แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๒๐ ความอดทนอดกลั้นและความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านให้เอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันพุธที่ ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล วันนี้ขึ้นมงคลข้อที่ ๒๗-๒๘“ขันตี โสวจสฺสตา” ข้อที่ ๒๗ ขันติ อดทน ความอดทนเป็นเครื่องตกแต่งจิตใจของเราไม่ให้เกิดความท้อถอย ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ที่จะสำเร็จด้วยความง่ายโดยไม่มีอุปสรรคเป็นไม่มี ทุกอย่างจะต้องมีอุปสรรคทั้งสิ้น ต่างกันแต่ว่าจะมากจะน้อยกว่ากันเท่านั้น ด้วยเหตุนี้บุคคลผู้ที่หวังความเจริญในกิจการต่างๆ ต้องปลูกฝังความอดทนให้มีอยู่ในใจเพื่อจะเป็นเครื่องต้านทานสิ่งที่จะมาทำให้สิ่งที่เราปรารถนาต้องสูญเสียไป เหมือนกับว่าร่างกายของเรานี้กำลังต้านทานโรคเอาไว้ หรือไม่อย่างนั้น เราก็ต้องฉีดวัคซีนป้องกันตัวเอาไว้ฉันใด บุคคลที่มีขันติอยู่ในตนแล้วก็เหมือนมีกำลังต้านทานหรือมีวัคซีนป้องกันตัวฉันนั้น พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ต่างทรงสรรเสริญขันติว่าเป็นคุณธรรมที่สำคัญสำหรับชีวิตของผู้ที่บำเพ็ญบารมีในการสร้างบุญในการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคผลพระนิพพาน เป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง ดังที่ทรงแสดงไว้ในโอวาทปาติโมกข์ ตรงท่อนกลางที่ว่า “ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา” ความอดทนคือความอดกลั้น เป็นตบะธรรม ก็คือ เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยอดเยี่ยม “ขันติ” เมื่อแปลตามตัวก็จะได้ความหมายว่าความอดทน ท่านจำแนกความอดทนเอาไว้ ๓ ประการง่ายๆ ก็คือว่า ทนลำบาก ทนตรากตรำ แล้วก็ทนเจ็บใจ
ทนลำบากนั้น อธิบายว่า ความที่มีความอดทนต่อความเจ็บไข้ได้ป่วยอันเกิดจากการที่เราได้รับความทุกขเวทนาทางกาย หรือได้รับบาดเจ็บอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วไม่แสดงอาการทุรนทุรายหรือว่าส่งเสียงร้องครวญคราง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความลำบากแก่ผู้พยาบาลอีกด้วย ความอดทนต่อทุกขเวทนาอย่างนี้เรียกว่าทนลำบาก
ทนตรากตรำก็ได้แก่ การทนต่อความหนาวความร้อนทนแดดทนฝน ในระหว่างที่เราประกอบกิจการงานต่างๆ ซึ่งจะต้องประสบกับความหนาวความร้อนลมแดด สัมผัส เหลือบยุง ต่างๆ เราก็มีความอดทนไม่ทอดทิ้งกิจการงานกลางคัน ฟันฝ่าอุปสรรคนั้นๆ จนกว่าจะบรรลุถึงสิ่งที่ตนปรารถนา
ส่วนทนความเจ็บใจก็ได้แก่การอดทนต่อการถูกด่าว่า เสียดสีจากคนทั่วๆไป ถูกนินทาว่าร้าย ถูกใส่ร้าย เหล่านี้เป็นต้น แล้วก็ไม่แสดงอาการโกรธเคืองหรือความอาฆาต เหล่านี้เรียกว่าทนเจ็บใจ เป็นลักษณะของความหมายของคำว่าขันติ แต่ความหมายของคำว่าขันติในมงคลข้อนี้ท่านก็ยกอธิบายถึง อธิวาสนขันติ หมายถึง ความอดทนต่อคำว่าร้ายคำด่าทอ เสียดสีของบุคคลอื่น หมายเอาความที่บุคคลที่ล่วงเกินเรานี้ มีฐานะต่ำกว่าเรา แต่ถ้าผู้นั้นมีฐานะสูงกว่าเราแล้ว เราก็ไม่มีทางที่จะโต้ตอบเขาได้เพราะเขามีอำนาจมากกว่า ความอดทนที่มีความกลัวนั้นไม่จัดเป็นอธิวาสนขันติ คือความอดทนอดกลั้นอย่างยิ่ง ซึ่งมีพระบาลีในมงคลทีปนีท่านแสดงว่า คนอดทนต่อถ้อยคำของคนที่สูงกว่าเพราะความกลัว อดทนต่อคำของคนเสมอกันได้เพราะแข่งดีกันเสมอกัน แต่ถ้าผู้ใดในโลกนี้ทนคำของคนเลวกว่าได้ สัตบุรุษกล่าวว่า ความอดทนนั้นสูงสุด
เหมือนคราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ถูกพระนางมาคันทิยาจ้างพวกข้าทาส พวกกรรมกร พวกคนรับใช้ พวกเห็นแก่เงินทั้งหลายจ้างเอาเงินให้แล้วก็มาด่าทอพระพุทธเจ้า ด้วยความโกรธ นางมาคันทิยาผูกใจเจ็บพระพุทธเจ้าตั้งแต่ที่พระพุทธองค์เสด็จแคว้นกุรุ ไปโปรดพ่อแม่ของนางจนพ่อแม่ของนางเป็นอนาคามี แต่นางไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วย ผูกใจเจ็บพระผู้มีพระภาคเจ้าจนกระทั่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จนครโกสัมพี ตอนนั้นนางได้เป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าอุเทน มีกำลังทรัพย์ ก็เลยจ้างคนไปด่าพระพุทธเจ้าด่าด้วยถ้อยคำต่างๆ จนคนทั่วไปฟังไม่ได้ พระอานนท์เป็นโสดาบันก็ยังทนฟังไม่ได้ บอกว่าพวกเราไปเมืองอื่นกันเถอะพระเจ้าข้า แล้วถ้าคนที่เมืองอื่นเขาด่าเราอีกล่ะ? ก็ไปเมืองต่อไปพระเจ้าข้า แล้วคนเมืองนั้นเขาด่าเราอีกล่ะ? ก็ไปเมืองต่อๆไปพระเจ้าข้า พระพุทธองค์ก็เลยตรัสว่าเหตุเกิดขึ้นที่ใดควรให้สงบระงับที่แห่งนั้นก่อน แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสว่า “อหํ นาโคว สงฺคาเม” เป็นต้น เราเหมือนกับช้างที่ก้าวลงสู่สงคราม ต้องอดทนต่อลูกศรจากหอก จากดาบที่ยิงมาจากทั้ง ๔ ทิศ เราต้องอดทนต่อคำเสียดสีคำล่วงเกินของบุคคลอื่น คนอดทนต่อถ้อยคำของคนที่สูงกว่าก็เพราะว่าความกลัวอดทนต่อคำของคนเสมอกันได้เพราะว่าแข่งดี แต่ถ้าผู้ใดในโลกนี้ทนต่อคำของคนที่เลวกว่าตนเองได้ นั่นแหละเป็นความอดทนที่ประเสริฐสุด พระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้
จากพระพุทธพจน์ตรงนี้ แสดงให้เห็นว่าใครก็ตามที่อดทนอดกลั้นต่อคำพูดของคนเลว คนที่ไม่มีศีล คนที่ไม่มีธรรม ถึงจะมีตำแหน่งหน้าที่ มียศถาบรรดาศักดิ์ มีทรัพย์สินเงินทองมากมายแต่ก็จัดว่าเป็นคนที่เลวกว่า เลวกว่าทางด้านจิตใจ เพราะเขา ไม่มีศีล ไม่มีธรรม ทำตามใจ ทำตามอารมณ์ ทำตามความรู้สึก ด้วยอำนาจของกิเลสที่มันสั่งให้ด่า สั่งให้ว่า เมื่อความโกรธเกิดขึ้นก็ระงับความโกรธไว้ไม่ได้ ด่าว่าออกมา การอดทนต่อคำพูดของคนที่เลวกว่าตนได้เป็นธรรมที่ประเสริฐสุด หรือแม้ว่าเขาจะต่ำต้อยด้วยฐานะเป็นคนที่อยู่ในชนชั้นต่ำ แต่ว่ามาด่ามาว่าเรานี่ ถ้าอดทนได้เป็นความอดทนที่ประเสริฐยิ่ง ดังนั้น อภิวาสนขันติ-ความอดทนอดกลั้นอย่างยิ่งจึงเป็นสิ่งสำคัญ จึงเป็นสิ่งประเสริฐ
ช่วงเวลาของชีวิตเรานั้นมันสั้น เราจึงไม่ควรประมาทพึงเร่งทำความเพียรเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย มีธรรมภาษิตบทหนึ่งที่ว่า “ผู้มีขันติ ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระบรมศาสดา และผู้มีขันติชื่อว่าบูชาพระชินเจ้าด้วยการบูชาอย่างยิ่ง” พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงคุณธรรมคือขันติว่าเป็นตบะธรรมอย่างยิ่ง คุณธรรมคือศีล สมาธิ ปัญญา จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะอาศัยความอดทน การที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงพระรัตนตรัยเพื่อมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานนี้ต้องมีความอดทนหลายๆ ประการ เช่น อดทนต่อความยากลำบาก อดทนต่อการกระทบกระทั่ง อดทนต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย อดทนต่อกิเลสเย้ายวน ตลอดจนอดทนในการฝึกฝนเพื่อพัฒนาจิตใจเพราะขันติเป็นตบะ คือเป็นเครื่องแผดเผากิเลสให้มันเร่าร้อน เมื่อกิเลสเร่าร้อน ก็หลุดร่อนออกไปจากใจ แต่ถ้าไม่มีความอด ไม่มีความทนจากที่จะเผากิเลส กิเลสมันก็จะเผาเราอยู่ทุกวันๆ กุศลธรรมทั้งมวลเจริญขึ้นมาก็เพราะความอดทน ผู้มีความอดทนจึงได้ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระบรมศาสดา เป็นการปฏิบัติบูชาที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ
มีพระบารมีที่ปรากฏในพราหมณสูตรว่า ”กุลบุตรใดไม่มีความพยาบาท ไม่เบียดเบียนมีความสงบวิเวกเป็นอาวุธ มีความอดทนเป็นเกราะ กุลบุตรนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความเกษมจากโยคะจากกิเลสที่ร้อยรัด ฌานอันยอดเยี่ยมภายในเกิดขึ้นในบุคคลเหล่าใดบุคคลเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ ย่อมพ้นไปจากโลกโดยความแน่ใจว่ามีชัยชนะโดยแท้”
บารมีที่สำคัญประการหนึ่งในการสร้างบารมีแบบพระพุทธเจ้าบารมี ๑๐ อย่าง บารมี ๑๐ ประการ ขันติบารมีก็เป็นหนึ่งในนั้น ขันติคือความอดทน จึงเป็นตบะที่จะนำเราก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิต เพราะในขณะเดินทางไกลจะต้องเจอปัญหาอุปสรรคนานัปการ ถ้าหากเรามีความอดทนแล้ว แม้มรสุมร้ายจะถาโถมเข้ามากระทบนาวาของชีวิตระลอกแล้วระลอกเล่า เราก็จะยังยืนหยัดสู้ต่อไป ไม่ยอมให้นาวาชีวิตลำนี้ล่มเสียกลางทะเล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญขันติธรรมว่าเป็นเลิศเป็นหลักเป็นประธานที่ทำให้เกิดคุณคือศีล สมาธิ กุศลธรรมทุกอย่างนี่จะเจริญขึ้นมาได้ก็เพราะอาศัยขันตินี้แหละเป็นพื้นฐาน ผู้มีขันติธรรมอยู่ในใจนี้ จะทำให้เกิดคุณคือศีล คือสมาธิและปัญญาได้ในที่สุด ขึ้นชื่อว่าย่างขึ้นหนทางสวรรค์และพระนิพพาน ดังที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่ายกเว้นปัญญาเสียแล้ว เราตถาคตสรรเสริญว่าขันติเป็นเลิศคู่กับปัญญา เพราะฉะนั้น ขันติบารมีจึงเป็นบารมีที่เราจะต้องสั่งสมไว้ให้มากในการประพฤติในการปฏิบัติ เป็นอุปนิสัยเป็นปัจจัยที่จะติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ
อานิสงส์ของขันติ พระพุทธเจ้าก็ตรัสแสดงไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทนมี ๕ ประการ คือ ผู้อดทนย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก เป็นผู้ไม่มากด้วยเวร เป็นผู้ไม่มากด้วยโทษ เป็นผู้ไม่หลงกระทำกาละคือเป็นผู้ไม่หลงตาย และเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทนมี ๕ ประการเหล่านี้แล” นี่คือความอดทน อดทนอดกลั้นจึงจะเป็นมงคลอย่างยิ่ง
มงคลข้อที่ ๒๘ โสวจัสสตา ความเป็นคนว่าง่าย จะสืบเนื่องกันมา เรื่องของมงคลข้อนี้ ท่านแสดงไว้ว่า “โสวจัสสตา” แปลว่าความว่าง่าย ว่านอนสอนง่าย ได้แก่ความไม่ดื้อนั่นเอง ความว่าง่ายนั้นท่านใช้คำว่า “โสวจัสสตา” หรือว่า “สุวโจ”ความหมายเดียวกันคือคนว่าง่าย ว่ากล่าวตักเตือนได้ง่าย ดังนั้น เพื่อความเข้าใจให้เราพิจารณาความหมายว่าคนอย่างไรเรียกว่าคนว่าง่าย อย่างที่สอง ทำอย่างไรจึงจะเป็นคนว่าง่ายและผลดีของความเป็นคนว่าง่าย
อันดับแรก คนว่าง่ายได้แก่ คนที่ฟังคำสั่งสอนหรือคำตักเตือนจากผู้อื่นแล้วใจของตนมีความรู้สึกยินดี รับคำสั่งสอนและคำตักเดือนนั้นด้วยดี ตรงกันข้ามไม่ถือว่าเป็นคนว่าง่าย
ข้อสังเกตเกี่ยวกับความเป็นผู้ว่าง่ายที่เราๆ ท่านๆ มักจะมีความเข้าใจไขว้เขวอยู่เสมอก็มีอยู่ ๒ ลักษณะ ก็คือว่าคนเห็นแก่ได้กับคนหัวอ่อน คนที่เห็นแก่ได้กับคนหัวอ่อนนี้มีกิริยาคล้ายคลึงกันมาก ถ้าไม่เข้าใจไม่อ่านคนให้ออกก็จะมองคนไม่ชัดก็จะใช้คนไม่เป็น และก็เห็นคนอื่นไม่ชัดก็จะคว้าผิดคิดไปว่าคนเห็นแก่ได้เป็นคนว่าง่ายไปเสีย ดังนั้น ทำความเข้าใจ คนเห็นแก่ได้ทำอาการเหมือนคนว่าง่ายนั้น ความจริงไม่ใช่คนว่าง่าย แต่เสแสร้งทำกิริยาอาการเป็นคนว่าง่ายเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง พอได้ผลที่ตัวเองต้องการแล้วก็เลิกเป็นคนว่าง่ายเสีย ตัวอย่างเช่น ลูกบางคนแสร้งทำตนเป็นคนว่าง่าย เพียงเพราะอยากได้อะไรสักอย่างหนึ่ง ก็รีบรับทำทีว่าเชื่อฟังและจะนำไปปฏิบัติเพื่อให้พ่อแม่เข้าใจผิดคิดว่าลูกตัวเองเป็นคนว่าง่ายสอนง่าย แล้วท่านก็มอบทรัพย์สมบัติให้ พอได้ทรัพย์สมบัติมาแล้วเลิกกระทำอย่างนี้ คือ ไม่เชื่อฟังคำพ่อแม่อีกต่อไปแล้วเพราะได้เงินได้ทองได้ทรัพย์มรดกที่ตัวเองอยากมา เจตนาอย่างนี้พระพุทธองค์ไม่ทรงรับรองว่าเป็นคนว่าง่าย ทรงยืนยันไว้ใน กกจูปมสูตรว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่ทำตัวเป็นคนว่าง่ายสอนง่ายเพราะเห็นแก่อามิสต่างๆ มีอาหารการกิน มีอาหารบิณฑบาต มีที่อยู่อาศัย เป็นต้น เราไม่เรียกว่าเป็นคนว่าง่าย เพราะเหตุไรเราจึงไม่เรียก? ก็เพราะว่าภิกษุรูปนั้น เกิดไม่ได้ขึ้นมาก็จะเลิกเป็นคนว่าง่ายเสีย แต่ถ้าภิกษุรูปใดเป็นคนว่าง่ายสอนง่ายโดยที่ตนจะมีความเคารพหนักแน่นต่อพระธรรม ต่อพระวินัยจริงๆ ภิกษุรูปนั้นเท่านั้นที่เราจะเรียกว่าคนว่าง่าย” นั่นหมายความว่า เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายโดยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ ไม่เห็นแก่ลาภสักการะยศตำแหน่งอะไรต่างๆ แต่ทำออกมาจากใจออกมาจากพระนิพพาน ทำมาจากใจที่เห็นภัยในวัฏสงสาร มุ่งมั่นประพฤติปฏิบัติขัดเกลาเพื่อมรรคผลนิพพานจริงๆ ตามพระบรมพุทโธวาทนี้ชี้ให้เห็นว่าคนเห็นแก่ได้ไม่ใช่คนว่าง่าย เขาจะเสแสร้งทำกิริยาว่าเป็นคนว่าง่ายไปอย่างนั้นเอง จึงต้องตั้งข้อสังเกตให้ดี อ่านคนให้ออก บอกคนให้ได้ ใช้คนให้เป็น
คนหัวอ่อนอีกประเภทหนึ่งซึ่งก็คล้ายคลึงกับคนว่าง่าย โดยเฉพาะเยาวชนของชาติเป็นคนที่น่าห่วงมาก ถ้าลงได้เข้าใจผิดอะไรแล้วก็เป็นผลร้ายอย่างมากทีเดียวซึ่งก็เคยมีตัวอย่างมามากต่อมาก คือเขาคิดว่าคนว่าง่ายนั้นก็คือคนหัวอ่อน กลัวคนจะว่าเป็นคนหัวอ่อนก็เลยทำเป็นคนหัวแข็ง ทีนี้เลยยุ่งไปใหญ่ ที่จริงคนหัวอ่อนกับคนว่าง่ายนั้นไม่เหมือนกัน คนหัวอ่อนเป็นคนที่ไม่เป็นตัวของตัวเองยอมให้คนอื่นจูงจมูกได้ง่าย จูงจมูกไม่พอบางทีสนตะพายด้วย สนตะพายก็คือ เอาเชือกเจาะ แล้วก็แยงมาที่หูเหมือนโค เหมือนกระบือที่ถูกสนตะพาย แล้วก็จูงเชือกไป จูงจมูก จูงคอไปได้ง่ายคือใครสั่งให้ทำอะไรก็ทำ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ใครจะสอนให้ทำดีก็ทำ ใครจะสอนให้ทำชั่วก็ชั่วแล้วแต่คนอื่นจะปลุกจะเสก แล้วแต่คนอื่นจะชักใยอยู่เบื้องหลัง คนว่าง่ายแบบนี้ไม่ใช่ว่าโสวจัสสตาแบบที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเอาไว้ คือไม่เป็นตัวของตัวเอง เป็นสุวะโจเป็นผู้ว่าง่ายจริงๆ นี่ก็คือว่าเป็นคนที่เป็นตัวของตัวเอง ใครจูงจมูกไม่ได้ แต่ใจของตัวเองนั้นนี่ต้องมีความเห็นถูกเข้าใจถูก จึงจะเป็นตัวของตัวเองในสิ่งที่ดี พูดง่ายๆ คนหัวอ่อนกับคนว่าง่ายต่างกันตรงที่ว่าคนว่าง่ายมีจุดมุ่งหมายไว้ในใจเท่านั้นอย่างเช่นว่า นักเรียน ๒ คน คนหนึ่งตั้งจุดหมายไว้ว่าจะสอบให้ได้แล้วก็ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อที่จะให้ตนสอบได้ ครูสอนก็ฟัง เพื่อนนักเรียนสอนให้ก็เอา ที่สุดแม้แต่ภารโรงบอกความรู้ให้ก็ยังรับฟังเพื่อให้ตนได้ลุถึงจุดหมายคือสอบไล่ได้ นี่คือคนว่าง่าย ส่วนคนหัวอ่อนเป็นคนไม่มีจุดหมายคือไม่ได้ตั้งจุดหมายไว้ที่สอบไล่ได้ เรียนหนังสือก็สักแต่ว่าเรียน ครูสอนก็ฟังเพื่อนชวนหนีโรงเรียนก็เอา เพื่อนที่เกเรชวนไปชกต่อยกับเขาก็เอา อย่างนี้เรียกว่าคนหัวอ่อน
มองเข้ามาในชาววัดในพุทธบริษัทก็เช่นเดียวกัน คนที่เป็นคนว่าง่ายนั้นนี่โดยเฉพาะจุดมุ่งหมายปลายทางของสาวกลูกของพระพุทธเจ้า พุทธบริษัททั้ง ๔ โดยเฉพาะผู้ที่บวช พระพุทธองค์ให้ตั้งเป้าหมายไว้ที่มรรคผลพระนิพพาน เพราะคำปฏิญาณตนก่อนก่อนบวชก็บอกไว้ชัดเจนแล้ว ตั้งแต่คำขอบวชเอสาหังภันเตนี้ก็คือ เพื่อจุดมุ่งหมายคือมรรคผลพระนิพพาน ทีนี้พอบวชแล้วนี้ ศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัยประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ตนบรรลุถึงจุดหมาย ครูบาอาจารย์สอนก็ฟัง เพื่อนผู้ประพฤติพรหมจรรย์เห็นข้อบกพร่อง ตักเตือนมหาปวารณาก็ยอมรับฟัง แล้วก็มองให้เป็นเหมือนกับเป็นผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้แล้วก็นำมาแก้ไข มามองที่จุดบกพร่องของตัวเองมาแก้มาไขให้มีความเห็นถูกต้อง ไม่ใช่มีอีโก้มาก ใครเตือนไม่ฟัง ใครสอนก็ไม่ฟังแบบนี้ อย่างนี้คือเป็นผู้ที่ว่าง่ายสอนง่าย ส่วนคนหัวอ่อนไม่มีจุดหมายไม่ได้ตั้งจุดหมายไว้ที่มรรคผลพระนิพพานแต่ตั้งจุดหมายไว้ที่อะไรก็ได้ขอให้มีกินมีใช้ ขอให้มีลาภสักการะร่ำรวยเงินทอง ยินดีในสตรีในสตางค์ ใครชวนไปไหนก็ไป แบบนี้เป็นคนหัวอ่อน เราจึงต้องเข้าใจคนว่าง่ายกับคนหัวอ่อนจะไม่เหมือนกันอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ
คนว่าง่ายสอนง่ายในอรรถกถาท่านได้อธิบายว่ามีลักษณะที่สังเกตได้อยู่ ๑๑ ประการ คือ
๑. ไม่กลบเกลื่อนเมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือนไม่แก้ตัวไม่บิดพลิ้ว ยอมรับฟังด้วยความเคารพ
๒. ไม่ยอมนิ่งเฉยเมื่อถูกตักเตือน พยายามปรับปรุงแก้ไขปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น
๓. ไม่มีจิตเพ่งคุณ เพ่งโทษผู้ว่ากล่าวสั่งสอนคือไม่คอยจับผิดท่านแต่รับฟังโอวาทด้วยดี
๔. เอื้อเฟื้อต่อคำสอนและต่อผู้สอนเป็นอย่างดียิ่ง คือยอมทำตามคำสอนนั้นและเชื่อฟังผู้สอนอย่างดีทำให้ผู้สอนมีเมตตาเกิดกำลังใจที่จะสอนต่อๆ ไปอีก
๕. เคารพต่อคำสอนและต่อผู้สอนเป็นอย่างดียิ่ง ตระหนักดีว่า ผู้ที่เตือนคนอื่นนั้นนับว่าเสี่ยงต่อการถูกโกรธมาก ดังนั้น การที่มีผู้ว่ากล่าวตักเตือนเราแสดงว่าเขาจะต้องมีคุณธรรม อย่างน้อยๆ เขาก็ต้องเหนือกว่าเราด้วยการประพฤติด้วยการปฏิบัติ มีความเสียสละ มีความเมตตาปรารถนาดีต่อตัวเราจริงๆ จึงกล้าที่จะว่ากล่าวตักเตือน จึงต้องมีความเคารพต่อคำสอนและต่อตัวของผู้สอนเป็นอย่างดี
๖. มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอย่างดียิ่ง ไม่แสดงอาการกระด้างกระเดื่องยโสโอหัง คิดว่าตัวเองดีอยู่แล้ว เก่งอยู่แล้วไม่ต้องมาเตือน
๗. มีความยินดีปรีดาต่อคำสอนนั้นถึงกับเปล่งคำว่าสาธุ ๆๆ รับฟังโอวาทนั้นคือดีใจอย่างยิ่งว่าท่านกรุณาชี้ข้อบกพร่องของเราให้เห็น จะได้รีบแก้ไขเหมือนท่านชี้ขุมทรัพย์ให้จึงเปล่งวาจาขอบคุณไม่ขาดปาก แล้วใจก็ขอบคุณจริงๆ ว่าเป็นบุญลาภเป็นความประเสริฐเหลือเกินที่ท่านผู้บอกเป็นเหมือนกับกระจกเงาส่องสะท้อนมาให้เราเห็นในสิ่งที่เราไม่เห็นเพราะว่าเข้าข้างตัวเอง
๘. ไม่ดื้อรั้นคือไม่ดันทุรังทำไปตามใจ ตามอารมณ์ ตามอำเภอใจ ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิด แต่ทำไปตามความถูกต้อง เมื่อผิดก็ยอมรับผิด ยอมแก้ไขปฏิบัติไปตามสมควรแก่ธรรม
๙. ไม่ยินดีในการขัดคอ ขัดคอก็คือว่าไม่พูดสวนขึ้นทันที มีความประพฤติชอบเป็นที่พอใจเป็นที่ปรารถนา
๑๐. มีปกติรับโอวาทเอาไว้อย่างดีเยี่ยม ตั้งใจฟังทุกแง่ทุกมุม ไม่โต้ตอบ ยิ่งไปกว่านั้น ยังปวารณาตัวไว้อีกว่าให้ว่ากล่าวสั่งสอนได้ทุกเมื่อ เห็นข้อบกพร่องของตนเมื่อใดก็ให้ตักเตือนได้ทันที ตรงนี้นี่เหมือนกับเป็นกุศโลบายที่พระพุทธองค์ทรงให้มีการมหาปวารณาในวันออกพรรษาก็คือ ให้ผู้น้อยว่ากล่าวตักเตือนผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ว่ากล่าวตักเตือนผู้น้อยได้ เป็นการเปิดโอกาสแก่กันและกัน
๑๑. เป็นผู้อดทนแม้จะถูกว่ากล่าวสั่งสอนอย่างหยาบคาย หรือ ดุด่าอย่างไรก็ไม่โกรธอดทนได้เสมอเพราะนึกถึงพระคุณของท่านเป็นอารมณ์ นี่ก็เป็นผลมาจากการที่เราได้ปฏิบัติในมงคลข้อที่แล้ว ก็จะทำให้เป็นผู้อดทนอดกลั้นต่อคำสอนได้ แล้วความอดทนต่อคำสั่งสอนนี้ยังเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งของความเป็นกัลยาณมิตร ก็คือความเป็นคนดีที่มีคุณธรรม ๗ อย่าง ข้อที่ ๕ ก็คือว่า วจนกฺขโม - เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ ก็มีความหมายเดียวกัน
โดยสรุปแล้วลักษณะของคนว่าง่ายสอนง่ายนั้น โดยย่อก็ได้ ๓ อย่าง ก็คือว่า
๑. รับฟังคำสอนด้วยดี ไม่กลบเกลื่อน ไม่แก้ตัว ไม่เถียง ไม่ขัดคอ ไม่โต้กลับ ไม่จ้องจับผิดท่าน
๒. รับทำตามคำสั่งสอนด้วยดี ไม่ดื้อรั้นดันทุรัง ไม่รีรอ ไม่อิดออด ทำเลย
๓. รับรู้คุณผู้สอนอย่างดี ไม่โกรธ ไม่คิดลบหลู่คุณท่าน อดทนได้แม้ถูกว่ากล่าวสั่งสอนโดยหยาบคาย ไม่ว่าผู้สอนนั้นจะเป็นผู้ใหญ่กว่าซึ่งเราทำใจยอมรับได้ง่าย ไม่ว่าผู้สอนนั้นจะเป็นผู้เสมอกันซึ่งเราจะทำใจยอมรับได้ยากขึ้นอยู่ ไม่ว่าผู้สอนนั้นจะเป็นผู้น้อยกว่าซึ่งเราทำใจยอมรับได้ยากที่สุด เพราะอะไร? มานะทิฐิ อีโก้ ถือตัวจัด ถ้าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ว่าสอนนี่พอรับได้ เสมอกันก็ยังตะขิดตะขวงใจอยู่ ยิ่งเป็นผู้น้อยมาบอกมาสอนมากล่าวมาตักเตือนมาชี้แนะแล้วนี่ โอ้โห..บางทียิ่งรับไม่ได้เลย เพราะอะไร? อีโก้โดยเฉพาะอีโก้-ความถือตัว กว่าจะละได้ก็คือ เป็นพระอรหันต์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่จะยอมรับโอวาทเข้ามาสู่ใจได้ มันต้องเอาตัวอีโก้ออกไป เหมือนที่ได้กล่าวไว้เมื่อวานในเรื่องของการฟังธรรม ขจัด ego ความถือตัวออกไป ว่าเรารู้ ว่าเราเห็น ว่าเรามีความรู้อย่างนี้อะไรอยู่แล้ว อย่างนี้เป็นต้น ขจัด ego ออกไปได้จะทำให้ยอมรับได้ง่ายขึ้น
ประเภทของคนว่าง่ายโดยทั่วไปเรามักเข้าใจกันว่าคนที่เชื่อฟังผู้อื่น ไม่เถียง ทำตามที่ท่านสั่งสอนคือคนว่าง่าย ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องนัก เพราะคนมีลักษณะดังกล่าวนี้ก็ยังเหมือนกับเป็น ๓ ประเภทนั่นแหละ คือว่า
๑. ว่าง่ายเพราะเห็นแก่ได้ดังที่ได้อธิบายไว้แล้วข้างต้น ซึ่งพวกนี้เป็นคนว่าง่ายเทียม จัดเป็นพวกหัวประจบ เห็นแก่รางวัล เห็นแก่อามิสสินจ้าง เห็นแก่ผลประโยชน์อะไรต่างๆ นานา พวกนี้จัดเป็นคนว่าง่ายเทียม เป็นคนหัวประจบ
๒. คนว่าง่ายเพราะขาดความเชื่อมั่นในตัวเองคือ ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่มีความคิดเป็นของตนเอง ใครบอกให้ทำอะไรก็ทำ ชวนเรียนก็เรียน ชวนไปเที่ยวก็เที่ยวชวนดื่มเหล้าก็ดื่ม ชวนเล่นการพนันก็ไป ชวนไปวัดก็ไป ดึงไปไหนก็ไปด้วย ไปหมดแหละ ดีก็ไป ชั่วก็ไป กินเหล้าเจ้าชู้ เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน ไปหมดแหละพวกนี้ ก็คือเป็นคนหัวอ่อนนั่นแหละ ก็เป็นคนว่าง่ายเทียม จัดเป็นพวกคนโง่ แล้วก็
๓. คนว่าง่ายเพราะเห็นแก่ความดี นี่แหละประเสริฐที่สุด คือคนที่ยึดถือธรรมะเป็นหลักเป็นใหญ่ เห็นแก่ธรรมะจริงๆ จึงเป็นคนว่าง่าย ต้องการปรับปรุงแก้ไขตัวเองให้ดีขึ้นเมื่อมีผู้ว่ากล่าวตักเตือน ชี้ข้อบกพร่องให้จึงพร้อมรับฟังด้วยดี ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้ใหญ่เสมอกันหรือว่าเป็นเด็กกว่าก็ตาม จึงเป็นคนว่าง่ายที่แท้จริง
เมื่อทราบถึงลักษณะของคนว่าง่ายอย่างแท้จริงแล้ว ให้เราเข้าใจในว่าทำยังไงจึงจะเป็นคนว่าง่าย ทำอย่างไรจึงจะให้ความเป็นผู้ว่าง่ายเข้ามาสู่จิตสู่ใจ นั่นก็คือว่าต้องถอนความเป็นคนว่ายากออกเสีย แล้วความเป็นคนว่าง่ายก็จะเกิดขึ้นมาเอง เหมือนคนที่ต้องการความสุข แต่ยังเป็นสุขไม่ได้เพราะว่าตัวของตัวเองก็กำลังเป็นทุกข์เพราะยังมีโรคทางกายอยู่ เมื่อเขาทำลายโรคทางร่างกายออกไปหมดแล้ว ทุกข์ทางร่างกายก็หมดไป เมื่อทุกข์มันไม่มีก็กลายเป็นความสุขขึ้นมาฉันใด เรื่องของคนว่าง่ายก็เป็นเช่นเดียวกัน เมื่อถอนความเป็นผู้ว่ายากสอนยากออกไปทั้งหมด ความเป็นผู้ว่าง่ายก็จะปรากฏเกิดขึ้นมาทันที ความเป็นผู้ว่าง่ายนี้แหละจึงจะเป็นมงคล ใครๆ ก็ตักเตือนได้แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็ตักเตือนได้ไม่โกรธแม้คนที่โง่กว่าต่ำกว่า คนที่ต่ำกว่ามากตักเตือนก็ไม่โกรธยินดีรับฟังเอาความคิดไปนึก เมื่อเป็นคนว่าง่ายแล้วก็จะกลายเป็นคนอ่อนโยนเป็นคนสำรวม เป็นคนมีกิริยามารยาทที่อ่อนหวาน ไม่มีความกระด้างด้วยมานะทิฐิ พึงรู้ไว้ว่าความเป็นผู้ว่าง่ายเป็นคุณสมบัติของพระอริยบุคคลชั้นต้น แต่การถอนเหตุแห่งความเป็นคนว่ายากนั้นเป็นของยาก เพราะส่วนใหญ่มันก็คืออีโก้นี่แหละ ว่าเป็นตัวกูของกูเพราะว่าสักกายทิฐิมันยึดเอาไว้ เมื่อถอนตัวกูของกูถอนสักกายทิฐิออกไป ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะมันถูกถอนอีโก้ไปได้ในระดับหนึ่ง เหลือแต่มานะความถือตัวที่เป็นกิเลสอย่างหยาบยังมีอยู่ ต้องใช้อุบาย ๔ อย่างด้วยกันที่จะถอดถอนความเป็นคนว่ายากออกไป ๔ อย่างคือ ๑. ปวารณา ๒. มีปกติอภิวาทคือไหว้ ๓. มีความเคารพ ๔. มีความนอบน้อม
๑. ปวารณา คืออนุญาตให้เขาว่ากล่าวตักเตือนและแนะนำสั่งสอน เหตุที่ต้องทำดังนี้ เพราะตามธรรมดาคนเรานั้นนี่โดยมากมักจะไม่ยอมใคร ก็คือเป็นคนไม่ยอมคนนั่นแหละ ความไม่ยอมกันและกันนี่แหละทำให้บุคคลฉิบหายมามากต่อมาก ทำบ้านเมืองให้พินาศ หรืออาจจะทำให้โลกพินาศได้ เพราะความไม่ยอมให้ใครเตือน นี่เกิดมาจากมานะทิฐินั่นเอง เราอ่านประวัติศาสตร์โลกศึกษาประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานี้ เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ เมื่อผู้นำผู้ปกครองไม่ยอมรับฟังคนรอบข้างที่เป็นบัณฑิตเป็นนักปราชญ์ ก็เกิดสงคราม เกิดความพินาศเสียหาย ประวัติศาสตร์ทั่วทุกมุมโลกก็มีให้เราเห็น ดังนั้นการที่ยอมเพื่อความดี เป็นการยอมรับความตักเตือนของผู้อื่น การปวารณาก็เหมือนเรามีกระจกนี่แหละสำหรับส่องดูตัวเอง เป็นการส่องใจ เวลาเราส่องกระจก เราเห็นแต่รูปกายข้างนอก ผมอย่างนี้ หน้าอย่างนี้ ตัวอย่างนี้ แต่ใจมันส่องไม่เห็นหรอก กิริยาอาการบางอย่างเราทำไป ยังไงก็ต้องเข้าข้างตัวเองว่ามันดีมันเลิศมันวิเศษ แต่อีกมุมหนึ่ง ถ้าโดยเฉพาะเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์ ท่านมองเรามา ท่านสั่งสอนท่านตักเตือน เราต้องฟัง เพราะว่าท่านตักเตือนสั่งสอนออกมาจากใจ ออกมาจากพระนิพพาน ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไร เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้อยู่ในธรรมวินัยตักเตือนเรา เราก็ต้องรับฟัง อย่าเพิ่งไปเถียง รับฟังก่อนแล้วน้อมมาสู่ตัวเอง โอปนยิโกว่าเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าเป็นจริง เราก็ปรับเปลี่ยน กลับจิตกลับใจ กลับกายกลับตัว กลับหางกลับหัว กลับชั่วให้เป็นดีได้
ประการที่ ๒ ในการถอดถอนความเป็นผู้ว่ายากออกไปนั้นก็คือ การอภิวาท ก็เกิดมาจากการฝึกฝนมาจากการปวารณาตนก่อนนั่นแหละ คือให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนได้แล้วทำใจของเราให้มีปกติอภิวาทก็คือว่ากราบไหว้ บูชา ยกมือ ผู้ที่ไหว้ย่อมได้รับการไหว้ตอบ ความอ่อนน้อมถ่อมตนนี่แหละจึงทำให้เป็นคนน่ารัก เพราะฉะนั้น คุณธรรม ๒ อย่างที่ทำให้บุคคลเป็นผู้งดงาม งามภายนอกงามภายในก็คือ ขันติโสรัจจะ
ขันติความอดทนเป็นมงคลข้อที่ผ่านมา โสรัจจะความเป็นผู้สงบเสงี่ยมก็คืออ่อนน้อมถ่อมตัว มาจากคุณธรรมข้อก่อนๆ มงคลข้อก่อนๆ บวกกับความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายแล้วจึงเป็นโสรัจจะ-สงบเสงี่ยม จึงทำให้คนนั้นงามนอกงามใน คนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือคนที่ทำตนให้เล็กที่สุด ทำตนให้เล็กคือทำยังไง ทำอีโก้ให้มันน้อย ถึงแม้จะกำจัดไม่ได้ก็ทำให้มันน้อยลง ให้มันฝ่อลง คนที่เล็กที่สุดก็จะกลายเป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด การอภิวาทกราบไหว้จะเป็นการทำลายกิเลสคือทิฐิมานะ ความกระด้างของตัวเอง
การถอดถอนความเป็นผู้ว่ายากประการที่ ๓ ก็คือว่า ทำตนให้มีความเคารพ ทำให้เกิดความเจริญที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญซึ่งได้กล่าวไว้อย่างละเอียดในมงคลข้อที่ ๒๒ คือ คาระโว เราย้อนไปฟัง
อันดับที่ ๔ การถอดถอนความเป็นผู้ว่ายาก ก็คือ ความอ่อนน้อมความถ่อมตนซึ่งได้กล่าวไว้อย่างละเอียดในมงคลข้อที่ ๒๓ คือ นิวาโต ซึ่งจะทำให้ตนนี้เป็นผู้ที่รักใคร่ของผู้อื่น ทำให้เรามีที่พึ่งได้ เพราะฉะนั้น จึงสืบเนื่องมาจากคุณธรรมมงคลข้อที่ผ่านๆ มา
โลกเราทุกวันนี้เกิดความเสื่อมเสียขึ้น เกิดความเสื่อมเสียขึ้นมาก็เพราะว่าความว่ายากสอนยากทั้งสิ้น ไม่เลือกว่าผู้ใหญ่ผู้น้อย อันความว่ายากสอนยากนี้ ตามปกติเรามักจะเพ่งเล็งเอาผู้น้อยคือเด็กๆ เท่านั้น หาได้คิดเฉลียวใจไม่ว่าผู้ใหญ่ที่ว่ายากสอนยากนั้นก็มี มีมากด้วย บางทีดัดยาก ไม้แก่มันดัดยาก ไม้อ่อนมันดัดง่าย ผู้น้อยว่ายากสอนยากยังพอที่จะมีทางแก้ไขได้เพราะไม้อ่อนยังดัดง่าย เพราะสติปัญญายังน้อยยังอ่อนมานะทิฐิยังอ่อน เหมือนไม้ที่อ่อนอยู่ก็ดัดได้ง่าย ส่วนผู้ใหญ่ซึ่งเหมือนกับไม้แก่แล้วดัดยาก การว่ากล่าวตักเตือนคนแก่นั้นดูเหมือนจะมีทางสำเร็จยาก พอดัดไปดัดมานี่ ไม่ยอมให้ดัดนะ หักเลย ความเดือดร้อนที่มีอยู่ทุกวันนี้ส่วนมากมักจะเกิดมาจากความคิดเห็นของคนใหญ่ที่มีอำนาจ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ทำให้ผู้คนเดือดร้อนประชาชนประเทศชาติเดือดร้อนในที่สุด
“บุคคลควรเห็นผู้มีปัญญาที่คอยกล่าวคำขนาบชี้โทษของเราให้เห็นว่าเป็นดุจผู้ชี้บอกขุมทรัพย์ให้ ควรคบบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้นเพราะเมื่อคบแล้วย่อมมีแต่ดีฝ่ายเดียว ไม่มีเลวเลย” พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้เช่นนี้ ดังนั้น เพื่อความเจริญแก่ตัวเองและประเทศชาติ พระพุทธองค์จึงสอนให้เราเป็นคนว่าง่าย ซึ่งไม่เสียเกียรติเสียศักดิ์ศรีของเราแต่ประการใด ผู้ใดประพฤติได้ปฏิบัติได้ก็จะเกิดเป็นมงคลอย่างยิ่งเป็นอุดมมงคลแก่ตัวเอง
อานิสงส์ของความเป็นคนว่าง่ายนั้น ท่านก็สรุปว่า
๑. ทำให้เป็นที่เมตตาอยากแนะนำพร่ำสอนของคนทั้งหลาย
๒. ทำให้ได้รับโอวาทคำสั่งสอนได้มาก
๓. ทำให้ได้รับธรรมะอันเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง
๔. ทำให้ละโทษคือกิเลสทั้งปวงได้
๕. ทำให้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงได้โดยง่าย
เราที่เกิดมา ที่เวียนว่ายตายเกิด เราจะทำตามอวิชชา ทำตามความหลง ทำตามความไม่รู้มาตั้งหลายร้อยหลายแสนหลายล้านชาตินั้นไม่ได้ เราทุกคนคือผู้ที่ประเสริฐเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้มาพบพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ จะได้นำเราหยุดเวียนว่ายตายเกิด เราไปทำตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกไม่ได้ มันคือการเวียนว่ายตายเกิด เพราะพระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญพระพุทธบารมีจนได้ตรัสรู้ ได้มาบอกมาสอน เราทุกคนก็ต้องหยุดตัวเอง เปลี่ยนฐานใหม่ แต่ก่อนเดินทางไปทางทิศตะวันตก มันตกต่ำไปเรื่อยๆ เรามาเปลี่ยนฐานใหม่ไปทางทิศตะวันออกเพื่อจะออกจากทุกข์ ออกจากวัฏสงสาร
ทุกท่านทุกคนต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง เอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง มีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ สิ่งที่เราเคยทำเคยปฏิบัติมาแต่ก่อน มันก็ผ่านไปแล้วเป็นการยุติไป เราทุกคนจะต้องมาฝึกมาปฏิบัติในปัจจุบัน นี่เรียกว่าความอดทน เพื่อให้ใจของเราสงบ ใจของเราเย็น เหมือนเราก่อกองไฟกองใหญ่เราก็ต้องหยุด ความหยุดนั้นมันจะเป็นความเย็น แต่มันจะเย็นทันทีนั้นมันก็คงเป็นไปไม่ได้ ต้องให้ทุกคนเข้าใจ เหมือนอาหารที่เราปรุงสุกด้วยไฟ เอาออกจากไฟใหม่ๆ ออกจากเตาใหม่ๆ มันก็ย่อมร้อน ต้องรอให้มันเย็นก่อน ที่รอให้เย็นนั่นแหละเรียกว่าอดทน
เราทุกคนต้องกลับมาหาสติสัมปชัญญะ กลับมาหาหายใจเข้ามีความสุขหายใจออกมีความสุข หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย รอให้สงบให้เย็นก่อน ขันติความอดทนถึงเป็นทางนำเราไปสู่มรรคผลพระนิพพาน ความอดทนถึงเป็นความสุข เป็นความดับทุกข์ เป็นสัมมาทิฏฐิที่มนุษย์ผู้มีปัญญาต้องพากันอดทน ความอดทนถึงเป็นความสุข ถ้าเรามีอานาปานสติ เราจะเปลี่ยนจากเรื่องที่เราทำจนเคยชิน เราก็จะหยุด หยุดแล้วก็จะกลับมาหาอานาปานสติ กลับมาหายใจเข้าหายใจออกสบาย หลายๆ ครั้งแล้วกลับมาหาภาวนาวิปัสสนา เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันไม่แน่ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เราต้องรู้จัก นั่นคือความเวียนว่ายตายเกิด เราเอาอานาปานสติยังไม่พอ เราต้องเอาปัญญาคือวิปัสสนาด้วย เราทุกคนตามใจของตัวเองจนเคยชิน พระพุทธเจ้าแสดงธรรมที่ตรงกันข้ามกับการเวียนว่ายตายเกิด เราตามใจตามอารมณ์ที่พระพุทธเจ้าบอกสอน บางคนกระอักเลือด มีบางกลุ่มบรรลุเป็นพระอรหันต์ บางกลุ่มก็สึกหาลาเพศไป
ความอดทนนี้ให้ทุกคนเข้าใจ ที่ไม่เข้าใจเรื่องความอดทน เรียกว่าเป็นคนไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นั่นคือ ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ คนเรานี้คิดว่าทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกตัวเองมันดี อันนั้นไม่ใช่ มันเป็นทางแห่งหายนะ ความอดทนนี้ถึงเป็นสิ่งที่ดีมากประเสริฐมากเห็นไหมคนเรา พระพุทธเจ้ามีความอดทนสูงมาก บำเพ็ญพระพุทธบารมีมาทุกภพทุกชาติ ตั้งแต่อดทนว่ายน้ำ แบกแม่ไว้บนบ่า ว่ายน้ำจนถึงฝั่ง อดทนสร้างบารมีทุกภพทุกชาติ ในชาติที่เป็นพระเตมีย์ก็อยู่นิ่งๆ อดทนตั้ง ๑๖ ปี คนเราถ้าไม่รู้จักก็เพราะว่ามีความขี้เกียจขี้คร้าน ความขี้เกียจขี้คร้านตามใจตัวเองนั่นคือหายนะ คิดว่ามันดีเลยไม่มีความอดทน ทุกคนที่ขี้เกียจทั้งหลายทั้งปวง ตามใจตัวเองมันคือความหายนะ ผู้ที่บวชมาทั้งหลาย ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย นึกว่าการปล่อยวางคือการไม่ทำอะไร คือไม่ได้ฝืน ไม่ได้อด ไม่ได้ทน อันนี้มันไม่ใช่ อันนี้คือไม่รู้อริยสัจ ๔ พระพุทธเจ้าถึงประทานโอวาทปาติโมกข์ ตอนกลางที่บอกว่า”ความอดทนอดกลั้นเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง” ความอดกลั้นเป็นเรื่องประเสริฐ คนเรานึกว่าไม่ได้ตามใจ นึกว่ามันไม่ถูกต้อง การไม่ตามใจตัวเองนี่แหละมันถึงถูกต้อง เราจะเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ มันถึงจะแก้ปัญหาได้ ความอดทนทุกคนต้องมี ถ้าไม่มีความอดทนไม่ได้ เพราะเราอยู่ด้วยกันสองคนหรือว่าทำธุรกิจหน้าที่การงาน ความดีของเราคือความอดทน เรามองดูแล้วคนทั้งโลกนี้ไม่มีความอดทน แล้วก็เป็นคนขี้เกียจขี้คร้านไม่ขยันไม่รับผิดชอบเพราะว่าไม่อยากทวนกระแสกิเลสคือไม่อยากปฏิบัติ นั่นแหละถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ การปฏิบัติของเราจะไปได้ยังไงเพราะว่าไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย ไปถามใจตัวเองยังไปตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกของตัวเอง เพราะว่าหลวงพ่อดูแล้ว พระเณรก็ขี้คร้าน โยมก็ขี้คร้านเพราะว่าไม่มีความอดทน ถ้าไม่มีความอดทนมันก็ต้องกระอักเลือด มันก็ต้องลาสิกขา
การลาสิกขาไม่ได้หมายความว่าลาสึกไป ถึงจะโกนหัวอยู่อย่างนี้ ถ้าไม่ได้ปฏิบัติ ละทิ้งสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ก็ถือว่าลาสิกขา เพราะไม่มีความอด ไม่มีความทน ยังมีทิฐิมานะอัตตาตัวตน คำว่าลาสิกขาไม่ได้หมายความว่าเอาผ้าเหลืองออกอย่างเดียว พระคุณเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ลาสิกขาเยอะ แต่คนไม่มีตาคือปัญญาก็คิดว่าแค่เอ่ยแค่พูดว่า“สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ คิหีติ มํ ธาเรถ” นั่นคือการลาสิกขา ความจริงไม่ต้องไปว่าหรอก ถ้าเราไม่มีความอดทน ไม่ประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทน้อยใหญ่ ชื่อว่าเราลาสิกขาแล้ว เพราะการปฏิบัติธรรมนั้น การประพฤติพรหมจรรย์นั้นไม่เหมือนกับกฎหมายบ้านเมือง แต่อยู่ที่พระธรรมวินัย แต่ก่อนโง่ไปนาน นึกว่าสึกต้องพูดว่า“สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ” ถ้าเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง อยากคิดอะไรก็คิดไปเลย อยากคิดถึงสาวก็คิดไป อยากคิดจะกินก๋วยเตี๋ยวก็คิดไป คิดอยากไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ก็คิดไปเลย อย่างนี้มันไม่ได้อดไม่ได้ทน อย่างนี้มันไม่รู้จักทุกข์ อย่างนี้มันก็เท่ากับลาสิกขาแล้วใช่ไหม? ถึงไม่เท่า ก็คือลาสิกขานั่นแหละ
เรามาเห็นภัยในวัฏสงสาร เราจะเป็นคนหัวดื้อไม่อ่อนน้อมเข้าหาธรรม เราก็เป็นคนว่ายากสอนยาก เป็นคนไม่ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ถ้าเราตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก เป็นเครื่องหมายการันตีว่าเราไม่รู้จักอริยสัจ ๔ จึงเป็นผู้ที่ว่ายากสอนยากอย่างลึกซึ้งเลย การประพฤติการปฏิบัติของเราก็จะไม่เกิดขึ้นกับเราในปัจจุบัน เพราะเป็นคนเพลิดเพลินในกาม เพลิดเพลินในพยาบาท ถ้าไม่มีการปฏิบัติ ฐานของเราจะไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ เดินทีละก้าว ทานข้าวทีละคํา ทําทีละอย่าง ด้วยขันติความอดทนและความเป็นผู้ว่าง่าย ด้วยการปฏิบัติ ตัดความเป็นผู้ว่ายากสอนยากที่มันติดกับเรา เป็นไวรัสที่มันกัดกินถึงเยื่อในกระดูก นั่นคือโครงสร้างของร่างกายมนุษย์ที่มันกัดกินใจอยู่อย่างลึกซึ้ง มันเลยเป็นโครงสร้างของทุกข์ของวัฏสงสาร
ความอดทนนี่แหละเป็นที่เริ่มต้นในการที่จะเปลี่ยนแปลง ความอดทนถึงเป็นศีลเป็นทั้งสมาธิเป็นทั้งปัญญาที่จะมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว บางคนก็หัวดีแต่ไม่มีความอดทนก็ไปไม่ได้ หัวดีฉลาดข้ามอารมณ์ไม่ได้ ส่วนใหญ่เราทุกคนก็จะพากันมักง่าย ไม่มีความอดทน เมื่อไม่มีความอดทน ศีลก็ไม่มีสมาธิก็ไม่มีปัญญาก็ไม่มี ที่เราประพฤติปฏิบัติที่เป็นสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นก็คือ ความประพฤติคือศีล ความตั้งมั่นว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้ถูกต้อง เพื่อจะอบรมบ่มอินทรีย์เขาเรียกว่าสมาธิ แล้วต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็จะไปตามความคิดตามอารมณ์ อย่างนี้มันก็ไม่ได้ ที่เราทุกคนเสียคนก็เพราะว่าไม่มีความอดทน ไม่อดทนในการรักษาศีล ไม่อดทนในการทำสมาธิ ไม่อดทนในการทำความเพียร ไม่อดทนในการเจริญปัญญา มันก็ไปไม่ได้
เรื่องการประพฤติการปฏิบัติมันเป็นเรื่องปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องอดีตอนาคต ปัจจุบันเราต้องมีความสุขในการประพฤติในการปฏิบัติ การทำปัจจุบันให้ดีก็คือกรรมเก่าในนาทีข้างหน้า ทุกๆ คนต้องเห็นประโยชน์เห็นคุณค่าของความอดทน ชีวิตที่ล้มเหลวก็คือชีวิตที่ไม่อดทน เป็นชีวิตที่ไม่แข็งแรง เพราะปัจจุบันมันต้องแข็งแรง ต้นไม้ที่เราปลูก หน้าฝนก็ต้องเผชิญฝนอย่างเต็มที่ หน้าแล้งก็ต้องเผชิญกับความแห้งแล้งอย่างเต็มที่ หน้าหนาวก็ต้องเผชิญกับความเหน็บหนาวอย่างเต็มที่ ถ้าไม่มีความอดทนต้นไม้ก็ตาย ถ้าเราผ่านหน้าฝนหน้าแล้งหน้าหนาวได้สักหนึ่งปี ชีวิตของต้นไม้นั้นก็ย่อมดีขึ้น คนเราก็เหมือนกัน ต้องมีภาคประพฤติและภาคปฏิบัติ กว่าจะผ่านฝนผ่านแดดผ่านความเหน็บหนาวมันยาก กว่าจะผ่านอนุบาลได้ก็ยาก กว่าจะผ่านประถมได้ก็ลำบาก กว่าจะผ่านมัธยมได้ก็แทบแย่ กว่าจะผ่านอุดมศึกษาได้ก็ยากยิ่ง เพราะว่าที่ผ่านได้ก็ต้องอดทน เห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ในการประพฤติในการปฏิบัติ ชีวิตของเราไม่มีใครมาประพฤติมาปฏิบัติให้เรา เราทุกคนต้องมาแก้ตัวเอง เพราะงานเป็นงานของตัวเอง นี่ถือว่าเป็นความสุขความดับทุกข์ของเราทุกคน ที่ชีวิตของเรานี้มีคุณค่า เวลาไม่เกินร้อยปีก็ต้องจากโลกนี้ไป ถ้าเราไม่เห็นคุณค่าของความอดทนในการประพฤติในการปฏิบัติ นี่ก็ชื่อว่าไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คือไม่รู้จักอริยสัจ ๔
ทุกคนทุกท่านอยู่ในบ้าน อยู่ในสังคมก็ต้องมีศีล ๕ มีการงาน มีสัมมาทิฏฐิ ต้องอาศัยความอดทนความตั้งมั่น ที่เราหนักอกหนักใจเพราะเรายังไม่รู้จักว่างานหนัก หรือว่าอะไรต่างๆ มันอยู่ที่เราไม่รู้จักคุณค่า ที่ว่าหนักมันเป็นความหลง มันเป็นความยึดมั่นถือมั่นของเรา ถ้าเราคิดกลับกันว่า อันนี้เป็นโชคดีของเราที่จะได้มาฝึกใจและไม่เสียเวลาในการฝึก เพราะหนทางนี้เป็นหนทางที่เราจะต้องผ่าน จะต้องฝึก ยิ่งตามความคิดไปยิ่งตามอารมณ์ก็ยิ่งผิดพลาดเสียหาย เป็นโรคจิตโรคประสาทไปเรื่อย สู้เราเดินตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านบอกทางเราถูกต้องแล้ว แต่มันต้องอาศัยความอดทน ความตั้งมั่น ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ถ้าเราไม่มีความอดทน ตามใจ ตามอารมณ์ตัวเองเขาเรียกว่าคนทิฏฐิมานะมาก เป็นคนหัวดื้อ เป็นคนหัวรั้น เอาแต่ใจตัวเองเป็นผู้ที่ว่ายากสอนยาก เราจะไปว่ายากสอนยากทำไมล่ะ เพราะว่ามันไม่ถูกต้อง ไปว่ายากสอนยากทำไม เราอย่าไปคิดว่าปฏิบัติไม่ได้ เราต้องปฏิบัติได้ ไวรัสกับยามันต้องสู้กัน ยารักษาไวรัสในวัฏสงสารคือความอดทน
ให้ทุกท่านทุกคนรู้จักว่าเราตามใจตัวเองเราจะเอาแต่ความรวย เอาแต่ความสุข เอาแต่สวรรค์ เพราะความรวยสวรรค์รู้จักแล้ว เราต้องจิตใจเข้มแข็ง เพราะอันนี้มันเป็นแค่ทางผ่าน เดินผ่านเฉยๆ เราต้องจิตใจเข้มแข็งต้องอดทนเพราะทุกอย่างมันมีทั้งคุณมีทั้งโทษ พวกบ้านพวกรถ ลาภยศสรรเสริญมันก็ดีแต่มันเป็นแค่อำนวยความสะดวก แต่มนุษย์เราต้องมีปัญญามากกว่านั้น เราจะไปติดได้ยังไงเพราะร่างกายก็ยังไม่ใช่ของเรา ทานอาหารพักผ่อนมันก็ยังแก่ลงๆไปเรื่อยๆทุกวัน ทุกคนติดเพลินในการท่องเที่ยวในวัฏสงสาร การท่องเที่ยวในวัฏสงสารคือความเพลิดเพลิน เป็นสิ่งที่ทำให้เราเดินช้า ทุกท่านทุกคนต้องพากันอดทน ให้อยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับอานาปานสติ เราพากันมาหลงอารมณ์หลงอะไรไปเรื่อย ความหลงมันพาเราเวียนว่ายตายเกิด มันก็อยากจะไปดูคนอื่น อยากจะไปฟังแต่คนอื่น อยากจะไปแก้ไขแต่คนอื่น เราไปแก้ปัญหาข้างนอกมันไม่ถูกมันไม่ต้อง แก้ปัญหาในตัวเราที่ไม่มีความอดทน พระวินัยทุกข้อทุกสิกขาบทมาในพระปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ มีมาในพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อให้เราทุกคนหยุดตัวเอง เพื่อไม่ให้ตัวเองมีทิฐิมานะ การหยุดถึงเป็นสิ่งที่หยุดปัญหา เราต้องเห็นคุณค่าของความอดทน ปัจจุบันเราต้องมีความสุขให้ได้เพราะชีวิตของเราที่จะเป็นสุขเพราะความสุขที่เป็นสัมมาทิฏฐิที่ประกอบด้วยศีล สมาธิ ปัญญาในปัจจุบันมันถึงจะพัฒนาตัวเองได้ เราต้องเน้นที่ปัจจุบัน มันจะเป็นฐานที่จะก้าวไป
ความอดทนและความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายจะเป็นทางมาแห่งความสุขความเจริญและคุณธรรมความดีทุกอย่าง เป็นปัจจัยให้ได้บรรลุธรรม เพราะฉะนั้น ให้พวกเราทุกคนต้องฝึกฝน อดทน และเข้มแข็ง ฝึกที่จะลดตัวของเราลงต่ำเพื่อยกใจให้สูงขึ้น เป็นอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง เหมือนมหาสมุทรเป็นที่รองรับแม่น้ำทุกสายที่ไหลมาจากทั่วทุกสารทิศ ให้คำแนะนำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ของกัลยาณมิตรได้มาช่วยเติมส่วนที่บกพร่องและเสริมให้เราเป็นผู้ที่มีจิตใจสูงส่งเปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมของผู้ปฏิบัติที่จะมุ่งไปสู่พระนิพพาน ให้ฝึกฝนความเป็นคนว่าง่ายคู่กับการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ตามอริยมรรคมีองค์ ๘ จนกว่าจะเข้าถึงมรรคผลพระนิพพานทุกคนทุกท่าน
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาให้ทุกท่านปราศจา สัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย เป็นผู้มีใจเปี่ยมล้นไปด้วยความอดทนและเข้มแข็ง เป็นผู้ว่านอนสอนง่ายจนกว่าจะถึงมรรคผลพระนิพพานเทอญ