แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันศุกร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๙ เป็นผู้มีวินัยรักษาตัวและการพูดให้ดีมีประโยชน์ไพเราะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ ช่วงนี้การบรรยายธรรมะในเรื่องของการเปลี่ยนฐานชีวิตจิตใจให้เป็นมงคล วันนี้ขึ้นมงคลข้อที่ ๙ ข้อที่ ๑๐ มงคลข้อที่ ๙ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ คือ “วินโย จ สุสิกฺขิโต” หมายความว่า มีวินัยที่ศึกษาไว้ดีแล้ว เมื่อวานความหมายของมงคลข้อที่ ๗ ที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนให้คนเราต้องเรียนความรู้ทางโลกแล้วก็ทางศีลธรรมไปด้วย เพราะว่าจะมีแต่ความรู้อย่างเดียวไม่ได้ ลองพิจารณาดูว่า ถ้าคนเรามีความรู้ ความเป็นคือศิลปะ ทำเป็น แต่ขาดความรู้ทางศีลธรรมที่เรียกว่าวินัย ก็จะมีทั้งคุณและก็โทษเท่ากัน เหมือนดาบสองคน เพราะความรู้และความเป็นนั่นแหละ คนเราจึงสามารถที่จะทำทุจริตต่อหน้าที่ คดโกงต่างๆ แล้วก็ต้องติดคุกติดตะราง หนีอบายภูมิไม่รอด เพราะมีความรู้แต่ทางโลก เป็นผู้เก่ง มีความรู้ มีความเก่ง ฉลาด แต่ขาดวินัย ขาดคุณธรรม จึงเป็นเหมือนกับว่า พัฒนาแต่ภายนอก แต่ไม่ได้พัฒนาภายใน มี IQ แต่ไม่มี EQ นั่นเอง สุดท้ายจึงหนีอบายภูมิไม่พ้น
พระพุทธองค์ทรงสอนให้เป็นผู้มีความรู้ รู้จักธรรม แล้วจึงทรงสั่งสอนไว้ว่า ต้องมีวินัย ตามมงคลข้อนี้ พระพุทธพจน์ที่ว่า “วินโย จ สุสิกฺขิโต” คือแปลว่ามีวินัยที่ได้ศึกษามาดีแล้ว ในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๒ อย่าง คือ คำสั่งกับคำสอน วินัยเป็นคำสั่ง หมายความว่า สั่งให้ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ไม่ให้ทำอย่างนั้นไม่ทำอย่างนี้ อันนี้คือเป็นลักษณะของวินัย การดำเนินชีวิตของเรามีอยู่ ๒ ทาง คือ ทางโลกกับทางธรรม ในตัวเราก็มีความสำคัญอยู่ ๒ อย่าง ก็คือชีวิตกับจิตใจ ชีวิตคือความเป็นอยู่ ต้องขึ้นอยู่กับโลก ต้องพึ่งโลก ชีวิตจึงจะเจริญก้าวหน้าได้ ส่วนจิตใจนั้นต้องอาศัยธรรม การอบรมจิตใจทางธรรม จึงจะทำให้จิตใจของเราเจริญก้าวหน้าได้ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องดำเนินชีวิตให้สอดคล้องทั้งสองทาง วินัยที่จะเป็นเครื่องมือในการกำกับความรู้ จึงมี ๒ อย่างด้วยกัน ก็คือวินัยทางโลก ที่เรียกว่า”อาคาริยวินัย” คือวินัยของผู้อยู่ครองเรือน แล้วก็วินัยทางธรรมเรียกว่า “อนาคาริยวินัย” คือวินัยของอนาคาริก ผู้ที่ไม่มีบ้าน ก็คือวินัยของนักบวชนั่นเอง
การอยู่รวมกันเป็นหมู่มากที่จะให้ความสุขได้นั้น ต้องอาศัยวินัยเป็นเครื่องควบคุมความเป็นอยู่ ชาวบ้านที่อยู่ทางโลกก็ต้องรักษาวินัยทางธรรมด้วย ส่วนพระสงฆ์สามเณรที่อยู่ทางธรรม ก็ต้องรักษาวินัย รู้จักวินัยทางโลกคือกฎหมายบ้านเมืองด้วย ถ้าเราทิ้งทางใดทางหนึ่งแล้ว จะเป็นผลเสียอย่างมาก เช่น ทางโลกไม่มีวินัยทางธรรมกำกับ ก็เสียผลทางด้านอบรมจิตใจ ทางธรรมถ้าไม่รู้จักวินัยทางโลก ก็จะส่งผลเสียที่เป็นโลกวัชชะ แล้วก็ไม่มีความราบรื่นในชีวิต ถ้าใครทิ้งทั้งสองทาง คนๆนั้นเหมือนหลับตาเดิน มีแต่ภัยอันตรายรอบด้าน พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “โน เจ อสฺส สกา พุทฺธิ วินโย วา สุสิกฺขิโต วเน อนฺธมหีโสว จเรยฺย พหุโก ชโน” พฤติการณ์ คือความประพฤติของคนหมู่มากที่ไม่มีความรู้รักษาตัว ก็คือไม่มีวินัย จะเป็นเหมือนกับกระบือบอดที่เที่ยวอยู่ในป่าดง พระพุทธเจ้าเปรียบง่ายๆ คนที่ไม่มีความรู้รักษาตัว แล้วก็ไม่มีวินัยที่ศึกษาดี จะเป็นเหมือนควายตาบอดเที่ยวอยู่ในป่า มันมีแต่อันตราย ไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นบ่อ เป็นหุบเหว ไม่รู้ตรงไหนเป็นที่มีหนาม ไม่มีหนาม ไม่รู้ตรงไหนมีอันตราย ไม่มีแต่อันตราย ป่านี้มีภัยอันตรายรอบด้าน ยิ่งตาบอดด้วยแล้ว ไม่นานก็ต้องตาย ต้องได้รับอันตรายเจียนตาย เพราะฉะนั้น วินัยจึงเป็นเครื่องรักษาตน
ความหมายของทางรูปศัพท์ วินะยะหรือวินัย มูลศัพท์เดิม มาจาก วิ-บทหน้า วิ-ที่เป็นอุปสรรคนำหน้า นี-ธาตุในความนำไป วิ แปลได้ ๓ อย่าง ที่ท่านแปลไว้ แปลว่าวิเศษก็ได้ แปลว่าแจ้งก็ได้ แปลว่าต่างๆ ก็ได้ เมื่อเอาคำว่าวิ-มานำคำว่า-นี แล้วก็แปลง-อี เป็นอัยยะ สำเร็จรูปเป็นวินะยะ จึงเป็นวินัย วินัยแปลว่า นำผู้ประพฤติผู้ปฏิบัตินี้ให้วิเศษขึ้น ลองดูอย่างเช่นว่า วินัยก็คือศีลของสามเณร ทำเด็กน้อยเด็กชายคนหนึ่งให้เป็นสามเณรขึ้นมา วินัยที่เป็นศีล ๘ ทำให้อุบาสกอุบาสิกาเป็นผู้ที่ยกระดับขึ้นมา ถือศีลอุโบสถหรือแม้กระทั่งเป็นแม่ชี วินัยหรือว่าศีลที่เป็นของภิกษุ ภิกษุณี ยกระดับผู้ชายคนนั้น ผู้หญิงคนนั้นให้มีเพศที่สูงส่งขึ้น จึงเป็นการนำไปพิเศษ แล้วก็นำไปสู่ความรู้แจ้ง คือวินัยนี่แหละที่เป็นเครื่องขัดเกลา ธรรมะรักษาใจ วินัยรักษาตัว จะรักษาไปอย่างนี้ แล้วก็นำไปสู่ความพิเศษด้านต่างๆ แม้กระทั่งเป็นผู้ที่ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ จนกระทั่งถึงนิพพานสมบัติก็ได้ด้วยวินัย วินัยกับศีลคืออย่างเดียวกัน วินัยทางโลก หมายถึงว่า ระเบียบการควบคุมในสังคมๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นข้อบังคับของสังคม เรียกกันหลายอย่างเป็นต้นว่า พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนด กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบแบบแผน ธรรมเนียม คำสั่ง กติกาและอีกหลายๆ อย่าง ที่เป็นกฎระเบียบของสังคมนั้นๆ สิ่งเหล่านี้จัดเป็นวินัยทางโลกทั้งสิ้น นักปราชญ์ทุกชาติทุกภาษา ต่างกล่าวกันด้วยเสียงเดียวกันว่า วินัยเป็นข้อแตกต่างที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์ทั่วๆ ไป มนุษย์นี้มีจารีตประเพณีเพื่อดำเนินวิถีชีวิตของหมู่คณะ มีศาสนาเป็นเครื่องคุ้มครองใจ มีปัญญาสามารถถอดเอาความรู้สึกทางดีงามสร้างขึ้นเป็นศิลปกรรม เป็นสิ่งเป็นอย่างต่างๆ เพื่อความสุขสดชื่นบันเทิงแก่จิตใจ แล้วก็มีภาษาเป็นเครื่องถ่ายทอดความรู้ต่างๆ เหล่านี้ เป็นเครื่องแตกต่างที่มนุษย์มีมากกว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของสังคมที่อยู่ด้วยกันด้วยความสงบสุขนั้น ต้องมีวินัยเป็นเครื่องควบคุมทั้งสิ้น เช่น จะทำธุรกิจ ทำการค้า จะแต่งงาน จะหย่าร้าง จะเดินทางไปทางบก ทางอากาศ ก็มีวินัยควบคุมไว้ทั้งสิ้น ซึ่งเราก็เห็นชัดเจนอยู่ในชีวิตประจำวัน แม้เวลาที่ชกต่อยกันก็ยังต้องมีวินัย ต้องมีกติกาเลย นักมวยนี่ หรือแม้แต่จะรบราฆ่าฟันกันก็ต้องมีวินัย คือเป็นวินัยของนักรบ วินัยของการทำศึก เป็นยุทธวินัย เพื่อที่จะได้ยุทธพิชัย นี่แสดงให้เห็นว่า วินัยเป็นสิ่งที่ทั่วโลกรับรอง แม้แต่กระทั่งเราจะเลือกบุคคลใดมาเป็นผู้นำ เราก็ต้องดูว่าผู้นั้นมีวินัยหรือไม่ เคารพกติกาหรือไม่ เคารพกฎหมายบ้านเมือง อยู่ในกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่ การเลือกคนที่ไม่มีวินัย ไม่รู้จักวินัย ไม่มีศีลไปเป็นผู้บัญญัติวินัยไปเป็นผู้บัญญัติกฎหมาย นับว่าเป็นการกระทำที่ผิดอย่างช่วยไม่ได้เลยทีเดียว เหมือนกับเลือกเอาปีศาจไปเป็นหมอรักษาคนไข้
ในทางธรรมก็เหมือนกัน ทุกๆ ศาสนาย่อมจะมีข้อบัญญัติไว้สำหรับศาสนิกชนในศาสนานั้นๆ ในพระพุทธศาสนาก็ได้บัญญัติพระวินัยสำหรับพุทธศาสนิกชนเอาไว้อย่างครบถ้วน โดยแยกออกเป็น ๒ อย่างง่ายๆ คือ อาคาริยวินัยเป็นวินัยของชาวบ้าน แล้วก็อนาคาริยวินัยเป็นวินัยของชาววัด คือ ภิกษุ สามเณร เป็นต้น ใครอยู่ในประเภทไหน ก็รักษาวินัยประเภทนั้นของตนเอาไว้ให้ดี วินัยจึงเป็นศีล พูดให้ลึกเข้ามา ชัดเจนขึ้นมา ก็คือศีลนั่นเอง ศีลที่เป็นวินัยของชาวบ้าน ก็คือศีล ๕ ศีล ๘ ศีลที่เป็นวินัยของชาววัด ก็คือ ศีล๑๐ ศีล ๒๒๗ ศีล ๓๑๑ แล้วก็ศีล ๔ คือ ปาฎิโมกขสังวรศีล อินทรียสังวรศีล ปัจจเวกขณศีล ปัจจยสันนิสิตศีล เป็นต้น
คำว่าศีล มีรากฐานมาจากคำว่า”ศิระ”แปลว่ายอด หมายความว่า เป็นสิ่งที่อยู่บนจุดที่สูงที่สุด อยู่ peak เลย ผู้ใดก็ตามรักษาศีลเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ผู้นั้นจะเป็นผู้มีใจสูง มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพราะ ”มนุษย์” แปลว่าผู้มีใจสูง นอกจากนี้ยังได้ชื่อว่า เป็นยอดคนทีเดียว มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่ว จะได้รับความเคารพนับถือจากสัตบุรุษคนดีทั้งหลาย อีกความหมายหนึ่ง ศีล มาจากคำว่า”สีละ” สีละที่แปลว่าปกติ โดยธรรมชาติของสัตว์จะรักแล้วก็หวงแหนชีวิตของตนเองรวมถึงสิ่งต่างๆ ที่เป็นของตน ดังนั้น เมื่อเกิดความรู้สึกเช่นเดียวกันอย่างนี้แล้ว จึงเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า หากเราจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขได้ ต้องมีการรักษาศีล เพราะศีลเป็นปกติของมนุษย์ทั้งหลาย ถ้าใครมีศีลครบถ้วนบริบูรณ์ก็เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ได้รับความไว้วางใจ ไม่มีความระแวงเกิดขึ้นในหมู่คณะ ศีลจึงเป็นปกติของมนุษย์ ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ลักขโมยของใครเป็นต้น นอกจากนี้ คำว่าศีล ยังมาจากคำว่า “สีตะละ” ที่แปลว่าเย็น เพราะว่าใครก็ตามทีเป็นผู้มีปกติรักษาศีลอยู่ทั้งวันทั้งคืน ผู้นั้นจะเป็นผู้ที่มีความเย็นกายเย็นใจ เหมือนผู้ที่มีร่างกายสกปรก เมื่อได้อาบน้ำชำระร่างกาย นั่งพักอยู่ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ที่มีร่มเงาแผ่ขยาย จะเกิดความรู้สึกเย็นกายเย็นใจ สบายอกสบายใจ พลอยทำให้ผู้ที่ได้เข้ามาอยู่ใกล้ๆ ก็เกิดความรู้สึกเย็นกายเย็นใจไปด้วย ศีลยังมาจากคำว่า “ศิวะ” แปลว่าปลอดโปร่ง เพราะผู้ที่รักษาศีลจะเป็นผู้ที่มีจิตใจปลอดโปร่งโล่งสบาย เนื่องมาจากมีความบริสุทธิ์ภายใน ความบริสุทธิ์นั้นจะทำให้ใจเบิกบานผ่องใส นำความปลอดโปร่งปลอดกังวลมาให้ตลอดเวลา กระแสแห่งความบริสุทธิ์ที่เกิดจากการรักษาศีล จะเอิบอาบอยู่ในใจไม่เสื่อมคลาย ทำให้รู้สึกเป็นสุขใจ แม้แต่เวลาตรึกระลึกย้อนหลังถึงการกระทำที่บริสุทธิ์ของตน ก็เกิดความปีติ มีความเบิกบานใจ ไม่มีเวรไม่มีภัยกับใคร ดังนั้น ศีลคือวินัยนี้จึงเป็นคุณธรรมที่นำไปสู่คุณธรรมภายในยิ่งๆ ขึ้นไป ทำให้คนเป็นยอดคนที่สมบูรณ์ มีชีวิตที่ปลอดโปร่งปลอดกังวลปลอดจากภัยทุกชนิด เพราะศีลจะคุ้มครองผู้ที่รักษาไว้เป็นอย่างดี
ทีนี้ อาคาริยวินัยเป็นวินัยของชาวบ้าน เป็นของคนที่ครองเหย้าครองเรือน ได้แก่ศีล ๕ ศีล ๘ ใครจะเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ในสองอย่างนี้ ความมุ่งหมายของศีล ๕ นั้น ก็คือว่า เพื่อเป็นการรักษาความสงบ ความสามัคคี แล้วก็เมตตาธรรมแก่สังคม ซึ่งเราจะเห็นได้ดังตัวอย่างข้อที่ ๑ ที่ว่าห้ามฆ่าสัตว์ เราลองนึกถึงตัวของตัวเองเป็นเกณฑ์ว่าเรามีความรักชีวิตหรือไม่ เราก็ต้องยอมรับว่ารักชีวิตด้วยกันทุกคน ทุกคนกลัวตาย ถ้าใครจะมาฆ่า เราจะทำอย่างไร แน่นอนว่าต้องต่อสู้ป้องกันตัว ถ้าสมมุติว่าถ้าเราไม่มีวินัยข้อนี้แล้ว คิดดูให้ดีว่า จะมีความสุขอยู่หรือไม่ จะต้องรบราฆ่าฟัน ประหัตประหารชีวิตกัน เพราะฉะนั้น วินัยข้อนี้จึงเป็นการรักษาสิทธิชีวิตของกันและกัน พร้อมกันนั้น เป็นเหตุให้มีความเมตตาซึ่งกันและกันด้วย ในข้อที่ ๒ ห้ามการลักทรัพย์ เพราะเป็นการทำให้ได้รับความเดือดร้อน เพราะทรัพย์เป็นของที่หามาได้ด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของตน การลักทรัพย์ไม่ทำให้คนเป็นคนได้ เพราะการลักทรัพย์ แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน เช่น หมา แมว กา ไก่ ก็ยังรู้จักเลยว่าการลักของของคนอื่นเป็นอย่างไร แล้วเราเป็นมนุษย์ แต่การกระทำไม่แตกต่างจากสัตว์ที่เป็นเดรัจฉาน มันก็น่าละอาย เพราะว่า สุนัข สัตว์เดรัจฉานบางตัว มันก็รู้ว่าเป็นของของเขา มันก็ไม่แย่งกัน บางตัวมันก็แย่งกัน แต่ถ้าคนเรานั้น ถ้าไปแย่งไปชิง ไปขโมย ไปฉ้อไปโกง จิตมันอยู่ในระดับเดียวกับสัตว์เดรัจฉาน มันก็น่าละอายใจ ทีนี้ วินัยข้อที่ ๓ ห้ามประพฤติ ผิดในของรักของหวงของผู้อื่นที่เป็นบุคคล ข้อ ๒ ก็คือ ไม่ลักไม่ขโมย ไม่ผิดในสิ่งที่เป็นวัตถุ ข้อ ๓ สิ่งของที่มีชีวิตจิตวิญญาณ ก็คือลูกเขา เมียเขา สามีเขา เพราะการเป็นชู้นั้น เป็นการข่มเหงน้ำใจ ของใครใครก็รัก ของใครใครก็หวง มันก่อให้เกิดความแตกร้าวของสังคม จากคนที่เคยรักกันดีๆ พอมีเรื่องแบบนี้ มีมือที่สามเข้ามาเมื่อไหร่ มันก็แตกร้าว ยากที่จะประสาน ครอบครัวก็แตกแยก เพราะฉะนั้น ศีลข้อ ๓ จึงมาคุ้มครองตรงนี้ วินัยในข้อที่ ๔ ที่เว้นจากการพูดเท็จ เพราะการพูดโกหกนั้นเป็นการทำลายประโยชน์ของผู้อื่น ทางศาสนาตำหนิมาก ทุกศาสนามีกฎข้อนี้หมด เรื่องการพูดโกหก ทุกคนมีศาสนา แต่ว่าจะทำตามศาสนาหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะเรื่องคำพูดนี้เป็นเรื่องที่หลุดง่ายมากในแต่ละวันๆ วินัยข้อที่ ๕ คือเว้นจากการดื่มสุราเมรัยเครื่องมึนเมา เพื่อต้องการให้คนเรามีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกรับผิดชอบ ไม่เป็นคนที่ประมาทมัวเมา เพราะรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คนเราต่อให้ร่างกายพิกลพิการนี้ ยังรักษาศีล ๕ ได้ แต่ถ้าดื่มน้ำเมาไปเมื่อไหร่ ต่อให้มีร่างกายอยู่ดีๆ ศีลมันผิดหมด เพราะคุมตัวเองไม่อยู่ มันเมาไปแล้ว มันมึนไปแล้ว สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว ในทางการแพทย์ โรคที่เกิดขึ้นมี ๒ ประเภท ๑. โรคประจำสังขารคือโรคชรา โรคแก่ โรคที่เกิดจากเชื้อโรคที่ระบาดเป็นครั้ง เป็นคราว อย่างเช่นโควิด เป็นต้น แล้วก็ ๒. โรคที่เกิดจากการประพฤติผิด ทีนี้ ในศาสนาเราสอนละเอียดลึกลงไปอีกว่า คนที่ขาดศีลข้อที่ ๑ นี้ จะทำให้อายุสั้น เช่น บุคคลประเภทมาเฟีย เจ้าพ่อทั้งหลาย ฆ่าคนมามาก ลงท้ายก็โดนเขาฆ่า ศีลข้อที่ ๒ เป็นโรคทำให้เกิดโรคประสาท เช่น ผวา เป็นโรคจิต ถ้าใครขาดศีลข้อที่ ๓ ไปมั่วคนอื่น เห็นๆ เลย เกิดกามโรค โรคต่างๆ ที่มันเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ แล้วก็แรงที่สุดก็คือโรคเอดส์เป็นได้ง่าย ขาดศีลข้อที่ ๔ ทำให้เกิดของโรคความจำเสื่อม ผู้ที่โกหกมากๆ เข้า ลงท้ายแม้กระทั่งตัวเองก็หลงลืมว่า ตัวเองพูดอะไร เป็นเรื่องจริงหรือโกหก หลงๆ ลืมๆ เป็นโรคความจำเสื่อม เป็นอัลไซเมอร์ มีผลกระทบมาจากศีลข้อที่ ๔ ขาดศีลข้อที่ ๕ อันนี้เห็นได้ชัดเลย เกิดพิษสุราเรื้อรัง โรคตับแข็ง เกิดการทะเลาะวิวาท สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เป็นโรคเครียด เป็นโรคจิต เป็นโรคประสาท สารพัดรวมอยู่ในข้อที่ ๕ หมดเลย ดังนั้น หากเรารักษาศีล ๕ ได้ ก็เหมือนได้ฉีดวัคซีนป้องกันสารพัดโรคไว้แล้วที่จะเกิดในอนาคต
ทีนี้สำหรับฆราวาสญาติโยม ในวันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ คือทุกๆ เจ็ดวันนี้ ก็ควรถือศีล ๘ ซึ่งมีข้อเพิ่มเติมมาจากศีล ๕ ดังนี้ ศีลข้อที่ ๓ เปลี่ยนจากการประพฤติผิดในกาม มาเป็นเว้นจากการเสพกาม จึงเป็นการประพฤติพรหมจรรย์ ทำได้สักวันหนึ่งก็ยังดี อริยสาวก พระโสดาบัน สกทาคามี ในอดีตที่เป็นฆราวาสนี้ ท่านถือศีล ๘ สัปดาห์ละครั้ง ก็คือ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ บางท่านถือมากกว่านั้นคือ วันโกนวันพระเลย ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เท่ากับว่า เดือนหนึ่งถือศีลอุโบสถ ๘ วัน พระอริยเจ้าที่เป็นญาติโยมสมัยก่อนทำกันอย่างนั้น ศีลข้อที่ ๖ ที่ว่า เว้นจากการกินอาหารในยามวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงรุ่งเช้าอีกวันหนึ่ง แล้วก็ศีลข้อที่ ๗ เว้นจากการตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับของหอม เว้นจากการดูการละเล่น ดูหนัง ฟังเพลง อินเทอร์เน็ต facebook พวกนี้ ก็รวมอยู่ในศีลข้อ ๗ ศีลข้อที่ ๘ เว้นจากการนอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่มสูงใหญ่ ศีลข้อที่ ๖ ที่ ๘ นี้ ทำไมศีลอุโบสถต้องมีขึ้นมา ต้องเพิ่มข้อ ๖ ข้อ ๗ ข้อ ๘ แล้วเปลี่ยนจากข้อ ๓ จากไม่ให้มีเพศ สัมพันธ์ เป็นการเว้นจากการเสพกาม เพื่ออะไร? เพื่อจะควบคุมความรู้สึกทางเพศไม่ให้เกิดขึ้นเกินส่วน นั่นก็คือ ช่วยเป็นการคุมกำเนิดโดยธรรมชาติ เป็นการลดช่องว่างระหว่างชนชั้น ไม่มีการแข่งขันประดับประดาร่างกาย ใช้ชีวิตด้วยความเป็นอยู่อย่างหรูหราฟุ่มเฟือย อวดกันด้วยของแบรนด์เนมต่างๆ ที่โลกสมมุติขึ้นมาว่าอันนี้เป็นของแพง เป็นของถูก อันนี้เป็นของ copy อันนี้เป็นของจีนแดง อย่างนี้เป็นต้น ที่สมมติกันมา เพราะคนนี้แหละให้ค่า คนไม่รู้จักก็เฉยๆ คนไม่รู้จักว่าอันนี้เป็นของแบรนด์ เขาเฉย มันแพงตรงไหน มันแพงได้อย่างไร เพราะมนุษย์กลุ่มๆ หนึ่งไปให้ความสำคัญกับมันว่าอันนี้เป็นของแพง ก็เท่านั้นเอง เป็นต้น ศีลข้อที่ ๘ ก็มาควบคุมตรงนี้ แล้วก็เป็นการทำให้จิตใจสงบเบื้องต้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงธรรมะขั้นสูงต่อไปได้โดยง่าย ที่ว่ามาทั้งหมดคือ อาคาริยวินัย คือวินัยของชาวบ้านที่เป็นพุทธ
ต่อไป อนาคาริยวินัย วินัยที่เป็นวินัยสำหรับพระภิกษุโดยเฉพาะ วินัยของพระภิกษุโดยเฉพาะก็มีอยู่ ๔ คือ ปาฏิโมกขสังวรศีล มีความสำรวมในพระปาติโมกข์ ได้แก่ศีล ๒๒๗ เป็นต้น อันนี้ได้อธิบายไว้มาหลายรอบแล้ว อินทรียสังวรศีลคือ การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่การมองด้วยการรวบถือว่าคนนั้นคนนี้สวย หรือว่าเจาะจงเฉพาะอวัยวะว่าคนนี้ผมสวย คนนี้หน้า คนนี้จมูกโด่ง คนนี้ดั้งแหมบ คนนี้หน้าขาว คนนี้เป็นอย่างนี้ ที่เจาะจงว่าสวยอย่างนั้นสวยอย่างนี้ เมื่อสำรวมอินทรีย์ ๖ มันจะช่วยระงับอาการเหล่านี้ไป เพราะรู้จักสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือเห็นก็สักแต่ว่าเห็นได้ ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยินได้ เป็นต้น อาชีวปาริสุทธิศีล การแสวงหาการการเลี้ยงชีพในทางที่บริสุทธิ์ ไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีพ เช่น ทำเดรัจฉานวิชาเพื่อหวังลาภสักการะ เป็นต้น แล้วก็อย่างที่ ๔ คือ ปัจจัยสันนิสิตศีล ได้อะไรมาก่อนจะบริโภคต้องพิจารณาก่อน ทุกอย่างที่เป็นปัจจัย ๔ เหล่านี้เป็นกุศลโดยย่อหรือว่าวินัยของพระ ซึ่งเรียกว่า อนาคาริยวินัย ถ้าจะถามว่าผู้ที่ไม่รักษาวินัยทั้ง ๔ อย่างนี้จะเป็นอย่างไร? ท่านก็แก้ว่า ภิกษุผู้ไม่รักษาวินัย ๔ อย่าง คือ ปาฏิโมกขสังวรศีล อินทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีลและปัจจัยสันนิสิตศีล นี้ชื่อว่าเป็นอลัชชี คือ ผู้ไม่มียางอาย เป็นผู้ย่ำยีศาสนา ตายลงไปแล้วย่อมไปเกิดในอบายภูมิอย่างแน่นอน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสไว้นะว่า “สีลเมวิธ สิกฺเขถ อสฺมึ โลเก สุสิกฺขิตํ สีลํ หิ สพฺพสมฺปตฺตึ อุปนาเมติ เสวิตํ” ท่านทั้งหลาย พึงรักษาเรื่องศีลในศาสนานี้ บุคคลศึกษาดีแล้วก็คือรักษาไว้อย่างดี ย่อมนำสมบัติทุกอย่างมาให้ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลย่อมถึงโภคทรัพย์ได้ด้วยศีล “สีเลน โภคสมฺปทา” บุคคลจะไปสู่สุคติได้ก็ด้วยศีล “สีเลน สุคตึ ยนฺติ” สุดท้าย “สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ” บุคคลจะถึงความดับ ดับตรงนี้ก็คือดับกิเลส คือพระนิพพานได้ ก็ด้วยศีล
อานิสงส์ของศีลท่านก็สรุปไว้ว่า
๑. เป็นทางมาแห่งโภคทรัพย์สมบัติ ทำให้สามารถใช้ทรัพย์ได้เต็มอิ่มโดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงคืน มนุษย์สมบัติเต็มอิ่มบริบูรณ์เต็มที่
๒. ทำให้มีชีวิตอยู่ด้วยความเป็นสุข ไม่ต้องหวาดระแวงว่าใครจะมาปองร้าย
๓. ทำให้เกียรติคุณฟุ้งขจรไปว่า เป็นคนเชื่อถือได้ เป็นคนดี มีอนาคตไกล
๔. ทำให้แกล้วกล้าอาจหาญในท่ามกลางประชุมชน จะเข้าไปสู่กลุ่มคนใดๆ ก็องอาจกล้าหาญ เพราะว่าใจนี้ผ่องแผ้ว ไม่มีการประพฤติที่มันปกปิดซ่อนเร้น น่าละอาย น่ารังเกียจอยู่เบื้องหลัง ไม่มีนอก ไม่มีใน ไม่มีเบื้องหน้า ไม่มีเบื้องหลัง ต่อหน้าทำอย่างไร เบื้องหลังก็ทำอย่างนั้น ไม่มีนอก ไม่มีใน เข้าไปสู่ชุมชนใดๆ ก็เป็นผู้องอาจแก้วกล้า
๕. ทำให้เป็นคนไม่หลงลืมสติ มีความจำดี
๖. ตายไปแล้ว ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เป็นทางดำเนินไปสู่มรรคผลพระนิพพานได้ในที่สุด นี่คืออานิสงส์ของศีล อานิสงส์ของวินัยที่รักษาเอาไว้อย่างดี
วินัยกับศีลก็คืออันเดียวกัน แต่วินัยนี้มันย่อยจะเป็นหลายข้อ ที่เป็นภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ จะไปทำตามใจตัวเองไม่ได้ ทำตามอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ ทำตามความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ ต้องเอามาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง ประพฤติปฏิบัติเรียกว่าศีล เรียกว่าพระวินัย เพราะว่าวินัยเป็นพื้นฐานของความดี เป็นสัมมา ต้องประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ ถ้าเราไม่มีพระวินัย มันก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจ ไม่มีภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติว่าเราต้องคิดอย่างนี้เพื่อลงรายละเอียด พระวินัยต่างๆ ต้องเอาธรรมเป็นหลัก อย่างกฎหมายบ้านเมืองอย่างนี้ ถ้าไม่เอาธรรมเป็นหลัก อย่างนี้ก็ถือว่ายังไม่ถูกต้อง เช่น ออกกฎหมายบ้านเมืองทำแท้ง อนุญาตให้ตั้งโรงเบียร์ โรงเหล้า บ่อนคาสิโน ให้มีโรงฆ่าสัตว์ อย่างนี้ จริงอยู่ มันเป็นกฎหมาย แต่มันขัดกับธรรม ขัดกับธรรมะ วินัยต่างๆ จึงต้องอ้างอิงธรรมะ เพราะการประพฤติการปฏิบัติต้องเอาธรรมะเป็นหลัก เอาธรรมะเป็นใหญ่ จึงจะเป็นธรรมวินัย ธรรมะเป็นสิ่งที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล เราเขา ไม่ได้เป็นนิติบุคคล ธรรมะเป็นสภาพบริสุทธิ์ ไม่เกิดจากการปรุงแต่งที่เกิดจากอวิชชา เกิดจากความหลง ถึงต้องมีพระวินัย เพื่อใจจะได้เข้าหาธรรม ใจจะได้เข้าถึงศาสนา เพราะศาสนาคือความดี คือธรรมะ ผู้ที่ทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ถือว่าไม่มีระเบียบ ไม่มีวินัย ถือว่าวินัยนั้นยังเป็นวินัยที่ไม่เป็นธรรม หรือว่ายังทำไม่ถูกต้อง ศาสนาถึงเป็นความดี เป็นสิ่งที่ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญแต่กุศล ทุกคนต้องรู้จักทุกข์ รู้เหตุให้เกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ต้องเข้าสู่ระเบียบ สู่ธรรมะ สู่พระวินัย เราดูตัวอย่าง อย่างพระพุทธเจ้าสอนพระวินัยของพระ อยู่ในหมวดของพระวินัยตั้ง ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพื่อจะได้ให้ทุกคนไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ตามอารมณ์ตัวเอง ไม่ตามความรู้สึก เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นหลัก เรียกว่าเข้าสู่ความบริสุทธิ์เป็นพรหมจรรย์
เราทุกคน ทุกครอบครัวของเรานี้ ต้องปรับตัวเข้าหาศีลธรรม เข้าหาพระวินัย ไม่ใช่ปรับศีลปรับวินัยเข้าหาตัวเอง แบบนั้นไปไม่รอด ทุกคนพากันทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้จะได้มีศีลเสมอกัน เมื่อการเรียนการศึกษาไม่เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ไม่มีระเบียบ ไม่มีวินัย สมอง สติปัญญาของเรานั่นแหละ มันจะเอาไปใช้ในทางที่ผิดมิจฉาทิฏฐิ มันเข้าสู่ความสงบไม่ได้ เข้าสู่สันติไม่ได้ การเรียนการศึกษาเพื่อทำร้ายตัวเองและพวกพ้อง เรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ การปล่อยวางต้องปล่อยวางทิฏฐิ มานะ อัตตา ตัวตน ไม่ใช่ปล่อยวางพระวินัย เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เพราะว่ามันเป็นภาคจำเป็นของเราทุกๆ คน ถ้าไม่อย่างนั้น เราจะเป็นพระธรรมเป็นพระวินัยไม่ได้ เราจะเป็นพ่อเป็นแม่ที่ดีไม่ได้ ทุกคนถึงมีความจำเป็นต้องเรียนต้องศึกษา เพื่อเราจะได้ปรับกายวาจาปรับใจเข้าหาธรรมะ เข้าหาพระวินัย วัดถึงจะเป็นข้อวัตรข้อปฏิบัติ ผู้ที่บวชมาจะได้พัฒนาตัวเองจากภิกษุ จะได้เป็นพระธรรม เป็นพระวินัย จะได้เป็นสมณะผู้ไม่ทำบาปทั้งปวง ผู้ไม่ทำตามใจ ตามอารมณ์ตัวเองจะได้เป็นพระอริยเจ้า ส่วนประชาชนที่อยู่ทางบ้านก็เหมือนกัน ก็ต้องพากันทำอย่างนี้ เราทำอย่างนี้ ครอบครัวเราถึงจะมีความสุข มีความอบอุ่น ถ้าไม่อย่างนั้นมันไปไม่ได้ จะซิกแซ็กอย่างไร มันก็ไปไม่ได้ มันไปไม่รอด เพราะมันไปไม่ถูกทาง เราต้องเปลี่ยนฐานชีวิตจิตใจให้เป็นมงคล ไปสู่ความดี ความก้าวหน้า เราต้องการความบริสุทธิ์กระจ่างแจ้ง เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องรักษาวินัย ผู้มีวินัยดีจึงต้องเป็นผู้ที่รักษาวินัยทั้งทางโลก และทางธรรมอย่างถูกต้อง และเคร่งครัดนั่นเอง จึงจะเป็นอุดมมงคล เป็นมงคลอย่างสูงสุดประการหนึ่ง
ต่อไป มงคลข้อที่ ๑๐ “สุภาสิตา จ ยา วาจา” มีวาจาเป็นสุภาษิต คำโบราณอยู่คำหนึ่งว่า “ปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี” ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า ในบรรดาสิ่งสำคัญในร่างกายของเรานั้น ปากเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ธรรมชาติให้มา ตา ๒ ตา หู ๒ หู จมูก ๒ รู แต่ว่าปากนี้ มันทำหน้าที่หลายอย่าง ทำไมมีปากเดียว หมายความว่า ต้องดูให้มาก ฟังให้มาก พูดให้น้อย ต้องระวังในคำพูด เพราะว่าปากนี้ ใช้กินอาหารมาเลี้ยงร่างกายก็ได้ แล้วปากก็นำความดีและความชั่วมาให้เจ้าของก็ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงมีสุภาษิตมากมาย เช่นว่า ปลาหมอตายเพราะปาก อย่างนี้เป็นต้น ก็อยู่ที่ปากนั่นเอง ด้วยความสำคัญซึ่งนำมาทั้งคุณทั้งโทษดังนี้ มงคลในข้อที่ ๑๐ ของพระพุทธเจ้าจึงได้ชี้ลงไปที่ปาก ที่คำพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งลมปาก เพราะบรรดาลมทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก ไม่ว่าจะเป็นพายุ ไต้ฝุ่น ลมสลาตันซึ่งเราถือว่ามันร้ายแรงมาก แต่ก็ยังเป็นรองความร้ายกาจของลมปาก ลมปากของเรานี้ไม่พัดรุนแรง มันพัดแผ่วๆ เท่านั้น แต่ว่าฤทธิ์ของมันร้ายแรงนัก ลมพายุอะไรก็แล้วแต่ เมื่อมันพัดแรงมา ก็พัดเอาบ้านเอาเรือนเอาหลังคาบ้านปลิวกระจายไปคนละทิศละทาง แต่ลมปากมันพัดหลังคาบ้านเรือนไม่กระดิก ทว่ามันทำให้พ่อบ้านแตกจากแม่บ้านก็ได้ ทิ้งลูกเต้าหนีไปคนละทิศละทางก็ได้ ปากคนทำให้เกิดความสามัคคีก็ได้ ทำความพินาศก็ได้ ลมปากนี้มันจึงเป็นลมที่ร้ายแรงมาก ที่บอกว่า “อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนยังแคลนคลาย เจ็บเจียนตายไม่เท่าเหน็บให้เจ็บใจ” ลมปากมันแรง จริงอยู่มันพัดแผ่วๆ เท่านั้น แต่มันเจ็บในขั้วหัวใจ จะสมานสามัคคีก็ได้ จะทำให้แตกแยกก็ได้ ดังนั้น ปากเป็นเอก เลขเป็นโท จึงหมายความว่า ปากนี่แหละเป็นใหญ่ที่สุด มงคลข้อที่ ๑๐ จึงว่าด้วยเรื่องความสำคัญของปากโดยตรง ซึ่งตามพระบาลีว่า “สุภาสิตา จ ยา วาจา” แปลตามศัพท์ว่า วาจาสุภาษิต หมายความว่า วาจาชนิดนี้ต้องทำให้เป็นการพูดที่ดี สุภาษิตไม่ใช่คำพูด แต่หมายถึงว่าพูดให้ดี ตรงกันข้ามกับทุพภาสิต คือพูดไม่ดีนั่นเอง คำพูดดีทั้งหมดเรียกว่า สุภาษิต พูดไม่ดี พูดเสียๆ ทั้งหมดเรียกว่าทุพภาสิต อาบัติของพระจึงมีข้อหนึ่งว่า ทุพภาสิต ถุลลัจจัย ทุกกฏ ทุพภาสิต ทุพภาสิต ก็คือว่า ปากไม่ดีนั่นเอง พูดไม่ดีนั่นเอง ไม่ใช่เฉพาะโกหกอย่างเดียว เพราะว่าโกหกนี้ พระพุทธเจ้าปรับปาจิตตีย์ “สมฺปชานมุสาวาเท ปาจิตฺติยํ” แต่อื่นๆ ที่เป็นคำพูดไม่ดี คำพูดเสียๆ จัดลงในทุพภาสิต คำว่า ”สุภาษิต”หรือ “สุภาสิตาวาจา” แปลว่า คำพูดที่พูดดีแล้ว มูลศัพท์เดิมก็คือคำว่า สุ กับคำว่า ภาสิตา เอามารวมกัน สุ แปลว่าดี แปลว่างาม ภาสิตะ คือ พูด หรือแปลว่าคำก็ได้ ก็คือคำพูดที่ดี คำพูดที่ดีงาม เมื่อรวมกันแล้ว จะได้คำว่าสุภาษิตะหรือสุภาษิต คือคำพูดที่ผู้พูดแล้วมันดี มันงดงาม เราจะต้องสังเกตคำนี้ดู ท่านหมายถึงว่า สุภาษิตนั้นไม่ได้หมายความว่าพูดดีเฉยๆ แต่ต้องหมายถึงว่า พูดไพเราะด้วย บางคนพูดดีแต่ไม่มีความไพเราะ อาจจะทำให้คนอื่นเข้าใจผิดได้ง่ายๆ อย่างที่เรียกว่า พูดมะนาวไม่มีน้ำ จริงอยู่ อาจเป็นคำดี เป็นคำที่สื่อถึงธรรม สื่อถึงให้เป็นคนดี แต่พูดไม่ไพเราะ ใส่อารมณ์ กระแทกแดกดัน ฟังดูก็รู้ มันสังเกตกันไม่ยากหรอก เพราะว่าแต่ละวันนี้คุยกับคนมากมาย เพราะฉะนั้น มงคลนี้ในมงคลข้อที่ว่า พูดได้พูดเป็น ที่ได้อธิบายมา ศิลปะที่ว่าทำได้ทำเป็น พูดได้พูดเป็น คิดได้คิดเป็น คนมีศิลปะก็คือ เป็นคนคิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น เพราะฉะนั้น พูดเป็นนี้กับพูดได้ มันคนละอย่างกัน พูดได้ มีปากก็สักแต่ว่าพูด พูดไปแล้ว แต่พูดเป็นก็คือ ต้องพูดให้เป็นสุภาษิต คือต้องเป็นคำพูดที่ดี เพราะฉะนั้นแล้ว ต้องพูดไพเราะ
ลักษณะของสุภาษิต หรือว่าวาจาที่เป็นสุภาษิต พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ๕ ชนิดด้วยกัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในสุภาษิตสูตรว่า “กาเลนะ ภาษิตา” อย่างแรก คำพูดที่ถูกกาลเทศะ ถูกเวลา ถูกสถาน ๒. “สจฺจา ภาสิตา” คำที่เป็นความจริง นั่นก็คือ ไม่โกหก ๓. “สณฺหา ภาสิตา” เป็นคำที่อ่อนหวาน ที่สุภาพ ๔. “อตฺถสญฺหิตา ภาสิตา” เป็นคำพูดที่ประกอบด้วยประโยชน์ และสุดท้าย ๕. “เมตฺตจิตฺเตน ภาสิตา” เป็นคำพูดที่ประกอบด้วยเมตตา องค์ประกอบ ๕ อย่างนี้จึงจะเป็นวาจาสุภาษิตที่สมบูรณ์ จากองค์ประกอบเหล่านี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่า วาจาสุภาษิตนั้น จะต้องประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างนี้ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้
ทีนี้อธิบายทีละอย่าง “กาเลนะ ภาษิตา” คำพูดที่ถูกกาละเทศะ คือ การที่เราจะพูดอะไรนั้น ประการแรกทีเดียวนั้น เราต้องดูกาลเทศะ กาละหมายถึงเวลา เทศะหมายถึงสถานที่ ต้องถูกเวลา ต้องถูกสถานที่ เพราะถ้าเราไม่ดูกาละ ไม่ดูสถานที่แล้ว บางทีความหวังดีของเราจะกลับกลายเป็นโทษ จะเข้าทำนองว่าทำคุณบูชาโทษ อะไรทำนองนั้น เพราะไม่รู้จักเวลาพูด ไม่รู้จักเลือกสถานที่พูด คำบางคำควรคุยกันสองคน แต่ไปพูดต่อหน้าคนอื่น จริงอยู่มันเป็นคำสอนที่มุ่งประโยชน์ แต่ว่ามันทำให้คนนั้นอับอายขายหน้า ก็ต้องดูด้วย เวลาก็ต้องดูว่าเวลานี้ควรพูดไหม ดูอารมณ์เขา อย่างนี้ เพราะฉะนั้น เรื่องการพูดที่ถูกตามกาลถูกเวลาสถานที่นี้ พระพุทธเจ้าของเราทรงตระหนัก ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ในอภัยราชกุมารสูตรว่า “วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แล้วก็วาจานั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้นๆ อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริงที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แล้วก็วาจานั้น คำพูดนั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้นๆ ต่อไป อนึ่ง ตถาคต ก็คือเรา พระพุทธเจ้านี้แหละ ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริงที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้นตถาคตย่อมรู้เวลาที่จะพูดวาจานั้นๆ” ดังนั้น ตรงนี้ พระพุทธเจ้าชัดเจนเลยว่า เป็นคำที่จริง เป็นคำที่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตจะรู้เวลาว่าจะพูดตอนไหน แล้วก็ อนึ่ง ตถาคต รู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้น เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตก็ไม่กล่าววาจานั้นๆ จากตรงนี้แสดงว่า คำพูดนั้นนี้ไม่จริง ไม่แท้ โกหก ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่คนอื่นชอบ คนอื่นดีเหลือเกินที่สนับสนุนนี้ มันเป็นคำขี้โม้ คำอะไรต่างๆ ที่สังคมโลกสมมุติกันขึ้นมา พระพุทธเจ้าก็ไม่พูด ต่อให้มันเป็นคำที่คนชอบก็ตาม แต่มันไม่มีประโยชน์ ต่อไป ตถาคตไม่กล่าววาจานั้นๆ เห็นไหม ชัดเจนเลย แล้วก็ ต่อไปว่า ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริงแท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้น เป็นที่รัก ที่ชอบใจของผู้อื่น ตถาคตก็ไม่กล่าววาจานั้นๆ จริงอยู่ เป็นคำจริง มันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ว่าคำพูดนั้นเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจ พระพุทธเจ้าก็ไม่พูด ก็ไม่ตรัส อนึ่ง ตถาคต ย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้น เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาล คือรู้เวลา ที่จะพูดคำพูดนั้นๆ สรุปแล้ว ตรงพุทธพจน์ตรงนี้ พระพุทธเจ้าสอนให้รู้จักเวลา พูดคำไหนที่เป็นคำจริง มันไม่มีประโยชน์ แม้คนอื่นจะชอบ อย่าไปพูด อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น เราลองย้อนกลับมาฟังอีกดีๆ ตรงนี้ ที่พระพุทธเจ้าทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วก็สอนให้ภิกษุสาวกทำตามด้วยในเรื่องของคำพูด ให้รู้จักกาลเทศะ จากพุทธพจน์ตรงนี้ เราก็จะเห็นได้เลยว่า แม้สิ่งเหล่านั้นจะเป็นของจริงและเป็นประโยชน์ ก็ต้องรู้กาลเวลาที่จะกล่าวเหมือนกัน ไม่ใช่ว่า เป็นของจริงแล้วจะกล่าวได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ฉะนั้น จึงควรทำความเข้าใจในที่นี้เสียเลยว่า เราจะพูดเรื่องจริงก็ตาม จะต้องรู้กาล รู้สถานที่ด้วย จึงจะเป็นมงคล ไม่อย่างนั้น มันจะนำความอัปมงคลมาสู่ตนเองได้
แล้วก็องค์ประกอบอย่างที่สองของวาจาสุภาษิตก็คือว่า “สจฺจา ภาสิตา” คำนี้เป็นความจริง หมายถึงว่า เป็นวาจาที่เป็นความจริง สัจจะวาจานี้ มีอยู่ ๒ ความหมายคือ ๑.เรื่องที่พูดนั้นเป็นความจริง แล้วก็ ๒. เจตนาของผู้พูดนั้นก็พูดด้วยความใจจริง ไม่ใช่แกล้ง หรือว่าสับปลับ ตลบตะแลง พูดคลุมเครือ ในทางพระพุทธศาสนานิยมความจริง เฉพาะเรื่องที่พูดนั้นนี้ คำพูดที่ถือว่าดี แล้วก็ถูกต้องทุกกรณี จะต้องมีความจริงเป็นหลัก ถ้าคำพูดไม่จริงแล้ว จะพูดอย่างไรๆ ก็เอาดีไม่ได้ ลักษณะที่เป็นคำพูดที่เรียกว่าความเท็จหรือคำมุสา ที่มันตรงข้ามกับคำสัจ มีอยู่ ๗ วิธีด้วยกัน คือ
๑. ปด คือ โกหกชัดๆ ไม่รู้ก็ว่ารู้ ไม่เห็นก็ว่าเห็น อันนี้คือโกหกชัดๆ
๒. ทนสาบาน คือกลบความจริงด้วยการทนสาบาน ประมาณว่าไม่เชื่อสาบานก็ได้
๓. ทำเล่ห์ คืออวดอ้างคุณวิเศษเกินความจริง
๔. มารยา คือ หลอกคนอื่นด้วยการมารยา มารยาเยอะ
๕. ทำเลส คือพูดคลุมเครือ ทำให้คนอื่นเข้าใจผิด กลับไปกลับมา ตลบตะแลง ก็คือแถนั่นเอง
๖. เสริมความ คือความจริงมีน้อย แต่พูดเสริมให้มาก ความจริงแค่ ๑๐ แต่ใส่ไข่เข้าไป ให้มันพิเศษขึ้นมา เติมเข้าไปเป็น ๒๐ - ๓๐ ก็คือคำเล่าลือนี่แหละ ที่นินทากัน จากตอนแรกบอกว่า มีแค่คนสองคน พอไปพูดต่อกันกลายเป็น ๑๐ คน ๒๐ คน อย่างนี้เป็นต้น
๗. อำความ คือความจริงมีมาก แต่ว่าอำพรางให้มันน้อยลง พูดจากที่มันใหญ่โต ให้มันเป็นเรื่องเล็กๆ ก็อยู่ในเข้าข่ายเป็นคำพูดโกหกทั้งนั้น อยู่ในศีลข้อการพูดเท็จทั้งนั้น ตรงกันข้ามกับความสัจจริง จะเห็นว่า ความจริงนี่แหละเป็นแกนของคำพูด คำพูดที่จะเป็นสุภาษิตน่าเชื่อ น่าฟัง และน่านับถือ ต้องมีความจริงเป็นกลาง ถ้าไม่มีความจริงแล้วจะเป็นคำพูดที่เป็นสุภาษิตไม่ได้
สาม “สณฺหา ภาสิตา” คือคำพูดที่สุภาพ หมายความว่าคำพูดที่ออกมานั้นเป็นคำสุภาพ ตามภาษาบาลีท่านว่า “สัณหา” แปลว่าเกลี้ยงเกลา ละมุนละไม ราบเรียบ ถือเอาความเป็นไทยๆ ก็คือว่า คำพูดที่สุภาพ ก็คำพูดดีๆ คำพูดที่ออกมานั้น มีทั้งดีแล้วก็ไม่ดี จึงต้องวางหลักเกณฑ์ให้รู้ว่า อย่างไหนดีและไม่ดี คำสุภาพนั้น ตรงกันข้ามกับคำหยาบคาย เพราะฉะนั้น จะพูดวาจาสุภาษิตได้ เว้นจากคำหยาบคาย หมายความว่า คำที่ไม่ใช่คำหยาบคายทั้งหมดนั่นเอง เรียกว่าคำสุภาพ ท่านได้วางหลักเกณฑ์ของคำหยาบคายมีอยู่ ๖ อย่าง
๑. คำด่า คือคำพูดกดให้เขาต่ำลง เช่น เขาเป็นคนก็ว่าเขาเป็นหมา เขาเป็นนายก็ว่าเขาเป็นขี้ข้า หรือว่าเปรียบเทียบไปด้วยสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ นานาที่เรารู้กัน
๒. คำประชด คือ พูดยกย่องให้สูงเกินกว่าเหตุ พ่อเทวดา แม่คุณหญิง
๓. คำกระทบ คือ อยากว่าคนนี้ แต่ไพล่ไปพูดเรื่องอื่น ให้ผู้ถูกว่าไปคิดเอาเอง เช่น พูดถึงคนผมน้อยว่า นกตะกรุม หน้าผากสูงคิ้วต่ำ เป็นต้น แล้วก็
๔. คำแดกดัน เรียกง่ายๆ ว่า คำกระแทก ซึ่งเรามักจะพูดควบกันว่า กระแทกแดกดัน อย่างเช่นว่า จะให้กินหรือให้นอน ก็บอกอย่างแดกดัน อย่างจะให้กินข้าว ก็บอกว่าแดกเสียสิ เป็นต้น เหมือนกับยายหรั่งที่หลวงพ่อเล่าให้ฟัง ที่ดุลูก ให้พระแดกก่อนแล้วมึงค่อยฉัน ไปดุลูก อย่างนี้เป็นต้น
๕. คำต่ำ คือ คำระคายหู สุภาพชนไม่นิยม เช่น คำว่าไอ้ อี มึง กู ทั้งนี้ เอาความนิยมของสุภาพชนในยุคนั้นๆ เป็นเกณฑ์ หากคำเหล่านั้นเป็นที่นิยมอยู่ในเวลานั้นก็ไม่หยาบ เพราะสมัยก่อนเป็นคำสุภาพ ที่พูดกันด้วยกู มึง ไอ้ เอ็งนี้ สมัยโบราณเป็นคำสุภาพ แต่ปัจจุบันจัดว่า เป็นคำที่ระคายหู ก็ไม่ควรพูด
๖. คำสบถ คือคำแช่งชักหักกระดูก เรียกห่ามากิน เรียกผีมากิน ไอ้ฉิบหาย เป็นต้น ตลอดจนคำคาดคั้นที่เกินดี ให้ฟ้าผ่าตาย แช่งชักหักกระดูก เป็นคำสบถ ก็อย่าไปพูด ตกลงว่า คำด่า คำประชด คำกระทบ ทำแดกดัน คำต่ำ คำสบถ ๖ คำ เป็นคำหยาบคาย เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการจะให้เป็นวาจาสุภาษิต พึงเว้นคำเหล่านี้เสีย
องค์ประกอบอย่างที่ ๔ ของวาจาสุภาษิตก็คือว่า “อตฺถสญฺหิตา ภาสิตา” คำที่มีประโยชน์ คือคำนั้นมีประโยชน์ ไม่ใช่คำที่ไร้ประโยชน์ ถึงแม้จะเป็นคำจริง คำสุภาพ แต่เป็นคำพูดที่ไม่มีประโยชน์ ก็ใช้ไม่ได้ คำที่ว่าเป็นประโยชน์นี้ หมายความว่า มีผลดี ผู้พูด ได้คำพูดนี้แล้ว ผลดีบังเกิดแก่ผู้พูด ฝ่ายผู้ฟังเมื่อได้ฟังคำนั้นแล้วก็ได้รับผลดี อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ได้ฟังคำสุภาษิตต่างๆ เหล่านี้ อันนี้คือองค์ประกอบอย่างที่ ๔ ของคำที่มีประโยชน์
ประการสุดท้าย อย่างที่ ๕ “เมตฺตจิตฺเตน ภาสิตา” คำพูดประกอบด้วยเมตตา เราทราบดีอยู่แล้วว่า พระพุทธศาสนาของเรานี้ สอนเรื่องกรรมและผลของกรรม กรรมเป็นเรื่องสำคัญ คนเราจะดีจะเลวก็เพราะว่ากรรม เป็นกรรมดีกรรมเลว ก็อยู่ที่เจตนา เพราะฉะนั้น เจตนานี่แหละเป็นกรรม “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ” ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายเราเรียกเจตนาว่าเป็นกรรม เพราะฉะนั้น เจตนา ถ้าเจตนาเลวก็เป็นกรรมชั่ว ถ้าเจตนาดีก็เป็นกรรมดี เพราะฉะนั้น เจตนานี้จึงเป็นเหมือนกับผู้ให้กำเนิดกรรม องค์ของสุภาษิตข้อที่ ๕ ท่านวางเจตนาให้มีเมตตาไว้เป็นพื้นฐาน ในสมัยก่อน ครูอาจารย์มักจะสอนลูกศิษย์เลยว่า ให้เสกเมตตาก่อน จึงไปพูดกับคนอื่น หมายความว่า ต้องมีเจตนาเมตตาเป็นพื้นฐานเสียก่อน ตั้งจิตให้มีเมตตา คำพูดออกมาจึงจะมีเมตตามหานิยม หวังความดีความเจริญได้ง่าย ต่อให้มีคาถาเมตตามหานิยม แต่จิตไม่มีเมตตา คำพูดก็อย่างนั้นๆ รับรองว่า พูดให้ตายเมตตาก็ไม่เกิดหรอก เพราะตั้งจิตไว้ผิด เจตนาไม่ดี ดังนั้นแล้ว เมตตาสำคัญมาก ในองค์ประกอบแห่งที่เป็นสาราณียธรรม ก็ยังขึ้นต้นเลยว่า เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม เมตตาสำคัญมาก
องค์ประกอบของสุภาษิต วาจาสุภาษิตนั้น ต้องประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ ดังที่ได้อธิบายมานี้ จึงจะจัดว่าเป็นวาจาสุภาษิตได้ ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่จัดเป็นวาจาสุภาษิต ฉะนั้นแล้ว ใครมีวาจาสุภาษิตอยู่ในตัว ย่อมจะก่อความเจริญแก่ตนเอง เป็นที่รักของเพื่อนฝูง ผู้บังคับบัญชาและคนทั่วไป เมื่อเราหวังความเป็นมงคล พึงเว้นวาจาทุพภาสิต หันมาใช้วาจาสุภาษิตก็จะเป็นอุดมมงคล เป็นมงคลในกาลทุกเมื่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “กลฺยาณิเมว มุญฺเจยฺย น หิ มุญฺเจยฺย ปาปิกํ โมกฺโข กลฺยาณิยา สาธุ มุตฺวา ตปฺปติ ปาปิกํ” เป็นต้น พึงเปล่งวาจางามเท่านั้น ไม่พึงเป็นวาจาชั่วเลย การเปล่งวาจางามยังประโยชน์ให้สำเร็จ คนเก่งวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน วาจางามที่เป็นกัลยาณวาทะ เป็นวาจาสุภาษิต เป็นถ้อยคำที่ยกใจผู้พูดแล้วก็ผู้ฟังให้สูงขึ้น วาจาที่ดีงามนั้น แม้จะกล่าวด้วยถ้อยคำ น้ำเสียง หรือว่าสำนวนภาษาใดก็ตาม วาจานั้นย่อมเป็นวาจาสุภาษิต วาจาสุภาษิตเป็นถ้อยคำที่สามารถทำประโยชน์ให้สำเร็จได้ เป็นถ้อยคำที่ยกใจผู้ฟัง ซึ่งกำลังขุ่นมัวให้ผ่องใสได้ ใจที่กำลังสับสนวุ่นวาย ให้เป็นใจที่สงบเยือกเย็นได้ ส่วนวาจาชั่วหยาบที่เป็นวาจาทุพภาษิตนั้น เป็นถ้อยคำที่นำความเดือดร้อนมาให้ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เป็นวาจาที่ไม่เป็นมงคลแก่โสตประสาท ไม่สามารถนำประโยชน์สุขมาให้แก่ผู้ฟัง จึงควรงดเว้นเสีย
คนที่มีวาจาสุภาษิตมาข้ามภพข้ามชาติจะมีลักษณะเสียงที่สมบูรณ์ของมหาบุรุษ ซึ่งมีลักษณะดังนี้
๑. แจ่มใส ไม่แหบเครือ
๒. ชัดเจน ชัดถ้อย ชัดคำ ไม่ติดขัด
๓. ไพเราะอ่อนหวาน
๔. เสนาะโสต
๕. กลมกล่อม
๖. ไม่แตกไม่พร่า
๗. ลึกซึ้ง เป็นวาจาที่ลึกซึ้ง แล้วก็
๘. เป็นถ้อยคำที่มีกังวาน นี่คือ เป็นผลของกรรมดีของความเป็นผู้มีวาจาสุภาษิตติดตัวมาเป็นของเก่า เพราะฉะนั้น เมื่อเราทราบเหตุแบบนี้ แล้วเราจึงต้องทำปัจจุบันของเรานี่แหละ ให้เป็นบุญเก่าที่ดีของเราในอนาคต
อานิสงส์ของการมีวาจาสุภาษิต ท่านก็สรุปไว้ว่า
๑.เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักของชนทุกชั้น
๒.มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม
๓.มีวาจาสิทธิ์ได้รับความสำเร็จในสิ่งที่เจรจา อย่างเช่น นักการทูต เป็นต้น
๔. ย่อมได้ยินได้ฟังแต่สิ่งที่ดีงาม แล้วก็
๕. ไม่ตกไปสู่อบายภูมิ
พระพุทธเจ้าจึงตรัสสรุปไว้ว่า วาจาสุภาษิตไม่ว่าจะพูดด้วยสำเนียงภาษาอย่างไรก็ตาม วาจานั้นย่อมเป็นวาจาชั้นสูง ควรแก่การสรรเสริญของบัณฑิต ตรงกันข้าม วาจาทุพภาสิต แม้จะพูดด้วยภาษาใด สำเนียงดีแค่ไหน บัณฑิตก็ไม่สรรเสริญ
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรั และบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลนิพพานทุกท่านเทอญ