แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันเสาร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานจิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๑๐ การเลี้ยงกายเลี้ยงใจพ่อแม่และการเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล วันนี้ขึ้นมงคลข้อที่ ๑๑-๑๒
มงคลข้อที่ ๑๑ “มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ” การบำรุงมารดาบิดา
ในมงคลข้อนี้ ท่านได้ให้เลี้ยงดูมารดาบิดาให้เป็นสุข ซึ่งตามพระบาลีก็กล่าวไว้ชัดเจน นั่นก็คือว่า “มาตาปิตุ” มาตา ก็คือ มารดา “ปิตุ” ก็คือ บิดา “อุปฏฺฐานํ” ก็คือ การบำรุง การเลี้ยง การดูแล การบำรุงมารดาบิดาให้เป็นสุข ในภาษาธรรมของเราใช้คำนี้อยู่ ๔ คำคือ ชนก ชนนี มารดา แล้วก็บิดา ซึ่งคำเหล่านี้มีความหมายที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจ แล้วก็แต่ละคำนี้ บ่งบอกถึงหน้าที่ คำว่าชนก ก็เคยได้ยิน “ชนะกะ” หรือว่า “ชนก” แปลว่าชายผู้ให้กำเนิด คำว่า “ชนนี” แปลว่าหญิงผู้ให้กำเนิด คำสองคำนี้ แม้จะได้รับการเทิดทูนในภาษาไทยว่าเป็นคำสูง แต่มูลศัพท์เดิมนี้ที่มีความหมายทางธรรมะ ก็คือ เป็นคำบอกชื่อของพ่อแม่ในขั้นธรรมชาติที่เป็นผู้ให้กำเนิด ชนกก็คือฝ่ายชายที่เป็นผู้ให้เกิด แล้วก็ชนนีก็คือเป็นผู้หญิงที่ให้กำเนิด ยังไม่ได้ถึงขั้นคุณธรรม แต่ว่าเป็นลักษณะทางธรรมชาติ คนผู้ถูกเรียกนั้นก็คือเป็นคนที่ทำให้ลูกเกิดขึ้นมาเท่านั้นเอง ส่วนคำว่า ”มารดาบิดา” แปลว่าผู้เลี้ยงลูก “บิดา”หมายถึงชายที่ได้เลี้ยงลูก “มารดา” ก็หมายถึงหญิงที่ได้เลี้ยงลูก บิดามารดาเป็นภาษาสันสกฤต มาจากคำภาษาบาลี ก็คือว่า “มาตาปิตุ” คำสองคำนี้ เป็นคำที่แสดงถึงคุณธรรมของพ่อของแม่อย่างครบถ้วน ดังนั้น เมื่อคำทั้ง ๔ มีความหมายแตกต่างกันเช่นนี้ คำที่น่าภูมิใจที่สุดก็ได้แก่คำว่ามารดาบิดานั่นเอง ทั้งนี้เพราะว่ากล่าวถึงคุณธรรม ก็คือหน้าที่ของผู้เป็นพ่อเป็นแม่
ธรรมนั้นมีอยู่ ๒ ขั้น สภาวธรรมกับคุณธรรม ทั้งสองนี้มีความหมายแตกต่างกัน “สภาวธรรม” ก็หมายถึงว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติของตนๆ “สภาวะ” หรือ” สภาพ” แปลว่าภาวะของตน ๆ ก็คือธรรมดาตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีใครมาทำมัน มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น เช่น ความเป็นเด็ก ความเป็นหนุ่ม เป็นสาว ความแก่ ความหิวกระหาย ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศกร่ำไรพวกนี้ เป็นต้น คือเป็นธรรมชาติ เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ ที่เรียกว่าสภาวธรรม
ส่วนคุณธรรมเป็นสิ่งที่ทำไว้มีจึงมีขึ้น ถ้าไม่ทำก็ไม่มีขึ้น คุณธรรมนี้เกิดจากการประพฤติ เกิดจากการปฏิบัติตัวที่เอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ คนเรามีพ่อมีแม่ ถ้าไม่มีพ่อไม่มีแม่ เราก็ไม่ได้เกิดมา อย่างที่หลวงพ่อพูดเสมอเลยว่า ถ้าไม่มีพ่อไม่มีแม่ก็ไม่ได้เป็นคนดี ไม่ได้เป็นเศรษฐี ไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ผู้ที่จะเป็นภรรยาเป็นสามีกัน ก่อนที่จะมาเป็นพ่อเป็นแม่คนนี้ ก็ต้องมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เราต้องเอาความถูกต้องเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นหลัก เพราะว่าสามีภรรยานั้น คือผู้ที่ร่วมเดินทางสู่มรรคผลพระนิพพาน ต้องมีศีลเสมอกัน มีสมาธิความตั้งมั่นเสมอกัน เอาปัญญาให้เสมอกัน ปัญญาก็หมายถึงการนำตัวเอง ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรม มีการประพฤติมีการปฏิบัติให้เป็นศีล ลูกของเรา เราก็ต้องดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ผู้ที่เป็นสามีภรรยาก็ต้องตั้งมั่นในพระรัตนตรัย คือมีความเห็นถูก เข้าใจถูก ปฏิบัติถูก ทุกๆ ศาสนาก็ไปในแนวทางเดียวกัน
ศาสนานี้ไม่ใช่บุคคล ตัวตน ไม่ใช่นิติบุคคล แต่ว่าคือธรรมะที่ย่อยออกมาเป็นกฎหมายบ้านเมือง ก็เนื่องมาจากธรรมะ ถ้ากฎหมายบ้านเมืองที่ไม่เป็นธรรมถือว่าใช้ไม่ได้ เป็นกฎหมายบ้านเมืองวิบัติ เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เอาธรรมะเป็นหลัก จึงต้องเป็นประชาธิปไตยที่เป็นธรรม
คนจะแต่งงานนี้จะมาเป็นคู่ชีวิตกันก็ต้องดูกันดีๆ ไม่ใช่เห็นรูปสวยๆ รูปหล่อๆ แล้วแต่งงานกัน เฉพาะภายนอกนี้ อันนั้นเป็นแค่ความงามภายนอก อย่าง เช่น เห็นคนหนึ่งชอบขึ้นมา ผู้หญิงสวยๆ หรือผู้ชายหล่อๆ มีคำหนึ่งก็บอกว่า “อาหมวยในวันนี้ก็คืออาซิ้มในวันหน้า คืออาม่าในอนาคต” ถ้ามองแต่ข้างนอกนะ ความสวยความงามมันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ความดีนั้นมันคงทน อยู่กันจนแก่จนเฒ่า จึงต้องเลือก ต้องดูกันให้ดีๆ ต้องดูถึงความงามภายใน คือศีล คือความประพฤติ คือความปฏิบัติ ผู้ที่จะแต่งงานสมัยโบราณ เขาเลยให้ดูพ่อ ดูแม่ ดูวงศ์ตระกูล ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ แต่ถ้าดูให้แน่ๆ ต้องดูถึงยาย เพราะว่ามันเป็นกรรมพันธุ์ เป็นสายพันธุ์ ไม่ใช่ดูหน้ากันแค่ทางโทรศัพท์ ทางอินเทอร์เน็ต Facebook แล้วก็มาอยู่กินกันแบบนี้โดยไม่ได้ศึกษาใจคอกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น สุดท้ายเลิกรากันไป ครอบครัวเขาแตกแยก ลูกก็กำพร้า ไก่ชนราคาตัวหลายล้าน มันก็มีสายพันธุ์ คนโบราณเวลาแต่งงาน ก็เอาตระกูลดีๆ แต่งกับตระกูลดีๆ ลูกเราจะดีหรือไม่ดีนี้ มันอยู่ที่พ่อที่แม่มีศีลธรรม จึงต้องดูแลตั้งแต่อยู่ในท้อง
การแสดงออกของลูกต่อพ่อต่อแม่ เมื่อท่านดูแลเรามาอย่างดีแล้ว เพียงแต่รู้จักว่าตัวพ่อตัวแม่ว่านี้เป็นพ่อเป็นแม่ของเรา รู้เท่านี้มันเป็นเพียงแค่ความรู้ในระดับธรรมชาติ ใครๆ มันก็รู้ ลูกเป็ด ลูกไก่ ลูกหมา ลูกแมว รู้จักแม่ของมัน วิ่งตามแม่ไปเป็นฝูงๆ ส่วนการรู้จักบุญคุณของพ่อของแม่เป็นคุณธรรม มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ดี ระหว่างสามีภรรยากัน ถ้าเห็นแก่เมถุนร่วมสังวาสกันเป็นแค่ขั้นธรรมชาติ มีเหมือน กับสัตว์เดรัจฉานที่เดือน ๑๒ มันก็มาสมสู่กัน มันเป็นธรรมชาติอยู่แค่นั้น ในมนุษย์เรา แม้แต่คนเลวที่สุดก็มีความรู้สึกอย่างนั้น เพราะเรื่องการเสพเมถุนเป็นเรื่องพื้น ฐานธรรมชาติ เพราะว่ามันเป็นธรรมชาติ แต่การเห็นอกเห็นใจกันนั้นเป็นชั้นคุณ ธรรม มนุษย์เท่านั้นที่ทำให้ดีขึ้นได้ระหว่างพ่อแม่กับลูก การให้กำเนิดลูกเป็นเพียงธรรมชาติ สัตว์ชนิดใดๆ ก็ให้กำเนิดลูกได้ แต่การอุปการะแก่ลูกมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ดี
ดังนั้น บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ประเภทแรกคือบุพการี ผู้ที่ทำอุปการะก่อน นี่คือด้านหน้าที่ของพ่อของแม่ แล้วก็ประเภทที่สองก็คือ บุคคลที่เป็นกตัญญูกตเวที รู้คุณ ประกาศคุณ กระทำตอบแทน โดยนัยยะดังกล่าวมานี้ สรุปตามทัศนะของศาสนาจะได้ว่า คนที่เป็นพ่อแม่ของลูกๆ นั้นมีอยู่ ๓ ประเภทด้วยกันคือ เป็นชนกเป็นชนนีด้วย เป็นมารดาบิดาด้วย บางทีเป็นชนกชนนี คือ เพียงแค่ให้เกิด แต่ไม่ได้เป็นมารดาบิดา บางทีเป็นมารดาบิดา แต่ไม่ได้เป็นชนกไม่ได้เป็นชนนี คือไม่ได้เป็นผู้ให้กำเนิด
ประเภทแรก พ่อแม่ที่เป็นผู้ให้กำเนิดแก่ลูกแล้ว ก็ได้เลี้ยงดูลูกด้วย พ่อแม่ประเภทนี้นับว่าประเสริฐที่สุด เป็นบุญของลูก ก็คือ เป็นชนกเป็นทั้งชนนี เป็นผู้ที่ให้กำเนิด แล้วก็เป็นมารดาบิดาที่สมบูรณ์ คือเลี้ยงดูจนเติบใหญ่
ประเภทที่สอง หมายถึงคนที่ให้กำเนิดลูกแล้วไม่ได้เลี้ยงลูก อย่างที่บางคนได้เสียกับผู้หญิง แล้วก็ทอดทิ้งกันเสีย ผู้หญิงตั้งครรภ์แล้วก็ออกลูกมา ก็แยกกันเลี้ยง คือเป็นแค่ชนกชนนี แต่ไม่ได้เป็นมารดาบิดาเพราะไม่ได้เลี้ยง บางทีเนื่อง จากว่ามีท้องตั้งแต่เด็กๆ เรียนยังไม่จบ ต้องทำการทำงาน บางทีเอาไปฝากให้ตา ให้ยาย ให้ปู่ ให้ย่า เลี้ยง เลยเป็นแค่ชนก เป็นแค่ชนนี เป็นผู้ให้เกิด แต่ไม่ได้เป็นมารดาบิดาด้วยคุณธรรม คือไม่ได้เลี้ยงดู
ประเภทที่สาม คือคนที่เป็นมารดาบิดา แต่ไม่ได้เป็นผู้ให้กำเนิด ได้แก่คนที่เอาลูกเขามาเลี้ยงเป็นลูกของตัวเอง หรือว่าอยู่ในฐานะปู่ย่าตายายนี้ ตนเองไม่ได้ทำให้เกิดหรอก แต่ว่าเป็นผู้เลี้ยงดู
ถ้าจะกล่าวถึงคุณของพ่อของแม่แล้วยากที่จะให้ละเอียดถี่ถ้วนได้ จะต้องใช้เวลามาก แล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะบรรยายได้อย่างถี่ถ้วน เพราะมีคำโบราณเขากล่าวไว้แล้วว่า แม้จะเอาท้องฟ้ามาเป็นกระดาษ เอาน้ำในมหาสมุทรเป็นน้ำหมึก เอาเขาพระสุเมรุเป็นปากกา ก็ยากที่จะพรรณนาคุณให้หมดสิ้น
ในมังคลัตถทีปนี ท่านก็ได้แสดงคุณของมารดาบิดาว่า มารดาบิดานั้นจัดว่าเป็นพรหมของลูก เป็นบูรพเทพ เป็นเทวดาคนแรกของลูก เป็นบูรพาจารย์ คือเป็นอาจารย์คนแรกของลูก แล้วก็จัดว่าเป็นอาหุไนย เป็นผู้ที่สมควรแก่ของที่นำมาบูชา
ที่จัดว่าเป็นพรหมนั้น หมายถึงว่า มารดาบิดานั้นมีพรหมวิหาร ๔ พรหมวิหาร ๔ ที่เป็นธรรม เป็นเครื่องอยู่ของพรหม เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งเป็นวิหารธรรม เป็นธรรมะชั้นสูงประดุจของพรหม หมายความว่า เมื่อลูกกำลังอยู่ในท้อง อยู่ในครรภ์ พ่อแม่ทั้งสองก็ตั้งเมตตาเอาไว้ อยากจะให้ทารกที่อยู่ในท้องนี้มีความสุข แล้วก็คลอดออกมาปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีอายุยืนยาว ไม่ต้องการที่จะให้ทารกที่อยู่ในครรภ์นั้นมีความทุกข์ อุตส่าห์อุ้มท้องประคองครรภ์มาด้วยความทะนุถนอม เมื่อไหร่คลอดออกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย พ่อแม่ก็มีจิตกรุณาเลี้ยงดูด้วยความชื่นชมยินดี คอยขับกล่อมไกวเปลป้องกันไม่ให้เหลือบยุงริ้นไรมาไต่ตอมให้ได้รับความลำบาก ครั้งเมื่อเจริญเติบโตขึ้นมาแล้วก็ให้ได้รับการศึกษา ลูกต้อง การสิ่งใดก็แสวงหาให้ด้วยจิตที่เปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา แล้วก็เปี่ยมด้วยความมุทิตา คือว่ามีความยินดีเมื่อลูกๆ ได้รับความสำเร็จ บิดามารดาก็มีความสุขชื่นชมยินดีในความสำเร็จนั้น เมื่อลูกเจริญเติบใหญ่พอที่จะรักษาตัวได้แล้ว ออกเหย้าออกเรือนไปมีสามีภรรยา พ่อแม่ก็มีจิตเป็นอุเบกขา คือความวางเฉย เพราะไม่ต้องพิทักษ์รักษาหวงแหนดูแลเหมือนแต่ก่อน นี่คือที่จัดประดุจพรหม เพราะว่ามีความเป็นพรหมวิหารอยู่ในใจ
ที่ว่าพ่อแม่เป็นเทวดาคนแรกนั้น คือได้พิทักษ์รักษาบุตรธิดานั้นมาก่อนเทพยดาทั้งปวงตั้งแต่อยู่ในท้อง
แล้วก็ที่ว่าพ่อแม่เป็นบุพพาจารย์อาจารย์คนแรก หมายความว่า สั่งสอนลูกชายลูกสาวก่อนครูอื่นๆ สอนให้พูด สอนให้นั่ง สอนให้ยืน สอนให้เดิน สอนให้ตั้งไข่ สอนให้กินข้าว ตลอดจนสั่งสอนให้รู้จักสิ่งต่างๆ แล้วก็มารดาบิดาเป็นอาหุไนย อาหุไนยบุคคล ที่เป็นหนึ่งในคุณธรรมของผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญ ที่บอกว่า “อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย” นี้ หมายความว่า มารดาบิดาควรที่จะรับของที่ลูกๆ นำมาให้ ไม่ว่าจะเป็นผ้าผ่อนท่อนสไบ ฟูกหมอน เสื่อสาดอาสนะ ตลอดจนขนมนมเนยต่างๆ ควรแก่ของที่นำมาต้อนรับ ควรแก่การกราบไหว้ แล้วก็เป็นทักขิไณย ก็คือลูกให้พ่อให้แม่ยิ่งเจริญ รุ่งเรืองตรงคุณธรรมตรงนี้แหละ ท่านเลยเปรียบพ่อแม่นี้เหมือนกับเป็นพระอริยเจ้าของลูก บางทีท่านก็เปรียบว่าเป็นพระอรหันต์ของลูก เพราะว่าสิ่งที่ลูกทำกับพ่อกับแม่นี้ให้มีอานิสงส์มาก มีอานิสงส์ไพศาล
เมื่อเรารู้บุญคุณของบิดามารดามาพอสมควรแล้ว เราจึงต้องรู้ถึงหน้าที่ที่เราจะพึงกระทำต่อมารดาบิดา เพื่อเป็นการตอบสนองคุณของท่าน เป็นความดีของมนุษย์ทั่วๆ ไป แล้วก็เป็นเครื่องหมายของคนดีที่แท้จริง ดังที่พระบาลีบอกว่า “นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา” ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี
คำว่า ”กตัญญู” นั้น แปลว่า รู้คุณ การรู้คุณของบิดามารดานั้นหมายถึงรู้เห็นด้วยใจ ไม่ใช่เพียงแค่จดจำ ถึงแม้ว่าเราจะสามารถจดจำหนังสือที่เขาได้แต่งพรรณนาคุณความดีของพ่อแม่อย่างมากมาย จำได้หมด ตั้งแต่เด็กๆ จำความได้ ครูก็สอนให้เขียนเรียงความ แต่งกลอนวันแม่ สมัยชั้นประถมก็ให้พาแม่มาที่โรง เรียนเพื่อเอากรวยไหว้แม่อย่างนี้ นี่คือครูสอน สอนให้จำ ให้รู้จักว่าบุญคุณของพ่อแม่เป็นอย่างไร แต่ถ้าใจจริงๆนั้นยังไม่เห็นคุณของท่าน ก็ยังไม่นับว่ามีกตัญญู ความที่รู้เห็นด้วยใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ ความจำกับความรู้สึกมันมีผลต่างกัน เพียง แต่ความจำไม่ช่วยให้พ้นจากการกระทำผิดได้ คือผิดทั้งๆ ที่ได้ทรงจำไว้อย่างมากนั่นเอง เห็นอยู่มากมาย จำกฎหมายได้แต่ก็ทำผิดกฎหมาย พระจำพระปาฏิโมกข์ จำพระวินัยได้ว่ามีกี่ข้อแต่ก็ทำผิด เพราะไม่รู้ ไม่เห็น ไม่รู้สึกที่จะประพฤติปฏิบัติจริงๆ การรู้คุณพ่อแม่ก็เช่นเดียวกัน เพียงแค่จำ แต่ก็ทำผิดทั้งๆ ที่ได้ทรงจำไว้ก็มีมากมาย เช่น พ่อแม่ด่ามา หรือว่าพ่อแม่สอนดีๆ ก็ถกเถียง เอาอารมณ์ใส่ไป เวลาพูดกับคนรัก พูดหวาน แต่พอเวลาพูดกับพ่อกับแม่ อะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็อารมณ์ขึ้นๆ ใส่ท่านแบบนี้ ไม่มีสิทธิ์ไปว่า เพราะว่าสิ่งที่เรากระทำปัจจุบันนี้แหละ มันคือจะเป็นกรรมเก่า เป็นบุญเก่าของอนาคต ถ้าดูแลพ่อแม่ ใส่ใจพ่อแม่ พูดกับพ่อกับแม่ดีๆ มันคือบุญเก่า “ปุพเพกตปุญญตา” ของอนาคตที่ทำให้เราเจอสิ่งดีๆ ตรงกันข้าม ถ้าทำไม่ดีกับพ่อกับแม่ มันคือกรรมเก่าที่เราจะพบในอนาคต ไม่ต้องชาติหน้า ชาตินี้แหละ มันเห็นทันตา เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าความรู้กับความเห็นนั้นต่าง กัน เช่น เราได้ศึกษาว่าไฟมันเป็นของร้อน แล้วเราก็รู้เลยว่าไฟมันมีรูปร่างอย่างนี้ มันร้อน แต่เมื่อยังไม่มีโอกาสได้เอามือเข้าไปจับไฟ ความรู้สึกร้อนมันจะยังไม่เกิดขึ้น ไม่รู้หรอกว่าร้อนมันเป็นอย่างไร
คุณธรรมข้อกตัญญูก็เหมือนกัน ถ้าเราจะแปลให้ได้ความหมายซึ้งๆ แล้ว เราจะต้องแปลว่าเห็นคุณท่าน เห็นในที่นี้ ไม่ใช่เห็นด้วยตาเนื้อ แต่ว่าเห็นด้วยปัญญาจักษุ ก็คือ เห็นด้วยตาปัญญา ความเห็นนี่แหละสำคัญ คนที่ทำผิดต่อพ่อต่อแม่นั้นผิดเพราะว่า ไม่เห็นคุณท่าน แต่รู้นะ รู้คุณ แต่ไม่เห็นคุณ ถ้าเห็นเสียคงจะไม่ทำผิด เหมือนเราเห็นทางเดิน ก็ก้าวเดินไม่ผิดทาง คนที่ตาบอดนั้น เวลาจะเดินไปทางไหนมักจะชนนั่นชนนี่เพราะตามองไม่เห็น คนที่มีความรู้แต่ไม่มีความเห็น ก็เหมือนคนตาบอดตาใส คือมองแต่ภายนอกจะเห็นได้ว่าเขามีตาบริบูรณ์เหมือนเรา ถ้าไม่ลุกเดินแล้วเราจะไม่รู้เลยว่าตาบอด จะรู้ก็ต่อเมื่อลุกขึ้นเดินเท่านั้น คนมีความรู้ก็เหมือนกัน เราไม่รู้ได้เลยว่าจะเป็นคนดีหรือไม่ เพราะว่าพวกที่จบสูงๆ จบนอก จบปริญญา บางทีเอาความรู้มาใช้ในทางผิดๆ ไปเป็นโจรในเครื่องแบบ ไปทุจริตโกงกินคอรัปชั่นมากมาย คือมีความรู้ มี IQ แต่ไม่มี EQ ดังนั้น ดีไม่ดีจะรู้ก็ต่อเมื่อเขาแสดงออกมาทางการกระทำทางคำพูดนั่นแหละจึงจะรู้ บางคนพูดได้เขียนได้ว่าพ่อแม่มีบุญคุณอย่างนั้นอย่างนี้ พรรณนาได้อย่างหยดย้อย แต่การปฏิบัติตรงกันข้าม เพราะมีความรู้แต่ไม่มีความเห็นคุณ
การที่เราจะรู้คุณพ่อคุณแม่ได้นั้น เห็นได้นั้น ต้องพยายามฝึกฝนให้ความ เห็นที่ถูกต้องเกิดขึ้นกับใจของเราให้ได้ หมั่นใช้ความรู้ที่ได้เรียนมานี้ขบคิดด้วยปัญญาอย่างรอบคอบ เราลองคิดดูว่า คุณของพ่อแม่ที่ได้อุปการะเรามา คือประโยชน์ที่ท่านทำให้แก่เรามีอะไรบ้างที่ต่างจากคนอื่น ตามธรรมดาของคนทั่วไป เวลาจะลงทุนให้ความช่วยเหลือกับใครนั้น เขาต้องมองเห็นทางที่จะได้คือผล ประโยชน์จึงจะทำ เช่นว่า ผู้นั้นมีหลักทรัพย์ไหม รวยไหม พ่อแม่พี่น้องอยู่ไหน นามสกุลอะไร วงศ์ตระกูลใหญ่แค่ไหน มีอะไรเป็นหลักประกัน ถ้าเราไม่มีอะไรเลย เขาก็ไม่ช่วยเหลือ หรือเขาจะต้องรู้ว่าเราจะแทนคุณของเขาหรือไม่ บางทีต้องมีหนังสือเซ็นสัญญาอะไรวุ่นวายไปหมด แต่ว่าพ่อแม่ของเรานั้นช่วยเหลือเราด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้มองถึงหลักประกันอะไรเลย เราเองเกิดมาไม่มีอะไรติดตัวมาสักชิ้น ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามาจากภพภูมิไหน มาจากขุมนรก มาจากเปรต มาจากอสุรกาย มาจากสัตว์นรก มาจากยักษ์ มาจากมาร มาจากเทวดา มาจากมนุษย์ หรือมาจากพรหมก็ไม่รู้ที่มาเกิดในท้องนี้ โตขึ้นมาจะดีจะชั่ว จะมีนิสัยใจคออย่าง ไร พ่อแม่ไม่รู้เลย ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่า โตขึ้นมาแล้วลูกจะดีหรือลูกจะชั่ว ลูกจะตอบแทนไหม ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น แต่ท่านก็ทำหน้าที่เต็มที่ หนังสือเซ็นสัญญาระหว่างลูกกับพ่อกับแม่ก็ไม่มีสักใบ คำพูดที่ให้สัญญาสักคำก็ไม่มี ว่าโตขึ้นมาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่นะ ก็ไม่เคยพูด ทั้งที่สิ่งทั้งหลายที่จะเป็นหลักประกันก็ไม่มี แต่ท่านก็ยังทุ่มเทจิตใจช่วยเราอย่างเต็มที่ เมื่อเราพิจารณาพระคุณของท่านด้วยจิตที่เป็นกุศล กุศลคือความฉลาด ด้วยความฉลาด มีความรู้สึกนึกคิดในพระคุณของท่านด้วยใจจริงอย่างนี้แหละ เรียกว่ากตัญญู
ต่อไป คำว่า “กตเวทีต่อกัน” แปลตามตัวแปลว่า ประกาศคุณที่ท่านกระทำแล้ว ตามความหมายของภาษาไทยก็คือว่า ประกาศคุณ คือตอบแทนคุณของท่าน ที่ว่าประกาศคุณท่านหมายความว่า ทำให้คนอื่นรู้ว่า ท่านมีคุณแก่เราอย่างไรบ้าง มากน้อยเพียงไร การประกาศคุณของท่านนั้นไม่ใช่หมายความว่า เราจะยกย่องสรรเสริญท่านด้วยคำพูด หรือว่าด้วยการเขียนเป็นตัวหนังสือ แท้ที่จริงแล้ว การประกาศคุณท่านนั้นจะต้องอยู่ที่การปฏิบัติตัวของเราเอง คือตัวเราเองจะต้องทำตัว ของเราให้เป็นคนดีตามที่ท่านมุ่งหมาย ไม่ใช่ว่าเราจะยกย่องสรรเสริญท่านว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่ตัวเราเองยังประพฤติสำมะเลเทเมา ศีลสักข้อเดียวก็ไม่รักษา สดุดีว่าพ่อแม่ของเราเป็นคนสุภาพเรียบร้อย แต่ว่าตัวเราเองนี้กลับประพฤติตัวเหลวแหลกเป็นนักเลงอันธพาล อย่างนี้ แทนที่จะประกาศคุณของท่านกลับเป็นว่าช่วยประจานท่าน อย่างน้อยที่สุดก็ประจานแก่ชาวบ้านว่า พ่อแม่ของเราเลี้ยงลูกไม่เป็นประสา ลูกคนใดที่ทำตัวดีมีศีลธรรม เหมือนเอาชื่อเสียงของพ่อแม่ไปเปิดเผยบูชา แต่ลูกคนใดที่ประพฤติสำมะเลเทเมาเป็นอันธพาล ศีลธรรมก็ไม่มี เหมือนเอามีดมากรีด เอาเลือดเอาเนื้อของพ่อแม่ไปประจาน ดังนั้น เมื่อเราจะประกาศคุณของท่านโดยให้ท่านได้รับความชื่นใจ ถ้าเราเป็นนักเรียนก็เป็นนักเรียนที่ดี เป็นข้าราชการก็ต้องเป็นข้าราชการที่ดี เป็นทหารเป็นทหารที่ดี เป็นตำรวจก็เป็นตำรวจที่ดี แม้กระทั่งบวชเป็นภิกษุก็ต้องเป็นภิกษุที่ดีด้วย การกระทำอย่างนี้แหละจึงเป็นการกระทำที่ทำให้ท่านได้รับความสุขใจยิ่ง ซึ่งการกระทำเหล่านี้มีผลมากกว่าที่เราจะตอบแทนด้วยเงินด้วยทองเสียอีก เลี้ยงกายไม่สู้เลี้ยงใจ การให้ลูกเป็นคนดี นี่คือการเลี้ยงใจท่าน เอาเงินเอาทองให้แม่มันไม่ยากหรอกนะ ถึงสิ้นเดือนโอนเงินให้ แต่ไม่เลี้ยงใจ คือไม่เป็นคนดี ไม่พูดดี ไม่ทำดีกับท่าน พ่อแม่ก็ยังต้องเสียใจน้ำตาไหลอยู่ ดังนั้นแล้ว เลี้ยงใจสำคัญกว่าเลี้ยงด้วยเงินเลี้ยงด้วยทอง บางคนพอมีครอบครัวไปแล้ว ลืม ลืมพ่อลืมแม่ ดังที่คำโบราณบอกว่า “หลงยศลืมตาย หลงกายลืมแก่ หลงผัวหลงเมีย ลืมพ่อลืมแม่ ชีวิตย่ำแย่แน่นอน” ดังนั้น อนาคตจะดีไม่ดีอยู่ที่การกระทำเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ในปัจจุบัน
พระพุทธเจ้ากว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ ก็เพราะว่าท่านเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ พระชาติแรกที่ปรารถนาพุทธภูมิ ที่เคยเล่าไว้หลายครั้งมาก แบกแม่ไว้บนบ่า ว่ายน้ำข้ามมหาสมุทร แม้กระทั่งเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ท่านก็เลี้ยงแม่ เป็นช้าง ก็เลี้ยงแม่ช้างที่ตาบอด กตัญญูอยู่ในใจตลอด จนชาติสุดท้ายที่เป็นพระพุทธเจ้า ก็ไปทดแทนค่าน้ำนมถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อที่จะโปรดพุทธมารดาให้พ้นจากอบาย ภูมิด้วยการหยิบยื่นโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผลให้กับท่าน แล้วก็คนดีที่เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายนี้ กว่าจะเป็นที่รักของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลายได้ ก็มีความกตัญญูเป็นหลักเป็นฐาน มีความกตัญญูเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้น การที่เรายกย่องบูชาคุณท่านด้วยการประกาศคุณ ด้วยการเป็นคนดีนี้ พ่อแม่ก็มีความอิ่มอกอิ่มใจ ทีไม่เสียทีที่เลี้ยงลูกมา ฉะนั้น เราอย่าคิดว่า รอให้รวยก่อน รอให้มีงานทำดีๆ ก่อน แล้วก็ค่อยตอบแทนท่าน ค่อยซื้อของไปให้ท่าน ค่อยปลูกบ้านให้ท่าน อย่างนี้ การกระทำอย่างนั้นเป็นการเลี้ยงภายนอก แต่เลี้ยงใจนี้ เลี้ยงได้ตลอดเวลา เลี้ยงได้ทุกๆ วัน เลี้ยงได้ตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งท่านจากเราไป
ความหมายของคำว่ากตเวทีประการที่สองคือทดแทนคุณท่าน การทดแทนคุณของท่านนั้น ในสิงคาลกสูตร พระพุทธองค์ทรงสอนเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เป็นลูกเศรษฐีว่า “ปญฺจหิ โข คหปติปุตฺต ฐาเนหิ ปุตฺเตน ปุรตฺถิมา ทิสา มาตาปิตโร ปจฺจุปฏฺฐาตพฺพา” คือหมายความว่า ดูก่อนคฤหบดีบุตร มารดาบิดาผู้เป็นทิศเบื้องหน้า อันลูกพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ อย่าง
หน้าที่ ๕ อย่าง คือ
ประการแรก “ภโต เนสํ ภริสฺสามิ” ด้วยตั้งใจว่า ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว จักเลี้ยงท่านตอบแทน
ประการที่สอง “กิจฺจํ เนสํ กริสฺสามิ” จักช่วยทำกิจการงานของท่าน
ประการที่สาม “กุลวํสํ ฐเปสฺสามิ” จักช่วยดำรงวงศ์ตระกูล
ประการที่สี่ “ทายชฺชํ ปฏิปชฺชามิ” จักประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นคนดี ให้เป็นผู้สมควรได้รับทรัพย์มรดก
แล้วก็ประการสุดท้าย “ถวา ปน เปตานํ กาลกตานํ ทกฺขิณํ อนุปฺปทสฺสามิ” เมื่อท่านละโลกนี้ไปแล้ว ตายแล้ว จักตามเพิ่มให้ซึ่งทักษิณา หมายความว่า จะทำบุญ อุทิศบุญ ส่งไปให้กับท่าน
ตามพระพุทธพจน์ที่ยกมานี้ จะเห็นได้ว่าการตอบแทนคุณมารดาบิดานั้นทำ ได้สองภาคด้วยกัน คือ เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ภาคหนึ่ง แล้วก็อีกส่วนหนึ่งก็คือ เมื่อท่านได้ล่วงลับไปแล้ว ในสองส่วนนี้ การตอบแทนคุณท่านเมื่อยังมีชีวิตอยู่สำคัญมากกว่า ถึงแม้ธุระหน้าที่เราจะมีมาก การตอบแทนบุญคุณท่าน ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น เราต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ตามสภาพร่างกาย ถ้าท่านยังอยู่ในวัยแข็งแรง ยังอยู่ในระหว่าง ๔๐-๕๐ ปีนี้ สังขารร่างกายของท่านก็ยังคงทนแข็งแรง เราจะคอยเอาใจใส่อยู่ห่างๆ ก็เป็นการสมควร หมั่นเยี่ยมเยียนท่านตามสมควร หาของกินของใช้ไปให้ท่าน ยังไม่เคยเอาน้ำให้ท่านดื่ม ก็ให้ท่านดื่ม ยังไม่เคยเอาอาหารให้ ก็ให้ ที่สำคัญ พูดคำดีๆ กับท่าน พาท่านเข้าวัด ปฏิบัติธรรม ดีกว่าที่ท่านตายไปแล้ว จัดอาหารอย่างเลิศหรูไปไว้ข้างโลง แล้วก็เคาะโลงว่า พ่อกินข้าวนะ แม่กินข้าวนะ พ่อรับศีลนะ แม่ไหว้พระ ในตอนนั้นท่านก็ไม่ตื่นมาแล้ว ทำตอนที่ท่านยังมีอายุ ยังมีไออุ่น ยังมีความอบอุ่นให้กับเรา ที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นี่แหละ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ต่อให้เอาพ่อแม่มาวางไว้บนบ่าทั้งสองข้าง เลี้ยงดูพ่อแม่จนตลอดอายุขัย ท่านทั้งอุจจาระ ปัสสาวะ ขับถ่าย ป้อนข้าวอยู่บนบ่าทั้งสอง ทำอย่างนี้จนพ่อแม่หมดอายุขัย ก็ยังไม่ใช่ว่าตอบแทนคุณท่านให้หมดสิ้น แต่ถ้าลูกคนใดทำให้พ่อแม่ที่ยังไม่มีศรัทธา ห้มีศรัทธา ทำพ่อแม่ที่ยังไม่มีศีลให้มีศีล ทำพ่อแม่ที่ยังไม่มีการให้ ยังไม่เสียสละให้เป็นผู้เสียสละ ทำพ่อแม่ที่ยังไม่มีความเห็นถูกต้องให้มีความเห็นถูกต้อง ชื่อว่าเป็นการตอบแทนคุณได้หมดสิ้น เพราะเป็นการชี้ทางสวรรค์ ชี้ทางแห่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติให้กับท่าน เป็นการตอบแทนคุณท่านได้อย่างดีที่สุด
แล้วทีนี้ การตอบแทนคุณมารดาบิดาอีกส่วนหนึ่งก็คือว่า เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็จัดการปลงศพของท่านตามประเพณีทางศาสนา หมั่นอุทิศบุญ ทำบุญทุกครั้งก็ส่งบุญให้กับท่านอยู่เสมอๆ แม้กระทั่งประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ส่งบุญให้ท่าน นี่แหละคือเป็นการประกาศคุณท่านแล้วก็ตอบแทนคุณท่าน เป็นกตเวทีอย่างแท้จริง
พ่อแม่นี้เป็นสิ่งที่ทุกคนจะลืมไม่ได้ เพราะเป็นผู้มีอุปการคุณ เพราะคนเราธุรกิจหน้าที่การงานก็เยอะ เวลามีภรรยามีลูก บางคนลืมพ่อลืมแม่ อย่างนั้นมันไม่ได้ เพราะมนุษย์จะเป็นผู้มีใจสูงได้ จะเป็นผู้ที่เป็นคนดีจริงๆ ได้นี้ อยู่ที่ความกตัญญูกตเวที ดูตัวอย่างพระพุทธเจ้า ท่านเป็นพระพุทธเจ้าได้ก็เพราะกตัญญูกตเวที ดูตัวอย่างในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นที่เคารพนับถือของคนทั้งโลก เพราะทรงกตัญญูกตเวที ความกตัญญูกตเวทีจึงเป็นเครื่องหมายของคนดี
คนเราถ้าทิ้งพ่อทิ้งแม่ ไม่ได้ต่อยอดพ่อแม่ไปในทางที่ดี เป็นคนลืมเนื้อลืมตัว หรือว่าคำโบราณที่เขาพูดแรงๆ ก็คือว่าวัวลืมตีน เพราะฉะนั้น เรื่องกตัญญูกตเวทีเราทุกคนต้องมีอยู่ในตัว ๑๐๐% ประชาชนคนในปัจจุบัน บางทีพ่อแม่ไม่มีตังค์ ต้องยืมลูกสาวลูกชายอย่างนี้ มันไม่ใช่ มันไม่ใช่สิ่งที่ดี ลูกๆ มันต้องมีปัญญา อย่าเอาเงินไปใช้ในทางที่ผิด เราต้องมีปัญญา แต่ถ้าพ่อแม่จะเอาเงินไปใช้ในทางที่ผิด เราก็ต้องดูด้วย ต้องมีปัญญาเช่นกัน เช่นพ่อแม่มีลูกหลายคนนี้ จะเอาเงินไปให้ลูกที่เกเร ลูกที่ติดเหล้า ติดยาหรือเปล่า พ่อแม่จะเอาไปเล่นการพนันหรือเปล่า ฉะนั้น ก็ต้องคิดดูดีๆ เหมือนกัน คิดพิจารณาให้ดีเหมือนกัน ดังนั้น การสั่งสอนของพ่อของแม่นี้จึงสำคัญตั้งแต่เด็กๆ ลูกจะดีจะเสียก็ขึ้นอยู่กับพ่อกับแม่ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นหรอก
ทุกวันนี้ ถึงแม้เราจะมีกิจการงานอยู่ห่างไกล ถึงจะอยู่ต่างประเทศ เราก็มีโทรศัพท์เอาไว้ติดต่อกับพ่อกับแม่ได้ โทรคุยทางเสียง ได้ฟังเสียง ได้เห็นทั้งภาพ FaceTime ก็ได้ พ่อแม่ลูกต้องรักกัน ไว้วางใจกัน พ่อแม่ถึงผิดศีล จะไปทำผิดศีลให้ลูกเห็นไม่ได้ จะไปกินเหล้าเมายา เจ้าชู้ให้ลูกเห็นไม่ได้ เพราะเราอยู่ในตำแหน่งพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ ประเทศไทยหรือว่าหลายประเทศที่มีความผิดพลาด พ่อแม่พาทำในสิ่งไม่ดี เลยเป็นปัญหาสังคม ทะเลาะกันให้ลูกเห็น ทำอบายมุข กินเหล้าเมายา เจ้าชู้ให้ลูกเห็น สอนมันจะฟังได้อย่างไร เลยเป็นปัญหาสังคมเดี๋ยวนี้ บางทีแค่เห็นรูปกายภายนอก เห็นรูปสวยๆ รูปหล่อๆ ก็เอาเป็นภรรยา เอาเป็นสามี แบบนี้มันผิดพลาด ถ้ามีศีลไม่เสมอกัน ปัญญาไม่เสมอกัน อยู่ไปไม่รอดหรอก
เราจะเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม มันก็ไม่มีปัญหา ต้องไปในทางเดียวกัน เพราะศาสนานั้นไม่ได้แบ่งพรรคแบ่งพวก ศาสนานั้นเป็นธรรมะ ไม่ได้ฆ่าฟัน สงครามศาสนา การทะเลาะกันระหว่างนิกายแบบนี้ มันไม่ใช่ศาสนา มันเป็นความผิด เพราะเป็นตัวเป็นตน มีแต่พวกตัวเอง ไม่ใช่เมตตาที่ประกอบด้วยปัญญา แต่เป็นเมตตาที่ประกอบด้วยความเห็นแก่ตัว
การตอบแทนคุณบิดามารดานั้น แม้ในทางพระพุทธศาสนา พระเรา ภิกษุเรา ก็สามารถเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอน มีเรื่องอยู่ว่า ในกาลอดีต มีบุตรเศรษฐีผู้หนึ่งอยู่ในเมืองสาวัตถี มีความศรัทธา ลาพ่อลาแม่มาบวช เล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่เป็นเวลานาน ในกาลต่อมา เศรษฐีซึ่งเป็นพ่อนี้ ยากจนลง จนต้องขอทานเขาเลี้ยงชีพ เมื่อพระลูกชายรู้ข่าวเข้า จึงได้ขออนุญาตสึกออกมาเลี้ยงพ่อแม่ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า เป็นภิกษุก็สามารถที่จะเลี้ยงดูบิดามารดาได้ ภิกษุนั้นจึงได้หมั่นไปมาเยี่ยมเยือนบิดามารดาอยู่เนืองๆ แล้วก็บิณฑบาตอาหารมาได้ ก็นำ เอาอาหารเหล่านั้นไปให้พ่อให้แม่ของตนกินเสียก่อน ส่วนตัวของท่านยอมอดจน กระทั่งร่างกายซูบผอม ภิกษุทั้งหลายเห็นผิดสังเกตจึงได้สอบถาม ท่านก็บอกตามความเป็นจริงว่านำอาหารที่ได้มานี้ไปเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ของท่าน ภิกษุทั้งหลายก็เที่ยวยกโทษว่าบิณฑบาตมาเพื่อเลี้ยงฆราวาส นำความนี้ไปกราบทูลพระบรมศาสดา พระพุทธองค์สั่งให้ประชุมสงฆ์ สอบถามความเป็นมาทั้งหมด แล้วพระพุทธองค์ไม่ทรงตำหนิ แต่ทรงสรรเสริญว่า ดูก่อนภิกษุ การปฏิบัติมารดาบิดานี้ เป็นประเพณีของตถาคตได้ปฏิบัติมา แล้วก็ทรงแสดงเรื่องสุวรรณสามชาดก ที่เป็นอดีตชาติของพระองค์ ยกข้อปฏิบัติมารดาบิดาว่า ภิกษุใดเลี้ยงบิดามารดา ไปบิณฑบาตได้อาหารมา ยังไม่ได้ฉัน จะให้แก่บิดามารดาก็ควร อนึ่ง บิดามารดาเจ็บไข้ จะทำยาให้ ตักน้ำมาให้อาบก็ควร บิดามารดาเจ็บไข้ในพรรษาจะสัตตาหะไปรักษาก็ควร ด้วยว่าบิดามารดานี้มีคุณมาก ควรปฏิบัติ แล้วพระองค์ก็ได้แสดงธรรม ภิกษุนั้นสำเร็จเป็นโสดาบัน
การที่จะตอบแทนคุณของท่านเลี้ยงดูท่านให้ได้รับความสุขนั้นจัดเป็นมงคล คือความเจริญ หลวงพ่อชาท่านก็ทำให้เราดู ที่แม่ของท่านบวชเป็นแม่ชี ท่านก็เสียสละอาหารส่วนของท่าน สมัยที่วัดหนองป่าพงอาหารบิณฑบาตยังไม่สมบูรณ์ ท่านก็เอาส่วนของท่านไปให้แม่ พระลูกศิษย์ก็เห็นท่านซูบผอมลง เมื่อทราบความจริงก็เลยให้จัดอาหารปิ่นโต ไปให้โยมมารดาแม่ชีของหลวงพ่อชาต่าง หาก นี่ท่านก็เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้ ดังนั้น การตอบแทนคุณของท่าน เลี้ยงดูท่านให้ได้รับความสุขกายสุขใจ เลี้ยงกายเลี้ยงใจนี้จัดเป็นมงคล คือความเจริญ เป็นที่ยกย่องสรรเสริญแก่คนทั่วไป ตรงกันข้าม การที่เราไม่เลี้ยงดูท่าน ไม่ยกย่องท่าน ก็เป็นการลบหลู่ตนเอง เป็นที่เหยียดหยามของคนทั่วไป หาความเจริญรุ่งเรืองอะไรไม่ได้เลย
มงคลข้อที่ ๑๒ ปุตตะสังคะโห การเลี้ยงดูลูกๆ
ในมงคลข้อที่ผ่านมาแสดงถึงการเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ในมงคลข้อนี้ท่านสอนให้เลี้ยงลูกสงเคราะห์บุตร จะเห็นได้ว่า ในโลกนี้บรรดาคนต่างๆ ที่อยู่ติดต่อกับชีวิตของเรานั้น คนที่ใกล้ชิดที่สุดคือพ่อแม่ ลูกเมีย สามี คนอื่นๆ ตามลำดับ ทำไมจึงยกเอามารดาบิดาไว้ใกล้ที่สุด รองลงมาคือลูก ข้อนี้ก็น่าคิด เราลองนึกดูอย่างนี้ก็แล้วกัน ลองนึกดูถึงเลือดเนื้อในตัวเรานั้นแบ่งมาจากมารดาบิดาเข้ามาอยู่ในตัวเรานี้ เพราะเราเอาท่านมาเป็นตัวเรา ร่างกายทั้งหมดเลือดเนื้อมาจากพ่อจากแม่ เพราะฉะนั้น ท่านกับเราจึงเปรียบเป็นเลือดเนื้อก้อนเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ เรากับตัวท่านจึงใกล้ที่สุด เป็นทิศเบื้องหน้า
ทีนี้ ระหว่างเรากับลูกกับเมียหรือว่าสามี เรากับลูกเป็นเลือดก้อนเดียวกัน เพราะลูกก็คือก้อนเลือดของเราที่แบ่งออกไปจากเรานี่เอง ลูกจึงเป็นอีกผู้หนึ่งที่อยู่ใกล้ชิดตัวเรามากที่สุด รองจากพ่อจากแม่ ส่วนภรรยาหรือสามีนั้น ไม่ใช่เลือดเนื้อก้อนเดียวกัน ไม่ใช่สายโลหิต เป็นคนละก้อน มาคนละทาง ไม่เหมือนลูก ฉะนั้น สามีภรรยาจึงถือว่าเป็นคนอื่น ที่กล่าวมานี้ เอาความจริงเป็นเครื่องวัด ไม่ได้เอาสิ่งที่กฎหมายกำหนด
ในกฎหมายกำหนดว่า สามีภรรยาเปรียบเหมือนคนคนเดียวกัน อันนี้ว่าตามกฎหมาย แต่ในทางหลักธรรม สามีภรรยาไม่ใช่ญาติสายโลหิต แต่เป็นญาติทางธรรม ก็คือเป็นคู่บุญคู่บารมี เราสามารถที่จะหย่าขาดจากสามีภรรยาก็ได้ เพราะเป็นคนละคนอยู่แล้ว เอาใจมาเกี่ยวกันไว้เท่านั้น พอปลดออกเสีย ทะเลาะกันก็อยู่กันคนละทาง ผัวกับเมียก็ไปเป็นคนละทาง เมื่อหย่าขาดกัน ขาดกันจริงๆ ทางวินัยก็ไม่เอาโทษ ก็ไม่ผิดศีล ถ้าไปมีใหม่ เพราะหย่าขาดกันแล้ว กฎหมายก็เอาโทษไม่ได้ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปมีคู่ครองใหม่ ก็มีได้ ไม่ถือว่าผิดศีลข้อที่ ๓ แต่พ่อแม่กับลูกนั้นนี้ ชาตินี้ทั้งชาติหย่าขาดกันไม่ได้ ถึงแม้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชั่วช้าเลวทรามอย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราจะโกรธกันถึงขนาดตัดพ่อตัดลูกก็ตาม นั่นก็ว่ากันตามกระแสโลก ตามใจตามอารมณ์ แต่ในทางความเป็นจริง ถ้าลูกที่พ่อแม่บอกตัดขาดแล้วไปนี้ พ่อแม่กับลูกตัดขาดกัน แล้วลูกไปฆ่าพ่อฆ่าแม่ ก็เป็นอนันตริยกรรมเหมือนเดิม ถึงแม้จะตัดพ่อตัดลูกกันก็ตาม แต่สายเลือดยังมีอยู่ เป็นอนันตริยกรรม บาปพอๆ กัน จะอ้างว่าเป็นคนอื่นหาไม่ได้ เพราะมันก็บอกอยู่แล้วว่า ตัวเรามาจากท่าน ลูกก็มาจากเรา ดังนั้นตัวเราก็เป็นเหมือนตัวของท่าน ลูกเราก็เหมือนตัวของเรา
ประเภทของลูก ท่านได้แบ่งไว้ตามลักษณะโดยกำเนิด ตามพุทธพจน์โดยตรง ซึ่งทรงตรัสการนับไว้คนละด้าน คือ ทางกำเนิด ทางคุณธรรม
ในปัณฑรกชาดกกล่าวว่า บุตรมีอยู่ ๓ ประเภทคือ ๑. อันเตวาสี ลูกศิษย์ ๒. ทินนโก ลูกเลี้ยง ๓. อตรโช ลูกเกิดจากตัว หรือว่าลูกในไส้
ประเภทที่ ๑ อันเตวาสี หมายถึงคนที่ยอมมอบกายถวายตัวเป็นลูกศิษย์ เรียนวิชาการ เรียนความรู้ต่างๆ กับเรา เราเป็นผู้ประสาทวิชาความรู้ให้แก่เขา หมายถึงว่า ที่เขามาอยู่กินกับเรานี้ เราเป็นภาระดูแลทุกข์สุข เจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ในภาระ ซึ่งก็เรียกว่าลูกศิษย์
ประเภทที่ ๒ ทินนโก แปลว่า บุตรที่เขาให้มา ตัวเราเองไม่ได้เป็นผู้ให้กำเนิด แต่ว่าเขายกมาให้เป็นลูกบุญธรรม ก็คือลูกเลี้ยง
ประเภทที่ ๓ อตรโช แปลว่าลูกเกิดจากตัว คือลูกที่เกิดมา เพราะว่าเราเป็นผู้ให้กำเนิด หมายถึงลูกในไส้ของเราจริงๆ ไม่มีคนอื่นแปลกปนมา
ทีนี้ ทางด้านภูมิธรรมนี้ ท่านก็แยกตามความดีในตัวลูก พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ใน ตโตปุตตสูตร ทรงแบ่งไว้ ๓ ระดับ คือ อภิชาตบุตร - ลูกที่สูงกว่าบิดามารดา อนุชาตบุตร - ลูกที่เสมอกับบิดามารดา และอวชาตบุตร - ลูกที่ต่ำกว่าบิดามารดา
ที่จัดประเภทอย่างนี้ ถือเอาการกระทำ ถือเอาความประพฤติ เอาคุณธรรม เอาความดีของลูกเป็นเกณฑ์ เอาความดีของพ่อของแม่เป็นเครื่องเทียบ ลูกคนใดทำความดี ทำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่วงศ์ตระกูลเดิมของตน แล้วก็ทำให้วงศ์สกุลของตนได้รับความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นๆ ทำความเจริญ แพร่เกียรติคุณของวงศ์ตระกูลให้กว้างขวางออกไป เป็นคนดี อยู่ในศีล อยู่ในธรรม ลูกคนนั้นจัดว่าเป็นอภิชาตบุตร เกิดมาแล้ว ดีกว่าพ่อกว่าแม่
ลูกคนใดเกิดมาแล้วไม่ดี ไม่ต่ำกว่าบิดามารดา ไม่ทำให้วงศ์ตระกูลเสื่อมลงหรือว่าเจริญขึ้น ลูกที่พอจะอาศัยวงศ์ตระกูลมีชีวิตอยู่อย่างนี้เรียกว่าอนุชาตบุตร แปลว่า บุตรที่เสมอพ่อแม่ วงศ์ตระกูล
ลูกอย่างที่ ๓ คือ อวชาตบุตร “อว” แปลว่าต่ำ แปลว่าลง เป็นลูกชั่ว เกิดมาแล้วมีแต่ล้างผลาญวงศ์ตระกูลให้ฉิบหายวายวอดไป มีความประพฤติต่ำทราม นิสัยชั่วช้าเลวทราม ฉุดเอาศักดิ์ศรีของพ่อแม่ลงสู่ฐานะอันต่ำทราม ลูกประเภทนี้เหมือนกับว่า ฉุดเอาพ่อแม่ลงนรกทั้งเป็น จิตใจมีแต่ความร้อนใจ ซึ่งไม่ต้องพูดถึงว่าจะตายอย่างไรนะ แม้ยังเป็นๆ อยู่ ก็ยังทำให้ตกนรกวันละหลายๆ รอบ ด้วยความเสียอกเสียใจ ร้อนอกร้อนใจ คือเมื่อนึกถึงทีไร ก็มีแต่ความไม่ดีของลูก ไม่มีความชื่นชมยินดีอย่างใดเลย ซึ่งลูกนี้ถึงแม้จะมีความชั่วเลวทรามอย่างไร พ่อแม่ก็ไม่สามารถที่จะตัดให้ขาดได้ เพราะเป็นเหมือนแขนกับขา เป็นเหมือนก้อนเนื้อก้อนเลือด ตัดไม่ขาด ต่อให้คนอื่นมาบอกว่าลูกชั่วอย่างไร เลวอย่างไร ติดคุกติดตะรางอย่างไร พ่อก็คือพ่อ แม่ก็คือแม่ ซึ่งเรื่องนี้ พ่อแม่ทุกคนก็มีความปรารถนาดีต่อลูก อยากให้ลูกได้ดีทุกคนแหละ พยายามส่งเสียลูกให้ได้รับการศึกษา ได้รับการอบรม แต่ถึงกระนั้น ลูกไม่เอาใจใส่ เมื่อพยายามทำจนสุดความสามารถของเราแล้วไม่ได้ดี ก็เป็นเรื่องที่พ่อแม่จะต้องวางอุเบกขา นึกเสียว่า เป็นกรรมของเรา เป็นกรรมของเขา สัตว์โลกไปตามกรรม เพียงแค่มีกรรมสัมพันธ์ร่วมกัน มาเป็นพ่อเป็นแม่ สอนให้ดีอย่างไร แล้วก็ไม่ดีดั่งใจหวัง อย่าได้มีความคิดวิตกทุกข์ร้อนจนเกินไป ซึ่งทำให้เสียการเสียงาน เสียสุขภาพจนเครียด เป็นโรคจิต เป็นโรคประสาท ซึ่งลูกประเภทนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ลูกของเราอย่างเดียว คนอื่นก็มีเช่นกัน มีให้เห็นทั้งโลก
ทีนี้ ธุระของพ่อของแม่ที่จะพึงทำให้แก่ลูกๆนั้นมีอยู่หลายอย่าง ตั้งแต่คลอด ออกมา ตั้งแต่อาบน้ำ ป้อนข้าว ทุกอย่าง ล้างขี้ล้างเยี่ยว จนกระทั่งเติบโต จนกระทั่งแต่งงานเป็นฝั่งเป็นฝา แล้วในที่สุดก็เลี้ยงลูกให้เขาอีก ในฐานะเป็นตา เป็นยาย เป็นปู่ เป็นย่า ถ้าจะนับงานของพ่อของแม่นั้นยังจะมีอีกมาก แต่หน้าที่สำคัญๆ ซึ่งพอประมวลได้นั้น แยกได้สองประการ หนึ่ง เลี้ยงลูกให้โต สอง เลี้ยงลูกให้ดี
ในการที่จะเลี้ยงลูกให้โตนั้น ไม่สู้จะเป็นภาระอะไรมาก แม้แต่สัตว์ทั่วๆ ไป มันก็สามารถทำได้ นกมันก็เลี้ยงลูกให้โตได้ หมาแมวมันก็เลี้ยงลูกให้โตได้ เพราะความเติบโตทางกาย ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายซึ่งมีประจำอยู่แล้ว ส่วนประเด็นที่ ๒ ที่ว่าเลี้ยงลูกให้ได้ดีนั้น มนุษย์เท่านั้นที่จะสามารถทำได้ดี ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูของผู้เป็นพ่อเป็นแม่
มีคติบทหนึ่งในศาสนาพราหมณ์ที่บอกว่า ความทุกข์ของพราหมณ์นี้ เขาทุกข์คือลูกไม่มี พอลูกไม่มีแล้ว กลัวจะไปตกนรกในขุมนรกชื่อว่าปุตตะกะ เพราะไม่มีลูก เพราะฉะนั้น พราหมณ์ทุกคนจึงต้องแต่งงานมีลูกให้ได้ทุกคน จะมีเมียแก่เมียสาวไม่สน แต่ขอให้มีลูก ถ้าใครไม่มีลูกเป็นหมันนี้ทุกข์มาก ทุกข์เพราะลูกไม่มี สอง ทุกข์เพราะลูกตาย สาม ทุกข์เพราะลูกโง่ ลูกชั่ว สามอย่างนี้เป็นทุกข์ของพ่อของแม่อย่างมาก
ปัจจุบันก็อย่างเดียวกันนี้ พ่อแม่บางคนแต่งงานแล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหมัน มีลูกไม่ได้ ทุกข์เพราะลูกไม่มี หรือมีลูกแล้วเกิดมาไม่เท่าไหร่ลูกตาย แต่สุดท้ายทุกข์ใจมากที่สุดคือ มีลูกแต่ว่าลูกชั่ว ประการที่สามนี่แหละ ลูกชั่วเป็นสิ่งที่ร้ายยิ่งกว่าการไม่มีลูก หรือว่าลูกตาย เพราะถึงแม้ไม่มีลูก ก็ทุกข์แค่หน่อยเดียว ลูกตายก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ว่าถ้าลูกชั่ว ลูกโง่นี้ เลี้ยงอย่างไรก็เลี้ยงไม่โต ต้องเป็นภาระของพ่อแม่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะตายลงไปก็ยังมีความกังวลห่วงลูกอยู่อีก นอกจากนั้น พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกมาก็เพื่อมุ่งหวังที่จะให้ลูกได้ดี ซึ่งเป็นคุณธรรมของพ่อของแม่ ลูกที่ไม่ดีนั้นทำให้พ่อแม่ได้รับความลำบาก อับอายขายขี้หน้าชาวบ้านอย่างมากมาย ไม่เป็นที่แช่มชื่นแก่ผู้เป็นพ่อเป็นแม่เลย ฉะนั้น ในมงคลข้อนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสถึงการสงเคราะห์บุตร ก็คือ เลี้ยงลูกให้เป็น เลี้ยงลูกให้ดี จึงจะเป็นมงคล
มงคลข้อนี้ สำหรับคนที่มีลูกเท่านั้น ปุตตะสังคะโห - เลี้ยงลูก คนที่ไม่มีลูกแต่ว่ามีลูกศิษย์ บางทีอาจจะมีลูกน้องพวกพ้องบริวาร ก็รวมเข้าอยู่ในนี้เช่นเดียวกัน ดูแลเขาให้เป็นคนดี ผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นคนดี ลูกศิษย์เลี้ยงให้เป็นคนดี สอนให้เป็นคนดี หรือแม้กระทั่งลูกในไส้ก็ต้องสอนให้เป็นคนดี ในสิงคาลกสูตรเดียวกันนี่แหละ ที่พระพุทธเจ้าสอนว่าคฤหบดีบุตร มารดาบิดาที่เป็นทิศเบื้องหน้า เมื่อลูกๆ เลี้ยงดูบำรุงด้วยฐานะ ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว พ่อแม่ก็ย่อมอนุเคราะห์บุตรด้วยหน้าที่ ๕ ประการ คือ ๑. ห้ามจากความชั่ว ๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี ๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา ๔. หาภรรยาที่สมควรให้ แล้วก็ ๕. มอบทรัพย์สมบัติให้ในเวลาที่สมควร
พ่อแม่ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้บุตรเป็นคนดีหมด บางคนเลี้ยงลูกไม่เป็น ทำการทำงานหนัก เอาโทรศัพท์เลี้ยงลูก ลูกก็เลยติดโทรศัพท์ ติดทีวี ติดเกมส์ ติดนู่น ติดนี่ สุดท้ายติดเพื่อน ลูกก็ไม่ดีหรอก เพราะว่าเลี้ยงไม่เป็น พระพุทธเจ้าจึงสอนเลยว่า พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกให้เป็น คือ ห้ามจากความชั่ว อย่างแรกนี้ อย่าให้ลูกทำความชั่ว จากนั้นสอนเรื่องดีๆ ให้กับลูก ให้ไหว้พระ สวดมนต์ ให้ทำบุญตักบาตร สอนเรื่องดีๆ สอดแทรกเข้าไป ตั้งแต่ก่อนเขาเข้าโรงเรียน เลี้ยงเหมือนไข่ในหินที่หลวงพ่อบอก พอโตขึ้นมาหน่อย ๒ ขวบ ๓ ขวบ ๔ ขวบนี้ ต้องอบรมสั่งสอน ห้ามจากความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี เมื่อถึงเวลา แล้วก็ให้เข้าโรงเรียน ก็เป็นหน้าที่ของครูสอนต่อไป แต่ความเป็นจริงแล้ว อยู่กับพ่อกับแม่นี้ มากกว่าครูที่โรงเรียน หน้าที่ของพ่อของแม่ จึงต้องสอนตลอด เมื่อโตขึ้นมา เรียนจบ เป็นฝั่งเป็นฝาก็หาภรรยาที่สมควรให้
สมัยก่อนนี้ การหาคู่เป็นหน้าที่ของพ่อของแม่นะ ไม่ใช่คลุมถุงชน แต่พ่อแม่รู้ว่าสมควรหรือไม่สมควร นี่คือหน้าที่ของพ่อแม่ที่ดี แล้วก็ประการสุดท้ายที่บอกว่า มอบทรัพย์สมบัติให้ในสมัยเมื่อถึงเวลาอันสมควร รู้ว่าลูกนี้โตพอที่จะดูแลทรัพย์สมบัติได้ ไม่ใช่ให้ไปแล้ว เอาไปล้างผลาญ เอาไปกิน เอาไปดื่ม เอาไปเที่ยวหมด สุดท้ายมีเท่าไหร่ก็เจ๊ง ต้องรู้เวลาสมควรนะถึงจะแบ่งทรัพย์มรดก ไม่ใช่ว่าลูกทุกคนนี้จะสามารถบริหารทรัพย์สมบัติให้มันพอกพูนเจริญมั่นคง ต้องดูอุปนิสัยใจคอของลูก ข้อสุดท้ายบอกว่า มอบทรัพย์ให้ในสมัย
ดังนั้น พ่อแม่ทุกคนนี้ มีความปรารถนาที่จะให้ลูกเป็นคนดีหมดแหละ เป็นคนที่สมบูรณ์เช่นคนอื่น ดังนั้น การสงเคราะห์ลูกก็เป็นการทำให้บุตรมีความสุข มีความคิดถึงคุณธรรมของพ่อแม่ในที่สุด พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นองค์บรมครู ได้ทรงมีพระญาณมองเห็นการณ์ไกล มองเห็นถึงความเจริญความเสื่อมอย่างลึกซึ้ง จึงทรงสอนให้มารดาบิดาสงเคราะห์บุตร ด้วยฐานะ ด้วยหน้าที่ ๕ อย่าง ตัดชั่ว ให้ทำตัวดี ให้มีวิชา ให้มีคู่บุญ แล้วก็เพิ่มพูนความมี นี่แหละเป็นสิ่งที่บิดามารดาต้องช่วยแต่งเติมให้แก่ลูก นอกเหนือจากให้กำเนิดแล้ว จึงจะสมกับเป็นมารดาบิดา ผู้มีคุณธรรม แล้วลูกก็จะต้องมีความกตัญญูตอบแทนต่อพ่อแม่ จึงเป็นมงคลอันสูงสุด เป็นอุดมมงคลทั้งสองฝ่าย
เมื่อลูกเกิดมา พ่อแม่ก็ต้องพาไหว้พระสวดมนต์ พานั่งสมาธิ พ่อแม่นี่แหละสำคัญ ต้องทำให้ลูกเห็น เราต้องขึ้น ต้องยกใจขึ้นสู่ระดับความเป็นมนุษย์ จะเอาแต่ทำเดิมๆ เหมือนสมัยยังไม่ได้แต่งงาน ทำเหมือนตอนเป็นวัยรุ่น อยากเที่ยวก็เที่ยว อยากดูโทรทัศน์ เล่นเกมส์ เล่นโทรศัพท์ ก็ทำเหมือนเดิม แบบนี้จะเอาเวลาที่ไหนมาสอนลูก มันไม่ถูก เราไม่ได้ทำหน้าที่ความเป็นพ่อเป็นแม่ ที่ตั้งมั่นในความถูกต้อง เวลาจะนับถืออะไรก็นับถือแบบงมงาย มาวัด มาหาพระ ก็เพื่อขอให้ธุรกิจหน้าที่การงานไปดี ให้ธุรกิจคล่องแคล่ว อย่างนั้นมันไม่ใช่ศาสนา
เราต้องพากันเสียสละ ต้องขยัน อดทน รับผิดชอบ มันถึงจะรวย ต้องประหยัด ซื่อสัตย์ กตัญญูกตเวที มันถึงจะรวย ไปขออะไรกับพระ พระก็ไม่มีอะไรอยู่แล้ว เพราะละไปหมด เสียสละไปหมด ที่เป็นธรรมเป็นพระวินัย เครื่องรางของขลังอะไรก็ช่วยไม่ได้หรอก ถ้าไม่ขยัน อดทน รับผิดชอบ เรานับถือศาสนา แต่ไม่ไปตามแนวทางศาสนา ไปตามแนวเห็นแก่ตัว ทำให้คนรุ่นใหม่ สมัยใหม่เข้าใจศาสนาผิด เพราะว่าพ่อแม่ไม่ชัดเจนทิ้งหลักเหตุผล หลักวิทยา ศาสตร์ไป เพราะหลักศาสนานี้เหนือหลักวิทยาศาสตร์ไปอีก ที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ความสุขที่ไม่มีโทษ อย่าพากันหลงแต่ในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ที่ภิกษุผู้ต้องการข้าวของเงินทองแสดงธรรม แล้วก็ทำเดรัจฉานวิชา มันทำให้ศาสนาเพี้ยน เพราะยังต้องการวัตถุ ยังไม่ได้ต่อยอดให้กุลบุตรลูกหลานเราเลย อย่าพากันมาหลงงมงาย เราต้องเอาศาสนาแท้ๆ มาประพฤติมาปฏิบัติ อย่าให้มีตัวมีตน ลูกเราหลานเราถ้าทำตามหลักพระศาสนามันไม่จนหรอก เพราะว่าไม่มีอบายมุขไม่มีอบายภูมิ ต้องให้มีความสุขในการเรียน ในการทำงาน มันจะจนได้อย่างไร อบายมุขไม่มี อบายภูมิไม่มี เป็นผู้ที่รวยแบบมีปัญญา เป็นเศรษฐีที่มีปัญญา ถ้าเราทิ้งธรรมะ เขาเรียกว่ารวยแบบไม่มีปัญญา คือแบบโง่ มันไม่ได้ ต้องรวยแบบฉลาด เอาทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา จะได้ไม่พากันหลงประเด็น เราจะได้รู้จักว่า พระที่แท้จริงคือพระธรรม คือพระวินัย ที่จะได้เป็นพระอริยเจ้า มันไม่เกี่ยวกับผู้บวชหรือไม่ได้บวช มันเกี่ยวกับการประพฤติการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็บอกอยู่แล้วว่า ถ้ายังมีการประพฤติปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ อยู่ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ถ้าใครมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง
ศาสนานี้ก้าวไปไกล ถ้ายังทำสะเปะสะปะอยู่นี้ ไม่ใช่ศาสนาหรอก มันเป็นความหลงงมงาย หลงที่พากันมาขายบุญ ขายสวรรค์ ขายวิมาน ไม่ได้สอนให้คนเกิดสัมมาทิฏฐิเต็มร้อย เพราะธรรมไม่ได้ออกมาจากพระอรหันต์ ส่วนใหญ่ก็ออกมาจากภิกษุ ภิกษุหลายแสนรูปนี้ บางทียังไม่ได้เป็นพระธรรม เป็นพระวินัย มันถึงได้ยุ่ง
ประชาชนคนรุ่นใหม่ สมัยใหม่ ให้พากันฉลาดขึ้น พัฒนาถึงเรื่องจิตเรื่องใจ พัฒนาทั้งหน้าที่การงานให้ไปพร้อมๆ กัน จะได้เป็นทางสายกลาง ครอบครัวเราจะได้ไม่เจ็บไปมากกว่านี้ ไม่บอบช้ำมากกว่านี้ เราทุกคนที่ตาบอด ตาไม่สว่าง ก็ต้องมารักษาดวงตา ต้องประพฤติต้องปฏิบัติ เน้นลงที่ปัจจุบัน มันไม่สายหรอก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “บุคคลใดประพฤติปฏิบัติชอบในมารดาบิดา ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระสาวกของพระพุทธเจ้า คนเช่นนั้นย่อมได้บุญมากแท้ เพราะความประพฤติธรรมในมารดาบิดาในโลกนี้ บัณฑิตทั้งหลายสรรเสริญเขา ครั้นละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์จนกว่าจะถึงมรรคผลพระนิพพาน”
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องผ่านหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ อย่าได้มาแผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee