แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๒๒ การสนทนาธรรมตามกาล สนทนาในธรรม ด้วยธรรมและเพื่อธรรม
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ วันนี้เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ เป็นวันลอยกระทง แล้วก็เป็นวันคล้ายวันเข้าสู่นิพพานของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ที่เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า การบรรยายธรรมในช่วงของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคลในวันนี้ ขึ้นมงคลข้อที่ ๓๐ “กาเลน ธมฺมสากัจฉา” แปลว่าการสนทนาธรรมตามกาล
สมบัติที่ติดตัวมนุษย์ไปได้ทุกหนทุกแห่งโดยไม่ต้องลำบากในการจัดเก็บ หรือดูแลรักษา แม้โจรขโมยก็ลักเอาไปไม่ได้ นั่นก็คือปัญญา เพราะว่าทรัพย์อย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง บ้าน รถ ลาภ ยศ สรรเสริญ คนอื่นฉกชิงวิ่งราว ลักขโมยไปได้ แต่ปัญญานั้นเป็นสมบัติที่ติดตัวไป ปัญญาจึงเป็นทรัพย์อันประเสริฐที่เคียงคู่กาย ทำให้เรามีความองอาจในทุกสถานที่ นักปราชญ์บัณฑิตท่านสรรเสริญผู้มีปัญญาว่า เป็นทรัพย์อันประเสริฐ ล้ำเลิศกว่ารัตนะใดๆ ในโลก “ปญฺญา นรานํ รตนํ - ปัญญาเป็นรัตนะ เป็นแก้วมณีอันล้ำค่าของคนทั้งหลาย”
นี่คือพระพุทธพจน์ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของปัญญา เพราะว่าชีวิตของคนเรานั้นมีปัญหามาก แล้วปัญหาทุกอย่างต้องแก้ด้วยปัญญา ใครมีปัญญามากก็เหมือนกับมีแก้วสารพัดนึกเอาไว้ในตัว ย่อมสามารถฝ่าฟันอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ได้โดยง่าย ผู้มีปัญญาย่อมขวนขวายหาทรัพย์สมบัติได้ หรือหากแม้ตกอยู่ในภาวะวิกฤต ก็สามารถพลิกผันชีวิตให้ประสบความสำเร็จได้ทุกเมื่อ หรือหากแม้อยู่ในความทุกข์ใดๆ ก็สามารถที่จะยกตัวเองให้พ้นจากความทุกข์นั้นได้
คนมีปัญญามักมองเห็นโอกาสในทุกๆปัญหา แต่ผู้ขาดปัญญามักมองเห็นปัญหาในทุกๆ โอกาส แม้จะมีทรัพย์สมบัติอยู่ในครอบครอง ไม่ช้าสมบัตินั้นก็อาจจะวิบัติ นำทุกข์ นำโทษมาสู่ตนเองได้อีกด้วย
พระพุทธองค์จึงทรงสอนว่า ถ้าอยากมีรัตนะมีแก้วมณีอันล้ำค่าติดตัว ก็ให้ขวน ขวายศึกษาหาความรู้ให้มากๆ เพราะความรู้คือคลังสมบัติที่จะนำออกมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ และจะใช้อย่างไรก็ไม่หมด ยิ่งใช้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เหมือนมีดยิ่งลับก็ยิ่งคม
โลกียปัญญาเป็นการศึกษาทางโลก เช่น การศึกษาทางโลก พ่อแม่ก็ต้องเอาใจใส่หาครูดีๆ หาโรงเรียนดีๆ ให้ลูกได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ ส่วนที่เป็นนักศึกษา ชีวิตยังไม่ต้องรับผิดชอบภารกิจการงานมาก ก็ต้องรู้จักทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ว่าเรามีหน้าที่ศึกษาหาความรู้ให้แตกฉานในวิชาการต่างๆ ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยนี้ ส่วนใหญ่มักจะเหลวแหลกตามเพื่อนตามฝูง ติดเหล้าติดยา บางทีก็เรียนไม่จบ มีครอบครัว มีสามีมีภรรยาไปก่อนเพราะว่าขาดตรงนี้ แล้วก็ต้องหมั่นเข้าหาครู สอบถาม คบหาสมาคมกับเพื่อนที่ดี จะได้ช่วยกันประคับประคองกันให้ถึงฝั่ง ไม่มัวเที่ยวเตร่เถลไถล ควรเร่งรีบขวนขวายกันให้เต็มที่ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะได้ไม่ลำบาก
ตอนต้นชอบสบาย จะได้ร้ายเมื่อปลายมือ แต่ถ้าตอนต้นยอมทุกข์ยากยอมลำบาก ก็จะไม่ทุกข์ยากเมื่อตอนปลาย ตอนต้นชอบสบาย จะได้ร้ายเมื่อปลายมือ คำโบราณท่านว่าอย่างนั้น
ปัญญานี่แหละจะเป็นอุปกรณ์สำคัญในการแสวงหาทรัพย์สมบัติทางโลกเพื่อเลี้ยงชีวิตของตนและครอบครัวให้มีความสุขสบาย
ปัญญาเกิดได้จาก ๒ เหตุใหญ่ๆ ก็คือว่า
๑. จากการฟังธรรมของกัลยาณมิตร ผู้มีปัญญารู้จริง
๒. จากการพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคาย
ปัญญาทางโลกเรารู้เราเรียนมามาก ปัญญาทางธรรมเป็นสิ่งที่เราต้องมาเพิ่ม เพิ่มด้วยตนเองด้วยการลงมือประพฤติ ลงมือปฏิบัติ เพราะว่าในพระไตรปิฎก ในคัมภีร์ต่างๆ ก็เป็นเพียงตัวหนังสือ อ่านมากก็จำได้มาก แต่ที่สำคัญต้องลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ จึงจะเป็นปัญญาภายในที่แท้จริง
การแสวงหาความรู้ทางธรรมนี้ จึงต้องหาโอกาสฟังธรรมตามกาล เพราะจะทำให้เราได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ หรือที่รู้แล้วก็จะได้เข้าใจลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป คลายความสงสัยที่ค้างคาใจมานาน เป็นการทำความเห็นให้ถูกต้อง ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อจะได้นำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยเฉพาะคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความรู้อันบริสุทธิ์ เกิดจากใจที่มีความเห็นถูก เข้าใจถูก
“สุสฺสูสํ ลภเตปญฺญํ” แปลว่า ตั้งใจฟังดีๆ ย่อมได้ปัญญา
จิตของผู้ฟังนี้จะผ่องใสเพิ่มพูน
-ทรัพย์คือ ศรัทธา ศีล
-ทรัพย์คือ หิริโอตัปปะ ความละอายชั่วกลัวต่อบาป
-ทรัพย์คือ สุตตะ ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก
-ทรัพย์คือ จาคะ เป็นผู้เสียสละ
-ทรัพย์สุดท้าย คืออริยปัญญา โลกียปัญญา
เจ็อย่างนี้เป็นอริยทรัพย์ที่มันติดตัวเราไปได้ทุกภพทุกชาติ ทำให้ไม่ต้องตกไปในทางเสื่อม โดยเฉพาะเสื่อมจากอบาย เป็นความเสื่อมในอบายภูมิ สิ่งเหล่านี้จะเกื้อ หนุนให้เรามีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เมื่อบุญบารมีเต็มเปี่ยมถึงพร้อม ก็จะทำให้บรรลุมรรคผลพระนิพพานได้ในที่สุด โดยเฉพาะการหาโอกาสสนทนากับบัณฑิต นักปราชญ์ สนทนากับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ สนทนากับผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จะทำให้ความรู้เพิ่มพูนขึ้น คลายความสงสัยในใจ
แต่การสนทนาให้ถูกธรรมถูกวินัยโดยไม่ขัดคอกันนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย คู่สนทนาต้องพูดธรรมะเป็น อย่างน้อยก็ให้ยึดหลักวาจาสุภาษิตไว้ เพราะหากไม่สนทนา ไม่พูดกันอย่างบัณฑิตแล้วล่ะก็ เมื่อขัดใจกันนิดๆ หน่อยๆ ทะเลาะกัน บางทีถึงขนาดไม่มองหน้ากัน เป็นศัตรูกันไป เพราะความขัดแย้งนำไปสู่การทะเลาะวิวาท เพราะเอาทิฐิมานะ อัตตาตัวตน เอาอีโก้ของตัวเองมาตัดสิน แต่หากวิสัยของบัณฑิตจะต้องคุยกันอย่างบัณฑิต ยึดความถูกต้องมากกว่าความถูกใจ
วิธีลัดที่จะทำให้เกิดปัญญาได้อย่างรวดเร็วก็คือ การสนทนาธรรมตามกาล ซึ่งเป็นการบังคับให้ตนเองต้องทั้งฟัง ทั้งพูด ต้องเป็นนักฟังที่ดี ฟังผู้อื่นพูดด้วยความตั้งใจ ฟังแล้วก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองโดยแยบคายตาม สงสัยอะไรก็สามารถซักถามได้
นอกจากนั้น ถ้าตนเองมีความรู้ในเรื่องของธรรมะ ก็นำมาเล่า นำมาพูด นำมาสนทนาให้ผู้อื่นฟังได้ด้วย ทั้งหมดนี้ต้องไปด้วยความระมัดระวัง มิฉะนั้นจะเกิดโทษมากกว่าคุณ โดยเฉพาะมงคลข้อคารโว คือความเคารพ ที่บรรยายไปเมื่อหลายวันก่อน มีข้อหนึ่งที่บอกว่า ธรรมคารวตา มีความเคารพในพระธรรม พูดคุยธรรมะก็ต้องมีความเคารพ
คนโบราณทำไมเวลาแสดงธรรมต้องนั่งบนธรรมาสน์ ธรรมาสน์ก็คืออาสนะแห่งการแสดงธรรม สูงกว่าทุกๆ คนที่นั่ง จะสูงเหนือพื้น เพราะอะไร? เพราะว่าเป็นความเคารพในพระธรรม เพราะพระธรรมไม่ใช่ของเล่น ในมงคลข้อนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงในเรื่องของการสนทนาธรรมตามกาลนี้ ใครปฏิบัติได้ก็เกิดมงคล การสนทนาธรรมของเรานี้เป็นการทดสอบความรู้ความอดทนของผู้ที่ได้ฝึกมาแล้ว เราจะเห็นได้ว่า มงคลต่างๆ ที่ได้ผ่านมานั้น เป็นการเตรียมตัวสำหรับต้อนรับมงคลข้อนี้ กล่าวคือ
ข้อที่ ๗ พหูสูต สอนให้เราหาความรู้ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก
ข้อที่ ๑๐ ให้เป็นผู้มีวาจาสุภาษิต ก็คือสอนให้เรามีวาจาไพเราะ พูดวาจาอ่อน หวาน พูดด้วยเมตตานำหน้า ไม่ใช่เอาโทสะ เอาความโกรธนำหน้า
ข้อที่ ๒๗ สอนให้เรามีความอดทน ก็คือขันติ
ข้อที่ ๒๖ สอนให้เราฟังธรรม ฟังธรรมตามกาล นับว่าเป็นการฝึกตัวเราเองตาม ลำดับ พัฒนามาเรื่อยๆ เป็นการเปลี่ยนฐานจิตฐานใจ เปลี่ยนแปลงตัวเองให้ชีวิตนั้นเป็นมงคล
ทีนี้ ในข้อนี้ เป็นการทดสอบความรู้ของเราที่ได้ฝึกมาว่าฝึกได้มากแค่ไหน
การสนทนาธรรมนั้นย่อมเป็นที่กระทบกระทั่งกันบ้าง บางทีถูกขัด บางทีถูกแขวะ บางทีถูกค้าน ถูกติ ถูกชมซึ่งๆหน้า นี่แหละ เป็นการยั่วกิเลสของเราอย่างชัดๆ ดังนั้น ผู้สนทนาธรรม จึงต้องควบคุมใจตัวเองให้มาก มากกว่าการพูด การฟังมาแล้วสักสิบเท่า เผลอไม่ได้เลยทีเดียว เพราะว่ากิเลสมันจะออกมายุ่งกันนุงนังทีเดียว เห็นกันมามากต่อมาก ขึ้นต้นคุยธรรมะกันได้ไม่กี่น้ำ กิเลสมันก็ออกมายุ่งกับเรา ยั่ว สุดท้ายเถียงกัน ทะเลาะกัน ด่ากัน
ธรรมชาติสร้างร่างกายของเรามานี้ ให้มีตาสองข้าง ให้มีหูสองข้าง ให้มีจมูก ๒ ปาก ๑ ตามีหน้าที่ดู หูมีหน้าที่ฟัง จมูกมีหน้าที่ดมกลิ่น แต่ทำไมมันมีคู่ ทำไมมันมีสองๆสองข้างหมดเลย
ปากมันมีตั้งสองหน้าที่ มีหน้าที่กิน มีหน้าที่พูด แต่ทำไมมีปากเดียว ธรรมชาติสอนมา เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติว่า ดูให้มาก ฟังให้มาก พูดให้น้อย แต่คนส่วนใหญ่ทำตรงกันข้าม พูดมาก ปากมาก ปากไว ฟังน้อย ดูน้อย สุดท้ายทะเลาะกัน จบกัน
การสนทนาธรรมหรือที่เรียกกันง่ายๆ ก็คือคุยธรรมะ ดูเผินๆ ก็ไม่น่ายากอะไร เหมือนกับคนมานั่งคุยกันตามธรรมดานั่นแหละ เราก็คุยกันออกจะบ่อย ในวงเหล้าก็คุย วงไพ่ก็คุย วงโน่นวงนี่ก็คุยกัน แต่ว่าอันนั้นเป็นคุยเรื่องโลกๆ เรื่องวัฏสงสาร แต่ทีนี้ เรื่องที่เป็นเรื่องธรรมะนี้ ความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่เห็นว่ามันไม่สำคัญ ดูเบา ก็จะพูดคุยกันได้ไม่นาน ก็จะมักจะมีเรื่องแตกวงกันบ่อยๆ เถียง เถียงกัน แล้วก็หาข้อสรุปไม่ได้ ไม่รู้จักควบคุมอารมณ์เวลาความโกรธพุ่งขึ้นมา
ความยากในการสนทนาธรรมนั้นเป็นเพราะ
๑. คู่สนทนาธรรม ต้องพูดธรรมะเป็น คือเมื่อเข้าใจอย่างไรแล้ว ก็สามารถถ่ายทอดเป็นคำพูดให้เขาเข้าใจตามนั้นได้ด้วย โดยยึดหลักการพูดในมงคลข้อที่ ๑๐ ก็คือว่า
-ให้มีวาจาสุภาษิต พูดดี พูดไพเราะเป็นบรรทัดฐาน จะไม่ได้เกิดการแตกร้าว เข้าใจผิดกับผู้ฟัง คือ เรื่องที่พูดต้องเป็นเรื่องจริง
-แล้วก็ต้องพูดด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ
-เรื่องที่พูดนั้นเป็นเรื่องมีประโยชน์
-แล้วก็ต้องพูดด้วยจิตที่มีเมตตานำหน้า
-แล้วก็สุดท้าย ต้องรู้จักพูดให้ถูกเวลา ถูกสถานที่ คือกาลเทศะนั่นเอง
แล้วเรื่องที่คุยกันในวงธรรมะ วงผู้ปฏิบัติธรรมด้วยแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงเรื่อง กถาวัตถุ ๑๐ นี้ เรื่องที่ควรพูดกัน
“ภิกษุทั้งหลาย กถาวัตถุ ๑๐ ประการนี้คือการสนทนา ปรารภเรื่องความเป็นผู้มักน้อย ความสันโดษ ยินดีในความวิเวก การไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ การพูดคุยกันในเรื่องของการทำความเพียร สนทนาในเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ในเรื่องความหลุดพ้น ในเรื่องปัญญาให้ถึงความหลุดพ้น ภิกษุทั้งหลาย หากว่าเธอทั้งหลายยึดถือเอากถาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้แล้ว สนทนากันอยู่เป็นประจำ เธอทั้งหลายพึงครอบงำเดช กำลังแม้ของพระจันทร์ แม้ของพระอาทิตย์ หรือว่าผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ได้”
เอาง่ายๆ คือถ้าพูดกันในธรรมในวินัยแล้ว จะควบคุมกิเลสทั้งหลายทั้งมวลได้ เดรัจฉานกถาก็คือการพูดเรื่องที่มันขัดขวางต่อการเป็นผู้พัฒนาปัญญา เรื่องโลกๆ ทั้ง หมด เรื่องธุรกิจหน้าที่การงาน เรื่องบ้าน เรื่องการเมือง เรื่องสารพัดอย่างที่ไม่ถูกต้องสำหรับนักบวช พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นเดรัจฉานกถาทั้งหมด แล้วให้พูดคุยกันเรื่องกถาวัตถุนี้ จึงจะเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น เพื่อการน้อมเอนไปสู่พระนิพพาน
การพูดธรรมะนั้นจะต้องยึดเอาความถูกต้องเป็นหลัก ไม่ใช่เอาความถูกใจของคนส่วนมากเป็นหลัก เพราะส่วนใหญ่คนเราในปัจจุบันนี้มักจะเอาความถูกใจของคนส่วน มากในโลกตัดสินแล้วบอกว่าเป็นความถูกต้อง จบกัน อันไหนที่มันเรตติ้งพุ่งสูง เรตติ้งดีๆ แล้วก็ตัดสินว่ามันถูกต้อง อันนี้เป็นความคิดของคนมีปัญญาน้อย
คนมีปัญญามากต้องเข้าใจว่า อย่าให้ความถูกใจเหนือความถูกต้อง ถ้าความถูกใจเหนือความถูกต้องเมื่อไหร่ ธรรมวินัยก็หมด ศาสนาก็พัง เสื่อม เพราะเอาความถูกใจเหนือความถูกต้อง เพราะความถูกใจของคนนี้ ชอบอะไรที่มันไหลไปตามกิเลส คำพูดที่มันถูกอกถูกใจ ติดตลกโปกฮา พูดแล้วไม่ค่อยมีสาระ แต่ขอให้สนุกไว้ก่อนอย่างนี้ อันนั้นคือความถูกใจเหนือความถูกต้อง ไม่ถูกธรรมวินัย
พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้เอาความถูกใจตัดสินความถูกต้อง ธรรมวินัยต้องมาก่อน ความถูกใจเอาไว้ทีหลัง เพราะเป็นความถูกใจของปุถุชนผู้ที่ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลส ทำตามใจ ทำตามอารมณ์ ทำความรู้สึก แต่ว่าสนทนาธรรมกันแล้ว บางคนก็ยังติดอกติดใจ มัวไปนั่งชมกันอยู่อย่างเดียวนี้ คุณก็เก่ง ฉันก็เก่ง เดี๋ยวก็ได้บ้ากันทั้งคู่ แต่ก็ไม่ใช่มานั่งติอยู่อย่างเดียว อันนั้นก็ไม่ดี อันนี้ก็ไม่ดี คนเรายังไม่หมดกิเลส เดี๋ยวก็ทนกันไม่ได้ แตกหักกันมากมายด้วยคำพูดนี้แหละ
คนโบราณจึงสอนว่า “อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา” เพราะมันแตกหักกันมามากต่อมากก็เพราะว่าคำพูด ยิ่งถ้าแถมมีการยกตนข่มท่านเข้าไปอีก หรือไม่ก็ยกสำนัก ยกอาจารย์มาอวดมาอ้างกัน ถ้าเราไม่เก่ง อาจารย์เราก็เก่ง เอามาเบ่ง เอามาข่ม เอามาขู่กัน อะไรทำนองนี้ เดี๋ยวก็จะผูกใจเจ็บกัน สนทนาธรรมกันไปได้ ๒-๓ คำ ก็จะกลายเป็นสนทนากรรมไป จากสนทนาธรรมจะเป็นสนทนากรรม เป็นวจีกรรม สร้างวจีกรรมต่อกัน จะต้องมีความพอเหมาะพอดี รู้จักใช้วาจาสุภาษิตให้มาก จึงจะมาเกื้อหนุนกัน
๒. คู่สนทนาธรรมต้องฟังธรรมเป็น ต้องฟังธรรมะให้เป็น การฟังธรรมดูเผินๆ ก็เหมือนจะง่าย ถึงเวลาก็แค่ไปนั่งฟัง ไม่เห็นจะมีอะไร บางทีก็นั่งหลับ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การฟังธรรมะที่ถูกต้องคือฟังด้วยความพิจารณา รู้จักควบคุมใจให้พิจารณาตามธรรมะ หยิบยกเอาประโยชน์จากการฟังนั้น มันยาก ยากกว่าการพูดธรรมะให้คนอื่นฟังหลายเท่า ที่ว่ายากนั้นก็เพราะว่ายากที่จะควบคุมใจให้อยากฟังธรรม เพราะการฟังธรรมะนั้นไม่สนุก มันไม่สนุกเหมือนกับการไปดูหนังฟังเพลง ไปฟังละคร ละครตบกันตีกัน ซีรี่ย์ Netflix อะไรพวกนี้ ฟังเพลง ถ้าไม่รู้จักควบคุมตัวเองแล้วนี้ ฟังไปได้สักนิด หนังตามันก็เริ่มจะหนัก พานจะหลับเอา หรือไม่อย่างนั้นก็นั่งใจลอย คิดแต่ไปถึงเรื่องอื่น
มีผู้เปรียบว่า การควบคุมใจให้อยากฟังธรรมะนั้น ยากกว่าคุมลิงให้มันนั่งนิ่งๆ เสียอีก เพราะจิตมันวิ่งพล่าน ฟุ้งซ่านส่งออกไปทั่ว เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ” การฟังพระสัทธรรมมันยากพอๆ กับการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า เพราะอะไร? เพราะมันไม่อยากฟัง มันขัดใจ มันไม่ได้ดั่งใจ มันไม่ตลก ถ้าอยากฟังตลก โยมไปเปิดดูตลกใน Youtube ก็ได้ ธรรมะไม่มีตลก
ตรงท่อนหนึ่งของพระพุทธเจ้า บอกว่า “ธัมมะปะหังสะนา” ร่าเริงในธรรม ร่าเริงตรงนี้ไม่ใช่ว่าหัวเราะ ร่าเริงหมายถึงว่าให้จิตร่าเริง อาจหาญ ยินดี ไม่ใช่พูดไปหัวเราะไป แบบนั้นมันคือตลก ไม่ใช่ธรรมะ ต้องเข้าใจ ต้องแยกให้ออกแบบผู้มีปัญญา สัมมาทิฏฐิมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง
เพราะฉะนั้น มันเลยยากที่จะควบคุมใจให้อยากฟังธรรม เพราะไม่อยากฟัง ยากที่จะยอมรับธรรมะที่ได้ยินนั้นเข้าไปสู่ใจ ทั้งนี้ก็เพราะว่ากิเลสต่างๆ ในตัวเรา เช่น ความหัวดื้อ ความถือตัว ความเห็นผิด เป็นต้น มันคอยต่อต้านธรรมะเอาไว้ พอเรื่องธรรมะที่ได้ฟังนี้ ขัดกับความเคยชินประจำตัว ก็เริ่มไม่อยากฟังแล้ว เช่น พูดเรื่องอบายมุข กินเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน ขี้เกียจขี้คร้าน บางคนส่ายหน้า เพราะทำเป็นชีวิตจิตใจ ทำเป็นชีวิตประจำวัน มาสอนทำไม มาพูดทำไมเรื่องนี้ ก็ทำเป็นปกติอยู่แล้ว กินเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน มันไม่เห็นเสื่อมเลย เพราะมองตอนนี้ยังไม่เห็น แต่มันเสื่อมในอนาคต
อย่างเช่นว่า ฟังว่าต้องมีวินัยในการขับขี่ตามกฎจราจรพวกนี้ ฟังแล้วก็เริ่มขัดใจ เพราะมันขัดกับความเคยชินของตัวเอง ขัดกับกิเลสในตัว เลยไม่ค่อยจะยอมรับ เพราะมันนึกค้านในใจ ผู้ที่จะฟังธรรมะเป็นนั้นจะต้องหมั่นฟังธรรมบ่อยๆ จนเคยชิน ฝึกเป็นคนมีความเคารพในพระธรรม มองคนอื่นในแง่ดี มีความอ่อนน้อมถ่อมตัว ไม่ถือตัว มีความสันโดษ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม รู้จักพอ รู้จักประมาณ มีความกตัญญูรู้อุปการคุณที่ท่านทำแล้วแก่ตน จะทำให้มีอัธยาศัยใฝ่ฟังธรรม สามารถรองรับธรรมะที่ได้ยินได้ฟังนั้นได้
จะเห็นได้ว่า มงคลข้อผ่านๆ มานี้ มันเกื้อหนุนกัน เป็นการพัฒนาจากระดับพื้นฐาน พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ยกจิตยกใจ แล้วข้อสุดท้ายแห่งมงคล จะเป็นเรื่องการปฏิบัติสู่มรรคผลพระนิพพาน
๓. คู่สนทนาต้องสนทนาธรรมะเป็น คือต้องฟังด้วย พูดด้วย ในเวลาเดียวกัน เขาพูดเราฟัง เราพูดเขาฟัง บางอย่างเราไม่อยากจะฟัง แต่เมื่อเขาพูดเราจำเป็นต้องฟัง บางอย่างเราอยากจะพูด แต่ไม่มีจังหวะที่จะพูด ก็จำต้องระงับใจไว้ไม่ให้พูด เมื่อตอนสอนคนอื่นเขา ไม่มีใครค้านสักคำ พอนั่งฟังหน่อย ยอมเราหมด แต่ตอนสนทนาธรรม เราจะต้องลดตัวลงมาอยู่ในฐานะเป็นทั้งคนพูด เป็นทั้งคนฟัง จะเป็นคนพูดอย่างเดียวไม่อยากฟังไม่ได้ ถ้าพูดถูกเขาก็ชม พูดผิดเขาก็ค้าน อาจจะถูกติ ถูกขัด ถูกแขวะ ถูกชม ถูกค้านได้ตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้แหละที่มันยั่วกิเลสนักหนา ถ้าไม่ควบคุมใจให้ดี กิเลสมันก็จะคอยออกมาจุ้นจ้านให้ได้
ขึ้นต้น คนกับคน..คุยธรรมะกันนี้..ไปได้ไม่กี่น้ำ กิเลสมันก็จะออกมาโต้กันยุ่งไปหมด ผู้ที่จะสนทนาธรรมได้จึงต้องฝึกขันติ มงคลข้อที่ผ่านมานี้ต้องฝึกขันติให้มีความอดทนอดกลั้น จนมีความอดทนต่อการถูกติ อดทนต่อการถูกนินทาต่อหน้า ต้องอดทนให้ได้เป็นเลิศ ทนคำพูดที่ไม่ชอบใจได้ ทั้งจากคนที่สูงกว่าและคนที่ต่ำต้อยด้อยค่ากว่าตัวเอง มีความว่าง่ายสอนง่ายอยู่ในตัว และต้องเลือกคู่สนทนาเป็น คือต้องเป็นคนประเภทสมณะ ใฝ่สงบด้วยกัน
มีผู้อุปมาไว้ว่า การพูดธรรมะให้คนอื่นฟังก็เหมือนกับการชกลม ชกจนหมดแรง เราก็ไม่เจ็บสักนิด ลมมันแพ้เราทุกที ทีนี้ การฟังธรรมที่คนอื่นพูด เหมือนการชกกระสอบทราย คือชกไปก็รู้สึกเจ็บมือมาบ้าง ฟังเขาพูดก็เหมือนกัน ใจเราสั่นสะเทือน
บางทีธรรมะมันถึงพริกถึงขิง ถึงอกถึงใจ ใจมันสั่นสะเทือน แต่การสนทนาธรรมนั้น เหมือนการขึ้นชกบนเวทีจริงๆ เราชก เขาชก เราชกเขา เขาชกเรา ชกกันไป ชกกันมา ถูกล่อ ถูกหลอก ถูกกวนใจตลอดเวลา ถ้าไม่ระวังให้ดี อาจจะทนไม่ได้ โกรธขึ้นมา ตนเองจะกลายเป็นผู้ที่ถูกน็อค ถูกอะไรน็อค? กิเลสน็อค ทำให้กลายเป็นคนแสดงอารมณ์โกรธออกมา แสดงอาการความเป็นคนพาล ที่มีเชื้อพาลอยู่ในใจออกมาให้เห็น
การสนทนาธรรมในครอบครัว ตั้งแต่ครั้งโบราณกาลมาแล้ว ครอบครัวไทยนี้ก็มีการสนทนาธรรมอยู่เป็นประจำ เช่น กลางวันพ่อแม่ออกไปทำงานนอกบ้าน ทำเกษตร ทำธุรกิจหน้าที่การงาน ผู้เฒ่าปู่ย่าตายายอยู่บ้านก็ทำงานบ้าน สานกระบุง สานตะกร้าไปบ้าง ปลูกต้นไม้ ดูแลต้นไม้ในบ้าง ทำงานอื่นๆ บ้าง เด็กๆ ก็วิ่งเล่นกันอยู่ใกล้ๆ สักพัก ปู่ย่าตายายก็จะเรียกมาล้อมวงเล่านิทานให้ฟัง ซึ่งนิทานส่วนใหญ่ที่ปู่ย่าตายายเล่าให้ฟังก็ไม่พ้นนิทานธรรมะ ก็คือนิทานชาดก นิทานอีสป
นิทานอีสป นิทานชาดกนี้คล้ายๆ กัน สอดแทรกธรรมะไปในตัว บางทีก็เป็นเรื่องของคนโบราณ คนเฒ่าคนแก่ที่สอดแทรกธรรมะเข้าไป เด็กๆ ฟังแล้วสงสัยสิ่งใด ก็ซักถามกัน ทำบ่อยๆ เข้า เด็กก็ซึมซาบธรรมะไปในตัว หรือพอตกเย็นตอนรับประทานอาหารก็อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา รับประทานข้าวเสร็จแล้ว พ่อแม่ก็หยิบยกเรื่องโน้นเรื่องนี้ มาสอนลูก ยกธรรมะมาคุยกัน เล่าให้ลูกฟัง เป็นการสนทนาธรรมกันในครอบครัว เป็นครอบครัวที่อบอุ่น ขณะเดียวกันก็คอยสังเกตลูกๆ ด้วยว่า เพราะโดยธรรมชาติของเด็กเองนี้ ก็พอจะทราบอยู่บ้างว่าอะไรถูก อะไรผิด เป็นผู้รู้เดียงสามาบ้าง ถ้าในวันนั้นเขาไปทำอะไรผิดมา จะมีพิรุธอยู่ในตัว พ่อแม่จะสังเกตเห็นก็จะได้ตักเตือนสั่งสอนกัน แต่ถ้าเด็กทำผิดถึง ๓ ครั้ง แล้วยังจับไม่ได้ ก็จะไม่มีพิรุธให้เห็นอีก เพราะเด็กจะเกิดความเคยชิน และถึงจะจับได้ในภายหลังก็แก้ยาก เพราะจากความเคยชินมันเป็นนิสัยไปแล้ว
ปัจจุบันนี้ โอกาสที่จะสนทนาธรรมกันในครอบครัวมีน้อยลง ส่วนใหญ่พอตกเย็น หลังจากรับประทานอาหารแล้ว พ่อแม่ลูกก็ล้อมวงกันดูทีวี ดูหนัง ดูละครหลังข่าว แต่ปัจจุบัน....โทรศัพท์..เครื่องใครเครื่องมัน อยู่ที่มุมส่วนตัว โลกส่วนตัวสูง ไม่คุยกัน บางทีนั่งอยู่ที่วงข้าว นั่งเงียบเหมือนกับกินไปภาวนาไป กินไปเล่นโทรศัพท์ไป ไม่ได้คุยกัน ไม่ได้สนทนากัน บ้านอยู่ ๔-๕ คน ก็เงียบเหมือนไม่มีคนอยู่ เพราะอะไร? มัวแต่เล่นโทรศัพท์ สุดท้าย ไม่ได้สอนธรรมะให้แก่ลูก เอาโทรศัพท์ เอาอุปกรณ์เทคโนโลยีเลี้ยงลูก ไม่ได้มีโอกาสพูดคุยธรรมะกัน ซึ่งอันนี้เป็นข้อบกพร่องอย่างมากในปัจจุบัน จะทำให้พลาดไป
ถ้าพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกได้ดี ให้ลูกเป็นลูกที่ประเสริฐ เป็นอภิชาตบุตร นำชื่อเสียง นำความดีความเจริญมาสู่วงศ์ตระกูล อยากให้ครอบครัวร่มเย็น อย่ามองข้ามเรื่องนี้ไปเด็ดขาด ให้รื้อฟื้นการสนทนาธรรมในครอบครัวขึ้นมาให้ได้ ถ้าเป็นประเภทอาหารเย็นพ่อไปงานเลี้ยงที่หนึ่ง แม่ก็ไปธุระอีกที่หนึ่ง ให้ลูกๆ รับประทานอาหารกันเอง อยู่กับพี่เลี้ยง อยู่กับคนใช้ นั่นพลาดแล้ว
ควรจัดเวลาให้ทุกคนในครอบครัวได้อยู่ร่วมกัน มีกิจกรรมร่วมกัน ได้สวดมนต์ นั่งสมาธิ สนทนาธรรมกันเป็นประจำบ้าง ให้เวลากับครอบครัว..สัปดาห์ละวันสองวัน สามวันก็ยิ่งดี พ่อแม่ที่มัวแต่คิดจะหาเงินให้ลูก แต่ลืมนึกถึงการปลูกฝังธรรมะให้แก่ลูกตั้งแต่ยังเด็ก โอกาสที่ลูกจะเสียคนนั้นมาก เพราะลูกไม่อบอุ่น ไปมีความสุขอยู่แต่กับเพื่อน ติดเพื่อน ตามเพื่อน ก็เลยมีปัญหายาเสพติด มีปัญหาที่สอนลูกไม่ฟัง สุดท้ายก็คือ ไปหาทางออกด้วยอบายมุข แบบที่เป็นกันอยู่มากในปัจจุบัน เพราะขาดตรงนี้
หลักในการเลือกคู่สนทนาธรรมมีอยู่ ๒ ประการคือ
๑. คู่สนทนาต้องมีอัธยาศัย ใฝ่ธรรมและสงบเสงี่ยมเยี่ยงสมณะ แม้เป็นฆราวาส ก็เป็นคนรักสงบ ไม่เป็นคนชอบอวดภูมิ ไม่ชอบโม้ บางคนเรียนธรรมะมามาก ขี้คุยๆ ขี้โม้มาก คือเรียนแล้วไม่ได้ปฏิบัติ สมมุติบางทีเรียนธรรมะมาก แต่ไม่ได้เรียนเรื่องจิต เรื่องใจ เมาธรรมะ เอามาถก เอามาเถียง เอามาวิเคราะห์วิจารณ์ จากธรรมะที่เป็นข้อดีๆ ในการลงมือประพฤติ ลงมือปฏิบัติ กลายเป็นปรัชญา เพราะเอามาถกเถียงกัน เหมือนนักปราชญ์กรุงเอเธนส์ เหมือนนักปราชญ์กรีกโรมันที่เป็นนักโต้วาที สมัยเดียวกับพระพุทธเจ้า ถ้าเขาโต้วาที ปรัชญาทำให้เขาบรรลุได้ นักปราชญ์สมัยนั้นคงจะเป็นพระอรหันต์ประจำกรีกโรมัน เป็นพระอรหันต์ประจำกรุงเอเธนส์ไปแล้ว แต่ทำไมยังเป็นเพียงแค่ปรัชญา เพราะว่าคิด คิดแล้วเอามาถก เอามาเถียง เอามาขบ เอามาตรึก เอามาตรอง เอามาตรรกะ เอามาเป็นตรรกศาสตร์แค่นั้นเอง เพราะขาดการลงมือทำ ลงมือประพฤติ ลงมือปฏิบัติ แต่ธรรมะของพระพุทธเจ้า ลงมือทำ อย่าพูดมาก ให้ลงมือทำ ลงมือประพฤติ ลงมือปฏิบัติ จึงจะได้เกิดผล
๒. เรื่องที่สนทนาต้องเหมาะกับบุคคลนั้นๆ เช่น คุยเรื่องพระวินัยกับผู้เชี่ยวชาญพระวินัย คุยเรื่องธรรมะกับผู้เชี่ยวชาญธรรมะ สนทนาสมาธิ ก็เลือกผู้ที่สนผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องสมาธิเป็นต้นจึงจะเกิดประโยชน์ ดังนั้น การสนทนาธรรมจึงจะต้องตั้งหลักเกณฑ์ ไว้ในใจของเราเลย จะต้องยึดหลัก ๓ ประการ คือ
ก. สนทนาในธรรม
ข. สนทนาด้วยธรรม
ค. สนทนาเพื่อธรรม
สนทนาในธรรม หมายความว่า เรื่องที่จะสนทนากันนี้ต้องเป็นเรื่องธรรมะ ให้อยู่ในวงธรรมะ อย่าออกนอกวง ถึงกิเลสมันจะผลักหลังให้ออก ก็ฝืน ฝืนไว้ อย่ายอมออก เช่น ถ้าจะพูดถึงการทำดี ก็ให้มันสุดที่ทำดี อย่าให้ไปถึงอวดดี
พูดถึงเรื่องทำชั่ว ก็สุดแค่ทำชั่ว อย่าให้เลยไปถึงนินทาคนอื่น คนนั้นก็เลวอย่างนี้ คนนี้ก็ชั่วอย่างนั้น คนนั้นขาดตกบกพร่อง นินทาคนอื่น อย่างนี้ไม่เป็นการสนทนาธรรม อย่าออกนอกวง จึงจะเป็นการสนทนาในธรรม
สนทนาด้วยธรรม หมายถึง บุคคลที่สนทนากันจะต้องไม่แสดงกิริยาวาจาให้ผิดธรรมะ เช่น ทางกายก็มีสัมมาคารวะกันตามฐานานุรูป ควรไหว้บุคคลที่ควรไหว้ควรกราบ อย่าไปคิดทรนงตัวว่ามีความรู้มากกว่า ในทางวาจาควรใช้ถ้อยคำสุภาพ ถ้าฝ่ายหนึ่งถูกชม ถ้าฝ่ายหนึ่งผิด ก็ต้องทักโดยสุภาพ ไม่กล่าววาจาล่วงเกินเหน็บแนม ถ้าพลาดพลั้งก็ขอโทษ อย่างนี้เรียกว่า สนทนาด้วยธรรม ไม่ใช่สนทนาด้วยกิเลส
สนทนาเพื่อธรรม คือ ผู้สนทนาต้องตั้งจุดมุ่งหมายไว้ในใจเสมอว่า เราจะหาความรู้ความเข้าใจในธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ใช่จะอวดรู้ หรือว่าอวดธรรมะ การสนทนาธรรมนั้น เราต้องคิดอยู่ในใจเสมอว่า การที่เราแสดงความรู้ออกไป ก็คิดว่าเราเอาความรู้เก่าไปต่อความรู้ใหม่ ไม่ใช่คิดจะอวดรู้ อย่างนี้เป็นการสนทนาเพื่อธรรมะ
สำคัญมากเลยนะ สนทนาในธรรม สนทนาด้วยธรรม และสนทนาเพื่อธรรม
เมื่อตั้งหัวข้อสนทนาไว้ในใจ แล้วก็รักษาระเบียบการสนทนาไว้ได้โดยตลอดแล้ว การสนทนาธรรมก็จะเป็นไปโดยราบรื่น และเป็นการสนทนาเพื่อความรู้ เพื่อความเข้าใจ สนทนาในธรรม สนทนาด้วยธรรม สนทนาเพื่อธรรมทั้งสองฝ่าย การสนทนาธรรมจึงจะเป็นมงคลอย่างยิ่ง
อีกประการหนึ่ง การสนทนาธรรมที่ดีนั้น เราจะต้องรู้เรื่องบัญญัติโลก บัญญัติธรรมด้วย จึงจะเป็นการทนต่อการสนทนาธรรมได้โดยสะดวก ที่เราไม่ค่อยจะเข้าถึงธรรมก็เพราะว่ายังติดอยู่ในเรื่องของโลก
ติดรูป อย่างไรติดรูป? จะต้องคนนั้นพูด คนนี้พูด จึงจะฟัง ถ้าเด็กกว่าพูด อายุน้อยกว่าพูด ไม่ยอมเอาใจใส่ ต้องผู้ใหญ่คราวพ่อคราวปู่จึงจะยอมฟัง บางคนเป็นอย่างนั้น บางคนต้องหลวงปู่ หลวงพ่อ หลวงทวดแสดง ถึงจะฟัง พระหนุ่มๆ ไม่ฟัง รุ่นลูก รุ่นหลาน เป็นการดูถูก อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง อย่าไปดูถูกของ ๔ อย่าง
กองไฟเล็กๆ อย่าไปดูถูกนะ ไม้ขีดก้านเดียวก็เผาบ้านเผาเมืองได้
งูตัวเล็กๆ อย่าไปดูถูก พอมันกัด มันฉกขึ้นมา ตายเหมือนกัน
พระราชาเด็กๆ พระราชาหนุ่มๆ อย่าไปดูถูก พอครองราชย์ไปนาน ท่านมีอำนาจมาก ท่านก็ให้คุณให้โทษได้
สมณะหนุ่มๆ น้อยๆ ก็อย่าไปดูถูก เพราะท่านมีคุณธรรมภายใน
อย่างสมัยพุทธกาลนี้ สามเณร ๗ ขวบบรรลุเป็นพระอรหันต์ก็มีหลายรูปด้วยกัน อย่าไปดูถูก พระพุทธเจ้าตรัสรู้ตอนพระชนมายุ ๓๕ หนุ่มมากในสมัยนั้น ในการประกาศพระศาสนา ในการที่จะเอาคนที่หัวแข็งอยู่ อย่างเช่น อุรุเวลกัสสปะนี้ เป็นคณาจารย์เจ้าลัทธิ อายุรุ่นราวคราวบิดา หัวแข็งทั้งนั้น แต่พระองค์เอาอยู่ เอาอยู่ด้วยอะไร? ด้วยคุณธรรมภายใน เราอย่าไปติดข้างนอก อย่าไปติดว่าต้องแก่ แต่ให้ติดในธรรมะ แสดงถูกธรรม แสดงถูกพระวินัย ออกจากใจ ออกจากพระนิพพานเป็นสิ่งที่ถูกต้อง บางคนติดรั้ว ติดกำแพง อย่างไร? ชอบเจ้าอาวาสวัดนี้ เกลียดเจ้าอาวาสวัดนั้น ไม่ยอมฟัง
เหล่านี้เป็นเรื่องของการติดอยู่ในบัญญัติของโลกเท่านั้น บางทีติดในนิกาย ต้องฟังวัดป่า ไม่ฟังวัดบ้าน บางทีต้องฟังวัดบ้าน ไม่ฟังวัดป่า บางทีต้องฟังนิกายนี้ ไม่ฟังนิกายนั้น เป็นการเป็นการติดรั้ว ติดในกำแพง ติดในค่าย หลวงพ่อใหญ่ก็พูดเสมอเลยว่า ธรรมยุต มหานิกาย วัดบ้าน วัดป่า เหมือนนักมวย ๒ ค่าย ถ้าใครประพฤติใครปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ หลุดพ้นพอๆ กัน
การบวชก็ไม่จำเป็นต้องถูกมคธ ไม่ถูกมคธ ถ้าตามมรรคมีองค์ ๘ ก็บรรลุได้พอๆ กัน ไม่เกี่ยวกับสีผ้า ไม่เกี่ยวกับบวชถูกไม่ถูก หรือไม่ถูกมคธ ไม่เกี่ยวกับวัดบ้านวัดป่า เพราะสิ่งเหล่านั้นมันเป็นเพียงสมมุติ ของจริงๆ คือพุทธะ พระพุทธเจ้าเท่านั้น อย่าไปติดที่เปลือก อย่าไปติดที่กระพี้ ถ้าติดเพียงแค่เรื่องนิกาย เพียงแค่เรื่องสีผ้า เพียงแค่เรื่องวัดบ้านวัดป่าแล้ว ยังติดแต่เปลือก ไม่เข้าถึงแก่นได้เลย เหล่านี้ มันเป็นเรื่องของการติดอยู่ในบัญญัติของโลกเท่านั้น ของเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของธรรมะ เป็นแต่เพียงเครื่องช่วยในการพูด การฟังธรรมะเท่านั้น
ทีนี้ อุปสรรคของการที่จะทำไม่ให้เข้าถึงธรรมก็คือว่า ความติดโลกนี่เอง ด้วยเหตุนี้ ในหลักของโพชฌงค์ องค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ประการ องค์ประกอบที่จะทำให้เราถึงธรรมะ พระพุทธองค์จึงทรงวางหลักไว้ข้อหนึ่งว่า ธัมมวิจยะ ก็คือธรรมวิจัย คือการวิจัยธรรม เลือกเฟ้นธรรม หมายความว่า ผู้นั้นจะต้องปฏิบัติข้อนี้ด้วยจึงจะบรรลุธรรม การวิจัยธรรม การเลือกเฟ้นธรรมนั้นมีอยู่หลายชั้น แล้วแต่ผู้ปฏิบัติอยู่ในภูมิไหน เช่น การวิจัยธรรมของคนชั้นสามัญทั่วไป จะต้องสามารถที่จะแยกให้รู้ว่า อย่างไหนเป็นธรรม อย่าง ไหนเป็นอธรรม อย่างไหนเป็นบุญ อย่างไหนเป็นบาป แล้วให้ยึดเอาเฉพาะในส่วนที่เป็นธรรม ทิ้งส่วนที่เป็นอธรรมเสีย และจะต้องรู้สูงขึ้นไปว่า อย่างไหนเป็นโลกๆ อย่างไหนเป็นสัจธรรม แล้วปล่อยวางบัญญัติโลก ยึดเฉพาะสัจธรรมความจริง ด้วยปัญญาวิปัสสนาที่มุ่งไปสู่ไตรลักษณ์ ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงจะบรรลุจุดหมายของการสนทนาธรรมได้
การฟังธรรมและการสนทนาธรรมตามกาลถือว่าเป็นอุดมมงคล เป็นมงคลอันสูง สุดเพราะเป็นทางมาแห่งปัญญาอันบริสุทธิ์ที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง
เมื่อวานได้อธิบายถึงในเรื่องของการได้พบเห็นสมณะ เราได้พบ ได้เห็นสมณะ เมื่อได้พบ ได้เห็นแล้ว เราก็ต้องได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ได้สนทนาในสิ่งที่เรามีความลังเลสงสัย เราถึงจะได้ความรู้ไปประพฤติไปปฏิบัติ เป็นการบำเพ็ญตบะในมงคลข้อต่อไป
เหมือนที่ได้กล่าวไว้วันก่อนนี้ การที่เราจะเอาลูกเอาหลานไปบวช ก็จะต้องคิดดูดีๆ เพราะชีวิตของเรานี้ มันอยู่ที่สิ่งแวดล้อม อยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เราเกี่ยวข้อง เหมือน กับเราไปเรียนหนังสือก็ต้องมีคุณครูดี ถ้าคุณครูไม่ดี คุณครูไม่เก่ง ไม่ฉลาด รอบรู้เหตุผลตามหลักวิชาการ แล้วครูก็ประพฤติไม่ดี อย่างนี้ มันก็ทำให้ลูกหลานเราไม่ได้รับความรู้ที่ดี ได้รับความรู้ไม่ถูกต้อง ทำให้เราไปเอาความประพฤติ มันก็สองแง่สองมุม การเกี่ยวข้องกับครู แล้วเกี่ยวข้องกับพระที่เราจะเอาลูกเอาหลานไปบวช หรือไปเกี่ยว ข้องอย่างนี้ ต้องระมัดระวัง
การบวชไม่ใช่บวชตามประเพณีของชาวบ้าน ที่มีความรู้ความเข้าใจปลูกฝังกันมาว่า เกิดมาอายุเท่านี้ๆ ต้องเรียน พออายุเท่านี้ๆ ต้องบวช เลยกลายเป็นการบวชตามประเพณี แต่ไม่ได้บวชเพื่อธรรม เพื่อวินัย ไม่ได้บวชเอาศีล สมาธิ ปัญญา ต้องได้ฟังธรรม จะได้ปุจฉาวิสัชนา คือถามตอบกัน ฟังให้เข้าใจ ปฏิบัติให้เข้าใจ จะได้เข้าใจศาสนาพุทธแท้ๆ เพราะว่าศาสนาพุทธแท้ๆ นั้น ไม่ค่อยจะมี
สมัยปัจจุบันเป็นแต่พุทธพาณิชย์ คือธุรกิจในคราบผ้าเหลือง พระแท้ที่จริงก็ไม่ค่อยจะมี มีแต่ภิกษุ แม้แต่เรามาบวชอยู่ในวัด เราก็ต้องเข้าใจ เพราะว่าคนที่มาบวชนี้ ไม่ใช่จะเป็นพระทั้งหมด เป็นภิกษุก่อน พื้นเพเขายังยินดีในกาม ยินดีในพยาบาท บางคนก็เคยกินเหล้าเมายา เจ้าชู้ เล่นการพนันมา เราก็ต้องระมัดระวังคนที่เราเกี่ยวข้อง เราก็ต้องดู ดูว่าครูบาอาจารย์รูปไหนเอาธรรม เอาพระวินัย เอามรรคผลพระนิพพาน เราก็ต้องไปหา ไปเกี่ยวข้อง ถ้าเราไปเกี่ยวข้องกับผู้ที่ไม่ได้เอาธรรม ไม่ได้เอาพระวินัย เราก็ต้องถอนตัว ถอยออกมา เพราะคนเราส่วนใหญ่จะมีเชื้อพาล พวกโจรก็มีนิสัยโจร มันจะถูกกัน เข้าใจกันง่าย ธาตุเดียวกันก็ไปหากัน อย่างเราเป็นคนทุศีล เป็นคนยินดีในกาม มันก็ไม่อยากจะไปคุยกับพวกที่มุ่งมรรคผลพระนิพพาน เพราะคุยกันไม่รู้เรื่อง คุยกันคนละเรื่อง
เราก็ต้องมีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา มีพรหมวิหาร พิจารณาให้รู้ว่า บุคคลไหนควรคบ คนไหนไม่ควรคบ เราจะสังเกตดูว่า บุคคลเช่นใดนี้มันก็จะไปหาบุคคลเช่นนั้น ไม่กี่เดือนไม่กี่ปีหรอก เพราะมันเป็นอย่างนั้นโดยธรรมชาติ แร่ทองเข้าไปหาแร่ทอง กรวดทรายก็ไปหากรวดทราย เพชรก็จะไหลเข้าไปหาเพชร น้ำดีก็ไปหาน้ำดี น้ำเสียก็ไปหาน้ำเสีย มันไปอย่างนั้น มันไหล มันไปสู่กันอย่างนั้น มันเป็นธรรมชาติ เหมือนกับเมล็ดพันธุ์ มันก็ต้องสมดุล สมดุลในอากาศ ในน้ำ มันถึงจะออกเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีฉันใด เราทุกคนก็ต้องแสวงหาธรรมะแท้ๆ ความถูกต้อง ไม่ได้สะดวกแสวงหาความถูกใจ คือต้องแสวงหาความถูกต้อง ไม่ได้แสวงหาความถูกใจ
อย่างเราไปคบกับภิกษุ ภิกษุที่ปลงผมห่มผ้ากาสาวพัสตร์ บางคนก็มุ่งหาข้าวของเงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ เขาก็เรียนมาดี ศึกษามาดี แต่ผิดวัตถุประสงค์ เพื่อหวังหาผลประโยชน์ เราก็ต้องดูปฏิปทา ดูความประพฤติ ไม่ใช่ว่าโกนผมห่มผ้าเหลืองแล้วเป็นพระทั้งหมดนะ ไม่ใช่
ถ้าไม่ถูกต้องก็ถือว่ายังไม่ใช่พระ ยังไม่ใช่สมณะ เพื่อนฝูงเราก็เหมือนกัน อะไรที่อยู่ในวัดในวา เราก็ต้องดู พวกไหนควรจะคบผิวเผิน พวกไหนควรจะคบอย่างแท้จริง เราต้องดู เราต้องมีปัญญา เพราะเราจะคบแต่คนดี คบแต่พระดี คนไม่ดี พระไม่ดีเราจะเอาไปทิ้งไว้ที่ไหน คือเราคบ เรารู้จัก เราพูดคุย แต่มันต้องมี limit ต้องมี limit ตรงที่ว่า คนไหนควรจะคบผิวเผิน คนไหนควรจะคบอย่างแท้จริง ก็คือต้องดู ต้องดูให้ออก อ่านคนให้ออก คนไหนเป็นพาล คนไหนเป็นบัณฑิต ดังที่ได้อธิบายไว้แล้วในมงคลข้อต้นๆ
ทุกอย่างมันอยู่ที่เรา ความสมัครสมานสามัคคีถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่เราต้องมีปัญญา คือ เราไม่แบ่งแยก เราไม่แตกแยก ถึงแม้ว่าคนนั้นไม่เอามรรคผลพระนิพพาน คนนั้นไม่เอาธรรม ไม่เอาวินัย เราไม่แตกแยก แต่เราก็คบเพียงแค่ผิวเผิน อย่าไปตาม ถ้าไปตามนี้ ไปคบ ไปกิน ไปนอน ไปอยู่ร่วมแล้วนี้ ไม่นาน..ก็จะเป็นเหมือนเขา คบคนเช่นใด ย่อมเป็นคนเช่นนั้น การสนทนาธรรมอย่างนี้ ก็ต้องสนทนาสิ่งที่เป็นธรรม เป็นวินัย ตอบปัญหาที่ขัดข้องใจในธรรม เรื่องธรรม เรื่องวินัย ไม่ใช่เรื่องธุรกิจหน้าที่การงาน เพราะธุรกิจหน้าที่การงาน เราศึกษาจากโรงเรียน ภาควิชาต่างๆ ก็เป็นเรื่องของโลก
พระพุทธเจ้าไม่ให้เราพูดเดรัจฉานกถา เดรัจฉานวิชา เพราะว่าคนที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ๑๐๐% ถ้าไปพูดคุยหรือว่าเกี่ยวข้อง ไปอยู่ร่วม ไปกินร่วม กับผู้ที่ไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป ไม่ได้เอามรรคผลพระนิพพานเป็นที่ตั้ง ไปอยู่ใกล้ เดี๋ยวเราก็เสื่อม ถ้าเราไปเกี่ยวข้องกับเขา เราไม่ทำตามเขา เดี๋ยวเขาก็จะกระทืบเรา เพราะว่ามันแตกวง เหมือนเราถือเคร่งครัด เขาฉันอาหารเพลกันหมดวัด เราไปฉันอาหารวันละครั้งอย่างนี้ เขาก็มองดูเราแปลกๆ ใจของเรามันก็ต้องอ่อน
เหมือนเราเป็นพระวัดป่า โยมเขาก็อยากบำรุงพระพุทธศาสนา ทั้งวัดบ้านวัดป่า เดี๋ยวพระวัดป่ากลายเป็นพระวัดบ้าน ฉันอาหารรองท้องก่อน ก่อนที่จะไปรับนิมนต์ เพราะวัดบ้านนิมนต์ฉันเพล อย่างนี้ต้องพิจารณา ปฏิปทาต้องเข้มแข็ง ถ้าปฏิบัติเราไม่เข้มแข็ง ก็เหมือนภูมิต้านทานไวรัสของเรามันไม่มี วัคซีนไม่มี เพราะเรื่องอะไรต่างๆ นี้ มันก็เป็นเรื่องของคนอื่น
ผู้ที่มาบวชเป็นพระภิกษุ สามเณรหรือว่าผู้ที่เป็นประชาชน ก็ให้พากันรู้จักพระ พระนั้นคือ พระธรรม คือพระวินัย ผู้ที่มาบวช ถ้าไม่ปฏิบัติตามพระธรรม ตามพระวินัย ไม่ได้มุ่งมรรคผลพระนิพพาน ก็จะเป็นเพียงภิกษุ
ประชาชนต้องเข้าใจนะ กราบพระต้องให้รู้จักพระ
พระจะไปพูดคุยกับผู้หญิงสองต่อสองไม่ได้
เรื่องผู้หญิง ผู้หญิงหลายคน นั่งล้อมวงคุยกับพระ ถ้าไม่มีพระนั่งอยู่ด้วย หรือว่าไม่มีผู้ชายนั่งอยู่ด้วยกับพระ อย่างนี้..เราไปพูดคุยอย่างนี้มันไม่ได้ ความเคยชินของเราไม่ค่อยเห็นพระ เห็นแต่ภิกษุ ถ้าเห็นพระธรรม เห็นพระวินัยแท้ๆ ผู้ที่ปฏิบัติตามพระธรรม พระวินัยแท้ๆ บางคนมองเป็นของแปลกไป เห็นพระที่เคร่งครัด ไม่รับเงิน ไม่รับปัจจัย ไม่คุยกับผู้หญิงสองต่อสอง หรือว่าผู้หญิงหลายคน แล้วพระไม่คุยด้วยอย่างนี้ มองเป็นของแปลกๆ เป็นของเพี้ยนไป แต่ความจริงนั่นแหละคือพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง เพราะว่าพระจะไปคุยกับผู้หญิงสองต่อสองไม่ได้ เพราะลับหูลับตา หรือผู้หญิงเป็นสิบ คนร้อยคนนี้ ไม่มีผู้ชายที่รู้ความนั่งอยู่ด้วย ก็ผิดพระวินัย
เรื่องของเราคือธรรมะ คือพระวินัย เพราะว่าพระคือธรรมะ คือพระวินัย คือธุดงควัตร คือข้อวัตร กิจวัตร เราจะไปใจอ่อนไม่ได้ ถ้าไปใจอ่อนเราก็เป๋ ครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานท่านช่วยเหลือลูกศิษย์ลูกหาของท่าน ท่านถึงไม่อยากให้พระนักปฏิบัติที่เป็นวัดป่าที่เคร่งครัด ไปยุ่งกับวัดบ้าน เดี๋ยวจะเห็นดีเห็นงามไปกับเขา ให้เราเข้าใจ ถ้าใจเราเข้มแข็ง ไปที่ไหนก็ต้องเหมือนทองคำแท้ ไปที่ไหนก็ต้องเป็นทองคำแท้ อย่าเป็นทองแดง อย่าเป็นทองเก๊ อย่าเป็นทองชุบ ที่ไปที่ไหนก็คล้อยตาม เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม ทิ้งธรรมทิ้งวินัย พวกทองเก๊ทองชุบ ไปได้ไม่กี่น้ำ โดนไม่กี่น้ำ ทองแท้ๆ มันก็กร่อนออกไป เลยรู้เลยว่า อันนี้มันทองเก๊ อันนี้มันทองชุบ แต่ถ้าเป็นทองคำแท้ จะอยู่ที่ไหนก็เป็นทองคำแท้ เป็นเพชรแท้ อยู่ที่ไหนก็คือเพชรแท้ เพราะเราต้องเป็นอย่างนั้น ปฏิปทาเราต้องเป็นอย่างนั้น
ถ้าเราได้ฟังธรรมะที่เป็นของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์ ได้เข้าใจเรื่องความประพฤติ เพราะท่านเหล่านั้นผ่านประสบการณ์ในภาคประพฤติภาคปฏิบัติ จนได้เป็นพระอริยเจ้า ผู้ที่เป็นนักเรียนนักศึกษาที่เป็นพระอริยเจ้าในเมืองไทย ส่วนใหญ่ก็มาจากพระนักเรียนนักศึกษาวัดบ้านทั้งนั้น แล้วก็แสวงหาครูบาอาจารย์ ไปหา ไปฟังธรรม ผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้วเข้าใจประพฤติ เข้าใจปฏิบัติ ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น หลวงพ่อทุกๆ หลวงพ่อในเมืองไทย ส่วนใหญ่ ๙๙% ไปจากวัดบ้าน ไม่ได้มาจากวัดป่าหรอก เพราะท่านเหล่านี้ถือว่าท่านเป็นผู้ที่มีบารมี การได้คบค้าสมาคมสนทนาเกี่ยวข้องนี่แหละ จะเกิดสัมมาทิฏฐิ จะได้มีกำลังใจ เพราะว่าท่านเหล่านั้น ท่านคิดอย่างไรของท่าน ท่านพูดอย่างไรของท่าน ท่านต่อสู้ภาคประพฤติภาคปฏิบัติมาอย่างไรของท่าน เราจะได้ฟังคำสั่งสอนของภาคประพฤติภาคปฏิบัติจากท่าน จากการสนทนา
ส่วนใหญ่น่ะ พระที่ยังไม่เข้าใจ นึกว่าบวชก็คือปลงผมห่มผ้าเหลือง ประชาชนถึงเอาลูกไปบวชผิดวัด หรือบางที่ก็เห็นเป็นวัดป่า แต่ยังเป็นมิจฉาทิฐิ ยังไปทางขมังเวทย์อยู่ ยังไปทางเครื่องรางของขลังอยู่ ไปทางจอมยุทธอยู่ ไปเน้นเอาแต่สมาธิอย่างเดียว ทิ้งอริยมรรคข้อต่างๆ ทิ้งวิปัสสนา อาจารย์เขาก็ยังยินดีในเงิน ในปัจจัย ในสิ่งของ ในบ้าน ในกุฏิหรู ในรถอยู่ เราต้องอิงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราอย่าไปขึ้นกับอาจารย์
เหมือนกับมหาสังฆิกะ มหายาน ใหม่ๆ อาจารย์ก็ดีแหละ ถ้าอาจารย์เป็นพระอรหันต์ ทีนี้พออาจารย์ตายไป ถ้าผู้สืบทอดนี้เป็นสามัญชน มันก็เป๋ไปใหญ่เลย มันเพี้ยนไปเลย เพราะยึดเอาแต่คำครูบาอาจารย์ ไม่ได้ยึดเอาคำของพระพุทธเจ้า เหมือนครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่นนั้นดีมาก ดีพิเศษ ลูกศิษย์รุ่นที่เกี่ยวข้องกับหลวงปู่มั่นนั้นดีแน่ แต่รุ่นหลาน รุ่นเหลนนี่สิ มากินขยะ
ขยะ คืออะไร? คือลาภ สักการะ ชื่อเสียง เงินทอง ทิ้งธรรม ทิ้งวินัย เรียกว่า มากินเศษขยะของครูบาอาจารย์ มันเพี้ยนไปนะ มันเป็นพรรคพวกเฉยๆ คนเรานี่ ถ้าไม่เอาศีล เอาธรรมนี้ ไม่เกิน ๓ ชั่วคนมันก็เสื่อมแล้ว ไม่มีความมั่นคงหรอก
เราดูตัวอย่าง แบบอย่างครูบาอาจารย์ เรามองดูว่าเป็นพระอรหันต์นิพพานไป ลูกศิษย์ที่มารองรับ พระที่มารองรับ ไปไม่ได้ ไปไม่รอด เพราะว่าไม่ได้ตั้งใจฝึกฝน อบรมตนเองอยู่ในธรรมวินัย ทำให้เสื่อม เสื่อมจากพระศาสนา พระศาสนาไม่เสื่อมหรอก แต่ผู้ที่มาบวชนี้ ยังไม่เข้าใจพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้เห็นตัวอย่างแบบ อย่างที่ดี พากันเสื่อม ส่วนใหญ่เราจะทำตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ ทำเป็นตัวอย่าง แบบอย่าง แบบอย่างที่ดีมันไม่ค่อยมี เหมือนพระวัดบ้าน ก็ไม่เห็นจะกวาดวัด กวาดลานวัด ไม่เห็นอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ อะไรที่เหมือนพระวัดป่า ที่หลวงปู่มั่นสอน หลวงพ่อชาสอน หลวงตามหาบัวสอน ก็รู้อยู่นะ รู้ว่ามันถูก รู้ว่ามันดี แต่ไม่มีตัวอย่าง แบบอย่าง เลยปฏิบัติไม่ได้ ไม่เห็นมีใครปฏิบัติ มีแต่เรียนหนังสือ เรียนเอาใบประกาศ ดำรงชีพนักบวชเฉยๆ ทำธุรกิจในคราบผ้าเหลืองเฉยๆ ไม่ใช่เพื่อมรรคผลพระนิพพาน ไม่ได้เข้าถึงความเป็นพระธรรม เป็นพระวินัย เป็นแต่เพียงภิกษุ
เราทุกคนต้องพึ่งพาตัวเอง อาศัยพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เน้นธรรม เน้นปัจจุบันธรรม วันหนึ่งคืนหนึ่งก็ให้มันเป็นปัจจุบันธรรมไปเลย มันไม่สายหรอก คนเราถ้าใจอยู่กับปัจจุบันมันไม่สาย
ฟังธรรมของพระของครูบาอาจารย์ เราก็ต้องสังเกตการณ์ ถ้ามันไม่ไปตามพระ พุทธเจ้า เราก็เฉยๆ ไว้ อย่าไปตาม เพราะพระธรรม ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธ เจ้าเข้าถึงปัจจุบันธรรม เป็นมรรคผล เป็นพระนิพพานในปัจจุบัน มันดับทุกข์ได้จริงๆ แก้ปัญหาทุกข์ได้จริงๆ ไม่เลือกกาลเลือกเวลา ถ้าคิดดีมันก็ดีเดี๋ยวนี้ พูดดี มันก็ดีอย่างนี้เดี๋ยวนี้ กิริยามารยาทก็ดีอย่างนี้ รับผิดชอบดี เราก็มีสัมมาทิฏฐิ มีปัญญา มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราจะได้เป็นพุทธแท้ๆ ไม่งมงาย ลอยแพ เหมือนที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน
ทุกๆคนต้องเข้าใจ ทุกคนประพฤติปฏิบัติได้ มันก็เห็นตัวอย่างแบบอย่าง ตัวอย่าง ที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน
อย่างที่ครูบาอาจารย์ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่น หลวงพ่อชา หลวงตามหาบัว จนกระทั่งมาถึงหลวงพ่อใหญ่นี้ ท่านทำเป็นตัวอย่าง แบบอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน เพราะคนเรามันทำตามกัน ปลูกข้าวก็ปลูกเหมือนกัน ที่ไหนทำพืชผลอะไรได้มากก็ทำเหมือนกัน กินเหล้าเมายาก็กินเหมือนกัน การสนทนามันก็จะได้เข้าใจ
ถ้าพระผู้ที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านได้ผลแล้ว ท่านก็รู้ว่า ทำอย่างนี้ถึงไปได้ ทำอย่างนี้ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น การสนทนาธรรม สอบถามธรรมจากท่าน จึงเป็นมงคลอย่างยิ่ง เป็นเวลาที่พิเศษสุด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในทุติยกาลสูตรว่า “ภิกษุทั้งหลายกาลเวลา ๔ อย่างนี้ ที่บุคคลบำเพ็ญโดยชอบ เปลี่ยนแปลงโดยชอบ ย่อมจะทำให้บุคคลถึงความสิ้นกิเลสอาสวะโดยลำดับ
กาลเวลาที่มีค่า ๔ อย่าง ก็คือว่า
1.การฟังธรรมะตามกาล
2.การสนทนาธรรมตามกาล
3.การทำสมถะตามกาล
4.การทำวิปัสสนาตามกาล
ภิกษุทั้งหลาย..เปรียบเสมือนกับฝนเม็ดหนา ตกบนภูเขา น้ำไหลไปตามที่ลุ่ม ยังซอกเขาและลำธารให้เต็ม เมื่อซอกเขาและลำธารน้ำเต็มแล้ว ย่อมทำให้หนองน้ำเต็ม หนองน้ำเต็มแล้ว ย่อมทำบึงให้มันเต็ม บึงเต็มแล้วย่อมยังคลองให้เต็ม คลองเต็มแล้ว ย่อมยังแม่น้ำให้เต็ม แม่น้ำเต็มแล้ว ย่อมยังทะเลให้เต็มฉันใด
กาลเวลาทั้ง ๔ นี้ คือฟังธรรมตามกาล สนทนาธรรมตามกาล การทำสมถะตามกาล การทำวิปัสสนาตามกาล เมื่อบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ เปลี่ยนแปลงโดยชอบย่อมทำบุคคลให้ถึงความสิ้นกิเลสอาสวะโดยลำดับฉันนั้น”
การสนทนาธรรมตามกาลจึงเป็นมงคลอย่างยิ่ง ดังที่ได้บรรยายมาด้วยประการฉะนี้
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาให้ทุกท่านปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เจริญยั่งยืนนานอยู่ในร่มเงาแห่งบวรพระพุทธศาสนา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ด้วยกันทุกท่านเทอญ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee