แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๘ ความเป็นผู้ได้ฟังได้ศึกษามากและการมีศิลปะคือ คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันพฤหัสบดีที่ ๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมเรื่องของการเปลี่ยนฐานของชีวิตให้เป็นมงคล วันนี้เป็นมงคลข้อที่ ๗ กับข้อที่ ๘
ข้อที่ ๗ “พาหุสัจจัง” หรือว่า “พาหุสัจจะ” หรือ “พหูสูต” แปลว่ามีความรอบรู้ ความหมายของมงคลข้อนี้ หมายความว่า ความเป็นผู้ได้สดับตรับฟังมากหรือความที่ได้เล่าเรียนมาก พาหุสัจจะ มูลศัพท์เดิมมาจากคำว่า พหุสสุตะ “สุตะ” แปลว่า ฟัง “พหุ” แปลว่า มาก เมื่อรวมกันเข้าแล้วได้ความว่า พหุสสุตะ แล้วก็เอามาทำตัวในการแปลงรูป แจกวิภัตติ ลงปัจจัย สำเร็จรูปเป็นพาหุสัจจะ พาหุสัจจัง แปลว่า ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมามาก แล้วทีนี้การได้ยินได้ฟังนั้นหมายถึงได้ยินได้ฟังอะไรมามาก เพราะว่าแต่ละวันๆ เรารับรู้เรื่องราวข่าวสารฟังมากมายเหลือเกิน ตั้งแต่ตื่นยันหลับ จะหมายเอาได้ยินได้ฟังมาก หรือ หมายเอาการที่ได้ฟังมาก อะไรกันแน่ ซึ่งท่านก็ได้อธิบายไว้ชัดเจนว่า พาหุสัจจัง นามะ พะหุสสุตะภาโว อัตถะโต พุทธะวะจะนัง วา พาหิระสิปปัง วา อุคคัณหิตวา อุปปันนัง ตัตถะ โกสัลลัง แปลว่า ธรรมข้อพาหุสัจจะนั้น ได้แก่ ความเป็นผู้คงแก่เรียน ผู้คงแก่เรียน หมายความว่า ความรู้ในงานแขนงนั้นๆ ความฉลาดในงานแขนงนั้นๆ อันเกิดจากการเรียนหรือการฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าและวิชาการภายนอก
การเรียนการศึกษานั้นมีอยู่ ๒ ทาง อย่างแรกคือเรียนจากครูบาอาจารย์ การที่เราตั้งแต่เด็กๆ เข้าโรงเรียน ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ความเห็นจากครูในระดับชั้นต่างๆ ขึ้นอยู่กับวัยของผู้เรียน แล้วพอโตขึ้น ก็จะมีการเรียนการศึกษาด้วยตนเอง นั่นก็คือ ณ ปัจจุบันนี้ ง่ายมากในการที่จะค้นคว้า อยากรู้หนังสือ อยากรู้วิชาอย่างนี้ๆ ซึ่งก็สามารถค้นหาได้โดยง่ายดาย ด้วยการ search เอา การศึกษาด้วยตนเอง ก็คือ เป็นวิธีการอย่างนี้
แล้วทีนี้ พหูสูต หรือ พาหุสัจจะ ต้องเลือกทั้ง ๒ วิธีตามความเหมาะสม แล้วแต่โอกาสอันควร เมื่อมีครูก็เรียนกับครู เมื่อไม่มีครูก็เรียนด้วยตนเอง วิชาความรู้ยิ่งมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นประโยชน์แก่ตนเองมากเท่านั้น แล้วคนเราก็จะต้องมีความรู้ให้เกินไว้เสมอ คือ มีความรู้มากกว่าธุรกิจที่ตนจะทำ เช่น รู้จักอ่านหนังสือ ถ้ารู้แต่พอว่าอ่านให้ออก พอผสมตัวได้ ก็คงไม่เพียงพอ ต้องรู้ถึงความหมาย รู้อรรถรส รู้เรื่องราวของของนั้นอย่างชัดเจน อย่างนี้จึงเป็นพหุสัจจะ
ถ้าจะมองกันในแง่ของความก้าวหน้าแล้ว เราจะเห็นได้ว่าความรู้ที่มากเป็นความก้าวหน้า สามารถที่จะพัฒนาตัวเองไปสู่ความเจริญได้ เหมือนคนที่ประกอบการค้า จะทำธุรกิจต้องมีกำไรเกินอยู่แล้ว จึงจะนำส่วนที่เกินนั้น มาพัฒนาหรือว่าทำกิจการของตนให้ก้าวหน้า กว้างขวางออกไปได้ ถ้ามีกำไรพอดีปากพอดีท้องแล้วจะมั่งมีหรือขยายกิจการไม่ได้เลย เพราะว่ามันเท่าทุน มันเสมอตัว เพราะฉะนั้น แทนที่พระพุทธองค์จะตรัสเรียกการเรียนเป็นมงคล หรือว่าความรู้เป็นมงคล แต่ว่า พระองค์ตรัสพาหุสัจจะคือความเป็นผู้ศึกษา เป็นผู้เล่าเรียนมามากถึงเป็นมงคล คือต้องมีความรู้มากกว่าที่เป็นอยู่ จึงจะเหลือกินเหลือใช้ พอกินพอใช้
พาหุสัจจะ มีอยู่ ๒ อย่าง คือ พาหุสัจจะภายนอก กับ ภายใน
๑. พาหุสัจจะภายนอก ได้แก่ การศึกษาวิชาการอาชีพทางโลก ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าโรงเรียน แล้วก็เรียนวิชาทางโลกมาตลอด
๒. พาหุสัจจะภายใน ความเป็นผู้ได้ยิน ได้ฟังมาก ในเรื่องของภายใน เรื่องของจิตของใจ นั่นก็คือ ศึกษาเล่าเรียนเกี่ยวกับธรรมะ เกี่ยวกับศีลธรรม
เมื่อเราจะประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่พร้อมกันนี้ก็อย่าลืมว่าต้องใช้วิชาศีลธรรม คือธรรมะเป็นหลัก ธรรมะเป็นใหญ่เป็นเครื่องประกอบด้วย จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ได้ คนที่มีแต่ความรู้อย่างใดอย่างหนึ่งจะหาความเจริญไม่ได้เลย เช่น เรามีแต่ความรู้ทางโลก แต่ขาดศีลธรรม ขาดความเมตตา ขาดความซื่อสัตย์แล้ว จะอยู่กับใครก็ไม่ได้ ถึงอยู่ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะว่าความจริงมันเปิดเผย ก็คือความไม่ดีที่อยู่ในใจนั่นเอง หรือคนที่มีศีลธรรมแล้วมักจะใช้วิชาการเหล่านั้นไปในทางที่ผิด แล้วก็สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เข้าทำนองที่ว่า ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด รู้มากแต่ไม่ได้ประพฤติไม่ได้ปฏิบัติตาม มันก็ไม่เกิดประโยชน์
ความแตกต่างระหว่างบัณฑิตกับผู้เป็นพหูสูต บัณฑิตคือผู้ที่มีคุณธรรมประจำใจ มีความประพฤติที่ดีงาม ไม่ว่าจะมีความรู้มาก หรือว่าน้อยก็ตาม บัณฑิตจะใช้ความรู้นั้นๆ สร้างประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นอย่างเต็มที่ เป็นผู้สามารถเอาตัวรอดได้แน่นอน ไม่ตกไปสู่อบายภูมิเป็นอันขาด ตั้งแต่มงคลข้อที่ ๒ ที่อธิบายถึงบัณฑิต บัณฑิตคือคนดี ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนมาก อ่านหนังสือไม่ออกเลย ก็เป็นบัณฑิตได้ เพราะว่าเป็นผู้มีความดี แต่ความเป็นพหูสูตนี้คือ เป็นผู้มีความรู้มาก ศึกษาเล่าเรียนมาก แต่คุณธรรมความประพฤติยังไม่แน่ว่าจะดี ยังไม่แน่ว่าจะเอาตัวรอดได้ ถ้าใช้ความรู้ที่มีอยู่นั้นไปทำชั่ว เอาไปทำผิด เอาไปทุจริตโกงกินคอร์รัปชั่น เอาไปผลิตยาเสพติด อย่างนี้เป็นต้น ก็เป็นบาปเป็นกรรมมหันต์ ดังนั้น ความรู้กับความดีต้องคู่กันไป บัณฑิตกับพหูสูตจึงต้องคู่กัน
ลักษณะของความรู้ที่สมบูรณ์ของพหูสูต ท่านจำแนกไว้ว่า
๑.ประการแรก รู้ลึก รู้ลึกหมายถึงว่า รู้เรื่องราวสาวไปหาเหตุในอดีตได้ลึกซึ้งถึงความเป็นมา เช่น หมอ เมื่อเห็นอาการของคนป่วย ก็บอกได้ว่าเป็นโรคอะไร รู้ไปถึงว่าที่เป็นโรคนี้เพราะเหตุใด ไปทำอะไรมา หรือว่านายช่างเมื่อเห็นอาการของเครื่องยนต์ที่มันเสีย ก็สามารถบอกได้ว่าเครื่องนั้นเสียที่ชิ้นส่วนไหน เป็นเพราะอะไร เป็นต้น นี่คือรู้ลึก รู้ลึกไปถึงสาเหตุ
๒.รู้รอบ คือ ช่างสังเกต รู้สิ่งรอบๆ ตัว สภาพภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ ผู้คนในชุมชน ความเป็นไปของเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัว สิ่งที่ควรรู้ก็ต้องรู้
๓.รู้กว้าง หมายถึงว่า สิ่งรอบตัวแต่ละอย่างที่รู้ ก็รู้อย่างละเอียด รู้ถึงความเกี่ยวพันของสิ่งนั้นๆ กับสิ่งอื่นๆ ด้วย คล้ายรู้รอบ แต่ว่าเก็บรายละเอียดมากขึ้น
๔.รู้ไกล คือ เป็นผู้มองการณ์ไกล รู้ถึงผลที่จะตามมาในอนาคต เช่น เห็นสภาพดินฟ้าอากาศ ก็รู้ทันทีว่าปีนี้พืชผลชนิดใดจะขาดแคลน เห็นพฤติการณ์ของผู้ร่วมงานไม่น่าไว้วางใจ ก็รู้ทันทีว่าเขากำลังคิดไม่ซื่อ เห็นตนเองเริ่มย่อหย่อนต่อการประพฤติการปฏิบัติธรรม ก็รู้ทันทีว่าถ้าทิ้งไว้เช่นนี้ ต่อไปตนจะเสื่อมจากกุศลธรรม เสื่อมจากความดี ฌานเสื่อม ญาณเสื่อม ปัญญาเสื่อมแน่นอน
นี่คือลักษณะสมบูรณ์ของผู้เป็นพหูสูต รู้ลึก รู้รอบ รู้กว้างแล้วก็รู้ไกล ผู้ที่ประกอบด้วยความรู้ ๔ ประการนี้ทั้งทางโลกและทางธรรม จึงเป็นผู้ที่เป็นพหูสูตอย่างแท้จริง
คุณสมบัติของพหูสูตหรือนักเรียน นักศึกษาที่ดี ชีวิตของเรานี้ไม่มีคำว่าเรียนจบ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก จบมาได้ใบประกาศ แต่ว่ามันยังไม่จบแค่นั้นมหาวิทยาลัยชีวิตมันต้องเรียนจนกระทั่งหมดลมหายใจ แต่ละวันต้องเรียนต้องรู้ ศึกษาไปยิ่งมากเท่าไรยิ่งดี
คุณสมบัติของผู้ที่จะให้พหูสูตมันเติมเต็ม ท่านบอกว่าประการแรก
๑. พหุสฺสตา อ่านมาก ฟังมาก คือ มีนิสัยชอบฟัง ชอบอ่านค้นคว้า ยึดหลักเรียนจากครู ดูจากตำรับ สดับปาถะ ก็คือ คำพูดถ้อยคำ คำเทศน์ คำแสดงธรรม คำปาฐกถา เป็นต้น
๒. ธตา ฟังแล้วจำ จำได้แม่นยำ คือ มีความจำดี รู้จักจับสาระสำคัญ จับหลักให้ได้แล้วจำได้แม่นยำ คนที่มีความจำไม่ดี ท่านก็บอกว่าบางทีอาจจะส่งผลจากอดีตกรรม ในอดีตชอบพูดปด ชอบดื่มสุรามาก เป็นต้น ดังนั้นแล้ว เมื่อเราทราบเหตุเช่นนี้จึงควรเลิก เพื่อที่จะไม่ผิดศีลข้อ ๕ เลิกพูดปด พูดโกหก พยายามหมั่นท่องบ่อยๆ หมั่นจดหมั่นเขียนบ่อยๆ ไม่ช้าก็จะเป็นผู้มีความทรงจำดี ฟังแล้วก็คิด ถาม เขียน ที่เป็นหัวใจของบัณฑิตอย่างแท้จริง เราฟังมาก เราต้องจับหลัก จับประเด็นให้ได้ แล้วเอามาใช้จริงๆ จึงเป็นการฟังธรรมที่ได้ประโยชน์ ไม่ใช่แบบว่าเป็นปัญญาหน้าตัก เหมือนกับคนนั่งที่มีของอะไรวางบนตักเต็มไปหมด พอลุกแล้วก็พรวดล่วงไปหมด เหมือนตอนฟังเทศน์หรือฟังธรรม ฟังอะไรสักอย่าง ผงกหัวเห็นด้วย แต่พอลุกขึ้นแล้วลืมหมดเลย ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง ฟังอะไรมาบ้าง อย่างนี้เป็นต้น ธตา-จำได้แม่นยำ
๓. จสา ปริจิตา ท่องได้คล่องปาก คือ ต้องฝึกท่องให้คล่องปาก ท่องจนขึ้นใจจำได้คล่องแคล่ว ชัดเจน ไม่ต้องพลิกตำรา โดยเฉพาะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความจริงแท้แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง ควรท่องไว้ให้ได้ ชอบบทไหนตอนไหนนี้ ท่องจำไว้ให้ขึ้นใจ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนวิชาการทางโลก ยังมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามนักคิดนักเขียนนักปราชญ์ เพราะยังไม่มีใครรู้จริงๆ จึงควรท่องเฉพาะที่สำคัญ แล้วก็พิจารณาหาเหตุผล โดยเฉพาะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราลองดูสมัยก่อนทำไมต้องท่อง พระอรหันต์ทั้งหลายท่องพระไตรปิฎก ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ท่องจำกันมาถึงสามร้อยกว่าปี ทรงจำโดยพระอรหันต์ผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์ จำกันมาท่องปากต่อปาก ไม่ได้มีการจดบันทึก เพราะว่าไม่ได้มีกระดาษ ไม่ได้มีอะไรที่มันง่ายเหมือนสมัยนี้ ต้องจดลงบนหนัง ลงบนไม้ไผ่ กว่าจะจดครบ คิดดูว่ากองพะเนินขนาดไหน เพราะพระไตรปิฎกเนื้อหามาก ดังนั้น ท่านจึงใช้ความจำอันเป็นเลิศของท่านนี้ท่องจำ ทรงจำมา พระอริยะเจ้าผู้ทรงพระไตรปิฎกสมัยโน้นมีมากมาย ทรงจำสืบทอดบอกต่อกันมาถึงสามร้อยกว่าปี จึงจารึกลงในคัมภีร์ใบลานครั้งแรกที่ศรีลังกา ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๕
๔. มนสานุเปกฺขตา คือ ใส่ใจ นึกคิด ตรึกตรอง สาวหาเหตุผลให้เข้าใจตลอด พิจารณาให้จบ นึกถึงครั้งใดก็เข้าใจทะลุปรุโปร่งไปหมด
๕. ทิฏฐิยา สุปฎิวิทฺยา แทงตลอดด้วยปัญญา เมื่อเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วนำไปประพฤติ นำไปปฏิบัติ เพื่อให้ความรู้กับความเข้าใจและภาคปฏิบัตินั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ เป็นปริยัติ เป็นปฏิบัติ แล้วจึงเป็นปฏิเวธเกิดขึ้นในข้อสุดท้ายนี้ ต้องเคียงคู่กันไป เรียนแล้วปฏิบัติจริงๆ
เป็นอันว่า ถ้ามีความรู้ทางโลกอย่างเดียว ไม่ว่าตนเองจะเป็นคนฉลาดเพียงใดก็ตาม ก็จะพลาดพลั้งได้ เพราะมีแต่ IQ ไม่มี EQ นั่นเอง เป็นต้นว่า มีความรู้ในเรื่องของปรมาณู อาจนำไปใช้ในทางสันติเป็นแหล่งพลังงานอย่างยิ่งใหญ่ก็ได้ หรือจะนำไปสร้างเป็นระเบิดทำลายล้างชีวิตมนุษย์ก็ได้ จากประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา สงครามโลกครั้งที่สองคือ เอาความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด เราจึงต้องศึกษาความรู้ทางธรรมไว้คอยกำกับ เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ กำกับความรู้ทางโลก ความรู้ทางธรรมจะเป็นเสมือนดวงประทีปนำทาง ส่องให้เห็นว่าสิ่งที่กระทำนั้นถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร ผู้ที่คิดแต่จะตักตวงความรู้ทางโลกอย่างเดียว แม้จะร่ำรวยฉลาด มีอำนาจสักปานใด ก็ไม่น่ารัก ไม่น่าเคารพ ไม่น่ายำเกรง ไม่น่านับถือ ยังเป็นบุคคลประเภทเอาตัวไม่รอด ความรู้ที่เกิดแก่คนพาลย่อมนำความฉิบหายมาให้ เพราะเขาจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิดๆ เราทุกคนจึงควรแสวงหาโอกาสศึกษาทั้งทางโลกทางธรรม รู้ให้ลึกซึ้งเกินกว่าการงานที่ตนรับผิดชอบ ความรู้ที่เกินมานี้จะเป็นเสมือนดวงประทีปส่องให้ทางเบื้องหน้านำไปสู่ความสำเร็จได้โดยง่าย แม้เฉพาะการประพฤติการปฏิบัติธรรม ในอดีตมากมาย ฟังธรรมฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าทุกวัน ฟังธรรมจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ การฟังจึงเป็นองค์ประกอบแรกในการที่จะเป็นผู้รู้ เป็นผู้เห็น เป็นผู้ฉลาด
ในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้งๆไม่ใช่เฉพาะมนุษย์ที่บรรลุธรรม ทวยเทพเทวดา ท้าวมหาพรหมทั้งหลายบรรลุธรรมกันนับไม่ถ้วน เพราะว่าใช้การฟังที่ประกอบด้วยปัญญา ฟังด้วยดี แล้วก็พิจารณาหาเหตุผล ทรงจำเอาไปขบคิด เอาไปปฏิบัติ ท่านเจริญวิปัสสนาในขณะฟัง ท่านก็ได้บรรลุธรรม
อานิสงส์ของการเป็นพหูสูต ท่านก็สรุปว่า ทำให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้ ทำให้ได้ความเป็นผู้นำ ทำให้แกล้วกล้าองอาจในทุกที่ทุกสถาน ทำให้บริบูรณ์ด้วยลาภยศสรรเสริญสุข ทำให้ได้รับคำชมเชย ได้รับการยกย่องเกรงใจ เป็นสหชาติปัญญา ติดตัวข้ามภพข้ามชาติไป ไม่มีใครแย่งชิงไปได้ เป็นพื้นฐานของศิลปะ คือ ความสามารถอื่นๆ ต่อไป แล้วก็ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย นี่คือประโยชน์ของพหูสูต ถ้าบุคคลมีสุตตะมากคือ เล่าเรียนได้ยินได้ฟังมามาก ตั้งมั่นอยู่ในศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาโดยส่วนสอง คือทั้งโดยศีล ทั้งโดยสุตตะ คือ เป็นผู้ที่ดีแล้วก็เป็นผู้ที่เก่ง ใครเล่าจะติเตียนบุคคลผู้เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรมมีปัญญา เป็นพุทธสาวกผู้เป็นประดุจแท่งทองชมพูนุชนั้นได้ แม้เหล่าเทพเจ้าก็ย่อมชมเชย ถึงพรหมก็สรรเสริญ อันนี้เป็นพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้า
มงคลข้อที่ ๘ “สิปปัง” หรือว่า “สิปปะ” แปลว่าศิลปะ คำว่า “สิปปะ” เป็นภาษาบาลีภาษาไทยเอาสันสกฤตมาใช้ความหมายเดียวกัน สันสกฤตใช้ว่าศิลปะ ภาษาไทยก็รับมาเต็มๆ ก็คือคำว่าศิลปะ แทนคำว่า สิปปะ พระสิริมังคลาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์มงคลทีปนีได้อธิบายคำว่าศิลปะไว้ว่า สิปปัง นามะ อะนาคาริยาอาคาริยะวะเสนะ ทุวิธัง หัตถะโกสัลลัง แปลความว่า “ศิลปะ” หมายถึง ความเป็นผู้ฉลาดในการทำงาน ๒ ประเภท คือ ของบรรพชิตและของคฤหัสถ์ หัตถโกศล แปลว่า ฉลาดทำ ถ้าจะพูดให้เป็นภาษาไทยของเราจะได้ความว่า ทำเป็น ฉะนั้น คำว่าศิลปะในทีนี้ มีความหมายลึกซึ้งกว่างานศิลป์งานอาร์ตที่เราเข้าใจทั่วไป ศิลปะในความหมายที่เป็นมงคลของพระพุทธเจ้านี้ ไม่ใช่งานของจิตรกร งานจิตรกรรม นักวาด นักปั้น นักเขียนทั้งหลาย แต่หมายถึงการทำงาน ทำให้เป็นนั่นเอง ความหมายของคำว่า “ทำเป็น” กับ “ทำได้” มันต่างกัน คนที่ทำได้นั้นไม่ ได้หมายความว่าจะทำเป็น
เมื่อเราได้อ่านคำสอนในมงคลและฟังคำสอนในมงคลที่ ๗ ของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสั่งสอนให้เราศึกษาหาความรู้ใส่ตัวเป็นพหูสูต พอมาถึงข้อที่ ๘ ต่อเนื่องกันมา พาหุสัจจัญจะสิปปัญจะ ข้อที่ ๘ นี่คือทรงสั่งสอนให้เป็นคนมีศิลปะ แสดงว่าความรู้กับศิลปะต่างกันตรงที่ว่า พาหุสัจจะ เป็นการเรียนหลักวิชาการ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าจะทำยังไง ส่วนศิลปะนั้นเป็นความสามารถในการปฏิบัติ คือ เอาวิชาความรู้ที่ได้เรียนมาแล้วมาใช้ให้บังเกิดผล ความรู้กับศิลปะนั้นคนละอย่างกัน คนที่มีวิชาความรู้ไม่แน่ว่าจะมีศิลปะทุกคน บางคนเรียนเก่งแต่ลงมือทำไม่เป็น ตัวอย่างเช่น การหุงข้าว ทุกคนกินข้าวทุกวัน ทุกคนมีความรู้อยู่ว่าทำอย่างไรจึงจะหุงข้าวได้ ข้าวมาอย่างไร รู้กันทุกคน เป็นต้นว่า เอาข้าวสารมาซาวน้ำ เอาน้ำใส่ไปในหม้อ ยกขึ้นตั้งบนกองไฟ พอมันเดือด เทน้ำข้าวทิ้ง อันนี้คือการหุงข้าวแบบโบราณ แล้วก็เอาไปอังไฟพักหนึ่งก็เอามากินได้ คือนึ่ง นี่เป็นหลักวิชา แต่คนที่รู้หลักวิชา ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะหุงข้าวกินได้ทุกคน บางคนก็หุงดิบ บางคนก็แฉะเกินไป บางคนก็หุงไหม้ ทั้งนี้เพราะไม่มีศิลปะในการหุงข้าว ถึงเวลาจะทำกับข้าวก็เหมือนกัน สูตรของมันก็อย่างเดียวกัน เช่น แกงเผ็ด ทอดไข่ วิธีทำมันก็อย่างเดียวกัน แต่คนหนึ่งทำอร่อย คนหนึ่งทำแบบกินไม่ได้เลย เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นการงานอื่นๆ อะไรก็แล้วแต่ในโลก ต้องมีศิลปะคือ ทำให้เป็น เช่น เล่นกีฬาเตะฟุตบอล เราเห็นแล้วว่ามันก็ไม่เห็นยากอะไร แค่เอาเท้าไปเตะลูกมันก็กลิ้งไปแล้ว แต่พอไปเตะเข้าจริงๆ มันไม่ได้อย่างที่เราคิด จะเตะถูกแต่ละทีก็จะดูยาก ถึงถูกก็ไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการ เพราะไม่ได้ฝึก ไม่ได้มีศิลปะในการเตะ ในการเล่น การทำได้กับการทำเป็นจึงไม่เหมือนกัน คำพูดก็เช่นเดียวกัน คนพูดได้ ใครๆ ก็พูดได้ แต่การที่จะพูดให้ได้จังหวะท่วงทีนั้น ไม่ได้ หรือ การร้องเพลงใครๆ ก็ร้องได้ แต่จะร้องให้เป็น ร้องให้ไพเราะ มันยากมาก เหล่านี้เป็นต้น ฉะนั้น อย่าได้เข้าใจผิดว่าความรู้กับความเป็นมีค่าเท่ากัน ซึ่งคนประเภทนี้มักจะเสีย กล่าวคือ เมื่อตนมีความรู้อะไรบ้างแล้ว ก็มักจะมีอีโก้ว่าตัวเองเป็นเสียทุกเรื่อง เป็นทุกอย่าง นึกแต่ว่าตัวเองมีฝีมือ ตัวมีศิลปะเหมือนกัน คนจำพวกนี้มีอีโก้มากและทำให้สังคมยุ่งยาก
การที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงมงคลข้อที่ว่าศิลปะนี้ไว้ เพื่อที่จะให้เรารู้จักว่า ลำพังความรู้พหูสูตยังไม่เพียงพอ ต้องมีศิลปะคือทำเป็นด้วยจึงจะดีแท้ ความรู้ทุกอย่างที่เรามีอยู่ มันจะช่วยตัวเราได้ก็เพราะว่ามีศิลปะเท่านั้น คือเอาความรู้ที่มีออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ความรู้ต่างๆ ที่เรามีเปรียบเสมือนกับเปลือกไม้กับต้นไม้เท่านั้น ส่วนศิลปะเปรียบเหมือนกับผลและดอก มันจะออกดอกออกผล ก็คือเหมือนกับศิลปะ ซึ่งทำให้เราเห็นได้ชัด เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า การมีศิลปะประจำตัวเป็นมงคล ทำให้มีความเจริญก้าวหน้าได้ นี่คือการมีศิลปะของคฤหัสถ์ ของฆราวาสผู้ครองเรือน
ส่วนทางพระภิกษุนั้น พระพุทธองค์ก็ตรัสถึงว่า ความเป็นผู้มีศิลปะของพระภิกษุเป็นอย่างไร? พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน “สัตตกนิบาต อังคุตตรนิกาย สัตตมสูตร ทุติยวรรค” ว่าภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระพุทธศาสนานี้ มีความฉลาดในกิจการต่าง ๆ ทางบรรพชิต พึงกระทำซึ่งกิจการน้อยใหญ่ในพระพุทธศาสนา กิจน้อยนั้น ก็คือว่า อาคันตุกะกิจ กิจน้อยคือ หน้าที่เล็กๆ น้อย เช่น อาคันตุกะกิจก็คือ การต้อนรับแขก ต้อนรับอาคันตุกะภิกษุผู้มาสู่อาวาส กลับไปจากอาวาส การประพฤติปฏิบัติต่ออุปัชฌาย์อาจารย์ จะเห็นได้ว่าอาคันตุกะวัตร อุปัชฌายวัตร อาจริยวัตร ถ้าหากทำเป็น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ศิลปะ เป็นศิลปะของบรรพชิต ดูแลแขกเป็น ต้อนรับอาคันตุกะเป็น ดูแลครูบาอาจารย์ ดูแลพระอุปัชฌาย์ อุปัฏฐากบำรุงท่านเป็น นี่ก็เป็นศิลปะแล้วก็เป็นมงคลด้วย กวาดลานพระอุโบสถ ลานพระเจดีย์และอาวาสเป็นต้น ทำข้อวัตร กิจวัตรเป็นก็เป็นศิลปะ ส่วนกิจใหญ่นั้น เช่นว่าตัดจีวร เย็บจีวร ตลอดจนถึงการปฏิสังขรณ์วัดวา อาวาส กุฏิวิหารที่ชำรุดให้เป็นปกติ ตั้งมั่นถาวรให้ดี รู้จักซ่อม รู้จักบำรุง รู้จักดูแล กิจทั้งสองนี้ก็เป็นกิจของภิกษุในพระพุทธศาสนาพึงกระทำ ก็คือเป็นศิลปะของภิกษุนั่นเอง ถ้าภิกษุทั้งหลายทำได้ดังนี้ จัดว่าเป็นผู้ฉลาดในพระพุทธศาสนา ย่อมเป็นคุณแก่ตนและผู้อื่น จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ นี่คือที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้ทรงยกย่องสรรเสริญพระอานนท์ว่าเป็นผู้มีศิลปะ ในคราวที่ท่านออกแบบจีวรตามรูปแบบคันนาของชาวมคธ ซึ่งก็เป็นต้นแบบแห่งผ้าจีวรสังฆาฏิตามรูปแบบกระทงนาที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ ซึ่งพระองค์ก็ทรงยกย่องสรรเสริญพระอานนท์ว่า เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้มีศิลปะ
ประเภทของศิลปะ ท่านก็แยกง่ายๆ ๓ ทางด้วยกัน
โดยย่อ ศิลปะ จึงหมายถึง คิดเป็น พูดเป็น แล้วก็ทำเป็นนั่นเอง
องค์ประกอบของศิลปะ สิ่งที่ทำแล้วจัดว่าเป็นศิลปะ ประกอบด้วยองค์ ๖ อย่างก็คือ
๑. ทำด้วยความประณีต เพราะมันออกมาจากใจ
๒. ทำให้สิ่งของต่างๆ มีคุณค่าสูงขึ้น
๓. ทำแล้วส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
๔. ทำแล้วไม่ทำให้กามกำเริบ
๕. ทำแล้วไม่ทำให้ความคิดพยาบาทกำเริบ แล้วก็สุดท้าย
๖. ทำแล้วไม่ทำให้ความคิดเบียดเบียนมันกำเริบขึ้นมา
วิธีฝึกตนให้เป็นผู้มีศิลปะก็คือว่า ฝึกให้ตนเองเป็นคนช่างสังเกต รู้จักหาจุดเด่นของสิ่งรอบตัว ตั้งใจทำงานทุกอย่างที่มาถึงตนให้ดีที่สุด อย่าดูถูกหรือว่าเกี่ยงงาน ตั้งใจทำงานทุกอย่างด้วยความประณีตละเอียดลออ แล้วก็ตั้งใจปรับปรุงงานให้ดีขึ้นเสมอ ไม่ทำอะไรอย่างชุ่ยๆ แบบขอไปที แบบเช้าชามเย็นชาม แล้วก็หมั่นใกล้ชิดกับผู้มีศิลปะอย่างแท้จริงในสายงานนั้นๆ และสุดท้ายฝึกสมาธิภาวนาอยู่เสมอ เพื่อให้จิตใจสงบผ่องใส เกิดปัญญาที่จะฝึกฝนอบรมปรับปรุงตน ให้มีคุณสมบัติของผู้มีศิลปะนั้นๆ ได้ อย่าเอาแต่จับผิดผู้อื่น ไม่เช่นนั้นตัวเราจะกลายเป็นศิลปินนักติ คือ ดีแต่ติการกระทำของผู้อื่นเรื่อยไปว่าผู้นั้นคิดไม่เป็น พูดไม่เป็น ทำไม่เป็น อย่างนั้นอย่างนี้ ดูขัดใจไปหมด ติคนอื่นไว้มากมาย แล้วก็เลยไม่กล้าแสดงฝีมือ เพราะกลัวคนอื่นจะติเอาบ้าง สุดท้ายกลายเป็นคนไม่มีผลงาน ทำอะไรไม่เป็น ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน
อานิสงส์ของการมีศิลปะท่านสรุปว่า
นี่คือเป็นผู้มีศิลปะ พื้นฐานของประเทศไทยเรานี้ ศาสนาพุทธแท้ๆ เหลืออยู่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่จำนวนประชากรบอกว่า ๙๕% นับถือพุทธศาสนา แต่จะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่มีศาสนาพุทธแท้ๆ อยู่ในใจ เลยทำให้คนรุ่นใหม่ นักวิทยาศาสตร์ เขาไม่นับถือศาสนา เพราะคนที่เกี่ยวข้องกับพุทธก็งมงาย กับคริสต์ก็งมงาย เกี่ยวข้องกับอิสลามก็งมงาย เป็นแต่ศาสนาเนื้องอก เน้นแต่ไปทางขลัง ทางศักดิ์สิทธิ์ มันไม่ใช่ศาสนา ศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ที่เหนือวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นวิทยาศาสตร์แห่งจิตใจ เรามีบ้าน มีรถ ลาภยศสรรเสริญอะไร เราก็ไม่ติดในบ้าน ในรถ ในลาภยศสรรเสริญเพราะอันนี้เป็นทางถนนเหยียบผ่านไปเฉยๆ ไม่มีการแย่งขยะกัน ปัจจุบันภิกษุหลายแสนรูปก็จริง แต่ว่าจะมีพระอริยะเจ้าสักกี่รูป เพราะดูแล้ว พวกที่ยินดีในเงิน ก็อย่างเดียวกับยินดีในผู้หญิงนั่นเอง ยินดีในยศพระครู เจ้าคุณ มันก็คือยินดีในกาม กามก็คือยินดีในผู้หญิง ยินดีในเงิน ยินดีในยศ ยินดีในความสะดวกความสบาย แบบนี้ไปนิพพานไม่ได้ พระพุทธเจ้าถึงทรงฉลาดแท้ ไม่สอนให้พระรับเงินรับสตางค์ ทำไมทรงฉลาดแท้ ไม่บรรจุเอาความโง่ไว้สักนิดเลย กามคุณนี้มีไว้สำหรับฆราวาส ผู้ครองเรือน ผู้ถือศีล ๕ ที่เป็นพระอริยะเจ้าเบื้องต้น หรือฆราวาสที่จะเป็นพระอนาคามี ก็มีภาระเรื่องดูแลพ่อดูแลแม่ แต่ใจท่านไม่ได้ยินดีในกาม ดูกิจการทางบ้าน อย่างนี้เป็นต้น เรามาคิดดูพระพุทธเจ้าท่านถึงน่ากราบ น่าไหว้ กราบแล้วกราบอีก ไม่อิ่มใจไม่จุใจ การบรรลุธรรมไม่เกี่ยวกับบวช ถูกภาษามคธหรือไม่มคธ ถ้าตามอริยมรรคมีองค์ ๘ แล้วก็ได้บรรลุมรรคผลพอๆ กัน เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปติกันหรอกว่า บวชไม่ถูกภาษามคธ ยิ่งภาษามคธแบบของพม่า โอ...แทบฟังไม่ออกเลย ส เสือเป็น ต เต่า เพราะฉะนั้น ไม่เกี่ยวหรอกว่าถูกมคธ ไม่ถูกมคธ อยู่ที่อริยมรรคมีองค์ ๘ ถ้ามีอริยมรรคมีองค์ ๘ อยู่ในใจแล้ว บรรลุธรรมพอๆ กัน เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน อย่างฆราวาสญาติโยมที่เขาไม่ได้บวชเอสาหังเลย แต่ใจเขาก็ได้เป็นพระ เป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี พระอนาคามีโน่น ไม่เห็นต้องบวช เราต้องเป็นพหูสูต เขาเรียกว่าเป็นผู้มีปัญญา เพราะว่าธรรมชาติให้มีตาก็เพื่อให้เรามีปัญญา มีหูก็เพื่อให้เรามีปัญญา มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ก็เพื่อให้มีปัญญา ปัญญาของเราต้องมีในปัจจุบัน เราจะต้องพัฒนาให้เกิดปัญญา รู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องเจอจากการปฏิบัติต้องไปพร้อมๆ กันในปัจจุบัน เพราะความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง การปฏิบัติถูกต้อง จะระเบิดทำลายอวิชชาไปในตัว ถ้าอย่างนั้นมันไม่เกิดความรู้อะไร มันก็ไปไม่ได้ เพราะการศึกษาที่เราตั้งไว้ในความเป็นมนุษย์ที่ร่ำรวย ถัดไปก็แค่เทวดา ถ้ารักษาศีลก็เป็นเทวดา ถ้าไม่ตั้งเป้าหมายไว้มันก็เครียด เพราะสิ่งเหล่านั้นมันคือความยึดมั่นถือมั่นที่เราจะเอา อันนี้เราเรียนเป็นพหูสูต เพื่อเสียสละ การเรียนหนังสือ นักธรรมตรี โท เอก เปรียญธรรม ชั้นต่างๆ อ่านพระไตรปิฎก ไม่ใช่เพื่อเอาใบประกาศ แต่เพื่อเสียสละ เพื่อนำมาประพฤติปฏิบัติ การเรียนการศึกษาต้องให้ถูกต้อง ต้องเป็นพหูสูต เรียนให้เกิดสัมมาทิฐิ ความเห็นถูก เข้าใจถูก ไม่ใช่เรียนเพื่อจะเอา ถ้าจะเอามันก็เครียด ไม่เกินสี่ปีห้าปี มันลืมหมดแล้ว เข้าหม้อเข้าไหหมด ความรู้ที่เรียนมาเพราะเราไม่ได้เอามาปฏิบัติ พหูสูตมันต้องอยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันที่เราเป็นเสขบุคคลนี้ ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์เรียกว่ายังเป็นเสขบุคคล คือ ยังเป็นนักศึกษาอยู่ ยังต้องเรียนต้องศึกษา ต้องประพฤติต้องปฏิบัติ จนกว่าอาสวะกิเลสจะหมด เพราะฉะนั้นแล้ว ปัจจุบันเป็นเสขะบุคคลคือบุคคลที่ต้องศึกษา แล้วก็เลื่อนขั้นตัวเองด้วยการปฏิบัติ รู้เฉยๆ มันเป็นเพียงแผนที่เฉยๆ ถ้าเรียนเพื่อที่จะเสียสละ มันจะไม่เครียด แต่ถ้าเรียนเพื่อไต่เต้าเอายศเอาตำแหน่งแบบนั้น ไม่มีใครเอาพระนิพพาน เรียนเอาหน้าเอาตาเอาตำแหน่ง พวกนี้เป็นกามสำหรับชาวบ้าน ชาวบ้านผู้บริโภคกามนี้ อยู่ในธรรมอยู่ในศีล ๕ ที่ผ่านมาแสดงถึงความผิดพลาดอย่างเสียหาย อย่างใหญ่หลวง เราต้องเอาใหม่ ต้องเข้าใจคำสั่งสอนของพระ พุทธเจ้า เราจะไม่เรียนไม่ศึกษานั้นไม่ได้ ไม่เป็นพหูสูต พหูสูตไม่ได้หมายถึงเรียนหนังสือเอาปริญญาตรี โท เอก อย่างเดียว มันต้องอยู่กับปัจจุบัน ตำรับตำราอะไรด้วยเพราะว่าต้องถือนิสัยของพระพุทธเจ้า ถือนิสัยของพระอริยเจ้า ภิกษุบางเหล่าก็ไม่ได้เป็นพหูสูต ถึงเป็นก็เป็นพหูสูตมิจฉาทิฐิ ไม่ได้เป็นพหูสูตสัมมาทิฐิเลย สมัยก่อนบางทีพวกบวชวัดป่าก็จะไม่เอา ไม่เรียน ไม่ศึกษา จะไปเอาแต่คำครูบาอาจารย์ ไม่ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก เลย จะเป็นอาจริยวาท ถือเอาแต่คำของอาจารย์ ถ้าอาจารย์เป็นพระอรหันต์เป็นพระอริยเจ้าก็ดี เป็นความเลิศ เป็นความประเสริฐ แต่ถ้าครูบาอาจารย์เป็นปุถุชนเต็มขั้น มันจะเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง จะสังเกตได้ เห็นได้จากประวัติศาสตร์ของความผิดพลาดของฝ่ายมหาสังฆิกะที่พัฒนามาเป็นมหายาน คือเอาอาจารย์เป็นหลัก เห็นไหม? วันหนึ่งฉันข้าววันละหลายครั้ง จากนุ่งจีวรก็กลายเป็นนุ่งกางเกง นุ่งเสื้อไป จีวร สังฆาฏิก็มีเอาไว้ห่มเวลาเข้าพิธีเฉยๆ ดูไปก็ไม่ใช่ของแท้เท่าไหร่ เพราะเราเป็นพหูสูต เพียงต้องการลาภยศ ให้รู้ว่าเรามีความสามารถอะไร จบอะไรมาก็เท่านั้น เพื่อจะเอาไปบริโภคกาม เพราะยังยินดีในผู้หญิง ยังยินดีในกามคุณ สำหรับนักบวช ลาภยศสรรเสริญนี้ไม่ใช่แก่นแท้แห่งศาสนาพุทธเลย นี่ถือว่ายังเรียนไม่เข้าใจจริง ไปทำในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน ศาสนาพุทธของเราถึงมีอยู่ในใจของผู้ที่นับถือมีไม่ถึง ๒๐-๓๐ % เลย ภาพรวมที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์นับถือไม่ได้ มันไม่ได้ผิดแบบธรรมดา ผิดอย่างเสียหาย ผิดทางอย่างใหญ่หลวง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ตัว สมัยก่อนวัดป่าที่เคร่งครัด แต่เคร่งครัดด้วยการทิ้งพหูสูต ทิ้งการเรียนการศึกษาไปตามครูบาอาจารย์ เราต้องมาคิดใหม่ เราอย่าไปหลงประเด็น ปริยัติ ปฏิบัติ ต้องไปคู่กัน อย่าทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเอาแต่ปริยัติไม่เอาปฏิบัติก็ไปไม่รอด จะเอาแต่ปฏิบัติถ้าไม่เอาปริยัติเลยจะทำให้หลงทาง เพราะฉะนั้น ปริยัติ ปฏิบัติต้องคู่กันไปเหมือนกับมีแผนที่ที่ดี แล้วก็เดินไปตามแผนที่นั้น สุดท้ายก็จะถึงปฏิเวธ คือ จุดหมายปลายทาง
เราต้องมาคิดใหม่ เราอย่าไปหลงประเด็น รักษาพระวินัยให้เคร่งครัดขึ้นอีก ปฏิบัติให้เคร่งครัดขึ้นอีก จึงจะเป็นผู้มีจิตใจสง่างาม เป็นผู้ละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป สิ่งที่น่าอายก็คือไม่เกรงกลัวต่อบาป ไม่ละอายต่อบาป ที่เอาเงินใส่ย่ามนี้ มันน่าอาย ที่น่าอายก็คือไม่ได้มุ่งมรรคผลนิพพาน ปฏิบัติเป็นภิกษุแต่ว่าไม่ได้เป็นพระธรรม เป็นพระวินัย เพราะทุกคนไว้วางใจ เราต้องทำให้เหมือนที่พระอาจารย์ชาที่สอนพระ เมื่อพระเณรหรือว่าโยมเขาพูดอะไรกับเรา เขาพนมมือ เขากราบเขาไหว้ เราก็ต้องมีจิตสำนึกว่าเราต้องประพฤติตัว ปฏิบัติตนสมกับที่เขากราบไหว้ สมกับที่เขาอุปถัมภ์อุปัฏฐากยกย่องบูชาเรา เราต้องเอาใหม่ ต้องหาวิธีใหม่ เราต้องรับเอา เกียรติ เอาความโชคดีนี้ อย่ามาทำร้ายพระศาสนา มันบอบช้ำมาก อย่าเอาเงินถวายพระ เราปฏิบัติไม่ได้ เราไม่เข้ม แข็ง เมื่อได้ยศได้ตำแหน่งก็ต้องปฏิบัติให้ได้ ไม่ใช่คิดว่า เมื่อได้ยศแล้วจะได้ค่าตัวเพิ่มขึ้น แต่ก่อนเราเป็นพระอธิการ เขาให้ห้าร้อยเมื่อเราเป็นพระครูเราจะได้หนึ่งพันบาท อย่าไปคิดอย่างนั้น สมัยก่อนที่เขาให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นกำนัน ก็เพราะว่าเขาเป็นคนดี แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่ เป็นนักการเมืองแล้ว จากการเมืองก็ผิดประเด็นไป เป็นนักกินเมือง เลือกตั้งก็ซื้อเสียง เขาเรียกว่าไม่ใช่คนดีแล้ว เป็นโจรแล้ว เราหลงประเด็นเกิน หลงในกามเกิน เราให้เกียรติโจร เราไปเลือกโจร เพราะเรายินดีในเงินเขา ที่เขาจ้างที่เขาเอามาให้หลักร้อยหลักพันในการซื้อเสียงนี้ สุดท้ายจึงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ทำไมเราเรียนหนังสือไม่ค่อยเข้าใจ ไม่ค่อยมีความสุข เพราะว่าเรียนเพื่อจะเอาๆ มันเลยเครียด ไม่มีความสุขในการเสียสละ มักชอบพูดว่า เรียนหนัก ทำงานหนัก คำพูดอย่างนี้ไม่ใช่คำพูดของบัณฑิต แต่เป็นคำพูดของผู้ที่มีเชื้อพาลเป็นคำพูดของคนพาล “คนพาล”แปลว่าคนทำไม่ถูก พูดไม่ถูก คิดไม่ถูก ไม่ใช่ความคิดของผู้ที่เป็นพหูสูต สัมมาทิฐิ เห็นพ่อแม่เป็นคนรวย เขาจะมาบ่นว่างานหนักกัน ทำงาน คำว่างานหนัก คือว่ามันหนักใจ หนักอกหนักใจจากความยึดมั่นถือมั่น “ภาราหะเว ปัญจักขันธา - ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นของหนัก” ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของหนัก แบกไม้มา ธรรมดามันไม่ใช่ของหนัก แต่พอไปยึดถือว่า มันเป็นเรา เป็นของเรานี้ มันเลยหนัก ตั้งแต่เกิดมาจนทุกวันนี้ จะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวก็เป็นตัวกูของกูไปหมด เราเห็น เราได้ยิน เราเจ็บ เรากลัว เราไม่สบาย เราคิด เราชอบ เราจำ ขันธ์ ๕ วนเวียนแล้วก็ยึดว่ามันเป็นตัวกูของกูนี้ พอยึดไว้เช่นนี้มันเลยหนัก เพราะไม่วาง ประเทศเรา สถาบันการเรียนการศึกษาที่เอาธรรมะเป็นหลัก ต้องการจะเอาธรรมะเป็นหลัก อย่างเช่น มีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เพราะจะเอาความรู้คู่กับคุณธรรมไปพร้อมๆ กัน ธรรมศาสตร์จุฬาฯ มหาวิทยาลัยสงฆ์ อย่างเช่น มหาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏ ก็เพื่อให้นักบวชในพระศาสนามีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องพระไตรปิฎก ในหลักวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนา เพื่อจะเข้าสู่ภาคประพฤติ ภาคปฏิบัติ ไม่ใช่เรียนมาสึกไปเป็นลูกเขยชาวบ้าน ไม่ใช่เพื่อจะไปทำมาหากินแข่งกับประชาชน ไม่ใช่เพื่อจะเอาคนจนมาเรียนมาศึกษา เพื่อพัฒนาที่อยู่ที่กิน อัพเดตฐานะอย่างนั้น ไม่ใช่แบบนั้นยังเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ ไม่ใช่พหูสูตอย่างแท้จริง ไม่ใช่หลักของพระพุทธเจ้า ครั้งพุทธกาลท่องพระไตรปิฎกทรงจำติดต่อกันมาหลายร้อยปี เพื่อทรงพระศาสนา เพื่อมรรคผลนิพพาน ไม่ใช่เพื่อลาสิกขาไปหานารีสีกา เพราะมันต้องมีการเรียนการศึกษา ถ้าไม่มีการเรียนการศึกษามันจะหลงประเด็น ขนาดมีการเรียนการศึกษาสูงก็ยังหลงประเด็นไป เกือบจะไม่มีพระพุทธศาสนาแท้ๆ อยู่ในหัวใจของประชาชนแล้ว มีแต่ไสยศาสตร์
ไสยศาสตร์ ก็คือความหลับใหลอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส ลาภยศสรรเสริญ จนกระทั่งทำพาณิชย์ต่างๆ ในพระศาสนา อย่าเรียกว่าพุทธพาณิชย์ เรียกว่าไสยพาณิชย์ดีกว่า พาณิชย์เกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์ เพราะปัญญามันนอน ปัญญามันนอนหลับ แต่ความโง่ ความหลง ความงมงายตื่น ไสยศาสตร์ก็เลยมีอยู่ทั่วเลย ให้เราเข้าใจ ไม่ใช่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ต้องทำความเข้าใจใหม่ จะได้การเรียนการศึกษาสูงๆเป็นเปรียญธรรมสูงๆ อย่างฉลาด ถ้าเปรียญธรรมสูงๆ แบบไม่ฉลาดอย่างนี้ไม่ต้องเอา เรานี้โชคดีมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ทรงให้การอุปถัมภ์ เพราะความถูกต้องไม่มีพรรคมีพวก ศาสนาไม่ใช่ส่วนบุคคล ไม่ใช่นิติบุคคล แต่ศาสนาคือ คำสอนอันบริสุทธิ์ คือความบริสุทธิ์ ถึงขนาดตั้งเงินเดือนให้ผู้เรียนมีการศึกษา ให้ทุกคนพากันรู้ว่าพหูสูตต้องมีสัมมาทิฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง พหูสูตต้องเป็นผู้มีความเห็นถูก อย่างเจ้าคณะผู้ปกครองในระดับต่างๆ ส่วนใหญ่จะเอาผู้คงแก่เรียนในการศึกษา มาดำรงยศ ดำรงตำแหน่ง จึงต้องเป็นพหูสูตในทางพระพุทธศาสนา เอาพระพุทธศาสนาจริงๆ แท้ๆ มาบอก มาสอน มานำพระศาสนา ถึงจะเป็นสัมมาทิฐิแท้ๆ ถึงจะสมศักดิ์ศรีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้ง บางทีมันก็ขาด ขาดนะ อย่างเจ้าคณะภาคก็อยู่ในกรุง พอจะเอาไปเซ็นอะไร หนังสือไปเซ็นมันก็ยาก บางทีอยู่บ้านนอกเข้ากรุงเทพฯก็ยาก ผู้ที่เป็นเจ้าคณะจังหวัดก็ต้องอยู่ในจังหวัดนั้นๆ ผู้ที่เป็นเจ้าคณะภาคก็น่าจะอยู่ในเขตหรือว่าอยู่ในภาคนั้นๆ อยู่ที่จังหวัดนั้นๆ เพราะเราเป็นธรรมวินัยอันเดียวกัน ทำผิดพลาดมาหลายปีแล้ว อย่าไปถือพรรคถือพวกเดียวกัน แบ่งเค้กกัน กระจุกกันอยู่แต่ในกรุงเทพฯ อย่างนี้ ทหารตำรวจเวลาเป็นผู้บัญชาการในภาคในเขตต่างๆ ยังกระจายไปอยู่ตามหัวเมือง ไปอยู่ในภาคต่างๆ ไปอยู่ในเขตต่างๆ เป็นต้น
การเรียนการศึกษา ถ้าเราไม่เสียสละ ปัญญามันก็ไม่เกิด ศาสนาไม่ใช่พรรคพวก ศาสนาก็คือการเสียสละเพื่อส่วนรวม พวกที่เรียนมาศึกษามา เพื่อที่จะเอายศเอาตำแหน่ง เพื่อที่จะช่วยเหลือประชาชน เมื่อจะช่วยเหลือประชาชนก็ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน จิตของเราต้องบริสุทธิ์ สมาธิของเราต้องตั้งมั่น ปัญญาต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ ถึงจะเสียสละให้เป็นธรรมะไปเรื่อยๆ เราอย่าไปห่วงเรื่องเงิน เรื่องสตางค์ เมื่อเราเสียสละอยู่ในธรรมอยู่ในวินัย ทุกคนก็ไว้วางใจ เรื่องอยู่ เรื่องฉัน เรื่องบริการการขนส่งไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ถ้าเราทำถูกต้องนี้ ไม่มีใครมาคัดค้าน เพราะธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าไม่มีอะไรมาคัดค้านได้ แม้แต่วิทยาศาสตร์ที่ว่าเจ๋งๆ นี้ ก็มาคัดค้านไม่ได้ แต่เมื่อไม่ทำตามพระธรรม ตามพระวินัยนี้ สุดท้ายก็ต้องห่วงเรื่องกิน เรื่องอะไรต่างๆ มันก็ต้องห่วง เพราะว่าไม่ใช่ศาสนาพุทธแท้ๆ เป็นศาสนาหลง ถือเงินเป็นพระเจ้า ถือยศ ถือตำแหน่งเป็นพระเจ้า อย่างนี้ก็ต้องห่วง การศึกษาอย่างนี้เขาเรียกว่ามิจฉาทิฐิศึกษา เราจะไปว่า เพราะเราไปนิพพานไม่ได้ ก็เลยต้องทำอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่พระนิพพานก็อย่ามาบวช ก็สึกไปทำมาหากินเหมือนประชาชนเขา เพราะคำบวช คำขอบวชที่เปล่งต่อหน้าคณะสงฆ์ ต่อหน้าพระอุปัชฌาย์ ต่อหน้าพระพุทธปฏิมา ก็ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่า ขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แม้ปรินิพพานนานแล้วนี้ ว่าเป็นสรณะ ว่าเป็นที่พึ่ง ขอท่านจงรับผ้ากาสายะนี้ ให้ข้าพเจ้าได้บวช เพื่อทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง ลั่นวาจาไว้ตั้งแต่แรก เราเป็นนักบวช คือเราต้องเป็นผู้บวชจริงๆ เป็น พระแท้ๆ ในพระพุทธศาสนา ถึงเราเป็นคนบ้านนอกบ้านนา มาบวชรักษาศีลดีๆ อ่านหนังสือพระวินัย อ่านหนังสือพุทธประวัติ เรียนนักธรรมตรี โท เอก จนถึงเปรียญธรรมต่างๆ เพื่อเอาความรู้ ไม่ใช่เอายศเอาตำแหน่ง สวดมนต์ไม่ได้ก็สวดให้ได้ ประชาชนเขาถึงจะไม่ดูถูกดูแคลน ว่าเราหมดทางไปจึงมาบวช หมดทางหากินก็เลยอยู่อย่างหน้าด้านๆ
ทุกวันนี้ศาสนาบอบช้ำมามากแล้ว มีแต่คนด่าทุกวันๆ ที่ออกข่าวมานี้ ให้เราเข้าใจ เรียนหนังสือทางสามัญอย่างนี้ก็เรียนเพื่อเสียสละ ถ้าเราเรียนให้ฉลาด แต่เพื่อจะเอามาโกงกิน มาคอร์รัปชั่นอย่างนี้มันไม่ใช่ เพราะคนที่ไม่เรียนไม่ศึกษา ส่วนใหญ่เขาจะไม่ค่อยโกงกินคอร์รัปชั่น แต่พวกเรียนพวกศึกษามาก ตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับสูง พวกเรียนพวกศึกษาที่เป็นปริญญาจนถึงเป็นด็อกเตอร์เยอะนี้ เพราะการเรียนการศึกษา เป็นไปเพื่อความเห็นแก่ตัว ศึกษาแบบเป็นมิจฉาทิฐิ คือ มีความเห็นผิด เข้าใจผิด ไปหาเงินหาสตางค์ในทางที่ผิด ไปหากับคนอื่น ประชาชนเขาไม่เข้าใจ เขาก็ให้เกียรติกับคนเหล่านี้ จึงเป็นการบูชาคนที่ไม่ควรบูชา ยกย่องคนที่ไม่ควรยกย่อง ไปบูชาเงิน เป็นยุคสมัยที่บูชาเงิน แต่ไม่บูชาคนดี เขาให้เงินในการเลือกตั้ง ก็ไปเลือกเขาอย่างนี้เรียกว่าบูชาเงิน เป็นวิธีการของโจร ญาติโยมประชาชนต้องคิดดีๆ จะเลือกตั้งในแต่ละครั้ง ชั่งใจว่าใครมีศีล ๕ ใครเป็นผู้เสียสละ ถ้ามี ๒ คน คนหนึ่งมีศีล คนหนึ่งฉลาดแต่ไม่มีศีลก็ต้องเอาคนที่มีศีล เพราะคนฉลาดแต่ไม่มีศีลนี้ คือคนเป็นโจรในเครื่องแบบ ถ้าเขาพวกนี้ไปทำงานก็เสีย เป็นครูสอนก็เสียโรงเรียน เป็นอะไรๆก็ตาม ก็เสียหายสถานที่นั้นๆ เพราะการเรียนการศึกษามันไม่ได้เรียนเพื่อเสียสละ คำว่าปล่อยวาง ไม่ใช่ไม่เรียนไม่ศึกษาปล่อยวางคือการเรียน การศึกษาที่ละความขี้เกียจขี้คร้าน ละความเห็นแก่ตัว จิตใจต้องเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เสียสละให้เป็นธรรม เป็นปัจจุบันธรรมไปอย่างนี้ โดยเฉพาะความเป็นพหูสูต ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก พระพุทธองค์ยกย่องสรรเสริญพระอานนท์เป็นยอดของพหูสูต เป็นผู้มีปัญญาลึกล้ำ นอกจากจะทรงจำคำสอนของพระพุทธองค์ได้แล้ว ยังมีปฏิภาณไหวพริบในการนำคำสอนมาใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว เหมือนดังคำกล่าวในคาถาบทหนึ่งว่า “ยามคับขันย่อมต้องการคนกล้า ยามประชุมปรึกษาย่อมต้องการคนหนักแน่น ยามมีข้าวน้ำบริบูรณ์ย่อมปรารถนาผู้เป็นที่รัก ยามมีปัญหาย่อมปรารถนาบัณฑิตผู้มีปัญญา” เพราะ ฉะนั้น เมื่อมีปัญญาต้องเอามาแก้ปัญหา เมื่อมีปัญหาเรื่องใดเกิดขึ้นก็ให้ใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยใจที่สงบเยือกเย็น ปัญหาทั้งหลายของชีวิตนั้นมีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม ไม่ได้มีไว้ให้แบก จงแก้ปัญหาด้วยสติ ด้วยปัญญา สติมาปัญญาจะเกิด สติเตลิดมันจะเกิดปัญหา ปัญญานี้แหละที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง ยิ่งจิตว่าง จิตสงบ จิตละเอียด จิตเยือกเย็น ปัญญายิ่งเกิดขึ้น ยิ่งละเอียด ยิ่งลึกซึ้ง ความรู้ความเห็นกว้างไกลทำให้การตัดสินใจถูกต้อง มีวินิจฉัยไม่ผิดพลาด ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “นัตถิปัญญาสมาอาภา -ความสว่าง แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี” ยิ่งกว่านั้นแสงสว่างแห่งปัญญานี้สามารถขจัดกิเลสอาสวะที่มันหมักหมมอยู่ในกมลสันดาน ที่ครอบงำจิตครอบงำใจ เป็นอวิชชาที่ห่อหุ้มจิตใจชาวโลกนี้ ให้เปลี่ยนจากคนธรรมดามาเป็นผู้รู้แจ้งโลกได้ในที่สุด จนกระทั่งถึงความดับทุกข์ คือพระนิพพาน
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำระความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลนิพพานทุกท่านเทอญ