แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๑๙ การฟังธรรมตามกาลเวลา ให้เกิดปัญญาพาพ้นทุกข์
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันอังคารที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล วันนี้ขึ้นมงคลข้อที่ ๒๖ “กาเลน ธมฺมสวนํ” การฟังธรรมตามกาลอันสมควร
เมื่อวานได้กล่าวไว้แล้วว่า ในมงคลข้อที่ ๒๕ ที่ว่ามีความกตัญญูตามแบบสัตบุรุษของคนดีเป็นเหตุให้เกิดธรรมะสวนะคือการฟังธรรม ดังนั้น ในมงคลข้อนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “กาเลน ธมฺมสวนํ” การฟังธรรมตามกาล จึงเป็นมงคลอย่างยิ่ง เป็นอุดมมงคล
ความรู้และความฉลาดของโลกที่สืบต่อกันมาแล้วก็เจริญขึ้นนั้น อาศัยจากการถ่ายทอดบอกต่อกันมาด้วยการฟังต่อๆกันมา แม้การรู้มงคลในพระพุทธศาสนาทุกอย่าง ก็อาศัยการฟังจากท่านที่รู้มาก่อน เล่าบอกฟังต่อๆกันมา ตั้งแต่การสังคายนาพระธรรมวินัยสามร้อยกว่าปีแรกไม่ได้มีการจารึกลงในคัมภีร์ใบลาน แต่ว่าเป็นการท่องจำ แล้วก็บอกลูกศิษย์ให้ท่องสืบๆ ต่อกันมา ก็อาศัยการฟัง ฟังแล้วก็ทรงจำ ดังนั้น การฟังจึงเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา ความรู้ต่างๆ ทั้งที่เป็นฝ่ายโลกแล้วก็ฝ่ายธรรม หัวใจนักปราชญ์ที่เราเคยได้ยินว่า สุ จิ ปุ ลิ ก็ขึ้นต้นด้วยการฟัง ฟัง คิดถาม เขียน ก็ขึ้นต้นด้วยการฟังก่อน รวมทั้งนิยายต่างๆ ที่เป็นสารคดี หรือว่าเป็นสุภาษิตสอนให้เว้นชั่วประพฤติดี ก็เล่าสืบต่อกันมาไม่ขาดสายก็ด้วยการเล่าบอกให้ฟังต่อๆกันมานั่นเอง ผู้ฟังเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็เลยเล่าให้ลูกหลานฟังเพื่อ รู้จักประพฤติตนให้เหมาะสมกับภาวะ กับกาลเวลาของตนและของโลก เพราะว่าคนเราในโลกนี้มีความปรารถนาอยากจะให้เป็นคนดี บิดามารดาครูบาอาจารย์ ที่อุตส่าห์สั่งสอนลูกและลูกศิษย์ ก็มีความปรารถนาที่อยากจะให้ลูกและลูกศิษย์ของตนเองนี้เป็นคนดี มีวิชาความรู้ ไม่ต้องการให้ลูกศิษย์และบุตรของตนเป็นคนชั่ว ดังนั้น คนที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนจึงเป็นคนดี ส่วนผู้ที่ไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ไม่ตั้งใจประพฤติดีตามคำสั่งสอน ก็ย่อมเป็นคนชั่วและไร้วิชาความรู้ คนที่เป็นคนดีมีวิชาความรู้ทำให้โลกเจริญ ส่วนคนที่ไม่มีวิชาความรู้ หรือมีวิชาความรู้ แต่ไม่มีธรรมก็ย่อมประพฤติชั่ว เป็นคนที่ทำให้โลกเข้าสู่ความเสื่อม ไม่เป็นที่ต้องการของโลก ดังนั้น การฟังและการศึกษาจากผู้รู้นั้นจัดว่าก่อ ให้เกิดความเจริญตามความหมายของมงคลข้อนี้ที่ว่า “กาเลน ธมฺมสวนํ” ที่แปลว่า การฟังธรรมตามกาล หมายความว่า การที่เราจะฟังธรรมะตามระยะเวลาอันสมควร เป็นการทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า เกิดความเป็นมงคลอีกทางหนึ่ง
ในทางโลกถ้าเราพิจารณาแยกประเภทของเสียงแล้ว ก็จะได้ ๓ ประเภท
ประเภทแรก เสียงที่ทำให้จิตใจเลวลง
ประเภทที่สอง เสียงที่ทำให้จิตใจเสมอตัว
ประเภทที่สาม เสียงที่ทำให้จิตใจดีขึ้น
เสียงแรก ที่ทำให้จิตใจเลวลง ได้แก่ เสียงด่าทอกันต่าง ๆ เสียงนินทาว่าร้าย คอยจิก คอยโขก คอยสับ คอยเหน็บแนม คอยกระแซะ ตลอดจนเสียงที่กล่าวคำไม่ไพเราะสุภาพ
เสียงที่สอง ฟังแล้วเสมอตัว ได้แก่เสียงที่เป็นไปตามประสาโลก อย่างเช่น เสียงร้องเรียกกัน เสียงเจรจากัน เสียงเพลงที่ขับกล่อมอารมณ์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่เลอเลิศ ดีเลิศประเสริฐแค่ไหน ก็เป็นเสียงที่ฟังแล้วเสมอตัว เป็นต้น
เสียงที่สาม ฟังแล้วเกิดความเจริญขึ้น ฟังแล้วทำให้เกิดความสว่าง ความรู้แก่จิตใจเสียงเหล่านี้ ได้แก่ เสียงแห่งธรรม เสียงที่เรียกว่าเสียงธรรมนั้น ได้แก่ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ที่ทรงสั่งสอนโดยมีวัตถุประสงค์ให้บรรลุประโยชน์ในปัจจุบัน ประการหนึ่ง ทรงสั่งสอนเพื่อให้บรรลุประโยชน์ในเบื้องหน้าประการหนึ่ง และทรงสั่งสอนให้บรรลุประโยชน์อย่างสูงสุด คือ มรรคผลพระนิพพาน
เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ทีนี้ ตรงที่บอกว่าตามกาล กาลเวลาอย่างไรที่เป็นกาลเวลาที่ควรฟังธรรม เมื่อจะแยกประเภทของการฟังธรรม ก็คือเวลาฟังธรรมจะได้อยู่ ๒ ประเภท ก็คือว่า เวลาฟังธรรมตามพระพุทธบัญญัติกับเวลาฟังธรรมตามพระพุทธโอวาท
การฟังธรรมตามกาลนั้น มีหลักฐานตามที่ปรากฏในบทอาราธนาธรรมวันอุโบสถ ตรงหนึ่งว่า “จาตุทฺทสี ปณฺณรสี ยา จ ปกฺขสฺส อฏฺฐมี กาลา พุทฺเธน ปญฺญตฺตา สทฺธมฺมสวนสฺสิเม” เป็นต้น หมายความว่า วันที่ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำและวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์ แห่งปักษ์ก็คือว่า ๑๕ วัน ทุกๆ ๑๕ วัน เป็นวันพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ให้ฟังธรรม นั่นก็หมายความว่าวันพระ ๘ ค่ำหรือว่า ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำนั่นเอง เป็นการฟังธรรมตามพระพุทธบัญญัติ สรุปว่า วันธรรมะสวนะ ที่เราเรียกกันว่าวันพระ ก็คือเป็นหลักนิยมในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งก็มี ๔ วัน ก็คือวันขึ้นกับวันแรม ๘ ค่ำและวันเดือนเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำและวันเดือนดับ ก็คือว่าแรม ๑๔ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำด้วย วันเหล่านี้ก็คือวันที่เรารู้จักกันเป็นวันพระนั่นเองหรือว่าวันถือศีลอุโบสถ การฟังธรรมตามวันดังกล่าวคือการฟังธรรมตามกาล แต่ไม่พึงเข้าใจว่าเมื่อฟังธรรมตามวันเหล่านี้แล้ว ก็ไม่ต้องไปฟังในวันอื่นๆ เวลาอื่น เพราะธรรมะนั้นฟังได้เฉพาะในวันพระเท่านั้น ไม่เกี่ยว วันอื่นฟังไม่ได้หรือว่าห้ามฟังก็ไม่ใช่ ขอให้เข้าใจว่าจะฟังในวันอื่น เวลาอื่นด้วยก็ยิ่งดีมาก ดีพิเศษ ดีจริงๆ แต่เมื่อถึงวันพระควรฟังหรือต้องฟัง ไม่พึงอ้างว่าฟังวันอื่นๆ มามากแล้วไม่ต้องฟังในวันพระอีกก็ได้ หรืออ้างเตลิดไปว่าธรรมะฟังวันไหนก็ได้ไม่จำเป็นจะต้องกำหนดว่าต้องฟังในวันพระ ที่มีกำหนดฟังธรรมไว้เพื่อเป็นหลักประกันว่า ผู้นับถือพระพุทธศาสนาต้องได้ฟังธรรมอย่างแน่นอน ไม่ใช่อยู่อย่างเลื่อนลอย คอยงาน สังขารเสื่อมไปเรื่อยๆ จะฟังหรือไม่ฟังหรือจะฟังวันไหนตามแต่สะดวกหรือตามศรัทธาหรือตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก สำหรับผู้ที่มีความตั้งใจยังอ่อนอยู่จะได้มีหลักยึดหรือมีตารางปฏิบัติให้ดำเนินตามเสมือนเป็นแบบฝึกหัด เพื่อนำไปสู่ความเข้มแข็งมั่นคงแห่งศรัทธาในกาลต่อไป
ขอให้ลองเทียบดูกับศาสนาอื่นดูก็ได้ เช่น วันอาทิตย์ชาวคริสต์จะไปโบสถ์ วันศุกร์ชาวมุสลิมจะไปมัสยิด แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าชาวคริสต์บอกว่าไปโบสถ์วันไหนก็ได้ ไม่เห็นจำเป็นจะต้องไปวันอาทิตย์ แล้วจะเป็นยังไงถ้าชาวมุสลิมบอกว่าไปมัสยิดวันไหนก็ได้ ไม่เห็นจำเป็นต้องไปวันศุกร์ ชาวพุทธควรแล้วหรือที่จะพูดว่าฟังธรรมวันไหนก็ได้ไม่เห็นจำเป็นจะต้องเป็นวันพระ นี่คือความสำคัญของคำว่า “กาเลนะ” หรือคำว่า “กาละ” ที่แปลว่า ตามกาลเวลา
กระจกเงาสามารถสะท้อนให้เห็นความสวยงามหรือความขี้ริ้วของร่างกายเราได้ฉันใด การฟังธรรมตามกาลก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความดีงามหรือความบกพร่องในตัวเราได้ฉันนั้น ส่วนในด้านพระพุทธโอวาท คือ คำสั่งสอนเชิงแนะนำของพระพุทธเจ้านี้ กาลเวลาสำหรับฟังธรรมนั้นไม่ได้กำหนดเป็นกาลตายตัว เพียง แต่เมื่อไร มีเรื่องสมควรให้ฟังธรรมก็ฟัง
กาลที่ควรฟังธรรม ท่านก็จำแนกไว้ว่า
๑. วันธรรมะสวนะ ก็คือ วันพระนั่นเอง เฉลี่ยแล้วก็ประมาณ ๗ วันครั้งหนึ่ง สัปดาห์ละครั้ง ทั้งนี้เพราะว่า ธรรมดาคนเราเมื่อได้ฟังเทศน์ ฟังธรรม ฟังคำสั่งสอน ตักเตือนจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ใหม่ๆ ก็ยังจำได้ดีอยู่แต่พอผ่านไปสักหลายๆ วัน เจ็ดวันชักจะลืมเลือน ครูอาจารย์บอกให้ขยันเรียน ขยันได้ไม่กี่วัน ก็ชักจะขี้เกียจอีกแล้ว ครูบาอาจารย์บอกให้ขยันทำข้อวัตร ข้อปฏิบัติ ขยันได้ไม่กี่วัน ก็ขี้เกียจอีกแล้ว เพราะฉะนั้น เจ็ดวันก็ไปให้ท่านขนาบ ย้ำเตือนคำสอนเสียครั้งหนึ่ง
๒.เมื่อจิตถูกวิตกครอบงำ คือ เมื่อใดก็ตามที่มีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นในใจของเรา ทำให้ใจมันขุ่นมัว เศร้าหมอง ฟุ้งซ่าน เมื่อนั้นให้รีบเร่งไปฟังธรรม จะเช้าจะสาย จะบ่าย จะเย็น จะวันโกนวันพระ หรือวันอะไรก็ตามไม่เกี่ยงทั้งนั้น ไม่ต้องรอ
ความคิดที่ทำให้ใจเราเศร้าหมอง แบ่งได้เป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ
๒.๑ เมื่อกามวิตกกำเริบ คือ เมื่อใจของเราฟุ้งซ่านไปด้วยเรื่องเพศ เรื่องความกำหนัด เรื่องความอยากในอารมณ์ทางเพศ เรื่องรูป เรื่องรส กลิ่น เสียง สัมผัส ห่วงหาอาลัยอาวรณ์ต่อสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ นี่คือเรียกว่า กามวิตก ก็คือความรู้สึกนึกคิดในเรื่องของกามคุณเกิดขึ้น
๒.๒ เมื่อพยาบาทวิตกกำเริบ คือ เมื่อใจของเราถูกความโกรธเข้าครอบงำ เกิดความรู้สึกอยากล้างผลาญ ทำลายผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการคิดผลาญทำลายทรัพย์ ผลาญชีวิต ผลาญเกียรติยศศักดิ์ศรีของเขาก็ตาม เกิดความคิดอย่างนี้ขึ้นมา ควรจะฟังธรรม แต่ว่าที่ง่ายๆเลย ต้องมารู้จิตรู้ใจนี้ด้วยวิปัสสนา อารมณ์อะไรปรากฏเกิดขึ้นก็รู้ชัด อารมณ์นั้นมันจะเสื่อมมันคลายไป ถ้ามันยังไม่หายสนิท มันยังแช่ มันยังค้าง มันยังคาอยู่ ฟังธรรมจะช่วยให้ดีขึ้น ใจจะผ่องใสขึ้น
๒.๓ เมื่อวิหิงสาวิตกกำเริบ คือ เมื่อใดที่ใจของเราเกิดความคิดอยากจะเบียดเบียนผู้อื่น คิดจะเอารัดเอาเปรียบ คิดจะกลั่นแกล้งรังแกเขา แบบนี้ ฟังธรรม
เมื่อใดที่ความคิดทั้งสามประเภทนี้เกิดขึ้น ให้รีบฟังธรรม อย่ามัวชักช้า มิฉะนั้น อาจไปทำผิดพลาดได้
๓. เมื่อมีผู้รู้มาแสดงธรรม คือ เมื่อมีผู้มีความรู้ มีความสามารถ และทรงธรรมทรงวินัย เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาแสดงธรรม ให้รีบไปฟัง เพราะบุคคลเช่นนี้หาได้ยากในโลก ต้องรอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกเสียก่อน แล้วสาวกตั้งใจศึกษาธรรมะของพระองค์ให้เข้าใจแตกฉาน เท่านั้นยังไม่พอ จะ ต้องมีความสามารถถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นได้อีกด้วย ดังนั้น เมื่อมีโอกาสเช่นนี้เราต้องรีบไปฟังธรรมจากท่าน
คุณสมบัติของผู้แสดงธรรมที่ดี พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ดูก่อนอานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่กระทำได้ง่ายๆ ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรมะ ๕ ประการ ไว้ภายในใจของตัวเอง แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น”
๕ ประการมีอะไรบ้างคือ
ประการแรก ภิกษุพึงตั้งใจว่า เราจะแสดงธรรมไปโดยลำดับ
ประการที่สอง เราจักแสดงธรรมอ้างเหตุอ้างผล คือ ต้องมีเหตุต้องมีผล
ประการทีสาม เราจักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดูคืออาศัยความเมตตานำหน้า
ประการที่สี่ เราจะเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม คือ ไม่ใช่เทศน์แสดงธรรมแบบอยากได้กัณฑ์เทศน์ ต้องติดกัณฑ์เทศน์ ตั้งค่าตัวเท่านั้นเท่านี้ ไม่อย่าง นั้นเทศน์ไม่ออกแบบนี้
แล้วก็ประการที่ห้า เราจะไม่แสดงธรรมให้กระทบต่อตนเองและผู้อื่น
ตั้งธรรมะ ๕ ประการนี้แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ดูก่อนอานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรมะ ๕ ประการนี้ไว้ภายใน แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น นี่คือพระพุทธพจน์ที่ตรัสถึงคุณ สมบัติของผู้แสดงธรรมที่ดี
ทีนี้ คุณสมบัติของผู้ฟังธรรมที่ดีล่ะมีอย่างไรบ้าง?
๑. ไม่ลบหลู่คุณท่าน คือ ไม่ดูแคลนความรู้ความสามารถ หรือ คุณธรรมของผู้แสดงธรรม เช่นว่า โธ่! พระเด็กๆ เทศน์ เรานี่ฟังหลวงปู่ หลวงตาเทศน์มาตั้งเยอะแล้ว มาฟังพระเด็กๆ มันจะไปได้อะไร อย่าไปคิดอย่างนั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงสิ่งต่อไปนี้ว่าอย่าดูแคลน (ที่เคยกล่าวไว้เมื่อหลายวันก่อน) ว่า อย่าไปดูแคลน ๔ อย่าง คือ
หนึ่ง อย่าไปดูแคลนกษัตริย์ว่ายังเยาว์ เพราะกษัตริย์บางพระองค์ แม้อายุยังน้อยก็เป็นมหาราช หรือว่าเวลาผ่านไป เมื่อแผ่พระบารมีมีพระราชอำนาจมาก ก็ให้คุณให้โทษได้ อย่างเช่น พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นมหาราชตั้งแต่อายุ ๒๐ เศษๆ ปกครองถึงค่อนโลกจนมาถึงอนุทวีปอินเดีย
สอง อย่าไปดูถูกงูพิษว่าตัวเล็ก เพราะมันกัดแล้วก็ตายได้เหมือนกัน
สาม อย่าไปดูถูกว่ากองไฟมันเล็กน้อย ไม้ขีดก้านเดียวมันก็เผาบ้านเผาเมืองได้
สี่ อย่าดูถูกสมณะว่ายังหนุ่ม เพราะสมณะบางรูป แม้อายุยังน้อยก็มีคุณธรรมสูง บางรูปอายุแค่ ๗ ขวบก็เป็นพระอรหันต์แล้ว อย่างเช่น สามเณรอรหันต์หลายๆ รูปในสมัยก่อน
นี่คือคุณสมบัติของผู้ฟังที่ดีประการแรก ไม่ลบหลู่คุณท่าน
๒. ไม่คิดแข่งดี ไม่ยกตนข่มท่าน เช่นว่า ถึงท่านจะเป็นพระ แต่เราก็จบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เป็นด็อกเตอร์มาแล้ว รู้จักทางโลกมากกว่าท่านอีก แถมอายุมากกว่าอีก อีโก้มันเกิด อย่าคิดอย่างนั้น ถ้าเรามัวแต่คิดว่าเราเก่ง เราดีกว่าผู้แสดงธรรม ใจมันจะไม่น้อม จะพลาดโอกาสที่จะได้ฟังสิ่งที่เป็นความรู้ หรือว่าแง่คิดดีๆ ที่ควรได้รับจากการฟังธรรม เหมือนท่านอุรุเวลกัสสปะ ที่เป็นชฎิลคนโต ที่มัวแต่คิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์เหนือกว่าพระพุทธองค์ สองเดือนที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ด้วย แสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ แต่ตัวท่านเองก็ยังคิดว่า ถึงจะเก่งยังไง ก็ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา คิดอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งพระพุทธองค์ตรัสเตือนให้สติ เลิกหลงตัวเองว่าเป็นพระอรหันต์ได้แล้ว เพราะว่าท่านไม่ได้เป็นพระอรหันต์ แล้วก็ไม่รู้แนวทางมรรคที่จะนำพาให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ด้วย จนได้สติ จึงได้ตั้งใจฟังธรรมจากพระพุทธองค์ด้วยความเคารพ แล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
๓.ไม่จับผิด ไม่มีจิตกระด้าง เพราะในการฟังธรรมนั้น ยิ่งมีใจเป็นสมาธิมากเท่าไร ก็สามารถน้อมใจตามไป ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในธรรมะได้มากเท่านั้น แต่ถ้าเรามัวแต่จับผิดผู้แสดงธรรม ว่าเทศน์ตรงนี้ก็ไม่ถูก ตรงนี้ก็ไม่เหมือน กับที่เราเคยฟังมา ถ้าเป็นอย่างนี้ล่ะก็ ใจเราจะไม่มีสมาธิในการฟังธรรม และจะไม่สามารถน้อมใจตามไปจนเกิดความรู้ความเข้าใจได้เลย
๔. มีปัญญา คือ ฉลาด รู้จักพิจารณาไตร่ตรองตามธรรมะที่ได้ยินได้ฟังนั้น อย่างแยบคาย ก็คือ อย่างลึกซึ้ง ทำให้มีความแตกฉาน เข้าใจธรรมได้รวดเร็วและลึกซึ้ง ส่วนผู้ที่ทำความเข้าใจได้ช้า ก็อย่าไปดูถูกดูแคลนตัวเองว่าโง่ จนไม่สามารถรองรับธรรมะได้ เพราะอย่างน้อยที่สุด แม้จะฟังธรรมยังไม่เข้าใจในขณะนี้ ก็จะเป็นอุปนิสัยติดตัวไปในภายภาคหน้า เมื่อได้ฟังซ้ำอีก ก็จะเข้าใจได้ง่าย
๕.ไม่ถือตัวว่าเข้าใจแล้ว ไม่ถือตัวว่าเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ โธ่...เรื่องง่ายๆ แค่นี้เข้าใจแล้ว ไม่ต้องอธิบายให้ฟังอีกก็ได้ หรือจะมาพูดซ้ำอีกทำไม อะไรอย่างนี้ อย่าไปคิดแบบนั้น การฟังธรรมนั้นมีคุณประโยชน์มาก แม้เป็นสิ่งที่รู้แล้ว เข้าใจแล้ว เมื่อฟังซ้ำอีก ย่อมได้ความแตกฉานในธรรมมากยิ่งขึ้น เหมือนพระยสะฟังอนุปุพพิกถาจากพระพุทธเจ้าได้ดวงตาเห็นธรรม ฟังซ้ำอีกรอบ ฟังซ้ำอีกรอบที่พระพุทธเจ้าแสดงอันเดียวกันนี้ให้กับพ่อกับแม่ของท่านฟัง ท่านก็ฟังธรรมฟังตามกำหนดจิตพิจารณาธรรมตาม บรรลุเป็นพระอรหันต์ หรือว่าพระมหากัปปินะฟังธรรมจากพระพุทธองค์ครั้งแรก บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้ฟังพระ องค์แสดงธรรมเรื่องเดิมซ้ำอีกก็บรรลุธรรมที่ละเอียดยิ่งขึ้นจนถึงพระอรหันต์
การฟังธรรมนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่มักจะสงสัยของคนเกือบทั่วไปว่าอย่างไรจึงจะจัดเป็นมงคล ประโยชน์ของการฟังธรรมนั้นมีมาก แต่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในพระสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ก็คือว่ามีประโยชน์อยู่ ๕ ประการด้วยกันคือ
๑. “อสฺสุตํ สุณาติ” ผู้ฟังย่อมได้ฟังเรื่องที่ยังไม่เคยฟัง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความฉลาดของตนเอง เพราะผู้แสดงธรรมย่อมจะต้องศึกษาค้นคว้า และก็ขบคิดข้อธรรมใหม่ๆ มาแสดงธรรม ทำให้เราได้ยินได้ฟังธรรมะที่ยังไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน
๒. “สุตํ ปริโยทเปติ” ผู้ฟังย่อมเข้าใจเรื่องที่เคยฟังแล้ว แต่ยังไม่แจ่มแจ้ง ยังไม่กระจ่าง ยังไม่แตกฉาน ถ้าหัวข้อธรรมที่ตนได้ฟังมาแล้ว ผู้ฟังก็จะได้ใช้การฟังนั้น เป็นเครื่องทบทวนความรู้ทางธรรมะ และทำให้เกิดความแม่นยำและแตกฉานยิ่งขึ้น
๓. ประโยชน์อย่างที่ ๓ ก็คือว่า “กงฺขํ วิหนติ” ผู้ฟังย่อมทำลายความสงสัยของตนเสียได้ คือถ้าผู้ฟังยังมีความลังเลสงสัยในธรรมะบางอย่าง หรือทำความดีบางอย่าง เมื่อได้มาฟังธรรมะเพิ่มเติมจะทำให้ความลังเลสงสัยในใจนั้นหมดสิ้นไป และตัดสินใจละความชั่ว ทำความดีได้ง่ายขึ้น
๔. ประโยชน์อย่างที่ ๔ “ทิฏฺฐิ อุชุง กโรติ” ทำความเห็นให้ตรง คือปรับความคิดความเห็นของตนเองให้ถูกต้อง ตามความหมายของธรรมะที่ใคร่จะมุ่งไปสู่การเรียน การทำงาน การครองเรือน การทำบุญ การบำเพ็ญภาวนา เพราะในระหว่างที่เราดำเนินชีวิตสู่จุดมุ่งหมายปลายทางของชีวิต ต้องมีเสมอ ก็คือว่าถูกมารคือกิเลสมารบกวน ทำให้เกิดความเห็นผิด เข้าใจผิด ปฏิบัติผิด การฟังธรรมจะทำให้เราเกิดความรู้ ความคิดเห็นของเราได้บิดเบือนไปได้ ไปยังไง ผิดขนาดไหน แล้วก็จะได้ลด ละ เลิก ความคิดผิดๆ นั้นเสีย
๕. ประโยชน์อย่างสุดท้าย “จิตฺตมสฺส ปสีทติ” จิตของผู้ฟังย่อมเลื่อมใส ย่อมผ่องใส หมายความว่า การฟังธรรมเป็นการฝึกหัดอบรมจิตให้เกิดความสงบผ่องใส เป็นการฝึกฝนอบรมจิตใจให้สูงขึ้น การฟังธรรมจะเป็นเครื่องเตือนสติเรา ทำให้ใจของเราเลิก ละจากความคิดฟุ้งซ่านในเรื่องของกาม ความคิดพยาบาท อาฆาต ความคิดเบียดเบียนผู้อื่นและสอดส่องชี้ให้เราเห็นถึงจุดอ่อนข้อบกพร่องในตัว ซึ่งจะต้องปรับปรุงแก้ไขยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นๆ จนกระทั่งสามารถขจัดข้อบกพร่องได้เด็ดขาด บรรลุมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด
ดังนั้น การฟังธรรมตามกาล จึงเป็นอุดมมงคลอันสูงสุด เพราะเป็นเหตุให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ความฉลาดและเป็นการอบรมจิตของเราให้สูงขึ้นดังกล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะธรรมะอะไรที่ต้องฟัง ต้องเป็นธรรมะที่เป็นพระสัทธรรม ที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เพื่อความตรัสรู้ เพื่อมรรคผลพระนิพพาน เรียกว่าพระสัทธรรม การฟังพระสัทธรรมจึงเป็นของที่หาได้ยาก หนึ่งในสี่
- การเกิดเป็นมนุษย์ หาได้ยาก
- การดำรงชีวิตอยู่แบบไม่ทุจริตไม่เบียดเบียนคนอื่น มันก็ยาก
- ประการที่ ๓ การฟังพระสัทธรรม เป็นของยาก
- ประการที่ ๔ การเสด็จอุบัติเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า เป็นของยาก
๔ อย่างนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เป็นความยากเสมอกัน
ดังนั้น การได้ฟังพระสัทธรรมยาก ธรรมะตลกๆ ไปหาฟังที่ไหนก็ได้ ที่จะเป็นเทศน์แหล่ เทศน์ร้อง ขับร้องรำทำเพลงไปหาที่ไหนก็ได้ แต่ฟังจนหูแทบแตก มันก็ไม่บรรลุ จิตใจก็ยังมีกิเลสเท่าเดิม ยังสูญเสียเงินสูญเสียทองอีกจากการเรี่ยไร ฟังเหล่านั้นมันไม่เกิดประโยชน์ ไม่จัดว่าเป็นพระสัทธรรม และไม่ได้อยู่ในข่ายของการฟังธรรมตามกาลแล้วเกิดมงคลด้วย เพราะธรรมะเหล่านั้นไม่ใช่เป็นธรรมะที่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เพื่อมรรคผลนิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูกร ท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร สมัยใดพระอริยสาวกฟังธรรม ฟังให้จรดกระดูก ฝังไว้ในใจ รวบรวมกำลังใจทั้งหมดมา ตั้งใจลงมาฟังจริงๆ (ในบาลีใช้คำว่า เงี่ยหูลงมาฟังจริงๆ ก็หมายความว่า ตั้งอกตั้งใจฟังจริงๆ ในสมัยนั้น) นิวรณ์ ๕ ของเธอย่อมไม่มี และโพชฌงค์ ๗ ก็จะถึงซึ่งความสมบูรณ์เต็มเปี่ยม เพราะอำนาจแห่งการภาวนา”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังตรัสแยกประเภทของคน แบ่งตามพฤติกรรมไว้ ๗ ลักษณะ โดยค่อย ๆ แบ่งลักษณะคนออกไปทีละ ๒ ส่วนตามลำดับคือ
ลักษณะทั้ง ๗ ประการนี้ เป็นเครื่องช่วยบอกพื้นฐานความรู้ สภาพใจของคนฟัง
๑. ประเภทแรก บรรดาบุคคลทั้งหลายท่านแบ่งเป็นสอง ก็คือว่า ผู้อยากเห็นพระ กับไม่อยากเห็นพระ คือบุคคลใดที่อยากจะเห็นพระนั้น อย่างน้อยเขาก็ย่อมพอมีความรู้พื้นฐานในพระพุทธศาสนามาบ้างว่า ชีวิตพระกับชีวิตฆราวาสนั้นแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจวัตรประจำวัน การทำมาหาเลี้ยงชีพ ความสำเร็จในหน้าที่และการดำเนินชีวิต เป็นต้น ในใจจึงพอจะมีความศรัทธาอยากจะเข้ามาหาพระ มากกว่าประเภทที่ไม่อยากจะเห็นพระ พวกที่ไม่อยากเห็นพระ ไปเทศน์ยังไงก็ไม่ฟัง เพราะใจไม่น้อม เห็นก็สักแต่ว่าเห็น นั่งฟังก็คุยกันไป เล่นโทรศัพท์ไป นั่งหลับไป อย่างนี้เป็นต้น
๒. ลักษณะที่ ๒ ผู้ที่อยากเห็นพระ ก็ยังแบ่งได้อีกสอง คือ อยากฟังธรรมะ กับ ไม่อยากฟังธรรมะ บุคคลที่อยากฟังธรรมะนั้น อย่างน้อยๆ เพราะมีความรู้มากขึ้นมาว่า ชีวิตพระในแต่ละวันนั้น ท่านศึกษาปฏิบัติตัวเอง ตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ ไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ใครๆ ปฏิบัติตามธรรมตามพระวินัย และรู้ว่าธรรมะที่ท่านจะแนะนำมาเทศน์มาสอนจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตของตนเอง เพราะเหตุนั้น จึงอยากจะเข้ามาฟังธรรม อยากจะเรียนรู้ พอฟังก็ตั้งใจฟัง ส่วนอีกประเภทหนึ่ง จริงอยู่อยากเห็นพระ อยากมากราบพระ อยากมากราบพ่อแม่ครูบาอาจารย์ แต่ไม่อยากฟังเทศน์ เช่น อยากพบพระ อยากจะมาเจอพระ เพราะคิดว่าจะทำให้ตัวเองเฮง ประสบโชคลาภ มาเพราะมีความโลภนำมา เพราะเชื่อเรื่องโชคลาง มาเพื่อผูกดวงสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา มาขอให้รวย ให้เรื่องธุรกิจการงาน เป็นต้น กลุ่มคนเหล่านี้ใจยังไม่สว่างเพียงพอ มีความศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระรัตนตรัยน้อยไป จึงไม่พร้อมที่จะรับฟังธรรมะ
๓. ประเภทที่ ๓ บรรดาผู้ที่อยากฟังเทศน์ ยังแบ่งได้อีกสอง คือ ตั้งใจฟัง กับ ไม่ตั้งใจฟัง เพราะรู้ว่าธรรมมะมีคุณค่ายิ่งกับตนเองจึงตั้งใจฟัง ไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอย ไม่ปล่อยให้ตัวเองหลับ สนใจในเนื้อหาและถ้อยคำที่พระภิกษุนำมาแนะนำสั่งสอน นำมาเทศน์ นำมาบอก นำมากล่าว ส่วนบุคคลผู้ไม่ตั้งใจฟังธรรม แม้อยากจะฟังแต่ก็จะไม่ได้เนื้อหาสาระแต่อย่างใด เพราะไม่ใส่ใจ ส่งจิตไปในที่อื่น ใจเลื่อนลอย หรือบางครั้งนั่งหลับ นั่งคุยกัน เล่นโทรศัพท์ เป็นต้น
๔. ประเภทที่ ๔ บรรดาผู้ตั้งใจฟังธรรมะ ก็ยังแบ่งได้อีกสอง คือ ตั้งใจฟังแล้วตั้งใจจำกับไม่ตั้งใจจำ ทิ้งไปเลย ธรรมะที่จะฟังแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับตัวเอง หากจดจำธรรมะนั้นได้ เช่นรู้ว่า อบายมุขมันเป็นต้นทางแห่งความเสื่อม เป็นเหตุแห่งการสูญเสียทรัพย์ แต่จำไม่ได้ว่ามีกี่อย่าง มันมีอะไรบ้าง กินเหล้า เจ้าชู้ แล้วอะไรอีกหนอ...อะไรอย่างนี้ เป็นต้น จำไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง หรือบางทีทำผิดทั้งๆ ที่รู้ อ้างว่าจำไม่ได้ เป็นต้น ธรรมะที่ตั้งใจฟังแต่ไม่ตั้งใจจำ จึงไม่เกิดประโยชน์มากนัก จึงกล่าวได้ว่า บุคคลผู้ตั้งใจจำธรรมะ ฟังแล้วตั้งใจจำ จึงมีพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจมากกว่าผู้ไม่ตั้งใจจำ
๕. ประเภทที่ ๕ ผู้ที่ตั้งใจจดจำธรรมะนั้น ก็ยังแบ่งได้เป็นสองอีก คือ จำแล้ว กลุ่มแรกนำมาพิจารณา กับ อีกกลุ่มหนึ่งไม่นำมาพิจารณาใคร่ครวญ แล้วก็ลืมไป ธรรมะที่ทรงจำเมื่อนำมาใคร่ครวญ ตริตรองหาเหตุผล ย่อมเกิดความเข้าใจและเห็นคุณค่าของธรรมะนั้นๆ การใคร่ครวญธรรมะ จึงถือเป็นการพัฒนาความรู้และปัญญา ทำให้กลายเป็นผู้แตกฉาน และมีพื้นฐานความรู้มากขึ้นกว่าผู้ที่ทรงจำ แต่ไม่นำมาพิจารณา
๖. กลุ่มที่ ๖ บรรดาผู้พิจารณาธรรม ก็คือว่า ตั้งใจฟัง ตั้งใจจำ จนกระทั่งมาตั้งใจพิจารณา ยังแบ่งได้เป็นสองอีก พิจารณาจริง กลุ่มแรก นำมาปฏิบัติ กับ อีกกลุ่มหนึ่ง ไม่นำมาปฏิบัติ ความรู้ทางธรรมะที่ได้นำมาใคร่ครวญแล้วจะเกิดเป็นประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อนำมาปรับใช้ นำมาประพฤติ นำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันของตัวเอง ส่วนผลจากการปฏิบัติจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยก็ขึ้นกับว่านำมาใช้ปฏิบัติมากหรือน้อยในชีวิตจริง แต่บุคคลผู้มีความรู้ธรรมะแล้ว ไม่นำมาปฏิบัติเลยย่อมไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด บางทียังไปถกเถียง นำไปโต้วาที นำไปฆ่าฟันหั่นแหลกกัน บางทีเอาไปด่า เอาไปกระทบกระเทียบคนอื่นก็มี เมาปริยัติ คือ เรียนแต่ไม่นำมาปฏิบัติ เอาไปถกเถียง เอาไปเพิ่มอีโก้ เอาไปเพิ่มทิฐิมานะอัตตาตัวตนของตัวเอง ไม่เกิดประโยชน์อะไร ทั้งยังมีโอกาสก่อกรรมชั่วได้อีกด้วย คือ นำความรู้ธรรมะที่ตนมีมาจ้องจับผิดผู้อื่น ผิดข้อนั้น ผิดข้อนี้ เอาไปด่า เอาไปเหน็บ เอาไปแนม สารพัดมีให้เห็น หรือมีใจไม่บริสุทธิ์ ใช้ความรู้ของตน เพื่อมุ่งทำลายผู้อื่น เป็นต้น
๗. กลุ่มที่ ๗ บรรดาผู้รู้ธรรมะแล้วนำมาปฏิบัตินั้น ก็ยังแบ่งได้เป็นอีกสองส่วน คือ กลุ่มแรก ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนเองอย่างเดียว กับ ประเภทที่สอง ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ของผู้อื่น บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน แต่ไม่หวังประโยชน์เพื่อผู้อื่น ก็คือว่า ก็คือผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่ตัวเอง จึงกลายเป็นคนดีเฉพาะตัว แต่ไม่ได้ช่วยเหลือให้คนอื่นเป็นคนดีตามตัวเองได้ด้วย ส่วนบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นนั้น คือ บุคคลผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตัวตามธรรมะ ประพฤติปฏิบัติจริง ปฏิบัติควร ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อรู้ยิ่ง และยังชักชวนให้ผู้อื่นตั้งอยู่ในธรรม ตั้งอยู่ในความดีงามเช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันตสาวกผู้ฝึกฝนตนเองจนเป็นผู้มีความบริสุทธิ์สะอาด ทั้งทางกายวาจาใจ ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนเอง แล้วยังนำธรรมะมาบอกมาสอนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น พื้นฐานใจของบุคคลประเภทนี้ จึงประกอบด้วยความเมตตา ความปรารถนาดีมากกว่าบุคคลอื่นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อตนเองฝ่ายเดียว เพราะในปัจฉิมโอวาท พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอนท้ายที่บอกว่า “อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ - จงยังประโยชน์ตน และ ประโยชน์ของผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” พระพุทธเจ้ามุ่งทั้งสองคือ ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ตน-ต้องทำตัวเองให้รอดพ้น ปลอดภัยจากอบายภูมิ แล้วจึงจะไปนำคนอื่นได้อย่างถูกต้อง ถ้าตัวเองยังปฏิบัติธรรมดำๆ ด่างๆ ยังดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ก็จะพากันหลงผิด เหมือนคนตาบอดจูงคนตาบอด เหมือนคนเตี้ยอุ้มค่อมเดินไปไม่กี่ก้าวก็พากันตาย พากันหลงทาง ตกเหว ตกน้ำตาย ไปไม่รอด เพราะฉะนั้น ก็คือ ต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน อย่างน้อยๆ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปิดอบายภูมิให้กับตนเองและบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น จึงจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอย่างแท้จริง รู้คือรู้อะไร? รู้อริยสัจ ตื่น ตื่นจากอะไร? ตื่นจากกิเลสนิทรา เบิกบานยังไง? เมื่อเป็นผู้ตื่น แล้วจึงเอาใจที่เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณามาช่วยเหลือผู้อื่น จึงเป็นใจที่เบิกบาน เปี่ยมด้วยมหากรุณาแบบพระพุทธเจ้า
ในวิมุตตายตนสูตร พระพุทธองค์ทรงแสดงบ่อเกิดของวิมุติ คือ ความหลุดพ้นไว้ ๕ อย่างด้วยกันคือ
๑. ฟังธรรม หลุดพ้นได้ด้วยการฟังธรรม ผู้ที่ตั้งใจฟังธรรม สนใจในธรรม พิจารณาตาม เจริญวิปัสสนาภายในใจตาม ในขณะที่ฟังธรรม ก็หลุดพ้นได้ เป็นพระอรหันต์ได้ เพียงแต่ตั้งใจฟังอย่างเดียว ซึ่งก็ปรากฏหลักฐานอยู่มากมาย ผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้วบรรลุนี้ ในอดีตมีมากมาย
๒. คิดไตร่ตรองใคร่ครวญธรรม บางท่านใคร่ครวญธรรมแล้วก็ได้ปีติ ปราโมทย์ แตกฉาน ขบธรรมะแตกก็ได้บรรลุ ก็มีมากมาย นำธรรมะที่ได้ฟังมาพิจารณา พิจารณาประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งได้บรรลุก็มี
๓. แสดงธรรม แสดงไป แสดงไป ได้ปีติปราโมทย์จากการแสดงธรรม เพราะรู้สึกว่า เรื่องนี้เราก็มี ๆ เกิดปีติปราโมทย์ขึ้น ก็บรรลุธรรมในขณะแสดงธรรม ในขณะเทศน์ก็มี ตัวอย่างคือ พระนาคเสน
พระนาคเสนเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นพระอรหันต์อยู่ในยุคเดียวกับพระเจ้ามิลินท์ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐ พระนาคเสนได้แสดงธรรมให้อุบาสิกาท่านหนึ่งฟัง รับสังฆามติจากพระมหาเถระให้เทศน์อนุโมทนา อุบาสิกาฟังไปด้วย พิจารณาตามไปด้วยจนบรรลุโสดาบัน และพระนาคเสนเองก็บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วย แสดงว่าบรรลุธรรมขณะเทศน์ เวลาแสดงธรรม ใจมันเป็นสมาธิมากกว่าปกติ ถ้าเผื่อได้พูดถึงคุณสมบัติที่ผู้แสดงมี บำเพ็ญอยู่กระทำอยู่ ปีติปราโมทย์มันก็เกิดขึ้นมา อันนี้เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้เขามีกำลังใจในการแสดงธรรมต่อไป
๔. สาธยายธรรม คือ สวดท่องบท บางท่านสวดอิติปิโส ภะคะวา สำรวมใจให้ดี เวลาไม่สบายใจก็ให้สวดมนต์ จำอะไรได้ก็ให้นำมาสวดหมดเลย ๑๐ นาที ๒๐ นาที จากที่เสียอกเสียใจ เครียด หัวเราะออกมาได้เลย หรือจำได้น้อยก็สวดกลับไปกลับมาก็ได้ เวลาที่ไม่สบายก็สวดมนต์ก็ได้ มาสวดมนต์จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เดี๋ยวมันจะต่อยอด ก็จะบรรลุธรรมได้เหมือนกัน
๕. แล้วก็อย่างที่ ๕ เจริญสมถะวิปัสสนา ซึ่งทำกันอยู่ ต้องทำไปด้วยกัน ทำทั้งสมถะ คือสมาธิและวิปัสสนา เจริญวิปัสสนาปัญญาน้อมกายใจ พิจารณาให้เห็นกายเห็นใจเข้าสู่ไตรลักษณ์ แบบที่ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดในหมวดของทางสายเอก จะทำสมถะอย่างเดียวไม่ได้ ต้องต่อยอดเป็นวิปัสสนาจึงจะบรรลุธรรม
นี่คือวิมุตตายตนะ บ่อเกิดแห่งวิมุติ คือความหลุดพ้น ๕ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
ดังนั้น ขอให้รู้ไว้เลยว่า มนุษย์สามารถบรรลุธรรมด้วยวิธีการต่าง ๆ การฟังธรรม การพิจารณาธรรม การแสดงธรรม การสาธยายธรรม และการปฏิบัติสมถะ วิปัสสนา ๕ ประการนี้
การฟังธรรมเป็นสิ่งที่สำคัญ คนเรามีตาภายนอก ยังไม่ใช่ตาปัญญา ไม่ใช่ตาสัมมาทิฐิ เรื่องฟังธรรมนี้ถึงเป็นเรื่องใหญ่ ที่พระพุทธเจ้าได้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ท่านทรงบำเพ็ญพุทธบารมีมาหลายล้านชาติก็เพื่อมีปัญญา พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยปัญญา ก็คือสัมมาสัมโพธิญาณ เราทั้งหลายเมื่อมีปัญญาแล้วต้องมีการปฏิบัติ ที่เราเวียนว่ายตายเกิดก็เพราะว่าเรามีปัญญาแต่ไม่ปฏิบัติ แล้วก็ไม่มีปัญญาทางธรรม ถึงมีปัญญามันก็ไม่ใช่ปัญญาที่จะพ้นทุกข์ ที่จะดับทุกข์ มีแต่ปัญญาที่เป็นโลกียปัญญา ที่จะเอาสมองที่ประเสริฐไปใช้ในทางที่จะนำพาตัวเองเวียนว่ายตายเกิด ทุกคนนั่งฟังเทศน์ฟังธรรมต้องพากันเข้าใจ แล้วอธิบายได้เหมือนกับพระพุทธเจ้าสอนพระสารีบุตร แล้วพระสารีบุตรไปอธิบายขยายความให้รู้สึกเข้าใจได้เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ไม่ใช่ฟังธรรมะแล้ว หลวงพ่อใหญ่ถามก็ไม่ค่อยรู้เลยว่าวันนี้พระเทศน์อะไรไป จะเอาแต่นั่งตัวงอคอหักหลับลูกเดียว มันจะตายหรือไง เวลานอนก็มีเยอะอยู่ ชีวิตเราเวลาฟังเทศน์ฟังธรรม ให้เข้าใจนะ เวลามันมีน้อย ไม่ตั้งใจฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่เคารพในธรรม ตายแล้วเกิดเป็นงู เพราะมีชีวิตอยู่ก็ไม่รู้เรื่องเลย จะเอาแต่หลับ จะเอาแต่ง่วงเหงาหาวนอนอย่างนี้ เหมือนกับเรื่องอุบาสก ๕ คนไปฟังเทศน์
คนหนึ่งฟังไปก็หลับลูกเดียว
อีกคนฟังไปก็เหม่อมองฟ้า มองดูนั่นมองดูนี่ เลิ่กลั่กๆ
คนที่ ๓ นั่งฟังไปก็เอานิ้วขีดแผ่นดินเล่น
คนที่ ๔ อยู่ไม่สุก ยุกยิก ๆ ลุกไปลุกมา
คนที่ ๕ ตั้งใจฟัง ตั้งใจจำ เทียบเคียงกับความรู้เก่า ความรู้ใหม่ เอามาเทียบเคียง พิจารณา ฟังไปจนบรรลุ
พระอานนท์นั่งอยู่ข้างๆ พระพุทธเจ้า เห็นอาการของอุบาสก ๕ คนนี้โดยตลอด จึงถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ธรรมะของพระพุทธองค์นี่ ก็ไม่ใช่ของยากฟังง่ายๆ แต่ทำไมอุบาสกทั้ง ๕ ถึงแสดงอาการต่างๆ แบบนี้?”
พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า อานนท์เอย เธออย่าได้คิดว่าธรรมะเป็นของง่าย แต่เพราะว่าเธอเป็นพหูสูต (พระอานนท์ฟังอะไรก็กลายเป็นของง่ายไปหมด) แล้ว ๕ คนที่แสดงอาการต่างๆ มันเป็นเพราะวาสนาติดตัว เป็นอุปนิสัยติดตัว
คนหนึ่งที่นั่งฟังแล้วหลับลูกเดียวเลย ในอดีตเป็นงูเหลือมมาหลายภพหลายชาติติดต่อกัน นิสัยเก่าในการชอบหลับชอบนอน มันติดตัวมา นั่งฟังไปก็หลับลูกเดียว ตั้งแต่ขึ้นนะโม เป็นต้น
คนที่ ๒ พอเทศน์ ฟังเทศน์ไปก็เหม่อมองฟ้า มองดูนั่นดูนี่ ในอดีตเป็นคนดูดวง เป็นพราหมณ์ผู้ทำนายมาหลายภพหลายชาติติดต่อกัน ก็เลยมองดูนั่นมองดูนี่เหมือนดูดาว
แล้วก็ประเภทคนที่ ๓ นั่งฟังไปก็เอานิ้วขีดดินเล่น ในอดีตสัญญาเก่ามันติดตัวมา เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นไส้เดือนมาหลายภพหลายชาติติดต่อกัน
อีกคนหนึ่ง พอฟังไปก็ยุกยิกๆ ไม่อยู่กับที่ ลุกขึ้นลุกออก ลุกเข้าลุกออก บางทีไปเขย่ากิ่งไม้เล่นด้วย ไม่ต้องบอกคืออะไร ลิง นิสัยลิงเก่ามันติดตัวมา
ส่วนคนที่ ๕ ตั้งอกตั้งใจฟัง เหมือนกับเทียบเคียงมนต์ คนนี้เป็นพราหมณ์ผู้บอกสอนธรรม เป็นนักปราชญ์มาก่อน พอฟังก็นำมาเทียบเคียงกับความรู้ที่ตนเองได้เรียนมา ตั้งใจฟัง ตั้งใจจำ ตั้งใจนำไปปฏิบัติ ก็รู้เห็นธรรมะได้ง่าย
ดังนั้น ทุกคนฟังธรรมก็ให้เข้าใจ จะได้เป็นวิปัสสนา ไม่ใช่ฟังแล้วยังเป็นโมหะอยู่ อันไหนชอบก็จำ อันไหนไม่ชอบก็ไม่จำ อย่างนี้ไม่ได้ วิปัสสนาไม่เกิด เกิดความรู้ความเข้าใจยังไม่พอ ต้องลงมือปฏิบัติอีก แต่นี่ยังไม่เข้าใจเลย จะไปเข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติได้อย่างไร? การฟังธรรมถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การฟังธรรม การศึกษาธรรมะ ธรรมะจากหนังสือตำรับตำราจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ แม้แต่พ่อแม่สั่งสอน นั่นแหละเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่เป็นศีลเป็นธรรม เราทุกคนต้องน้อมจิตใจที่เป็นธรรมะมาใส่ใจ หรือว่าเราต้องน้อมจิตใจเข้าไปหาธรรมะ
การฟังธรรม พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญ เวลาพระพุทธองค์ทรงเหนื่อย ก็ให้พระสารีบุตรแสดงธรรมต่อ แล้วพระพุทธเจ้าก็ฟังด้วยความเคารพ พระพุทธเจ้าไม่ได้ถือว่าเป็นพระพุทธเจ้า เป็นผู้รู้ แต่เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีทิฏฐิมานะ พระองค์จึงทรงเคารพในพระธรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะธรรมะทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นพระพุทธเจ้า การฟังธรรมถึงให้ตั้งใจฟัง ไม่ให้คุยกัน ไม่ให้หลับ เพราะคนเราก็เหมือนคนตาบอดต้องรักษาดวงตา ผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดเรียกว่าผู้ที่ยังตาบอดอยู่ ผู้ที่เป็นพระอริยะเจ้าเบื้องต้นถึงมีตาดี เห็นทางถนนที่จะเดินแล้ว การฟังธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นสิ่งที่สำคัญ เราฟังธรรม เราจะคุยกันไม่ได้ ท่านจึงให้ตั้งใจฟัง เวลาฟังเทศน์ท่านจึงให้พนมมือ แต่ครูบาอาจารย์ท่านเห็นว่าพนมมือแล้วมันจะเหนื่อย ใจมันจะอยู่แต่กับมือที่เหนื่อย แขนเหนื่อย ท่านเลยให้นั่งสมาธิฟัง เพื่อจะได้เน้นทางจิตทางใจ ไม่ว่าจะเป็นใครพูด เป็นธรรมเป็นพระวินัย เราก็ต้องฟัง การที่เราจะได้ฟังธรรม เราก็ต้องอยู่ใกล้ผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อยู่ในวัด จะมีวันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เป็นวันที่ประชาชนมาถือศีลอุโบสถจะได้ฟังธรรม ส่วนใหญ่ผู้ที่เรียนมาก ผู้ที่รู้มาก ไม่เข้าใจในธรรม มีตัวตนเยอะ พวกที่บวชนาน พวกที่เรียนสูงจะไม่ชอบฟังเทศน์ฟังธรรม เพราะตัวมันมีอีโก้มาก อีโก้จัด เขาเรียกว่า ทิฏฐินักบวช มานะประชาชนที่เรียนมาก รู้มาก แต่ยังไม่ได้เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นที่ตั้ง ก็ทำให้ตนเองเดือดร้อน ประเทศชาติเดือดร้อน ศาสนาเดือดร้อน มันก็อยู่กับพวกนี้ เอาอัตตาตัวตนเป็นใหญ่ อย่างนี้เราไม่เอา อันนี้มันไม่ฉลาด หรือว่าฉลาดแต่มันฉลาดไม่จริง ยังไม่น้อมใจ กาย วาจา เข้าหาธรรม
ถ้าเราไม่เอาธรรมะเป็นหลัก ไม่เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง มันไปไม่ได้ ไปไม่รอดหรอก เราทุกคนจะได้เข้าถึงหลักการ เข้าถึงพระศาสนา มันมีตัวมีตน เราต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องเข้าถึงหลักการของพระศาสนาที่ไม่มีตัวไม่มีตน จะเป็นกระบวนการ เป็นความสุข ความดับทุกข์ที่มีสติมีปัญญา การฟังธรรมถึงเป็นเรื่องสำคัญ การเรียนการศึกษาเพื่อให้ใจของเรารู้ธรรมะ รู้ผิดรู้ถูก รู้ชั่วรู้ดี เมื่อไม่รู้แล้วมันก็สะเปะสะปะ เป็นได้แต่เพียงคน มันก็อยู่ในขั้นแค่เป็นมนุษย์แต่เป็นพระอริยเจ้าไม่ได้
เราไม่ต้องไปมองคนอื่น เพราะคนอื่นเขาไม่ใช่พระพุทธเจ้า เราต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก พระพุทธเจ้าก็คือธรรมะ คือพระธรรมวินัย ไม่ต้องไปมองคนอื่น เพราะไปมองคนอื่นมันเครียด เพราะคนมันไม่ใช่พระพุทธเจ้า ทำความผิดเยอะ เรื่องดีเรื่องชั่วหลงผิดหลงถูก อย่าเอามาใส่ใจของเรา เราต้องเป็นคนดีแล้วก็เป็นคนมีปัญญา เราจะไม่ได้เอาความชั่วของคนอื่นมา เราจะรับเอาธรรมะไม่ได้ เพราะธรรมะมันมีทั้งมาจากคนดีคนไม่ดี เราก็ต้องมีปัญญา เพราะถ้าเขาปฏิบัติเหมือนพระพุทธเจ้า เขาก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพุทธะกันหมด เพราะในแสนในล้านคน ก็หาพระอรหันต์องค์เดียวไม่ได้ เราอย่าไปมอง เราเอาธรรมะเป็นที่ตั้ง เอาพระรัตนตรัยเป็นที่ตั้ง เราก็บอก บอกเรา สอนเรา ปฏิบัติที่เรา เน้นที่ปัจจุบันธรรม ที่เป็นธรรม เราจะได้เข้าถึงความสุข ความดับทุกข์ โอ้! ทำไมมันมีความสุข ความดับทุกข์อย่างนี้ มันเป็นปัจจุบันธรรม เราไม่ต้องไปสนใจว่าเราจะได้ขั้นไหน เพราะอันนั้นถ้าเราสนใจอยู่ มันก็ยังมีความอยาก เพราะการปฏิบัติธรรมคือการเสียสละ เรียกว่า ภาวนาวิปัสสนา มันเป็นปัญญา ละสิ่งที่เป็นตัวเป็นตน มันจะเป็นปัจจุบันธรรม ไม่ต้องไปสนใจอะไรต่างๆ หรอก เราทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ยถาปิ รหโท คมฺภีโร วิปฺปสนฺโน อนาวิโล เอวํ ธมฺมานิ สุตฺวาน วิปฺปสีทนฺติ ปณฺฑิตา - บัณฑิตทั้งหลาย ฟังธรรมแล้ว ย่อมมีจิตผ่องใส เหมือนห้วงน้าที่มีความลึก เป็นห้วงน้าใสสะอาด ไม่มีความขุ่น ฉันนั้น”
ปัจจุบันนี้ บางทีคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เลยว่า เกิดมาทำไม? อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต? เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ชีวิตจึงต้องเวียนวนอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์ เหมือนถูกตรึงด้วยเครื่องพันธนาการ เมื่อใดได้ฟังธรรมและปฏิบัติธรรม ก็จะเข้าใจ ความเป็นจริงของชีวิต แล้วมุ่งแสวงหาสาระอันแท้จริง เพื่อให้บรรลุเป้า หมายอันสูงสุด หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวงได้ในที่สุด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงสิ่งที่ทรงคุณค่าไว้ในทุติยะกาลสูตรว่า ภิกษุทั้งหลาย กาลเวลาที่ทรงคุณค่า บุคคลบำเพ็ญโดยชอบและให้เป็นไปโดยชอบแล้ว ย่อมทำให้ถึงความสิ้นกิเลสอาสวะโดยลำดับ เวลาที่ทรงคุณค่า ๔ อย่าง คือ
๑. เวลาฟังธรรมตามกาล ซึ่งก็คือมงคลข้อนี้
๒. เวลาสนทนาธรรมตามกาล ก็คือมงคลข้อต่อๆ ไป
๓. เวลาทำความสงบของใจ
๔. เวลาพิจารณาธรรมให้เกิดความรู้แจ้ง
การฟังธรรมะตามกาลจึงเป็นมงคลอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกชีวิต สำคัญยิ่งกว่าความรู้ทางโลกที่ร่ำเรียนมา เพราะจะทำให้เกิดดวงปัญญาสว่างไสว ปัญญาจากการฟังธรรมจะนำไปสู่การรู้แจ้ง ทำให้จิตใจผ่องใส สามารถพิจารณาเห็นสิ่งต่างๆ ได้ถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริง รู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี เป็นปัญญาที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขและปลอดภัยจากอบายภูมิ ทำให้เกิดปัญญาบริสุทธิ์ที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหมดได้
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาให้ทุกท่านปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เจริญยิ่งยืนนานอยู่ในร่มเงาแห่งบวรพุทธศาสนา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติด้วยกันทุกท่านเทอญ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee