แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๑๘ มีความกตัญญู รู้บุญคุณ หนุนชีวิตให้เป็นสัตบุรุษ คือ คนดีที่แท้จริง
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันจันทร์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล วันนี้มงคลข้อที่ ๒๕ กตัญญุตา คือมีความกตัญญู ความเป็นสัตบุรุษ ก็คือเป็นคนดี
โลกที่จะตั้งอยู่ได้โดยอาการราบรื่นเป็นปกติสุขพ้นจากทุกข์ยากล่มจมด้วยอาศัยเหตุ ๒ ประการ ก็คือว่า ผู้มีอุปการะเกื้อกูลอุดหนุนกัน ประการหนึ่ง แล้วก็ปฏิการะ ก็คือการกระทำตอบแทนคุณท่าน เช่นบิดามารดาอุปการะบุตรด้วยการเลี้ยงดู ปกครอง รักษา ให้เจริญเติบโต จนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ลูกๆ ทั้งหลายก็สำนึกถึงอุปการคุณของท่าน แล้วแสดงความนับถือ ความเคารพ ไม่ดูหมิ่น ตั้งใจปฏิบัติตามโอวาทคำสั่งสอนของท่านผู้แนะนำพร่ำสอนให้เว้นชั่ว ให้ประพฤติดี ไม่ฝ่าฝืน ตั้งใจเล่าเรียนศิลปวิทยา เพื่อเป็นคนฉลาดตามความประสงค์ของท่าน ทำตนให้เป็นที่เบาใจของท่านในปฐมวัย เมื่อพ้นปฐมวัยไปแล้ว เสร็จจากการศึกษาศิลปวิทยาเล่าเรียนต่างๆ ก็ตั้งใจประกอบอาชีพที่ตนเองชอบ ตนเองถนัด เพื่อตั้งตนให้เจริญด้วยทรัพย์ ยศ เกียรติ ไมตรี และก็ความสุข ด้วยความขยันหมั่นเพียร แสดงความเป็นคนดีให้ท่านเห็น ให้ท่านเชื่อถือไว้วางใจ ว่าจะเป็นผู้สามารถปกครองตน ปกครองทรัพย์ ดำรงวงศ์ตระกูลให้เจริญได้ เมื่อท่านเจ็บป่วยก็ช่วยดูแลรักษา ช่วยเหลือกิจการงานของท่าน เหล่านี้เป็นหน้าที่ของลูกๆ ที่จะพึงกระทำต่อผู้มีอุปการคุณ ดังที่ได้แสดงไว้ในมงคลข้อที่ว่า “มาตาปิตุอุปฎฺฐานํ” การเลี้ยงดูบิดามารดาให้เป็นสุข ตั้งแต่มงคลข้อต้นๆ
ทีนี้ ความกตัญญู คือความรู้คุณ หมายถึง ความเป็นผู้มีใจกระจ่าง มีสติปัญญาบริบูรณ์ รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นกระทำแล้วแก่ตน ผู้ใดก็ตามที่ทำคุณแก่ตนแล้ว ไม่ว่าจะมากก็ตาม น้อยก็ตาม เช่น เลี้ยงดูสั่งสอน ให้ที่พัก ให้ทำงาน เป็นต้น ย่อมระลึกถึงด้วยความซาบซึ้งอยู่เสมอ ไม่ลืมอุปการคุณเหล่านั้นเลย อีกนัยหนึ่ง ความกตัญญู หมายถึง ความรู้บุญ หรือว่า รู้อุปการะของบุญที่ตนทำไว้แล้ว รู้ว่าที่ตนเองพ้นจากภัยอันตรายต่างๆ ทั้งหลายได้ ได้ดีมีสุขอยู่ในปัจจุบัน ก็เพราะบุญทั้งหลายที่เคยทำไว้ในอดีตส่งผลให้ ที่เป็น “ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา” เป็นบุญเก่า จึงไม่ลืมอุปการะของบุญนั้นเลย แล้วก็สร้างสมบุญใหม่ๆ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ในทุลลภสูตรว่า บุคคลสองจำพวกที่หาได้ยากในโลก คือ บุพการีบุคคลและกตัญญูกตเวทีบุคคล บุคคลสองจำพวกนี้ หาได้ยากในโลก ผู้ที่ทำคุณงามความดี มีอุปการคุณต่อผู้อื่นก่อน โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทำไปด้วยใจบริสุทธิ์ล้วนๆ ใครทำอย่างนี้ได้จึงได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่หาได้ยากในโลก ท่านเรียกว่าบุพการีบุคคล คือ ผู้ที่ทำอุปการะไว้ก่อน มีมารดาบิดาของเราเป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อเรามีบุพการีเช่นนี้ เราจึงควรเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที รู้อุปการคุณของผู้อื่นแม้เพียงเล็กน้อย แล้วหาโอกาสตอบแทนอยู่เสมอ เมื่อถึงโอกาสสำคัญ ถึงวาระสำคัญอะไรก็ทดแทนพระคุณบิดามารดา เราก็ควรจะแสดงออกซึ่งความเป็นลูกกตัญญู เพราะเป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่ง บัณฑิตจึงกล่าวว่า “นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา” - ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี รวมความแล้ว กตัญญูจึงหมายถึงการรู้จักบุญคุณ อะไรก็ตามที่เป็นบุญ หรือว่ามีคุณต่อตนแล้ว ก็ระลึกนึกถึงด้วยความซาบซึ้ง ไม่ลืมเลย คนมีกตัญญู ถึงแม้จะมีนัยน์ตาที่บอดมืดทั้ง ๒ ข้าง แต่ใจของเขาใสกระจ่างยิ่งกว่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์รวมกันเสียอีก เพราะว่าเป็นใจที่ผ่องใสด้วยความกตัญญูกตเวที คนตาบอดย่อมมองไม่เห็นโลก แม้ดวงอาทิตย์จะส่องสว่างอยู่ฉันใด คนใจบอดย่อมมองไม่เห็นพระคุณ แม้จะได้รับความเมตตากรุณาจากผู้มีอุปการคุณฉันนั้น
สิ่งที่ควรแก่ความกตัญญู คือ ทุกสิ่งที่มีบุญแก่เรา ที่มีคุณแก่เรา ซึ่งอาจจะแบ่งได้เป็น ๕ ประเภทด้วยกัน คือ
ประการแรก กตัญญูต่อบุคคล คือใครก็ตามที่เคยมีพระคุณต่อเรา ไม่ว่าจะมากจะน้อยเพียงไร จะต้องกตัญญูรู้คุณท่าน ติดตามระลึกถึงเสมอด้วยความซาบซึ้ง พยายามหาโอกาสตอบแทนคุณท่านให้ได้ โดยเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์ บิดามารดา ครูบาอาจารย์ พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองที่ทรงทศพิธ ราชธรรม จะต้องตามระลึกนึกถึงพระคุณของท่านเหล่านั้นให้จงหนัก ให้ปฏิบัติตัวเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นลูกศิษย์ที่ดีของพระอุปัชฌาย์ ของครูบาอาจารย์ เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ เป็นพุทธมามกะ เป็นพุทธบริษัทที่ดี สมกับเป็นลูกของพระพุทธเจ้า นี่คือกตัญญูต่อบุคคล
ประการที่สอง กตัญญูต่อสัตว์ คือสัตว์ที่มีคุณต่อเรา เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ที่ใช้งานนี้ จะต้องใช้ด้วยความกรุณาปราณี ไม่เฆี่ยนตีมันจนเหลือเกิน อย่าใช้งานหนักจนเป็นการทรมาน ขณะเดียวกัน ก็ต้องเลี้ยงดูให้อาหาร อย่าให้อดอยาก ให้ได้กิน ได้นอน ได้พักผ่อนตามเวลา
ตัวอย่างในเรื่องกตัญญูต่อสัตว์นี้ ก็อย่างเช่นว่า สมัยพุทธกาล วันหนึ่งพระเจ้ากรุงราชคฤห์ ก็คือพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จประพาสอุทยาน แล้วได้บรรทมหลับอยู่ในอุทยานนั้น ด้วยความที่เมาสุราเล็กน้อย เพราะตอนนั้นพระองค์ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ก็ยังมีการเที่ยว การดื่ม การกิน เป็นปกติของปุถุชน เสด็จประพาสอุทยาน แล้วก็ได้บรรทมหลับด้วยความเมาในอุทยานนั้น ขณะนั้น มีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยเข้ามา แล้วก็กำลังจะฉกกัดพระองค์ เผอิญมีกระแตตัวหนึ่งเห็นเข้า แล้วร้องขึ้นเสียงดัง พระองค์จึงสะดุ้งตื่น แล้วก็ไล่งูให้พ้นไป พระองค์ทรงระลึกถึงคุณของกระแตว่าเป็นผู้ช่วยชีวิตของพระองค์เอาไว้ จึงรับสั่งให้พระราชทานเหยื่อแก่กระแตในอุทยานไม้ไผ่นั้นทุกวัน แล้วก็เป็นเขตหวงห้าม เป็นเขตอภัยทาน ห้ามผู้ คนเข้าไปบุกรุก ห้ามไม่ให้ใครทำอันตรายแก่กระแตในอุทยานนั้น คนทั้งหลายจึงเรียกอุทยานนั้นว่าเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กลันทกนิวาป ก็แปลว่า ที่พระ ราชทานเหยื่อแก่กระแต แปลว่า ป่าไผ่อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต ซึ่งต่อมา หลังจากที่พระเจ้าพิมพิสารได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน เป็นพุทธสาวกคนสำคัญ ได้ถวายอุทยานป่าไผ่แห่งนี้เป็นสังฆารามแห่งแรก จึงชื่อว่าวัดพระเวฬุวันมหาวิหาร นี่คือตัวอย่างของความกตัญญูต่อสัตว์
ประการที่สาม กตัญญูต่อสิ่งของ คือของสิ่งใดก็ตามที่มีคุณต่อเรา เช่นหนังสือธรรมะ หนังสือเรียน สถานศึกษา วัดวาอาราม ต้นไม้ ป่าไม้ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาเลี้ยงชีพ เป็นต้น จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งของเหล่านี้ให้ดี ไม่ลบหลู่ดูแคลน ไม่ทำลาย
ตัวอย่างเช่น คนจีน ไม้คานที่ใช้หาบของขาย เมื่อเจ้าของตั้งตัวได้ ร่ำรวยขึ้น ก็ไม่ทิ้ง ยังคิดถึงคุณของไม้คานอยู่ ที่แม่นี้ใช้แบก ใช้หาบ ใช้หามในการหาเลี้ยงชีพ เลี้ยงลูกจนโตจนเติบใหญ่ คือเป็นของคู่ชีวิต ช่วยเหลือตนสร้างฐานะมา ลูกๆ หลานๆ จึงเลี่ยมทองเก็บไว้เป็นที่ระลึก เป็นเครื่องเตือนใจ อย่างนี้ก็มี มีกล่าวไว้ในเตมิยชาดกว่า อย่าว่าถึงคนที่เราได้พึ่งพาอาศัยกันเลย แม้แต่ต้นไม้ที่ได้อาศัยร่มเงาก็ไม่ควรจะหักกิ่ง ริดก้าน รานใบของมัน ผู้ใดพำนักอาศัยนั่ง นอน ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใดแล้วยังขืนหักกิ่งริดก้านรานใบ เด็ดยอด ขุดราก ถากเปลือกผู้นั้นชื่อว่าทำร้ายมิตร เป็นคนชั่วช้าเลวทราม จะมีแต่อัปมงคลเป็นเบื้องหน้า
ประเภทที่สี่ กตัญญูต่อบุญ คือรู้ว่าคนเราเกิดมามีอายุยืนยาว ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณดี สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสุข มีความเจริญ มีความ ก้าวหน้า มีทรัพย์สมบัติมาก ก็เนื่องมาจากผลของกุศลกรรมเก่า ผลของบุญเก่าที่เป็น “ปุพเพกตปุญญตา” ที่ได้กระทำเอาไว้ จะได้มนุษย์สมบัติ จะได้สวรรค์สมบัติจนกระทั่งถึงพระนิพพานได้ ก็ด้วยกำลังของบุญ กล่าวได้ว่าทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยบุญ ทั้งบุญเก่าที่ได้สั่งสมมาดีแล้วและบุญใหม่ที่เพียรสร้างขึ้นประกอบกัน จึงมีความรู้คุณของบุญ มีความอ่อนน้อมในตัว ไม่ดูถูกบุญแม้เล็กน้อย ตามระลึกถึงบุญเก่า ให้จิตใจชุ่มชื่น และไม่ประมาทในการสร้างบุญใหม่ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยเฉพาะในเรื่องของการเสียสละ การให้ที่เป็นบุญนี้ ก็เป็นหนึ่งในอนุสสติทั้ง ๑๐ ระลึกถึงก็เกิดสติ เกิดสมาธิ จนกระทั่งได้ฌาน ที่เรียกว่า “จาคานุสสติ” เป็นหนึ่งในอนุสสติ ๑๐ ระลึกถึงบุญที่เคยทำเอาไว้ สิ่งที่เคยเสียสละไป ที่เคยให้คนอื่นไปนี้ รำลึกนึกถึง เกิดปีติ เกิดสุข จิตก็เป็นสมาธิ ก็เป็นหนึ่งในวิธีการทำสมาธิ
ต่อไปประเภทที่ห้า กตัญญูต่อตนเอง คือรู้ว่าร่างกายของเรานี้ เป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่เราจะใช้อาศัยในการทำความดี ใช้ในการสร้างบุญกุศลนานัปการ เพื่อความสุขความเจริญก้าวหน้าแก่ตนเอง จึงทะนุถนอมดูแลร่างกาย รักษาสุขภาพให้ดี ไม่ทำลายร่างกายด้วยการกินเหล้า เจ้าชู้ กินเบียร์ เสพสิ่งเสพติด เที่ยวเตร่ดึกๆ ดื่นๆ ยันสว่าง แล้วก็ไม่นำร่างกายนี้ไปประกอบความชั่ว เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เจ้าชู้ อันเป็นการทำลายตนเอง เมื่อกตัญญูต่อร่างกายนี้ ก็ต้องหาสิ่งที่มันมีประโยชน์ ของแพงไม่ใช่จะมีประโยชน์เสมอไป ต้องหาของที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ต้องมีปัญญาในการบริโภค พระพุทธเจ้าก็ยังสอนพระ สอนผู้ปฏิบัติธรรม “โภชเนมัตตัญญุตา” รู้จักประมาณในการบริโภค จะเอาอะไรใส่ร่างกายเข้าไปต้องรู้จักความพอดี รู้จักปริมาณ รู้จักประมาณจึงบริโภค ไม่อย่างนั้นอายุสั้น กินมากก็แก่ง่ายแล้วก็ตายไว กินพอดีกินพอประมาณจึงจะทำให้แก่ช้าและอายุยืน เพราะฉะนั้น อย่างที่เคยเล่าว่า เพราะอาหารการกินที่ทำให้คนอายุสั้น อายุยืน อย่างเช่น กลุ่มคนที่กินเนื้อมากๆ เผ่าเอสกิโม กินเนื้อมากๆ อายุขัยเฉลี่ยอยู่เพียงแค่ ๓๐ ปีเท่านั้นเอง มากกว่าสุนัขแค่ไม่ถึง ๑๐ ปี อายุขัยแค่นั้น เพราะอะไร? เพราะว่ากินเนื้อสัตว์ เพราะเนื้อสัตว์ไม่ใช่ของจำเป็นของมนุษย์ โปรตีนจากสัตว์ไม่ใช่ของจำเป็นสำหรับมนุษย์ แต่อีกเผ่าพันธุ์หนึ่ง ชนเผ่าฮันซา หรือว่าหรรษา ที่เป็นภาษาสันสกฤต หรรษา ก็คือว่า สนุกสนาน ร่าเริงยินดี ชนเผ่านี้อยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย แถวแคชเมียร์ ตรงบริเวณหุบเขาหิมาลัย อากาศดี ที่สำคัญ เขาเลือกกินเป็น กินมังสวิรัติ โปรตีนมาจากไหน? โปรตีนจากพืช โปรตีนจากถั่ว อายุขัยเฉลี่ยของคนเผ่านี้ประมาณ ๑๒๐, ๑๓๐, ๑๔๐ ปี อายุร่วม ๑๐๐ ปี ยังเดินขึ้นเขาไปทำการเกษตรได้สบาย เพราะอะไร? เพราะว่าอาหารการกิน รู้จักประมาณในการบริโภค ไม่เห็นแก่กิน ดังนั้น การกตัญญูต่อตนเองนี้ ถ้าผู้ปรารถนาอายุยืน ต้องเป็นผู้ฉลาดในการกตัญญูต่อตนเอง มีทรัพย์สมบัติมากเพียงใด ถ้าหากไม่มี อายุเป็นเครื่องรองรับแล้ว อยู่ได้ไม่นานก็ต้องพลัดพรากจากไป
เพราะฉะนั้น ในพร ๔ ประการจึงขึ้นต้นว่า อายุ วรรณะ สุขะ พละ เพราะอายุนี้จะทำให้ชีวิตินทรีย์ ชีวิตของบุคคลดำเนินต่อไปได้ในการสร้างความดี เพราะฉะนั้น ความกตัญญูที่ผ่านมาที่ได้อธิบายมานี้ ทั้ง ๕ ประการ การที่คนเราจะมีความคิดใฝ่ดี ตั้งใจทำความดี สร้างสมคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัว เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ที่ยากยิ่งกว่านั้นก็คือว่า ทำอย่างไรจึงจะรักษาความตั้งใจที่ดีนั้นไว้โดยไม่ท้อถอย ไม่เลิกกลางคัน เพราะในการทำความดีย่อมมีอุปสรรค มีปัญหาขัดขวางมากมาย ไหนจะปัญหาภายนอก จากคนรอบข้าง สิ่งแวดล้อม ไหนจะปัญหาภายใน จากกิเลสรุมล้อม ประเดประดังเข้ามา เราจะเอาตัวรอด ยืนหยัดสู้ปัญหาทั้งหลายที่เข้ามาผจญได้โดยไม่ท้อถอย ก็ต้องมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวใจไว้ นั่นคือความกตัญญู อย่างเช่นว่า เด็กๆ ไปโรงเรียน เรียนหนังสือ แม้จะยากแสนยาก ท้อถอยจะเลิกเสียก็หลายครั้ง เพื่อนฝูงบางคนชวนไปเที่ยวเตร่เฮฮา ดูน่าสนุกกว่ามากแต่เมื่อนึกถึงคุณพ่อคุณแม่คิดว่าท่านอุตส่าห์ทะนุถนอมเลี้ยงดูเรามาจนเติบใหญ่ ลำบากลำบนในการทำมาหากิน เพื่อส่งเสียให้เราได้เล่าเรียน ท่านยอมอดเพื่อให้ลูกได้อิ่ม ยอมลำบากเพื่อให้ลูกมีค่าเล่าเรียน ท่านฝากความหวังไว้กับตัวเรา อยากเห็นตัวเราได้ดี มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิต พอเด็กๆ หรือแม้กระทั่งวัยรุ่นคิดได้เท่านี้ ความกตัญญูก็จะเกิดขึ้น มีแรงสู้ มีกำลังใจ แม้จะยากแสนยาก แม้จะเหนื่อยแสนเหนื่อย ก็กัดฟันสู้ มุมานะ ตั้งใจเรียนให้ดีให้ได้ ไม่ยอมประพฤติตัวไปในทางเสื่อมเสียแก่วงศ์ตระกูล ให้คุณพ่อคุณแม่ครูบาอาจารย์ได้อับอายขายขี้หน้าโดยเด็ดขาด แม้ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมก็ตั้งใจทำหน้าที่ ประพฤติปฏิบัติธรรม เผยแผ่ธรรม เผยแผ่พระพุทธศาสนา
แน่นอนว่าในการประพฤติในการปฏิบัติ ในการทำงานนั้นจะต้องมีการกระทบกระทั่งกัน คนเราหลายคนก็หลายความเห็น ต่างคนก็ต่างตั้งใจดีกันทั้งนั้น แต่ความคิดความอ่านความสามารถอาจไม่เท่ากัน บางครั้งก็เกิดทิฐิมานะ อัตตาตัวตน คิดไปว่า ถึงแกจะหนึ่งแต่ฉันก็แน่เหมือนกัน อย่างนี้เป็นต้น ทำให้ไม่ยอมกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะต่างก็กำลังฝึกฝนตนเองอยู่ กิเลสในตัวก็ยังมี ยังเป็นปุถุชนเต็มขั้นกันอยู่นี้ ยังไม่ได้หมดไป ดังนั้น ถ้าไม่รู้จักควบคุมให้ดี จึงมีโอกาสขัดใจกันได้ บางทีออกไปทำงานเผยแผ่ หรือทำอะไรก็แล้วแต่เพื่อพระศาสนา ก็พบกับคนที่ยังไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย การพูดนินทาว่าร้าย เยาะเย้ยถากถางเอาบ้าง เพราะเหตุนี้ จึงมีผู้ปฏิบัติธรรม ผู้เผยแผ่ธรรม รวมทั้งผู้ที่ตั้งใจทำงานเพื่อสังคมส่วนรวมหลายๆ คนเบื่อหน่าย ท้อถอย บางทีก็เลิกราไปกลางคันอย่างน่าเสียดาย แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความกตัญญูเป็นพื้นฐานใจแล้ว เมื่อความท้อถอย ความเบื่อหน่าย เอือมระอาเกิด ขึ้น เพียงแต่นึกว่าที่ตัวเราได้มีโอกาสเรียนรู้ ศึกษาธรรมะ รู้การสร้างบุญสร้างกุศล รู้วิธีดำเนินชีวิตอันประเสริฐ รู้บุญ รู้บาป รู้ดี รู้ชั่ว รู้ผิด รู้ถูก รู้จักทางแห่งสวรรค์ มรรคผลพระนิพพานทุกวันนี้ ก็เพราะว่า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ทรงเสียสละอุทิศชีวิตทุ่มเทค้นคว้า จนตรัสรู้หลักอริยสัจ คือความจริงอันประเสริฐทั้งหลายมาบอก มาสอนเรา เมื่อคิดถึงชีวิตเลือดเนื้อความเพียรพยายามที่พระพุทธองค์ได้ทรงทุ่มเทลงไป ตลอดระยะเวลาที่ทรงบำเพ็ญพุทธบารมียี่สิบอสงไขยแสนมหากัปว่ามากมายมหาศาลเพียงใด ตลอดจนคิดถึงพระคุณของอุปัชฌาย์อาจารย์ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่ท่านอุตส่าห์ถ่ายทอดคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อๆ กันมาและอบรมสั่งสอนให้เราได้ทราบ ได้รู้ถึงคำสอนของพระพุทธองค์โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก คิดเพียงเท่านี้ ความท้อถอยก็หายไป ความเบื่อหน่ายก็คลายลง แม้ความตายก็ไม่หวั่น เกิดกำลังใจที่จะทำความดีต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
ความกตัญญูจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง ที่จะประคองใจของเราให้ดำรงมั่นอยู่ในคุณธรรมอันยิ่งๆ สูงๆ ขึ้นไป เมื่อเรากตัญญู เราก็ต้องเข้าสู่ความประพฤติความปฏิบัติ เพื่อจะได้เป็นพระพุทธศาสนา ไปทางใจอย่างเดียวก็ยังไม่พอ ต้องเข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ ถ้าไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติ ศีลเราก็ยังไม่มี สมาธิก็ยังไม่มี ปัญญาของเราก็ไม่มี เพราะเรายังไม่ได้เอาปัญญามาเสียสละเลย เราต้องเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา คือรู้แล้วประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดศีล สมาธิ ปัญญา เพราะเรามองดูภาพรวมของประเทศ หรือว่าสังคมของโลกนี้ มันไม่สมบูรณ์ อริยมรรคมีองค์ ๘ ทางสายกลางอันประเสริฐ ๘ อย่าง ไม่เอามาใช้ทำงาน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและจิตใจไปพร้อมๆ กัน เราถึงมีปัญหา สิ่งภายนอกถึงมีปัญหา
ให้เราพากันเข้าใจ ที่ดิน หรือบ้าน ที่อยู่อาศัย ที่ประกอบทำงานธุรกิจ ไร่นา สวนอะไรต่างๆ นี้ คือเป็นเปลือก เป็นกระพี้ของชีวิต ถึงจะเป็นศาสนสถาน เจดีย์ พระพุทธรูป พระพุทธปฏิมาล้ำค่าแค่ไหน พวกนี้ก็คือเป็นเปลือก เป็นกระพี้ของศาสนาอยู่ แก่นที่แท้จริงนี้ เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เพียรให้รู้จักทุกข์ ให้รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คืออริยสัจ ๔ เราจะเข้าถึงแก่นแท้แห่งพระพุทธศาสนาได้
ที่เรามีความเห็นผิด เข้าใจผิด ทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกของตัวเอง มันเป็นได้แต่เพียงคน มันไม่ใช่ศาสนา มันยังเป็นอวิชชาอยู่ เราต้องเข้าถึงตัวศาสนา คือ ละซึ่งมิจฉาทิฐิ ความเข้าใจผิด เปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจ ตัดกรรมตัดเวร เข้าถึงความกตัญญูกตเวทีที่สูงสุดในภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ที่เราเอาสิ่งที่มันเป็นเปลือก เป็นกระพี้ ความร่ำรวย ความสะดวกสบาย ยศฐาบรรดา ศักดิ์นี้ มันเป็นแค่ถนนที่เราจะต้องผ่าน เราต้องเน้นที่ปัจจุบัน ที่เราพากันมาเสียสละ เราจะได้ถึงพระพุทธศาสนาแท้ๆ ที่เป็นแก่นแท้ พวกภายนอกที่เป็น ศาสนสถาน เป็นโบสถ์ วิหาร เจดีย์ พระพุทธรูป พระพุทธปฏิมาต่างๆ นี้ เป็นเพียงของภายนอก เพื่อศรัทธา ความเลื่อมใส แต่ยังขาดการประพฤติการปฏิบัติ เพราะเรายังไม่เห็นภัยในวัฏสงสารอย่างแท้จริง เรายังไม่เห็นโทษแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ถ้าเรามีการประพฤติการปฏิบัติ มันถึงจะมีการเดินไป เราทุกคนจะได้เข้าสู่ภาคปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา ที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ เราจะไม่ได้ไปสร้างแต่ศาสนวัตถุ แล้วก็คิดเอาว่า สิ่งเหล่านี้เป็นตัวศาสนา แต่มันไม่ใช่ เป็นแค่เพียงที่อยู่ ที่อาศัยของนิติบุคคลต่างหาก
เราดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ท่านกตัญญูกตเวทีจึงได้เป็นพระพุทธเจ้า ตั้งแต่พระชาติแรกที่แบกมารดาข้ามน้ำ ตั้งความปรารถนาทุกภพทุกชาติ จะเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นพญาช้างก็มีความกตัญญูเป็นที่ตั้ง เลี้ยงแม่มาตลอด จนกระทั่งพระชาติสุดท้ายที่เป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็โปรดพระพุทธมารดา พระพุทธบิดาทั้งหมดให้เกิดสัมมาทิฏฐิ โปรดพระพุทธบิดาเป็นพระอรหันต์ก่อนที่ท่านจะสิ้นใจ ก่อนที่โยมพ่อก็คือว่าพระพุทธบิดาจะสิ้นใจ โปรดพ่อจนเป็นพระอรหันต์ โปรดแม่เป็นพระโสดาบัน ที่ท่านอุบัติเป็นเทพบุตรอยู่ชั้นดุสิต โปรดพระน้านางที่เป็นพระมารดาเลี้ยงให้ตั้งอยู่ในสกทาคามี แล้วก็ออกบวชเป็นภิกษุณีองค์แรกจนเป็นพระอรหันต์ แม้แต่องค์พระสารีบุตร เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา อัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ท่านก็กตัญญูกตเวทีมาก พระพุทธเจ้าเคยถามว่า พราหมณ์แก่ผู้เฒ่าผู้นี้เคยมีความดีอะไรบ้าง ใครจำความดีของพราหมณ์คนนี้ได้บ้าง พระสารีบุตรรูปเดียวยกมือขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ บอกว่าพราหมณ์เฒ่าผู้นี้มีความดี เพราะเคยถวายข้าวทัพพีหนึ่งให้กับข้าพระพุทธเจ้า แม้แต่จะละสังขารเข้านิพพาน ท่านก็นิพพานไม่ได้ เพราะยังทำความกตัญญูกตเวทีไม่สำเร็จ โปรดพวกน้องๆ เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ยังเหลือแต่โยมแม่ที่ยังเป็นปุถุชน เป็นสามัญชน ท่านก็ไปโปรดโยมแม่ จนโยมแม่ดวงตาเห็นธรรม ปิดอบายภูมิได้ ท่านจึงเข้านิพพานที่บ้านเกิด ที่ห้องนอนของท่าน
ความกตัญญูกตเวทีถือว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งที่ใหญ่ยิ่ง ถ้าเราขาดความกตัญญูกตเวทีแล้วถือว่าเรายังเป็นคนพาล ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงบำเพ็ญบารมีที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ทรงตั้งมั่นในความกตัญญูกตเวทีกตัญญู ทรงกตัญญูต่อสมเด็จพระบรมราชชนนี คือสมเด็จย่าเป็นอย่างมาก ท่านจึงเป็นพระมหา กษัตริย์ผู้เป็นที่รักของปวงชนชาวไทย ของโลก
ดังนั้น ความหมายของมงคลข้อที่ว่า กตัญญู ในมงคลทีปนีตอนปลายของมงคลข้อนี้ ท่านก็สรุปไว้ว่า “กตัญญุตายะ สัปปุริสภูมิยัง ฐัตวา” แปลว่า ตั้งอยู่ในภูมิของสัตบุรุษ โดยความเป็นคนกตัญญู ซึ่งความหมายนี้มีความหมายว่า กตัญญูในมงคลข้อที่ ๒๕ นี้ เป็นกตัญญูชั้นสูง ที่เรียกว่าชั้นสัตบุรุษ ก็คือชั้นของคนดี ไม่ใช่ชั้นสามัญทั่วไป ความกตัญญูสามัญทั่วไปซึ่งเป็นคู่กันกับกตเวที เป็นการรู้อุปการคุณที่คนอื่นกระทำแก่ตน จะรับรองว่าใครมีคุณ ก็ต่อเมื่อเขาทำอะไรให้แก่ตัวเท่านั้น เช่น รับว่าพ่อแม่มีคุณ ก็เพราะว่าท่านเลี้ยงดูเรามา รับว่าครูบาอาจารย์มีคุณ ก็เพราะท่านได้สอนวิชาความรู้แก่เรามา รู้ว่าญาติพี่น้องมีคุณ ก็เพราะท่านเหล่านี้ได้เคยให้ข้าวให้น้ำเรารับประทาน รวมความว่า กตัญญูอย่างสามัญทั่วไปหมายถึงรู้อุปการคุณที่เขาทำให้เรา นี่กตัญญูสามัญ
ส่วนกตัญญูชั้นสัตบุรุษ ชั้นคนดี หมายถึงการรู้เห็นความดีอันมีอยู่ในตัวของคนอื่น ใครมีความดีก็รู้ว่าเขาดี ไม่ว่าเขาจะทำอะไรให้เราหรือไม่ก็ตาม เมื่อได้ยกเอาข้อความทั้งในฝ่ายบาลีที่ได้ยกมาเมื่อสักครู่นี้ เราก็จะมีความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่า กตัญญูในมงคลข้อนี้สูงกว่ากตัญญูสามัญตรงที่ว่า เป็นกตัญญูซึ่งอยู่ในภูมิ อยู่ในปัญญา อยู่ในสมองของสัตบุรุษ ซึ่งมีความเห็นต่างจากคนสามัญทั่วๆ ไป คนที่ไม่ใช่สัตบุรุษนั้น สัตบุรุษแปลตรงๆ ว่าคนดี ยากที่จะรับรู้ว่าคนอื่นดี คือคนที่ไม่ใช่สัตบุรุษนี้ ยากที่จะรับรู้ว่าคนอื่นดี ถ้าตัวเองไม่ได้รับประโยชน์จากเขา แม้ว่าคนนั้นจะเป็นคนดี ทำคุณประโยชน์ช่วยเหลือคนทั้งเมือง ถ้าเราคนเดียวไม่ได้รับแล้ว ก็ไม่ยอมที่จะรับรู้ความดีของคนอื่น เท่านั้นยังไม่พอ แถมยังไปโพนทะนาว่าร้ายเขาเสียด้วย เพราะว่าตัวเองไม่ได้ประโยชน์ ไปดิสเครดิต ไปใส่ร้าย ไปนินทาให้เขาได้รับความเสื่อมเสีย ซึ่งความกตัญญูชั้นสามัญ ถ้าเราพิจารณาแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าต้องได้รับประโยชน์ คือได้รับสิ่งที่เขาหยิบยื่น สิ่งที่เขาให้ ได้ประโยชน์อะไรมาก่อนจึงจะรู้คุณ ซึ่งความกตัญญูแบบนี้ก็ไม่พ้นเห็นแก่ตัวอยู่นั่นเอง ดังนั้นความกตัญญูในมงคลข้อที่ ๒๕ นี้ จึงสูงกว่ากตัญญูสามัญ คนมีกตัญญูแบบสัตบุรุษแล้ว ไม่ยอมเอาตัวเองเป็นเครื่องวัดความดีของคนอื่น ใครดีก็รับรู้ว่าดี เป็นการตัดสินความดีด้วยความดี ย้ำ เป็นการตัดสินความดีด้วยความดี ซึ่งอยู่ในหลักข้อที่ว่า ธรรมาธิปไตย ปรารภธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า กตัญญูแบบสามัญนั้นเป็นเหตุให้เกิดกตเวที คือ กระทำตอบแทน เป็นการประกาศคุณ ซึ่งก็ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดแล้ว ในมงคลข้อที่ว่า เรื่องการบำรุงบิดามารดา ส่วนกตัญญูแบบสัตบุรุษ เป็นเหตุให้มีธรรมสวนะ การฟังธรรม เป็นการยอมรับถ่ายทอดความดีจากคนอื่น ซึ่งก็มีความสัมพันธ์กับมงคลข้อต่อไป คือข้อที่ ๒๖ ที่จะได้อธิบายในวันพรุ่งนี้ เมื่อใจยอมรับในความดีของเขา ก็น้อมที่จะฟังธรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ทีนี้ สัตบุรุษคือใคร? เพราะว่าผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาธรรมก็จะสงสัยว่า สัตบุรุษแปลว่าอย่างไร?
“สัตบุรุษ” แปลว่าผู้สงบ ผู้ที่เป็นคนดี มีคุณธรรม ๗ ประการ ซึ่งมีภูมิธรรมดังนี้
เจ็ดประการนี้ที่เป็นคุณธรรม เป็นภูมิ เป็นคุณธรรม เป็นสมอง เป็นภาวะของความเป็นสัตบุรุษ ซึ่งเมื่อบุคคลใดทำให้มีในตนแล้ว ก็จะเป็นผู้มีความสงบ เพราะเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ทะเยอทะยานจนเกินเหตุ
นอกจากนั้น ความหมายของคำว่ากตัญญูในมงคลข้อนี้ ท่านยังได้ให้ความหมายคลุมไปถึงว่า รู้คุณของบุญกุศล คือความดีที่ตนเองได้ทำสืบต่อกันมาโดยไม่ขาดสาย อันเป็นเหตุดีที่ส่งเสริมให้ตนเจริญรุ่งเรือง ก็จะได้ตั้งใจทำความดี ที่จัดว่าเป็นบุญกุศลนั้นอยู่สม่ำเสมอ ไม่ทอดธุระเสีย เมื่อเรายิ่งทำความดี ความดีก็ยิ่งแสดงผลให้เห็นชัด นำให้ทำดียิ่งขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นมงคลอย่างสูงสุด ต้องกตัญญูอย่างนี้ ดังนั้น เราจะได้ความรู้ว่า กตัญญูในมงคลข้อที่ ๒๕ นี้ หมายถึงความกตัญญูอย่างสัตบุรุษ ผู้สงบ ผู้ที่เป็นคนดี รู้จักคุณความดี และคุณธรรมอันมีอยู่ในตัวผู้อื่น ตลอดจนรู้จักบุญคุณของบุญกุศลที่ตนทำมาแล้ว ว่ามีคุณค่าอย่างไร แล้วก็ตั้งหน้าที่จะประกอบคุณความดีต่อไป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในทุกนิบาต อังคุตตรนิกายว่า
“สปฺปุริโส จ โข ภิกฺขเว กตญฺญู โหติ กตเวที สพฺภิเหตํ ภิกฺขเว อุปญฺญาตํ ยทิทํ กตญฺญุตา กตเวทิตา เกวลา เอสา ภิกฺขเว สปฺปุริสภูมิ ยทิทํ กตญฺญุตา กตเวทิตา - ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษย่อมเป็นคนกตัญญูกตเวที ก็ความเป็นกตัญญูกตเวทีนี้ สัตบุรุษคนดีทั้งหลายสรรเสริญ ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีทั้งหมดนี้ เป็นภูมิของสัตบุรุษ”
ความกตัญญูรู้คุณที่คนอื่นกระทำแล้ว แล้วก็มุ่งตอบแทนคุณ เป็นคุณธรรมของคนดี รู้จักคุณความดีของผู้อื่น แม้เขาจะไม่ได้ทำความดีให้แก่ตนก็ตาม แต่ยอมรับนับถือ เคารพยกย่องในคุณความดีของเขา รวมถึงรู้จักบุญคุณของบุญของกุศลเป็นคุณธรรมของคนดี ใครๆ ก็อยากคบค้าสมาคม ให้ความช่วยเหลือ เพราะความช่วยเหลือที่จะหยิบยื่นให้นั้น จะไม่มีวันกลายเป็นหอกเป็นดาบที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงเราในภายหลัง ความกตัญญูจึงเป็นวิสัยของเหล่าบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลาย คือเมื่อรู้ว่าใครได้ทำความดีต่อตนแม้เพียงน้อยนิด ก็คิดหาหนทางที่จะตอบแทนคุณอยู่เสมอ แต่คนพาลมักจะหาทางปกปิดความดีที่คนอื่นทำไว้ เหมือนพยายามเอาใบบัวมาปิดบังภูเขา จะพยายามปิดอย่างไรก็ปิดไม่มิด คนพาลเมื่อเห็นผู้อื่นทำความดีแล้ว จะรู้สึกขัดเคือง เหมือนมีหนามมาทิ่มตำดวงตา เหมือนความมืดเป็นปฏิปักษ์ต่อความสว่าง บุคคลผู้ควรได้รับความกตัญญูนั้นมีอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากเราได้รับรู้ประวัติของพระพุทธเจ้าอย่างแจ่มแจ้งแล้ว ซึ่งเราก็ได้ฟังมาหลายครั้งหลายครา ปีติ เบิกบานใจในการได้ฟังเรื่องราวของมหาบุรุษผู้เป็นบุคคลในดวงใจ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ภาคภูมิใจว่าเราได้มาอยู่ใต้ร่มเงาบารมีธรรมของพระพุทธองค์ ได้อาศัยหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการประพฤติ การปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่การเห็นความทุกข์ของชีวิต ต้นเหตุของความทุกข์ การดับทุกข์และวิธีดับทุกข์ ด้วยการดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ รวมถึงเรามากตัญญูต่อองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ที่เราได้ทราบถึงปฏิปทา เห็นปฏิปทาที่น่ายกย่อง เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของมหาชน แล้วเราก็ภาคภูมิใจว่า เราได้มาอยู่ใต้ร่มเงาบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้มาอาศัยหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้ถ่ายทอดบอกสอนแก่เรา ให้เรารู้จักจิต รู้จักใจ รู้จักความทุกข์ รู้จักต้นเหตุของความทุกข์ รู้จักวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ รู้จักทางสวรรค์มรรคผลพระนิพพาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
“ยมฺหา ธมฺมํ วิชาเนยฺย สมฺมาสมฺพุทฺธเทสิตํ สกฺกจฺจํ นํ นมสฺเสยฺย อคฺคิหุตฺตํว พฺราหฺมโณ - บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วจากผู้ใด พึงนอบน้อมผู้นั้นโดยเคารพ เหมือนพราหมณ์นับถือการบูชาไฟฉันนั้น”
จากพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสตรงนี้ หมายความว่า เรารู้แจ้งธรรม เห็นธรรม ได้ดวงตาเห็นธรรมจากผู้ใดที่เป็นครูบาอาจารย์ เป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ พึงนอบน้อมผู้นั้นด้วยความเคารพ เหมือนกับพราหมณ์ที่บูชาไฟทั้งเช้าทั้งเย็น ด้วยความเคารพนบนอบ เราดูตัวอย่างง่าย ๆ พระสารีบุตรที่ท่านได้ดวงตาเห็นธรรมครั้งแรกจากพระอัสสชิ จนกระทั่งท่านได้มาประพฤติปฏิบัติต่อ จนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ ถึงแม้ท่านจะเป็นพระอรหันต์ ได้รับการยกย่องเป็นอัครสาวกเบื้องขวา เป็นผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นในการทำงาน ประกาศพระศาสนาเคียงข้างพระพุทธองค์ แต่ท่านก็ไม่เคยลืมบุญคุณที่อาจารย์คนแรกหยิบยื่นดวงตาแห่งธรรมให้ท่าน นั่นก็คือพระอัสสชิ ก่อนนอน ถ้าท่านทราบว่าพระอัสสชิอยู่ที่แห่งหนตำบลใด ท่านก็จะหันศีรษะไปทางนั้น กราบไหว้ เคารพบูชาก่อนนอน พระพุทธเจ้าท่านเคารพกราบไหว้อยู่แล้ว แต่ทีนี้ ท่านนึกถึงบุญคุณของอาจารย์คนแรก ที่ได้หยิบยื่นดวงตาเห็นธรรมให้ท่านนี้ ท่านไม่เคยลืม ท่านทำอย่างนี้เป็นข้อวัตร กิจวัตรของท่านจนตลอดอายุขัยของท่าน เพราะว่าท่านก็ทำตามพุทธพจน์บทนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า ผู้รู้แจ้งธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วจากผู้ใด พึงนอบน้อมผู้นั้นโดยเคารพ เหมือนพราหมณ์นับถือการบูชาไฟฉันนั้น
การกตัญญูต่อพระพุทธเจ้า คืออย่างไร? พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธบารมี เป็นผู้รู้ทุกอย่างตามความเป็นจริง ได้ตรัสรู้ ผู้ที่บวชมาก็ต้องต่อยอดสืบทอดให้เป็น พระอริยเจ้า พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าท่านอุตส่าห์บำเพ็ญพุทธบารมีมาหลายล้านชาติ มาบอกมาสอนเรา เราต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติ จะไปทำให้มัวหมองเศร้าหมองไม่ได้ เพราะเราทุกคนที่บวชมานี้ ยังไม่ได้เป็นพระธรรม ไม่ได้เป็นพระวินัย เราถึงมาประพฤติมาปฏิบัติ เพื่อที่จะเป็นพระธรรม เป็นพระวินัย เราอย่าพากันเป็นเพียงภิกษุ การเรียนการศึกษา พระพุทธเจ้าท่านให้เรานำไปประพฤติปฏิบัติ ไม่เช่นนั้น มันก็จะยิ่งทำผิดไปเรื่อย แล้วเราจะได้รับความสุขจากธรรมได้อย่างไร?
คนเรานี้เป็นคนไม่ซื่อสัตย์ต่ออาชีพของเราคือนักบวช ใจของเราไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงาน งานของเราคือการประพฤติพรหมจรรย์ งานของเราคือรักษาศีลสิกขาบทน้อยใหญ่ เพื่อกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า เพราะว่า อาหาร บิณฑบาต เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค กุฏิ วิหาร เสนาสนะ ที่อยู่ ที่อาศัย สิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ เป็นอริยทรัพย์ เป็นมรดกของพระพุทธเจ้าทั้งหมด การประพฤติ การปฏิบัติของเรา ถ้ายังไม่ตามธรรมตามพระวินัยถือว่าเป็นการคอร์รัปชั่น เพราะไม่ตั้งใจปฏิบัติเอามรรคผลพระนิพพาน เป็นการคอร์รัปชั่นในเครื่องแบบ ไม่มีการประพฤติปฏิบัติ มีแต่เพียงการทรงเครื่อง เหมือนเล่นลิเก แสดงโขน แสดงละคร แสดงภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการประพฤติการปฏิบัติจากใจจริงๆ อะไรเลย เราพากันทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ พระพุทธศาสนาของเราจะไปรอดได้อย่างไร มันไปไม่รอด ถ้าไม่เอาธรรม ไม่เอาพระวินัย เราก็เป็นคนไม่กตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า ต่อพระศาสนา เราเป็นลูกของพ่อของแม่ พ่อแม่เราถึงจะดีไม่ดี ก็เป็นเรื่องของท่าน มาสร้างบารมี เราทุกคนไม่ได้หายใจให้คนอื่น ไม่ได้กินข้าวให้คนอื่น เราทุกคนต้องประพฤติต้องปฏิบัติเอง เดินด้วยลำแข้งของตัวเอง อาศัยพระธรรมของพระพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติ ไม่กินเหล้าเจ้าชู้ เล่นการพนัน ไม่มักมากในกาม ในพยาบาท พวกเจดีย์ พวกวิหาร พวกพระพุทธรูปอะไรต่างๆ นี้ เป็นแต่เพียงเปลือก เป็นกระพี้ ให้คนศรัทธาเลื่อมใสเท่านั้น ที่สำคัญ ต้องให้ใจเข้าถึงแก่นแท้ของพระศาสนาให้ได้ การที่จะสร้างกุฏิ สร้างวิหาร สร้างโบสถ์ สร้างเจดีย์อย่างนี้ พระพุทธศาสนามันไปไม่รอด
พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้ เป็นหนึ่งในท่อนพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในคืนสุดท้ายก่อนจะปรินิพพานที่บอกว่า
“อานนท์ พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการบูชาเราอยู่ด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลาย อันเป็นอามิส คือวัตถุสิ่งของ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ของหอม เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ อานนท์เอย ผู้ใดปฏิบัติตามธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมให้เหมาะสม ผู้นั้นแล ชื่อว่าสักการบูชาเรา ด้วยบูชาอันยอดเยี่ยม”
ต่อให้เป็นกุฏิ วิหาร เป็นเจดีย์พันหลัง วิหารพันหลัง ก็ไม่สามารถที่จะดำรงศาสนาของพระพุทธเจ้าได้ แม้เพียงแค่ดื่มข้าวยาคูอึกเดียว ที่ท่านอธิบายไว้ เพราะอะไร? เพราะว่ามัวทำแต่วัตถุ แต่ไม่พัฒนาจิตใจ ตรงที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นในอนาคตว่า หากพระองค์ไม่ทรงห้ามปรามเอาไว้ ต่อไป ภิกษุ ภิกษุณีจะพาแต่ลูกศิษย์ลูกหาทำแต่วัตถุ สร้างเจดีย์ สร้างกุฏิ สร้างวิหาร สร้างศาลา สร้างพระพุทธรูปใหญ่โตมโหฬาร แต่ไม่ได้สร้างจิตสร้างใจให้มีธรรมวินัย ไม่ได้สร้างจิตสร้างใจให้มีมรรคผลพระนิพพาน ดำรงศาสนาไม่ได้ เพราะอายุของพระศาสนาอยู่ที่ธรรมวินัย พระพุทธเจ้าก็ตรัสเอาไว้ว่า ศาสดาองค์แทนคือธรรมวินัย ไม่ใช่เจดีย์ ไม่ใช่วิหาร ไม่ใช่พระพุทธรูป พระพุทธองค์ทรงเห็นว่า เจดีย์วิหารพระพุทธรูปเป็นศาสดา พระพุทธเจ้าคงตรัสไว้ตั้งแต่แรกๆ แล้ว
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
“โย โว อานนฺท ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญญฺตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา - ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยอันนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอหลังการล่วงไปแห่งเรา”
ตั้งพระธรรมวินัยเป็นศาสดาองค์แทน เป็นพระพุทธเจ้าองค์แทน ตอนที่พระมหากัสสปะทำสังคายนา ก็ถามในที่ประชุมสงฆ์ว่า จะสังคายนาอะไรก่อน ที่ประชุมสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ท่านก็ลงมติว่าต้องสังคายนาพระวินัยก่อน เพราะว่าพระวินัย ชื่อว่าเป็นอายุของพระศาสนา ถ้าไม่มีพระวินัย อายุศาสนาก็สั้น ดูตัวอย่างง่ายๆ พุทธเสื่อมจากอินเดียเพราะอะไร? เพราะว่าพระสงฆ์ยุคนั้นไม่เอาพระวินัย พอไม่เอาพระวินัยก็เสื่อม ศาสนาเสื่อมจากเกาะชวา สุมาตรา อินโดนีเซีย เพราะอะไร? ก็อยู่ในระบบเดียวกัน คือไม่เอาพระวินัย เอาข้อปฏิบัติแบบตันตระ เอาข้อปฏิบัติแบบตามใจตามอารมณ์ แบบมหาสังฆิกะ ที่ทำตามแบบอาจริยวาท แบบครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์เป็นพระอรหันต์จะประเสริฐมาก แต่ถ้าครูบาอาจารย์เป็นปุถุชนเต็มขั้นแล้วก็จบเลย เพราะฉะนั้น พระธรรมวินัยจึงเป็นอายุของพระศาสนา อดีตก็เป็นอย่างนี้ ปัจจุบันก็เป็นอย่างนี้ อนาคตก็ต้องเป็นอย่างนี้ อายุของศาสนาอยู่ที่พระธรรมวินัย ผู้ที่ต้องการจะบูชาพระพุทธเจ้า กตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้านี้ ไม่ใช่พากันไปสร้างศาสนวัตถุ ไม่ใช่พากันไปสร้างเจดีย์ วิหาร พระพุทธรูป แต่ต้องพากันมาสร้างพระธรรมวินัยให้อยู่ในจิตอยู่ในใจ กุฏิ วิหาร เสนาสนะ สร้างแต่พออยู่ เพราะเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท เป็นหน้าที่ของเศรษฐี มหาเศรษฐี ของศรัทธาสาธุชนเขา ดูพระไตรปิฎกกี่รอบๆ ก็ไม่มีตรงไหน ที่พระพุทธเจ้าพาสร้างวัดเลย มีแต่บุคคลศรัทธาสร้างให้ พระพุทธเจ้าสอนแต่อริยสัจ สร้างแต่ธรรม สร้างแต่วินัยให้เกิดขึ้นในจิตในใจของมหาชน
เราจึงต้องเป็นผู้กตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า ต่อพ่อแม่ ต่อบรรพบุรุษของเรา เป็นผู้ที่เสียสละ ทุกคนเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ต้องพากันพิจารณาตนเอง เดินจงกรมก็พิจารณากายใจว่าตามใจตามอารมณ์อยู่หรือเปล่า? นั่งสมาธิก็พิจารณากายใจว่ายังตามใจตามอารมณ์อยู่หรือไม่? ยืน เดิน นั่ง นอน ก็พิจารณาตนเอง เพื่อจะได้แก้ไขตนเอง ประพฤติปฏิบัติตนเอง เราจะได้เป็นคนกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า เราเป็นผู้ที่ประเสริฐ เราเกิดมาได้พบพระพุทธศาสนา ได้พบคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเพียงได้ยินได้ฟังก็เป็นคุณเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ได้ปฏิบัติตามก็ยิ่งเป็นอานิสงส์ใหญ่ ต้องพากันพิจารณาตัวเอง พากันแก้ไขตัวเอง เพื่อประพฤติปฏิบัติตัวเอง จะได้เป็นคนกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า ต่อพระพุทธศาสนา บุคคลผู้อกตัญญูคือ ไม่รู้จักบุญคุณ ย่อมถึงสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ มีการนินทา เป็นต้น ส่วนบุคคลผู้กตัญญู แม้พระบรมศาสดาก็ทรงสรรเสริญ คนที่อกตัญญูนั้นย่อมจะไม่เป็นที่รักของใครเลย เพราะจะนำความเสื่อมเสียมาสู่สังคมที่ตนอยู่ ไม่มีใครต้องการคนอกตัญญู เดินทางไปถึงไหน แทนที่จะได้รับการต้อนรับ กลับได้รับการผลักไสไล่ส่ง เพราะคนอกตัญญู คือคนไม่ดี “อยู่กับคน คนก็ไล่หนี อยู่กับผี ผีก็โกรธา อยู่กับเทวดา เทวดาก็รังเกียจ” ส่วนคนที่กตัญญู รู้คุณของผู้มีพระคุณ รู้จักตอบแทนบุญคุณท่าน ที่ท่านเหล่านั้นทำไว้กับเราในกาลก่อน ชื่อว่าเป็นคนดี เป็นคนกตัญญูแบบสัตบุรุษ แบบคนดี รู้จักความดีของบุคคลอื่น รู้จักความดีของบุญของกุศล ใครก็ตามที่เป็นคนกตัญญูย่อมจะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย จะย่างก้าวไปแห่งหนตำบลใด ก็จะได้รับการต้อนรับขับสู้ด้วยไมตรีจิต ชื่อเสียงอันดีงามย่อมฟุ้งขจรขจายไปไกล เมื่อมีใครรับรู้รับทราบคุณธรรมอย่างนี้ ถ้าเป็นหัวหน้าก็จะเป็นที่รักของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ถ้าเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะเป็นที่รักของหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน จะอยู่ในสังคมใดก็จะเป็นที่ปรารถนาของสังคมนั้นๆ ความกตัญญูจึงเป็นสัญลักษณ์ของคนที่ดีที่มีจิตใจสูงส่ง “อยู่กับคน คนก็ปราณี อยู่กับผี ผีก็รักษา อยู่กับเทวดา เทวดาก็คุ้มครอง” บัณฑิตทั้งหลาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน จึงมีคุณธรรมความกตัญญูอยู่ในใจเสมอ ทำให้เป็นที่รักของมหาชนเป็นจำนวนมาก และยังเป็นที่เคารพนับถือบูชาอีกด้วย
อานิสงส์ของการมีความกตัญญู ทำให้รักษาความดีเดิมไว้ได้ ทำให้สร้างคุณความดีใหม่เพิ่มได้อีก ทำให้เกิดสติ ไม่ประมาท ทำให้เกิดหิริโอตตัปปะ ความละอายชั่วกลัวต่อบาป ทำให้เกิดขันติความอดทน ทำให้จิตใจผ่องใส มองโลกในแง่ดี ทำให้เป็นที่สรรเสริญของคนดี ทำให้มีคนอยากคบค้าสมาคม ทำให้ทั้งมนุษย์และเทวดาอยากช่วยเหลือ ทำให้ไม่มีเวร ไม่มีภัย ทำให้ลาภผลทั้งหลายเกิดขึ้นโดยง่าย ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำระความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ