แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๒๓ การบำเพ็ญตบะ ให้แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อม จงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระมหาเถระ พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายในเรื่องของการเปลี่ยนฐานของชีวิตให้เป็นมงคลวันนี้เป็นมงคลข้อที่ ๓๑ “ตโป จ”
“ตโป” แปลว่า การบำเพ็ญตบะ คนเราต้องรู้ว่าอันไหนดีอันไหนถูกต้อง อันไหนควรอันไหนไม่ควร อันนี้คือการตั้งมั่นในความดี ตั้งมั่นในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์ คนส่วนใหญ่จะอยู่กับการตามใจของตัวเอง ตามอารมณ์ของตัวเอง ตามความรู้สึกของตัวเอง เป็นการผิดพลาดแห่งชีวิต คนเราเมื่อตามใจของตัวเอง ตามอารมณ์ของตัวเอง ตามความรู้สึกของตัวเอง มันก็ไม่อยากมาใกล้ชิดพ่อแม่ก็จะไปติดเพื่อนติดฝูง ความตั้งมั่นในสิ่งที่ดีนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เช่นว่าเราตั้งมั่นในพระพุทธเจ้า เรากราบพระไหว้พระสวดมนต์ทุกวัน เพราะอันนี้เป็นอาหารใจเป็นคุณธรรม คนเรามันคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี หัวใจมีแต่อบายมุข มีแต่อบายภูมิ พระมันก็ไม่กราบ ไม่สวดมนต์เพราะว่าใจเป็นโจร เป็นมหาโจร ใจมันมีความผิด เราสังเกตดูคนที่เข้าวัดส่วนใหญ่ก็จะเป็นแต่ผู้หญิง ผู้หญิง ๙๕% ผู้ชาย ๕% เพราะว่าผู้ชายออกนอกลู่นอกทางเยอะ กินเหล้า เมาสุรา เจ้าชู้ เล่นการพนัน เพราะว่าวัฒนธรรมเก่าๆ ผู้หญิงคือแม่พิมพ์ แม่น้ำ แม่ธรณี
คนเรานะ ความดีทุกคนต้องว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ต้องมีความจำเป็นที่จะลงมือทำลงมือปฏิบัติ ประเทศไทยเราถึงบวชสามเณรเพื่อตั้งมั่นในศาสนา อายุ ๒๐ ปี ก็พากันบวชเพื่อตั้งมั่นในพระศาสนา เพื่อจะได้ศึกษาเข้าใจและเข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ ผู้ที่มาบวชเราสังเกตดู มาบวชก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติดี แต่เมื่อตั้งอยู่ในความประมาท สึกไปแล้วก็ไปกินเหล้าเมาสุราเพราะว่ากลัวความดี แล้วก็ไม่เข้าวัดหาครูบาอาจารย์ มันก็จะห่างไปๆ ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้สนทนาธรรม ไม่ได้ให้ครูบาอาจารย์ให้สติ ยิ่งพวกนักกินเมืองการเมืองนี้ พวกนี้ไม่เข้าวัดไม่เข้าศาสนาเลย พวกคริสต์ก็ไม่เข้าคริสต์ พวกพุทธก็ไม่เข้าพุทธ อิสลามก็ไม่เข้าอิสลาม เพราะพวกนี้เปรียบเสมือนว่าคนมีความผิดก็กลัวความถูกต้อง หัวใจมันดีๆก็เป็นเปรตเป็นผีเป็นยักษ์เป็นมารเป็นอสุรกาย
การที่เราจะเข้าหาพระพุทธเจ้าพระธรรมและพระอริยสงฆ์เป็นสิ่งจำเป็น พระเรานี้ก็เหมือนกัน มาบวช ๑๕ วันหรือว่าเดือนหนึ่งหรือว่าพรรษา แล้วก็ไม่เข้าหาพระอริยเจ้า ไม่เข้าหาผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพราะว่ามันมีความผิดเยอะ ยังมีมิจฉา ทิฐิอยู่ เรายังเข้าใจว่าบางคนโกนผมห่มผ้าเหลืองแล้วจะเป็นพระ นั่นไม่ใช่ แต่พระนั้นคือพระธรรม คือพระวินัย ขอให้ทุกคนเข้าใจว่าการฟังธรรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำอย่างนี้ หรือว่าฟังธรรมยังไม่พอ ไม่เข้าใจ เราก็ต้องสนทนาให้มันเข้าใจ จะได้เอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นการบำเพ็ญตบะ
คำว่า”ตบะ” แปลว่าการทำให้ร้อน หรือแปลว่าการแผดเผา ในภาษาบาลีนั้นการทำอะไรก็ได้ให้มันร้อนใช้คำว่าตปะทั้งนั้น เช่น ต้มน้ำให้ร้อนก็ใช้ “อุทกํ ตาเปติ ” ยังน้ำให้ร้อนก็คือต้มน้ำนั่นเอง ร้อนใจก็ใช้คำว่า “ปจฺฉาตปฺปติ ทุกฺกฏํ” แปลว่า การทำความผิดทำให้ร้อนใจในภายหลัง “ตปฺปติ” “ตปฺป” ใช้คำเดียวกันแปลว่าร้อน ดังนั้น คำว่า “ตบะ” หรือคำว่า “ตโป” จึงหมายถึง การให้ร้อนทุกอย่าง ตรงกับคำในภาษาไทยเราว่า เผา ลน ย่าง ต้ม ปิ้ง อบ คั่ว พวกนี้ เป็นความหมายของการทำให้ร้อนทั้งหมด คือคำอื่นที่มี หมายถึง การทำให้ร้อนทุกคำนี่ ว่าตามภาษาเดิมของภาษามคธก็คือภาษาบาลี แต่ทีนี้คำว่า”ตปะ”นี้ ใช้มาตั้งแต่ดั้งเดิมเป็นพันๆ ปีแล้ว
ตบะ ในคำสอนของพระพุทธศาสนาในมงคลข้อนี้ ก็เพ่งถึงการทำให้ร้อนเหมือนกัน แต่หมายถึงการทำให้ความชั่วมันร้อน ให้กิเลสในใจมันร้อน ธรรมใดเผาอกุศลบาปธรรมให้มอดไหม้ไป ธรรมนั้นชื่อว่าตบะ เช่น ทานเป็นเครื่องแผดเผาความตระหนี่ความขี้เหนียวความโลภให้หมดไป เมตตาก็เป็นเครื่องเผาโทสะให้หมดไปจากใจ โทสะคือความโกรธเผาด้วยเมตตา ผู้ที่เจริญเมตตาเป็นธรรมประจำใจก็ย่อมมีใจสงบเย็น เผาความโง่ความงมงายความหลงก็ต้องเผาด้วยปัญญาแล้วต้องเป็นโลกุตรปัญญา เป็นวิปัสสนาปัญญาด้วยจึงจะเผาได้ ตปะท่านจึงให้ความหมายแปลว่าความทรงเดช คือแผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิตระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ มีความเย็นอยู่สม่ำเสมอหรืออย่างสามัญนี้ มุ่งมั่นใจจะบำเพ็ญเพียรกิจให้บริบูรณ์ ความจริงแล้วคำว่าตบะไม่ใช่คำใหม่ แล้วก็ไม่ใช่คำที่มีอยู่เฉพาะในพระ พุทธศาสนานี้เท่านั้น มีมาก่อน ในศาสนาพราหมณ์ก็ใช้คำว่าตบะ บำเพ็ญตบะ
ครั้นมาภายหลัง พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนพุทธบริษัทให้บำเพ็ญตบะเหมือน กัน แต่วิธีบำเพ็ญตบะนั้นต่างกัน ตามพุทธประวัติจะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าตอนที่ออกผนวชใหม่ๆ ตอนบำเพ็ญทุกรกิริยาประมาณ ๖ ปีนี้ ก็คือการบำเพ็ญตบะแบบของพราหมณ์ แบบอัตตกิลมถานุโยคที่ทำตนเองให้ลำบาก เพราะเป็นค่านิยมของผู้บวชในสมัยนั้นว่า ค่านิยมคือทำตามๆ กัน เมื่อผนวชแล้วบวชแล้ว ต้องทรมานร่างกาย ทรมานเพื่ออะไร? เพื่อเผากิเลสด้วยความคิดว่าเมื่อกายมันลำบาก กายมันทุกข์ยาก กายมันเจ็บมันปวด กิเลสจะถูกเผา กิเลสจะน้อยลง เป็นค่านิยม สุดท้ายก็ถึงแค่สมาบัติ ๘ ถึงอรูปฌาน ไปต่อไม่ได้ กิเลสมันกดทับไว้ เป็นการเผาแบบของพราหมณ์ ทีนี้ พระพุทธเจ้าทรงมาค้นพบหนทางสายกลางด้วยพระองค์เองว่าตึงเกินไปมันก็ไม่ได้ หย่อนเกินไปมันก็ไม่ดี จึงเดินทางสายกลางเป็นการบำเพ็ญตบะตามแบบฉบับของพระพุทธองค์ เดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ จนกระทั่งตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง
เมื่อทรงค้นพบเห็นทางที่ถูกต้องแล้วจึงประกาศในที่ประชุมสงฆ์พระอรหันตขีณาสพ ๑,๒๕๐ รูป ที่วัดพระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ที่เรารู้จักกันในวันมาฆบูชา เป็นเวลาหลังจากตรัสรู้แล้วประมาณ ๙ เดือน พระดำรัสนั้นก็คือคำว่า “ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา - ขันติก็คือความอดทนนี้ ความอดทนอดกลั้นเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง”
จากพระพุทธดำรัสนี้ แสดงให้เราเห็นว่าพระองค์ทรงรับเอาตบะมาใช้ในทางพระพุทธศาสนา ความมุ่งหมายในการที่ทรงสอนให้บำเพ็ญตบะนี้ก็คือว่าเพื่อต้อง การขับไล่กิเลสทั้งหลายให้ออกไปจากหัวใจ เป็นข้อปฏิบัติที่ฝืนความต้องการของกิเลส ทวนกระแสกิเลส ขับไล่กิเลสออกจากใจ ไม่ใช่ทำเพื่ออย่างอื่น การขับไล่ออกจากใจ การทำให้กิเลสมันร้อนตัว ให้กิเลสมันร้อนเร่ามีอยู่ ๒ ชั้นด้วยกัน ชั้นแรก ชั้นสัลเลขะ เรียกว่าขัดเกลา ชั้นที่ ๒ ธุตังคะ ก็คือเป็นการกำจัดด้วยวิธีปฏิบัติธุดงค์
ใจของเรามันคุ้นกับกิเลสเหมือนกับเสือคุ้นป่าปลาคุ้นน้ำ กิเลสมันก็ย้อนกลับมาเผาใจเราจนเร่าร้อนกระวนกระวาย เราจึงต้องบำเพ็ญตบะนี่แหละเพื่อเผากิเลสให้มันมอดไหม้เสียตั้งแต่ต้นมือ ตั้งแต่ต้นลม ตั้งแต่ต้นทางก่อนที่กิเลสมันจะเผาใจเราจนวอดวาย มันเผาเรามากี่ภพกี่ชาติ เราต้องมอดไหม้ ต้องเจ็บปวดต้องเสียใจต้องบอบช้ำใจขนาดไหนในวัฏสงสารก็เพราะว่าถูกกิเลสมันเผา ดังนั้น เมื่อเรารู้วิธี เราจึงต้องมาเผา
ทำไมจึงต้องบำเพ็ญตบะ?
เราผ่านการได้ฟังการประพฤติการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคลมาแล้ว ๓๐ ขั้น ๓๐ ข้อด้วยกัน เราจะพบว่านิสัยไม่ดี ความประพฤติที่ไม่ดีของตัวเราที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นยังมีอยู่อีกมาก บางอย่างที่เราได้พยายามแก้ไขปรับปรุงแล้ว มันก็ดีขึ้นตามลำดับ อย่างเช่น เคยขี้โกรธก็โกรธน้อยลง เห็นแก่ตัว ขี้อิจฉาริษยา ยโสโอหัง เมื่อมีความอ่อนน้อมถ่อมตัวมีการฝึกเป็นลำดับมา มันลดน้อยลงถือว่าดีขึ้น แต่อีกหลายๆ อย่างทั้งที่พยายามแก้ไขแล้วแต่ก็ยังไม่หายอยู่ดีเช่น กามกำเริบ รักสวยรักงาม รักความสะดวกสบาย ติดสุขติดสบายจนเกินเหตุ ง่วงเหงาซึมเซาท้อถอยฟุ้งซ่านรำคาญใจ เราจึงต้องหาวิธีรัดกุมยิ่งขึ้นๆ เพื่อมาจัดการแก้ไข แต่สิ่งที่เราต้องจำไว้ก่อนนั้นคือว่า
๑. เหตุแห่งความประพฤติไม่ดีทั้งหลายล้วนเกิดมาจากกิเลสที่มันซุกซ่อนอยู่ในใจ พอมันถูกสิ่งเร้า มันถูกกระตุ้นนิดๆ หน่อยๆ มันก็ฟุ้งขึ้น พุ่งมา ขึ้นมา
๒. เหตุที่กำจัดกิเลสได้ยากเพราะว่าเป็นเพราะเรามองไม่เห็นกิเลส อย่างมากก็เพียงแค่เห็นอาการของมันแต่ไม่เห็นตัวมัน ทำให้ไม่รู้จักกิเลสดี บางคราวถูกกิเลสโจมตีเอาแล้วก็ยังไม่รู้ตัว เพราะว่ามันบัง มันถูกหุ้มห่อเอาไว้ด้วยอวิชชาคือความโง่ความหลงความงมงายนี้ แล้วก็ใจของเรามันคุ้นเคยกับกิเลสมาก นอนกอดกันทุกวันกับกิเลสเหมือนเสือคุ้นป่า เหมือนปลาคุ้นน้ำจนมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเราก็ไม่เห็น มันเป็นกิเลสตรงไหนก็มีความสุข สุขแบบโลกๆ ปลาพอถูกจับพ้นน้ำแล้วมันจะดิ้นรนสุดชีวิต เพื่อหาทางกลับลงน้ำให้ได้ คนส่วนใหญ่ก็เหมือนกัน รู้สึกว่าการมีกิเลสมันเป็นของธรรมดา รักกิเลส หวงกิเลส นอนกอดกิเลส อย่างเช่นว่าพวกขี้เมาติดเหล้าเสียแล้ว ใครไปดึงขวดเหล้าออกมานี้ มีอันต้องตามฆ่ากันได้เลย ไม่ได้ๆ ขวดเหล้านี้มันเป็นกล่องดวงใจของเราเชียวนะ ไม่ยอม หรือบางคนใครทำอะไรขัดใจนิดหน่อยก็โกรธ พูดจาโผงผางไปเลย แล้วก็ภูมิอกภูมิใจ ภูมิใจในความเป็นผู้เสียงดัง เป็นผู้ตรงไปตรงมา ที่ไหนได้ มันคือกิเลสสั่งให้ทำ ภูมิใจในความมีกิเลสของตัวเอง เป็นอย่างนี้เป็นต้น
แล้วก็ที่กำจัดกิเลสได้ยากอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เป็นเพราะเรายังขาดวิธีที่เหมาะสมไปกำจัดมัน ตราบใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่บังเกิดขึ้น เราก็ยังไม่รู้วิธีกำจัดกิเลส แม้อาจรู้ว่ากิเลสมี แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เหมือนก่อนยุคก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติจนกระทั่งจะตรัสรู้นี้ ก่อนนั้นคนทั้งหลายผู้ที่สร้างบารมี ผู้ที่บำเพ็ญตบะ ผู้บำเพ็ญเพียรนี้ ก็ทำตามวิถีทางของลัทธิความเชื่อของตน บางคนก็งมโข่งหาทางไปไม่ได้เพราะมันเป็นทางตัน มันตันแค่พรหมโลกไปต่อไม่ได้ คือไม่รู้จะทำอย่างไรแก้ไม่ตก อาจจะหาทางออกก็ไม่เป็นเรื่อง เช่น บูชาไฟ อย่างชฎิลบูชาไฟมาตลอดด้วยความยึดถือที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพกาลบรรพบุรุษว่าบูชาไฟเพื่อที่จะได้อยู่กับพระผู้เป็นเจ้า เพ่งไฟเพ่งกสิณใช้ไฟเป็นอารมณ์ อย่างมากก็ได้แค่สมาธิ อย่างเช่น ที่อิหร่าน เปอร์เซียก็มีการบูชาไฟของศาสนาโซโรอัสเตอร์ บางทีก็บูชาภูเขา บูชาต้นไม้ กราบไหว้อ้อนวอนเทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่อียิปต์โบราณ ประวัติศาสตร์สี่ห้าพันปี เราจะเห็นมีภาพเขียน มีการทำมัมมี่ก็เป็นความเชื่อผิดๆ ที่คิดว่า เก็บร่างไว้แล้ววิญญาณจะกลับมา ก็เป็นความเชื่อผิดๆ กันมา บูชาเทพไอยคุปต์เพราะคิดว่าจะหลุดพ้น ทำอย่างนี้มาตลอดแต่สุดท้ายก็ไปตามทางใครทางมัน ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ก็ไปเกิดตามเหตุตามปัจจัย แต่ก่อนนั้นทำไมเขาทำอย่างนั้น? เพราะว่าไม่รู้ ทำด้วยความไม่รู้ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นกองหินประหลาด หรืออะไรต่างๆ ที่ทำขึ้นมาเพื่อบูชาเทพ ก็เพื่อต้องการอยากจะพ้นทุกข์แต่ไม่รู้วิธีการก็เลยทำกันผิดๆมา ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์โลกที่เราได้เห็น ที่เราได้ศึกษานี้ จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติเกิดขึ้นในโลก ผลจากการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ทางจิตใจที่พระพุทธองค์ทรงเอาชีวิตจิตวิญญาณเป็นเดิมพันสร้างบารมีค้นคว้ามาหลายล้านชาติ ๒๐อสงไขยแสนมหากัปนี้ ผลแห่งการค้นคว้าของพระองค์ก็มาสำเร็จตอนพระชาติสุดท้ายที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จผนวชบำเพ็ญทุกรกิริยาจนกระทั่งมาตรัสรู้สัมมาสัมพุทธะ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง รู้เห็นทั้งหมด เห็นทางไปทางมา เห็นวัฏสงสาร เหมือนคนที่อยู่บนยอดเขาสูงมองลงมาก็เห็นหมดว่าคนข้างล่างทำอะไรอยู่บ้าง หรือเหมือนกับเราดู Google Earth ก็ได้ แล้วก็ซูมเข้าไป ก็จะเห็นว่าตรงไหนตรงนั้นตรงนี้เป็นอย่างไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นทะลุปรุโปร่งทั้งหมด จึงนำมาบอกนำมาสอนว่าทำอย่างนี้ได้แบบนี้ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้มันถึงมี
ดังนั้น ในมงคลข้อนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนวิธีกำจัดกิเลสที่เหมาะสมแล้วก็ได้ผลเด็ดขาดเฉียบพลันให้กับเรา โดยถือหลักว่า”หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง” เอาไฟภายในเผา วิธีการที่จะเอาไฟภายในเผากิเลสในตัวเองนี้แหละเรียกว่าตบะ
บำเพ็ญตบะจึงหมายถึงการทำความเพียรเผาผลาญความชั่วกิเลสทุกชนิดให้มันร้อนตัว ทนอยู่ในกมลสันดานต่อไปไม่ได้ ที่มันเกาะใจเรานี้ ต้องทำให้มันร้อน ร้อนแล้วมันก็จะอยู่ไม่ได้ เกาะใจเราไม่ติด มันต้องเผ่นหนีไป แล้วใจของเราก็จะผ่องใสปราศจากธุลีหมดทุกข์ การที่เราจะขับไล่สิ่งใด เราก็ต้องทำทุกอย่างที่ฝืนความต้องการของสิ่งนั้น เหมือนการไล่คนออกจากบ้าน เขาอยากได้เงิน เราก็ต้องไม่ให้ อยากกินก็ไม่ให้กิน อยากนอนก็ไม่ให้นอน คือต้องฝืนใจ เขาจึงจะออก การไล่กิเลสออกจากใจเหมือนกันนี้แหละ หลักปฏิบัติที่สำคัญก็คือต้องฝืนความต้องการของกิเลส อย่าไปตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึก ต้องทวนโลกทวนกระแส
ชั้นสัลเลขะ การบำเพ็ญตบะที่อธิบายขั้นต้นว่ามี ๒ ชั้นด้วยกันก็คือชั้นขัดเกลากับชั้นธุดงค์ ชั้นสัลเลขะ ก็หมายถึงว่าการปฏิบัติทุกอย่างที่เป็นการฝืนกิเลส เช่น ความโลภเกิดขึ้นก็ขจัดมันออกไปด้วยการเสียสละ ด้วยการให้ด้วยการบริจาค ความเกียจคร้านเกิดขึ้นก็ปฏิบัติด้วยความขยัน การเห็นแก่กินก็งดกินอาหารในยามวิกาล คืองดอาหารเย็นแบบถือศีล ๘ ชอบเจ้าชู้นักก็งดเสพเมถุนเลย เมื่อโกรธก็ฝึกแผ่เมตตา การปฏิบัติเหล่านี้ พระพุทธองค์ตรัสว่าข้อปฏิบัติเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสัลเลขธรรมทั้งสิ้น คือเป็นวิธีปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสทุกข้อ ดังนั้น เราจึงกำหนดตายตัวลงไปไม่ได้ว่าสัลเลขธรรม ธรรมที่ขัดเกลาขูดเกลากิเลสมีเท่าไหร่ แต่การปฏิบัติธรรมเหล่านี้เป็นการบำเพ็ญตบะเบื้องต้นอยู่ในตัว ศีลนี่แหละที่มันจะขัดเกลา ขูดเกลากิเลส เอาความชั่วทางกายทางวาจาออกไป แต่ความชั่วทางใจยังมีอยู่ เราก็ต้องขูดเกลาขัดเกลาสูงๆขึ้นไป
ชั้นธุดงค์ “ธุตังคะ” แปลว่าการกำจัด หมายถึงการขับไล่กิเลสอย่างรุนแรง แรงกว่าสัลเลขะ ธุตังคะคือการบำเพ็ญธุดงควัตร ส่วนมากเป็นพระภิกษุ เมื่อบำเพ็ญธุดงควัตรเราก็เรียกว่าพระธุดงค์ แต่ว่าธุดงค์นี้ไม่ใช่การเดินดังที่ได้อธิบายไว้ในหมวดของธุดงควัตร ๑๓ นี้เป็น ๑๐ ข้อ สามารถปฏิบัติอยู่กับที่ได้
เมื่อพูดถึงเรื่องธุดงค์ มีคนเข้าใจว่าพระธุดงค์จะต้องเป็นผู้เก่งกล้าทางคาถา อาคมปลุกเสกเลขยันต์บอกใบ้หวย อย่างนั้นไม่ใช่ความจริงเลย เพราะธุดงควัตรไม่มีทางจะเป็นอย่างนั้นได้ พระธุดงค์ที่ปักกลด แล้วทำน้ำมนต์แจกเครื่องรางของขลังไม่ใช่พระธุดงค์จริง แต่เป็นพระธุดัน เป็นพระธุดงค์อาชีพ
ธุดงควัตรนั้นเป็นวิธีบำเพ็ญตบะมีทั้งหมด ๑๓ ข้อด้วยกัน แบ่งเป็น ๔ หมวดธุดงควัตร ๑๓ ประการในพระพุทธศาสนาเป็นข้อปฏิบัติที่พระภิกษุนิยมบำเพ็ญกัน ฝืนความต้องการของกิเลสเพื่อไล่กิเลสออกจากใจ ทีนี้ ธุดงควัตรไม่ได้จำกัดเฉพาะพระภิกษุ แม้ฆราวาสญาติโยมก็ปฏิบัติได้เป็นบางข้อที่ปฏิบัติได้ตามกำลังศรัทธาตามกำลังความสามารถ
หมวดที่ ๑ เกี่ยวกับเรื่องเครื่องแต่งตัว ก็คือเรื่องจีวรของพระก็เรียกว่าหมวดจีวร ถ้าโยมก็คือเรื่องเครื่องแต่งตัว ข้อแรกใช้แต่ผ้าบังสุกุลที่หามาได้เท่านั้น แม้จะได้มาทางอื่นเช่น มีคนถวายให้กับมือก็ไม่ใช้ ข้อที่ ๒ ใช้เฉพาะผ้าไตรจีวรเพียงสามผืน คือมีสบง จีวร สังฆาฏิอย่างละผืน ใช้ผ้าอื่นๆ อีกนอกจากสามผืนนี้ไม่ได้ เราลองคิดดูทำถึงขั้นนี้แล้วนะ กิเลสมันจะร้อนตัวสักแค่ไหน คนที่มีนิสัยขี้โอ่ อวดมั่งอวดมี รักสวยรักงามพิถีพิถันกับเครื่องแต่งตัวจนเกินเหตุ ชนิดที่เสื้อผ้าเป็นตู้ๆ ก็ยังไม่พอใจนั้น พอเจอธุดงค์ ๒ ข้อนี้เข้า ก็สะอึกแล้ว
หมวดที่ ๒ เกี่ยวกับการกิน ก็คือเกี่ยวกับการบิณฑบาต
๑. ฉันแต่อาหารที่บิณฑบาตมาได้เท่านั้น ใครจะใส่ปิ่นโตใส่หม้อแกงมาถวายที่วัดก็ไม่ฉัน บิณฑบาตมาได้เท่าไหร่ก็ฉันเท่านั้น
๒. เดินบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกหรือหมู่บ้านในแนวที่กำหนดไว้เท่านั้นไม่ใช่มานึกๆ เอาว่า ไปบ้านนั้นจะได้มาก บ้านนี้จะได้น้อย เลยเลือกทางเดินบิณฑ บาตเป็นบางบ้านตามชอบใจอย่างนั้นไม่ได้ แล้วก็ข้อที่
๓. ฉันอาสนะเดียว คือถ้าฉันเสร็จ ลุกจากอาสนะแล้วก็ไม่รับประทานอาหารอีก ไม่รับประทานอะไรอีก ซึ่งก็เท่ากับว่าวันละมื้อวันละครั้ง ที่เรียกว่าฉันเอกา
๔. ฉันสำรวมคือฉันอาหารในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่น เอาอาหารทั้งหมดทั้งคาวทั้งหวานนี้ใส่รวมๆ กันในบาตรแล้วฉัน
๕. เมื่อลงมือฉันแล้วไม่รับประเคนอีก ใครจะนำอาหารมาถวายให้อีกก็ไม่รับ
ทั้ง ๕ ข้อนี้เป็นตบะ เป็นการบำเพ็ญตบะเกี่ยวกับการฉันการบริโภคการกิน ใช้แก้นิสัยตามใจปากตามใจท้อง ไม่ต้องพูดถึงว่าจะลักเขากินโกงเขากิน แม้แต่ของที่ได้มาดีๆ นี่แหละก็ตัดความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมลงไป นิสัยกินจุบกินจิบจะกินนั่น จะกินนี่ พิรี้พิไรไม่รู้จักกระเป๋าของตัวเองนี้ ตลอดจนกิเลสประเภทที่ยุใจเราให้ทำผิดเพราะเห็นแก่ปากแก่ท้อง พอเจอธุดงค์ ๕ ข้อนี้เข้ามันจะหมดไปเลย
ต่อไป หมวดที่ ๓ เกี่ยวกับที่อยู่ที่อาศัย มี ๕ ข้อด้วยกัน
๑. อยู่ในป่านอกละแวกบ้านเท่านั้น ไม่มาอาศัยอยู่ตามแหล่งชุมชน
๒. อยู่ตามร่มไม้เท่านั้น ไม่อาศัยอยู่ในเรือน ไม่อาศัยนอนในกุฏิศาลา ปักกลดนอนใต้ร่มไม้
๓. อยู่กลางแจ้งเท่านั้น ในกุฏิไม่นอน ใต้ร่มไม้ก็ไม่นอนกัน ปักกลดนอนกลางแจ้ง
๔. อยู่ในป่าช้าเท่านั้น ก็คือพักปฏิบัติ ปักกลดนอนในป่าช้าตามที่ได้อธิบายไว้ในหมวดธุดงค์นั่นแหละ แล้วก็
๕. อยู่ในที่ที่คนอื่นจัดให้ ไม่เลือกที่อยู่ เขาจะจัดให้ที่พักที่ไหนก็อยู่ได้ ไม่เลือกมาก ไม่เรื่องมาก ไม่เป็นคนเยอะ ลองพินิจพิจารณาดูเรื่องโกงที่โกงทาง ดื้อแพ่งเพราะที่อยู่ที่อาศัย ไม่ต้องพูดถึงกันนะ เพียงแค่นิสัยติดที่ ชอบที่นุ่มๆ บ้านหรูๆ เครื่องอำนวยความสะดวกพร้อม กิเลสเรื่องที่อยู่นี้ พอเจอธุดงค์ ๕ ข้อนี้ มันเผ่นหมดเพราะว่าถือธุดงค์ ๕ ข้อนี้
ต่อไป หมวดที่ ๔ เกี่ยวกับดัดนิสัยขี้เกียจขี้คร้าน มีข้อเดียวคือธุดงควัตรข้อสุดท้ายอยู่ในอิริยาบถ ๓ ยืนเดินนั่งแต่ไม่นอน ง่วงมากก็ยืนเดิน อย่างมากก็นั่งหลับแต่ไม่ยอมนอน ไม่ให้หลังแตะพื้น หมวดที่ ๔ นี้มีอยู่ข้อเดียว พวกที่ติดนิสัยขี้เกียจ เช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน ดึกๆ จำวัดนี้ พอเจอธุดงค์ข้อนี้เข้าก็หาย พวกใครที่มีนิสัยชอบผลัดวันประกันพรุ่งจะลองรักษาธุดงควัตรข้อสุดท้ายนี้ที่เป็นชาคริยานุโยค-การทำความเพียรของผู้ที่ตื่นอยู่ก็จะดีมาก รักษา ๑ วัน ๓ วัน ๕ วัน ๗ วันก็ตามกำลัง
สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมทำสมาธิ ถ้าใจเริ่มสงบแล้ว การอยู่ในอิริยาบถ ๓ นี้จะทำให้สมาธิก้าวหน้าเร็วมากและถ้าสมาธิดีก็จะไม่ง่วง บางรูปรักษาธุดงควัตรข้อนี้ได้นาน ๓ เดือน ๗ เดือน บางรูปรักษาตลอดชีวิตก็มี อย่างเช่นพระอนุรุทธะ พระพากุละ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นธุดงควัตร ๑๓ จัดเป็นตบะชั้นยอดในพระพุทธศาสนาเป็นการกำจัดกิเลส ขูดเกลากิเลส ขัดเกลากิเลสชั้นสูง ความมุ่งหมายเพื่อจะกำจัดกิเลสออกจากใจให้เด็ดขาด ในทางปฏิบัติ ใครจะเลือกทำข้อใดบ้างก็ได้และจะทำในระยะใดก็ให้ตั้งใจอธิษฐาน สมาทานธุดงควัตรข้อนั้นๆ เอา
ดังนั้น จากที่ฟังมานี้ เราอยู่กับที่ก็ถือธุดงค์ได้ตั้งหลายข้อ อยู่ที่การสมาทานประพฤติปฏิบัติ นอกจากทั้งสองประการนี้คือสัลเลขธรรม การขัดเกลา ขูดเกลากับธุดงควัตร ๑๓ นี้ แล้วการบำเพ็ญตบะในชีวิตประจำวัน บางคนอาจจะสงสัยว่าการบำเพ็ญธุดงควัตรสำหรับผู้ที่ยังเป็นฆราวาสอยู่ ยังต้องทำงานทางโลกก็ยากที่จะปฏิบัติไปได้ตลอด อย่างมากก็แค่หาเวลาช่วงว่างๆ สุดสัปดาห์ไปทำธุดงค์ แล้วในชีวิตประจำวันนี มีวิธีบำเพ็ญตบะได้หรือไม่? มี มีมากด้วย
วิธีบำเพ็ญตบะในชีวิตประจำวันเพื่อกันไม่ให้กิเลสฟุ้งขึ้น เพื่อกำจัดกิเลสออกจากตัวทำได้ดังนี้
๑. อินทรีย์สังวร
๒. มีความเพียรในการปฏิบัติธรรม
อินทรีย์สังวร คือ การสำรวมอินทรีย์ สำรวมระวังตนโดยอาศัยสติเป็นตัวกำกับ สำรวมอย่างไร?คนเรานี้มีช่องทางติดต่อกับภายนอกอยู่ ๖ ทาง ๖ ประตูด้วยกันตาหูจมูกลิ้นกายใจนี้ ต้องเอาสติเป็นผู้รักษาประตูให้ดี ถ้าไม่มีสติเป็นผู้รักษาประตูให้ดี กิเลสมันก็จะยิงเข้ามา ๖ ทางเลย เดี๋ยวน๊อค เหมือนกับบ้านที่มีประตูหน้าต่างเป็นทางติดต่อกับภายนอก คนเราก็เหมือนบ้านนี่แหละ มีประตูหน้าต่างอยู่ ๖ ช่องทาง สิ่งต่างๆ ภายนอกที่เราจะรับรู้รับทราบก็มาจาก ๖ ทางนี้แหละ จะเป็นสิ่งที่ดีที่ทำใจของเราให้สงบผ่องใสก็มาจาก ๖ทางนี้ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ใจของเราฟุ้งซ่านขุ่นมัวก็มาจาก ๖ ทางนี้เหมือนกัน จึงเป็นเหมือนกับอาคันตุกะกิเลสที่มันมีทั้งแขกที่เป็นโจร มีทั้งแขกที่เป็นบัณฑิตเข้ามา ถ้าเราทำหน้าที่เจ้าบ้านดีมากก็รับมันหมดเลย ทั้งกิเลสทั้งความดีความชั่ว รับมาหมด สุดท้ายมันอีรุงตุงนังอยู่ในบ้าน มันตีกันไปหมด เราก็เครียดฟุ้งซ่าน ดังนั้น เราจึงต้องฉลาดต้องรับแขกให้เป็น แขกไม่ดีเช่นโจรกิเลสทั้งหลาย ความโลภความโกรธความหลงก็ดันมันไว้นอกบ้าน อย่าดึงมันเข้ามา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบช่องทางทั้ง ๖ นี้ไว้ดังนี้
๑. ตาคนเรานี้มันเหมือนงู งูไม่ชอบที่เรียบๆ แต่มันชอบที่ที่ลึกลับซับซ้อนตาคนเราก็เหมือนกัน ไม่ชอบดูอะไรเรียบๆ แต่ชอบดูสิ่งที่มันสวย ลายวิจิตรสวย งาม ยิ่งสิ่งที่เขาปกปิดไว้ล่ะก็ยิ่งอยากดู แต่อะไรที่เปิดเผยออกแล้วที่มันไม่เป็นความลับนี้ ความอยากดูมันกลับลดลง ความจริงเป็นอย่างนั้น
๒. หูคนเราเหมือนจระเข้ชอบที่เย็นๆ อยากฟังคำเย็นๆ หวานๆ ที่เขาชมตัว หรือว่าคำพูดไพเราะๆ ที่เขาพูดกับเรา
๓. จมูกของคนเรามันเหมือนนกคือชอบโผผินบินไปในอากาศ พอได้กลิ่นอะไรหน่อยก็ตามดมทีเดียวเลยว่ามาจากไหน บินอยู่สูงแต่พอเวลามันได้กลิ่นอะไรแล้วมันดิ่งลงมาเลย นกมันชอบ แล้วก็
๔. ลิ้นของคนเรานี้เหมือนกับสุนัขบ้าน หมาบ้านคือชอบลิ้มรสอาหาร วันๆ ก็ขอให้ได้กินของอร่อยๆ เถอะ เที่ยวซอกแซกๆ หาอาหารอร่อยกินทั้งวัน
๕. กายของคนเราเหมือนสุนัขจิ้งจอก คือชอบที่อุ่นๆ ที่นุ่มๆ ชอบซุก เดี๋ยวจะไปซุกตักคนโน้นที เดี๋ยวจะไปซุกตักคนนี้ที อิงคนโน้นที จับคนนี้ที อย่างนี้เป็นต้น
๖. ใจคนเรานี่มันเหมือนลิง ชอบซนคิดโน่นคิดนี่ ประเดี๋ยวดีประเดี๋ยวร้าย ก็ฟุ้งซ่านถึงเรื่องในอดีตบ้าง ประเดี๋ยวก็สร้างวิมานในอากาศถึงเรื่องในอนาคตบ้าง ไม่ยอมอยู่นิ่ง ไม่ยอมสงบอยู่กับปัจจุบัน
อินทรียสังวรที่ว่าการสำรวมระวังตัวนี้ ก็คือต้องระวังช่องทางทั้ง ๖ นี้ เมื่อรู้ถึงธรรมชาติของมันแล้วก็ต้องคอยระมัดระวัง ใช้สติเข้าช่วยกำกับเป็นผู้รักษาประตู อะไรที่ไม่ควรดูก็อย่าไปดู อะไรที่ไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง อะไรที่ไม่ควรดมก็อย่าไปดม อะไรที่ไม่ควรลิ้มชิมรสก็อย่าไปชิม อะไรที่ไม่ควรสัมผัสก็อย่าไปสัมผัส อะไรที่ไม่ควรคิดก็อย่าไปคิด หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไปเห็นสิ่งที่ไม่ควรดูเข้าแล้วก็ให้จบแค่การเห็น จบแค่สักแต่ว่าเห็น ไม่คิดปรุงแต่งต่อว่าสวยจริงเนาะ หล่อจริงนะ อะไรทำนองนี้ ต้องไม่นึกถึงโดยนิมิตหมายถึงว่าเห็นว่าสวยไปทั้งตัว เออ..คนนี้สวยจริงตาก็สวย ผมก็สวย จมูกก็สวย โดยอนุพยัญชนะ เพ่งไป ส่วนนั้นก็สวย ส่วนนี้ก็สวยแขนสวยขาสวยอะไรอย่างนี้ มันเป็นการรับแขกกิเลสเข้ามาเต็มหัวใจเลย
อินทรียสังวรนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เราสู้กับกิเลส ชนะหรือแพ้ก็อยู่ตรงนี้ ถ้าเรามีอินทรียสังวรดีแล้ว โอกาสที่กิเลสมันจะรุกรานเราก็ยาก คุณธรรมต่างๆ ที่เราตั้งใจรักษาไว้ก็จะสามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจ เหมือนบ้านถ้าเราใส่กุญแจดูแลประตูหน้าต่างไว้อย่างดีแล้ว ถึงแม้ตามลิ้นชักตามตู้จะไม่ได้ใส่กุญแจก็ย่อมปลอดภัย โจรก็มาเอาอะไรไปไม่ได้ แต่ถ้าเราขาดการสำรวมอินทรีย์ ไปดูในสิ่งที่ไม่ควรดู ไปฟังในสิ่งที่ไม่ควรฟัง ดมในสิ่งที่ไม่ควรดม ลิ้มรสในสิ่งที่ไม่ควรลิ้ม จับต้องสัมผัสในสิ่งที่ไม่ควรสัมผัส คิดในสิ่งที่ไม่ควรคิด แม้เราจะมีความตั้งใจรักษาศีล ศีลนี่เป๊ะเลยนะ รักษาคุณธรรมต่างๆ ได้ แต่ก็มีโอกาสพลาดได้มาก เพราะไม่ได้สำรวมใจ เหมือนบ้านที่ไม่ได้ปิดประตูหน้าต่างเปิดรับแขกเต็มที่ แม้จะใส่กุญแจตู้ลิ้นชักปิดเซฟไว้อย่างดีเพียงไรก็ย่อมมีโอกาสที่มันไม่ปลอดภัย ถูกงัด ถูกแงะ บางทียกเค้าไปเลย โจรเข้ามาลักขโมยไปได้ง่าย
วิธีที่จะทำให้อินทรียสังวรเกิดขึ้นได้ ให้เราฝึกให้มีหิริโอตัปปะ-ความละอายชั่วกลัวต่อบาป ละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป โดยคำนึงถึงชาติตระกูล ถึงอายุของเราก็ป่านนี้แล้ว คำนึงถึงวิชาความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา คำนึงถึงองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ถึงครูบาอาจารย์ที่เราเล่าเรียนมาศึกษามา สำนักของเรา บ้านของเราและอื่นๆ ดังรายละเอียดในมงคลข้อที่ ๑๙ การงดเว้นจากบาปที่ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดแล้ว เปรียบเป็นลูกโซ่แห่งธรรมไว้ดังนี้
หิริโอตัปปะทำให้เกิดอินทรียสังวร เมื่อใจมันมีความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาปมันจะสำรวม มันจะสักแต่ว่าดู จะไม่มองสิ่งที่ไม่ควรมอง จะไม่ฟังสิ่งที่ไม่ควรฟัง เป็นต้น หิริโอตัปปะจึงเป็นเหตุทำให้เกิดอินทรียสังวร คือสำรวมประตูสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจไว้ แล้วอินทรียสังวรคือการสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจ จะทำให้เกิดศีล ศีลจะทำให้เกิดสมาธิ สมาธิจะทำให้เกิดปัญญาเป็นลำดับไป ผู้มีอินทรียสังวรดี ศีลก็ย่อมบริสุทธิ์ ศีลบริสุทธิ์สมาธิก็เกิดได้ง่าย สมาธิตั้งมั่นปัญญาก็เกิดขึ้น เป็นความบริสุทธิ์ผุดผ่องใส เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงของกายของใจนั่นแหละคือวิปัสสนา เห็นถึงตัวกิเลสที่มันซุกซ่อนนอนอยู่ภายในจิตในใจแล้วก็จะสามารถกำจัดให้มันหมดสิ้นไปได้ เราทุกคนจึงควรฝึกให้มีอินทรียสังวรในตัวให้ได้
คนเราส่วนใหญ่นี้มักพอจะทราบอยู่ว่าอะไรดี อยากจะให้สิ่งที่เห็นว่าดีนั้น เกิดขึ้นกับตัว แต่ก็มักจะทำความดีนั้นไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง ทั้งนี้เพราะขาดความเพียร คนเราถ้าขาดความเพียรเสียแล้ว คุณธรรมก็ไม่สามารถงอกเงยขึ้นมาได้เลย “วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ – บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร” ในมงคลทีปนีท่านได้แสดงไว้ว่า ตบะนี้ หมายถึงขันติ ความอดทน อินทรียสังวร-การสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายใจและวิริยะก็คือความเพียร อินทรียสังวรก็ได้อธิบายไปเมื่อสักครู่นี้ เพราะ ว่าเมื่อสำรวมแล้วมันจึงจะเป็นตบะ เพราะเป็นเครื่องเผาอกุศลธรรมคือความยินดียินร้าย ตัดแค่การเห็น ตัดแค่การฟัง ตัดแค่การดม ตัดแค่การได้กลิ่น ตัดแค่การรู้รส ตัดแค่การถูกต้องสัมผัส ไม่ให้มันเข้ามาในใจแล้วปรุงแต่งไปต่างๆ นานา ตัดตรงนั้นมันจึงจะเป็นตบะ มันเผาตรงนั้นเลย เผาความยินดียินร้ายเพราะกระทบกับอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ เหล่านี้เป็นต้น ความเพียรชื่อว่าตบะ เพราะเป็นเครื่องแผดเผาความขี้เกียจขี้คร้านให้มันมอดไหม้ไป
อานิสงส์การบำเพ็ญตบะ ก็คือว่า
๑. ทำให้เลิกเป็นคนเอาแต่ใจตัวเองได้ในเร็ววัน การตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึกมันจะลดน้อยหมดลงไป
๒. ทำให้คุณธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นในตัว
๓. ทำให้มงคลข้อต้นๆ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นกับเราอย่างสมบูรณ์แล้วก็จะพัฒนาสู่ความเป็นมงคลข้อต่อๆ ไป
๔. ทำให้เข้าถึงพระนิพพานได้เร็ว
การบำเพ็ญตบะคือการเข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เราเรียนหนังสือตั้งแต่ประถมจนจบปริญญาเอก เรียนเรื่องผิดเรื่องถูกเรื่องดีเรื่องชั่ว ตบะคือภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ทุกๆ คนก็มีความเพียรที่จะต้องปฏิบัติ เพราะว่าการเรียนการศึกษาถือว่าเป็นบุญเป็นกุศล แต่มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ถ้าเราไม่เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เหมือนเราเรียนหนังสือจบปริญญาโทปริญญาเอก มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยเพราะมันเป็นแค่กระดาษ การประพฤติการปฏิบัติเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเรารู้เรื่องอาหาร ถ้าเราไม่ได้รับประทานเข้าไป มันจะไม่ได้ประโยชน์จะไม่รู้รส เราต้องพัฒนาทั้งเทคโนโลยีพัฒนาทางจิตใจคือภาคประพฤติภาคปฏิบัติ
ทุกคนต้องเข้าสู่ภาคปฏิบัติสำหรับประชาชนก็มีศีล ๕ สามเณรก็มีศีล ๑๐ พระก็มีศีล ๒๒๗ ที่มาในพระปาฏิโมกข์ที่สวดทุกๆ กึ่งเดือนในพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐พระธรรมขันธ์ ต้องเอาสิ่งที่ดีสิ่งที่ถูกต้องมาปฏิบัติเพื่อหยุดก่อนวัฏสงสาร ลาก่อนวัฏสงสาร การปฏิบัติมันอยู่ที่ปัจจุบันเดินทีละก้าว ทานข้าวทีละคํา ทําทีละอย่าง อยู่ที่ปัจจุบัน อันนี้เป็นงานของเราเป็นหน้าที่ของเรา อย่าไปปล่อยปละละเลย ถ้าเราไม่ปฏิบัติ เราก็ไม่ได้รับทาน เราก็ไม่ได้บริโภค เราก็ไม่ได้เดิน มันอยู่ที่ปัจจุบัน มรรคมีองค์ ๘ มันไม่ใช่ของยาก เป็นของที่มีความสุข เขาเรียกว่าเรารู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ รู้อริยสัจ ๔ เราก็ต้องเอามาปฏิบัติ เราตั้งอยู่ในความเพลิดเพลินอยู่ในความประมาทไม่ได้เพราะความสุขของเรานั้นมันอยู่ที่การปฏิบัติอยู่ที่การบำเพ็ญตบะ ความสุขของเรานั้นอยู่ที่ศีล ที่สมาธิ ที่ปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ปัญญาทางธุรกิจหน้าที่การงานนั้นเป็นเรื่องของกาย เรื่องของใจก็คือเรามีปัญญา เราไม่มาหลงในความสุขความสะดวกความสบาย
การปฏิบัติอยู่กับเราทุกหนทุกแห่งทุกสถานที่ ไม่ใช่ว่ามาอยู่ที่วัดอยู่ที่อารามสำหรับนักบวช ผู้ไม่ได้บวชก็ถือศีล ๕ อยู่ที่บ้าน ใจเรามาปฏิบัติอย่าไปเผลอ อย่าประมาท คำว่าบวชก็คืออบรมบ่มอินทรีย์ อันเดียวกันกับการบำเพ็ญตบะ ประพฤติปฏิบัตินี่แหละจึงเรียกว่าบำเพ็ญตบะ บำเพ็ญพรหมจรรย์ พรหมจรรย์เบื้องต้นก็คือศีล ๕ ศีลก็คือธรรม ธรรมก็คือศีล อย่าไปกลัวหลาย อย่าไปกลัวของดี อย่าไปกลัวสิ่งที่ดี ใจของเรามันออกนอกทางออกนอกประเด็น มันเลยกลัวในสิ่งที่ดี เราจะพากันรวยอย่างโง่ๆ ไม่เอา ต้องมีสัมมาทิฏฐิ ต้องมีภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ตระกูลของเรานี้ถึงยั่งยืน พวกไม่เอาศีลไม่เอาธรรม ตระกูลไม่เกินสามชั่วคน ถ้าเราเป็นผู้ที่มาบวชปลงผมห่มผ้ากาสาวพัสตร์ เราจะได้เป็นพระธรรมเป็นพระวินัย เลื่อนจากที่พากันเป็นสามเณรเป็นภิกษุ จะได้เป็นพระแท้ๆ เป็นพระในใจเป็นพระที่บ้าน ถ้าไม่อย่างนั้น มันจะทำให้เสียหายต่อชาติ ต่อพระศาสนา เสียหายต่อสถาบันกษัตริย์ที่ท่านให้ยศให้ตำแหน่งเป็นพระครู เป็นเจ้าคุณ เป็นเจ้าคณะปกครอง เพราะเราพากันเป็นแต่เพียงภิกษุ ไม่ได้เป็นพระธรรมเป็นพระวินัย การบำเพ็ญตบะคือการเข้าภาคประพฤติภาคปฏิบัติที่มีศีลมีธรรม ความเป็นพระนั้นอยู่กับเราทุกคนที่มีความ เห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เรียกว่าบำเพ็ญตบะ มันเป็นการเผากิเลส เผาสิ่งที่เป็นอวิชชาคือความหลง มันจะได้หมดไปทีละเปลาะๆ ในปัจจุบัน
ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ จะเห็นได้ว่าการที่เรามีตบะเป็นเครื่องแผดเผากิเลสนั้นเป็นการขจัดสิ่งที่เป็นอัปมงคลต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าของชีวิตทั้งของตัวเองและก็ครอบครัว การบำเพ็ญตบะที่จะให้ผลแก่ตัวผู้ปฏิบัติได้เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับคุณธรรมอีกข้อหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องสนับสนุนตบะให้สมบูรณ์ เหตุที่ทำให้ตบะแตกทำให้ไม่บรรลุถึงความดีที่ต้องการได้ ก็เพราะว่าขาดความอดทนนั่นก็คือขันติ
ดังนั้น พระพุทธพจน์ที่ยกขึ้นมาตอนต้นที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ในโอวาท ปาติโมกข์ว่า “ความอดทนอดกลั้นเป็นตบะธรรมเป็นเครื่องแผดเผากิเลสอย่างยอดเยี่ยม” ยอดของตบะนั้นคือความอดทน ถ้าไม่มีความอดทน ไปได้ไม่กี่น้ำ ตบะแตกทุกราย การที่เราจะขับไล่ความชั่วร้ายออกจากตัว เป็นการทำให้ตัวเราสบายขึ้น เหตุใดจึงต้องใช้ขันติและทำไมจึงต้องทน เรื่องนี้ขอให้เราคิดถึงความเจ็บป่วยในร่างกายของเรา การที่เราจะสามารถรักษาโรคในกายของเราให้หายได้นั้น ต้องทำวิธีพิธีกรรมหลายอย่าง ต้องงดของแสลงก็คือต้องงดสิ่งที่เราชอบ ต้องทำในสิ่งที่เราเกลียด เพราะฉะนั้นจึงต้องอดทน อย่างเช่นเราเป็นฝีจะต้องทำการผ่าตัดหัวฝี ฝีมันถึงจะหาย ถึงแม้ว่าจะต้องเจ็บปวดเราก็ต้องยอมทน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้โรคร้ายนั้นมันกลับมาอีก ถ้าเรามัวกลัวต่อความเจ็บปวด กลัวการผ่าตัดแล้ว ก็ไม่มีโอกาสที่จะหายจากโรคนี้ได้เลย นับวันจะทำให้เราได้รับความทรมานมากยิ่งขึ้นหรือบางทีก็อาจจะทำให้เราเกิดอาการเจ็บป่วยอย่างอื่นแทรกซ้อนเข้ามาได้
การที่เราจะละกิเลสก็เหมือนกัน ต้องอาศัยความอดทนอดกลั้นเป็นเครื่องบำเพ็ญตบะ เพราะฉะนั้น มงคลข้อที่ผ่านๆ มาที่กล่าวถึงขันติจึงหนุนทำให้ทำตบะนั้นสมบูรณ์ ไม่ตบะแตก ถ้าเราไม่มีความอดทนเป็นทุนแล้ว ตบะย่อมแตกแน่ๆ มีพระบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรคความว่า “นาญฺญตฺร โพชฺฌา ตปสา นาญฺญตฺร อินฺทฺริยสํวรา. นาญฺญตฺร สพฺพปฏินิสฺสคฺคา โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํ - นอกจากปัญญาเครื่องตรัสรู้ ตบะเครื่องเผาความชั่ว นอกจากความสำรวมอินทรีย์ นอกจากความสละคืนทุกสิ่งทุกอย่าง เรามองไม่เห็นความสวัสดีคือความถึงฝั่งโดยปลอดภัยของเหล่าสัตว์ทั้งหลายได้เลย” จากพระพุทธพจน์ตรงนี้พระพุทธเจ้าจึงหมายถึงว่า การที่เหล่าสัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารจะถึงความสวัสดีก็คือถึงฝั่งแห่งวัฏสงสารได้ นั่นก็คือว่าโพชฌงค์คือองค์แห่งการตรัสรู้นั่นคือตบะ เครื่องเผาความชั่ว และก็อินทรียสังวรการสำรวมอินทรีย์ แล้วก็ปฏินิสสัคคะคือการสลัดคืนทุกสิ่งทุกอย่าง สลัดคืนกิเลส สลัดคืนตัณหา บอกคืนตัณหาจึงเป็นความพ้นไป นั่นคือนิโรธ คือมรรคผลพระนิพพาน
ธรรมดาของมนุษย์ต่างปรารถนาที่จะเป็นคนดี ปรารถนาความสุข เกลียดทุกข์กันทุกคน การที่เราจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยความดีได้อย่างมั่นคงโดยไม่เผลอไปทำความชั่วนั้นจำเป็นต้องมีตบะธรรม เพราะตบะคือคุณธรรมเผาผลาญกิเลสให้เร่าร้อนจนกระทั่งหลุดร่อนออกจากใจ เช่น การให้ การเสียสละเป็นประจำ เป็นการเผาผลาญความโลภให้หมดไป ทำให้ใจของเราขยายกว้างขวางเป็นอิสระจากความตระหนี่ การที่เราหมั่นเจริญเมตตาเป็นนิจทำให้เผาผลาญกิเลสคือตัวโทสะความโกรธออกไป การที่เราหมั่นเจริญวิปัสสนาปัญญาก็จะเป็นเครื่องเผาผลาญกิเลส คือโมหะความโง่งมงายที่มันเป็นม่านปิดบังใจของเราไม่ให้เห็นความถูกต้องออกไปได้ หรือเมื่อเราแผ่เมตตานี่แหละเป็นปกตินิสัย จะมีเดชเผาผลาญความพยาบาทออกไปทำให้ใจเราเย็นใจสบาย การปฏิบัติธรรมนี้ก็จะทำให้เกิดปัญญาเกิดแสงสว่างขจัดความมืดในจิตใจคือโมหะความโง่งมงายความหลงออกไป ใจเราจะสะอาด ใจเราจะสงบ ใจเราจะสว่าง มองเห็นหนทางสวรรค์มรรคผลพระนิพพานได้อย่างชัดเจน
ดังนั้น ทุกท่านทุกคนจึงต้องตั้งใจประพฤติตั้งใจปฏิบัติ บำเพ็ญตบะให้สมบูรณ์ การประพฤติธรรมในข้อนี้ พระพุทธองค์ทรงมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้เราละกิเลสซึ่งเป็นส่วนบาปธรรมให้สิ้นไปจากสันดาน การละกิเลสจึงต้องอาศัยการแผดเผาที่เรียกว่าตบะนี่เองจึงเป็นมงคลอย่างยิ่ง
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ