แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที ๑๒ การให้การเสียสละ และการประพฤติให้เป็นธรรมตามธรรม
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อม จงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรม ทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้ เป็นวันจันทร์ที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล วันนี้ ขึ้นมงคลข้อที่ ๑๕ กับข้อที่ ๑๖
มงคลข้อที่ ๑๕ ทานัง ซึ่งในมงคลสูตรใช้ว่า “ทานญฺจ ธมฺมจริยา จ” เป็นมงคลสองข้อ “ทานญฺจ” ก็คือการบำเพ็ญทาน พระพุทธองค์ทรงค้นพบว่า ความสูงของจิตใจนี้ได้ถูกกดทับเอาไว้ด้วยอำนาจความต่ำทรามของใจนั่นเอง เมื่อเพิกถอนความต่าง ๆ ของใจออกเสีย ก็จะเป็นคนใจสูง แล้วก็ได้ทรงค้นพบความจริงว่า สิ่งที่กดใจให้ต่ำลง ก็เพราะว่าความเห็นแก่ตัว อัตตาตัวตน อันเป็นลักษณะของความโลภ โดยปกติใจที่เห็นแก่ตัวแล้ว จะเป็นใจที่ใฝ่ต่ำ สูงขึ้นไม่ได้ ดูคนเห็นแก่ตัวก็แล้วกัน ต่ำก็ไม่เลือก ทรามก็ไม่เกลียด เอาทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ การที่จะทำให้ใจของเราสูงขึ้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เราละความเห็นแก่ตัวออกไปจากใจเสียก่อน การที่จะละความเห็นแก่ตัวนั้นจะต้องอาศัยการฝึก ฝึกด้วยใจจริง
ด้วยความเสียสละ ในคราวแรก ๆ ที่พระพุทธองค์ทรงประกาศพระศาสนา ปีแรกเลย เวลาที่พระองค์ไปปูพื้นฐานให้กับใครก็แล้วแต่ พระองค์จะทรงแสดง
อนุปุพพิกถา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของพระยสะ รวมถึงพระเจ้าพิมพิสาร พร้อมด้วยบริวารอีก ๑๒ นหุต ๑๒๐,๐๐๐ คน พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงอนุปุพพิกถาขึ้นต้นด้วยการให้ทาน จากนั้นจึงทรงแสดงในเรื่องของศีล ในเรื่องของสวรรค์
ในเรื่องโทษของกาม แล้วก็อานิสงส์แห่งการหลีกออกจากกาม ประพฤติปฏิบัติตนเพื่อมรรคผลพระนิพพาน แล้วจึงทรงแสดงอริยสัจ ๔ ต่อ เป็นการชำระล้างจิตให้สะอาดขึ้นโดยลำดับ เพราะฉะนั้น การที่เราหยิบยื่น หยิบยื่นของที่เรามี จะเป็นทรัพย์ จะเป็นวัตถุสิ่งของให้แก่คนอื่นไป เป็นการทวนกระแสใจที่เห็นแก่ตัว วิธีทางศาสนา วิธีนี้เรียกว่าทาน ซึ่งแปลว่าการให้ ความมุ่งหมายที่แท้จริงของการให้อยู่ที่การเพิกถอนความเห็นแก่ตัวออกจากจิตใจ จิตใจของเราจะได้สูงขึ้น ดังนั้น วิธีการให้ทาน บริจาคทาน จึงได้วางกฎเกณฑ์ในทางที่จะปฏิบัติในการให้ดังต่อไปนี้ การให้ที่จะทำให้จิตใจบริสุทธิ์สะอาดและเป็นบุญมาก ผู้ให้จะต้องพยายามทำให้ครบองค์สาม
๑. วัตถุบริสุทธิ์
๒. เจตนาบริสุทธิ์
๓. บุคคลบริสุทธิ์
อย่างที่หนึ่ง วัตถุบริสุทธิ์หมายถึงว่า ของที่เราจะหยิบยื่นให้แก่ใครก็ตาม จะเป็นข้าวปลาอาหาร วัตถุสิ่งของ หรือว่าเงินทองใด ๆ ก็ตามนี้ ต้องเป็นของที่เราทำมาหาได้โดยความสุจริต จะเป็นของที่ซื้อมา ขอเขา ก็เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ โดยไม่ได้โกงกิน ฉ้อโกง คอร์รัปชั่นของเขามาแต่ประการใด ถ้าเป็นของที่ซื้อมา เงินที่ซื้อก็จะต้องทำมาหาได้ด้วยความบริสุทธิ์ วัตถุ สิ่งที่จะให้ วัตถุทานนี้จึงบริสุทธิ์ อันนี้คือของบริสุทธิ์
๒. เจตนาบริสุทธิ์ หมายถึงว่า เจตนาของผู้ที่จะให้นี้ ตั้งเจตนาเพื่อความบริสุทธิ์ในจิตใจของตน ไม่ได้แฝงเจตนาด้วยความเห็นแก่ตัวไว้ในการให้ทาน เช่น ทำบุญเพื่อโฆษณาตัวเอง เพื่อหาเสียงนิยม ปัจจุบันนี้ เจตนาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะบางทีทำบุญมักจะเห็นแก่หน้า ใครไม่ออกชื่อ ไม่ประกาศชื่อ ไม่ติดป้ายให้นี่ เครียดเลย กลัวว่าตัวเองจะไม่จะไม่ได้หน้า ไม่ได้ตา นี่คือเป็นการตั้งเจตนาผิดตั้งแต่แรก คือเจตนาไม่บริสุทธิ์ เพื่อที่จะมีชื่อ มีเสียง เพื่อจะได้หน้า เพื่อที่จะให้คนอื่นรู้ว่าเราบริจาคมาก ให้มาก หรือบางทีบริจาคแล้ว ให้แล้วนี้ ก็ตั้งเจตนาผิด ๆ ก็เพื่อผลประโยชน์ เพื่อให้ได้นั่น ได้นี่ เวลานิมนต์พระ ก็เลือกนิมนต์แต่พระที่ตนเห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ตนเองในภายภาคหน้า นิมนต์ภิกษุที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในภายภาคหน้า อย่างนี้เรียกว่าเจตนาไม่บริสุทธิ์ ไม่ได้มุ่งหวังความบริสุทธิ์แห่งจิตใจอย่างแท้จริง อย่างนี้ก็จะทำให้ผลทานนั้นลดน้อยลงไป ได้ไหม? ได้
แต่ว่ามันไม่เต็มที่ เพราะว่าตั้งเจตนาไม่บริสุทธิ์นั่นเอง
ประการที่ ๓ บุคคลบริสุทธิ์ หมายความว่า คนให้กับคนรับต้องเป็นคนบริสุทธิ์ ในเรื่องของการให้โดยเลือกบุคคล พระพุทธเจ้าก็เปรียบเหมือนกับการหว่านพืชลงในพื้นดิน ดังมีปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ความว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พืชที่บุคคลหว่านลงในนาที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการย่อมมีผลมาก มีความดีใจมาก มีความเจริญมาก
นา ทุ่งนาที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการเป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย
๑. นาในโลกที่ไม่เป็นที่ลุ่ม ไม่เป็นที่ดอน ลุ่ม ๆ ดอน ๆ นี้ มันจะทำให้ปลูกข้าวไม่งาม ลุ่มเกินไป น้ำก็ท่วม ดอนเกินไปก็ไม่มีน้ำ นาในโลกนี้ไม่เป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ
๒. ไม่ปนหินปนกรวด
๓. ไม่เป็นดินเค็ม
๔. เป็นที่ไหลลงลึกได้
๕. เป็นที่มีทางน้ำเข้าได้
๖. เป็นที่มีทางน้ำออกได้
๗. เป็นที่มีเหมือง ก็คือ อาจจะเป็นสระ เป็นฝาย เป็นอ่างเก็บน้ำ
๘. เป็นที่ที่มีคันนา เอาไว้กักเก็บน้ำ แล้วก็ปล่อยเป็นช่องๆ ที่ทำเป็นตาราง
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลหว่านพืชลงในนาที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้ ย่อมมีผลมาก มีความดีใจมาก มีความเจริญมาก พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงถึงบุคคลที่ควรจะได้รับไทยทานนั้น ก็คือ ที่จะเป็นบุคคลบริสุทธิ์ ต้องประกอบด้วยองค์ ๘ ประการเหมือนกัน ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ทานที่บุคคลให้ในสมณพราหมณ์ ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก
สมณพราหมณ์ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนั้น เป็นอย่างไร
๑. ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์ในโลกนี้ เป็นผู้มีสัมมาทิฐิ คือมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง
๒. เป็นสัมมาสังกัปปะ มีความคิดชอบ ถูกต้อง
๓. เป็นสัมมาวาจา มีคำพูดที่ดี
๔. เป็นผู้มีสัมมากัมมันตะ มีการงานที่ปราศจากโทษ ไม่ทำเดรัจฉานวิชา ไม่ทำอเนสนา
๕. เป็นสัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพในทางที่ถูก ไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีพ ก็คือไม่เป็นอเนสนา
๖. เป็นสัมมาวายามะ มีความเพียรที่ถูกต้องในการละกิเลส
๗. เป็นผู้มีสัมมาสติ มีความระลึกในทางที่ดี ในทางที่ชอบ
๘. เป็นผู้มีสัมมาสมาธิ มีความตั้งมั่นในจิตที่ดี ประกอบด้วยกุศล
พืชที่หว่านลงในหน้าที่สมบูรณ์ เมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาล ธัญญชาติ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวสาลีย่อมงอกงาม ไม่มีศัตรูพืช ย่อมแตกงอกงามถึงความไพบูลย์ ให้ผลเต็มที่ฉันใด โภชนะ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เป็นวัตถุทาน ที่บุคคลถวายในสมณพราหมณ์ผู้มีศีลสมบูรณ์ก็ฉันนั้น ยอมนำมาซึ่งกุศลอันสมบูรณ์ เพราะกรรมที่เขาทำนั้นสมบูรณ์แล้ว เพราะฉะนั้น บุคคลในโลกนี้ ผู้หวังความถึงพร้อมด้วยกุศล ก็จะเป็นผู้มีประโยชน์ถึงพร้อม พึงคบหาผู้ที่มีปัญญาสมบูรณ์ บุญญสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยบุญ ก็จะสำเร็จได้อย่างนี้ ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ ก็คือเป็นผู้มีความรู้ดี เป็นผู้มีความประพฤติดี ด้วยความถึงพร้อมแห่งจิตใจ กระทำการให้บริบูรณ์ ย่อมได้ผลสมบูรณ์ รู้โลกนี้ตามความเป็นจริง รู้โลกตามความเป็นจริงก็หมายถึงว่าเห็นอริยสัจ พึงถึงทิฐิสัมปทา ความถึงพร้อมแห่งความเห็นชอบ ด้วยความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง อาศัยความถึงพร้อมแห่งมรรคมีองค์ ๘ มีใจบริบูรณ์ ย่อมบรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ เพราะกำจัดมลทิน คือบาปทั้งหลายทั้งปวงได้แล้ว ก็จะบรรลุความถึงพร้อมด้วยพระนิพพาน ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง จัดเป็นความถึงพร้อมด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง
หลักของการเลือกให้ทานดังที่กล่าวมานี้ ก็จะเห็นได้ว่า ควรจะทำอย่างไร ควรแสวงหาบุญอย่างไร ความถึงพร้อมด้วยวัตถุก็ต้องบริสุทธิ์
๑. ของที่มี ของที่ได้มา ไม่ใช่ไปทุจริตโกงกินคอร์รัปชั่นมา ได้มาด้วยการทำมาหาเลี้ยงชีพในทางที่ถูกต้อง
๒. เจตนาบริสุทธิ์ ตั้งใจดี
๓. บุคคลบริสุทธิ์ ตัวเรามีศีลด้วย แล้วก็บุคคลที่จะรับนั้นเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยองค์ ๘ ก็คือมีมรรคมีองค์ ๘ อยู่ในใจ จึงเป็นเหมือนกับเนื้อนาที่ดี
ดังนั้น จากตรงนี้ก็จะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ก็ทรงสอนว่า ให้ ให้ถูกที่ ดังที่เคยอธิบายมาแล้วในงานทอดกฐินที่ว่าอานิสงส์ของทานนี้ก็จะมากขึ้นๆ ตามลำดับ อยู่ที่บุคคลที่รับ การที่ท่านสอนให้เราบริจาคทานมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะทำให้เรานี้ ให้ใจของเราสะอาด แล้วก็สูงขึ้น ขับไล่ความเห็นแก่ตัวออกไปจากสันดาน
ทานที่จะให้นั้น ท่านแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ๒ ประเภท วัตถุทานและธรรมทาน การที่เราให้เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ตลอดจนวัตถุของหอม ดอกไม้ ธูปเทียนต่างๆ เป็นต้น สุดที่จะคณานับนี้ ที่เป็นวัตถุสิ่งของทั้งหมดทั้งมวล จัดเป็นวัตถุทาน ส่วนการให้คำสั่งสอน ให้วิชาความรู้ บอกธรรม ให้หนังสือที่เป็นธรรมะต่างๆ การเทศน์ การบอก การแนะนำให้คนอื่นเข้าใจในธรรมนี้ ให้เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติชอบ ให้เขามีความเห็นถูกต้อง ทั้งแนะนำชี้ทางสวรรค์ ให้ชี้ทางพรหมโลก ชี้ทางพรรคผลนิพพานให้เขา แบบนี้เรียกว่าธรรมทาน
แล้วทีนี้ ยังมีอยู่อีกอย่างหนึ่งที่จัดอยู่ในประเภทธรรมทานเหมือนกันนี้ ที่สูงกว่านั้นก็คือ การให้อภัยทาน ให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่อาฆาตจองเวรกันและกัน เพราะการอาฆาตพยาบาทจองเวรซึ่งกันและกันนั้นไม่ใช่ทางแห่งความสุข ท่านจึงได้สอนให้เราอภัย จึงเรียกว่าอภัยทาน เพราะการให้วัตถุทาน ธรรมทาน อภัยทานเป็นการ เอาง่ายๆ คือการเจริญวิปัสสนา จึงจะให้อภัยทานได้ ถ้าไม่ได้เจริญสติ เจริญสมาธิ โกรธอย่างไร ก็อยู่อย่างนั้น สิบปีก็ยังโกรธกันอยู่ เพราะไม่ได้ละ ไม่ได้วางด้วยสติ ด้วยสมาธิ การจะให้อภัยทานได้ ผู้นั้นต้องมีพื้นฐานสติ พื้นฐานสมาธิ ต้องมีสติสัมปชัญญะ มีวิปัสสนา จึงจะให้อภัยคนใดคนหนึ่งที่ผูกใจเจ็บกันมานาน ๆ ได้
มงคลหรือความก้าวหน้าแห่งชีวิตในข้อนี้ การให้ทานเป็นการทำใจของตนให้สะอาด แล้วก็ความสะอาดของจิตใจนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำให้ผู้กระทำนั้นมีความเจริญก้าวหน้า เป็นที่เคารพรักใคร่ของคนทั่วไป ลองนึกดูว่า สมมุติว่ามีคนอยู่ ๒ คน คือคนใจบุญกับคนที่ใจบาป ควรจะเข้าหาใคร? อยากมีเพื่อนคนใจบุญ หรือว่าอยากมีเพื่อนคนใจบาป ง่ายๆ อย่างนี้ เราก็เข้าใจแล้วว่าจะเลือกใคร
พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสผลของการให้ทานและอานิสงส์ของการให้ไว้มาก มาย อย่างเช่นว่า บุคคลผู้ไม่ตระหนี่ ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก คนเป็นอันมากก็คบหาบุคคลนั้น บุคคลนั้นย่อมได้รับเกียรติยศ มีความเจริญ เป็นผู้ไม่เก้อเขิน แกล้วกล้าในที่ประชุมชน เพราะเหตุฉะนี้แล บัณฑิตผู้มีความสุขจงขจัดมลทิน คือความตระหนี่แล้ว จึงให้ทาน บัณฑิตเหล่านั้นย่อมประดิษฐานอยู่ในไตรทิพย์ ถึงความเป็นสหายของเทวดา ร่าเริงอยู่ตลอดกาลนาน บัณฑิตเหล่านั้นได้ทำสิ่งที่มุ่งหวัง ได้ทำกุศลแล้ว จุติจากโลกแล้ว ย่อมมีรัศมีเปล่งปลั่ง อยู่ในอุทยานสวรรค์ สาวกทั้งปวงของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ไม่มีกิเลส ผู้คงที่ ทำตามพระดำรัสของพระองค์แล้วย่อมร่าเริงอยู่ทุกเมื่อจนกว่าจะถึงมรรคผลพระนิพพาน แล้วพระ พุทธเจ้าก็ตรัสถึงอานิสงส์ว่า
ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของการให้ทานมีอยู่ ๕ ประการคือ
๑. “พหุโน ชนสฺส ปิโย โหติ” ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของคนหมู่มาก
๒. “สนฺโต สปฺปุริสา ภชนฺติ” สัตบุรุษผู้สงบ ผู้ที่เป็นคนดี ย่อมคบหาผู้ให้ทาน
๓. “กลฺยาโณ กิตติสทฺโท อพฺภุคคจฺฉติ” ชื่อเสียงอันงดงามของผู้ให้ทานนั้นย่อมขจรกระจายทั่วไป
๔. “คิหิธมฺมา อนปคโต โหติ” ผู้ให้ทาน ย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมะของคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน
๕. “กายสฺส เภทา ปรมฺมรณา สุคติ สคฺคํ โลกํ อุปฺปชฺชติ” ผู้ให้ทาน เมื่อตายแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนเป็นอันมาก ชื่อว่าดำเนินตามรอยทางของสัตบุรุษผู้สงบ ผู้สำรวมอินทรีย์ ผู้ประกอบพรหมจรรย์ ผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์ก็ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ สัตบุรุษคนดีเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา เขาทราบได้ชัดเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ ปรินิพพานในโลกนี้ ในการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้านี้ บารมีสิบอย่างของพระพุทธเจ้าเริ่มต้นด้วยทานบารมี เพราะเป็นสิ่งที่ทำลายความตระหนี่ในใจออกไป พระพุทธเจ้าเป็นผู้ให้มาตลอด เป็นผู้เสียสละมาตลอด ในการสร้างบารมีทุกภพทุกชาติ ยี่สิบอสงไขยแสนมหากัป บริจาคทรัพย์ บริจาคอวัยวะ บริจาคชีวิต บริจาคลูก บริจาคภรรยา ปัญจมหาบริจาคนี้เป็นการบริจาคอย่างยิ่งใหญ่ พระพุทธองค์ให้มาตลอด ไม่ใช่ให้แค่ชาติเดียว ให้อย่างต่อเนื่อง การให้ของพระพุทธเจ้า ของพระโพธิสัตว์นั้น มิได้ให้เพื่อหวังจะเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เป็นมหาเทพ เป็นมหาพรหม แต่หวังอย่างเดียวคือ สัมมาสัมโพธิญาณ เพราะท่านตั้งเจตนาอย่างที่ยิ่งใหญ่ไว้อย่างนี้ การให้เป็นเรื่องของความชุ่มเย็น ผู้ที่ให้ทานอยู่เสมอย่อมมีใจผ่องใสเยือกเย็น คนที่นิยมการให้ทาน มักจะไม่มีความเดือดร้อนใจ เนื่องจากต่างคนต่างก็มีอัธยาศัยไมตรีถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
อนึ่ง ผลบุญจากการให้ที่สะสมอยู่ในใจ จะมีพลัง เป็นพลังบุญ เป็นพลังบุญที่จะนำแต่สิ่งดีๆ เข้ามาสู่ชีวิต พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงยกย่องไว้หลายอย่าง เช่นว่า คนควรให้ในสิ่งที่ควรให้ การเลือกให้ทาน พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ คนพาลเท่านั้นที่ไม่สรรเสริญการให้ทาน เมื่อมีจิตเลื่อมใสแล้ว วัตถุทานก็หาชื่อว่าเป็นของน้อยไม่ เพราะจิตใจสำคัญ คนจนให้ของที่ไม่ประณีต เช่น ข้าวปลายเกวียนอย่างนี้ กับคนที่มั่งมีให้ของที่ประณีต หากมีจิตใจที่เลื่อมใสตั้งมั่นในพระผู้มีพระเจ้า ในพระธรรม ในพระอริยสงฆ์ ทักษิณาทาน ผลของทานไม่ได้ชื่อว่าน้อยเลย เพราะว่าทำเป็น ในอดีตกาลนี้ บุคคลที่เป็นชาวนา เป็นยาจก เป็นคนยากจนเข็ญใจ ให้ของที่ไม่ได้ประณีตเลย แต่ว่าให้ถูกคน ให้ถูกที่ ให้ถูกเวลา เช่น ให้กับพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้กับพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น เวลาพระอรหันต์ อย่างเช่นพระมหากัสสปะพระสารีบุตร ที่เป็นอัครสาวก เป็นพระมหาสาวกผู้ใหญ่ เวลาท่านออกจากนิโรธสมาบัติ ที่ท่านเข้านิโรธสมาบัติประมาณ ๗ วัน ๑๕ วัน พอท่านออกมาแล้ว ออกจากนิโรธสมาบัติ เพราะผลของการให้ทานแก่ผู้ที่ออกจากนิโรธสมาบัติ จริงๆ นี้ เขาบอกว่าจะได้ความเป็นเศรษฐีในวันนั้นเลย เพราะฉะนั้น ท่านจึงเลือกคนที่จะไปโปรด พระมหากัสสปะ พระสารีบุตรนี้ ท่านต้องมองก่อนว่า จะไปบิณฑบาตกับใคร จะให้ใครใส่บาตรท่านเป็นคนแรก ส่วนใหญ่ท่านจะไปหาแต่คนยากจนเข็ญใจที่มีอุปนิสัยในทางธรรม ท่านจะไม่เข้าไปหาเศรษฐี มหาเศรษฐี เพราะว่าเขามีทรัพย์สมบูรณ์มั่งคั่งอยู่แล้ว ท่านจะไปโปรดคนยากคนจน คนที่มีอุปนิสัยในทางธรรม แต่ว่าอดมื้อกินมื้อ พอท่านไปรับบาตร แล้วจิตใจเขาตั้งมั่น เขาก็จะคิดเลยว่า การที่เราจนแบบนี้ เพราะเราไม่เคยเป็นผู้ให้ มาบัดนี้ ข้าวเราก็มี บุคคลที่เป็นผู้รับไทยทานก็บริสุทธิ์ พระคุณเจ้าก็มาอยู่ตรงหน้าเรา จึงให้อาหารบิณฑบาตทั้งหมดเลย เทใส่ในบาตรของท่าน เช่น ชาวนาที่ชื่อว่าปุณณะ พอให้เสร็จแล้ว ก็เผลอหลับไปด้วยความหิว ท่านใส่บาตร น่าจะเป็นใส่บาตรพระสารีบุตรที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ นาที่ท่านไถไปประมาณ ๘ กรีส ปรากฏเป็นทองคำ เพราะผลแห่งทานที่ท่านให้แก่ผู้ที่ออกจากนิโรธสมาบัติ โดยเฉพาะพระสารีบุตร จากนั้นท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นปุณณะเศรษฐีที่เป็นบิดาของนางอุตตรา
นางอุตตราเป็นอุบาสิกาคนสำคัญของพระพุทธเจ้าที่เป็นอัครอุบาสิกาผู้เลิศ ก็คือนางอุตตราและนางขุชชุตตรา บิดาของนางจนมาก่อน เป็นชาวนามาก่อน แต่ว่าให้ แล้วก็บุญเขาถึงพร้อมด้วย ไม่ใช่ว่าให้แบบนี้แล้วจะถึงพร้อมทุกคน จึงต้องด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่างทั้งเหตุทั้งปัจจัยมาถึงพร้อม จึงจะสมบูรณ์อย่างนี้ อย่างบางคราวพระมหากัสสปเถระนี้ ท่านเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ท่านก็จะเข้านิโรธสมาบัติเป็นประจำ เวลาท่านออกจากนิโรธสมาบัติ ท่านก็จะไปหาคนที่จะโปรด ส่วนใหญ่จะเป็นคนจน อย่างราชะเทพธิดา แต่ก่อน ก็เป็นหญิงเฝ้านา เฝ้านาข้าวตอก ได้ข้าวตอกมาก็ถวายแก่พระมหากัสสปเถระ ดีอกดีใจ เดินร้องเพลงไปตามคันนา ไม่รู้ว่าไปเหยียบงูนะ งูเห่าฉกกัดตายคาที่ ตายด้วยจิตใจที่เลื่อมใส ผลทานเต็มที่ เป็นราชะเทพธิดา อย่างนี้เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าการให้ วัตถุต้องบริสุทธิ์ เจตนาบริสุทธิ์ บุคคลบริสุทธิ์
ก็เต็มเปี่ยม ไม่จำเป็นว่าจะเป็นของประณีตหรือไม่ประณีต บุคคลผู้ให้ย่อมเจริญก้าวหน้า ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก ผู้มีปัญญาให้ความสุขย่อมได้รับความสุข ผู้ให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณวรรณะ ผู้ให้ยานพาหนะชื่อให้ความสุข ผู้ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ ผู้ให้ที่พักที่อาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ผู้ให้ธรรมทานชื่อว่าให้อมตะธรรม อย่างนี้เป็นต้น
ดังนั้น ในการทำ ในการให้ แต่ละคนมักจะมีอัธยาศัยในการให้แตกต่างกันออกไป เช่นว่า บางคนมี แต่ให้ด้วยของไม่ดี แล้วก็เก็บซ่อนเอาของดีๆ เอาไว้กินเอง เอาไว้ใช้เอง ทำอย่างนี้ ท่านเรียกว่า ทาสแห่งทาน ผู้เป็นทาสแห่งทาน คือไม่ชนะใจตัวเอง มีของดีแต่ให้ของเลว ให้ของไม่ประณีต แต่ถ้าเขาบริโภคใช้สอยอย่างไร ก็แบ่งปันอย่างนั้นแก่คนอื่น จัดว่าเป็นสหายแห่งทาน ส่วนบางท่านฉลาดในการทำทาน ให้แต่สิ่งของที่ดี ที่ประณีต ของที่ชอบใจ และมีคุณค่ายิ่งกว่าที่ตนบริโภคใช้สอย อย่างนี้เรียกว่าสามีแห่งทาน สามีทานก็คือว่า การให้แบบผู้เป็นเจ้าของจริง ๆ สุดท้ายนี้ จัดเป็นวิสัยของบัณฑิต ญาติโยมบางคนนี่ ของบางอย่างไม่กล้ากิน ไม่กล้าใช้ ไม่กล้าบริโภค แต่นำมาให้แก่ผู้ที่เป็นทักขิไณยบุคคล รู้ว่า เอามาให้แก่พระอรหันต์ พระอริยเจ้าที่เป็นเนื้อนาบุญ ให้ของที่ประณีตกว่าที่ตัวเองใช้ ตัวเองกิน ตัวเองบริโภค ชื่อว่าเป็นเจ้าของแห่งทาน
คนมีปัญญาให้ทานแบบสามีทาน ให้ของเลิศ มีจิตใจที่สูงส่ง สามารถเอาชนะความตระหนี่ หวงแหนที่มีอยู่ในใจได้ ท่านเรียกว่า ทานบดี คือ ผู้เป็นใหญ่ในการให้ หมายความว่าจิตใจของคนผู้นั้นเป็นอิสระ และมีความเป็นใหญ่ในตนเอง ไม่ตกอยู่ในอำนาจของความตระหนี่ถี่เหนียว ในมนาปทายีสูตร พระพุทธเจ้าตรัสตรงท่อนหนึ่งนี้ ที่ว่า “อคฺคโต เว ปสนฺนานํ อคฺคํ ธมฺมํ วิชานตํ ” ตรงนี้ ผู้ให้ของที่พอใจย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ให้ของที่ดีย่อมได้ของที่ดี ผู้ให้ของที่ประเสริฐย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศ
ให้ของที่ดี ให้ของที่ประเสริฐ คนนั้นจะเกิดในที่ใด ๆ ย่อมมีอายุยืน มียศในที่นั้นๆ เพราะฉะนั้น การให้ทานจึงเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงทำมาตลอด และก็ทรงสอน ต้องให้ให้เป็น ดังที่ว่ามานี้ นี่คือมงคลในข้อของการให้
ต่อไปมงคลข้อที่ ๑๖ “ธมฺมจริยา จ ” การประพฤติธรรม ในมงคลข้อนี้ท่านสอนให้ประพฤติธรรม ถือว่าเป็นมงคล คือความเจริญ การประพฤติธรรม คือการประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของความถูกต้อง ความดีงาม ทั้งปรับปรุงพฤติกรรมของตนให้ดี สมกับที่เกิดเป็นคน แล้วก็ให้มีความเที่ยงธรรม การประพฤติธรรมนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเป็นมงคลข้อที่ ๑๖ ก่อนที่จะตรัสมงคลข้อที่ ๑๗ ข้อ ๑๘ คือการสงเคราะห์ญาติ แล้วก็การทำงานไม่มีโทษที่จะอธิบายในวันต่อไป
เหตุที่พระพุทธองค์ทรงวางลำดับมงคลว่าด้วยการประพฤติธรรมไว้ตรงนี้ก็เพราะว่าในการสงเคราะห์ญาติและการทำงานไม่มีโทษ ซึ่งเป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม เราต้องมีการทำงานติดต่อกับคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีอัธยาศัยต่างๆ กันไป ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดี โอกาสที่จะกระทบกระทั่งก็มีมาก โอกาสที่จะทำให้งานเสียเพราะขาดความเป็นธรรม คือลำเอียงก็มีมากเช่นเดียวกัน ดังนั้น ก่อนจะทำงานเพื่อส่วนรวม จึงต้องประพฤติตัวเองให้เป็นผู้มีธรรม จึงต้องประพฤติธรรมเพื่อเป็นการปรับปรุงตนให้พร้อมที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในสังคม ไม่นำความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและผู้อื่น ซึ่งการประพฤติปฏิบัติตนนี้ ๒ ลักษณะควบคู่กันไปก็ได้แก่
๑. ประพฤติเป็นธรรม
๒. ประพฤติตามธรรม
ประพฤติเป็นธรรม คือ มีความเที่ยงธรรม เป็นความถูกต้อง เป็นความดี ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของสังคมนั้น ขึ้นอยู่กับหลักธรรมอย่างหนึ่งคือ
ความเป็นธรรม สังคมใดก็ตาม แม้จะมีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ มั่งคั่ง บริบูรณ์ แต่ถ้าขาดความเป็นธรรมเสียอย่างเดียว สังคมนั้นก็จะมีแต่ความเดือดร้อน วุ่นวาย เพราะขาดความเป็นธรรม ครอบครัวก็แตกสลายเพราะขาดความเป็นธรรม บ้าน เมืองเกิดการปฏิวัติรัฐประหารก็เพราะว่าขาดความเป็นธรรม สงครามระหว่างประเทศจึงเกิดขึ้น เมืองใดไร้ธรรมส่องอําไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่นอน
ความเป็นธรรมคือการกระทำที่ชอบด้วยเหตุด้วยผล เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกหนทุกแห่ง มีบางคนเข้าใจว่า ความเป็นธรรมก็คือความยุติธรรม เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่เป็นผู้ให้ ส่วนตนเป็นผู้น้อยเป็นผู้รับ ความเข้าใจเช่นนี้ผิด อันที่จริงความเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องให้แก่กันและกัน ไม่เลือกหรอกว่า มีแต่คนเป็นใหญ่มี ตัวเองเป็นผู้น้อยไม่จำเป็นต้องมี
ต่อไป การประพฤติตามธรรม ตอนแรกประพฤติเป็นธรรมแล้ว ต่อมาคือการประพฤติตามธรรม ประพฤติปฏิบัติตน ตามธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน ฝึกฝนอบรมตนเองให้มีคุณธรรมในตัว สูงขึ้น ประณีตขึ้นตามลำดับ นั่นก็ได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั่นเอง ง่าย ๆ เลย เป็นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักบวช นักไม่ได้บวชนี้ กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นพื้นฐานของชีวิตทุกคน
๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์ คือไม่ฆ่าสัตว์ นับตั้งแต่ฆ่าคนทั่วไป ฆ่าสัตว์ที่มีคุณ ฆ่าสัตว์อื่นๆ เจตนาของข้อนี้คือ ต้องการให้ทุกคนรู้จักแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ไม่ใช่ โดยวิธีฆ่าอีกฝ่ายหนึ่งเสีย เพราะการฆ่านั้น ผู้ฆ่าย่อมเกิดความทารุณโหดร้ายขึ้นในใจ ทำให้ใจเศร้าหมอง แล้วตนเองก็ต้องรับผลกรรมต่อไป ต้องคอยหวาดระแวงว่า ญาติพี่น้องเขาจะมาทำร้ายเป็นการแก้แค้นหรือไม่ เป็นการแก้ปัญหาซึ่งจะสร้างปัญหาอื่น ๆ ต่อมาโดยไม่จบสิ้น ดังนั้น ทางแห่งความดี “กุศลกรรมบถ” แปลว่า ทางแห่งความดี แปลง่าย ๆ ปถ ตัวนี้ ป-ปลา ถ-ถุง แปลว่าหนทาง ความหมายเดียวกับคำว่ามรรค กุศลกรรมบถจึงแปลว่า ทางแห่งความดี ข้อแรก ต้องเว้นจากการฆ่า เว้นจากการเบียดเบียน
ข้อต่อมา ทางแห่งความดีข้อที่ ๒ คือ เว้นจากการลักทรัพย์ คือไม่แสวงหามาโดยทางทุจริต เช่น ลัก ฉก กรรโชก ปล้น ตู่ ฉ้อ หลอก ลวง ปลอม ตระบัด แล้วก็เบียดบัง สับเปลี่ยน ลักลอบ ยักยอก
ทีละอันนะ ลัก แปลว่าขโมย ขโมยลับหลังนี้ เรียกว่าลัก
ฉก คือ ชิงเอาซึ่งหน้าเลย
กรรโชกก็คือขู่เอา ใช้อำนาจขู่เอามา ปล้น รวมหัวกันแย่งเอา
ตู่ คือเถียงเอาข้างๆ คูๆ เถียงเพื่อให้ชนะ แล้วก็เอามาเป็นของตัวเอง
ฉ้อ ฉ้อฉล คือโกงเอา
หลอก ทำให้เขาหลงเชื่อ แล้วก็ให้ตัวเอง
ลวง บ่ายเบี่ยง ลวงเขา
ปลอม ทำของที่ไม่จริงขึ้นมา
แล้วก็ ตระบัด ก็คือปฏิเสธ เพื่อให้ได้มา
เบียดบัง คือการซุกซ่อนเอาบางส่วน
สับเปลี่ยน คือแอบเปลี่ยนของ เช่นมีของไม่ดี ก็เปลี่ยนเอาของดีมา อย่างนี้
ลักลอบ คือการแอบนำเข้า หรือว่าแอบนำออกไป เช่น ของหนีภาษี
ยักยอก เบียดบังเอาของในหน้าที่ของตนเอง เช่น ตัวเองอยู่ในหน้าที่นี้ อยู่ในตำแหน่งนี้ มันมีทางที่จะได้ ก็ยักยอกเอามา มีให้เห็นอยู่มากมาย ไม่ต้องอธิบายมากเรื่องนี้
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถทางแห่งความดีข้อนี้ ก็ต้องการให้ทุกคนทำมาหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต ซึ่งจะทำให้ใช้ทรัพย์ได้เต็มอิ่ม โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงคืน ไม่ต้องกลัวบาป กลัวกรรม เพราะได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ใช่ว่าได้มาด้วยการทุจริต โกงกิน คอร์รัปชั่น เป็นประการต่างๆ ดังที่ว่ามา
ทางแห่งความดีข้อที่ ๓ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม คือไม่กระทำผิดในทางเพศ ไม่ลุอำนาจแก่ความกำหนัด เช่น การเป็นชู้กับสามี ภรรยา ของคนอื่น การมีกิ๊ก มีกั๊ก การข่มขืน การฉุดคร่าอนาจาร พวกนี้ เจตนาของกุศลกรรมบถข้อนี้ก็คือว่า ต้องการให้ทุกคนมีใจสูง เคารพในสิทธิของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม ไม่ใช่ว่าหาทางที่จะมั่วได้ ก็มั่วเอา อย่างนั้นมันไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน ที่มั่วกันในการเสพ ในการมีเพศสัมพันธ์ เหล่านี้เป็นต้น
ประการที่ ๔ ทางแห่งความดีข้อที่ ๔. ก็คือว่า เว้นจากการพูดเท็จ
พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเท็จก็คือว่า ต้องไม่เจตนาพูดให้ผู้ฟังเข้าใจผิดไปจากความจริง รวมถึงการทำแค่ให้คนอื่นหลงเชื่อรวม ๗ วิธี คือ
พูดปด ก็คือโกหกซึ่งหน้า
ทนสาบาน ก็คืออ้างสิ่งต่าง ๆ ทำให้คนอื่นหลงเชื่อ
ทำเล่ห์ เพทุบาย หรือว่าทำกลอุบาย หรือว่าเงื่อนงำ อันอาจจะทำให้คนอื่นหลงเข้าใจผิด
มารยา เช่น เจ็บน้อยก็ทำเป็นเจ็บมาก
ทำเลศ คือทำให้ผู้อื่นตีความคลาดเคลื่อนเอาเอง
เสริมความ เรื่องนิดเดียวก็ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ บวกเข้าไป
อำความ เรื่องใหญ่ก็ปิดบังไว้ให้เป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งเคยอธิบายไว้อย่างละเอียดตอนในเรื่องของวาจาสุภาษิต อย่างเดียวกัน
เว้นจากการพูดเท็จต่างๆ เหล่านี้หมายถึงว่า ไม่ยอมพูดคำเท็จเพราะเหตุแห่งตน กลัวภัยจะมาถึง ตัวเองจึงโกหก ไม่ยอมพูดคำเท็จเพราะเหตุแห่งคนอื่น คือรักเขา อยากให้เขาได้ประโยชน์จึงโกหก หรือว่าเกลียดชังเขานี้ อยากให้เขาเสียผลประโยชน์จึงโกหก แล้วก็ไม่ยอมพูดเท็จเพราะว่าเห็นแก่อามิสสินจ้าง เช่น อยากได้ทรัพย์สินเงินทอง สิ่งของ จึงโกหก เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ก็คือต้องการให้ทุกคนมีความสัตย์จริง กล้าเผชิญหน้ากับความจริงเยี่ยงสุภาพชน ไม่หนีปัญหา หรือหาประโยชน์ใส่ตัวด้วยการพูดเท็จ
ต่อไป ทางแห่งความดีข้อที่ ๕ เว้นจากการพูดส่อเสียด ส่อเสียด คือ
ไม่เก็บเอาความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น เก็บเอาความข้างโน้นมาบอกข้างนี้ ด้วยเจตนาจะยุแหย่ให้เขาแตกกัน เหมือนนก ๒ หัว ๓ หัว ๔ หัวนี้ ควรกล่าวแต่ถ้อยคำที่ทำให้เกิดประโยชน์ ความสมัครสมานสามัคคี เจตนาของทางแห่งความดีข้อนี้ก็คือ ต้องการไม่ให้คนเราหาความชอบด้วยการประจบสอพลอ เลียแข้งเลียขา เป็นบ่างช่างยุ ต้องการให้หมู่คณะสงบสุขสามัคคี
ทางแห่งความดีข้อที่ ๖ ก็คือว่า เว้นจากการพูดคำหยาบ คือไม่พูดคำซึ่งทำให้คนอื่นฟังแล้ว เกิดความระคายใจ ครูดหู แล้วก็ส่อว่า ผู้พูดเองนี้เป็นคนมีสกุลต่ำ ได้แก่ คำด่า ก็คือพูดเผ็ดร้อนแทงหัวใจ พูดกดเขาให้ต่ำนี้ ปากติดระเบิด ติดอาก้า ติด เอ็ม ๑๖ พวกนี้ คำประชด ก็คือ พูดกระแทกแดกดัน คำกระทบ พูดเปรียบเปรยให้เจ็บใจเมื่อเขาได้คิดขึ้นมา แล้วก็คำแดกดัน ก็คือว่า พูดกระแทกกระทั้น คำสบถ พูดแช่งชักหักกระดูก คำหยาบโลน พูดคำที่สังคมรังเกียจ คำอาฆาต พูดให้หวาดกลัวว่าจะถูกทำร้าย เหล่านี้ จัดอยู่ในคำหยาบทั้งหมด
“จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น อย่าตะคอกตะคั้นให้เคืองหู ไม่ควรพูดอื้ออึงขึ้นมึงกู คนจะหลู่ล่วงลามไม่ขามใจ” สุนทรภู่ว่าไว้อย่างนั้น
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ก็คือว่า ต้องการให้ทุกคนเป็นสุภาพชน รู้จักสำรวมวาจาของตน ไม่ก่อความระคายใจแก่ผู้อื่นด้วยคำพูด
ทางแห่งความดีข้อที่ ๗ ก็คือว่า เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดเหลวไหล ไม่พูดพล่อยๆ สักแต่ว่ามีปาก อยากพูดอะไรก็พูดไป หาสาระไม่ได้ แต่ต้องพูดถ้อยคำมีสาระ มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง ถูกกาลเวลา มีประโยชน์ เจตนาของทางแห่งความดีข้อนี้ก็คือว่า ต้องการให้ทุกคนมีความรับผิดชอบต่อถ้อยคำของตนเอง ก่อนพูดนี้ เราเป็นนายคําพูด แต่พอพูดไปแล้ว คำพูดมันเป็นนายเรา
ทางแห่งความดีข้อที่ ๘ ไม่โลภอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็ง ที่จะเอาทรัพย์ของคนอื่นในทางทุจริต อันนี้น้อมเข้ามาในเรื่องของใจแล้ว เป็นเรื่องของมโนกรรม เจตนาของทางแห่งความดีแค่นี้ก็คือว่า ต้องการให้คนเรานี้ เคารพในสิทธิข้าวของของผู้อื่น มีจิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่านไหวกระเพื่อมเพราะความอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น จะทำให้ใจมีความของแผ้ว มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พร้อมที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม
ทางแห่งความดีข้อที่ ๙ ไม่พยาบาทปองร้ายเขา คือ ไม่ผูกใจเจ็บ
ไม่คิดอาฆาตล้างแค้น ไม่จองเวร มีจิตใจเบิกบานแจ่มใสไม่ขุ่นมัว ไม่เกลือกกลั้วด้วยโทสจริต เจตนาของทางแห่งความดีข้อนี้ก็คือว่า ต้องการให้ทุกคนรู้จักให้อภัยทาน ไม่คิดทำลาย ทำให้จิตใจสงบผ่องแผ้ว เกิดความคิดสร้างสรรค์
ประการสุดท้าย ที่เป็นกุศลกรรมบถทางแห่งความดีก็คือว่า ไม่เห็นผิดไปจากคลองธรรม คือ ไม่คิดแย้งกับหลักธรรม นั่นก็หมายความว่า ไม่มีมิจฉาทิฏฐิ เมื่อไม่มีมิจฉาทิฏฐิ จึงเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ความเห็นที่ถูกต้องพื้นฐานก็คือว่า ท่านอธิบายไว้ ๑๐ ประการ
สัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ คือ
๑. เห็นว่าการให้ทานดีจริง ควรกระทำ
๒. เห็นว่าของที่บูชาแล้ว เช่นว่า การสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นนี้ เป็นสิ่งที่ดี ควรกระทำ ในข้อนี้ก็คือว่า บูชาคนที่ควรบูชา
๓. เห็นว่าการบูชาบุคคลที่ควรบูชานี้ดีจริงๆ ควรกระทำ
๔. เห็นว่าผลแห่งกรรมดี กรรมชั่ว มีอยู่จริง
๕. เห็นว่าโลกนี้มีจริง
๖. เห็นว่าโลกหน้ามีจริง
๗. เห็นว่ามารดามีพระคุณต่อเราจริงๆ
๘. เห็นว่าบิดามีพระคุณต่อเราจริง
๙. เห็นว่าสัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมีอยู่จริง โอปปาติกะก็คือว่า ผุดเกิดโตขึ้นมา เป็นหนึ่งในกำเนิด ๔ กำเนิด ๔ ก็คือว่า เกิดในครรภ์ เกิดในเถ้าไคล เกิดในไข่ แล้วก็โอปปาติกะ เกิดผุดโตขึ้นมา โอปปาติกะกำเนิด จะมีเฉพาะในทวยเทพ เทวดา พรหม รวมถึงสัตว์นรก แล้วก็เปรต เท่ากับว่า ให้รู้จักนรก รู้จักสวรรค์ จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ
๑๐. เห็นว่าสมณพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหมดกิเลสแล้ว สอนธรรมะแก่ผู้อื่นนั้นให้รู้แจ้งตามความเป็นจริงนั้น มีอยู่
นี่คือสัมมาทิฏฐิพื้นฐาน ๑๐ ประการ
เจตนารมณ์ของกุศลกรรมบถข้อนี้ ต้องการให้คนเรานี้ มีพื้นฐานใจที่ดี มีมาตรฐาน มีความคิดที่ถูกต้อง ความเห็นที่ถูกต้อง ยึดค่านิยมที่ถูกต้อง มีวินิจฉัยที่ถูก มีหลักการ มีแนวความคิดที่ถูกต้อง ส่งผลให้ความคิดในเรื่องอื่นถูกต้องตามไปด้วย แล้วก็จะพัฒนาจากความเห็นถูกต้องพื้นฐานนี้ พัฒนาจนกระทั่งไปสู่ศีล สู่สมาธิ สู่ปัญญา จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิในองค์มรรค ก็คือการเห็นอริยสัจ แต่ต้องปรับพื้นฐานอย่างนี้ก่อน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนเลยว่า “เราไม่เห็นธรรมอย่างอื่นแม้สักอย่าง ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพิ่มพูนไพบูลย์ยิ่งขึ้นไปเหมือนอย่างสัมมาทิฏฐินี้เลย”
ทางแห่งความดีทั้ง ๑๐ ประการนี้ ทุกคนจำเป็นต้องฝึกให้มีอยู่ในตน นี่แหละคือพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน พระ นักบวชก็ต้องมี ถ้าภิกษุไม่มีศีล ๒๒๗ ก็เท่ากับว่ากรรมบถก็ไม่สมบูรณ์ เพราะธรรมวินัยไม่มีอยู่ในใจ ดังนั้น นี่แหละคือองค์ของศีล ศีล ๕ ไม่พอ ต้องมีกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ที่สมบูรณ์ ที่เป็นทางแห่งความดีทั้ง ๑๐ ประการ ต้องให้มีอยู่ในใจตนทุกๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้นำ ผู้ที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม จะต้องฝึกให้มีในตนอย่างเต็มที่ จึงจะทำงานได้ดี ได้ผลดี ทุก ๆ คน ทุก ๆ ท่าน จึงต้องมีทางแห่งความดีอยู่ในใจ เมื่อมีอยู่ในกาย อยู่ในวาจา อยู่ในใจแล้ว จึงชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติธรรม ธรรมะจริยา ในมงคลข้อนี้ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
บุคคลใดหวังความสุข ความเป็นใหญ่ หวังความเจริญก้าวหน้า ต้องประพฤติธรรม ทุกคนที่เกิดมา ถือว่าเป็นผู้ที่ประเสริฐที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ให้ทุกคนดีใจ ภูมิใจ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เราทุกคนจะได้ปฏิบัติถูกต้อง ชีวิตทุกคนเกิดมาเพื่อมีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ มีพระธรรมในใจ มีพระอริยสงฆ์ในใจ เราเกิดมาเพื่อมาสร้างบารมี มาสร้างความดี มาสร้างคุณธรรม เราเกิดมาเพื่อมาเสียสละ ถ้าเราเป็นผู้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องอย่างนี้ เราจะมีความสุขในการดำเนินชีวิต นักบวชก็ถือศีลในพระปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ มาในพระไตรปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นพรหมจรรย์ชั้นต้น พรหมจรรย์ระดับกลาง พรหมจรรย์ระดับสูงสุด
ทุกคนเกิดมาเพื่อมาเป็นผู้ที่เสียสละ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรก ก็พูดเรื่องให้ทาน พูดเรื่องเสียสละ ซึ่งจะเป็นการละตัว ละตน เราเกิดมาต้องเป็นผู้ให้ ต้องเป็นผู้เสียสละ เราจะเป็นผู้มายึดมาถือไม่ได้ การที่ทำงานอย่างนี้ เราก็ต้องมีความสุขในการเสียสละ ผลที่ได้มาก็คือว่า ทรัพย์สินเงินทอง ลาภ ยศ สรรเสริญ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ เราก็ยังต้องเสียสละ เพราะอันนี้มันเป็นทางผ่าน ทางเหยียบ ถนนผ่านเฉยๆ ผ่านไปเฉย ๆ อันนี้เป็นเรื่องของทุก ๆ คน ทุกนักบวช ทุก ๆ ศาสนา เพราะศาสนาก็คือความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ความเสียสละไม่ใช่บุคคลตัวตน เป็นธรรมะระดับต้น ระดับกลาง ระดับสูงสุด ตามกฎของธรรมชาติ ตามหลักเหตุผล ตามหลักวิทยาศาสตร์ เหนือวิทยาศาสตร์ขึ้นไปอีก ก็คือไม่มีตัว ไม่มีตน เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นถึงมี เราเกิดมาอย่างนี้ เราทุกคนต้องมีความเห็นอย่างนี้ จะได้พาลูกพาหลานประพฤติปฏิบัติ เข้าสู่ความเป็นมนุษย์ มนุษย์คือผู้ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เป็นผู้เสียสละจริงๆ
ท่านพุทธทาสภิกขุ ถึงได้ลิขิตเอาไว้ว่า
“เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง เหมือนหนึ่งยูงมีดีที่แววขน
หากใจต่ำก็เป็นได้แต่เพียงคน ไม่สมกับที่ตนได้เกิดมา
ใจสะอาดใจสว่างใจสงบ ใครมีครบจึงควรเรียกมนุสสา
เพราะพูดถูกทำถูกทุกเวลา เปรมปรีดาคืนวันสุขสันต์จริง
ใจสกปรกมืดมัวและร้อนเร่า ใครมีเข้าจึงควรเรียกว่าผีสิง
เพราะพูดผิดทำผิดจิตประวิง แต่ในสิ่งนำตัวกลั้วอบาย
คิดดูเถิดถ้าใครไม่อยากตก จงรีบยกใจตนเร่งขวนขวาย
ให้ใจสูงเสียได้ก่อนตัวตาย ก็สมหมายกับที่ตนได้เกิดมา”
คำพูดนี้เป็นอมตะ เราต้องพากันเสียสละ มีความสุขในการเสียสละ เราทำอะไรเพื่อจะเป็น เพื่อจะมีนี้ มันก็เครียด เพราะปัญญาเราไม่ถึง ความหลงมันมากดดันเรา เราก็เลยทำอะไร ทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น เราต้องรู้จักทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ที่เป็นอริยสัจ ทุกคนต้องพากันมาเป็นผู้ที่เสียสละ เราถึงจะเป็นผู้ที่มีศีล เป็นผู้มีสมาธิ เป็นผู้มีปัญญา เราคิดว่าเราเสียสละอย่างนี้มันจะรวยได้อย่างไร เราต้องเสียสละสิ มันถึงจะไม่ขี้เกียจขี้คร้าน คนไม่ขยัน ไม่อดทน คนไม่รู้ทุกข์ มันจะรวยได้อย่างไร การพัฒนาก็ต้องพัฒนาทั้งใจ พัฒนาทางเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดในสิ่งที่ดีคู่กับการเสียสละไป พระคือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระคือพระธรรม พระวินัย คือผู้ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง คนที่ไม่เสียสละ คือคนขี้เกียจขี้คร้าน คนมีทิฐิมานะ มีอัตตาตัวตน เราเสียสละแล้วเราถึงจะเป็นการปฏิบัติ ถ้าเราไม่เสียสละ เราก็รักษาศีลไม่ได้ เพราะเราตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ถ้าเราไม่เสียสละ เราก็ทำตามใจตามอารมณ์ จะเอาสมาธิอะไร ไม่มีการเสียสละอะไร เอาตัวตนเป็นหลักเขาเรียกว่า อัตตาธิปไตย ที่บ้านเมืองเราเป็นอย่างนี้ ครอบครัวเราเป็นอย่างนี้ ก็เพราะเราไม่เสียสละ ต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง ไม่มีอะไรที่จะประเสริฐยิ่งใหญ่ไปกว่าพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธบารมีมาตั้งหลายล้านชาติจนตรัสรู้ และการประพฤติการปฏิบัติเอาธรรมเป็นใหญ่เอาธรรมเป็นหลัก เราจะได้เป็นพระอริยสงฆ์ พระอริยสงฆ์หมายถึงผู้ที่เอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่ไม่ได้หมายถึงนักบวช นักบวชเขาเรียกว่าพระภิกษุ เอาธรรมเป็นใหญ่เอาธรรมเป็นหลัก เน้นพระนิพพานร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะให้เราเป็นพระแท้ๆ ได้
คนเรานี้ ร่างกายของเรานี้ เราเอามาใช้งานเพื่อไปพระนิพพาน ไม่เกินร้อยปีก็ต้องจากโลกนี้ไปอยู่แล้ว เราต้องรู้จักอริยสัจ ๔ อย่าไปใจอ่อน คนเราจะไปใจอ่อนไม่ได้ การเสียสละเป็นสิ่งที่ใหญ่ยิ่ง ชีวิตเรานี้น้อยนัก การปฏิบัติของเรามันก็จะง่าย มันอยู่ที่ปัจจุบัน ไม่เกี่ยวกับเรื่องอดีต ไม่เกี่ยวกับอนาคต มันอยู่ที่ปัจจุบัน ปัจจุบันต้องตั้งใจ ต้องมีศรัทธา เราถึงจะมีความสุข เราจะไปติดในความเอร็ดอร่อย ไปติดในรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ ไม่ได้ ต้องบริโภคด้วยปัญญา เพราะมันเป็นหนทางที่มนุษย์ เป็นทางที่เดินไป เหยียบผ่านไป สวรรค์ก็เหมือนกัน ต้องเดินไป เหยียบผ่านไป เพราะว่าเราทำถูกต้อง มันก็จะมีอยู่ มีกิน เหลือกิน เหลือใช้ เราอย่าไปคิด อย่าไปติด เหมือนพวกที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ติดในโลก หลงในโลก ติดอยู่ในวัฏสงสาร หลงอยู่ในวัฏสงสาร เพราะการจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกมันก็ยาก นอกจากผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เพราะส่วนใหญ่ มันใจอ่อน เอาแต่ความสุข แค่ความร่ำรวย เอาแค่สวรรค์อย่างนี้ นี่ไม่ใช่คำว่าพุทธะ
พุทธะ ไม่ได้หมายถึงบุคคลตัวตน พุทธะคือตัวผู้รู้ รู้ทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ ไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามอารมณ์ตัวเอง เสียสละในปัจจุบัน อย่างนี้เขาถึงเรียกว่าพุทธะ พุทธะไม่ได้หมายถึงโบสถ์ วิหาร ลาน เจดีย์ พระพุทธรูป ถ้าหลงไปอย่างนี้มันจะเป็นทางไสยศาสตร์ เป็นอวิชชา เป็นความหลง เราดูตัวอย่าง แบบอย่าง พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปตั้ง ๕๐๐ ปี เขาถึงเพิ่งจะมีการปั้นพระพุทธรูป สร้างพระพุทธรูปขึ้นมา เพราะพระอรหันต์มีน้อยลง คนมีปัญญาระดับอริยะมีน้อยลง ก็เลยต้องไปหล่อพระพุทธรูป เพื่อให้เป็นองค์รูปเหมือน แต่พระศาสนาคือความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง สมัยพุทธกาลกับปัจจุบันนี้ ก็คืออันเดียวกัน มันต้องเป็นปัจจุบันแบบนี้แหละ ต้องให้เข้าใจ ที่เราไม่ได้ผลเพราะเราไม่ได้ปฏิบัติ เหมือนต้นไม้ ถ้าเราไม่ได้ปลูก ก็ไม่ได้ต้นไม้ ก็ไม่ได้ผลไม้ มันก็ไม่ได้ทานผลไม้ มันขึ้นอยู่ที่เราไม่ได้ประพฤติ ไม่ได้ปฏิบัติ ที่ไหนมีการประพฤติ การปฏิบัติ ตามอริยมรรคมีองค์ ๘ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์
คนเรานี้ มันมีอยู่ ๒ คนก็มีปัญหา เพราะเราจะเป็นผู้เอา ถ้าเราเป็นผู้ให้มันก็ไม่มีปัญหา ที่มันแตกความสมัครสมานสามัคคีกัน ที่เป็นสังฆเภท แตกหมู่ แตกพรรค แตกพวกอย่างนี้ ก็เพราะไม่ได้เป็นผู้ให้ ผู้ให้ถึงเป็นผู้มีปัญญา ผู้ให้ถึงเป็นผู้นำตัวเองออกจากวัฏสงสาร ผู้ให้ถึงจะเหมาะกับการเป็นผู้นำครอบครัว เป็นผู้นำสังคม เป็นผู้นำประเทศชาติ ที่มันมีปัญหากันนี้ มันไม่ได้เป็นผู้ให้ แต่จะเป็นผู้เอา ก็เลยไปทำธุรกิจบนหัวคน บนหลังของคนอื่น อย่างนี้มันถึงมีปัญหา การปฏิบัติธรรม ทุกคนต้องกลับมาคิด ต้องกลับมาสำนึก แล้วก็มาปฏิบัติตัวเอง ถ้าเราไม่เสียสละอย่างนี้ สิ่งที่เป็นอดีตอย่างนี้ มันก็จะทำให้เราท้อใจ อย่างนี้นะ เพราะว่าเราไม่ได้เสียสละซึ่งอดีต ที่เราเห็นว่าคนนั้นเป็นอย่างโน้น คนโน้นมันก็เป็นอย่างนี้ แบบนี้มันจะเป็นไปได้อย่างไร มันจะไปได้อย่างไร มันก็ยาก เพราะเราจะไปแก้แต่คนอื่น แต่เรื่องปฏิบัตินี้ มันต้องแก้ตัวเอง จะให้ไปแก้คนอื่นมันแก้ไม่ได้หรอก เรื่องปฏิบัติธรรมมันต้องแก้ที่ตัวเอง เสียสละเอง แล้วมันก็จะมีความสุข ความดับทุกข์ได้เอง เราจะได้รู้ว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงแสดงอนุปุพพิกถาช่วงต้น ๆ พุทธ กาล ข้อแรกก็คือการให้ทาน การให้ก็คือเพื่อละความตระหนี่ ละสักกายทิฏฐิ ละซึ่งตัวซึ่งตน มันถึงจะทำอย่างอื่นได้ ถ้าเราไม่เสียสละมันจะไปทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้หรอก เพราะว่าไม่ได้เข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ ถ้าเราไม่เสียสละ ใจของเรามันก็จะค้างคา ค้างคาอยู่กับความยึดมั่นถือมั่น เหมือนที่กล่าวเรื่องการงานค้างคา มันก็ไม่เป็นมงคล การงานก็หมายถึงว่า จิตใจของเรานี่แหละต้องมีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการเสียสละ แล้วทำงานเวลานี้ หมดเวลาแล้วเราก็ต้องเสียสละ อย่าเอากลับมาให้มันค้างคาอยู่ในจิต อยู่ในใจ ทำอย่างอื่นต่อไป ด้วยจิตใจที่มันอยู่กับปัจจุบันขณะ ปัจจุบันธรรม การให้ การเสียสละ กับการประพฤติธรรมนี้ ต้องมีอยู่ในใจ จึงจะเป็นมงคลของชีวิตตลอดไป ไม้จันทน์แม้จะแห้ง ก็ยังไม่สิ้นกลิ่นหอม อ้อยแม้จะถูกหีบ ก็ยังไม่สิ้นรสหวาน เกลือแม้ถูกสะตุ ก็ยังไม่สิ้นรสเค็ม บัณฑิตแม้ตกทุกข์ ก็ยังไม่เลิกประพฤติปฏิบัติธรรม
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาให้ทุกท่าน ปราศจากความทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เจริญยั่งยืนนานอยู่ในร่มเงาแห่งบวรพุทธศาสนา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยการให้ ด้วยการเสียสละ ด้วยการประพฤติ ด้วยการปฏิบัติธรรม จนกว่าจะถึงมรรคผลนิพพานเทอญ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee