แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๒๑ การเห็นสมณะคือพระแท้ เห็นด้วยตา เห็นด้วยใจและเห็นด้วยปัญญา
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระมหาเถระ พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล วันนี้ขึ้นมงคลข้อที่ ๒๙ “สมณานญฺจ ทสฺสนํ” แปลว่า การเห็นสมณะ
ความสุขทั้งหลายในโลกนี้มีอยู่ ๒ ประเภท คือ
๑. ความสุขต้องอิงวัตถุ โดยเฉพาะวัตถุกาม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เหล่านี้ เรียกว่ากามสุข เป็นความสุขทางเนื้อหนังมังสา เช่น ได้เห็นรูปสวยๆ ได้ฟังเพลงเพราะๆ ได้ดมกลิ่นหอมๆ ได้กินอาหารอร่อยๆ ได้สัมผัสที่นุ่มนวลชอบใจ จัดเป็นความสุขภายนอกที่เห็นกันได้ง่ายๆ แล้วก็คนส่วนมากในโลกก็แสวงหา รักษาไว้แล้วก็ต้องหวงแหน ต้องยึด ต้องติด ต้องกอด แล้วก็ต้องเสียอกเสียใจ เมื่อต้องพลัดพรากจากของเหล่านี้ไป
๒. ความสุขที่ไม่ต้องอิงวัตถุ เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการเจริญภาวนา ให้ใจสงบ แล้วก็เกิดปัญญา เป็นความสุขของผู้เข้าถึงธรรม จัดเป็นความสุขภายใน เมื่อเทียบกันแล้ว ความสุขภายในอันเกิดจากความสงบนั้น เป็นสุขที่เลิศกว่าอย่างเทียบไม่ได้ แต่เห็นแล้วก็เข้าใจได้ยากกว่า ความสุขภายในนั้นเป็นสิ่งที่หลายคนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะเราคาดคะเนไม่ได้ เป็นเรื่องเฉพาะตัว ผู้ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติธรรม ยังไม่เคยพบกับความสุขชนิดนี้ ก็จะไม่คุ้น แม้จะอ่านจากตำราก็ยากจะเข้าใจ เช่น พระท่านบอกว่า ผู้ที่รักษาศีลแล้วจะมีจิตที่ร่าเริงแจ่มใส ถ้าคนยังไม่เคยปฏิบัติธรรม จะนึกค้านทันทีเลยว่า คนรักษาศีลจะร่าเริงได้อย่างไร จะทำอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็ต้องคอยระวัง กลัวจะผิดศีล สู้คนไม่มีศีลไม่ได้ ทำตามใจตามอารมณ์ จะดื่มเหล้าก็ดื่ม จะเที่ยวก็เที่ยว เห็นพวกขี้เมาร้องรำทำเพลง เชียร์มวย แทงม้า ส่งเสียงกันอื้ออึง ร่าเริงสนุกสนานกว่าตั้งเยอะ แล้วมาบอกว่ารักษาศีลแล้วจิตจะร่าเริงแจ่มใส อย่ามาหลอกกันให้ยากเลย ไม่ยอมเชื่อ หลายคนคิดอย่างนั้น ต่อเมื่อใดได้พบคนที่เข้าถึงความสุขชนิดนี้ ได้เห็นคนที่รักษาศีลมาแล้วอย่างดีเยี่ยม หน้าตาผ่องใส ไม่บึ้ง ไม่ตึง พูดจาก็ไพเราะ ถึงจะได้เชื่อว่าเป็นความจริงอย่างนั้น
รักษาศีลมาแล้วอย่างดี เขาก็ร่าเริง แต่ร่าเริงอีกอย่าง คือ ไม่ต้องอิงอาศัยวัตถุภายนอก ไม่เหมือนที่เราเคยเห็น ไม่เหมือนที่เราเคยรู้จัก ถึงแม้จะยังไม่ปักใจเชื่อ แต่อย่างน้อยก็คิดที่จะทดลองทำตาม แม้ไม่ได้ทำตาม อย่างน้อยก็ฉุกคิดถึงการกระทำความดีบางอย่างขึ้นมาได้ คนที่จะเข้าถึงความสุขชนิดนี้ได้คือสมณะ ซึ่งถ้าใครได้เห็นแล้ว ก็จะเกิดแรงบันดาลใจให้คิดถึงธรรม เหมือนระเบิดที่จุดชนวนแล้ว ย่อมแสดงอานุภาพออกมาเต็มที่ สติปัญญา ความรู้ความสามารถที่มีอยู่จะได้รับการกระตุ้นจากการเห็นสมณะ ให้นำมาใช้สร้างความดีได้เต็มที่
“สมณะ” แปลว่า ผู้สงบ หมายถึง บรรพชิต นักบวชที่ได้บำเพ็ญสมณธรรม ฝึกฝนตนเองด้วยศีล สมาธิ ปัญญามาแล้วอย่างเต็มที่ จนกระทั่งมีกาย วาจา ใจ สงบจากบาป จากอกุศล จากกิเลสเครื่องร้อยรัดใจทั้งหลายทั้งปวง สมณะทุกรูปจึงเป็นบรรพชิต แต่บรรพชิตบางรูปก็ไม่ได้เป็นสมณะ สมณะหมายถึง ผู้สงบ สงบจากกรรม สงบจากเวร จากภัย จากบาป จากอกุศล สมณะนี้นับจากพระโสดาบันจนไปถึงพระอรหันต์
ผู้ที่มาบวชยังไม่ใช่สมณะ เป็นแต่เพียงภิกษุ เป็นแต่เพียงบรรพชิต สมณะก็คือผู้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนพระอรหันต์ ในประเทศไทยหลายแสนรูปยังไม่ใช่สมณะ ส่วนใหญ่เป็นเพียงภิกษุ
สมณะนี้เป็นได้ทั้งนักบวชและเป็นได้ทั้งประชาชนที่ยังไม่ได้บวช อยู่ที่ใจที่เป็นพระอริยเจ้า สิกขาบทน้อยใหญ่ในพระปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ ในพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อลงรายละเอียด เพื่อทุกคนจะได้ไม่มีตัวตน
หลงใหลที่เหลืออยู่ ศีลก็คือธรรม ธรรมก็คือศีล ด้วยความตั้งใจ ด้วยเจตนา ที่เรียกว่าพรหมจรรย์
เรื่องสมณะเป็นเรื่องจิตเรื่องใจ เป็นสัมมาทิฏฐิ ที่ต่อจากมงคลข้อที่ผ่านมา ที่ให้มีความอดทน ถ้าเราได้ไปเห็นสมณะก็เป็นบุญเป็นกุศล ได้ฟังธรรม เพราะธรรมะนั้นมาจากใจ มาจากความบริสุทธิ์ มาจากพระนิพพาน เหมือนผู้ที่ได้พบพระพุทธเจ้า ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะเป็นเหมือนกับคนที่ตาบอดมานานได้มาพบกับผู้ที่มียาวิเศษที่จะรักษาดวงตาที่บอดสนิทนั้นให้หายได้
ในกลุ่มนักบวชนี้ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ให้พูดเรื่องเดรัจฉานกถา ให้พูดเรื่องธรรม เรื่องพระวินัย เรื่องข้อวัตรข้อปฏิบัติ ความเคยชินของเรามันมีแต่เรื่องโลกๆ เรื่องอะไรต่างๆ มันไม่รู้จักเรื่องธรรมเรื่องวินัย เราก็ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอริยเจ้า อย่างเราจะไปบวชวัดไหน อย่างนี้..เราก็ต้องดูดีๆ
วัดก็หมายถึงพระธรรมวินัย ข้อวัตรข้อปฏิบัติ วัดนั้นไม่ใช่โบสถ์ ไม่ใช่วิหาร เดี๋ยวเราจะเข้าไปอยู่ในแก๊งโจร แก๊งโจรก็คือนักบวชที่ไม่เอาธรรม ไม่เอาวินัย เป็นแต่เพียงภิกษุ ผู้ที่ส่งกุลบุตรลูกหลานก็ต้องระวัง เพราะลูกหลานที่เราส่งเสียเล่าเรียนจบปริญญาแล้วไปบวช ถ้าไม่ดูให้ดีก็จะได้แต่ความหลงงมงายกลับมา เพราะว่าผู้นำ ประธานสงฆ์สำคัญ ถ้าเจ้าอาวาสเขาไม่เอาพระนิพพาน เอาแต่วัตถุ เอาแต่เงิน เอาแต่ปัจจัย แทนที่เราอยู่ทางโลกทางสังคมนี้ บางทีไปบวชก็ไปเพิ่มบาป เพราะว่ามุ่งแต่เรื่องเงิน เรื่องสตางค์
ศาสนาพุทธ พุทธแท้ๆ นี้ก็ยังเหลืออยู่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ มีแต่พุทธพาณิชย์ ไม่ใช่ตามพระพุทธเจ้า ไม่ใช่พระธรรม ไม่ใช่พระอริยสงฆ์ มีแต่พุทธพาณิชย์ ทำตามๆ กัน จนเป็นประชาธิปไตยที่มีความเห็นแก่ตัวเหมือนกัน เป็นสภาคาบัติกัน การบวชนี้ก็เท่ากับไม่ได้บวช เพราะไม่รู้จักพระศาสนา เพราะว่าพวกนี้เขาเอาแค่สวรรค์ แล้วก็สอนญาติโยมแต่เรื่องให้ทาน เรื่องอานิสงส์ของการให้ทาน สอนเรื่องศีล เรื่องอานิสงส์ของศีล เรื่องสมาธิ อะไรประมาณนี้ ศาสนาพุทธเรามุ่งสูงกว่านั้น ศาสนาพุทธของเรา จุดหมายปลายทางเอาพระนิพพาน เพราะว่าพวกสวรรค์พวกพรหมก็เป็นเพียงทางผ่านเฉยๆ ถ้าเราไปบวชแบบนั้น สึกออกมาก็ไม่มีข้อวัตร ข้อปฏิบัติอะไรที่จะมาปฏิบัติในครอบครัว
ถ้าบวช ก็ไม่ได้บวชในพระพุทธศาสนาแท้ๆ บวชในแบบที่เป็นพุทธพาณิชย์ไป อย่างนั้นมันก็ไม่ได้นะ ที่ว่านี้ไม่ได้ว่าให้ใคร ไม่ได้ว่าให้พระ เพราะพระคือพระธรรม คือพระวินัย พระอริยเจ้า เราไปว่าไปจาบจ้วงล่วงเกินไม่ได้ แต่ที่พูดคือให้รู้จักความเป็นพระแท้ๆ ความเป็นสมณะแท้ๆ เพราะพระที่จะได้คือพระศาสนาที่จะเป็นหลักการ หลักวิชาการ เป็นภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ไม่ใช่นิติบุคคล
ผู้ที่เป็นเจ้าอาวาสเจ้าทุกอาวาส ถ้าใครมีความบกพร่องก็เอาใหม่ ความเห็นแก่ตัว หรือว่าที่เราติดในความรวย ติดในอารมณ์ของสวรรค์ ไม่ควรจะให้อยู่ในวัดในอาราม เราที่จะพาหมู่พาพวกทำประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่น ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็จะไปตั้งแก๊ง เราต้องมีความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า เพราะไม่เกี่ยวกับวัดบ้านวัดป่า ไม่เกี่ยวกับอะไรหรอก มันเกี่ยวกับการประพฤติการปฏิบัติ ไม่เกี่ยวกับธรรมยุต มหานิกาย เถรวาท มหายาน วัชรยาน เพราะสิ่งเหล่านั้นมันเป็นแต่เพียงสมมุติ
พุทธแท้ๆ ต้องมีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้น เกี่ยวกับตัวเราที่จะต้องเอาธรรมเอาพระวินัย ใจของเราถึงจะเป็นพระธรรมเป็นพระวินัย เป็นพระอริยเจ้าได้
ในมงคลข้อนี้ว่า “สมณานญฺจ ทสฺสนํ” การได้พบเห็นสมณะเป็นมงคลนั้น เพื่อความเข้าใจ จึงจะขอแยกออกเป็น ๓ ประเด็น คือ
๑.คนอย่างไรเรียกว่าสมณะ
๒.การเห็นสมณะนั้นทำอย่างไร
๓.พบเห็นสมณะแล้วได้อะไร
คนอย่างไรเรียกว่าสมณะ?
เราอย่าเพิ่งไปตีความหมายว่า การเห็นภิกษุสามเณรซึ่งโกนผมห่มผ้าเหลืองอันนี้เป็นสมณะทั้งหมด เป็นความเข้าใจผิด และทำให้เกิดความเสียหายมามากต่อมากแล้ว ซึ่งก็ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ออกข่าว มีแต่เรื่องเสียๆ หายๆ เพราะเรื่องดี เรื่องที่เป็นบุญเป็นกุศล มันขายไม่ได้ เพราะคนเราชอบเสพแต่ข่าวต่ำๆ จริงๆ เป็นอย่างนั้นนะ ข่าวไหนไปในทางที่ลบ ข่าวต่ำๆ เรตติ้งพุ่งสูงลิ่วเลย ข่าวดีๆ เป็นบุญเป็นกุศล เป็นมหามงคล ข่าวนั้นเรตติ้งไม่ดี เพราะคนเราบอกได้เลยว่าจิตใจมักจะไหลลงต่ำ ชอบแต่ของต่ำๆ ชอบแต่ของลบๆ ข่าวไหนที่มันเป็นไปในทางลบๆ ขายดี คนติดตาม เพราะอะไร? พื้นฐานจิตใจคนเป็นอย่างนั้น ดังนั้น ให้เข้าใจเลยว่า นักบวชที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ นั่นไม่ใช่สมณะ
อันที่จริงคนที่ครองเพศเป็นนักบวชนั้นเรียกว่าบรรพชิต บรรพชิตนั้นจะเป็นนักบวชทุกรูปก็หาไม่ พิจารณาพระบาลีโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสไว้นะว่า “น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาติ สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต บรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่น เบียดเบียนสัตว์อื่นอยู่ หาใช่สมณะไม่” เป็นท่อนกลางที่อยู่ในโอวาทปาติโมกข์ ต่อจากเมื่อวาน เมื่อวานที่ว่า “ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา - ขันติคือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง” ท่อนต่อมาทรงกล่าวถึงพระนิพพาน ท่อนต่อมาก็คือตรงนี้แหละ บรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่น เบียนสัตว์อื่นอยู่ หาใช่สมณะไม่
ตามพระพุทธพจน์โอวาทปาติโมกข์นี้ ก็คงทราบแล้วใช่ไหมว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงว่า บรรพชิตกับสมณะนั้น เป็นคนละพวก คือบรรพชิตและสมณะ ทั้งสองนี้มีภูมิธรรมต่างกัน คนละชั้น คนละราคา อย่าได้เหมาเอาว่าเป็นพวกเดียวกัน
“บรรพชิต” แปลว่านักบวช คือท่านผู้ทรงศีล อยู่ด้วยศีล เอาศีลกำกับตัว เมื่อไม่ได้ละเมิดศีลตามชั้นของบรรพชิต ก็คงมีศักดิ์เป็นบรรพชิตทุกองค์ แต่ในบรรดาผู้ที่เป็นบรรพชิตนั้น ก็มีอยู่หลายระดับด้วยกัน รักษาศีล รักษาพระวินัยได้มั่นคงก็มี รักษาได้ขาดๆ วิ่นๆ ย่อๆ หย่อนๆ ดำๆ ด่างๆ ก็มี นี่คือบรรพชิต
ทีนี้เราทำความเข้าใจคำว่า ภิกษุ ภิกษุคือชายที่บวชในพระพุทธศาสนา แปลตามรากศัพท์มีอยู่ ๕ ความหมายด้วยกัน
ความหมายแรก แปลว่า ผู้ขอ “ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ” ผู้ใดย่อมขอ ผู้นั้นชื่อว่าภิกษุ เพราะว่าการเลี้ยงชีวิตนี้อาศัยผู้อื่นในการอุ้มบาตรหาเลี้ยงชีพ การเป็นอยู่ต้องฝากไว้กับผู้อื่นทั้งหมด
ความหมายที่ ๒ “วฏฺฏสํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ” ผู้ที่เห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร ชื่อว่าภิกษุ
ความหมายที่ ๓ “ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ” ผู้ทำลายบาป ทำลายอกุศล ชื่อว่าภิกษุ
ความหมายที่ ๔ “ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ” ผู้นุ่งห่มผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก็ชื่อว่าภิกษุ
ความหมายที่ ๕ “ภกฺขติ อมตรสํ ภุญฺชตีติ ภิกฺขุ” ผู้ได้บริโภคอมตรส คือพระนิพพาน ชื่อว่าภิกษุ
เพราะฉะนั้น ความหมายของคำว่าภิกษุทั้งหมดนี้อยู่ที่พฤติกรรม อยู่ที่การกระทำ ถ้าไม่เอาธรรม ไม่เอาวินัยก็จะเป็นได้แต่เพียงผู้ขอ กับเป็นเพียงผู้ที่นุ่งห่มผ้าที่ตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยแค่นั้น แต่ถ้าอยู่ในธรรม อยู่ในวินัย เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสารจริงๆ ก็จะเป็นผู้เห็นภัยในการเวียนว่ายตายเกิด เป็นผู้ทำลายบาป เป็นผู้ทำลายอกุศล และก็จะได้เป็นผู้บริโภคอมตรส คือพระนิพพาน พัฒนาภูมิธรรมเข้าสู่ความเป็นสมณะที่แท้จริง
ทีนี้ คำว่าสมณะ แปลว่าผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค แปลสั้นๆ ก็คือผู้สงบ สงบจากบาป นอกจากเว้นการทำบาปทางวินัย ทางศีลแล้ว ยังเว้นจากบาปทางธรรมด้วย ยกตัวอย่างเช่น ทางศีลห้ามลักทรัพย์ ศีลจะขาดก็ต่อเมื่อลักจริงๆ เพียงแต่คิดจะลัก ศีลยังไม่ขาด แต่ทางธรรมนี่ละเอียดไปกว่านั้น แม้แต่คิดจะลัก จิตก็จะเป็นอกุศล จิตก็เป็นบาปแล้ว มันเสียธรรม
สมณะกับบรรพชิต ต่างกันตรงที่ว่า บรรพชิตถือเอาศีลเป็นขอบเขต แต่ว่าไม่ได้ควบคุมใจ จริงอยู่ ศีลไม่ขาด แต่บางทีใจก็คิดไปเรื่อย คิดอยากโน่นอยากนี่ สารพัดอย่าง
ส่วนสมณะนั้นถือทั้งศีลถือทั้งธรรมเป็นขอบเขต คือ มีพระวินัยรักษาตัวแล้ว แล้วก็ยังมีธรรมะ มีวิปัสสนารักษาใจ ไม่ให้ตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก ฉะนั้น สมณะ ความลึกซึ้งจึงสูงกว่าบรรพชิต ดังที่พระพุทธเจ้าอธิบายท่อนแรกว่า บรรพชิตผู้ที่เบียด เบียนสัตว์อื่น ทำร้ายคนอื่น ไม่ใช่สมณะ
เพื่อความแน่ใจ ให้เราได้ฟังพระพุทธพจน์ที่เป็นพระบาลี ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “น มุณฑเกน สมโณ อพฺพโต วลิกํ ภณํ อิจฺฉา โลภสมาปนฺโน สมโก กิ ภวิสฺสติ – คนเราไม่ใช่ว่าจะเป็นสมณะเพราะหัวโล้น”
“มุณฑเกน” แปลว่าหัวโล้น
คนที่ไม่มีข้อวัตร ข้อปฏิบัติ มีแต่พูดพล่อยๆ มีความริษยา เป็นคนละโมบ จักเป็นสมณะได้อย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างนั้น
คนเราไม่ใช่จะเป็นสมณะเพราะศีรษะโล้น คนที่ไม่มีข้อวัตร ข้อปฏิบัติ พูดกันพล่อยๆ มีแต่ความอิจฉาริษยากัน เป็นคนละโมบโลภมาก เป็นสมณะไม่ได้เลย
แล้วต่อมา พระพุทธเจ้าก็ตรัสอีกว่า “โย จ สเมติ ปาปานิ อนุํ ถูลานิ สพฺพโส สมิตตฺตาหิ ปาปานํ สมโณติ ปวุจฺจติ - คนที่เราตถาคตเรียกว่าสมณะ จะต้องเป็นผู้ระงับการทำบาปน้อยใหญ่เสีย”
รวมความแล้ว เฉพาะบุคคลผู้ที่สงบเท่านั้นจึงจะเป็นสมณะ ที่ว่าสงบนั้น ต้องสงบกาย สงบวาจาและสงบใจตนเอง สมณะต้องสงบกาย คือมีความสำรวม ไม่คะนอง ไม่มีกิริยาร้าย เช่น ทุบตี ชกต่อย ฆ่าฟัน สะพายดาบ พกมีด พกปืน เดินขบวน ยกพวกเข้าชิงดีชิงเด่น แย่งที่อยู่ที่ทำกิน อันเป็นกิริยาของคนไม่สงบ คนที่เป็นสมณะ ไม่ว่าจะเข้าไปที่ไหน จะอยู่ที่ไหน ย่อมจะไม่ทำความชอกช้ำแก่ใคร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชื่นชมพระมหาโมคคัลลานะในเรื่องนี้ว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย เป็นผู้มีฤทธิ์มาก แม้จะมีฤทธิ์เดชมาก แต่ไม่ว่าจะไปที่ใด ก็ไม่เคยทำความชอกช้ำแก่ตระกูลนั้นเลย จะบิณฑบาตรับของถวายอะไรก็ตาม ท่านก็จะคอยดูว่าเขาจะเดือดร้อนไหม รับแต่พอประมาณ เปรียบเหมือนกับแมลงภู่ผึ้ง บินเข้าสวนดอกไม้ ดูดเอาเฉพาะน้ำหวานจากเกสรดอกไม้จนอิ่มหนำสำราญ แต่ไม่เคยทำความชอกช้ำให้แก่ดอกไม้เลย
นอกจากนี้แล้ว สมณะยังต้องคำนึงถึงสมณสารูป คือจะทำอะไรก็ต้องให้ควรแก่สมณวิสัย ดังที่ได้อธิบายไว้ในพระธรรมวินัยที่ผ่านๆ มา
สมณะต้องสงบวาจา คือ สงบปาก สงบคำ ไม่เป็นคนปากร้าย ไม่นินทาว่าร้ายใคร ไม่ยุยงใส่ร้ายป้ายสีกัน จะเป็นระหว่างพระกับพระ หรือภิกษุกับฆราวาสก็ตาม จะทำไปโดยอ้างคณะ อ้างนิกาย อ้างวัด อ้างพวก ไม่ได้ทั้งนั้น มีแต่วาจาที่เป็นอรรถเป็นธรรม ไม่ใช่วาจาเหมือนคมหอกคมดาบที่เอามาทิ่มแทงใส่กัน แม้การพูดให้คนอื่นกระดากขวยเขิน เช่น พูดจาเกาะแกะผู้หญิงเล่นสนุกๆ ก็ผิดสมณสารูป พวกนี้จะไม่มีเด็ดขาดในผู้ที่เป็นสมณะแท้ๆ
ต่อไป สมณะต้องสงบใจ คือทำใจสงบ ให้นิ่ง เป็นสุขอยู่ภายใน สงบจากบาปจากกรรม ตรึกนึกถึงธรรมเป็นอารมณ์ ไม่ใช่ทำเป็นแต่สงบจากเปลือกนอก เหมือนเสือเฒ่าจำศีล จิตใจของสมณะที่แท้ ย่อมเป็นไปด้วยความเมตตากรุณา ไม่เป็นภัยต่อผู้ใด
การที่มีความสงบกาย วาจา ใจ ทั้งสามประการนี้ ส่งผลให้สมณะมีความสง่างามอยู่ในตัว
มีคำอยู่ ๒ คำที่ใช้ชื่นชมความงามของคน คือ ถ้าชมชายหนุ่มหญิงสาวทั่วไป จะใช้คำว่าสวยงาม หรือใช้คำว่าหล่อเหลาอย่างนี้ แต่ถ้าจะชมสมณะ เราจะใช้คำว่า สง่างาม เป็นความงามที่สง่าและยังมีความสงบเสงี่ยมอยู่ในตัว ทั้งสง่างาม ทั้งสงบเสงี่ยม ไม่กระจอกงอกง่อย เพราะมีความเชื่อมั่นในคุณธรรมที่ตนเองปฏิบัติอยู่ มีความอิ่มเอิบอยู่ในธรรม เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงอานิสงส์ของการประพฤติดี ปฏิบัติชอบ
เด็กต้องการตัวอย่างที่ดีจากพ่อแม่ครูอาจารย์ฉันใด ชาวโลกทั้งหลายก็ต้องการตัวอย่างที่ดีจากสมณะฉันนั้น สมณะจึงเป็นมาตรฐานของความประพฤติของชาวโลกทั้งหลาย
ทีนี้ลักษณะในเชิงปฏิบัติของสมณะ
๑. สมณะต้องไม่ทำอันตรายแก่ใครๆ ไม่ว่าทางกาย ทางวาจา ไม่ทำความเดือดร้อนแก่ใคร แม้ในทางความคิด ก็ไม่คิดร้ายให้ใคร
๒. สมณะต้องไม่เห็นแก่ลาภ ดำรงชีพอยู่เพียงเพื่อทำความเพียร มีความสันโดษ ไม่เป็นคนเห็นแก่กิน เห็นแก่ปาก เห็นแก่ท้อง
๓. สมณะต้องบำเพ็ญสมณธรรม พยายามฝึกฝนตนเอง ไม่เอาแต่นั่งๆ นอนๆ แต่บำเพ็ญกิจวัตรของสมณะ ทำวัตรสวดมนต์ ทำข้อวัตร กิจวัตร ศึกษาพระธรรมวินัย กิริยามารยาทต่างๆ ก็ต้องตั้งใจฝึกฝนอย่างเต็มที่ อยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา
๔ สมณะต้องบำเพ็ญตบะ คือทำความเพียรเพื่อกำจัดกิเลส เป็นทหารในกองทัพธรรมอย่างเต็มที่ ตั้งใจรบเอาชนะกิเลสให้ได้ ไม่ว่าจะโดยการเดินจงกรม ทำสมาธิ ประพฤติธุดงควัตร ทำข้อวัตรกิจวัตรทุกอย่าง ดังที่ได้จะอธิบายในข้อ “บำเพ็ญตบะ” ในวันต่อๆ ไป
ทั้งหมดนี้เป็นการขยายความของคำว่า “ปรูปฆาตี” คือไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียนคนอื่น กับ “ปรํ วิเหฐยนฺโต” ซึ่งแสดงความเว้นของสมณะ ส่วนในทางปฏิบัตินั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงในพระไตรปิฎกว่า
“โอโณทโร โย สเหเต ชิคจฺฉํ ทนฺโต ตปสี มิตปานโภชโน อาหารเหตุ น กโรติปาปํ ตํ เว นรํ สมณมาหู โลเก” เป็นต้น แปลว่า บุคคลใดทนต่อความหิว ฝึกตน บำเพ็ญตบะ จำกัดอาหาร ไม่ทำบาปเพราะเห็นแก่ปากแก่ท้อง บุคคลนั่นแหละเรียกว่าสมณะในโลก
พระพุทธพจน์ตรงนี้หมายความว่า สมณะต้องเป็นผู้ที่ทนต่อความหิว ฝึกตน บำเพ็ญตบะ จำกัดอาหารก็คือ รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่ทำบาปเพราะเห็นแก่ปากท้อง ก็คือว่า ไม่ทำธุรกิจพุทธพาณิชย์ในคราบผ้าเหลือง เดรัจฉานวิชาต่างๆ เพราะเห็นแก่ลาภ เห็นแก่ปัจจัย เห็นแก่เงิน เห็นแก่ทอง นั่นแหละจึงเป็นสมณะในโลก
เหล่านี้ เป็นลักษณะของสมณะที่ยกขึ้นมาแสดงให้เห็นว่า บรรพชิตไม่ใช่ว่าจะเป็นสมณะทุกรูป ซึ่งเป็นการแสดงตามหลักฐานที่มีในพระไตรปิฎกเป็นหลักฐาน เพื่อยกมาแสดงให้เข้าใจ เพื่อเราจะได้แยกแยะให้ถูกว่า บรรพชิตกับภิกษุ เป็นอย่างไร สมณะแท้ๆ เป็นอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องของสมณะแท้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตรถึงสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ซึ่งจะมีอยู่ในคำเทศน์ของหลวงพ่อใหญ่เป็นประจำๆ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔
ความละเอียดมีอยู่ว่า ในวันสุดท้าย ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ ปรินิพพาน สุภัททปริพาชก ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองกุสินารา ท่านได้ทราบข่าวว่า พระสมณโคดมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในยามสุดท้ายของคืนนี้ แต่ท่านก็ยังมีข้อสงสัยอยู่หลายประการ เพราะได้ยินได้ฟังคำของพวกปริพาชก ผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นอาจารย์ของตน เป็นบูรพาจารย์ทั้งหลายพากันพูดว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมอุบัติขึ้นในโลกเป็นบางครั้งบางคราว ความบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นการยาก การได้ฟังพระสัทธรรมก็เป็นการยาก ท่านก็เลยเกิดความวิตกกังวลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานในยามสุดท้ายของคืนนี้แล้ว แต่ความสงสัยของเรายังค้างคาใจมีอยู่มาก แล้วเราก็มีความเชื่อมั่นว่า พระสมณโคดมพุทธเจ้านี่แหละเป็นอรหันต์ เป็นสัมมาสัมพุทธะ พระองค์จะสามารถที่จะแสดงธรรมแก่เรา ทำให้เราขจัดความสงสัยในหัวข้อธรรมต่างๆ เหล่านั้นได้
พอคิดเช่นนั้นแล้ว สุภัททปริพาชกจึงเข้าไปหาพระอานนท์ที่สาลวโนทยาน ดงป่าไม้สาละของพวกมัลละกษัตริย์ เพื่อกล่าวถึงความตั้งใจของตนที่จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทูลถามปัญหาที่ค้างคาใจ แต่ก็ถูกพระอานนท์ห้ามถึง ๓ ครั้ง เพราะท่านเกรงว่า
คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระองค์ทรงลำบากพระวรกาย ถ่ายเป็นเลือดตั้งแต่การเดินทางจากเมืองปาวาจนมาถึงเมืองกุสินารา พระพุทธองค์ทรงอาพาธหนัก จึงไม่อยากให้ใครมารบกวน
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับคำเจรจาของพระอานนท์กับสุภัททปริพาชก ทรงทราบว่า ปริพาชกผู้นี้เป็นผู้มีบุญ มีปุพเพกตปุญญตา มีบุญเก่า เมื่อหายสงสัยแล้วจะได้บรรลุธรรม ด้วยพระมหากรุณาอันหาประมาณมิได้ของพระพุทธองค์ จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า “อานนท์เอย อย่าได้ห้ามสุภัททะ ให้สุภัททะเข้ามาหาเราเถิด สุภัททะจักถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งกับเรา เพื่อความรู้ยิ่ง ไม่ใช่เพื่อความเบียดเบียนเรา อนึ่ง เมื่อเราถูกสุภัททะถามแล้ว จักแก้ปัญหาแก่สุภัททะ เขาจะรู้แจ้ง เห็นจริงข้อความนั้นได้โดยง่าย เพราะขณะนี้ อินทรีย์ของเขาแก่รอบแล้ว เป็นผู้ควรแก่การตรัสรู้ธรรม”
พอฟังพระพุทธดำรัส พระอานนท์จึงกล่าวกับสุภัททปริพาชกว่า “เชิญเถิดท่านสุภัททะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระมหากรุณา ประทานโอกาสให้ท่านถามปัญหาแล้ว”
สุภัททปริพาชกปลื้มปีติใจเป็นอย่างยิ่ง ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบถวายบังคมนมัสการด้วยความเคารพ แล้วทูลถามความสงสัยที่มีอยู่ในใจว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์เหล่าใด เป็นเจ้าหมู่ เป็นเจ้าคณะ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง มียศ ชนเป็นอันมากต่างเข้าใจว่าเป็นคนดี เป็นผู้หลุดพ้น เป็นอรหันต์ คือ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถนาฏบุตร สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ตรัสรู้แล้ว ตามคำปฏิญญาของตนหรือไม่ หรือว่าเขาไม่ได้ตรัสรู้ หรือว่าบางพวกตรัสรู้ บางพวกไม่ได้ตรัสรู้ ข้าพระองค์อยากทราบความเป็นสมณะของเจ้าลัทธิเหล่านี้ ขอพระองค์โปรดให้ความกระจ่างด้วยเถิด”
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่ควรพยากรณ์ เพราะจะเป็นไปเพื่อความไม่สงบใจ จึงได้ตรัสห้ามว่า “อย่าเลยสุภัททะ คำถามนี้หยุดไว้ก่อนเถิด เราจะแสดงธรรมแก่เธอ เธอจงตั้งใจฟังธรรมโดยเคารพ จงตั้งใจฟังให้ดีเถิด”
สุภัททปริพาชกทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วพระพุทธองค์จึงตรัสว่า
“ดูก่อนสุภัททะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ หาไม่ได้ในธรรมวินัยใด แม้สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ก็หาไม่ได้ในธรรมวินัยอันนั้น
สุภัททะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยใด แม้สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ย่อมหาได้ในธรรมวินัยนั้น
สุภัททะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ หาได้ในธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็มีอยู่ในธรรมวินัยนี้
ลัทธิคือคำสอนคนอื่นๆ ที่เว้นจากอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง
สุภัททะเอย ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย
ดูก่อนสุภัททะ ครั้งเมื่อเรามีวัย ๒๙ พรรษา ออกบวช แล้วแสวงหาอยู่ว่า อะไรเป็นกุศล ตั้งแต่เราบวชแล้วจนถึงบัดนี้ นับได้ ๕๑ ปี แม้สมณะที่เป็นไปในส่วนแห่งธรรม ที่เป็นเครื่องนำออกจากภพ คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่มีในภายนอกแต่พระธรรมวินัยนี้ สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็มิได้มี ลัทธิคำสอนอื่น ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกก็จะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย”
เมื่อจบพระธรรมเทศนา สุภัททะปริพาชกเกิดดวงตาเห็นธรรม ความมืดในจิตใจถูกขจัดให้หมดสิ้นไปด้วยแสงแห่งธรรมะของพระพุทธองค์ ความสงสัยที่มีมายาวนานก็หมดสิ้นไป เกิดความศรัทธาเลื่อมใสอย่างท่วมท้น ได้กราบทูลว่า “พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนักๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องสว่างประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่าผู้มีดวงตาจะเห็นแสงสว่าง ข้าพระพุทธองค์จึงจะขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึกตลอดชีวิต” แล้วจึงกราบทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์จึงได้ทรงประทานการบวชให้
ท่านสุภัททะได้บรรพชาอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกไปจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้ว ไม่ช้านานนัก ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดอยู่ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่ได้มีอีก ท่านสุภัททะก็ได้เป็นพระอรหันต์รูปใดรูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเป็นสักขิสาวกองค์สุดท้ายของพระผู้มีพระภาคเจ้าในค่ำคืนนั้นเอง
“สักขิสาวก” หมายความว่า เป็นสาวกที่ทันเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า จะเห็นได้ว่า การเห็นสมณะนั้นเป็นมงคล และสมณะแท้ๆ คือสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มีอยู่ในธรรมวินัยที่มีมรรคมีองค์ ๘ นี้เท่านั้น เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรับรองไว้ชัดเจน
ตรงนี้จะเห็นได้ชัดเลยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสว่า ลัทธิของเจ้าลัทธิเหล่านั้น งมงาย ไม่มีพระอรหันต์ พระพุทธองค์ไม่ตอบ แต่พระพุทธองค์ตอบตรงๆ กับสุภัททะว่า ลัทธิใด ศาสนาใด ไม่มีมรรคมีองค์ ๘ ศาสนานั้นก็ไม่มีพระอรหันต์ แต่ศาสนาใด ในธรรมวินัยใด มีมรรคมีองค์ ๘ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ เป็นคำตรัสการันตีชัดเจนเลยว่า มีอยู่ในศาสนาที่มีมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น
ทีนี้ การเห็นสมณะ เราจะเห็นได้ ๓ ทาง ทีนี้เรารู้จักสมณะแล้วว่า สมณะแท้ๆ เป็นอย่างไร ทีนี้มาตรงที่การเห็น ที่เป็นทัศนัง เห็น ๓ ทาง
เห็นด้วยตา เรียกว่า พบเห็น
เห็นด้วยใจ เรียกว่า คิดเห็น
เห็นด้วยปัญญา เรียกว่า รู้เห็น
๑. เห็นด้วยตานี้ คือ เราพบเห็น คือเห็นถึงรูปร่าง ลักษณะกิริยามารยาทอันสง่างาม และสงบของท่าน นี่คือการเห็นด้วยตาเนื้อ
อย่างที่ ๒ อย่างที่ ๓ ต้องเห็นด้วยตาในและตาปัญญา
๒. เห็นด้วยใจ เรียกว่า คิดเห็น คือนอกจะเห็นตัวท่านซึ่งเป็นสมณะบุคคลแล้ว ยังเห็นความดี ความดีของสมณะในทีนี้หมายถึงความดีอย่างพระ ไม่ใช่ดีอย่างอื่น ดีอย่างอื่นที่คนเราหลงงมงายกัน เช่นว่า ดีในทางเสกเป่า ผูกดวง ดูหมอ ดูดวงชะตา สะเดาะเคราะห์ ทางเสน่ห์มหานิยม หรือบอกใบ้หวย เป็นต้น
เมื่อเราจะเอาดีอย่างพระ ก็เลยไปเกณฑ์ให้พระดีอย่างที่เราอยากให้เป็น เพราะคิดว่าพระต้องดีอย่างที่เราชอบ บางคนชอบดูดวง ก็บอกว่า พระที่ดีต้องดูดวงเป็น บางคนชอบต่อดวงชะตา ต่ออายุ ชอบเครื่องรางของขลัง ก็ไปบอกว่า พระที่ดีต้องปลุกเสกเป็น ต้องผูกดวงชะตา ต้องทำยันต์ ทำโน่นทำนี่เป็นอย่างนี้ แต่อันนั้นไม่ใช่สมณะแท้ๆ ของพระพุทธเจ้า
การดูสมณธรรม ก็คือความดีของคนสำคัญที่ใจ คือเราอย่าได้หลงโลกธรรม หรือหลงสิ่งที่แบ่งแยกของโลก ที่คนเราติด ที่คนเรางมงาย อย่าไปเหมาว่าเป็นเรื่องที่ถูก เป็นเรื่องที่ต้อง อย่าเอาความถูกใจของคนหมู่มาก อยู่เหนือความถูกต้อง
หลงการแบ่งแยก เช่นว่า หลงก๊ก หลงเหล่า หลงสำนัก หลงนิกาย เหมือนนักมวยหลายค่าย การกระทำแบบนี้เป็นการแบ่งแบบโลกๆ
ดังนั้น เราจึงต้องระวังให้มากและใช้ปัญญาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน อย่าลุแก่อำนาจความพอใจของตนเอง จึงจะทำให้เราเป็นคนผู้มองโลกในแง่ของความดีมากกว่าความถูกใจ จึงต้องพิจารณาตรองดูด้วยใจ จนสามารถคาดคะเนได้ถึงคุณธรรมภายในที่ทำให้ท่านสงบเสงี่ยมและสง่างามอย่างน่าอัศจรรย์ หรือเรียกว่า เห็นถึงสมณธรรมแท้ๆ ของท่าน
๓. เห็นด้วยญาณ เรียกว่า รู้เห็น คือไม่ใช่เห็นแต่เพียงการคิดคาดคะเนถึงคุณธรรมของท่านเท่านั้น แต่เห็นด้วยญาณทัศนะ เห็นด้วยปัญญาทางธรรมทีเดียวว่า ท่านมีคุณธรรมมากเพียงใด เป็นการเห็นของผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาดีแล้ว จนเข้าถึงธรรมะภายใน แล้วอาศัยญาณทัศนะ คือปัญญาญาณ มองทะลุเข้าไปในใจของคนอื่นได้ การเห็นชนิดนี้ ชัดเจน ถูกต้อง แน่นอน ไม่มีการผิดพลาด
ทีนี้ ขอเล่าถึงตอนหนึ่งที่พระโรหิณีเถรี เมื่อคราวเป็นฆราวาสโสดาบันได้กล่าวสรรเสริญถึงลักษณะของสมณะแท้ๆ ให้แก่พ่อ ผู้ที่เป็นพราหมณ์ ผู้เคร่งครัดศาสนา ไม่เลื่อมใส จนพูดให้พ่อฟัง กล่าวถึงลักษณะของพระแท้ๆให้พ่อฟัง จนพ่อผู้ที่เป็นพราหมณ์เคร่งครัดมาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เนื่องจากว่าหญิงสาวโรหิณีนี้ เป็นโสดาบันตั้งแต่วัยสาว เลื่อมใสในพระรัตนตรัยมาก แล้วพ่อของนางเป็นพราหมณ์ผู้เคร่งครัด เห็นก็สงสัยว่า ทำไมลูกของเราจึงศรัทธาเลื่อมใสในสมณะโล้นเหล่านี้ยิ่งนัก จึงได้เอ่ยถามว่า “ลูก..ลูกหลับก็พูดถึงแต่สมณะ ตื่นก็พูดถึงแต่สมณะ กล่าวถึงแต่สมณะเท่านั้น เห็นทีลูกคงอยากจะออกบวชเป็นสมณะเหลือเกิน โรหิณีเอ๋ย ลูกถวายข้าวน้ำอย่างสมบูรณ์แก่เหล่าสมณะเป็นประจำ พ่อขอถามลูกว่า เพราะเหตุไร เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก เพราะพวกสมณะไม่ทำการไม่ทำงาน เกียจคร้าน อาศัยแต่ของที่คนอื่นหาเลี้ยงชีพ หาแต่ของที่คนอื่นให้ เพราะเหตุใด เหล่าสมณะจึงเป็นที่รักของลูก”
คือ พราหมณ์เฒ่าผู้นี้ไม่เลื่อมใสในศาสนาพุทธ ไม่รู้จักสมณะ ก็เลยมองจากภายนอกว่า ไม่ทำการทำงาน ไม่ทำมาหากิน ไม่ทำไร่ไถนา กินแล้วก็เอาแต่เข้ากุฏิ นอนหรือเปล่า? คนอื่นเขามองอย่างนั้น ขี้เกียจขี้คร้าน อาศัยแต่ของที่คนอื่นให้เอามาเลี้ยงชีพ ลูกสาวเมื่อได้โอกาส จึงตอบพ่อไปว่า
“คุณพ่อ..สมณะในพระพุทธศาสนา มีพระคุณต่อลูกมาก เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า สมณะทั้งหลาย ท่านเป็นผู้ขยัน ปรารภความเพียรนะพ่อ ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน ทำแต่งานที่ประเสริฐสุด คืองานขัดเกลากิเลส งานขจัดกิเลสอาสวะ ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ละราคะ โทสะ โมหะได้อย่างสิ้นเชิง เพราะเหตุนั้น สมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของลูก
สมณะทั้งหลายกำจัดบาปอกุศล คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ทำแต่งานสะอาด จึงละบาปได้ทั้งหมด กายกรรมของสมณะเหล่านั้นก็สะอาด วจีกรรมก็คือคำพูดของสมณะเหล่านั้นก็สะอาด มโนกรรมก็คือความคิดของท่านก็สะอาด สมณะเหล่านั้นไร้มลทิน บริสุทธิ์ทั้งภายใน ทั้งภายนอก เหมือนกับหอยสังข์ที่ขัดและมุกดาที่ขัดอย่างดี ธรรมฝ่ายขาวก็บริบูรณ์ เพราะเหตุนั้น สมณะทั้งหลายจึงเป็นที่รักของลูก”
ผู้เป็นพ่อพอได้ยินลูกสาวกล่าวพรรณนาคุณของสมณะ ซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลย รู้สึกอัศจรรย์ใจ ก็เริ่มคล้อยตามคำลูกสาว จึงถามต่อไปว่า “สมณะของลูกมีคุณอะไรอีก?”
โรหิณีหญิงสาวก็บอกกับพ่อว่า “สมณะของลูกเป็นพหูสูต เป็นผู้สดับมาก ทรงธรรม เป็นพระอริยะ เป็นอยู่โดยธรรม มีจิตเป็นอารมณ์เดียว มีสติ ย่อมแสดงอรรถแสดงธรรม ไม่พูดเรื่องไร้สาระ สมณะเหล่านั้นพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน รู้ที่สุดแห่งทุกข์ สมณะเหล่านั้นหลีกออกจากหมู่บ้านใด เดินทางไป ก็ไม่เลี้ยวดูอย่างกังวลในหมู่บ้านนั้น ไม่มีอาลัย (ในข้อนี้ ถือว่าเป็นผู้ไม่ติดในสกุล ไม่ติดในตระกูล ไม่ประจบคฤหัสถ์ ไม่มีอาลัยในตระกูลนั้น ตระกูลนี้)
สมณะเหล่านั้น ไม่เก็บสะสมข้าวของเงินทอง ไม่เก็บไว้ในยุ้งฉาง ไม่เก็บไว้ในหม้อ แสวงหาโดยชอบ มีการเลี้ยงชีพที่บริสุทธิ์ ไม่ยินดีในเงิน ไม่ยินดีในทอง ยังชีวิตอัตภาพให้เป็นไปด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไม่มีห่วง ไม่มีกังวล ถึงท่านจะบวชมาจากตระกูลต่างๆ มาจากต่างที่ มาจากต่างชนบท มาจากต่างเขตต่างแดน แต่ก็รักซึ่งกันและกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกันเหมือนกับชาวบ้านทั่วไป”
นี่คือ สิ่งที่หญิงสาวโรหิณีบอกถึงคุณลักษณะของสมณะที่นางเห็น แล้วก็เลื่อมใสอย่างสุดหัวใจ
ดังนั้น การเห็นพระ..แต่ไม่ได้เป็นพระ ดีกว่าเป็นพระ..แต่ไม่ได้เห็นพระ
ย้ำอีกครั้งหนึ่ง การที่เห็นพระ เห็นสมณะ แม้ตัวเองจะไม่ได้เป็นพระ เป็นสมณะ หมายความว่าไม่ได้บวช ดีกว่าเป็นพระ แต่ไม่ได้เห็นพระ คือบวชมาแล้ว แต่ใจไม่ได้เห็นพระจริงๆ เลย เพราะว่าไม่เอาศีลไม่เอาธรรม ไม่เอาพระวินัย เลยเป็นแต่เพียงการบวชแต่ข้างนอก โกนหัวห่มผ้าเหลือง ก็เหมือนบวดกล้วยบวดชีไป บางคนเป็นพระ แม้จะไม่ได้อยู่ในสมณเพศ บางคนเป็นเปรตทั้งๆ ที่อยู่ในเพศสมณะ หมายความว่า บางคนนี้เป็นพระ ก็คือใจ ใจเป็นพระ หรือเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี พระอนาคามี เป็นฆราวาสที่เป็นพระอริยเจ้า ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในเพศนักบวชก็ตาม จึงเรียกว่าบางคนเป็นพระ แม้จะไม่ได้อยู่ในสมณเพศ บางคนเป็นเปรตทั้งๆ ที่อยู่ในเพศสมณะ คือบวชมาแล้ว ไม่ทำตามพระธรรมวินัย ก็เป็นเปรต เป็นยักษ์ เป็นมาร เป็นสัตว์นรกมากมายหลังจากตายไป มีตัวอย่างให้เห็นมาก
ยอดบรรพชิต คือผู้สละชีวิตเพื่อพระศาสนา ยอดคนมิจฉา คือผู้สละพระศาสนาเพื่อชีวิต
นักบวชผู้ที่เสียสละตัวเองเพื่อพระธรรม เพื่อพระวินัย เพื่อการเผยแผ่พระพุทธ ศาสนา เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระธรรมวินัยจึงเป็นยอดของบรรพชิต เป็นยอดของสมณะ ส่วนยอดแห่งคนมิจฉาทิฐินี้ คือผู้สละพระศาสนาเพื่อเลี้ยงชีวิต เห็นอยู่ในปัจจุบันนี่แหละ เปลี่ยนคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เอาธรรม ไม่เอาพระวินัย ทำตามใจ ขายพระศาสนาหาเลี้ยงชีพ เทศน์ก็เทศน์ไม่ได้อยู่ในธรรม อยู่ในวินัย หาเลี้ยงชีพด้วยเดรัจฉานวิชา จึงเท่ากับว่าเป็นการสละพระศาสนาเพื่อชีวิต สุดท้ายก็หนีไม่พ้น หนีไม่พ้นความที่เป็นเปรต ทั้งๆ ที่อยู่ในเพศสมณะ ให้เราเข้าใจ
ทีนี้ กิจที่ควรทำเพื่อให้เกิดประโยชน์จากการเห็นสมณะ ทำอย่างไร
ในการเห็นสมณะนั้น ถ้าหากเห็นแต่เพียงชั่วขณะ เช่น เห็นท่านเดินทางผ่านไป หรือเราเผอิญเดินไปแล้วเห็นท่าน ก็ผ่านไปเลย อย่างนั้นไม่ได้ประโยชน์ แค่ได้ไหว้เฉยๆ เพื่อให้ได้ประโยชน์เต็มที่จากการเห็น พึงกระทำดังนี้
๑. เข้าไปหา หมายถึง หมั่นเข้าไปใกล้ ไปมาหาสู่ท่าน เห็นคุณค่าในการเห็นสมณะ แม้งานจะยุ่งเพียงไร ก็พยายามหาเวลา หาโอกาสเข้าไปหาท่านเสมอ เพื่อรับการถ่ายทอดคุณธรรมเข้าสู่จิตสู่ใจ
๒. เข้าไปบำรุง หมายถึง เข้าไปช่วยทำกิจของท่าน ปัดกวาดเสนาสนะ ปัดกวาดเช็ดถู จัดหาปัจจัย ๔ ไปถวายท่านตามควร ท่านจะได้ไม่มีภาระมากและจะได้มีเวลา มีโอกาสในการสนทนาธรรมมากขึ้น สอนธรรมมากขึ้น
๓. ตามฟัง หมายถึง ตั้งใจฟังคำเทศน์คำสอนของท่านด้วยใจจดจ่อ
๔. ตามระลึกถึงท่าน หมายถึงว่า เมื่อพบท่าน ได้ฟังคำสอนของท่านแล้ว ก็ตามระลึกถึง ทั้งกิริยามารยาทของท่าน นำคำสอนโอวาทของท่านมาไต่ตรองพิจารณาอยู่เสมอ แม้จะอยู่ในดงของกิเลส หลับตานึกถึงคำของท่าน นึกถึงหน้าท่าน นึกถึงกิริยาอาการของท่าน จิตใจก็จะห้าวหาญ มีพลัง พร้อมที่จะฝ่าฟัน สู้ได้ต่อไป
๕. ตามดูตามเห็น หมายถึงว่า ดูท่านด้วยตาเนื้อของเราด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างหนึ่ง และตามดูท่านด้วยความคิดและปัญญาทางธรรม ให้เห็นตัวสมณธรรมของท่าน เห็นท่านทำอย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น ไม่ดื้อรั้น จึงจะเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรม
คนสมัยก่อน เวลาขอพรจากพระก็จะขอว่า ขอกระผม/ขอดิฉันเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมที่ท่านได้เห็นแล้วเถิดครับ เวลาใส่บาตรทำบุญเขาขอพรแบบนี้ ไม่ได้ขอให้รวย ขอให้ถูกหวย ขอให้ได้สวรรค์ ขอให้ได้โน่นได้นี่ คนมีปัญญาขอแบบนี้ ขอให้เป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมที่ท่านได้เห็นแล้ว ก็หมายความว่า มีส่วนแห่งธรรมที่ท่านได้ตรัสรู้แล้วนั่นเอง เพื่อที่จะได้รับเอาปัญญาเข้ามาสู่ตัวเองและประพฤติปฏิบัติตาม คนมีปัญญาขอแบบนี้
ทิฏฐธัมมัสสะ ภาคี โหมิ หรือว่า ทิฏฐธัมมัสสะ ภาคินี โหมิ-ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมที่ท่านได้รู้ได้เห็นแล้วเถิดขอรับ
ผู้มีความศรัทธาตั้งมั่นจะยินดีในการเห็นสมณะ เพราะรู้ว่าสมณะเป็นต้นแบบที่ดีงามของชีวิต ท่านมีกัลยาณศีล มีกัลยาณธรรมที่งดงาม มีธรรมะเป็นอาภรณ์ จึงเป็นผู้มีใจสงบจากกิเลส ท่านไม่ทำบาปทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นผู้ที่มีความปลอดภัย ความเมตตาปรารถนาดีกับทุกท่าน ถ้าเราได้เข้าใกล้ก็จะรับรู้ได้ถึงความสงบเยือกเย็น จะทำให้เราพลอยเป็นผู้มีใจสงบเย็นตามไปด้วย
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสถึงอานิสงส์ของการเห็นสมณะไว้ในโพชฌงคสังยุตที่ว่า การได้เห็นสมณะหรือพระภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็คือความหลุดพ้น ญาณปัญญาที่ถึงความหลุดพ้นนี่ จะเป็นเหตุให้ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ แล้วมีโอกาสได้ปฏิบัติตามธรรมนั้น จึงจะทำให้โพชฌงค์ ๗ ประการบริบูรณ์ ถึงความบริสุทธิ์จากอาสวะกิเลสทั้งปวง จะสามารถพ้นจากความทุกข์ทั้งมวลได้
ดังนั้น การได้พบเห็นสมณะ ถือว่าเป็นบุญลาภอันประเสริฐ ที่จะกระตุ้นเตือนจิตใจของเราให้สงบระงับจากความชั่วและบาปอกุศลทั้งหลาย เราจะมีกำลังใจในการฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นผู้มีความบริสุทธิ์จนสามารถกำจัดมลทินทั้งหลายให้หลุดร่อนไปตาม ลำดับ เช่น ขจัดมลทินคือความตระหนี่เป็นต้นได้ จิตใจของเราจะเข้มแข็งขึ้น และพร้อมที่จะอบรมกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไปตามอย่างพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย การเห็นสมณะ ปฏิบัติตามสมณะ จึงเป็นมงคลอย่างยิ่ง
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องผ่านหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ