แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๑๖ ความเคารพอ่อนน้อมด้วยตระหนักถึงคุณและความถ่อมกายถ่อมใจให้คลายมานะละทิฏฐิ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคลวันนี้เป็นมงคลข้อที่ ๒๒-๒๓ “คารโว จ นิวาโต จ”
ข้อที่ ๒๒ “คารโว” แปลว่า คารวะ มีความเคารพ หรือว่ามีสัมมาคารวะนั่น เอง มนุษย์ทุกคนล้วนแล้วพื้นฐานใจอยากเป็นคนดี อยากให้ตัวเองเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของคนทั่วๆ ไป อยากเป็นคนเฉลียวฉลาดรอบรู้สิ่งทั้งปวง อยากให้ตนเป็นที่นิยมยกย่องของคนอื่น เหล่านี้เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาได้ เพราะผู้นั้นประกอบเอาไว้ เช่น อยากให้มีคนรักใคร่ ยกย่อง นับถือ ก็ต้องเป็นคนมีสัมมาคารวะ รู้จักเคารพซึ่งกันและกัน เหล่านี้ เป็นเหตุให้เราเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงสอนในมงคลข้อนี้ว่า “คารโว จ” ให้มีความเคารพ ถ้าจะดูความหมายของมงคลข้อนี้แล้ว ก็คิดว่าเป็นความหมายที่เป็นตื้นๆ ถ้าเราคิดอย่างนั้น ขอบอกได้เลยว่า กำลังดูเบาธรรมะข้อนี้ไปเสียแล้ว ถ้าความหมายมีอยู่เพียงเท่านี้ พระพุทธเจ้าคงไม่จัดเอาไว้ในอันดับเกือบจะสุดท้าย ความจริงแล้ว มงคลสูตร พระพุทธเจ้าจะตรัสไล่จากพื้นฐานของชีวิต แล้วก็จะเป็นการยกระดับจิตใจสูงขึ้นมาเรื่อยๆ จนกระทั่งข้อสุดท้าย คือ พระนิพพาน เพราะฉะนั้น ความหมายของ “คารโว จ” นี้ มีความหมายมากกว่าที่เราเข้าใจแค่ว่าความเคารพที่เราเข้าใจความหมายส่วนใหญ่ ส่วนมากคิดว่าความเคารพนี้จะมุ่งหมายถึงการกราบไหว้ ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น
ความหมายของคำว่า คารวะนั้น มูลศัพท์เดิมคือ มาจากคำว่า ”ครุ” แปลว่า หนัก เมื่อประกอบกรรมวิธีทางศัพท์ ไวยากรณ์ ลงวิภัตติ ลงปัจจัย แล้วก็รูปศัพท์ก็จะแปลงไป แต่ว่าศัพท์เดิมนั้นมาจากคำว่าครุนี่เอง ที่เราแปลกันทั่วๆ ไปว่า หนัก ความหนักนี้ ถ้าตีในความหมายของภาษาไทย ก็จะมีความหมายไปในทางที่อาจจะไม่ดี ในทางเช่นว่า ป่วยหนัก อาการหนัก โทษหนัก อะไรเหล่านี้ ถ้าจะแปลความหมายที่ได้ใจความแล้ว ควรจะแปลว่า ความตระหนัก ความตระหนักที่เป็นความหมายของคารวะนั้น หมายถึง ความตระหนักซาบซึ้ง รู้ถึงคุณความดีที่มีอยู่จริงของบุคคลอื่น ยอมรับนับถือของความดีของเขาด้วยใจจริง ความตระหนักในความดีอันมีอยู่ในตัวบุคคลอื่นและสิ่งอื่นนี้ คุณความดีที่มีอยู่ในคนหรือว่าในสิ่งใดก็ตาม ถ้าเราไปใส่ใจ สนใจ ปลงใจในคนนั้น สิ่งนั้นเรียกว่าตระหนักในความดี แล้วแสดงความนับถือต่อผู้นั้นด้วยการแสดงความอ่อนน้อมอ่อนโยนอย่างเหมาะสมทั้งต่อหน้าแล้วก็ลับหลัง นี่แหละเป็นเนื้อแท้ของคารวธรรม หรือความเคารพ
เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว จะได้คิดว่ากิริยากราบไหว้ ท่าโค้ง ท่าหมอบ ท่าคำนับเหล่านี้เป็นคารวะ แต่ว่าเป็นเพียงกิริยาที่แสดงคารวะเท่านั้น เพราะบางคนอาจจะแสร้งทำก็ได้ คารวะธรรมนั้นเป็นคุณธรรมที่มีอยู่ในใจ เราไม่สามารถที่จะดูได้ด้วยตาเปล่า เพราะบางคนแสดงกิริยาอาการเคารพอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ว่าใจไม่ได้คิดจะกราบ คิดจะไหว้ คิดจะเคารพก็มี แสร้งทำหรือว่าทำด้วยอำนาจหน้าที่ก็มีอยู่ถมไป เพราะไม่ได้ออกมาจากใจที่ตระหนักถึงคุณค่าของบุคคลที่กราบที่ไหว้นั้นจริงๆ เพราะคารวธรรมนี้ เป็นคุณธรรมที่มีอยู่ในใจ ไม่สามารถที่จะดูได้ด้วยตาเปล่า หรือจะใช้กล้องขยายอะไรก็มองไม่เห็น เปรียบเหมือนคนที่รู้หนังสือ ความรู้นั้นอยู่ที่ใจของคนที่มีความรู้ เราดูด้วยสายตาก็ไม่รู้ว่าคนนั้นมีความรู้หรือไม่ เช่นว่า บางคนพูดภาษาจีนได้ พูดภาษาฝรั่งเศสได้ ดูข้างนอกไม่รู้หรอกว่าเขาพูดได้ ต่อเมื่อเขาแสดงความสามารถออกมา พูดสื่อสารออกมา จึงจะรู้ว่าเขาพูดได้ เขาพูดเป็น เขาพูดภาษาจีนได้ พูดภาษาฝรั่งเศสได้ อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น กิริยาที่แสดงออกมาจากความรู้ที่มีอยู่ในใจนี้ จึงแสดงออกมาจากการกระทำออกมาจากคำพูดข้อนี้ฉันใด คารวะกับการแสดงความเคารพก็ฉันนั้น ความเคารพนี้เป็นคุณสมบัติของหมู่ชนที่เจริญแล้ว ดังจะเห็นได้จากหมู่ชนที่เจริญแล้วย่อมมีความเคารพกันเป็นระเบียบ แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สูงสุดในโลก หาบุคคลผู้มีคุณธรรมเสมอพระองค์ไม่ได้เลย ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงเคารพในพระธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว เพราะว่าพระธรรมทำให้เจ้าชายสิทธัตถะมหาบุรุษได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ตั้งแต่อดีตจนถึงพระองค์ปัจจุบัน และก็จะมีอีกในอนาคตทุกๆ พระองค์ จะทรงเคารพในพระธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ เพราะทรงเห็นว่าความที่ไม่มีความเคารพนั้นเป็นสิ่งลำบาก ดังนี้ แสดงว่าความเคารพนี้ เป็นคุณธรรมที่จำเป็นสำหรับโลก
เมื่อจะใช้ประโยชน์จากสิ่งใด เราจำเป็นต้องรู้ถึงคุณค่าของสิ่งนั้นก่อนฉันใด ผู้ที่จะรับประโยชน์จากบุคคลอื่นได้ก็จำเป็นต้องมีความเคารพต่อบุคคลทั้งหลายก่อนฉันนั้น วัตถุทั้งหลายในโลกนี้ต่างมีคุณสมบัติเฉพาะตัวของมัน ถ้าใครทราบคุณสมบัติเหล่านั้นตามความเป็นจริงก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก เช่น นักวิทยาศาสตร์รู้คุณสมบัติของแม่เหล็กก็นำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ รู้คุณสมบัติของเรเดียม ก็นำไปใช้รักษาโรคมะเร็งได้ รู้คุณสมบัติของธาตุต่างๆ ก็นำไปใช้ในการพัฒนาต่างๆ แต่การที่จะรู้คุณสมบัติตามความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ นั้นทำได้ยากมาก เป็นวิสัยของนักปราชญ์ ของผู้มีปัญญาเท่านั้น
คนทั้งหลายในโลกต่างก็มีคุณความดีในตัวต่างๆ กันออกไป มากบ้างน้อยบ้างไม่เท่ากัน ผู้ใดทราบถึงคุณความดีของบุคคลทั้งหลายได้ตามความเป็นจริงก็จะเป็นประโยชน์ ทำให้มีโอกาสที่จะถ่ายทอดคุณความดีนั้นๆ จากผู้อื่นมาสู่ตนเอง แต่การที่จะสามารถรู้เห็นถึงคุณความดีของผู้อื่นก็ทำได้ยาก ยิ่งกว่าการรู้คุณสมบัติของวัตถุต่างๆ เพราะมีกิเลสมาบังใจ เช่น มีความคิดลบหลู่คุณท่านบ้าง ความไม่ใส่ใจบ้าง ความทะนงตัวบ้าง ทำให้มองคนอื่นกี่คนๆ นี้ ก็ไม่เห็นมีใครดี คนนั้นก็ไม่ดี คนนี้ก็ไม่ดี คนไหนก็ไม่ดี ไม่เห็นมีใครมีดีสักคน ถ้าจะเห็นก็เห็นมีอยู่คนเดียวนี้ ใครล่ะ? ตัวเอง เพราะว่าทิฐิ มานะ อัตตา ตัวตนนี้ ความเคารพไม่มีอยู่ในใจ คารวธรรมไม่มีอยู่ในใจ คิดกันอย่างนั้น คนพวกนี้เป็นพวกตาไม่มีแวว คือตาก็ใสๆ ดีแต่ไม่เห็น เพราะว่าขาดความสังเกต มองคุณความดีของคนอื่นไม่ออก เมื่อมองความดีของเขาไม่ออก ก็ไม่สนใจที่จะถ่ายทอดเอาความดีของเขาเข้ามาสู่ตัวเอง ดังนั้น คนที่มีปัญญามาก จนกระทั่งตระหนักในคุณความดีของผู้อื่นได้จึงจัดเป็นคนพิเศษจริงๆ เพราะใจของเขาได้ยกสูงขึ้นแล้ว พ้นจากความถือตัวต่างๆ ทิฐิมานะต่างๆ นี้ข้ามล่วงพ้นไป เปิดกว้าง พร้อมที่จะรองรับความดีจากผู้อื่นเข้าสู่ตน คนชนิดนี้แหละคือคนที่มีความเคารพ มีคารวธรรมอยู่ในใจ
ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ในมงคลทีปนี ท่านก็ได้แสดงสิ่งที่พุทธบริษัททำคารวะ ๖ สถาน หรือว่าคารวะ ๖ นั่นเอง
๑. “พุทธคารวตา” ความเคารพในพระพุทธเจ้า
๒. “ธัมมคารวตา” ความเคารพในพระธรรม
๓. “สังฆคารวตา” ความเคารพในพระสงฆ์
๔. “สิกขาคารวตา” ความเคารพในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
๕. “อัปปมาทคารวตา” ความเคารพในความไม่ประมาท และ
๖. “ปฏิสันถารคารวตา” ความเคารพในปฏิสันถารต้อนรับ
นอกจากนั้นก็จะมีความเคารพในบิดา มารดา ครู อาจารย์ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา ลุง ตลอดจนคนที่มีอายุ การเคารพในท่านเหล่านี้เรียกว่าคารวะ ซึ่งความเคารพนั้นจำแนกออกเป็น ๓ อย่าง คือเคารพด้วยกาย เคารพด้วยวาจา เคารพด้วยใจ เราจะเห็นว่ามงคล คุณสมบัติที่จะทำให้บุคคลเป็นผู้มีอายุคือมีอายุยั่งยืนนาน วรรณะเป็นผู้มีผิวพรรณผุดผ่องใส สุขะ เป็นผู้มีความสุขกายสบายใจ พละ ความเป็นผู้มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์นี้ย่อมเจริญ ก็คือ ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีการกราบไหว้เป็นปกติ “อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน” นี้ ผู้ที่มีการกราบไหว้เป็นปกติ ผู้ที่มีความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ต่อผู้เจริญกว่าอยู่เป็นนิจอยู่เป็นปกติ จึงจะมีอายุ มีวรรณะ มีสุขะ มีพละ เพราะฉะนั้น จากคำให้พรของพระตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ พรตัวนี้ต้องนำมาปฏิบัติ เพราะท่านก็จำกัดความเอาไว้แล้วว่า ธรรม ๔ ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติกราบไหว้ มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิจ ซึ่งก็หมายความว่า คารวธรรม ต้องมีคารวธรรมถึงจะมีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ถ้าไม่มี ต่อให้พระให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ เป็นร้อยรอบ อาจจะไม่ถึงก็ได้ อาจจะไม่ได้รับก็ได้ เพราะการกระทำ ความประพฤติไม่ถึง ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนขอ แต่เป็นศาสนาแห่งปัญญา เป็นศาสนามีเหตุมีผล เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้ถึงมี ต้องลงมือทำจึงจะได้รับผล คือต้องสร้างเหตุถึงจะมีผล ต้องสร้างเหตุดี จึงจะได้ผลดี ถ้าสร้างเหตุชั่ว ก็ได้ผลชั่ว ถ้าทำชั่วมาแล้ว ไปอ้อนวอนบนบานศาลกล่าวขออะไรจากไหนก็ตาม ไม่มีทางสำเร็จแน่นอน เพราะปราศจากการกระทำ เพราะฉะนั้น คารวธรรมจึงสำคัญมาก พระพุทธเจ้าจึงจัดไว้ในมงคล
ทีนี้มงคลหรือว่าความคารวะ ๖ ประการนี้
ความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือว่า ตระหนักถึงพระคุณความดีอันมีอยู่ในพระพุทธองค์ ซึ่งกล่าวโดยย่อก็ได้แก่ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ แล้วก็แสดงออกซึ่งความเคารพ สมัยเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ก็แสดงความเคารพโดยเข้าเฝ้า ทั้งเช้า กลางวัน เย็น
๒. เมื่อพระองค์ไม่สวมรองเท้าจงกรม เราจะไม่สวมรองเท้าจงกรม
๓. เมื่อพระองค์เสด็จจงกรมอยู่ในที่ต่ำ เราจะไม่เดินจงกรมอยู่ในที่สูงกว่า
๔. เมื่อพระองค์ประทับอยู่ในที่ต่ำกว่า เราจะไม่อยู่ในที่สูงกว่า
๕. ไม่ห่มผ้าคลุมบ่าทั้งสองในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น
๖. ไม่สวมรองเท้าในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น
๗. ไม่กางร่มในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น
๘. ไม่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะในที่ซึ่งทอดพระเนตรเห็น เป็นต้น
ทีนี้ สมัยเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ก็แสดงความเคารพโดย
๑. ไปไหว้พระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุตามโอกาส
๒. ไปกราบบริโภคเจดีย์ ก็คือสังเวชนียสถาน สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ปฐมเทศนา ตามโอกาส
๓. เคารพในอุเทสิกเจดีย์ คือพระพุทธรูป
๔. เวลาเข้ามาในเขตพุทธาวาส คือเขตอุโบสถ ต้องมีความเคารพ
๕. ไม่สวมรองเท้าในลานเจดีย์
๖. ไม่กางร่มในลานเจดีย์
๗. เมื่อเดินใกล้พระเจดีย์ ไม่เดินไปพูดไป
๘. เมื่อเข้าในเขตอุโบสถ ก็ถอดรองเท้า หุบร่ม ไม่ทำอาการต่างๆ ที่แสดงถึงความกระด้าง หยาบคาย
๙. สำคัญที่สุดเลย ก็คือว่าปฏิบัติตนตามพระพุทธโอวาท คือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอยู่เป็นนิจ อยู่สม่ำเสมอ นี่คือความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งที่ยังทรงพระชนม์อยู่ แล้วก็ปรินิพพานไปแล้ว
ต่อไป ความเคารพในพระธรรม คือตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพดังนี้ เช่นว่า เมื่อมีการประกาศแสดงธรรมก็ไปฟัง ฟังธรรมด้วยความสงบ สำรวม ตั้งใจ ไม่นั่งหลับ ไม่นั่งคุยกัน ไม่คิดฟุ้งซ่านขณะฟังธรรม หรือว่าไม่วางหนังสือธรรมะไว้ในที่ต่ำ ไม่ดูหมิ่นพระธรรม บอกธรรมสอนธรรมด้วยความระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาด เป็นต้น
ความเคารพในพระสงฆ์คือ ตระหนักถึงคุณความดีของพระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่เป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนา แล้วแสดงออกถึงความเคารพดังนี้ คือ กราบไหว้โดยกิริยาอาการเรียบร้อย นั่งเรียบร้อย ไม่นั่งกอดเข่าเจ่าจุก ไม่สวมรองเท้า ไม่กางร่มในที่ประชุมสงฆ์ ไม่คะนองมือคะนองเท้าต่อหน้าท่าน เมื่อพระเถระไม่เชิญก็ไม่แสดงธรรม เมื่อพระเถระไม่เชิญ ก็ไม่อวดรู้แก้ปัญหาธรรม ไม่เดิน ยืน นั่ง เบียดพระเถระ แลดูท่านด้วยจิตเลื่อมใส ต้อนรับท่านด้วยไทยธรรม เหล่านี้เป็นต้น
ต่อไปความเคารพในการศึกษาก็คือว่าศีล สมาธิ ปัญญา คือตระหนักถึงคุณค่าของการศึกษาหาความรู้ แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ โดยตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่ทั้งทางโลกและทางธรรม จะศึกษาเรื่องใด ก็ศึกษาให้ถึงแก่นให้เข้าใจจริงๆ ให้เข้าใจจริงๆ ไม่ทำเหยาะๆ แหยะๆ บำรุงการศึกษา สนับสนุนการศึกษาทั้งทางโลกทางธรรม และไม่นำความรู้ที่ได้มานี้ไปใช้ในทางที่ผิด และต้องต่อยอดพัฒนาไปเป็นไตรสิกขาจริงๆ คือ ศีล พัฒนาสูงกว่านั้น คือขั้นสมาธิ และขั้นวิปัสสนาปัญญา
ต่อไป ความเคารพในความไม่ประมาท ก็คือ ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการมีสติ กำกับตัวในการทำงานต่างๆ แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ โดยหมั่นฝึกสติ เพื่อให้ไม่ประมาท ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา วิปัสสนาภาวนาอยู่เนืองๆ มิได้ขาด ซึ่งก็เป็นการต่อเนื่องจากเมื่อวาน นั่นก็คือว่า ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
ต่อไป คารวะธรรม ข้อสุดท้ายก็คือว่า ความเคารพในการต้อนรับ ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการต้อนรับปฏิสันถารว่า ทำให้ไม่ก่อศัตรู ปกติคนเราจะให้ดีพร้อม ทำอะไรถูกใจคนทุกอย่างย่อมเป็นไปไม่ได้ อาจจะมีช่องว่างรอยโหว่ มีข้อบกพร่องอยู่บ้าง การต้อนรับแขก ต้อนรับอาคันตุกะนี้ จะเป็นการปิดช่องว่างรอยโหว่ในตัว ทำให้ได้มิตรเพิ่ม เราจึงต้องให้ความสำคัญแก่ผู้มาเยือนด้วยการต้อนรับ ๒ ประการคือว่า
๑. “อามิสปฏิสันถาร” ต้อนรับด้วยสิ่งของ เช่น อาหาร น้ำดื่ม เลี้ยงดูอย่างดี ไม่ให้ขาดตกบกพร่องเป็นต้น
๒. “ธรรมปฏิสันถาร” ต้อนรับด้วยธรรม คือสนทนาธรรมแก่กันและกัน แนะนำธรรมะให้แก่กัน เป็นต้น
เมื่อเราสังเกตให้ดีจะเห็นว่า คนในโลกนี้มีหลายพันล้านคน สิ่งของ เหตุ การณ์ การงานในโลกนี้มีหลายแสนหลายล้านอย่าง แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้เราสนใจอย่างจริงจัง ๖ อย่างในความเคารพ ดังนั้น พระพุทธเจ้า พระธรรม ที่พระองค์ตรัสรู้ดีแล้ว พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ ปฏิบัติสมควร การศึกษาก็คือศีล สมาธิ ปัญญา ความไม่ประมาทและการต้อนรับทั้ง ๖ ประการนี้ เป็นสิ่งสำคัญ เป็นคารวธรรมที่ต้องให้เกิดขึ้นในใจ
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเวฬุวัน ใกล้พระนครกิมมิลา ครั้งนั้น ท่านพระกิมมิละได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลถามว่า
“พระพุทธเจ้าข้า อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว?”
พระพุทธองค์ก็ตรัสตอบว่า “ดูกร กิมมิละ พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีความเคารพมีความยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในไตรสิกขา ในความไม่ประมาท ในการปฏิสันถาร ดูกร กิมมิละ นี้แหละ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่ทำให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นานในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว”
จากเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาหรือพระสัทธรรมจะสามารถดำรงอยู่ได้นานหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพุทธสาวกที่มีความเคารพหนักแน่น ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยะสงฆ์ ในศีล สมาธิ ปัญญา ในความไม่ประมาท และในปฏิสันถารต้อนรับอาคันตุกะ อยู่ตรงนี้ ที่ว่ามีความเคารพมากน้อยเพียงใด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา แล้วนำไปปฏิบัติกันให้ดี
สิ่งที่ควรเคารพทั้ง ๖ ประการนี้ เป็นแกนหลักของความเคารพทุกอย่าง เมื่อเราสามารถตรองจนตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ควรเคารพอย่างยิ่งทั้ง ๖ ประการนี้แล้ว ต่อไปเราก็จะสามารถตรองถึงความดีของสิ่งอื่นๆ ได้ชัดเจน และละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก กลายเป็นผู้รู้จริงและทำได้จริงผู้หนึ่ง ในสังคมเราก็เหมือนกัน ความสงบ ความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้ อาศัยความที่เรามีคารวะหรือความเคารพในหน้าที่ คุณความดีของกันและกัน จึงทำให้เกิดความพร้อมเพรียงกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ตรัสสอนไว้ในอปริหานิยธรรมสูตร ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ว่า “ภิกษุทั้งหลายยังเคารพนับถือบูชาภิกษุผู้เป็นเถระบวชมานาน ผู้เป็นสังฆบิดร เป็นบิดาของสงฆ์ เป็นผู้นำของหมู่ จะเชื่อฟังถ้อยคำของท่านอยู่เพียงไร ก็พึงหวังความเจริญ ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น ในทางฆราวาส ถ้าชนทั้งหลายยังเคารพผู้หลักผู้ใหญ่โดยอายุ ผู้หลักผู้ใหญ่โดยคุณความดี หรือโดยตำแหน่งหน้าที่อยู่เพียงไรแล้ว ก็พึงหวังความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น ในทางการปกครอง บุตร ธิดา เคารพเชื่อฟังคำสอนของบิดามารดา ศิษย์เคารพเชื่อฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เคารพเชื่อฟังคำสั่งโดยตรง โดยชอบ ของผู้บังคับบัญชาเหนือตน พลเมืองเคารพต่อกฎหมายบ้านเมือง และพระสงฆ์ เคารพพระวินัยบัญญัติของพระศาสดา ไม่ละเมิดย่อมเป็นทางเจริญแก่ตนเอง แก่วงศ์ตระกูล แก่หมู่คณะ แก่ชาติ จนถึงพระศาสนา” ดังนั้น ความเคารพหรือคารวธรรมนี้ จึงจัดเป็นมงคลสูงสุดด้วยประการฉะนี้
ต่อไป มงคลข้อที่ ๒๓ “นิวาโต จ” มีความถ่อมตน ตามพระบาลี ในมงคลข้อนี้ว่า “นิวาโต” แปลว่าถ่อมตน ซึ่งมีความหมายแตกต่างจากความหมายในมงคลข้อที่แล้ว ข้อที่แล้ว ข้อที่ ๒๒ ที่แสดงว่า ให้มีคารวธรรม คือมีความเคารพ แต่ในมงคลข้อนี้ แสดงให้มีความถ่อมตัว ถ้าจะดูเผินๆ แล้ว เราจะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกัน เพราะตามสายตาของชาวบ้านแล้ว จะเห็นว่าอาการอย่างนี้มีลักษณะอย่างเดียวกัน คือเข้าใจว่า การเคารพคือกิริยากราบไหว้ และการถ่อมตัวคือการก้มศีรษะหรือหมอบ เราไปถือกิริยาอาการเหล่านี้ว่าเป็นเนื้อแท้ของคารวะกับนิวาตะคือความถ่อมตัว ซึ่งการแสดงอย่างนี้ อย่างนั้นตั้งแต่การกราบไหว้ แม้กระทั่งการก้มตัว การโค้งคำนับ ก้มศีรษะ หมอบกราบ พวกนี้ทั้งหมดทั้งมวล เป็นแต่เพียงมารยาทเท่านั้น คุณธรรมอย่างนี้มันอยู่ที่ใจ แยกง่ายๆ คารวะข้อที่แล้วนี้ คือความตระหนักในคุณความดีของผู้อื่น พอตระหนักแล้วจึงแสดงความเคารพออกมาทางคำพูด ทางการกระทำจึงเรียกว่ามารยาท มารยาทในการพูด มารยาทในการกระทำที่มีการอ่อนน้อม เป็นต้น
ส่วนนิวาตะ มงคลข้อนี้คือ ถ่อมใจของเราเอง การบำเพ็ญคารวะนั้นคือ ปรารภผู้อื่น มีบุคคลคนหนึ่งที่เราต้องเคารพนี้ หรือว่าบุคคลใดก็แล้วแต่ที่เราต้องแสดงคารวะ เราตระหนักถึงคนๆ นั้นแล้วจึงแสดงคารวะออกมา คือเป็นเรื่องของผู้อื่นที่เราต้องแสดงความเคารพ ส่วนนิวาตะนั้น ปรารภตนเอง บางคนมีคารวะ แต่ไม่มีนิวาตะก็ได้ อย่างเช่นว่า เรารู้ว่าเขาดี และตระหนักในความดีของเขาเหมือนกัน นี่ก็นับว่ามีคารวะ แต่ในขณะเดียวกันนี้ นิสัย อุปนิสัย หรือว่าสันดาน ความทะนงตน ถือตน ถือตัว มันมีอยู่ในใจ ก็มีความคิดว่า เก่งจริง ก็ดีจริง ข้าฯ ก็รู้แต่ข้าฯ เองก็หนึ่งเหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่าทะนงตน ในภาษาปัจจุบันเขาเรียกว่าเบ่ง คือคนประเภทนี้ขาดนิวาตะ มีความเคารพต่อผู้อื่นก็จริง แต่ใจตัวเองมันเบ่งอยู่ แสดงว่าไม่มีนิวาตะ พอเห็นความดีของคนอื่นขึ้นมาแล้ว ก็ต้องเบ่งหรือว่าพองตัวเข้าหาทันที เหมือนกับอึ่งอ่างที่มันพองตัวเพื่อที่จะให้เทียมเท่ากับโค ดังนั้น ท่านจึงสอนให้เราแก้ตรงนี้ คือแก้ที่ใจของเราเอง
คำว่า ”นิวาตะ” แปลตามตัว แปลว่า ลมออก นิแปลว่าออก วาตะแปลว่าลม นิวาโต จึงมีความหมายตรงตัวว่า ผู้มีลมออกแล้ว คือให้คลายจากความเบ่ง ไม่พองลม เอาลมออก คือเอามานะ ทิฏฐิออกไป เมื่อเอาออกไป จึงเป็นผู้มีความสงบเสงี่ยมเจียมตน ไม่เบ่ง ไม่ทะนงตน ไม่มีความถือตัว ไม่อวดดื้อถือดี ไม่ยโสโอหัง ไม่ดูถูกเหยียดหยามใคร ไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่งจองหอง นี่คือคุณธรรมของนิวาตะ คือไขลมออกไป เอาลม คือความเย่อหยิ่งจองหองพองขน ที่มันพอขึ้นมา ใจมันพอง พองด้วยอะไรล่ะ? ด้วยกิเลส คือตัวมานะ มานะทิฐินี้ที่มันทำให้พอง แต่พอมีสติระลึกได้ว่า ทำอย่างนี้ไม่ได้ ลมมันก็จะแฟบ เป็นการไขลมออกไป เหมือนลูกโป่งนี้ ไขลมออกไป เอาลมออกไปลูกโป่งมันก็แฟบ อึ่งอ่างที่มันพอง พอเอาลมออก ตัวมันก็ปกติ คนเราก็เช่นเดียวกัน พอเวลาพองขึ้นมานี้ มันผิดปกติ มันเบ่ง ตามธรรมดา
เราจะเห็นได้ว่า คนเรานั้นเมื่อเวลาที่ไม่สบาย อย่างเช่นว่า ท้องอืด ท้องเฟ้อ เพราะว่ามีลมในท้องมาก “กุจฺฉิสยวาโย” ลมในท้องมันมากเกินไป “โกฏฐาสยวาโย” ลมในลำไส้มันมากเกินไป จะกินอะไรเข้าไปก็กินไม่ได้ เราจะต้องกำจัดลมในท้อง ที่มันทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ออกเสียก่อน จึงจะกินอาหารเข้าไปได้ คุณความดีก็เหมือนกัน ตราบใดที่เรายังมีมานะ ถือตัวหรือว่าพองลมอยู่นี้ คุณความดีหรือว่าวิชาการความรู้ก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปได้ เพราะมันติดอยู่ที่ความถือตัวเสียแล้ว มันติดอยู่ที่ความพองตัว ติดอยู่ที่อีโก้ คุณความดี อะไรต่างๆ มันก็เข้าไปไม่ได้ แล้วก็ความถือตัวหรือว่ามีทิฐินี้ มันทำให้คนพินาศมามากแล้ว ไม่มีใครอยากจะคบค้าด้วย มีแต่คนรังเกียจ นานเข้าๆ ก็กลายเป็นคนที่สังคมรังเกียจไป เหมือนกับลูกโป่งที่ถูกอัดแน่นมากเพราะแรงลม พอนานเข้ามันก็แตกเท่านั้นเอง เพราะลมมันดัน มันดันๆๆๆ เหมือนคนมีความดันสูง สูงมาก สูงเข้าๆ ระเบิด เส้นเลือดระเบิด สมองระเบิด เพราะความดัน นี่ก็ฉันใดฉันนั้น ทิฏฐิมานะ อีโก้ ความยโสโอหัง อวดดื้อ ถือดี ดูถูกเหยียดหยาม ความกระด้างกระเดื่อง เย่อหยิ่งจอง หอง ถ้ามันมีอยู่ในใจมากนี้ มันจะดันมากขึ้นๆ ใจมันก็เป็นเบ่งๆๆๆ มันไม่ใช่เบ่งบาน แต่มันเป็นการเบ่งด้วยกิเลส จะไม่ยอมรับความดี คุณธรรมอะไรเข้ามาในใจตนได้เลย เพราะความดันลมมันดันออกไป ดังนั้นแล้ว เมื่อมันมากขึ้นๆ ความดันเหล่านี้ มันระเบิดออกมา เป็นการกระทำไม่ดี เป็นคำพูดที่ไม่ดี ผิดศีลเป็นที่น่ารังเกียจของคนทั่วไป บางทีความเบ่งของตัวเองนั่นแหละ เป็นหนทางให้เจ็บตัวได้ง่ายๆ คนที่มีมานะ ถือตัวจัด หรือว่าเบ่งจัด เหล่านี้ เป็นคนที่ทำความดียาก ที่ว่าทำความดียาก ไม่ใช่ยากที่ความดี แต่ยากที่คนทำ เพราะคนประเภทนี้ เป็นคนเจ้ามานะเจ้าทิฏฐิ คิดว่าตัวเองนั้นดี ตัวเองเลิศ ตัวเองมีความประเสริฐเลิศลอยกว่าคนธรรม ดา หรืออย่างน้อยก็พอๆ กับคนที่ว่าเก่ง ยิ่งเบ่งมากก็ยิ่งหาโอกาสทำความดียาก เพราะถือว่าเราดีแล้ว อย่างเช่น สัญชัยปริพาชกที่เป็นอาจารย์เก่าของพระสารีบุตร เมื่อตอนที่ ๑๐ มีดวงตาเห็นธรรมนี้ กตัญญูต่ออาจารย์ ชวนอาจารย์มาเฝ้าพระ พุทธเจ้าก็ไม่ยอมมา เพราะถือตัวว่าเราก็เป็นอาจารย์คนหนึ่ง เป็นเจ้าลัทธิคนหนึ่ง แถมยังแก่กว่าพระสมณโคดมพระพุทธเจ้าเสียอีก จะไปทำไม อายุเราก็มากกว่า แก่กว่า ถือตัวตรงนี้แหละ จึงทำให้คลาดจากคุณธรรมความดีไป และนอกจากนั้น คนประเภทนี้เป็นคนที่ไม่ยอมรับความดีจากบุคคลอื่น
คนเรานั้นที่จะมีความรู้ มีความดี ก็ต้องอาศัยจากการถ่ายทอดความดี ความรู้จากคนอื่นเช่น จากอาจารย์ ถ่ายทอดเอาความดีมาจากผู้ที่ประพฤติชอบ ถ่ายทอดออกมาจากรุ่นสู่รุ่น จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ตอนพระชนมายุ ๓๕ ปี ถ้าเทียบปัจจุบัน หนุ่มมาก เป็นศาสดาที่หนุ่มมาก ถ้าเทียบกับศาสดาองค์อื่นๆ ที่เป็นเจ้าลัทธิทั้งหลาย ปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครนถ์นาฏบุตรเหล่านี้ แก่มากทั้งนั้น มีแต่อายุแบบแก่มาก ๖๐, ๗๐, ๘๐ ทั้งนั้น แต่พระพุทธเจ้าเรา พระชนมายุ ๓๕ เป็นสมณะหนุ่ม หลายๆ คนอีโก้จัดมาก อย่างเช่นชฎิล ๓ พี่น้อง ชฎิลคนโต อุรุเวลกัสสปะ อายุก็ปัจฉิมวัย ๖๐ ปีขึ้น เป็นที่เคารพนับถือของชาวมคธ พอพระพุทธเจ้ามาหานี้ โอ...รุ่นราวคราวลูก อย่างไรก็ไม่นับถือ บอกว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ อย่างไรก็ไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าอยู่ที่อาศรมของชฎิลอุรุเวลกัสสปะนี้ ประมาณ ๒ เดือน แสดงปาฏิหาริย์ให้เห็นหลายพันอย่าง จะเห็นกี่ครั้งๆ นี้ อุรุเวลกัสสปะก็คิดเหมือนเดิมนะ โอ...สมณะคนนี้เก่งจริงๆ นะ แต่ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา ความคิดนี้มาตลอด ใจก็ชมเชย โอ...เก่งนะ ทำอย่างนั้นได้ ปราบพญานาคได้ ทำโน่นทำนี่ได้ แต่ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนกับเรา เพราะอีโก้มันเกาะอยู่ในใจว่า เราเป็นพระอรหันต์ ทั้งที่ไม่ได้เป็นจริงๆ กิเลสก็ยังเต็มหัวใจ ปุถุชนเต็มขั้น มีอีโก้ว่าเราเป็นพระอรหันต์ จนแล้วจนเล่า พระพุทธองค์จึงให้สติว่า กัสสปะเอย ท่านนั้น มีความสำคัญตัวว่าเป็นพระอรหันต์ ทั้งๆ ที่ท่านก็ไม่รู้แนวทางแห่งความเป็นพระอรหันต์เลย ตรงนี้เป็นต้น จนกระทั่งเขาได้สติ ยอมฟังธรรม จึงได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วก็เป็นสาวก เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนา หรือแม้กระทั่งพระมหากัสสปเถระ ที่เป็นที่เคารพนับถือ เป็นผู้ทรงธุดงค์นี้ ท่านออกบวชตอนชรา การที่จะยอมใจมากราบไหว้สมณะหนุ่มมาเป็นศาสดานี้ คือใจต้องยอมรับในคุณธรรมจริงๆ จึงจะกราบไหว้บุคคลที่รุ่นราวคราวลูกได้
พระพุทธเจ้าก็เคยตอบแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลที่เป็นอายุรุ่นราวคราวเดียว กันว่า สิ่งที่ไม่ควรดูหมิ่น ไม่ควรประมาทมีอยู่ ๔ อย่าง คือ กองไฟ งูพิษตัวเล็ก พระราชาหนุ่ม สมณะหนุ่ม กองไฟแม้กองเล็กๆ อย่าไปดูถูก กองไฟนิดเดียวนี้ เผาบ้านเผาเมืองก็ได้ งูพิษตัวเล็กๆ ก็อย่าไปดูถูก พอมันกัดเข้ามานี้ ตายเหมือนกัน พระราชาหนุ่มๆ ก็อย่าไปดูถูก พอเมื่อพระองค์ทรงครองราชย์นานเข้าๆ มีพระราชอำนาจมาก ก็จะให้คุณให้โทษแก่บุคคลคนนั้นได้ สมณะหนุ่มก็เช่นเดียวกัน อย่าไปดูถูกว่า โอ...รุ่นลูก รุ่นหลาน จะมีอะไร สมณะหนุ่มๆ นี้ แต่ถ้ามีคุณธรรมในใจ มีศีล สมาธิ ปัญญา มีมรรค มีผล มีนิพพานอยู่ในใจ ท่านก็เป็นทักขิไณยบุคคล เป็นบุคคลผู้เลิศ ก็ไม่สมควรดูถูกทั้งนั้น เหล่านี้ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ อีโก้นี้มันมีอยู่ในใจทุกคน แต่การที่จะยอมต้องเอาลมออก ลมคือความเบ่งคือความถือเนื้อถือตัว คืออีโก้ทั้งหลายออกไปจึงจะได้รับการถ่ายทอดเอาความดี เอาคุณธรรมมาได้ อย่างมหากัสสปะ ท่านอุรุเวลกัสสปะ ที่บวชตอนแก่ทั้งหลาย เพราะท่านเอาลมออก คือเอาอีโก้ เอาทิฐิมานะ เย่อหยิ่งจองหองออกไป ใจของท่านยอมจึงรับธรรมะจากพระพุทธเจ้า บรรลุมรรคผล ได้ดวงตาเห็นธรรม
ดังนั้น การถ่ายทอดแนวจากพระสงฆ์จากครูบาอาจารย์ การที่เราจะถ่ายทอดออกมาได้นั้นก็ต้องอาศัยการยอมนอบน้อมถ่อมตน ยอมรับนับถือท่าน เทิดทูนท่านไว้ในฐานะสูงถ่อมตัวเราลงต่ำ อย่างเช่น เราจะถ่ายน้ำหรือน้ำมันนี้ จากถังหนึ่งไปยังอีกถังหนึ่ง ตามหลักแล้ว จะต้องเอาถังที่จะรับถ่ายนี้ไว้ต่ำ ถังที่มีน้ำไว้สูง ไม่อย่างนั้นแล้ว น้ำมันก็จะไม่ยอมลงมาหรอก มันก็จะคาอยู่อย่างนั้น ถ้าเอาวางไว้เสมอกัน มันก็ไม่ไหลไป ไหลมา มันก็นิ่ง ดังนั้น ถังที่มีน้ำต้องอยู่สูงกว่าถังที่ไม่มีน้ำ หรือกรณีที่ส่งน้ำประปา เขาจะตั้งถังจ่ายน้ำไว้สูงแล้วจึงจะจ่ายน้ำได้ เพราะฉะนั้น เราเห็นได้เลยว่า ถังน้ำประปาทุกที่อยู่สูงหมด แล้วค่อยเอามาลงดิน แล้วค่อยแจกจ่ายไปยังที่ต่างๆ ถ้าเอาไว้ต่ำ โอ...มันไม่ยอมแจกจ่ายไปหรอก ต้องเอาไว้ที่สูง ถังน้ำประปาทุกที่เป็นอย่างนั้น ฉันใดฉันนั้น คนเราลองได้มีความเสมอกันแล้ว หรือมีความสูงกว่าคนที่เราจะถ่ายทอดแล้ว ไม่มีวันที่เราจะได้ความดีหรือความรู้มาได้ ดังนั้น คนที่ขาดนิวาตะคือความถ่อมตัว ก็คือการถ่อมใจนี้ จึงเป็นคนที่ยากจะถ่ายทอดเอาความดีหรือความรู้จากผู้อื่นมาได้ ดังนั้น พระพุทธองค์จึงได้ทรงสอนให้เรางดเบ่งเสีย แล้วประพฤตินิวาตะ คือความถ่อมตน ผ่อนลมเบ่งออก มาเสียบ้าง การที่เราลดทิฐิมานะนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เราเสียศักดิ์ศรี หรือฐานะของตนแต่อย่างใด การวางตัวตามฐานะของคนนั้น ไม่ใช่เป็นมานะทิฏฐิ แต่เป็นการทำงานตามฐานะของตน ไม่อย่างนั้นแล้ว ความเป็นบ่าวเป็นนาย เป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่มันจะมีได้อย่างไร ลักษณะคนมีมานะทิฏฐินั้น เป็นลักษณะของคนที่หลงผิดต่างหาก หลงผิดคิดว่าเราดีเลิศกว่าเขา อะไรทำนองนี้ว่าเราดีกว่าเขา เสมอเขา ต่ำกว่าเขา เป็นต้น ในมานะ ๙ แต่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนให้เรานี้ เห็นความดีของคนอื่น แล้วหันมาเปรียบเทียบความดีของเรา เพื่อคลายพยศ ลดมานะ ละทิฐิลงไปเสีย
สิ่งที่คนทั่วไปหลงถือเอานี้ ทำให้ถือตัวถือตน เช่นว่า
๑. ชาติตระกูล คิดว่า ตระกูลฉันนี้เป็นตระกูลใหญ่ เชื้อสายผู้ดีเก่า พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย กี่รุ่นๆ มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นขุนนางผู้ใหญ่ เหล่านี้เป็นต้น คนอื่นจะมาเทียบฉันได้อย่างไร เมื่อหลงถือว่าตนมีชาติตระกูลสูงกว่าผู้อื่น ความถือตัวมันก็เกิดขึ้น
๒. ทรัพย์สมบัติ เช่น คิดว่าทรัพย์สินเงินทองของเรานั้นมีมากมาย จะซื้อจะหาอะไรก็ได้อย่างใจ ไม่เห็นจะต้องไปง้อไปเกรงใจใคร เมื่อหลงถือว่าตนมีทรัพย์สมบัติมากกว่าผู้อื่น ความถือตัวก็เกิดขึ้น
๓. รูปร่างหน้าตา เช่น คิดว่ ฉันนี้สวย สวยน้อยหน้าใครเสียเมื่อไหร่ล่ะ ดูสิ ผิวก็ละเอียด จมูกก็โด่ง ตาก็กลม นางงามจักรวาลที่ว่าสวยๆ นี้ชิดซ้ายไปเลย อย่างนี้เป็นต้น เมื่อหลงถือว่าตนเองมีรูปร่างหน้าตาดีกว่าคนอื่น ความถือตัวมันก็เกิดขึ้นมา
๔. ความรู้ความสามารถ เช่นคิดว่า ความรู้เรานี้ ระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ปริญญาไหนๆ ที่ว่ายาก กวาดมาหมดแล้ว ฝีมือก็แน่กว่าใคร ไม่มีใครสู้ได้ เมื่อหลงถือว่าตนมีความรู้ความสามารถสูงกว่าผู้อื่น ความถือตัวมันก็เกิดขึ้นมาก
๕. ยศ ตำแหน่ง เช่นคิดว่า โอ...เรานี้ มันเป็นผู้อำนวยการ เป็นอธิบดี เป็นปลัด ซี ๘ ซี ๙ ซี ๑๐ ซี ๑๑ เป็นระดับ ชำนาญการ เชี่ยวชาญ เชี่ยวชาญพิเศษ อะไรนี้ ใครจะมาแน่ ใครจะมาแน่เท่าเรา เมื่อหลงถือว่าตนมียศ ตำแหน่งสูงกว่าผู้อื่น ความถือตัวถือตนมันก็เกิดขึ้น
๖. บริวาร เช่น คิดว่าสมัครพรรคพวกลูกน้องพร้อมบริวารฉันก็มีเยอะ ใครจะกล้ามาหือ จะกล้ามาแหยม เมื่อหลงถือว่าตนมีบริวารมากกว่าผู้อื่น ความถือตัวมันก็เกิดขึ้น
คนทั่วไปมักหลงยึดเอาสิ่งต่างๆ ๖ ประการนี้เป็นข้อถือดีของตัวเอง ไม่เคยคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่ว่านั้น มันจะเป็นของเราตลอดไปหรือไม่ จีรังยั่งยืนหรือเปล่า ที่ว่าหล่อๆ สวยๆ พออายุสัก ๕๐, ๖๐, ๗๐ ก็มีไม่มีใครอยากมองแล้ว เศรษฐี มหาเศรษฐีทำการค้าผิดพลาดเข้า ล่มจมกลายเป็นยาจกภายในวันเดียวก็มีตัวอย่างให้เห็น ถึงจะเป็นเศรษฐีไปจนตายก็ใช่ว่าจะขนเอาเงินทองไปปรโลกด้วยเมื่อไหร่กัน ถ้าไม่รู้จักสร้างคุณงามความดี ถึงมีเงินทองมากเท่าไหร่ก็ไม่พ้นทุกข์ไปได้ ยิ่งรวยมากก็ยิ่งทุกข์มาก ทั้งหาห่วง หวงยศ ตำแหน่ง บริวารนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะคงอยู่กับเราอย่างนั้นตลอดไป เพราะมันเป็นเพียงหัวโขน เมื่อจบบทละครก็ต้องถอดหัวโขนลงมาวาง ทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน ไม่ใช่เป็นของเราจริงๆ เป็นเพียงสิ่งที่สมมุติขึ้นมา เพื่อให้คนในสังคมนี้ทำงานตามหน้าที่ของตนเท่านั้น ที่ว่า
”โลกนี้คือละคร ปวงนิกรเราท่านเกิดมา
ต่างร่ายรำทำทีท่า ตามลีลาของบทละคร
บางครั้งก็เศร้าบางคราวก็สุข บางทีก็ทุกข์หัวอกสะท้อน
บ้างมีรักมีจากมีจร พอจบละครชีวิตก็จากลา”
สิ่งที่จะคงอยู่กับตัวเราอย่างแน่นอนและช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้จริงๆ ก็คือกุศล คุณงามความดี ศีล สมาธิ ปัญญา ต่างหาก และการที่เราถือตัวเย่อหยิ่งทะนงตนนั้น มันทำให้อะไรในตัวเราดีขึ้นบ้าง จะทำให้คนอื่นนับถือตัวว่า เรายิ่งใหญ่ก็หามิได้ รังแต่จะทำให้เขาเกลียดชังเหม็นหน้า เหมือนคนอยากให้คนอื่นรู้ว่า ตัวอ้วนท้วนสมบูรณ์จึงอมลมเข้าเต็มปาก ทำให้แก้มตุ่ย ใครเห็นเข้าแทนที่จะชม เขาก็มีแต่จะหัวเราะเยาะเอา ถ้าขืนอมลมอยู่อย่างนั้น ข้าวก็กินไม่ได้ น้ำก็กินไม่ได้ ตัวก็มีแต่จะผอมซูบซีดลงทุกที แท้จริงแล้ว ผู้ที่จะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ได้รับการยกย่องนับถือจากคนอื่นทั้งกายและใจนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างเต็มที่เท่านั้น ผู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือผู้ที่ทำตนให้เล็กที่สุด ผู้ที่เล็กที่สุดจะกลายเป็นผู้ที่ใหญ่ที่สุด ผู้ที่ฉลาดจึงไม่ควรหลงยึดเอาสิ่งเหล่านี้มาทำให้ตนนี้เกิดความถือตัว บุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดต้องยิ่งใหญ่ด้วยคุณงามความดี เป็นผู้ที่นั่งอยู่ในใจคน ไม่ใช่ผู้ที่นั่งอยู่บนหัวคน
โทษของการอวดดื้อถือดี
๑. ทำให้เสียตน เพราะเป็นคนรับความดีจากคนอื่นไม่ได้ กลัวเสียเกียรติ ประเมินค่าตนสูงกว่าความเป็นจริง คิดแต่ว่าเราดีอยู่แล้ว ใครๆ ก็สู้เราไม่ได้ โบราณท่านจึงมีคำสอนเตือนใจว่า ลูกท่านหลานเธอ ลูกเจ้าบ้านหลานเจ้าวัด มักจะเอาดีไม่ค่อยได้ เพราะมักจะติดนิสัยอวดดี ถือตัว ยโสโอหัง จึงไม่มีใครอยากแนะนำสั่งสอนให้ ทำผิดก็ไม่มีใครอยากเตือน สุดท้าย ก็คบอยู่แต่กับพวกประจบสอพลอ ทำผิดถลำลึกไปทุกทีจนสุดทางจะแก้
๒. ทำให้เสียมิตร เพราะเป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่าง ที่ไม่ควรถือก็ถือ ที่ไม่ควรโกรธก็โกรธ จึงไม่มีใครอยากคบด้วย คนพวกนี้ถึงแม้ในเบื้องต้นอยากจะทำความดี แต่ทำดีไปได้ไม่กี่น้ำก็จอด เพราะไม่มีใครสนับสนุน เป็นเหมือนเจดีย์ฐานแคบ ไม่สามารถสร้างให้สูงขึ้นไปได้
๓. ทำให้เสียหมู่คณะ เพราะเป็นคนอวดเบ่ง จะเอาแต่อภิสิทธิ์ ทำให้เสียระเบียบวินัย หมู่คณะก็แตกแยก หมู่คณะใดที่สมาชิกมีความอ่อนน้อมถ่อมตน แม้บางครั้งจะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แต่ไม่นานก็สามารถสมานสามัคคี ป้องกันอันตรายทั้งหลายได้โดยง่าย เหมือนดินเหนียวในท้องนา ยามหน้าแล้งก็แตกระแหงเป็นร่องลึก ดูเหมือนไม่มีทางที่จะประสานรวมได้อีกแล้ว แต่พอฝนตกลงมาซู่เดียวนี้ ก็สามารถประสานคืนเป็นผืนเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ ส่วนหมู่คณะใดที่สมาชิกมีความถือตัวจัด จึงไม่มีทางที่หมู่คณะนั้นจะเกิดความสมัครสมานสามัคคีกันได้ เหมือนดินทราย แม้ฝนจะตก ตกจนน้ำท่วมฟ้าก็ไม่มีทางประสานรวมกันได้สนิท เพราะความอวดดื้อถือดีๆ อย่างเช่นประเทศอินเดียในอดีต ซึ่งพลเมืองมีความถือตัวจัด แบ่งชั้นวรรณะกันอย่างหนัก มีมาตั้งแต่เป็นพันๆ ปี วรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ วรรณะแพศย์ วรรณะพ่อค้านี้ วรรณะศูทรคือชนรับใช้ แม้เพียงคนวรรณะสูงไปเห็นคนวรรณะต่ำ เห็นคนจัณฑาลเข้า ก็ต้องรีบเอาน้ำล้างตา กลัวเสนียดจัญไรจะติด เหมือนคนสมัยนี้ที่กลัวโควิด พอออกไปบ้าน กลับบ้านมาแล้ว ต้องล้างจมูก ล้างตา ต้องอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า คนวรรณะสูงเห็นคนจัณฑาลสมัยก่อน อินเดียเป็นอย่างนั้น โอ...รังเกียจมาก ยิ่งกว่าตัวเชื้อโรค กลัวเสนียดจัญไร เพราะอะไร? เป็นคำสอนของบรรพบุรุษที่นับถือกันมาจากระบบชั้นวรรณะ พอถือตัวกันอย่างนี้ พอถึงคราวมีข้าศึกรุกราน เลยไม่มีใครช่วยใครกำจัดศัตรู ปล่อยให้ศัตรูเข้ายึดครองประเทศโดยง่าย พวกคนวรรณะต่ำก็คงคิดว่าดีแล้ว คนวรรณะสูงๆ จะได้รู้สึกเสียบ้าง คนวรรณะสูงด้วยกันเอง ก็ยังถือตัวทะเลาะรบกันเอง เพราะถือตัวกันอย่างนี้ แม้มีพลเมืองมากหลายร้อยล้านคน ก็ยังตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งส่งทหารมาเพียงแค่หยิบมือเดียวเท่านั้นเอง ก็เพราะว่า ความไม่สามัคคี แบ่งชนชั้นวรรณะ เป็นเจ้า เป็นนาย เป็นบ่าว เป็นไพร่ เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร หรือแม้กระทั่งมหาวิทยาลัยนาลันทา ที่ล่มสลายลงเพราะว่านักบวชขี้เรือนสมัยนั้น ถือตัวจัด คบแต่ชนชั้นนำ ไม่เอาชาวบ้าน อยู่ดีกินดี อย่างกับขุนน้ำขุนนาง แล้วก็เอาข้อปฏิบัตินอกธรรมนอกวินัยในมาปฏิบัติแบบตันตระ มีแต่พิธีบวงสรวงเซ่นไหว้บูชา ประกอบพิธีกรรมกระหึ่มวัด ไม่มีการประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัย แถมยังกินเหล้า กินเนื้อ เสพกาม แบบนี้ใครจะนับถือ คบหาแต่คนชั้นนำ ชาวบ้านก็ดูถูกดูแคลนเขา พอกองทัพยกทัพชาวเติร์กบุกเข้ามา พระก็สู้ไม่ได้ ต้องปล่อยให้เขาฟัน เผามหาวิทยาลัยไปถึง ๓ เดือน กว่าจะเผาหมด ไม่มีใครช่วย เพราะเอาแต่ตัวเอง ไม่เอาธรรม ไม่เอาวินัย ความสมัครสมานสามัคคีไม่มี ไม่สามัคคีกับชาวบ้านรอบนอกก็จบกัน ดังนั้น พระพุทธองค์จึงได้ตรัสไว้ในพระสูตรว่า “ชาติถทฺโธ ธนถทฺโธ โคตฺตถทฺโธ จ โย นโร สญฺญาตึ อติมญฺเญติ ตํ ปราภวโต มุขํ” นรชนใด เย่อหยิ่งเพราะชาติ เย่อหยิ่งเพราะทรัพย์สมบัติ เย่อ หยิ่งเพราะโคตรวงศ์ตระกูล ย่อมดูหมิ่นซึ่งญาติของตน ความเย่อหยิ่งนั้นเป็นทางของผู้เสื่อม ความไม่เย่อหยิ่ง ความที่ประพฤตินอบน้อมถ่อมตน ไม่ถือตัวดูหมิ่นผู้อื่น เป็นเหตุให้ผู้อื่นรักใคร่และเอ็นดู ชวนใจให้ผู้อื่นมีเมตตากรุณา หวังให้มีความสุขความเจริญ ผู้ใดเป็นที่รักใคร่ของคนเป็นอันมาก ผู้นั้นย่อมได้รับความสะดวกในกิจการต่างๆ นำตัวเองไปสู่ความเจริญด้วยอิสริยยศและบริวาร ดังนั้นผู้ที่มีความเจริญด้วยชาติตระกูล ลาภ ยศ และบริวารจึงควรที่จะระวังตน เพราะชาติและทรัพย์เป็นต้น อย่าให้เป็นเหตุให้เราเป็นคนเย่อหยิ่งถือตน โปรดระลึกอยู่เสมอว่า คนที่จะไปสู่ความเจริญได้นั้นจะต้องอาศัยความนอบน้อมถ่อมตน คนที่ไม่มีนิวาตะจะไปสู่ที่สูงไม่ได้เลย เหมือนคนที่จะกระโดดสูงนี้จะต้องย่อตัวลงเสียก่อนจึงจะกระโดดได้สูง ถ้าลองเราไม่ย่อตัวสิ ทำตัวแข็งๆ จะกระโดดสูงได้หรือไม่ ขาหักเท่านั้นเอง ความถ่อมตนก็ฉันนั้น ยอมที่จะนำตนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า ความถ่อมตนเป็นมงคลสูงสุด อ่อนน้อมถ่อมตนต่อพระพุทธเจ้า อ่อนน้อมต่อพระธรรม อ่อนน้อมต่อพระอริยสงฆ์ เพราะว่าท่านเหล่านี้เป็นพระธรรม เป็นพระวินัย อ่อนน้อมต่อพระธรรมคำสั่งสอนที่ท่านได้ตรัสรู้ อ่อนน้อมต่อพระอริยสงฆ์ที่ท่านประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า โดยเอาธรรมะเป็นหลัก ท่านเข้าถึงพระศาสนา ละเสียซึ่งนิติบุคคล ตัวตนเราเขา มีแต่ความบริสุทธิ์ที่ออกจากใจ ออกจากความบริสุทธิ์ ใจเข้าถึงพระธรรมวินัย เสียสละซึ่งตัวซึ่งตน เขาเรียกว่าตัด ตัดเสียซึ่งทิฐิมานะตัวตน เข้าถึงพระศาสนา ไม่ทำตามสัญชาตญาณเหมือนแต่ก่อน เป็นการเดินทางที่ถูกต้อง แก้ปัญหาที่ถูกต้อง เป็นผู้เที่ยงแท้แน่นอนต่อมรรคผลพระนิพพาน สวรรค์หรือพรหมก็เป็นสิ่งที่จะพึงได้อยู่แล้ว เหมือนผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ อิทธิปาฏิหาริย์ ฌาน อภิญญา ก็เป็นผลพลอยได้ ต่อเนื่องมาจากความไม่ประมาท มันเป็นการเข้าสู่ภาคประพฤติภาค ปฏิบัติ ที่เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ๓ อย่างนี้ ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าเราไม่มีความประพฤติ ความปฏิบัติ มันก็ไม่มีการเดิน เพราะมันจะเดินไปในปัจจุบัน แสงสว่างมันก็จะระเบิดความมืดในตัว แล้วมันจะก้าวหน้าไปเรื่อย ด้วยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง แล้วทุกคนก็จะเข้าถึงความเป็นพุทธะ เป็นพระ พุทธศาสนาอย่างแท้จริง
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งรัตนตรัย และพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องผ่านหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ