แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที ๑๔ กาดงดเว้นจากบาปความสกปรกทางใจ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้ เป็นวันพุธที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานของชีวิตให้เป็นมงคล ในวันนี้ขึ้นมงคลข้อที่ ๑๙ “อารตี วิรตี ปาปา” การงดเว้นจากบาปกรรม
ในมงคลข้อที่ ๑๙ นี้ เป็นการสร้างความเจริญของจิตใจโดยตรง ซึ่งในมงคล ๑๘ มงคลเบื้องต้น ส่วนมากเป็นการสร้างชีวิต เกี่ยวกับสังคม การเรียน การศึกษา การทำมาหากิน เกี่ยวกับเรื่องพ่อ เรื่องแม่ เรื่องสามีภรรยา เรื่องลูก แม้แต่การทำงานต่างๆ ก็มุ่งให้เว้นงานที่มีโทษ อันจะเป็นความผิดทางบ้านเมือง แล้วก็เป็นที่ครหาติเตียนของผู้อื่น แต่มงคลข้อที่ ๑๙ นี้ เป็นการปรุงแต่งใจให้สูงขึ้นโดยเฉพาะ ความดีและความชั่วนั้นเราจะวัดได้อย่างไร? เราวัดได้ด้วยการกระทำของตัวเอง ถ้าใจใครเกลียดชั่ว รักในความดีอย่างแน่วแน่ ใจคนนั้นเป็นใจที่สูงยิ่ง ถ้าใจใครในบางคราวรักดี บางคราวก็รักชั่ว ใจคนนั้นปานกลาง ถ้าใจใครเกลียดดี รักชั่วอย่างเดียว ใจคนนั้นต่ำมาก
ในมงคลข้อที่ ๑๙ ตามพระบาลีว่า “อารตี วิรตี ปาปา” “อารตี” แปลว่า งด “วิรตี” แปลว่า เว้น “ปาปา” จากบาป จึงแปลว่า การงด การเว้นจากบาปกรรม ในมงคลข้อแรกที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ก็เป็นการงดเว้นเหมือนกัน นั่นก็คือ งดเว้นคนภายนอก เว้นจากการคบคนพาล แต่มาตอนนี้ เป็นการสร้างความดีทางใจโดยตรง ท่านจึงเริ่มต้นด้วยการงดเว้นจากบาป
คนเรานี้ เวลาก่อนที่จะแต่งตัว ก็จะต้องชำระล้างสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย เป็นต้นว่าเหงื่อไคลให้หมดเสียก่อน จึงจะแต่งตัว การแต่งใจก็เช่นเดียวกัน จะต้องชำระสิ่งสกปรกออก สิ่งสกปรกทางใจนี้ให้ออกไปเสียก่อน สิ่งสกปรกทางใจนี้ ทางศาสนาโดยเฉพาะศาสนาพุทธเรียกว่าบาป ถ้าจะแปลแล้วก็ได้แก่ความสกปรกทางใจนั่นเอง ในมงคลข้อนี้ พระพุทธองค์ตรัสให้เว้นจากบาปเสีย ตัวเรายังทำบาปอยู่ตราบใดนี้การแต่งใจก็ไม่เป็นผล เพราะภาชนะไม่สะอาด จะใส่อะไรไปมันก็สกปรกไปหมด มันก็เน่า มันก็บูด มันก็เสีย สิ่งของที่เสีย เราก็จะมีชื่อเรียกต่างๆ กันไป เช่นว่า บ้านเสีย เราก็เรียกว่าบ้านชำรุด อาหารเสีย ก็เรียกว่าอาหารบูด คำจำพวกที่ว่าบูด ชำรุด แตกหัก ผุพัง เน่า ขึ้นราพวกนี้ สารพัดที่จะเรียก ถ้าพูดรวมๆ ก็คือว่า เสีย ความหมายก็คือว่าไม่ดีนั่นเอง อาการเสียของจิตก็เช่นเดียวกัน เราเรียกแยกได้หลายอย่าง เช่น จิตเศร้าหมอง จิตเหลวไหล ใจร้าย ใจดำ ใจขุ่นมัว ใจไม่ดี ใจสกปรก สารพัด แล้วแต่จะบอกอาการทางไหน คำว่าเศร้าหมอง เหลวไหล ต่ำทราม ร้ายกาจ พวกนี้ ก็เป็นคำบอกหมายถึงอาการของจิตที่มันเสีย จิตที่มันสกปรก ซึ่งสิ่งที่ทำให้จิตเสีย พระพุทธศาสนาเรา พระพุทธเจ้าก็ใช้คำสั้นๆ ว่า บาป คำว่า “บาป” จึงหมายถึงสิ่งที่ทำให้จิตมันเสีย มีคุณภาพที่ต่ำลงนั่นเอง ไม่ว่าจะเสียในแง่ไหน ก็เรียกว่าบาปทั้งสิ้น คำว่า ”บาป”นั้น ก็คือความเศร้าหมองใจ จะทำอะไรก็ตาม ถ้าการกระทำนั้นเป็นการก่อความเดือดร้อน ทำให้จิตใจของเรานั้นผิดปกติไปจากความเป็นจริงของธรรมชาติ เป็นต้นว่า ใจร้าย ใจดำ ใจต่ำ ใจสกปรก ใจเศร้าหมอง เหล่านี้ เป็นบาปทั้งนั้น ในทางศาสนานั้น มุ่งหวังการกระทำของจิตใจเป็นเกณฑ์ การกระทำใดๆ ก็ตาม เมื่อทำแล้ว ทำให้เกิดความเสื่อมเสียทางจิตใจ สิ่งนั้นเป็นบาป ที่ว่าเสื่อมเสียทางจิตใจนั้น หมายถึงการกระทำที่ทำให้ใจของบุคคลนั้น มีสภาพต่ำลงจากปกติของคนทั่วไป
เราทราบความหมายของมนุษย์เป็นอย่างดีอยู่แล้ว “มน” แปลว่าใจ “อุษย” แปลว่า สูง “มนุษย” ที่แปลว่า ผู้มีจิตใจสูง คือสูงจากทั่วไปในด้านของคุณธรรม ถ้าการกระทำใดๆของเรามีเจตนาในทางชั่วร้ายแล้ว ก็ไม่ทำให้อะไรมันต่างกับสัตว์ทั่วๆ ไปได้ ดังนั้น ความหมายของมนุษย์หรือคน ไม่ใช่อยู่ที่ว่า มีหัว มีแขนสองแขน มีขาสองขา มีการกินอยู่ หลับนอน เดินในทางตรง ไม่ใช่เดินไปทางขวางแบบสัตว์เดรัจฉาน ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะสัตว์เดรัจฉานที่ตัวใหญ่กว่ามนุษย์ก็มีมาก มาย แต่หมายถึงว่า คุณธรรมนี่แหละ จิตใจนี่แหละที่จะสูง ประเสริฐกว่าสัตว์ทั่วไป คือมีจารีต มีประเพณี มีวัฒนธรรม มีคุณธรรมเหล่านี้ เป็นเครื่องหมายของมนุษย์ ที่ทำให้แตกต่างจากสัตว์ทั่วๆ ไปนั่นเอง
การกระทำที่ศาสนาต่างๆ สอนว่าเป็นบาปนั้น ผิดแผกกันออกไปเป็นส่วน มาก ศาสนาใดสอนว่าโลกและสรรพสัตว์มีพระเจ้าเป็นผู้สร้าง ศาสนานั้นก็จะสอนว่า การกระทำผิดต่อพระผู้เป็นเจ้าเป็นบาป ดังนั้น ศาสนาเหล่านั้นก็จะสอนว่า บาปก็หมายถึงว่า การผิดจากคำสั่งสอนของพระเจ้า แล้วท่านก็อาจจะมีสิทธิ์ยกบาปให้ด้วย เช่น ในบางศาสนาที่เรารู้กันถือว่าคนจะบริสุทธิ์นั้น ด้วยการที่พระเจ้าไถ่บาปให้ การกำเนิดของบาปในทัศนะของศาสนาอื่นๆ บางศาสนาที่มีพระเจ้าเป็นผู้สร้างจะต่างจากศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก เช่น แนวความคิดในบางศาสนาที่มีพระเจ้า ที่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้าง จะสอนว่าบาปจะเกิดขึ้น เมื่อผิดคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า เช่นพระผู้เป็นเจ้า สั่งให้นึกถึงพระองค์อยู่เป็นประจำ ถ้าลืมนึกไปก็เป็นบาป หรือพระผู้เป็นเจ้าในบางศาสนานี้ สั่งไม่ให้เอ่ยนามของพระองค์โดยไม่จำเป็น ถ้าใครเอ่ยพระนามโดยพร่ำเพรื่อก็เป็นบาป ยิ่งไปกว่านั้น ตามความเชื่อของเขา บาปก็ยังมีการตกทอดไปถึงลูกถึงหลานได้อีกด้วย เช่นว่า ในศาสนาที่มีพระเจ้าผู้สร้างที่ถือ ว่า ทุกคนเกิดมามีบาปเพราะอดัมกับอีวา ซึ่งเขาถือว่าเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ขัดคำสั่งของพระเจ้า แอบไปกินแอปเปิ้ลในสวนเอเดน ถูกพระเจ้าปรับโทษเอาเป็นบาป ลูกหลานทั่วโลกจึงมีบาปติดตัวมาด้วย โดยนัยยะนี้ ศาสนานี้จึงเชื่อว่า บาปตกทอดถึงกันได้โดยสายเลือด อันนี้ในศาสนาที่เขาเชื่อว่าพระเจ้าสร้าง
แต่พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนเรื่องพระเจ้าสร้าง เรื่องบาปเป็นเรื่องเหตุผลทางจิตใจ คือการกระทำใดๆ ก็ตาม เมื่อทำลงไปแล้ว จิตใจของคนนั้นแปรสภาพไปในทางที่เสีย เป็นบาปทั้งสิ้น บาปก็คงเป็นบาป ไม่มีการหยิบยื่นบาปให้แก่ผู้ใด แล้วก็ไม่มีการงดเว้นหรือว่าไถ่บาปให้แก่ผู้ใดได้ ใครทำผู้นั้นก็ต้องรับ พระสัมมา สัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระพุทธบารมีมาหลายล้านชาติ ยี่สิบอสงไขยแสนมหากัป เป็นการค้นคว้า ค้นคว้าความเป็นจริงของธรรมชาติของสรรพสิ่งทุกอย่าง นำมาบอก นำมาสอน ในเรื่องของกรรมและผลของกรรม เป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ ไม่ใช่มีใครมาเสกสรรปั้นแต่ง พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เป็นคนสร้างกฎนี้ขึ้นมา เทพองค์ใด มหาพรหมองค์ใดก็ไม่มีใครสร้างกฎนี้ขึ้นมา แต่มันเป็นกฎของธรรมชาติที่เรียก ว่ากรรมนิยาม ในนิยาม ๕ กรรมนิยาม อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตตนิยาม แล้วก็ ธรรมนิยาม เหล่านี้ กรรมนิยามก็เป็นหนึ่งในนั้น ก็คือเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรม เป็นไปตามธรรมดาของโลก จะเชื่อ หรือไม่เชื่อ มันก็คงทำงานอยู่อย่างนั้น
เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพระพุทธบารมีมาอย่างดีเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนนี้จึงเป็นผลทำให้พระองค์ทรงเห็น เห็นด้วยปัญญาจักษุ ตาคือปัญญา แล้วก็พุทธะจักษุ จักษุแห่งการตรัสรู้ ทรงรู้ ทรงเห็น ทรงรู้จักธรรมชาติของกิเลส อันเป็นต้นเหตุแห่งบาปทั้งหลายได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง แล้วก็สามารถกำจัดกิเลสเหล่านั้นออกไปได้โดยสิ้นเชิง แล้วก็เด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน ด้วยวิปัสสนาปัญญา พระองค์จึงได้ตรัสสรุปเรื่องการกำเนิดของบาปไว้อย่างชัดเจน ดังพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“นตฺถิ ปาปํ อกุพฺพโต” - บาปย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่ทำบาป นี่จะเห็นว่าไม่เกี่ยวกับพระเจ้าเลย
“อตฺตนา ว กตํ ปาปํ อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ” - ใครทำบาปเอง คนนั้นก็เศร้าหมองเอง สกปรกเอง
“อตฺตนา อกตํ ปาปํ อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ” - ใครไม่ทำบาป คนนั้นก็บริสุทธิ์
จากพระพุทธพจน์ตรงนี้ เป็นเครื่องยืนยันการค้นพบของพระพุทธเจ้าว่าบาป นี้เป็นเรื่องเฉพาะตัว ไม่ใช่สิ่งที่ติดต่อกันได้ ใครทำบาป คนนั้นก็ได้บาป ใครไม่ทำบาป ก็รอดตัวไป พ่อทำบาปก็เรื่องของพ่อ ลูกทำบาปก็เรื่องของลูก คนละคนกัน เปรียบเหมือนพ่อนี้กินข้าว พ่อก็อิ่ม ลูกไม่ได้กิน ลูกก็หิว หรือว่าลูกกินข้าว ลูกก็อิ่ม พ่อไม่ได้กิน พ่อก็ไม่หิว ไม่ใช่พ่อกินข้าวอยู่ที่บ้าน ลูกอยู่นอกบ้าน อยู่ที่ทำงาน แล้วลูกจะอิ่มไปด้วย ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว ใครทำใครได้ ดังนั้น ตามความเห็นของพระพุทธศาสนา บาปจึงเกิดที่ตัวคนทำเอง คือเกิดที่ใจของคนทำ ใครไปทำชั่ว บาปมันก็กัดกร่อนใจของคนนั้นให้เสียคุณภาพ เศร้าหมองขุ่นมัวไป ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานไป ไม่เกี่ยวกับคนอื่นเลย
เมื่อความเห็นในเรื่องการกำเนิดบาปต่างกันดังกล่าว แล้ววิธีล้างบาปในศาสนาต่างๆที่มีพระเจ้าเป็นผู้สร้างที่มีความเชื่ออย่างนั้น กับการแก้ไขพฤติกรรมในพระพุทธศาสนาจึงห่างกันราวฟ้ากับดิน ศาสนาที่เชื่อพระเจ้าเชื่อผู้สร้างผู้ศักดิ์สิทธิ์ สอนว่าพระเจ้าทรงไว้ซึ่งสิทธิ์ขาดที่จะยกเลิกบาปให้ใครๆ ก็ได้ โดยการไถ่บาป ขออย่างเดียว ให้ผู้นั้นภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าก็แล้วกัน ทำอย่างนั้นบาปมันหมดไปจริงไหม? ไม่จริง เพราะว่าใจมันก็ยังเศร้าหมองอยู่ ใจก็ยังขุ่นมัวอยู่ ถ้าชำระบาปให้จริงก็คงจะบริสุทธิ์ คงจะไม่มีกิเลสกันทั้งโลกแล้ว ถ้าพระเจ้าบันดาลให้ได้ขนาดนั้น ล้างจิตล้างใจ ล้างบาปให้ได้ขนาดนั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้นเลย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า
“สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ” - ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ เป็นเรื่องเฉพาะตัว
“นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย” - ใครจะไถ่บาป ทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ไม่ได้เลย
คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดที่ว่ามานี้ ปฏิเสธความเห็นที่ว่า บาปของคนหนึ่งจะตกทอดไปยังอีกคนหนึ่งได้ทั้งสิ้น และปฏิเสธลัทธิความเชื่อที่ว่า บาปคนหนึ่งทำแล้วจะมีผู้หนึ่งผู้ใดมาไถ่ถอนหาให้ได้เป็นไปไม่ได้ พระพุทธเจ้าสอนวิธีแก้ไขบาปอกุศลกรรมที่ทำลงไป ที่เคยพลาดพลั้งกระทำไปได้อย่างมีเหตุมีผล เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี สมมุติว่าเรามีเกลืออยู่ช้อนหนึ่ง ใส่ลงไปในน้ำ ๑ แก้ว เมื่อคนให้ละลาย แล้วลองชิมดู ผลเป็นไง? น้ำก็เค็ม เพราะเป็นน้ำเกลือ ถ้าเอาน้ำแก้วนี้ใส่ลงไปในถังน้ำ แล้วเติมน้ำให้เต็ม ชิมดูจะเป็นอย่างไร มันก็แค่ยังมีรสเค็มอยู่บ้าง กร่อยๆ แต่มันยังไม่ใช่น้ำจืดสนิท เพราะมันยังมีความเค็มอยู่ ถ้าเอาน้ำในถังนี้ ใส่ลงไปในแท้งค์น้ำฝนใบใหญ่ คิดดูเป็นไง? มันก็จืดสนิท เกลือหายไปไหนหรือเปล่า? เปล่า เกลือก็ยังอยู่ครบถ้วนตามเดิม แล้วทำไมมันถึงไม่เค็ม? ก็เพราะว่า ในแทงค์น้ำมันมีน้ำปริมาณมาก มากจนสามารถเจือจางรสเค็มของเกลือจนกระทั่งหมดฤทธิ์ เราจึงไม่รู้สึกถึงความเค็ม ภาษาธรรมะเรียกว่า “อพฺโพหาริก” หมายความว่า มี เหมือนไม่มี คือเกลือนั้นมันยังมีอยู่ แต่ว่ามันหมดฤทธิ์ความเค็มเสียแล้ว ถือได้ว่าไม่มี คือมันก็มี ทั้งที่ไม่มี จึงเรียกว่า “อพฺโพหาริก” เช่นกัน ฉันใดฉันนั้น วิธีแก้บาปตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระพุทธเจ้าสอน ก็คือว่า ต้องหยุดทำบาป แล้วตั้งใจทำความดี สั่งสมให้มากเข้าไว้ บุญกุศลนั้นแหละจะมาทำให้ผลบาปมันทุเลาลงไป การทำบุญอุปมาเสมือนกับการเติมน้ำ ทำบาปอุปมาเสมือนกับเติมเกลือเข้าไป เมื่อเราทำบาป บาปนั้นก็ติดตัวเราไป ไม่มีใครไถ่บาปแทนได้ มันก็ต้องเค็มอยู่อย่างนั้น แล้วก็เค็มมากกว่าเดิมอีก แต่เราจะต้องหมั่นสร้างบุญกุศลให้มากด้วยการเสียสละ แบ่งปัน ด้วยการมีศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญา เป็นการทำให้บาปมันเจือจาง บาปมีฤทธิ์น้อยลง แต่มันยังมีอยู่ มันไม่หมดไปหรอก เพราะไม่มีใครมาไถ่ถอนได้
แม้กระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ยังไถ่ถอนบาปไม่ได้ แต่บาปนั้นมันจะอ่อนกำลังลง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพระอริยเจ้านี้ บาปยังมีอยู่ไหม? มี แต่มันจะอ่อนกำลังลง บาปนั้นจะไม่ทำให้ท่านตกในอบายภูมิ แต่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่มันเป็นอุปสรรค อาจจะเป็นเรื่องสุขภาพ เรื่องความเจ็บไข้ไม่สบาย เรื่องอุบัติเหตุเหล่านี้ที่เกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะเป็นบาปเก่าที่มันยังส่งผล แต่ว่ามันอ่อนกำลังลงไป เช่น ท่านองคุลีมาลฆ่าคน ๙๙๙ คน แต่ความจริงมากกว่านั้น เพราะก่อนที่ท่านจะนับนิ้วมือนี้ ไม่รู้ฆ่าไปเท่าไหร่จนจนจำไม่ได้ แต่เมื่อท่านวางดาบเปื้อนเลือด บรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะว่าท่านเป็นชาติสุดท้าย เศษบาปนั้น ทำให้ท่านต้องหัวร้างข้างแตก เวลาเดินไปไหน คนก็เอาก้อนหินปา เอาไม้ทุบ เอาไม้ขว้าง อย่างนี้เป็นต้น เพราะว่าเป็นเศษกรรม
พระมหาโมคคัลลานะ ที่ท่านทุบตีพ่อแม่ในอดีต จากนั้น ท่านก็โดนทุบมาตลอด จนชาติสุดท้ายที่เป็นพระมหาโมคคัลลานะ หนีอยู่สองรอบ จนรอบที่สาม รู้แล้วว่าหนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น เพราะเป็นผลกรรม ท่านก็ยอมทุกข์จนร่างกายแหลกละเอียด แต่ท่านไม่ตาย แต่ว่าสิ้นอายุขัยแล้ว ไปทูลลาพระพุทธเจ้า แล้วท่านก็นิพพานวันนั้น
อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง อดีตกรรมก็ยังส่งผล เช่นว่า ที่เคยยก ตัวอย่าง ครั้งหนึ่งเกิดเป็นลูกชาวประมง เห็นคนทุบหัวปลา ไปยินดีด้วย ไม่ได้ทุบเองนะ ไปยินดีด้วย จึงทำให้ปวดพระเศียรอยู่เป็นบางครั้ง คือมึนศีรษะ ครั้งหนึ่งในอดีต เคยเป็นนักมวยปล้ำ ทำคู่ต่อสู้หลังหัก ในชาติที่เป็นพระพุทธเจ้า เวลาที่พระองค์ทรงแสดงธรรมไปนานๆ จะปวดพระปฤษฎางค์ ก็คือปวดหลัง พระอานนท์ก็จะถวายการนวด พระสารีบุตรแสดงธรรมต่อ อย่างนี้เป็นต้น ตอนที่คราวสุดท้ายก่อนปรินิพพาน พระองค์ต้องถ่ายเป็นเลือด ปักขันทิกาพาธ เพราะว่าเคยเป็นหมอ แล้วก็ประกอบยาพิษให้กับคนไข้ที่เบี้ยวค่ารักษา เพราะตอนนั้นถึงเป็นโพธิสัตว์ แต่ว่าก็ยังเป็นปุถุชนเต็มขั้นอยู่ ก็ยังมีโลภ โกรธ หลง อยู่เป็นธรรมดา ด้วยเศษกรรมนี้จึงทำให้ท่านถ่ายเป็นเลือด
ทำไมพระพุทธองค์ต้องบำเพ็ญทุกกริยานานถึง ๖ ปี? ก็เพราะว่า ในสมัยของพระกัสสปะพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์ก่อนนี้ ที่ท่านเกิดเป็นโชติปาลมานพ มีเพื่อนชื่อ ฆฏิการะ ที่เป็นฆฏิการพรหมนี้ ชวนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ชวนแล้วชวนเล่า จนกระทั่งฉุดกระชากมวยผมเพื่อไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่ไป ท่านก็บอกว่า เป็นไปได้อย่างไรที่สัมมาสัมโพธิญาณคนจะทำได้ง่ายๆ ไม่จริงหรอก ปรามาสแค่นี้ ทำให้พระพุทธองค์ในการบำเพ็ญทุกรกิริยาหลงผิดหลงถูกอยู่ ๖ ปี เกือบๆ ๖ ปี กว่าจะได้ตรัสรู้ ก็เพราะว่าการปรามาส การว่าร้ายนิดเดียวแค่นี้ เหล่านี้เป็นต้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นบุพกรรมทั้งนั้น
ทำไมต้องโดนใส่ร้าย? นางจิญจมาณวิกาใส่ร้าย สุนทรีปริพาชิกาใส่ร้าย ก็เพราะว่าเป็นอดีตกรรมทั้งนั้น ทำไมต้องถูกคนด่าทั้งเมือง? ตอนที่นางมาคันทิยาจ้างคนไปด่า ก็เพราะว่าเป็นผลอดีตทั้งนั้น ที่เคยว่า เคยด่าพระอริยเจ้า พระอรหันต์ในอดีต ด้วยความไม่รู้ ด้วยความหลงไปชั่วขณะในคราวนั้น จะเห็นได้ว่า กรรมหนักนี้ มันผ่อนกำลังลงไป แต่มันยังคอยติดอยู่ คอยตามอยู่ เหมือนกับเกลือที่มันเจือจางนั่นแหละ มันมี เพียงแต่มันไม่เค็ม เพราะมันถูกเจือจางด้วยบุญกุศลที่ทำไปทุกวันๆ มันจะอ่อนกำลังลงไป มันก็จะให้ผลเป็นของเล็กๆ น้อยๆ
การทำบาปของบุคคลเรานี้มีอยู่ ๓ ทาง ดังเช่นที่ได้กล่าวมาแล้ว ในมงคลข้อที่ ๑๘ นี้ ก็คือเรื่องคล้ายกันนี่แหละ ก็คือทางกาย ทางวาจา และก็ทางใจ ทั้ง ๓ ทางนี้ รวมเป็นบาป ๑๐ ประการ ทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ ทางใจ ๓ เมื่อวานมงคลข้อที่ ๑๘ อธิบายถึงกุศลกรรมบถ ทางแห่งความดี วันนี้ ทางแห่งความชั่ว ก็คือ ทางแห่งบาป ก็เป็น ๑๐ อย่างเหมือนกัน ทั้ง ๑๐ ทางนี้ นับเฉพาะหัวข้อใหญ่ๆ ซึ่งเป็นแม่บทโดยเฉพาะ ไม่ได้หมายความถึงวิธีการกระทำ เช่น การทำร้ายกันด้วยวิธีต่างๆ หรือว่าการหลอกลวงด้วยเล่ห์กลอื่นๆ เพราะว่ามีสารพัดที่จัดเป็นบาป
ทางกายสามทาง ก็คือ การฆ่า การลักทรัพย์ การผิดประเวณี แล้วแยกออกไปอีกว่า การฆ่า รวมไปถึงฆ่าคน ฆ่าสัตว์ใหญ่ ฆ่าสัตว์เล็ก ถ้าไม่ฆ่าก็ทรมานสัตว์ กัดปลา ชนวัว ชนไก่ ทำร้ายร่างกาย พวกนี้ ก็จัดอยู่ในข้อหนึ่งทั้งนั้น ปานาติบาต การลักทรัพย์ ก็มีการขโมย การปล้น ฉ้อโกง หลอกลวง หนีภาษี หากินทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นต้น ก็อยู่ในข้อนี้ การผิดประเวณี เช่น การทำชู้ ฉุดคร่า อนาจาร ข่มขืน อะไรพวกนี้ ผิดลูกผิดเมีย จัดอยู่ในข้อนี้ทั้งสิ้น
ทางวาจาก็มีสี่อย่าง การพูดเท็จ ก็แยกออกเป็นดังนี้ พูดโกหก ก็คือเสริมความ บิดพลิ้ว ทำหลักฐานเท็จ สอง พูดคำหยาบ มีด่า มีประชด แช่งชัก ว่ากระทบกระแทก กระแทกกระทั้น สาม พูดส่อเสียด ยุยงใส่ร้ายป้ายสี สี่ พูดเหลวไหล คือพูดเหลาะแหละ พูดเปรยประโยชน์ พูดพล่าม พูดเพ้อเจ้อ
ทางใจก็มีอยู่สาม ก็คือว่า คิดโลภมาก อยากได้ในทางทุจริต เพ่งเล็งทรัพย์ผู้อื่น วางแผนทุจริต คิดออกมาทางใจ แล้วก็ออกมาทางคำพูด ทางการกระทำ พยาบาท คิดอาฆาต แก้แค้น ปองร้าย มันก็ส่งผลออกมาเป็นคำพูดไม่ดี เป็นการกระทำที่ไม่ดี มีการฆ่า มีการทุบตี มีการทำร้ายร่างกาย เป็นต้น แล้วก็ สาม มิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด เห็นว่าบาปบุญไม่มี เห็นว่าบิดามารดาไม่มีบุญคุณ เห็นว่าตายแล้วสูญ เห็นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วได้ดี อะไรพวกนี้ หรือว่า นรกสวรรค์ไม่มีจริง อย่างนี้เป็นต้น เป็นความเห็นผิดทั้งหมด เหล่านี้ เป็นเรื่องของบาป ซึ่งแยกออกเป็น ๑๐ ประการ ดังที่ว่ามานี้ ว่าโดยย่อๆ คือทางกาย ๓ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ล้วนแต่เป็นบาป เป็นอกุศลทั้งสิ้น
ในทางศาสนาที่พระพุทธเจ้าสอน ได้แสดงโทษของบุคคลผู้กระทำบาปไว้ดังนี้ เป็นต้นว่า
คนที่ฆ่าสัตว์ เมื่อตายแล้วเกิดในอบายภูมิ นรก เป็นต้น เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ คนนั้นจะเป็นคนมีอายุสั้น จะตายตั้งแต่อายุยังน้อย คนที่ทรมาน ชอบทรมานคนอื่น ทรมานสัตว์ เป็นมนุษย์ก็จะเป็นคนที่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนอยู่เนืองๆ นี่เป็นผลของอดีตกรรม
คนที่ลักทรัพย์ ก็เป็นหนทางไปอบาย เกิดมาเป็นมนุษย์ก็จะเป็นคนยากจน อนาถา มีทรัพย์ก็จะฉิบหายไปด้วยไฟไหม้ ด้วยโจรสลัด ด้วยภัยต่างๆ เป็นต้น
คนที่ชอบประพฤติผิด หรือว่าเสพเมถุน ก็จะได้รับโทษทัณฑ์ในอบาย ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารไม่รู้จักจบสิ้น บางทีผิดลูกผิดเมียเขามากๆ ผลที่ได้รับคืออะไร? เกิดมาเป็นสัตว์ก็ถูกตอนอยู่หลายภพหลายชาติ อย่างที่เคยเล่าในอดีตเรื่องอดีตกรรมของพระอานนท์ ที่ท่านใช้ความเป็นผู้มีรูปงามของท่านไปในทางที่ผิด ไปทำอนาจาร ก็คือว่าผิดลูกผิดเมียเขา ท่านตกอบายอยู่นาน เศษกรรมเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นแพะ เป็นวัว ถูกตอนหมด เป็นสุนัขก็ถูกตอน ถูกตอนไม่พอ แล้วก็อวัยวะตรงนั้น มันก็เน่า มันก็เฟะ กว่าจะได้มาเกิดเป็นคน มาเกิดเป็นคนก็เป็นคนไม่สมประกอบ เป็นคนสองเพศ เป็นกระเทย แล้วก็มาเป็นผู้หญิง แล้วกว่าจะได้กลับมาเกิดเป็นผู้ชาย โอ้... นาน แค่พลาดไปนิดเดียว
โทษของการกล่าวมุสาวาท เป็นหนทางไปอบาย เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ไม่รับความบริสุทธิ์ มีแต่คนมาล่อลวงให้เสียทรัพย์ ข้าวของ ถูกโจทก์ด้วยความเท็จ เอาของที่ต้องห้าม มาลัก ใส่ให้เกิดความเสียหาย อย่างนี้เป็นต้น
โทษของการดื่มสุราเมรัย ลงอบายเหมือนกัน เพราะว่ามันก็คืออบายมุข ทางไปอบายภูมิอยู่แล้ว เกิดมาเป็นมนุษย์ก็เป็นคนโง่เขลา ไม่มีสติปัญญา บางทีหนักเป็นบ้าใบ้ผิดมนุษย์ทั้งปวง เหล่านี้ เป็นบางส่วนของโทษ ของผู้ล่วงละเมิดการทำบาป ทำอกุศล
ในมงคลนี้ บุคคลผู้กลัวต่อผลของการทำบาปอกุศล ก็พึงมีธุระที่จะต้องทำอยู่สอง ก็คือว่า อารตีคืองด วิรตีคือเว้น “อารตี” แปลว่างด หมายถึงว่า งดการก่อกรรมทำบาป ถ้าหากมีบาปกรรมอันใดที่เราได้ทำอยู่แล้ว ด้วยความหลงใหล เห็นผิดเป็นชอบมาก่อนจนการกระทำนั้นๆ มันติดเป็นความเคยชิน จากความเคยชินเป็นนิสัย เป็นอุปนิสัย เป็นสันดาน เช่น ติดสุราเมรัย ชอบโกหก มีจิตใจเหี้ยมโหด ชอบตกปลา ล่าสัตว์ เป็นต้น เมื่อรู้ว่าเป็นบาปกรรมก็งดเสีย คือเลิกทำ เป็นการหยุดเลิกบาปกรรมที่ทำอยู่แล้วอย่างนี้ เรียกว่าอารตี คืองด ส่วน “วิรตี” แปลว่าเว้น เรามักจะได้ยินบ่อยๆ นะคำว่าวิระตี ก็คือ คำว่าวิรัชนั่นเอง “วิรัช” ที่แปลว่าเว้น มัจฉะวิรัต เว้นการดื่มน้ำเมา อย่างคำว่า มังสวิรัติ ก็คือว่าเว้นการกินเนื้อ เวรวิรัติ เว้นจากการจองเวรเป็นต้น ที่ว่าเว้นบาป หมายความว่า ไม่ริอ่านทำบาปกรรมขึ้นอีก รู้ว่างานใดเป็นบาปกรรมก็เว้นเสีย เช่น เว้นจากการปล้น การฉ้อโกง การทุจริตคอร์รัปชั่น นี่เรียกว่าเว้น
เจตนาในการงดและเจตนาในการเว้นต่างกัน การงดนี้เรามีเจตนาในการชำระสะสางบาปกรรมเก่าในตัวเราให้มันหมดไป ส่วนการเว้นก็คือเป็นการระวังตัว เป็นเจตนาที่จะระวังตัว เพื่อจะไม่ให้บาปกรรมใหม่มันเกิดขึ้นมาอีก ไม่ให้พลัดลงไปในทางบาปกรรม การงดเว้นจากบาปอกุศลเหล่านี้ เป็นเหตุให้ตนเองก็มีความ สุข ครอบครัวก็มีความสุข สังคมมนุษย์ก็เป็นปกติสุข พ้นจากความเบียดเบียนก่อทุกข์แก่กัน เหล่านี้ เป็นมงคลแห่งความเจริญทั้งสิ้น
วิธีงดเว้นจากบาปให้สำเร็จ คนเราประกอบขึ้นด้วยกายแล้วก็ใจ โดยใจนี่แหละเป็นนาย กายเป็นบ่าว ใจจะเป็นผู้คอยควบคุมกายให้ทำ หรือไม่ทำสิ่งต่างๆ ตามที่ใจต้องการ พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ชัดเจนเลยว่า “มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา” - ทุกสิ่งทุกอย่างมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จด้วยใจ ถ้าใครมีใจชั่วเสียแล้ว การพูดการกระทำของเขา ก็ย่อมชั่วตามไปด้วย เพราะการพูดชั่วทำชั่วนั้น ความทุกข์ก็ย่อมตามสนองเขา เหมือนกับวงล้อเกวียนที่หมุนเวียนตามบดขยี้รอยเท้าโคที่ลากมันไป แต่ถ้ามีใจบริสุทธิ์ การพูดการกระทำก็ย่อมบริสุทธิ์ตามไปด้วย เพราะการพูดการกระทำอันนั้นที่บริสุทธิ์ดีงามนั่น เอง ความสุขก็ย่อมตามสนองเขาเหมือนเงาที่ไม่พรากไปจากร่างกายฉันนั้น ดังนั้นผู้ที่ปรารถนาความสุขความก้าวหน้าทั้งหลาย จึงต้องฝึกใจตนเองให้งดเว้นบาป ซึ่งทำได้ โดยต้องฝึกใจนี้ให้มีหิริโอตตัปปะเสียก่อน หิริ คือความละอายต่อบาป หมายถึงว่า ไม่มีใครรู้ก็จริง แต่เมื่อนึกแล้วมันกินแหนงแคลงใจ ไม่สบายใจ เป็นความรู้สึกรังเกียจ ไม่อยากทำบาป เห็นบาปเป็นของสกปรก จะทำให้ใจของเราเศร้าหมองจึงไม่ยอมทำบาป โอตตัปปะคือความเกรงกลัวต่อผลของบาป เป็นความรู้สึกกลัว กลัวว่าเมื่อทำไปแล้ว บาปมันจะส่งผลเป็นความทุกข์ทรมานแก่เรา จึงไม่ยอมทำบาป สมมุติว่า เราเห็นเหล็กชิ้นหนึ่งเปื้อนอุจจาระอยู่ แค่เห็น เราก็ไม่อยากจับต้องมันแล้ว เพราะรังเกียจว่าอุจจาระนี้มันจะมาเปื้อนมือเรา ความรู้สึกนี้ เปรียบได้กับ หิริ คือความละอายต่อบาป แล้วทีนี้สมมุติว่า เราเห็นเหล็กท่อนหนึ่ง เผาไฟจนมันร้อนแดงระอุอยู่เลย เราก็มีความรู้สึกกลัว ไม่กล้าไปจับต้อง เพราะจับเมื่อไหร่มันก็ต้องร้อน แล้วก็ลวกเผาไหม้มือเราเป็นแน่ ความรู้สึกนี้เปรียบได้กับ โอตตัปปะคือความเกรงกลัวต่อผลบาป สัตบุรุษก็คือคนดีผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริโอตัปปะ ก็คือความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาป ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันขาวก็คือกุศลธรรม ท่านเรียกผู้นั้นว่าผู้มีธรรมของเทวดาในโลก จึงเรียกว่าเทวธรรม - หิริโอตัปปะ
เหตุที่ทำให้เกิดหิริ คือความละอายต่อบาป ก็คือว่า
๑. คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ หรือว่าชาติตระกูล เช่นว่า เรานี้มีบุญ อุตส่าห์ได้เกิดมาเป็นคน แล้วทำไมยังจะมาฆ่าสัตว์ ทำไมต้องมาขโมยเขากิน นั่นมันเป็นเรื่องของสัตว์เดรัจฉานเขาทำกัน ที่อยู่ในห่วงโซ่อาหารนี้ ต้องฆ่า ต้องแย่งชิง แล้วก็สืบพันธุ์ กิน นอน สืบพันธุ์ แล้วก็แย่งอาหารกันอยู่แค่นี้ ทำไมต้องมาแย่งผัวแย่งเมียเขา ไม่ใช่หมูหมากาไก่ในฤดูผสมพันธุ์ ในเดือน ๑๒ เรานี่มันเป็นคน เป็นมนุษย์ สูงกว่าสัตว์ทั้งหลายอยู่แล้ว พอคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ คำนึงถึงชาติตระกูล ก็จะมีหิริ คือความละอายต่อบาปเกิดขึ้น
๒. คำนึงถึงอายุ เช่นว่า โธ่...เราก็แก่ป่านนี้แล้ว จะมานั่งเกี้ยวเด็กๆ สาว คราวลูก คราวหลานได้อย่างไร เราก็แก่ป่านนี้แล้ว จะมาขโมยของเด็กรุ่นลูก รุ่นหลานได้อย่างไร เป็นต้น พอคำนึงถึงวัย หิริความละอายใจก็เกิดขึ้น อย่างนี้เป็นต้น ยกตัวอย่าง
๓. คำนึงถึงความดีที่เคยทำ เราก็เคยมีความองอาจกล้าหาญ ทำความดีมาก็มากแล้ว ทำไมจะต้องมาทำชั่วเสียตอนนี้ล่ะ ไม่เอา ไม่ยอมทำชั่ว พอคำนึงถึงความดีแต่เก่าก่อน หิริเกิดขึ้น
๔. คำนึงถึงความเป็นพหูสูต คือ ได้ยิน ได้ฟัง ศึกษาเล่าเรียนมามาก เช่นว่า ดูสิ เราก็มีความรู้ขนาดนี้ แล้วรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรผิด อะไรถูก อะไรบาป อะไรบุญ รู้สารพัดแล้ว จะมาทำความชั่วได้อย่างไร พอคำนึงถึงตรงนี้ขึ้นมา ความอาจหาญมันเกิดขึ้น ความละอายต่อบาปมันก็เกิดขึ้นมา
๕. คำนึงถึงพระศาสดา เช่นว่า เราเองก็ลูกพระพุทธเจ้า ลูกศิษย์พระพุทธ เจ้า พระพุทธองค์สู้ทนเหนื่อยยาก ตรัสรู้ธรรม แล้วมาสั่งสอนอบรมพวกเราต่อๆ กันมานี้ เราจะมาละเลยคำสอน จะมาเมาในความชั่ว มัวแต่ประมาทได้อย่างไร จะไปทำชั่วได้อย่างไร พอนึกถึงคำของพระพุทธเจ้า หิริ ความละอายมันก็เกิดขึ้น
๖. คำนึงถึงครูบาอาจารย์ หรือแม้กระทั่งสถานศึกษา เช่นว่า เราก็มีองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ เราก็เป็นศิษย์มีครูเหมือนกัน ครูบาอาจารย์ก็สู้อบรมสั่งสอนเรามา เดี๋ยวชื่อเสียงวัด ชื่อเสียงสถาบัน ชื่อเสียงสำนักของเราที่โด่งดัง เป็นที่ยกย่องสรรเสริญ เราจะมาทำชั่วได้อย่างไร พอคำนึงถึงพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ สำนักเรียน สำนักวัด อะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ หิริ ความละอายมันจะเกิดขึ้น นี่คือตัวอย่าง
แล้วทีนี้ เหตุที่ทำให้โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปเกิดขึ้น เช่นว่า
๑. กลัวคนอื่นติ ถ้าเราขืนไปขโมยของเขา คนอื่นรู้คงพูดกันไปทั่ว ชื่อเสียงที่เราทำมาอย่างดีคงพังพินาศไปหมดคราวนี้เอง เมื่อกลัวว่าคนอื่นจะติเอา โอตตัป ปะมันก็จะเกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป
๒. กลัวการลงโทษ รู้ว่าถ้าทำผิดอย่างนี้ เมื่อเรื่องมันใหญ่ เรื่องมันแดงขึ้นมาต้องผิดทางกฎหมายบ้านเมือง ติดคุกติดตะรางสารพัด เสียหมด เสียชื่อเสียเสียง เสียลูกเสียหลาน เสียเผ่าพันธุ์ เสียวงศ์ตระกูลไปหมด เมื่อกลัวบาปจะส่งผลให้ถูกลงโทษ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวก็เกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป
ประการที่ ๓ นี้สำคัญมาก กลัวการเกิดในทุคติ กลัวการไปเกิดในอบายภูมิ ถ้าขืนทำอย่างนี้เข้าไป อบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้าแน่ๆ เหมือนกับเราเป็นการเลือกเกิดโดยอัตโนมัติเลยว่า นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานเป็นอนาคตของเราแน่นอน ถ้าทำบาปลงไปนี้ เมื่อกลัวว่าจะต้องไปเกิดในทุคติ ในอบายภูมิแบบนี้ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาปมันก็จะเกิดขึ้น จึงไม่ยอมทำบาป
การทำชั่วเหมือนการเดินตามกระแสน้ำ ตามโลก ตามสังคม เพราะมันเดินไปได้ง่าย ทุกๆ คนพร้อมที่จะทำในสิ่งต่างๆ ที่ตามกระแสกิเลสอยู่แล้ว ตามอบาย มุขอยู่แล้ว ทั่วโลกมีหมด เรื่องการกินเหล้า กินเบียร์ เจ้าชู้ สถานเริงรมย์ แล้วก็เล่นการพนัน บ่อนคาสิโน สถานที่เที่ยวกลางคืน สถานเย้ากามรมณ์ต่างๆ ที่เที่ยวกลางคืนนี้ มีหมด เพราะคนส่วนใหญ่พร้อมใจพากันทำจนเป็นประชาธิปไตยไปแล้ว เป็นประชาธิปไตยของคนพาล เพราะส่วนใหญ่พากันทำ คิดว่ามันดี มันก็ไปตามกระแสไป ตามโลก ตามกระแส เหมือนไหลตามน้ำ ถ้าไม่ควบคุมให้ดี ก็ย่อมตกเป็นทาสของของกิเลส กระทำสิ่งต่างๆ ตามอำนาจของความอยาก ตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก ก็จะประสบความทุกข์ในบั้นปลาย
การทำดีเหมือนการเดินทวนกระแสน้ำ เดินลำบาก ต้องใช้ความอดทน ใช้ความมุ่งมั่นมานะ พยายามต้องระมัดระวังไม่ให้ลื่นล้ม การทำความดี การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ เป็นการทวนกระแสกิเลสในตัว ไม่ทำสิ่งต่างๆ ตามอำเภอใจ ไม่ทำตามใจ ตามอารมณ์ ความรู้สึก คำนึงถึงความดีความถูกต้องเป็นที่ตั้ง ไม่ยอมเป็นทาสของความอยาก เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก จึงต้องใช้ความอดทน ความเข้มแข็ง ใช้ความสุขุมรอบคอบ ใช้ความพยายามสูง “ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา” ขันติคือความอดทน อดกลั้นจึงเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง แล้วก็จะประสบสุขในบั้นปลาย
การกระทำการกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เหมือนอยู่เฉยๆ กลางกระแสน้ำ ไม่ช้าก็ต้องถูกกระแสน้ำพัดพาไปเมื่อเข่าอ่อน คนที่คิดว่าฉันอยู่ของฉันอย่างนี้ก็ดีแล้ว ไม่ ได้ไปทำความเดือดร้อนให้ใคร แต่ความดีก็ไม่สนใจที่จะทำ เข้าทำนองบุญก็ไม่ทำ กรรมก็ไม่สร้าง วัดก็ไม่เข้า เหล้าก็ไม่กิน เขาก็ย่อมจะมีโอกาสเผลอไปทำความชั่วได้ในไม่ช้า เพราะความจริงของโลกมีอยู่ว่าคบคนเช่นใดย่อมเป็นคนเช่นนั้น ใกล้คนพาลก็ติดเชื้อพาลตามกระแสคนพาล ใกล้บัณฑิตก็จะติดเชื้อบัณฑิต ทำความดีตามเขา เพราะมันจะเหมือนไม้หลักปักเลน ใจของคนเรานี้พร้อมที่จะไหลเลื่อนลงไปสู่ที่ต่ำตามอำนาจกิเลสอยู่แล้ว ผู้ที่คิดอย่างนี้จึงเป็นคนประมาทอย่างยิ่ง ดังนั้น เราทั้งหลาย นอกจากจะต้องพยายามงดเว้นบาปเพื่อป้องกันใจของเราไม่ให้ไหลเลื่อนไปทางต่ำแล้ว จะต้องหมั่นยกใจของเราให้สูงอยู่เสมอ ด้วยการขวนขวายสร้างสมบุญกุศลอยู่เป็นนิจ สิ่งที่ทำให้เกิดบุญ การให้ศีล การภาวนา การอ่อนน้อมถ่อมตน การขวนขวายช่วยเหลือ การยินดี มุทิตาจิต การอุทิศบุญ ส่งบุญ การฟังธรรม การแสดงธรรม สุดท้าย การทำความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นแห่งองค์มรรค เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดบุญทั้งสิ้น
อานิสงส์แห่งการงดเว้นจากบาป
๑. ทำให้เป็นคนไม่มีเวร ไม่มีภัย
๒. ทำให้เกิดทำให้เกิดมหากุศลตามมา
๓. ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียน
๔. ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท
๕. ทำให้เกิดศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้ายิ่งๆ ขึ้นไป
๖. ทำให้จิตผ่องใส พร้อมที่จะรองรับคุณธรรมขั้นสูงต่อไป คือ มรรคผลพระนิพพาน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “บัณฑิตเห็นภัยในนรกทั้งหลายแล้ว พึงงดเว้นบาปทั้ง หลายเสีย พึงสมาทานอริยธรรม คือธรรมของพระอริยเจ้า แล้วงดเว้น เมื่อความบากบั่นมีอยู่ คนไม่พึงเบียดเบียนสัตว์ และรู้อยู่ ไม่พึงพูดมุสา ไม่พึงหยิบฉวยของที่เขาไม่ให้ พึงเป็นผู้ยินดีด้วยภรรยาของตน พึงงดภรรยาของผู้อื่น และไม่พึงดื่มเมรัยสุรา อันจะยังจิตให้หลง” หมายความว่า จะงดเว้นจากบาป ก็คือ รักษาศีล ๕ นั่นเอง เป็นการงดบาปทางกาย งดบาปทางวาจา บาปทางใจเป็นเรื่องที่เราต้องมาพัฒนา อย่างตอนนี้เรามาอยู่วัด เราได้เว้นจากบาปทางกาย เว้นจากบาปทางวาจาได้บ้าง บาปทางใจ เราต้องพัฒนาขึ้นเอง ด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ด้วยความอดทนเข้มแข็ง
ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ มีเพื่อชำระล้างมลทิน สิ่งปฏิกูลออกจากกาย วาจา ใจ ให้เป็นผู้บริสุทธิ์หมดจด จึงจะเป็นผู้ล้างบาป ลอยบาปได้อย่างแท้จริง ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสกับพราหมณ์ท่านหนึ่งว่า “ดูกร พราหมณ์ เปรียบเหมือนกับบุรุษผู้หนึ่งมีหม้อทองแดงอยู่ใบหนึ่ง มันเปื้อนเปรอะไปด้วยสิ่งปฏิกูลทั้งภายในภายนอก เขาพยายามชำระล้างด้วยน้ำจำนวนมาก แต่ล้างได้แต่ภายนอกเท่านั้น หาได้ล้างภายในไม่ ท่านคิดว่า สิ่งปฏิกูลภายในจะพลอยหมดไปด้วยหรือไม่?”
พราหมณ์ผู้นั้นก็ตอบพระพุทธเจ้าว่า “เป็นไปไม่ได้เลย พระโคดมผู้เจริญ ชายคนนั้นย่อมเหนื่อยแรงเปล่า ไม่อาจทำให้ภายในหม้อสะอาดได้ สิ่งสกปรกที่มันเคยเกรอะกรังอยู่อย่างไร มันก็คงอยู่อย่างนั้น”
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูกร พราหมณ์ เรากล่าวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ก็คือว่า ความผิดทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นสิ่งทำให้จิตใจสกปรก และสามารถชำระล้างได้ด้วยธรรม คือความสุจริต มิใช่การอาบน้ำธรรมดา น้ำดื่มของบุคคลผู้มีกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ย่อมเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปในตัวแล้ว นี่แน่พราหมณ์ มาเถิด มาอาบน้ำในธรรมวินัยของเรานี้ ลึกซึ้ง สะอาด ไม่ขุ่นมัว มีศีลเป็นท่าลง บัณฑิตสรรเสริญ เป็นที่ๆ ผู้รู้นิยมอาบกัน อาบแล้ว ข้ามฝั่งแห่งวัฏ สงสารได้โดยที่ตัวไม่เปียก”
จากพุทธพจน์ตรงนี้ พระพุทธเจ้าสอนพราหมณ์คนหนึ่งที่งมงายนี่แหละ ทุกวันนี้ก็ยังงมงายกันอยู่ ที่ว่าอาบน้ำในแม่น้ำคงคาแล้วจะล้างบาปได้ บาปที่ทำตอนกลางคืนมาอาบตอนเช้าบาปจะหาย บาปที่ทำตอนกลางวันก็มาอาบตอนเที่ยง บาปที่ทำตอนบ่ายก็ไปอาบตอนเย็นอย่างนี้ ดังนั้น เลยอาบน้ำวันหนึ่ง ๒-๓ รอบเพื่อชำระล้างบาป ถ้าอย่างนั้น กุ้งหอยปูปลาในแม่น้ำคงคา คงจะไปสู่สวรรค์กันหมดแล้ว เพราะมันอาบ มันแช่อยู่อย่างนั้น แต่ความจริงเป็นไปไม่ได้เลย การจะล้างบาปได้นี้ ต้องล้างด้วยน้ำ คือธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ล้างได้ อาบได้ โดยตัวไม่เปียก มันลึกซึ้งสะอาด ไม่ขุ่นมัว มีศีลเป็นท่าลง คือศีลนี้แหละ เป็นท่าลง อาบได้โดยที่ไม่เปียกด้วย บัณฑิตผู้มีปัญญาจึงนิยมอาบกัน ข้ามฝั่งแห่งวัฏสงสาร พ้นทุกข์คือพระนิพพานได้
มนุษย์เราเป็นผู้ที่ประเสริฐ เราต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง เรามาเดินตามรอยของพระพุทธเจ้า เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญพุทธบารมีมา ใช้เวลายาวนานเป็นหลายล้านชาติ กว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ได้มาสอน มาบอกเรื่องอริยสัจ ๔ เรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ในชีวิตนี้
วันหนึ่งคืนหนึ่งก็ให้เป็นปัจจุบัน เพราะอดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ ต้องอยู่ที่ปัจจุบัน ให้เราถือว่าเราเกิดมาเพื่อเสียสละ เพื่อมาตัดกรรมตัดเวร เราจะทำตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกอย่างนี้มันไม่ได้ มันเสียหาย เพราะเราเป็นผู้ที่ยังเป็นคนตาบอดอยู่ ตัวอย่าง แบบอย่างก็คือพระพุทธเจ้า ท่านทำให้ดู ปฏิบัติให้ดู เราไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญแต่กุศล ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เราไม่เพลิดเพลิน เรามีความสุขในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ก็อยู่ในความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้องในปัจจุบัน อดีตกับอนาคตที่ผ่านมาก็มารวมที่ปัจจุบัน
ถ้าเราปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า โลกนี้ก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้ทุกคนพากันเข้าใจ ความเป็นพระไม่ได้อยู่ที่มาบวช หรือผู้ที่อยู่บ้าน ไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู มันเกี่ยวกับความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่ที่เหนือวิทยาศาสตร์ก็คือ มีพุทธะ คือความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อยู่ในใจของเรา ไม่ติดในสุข ไม่ติดในทุกข์ ไม่ติดในดี ในชั่ว สิ่งเหล่านี้ เป็นประสบการณ์ให้เราเดินผ่าน เพราะทุกอย่างมันตั้งอยู่ในพระไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้นมา ดำรงอยู่ไม่นานหรอก มันก็มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา นี้ เพราะสิ่งเหล่านั้น มันมาปรากฏการณ์ให้เราได้ประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่มีความเกิดแก่เจ็บตายพลัดพราก ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีหนาว ไม่มีร้อน ก็ไม่มีการประพฤติปฏิบัติ ไม่มีการได้ฝึกฝนจิตใจตัวเอง
เราทุกคนถือว่าเป็นผู้ที่โชคดี เกิดมาได้มารู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ทำบาปทั้งปวง สิ่งที่แล้วก็แล้วไป สิ่งที่มาไม่ถึงก็ไม่ต้องคิด เพราะปัจจุบันคือการประพฤติปฏิบัติของเรา เราทุกคนต้องตั้งใจ ตั้งเจตนา ปิดอบายมุข บิดอบายภูมิให้กับตัวเอง ด้วยการไม่ทำบาปทั้งปวง งดเว้นจากบาปทั้งปวง ทั้งความคิด ทั้งคำพูด ทั้งการกระทำ ปัญหาทุกอย่างไม่ได้แก้ที่ผู้อื่น แก้ที่ตัวเรา มันเป็นเรื่องส่วนตัว มันสบายกว่าไปแก้ข้างนอก เพราะเราต้องพากันทำอย่างนี้ ผู้ที่อยู่ที่บ้านก็ทำได้ ผู้ที่มาบวชก็ทำได้ คำว่าพระศาสนา ก็คือพระธรรม พระวินัย แต่ละศาสนาคำว่าพระ ก็คือ ผู้ที่เสียสละ ไม่มีตัว ไม่มีตน ถ้าไม่มีตัว ไม่มีตัวตน มันจะมีความสุขอย่างไร ไม่มีตัวไม่มีตนนี่แหละมันถึงมีความสุข เพราะคนเรามีปัญญา เราจะไปคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ได้อย่างไร มันสร้างปัญหา คนที่มีปัญญา เขาต้องพากันเสียสละ ถ้าเราไม่เสียสละ เราก็ไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา เราเกิดมา เพื่อเข้าหาความสุข ความดับทุกข์อย่างนี้
ทุกคนให้อิ่มเอิบ เบิกบาน สบายอกสบายใจ เราไม่ต้องอาศัยใคร อาศัยตัวเองนี่แหละ เราต้องเป็นผู้ให้ เพราะถ้าเราไปอาศัยพ่อ อาศัยแม่ อาศัยคนโน้น อาศัยคนนี้ แสดงว่าเรายังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เราต้องเข้าใจว่า เราต้องประพฤติต้องปฏิบัติ อานาปานสติ ทุกคนทุกท่านต้องมีทุกอิริยาบถ เรายืน เดิน นั่ง นอน เราหายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย หายใจเข้ามีความสุข หายใจออกมีความสุข นี่เป็นอันเดียวกันกับพุทโธ เป็นอันเดียวกันกับยุบหนอพองหนอ เราต้องกลับมาอย่างนี้ สติสัมปชัญญะในปัจจุบันนี่แหละสำคัญ อย่าไปวิตกกังวลในเรื่องอดีต เรื่องอนาคต พวกนี้มันเรื่องกรรมเรื่องเวร กลับมาหายใจเข้า หายใจออกให้ชัดเจนไว้ จะได้ทำความเชื่อมั่นในตัวเอง เราจะได้มีสติ มีสัมปชัญญะเป็นพื้นฐาน เพราะคนเรามันอยู่กับความฟุ้งซ่าน อยู่กับความวิตกกังวล เราไม่ต้องไปถามใคร เราไม่ต้องไปหาธรรมะกับหลวงพ่อองค์โน้น หลวงพ่อองค์นี้ อาจารย์องค์โน้น อาจารย์องค์นี้ เราเอาพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวก็เพียงพอแล้ว เพราะพระนิพพานอยู่กับเรา คือความสุข ความดับทุกข์ เพราะว่าคำว่าพระ ก็คือ พระธรรม พระวินัย คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ มรรคผลนิพพานมันไม่หมด ไม่เคยหมด ไม่ล้าสมัย เป็นอกาลิโก เพราะเป็นปัจจุบัน เมื่อมันเป็นปัจจุบันธรรม เป็นคุณธรรมแล้ว เป็นมรรคเป็นผลดำเนินไปอย่างนี้ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ จะมาพูด จะมาทรงพูด ทรงสอน ทรงบอก แต่เรื่องอริยสัจ ๔ เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วก็จะมาทรงสอนเรื่องการไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส ให้ผ่องแผ้ว อันนี้แหละเป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์
ทุกท่านทุกคน อย่าไปทำตามใจตัวเองเด็ดขาด อย่าไปทำตามอารมณ์ตัวเองเด็ดขาด ต้องเอาธรรมะ อย่าให้ความหลงอวิชชามันแฝงอยู่ในตัวของเรา เราถึงจะเป็นผู้ตัดกรรม ตัดเวร ตัดภัย ตัดภพชาติ ตัดวัฏสงสารได้ในที่สุด ถึงความหลุดพ้น คือมรรคผลพระนิพพาน
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษา ให้ทุกท่านปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เจริญยั่งยืนนานอยู่ในร่มเงาแห่งพระบวรพุทธศาสนา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ด้วยกันทุกท่านเทอญ