคำด่าคำเสียแล้ว เผลอๆถึงตบตีกันนะเอาซี่โครงเหน็บข้างฝาก็มี งานก็มากขึ้นเป็น ๒-๓เท่า ต้องตามอกตามใจ ไม่เห็นสุขเหมือนกับที่คิดฝันเอาไว้เลย กามมันเลยเหมือนกับความฝัน พวกเราจะเป็นคนเพ้อฝันลมๆ แล้งๆ หรือว่าจะเป็นคนยืนอยู่บนความจริง อยากอยู่บนความจริงก็ต้องตั้งใจฝึกตนเองด้วยการประพฤติพรหมจรรย์
๖. กามเปรียบเหมือนกับสมบัติที่ยืมเขามา เอาออกแสดงก็ดูโก้เก๋ดี ใครเห็นก็ชม แต่ก็ครอบครองไว้อย่างไม่มั่นใจ เพียงชั่วคราวไม่ได้เป็นสิทธิ์เด็ดขาด เจ้าของตามมาพบเมื่อไหร่ก็ต้องเอาคืนเมื่อนั้น ตัวเองก็ได้แต่ละห้อยหา พวกเราก็เหมือนกัน ไปได้แฟนสวยแฟนหล่อมาก็ภูมิใจ ไปไหนใครๆ ก็ทักว่า โอ...คู่นี้สมกันเหมือนกิ่งทองใบหยก ยืดอกตั้งท่าทีเดียว พอเผลอเดี๋ยวเดียว วันเวลาผ่านไปๆ ผู้หญิงก็กลายเป็นยายแรงทึ้งไปเสียแล้ว ผู้ชายไหงทำไมหัวล้านพุงพลุ้ยอย่างนี้ความสวยความหล่อมันถูกธรรมชาติเอาคืนไปหมด ถูกเวลาทวงกลับเสียแล้ว พวกเราจะไปหลงโง่งมงายอยู่กับของยืม ของชั่วคราวแบบนี้ไปทำไม
๗. กามเปรียบเหมือนกับต้นไม้มีผลดกอยู่ในป่า ใครผ่านมาเมื่อเขาอยากได้ผลไม้ จะด้วยวิธีไหนก็เอาทั้งนั้นน่ะ ปีนได้ปีน ปีนไม่ได้ก็สอย บางคนก็โค่นมันเลย ใครอยู่บนต้นไม้ลงไม่ทันก็ถูกทับตาย เบาะๆ ก็แข้งขาหัก พวกเราก็เหมือนกัน บางคนคงเคยเจอมาแล้ว เที่ยวไปจีบคนนั้นไปจีบคนนี้ยังไม่ทันได้มาเลยก็ถูกเตะถูกต่อย ถูกตีหัวมาบ้าง ได้แต่บ่นรู้อย่างนี้นอนอยู่บ้านดีกว่า เหมือนผลไม้ในป่า ยิ่งดกยิ่งงาม ก็ต้องระวังจะเจ็บตัว
๘. กามเปรียบเสมือนกับเขียงสับเนื้อ ใครไปยุ่งเกี่ยวก็เหมือนกับเอาชีวิตไปถูกโขกถูกสับ เพราะกามเป็นที่รองรับทุกข์ทั้งหลายทั้งกายทั้งใจ เหมือนเขียงเป็นที่รองรับคมมีดที่สับเนื้อจนเป็นแผลนับไม่ถ้วน
๙. กามเปรียบเสมือนกับหอกแล้วก็หลาว ทำให้เกิดทุกข์ทิ่มแทงหัวใจ เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวมาก ใครไปพัวพันในกามแล้วที่จะไม่เกิดความเจ็บช้ำใจนั้น เป็นไม่มี เหมือนกับหอกหลาวที่มันเสียดแทงร่างกายให้เกิดทุกขเวทนา
๑๐. กามเปรียบเสมือนกับหัวงูพิษ เพราะกามประกอบด้วยภัยมาก ต้องมีความหวาดระแวงต่อกันอยู่เนืองๆ ไม่อาจจะปลงใจได้สนิท วางจิตให้ปลอดโปร่งไม่ได้ เป็นที่หวาดเสียวมาก อาจฉกให้ถึงตายได้ทุกเมื่อเหมือนหัวงูพิษ
ทั้งหมดนี้คืออุปมาโทษของกามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ความจริงแล้วยังมีอีกมากมายนับไม่ถ้วน นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้นที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงโทษของกาม พอทรงแสดงให้เห็นโทษของกามแล้ว ลำดับต่อไปพระองค์ก็จะทรงแสดงให้เห็นถึง เนกขัมมานิสังสกถา ก็คือ เกี่ยวกับ เรื่องอานิ สงส์ของการออกจากกาม นั่นก็คือการประพฤติพรหมจรรย์นั่นเอง
ในลำดับขั้นตอนแห่งการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้านี้ ปูพื้นฐานจิตใจ อนุปุพพิกถา ๕ เริ่มจากการให้ การเสียสละ สูงขึ้นมาหน่อยก็ให้รักษาศีล พอรู้จักให้ รู้จักเสียสละ รู้จักรักษาศีลแล้ว มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ทรงแสดงเรื่องของสวรรค์ แต่จากนั้นข้อที่ ๔ พระองค์ก็ทรงแสดงอีกว่า ถึงจะเป็นสวรรค์เป็นพรหมโลกก็ยังมีกาม เลยแสดงโทษของกาม อุปมากามที่ว่าไปเมื่อสักครู่นี้ แล้วจึงแสดงอานิสงส์แห่งการหลีกออกจากกามด้วยการประพฤติพรหมจรรย์
เมื่อเราเห็นกันแล้วว่ากามมีโทษมากมายถึงปานนี้ เพราะฉะนั้น ใครที่ยังครองตัวเป็นโสด หรือว่าต้องการที่จะประพฤติปฏิบัติ เพื่อที่จะหลีกออกจากกามนี้ ก็ต้องรีบฝึกสมาธิมากๆ เจริญวิปัสสนามากๆ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เมื่อใจเราสงบ ความสว่างไสวบริสุทธิ์สะอาดเกิดขึ้นภายใน เราก็มีความสุขที่เหนือกว่ากามสุขอยู่แล้ว ความคิดที่จะมีคู่ก็จะหมดไปเอง ส่วนคนที่แต่งงานแล้วก็ไม่ถึงกับต้องหย่ากันหรอกนะ เอาเพียงแค่อย่าไปมีเมียน้อยเมียกลางเมียมาก อย่าไปมีใหม่ อย่าไปหาเศษหาเลยนอกบ้าน อย่าไปหาอะไหล่มาเสริมก็แล้วกัน หาเวลารักษาศีล ๘ ก็เป็นวิธีประพฤติพรหมจรรย์เช่นเดียวกัน
พรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนา เรื่องของการประพฤติพรหมจรรย์นั้น เรายังมีความเข้าใจไขว้เขวกัน ผิดพลาดกันอยู่ เพราะทุกคนเข้าใจว่า การประพฤติพรหม จรรย์นั้นหมายถึงการบวชพระ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกเหมือนกันแต่ว่ายังไม่หมดยังอยู่ในวงแคบอยู่ แล้วก็ทำให้ฆราวาสบางคน คิดว่าตนเองไม่มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ประพฤติมงคลข้อนี้ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นสตรี แล้วก็คิดว่า โอ...เป็นผู้หญิงบวชไม่ได้ อาภัพเหลือเกิน โดยเข้าใจว่าถ้าจะประพฤติพรหมจรรย์แล้วต้องโกนหัวโกนคิ้ว ต้องห่มผ้าเหลือง อย่างนี้เป็นต้น นั่นคือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ดังนั้น ขอให้ได้พิจารณาพระบาลีซึ่งมีในมงคลทีปนี ท่านได้แสดงว่า ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่อธิบายมงคลโดยตรงนี้ ท่านอธิบายว่า “พฺรหฺมจริยํ นาม ทาน เวยฺยาวจฺจ ปญฺจสีล อปฺปมญฺญาเมถุน วิรติ สทาร สนฺโตส วิริย อุโบสถงฺค อริยมคฺ คสาสนวเสนทสวิธํ โหติ ” ชื่อว่าพรหมจรรย์นั้น “ทสวิธํ โหติ ” มีประเภท ๑๐ ประการ คือ ทานะ ก็คือทาน เวยยาวัจจะ ความขวนขวยความช่วยเหลือ ปัญจะศีละ ก็คือศีล ๕ เมตตาอัปปมัญญาด้วยไม่ใช่เมตตาธรรมดา เมถุนวิรัต-การเว้นจากการเสพเมถุน สทารสันโดษ-การยินดีในคู่ครองของตัวเอง วิริยะ-ความเพียร อุโบสถก็คือการถือศีลอุโบสถ ถือศีล๘ อริยมรรคและศาสนา สิบประการนี้ชื่อว่าพรหมจรรย์ หมายความว่า ข้อปฏิบัติ ๑๐ ข้อนี้ แต่ละข้อเรียกว่าพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ทั้งสิบ ถ้าแบ่งเป็นชั้นก็ได้สามชั้น ก็คือว่า ต่ำ กลาง แล้วก็สูง ขอให้เราได้สังเกตเรื่องของการประพฤติพรหมจรรย์ ตามแนวทางที่ท่านได้อธิบายเอาไว้ ก็จะเห็นถึงความมุ่งหมายของการประพฤติพรหมจรรย์ในมงคลข้อนี้ได้อย่างชัดเจน
ในข้อที่ ๑ ทาน สอนให้สละความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ ความโลภอันเป็นข้าศึกของการประพฤติพรหมจรรย์ โดยการให้ทานมีการให้ข้าว ให้น้ำ ให้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ตลอดจนยารักษาโรค แก่คนยากคนจนทั่วไป แม้ที่สุดกระทั่งสัตว์เดรัจฉาน เป็นองค์เป็นข้อปฏิบัติของการประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๑
ในข้อที่ ๒ การช่วยเหลือขวนขวายในกิจการที่เป็นการกุศลทั่วไปด้วยจิตที่ยินดีชื่นชมโสมนัส คือ ให้สละแรงกายช่วยด้วย ก็เป็นพรหมจรรย์อย่างที่ ๒
พรหมจรรย์ข้อที่ ๓ สอนให้รักษาศีล ๕ แสดงว่าคนที่ชอบให้ชอบเสียสละชอบทำบุญให้ทาน แล้วก็เป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคมนี้ แต่บางคนก็ไม่ได้มีศีล ๕บางคนก็มีศีลข้อเดียว สองข้อสามข้อก็มี ทีนี้ข้อ ๓ ท่านเลยให้พัฒนาขึ้นมาอีกสอนให้รักษาศีล ๕ เว้นจากการฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในสามีภรรยาผู้อื่น เว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ เว้นจากการดื่มสุราเบียร์ยาเสพติดต่างๆ อันเป็นทำให้ตนเองปราศจากสติตั้งอยู่ในความประมาท นี่เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ข้อที่ ๓
ในข้อที่ ๔ สูงขึ้นมาอีก นอกจากเราจะเว้นจากการกระทำความชั่วทางกายและวาจาด้วยศีล ๕ แล้ว ในนี้ท่านได้แสดงถึงการให้มีพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แก่บรรดาสรรพสัตว์ทั่วกันโดยไม่มีประมาณ ซึ่งเรียกว่าอัปปมัญญา บางคนนี้มีเมตตาก็เมตตาเฉพาะคนที่ให้ผลประโยชน์ คนที่เป็นญาติ เป็นพี่เป็นน้อง คนที่เกลียดกันโกรธกันก็ไม่เมตตาไม่กรุณาเขา อันนี้ถือว่า ยังไม่ใช่อัปปมัญญา ยังเป็นเจาะจงอยู่ อัปปมัญญา คือ unlimited ไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ อัปปมัญญานี้ เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ที่ต่างกับพรหมวิหาร พรหมวิหารนั้นเป็นการแผ่ความเมตตาเฉพาะผู้ที่รักใคร่ชอบพอเท่านั้น ส่วนอัปปมัญญานั้นแผ่ไปทั่วแม้ กระทั่งศัตรูของเราเอง นี่คือพรหมจรรย์ข้อที่ ๔
ต่อไปพรหมจรรย์ข้อที่ ๕ เว้นจากการเสพเมถุน ก็คือเว้นจากการร่วมเพศแม้ผู้นั้นจะเป็นสามีภรรยาของเราเอง ก็คือว่าเมื่อถือศีล ๘ ก็ต้องเว้นการร่วมเพศในขณะที่ถือศีล ๘ อยู่
ในข้อที่ ๖ พรหมจรรย์ข้อที่ ๖ ให้มีความยินดีพอใจเฉพาะสามีภรรยาของเราเท่านั้นนี่ก็เป็นพรหมจรรย์อีกข้อหนึ่ง เรียกว่า สทารสันโดษ - ยินดีในคู่ครองของตัวเอง
ในข้อที่ ๗ การมีความเพียรอย่างแรงกล้า ไม่มีความท้อถอยต่อการทำกุศลต่างๆ แม้ว่าสิ่งนั้นจะยากลำบากก็สามารถทำจนลุล่วงไปได้ นั่นก็คือความเพียร ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน ก็เป็นการประพฤติพรหมจรรย์
ต่อไปพรหมจรรย์ข้อที่ ๘ เป็นการรักษาศีลอุโบสถ ก็คือรักษาศีล ๘ นั่นเอง เป็นการเว้นจากสิ่งที่เป็นข้าศึกของกุศลซึ่งมีการเว้นอย่างเดียวกันกับศีล ๕แต่ต่างตรงที่ข้อ ๓ ศีล ๘ ข้อสามของศีล ๘ กับ ข้อสามของศีล ๕ ต่างกันตรงที่ว่าข้อสามของศีล ๕ ไม่ประพฤติผิดในกาม แต่ก็ยังเสพเมถุนมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองของตัวเองได้เป็นปกติ แต่ศีล ๘ นั้นก็คือเว้น เพราะบอกว่า “อพรหมจริยาเวรมณี ” งดเว้นจากการประพฤติที่ไม่ใช่พรหมจรรย์ นั่นก็หมายความว่าเว้นจากการเสพ เว้นจากการมีเพศสัมพันธ์กับคู่ครองในช่วงระยะเวลาที่ถือศีล ๘ อยู่ แล้วก็เพิ่มเข้ามาอีก ๓ ข้อเป็นการถือที่อุกฤษฏ์ ก็คือว่ายิ่งกว่าศีล ๕ นอกจากนั้นก็ยังมี เช่น การเว้นจากการกินอาหารในเวลาวิกาลตั้งแต่เที่ยงวันล่วงไปแล้ว เป็นการตัดความกังวลในเรื่องการกิน เว้นจากการประดับตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องหอมลูบไล้ทาตัว เครื่อง สำอางต่างๆ เว้นจากการดูการละเล่นต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดความกำหนัดยินดีเช่น ดูภาพยนตร์ ดูหนังดูละคร ฟังเพลง เป็นต้น แล้วก็ข้อที่ ๘ ก็คือเว้นจากการนอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่ม ที่นอนสูงใหญ่ เพราะเป็นช่องทางของความกำหนัดยินดีเกิดขึ้นการรักษาศีลอุโบสถ พระพุทธองค์ก็ให้ฆราวาส ผู้ที่ครองบ้านครองเรือนนี้ ผู้ที่มีครอบครัวนี้ ถือเป็นประจำในวัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ หรือว่าแรม ๑๔ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ เท่ากับว่าเดือนหนึ่งก็ถือประมาณ ๔ วัน ๔ ครั้ง
พรหมจรรย์ข้อที่ ๙ ก็คือ การเจริญสมถกรรมฐานวิปัสสนากรรมฐานตามอริยมรรคมีองค์ ๘ มีปัญญาเห็นแจ้งในอริยสัจซึ่งจะเป็นมงคลข้อต่อไป
ในข้อที่ ๑๐ เป็นการประพฤติพรหมจรรย์รวบยอด คือประพฤติโดยบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ทั้งศีลทั้งสมาธิทั้งปัญญา ซึ่งเรียกว่าศาสนา ดังนั้น ตัวศาสนาคำว่า “ศาสนา” เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ในข้อนี้ จึงไม่ใช่โบสถ์ ไม่ใช่วิหารไม่ใช่วัตถุ ไม่ใช่เจดีย์ ไม่ใช่พระพุทธรูป แต่หมายถึงการประพฤติตามศีล สมาธิปัญญา จึงเป็นศาสนธรรม
เมื่อเราได้ฟังคำอธิบายเหล่านี้แล้วก็คงจะมองเห็นแล้วว่าการประพฤติพรหม จรรย์นั้น ไม่ได้มีขอบเขตจำกัดเฉพาะบรรพชิตเท่านั้น แม้ฆราวาส ก็สามารถที่จะทำได้ ดังนั้น ขอให้เราได้ตั้งใจว่า เรามีโอกาสแล้วที่จะได้ประพฤติพรหมจรรย์ อยู่ที่กำลังความสามารถว่าจะสามารถประพฤติพรหมจรรย์ชั้นล่าง พรหมจรรย์ชั้นกลาง หรือว่าพรหมจรรย์ชั้นสูง การประพฤติพรหมจรรย์ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ แม้ว่าเราจะรักษาข้อใดข้อหนึ่ง ก็เป็นมงคลแก่ตัวเอง เป็นทางแห่งความสุขในที่สุด
ทีนี้ วิธีประพฤติพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ชั้นต้นสำหรับผู้ครองเรือน ก็คือรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ เท่ากับว่า เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในเพศฆราวาสของเรา พรหมจรรย์ชั้นกลางก็สำหรับผู้ครองเรือน นอกจากศีล ๕ แล้วก็ให้รักษาศีล ๘ เป็นคราวๆ ไปพร้อมกับให้มีพรหมวิหารแบบอัปปมัญญา แบบ unlimited ด้วย (ไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ) พรหมจรรย์ชั้นสูงสำหรับผู้ที่ไม่ครองเรือน ถ้าเป็นฆราวาสก็รักษาศีล ๘ อย่างน้อย อย่างน้อยก็คือศีล ๘ นี้ตลอดชีวิต บางท่านก็รักษาศีล ๑๐ อย่างที่เคยยกมา คือ ฆฏิการอุบาสก ในสมัยของพระกัสสปพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าองค์ก่อน เป็นเพื่อนของโชติปาละมานพ โชติปาละมานพ ก็คืออดีต ชาติของพระพุทธเจ้าของเราเป็นเพื่อนกัน ฆฏิการอุบาสก ท่านเป็นฆราวาส-อนา คามี แต่ท่านไม่ได้ออกบวชเพราะว่าท่านมีภาระที่ต้องเลี้ยงดูมารดาบิดาที่แก่เฒ่าตาบอดด้วย หูตาไม่ดี แต่ท่านก็รักษาศีล ๑๐ ได้ ศีล ๑๐ คือ มีข้อที่ว่า
“ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา ” เว้นจากการรับเงินรับทอง ท่านก็ไม่จับเงิน ท่านก็ทำหม้อปั้นหม้อ แล้วดินที่เอามาปั้นหม้อท่านก็จะไม่ขุดดินด้วยนะ รักษาศีลเหมือนพระเลย ไม่ขุดดินทำอย่างไรล่ะ? ท่านก็จะเอาดินที่มันพังลงมาจากตลิ่ง เอามาปั้นหม้อแล้วก็ไปแลก เอาไปแลกวัตถุ เอาไปแลกผัก เอาไปแลกข้าว เอามาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ เป็นผู้ที่ชักนำโชติปาละมานพไปเข้าเฝ้าพระกัสสปพระพุทธเจ้า ดังนั้น นี่คือ พรหมจรรย์ชั้นกลาง ผู้เป็นอนาคามีฆราวาส ก็สามารถประพฤติปฏิบัติ มีศีล ๘ มีศีล ๑๐ อยู่ในตัวเองตลอดชีวิต พรหมจรรย์ชั้นสูง ก็คือสำหรับผู้ไม่ครองเรือนนี้แหละ ถ้าเป็นฆราวาสอนาคามี ก็คือถือศีลบริสุทธิ์ที่เป็นศีล ๘ ศีล ๑๐ ตลอดชีวิต ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศเลย ถ้าเป็นชายก็ออกบวชเป็นพระภิกษุ เจริญสมาธิภาวนาปฏิบัติธรรมทุกข้อในพระพุทธศาสนาให้เต็มที่
พรหมจรรย์นี้ก็หมายถึงพระศาสนา หมายถึงความบริสุทธิ์ เพราะมนุษย์เราก็คือผู้ที่ประเสริฐ เกิดมาเพื่อพระนิพพาน จุดหมายปลายทางของมนุษย์ คือพระนิพ พาน พระพุทธเจ้าคือผู้ที่ประเสริฐ เป็นผู้ที่เสียสละบำเพ็ญพุทธบารมีมาตั้งหลายล้านชาติ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วมาบอกมาสอนเราให้พากันประพฤติพรหม จรรย์ พรหมจรรย์เบื้องต้นได้แก่ประชาชนผู้ที่เดินตามรอยของพระพุทธเจ้า ไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามอารมณ์ตัวเอง ไม่ทำตามความรู้สึกของตัวเอง เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง หยุดทำตามความรู้สึกอย่างนี้เรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์
พรหมจรรย์เบื้องต้นสำหรับประชาชน ให้เอาธรรมเป็นหลักเป็นใหญ่ เป็นผู้ตั้งมั่นในศีล ๕ ศีล ๕ นี่ก็คือศีลสำหรับการประพฤติพรหมจรรย์เบื้องต้น ระดับกลางก็เป็นศีล ๘ ก็สามารถประพฤติปฏิบัติตนจนบรรลุเป็นพระอริยเจ้าระดับอนาคามีได้ อนาคามีประชาชน ที่ยังมีภาระดูแลพ่อแม่ยังออกบวชไม่ได้ ก็ดังที่ได้พูดเมื่อสักครู่ ที่เป็นฆฏิการอุบาสกนี้ ซึ่งปัจจุบันท่านคือฆฏิการพรหม ที่เป็นผู้ที่นำอัฐบริขารมาถวายเจ้าชายสิทธัตถะในวันออกผนวชที่อธิษฐานเพศบรรพชาที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา เพื่อนรักในการสร้างบารมีร่วมกันมาคือฆฏิการพรหม ก็นำเครื่องบริขารมามอบให้เพื่อนรักในวันที่ออกผนวชเป็นพระพุทธเจ้า สร้างบารมีร่วมกันมาทุกภพทุกชาติ
สำหรับผู้ที่บวชตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ทุกคนคือผู้ที่ประเสริฐ ที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เราต้องเอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง การประพฤติการปฏิบัติอยู่ที่ปัจจุบัน คนเรานี้มีความเห็นผิดเข้าใจผิด ทำตามใจ ทำตามอารมณ์ ทำตามความรู้สึก มันไม่ใช่ มันเป็นความเห็นผิดเข้าใจผิด ศาสนานี้ก็หมายถึงหลักธรรม หลักการ หลักวิชาการ ถึงไม่ใช่ตัว ไม่ใช่บุคคล เป็นธรรมะ ทุกคนต้องมีความเห็นอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ คำว่าศาสนาไม่ใช่ตัวบุคคล พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราเข้าใจและปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เป็นปัจจุบัน ปัจจุบันของเราต้องเป็นธรรม เป็นคุณธรรม เป็นปัจจุบันธรรม อย่าให้มีตัวมีตน สำหรับผู้ที่บวชมีศีลมากมาย ๒๒๗ สิกขาบท มาในพระปาฏิโมกข์ ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์มาในพระวินัยปิฎก ที่เรียกว่าเป็นศีลเป็นสิกขาบทย่อยเป็นสิกขาบทเพราะว่ามากมาย เพื่อให้คนได้เข้าใจไม่ต้องไปคิดอะไร ไม่ต้องไปค้นคว้าอะไรมากมาย พระพุทธเจ้าท่านคิดให้แล้ว ค้นคว้าไว้ให้แล้ว ทั้งภาคปริยัติและภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ท่านผ่านมาแล้วว่าทำอย่างนี้ไปได้ ทำอย่างนี้ไปไม่ได้ ที่เราพากันมาบวชเป็นพระภิกษุนี้ ถือว่าเป็นเบื้องต้นที่เราจะเข้าสู่พรหมจรรย์
ทุกคนนะ ถ้ายังไม่เอาพระธรรมไม่เอาพระวินัยอย่างนี้ ก็เป็นแต่เพียงภิกษุ เรายังไม่ได้เข้าถึงพระศาสนา จะเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคลได้ ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ศาสนาพุทธนี้ถือว่าเป็นศาสนาสูงสุด ไต่เต้ามาจากความเป็นมนุษย์เป็นเทวดาเป็นพรหม พัฒนาเป็นพระอริยเจ้า จนกระทั่งถึงเป็นพระอรหันตขีณาสพ เราต้องเข้าใจอย่างนี้ เพราะในโลกนี้ก็ต้องการความสุขความสะดวกความสบาย เราปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็มีความสุขความสะดวกความสบาย ทุกคนต้องไม่ตั้งอยู่ในความเพลิดเพลิน ไม่ตั้งอยู่ในความประมาทเพราะเราต้องผ่านไป มนุษย์เราก็ต้องผ่านไป มีกินมีอยู่มีใช้ เหลือกินเหลือใช้ สวรรค์ที่เป็นทิพย์อะไรต่างๆ เราก็ต้องผ่านไป เราต้องจิตใจเข้มแข็งให้มันขึ้นสู่สัมมาสมาธิ เราต้องรู้จักว่าทุกอย่างมันไม่เที่ยงไม่แน่ ร่างกายของเรา ถึงจะรับประทานอาหารทุกวันพักผ่อนทุกวันอย่างนี้ ก็ยังแก่เจ็บตายพลัดพราก ชีวิตของเราเป็นสิ่งที่สำคัญ ทุกคนต้องมาประพฤติพรหมจรรย์ เราจะไปตามความรู้สึกของขันธ์ ๕ อายตนะทั้ง ๖ ไม่ได้ ก็คือตามกายตามใจ ตามรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสที่มันเข้ามา เพราะเราต้องมีผู้รู้ คือพระพุทธเจ้าอยู่ในใจของเรา พระธรรมในใจของเรา พระอริยสงฆ์อยู่ในใจของเรา เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติทุกคน ไม่มีใครทำให้เราได้ ไม่มีใครปฏิบัติให้เราได้ เราต้องประพฤติปฏิบัติด้วยปลีแข้งด้วยลำแข้งของเราเอง คนเราน่ะ เรามีความรู้มีความเข้าใจในการดำรงชีพตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอก ก็มีความรู้ทางการดำรงชีพของร่างกาย แต่ความรู้ทางจิตใจนั้นต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กันเป็นทางสายกลาง ด้วยมรรคมีองค์ ๘
ทุกคนปฏิบัติได้หมดไม่ว่าเราจะเป็นประชาชน หรือว่าเป็นนักบวช หรือว่าเราจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู ก็ปฏิบัติไปเหมือนกัน ไปทางเดียวกันนี่แหละ ไม่แบ่งแยกกัน ทุกคนต้องมีความเห็นอย่างนี้ ความเข้าใจอย่างนี้ การเรียนนั้นถึงจะมีประโยชน์ เราจะได้ช่วยเหลือทั้งตัวเองและช่วยเหลือทั้งคนอื่น เราจะได้ไม่มาหลงแค่ร่างกายแค่สิ่งของ ให้พากันเข้าใจ
คนเราเกิดมาก็มีตาบอดมาตั้งแต่กำเนิด บอดอะไร? บอดจากปัญญา ปัญญาจักษุนะ ปัญญาจักษุไม่เกิด บอดจากความรู้ความเข้าใจ บอดจากพระธรรม สิ่งที่จะรักษาตาเราได้ ก็คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และเอาไปประพฤติเอาไปปฏิบัติ ถ้าเรารู้แล้ว ไม่เอาไปประพฤติไม่เอาไปปฏิบัติ มันก็ไม่ได้รักษาดวงตา ถึงจะมีการประพฤติการปฏิบัติที่มันเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาไปในตัว จะได้ระเบิดความมืด ความหลง ความโง่งมงาย ด้วยปัญญา ด้วยการประพฤติการปฏิบัติเดินไปทีละก้าว ทานข้าวทีละคํา ทําทีละอย่างนี้ จะมีอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ธรรมะกับการดำรงชีพต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่าไปหลงในอบายมุขอบายภูมิตามใจตามอารมณ์ ขี้เกียจขี้คร้าน อันนั้นไม่ได้ ต้องเสียสละ การกินเหล้าเจ้าชู้ เล่นการพนัน การเที่ยวกลางคืน ขี้เกียจขี้คร้าน คบคนชั่วเป็นมิตร ที่ถือว่าเป็นอบายมุขเป็นอบายภูมิ มันไม่ใช่เผ่าพันธุ์ของคนที่มีสติปัญญา ที่เขาพากันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกความสบายแล้ว มันถูกแล้วแต่อย่าไปหลง ถ้าหลงมันก็จะแย่งสิ่งของกัน แย่งอำนาจวาสนากัน ไม่ได้เกิดความสามัคคี
คนเราชีวิตของเรามันน้อยนัก เราอย่าไปหลงในศาสนาที่มีแต่เรื่องขลังเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ถึงจะขลังศักดิ์สิทธิ์อย่างไรก็ต้องเกิดแก่เจ็บตาย ตายหมดนั่นแหละเพราะยังตกอยู่ในพระไตรลักษณ์
เราดูพระพุทธเจ้า ท่านตรัสรู้มาแล้ว เสด็จดับขันธปรินิพพานไปตั้ง ๕๐๐ ปีถึงมีการสร้างพระพุทธรูป การหล่อพระพุทธปฏิมากัน เพราะว่าพระอรหันต์มีน้อย ลง อย่างนี้ คนเขาไม่มีที่พึ่งทางสติปัญญา เลยไปพึ่งพระพุทธรูปอะไรต่างๆ เลยไปหากินทางพุทธพาณิชย์ไป พวกที่มาบวชก็ไม่ได้เอาพระนิพพานกัน เอาแต่การดำรงชีพ พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ประชาชนให้ความเคารพเลื่อมใส ผู้ที่มาบวชติดสุขสบายเลยไม่เอาธรรม ไม่เอาพระวินัย เป็นเพียงภิกษุไป ไม่ได้เป็นพระธรรมไม่ได้เป็นพระวินัย อย่างนี้ถึงมีปัญหาสังคม เป็นศาสนาเนื้องอก เป็นมะเร็งร้าย เป็น covid อย่างหนักเลย พวกที่ไม่เอามรรคผลนิพพานนี้ทำให้เพี้ยนไปไปเอาแต่สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างเจดีย์ สร้างพระพุทธปฏิมากรองค์เล็กองค์ใหญ่ไป ทำไมไม่เข้าใจพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง พรหมจรรย์เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นญาติโยมประชาชนก็ต้องดูแลพ่อแม่ ดูแลวงศ์ตระกูล ต้องประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ที่มาบวชก็ต้องประพฤติพรหมจรรย์เพื่อต่อยอดสืบทอด ไม่ว่าเราจะเป็นวัดบ้าน วัดป่าเถรวาท มหายาน หินยาน ธรรมยุต มหานิกาย เราทำตามอาจารย์ อาจารย์นั้นแรกๆ ก็เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอริยเจ้า ต่อไปๆ ลูกหลานอาจารย์ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เป็นปุถุชนเต็มขั้น มันก็เพี้ยนกันไปใหญ่ ทุกประเทศมีแต่วัฒนธรรมที่ปฏิรูปขึ้นมาใหม่ๆ เป็นประเพณีของสามัญชนทั่วไปที่สร้างประเพณีขึ้นมา เป็นประเพณีของนักคิดของนักปราชญ์ สร้างขึ้นมาแล้วก็ให้มายึด ไม่ได้เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า จากพระธรรมพระสัทธรรมแท้ๆ จะกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูปไป ต้องเข้าใจพระธรรมวินัยเป็นสิ่งที่สำคัญ
ประเทศไทยเราพยายามยึดเป็นหลักไว้ เอาพระไตรปิฎกเป็นหลักไว้ ถึงได้ตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬาฯ มหามกุฎฯ ในทางพระพุทธศาสนาขึ้นมา การ ศึกษาการปฏิบัติต้องไปด้วยกัน เพราะเราเรียนไม่ใช่เรียนเพื่อเอาใบปริญญาแค่กระดาษ A๔ ไม่ได้เรียนเพื่ออย่างอื่น เรียนเพื่อรู้ เรียนเพื่อเข้าใจ ตัวเราก็ปฏิบัติ คนอื่นก็ปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน
ศาสนา เป็นสิ่งที่มาแก้จิตแก้ใจของเราทุกคน แก้ปัญหาชีวิต แก้ทุกข์
แก้โทษภัยในวัฏสงสาร เพื่อไม่เอาตัวตนเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นหลักเป็นใหญ่ เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อมุ่งสู่ความดับทุกข์
อานิสงส์ของการประพฤติพรหมจรรย์นั้น คือ
๑. ทำให้ปลอดโปร่งใจไม่ต้องกังวล หรือหวาดระแวง
๒. ทำให้เป็นอิสระเหมือนนกน้อยในอากาศ
๓. ทำให้มีเวลามากในการทำความดี
๔. ทำให้เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิตทั้งหลาย
๕. ทำให้ศีลสมาธิปัญญาเจริญรุดหน้าไม่ถอยกลับ
๖. ทำให้บรรลุมรรคผลพระนิพพานได้โดยง่าย จึงต้องตั้งอกตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์เบื้องต้น ท่ามกลาง แล้วก็ที่สุดให้ถึงพร้อม เพื่อจะได้เข้าถึงความสุขความดับทุกข์คือมรรคผลพระนิพพานด้วยกันทุกท่านทุกคน
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรม แห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาทุกท่าน ปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เจริญยั่งยืนนานอยู่ในร่มเงาแห่งพระบวรพุทธศาสนา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติด้วยกันทุกท่านเทอญ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee