แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที ๑๓ การสงเคราะห์ญาติและการทำงานที่ไม่มีโทษ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันอังคารที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล วันนี้เป็นมงคลข้อที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๘
มงคลข้อที่ ๑๗ “ญาตกานญฺจ สงฺคโห” แปลว่าการสงเคราะห์ญาติ คำว่า”ญาติ”แปลว่าคนรู้จักกัน การรู้จักกันนั้น รู้จักขนาดไหน รู้จักชื่อ รู้จักนามสกุล ต้องรู้เรื่องราวของคนๆ นั้นมากมายเพียงใดจึงจะเรียกว่าญาติ ญาติตัวนี้มาจากญาธาตุ ที่แปลว่าการรู้ ความรู้ ก็คือผู้ที่รู้จักกันนั่นเอง แปลง่ายๆ แล้วทีนี้ไม่ใช่ว่าพอรู้จักกันแล้วนี้ จะเหมาเอาว่าเป็นญาติกันไปหมด
ญาตินั้นมีอยู่สองประเภท ที่ท่านจัดไว้ ๑. เครือญาติสาโลหิต ก็คือ ที่ร่วมสายเลือด ญาติสายโลหิตที่นับขึ้นไป ๔ นับลงไป ๓ ที่รุ่นพ่อ รุ่นปู่ รุ่นทวด รวมทั้งรุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลน รุ่นโหลน เหล่านี้ ๗ ชั่วเครือสกุล หรือว่าญาติที่มีความเกี่ยวเนื่องกันทางสายเลือด แล้วก็ประการที่ ๒ ประเภทที่ ๒ ก็คือ เครือญาติทางธรรม
ญาติสายโลหิต ได้แก่คนที่มีสายเลือดเดียวกัน ญาติผู้ใหญ่มีปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา พี่ ญาติผู้น้อยรองจากตัวเราไป เช่น ลูก หลาน เหลน น้อง พวกนี้ เหล่านี้เรียกว่า ญาติโดยสายโลหิต ก็คือว่า มีสายเลือดเจือด้วยกัน มีสายเลือดเดียวกัน ต่อไปญาติทางธรรม คือคนที่รู้จักมักคุ้นกัน ทางศาสนาถือว่าเป็นญาติธรรม ญาติประเภทนี้เกิดจากสองทาง คือเกิดจากคุ้นเคยสนิทสนมระหว่างเรากับเขาโดยตรงก็มี อย่างเช่นเพื่อนฝูงมิตรสหาย เกิดจากความสนิทสนมกับสายโลหิตของเราก็มี อย่างเช่น ลูกชายของเราไปแต่งงานกับผู้หญิงคนใด ผู้หญิงคนนั้นตลอดจนพ่อแม่พี่น้องของเขา ก็กลายมาเป็นญาติของเราที่เป็นดองกัน คำว่าญาติ คือรู้จักกันก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่ารู้จักตัวหรือรู้จักกัน เพราะการรู้จักนั้นมีอยู่หลายชั้น รู้จักตัวแต่ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ก็มี รู้จักกันแต่ไม่ใช่ญาติก็มาก ทีนี้ คนที่เคยช่วยเหลืออุปถัมภ์ค้ำชูกัน ถึงแม้จะไม่ใช่ญาติทางสายเลือด แต่ก็นับว่า ความคุ้นเคยช่วยเหลือสนิทสนมสงเคราะห์กันนี้เป็นญาติธรรม “วิสฺสาสปรมา ญาติ” ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ความคุ้นเคยกันเป็นยิ่งกว่าญาติหรือว่าเป็นญาติอย่างยิ่ง
เราเคยสังเกต คนมีอำนาจวาสนา พอเวลามีอำนาจวาสนาก็มีคนอยากที่จะทำความรู้จัก มีคนอยากจะเป็นญาติเยอะ แต่พออับจนวาสนาเข้าเมื่อไหร่ จะหันหน้าไปหาใครก็ยาก บางคนยังขัดสนจนยากจะบ่ายหน้าไปหาใคร ก็ไม่มีใครยอมรับว่าเป็นญาติ มองหาญาติสักคน มองทั้งวันก็มองไม่เห็น แต่พอมีอำนาจวาสนา มีโชค มีความร่ำรวยขึ้น อย่างเช่นถูกล็อตเตอรี่ ทีนี้ ต้อนรับญาติไม่หวาดไม่ไหว มีแต่คนพยายามที่จะหาทางมาเป็นญาติของเราให้ได้ นี่แหละเป็นเรื่องธรรมดาของโลก
ทีนี้ คนที่รู้จักที่เรียกว่าญาตินั้น คือ ตรงมงคลข้อนี้ จุดมุ่งหมายปลายทางที่สำคัญก็คือว่า รู้จักญาติธรรม แล้วก็ญาติสงเคราะห์ คนที่รู้จักญาติสงเคราะห์นั้นจะต้องคอยสอดส่องดูแลเราอยู่เสมอ อย่างน้อยก็มีใจผูกพันกับผู้ที่ตนนับถือว่าเป็นญาติ ถ้าแยกย้ายกันไปก็อยากรู้ข่าวคราวว่า ผู้นั้นมีความเป็นอยู่อย่างไร สุขสบายดีไหม เป็นตายร้ายดีอย่างไร ถ้ามีเรื่องเดือดร้อนก็จะได้ช่วยเหลือช่วยสงเคราะห์ คนที่อยากรู้เพื่อสงเคราะห์อย่างนี้ ก็นับว่าญาติ
ญาติที่แท้นี้ต้องมีใจผูกพันทั้งต่อหน้าและลับหลัง ในบรรดาคนต่างๆ ที่เรามักจะรู้จักมักคุ้นนี้ที่เป็นญาติ มีอยู่หลายประเภทดังกล่าวมาแล้ว บางทีคนดีแท้ๆ ที่ต้องเสียชื่อเพราะการสงเคราะห์ช่วยเหลือญาติก็มีอยู่มาก การสงเคราะห์ญาตินี้จะเป็นความดี เป็นมงคลแก่ตัวได้ ทั้งนี้ ต้องทำตามวิถีทางที่ถูกต้อง ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะต้องรู้จักการแบ่งหน้าที่ออกให้ถูก ถ้าทำถูกแล้วก็ไม่เสียหาย ที่เสียเพราะว่าทำไม่ถูก
พระพุทธองค์ทรงแบ่งการช่วยเหลือออกเป็นสามตอน แล้วทรงบำเพ็ญให้พอเหมาะพอสม ไม่ให้ปะปนกันซึ่งเรียกว่าพุทธจริยา คือพระจริยวัตรของพระพุทธเจ้า มีอยู่ ๓ ประการ
ประการแรก โลกัตถจริยา ทรงทำงานเพื่อช่วยเหลือชาวโลก
ประการที่สอง ญาตัตถจริยา ทรงทำงานเพื่อช่วยเหลือพระประยูรญาติ
ประการที่สาม พุทธัตถจริยา ทรงทำงานเพื่อช่วยเหลือพุทธศาสนิกชน
ที่ว่าทรงช่วยเหลือชาวโลกนั้น พระองค์ก็ทรงอำนวยความสุขแก่ชาวโลกทุกชาติทุกภาษาทุกศาสนาที่เข้ามานี้ ไม่ว่าจะมาจากวรรณะใด เชื้อชาติไหน ตระกูลไหน เมื่อมาสู่พระธรรมวินัยนี้ก็เป็นผู้เสมอกัน มีธรรมวินัย ทรงสอนให้มีเมตตากรุณาแก่กัน เว้นจากการเบียดเบียนกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม
ด้านที่ทรงช่วยพระประยูรญาตินั้น พระองค์ก็ได้ทรงช่วยเหลือพระประยูรญาติโดยมิได้มุ่งหวังความช่วยเหลือ โดยทรงให้ความช่วยเหลือในคราวที่เช่นว่า พระประยูรญาติทั้งสองทะเลาะกันในการเรื่องแย่งน้ำทำนา ตอนนั้น แม่น้ำโรหิณีที่เป็นแม่น้ำเส้นแบ่งเขตของกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะที่เป็นพระประยูรญาติฝ่ายพระพุทธบิดากับพระพุทธมารดา หน้าแล้งแย่งน้ำทำนากัน แล้วพระองค์ก็ทรงไปห้าม ทรงไปเทศน์ ทรงไปสอน ทรงไปให้ปัญญา นี่คือการช่วยเหลือพระประยูรญาติ ช่วยด้วยให้ปัญญา ด้วยการให้ธรรมะ แล้วก็ตั้งแต่พรรษาที่ ๒ ที่พระพุทธองค์ไปโปรดพระพุทธบิดา ไปโปรดพระประยูรญาติ พระองค์ไม่ได้เอาวัตถุสิ่งของไปให้ แต่ให้ปัญญา จากพุทธประวัติไม่เคยเห็นว่าพระพุทธเจ้าให้สิ่งของ ให้อะไรเลย ให้แต่ธรรมะ ให้แต่ปัญญา ให้แต่ความหลุดพ้น ให้แต่มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ โดยสำคัญที่สุด พระองค์ทรงให้มรรคผลพระนิพพาน เพราะใครได้อยู่ใกล้ ได้ฟังธรรม ล้วนแล้วแต่บรรลุธรรมตามสมควรแก่ธรรม อย่างน้อยก็โสดาบันจนถึงพระอรหันต์ แล้วก็ออกบวชตามพระพุทธเจ้าอย่างมากมาย นี่คือพระพุทธองค์ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่างในการสงเคราะห์ญาติ ช่วยเหลือพระญาติของพระพุทธองค์ แล้วพระองค์ก็ทรงแยกการช่วยเหลือพระญาติไว้ต่างหากจากหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ถ้าเราทำอย่างพระองค์ได้ โดยแยกหน้าที่ออกจากความเป็นญาติเสีย ญาติเป็นเรื่องของญาติ หน้าที่ก็เป็นหน้าที่ ก็จะไม่เสียไป แต่ว่าที่เสียนั้น เพราะว่ามีพรรคมีพวก มีพี่มีน้อง มีผลประโยชน์ จึงทำให้เสียหาย แต่การที่จะทำได้อย่างนี้ พี่น้องก็ต้องเข้าใจกันและกัน ให้ความร่วมมือกัน ทางญาติผู้ให้การสงเคราะห์จะต้องแยกเรื่องพี่ๆ น้องๆ ออกจากหน้าที่ ไม่อย่างนั้นแล้วจะเกิดความเสียหายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีหน้าที่ในราชการ จะทำให้เสียความเที่ยงธรรมไปได้ ถ้าเราทำผิดแนวทาง แล้วจะมาโทษธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เพราะไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตาม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสในเรื่องของการสงเคราะห์ญาตินี้ ด้วยสังคหวัตถุสูตรว่า “ทานญฺจ เปยฺยวชฺชญฺจ อตฺถจริยา จ ยา อิธ สมานตฺตตา จ ธมฺเมสุ ตตฺถ ตตฺถ ยถารหํ” –“การให้ทาน การพูดจาไพเราะ การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ในโลกนี้ ความเป็นผู้มีตนสม่ำเสมอในธรรมทั้งหลายนั้นตามสมควร” วัตถุประสงค์ในมงคลข้อนี้ก็เพื่อที่จะให้การสงเคราะห์ญาติ เป็นการผูกความสามัคคี คือรวมน้ำใจของญาติให้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ฉะนั้น วิธีสงเคราะห์ญาติก็ต้องถือหลักสังคหวัตถุ ๔ ก็คือ
ประการแรก ทาน เสียสละ แบ่งปัน ให้
สอง ปิยวาจา เจรจาด้วยถ้อยคำไพเราะ พูดต่อกันดีๆ อย่าไปทะเลาะกัน แล้วก็
สาม อัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์แก่กันและกัน
สี่ สมานัตตตา วางตัวสม่ำเสมอ
ทานนั้นหมายถึงว่าแบ่งปันสิ่งของแก่กันและกัน ให้ของฝากยามเยี่ยมเยือน ให้ของกินของใช้ในเทศกาลต่างๆ ตลอดจนให้ทุนทำมาหากิน งานเหล่านี้รวมเรียกว่า ทาน เป็นการสงเคราะห์อย่างหนึ่ง อันนี้คือหลักของฆราวาสที่ทำต่อญาติด้วยกันนี้ อย่างแรกให้ ให้วัตถุสิ่งของ รวมกระทั่งจนถึงให้ธรรมะ
สอง ปิยวาจา พูดจากันด้วยความสุภาพอ่อนหวาน ไม่ด่าทอซึ่งกันและกัน ให้ความเคารพซึ่งกันและกันในคำพูดและแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กันด้วยความหวังดี
ประการที่สาม อัตถจริยา ทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ญาติ ด้วยการช่วยเหลือญาตินั้นเอง เมื่อญาติมีธุระการงาน ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรต่างๆ ที่จัดขึ้นมา งานบวช งานศพ อะไรก็แล้วแต่ ก็ช่วยเหลือตามแต่สมควร เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปให้กำลังใจ ให้ธรรมะ ให้คำแนะนำ แล้วก็
ประการสุดท้าย สมานัตตตา การวางตัวกับญาติด้วยอาการอันเสมอกับฐานะ เคารพต่อผู้ใหญ่ เอ็นดูต่อญาติผู้น้อย ไม่แสดงอาการเย่อหยิ่งจองหองหรือดูหมิ่นดูแคลน แม้ว่าตนจะมีฐานะแตกต่างกันก็ตาม การสงเคราะห์ต่อญาตินี้ เมื่อสรุปโดยใจความแล้วก็ได้เพียงแค่ ๒ อย่าง คือ สงเคราะห์ด้วยอามิส แบ่งปันวัตถุสิ่งของ เป็นต้น แล้วก็สงเคราะห์ด้วยธรรม ด้วยการเจรจาอ่อนหวาน ชักชวนให้ญาติให้ทาน รักษาศีล ภาวนา เป็นต้น แต่การกระทำอะไรก็ตามนี้ จะต้องดูเวลา ดูฐานะ ดูความเหมาะสม ไม่อย่างนั้นก็จะเกิดโทษได้
จริงอยู่ ที่เราจะต้องพิจารณาด้วยปัญญาตามสมควร เวลาที่ควรสงเคราะห์ญาติ เช่นว่า เมื่อยากจนหาที่พึ่งไม่ได้ เมื่อขาดทุนทรัพย์ เมื่อขาดยานพาหนะ เมื่อขาดอุปกรณ์ทำมาหากิน เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อคราวมีธุระการงาน เมื่อคราวถูกใส่ความมีคดีเป็นต้น เรื่องการสงเคราะห์ญาตินี้ จะว่าง่ายก็เหมือนยาก จะว่ายากก็เหมือนง่าย คนทิ้งญาติพี่น้องจนตัวเองเสียผู้เสียคนไปก็มี คนที่สงเคราะห์ญาติพี่น้องจนตัวเองแทบตายทั้งเป็นก็มี เรื่องนี้จึงต้องมีขอบเขต มีวิธีการที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าใครทำอะไรให้ญาติแล้วจะดีเสมอไป การสงเคราะห์ญาตินี้เป็นความดี เป็นมงคลแก่ผู้ทำ แต่ทั้งนี้ ต้องทำให้ถูกต้อง ทำให้สมควร ต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ไม่อย่างนั้นจะเสียหาย เช่นว่า คือต้องไม่เอาการช่วยเหลือญาติพี่น้องนี้ มาทำให้เสียความเป็นธรรมในหน้าที่ของตน เช่น ตัวเองเป็นผู้หลักเป็นผู้ใหญ่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือแม้กระทั่งอยู่ในการทำงานเกี่ยวกับความยุติธรรม อยู่ในศาลเกี่ยวกับการตัดสินคดีความพวกนี้ ถ้ามีความลำเอียงเพราะเห็นแก่ญาติ ฉันทาคติก็เกิดขึ้น ลำเอียงเพราะชอบ ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะหลง ลำเอียงเพราะกลัว ทางฝ่ายญาติพี่น้องซึ่งเป็นผู้ขอรับความช่วยเหลือ ยิ่งต้องคิดให้มาก ถ้ารักกันจริงๆ แล้ว ไม่สมควรที่จะไปขอร้องญาติพี่น้องที่มีอำนาจหน้าที่ให้เขาทำผิด ให้ช่วยเหลือเราในทางที่ไม่เป็นธรรม อย่าขอร้องหรือแม้แต่จะทำให้เขาต้องกังวลใจที่จะมาทำความผิดเพื่อผลประโยชน์ของเรา การขอร้องญาตินั้น ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรมและไม่เสียมารยาทแต่อย่างใด ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า อย่าขอให้เขาทำผิดเพื่อผลประโยชน์ของเราก็แล้วกัน
จะเห็นได้ว่า มงคลข้อที่ ๑๑ – ๑๒ - ๑๓ เป็นการสงเคราะห์บิดามารดา สงเคราะห์ลูก สงเคราะห์ภรรยา แต่การสงเคราะห์ญาตินี้แทนที่จะเอามาเรียงเอามาเป็นมงคลข้อที่ ๑๔ แต่ว่าทำไมมาจัดอยู่เป็นมงคลข้อที่ ๑๗ ตรงนี้ ทำไมต้องข้ามมาอีกสองสามข้อ เพราะว่า ต้องฝึกทำงานให้เป็นในมงคลข้อที่ ๑๔ “อนากุลา จ กมฺมนฺตา” การทำงานไม่คั่งค้าง แล้วก็รู้จักการเสียสละการให้ ในมงคลข้อที่ ๑๕ คือทาน แล้วก็ข้อที่ ๑๖ สำคัญมาก ธรรมจริยา ประพฤติธรรมให้มีความเที่ยงตรง ไม่ลำเอียง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะสงเคราะห์ญาติได้อย่างถูกต้อง ไม่อย่างนั้น ก็จะเห็นแก่พรรคพวกแก่ญาติแก่พี่แก่น้อง ลำเอียงหมด จากผิดก็กลายเป็นถูก จากชั่วก็กลายเป็นดี เพราะเห็นแก่ญาติ เห็นแก่พี่ เห็นแก่น้อง โดยไม่ได้มุ่งที่ความถูกต้อง ไม่ได้เอาธรรมเป็นหลัก ไม่ได้เอาธรรมเป็นใหญ่ ดังนั้น มงคลในเรื่องการสงเคราะห์ญาตินี้ จึงต้องพัฒนาให้เป็นผู้เสียสละ พัฒนาให้เป็นผู้ไม่ลำเอียง ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมดังที่ได้อธิบายเมื่อวาน ก็คือทำตนให้เป็นธรรม แล้วก็ทำตนตามธรรมจึงจะสงเคราะห์ญาติได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเล่นพรรคเล่นพวกให้เสียความยุติธรรมความเป็นธรรมไปนั้นเอง
อานิสงส์การสงเคราะห์ญาติ ท่านก็สรุปว่า
เป็นฐานป้องกันภัย ศัตรูหมู่พาลทำอันตรายได้ยาก อันนี้ประการแรก
ประการที่ ๒ เป็นฐานอำนาจให้ขยายกิจการงานได้ใหญ่โตขึ้น
๓. เป็นบุญเป็นกุศล
๔. เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน
๕. ทำให้สนิทสนมคุ้นเคยกัน
๖. ทำให้เกิดความสามัคคีกันในวงศ์ตระกูล
๗. ทำให้เกิดความจงรักภักดีต่อกัน
๘. ทำให้ตระกูลใหญ่โตมั่นคง
๙. ทำให้มีญาติพี่น้องมากทุกภพทุกชาติ
๑๐. เป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนรุ่นหลังต่อลูกหลาน แล้วก็
๑๑. เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมในครอบครัวให้ดีขึ้น แล้วก็
สุดท้ายเป็นเหตุให้เกิดความสุขแก่สังคมจนกระทั่งแก่โลก
ตระกูลใดที่หมู่ญาติได้ร่วมกันสร้างสรรค์จรรโลงวงศ์วานให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนาจะเป็นที่เกรงขามแก่บุคคลทั้งหลาย แม้ผู้มุ่งร้ายก็ไม่กล้ามาเบียดเบียน ประดุจความหนาทึบแห่งกอไผ่ที่มีหนามแวดล้อมอยู่รอบข้าง ย่อมไม่มีใครเข้าไปตัดได้ง่ายๆ หรือเหมือนดังกอบัวที่เจริญงอกงามอยู่ในสระ ย่อมเป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่ผู้พบเห็นฉันนั้น นี่คือมงคลในเรื่องของการสงเคราะห์ญาติ สงเคราะห์ให้เป็น สงเคราะห์ให้ถูกเวลา ให้ถูกตามความเหมาะสม จึงจะเป็นอุดมมงคลตามที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้
ต่อไปมงคลข้อที่ “อนวชฺชานิ กมฺมานิ” - การทำงานไม่มีโทษ ในมงคลข้อนี้ เป็นเรื่องของความก้าวหน้าของชีวิต ตามบาลีพุทธพจน์ที่ว่า “อนวชฺชานิ กมฺมานิ” แปลว่าการงานที่ปราศจากโทษ ก็คืออนวัชกรรม วัชชะแปลว่าโทษ อะนะ เอามาใส่เข้ามานี้ มีความหมายเท่ากับ NO ก็คือ ไม่ อนวัชชะ ก็คือไม่มีโทษ อนวัชชกรรม คือการงานที่ไม่มีโทษ การทำงานที่ไม่มีโทษจึงจะเป็นมงคล มงคลข้อนี้จะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ทรงแสดง ให้เรามีงานทำจึงจะเกิดเป็นมงคล ถ้าเป็นคนว่างงาน ไม่มีงานทำจะทำให้เกิดมงคลได้หรือไม่ ดังได้กล่าวไว้แล้วนี้ ในข้อที่เกี่ยวกับการงานว่า การงานนั้นเป็นเครื่องแสดงออกถึงคุณความดีของบุคคล งานเป็นที่เกิดของลาภ ยศ สรรเสริญ ชื่อเสียง เกียรติยศ นี่ก็เป็นชั้นนึง อีกชั้นหนึ่งนี้ คนเราทำงานนั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นมงคลเสมอไป เหมือนอย่างการกินนั้นทำให้ชีวิตของเรานี้สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ แต่การกินนั้น ถ้าเรากินไม่ถูกเรื่อง ไม่รู้จักอาหารการกิน ไม่มีโภชเนมัตตัญญุตา ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค บริโภคอาหารที่มันเป็นขยะ อาหารที่ไม่เกิดประโยชน์ พวกjunk foodเป็นต้นนี้ มันก็เกิดเป็นโทษแก่ร่างกาย แม้กระทั่งสุรายาเมาสิ่งเสพติดให้โทษทั้งหลาย แต่ถ้าเรากินอาหารที่มีประโยชน์ ก็เป็นการบำรุงร่างกาย ตรงกันข้าม ถ้าเราไปกินของที่มีพิษ หรือยาพิษเข้าไป อาหารมันเป็นพิษก็จะเกิดโทษกับร่างกาย ดังนั้น การกินนี้ จะเห็นว่าไม่ใช่จะเป็นประโยชน์แก่ร่างกายให้มันอิ่มเสมอไป กินอยู่กับปากนี้ มันจะลำบากไปท้อง มันจะลำบากแก่ร่างกาย การทำงานก็เช่นกัน ไม่ใช่ว่าจะเป็นมงคล จะมีประโยชน์เสมอไป ดังนั้น เมื่อเรามีงานทำก็จัดเป็นมงคลอย่างหนึ่ง แต่ประการต่อไปที่เราต้องทำความเข้าใจศึกษาให้ดีก็คือว่า ต้องทำให้ดี เพื่อให้ความดีนั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น พระพุทธองค์จึงสอนว่า “อนวชฺชานิ กมฺมานิ” นั่นก็คือ การทำการงานที่ไม่มีโทษนั่นเอง
การกระทำแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท ความหมายขึ้นอยู่กับความสามารถที่เราทำนี้ ออกมาได้ ๓ ทาง กายกรรม การกระทำทางกาย วจีกรรม การกระทำทางวาจา คำพูด มโนกรรม การกระทำทางใจ งานเหล่านี้ จะพูดสั้นๆ ก็คือว่า ต้องทำ ต้องพูด ต้องคิด
กายกรรม การกระทำทางกาย ทำงานด้วยแรงกาย ตั้งแต่การแบกหาม หุงข้าว ซักผ้า รีดผ้า กวาดเรือน อ่านหนังสือ กราบพระ ไหว้พระ ใส่บาตร เลี้ยงลูก เลี้ยงหลาน งานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานในบ้าน งานนอกบ้าน เหล่านี้เป็นงานทางกายที่เกิดจากการต้องออกแรงกาย ออกกำลังกาย ทำลงไป
ต่อไป วจีกรรม ในการทำงานทางวาจา เช่น พูดสอน พูดให้โอวาท พูดแนะนำ จนกระทั่งพูดนินทา พูดส่อเสียด ยุยง เหล่านี้ล้วนแต่เป็นวจีกรรมทั้งสิ้น แม้กระทั่งการร้องเพลง การสวดมนต์ก็อยู่ในประเภทนี้ทั้งหมดที่ส่งเสียงออกมา
มโนกรรมคือการกระทำทางใจ เช่น การนึกคิดตริตรอง การทำสมาธิฝึกจิต การรับอบรมทางใจ การบังคับจิตบังคับใจ การค้นคว้าทางปัญญาหรือแม้กระทั่งการคิดชั่ว คิดไม่ดีเหล่านี้ จัดอยู่ในมโนกรรมทั้งสิ้น
เมื่อได้แจกแจงออกมาอย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า คนเรานี้ไม่ใช่ว่าจะว่างงาน คนแก่คนเฒ่าปลดเกษียณแล้ว ถึงแม้กำลังกายจะไม่มีกระทำในการทำออกแรง เพราะกำลังวังชาลดน้อยถอยลง แต่ว่าไม่ใช่จะไม่มีงานทำเลย อย่างน้อยๆ ก็ยังไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ อ่านหนังสือก็ยังไหว ไกวเปลหลานก็ยังไหว อย่างนี้ก็จัดเป็นงานเหมือนกัน ทีนี้เราจะเห็นแล้วใช่ไหมว่าไม่ใช่ว่าคนว่างงาน
ทีนี้ ทางวาจา คนสูงอายุหรือแม้กระทั่งคนป่วยก็ยังทำได้ สามารถพูด สามารถบอก สามารถสอนลูกๆ หลานๆ แต่ถ้าคนที่มีปกติชอบบ่นแล้วนี้ บ่นไม่รู้จักหยุดแบบนี้ บางทีก็ทำเอาลูกๆ หลานๆ พากันหลบหน้า ไม่อยากเข้าใกล้ ชอบบ่นให้ลูกให้หลาน ลูกหลานก็รำคาญ แต่ทีนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันสามารถพัฒนาทำการงานให้ไม่มีโทษได้ อยู่ที่การประพฤติการปฏิบัติตน
แล้วทีนี้การงานทางใจนี้ที่เป็นมโนกรรม ปกติแล้ว ใจมันทำหน้าที่คิด ทางอภิธรรมก็บอกอยู่แล้วว่า ธรรมชาติของจิตนั้นเป็นธรรมชาติที่คิดอารมณ์ จิตมันมีหน้าที่คิด คิดตั้งแต่เกิดจนตาย นี่ก็คืองาน
จะเห็นว่าแต่ละวันนี้ ถึงแม้ร่างกายไม่ได้ขยับ แต่ใจมันก็ทำงาน วาจาก็ทำงาน ในทางพระพุทธศาสนามุ่งอบรมจิตใจโดยตรง เพราะฉะนั้น จึงต้องฝึกใจ ที่สามารถจะหักห้ามใจ ควบคุมฝึกใจตัวเอง จนกระทั่งทำใจให้บริสุทธิ์จากกิเลสตัณหา คนที่อาภัพจะไม่สามารถทำงานทางใจได้เลย คือ คนวิกลจริต คนบ้า อย่างนี้ก็เป็นกรรมของเขา นอกเหนือจากคนวิกลจริตคนบ้าแล้ว บุคคลอื่นๆ สามารถทำงานทางใจได้หมด ดังนั้น จะบอกว่าเราเป็นคนว่างงานไม่ได้ ทุกคนมีงานทำหมด งานภาวนา งานหายใจเข้าหายใจออกสบาย หายใจเข้าหายใจออกมีความสุข งานอานาปานสติ งานพุทโธนี้ เพราะฉะนั้น อย่าไปบอกว่าเราว่างงาน เราว่างงานทางกาย ว่างงานทางวาจา เราก็มาภาวนาให้เกิดงานทางใจเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
ดังนั้นแล้ว ดึงกลับเข้ามาตรงที่ว่า งานที่ไม่มีโทษในมงคลข้อนี้ พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราทำงานชนิดหนึ่ง ก็คือ งานไม่มีโทษ แล้วงานอย่างไหนเป็นงานไม่มีโทษ คำว่า ”วัชชะ” แปลว่าโทษนั้น ต้องเข้าใจว่า ความหมายนี้ไม่ได้หมายความเพียงโทษที่มีอำนาจสั่งให้รับหรือว่าชดใช้ความผิด อย่างการถูกปรับ ถูกจองจำ ถูกถอดยศ ถูกถอดตำแหน่ง ไม่ได้หมายความอย่างนั้น คำว่า “วัชชะ” ในทางศาสนาหมายถึงว่า ควรตำหนิ น่าติเตียน อย่างเช่น วินัยของพระสงฆ์เองก็มีข้อตำหนิอยู่ ๒ ประเภท คือ ความผิดบางประเภทผิดทางพระวินัย ที่เรียกว่า ปัณณัตติวัชชะ แล้วก็ชาวบ้านติเตียน อาบัติอย่างนี้ก็คือว่าโลกวัชชะ แปลว่า ชาวบ้านติเตียนหรือว่ามีโทษทางโลก ๒ กระทง อีกอย่างหนึ่ง ชาวโลกเขาไม่ติ แต่ทางวินัยสงฆ์ติเตียน เป็นความผิด ก็คือปัณณัตติวัชชะ เช่นว่า ฉันข้าว ฉันอาหารโดยไม่รับประเคน ซึ่งชาวบ้านเขาก็ไม่ถือ แต่วินัยสงฆ์ผิด ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ของไม่ได้รับประเคน ถ้าไปจับ ตัวเองก็ฉันไม่ได้ แต่รูปอื่นฉันได้ ถ้ายกขึ้นมาแล้ว ทั้งตัวเองทั้งรูปอื่นก็ฉันไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้น ความหมายของรูปศัพท์ จึงให้เข้าใจว่าเป็นการงานที่ไม่มีโทษ ที่ไม่น่าตำหนิ
ในการพิจารณางานที่ทำว่าเป็นงานมีโทษหรือไม่ ต้องไม่ถือเอาคำติชมของคนพาลมาเป็นอารมณ์ มาเป็นบรรทัดฐาน เพราะคนพาลก็คือคนพาล เห็นผิดเป็นชอบ ดังนั้น อย่าเอาความถูกใจของคนพาลของคนหมู่มากนี้มาตัดสินเป็นความถูกต้อง เพราะคนพาลนั้นเขาไม่ได้ศึกษา เขามีใจขุ่นมัวเป็นปกติ การวินิจฉัยการคิดอะไรของเขาก็เสีย ความคิดความเห็นมันผิดเพี้ยนไปหมด สิ่งใดที่ถูกก็เห็นเป็นผิด ที่ผิดกลับเห็นเป็นถูก หรือเรื่องที่ดีคนพาลก็เห็นเป็นเรื่องที่ชั่ว แต่เรื่องที่ชั่วกลับเห็นเป็นเรื่องที่ดี จะถือเป็นบรรทัดฐานไม่ได้ ส่วนบัณฑิตนั้นเป็นคนที่มีความคิดเห็นถูกต้อง รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ ทั้งเป็นคนมีศีลมีสัตย์ คนประเภทนี้ใจกับปากตรงกัน เราจึงควรรับฟังคำติชมของบัณฑิตด้วยความเคารพ
ทีนี้ หลักที่บัณฑิตใช้พิจารณาว่างานมีโทษหรือไม่นั้นมีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน แบ่งเป็นทางโลกสอง แบ่งเป็นทางธรรมสอง คือ
๑.งานบางอย่างตำหนิโดยกฎหมาย ก็คือผิดโดยกฎหมาย
๒. งานบางอย่าง กฎหมายไม่มีที่ติ แต่มันน่าตำหนิทางจารีตประเพณี วัฒนธรรมของท้องถิ่น
๓. งานบางอย่างทางกฎหมาย ทางจารีตประเพณีไม่มีที่ติ แต่ว่าติได้ด้วยศีล คือมันน่าตำหนิ ถ้าเอาเรื่องของศีลของธรรมไปจับ แล้ว
ประการที่ ๔ งานบางอย่าง คือจะไปติโดยกฎหมาย โดยประเพณี โดยศีลไม่ได้ แต่ทางธรรมนั้น ตำหนิติเตียนได้
การทำงานที่ตำหนิทางกฎหมาย สารพัดเลยที่เป็นกฎหมาย การฆ่า การทำร้ายร่างกายกันและกัน การลักทรัพย์ การปล้น การค้าของเถื่อน หลอกลวง ต้มเหล้าเถื่อน ตั้งบ่อนการพนัน รับจ้างทำความผิด การกบฏต่อบ้านต่อเมือง เหล่านี้เป็นต้น นับไม่ถ้วน เป็นความผิดทางกฎหมาย
ทีนี้ ทางประเพณี หมายถึงว่า ขนบธรรมเนียม หรือว่าจารีตประเพณีของผู้คนในท้องถิ่นหนึ่งๆ หรือว่าในสังคมหนึ่งๆไม่ใช่เป็นกฎหมาย แต่ว่าเป็นกฎหมู่ ก็คือว่า เป็นกฎหมู่ของคนหมู่มากในท้องถิ่นนั้น ๆ ที่ถือจารีตประเพณีนี้ เช่นการแต่งงาน การเผาศพ การปลูกบ้าน
แล้วก็ต่อไป ทางศีลนั้นได้แยกออกเป็นประเภท ก็คือ ของภิกษุ ภิกษุณี สามเณร อุบาสก อุบาสิกา การปฏิบัติแต่ละชั้นนั้น มีน้ำหนักมากน้อยไม่เท่ากัน โดยเฉพาะ ศีล ๕ ศีล ๘ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดลูกผิดเมียคนอื่น การพูดเท็จ การดื่มสุรา งานบางอย่างมันไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ว่าผิดศีล เช่น การทำการประมง การฆ่าสัตว์ที่เอามาทำเป็นอาหาร ไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดในเรื่องของศีล ของบางอย่าง แม้จะไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดจารีต ไม่ผิดประเพณี ไม่ผิดศีลเลยแต่ผิดทางธรรม ยกตัวอย่างเช่น ความโกรธ ความคิดพยาบาท ความขี้เกียจขี้คร้าน เหล่านี้เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการประพฤติแบบโง่งมงายแบบนี้ ทางไสยศาสตร์ มันไม่ผิดศีล มันไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดจารีตประเพณี ไม่ผิดหรอก แต่มันผิดในเรื่องของธรรม ดังนั้นแล้ว เมื่อเข้าใจเช่นนี้ คนบางคนก็เข้าใจว่าใจก็อยากจะทำงานที่ไม่มีโทษ แต่ทำงานครั้งใดนี้ กว่าจะรู้ว่างานที่ตัวเองทำเป็นนี้เป็นงานมันที่มีโทษ มันก็สายไปแล้ว เพราะเผลอทำไปแล้ว จึงมีปัญหาว่าทำอย่างไรเราจึงจะเป็นคนที่รู้ก่อนทำ
วิธีรู้ก่อนทำ พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนเรื่องการทำงานไว้ว่า “นิสมฺม กรณํ เสยฺโย” –“ใคร่ครวญดูก่อนแล้วจึงลงมือทำ” ไม่ใช่ลงมือทำไปแล้วค่อยมาใคร่ครวญทีหลัง นี่คือการเอาหลักสติสัมปชัญญะเอามาจับ การพิจารณาใคร่ครวญด้วยปัญญานี้แหละ นักทำงานสมัยนี้ก็มีคติว่า อย่าดมก่อนเห็น อย่าเซ็นก่อนอ่าน ซึ่งก็เป็นการปฏิบัติตามหลักธรรมข้อนี้แหละ “นิสมฺม กรณํ เสยฺโย” ใคร่ครวญก่อน พิจารณาก่อนแล้วจึงกระทำ ไม่อย่างนั้นจะเผลอทำงานที่ไม่มีโทษเข้าไป แต่การทำงานแบบนี้ คนหนุ่มสาวสมัยใหม่ วัยรุ่นสมัยใหม่ มักจะไม่ค่อยชอบใจเพราะใจร้อน เวลาเสนองานให้ผู้ใหญ่ พอท่านบอกว่า ขอคิดดูก่อน เด็กก็มักจะขัดใจหาว่าคนแก่ขี้ขลาด ทำอะไรไม่เด็ดขาด ความจริงไม่ใช่เรื่องกล้าหรือขี้ขลาด แต่เป็นเรื่องการใช้ความคิด ท่านต้องการรู้ก่อนทำ ไม่ใช่ทำก่อนรู้ แล้วทำอย่างไรเราจึงจะรู้ก่อนทำได้ล่ะ ข้อสำคัญคือต้องทำใจเราให้คลายความอวดดื้อ ถือทิฐิมานะ อัตตาตัวตน ต้องยอมรับว่าเราไม่ใช่คนเก่งที่สุด ไม่ใช่คนฉลาดที่สุด ยังมีผู้ที่เกิดก่อนเรา รู้เห็นมาก่อนกว่าเรามากเยอะแยะ เหนือฟ้ายังมีฟ้า ใครลดความลำพองลงเสียได้ ลดอีโก้ในการเรียนในการศึกษา ในการได้รับคำสั่งคำสรรเสริญคำชมมาตลอด ที่มันทำให้เกิดอีโก้พองขึ้นมานี้ ต้องลดลงไป คนนั้นก็จะสามารถปัญญาเกิด เป็นคนรู้ก่อนทำ ถ้าปรับปรุงตัวอย่างนี้ก็จะทำได้ แต่ถ้าไม่ปรับปรุงตัวเอง ยังมีทิฐิมานะ อวดดื้อ ถือตน ไปอย่างนี้ ไม่มีหวัง จะต้องเป็นคนทำก่อนรู้อยู่ร่ำไป เช่นว่า สอบตกแล้วจึงรู้ว่าการเกโรงเรียนไม่ดี หรือว่าเกรดไม่ดีแล้วติด F ติด ๐ ติด ร แล้ว ถึงรู้ว่าไม่น่าเกเรเลย แต่มันก็สายไปแล้ว เพราะไม่ได้พิจารณาไม่ได้ใคร่ครวญก่อนทำ ทำตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก ตามสมัครพรรคพวก พวกมากลากไป ส่วนใหญ่จะลากกันลง ไม่ค่อยมีคนลากกันขึ้น เพราะว่าคบคนผิด อย่างบางคนตับแข็งไปแล้วจึงรู้ตัวว่ากินเหล้ามากไป บางทีปอดเริ่มจะเหลือน้อยแล้วจึงรู้ว่าสูบบุหรี่มากไป หมดตัวแล้วจึงรู้ว่าไม่ควรเล่นการพนัน หนักเข้าก็ต้องเข้าคุก จึงรู้ว่าบ้านเมืองมีขื่อมีแป จึงเป็นกรรมแท้ๆ ไปคิดตอนนั้นมันก็สายไปเสียแล้ว เพราะไม่มี “นิสมฺม กรณํ เสยฺโย” ไม่ใคร่ครวญแล้วจึงกระทำ แบบนี้มีอยู่มาก มีเชื้อพาลอยู่ เราต้องหลีกเลี่ยง ถ้าใจยังไม่แข็งแรงพอต้องหลีกออกมา “ห่างสุนัขให้ห่างศอก ห่างวอกให้ห่างวา ห่างพาราคือคนพาล ให้ห่างให้ได้ร้อยโยชน์แสนโยชน์” ห่างเท่าไหร่ยิ่งดี ต้องมาคบบัณฑิต ต้องมีปัญญาในการใคร่ครวญพิจารณาก่อนทำ
ผู้ที่ทำงานไม่มีโทษนี้ จึงหมายถึงว่า ผู้ที่ทำงานทั้งเป็นงานส่วนตนและงานส่วนรวมอย่างถูกต้องสมบูรณ์ตามองค์ประกอบ ๔ ประการที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ งานบางอย่างไม่ผิดกฎหมาย บางอย่างไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดจารีต บางอย่างไม่ผิดกฎหมายไม่ผิดจารีตแต่มันผิดศีล บางอย่างไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดจารีตประเพณี ไม่ผิดศีลแต่ว่ามันผิดธรรม ก็คือเรื่องของจิตของใจ เช่น การโกรธ การนินทาว่าร้ายกัน การปากไม่ดี มันก็อยู่ในองค์ของศีล แต่ว่าการคิดไม่ดี พยาบาท คิดที่จะจองเวร หรือว่าคิดจะเอาของเขาพวกนี้ เป็นเรื่องของจิตของใจ คือมันผิดธรรม ดังนั้น ผู้รู้ธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมนี้จึงต้องรู้ว่าต้องพัฒนาตน ต้องทำงานที่ไม่มีโทษ ก็คือว่า ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดจารีตประเพณี ไม่ผิดศีลและไม่ผิดธรรม ไม่ผิดคุณธรรมนั่นเอง
งานที่ทำเพื่อประโยชน์ตนคือการทำมาหาเลี้ยงชีพต่างๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นการเกษตรกรรม การค้าขาย รับราชการ เป็นช่างไม้ เป็นนักศิลปะ เป็นช่างยนต์สารพัด ซึ่งในเรื่องการประกอบอาชีพนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงอาชีพต้องห้ามที่บุคคลผู้ที่เป็นพุทธะ ก็คือ ผู้ที่มีใจรู้ตื่นเบิกบาน ผู้ที่จะพัฒนาตนเข้าสู่มรรคผลพระนิพพานนี้ไม่ควรทำ คือ
๑. การค้าขายอาวุธ
๒. การค้าขายมนุษย์
๓. การค้ายาพิษ
๔. การค้ายาเสพติด
๕. การค้าขายสัตว์เพื่อนำไปฆ่า
เป็นสิ่งที่ผู้มีปัญญาพุทธะ ผู้รู้ตื่นเบิกบาน ผู้ที่เป็นลูกของพุทธเจ้าจริงๆ ไม่ควรทำงาน ๕ อย่างนี้ คือการค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ ค้ายาพิษ ค้ายาเสพติด แล้วก็ค้าสัตว์เพื่อที่จะนำไปฆ่า ใครก็ตามที่ประกอบอาชีพ ๕ ประการข้างต้นนี้ ชื่อว่าทำงานมีโทษ มันมีโทษต่อคนอื่น สัตว์อื่น ค้าอาวุธเขาก็ต้องเอาไปฆ่า เอาไปฟัน ค้ายา ค้ามนุษย์ก็รู้อยู่แล้ว ก็คือเอาไปเรื่องค้าขายมนุษย์ แล้วก็ค้ายาพิษ ก็คือต้องเอาไปใช้ในทางที่ผิด ไม่ฆ่าคนก็คือฆ่าสัตว์ คนที่เอาไปค้ายาเสพติดนี้ โอ...ทำลายเป็นวงกว้าง แล้วก็อันสุดท้าย ก็คือว่า ค้าสัตว์มีชีวิตที่จะนำไปฆ่า ดังนั้น การทำการงานมีโทษก็คือ อาชีพทั้งห้านี้ มันก่อให้เกิดโทษแก่ตนเองมากมายสุดประมาณ แม้จะร่ำรวยเร็วก็ไม่คุ้มกับบาปกรรมที่ก่อไว้ ไม่ใช่ว่ารวยไวๆ นี้ มันจะดีเสมอไป กรรมมันก็ยังรออยู่ มันมองไม่เห็นหรอก แต่มันมี
ทีนี้ งานที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม คือการทำงานสังคมสงเคราะห์ ช่วยเหลือคนข้างเคียง ช่วยเหลืองานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นสร้างสะพาน ทำถนน สร้างศาลา ที่พักอาศัยข้างทาง เหล่านี้เป็นต้น ในมงคลทีปนี ท่านแสดงงานที่จัดเป็นอนวัชกรรม ก็คือ การงานที่ไม่มีโทษเอาไว้ว่า คือการรักษาศีลอุโบสถในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ การกระทำความขวนขวายในการช่วยเหลือการกุศลของผู้อื่น เช่น ปลูกต้นไม้ สร้างถนนหนทาง สร้างสะพาน สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน ตลอดจนสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ทั่วไป
การทำงานที่ปราศจากโทษดังที่ว่ามานี้ สรุปคือว่า ไม่เป็นที่ตำหนิทางกฎหมาย ไม่เป็นที่ตำหนิทางประเพณี ไม่เป็นที่ตำหนิของศีล แล้วก็ไม่เป็นที่น่าตำหนิในทางธรรม เหล่านี้ จึงเป็นงานที่ปราศจากโทษที่แท้จริง
คนทำงานมีโทษนั้นได้กับเสียเป็นเงาตามตัว ยิ่งได้งานมากก็ทุกข์ใจมาก เข้าทำนองว่า อิ่มท้องแต่พร่องทางใจ ยิ่งรวยได้ทรัพย์มากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเสียคนก็มากเท่านั้น ยิ่งทำก็ยิ่งทุกข์ คุณความดีในตัวก็ลดลงทุกที ส่วนคนที่ทำงานไม่มีโทษนั้นจะก้าวหน้าไปสู่ความสุขแท้ ความเจริญแท้ ถึงแม้จะไม่รวยทรัพย์ แต่ก็รวยความดี รวยคุณธรรม รวยความสุขทางจิตใจ คนทำงานไม่มีโทษนั้นจะหลับก็เป็นสุข จะตื่นก็เป็นสุข ไม่อายใคร ไม่ต้องหวาดระแวงใคร เพราะงานที่ทำเป็นประโยชน์แก่โลกล้วนๆ ไม่มีโทษเข้าไปเจือปน ชื่อว่าได้ทดแทนบุญคุณของแผ่นดิน บูชาคุณพระพุทธศาสนา ทดแทนบุญคุณของโลกที่อาศัยเกิดมา เมื่อทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้วนี้ ก็จะได้รับความสุขกายสุขใจเป็นเครื่องตอบแทนไปตราบนานเท่านาน ยศย่อมเจริญแก่ผู้มีความหมั่นคือความขยัน ผู้ที่มีสติ มีการงานสะอาด สุจิกัมมัสสะ-ผู้มีการงานสะอาด ก็คือว่า ทำงานที่ไม่มีโทษ ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ สำรวมแล้วเป็นอยู่โดยธรรม ไม่ประมาท
ทุกๆ ท่านเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้ประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ย่อมเป็นผู้ที่ประเสริฐ เพราะเอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นหลักธรรมเป็นที่ตั้ง มีความสุขในการเสียสละ ไม่ตามใจของตัวเอง ไม่ทำตามอารมณ์ของตัวเอง ไม่ทำตามความรู้สึกของตัวเอง ก็ย่อมมีอยู่มีกินมีใช้ เหลือกินเหลือใช้ พร้อมทั้งพัฒนาจิตใจ แล้วก็สงเคราะห์บุคคลอื่น ผู้ที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้ก็ต้องช่วยเหลือตัวเองโดยภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติก่อน เราก็ต่อยอดมาจากพ่อจากแม่ จากบรรพบุรุษ จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องสงเคราะห์ญาติ ญาติพี่น้องทางสายเลือด ญาติพี่น้องของคู่ครอง ญาติพี่น้องทางสามีภรรยา ญาติพี่น้องทางธรรมคือญาติธรรม ถ้าเราเอาศีลเอาธรรมอย่างนี้ มันก็ไม่มีปัญหา
ทุกๆ คนต้องหนักแน่นในการประพฤติการปฏิบัติของตัวเอง ตระกูลของเราที่จะถาวรมั่นคงอยู่ได้นั้นก็เพราะเราเอาศีลเอาธรรม เพราะพ่อแม่ก็เป็นตัวอย่าง แบบอย่างลูกๆ ก็ทำตามพ่อตามแม่ เป็นกฎ กฎแห่งกรรม ทุกคนมาใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ส่วนใหญ่ก็ไม่เกินร้อยปี ทุกคนก็ต้องจากไป ทุกคนจึงต้องเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ชีวิตถึงจะไม่สะดุด เพราะความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่มีกิน เหลือกินเหลือใช้นี้ อย่างไรมันก็เป็นเพียงทางผ่าน สวรรค์ที่อำนวยความสะดวกความสบายอย่างนี้ มันก็เป็นทางผ่าน เพื่อให้เราได้สร้างบารมี ต้องได้ทั้งความรู้ความเข้าใจ ได้ทั้งภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ เราจะไปแจกเงินแจกตังค์แจกของอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทุกคนนั้นต้องอาศัยตัวเอง พึ่งพาตัวเอง ความประพฤติของตัวเองที่ครอบครัวมีปัญหาเพราะว่าเราทุกคนไม่เห็นความสำคัญในการประพฤติการปฏิบัติ อยู่ในครอบครัวส่วนใหญ่ ถ้ามีลูกหลายคนก็แตกแยกเรื่องมรดก แย่งที่ดิน แย่งเงิน สามีไปมีภรรยาใหม่หรือว่าสามีไปมีครอบครัว แล้วก็ทิ้งพ่อทิ้งแม่เหมือนที่กล่าวมา คนจีนก็เลี้ยงลูกผู้ชายให้เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ผู้หญิงก็จำหน่ายจ่ายแจกออกไปเป็นคนนอก เป็นการทำผิดพลาด พ่อแม่ก็ขาดความเป็นธรรม เขาเรียกว่าตกอยู่ในอคติ คือลำเอียง อันนี้ไม่ใช่ลำเอียงเพราะรักเพราะชัง แต่ว่าลำเอียงเพราะหลงก็คือโง่ เพราะว่ายึดถือกันมาแบบนี้เป็นร้อยๆ เป็นพันๆ ปีแล้ว ต้องเข้าใจ ที่เป็นความผิดพลาด ที่ตกอยู่ในอคติ เพราะว่าเราไม่ได้เอาธรรมเป็นใหญ่ ไม่ได้เอาธรรมเป็นหลัก การแบ่งมรดก แบ่งของ บางทีลูกผู้ชายก็ได้มากกว่า เพราะมีแซ่มีตระกูล อย่างนี้ถือว่ายังไม่ถูกต้อง มันยังเป็นความเห็นแก่ตัวอยู่ เพราะทุกคนยังเอาใจตัวเอง เอาความยึดมั่นถือมั่นของตัวเอง ถึงมีปัญหาแม่ผัวลูกสะใภ้ เพราะจะเอาแต่สามีไม่เอาพ่อเอาแม่ จะเอาแต่ลูกสาวแต่ไม่เอาพ่อตาแม่ยาย อย่างนี้มันก็ไม่ได้สงเคราะห์ญาติ มันไม่ถูก เพราะมันเห็นแก่ตัว ภรรยาสามีคือผู้ที่สร้างอุดมการณ์ไปด้วยกัน
คนเราไปทิ้งพ่อทิ้งแม่ มันก็ไม่ได้ จากมนุษย์มันก็จะเหลือเพียงแค่เสมอสัตว์กับสัตว์เดรัจฉาน ที่เรามีโอกาสได้เป็นคนดีได้เป็นเศรษฐีจนกระทั่งเป็นพระอริยเจ้า ก็เพราะพ่อแม่เลี้ยงเรามา การสงเคราะห์ญาติเราก็ต้องทำ เพราะว่าพ่อแม่มีลูกหลายคน บางทีก็เลี้ยงลูกไม่ได้มาตรฐาน บางคนก็มีสติปัญญาไม่ดี ไปติดอบายมุข ไปติดอบายภูมิ ก็ต้องใช้สติใช้ปัญญา ให้เงินพ่อให้เงินแม่ ถ้าพ่อแม่เอาไปให้ลูกคนที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็จะเอาไปกินเหล้ากินเบียร์ ไปซื้อยาเสพติด อย่างนั้นมันก็ไม่ไหว เรื่องสติปัญญาก็ต้องดูดีๆ หาวิธีแก้ไขประคับประคองกันไปว่าไหนพ่อไหนแม่ ลูกมันไม่ได้มาตรฐานก็ต้องดูแลกัน เพราะว่ามันเป็นความผิดพลาดของพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกผิดวิธีไป ตั้งอยู่ในความประมาทไป เป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ไม่ดีเพียงพอ
การสงเคราะห์ญาตินี้ก็ต้องมีปัญญา ผู้ที่ให้ก็เป็นเจ้านายหรือว่าผู้ที่ให้เป็นเจ้าของนี้ ผู้ให้ก็ต้องดูให้ดีๆ ทำเหมือนในหลวงรัชกาลที่ ๙ ให้สติให้ปัญญา ให้แนวทาง ถ้าให้วัตถุ ก็ต้องวางแผนหาวิธีที่จะช่วยเหลือแก้ไข เพราะว่าทุกคนก็มีงานเยอะ งานตัวเอง งานพ่องานแม่ งานพี่งานน้อง ให้ครอบครัวเรา ตระกูลเราพากันเอาศีลเอาธรรม ให้มีสัมมาทิฏฐิ แล้วก็มีภาคประพฤติภาคปฏิบัติถึงจะไปได้ มันสงเคราะห์ญาติได้ ถ้าไม่แก้ไขทางความรู้ความเข้าใจ ไม่แก้ไขเรื่องความประพฤติ มันก็ไม่ได้ พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า ลูกมาบวชแล้วก็ดึงพ่อแม่เข้าหาธรรมะเป็นพระอริยเจ้าได้ ถึงจะชื่อว่าตอบแทนบุญคุณที่ถูกต้องสูงสุด นั่นแสดงถึงว่า ให้ทุกคนเข้าใจในธรรม ในการประพฤติธรรม ในการปฏิบัติธรรม ถึงจะเอาตัวรอดได้ ไปในทางที่ดีได้ ไม่ใช่เอาแต่ทางวัตถุ ต้องเอาทางจิตทางใจ เอาทางคุณธรรมไปพร้อมๆ กัน เราก็ดู เอาแต่ทางวัตถุ เอาแต่ความเห็นแก่ตัว อย่างนี้มันก็ไปไม่รอด เพราะว่าไม่ได้เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ยิ่งเพิ่มความผิดพลาดยิ่งๆ ขึ้นไป มันไม่ใช่ทางสายกลาง ไม่ได้พัฒนาปัญญา ไม่ได้พัฒนาจิตใจ ไปเอาแต่ทางวัตถุ วัตถุมันก็ต้องได้มาจากการไม่เบียดเบียน เราเป็นลูกสะใภ้ก็ต้องถือหลักธรรมะดีๆ เพราะพ่อแม่ให้เรามีครอบครัว เราสร้างครอบครัวก็คือ มาสร้างศีลสร้างธรรม สร้างคุณธรรม ไม่ใช่ผลิตลูกผลิตหลานอย่างเดียว อย่างนี้มันไม่ได้ มันปัญญาน้อยเกิน เขาไว้วางใจเราให้มีเรามีครอบครัว เราก็ต้องประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เป็นคนจัดฉากเฉยๆ มีบ้านสวยๆ แต่มีหนี้มีสิน แต่งตัวสวยๆ แต่มีหนี้มีสิน มันไม่ได้ มันต้องมีคุณธรรมไปพร้อมๆ กัน ให้มีความสุขในปัจจุบัน ในการประพฤติการปฏิบัติ เราจะไม่พากันเป็นโรคจิตเป็นโรคประสาท การวางแผนในการใช้เงินใช้สตางค์ก็ต้องคิด ที่อยากได้หน้าอยากได้ตาอยากโชว์นี้ ไม่เอานะ มันไม่ใช่งาม ความงามคือศีลคือธรรม จึงจะเป็นความงามแท้จริง ทุกคนต้องเป็นผู้มีศีล ถึงจะเป็นผู้มีธรรม จึงจะเป็นผู้ที่งดงาม
ครอบครัวเราไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิไม่เป็น มันจะเป็นครอบครัวได้อย่างไร ไม่ได้ตั้งมั่นในศีลในธรรม ในคุณธรรม ไหว้พระสวดมนต์ก็ไม่เป็น นั่งสมาธิก็ไม่เป็น ไม่รู้จักทำใจอย่างนี้ เป็นครอบครัวไม่ได้ เพราะครอบครัวไม่มีจุดยืน เอาแต่คอนเสิร์ต เอาแต่ดูหนังฟังเพลง เล่นโทรศัพท์ เที่ยวกินเหล้าเมายา ยินดีในอบายมุข ยินดีในอบายภูมิ เหมือนสังคมที่เป็นกัน เที่ยวพัทยา เที่ยวเกาะสมุย เที่ยวภูเก็ต เที่ยวเชียงใหม่นี้มันไม่ใช่ มันทำตามความฟุ้งซ่าน ไปทำงานพลัดถิ่นอย่างนี้ มันฟุ้งไปตามความฟุ้งซ่าน ครอบครัวเราก็แตกแยก เราต้องกลับมาหาศีลหาธรรม มีความสุขในปัจจุบัน ปัจจุบันมันไม่มีความสุขในการทำงาน มันไม่ได้ ถ้าเราไม่ทำงาน เราก็จะมีสิ่งของอะไรๆ ได้อย่างไร เพราะว่ามันเป็นอย่างนั้น อย่าไปหาสิ่งของจากสิ่งที่ไม่ได้มาจากความชอบธรรม มันจะผิด ความขยันคือความสุขของเรา ความรับผิดชอบเป็นความสุขของเรา ให้เรารู้จักความทุกข์ ความขี้เกียจ ความขี้คร้าน ไม่ขยัน ไม่รับผิดชอบ นั่นแหละคือความทุกข์ที่มาจากการทำงานที่มีโทษ ไม่รู้จักทำการงานที่ไม่มีโทษ เพราะวัดนี้ก็คือข้อวัตร ข้อปฏิบัติ อยู่ในชีวิตประจำวันของเราคือศีลคือธรรม วัดนี้ไม่ได้เป็นโบสถ์ ไม่ได้เป็นวิหาร ไม่ได้เป็นเจดีย์ ไม่ได้เป็นพระพุทธรูป วัดคือเรามีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเรามีข้อวัตรข้อปฏิบัติ ถึงจะเป็นครอบครัวที่อบอุ่น เราก็สงเคราะห์ญาติของเราไป เพราะเราทุกคนนี้เกิดมาเจอกันได้นี้ มาสร้างบารมีร่วมกัน มาต่อยอดวงศ์ตระกูล แล้วเราก็ต้องทำการงานที่ไม่มีโทษ จึงจะเป็นอุดมมงคลของชีวิตอย่างแท้จริง
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องผ่านหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ