แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๑๑ การสงเคราะห์ดูแลภรรยาสามีและการทำงานไม่ให้คั่งค้าง
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล วันนี้เป็นมงคลข้อที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๔ มงคลข้อที่ ๑๓ ทารัสสะสังคะโห ก็คือ การสงเคราะห์ภรรยาแล้วก็สามี ในภาษาบาลีใช้ว่า “ปุตตะทารัสสะสังคะโห” แต่แยกออกเป็นสองข้อ ก็คือการสงเคราะห์ลูก ก็คือการเลี้ยงลูกให้ดี
ข้อหนึ่งได้อธิบายไว้เมื่อวานแล้วคือการสงเคราะห์ภรรยา ในที่นี้ไม่ใช่เฉพาะภรรยาอย่างเดียว ถ้าเป็นผู้หญิงก็สงเคราะห์สามีสำหรับชีวิตคู่ การมีภรรยาหรือว่าการมีสามีนี้ จะว่าง่ายก็ง่ายจะว่ายากก็ยาก ทั้งนี้มันขึ้นอยู่ที่ว่าทำอย่างไรสามีภรรยานี้จึงจะอยู่กินด้วยกันยืดยาว แล้วทีนี้หลายๆ คนก็ไปแสวงหาวิธีการต่างๆ ก่อนจะแต่งงานนี้ ก็ทั้งเกี่ยวกับดวงชะตา ดูคู่ธาตุคู่สมพงษ์สารพัดอย่างว่าถูกต้องกันไหม ดูดวงแล้วก็ต้องให้ฤกษ์ให้เหมาะสม บางทีก็ต้องทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ การแต่งงานก็ต้องหามงคลแฝดต้องเอาของคู่นิมนต์พระแล้วก็นิมนต์เป็นคู่ๆ จะเอาของก็ต้องเป็นคู่ทั้งหมด ไม่เอาเลขคี่กลัวแต่ว่าจะอยู่กินกันไม่ยืดยาว ใช้หอยสังข์เป็นหอยมงคลเอามารดน้ำ ถ้าจะถามคนที่หัวสมัยใหม่จะบอกว่าเท่านั้นยังไม่พอ ต้องมีบ้านมีรถมีเงินมีทองมีตึกจึงจะทำให้อยู่กันยืด ต้องมีทรัพย์สินสมบัติอะไรพวกนี้ แต่สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดมันก็เป็นเพียงแค่ความเชื่อ ความเชื่อที่ทำมานานแล้วก็เป็นความเชื่อของสังคมส่วนใหญ่ที่ทำตามๆกัน ของเหล่านั้นเป็นมงคลภายนอกที่โลกสมมุติกัน ที่เคยเล่าไว้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ แล้วทีนี้ก็ยังไปติดว่าต้องมีบ้านมีรถมีทรัพย์สินเงินทองถึงจะอยู่กินกันยืดยาว ไม่มีใครอยากกัดก้อนเกลือกิน แต่สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดมันก็เป็นเพียงแค่เครื่องอำนวยความสุขต่างๆ ไม่ได้ป้องกันความแตกร้าวของครอบครัวของชีวิตคู่ได้เลย ดังนั้น มงคลของพระพุทธเจ้า ๓๘ ประการ ข้อที่ ๑๓ พระพุทธเจ้าตรัสว่า”ทารัสสะสังคะโห” “ทาระ” แปลว่าเมีย แปลว่าภรรยา ทาระ แปลตรงๆ ว่าเมีย ก็คือภรรยาที่แปลกัน คำว่า สังคหะ ก็คือ การสงเคราะห์ เมื่อแปลรวมกันก็จะได้ความว่า ทารัสสะสังคะโหคือการสงเคราะห์เมีย หมายความว่าผู้ชายที่มีเมียนี้ต้องสงเคราะห์เมียจึงจะเกิดมงคล แต่ที่ว่ามานี้อย่าหมายว่าเฉพาะฝ่ายสามีอย่างเดียว ต้องเป็นฝ่ายภรรยาหรือว่าฝ่ายเมียก็ต้องสงเคราะห์ด้วยจึงจะเกิดมงคลทั้งสองฝ่าย เพราะว่าสิ่งทั้งสองนี้จะต้องมีความสัมพันธ์กัน เหมือนว่าเรากินข้าวก็ต้องมีกับข้าวมีขนมมีอะไรร่วมอยู่ คำว่ากินนี้ ความหมายก็บอกอยู่แล้วว่ามันต้องกินหลายอย่างไม่ใช่กินเฉพาะข้าวเจ้า กินเฉพาะข้าวสวย ต้องกินกับข้าวกินผลไม้กินอะไรหลายๆ อย่าง ในความหมายของคำว่ากินไม่ต้องค้น ข้อนี้ก็เหมือนกัน แม้จะระบุเพียงคำเดียวว่าทาระคือเมียหรือภรรยา ชายสงเคราะห์เมีย แต่ว่าภรรยาหรือว่าฝ่ายผู้หญิงก็ต้องถือปฏิบัติด้วยไม่ใช่คอยนั่งๆ นอนๆ ให้ผัวปรนนิบัติ ส่วนเมียก็มัวแต่งเนื้อแต่งตัวช้อปปิ้งอย่างเดียวก็ไม่ได้ ประเดี๋ยวสามีมันโมโหขึ้นมา อัปมงคลก็เล่นงานเอา
ดังนั้นแล้ว ความหมายท่านก็อธิบายขยายต่อไปอีก เพราะชีวิตคู่เขาใช้คำเรียกเยอะแยะมากมาย ทีนี้ เราจะได้ยินกันประจำที่เราถือกันว่าเป็นคำสุภาพ ก็คือว่า สามีภรรยา คำแรก “ภรรยา” คือคำร้องเรียกทีผู้ชายเรียกผู้หญิง เรียกผู้ชายที่เป็นคู่กัน ผู้หญิงที่เรียกสามีเรียกผัว เขาเรียกว่าสามี สามีถ้าแปลตามศัพท์แล้ว สามีนี้แปลว่านาย เจ้านายหรือแปลว่าเจ้าของก็ได้ เจ้านายไม่ใช่หมายความว่าเป็นสามีแล้วจะตั้งตัวเป็นเป็นนายของภรรยา ข่มเมียอย่างเดียว คำว่าเจ้านายในที่นี้หมายถึงว่าผู้ให้ความคุ้มครอง ผู้ให้ความอุปถัมภ์ คำว่าเจ้านายโดยตรงก็มีคำหนึ่งซึ่งเราใช้ว่า “อัยยะ” ภาษาบาลีใช้ว่าอัยยะ ก็คือเจ้านายโดยเฉพาะอยู่แล้ว สามีตรงนี้จึงหมายถึงว่าเป็นเจ้าของ เป็นผู้คุ้มครองนายแบบสามีก็คือคู่กับผู้รับเลี้ยง นายแบบอัยยะคือคู่กับข้าทาสแล้วก็บ่าว คนละอย่างกัน ส่วนฝ่ายหญิงก็มีหลายฉบับอยู่เหมือนกันที่ใช้เรียกผู้ที่เป็นเมีย เช่นคำว่า “ทาระ” ซึ่งปรากฏในมงคลข้อนี้ “ชายา” แล้วก็ “บริจาริกา” แล้วก็คำว่า “ภรรยา” คำว่าทาระ แล้วก็ชายา แปลว่าเมียตรงๆ ตัวเลย ไม่ใช่คำหยาบอะไร เป็นคำที่เราเข้าใจกันในภาษาโลกๆ ส่วนคำว่าบริจาริกา เติมคำที่ค่อนข้างจะเหยียบผู้หญิงอยู่นิดๆ แปลว่าผู้ปรน นิบัติ ผู้บำเรอ บางทีก็กดลงไปถึงกับคำว่า”บาทบริจาริกา” นางบำเรอเท้าหรือว่าหญิงผู้รับใช้ใกล้เท้า ใกล้เท้าดีไม่ดีก็อยู่ใกล้เท้า บาทบริจาริกา ส่วนคำที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือคำว่า”ภริยา” ภาษาบาลีภริยา สันสกฤตใช้คำว่าภรรยา เอา “รร” เข้ามา ซึ่งแปลว่าคนควรเลี้ยง เป็นคำคู่กับสามี ซึ่งแปลความว่าผู้เลี้ยง ลักษณะของภรรยาหรือว่าสามีซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในพระสูตรสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต แสดงถึงว่าภรรยานี้ มีอยู่ ๗ ประเภทด้วยกัน
เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปบิณฑบาตที่คฤหาสน์ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกรุงสาวัตถี เมื่อเสด็จเข้าไปถึงแล้ว พระองค์ก็ประทับนั่งอยู่บนพระบวรพุทธอาสน์ที่เศรษฐีปูลาดถวาย เวลานั้นทุกคนในบ้านของเศรษฐีก็พากันส่งเสียงเอะอะโวยวายกันลั่นบ้าน ขณะนั้นท่านเศรษฐีได้เข้าไปถวายบังคมพระพุทธองค์ นั่งเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ พระพุทธองค์ตรัสถามท่านเศรษฐีว่า “คหบดี ทำไมที่บ้านของท่านนี้ ผู้คนจึงส่งเสียงเอ็ดอึงเอะอะมากมายดูเหมือนกับชาวประมงส่งเสียงร้องเวลาจับปลาทีเดียว” เสียงดังหรือง่ายๆ ก็คือ เหมือนกับตลาดสด ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เลยกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ลูกสะใภ้ของข้าพระองค์คนหนึ่งชื่อสุชาดา เป็นน้องสาวของนางวิสาขา ธิดาของท่านธนัญชัยเศรษฐี เป็นคนถือตัวจัด แม้กระทั่งว่าพี่สาวคือนางวิสาขานี้ เป็นหญิงเบญจกัลยาณีเรียบร้อยมาก เป็นโสดาบันแต่เด็ก แต่ว่าน้องสาวที่ชื่อสุชาดานี้ น่าจะเป็นลูกคนเล็ก ประมาณว่าคนตามใจ ถือตัวจัด ถือว่าเป็นลูกสาวเศรษฐีผู้ใหญ่ของเมือง เป็นคนขี้โกรธขี้โมโห พูดจาหยาบคายก้าวร้าวรุนแรง ไม่ยอมเชื่อฟังพ่อสามีแม่สามีแม้กระทั่งสามีตัวเอง แม้แต่พระองค์หมายถึงพระพุทธเจ้า นางก็ไม่นับถือ ไม่ยอมสักการะบูชาพระพุทธเจ้าข้า พระพุทธองค์ได้ทรงสดับเรื่องราวเช่นนั้นก็ทรงพระมหากรุณาตรัสเรียกนางสุชาดาให้เข้าไปเฝ้า นางสุชาดาสะใภ้ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจึงเข้าไปถวายบังคมแล้วนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง สุชาดากับคนที่ถวายข้าวมธุปายาสคนละคนกัน เพียงแค่ชื่อซ้ำ
พระพุทธองค์ก็ประทานโอวาทว่า “สุชาดา ภรรยาของชายมีอยู่ ๗ จำพวกคือภรรยาเสมือนเพชฌฆาต ภรรยาเสมือนโจร ภรรยาเสมือนนาย ภรรยาเสมือนแม่ ภรรยาเสมือนพี่สาวน้องสาว ภรรยาเสมือนเพื่อนและภรรยาเสมือนทาส ภรรยา ๗ จําพวกนี้ เธอจะเป็นภรรยาจำพวกไหน?”
นางสุชาดาไม่เข้าใจจึงกราบทูลว่า “พระเจ้าข้า ข้อความที่พระองค์ตรัสนี้ ย่อนัก หม่อมฉันยังไม่เข้าใจความหมายเลยพระเจ้าค่ะ ขอพระองค์ได้โปรดแสดงธรรมอธิบายความหมายให้หม่อมฉันเข้าใจด้วยเถิด”
พระพุทธองค์จึงตรัสเตือนให้นางสุชาดาตั้งใจฟังพระโอวาทด้วยความเคารพแล้วก็ทรงอธิบายความหมายโปรดนางสุชาดาว่า
“ประเภทแรกนี้ ภรรยาเสมือนเพชฌฆาตนั้นหมายความว่า ภรรยาใจร้าย ไม่มีความรักใคร่ในสามี ไม่เกื้อกูลสามี เป็นหญิงมักมากในกามารมณ์ นิยมรักใคร่กับชายอื่น ดูถูกดูหมิ่นสามี สามีเป็นคนทำงานหาเงินหาทองมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องแท้ๆ ก็ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ มีแต่ข่มเหงน้ำใจ คอยพิฆาตฆ่าด่าผัวเหมือนกับเพชฌฆาตถือดาบคอยประหารสามีอยู่ทุกเวลา นี่เรียกว่า ภรรยาเสมือนเพชฌฆาต
ประเภทที่ ๒ ภรรยาเสมือนโจร หมายความว่า ภรรยาคนไหนเป็นคนใจขโมย คอยลักคอยผลาญสมบัติ คอยทำลายทรัพย์สินเงินทองที่สามีทำงานหามาด้วยความเหนื่อยยากให้ฉิบหายไป พยายามลักเล็กขโมยน้อย เป็นหญิงคดในข้องอในกระดูก ไม่ซื่อตรงต่อสามี นี่เรียกว่า ภรรยาเสมือนโจร
ประเภทที่ ๓ ภรรยาเสมือนนายนั้น หมายความว่า ภรรยาใจชั่ว ตั้งตัวเป็นนายของสามี ข่มผัว เป็นคนหยาบคายใจเหี้ยม พูดแต่คำกักขฬะก็คือคำหยาบคายกับสามี ชอบใช้สามี ข่มขู่ข่มเหงสามีเหมือนกับนายทำกับข้าทาส สามีเป็นคนขยันหมั่นเพียรแต่ตัวเองเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ไม่เอาการไม่เอางานเอาแต่กินเอาแต่นอน มัวแต่แต่งเนื้อแต่งตัว ทำผมทาปาก ทำเล็บทำหน้าอยู่อย่างนั้น นี่เรียกว่า ภรรยาเสมือนนาย
ประเภทที่ ๔ ภรรยาเสมือนแม่ หมายความว่า ภรรยาเป็นคนใจสูง มีความหนักแน่นเหมือนแม่ มีความรักมีความปรารถนาดีต่อสามี คอยเฝ้าดูแลสามีเหมือนแม่ดูแลลูก สามีหาทรัพย์สินเงินทองใดๆ มาได้ก็พยายามเก็บไว้ออมไว้รักษาไว้ด้วยดีไม่ให้เสื่อมสูญไป นี่เรียกว่า ภรรยาเสมือนแม่
ประเภทที่ ๕ ภรรยาเสมือนพี่สาวน้องสาว หมายความว่า ภรรยาเป็นคนมีสัมมาคารวะ มีความเคารพยำเกรงสามี มีความละอายแก่ใจ ไม่ประพฤติอะไรล่วงล้ำก้ำเกินสามี เป็นหญิงอยู่ในอำนาจสามี เชื่อฟังถ้อยฟังคำของสามี แล้วก็มีความรักฉันพี่น้อง นี่เรียกว่า ภรรยาเสมือนพี่สาวน้องสาว
ประเภทที่ ๖ ภรรยาเสมือนเพื่อน หมายความว่า ภรรยามีใจรักสามี ประพฤติดีต่อสามีฉันเพื่อน เหมือนกับเพื่อนที่ทำดีต่อกัน เป็นคนมีแต่ความประพฤติเรียบร้อย ปฏิบัติสามีด้วยน้ำใจรักใคร่สนิทสนม เมื่อสามีไปไหนกลับมาก็ยินดีต้อนรับด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใสเสมือนเพื่อนที่ดีต้อนรับเพื่อนที่จากกันไปนานๆ แล้วกลับมาพบกันฉันนั้น นี่เรียกว่า ภรรยาเสมือนเพื่อน
ประเภทที่ ๗ ภรรยาเสมือนทาส หมายความว่า ภรรยาเป็นหญิงมีน้ำใจอดทน สงบเสงี่ยม แม้จะถูกสามีข่มขู่ดุด่าว่าตบตีเมื่อเขาผิดพลาดก็มีความยิ้มแย้มแจ่มใสไม่โกรธตอบโต้ ไม่โต้เถียง ไม่เป็นคนใจร้าย รู้จักอดรู้จักกลั้น เป็นคนอยู่ในอำนาจของสามี ไม่เป็นคนขี้โกรธขี้โมโห นี่เรียกว่า ภรรยาเสมือนทาส
สุชาดาเอย ภรรยาของชายมี ๗ จำพวกดังกล่าวมานี้ เธอจะเป็นภรรยาจำพวกไหน”
นี่คือพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนสะใภ้ของท่านอนาถบิณฑิก จากนั้นมานางสุชาดาก็ขอสมาทานว่าจะไม่เป็นภรรยาสามประเภทแรกแต่จะเป็นภรรยาสี่ประเภทสุดท้าย จากนั้น นี่เหมือนกับเสือถอดเขี้ยวถอดเล็บ ปากก็วางระเบิดวางปืนวางหอกออกไปหมดแล้ว จากที่เคยปากไม่ดีตอนนี้เป็นคนที่วาจาสุภาพอ่อนหวานเป็นที่รักของของพ่อสามีแม่สามีแล้วก็ของสามีเอง เพราะตอนนี้นางได้เปลี่ยนใจเพราะความเป็นอริยบุคคลก้าวเข้ามาสู่ใจของนาง
ตามนัยยะพุทธโอวาทนี้จะเห็นได้ว่า หญิงใดประพฤติตนเป็นภรรยาจําพวกที่ หนึ่ง สอง สาม คือภรรยาเหมือนเพชฌฆาต ภรรยาเหมือนโจร ภรรยาเหมือนนายนี้ หญิงนั้นชื่อว่าตั้งตนเป็นศัตรูของสามี ครอบครัวก็ต้องไม่มีความสุข จะมีแต่ความวิวาทบาดหมางเดือดร้อนวุ่นวาย แล้วสามีก็จะรู้สึกว่าตนนี้อาภัพเพราะมีเมียผิด จะเลิกกันก็เลิกไม่ได้ มีแต่จะคิดกลุ้มอกกลุ้มใจไม่มีกำลังใจที่จะขวนขวายเพื่อความก้าวหน้าในชีวิต หญิงที่จัดว่าเป็นภรรยาที่ดีคือเป็นภรรยาประเภทที่สี่ ห้า หก เจ็ด นี้คือภรรยาเสมือนแม่ เสมือนพี่สาวน้องสาว เสมือนเพื่อนแล้วก็เสมือนทาส ซึ่งถือว่าเป็นภรรยาที่ดีทำให้สามีมีความภาคภูมิใจว่ามีภรรยาดี เลือกคู่ครองไม่ผิด จิตใจก็เบิกบานมีกำลังใจในการที่จะประกอบกิจการงาน มีอุตสาหะพยายามที่จะสร้างฐานะให้ดียิ่งๆ ขึ้น ครอบครัวก็จะมีแต่ความก้าวหน้ามีความสงบสุข เพราะวัฒนธรรมสมัยโน้นจนถึงสมัยปัจจุบันนี้ หญิงที่แต่งงานแล้วเขาจะเรียกว่า ”ขรณี” แปลว่าหญิงแม่เรือน จะไม่ออกไปทำงานนอกบ้าน จะทำงานบ้านอย่างเดียว ดูแลปรนนิบัติพ่อแม่สามี ดูแลลูกดูแลบ่าวไพร่ดูแลลูกน้องอยู่ในบ้าน เพราะผู้ชายต้องไปทำงานนอกบ้าน ปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์ก็เลยสอนแบบนี้ว่าเป็นหญิงแม่เรือนนี้ต้องทำตัวแบบนี้ ภรรยาที่ดีต้องเป็นอย่างนี้ๆ
การแต่งงานนี้ ชีวิตคู่ โดยเฉพาะเวลาที่โตขึ้นมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง ตามสัญชาตญาณการกระทำของชายของหญิง ถ้าเพียงแต่ได้เสียกันด้วยอำนาจกามราคะ นั่นเป็นเพียงแค่เรื่องของธรรมชาติ ไม่ใช่คุณธรรมอะไร ไม่ใช่ความดี แม้แต่สัตว์ทั้งปวงมันก็สามารถที่จะกระทำเช่นนั้นได้ อย่างสุนัขพอมันถึงเดือนสิบสอง มันก็เริ่มแล้ว
คุณธรรมที่แท้จริงอันจัดว่าเป็นมงคลของชีวิตสมรส พระพุทธองค์ท่านตรัสไว้ว่า”สังคหะ” ซึ่งเป็นเครื่องเชื่อมความรักระหว่างภรรยาสามีไม่ให้เกิดความแตกร้าวกัน ประเพณีการแต่งงานของไทยซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากศาสนาพราหมณ์ ที่มีด้ายมงคลมีสายสิญจน์มีน้ำสังข์รดน้ำกันนี้ มีการสวมมงคลแฝด คือด้ายมงคลที่ทำเป็นห่วง ๒ ห่วงสำหรับไว้สวมศีรษะเจ้าบ่าวข้างหนึ่ง เจ้าสาวข้างหนึ่ง เวลาสวมก็ดูคล้ายๆ เหมือนกับจะล่ามคนทั้งสองคนติดกันไว้ ความมุ่งหมายก็เพื่อจะยึดกันไว้ไม่ให้แยกจากกัน เวลาเจ้าบ่าวเจ้าสาวตอนที่หลั่งน้ำสังข์ หรือปัจจุบันเอาพิธีพระเข้าไปด้วย เลยเรียกว่าน้ำพระพุทธมนต์ที่เรียกๆกัน แล้วคนเฒ่าคนแก่โบราณเขาก็จะอวยพรว่า “อิทัง อุทะกัง วิยะ สังสัฏฐา อะเภชชา โหถะ” ก็แปลว่า ขอเธอทั้งหลายนี้ จงอย่าแตกแยกกันเหมือนกับน้ำนี้ เพราะน้ำนี้มันเป็นเนื้อเดียวกันไม่เคยแตกแยกเวลาที่รดน้ำสังข์ลงไป นี่เป็นคติของคนโบราณ “ขอเธอทั้งสองอยู่ครองสมาน ดุจดั่งสายธารสะอาดใส สายน้ำมิแตกแยกกันฉันใด ขอสองดวงใจดุจสายธารเทอญ” ที่เขาแปลมา นั่นเป็นการยึดแบบพิธีพราหมณ์ ยึดคนด้วยเส้นด้ายแล้วก็ยึดด้วยน้ำ
ความจริงแล้ว ด้ายกับน้ำมันยึดกันไม่นานถ้าหากไม่มีธรรมะอยู่ในใจ ในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ก็ได้ทรงสั่งสอนให้ยึด แต่ยึดในที่นี้แทนที่จะทรงสอนให้ยึดกันด้วยด้ายแต่ทรงสอนให้ยึดกันด้วยคุณธรรมที่เรียกว่าสังคหะ ยึดในที่นี้ก็คือยึดในคุณธรรมมาปฏิบัติต่อกันเพื่อที่จะได้สงเคราะห์กัน ลองนึกดูนะว่าการยึดอย่างไหนจะมีความมั่นคงต่อกัน การสวมมงคลแฝดไว้หมิ่นๆ อยู่บนหัว ด้ายขาวๆ แตะนิดเดียวเท่านั้น แค่ขยับหัวมันก็ร่วงแล้ว แต่ถ้าสวมกันด้วยมงคลของพระพุทธเจ้านี้เหนียวแน่นกว่านั้นมาก จะคล้องกันแน่นกว่า ชีวิตคู่ก็จะราบรื่นจนตลอดชีวิต มงคลของพระพุทธเจ้าไม่ใช่วัตถุไม่ใช่ด้ายไม่ใช่หอยสังข์ที่เป็นมงคลภายนอก แต่เป็นมงคลภายในที่คล้องกันด้วยธรรมะที่เรียกว่าสังคหะธรรม มีความเหนียวแน่นกว่า ต่อให้มนุษย์หน้าไหนก็มายื้อแย่งไปไม่ได้ แม้ความตายมาพลัดพรากก็พรากได้แต่ร่างกายเท่านั้น ส่วนใจนั้นก็ยังคล้องกันแน่นตลอดไป
สังคหะธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้นี้ นั่นก็คือ การสงเคราะห์กันและกันตามหน้าที่ของสามีภรรยาดังต่อไปนี้ ทีนี้ พูดถึงหน้าที่ของสามีที่ควรทำต่อภรรยาก็คือว่า
๑. ยกย่องให้เกียรติ คือยกย่องว่าเป็นภรรยา ไม่ปิดๆบังๆ ไม่หลบๆ ซ่อนๆ หากทำดีก็ชมเชยด้วยใจจริง หากทำผิดก็ตักเตือน แต่ไม่ตำหนิต่อหน้าสาธารณชนหรือคนในบ้าน ก็คือต้องรู้เวลาพูดด้วย ต้องมีวาจาสุภาษิตเหมือนที่ได้เล่าไว้ เพราะจะเสียอำนาจการปกครอง สิ่งใดเป็นเรื่องส่วนตัวเช่น การเลี้ยงเพื่อนพบปะญาติมิตร ก็ควรให้อิสระตามสมควร ไม่ใช่แบบว่ากำจัดริดลอนสิทธิ คอยเช็คตลอดเวลา จะไปไหนก็ไม่มีอิสรภาพแบบนี้ คอยแต่หึงหวงกันตลอดเวลา
๒. อย่าดูหมิ่นเหยียดหยามว่าต่ำกว่าตน ไม่ดูถูกเรื่องชาติตระกูลทรัพย์สมบัติความรู้ หรือบางทีมาจากตระกูลต่างกัน ถ้าทรัพย์เสมอกัน ศีลเสมอกันอะไรก็ดีไป แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งจนฝ่ายหนึ่งรวยอย่างนี้มาแต่งงานกันนี้ อย่าไปดูถูกกัน ไม่กระทำเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัวโดยไม่ปรึกษาหารือ แล้วก็ห้ามทุบตีด่าทอเด็ดขาด
๓. ไม่นอกใจ ไม่ไปยุ่งกับผู้หญิงอื่นในฐานะที่เป็นภรรยาเล็ก ภรรยากลาง ภรรยาน้อย เพราะเป็นการดูหมิ่นความเป็นหญิงของภรรยา ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ภรรยาทุกคนจะปลื้มใจที่สุดถ้าสามีรักแล้วก็ซื่อตรงต่อตนเองเพียงคนเดียว
๔. มอบความเป็นใหญ่ให้คือมอบให้เป็นผู้จัดการภาระในบ้าน ไม่เข้าไปก้าวก่ายในเรื่องครอบครัวการปกครองภายใน นอกจากเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งภรรยาไม่อาจจะแก้ปัญหาได้
แล้วก็ประการสุดท้ายประการที่ ๕. ให้เครื่องแต่งตัวให้เครื่องประดับ ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงแล้วนี้ล้วนชอบการแต่งตัว ตั้งแต่สมัยหลายพันปีมาจนถึงปัจจุบันและอนาคตก็ยังต้องแต่งตัวอยู่อย่างนี้ สนใจเรื่องสวยๆ งามๆ ถ้าได้เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวสวยๆงามๆแล้วก็ชื่นใจ ถึงจะโกรธถ้าได้เครื่องแต่งตัวถูกใจเดี๋ยวก็หาย อย่างนี้เป็นต้น สามีก็ต้องตามใจบ้าง
นี่คือหลักหน้าที่ของสามีควรทำต่อภรรยาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนสิงคาลกมาณพเรื่องทิศทั้ง ๖ ว่าหน้าที่พ่อแม่ทำให้หน้าที่ลูกทำไงนี้ ไล่มาเรื่อยๆ กระทั่งสามีภรรยาที่เป็นทิศเบื้องหลัง
ต่อไป หน้าที่ของภรรยาต่อสามี เมื่อผู้ชายฝ่ายชายฝ่ายสามีทำดีต่อภรรยาแล้วหน้าที่ของภรรยาก็ต้องทำดีตอบด้วยสิ่งที่ควรทำ ๕ ประการเช่นเดียวกัน
๑. จัดการงานดีคือจัดบ้านให้สบายให้น่าอยู่ ไม่รกรุงรังหรือไม่สกปรกเลอะเทอะเหมือนรังหนู จัดอาหารให้ถูกปากและทันตามความต้องการ จัดเสื้อผ้าเครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ ดูแลลูกเต้าให้ความรักความอบอุ่น ให้ลูกเติบโตขึ้นมาด้วยความมีสุขภาพแข็งแรงแล้วก็เป็นคนดีที่ได้เล่าเมื่อวานนี้ เลี้ยงลูกให้โตแล้วก็เลี้ยงลูกให้ดี
๒. สงเคราะห์ญาติฝ่ายสามีด้วยการเอื้อเฟื้อ กล่าววาจาไพเราะ ให้ความช่วยเหลือตามฐานะที่จะทำได้ เพราะเรื่องมันมีมานานแล้วนี้ แม่ผัวลูกสะใภ้ชอบทะเลาะกัน มีปากมีเสียงกันอยู่ตลอด บางทีก็ถึงกับต้องแยกบ้านไปอยู่ ทะเลาะกัน ดังนั้น ต้องพูดเพราะๆ ต่อกันนี้ คำพูดสำคัญมากแล้วก็
๓. ไม่นอกใจ จงรักภักดีซื่อสัตย์ต่อสามีเพียงผู้เดียว
๔. รักษาทรัพย์ไว้ให้ดี ไม่ฟุ่มเฟือยแต่ก็ไม่ตระหนี่ รู้จักใช้ทรัพย์ให้เป็นแล้วก็
๕. ขยันทำงานขยันขันแข็งทำงานบ้าน ไม่เอาแต่กินกับนอน เที่ยวเล่นการพนัน
คุณสมบัติของคู่สร้างคู่สมเป็นคู่ชีวิตที่จะอยู่กันด้วยความยืดยาวยาวนานมั่นคงถาวรนั้น คือว่าพื้นฐานอันมั่นคงจะทำให้ชีวิตคู่ยืนยาวมีความสุข คือคู่สามีภรรยาต้องมีสมชีวิธรรม ธรรมที่มีความดำรงชีวิตอยู่เสมอกัน ๔ อย่าง
อย่างแรก “สมสทฺธา” มีศรัทธาเสมอกัน ได้แก่ มีหลักการ มีความเชื่อมั่นในการนับถือ อย่างเช่นนับถือพระพุทธศาสนานี้ ก็นับถือเหมือนกัน ปฏิบัติเหมือนกัน มีเป้าหมายชีวิตเหมือนกัน ถ้ายิ่งเป็นชีวิตคู่ที่มีศีลเสมอกัน มีอะไรเสมอกันแล้วนี้จะดีมาก
๒. “สมสีลา” มีศีลเสมอกัน ได้แก่ มีความประพฤติศีลธรรมจรรยากิริยามารยาทอบรมมาตีเสมอกัน
๓. “สมจาคา” มีจาคะเสมอกันได้แก่ มีนิสัยเสียสละชอบช่วยเหลือไม่เห็นแก่ตัวใจกว้างเสมอ แล้วก็
๔. “สมปญฺญา” มีปัญญาเสมอกัน ได้แก่ มีเหตุมีผลมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ดื้อด้านดันทุรัง เข้าใจกัน เห็นอกเห็นใจกัน พูดกันรู้เรื่อง
เพราะฉะนั้น คู่ชีวิตที่มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีความเสียสละเสมอกัน มีปัญญาเสมอกันนี้นับเป็นมงคลมาก เพราะการที่จะได้คู่ที่ดีไม่ใช่ว่า เป็นเรื่องบังเอิญ มันมีอย่างหนึ่งที่เรียกว่าบุพเพสันนิวาส ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าการที่คนจะอยู่ชีวิตครองคู่กันได้ อย่างแรก ปุพเพวะ สันนิวาเสนะ ด้วยการอยู่ร่วมกันในกาลก่อนคือเรื่องบุพเพสันนิวาส ในอดีตชาตินั้นเคยครองคู่กันมา เป็นคู่บารมีกันมา เป็นคู่บุญคู่สร้างคู่สมกันมา นี่คือเรื่องของบุพเพสันนิวาส ประการต่อมาก็คือ ปัจจุปปันนะหิเตนะวา การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในปัจจุบัน สองเหตุนี้ทำให้ชีวิตคู่อยู่ได้นาน จึงทำให้คนบางคนนี้เจอหน้ากันรู้สึกว่าเหมือนกับรู้จักเหมือนกับเป็นคนคู่ ปิ๊งกันทันทีอย่างนี้ แต่ทำไมบางคนมองดูเฉยๆ บางทีเกลียดซะอีก พระพุทธเจ้าก็บอกให้ฟังอย่างนี้แหละ เพราะบุพเพสันนิวาสประการหนึ่ง เพราะการอาศัยเกื้อกูลดูแลกันในปัจจุบันอย่างหนึ่ง เอวันตัง ชะยะเต เปมัง อุปปะลังวะ ยะโถทะเก เปรียบเสมือนกับดอกอุบล ก็คือดอกบัวที่จะเกิดได้นี้ต้องอาศัยโคลนตมอย่างหนึ่งและน้ำอย่างหนึ่งจึงจะเกิดขึ้นมาได้ ความรักก็เช่นเดียวกันนี้ อาศัยบุพเพสันนิวาสอย่างหนึ่งแล้วก็การที่ทำดีต่อกันในปัจจุบันสองอย่างนี้
การดูแลกันและกันหมายถึงต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบ ความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญ สามีภรรยาคือผู้บำเพ็ญบารมีร่วมกัน ต่างคนก็ต่างดูแลกัน ร่างกายแข็งแรง ต่างคนก็ต่างดูแลกัน มีอุดมการณ์ไปพร้อมๆกันในการที่จะประพฤติปฏิบัติเรียกว่าคือผู้ที่เดินไปพระนิพพานพร้อมๆ กัน มีอุดมการณ์พร้อมกัน มีภรรยาเดียวมีสามีเดียว ต้องทำให้ได้เช่นนี้ ตัดสิ่งภายนอกออกไปไม่คิด ไม่คิดไปชอบผู้หญิงอื่นผู้ชายอื่นเพราะว่าเรามีภรรยาคนเดียวสามีคนเดียวก็เพียงพอแล้ว เมื่อยังหนุ่มๆ รูปหล่อๆ ยังสาวยังสวย แต่เมื่อแก่เฒ่าไปร่างกายมันก็ไม่สวยไม่หล่อ แต่ความดีนี้ มันจะอยู่ยาวตลอดไป มันจะอยู่คงทนตลอดไปเพราะว่ารูปกายภายนอกนี้ มันไม่ทนมันไม่ถาวร ต่อให้สวยต่อให้หล่อขนาดไหน วันหน้าก็คือยายแก่ตาแก่ในอนาคต ที่ว่า “อาหมวยในวันนี้คืออาซิ้มในวันหน้า คืออาม่าในอนาคต” เพราะฉะนั้น ความจริงคือคุณธรรม คุณธรรมความดีที่จะประสานชีวิตคู่ให้อยู่กันอย่างยาวนาน ดังนั้น ถ้าหากมองกันแต่รูปภายนอก แล้วก็มาอยู่กินกัน พอความสวยความหล่อหมดไป สุดท้ายไปมีเล็กมีน้อยไปหาเศษหาเลยนอกบ้าน แบบนี้ครอบครัวก็มีปัญหาเพราะไม่ได้อยู่กันด้วยสังคหะธรรม ไม่ได้อยู่กันด้วยธรรมะ สุดท้ายปัญหาตกอยู่ที่ลูก ลูกเป็นคนมีปัญหา พ่อแม่ทะเลาะกัน ครอบครัวไม่อบอุ่น
ดังนั้นแล้ว ให้เราเข้าใจ อย่าไปทำแบบว่ามีปัญหา พอมีปัญหาแล้วครอบครัวแตกแยก ลูกๆ ก็ไม่ดูแลพ่อแม่ ไปทำธุรกิจหน้าที่การงาน มีลูกมีภรรยาแล้วทิ้งพ่อทิ้งแม่แบบนี้ก็ไม่ได้ พ่อแม่สองคนหรือว่าคนเดียว ลูกเป็น ๗ คน ๑๐ คนพ่อแม่ยังเลี้ยงได้ แต่พ่อแม่แค่ ๒ คนหรือว่าอาจจะตายไปเหลือคนเดียวนี้ก็ต้องเลี้ยงให้ได้ ช่วยกันเลี้ยง ต้องให้ทั้งธรรมะทั้งสิ่งของ เรื่องจิตเรื่องใจนี้สำคัญ ถ้าเราเป็นคนดี ผู้ที่เกี่ยวข้องก็มีความสุข
สิ่งที่ผ่านๆ มานี้ ต้องให้เน้นที่ปัจจุบัน ต้องเน้นพัฒนาใจแล้วก็การพัฒนางาน หยุดอบายมุข ต้องตั้งอยู่ในธรรมะ อยู่ในศีล ๕ ไม่อย่างนั้นมันจะไปไม่ได้ ต้องเน้นอริยมรรค หน้าที่ของผู้ที่อยู่ในวงศ์ตระกูลในครอบครัว ปัญหาการดำรง ชีวิตก็จะราบรื่น ไม่ให้เอาตัวตนเป็นหลัก ให้เอาธรรมะเป็นหลัก สามีจะเคารพภรรยาได้เพราะภรรยามีศีล ภรรยาจะเคารพสามีได้ก็เพราะสามีมีศีล ไม่ทำบาปทั้งปวง ถ้าเราขยันเสียสละประหยัดซื่อสัตย์กตัญญูกตเวที ไม่มีอบายมุข การดำรงชีพมันก็ไม่ยากจน ต้องมีศีลมีธรรมในตัวเองในชีวิตประจำวัน เพราะเราต้องเป็นตัวอย่างแบบอย่างให้กับลูกหลาน เพื่อลูกหลานจะได้มีทั้งทรัพย์ภายนอกแล้วก็ทรัพย์ภายในคืออริยทรัพย์ไปพร้อมๆ กัน เพราะมีพ่อแม่ดีเป็นตัวอย่าง เราจะได้มีข้อวัตรข้อปฏิบัติอยู่ในกฎ การกระทำในชีวิตประจำวันความรับผิดชอบให้ตัวเองถึงเป็นเรื่องที่สูงร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่าให้ขาดตกบกพร่อง ดูแล้วประชาชนคนในครอบครัวอยู่ในสังคมมันไม่ค่อยสมบูรณ์ มันเลยมีปัญหา การประพฤติการปฏิบัติมันก็เป็นภูมิคุ้มกันตัวเองได้ ต่อต้านไวรัสคืออบายมุข อบายภูมิที่จะนำตัวเองไป สู่ทางตกต่ำ ต้องรับผิดชอบให้ดีขึ้นสูงขึ้น ตั้งมั่นในพระรัตนตรัยให้มากขึ้น เอาศีลสมาธิปัญญามาประพฤติมาปฏิบัติ จะมัวประมาทไม่ได้
เราต้องเป็นพระในบ้านในครอบครัวได้แก่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี คือใจเป็นพระ ถึงแม้กายจะเป็นฆราวาส เราจะเอาแต่ทางโลกทางวัตถุเอาแต่บริโภคอย่างนี้ไม่ได้ เพราะว่าเราไม่มีปัญญาสัมมาทิฏฐิ ก็จะได้แต่ความรวย ได้แต่สวรรค์ แต่นิพพานเราไม่ได้ การประพฤติปฏิบัติมันต้องกระชับมาอย่างนี้ ครอบครัวเราถึงจะเกิดความอบอุ่นระหว่างสามีภรรยาพ่อแม่ลูกหลาน ทุกคนพากันพลาดโอกาส ทำให้เสียเวลาที่ไม่เข้าใจหลักการครอบครัว ครอบครัวเราก็จะรู้ ในใจทุกคนต้องทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ รู้หน้าที่ของตัวเอง ไม่ปล่อยให้ครอบครัวลอยแพไปตามสิ่งแวดล้อม แล้วไปอาศัยแต่คนอื่น อาศัยพ่อ อาศัยแม่ อาศัยสังคมสิ่งแวดล้อม อาศัยรัฐบาล อย่างนี้ไม่ได้ เราทุกคนต้องพากันประพฤติพากันปฏิบัติเอง เราอาศัยคนอื่นแสดงว่าเรายังไม่แข็งแรง ความประพฤติของเรายังเป็นเปรตอยู่ คอยรับส่วนบุญของคนอื่น เราต้องสร้างขึ้นมาด้วยลำแข้งด้วยสติด้วยปัญญาด้วยภาคประพฤติด้วยภาคปฏิบัติด้วยหนึ่งสมองสองมือนี้ โดยที่เป็นผู้ให้เป็นผู้ที่เสียสละไปพร้อมๆ กัน อย่าไปคอยหวังประโยชน์จากคนอื่นเหมือนที่สังคมเป็นกันอยู่นี้ ต้องอาศัยความคิดดีๆ กิริยามารยาทดีๆ พูดดีๆ การกระทำดีๆ ทุกอย่างมันเกิดจากการเสียสละ น้ำพักน้ำแรงของเราเกิดจากศีล เกิดจากสมาธิ เกิดจากความตั้งมั่น เกิดจากปัญญาในปัจจุบันที่เป็นมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติในปัจจุบัน ใจของเราจะได้ตั้งมั่น เราไปหาความสุขความสงบจากที่อื่นนี้ถือว่าไม่ใช่การประพฤติการปฏิบัติ ต้องเกิดจากร่างกายจิตใจ เกิดที่กายเกิดที่ใจ ทุกท่านทุกคนต้องกลับมาหาสติสัมปชัญญะ หายใจเข้าให้สบายหายใจออกให้สบาย ลำบากกายไม่เท่าไหร่ อย่าให้มันเหนื่อยใจ เหนื่อยใจก็เพราะว่าเราไม่ได้เสียสละซึ่งตัวซึ่งตน เราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน เป็นคนไม่ขยัน ไม่รับผิดชอบ ไม่มีความสุขในความขยันอดทนแล้วก็ย่อมเป็นผู้ที่เหนื่อยใจ คำว่าเหนื่อยหมายถึงว่าเรามีความยึดมั่นถือมั่น ใจของเรามันเลยเหนื่อย ใจของเราเลยเป็นโน่นเป็นนี่ ให้ทุกคนกลับมาแก้ไขตัวเอง มากลับจิตกลับใจ กลับกายกลับตัว กลับหางกลับหัว กลับชั่วให้เป็นดี เพื่อที่จะได้ประพฤติสังคหะธรรมต่อกันและกันระหว่างสามีภรรยา ชีวิตคู่จึงจะเป็นชีวิตที่มีความสุขอยู่ในวงจรของศีลของธรรม เพื่อที่จะสร้างมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติจนกระทั่งถึงนิพพานสมบัติ จะเห็นได้ว่าคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ ได้วางไว้อย่างเหมาะสมต่อเหตุการณ์ไม่ล้าสมัย เรานำมาประพฤตินำมาปฏิบัติก็เกิดความเจริญแก่ครอบครัว ทำให้มีความสุขยิ่งขึ้น ดังนั้น มงคลของพระพุทธเจ้าในข้อนี้ จึงเป็นมงคลที่จะสามารถสวมใจของทั้งสองให้อยู่กันชั่วนิรันดร์
ต่อไป มงคลข้อที่ ๑๔ “อนากุลา จ กมฺมนฺตา” การงานไม่คั่งค้าง ความจริงแล้วการทำงานกับคนเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ งานคือชีวิต ชีวิตคืองานบันดาลสุข ทำงานให้สนุกเป็นสุขขณะทำงาน เมื่อเราเกิดมาเป็นคนแล้วจำเป็นเหลือเกินที่ต้องทำงาน แต่ก็ยังมีบางคนเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองนั้นไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงาน แต่เกิดมาเพื่อจะกินจะนอนเฉยๆ ถ้าคิดอย่างนั้นก็เหมือนกับคนที่ตายไปแล้ว มีชีวิตอยู่ก็เหมือนกับคนที่ตายไปแล้ว ตายจากการเสียสละ ตายจากการทำงาน เพราะคนตายไม่ต้องทำงาน นอนตั้งแต่วันยังค่ำยันรุ่งก็ยังได้เพราะคนตาย ดังนั้น คนเป็นจึงต้องทำงาน แท้จริงแล้วการงานเป็นสมบัติของคน คนที่มีงานก็คือคนที่มีสมบัติ ตรงกันข้าม คนที่ไม่มีงานคือคนไม่มีสมบัติแต่เป็นคนวิบัติ ดังนั้น คนที่วิบัติเพราะไร้งานหรือเพราะมีความขี้เกียจขี้คร้านไม่ทำงานจึงเป็นคนที่อาภัพน่าสงสาร เพราะว่าหลักฐานที่พิสูจน์คนว่าดีหรือไม่ดีอยู่ที่การทำงาน โรงงานทุกแห่งก็คือโรงทำเงินทำเกียรติยศชื่อเสียงให้แก่ตัวเอง การงานนั้นเป็นอุดมการณ์ของมนุษย์ที่รักจะครองชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์ที่มีการงาน เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เพราะการทำงานตามปกตินี้ย่อมสร้างกำลังกาย สร้างกำลังใจ สร้างกำลังสติ กำลังสมาธิ กำลังปัญญา สร้างความเจริญ สร้างความสุขให้แก่ชีวิตในโลก ทำให้ชีวิตสูงด้วยค่า ตรงข้ามคนขี้เกียจขี้คร้านไม่เอาการไม่เอางานจึงเป็นคนที่โง่อ่อนแอไม่มีเรี่ยวแรงเป็นคนรกโลก
ด้วยเหตุที่ความสำคัญของกิจการงานนั้นเป็นความสำคัญของชีวิต ด้วยเหตุนี้มงคลข้อนี้พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงชี้ไปที่ว่า ความเป็นมงคอยู่ที่การทำงาน แล้วก็ทำงานให้สำเร็จ ไม่ใช่คั่งค้าง พระพุทธเจ้าของเราทรงเป็นตัวอย่างของคนทำงานที่เด่นที่สุดเลยในระยะเวลา ๒,๕๐๐ ปีกว่ามานี้ ยังไม่มีผู้ใดทำงานได้เกินกว่าพระพุทธเจ้า แต่ไม่ใช่งานในชาติเป็นพระพุทธเจ้า งานในการสร้างบารมียาวนานหลายล้านชาติ ยี่สิบอสงไขยแสนมหากัป ในพระชาติที่เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงทำงานนับตั้งแต่วันที่ตรัสรู้ ๔๕ ปีในการทำงานไม่เคยว่างเว้นแม้แต่วินาทีเดียว ไม่ปล่อยเวลาให้ไปกับความไร้ประโยชน์ กิจก็คือการทำงานของพุทธเจ้าที่เรียกว่าพุทธกิจนี้ มีอยู่ ๕ อย่างทำซ้ำๆ กันทุกวันเหมือนเข็มนาฬิกา เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต “ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ” เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาตแสดงธรรม แล้วก็สอนพระบ้าง เวลาเย็น “สายณฺเห ธมฺมเทสนํ” เวลาเย็นแสดงธรรมโปรดมหาชนก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน เพราะเวลาก่อนพระอาทิตย์จะตกดินคนก็กลับบ้านกัน เวลาค่ำพระองค์ก็สอนพระพระภิกษุภิกษุณี จนกระทั่งถึงประมาณสี่ทุ่ม พอถึงมัชฌิมายาม ประมาณสี่ทุ่ม ห้าทุ่ม เที่ยงคืน ดีหนึ่ง ตีสองนี้ เป็นช่วงเวลาที่พระองค์โปรดเทวดา ตอบปัญหาเทวดา “อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ” หลังจากนั้นก็จะทรงบรรทมประมาณ ๔ ชั่วโมง เวลาจวนสว่างตื่นบรรทมแล้ว “ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ” ก็ตรวจดูสัตว์โลกแผ่ข่ายเครือพระญาณออกไปว่าวันนี้จะไปสอนใครจะไปโปรดใครดี บุคคลที่สอนนี้ต้องเป็นเวไนยสัตว์คือผู้ที่ควรแก่การตรัสรู้ ถ้าไม่ใช่เป็นเวไนยสัตว์ ก็แค่เดินสวนไปสวนมานี้ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะพระพุทธเจ้าไม่ใช่จะสอนให้ทุกคน สอนได้เฉพาะคนที่เป็นเวไนยยะคือ พอจะแนะนำได้ มีจิตน้อมที่จะฟัง อย่างนี้เป็นต้น
ตลอด ๔๕ พรรษา พระพุทธเจ้าทำอย่างนี้ตลอดทุกๆ วันไม่เคยหยุด นับว่าเป็นคนทำงาน เป็นตัวอย่างของการทำงานในหน้าที่ของพระพุทธเจ้าจนกระทั่งประดิษฐานพระพุทธศาสนาได้อย่างมั่นคง ตั้งพระทัยว่าตราบใดที่พุทธบริษัททั้ง ๔ ยังไม่มั่นคงจะไม่ปรินิพพาน เมื่อพระศาสนาได้ประดิษฐานมั่นคงแล้วจึงจะปรินิพพาน การทั้งปวงก็เป็นไปตามที่พระพุทธองค์ตั้งไว้ทุกประการ ดังนั้น มงคลชีวิตข้อที่ว่าการทำงานไม่คั่งค้างเป็นมงคลนี้ ซึ่งข้อนี้พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า อนากุลา จ กมฺมนฺตา “อนากุลา” แปลว่าไม่อากูล ก็คือ ว่าไม่คั่งค้าง ที่ว่าค้างหมายความว่าคนนี่แหละทำให้มันค้าง ไม่ใช่หมายความว่างานที่ทำต่อกันแต่ยังไม่เสร็จ คืองานบางอย่างจะต้องอาศัยปัจจัยและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งผู้ทำจำเป็นจะต้องรอ การทำงานอย่างนี้ไม่เรียกว่างานคั่งค้าง การทำงานแบบนี้เป็นนิสัยของคนจำพวกหนึ่งซึ่งแรงใจมีไม่พอจะทำงาน ทำงานแล้วก็ทิ้งลงกลางคัน ทำงานไม่ถึงที่แต่ว่าทิ้งไปซะก่อนแล้วก็ไปทำงานใหม่ต่อไป ไปคว้างานใหม่มาทำก็ทำไม่เสร็จอีกเหมือนกัน ก็คือเป็นคนดีแต่ต้นๆ แต่พอทำงานจริงๆ แล้วไปไม่รอด มีนิสัยทิ้งๆขว้างๆก็เพราะว่าเป็นนิสัยจับจดของตัวเอง ทำอะไรก็ไม่เสร็จสักอย่าง สานกระด้งไว้หน่อยแล้วก็ทิ้งไปสานกระจาดอีกนิด แล้วก็ไพล่ไปทอกระสอบแล้วก็ทิ้งอีกเหมือนกัน สรุปแล้ว ไม่ว่าจะสานกระจาดก็ไม่เป็นกระจาด กระด้งไม่เป็นกระด้ง กระสอบไม่เป็นกระสอบ นี่แหละคืองานคั่งค้าง
“บุคคลใดไม่คำนึงถึงหนาวร้อน อดทนให้เหมือนหญ้า กระทำกิจที่ควรทำด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย บุคคลนั้นย่อมไม่เสื่อมจากสุข”
เหตุที่ทำให้งานคั่งค้าง ท่านบอกว่า
๑. ทำงานไม่ถูกกาล ยังไม่ถึงเวลาทำก็ใจร้อนด่วนไปทำแต่พอถึงเวลาทำกลับไม่ทำเช่น ตอนแดดออกมัวไปถูบ้าน พอฝนตกกลับไปซักเสื้อผ้า ตากเท่าไหร่มันก็ไม่แห้ง หรือตอนเด็กไม่ยอมเรียนหนังสือ เที่ยวสำมะเลเทเมาติดเพื่อนติดฝูงติดยา พอแก่เฒ่าจะมาเรียนมันก็ไม่ไหวแล้ว กศน. ก็ไม่รอด เป็นต้น
๒. ทำงานไม่ถูกวิธี ทำผิดขั้นผิดตอนผิดลำดับ เช่นว่าจะทำความสะอาดบ้านนี้ ไปกวาดพื้นก่อนแล้วก็ไปกวาดเพดานทีหลัง ฝุ่นผงก็ตกลงมาก็ต้องกวาดใหม่อีก อย่างนี้เป็นต้น ก็คือทำงานไม่ถูกวิธี แล้วก็
๓. ไม่ยอมทำงาน อันนี้หนักเลย ชอบผลัดวันประกันพรุ่งหรือว่าหาเหตุต่างๆ นานามาอ้าง เช่นว่า รอฤกษ์รอยามก่อน ดูดวงก่อน รอวันธงชัย วันอธิบดีก่อน วันนี้ไปไม่ได้ มีอะไรคำโบราณเขาว่า ศูนย์หนึ่งอย่าพึงจร แม้รานรอนจะอัปราศูนย์สองเร่งยาตราอะไร คำกลอนโบราณ เพราะอย่างนั้นไม่ได้ออกทำงานสักที ไม่ได้ออกบ้านสักที บางทีก็จะก้าวเท้าไหนก่อน ใช้สีไหนก่อน สุดท้ายมัวแต่มองมงคลภายนอกไม่ทำสักที พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ชัดเจนแล้วว่าถ้าเราทำความดีเมื่อไหร่ นั่นแหละมันคือฤกษ์ดียามดีมงคลดีสว่างดีรุ่งเรืองดีขณะดี ทำไปเลยประโยชน์ย่อมเป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง เพราะว่ามันดีตลอดถ้าเราทำดี พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า”ประโยชน์ย่อมล่วงเลยคนโง่ผู้มัวรอฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาวจะทำอะไรได้” พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้
วิธีทำงานให้เสร็จก็คือหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้คืออิทธิบาท ๔ เพราะชื่อบอกอยู่แล้ว อิทธิปาทะ-ทางแห่งความสำเร็จ อิทธิบาท ๔ ฉันทะ-ความรักในงาน ทำด้วยความเต็มใจ จะทำอะไรต้องมีฉันทะ ฉันทะไม่ใช่โลภแต่ว่าพอใจในสิ่งที่จะกระทำ แม้จะทำงานหรือแม้กระทั่งจะปฏิบัติธรรมก็ต้องมีฉันทะในการปฏิบัติ มีฉันทะในการทำข้อวัตรกิจวัตร มีฉันทะในการรักษาศีล ต้องมีฉันทะถึงจะไปต่อได้ วิริยะ-ใส่ความเพียรเข้าไปๆ ไม่ย่อท้อ จิตตะ-เอาใจใส่ตั้งใจทำ วิริยะเป็นเหมือนกับแรงขับเคลื่อน จิตตะใส่ใจเข้าไป แล้วก็สุดท้าย วิมังสา-พินิจพิเคราะห์ มีความเข้าใจในการกระทำ “ฉันทะสนใจใฝ่เรียนรู้ วิริยะเพียรสู้ไม่ท้อถอย จิตตะใส่ใจไม่เลื่อนลอย วิมังสาคอยใช้ปัญญาสำรวจตน” คนที่ทำงานด้วยปัญญานั้นจะต้องทำให้ถูกกาล ไม่ทำก่อนหรือว่าหลังเวลาอันควร แล้วก็ต้องทำให้ถูกลักษณะของงาน สรุปแล้ว วิธีการทำงานให้สำเร็จล้วนขึ้นอยู่กับใจทั้งสิ้น คือต้องเต็มใจทำฉันทะ วิริยะแข็งทำใจ จิตตะตั้งใจทำ วิมังสาเข้าใจทำ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องภายนอกเลย
อิทธิบาท ๔ นี้เป็นเรื่องของใจ เต็มใจทำ แข็งใจทำ ตั้งใจทำ เข้าใจทำ วิธีการฝึกฝนใจนี่คือวิธีนี้ดีที่สุด แล้วก็ต้องมาพัฒนาอีกว่าต้องเป็นผู้เสียสละแล้วก็ต้องทำตนให้มีศีลมีสมาธิเพื่อจะได้ผ่อนคลายจิตใจ เป็นที่พักของใจ แล้วก็ทำให้เกิดปัญญาพิจารณาเห็นผลของงานได้ รู้และเข้าใจวิธีการทำงาน มีกำลังใจมีใจจดจ่ออยู่กับงานไม่วอกแวก อุปสรรคอย่างใหญ่หลวงในการทำงานให้เสร็จแล้วมันทำไม่เสร็จ ก็คือทางแห่งความเสื่อม ๖ ประการ อบายมุข ๖ นี่เองที่พูดมาหลายรอบ เทศน์หลายรอบเรื่องอบายมุขนี้ กินเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน ขี้เกียจขี้คร้าน คบคนชั่วเป็นมิตร ๖ ประการนี้ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ
อบายแปลว่าความเสื่อมความฉิบหาย ส่วนคำว่า ”มุข” แปลว่าปาก แปลว่าหน้าก็ได้ แปลว่าทางก็ได้ ปากทางแห่งความเสื่อม อบายมุขแปลว่าปากทางแห่งความเสื่อม เนื่องจากมันเป็นปากทาง ส่วนตัวความเสื่อมจริงๆ นั้นอยู่ที่ปลายทาง เมื่อมองเพียงผิวเผิน เรามองไม่เห็นหรอก มองไม่เห็นความเสื่อมด้วยตาเนื้อ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ท่านผู้รู้ผู้มีปัญญาพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านมองเห็น ถ้าจะดูกันแต่ปากทางแล้ว มันมองไม่เห็นหรอกว่ามันเสื่อมตรงไหน มีแต่ความเจริญด้วยซ้ำไป เหมือนปากทางที่จะเข้าไปในคุกเป็นถนนราบเรียบ ถนนก็ดี ประตูก็ดี รั้วก็ดี แต่ปลายทางมันเป็นคุกที่มันกักขังที่มันทรมาน ปากทางที่จะตกลงไปในบ่อก็เป็นพื้นดินเรียบสะอาดแต่ก้นบ่อมันมีน้ำที่จะทำให้ผู้ตกลงไปนี้จมหรือว่าสำลักน้ำตาย ปากทางที่จะตกลงเหวก็เป็นป่าหญ้างามดีสวยงามวิวก็สวยแต่ก้นเหวลึกมากทำให้คนตกไปตายแน่นอน จะเห็นว่าปากทางดูผิวเผินมันก็สวย มันก็งาม มันก็ราบมันก็เรียบเหมือนโปรยด้วยกลีบกุหลาบแต่พอตกลงไปแล้วนี้เจียนตาย ฉันใดฉันนั้น อบายมุขซึ่งมันเป็นปากทางแห่งความฉิบหายนี้ดูเผินๆ ก็ไม่มีพิษสงอะไร เที่ยวกลางคืนก็สนุกดี กลับตีหนึ่งตีสอง บางทีกลับยันรุ่งกลับยันสว่าง แล้วก็ทำโน่นทำนี่ต่อ เล่นการพนันมันก็เพลินดี ได้ฝึกสมองประลองปัญญา แต่ก็ทำให้ผู้ประพฤติตามทำงานไม่สำเร็จ เสื่อมไปจากความก้าวหน้า เสื่อมไปจากความดีทั้งหลายโดยเฉพาะกินเหล้า กินเหล้าทำไมจัดเป็นองค์ของศีล ปกติคนร่างกายพิกลพิการก็รักษาศีลได้ถึงแม้จะขยับเขยื้อนกายไม่ได้ จะเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตรักษาศีลได้เพราะสติยังดี แต่เมื่อใดที่กินเหล้าเข้าปากเข้าไปแล้วสติมันหายหมด สติหายหมดมีแต่ความเมา มีแต่ความหลงจะไปฆ่าก็ฆ่าได้ ลักขโมยก็ทำได้ โกงกินก็ทำได้ ผิดลูกผิดเมียเขานี้ง่ายเลย แล้วปากอีก พอสติไม่อยู่กับเนื้อกับตัวปากมันหลุดหมด จะพูดโกหกก็ได้ พูดเท็จพูดส่อเสียดพูดเพ้อเจ้อได้หมด เพราะฉะนั้น ทางแห่งความเสื่อมเหล่านี้ต้องหลีกเลี่ยงเพราะมันเป็นสัญลักษณ์มันเป็นปากทาง ใครไปยุ่งนี้ รู้ทันทีเลยว่าปลายทางมันเสื่อมแน่นอน เสื่อมเห็นๆ เสื่อมทรัพย์เสื่อมคนนับถือ สุดท้ายเสียเงินเสียทองแล้วก็ตกอบายภูมิ
พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ว่าฐานะ ๕ อย่าง คือ ชอบนอน ชอบคุย ความไม่หมั่นก็คือไม่ขยัน ความขี้เกียจขี้คร้านแล้วก็ความโกรธง่าย ผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นทางแห่งความเสื่อม เพราะคนถึงพร้อมด้วยฐานะ ๕ อย่างนั้น เป็นคฤหัสถ์ก็ไม่ถึงความเจริญของคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิตก็ไม่ถึงความเจริญของบรรพชิต ย่อมเสียหายแต่ฝ่ายเดียว ย่อมเสื่อมฝ่ายเดียวแน่แท้ ชอบนอนชอบคุยไม่ขยันขี้เกียจขี้คร้านโกรธง่าย นิททาสีลี สะภาสีลี ที่สวดกันอยู่ในปราภวสูตร พระนี้จะดูความ ก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้าก็ดูความรับผิดชอบ การงานไม่ค้างคา คนรับผิดชอบสูงจะทำอะไรก็จะเห็นความสำคัญ การงานก็จะไปได้ด้วยดีไม่ค้างไม่คา การงานเราต้องไม่ค้างคาเพราะศักยภาพของแต่ละคนอยู่ที่การงานไม่ค้างคา อย่างโครงการของราชการบางแห่งเป็นเดือนๆหลายเดือนยังไม่คืบหน้า อันนี้เรียกว่างานค้างคา เอกชนเขาทำไว อย่างนี้เป็นต้น เรื่องต่างๆ มันค้างคา ค้างคาด้วยความเห็นแก่ตัวด้วยผลประโยชน์จะกินอย่างเดียว แบบนี้จึงทำให้นำสังคมนำประเทศไปไม่ได้ นำตัวเองไปไม่ได้ ต้องทำงานด้วยจิตว่าง ถึงเวลาหยุดต้องหยุดเพราะการงานคือความสุข ความเสียสละอย่าให้มันค้างคา งานที่ทำงานอย่าเอาเข้ามาในบ้าน บางทีไปโกรธไปเกลียดใครที่ทำงาน กลับบ้านไม่หยุดเอามาต่อที่บ้านอีก เอามาลงกับลูกกับเมีย ด่าภรรยาหรือด่าสามีด่าลูก อย่าเอามา งานก็ให้มันจบที่ทำงาน กลับมาบ้านก็ต้องวางให้ได้ การงานค้างคาหมายถึงว่าจิตเราไม่ว่าง คนเราจะไม่ว่างมันก็อยู่แต่กับอดีต อยู่กับกรรมเก่า กรรมเก่าของเรานี่แหละมันคืออดีต แม้จะผ่านไปเพียงชั่วโมง มันก็คืออดีต ถึงจะรับผิดชอบเก่งแต่การงานค้างคา เอาความ เครียดกลับมาบ้านแล้วก็ไปทะเลาะกับลูกกับเมีย อย่างนี้ไม่ดี อย่าทำเช่นนั้น
ปัจจุบันต้องดี ต้องทิ้งอดีตให้เป็นศูนย์ อนาคตก็คือปัจจุบันนี่แหละ ปัจจุบันมันจะเป็นอดีตที่ดีและเป็นอนาคตที่ดี เดินไปทีละก้าว จิตต้องเข้าถึงความว่าง เราอยู่แต่กับความเครียด ไม่ได้อยู่กับปัจจุบันมันก็ไม่มีความสุข จะเป็นนักวิชาการที่เป็นโรคจิตโรคประสาท มันไม่ได้ละวาง ไม่ได้วางขันธ์ ๕ ไม่ได้วางความยึดมั่นถือมั่น ไม่ได้เป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม ปัจจุบันต้องเต็มที่ต้องมีความสุข ดินที่พอกหางหมูนี้มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นๆแล้วก็ถ่วงหมูให้กินอยู่กับที่ หลับนอนอยู่กับที่ไม่เป็นสุขยิ่งๆ ขึ้นไปฉันใด การปล่อยที่ปล่อยทิ้งไว้คั่งค้างก็มีแต่จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นแล้วก็ถ่วงความเจริญก้าวหน้าทั้งแก่ตนเองและก็หมู่คณะฉันนั้น
ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน หากปล่อยการงานให้คั่งค้างก็เท่ากับว่ากำลังทำลายค่าของตนเอง เมื่อบุคคลนี้ปรารถนาปรารภจะทำอะไรแล้วพึงกระทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะสิ่งเหล่านี้จะถ่วงความเจริญ ก้าวหน้าในชีวิตของเราเหมือนดินพอกหางหมูไม่เกิดประโยชน์อันใด ควรที่เราจะเร่งรีบขวนขวายทำงานให้สำเร็จสมบูรณ์จะได้เป็นอุปนิสัยติดตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ เมื่อตัดสินใจทำอะไรต่อไปจะได้ไม่ต้องมาห่วงหน้าพะวงหลังเพราะเรายังมีงานหลักเป็นงานสำคัญที่กำลังรอเราอยู่ งานหลักที่แท้จริงก็คือการประพฤติปฏิบัติเพื่อละตัวละตน ละลายภพชาติตัดวัฏสงสาร ทำพระนิพพานให้แจ้ง ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “โกสชฺชํ ภยโต ทิสฺวา วิริยารมฺภญฺจ เขมโต อารทฺธวิริยา โหถ เอสา พุทฺธานุสาสนี” ท่านทั้งหลายจงเห็นความเกียจคร้านว่าเป็นภัยและเห็นการปรารภความเพียรว่าเป็นความปลอดภัย แล้วปรารภความเพียรกันเทอญ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธ เจ้าทั้งหลาย
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาให้ทุกท่านปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย ปราศจากการงานคั่งค้างออกไป เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติทุกท่านทุกคนเทอญ