แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๗ ความเป็นผู้มีบุญเก่าและการตั้งตนไว้ชอบ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันพุธที่ ๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ วันนี้การบรรยายเรื่องการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล มงคลข้อที่ ๕ ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา มีบุญวาสนามาก่อนตามความหมายของมงคลในข้อนี้ มีความหมายว่า การที่มี ปุพฺเพกตปุญฺญตา ซึ่งเมื่อแปลแล้วจะได้ความอย่างภาษาธรรมดาว่า “บุญเก่า” ความหมายของมงคลในข้อนี้ หมายถึงบุญที่ได้ทำไว้แล้วในอดีต ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจเรื่องบุญกันเสียก่อน เพราะคำว่าบุญเป็นคำที่เราใช้อยู่กันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่เกิดมาเราก็ได้ยิน คำว่า”บุญ” คือสิ่งซึ่งเกิดขึ้นในจิตใจแล้วทำให้จิตใจใสสะอาด ปราศจากความเศร้าหมองขุ่นมัว ก้าวขึ้นสู่ภพภูมิที่ดี เกิดขึ้นจากการที่ใจสงบทำให้เลือกคิด เฉพาะสิ่งที่ดีที่ถูกที่ควรที่เป็นประโยชน์ แล้วพูดดีทำดีตามที่คิดนั้น
บุญเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมส่งผลปรุงแต่งใจของเราให้มีคุณภาพดีขึ้นคือ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว บริสุทธิ์ผุดผ่อง สว่างไสว โปร่งโล่ง ไม่อึดอัด อิ่มเอิบ ไม่กระสับกระ ส่าย ชุ่มชื่นเบาสบาย ผ่อนคลายไม่ตึงเครียด นุ่มนวลควรแก่การใช้งาน และบุญที่เกิดขึ้นนี้ยังสามารถสะสมไว้ในใจได้อีกด้วยเพราะเก็บไว้ในสัญญาขันธ์
คนทั่วไปแม้จะมองไม่เห็น “บุญ” เพราะบุญเป็นนามธรรม แต่ก็สามารถรู้อาการของบุญหรือผลของบุญได้ คือเมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตใจชุ่มชื่นเป็นสุข ใจเต็มอิ่ม ใจเบิกบานเปรียบได้กับไฟฟ้า ซึ่งเรามองไม่เห็นตัวไฟฟ้าโดยตรง แต่เราสามารถรับรู้อาการของไฟฟ้าได้ เช่น เมื่อไฟฟ้าผ่านเข้าไปในหลอดไฟแล้วเกิดแสงสว่างขึ้น หรือเมื่อผ่านเข้าไปในเครื่องปรับอากาศแล้วเกิดความเย็นขึ้น เป็นต้น
คุณสมบัติของบุญ
๑. ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดได้
๒. นำความสุขความเจริญก้าวหน้ามาให้
๓. ติดตามตนไปทุกฝีก้าว แม้ไปเกิดข้ามภพข้ามชาติ
๔. เป็นของเฉพาะตน ใครทำใครได้ โจรลักขโมยไม่ได้ทรัพย์อย่างอื่นยังสูญหายได้ แต่ว่าบุญนี้มันติดตัว ติดอยู่ในใจ ใครก็ลักไปขโมยไปไม่ได้
๕. นำมาซึ่งโภคทรัพย์สมบัติทั้งหลาย
๖. ให้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติตลอดจนนิพพานสมบัติแก่เราได้
๗. เป็นเกราะป้องกันภัยในวัฏสงสาร ในการตกลงสู่อบาย
๘. เป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพาน
บุญที่ได้สั่งสมอยู่ในจิตใจเป็นเวลานาน เราเรียกว่าบุญเก่า หรือบางทีเราเรียกกันอย่างติดปากว่าบุญวาสนา แต่ความจริงแล้ว “วาสนา” แปลว่าการสั่งสม แปลว่าความเคยชินก็ได้ ซึ่งก็มีความหมายอย่างเดียวกันนั่นเอง บุคคลเราที่เกิดมาในโลกนี้ เราจะสังเกตเห็นว่ามีสภาพต่างกันไม่เหมือนกัน บางคนสวยงาม บางคนรูปร่างน่าเกลียด บางคนดำ บางคนขาว บางคนสติปัญญาดี บางคนสติปัญญาน้อย บางคนสติปัญญาทราม บางคนยากจน บางคนมั่งมี เหล่านี้เกิดมาจากผลของการกระทำไว้ในชาติปางก่อนทั้งสิ้น ไม่ใช่อำนาจของพระเจ้าดลบันดาลแต่อย่างใด จะขอยกตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งมีความเกียจคร้าน ไม่เรียนหนังสือ เอาแต่เที่ยวเตร่ เด็กอีกคนหนึ่งเป็นคนขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน ผลของคนทั้งสองก็ย่อมจะปรากฏขึ้น คือ คนที่เกียจคร้านไม่เรียนหนังสือเอาแต่เที่ยวเตร่ ติดเพื่อนติดเที่ยว ติดเหล้า ติดยา ทำให้อ่านหนังสือไม่ออก มีความยากจน ส่วนคนที่หมั่นเพียรไม่เกียจคร้าน ผลที่ได้รับก็คืออ่านหนังสือออก มีความมั่งมี มีงานที่มีเกียรติ เหล่านี้เป็นผลของการทำความดีทั้งนั้น นี่หมายให้เห็นถึงบุญเก่าที่ทำในปัจจุบัน และปัจจุบันที่เราทำก็จะเป็นบุญเก่าของอนาคต เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
ส่วน ปุพฺเพ กตปุญฺญตา นั้นหมายถึงผลที่ทำในอดีตแล้วส่งผลมาในภพปัจจุบัน เช่น คนที่ได้ทำความดีไว้ในชาติก่อน บุญนั้นจะส่งผลให้เกิดมาในตระกูลที่มั่งคั่ง มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด หรือเราจะสังเกตดูก็ได้ว่าในการทำการค้า ในการทำธุรกิจ คนแต่ละคนมีความเจริญผิดกันมาก ทำเหมือนๆกันแต่ได้รับผลไม่เหมือนกัน บางคนทำการค้าได้รับผลดีสมความมุ่งหมาย บางคนยิ่งทำการค้ายิ่งขาดทุน ทั้งๆ ที่ทำอย่างรอบคอบแล้วก็ตาม หรือบางคนเกิดในตระกูลที่ยากจน และพร้อมกันนั้นอีกคนหนึ่งก็อยู่ในฐานะเดียวกัน แต่คนหนึ่งไปได้ดิบได้ดีเป็นนายกรัฐมนตรี แต่อีกคนหนึ่งยังทำไร่ทำนาอยู่ เหล่านี้เป็นผลของ “ปุพฺเพ กตปุญฺญตา” ทั้งนั้น ทั้งที่ทำในอดีตและทำในปัจจุบันชาติ ทำตั้งแต่เป็นเด็ก วัยรุ่น ทำมาเรื่อยๆ มันคือผลของการกระทำทั้งนัน แต่ที่พระพุทธองค์กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าให้เรามีความท้อถอยในการทำงาน แต่พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า “ปุพฺเพ กตปุญฺญตา” คือบุญเก่าเป็นผลที่จะคอยสนับสนุนการกระทำของเราในภพปัจจุบันให้ได้รับผลไพบูลย์ยิ่งขึ้น ถ้าเรามีความท้อถอยไม่ทำอะไรเลย เราจะไม่ประสบผลเลย เพราะถ้าเราได้กระทำบุญในปัจจุบันนี้แล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับผลในชาตินี้ แต่จะเป็นเชื้อซึ่งเรียกว่า ปุพฺเพ กตปุญฺญตา ในชาติต่อไป ปัจจุบันของเราจึงสำคัญที่สุด อดีตเราไปแก้อะไรไม่ได้แล้ว ปัจจุบันเราทำเหตุให้ดี เหตุที่ดีในปัจจุบันจะเป็นบุญเก่าของวันข้างหน้า
ตัวอย่างผลของบุญ
ผู้ที่มีอายุยืน เพราะในอดีตไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ผู้ที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เพราะในอดีตไม่รังแกหรือทรมานสัตว์
ผู้ที่มีพลานามัยสมบูรณ์ เพราะในอดีตให้ทานด้วยข้าวปลาอาหารมามาก
ผู้ที่มีผิวพรรณงาม เพราะในอดีตรักษาศีล ไม่ขี้โกรธ และให้ทานด้วยเสื้อ ผ้า เครื่องนุ่งห่มมามาก
ผู้ที่มีอำนาจมีคนเกรงใจ เพราะในอดีตมีมุทิตาจิต ใครทำความดีก็อนุโมทนา ยินดีด้วย ไม่อิจฉาริษยาใคร
ผู้ที่ร่ำรวยมีโภคทรัพย์มาก เพราะในอดีตให้ทานมามาก
ผู้ที่เกิดในตระกูลสูง เพราะในอดีตบูชาบุคคลที่ควรบูชามามากแล้วก็อ่อนน้อมถ่อมตน
ผู้ที่ฉลาดมีสติปัญญาดี เพราะในอดีตคบบัณฑิต ฝึกสมาธิ เจริญภาวนามามากและไม่ดื่มสุรายาเมา
ที่ว่ามานี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในวิภังคสูตรว่าด้วยผลของกรรม “กัมมัง สัตเต วิภะชะติ ยะทิทัง หีนัปปะนีตะตายะ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เป็นผู้ที่เลวและประณีตต่างกัน” กรรมในที่นี้หมายถึงกุศลกรรม ก็คือบุญ บุญกับกุศลจึงคู่กันมา บุญทำให้ใจเต็มใจอิ่ม กุศลแปลว่าความฉลาด
“บุญเลยเป็นเงาตามตัวไปทั่วทิศ เป็นมิตรของเราทุกเช้าค่ำ
บุญจะอยู้ใกล้ชิดคอยติดตาม บุญจะทำให้สุขทุกเวลา
บุญจะคอยคุ้มครองปกป้องภัย บุญจะไปพิทักษ์คอยรักษา
บุญจะคอยอุปถัมภ์และนำพา บุญจะพาให้ถึงมรรคผลพระนิพพาน”
เหล่านี้ล้วนเป็นผลของบุญทั้งในอดีตและในปัจจุบันเกื้อหนุนกันมา ฉะนั้น มงคลในข้อนี้ พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่าผู้ที่มีความดีได้กระทำแล้วในชาติปางก่อนนั้นย่อมเป็นเครื่องสนับสนุนความสำเร็จให้มีขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือคนที่มีพื้นฐานดีนั่นเอง เหมือนกับว่าเรามีพื้นฐานการเรียนดีย่อมเป็นปัจจัยในการที่เราจะทำกิจการงานทั้งหลายได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ซึ่งผิดกับคนที่ไม่มีพื้นฐานการศึกษาเลย หรือมีพื้นฐานการศึกษาน้อยก็ย่อมจะมีความยากลำบากและช้าในการประกอบการงานต่างๆ ท่านจึงว่าจะต้องมี “ปุพฺเพ กตปุญฺญตา” คือสั่งสมความดีเอาไว้ หมายถึงเมื่อเล็กน้อยหมั่นประกอบการศึกษา เมื่อวัยหนุ่มแสวงหาทรัพย์ และเมื่อวัยแก่เฒ่าก็ได้รับความสุขสบาย เพราะผลที่เราได้กระทำไว้เมื่อคราวเป็นเด็ก หรือขวนขวายหาทรัพย์เมื่อเป็นหนุ่ม ผลที่ได้รับก็คือความสบาย นี่คือผลของ “ปุพฺเพ กตปุญฺญตา” ในภพปัจจุบัน ที่คำโบราณบอกว่า “ตอนต้นชอบสบาย จะได้ร้ายเมื่อปลายมือ”
เป็นอันสรุปความได้ว่า ความดีทุกอย่างที่คนเราทำไว้ แม้จะไม่ให้ผลในปัจจุบันทันตาเห็นก็ไม่สูญเปล่า คนส่วนใหญ่ทำไปแล้วก็หวังผล เหมือนกับปลูกมะม่วงวันนี้ อยากกินพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ มันต้องรอคอยเวลา โดยเฉพาะสิ่งที่มองไม่เห็นต้องรอคอย มันมีอยู่ มันไม่ได้หายไปไหน กรรมดีกรรมชั่วอยู่ในสภาพเดียวกัน ถึงแม้วันนี้จะมองไม่เห็น กรรมชั่วก็ต้องรอส่งผล เหมือนคนดำคนขาววิ่งคู่กันไป กรรมดีกรรมชั่ว อยู่ที่อะไรมันจะแรง อันที่แรงก็ส่งผลก่อน
อีกประการหนึ่ง ความเชื่อในบุญเก่าของตนและของคนอื่นย่อมป้องกันความริษยาเสียได้ เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่าก็คิดว่านั่นเป็นบุญวาสนาของเขา ถึงตัวเราเมื่อตกต่ำก็คิดเสียว่าหมดบุญเก่าของเราที่ได้ทำไว้ หาควรเสียใจไม่ เร่งสร้างสมบุญใหม่ดีกว่า อีกสถานหนึ่ง เมื่อทราบว่า การทำบุญเป็นการสั่งสมความดีไว้ช่วยตัว เองแล้ว จึงไม่ควรประมาทในการทำบุญ ทำเท่าที่กำลังความสามารถของเราจะอำนวย คนที่มีความสามารถอยู่แต่เพิกเฉยในการทำบุญ เสมือนหนึ่งว่าชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้วแจกจ่ายไปหมด ไม่ได้สงวนไว้ทำพันธุ์เลย หรือเหมือนคนที่หาได้เท่าไหร่แล้วใช้หมดเลย บุญไม่ใช่การควักเงินออกมาทำอย่างเดียว มีตั้งสิบอย่างที่เป็นบุญกริยาวัตถุ การให้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อกำจัดความตระหนี่ คนฉลาดเวลาทำบุญ พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้ทำบุญด้วยความโลภ แต่ให้ทำเพื่อขจัดความตระหนี่ ความขึ้เหนียว ความยึดมั่นถือมั่นให้คลายออกไปจากใจ จึงเรื่มต้นด้วยการให้ก่อน บารมีสิบทัศ บารมีสิบอย่างของพระพุทธเจ้าก็เริ่มจากทานบารมี การให้ พระองค์ก็ให้มาตลอด เสียสละมาตลอด จนให้มากที่สุดตอนเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรในการบำเพ็ญปรมัตถทานบารมี เป็นต้น การให้ก็เป็นหนึ่งในบุญ ศีลก็เป็นหนึ่งในบุญ แล้วก็สูงกว่านั้นด้วยภาวนา การเจริญสมาธิภาวนา อานาปานสติก็เป็นบุญทั้งนั้น การอ่อนน้อมถ่อมตนก็เป็นบุญ การขวนขวายช่วยเหลือถึงแม้จะไม่ควักเงินจะไม่เสียสละทรัพย์ เสียสละแรงกาย ช่วยเหลือในกิจการงานสังคมก็เป็นบุญ การที่อนุโมทนาเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีมีความสุข ไม่อิจฉาเขา อนุโมทนายินดีด้วย มุทิตาจิตกับเขาด้วยก็เป็นบุญ การอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ญาติบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ปัตติทานมัย ก็เป็นบุญ การฟังธรรม ตั้งใจฟังอย่างดี ไม่นั่งหลับก็เป็นบุญ เรียกว่า ธัมมัสวนามัย การแสดงธรรม ธรรมเทศนามัย ก็เป็นบุญ สุดท้าย การทำความเห็นให้ถูกต้อง เข้าใจถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ บุญสิบอย่างนี้แหละเป็นที่มา ที่ตั้ง ที่เกิด สิ่งที่กระทำไว้มันจะสะสมไปเรื่อยๆ ไม่หายไปไหน รอวันที่ออกดอกออกผล นั่นแหละคือบุญเก่า ปัจจุบันที่เรากระทำนี่แหละจะเป็นบุญเก่าของอนาคต
ที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ปัจจุบัน เราวางแผนเราคิดเราปฏิบัติ เพราะปัจจุบัน มันคืออดีตที่เป็นปุพเพกตปุญญตา เราไม่ต้องพูดถึงอดีต เพราะชาติก่อนที่มองไม่เห็นมันแก้ไม่ได้แล้ว เราไม่ต้องพูดถึงอนาคต เพราะมันอยู่ที่ปัจจุบัน คือการทำปัจจุบันให้ดีตามอริยมรรคมีองค์ ๘ มันจะเป็นผู้มีบุญ เหมือนพระอาทิตย์ มันจะเลื่อนไปเรื่อย เราต้องมีโครงสร้างทางจิตใจ มีสัมมาทิฏฐิ ปัจจุบันเราดี อีก ๔ ปี ๕ ปี ข้างหน้ามันก็เป็นอดีตที่ดี สะสมบุญ สะสมกุศลไว้ เราจะมีทั้งทรัพย์ภายนอก มีทั้งทรัพย์ภายใน มันหาที่ไหนไม่ได้แล้ว เราต้องหาที่การประพฤติการปฏิบัติของเรา ถ้าอย่างนั้นมันจะเปล่าประโยชน์ ที่บุญเก่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเกิดพ่อแม่ที่ดี บางคนเกิดมาพ่อแม่รวย อันนั้นเป็นอดีตแล้ว เราต้องเน้นที่ปัจจุบัน ปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญ เป็นของมีค่า เราอย่าปล่อยเวลาให้มันสูญเปล่าโดยไม่เกิดประโยชน์ มัวไปคุยแต่โทรศัพท์ เล่น line โทรศัพท์ เป็นต้น เราต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ นี่คือมงคลข้อที่ ๕ ของพระพุทธเจ้า เรื่องความเป็นผู้มีบุญเก่า และปัจจุบันที่กระทำก็จะเป็นบุญเก่าของอนาคต
ต่อไป มงคลข้อที่ ๖ อตฺตสมฺมาปณิธิ -ตั้งตนเอาไว้ชอบ “อัตตะ” แปลว่า ตน “สัมมา” แปลว่า ชอบ “ปณิธิ” แปลว่า การตั้ง วาง การดำเนินชีวิตของคนเรานั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของชีวิต ถ้าเราเดินทางในทางที่ถูกต้องก็สามารถที่จะทำให้เราได้รับความสุขความสบายในที่สุด ถ้าเราดำเนินชีวิตในทางที่ผิดก็ทำให้เราได้รับความทุกข์ความยากลำบากอย่างมาก ฉะนั้น ความสำคัญที่สุดของชีวิตจึงอยู่ที่การดำเนินในทางที่ถูกต้อง ตามความหมายของมงคลข้อนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า อตฺตสมฺมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ ซึ่งเมื่อเราแปลความหมายอย่างนี้แล้ว ถ้าแปลง่ายๆ ก็คือ ตั้งตนให้ถูกทาง ทางไหนล่ะทีนี้? เพราะว่าความคิดสภาพจิตใจของแต่ละคนก็ต่างกันมาก บางคนเห็นสิ่งที่ผิดเป็นสิ่งที่ถูก บอกว่าอันนี้แหละถูกทาง บางคนอาจจะคิดเลยไปถึงสิ่งต่างๆ ภายนอกร่างกาย เป็นต้นว่า ต้องมีเงินทอง ต้องมีตำแหน่งหน้าที่จึงจะตั้งตนได้ ซึ่งความจริงแล้ว เงินทองหรือตำแหน่งหน้าที่นั้นเป็นเพียงสิ่งประกอบภายนอกเท่านั้น ซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญรองลงไปจากตนอีกทีหนึ่ง การมีทรัพย์สมบัติลาภยศสรรเสริญเป็นคนละทางกัน ความหมายของคำว่า “ตั้งตัว” หรือ “ตั้งตน” เช่น เราจะแบกของหนักๆ สักสิ่งหนึ่ง เราจะต้องตั้งตัวให้มั่นคงเสียก่อน ถ้าเราไม่ตั้งตัวให้มั่นคงเสียก่อนแล้ว พอของมาถึง มันหนักเราก็จะเสียหลักล้มลงก็ได้ ดีไม่ดีของนั้นก็จะทับตายเอา ตัวเราเจ็บเข้าอีก ทีนี้เห็นหรือยังว่าการตั้งตนนั้นเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำก่อน ส่วนของที่เราจะแบกจะหามนั้นมาทีหลัง งานอื่นๆ ก็เหมือนกัน เราจะต้องแยกงานให้ถูก คนที่แยกงานไม่ถูก ไปคิดตั้งตัวเอาเมื่อมีเงินมีทองแล้วมักจะพลาด บางคนได้รับมรดกจากพ่อแม่มามากมาย ผลที่สุดก็รักษามรดกนั้นไม่ได้ ทั้งนี้เพราะเราไม่ได้ตั้งตัวตั้งตนไว้ก่อนเลยรับไม่ไหว
เด็กหนุ่มเด็กสาวบางคนเพิ่งจะสอนตั้งไข่ แบกการเรียนยังไม่ค่อยจะไหว พอวัยรุ่นเกิดไปริขอความรักใครๆ มาแบกเข้าไปอีก ไหนจะเรื่องเรียน ไหนจะเรื่องรัก ผลที่สุดก็ไปไม่รอด เรียนไม่จบ นี่เป็นเรื่องที่จะชี้ให้เห็นว่าการตั้งตนให้ถูกนั้นเป็นงานเรื่องแรกที่จะต้องทำก่อนเรื่องอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เอง มงคลของพระพุทธเจ้าข้อที่ ๖ นี้ จึงชี้จุดที่การตั้งตน
เมื่อเราได้ทำความเข้าใจในเรื่องของการตั้งตัวแล้ว ต่อไปนี้เราก็จะต้องศึกษาถึงประเด็นของการตั้งตัว ว่าการตั้งตัวนั้นตั้งอย่างไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ในธรรมบทว่า ทิโส ทิสํ ยนฺตํ กยิรา เวรี วา ปน เวรินํ มิจฉาปณิหิตํ จิตฺตํ ปาปิโย นํ ตโต กเร หัวหน้าโจรเห็นหัวหน้าโจร หรือคนที่มีเวรเห็นคนที่ผูกเวรกันไว้ พึงทำความพินาศให้แก่กัน พอเจอกันแล้ว ทำความพินาศให้แก่กันทันที จิตที่ตั้งไว้ผิด พึงทำบุคคลให้เลวเสียยิ่งกว่าโจรหรือคนมีเวรที่ทำแก่กันนั้น และอีกบทว่า น ตํ มาตา ปิตา กยิรา อญฺเญ วาปิจ ญาตกา สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ เสยฺยโส นํ ตโต กเร มารดาบิดาก็ดี ญาติเหล่าอื่นก็ดี ไม่พึงทำสมบัติอันใดให้ได้ จิตที่ตั้งตนไว้ชอบ พึงทำบุคคลให้ประเสริฐกว่าการกระทำของบุคคลเหล่านั้น คือ จิตที่ตั้งไว้ถูกประเสริฐกว่าทรัพย์มรดกของพ่อแม่
จะเห็นได้ว่า จุดใหญ่ของการตั้งตนได้นั้นอยู่ที่จิตใจนั่นเอง อัตตะที่แปลว่าตน ไม่ใช่กายเนื้อ เพราะกายเนื้อทำอะไรไม่ได้ จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว ตนที่แท้จริงจึงหมายถึงจิตใจ ฉะนั้น ความหมายของมงคลข้อที่ว่า อตฺตสมฺมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ ก็คือตั้งใจในทางที่ชอบ ตั้งใจดีนั่นเอง เรื่องการตั้งใจนั้นตามภาษาธรรมเรียกว่า เจตนา ตั้งใจตั้งเจตนา หลวงพ่อใหญ่ก็เทศน์อยู่บ่อยๆ ตั้งอย่างไร? การตั้งใจนั้นจะต้องตั้งให้ถูกทาง ที่ว่าถูกทางนั้น เราจะเอาอะไรเป็นเครื่องตัดสิน เพราะว่าต่างคนต่างก็คิดเข้าข้างตัวเองอยู่แล้ว มักจะคิดว่าการกระทำของตนนั้นถูกทั้งสิ้น ไม่มีใครยอมรับว่าตนผิด เส้นผมบังภูเขามองยังไงก็ไม่เห็น
คนบางคนเริ่มแรกก็ตั้งเป้าหมายชีวิตดีอยู่ เช่น ตั้งใจจะทำมาหากินโดยสุจริต แต่กำลังใจยังไม่เข้มแข็งพอ ครั้นทำไปนานเข้าเริ่มรู้สึกว่ารวยช้าไป ไม่ทันใจ เป้าหมายชีวิตชักเขว ลงท้ายเลยไปคดโกงคนอื่นเขา ไปโกงกินไปทุจริตคอรัปชั่น สุดท้ายบาป ถึงแม้ว่าคนอื่นมองไม่เห็น แต่กฎแห่งกรรมมองเห็น ตัวเองก็มองเห็น ถูกจับได้ต้องติดคุกติดตะรางไป หรือบางคนตั้งใจจะให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา แต่พอถูกคนอื่นเย้าแหย่บ้าง ล้อเลียนบ้าง ถูกติฉินนินทาบ้าง เจอสิ่งยั่วยุอยู่เรื่อยๆ เลยเลิกปฏิบัติธรรม ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลสต่อไป เพราะฉะนั้น คำสอนในมงคลข้อนี้ของพระพุทธเจ้า ที่ว่าตั้งตนในทางที่ชอบนั้น หมายถึงตั้งตัวในทางที่ดีเท่านั้น ซึ่งทางนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ปักเครื่องหมายบอกทางไว้แล้ว เป้าหมายก็คือความสุขความดับทุกข์ โดย เฉพาะสุขอย่างยิ่งคือพระนิพพาน ปักธงชัยไว้ตรงนั้น แต่ถ้าใครไม่ดู หรือดูแล้วไม่เชื่อป้ายบอกทาง สุดท้ายทุกข์ พอทุกข์แล้ว ถ้าไม่นั่งน้ำตาเช็ดหัวเข่าร้องไห้เสียใจ เพราะไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ไม่เชื่อครูบาอาจารย์ จะไปโทษใครก็ไม่ได้ ต้อง โทษตัวเอง ทุกวันนี้ก็คือเรื่องอบายมุข เรื่องกินเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน ขึ้เกียจขี้คร้าน พวกนี้ พระพุทธเจ้าได้สอนแล้วมาเป็นพันๆปีว่าเป็นทางแห่งความฉิบหาย มันเสื่อม เสื่อมทั้งในปัจจุบันชาติ เสื่อมทั้งในอนาคต แต่สู้กิเลสในใจไม่ไหว เอาสักหน่อยๆ สุดท้ายติด ติดแล้วถอนไม่ไหว เอาไม่ออก ติดยาเสพติด ติดการพนัน ติดเหล้าติดเบียร์ ติดเที่ยว มันเรื่มมาจากการอยากรวยทางลัดนี่แหละ สารพัดที่เป็นทางแห่งความเสื่อม ให้เราเข้าใจ
เนื้อความของมงคลในข้อนี้ ที่ว่าตั้งตนในทางที่ชอบนั้น หมายถึงตั้งตนอยู่ในสัมมาปฏิบัติ เรื่อมจากให้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง แล้วจึงเป็นสัมมาปฏิบัติคือปฏิบัติถูกต้อง กล่าวคือ เมื่อเราเป็นคนไม่มีศรัทธาก็ทำตนให้มีศรัทธา เมื่อเราไม่มีศีลก็ทำตนให้มีศีล ยังไม่เสียสละก็ทำตนให้เป็นผู้เสียสละ มีความเห็นผิดก็ทำตนให้มีความเห็นถูก ประกอบกุศลอันจะทำให้ตนมีความสุขในชาตินี้และในชาติหน้า การที่จะทำตนให้เป็นคนมีศรัทธามีศีลมีสมาธิมีปัญญาเป็นต้นนั้น ต้องอาศัยมงคลข้อแรกๆ คบบัณฑิต คบเพื่อนดี มีกัลยาณมิตร คือเพื่อนที่ดีเป็นเครื่องชักจูง บูชาคนที่ควรบูชา อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นปฏิรูปเทส พัฒนามาเรื่อยๆ แม้กระทั่งบุญเก่าที่ทำเอาไว้ในอดีตหรือบุญเก่าในปัจจุบันหนุนเข้ามาจึงจะทำให้มีกำลังกาย กำลังใจในการที่จะตั้งใจเอาไว้ชอบ ดังนั้น ผู้ที่หวังใจตั้งอยู่ในความเจริญ ต้องการความเจริญ ต้องการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล พึงประพฤติธรรมข้อนี้ คือตั้งตนในทางที่ถูกต้องจะเป็นความก้าวหน้าของชีวิตในที่สุด แล้วมงคลข้ออื่นๆ ก็จะตามมาไม่จบไม่สิ้น เพราะว่าตั้งตนไว้ถูกแล้ว ถ้าหากตั้งตนผิด มงคลไม่เกิดแต่อัปมงคลจะเกิดแทน
มงคลทั้งสามข้อในหมวดนี้ มีความสัมพันธ์กันคือ ปฏิรูปเทส-การอยู่ในประเทศอันสมควร เปรียบเหมือนเนื้อที่ ตั้งตัวถูก-อตฺตสมฺมาปณิธิ เปรียบเหมือนขุดหลุมปลูกพืช บุญเก่า-ปุพฺเพ กตปุญฺญตา เปรียบเหมือนเชื้อยางภายในเมล็ดพืช เมื่อเหตุทั้งสามอย่างนี้บรรจบกัน พืชหรือว่าต้นไม้ก็เจริญเติบโตงอกงาม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ว่า "กตเม จตฺตาโร ธมฺมา พหุการา ฯ จตฺตาริ จกฺกานิ ปฏิรูปเทสวาโส สปฺปุริสูปสฺสโย อตฺตสมฺมาปณิธิ ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา ฯ อิเม จตฺตาโร ธมฺมา พหุการา ฯ ธรรม ๔ อย่างที่มีอุปการะมากเป็นไฉน คือ จักร ๔ ได้แก่ การอยู่ในสถานที่อันสมควร การคบสัตบุรุษคือคนดี การตั้งตนไว้ชอบ และความเป็นผู้มีบุญที่ได้ทำไว้แล้วในกาลก่อน ธรรม ๔ อย่างนี้มีอุปการคุณมาก" ตรงนี้ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องจักร ๔ จักรเราก็รู้อยู่แล้วว่าแปลว่าล้อ กงล้อที่จะพัดพาหมุนนำพาตัวเราไปในทางที่ดีทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต กงล้อที่จะนำพาเราไปนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าจักรนี้มีอุปการะมาก นั่นคือปฏิรูปเทส-การอยู่ในประเทศอันสมควร การคบสัตบุรุษก็คือการคบบัณฑิต การตั้งตนไว้ชอบ ความเป็นผู้มีบุญเก่า สี่อย่างนี้คืออยูในมงคลนี่เอง สี่อย่างนี้เป็นล้อที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จ
มนุษย์ทุกคนต่างแสวงหาทางที่จะทำให้ชีวิตของตนมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือ การอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม เพราะสิ่งแวดล้อมที่ดีจะเกื้อกูลต่อสุขภาพกายและใจ ทำให้เราประกอบกิจการงานต่างๆ หรือสร้างความดี ปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ได้เกิดในร่มเงาของบวรพระพุทธศาสนา มีพระสัทธรรมคำสอนเป็นหลักในการดำรงชีวิตนั้น ถือว่าเป็นมงคลอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เรามีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรม บำเพ็ญบุญกิริยาต่างๆ อย่างสมบูรณ์ ผลแห่งการสั่งสมบุญจะทำให้ชีวิตของเราประสบกับความสุขความเจริญ ทั้งในโลกนี้รวมไปถึงโลกหน้าด้วย จักร ๔ ประการนี้แหละที่จะนำพาเราไป แต่ถ้าเราทิ้งล้อใดล้อหนึ่ง ลองคิดดูว่า ล้อหักไปล้อหนึ่ง ยางแตกไปเส้นหนึ่ง วิ่งต่อไปได้อยู่แต่วิ่งไปได้ไม่เท่าไหร่ มันก็ต้องจอด ต้องซ่อมล้อ ต้องเปลี่ยนยาง ดังนั้น จักร ๔ จึงเปรียบเสมือนล้อรถทั้งสี่ ที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ย้ำอีกครั้งว่า การอยู่ในสถานที่อันเหมาะสม การคบคนดี การตั้งจิตคือการตั้งตนเอาไว้ในทางที่ชอบและความเป็นผู้มีบุญเก่า บุญเก่าเหมือนกับแรงส่ง เราไม่ต้องเสียใจว่าไม่เคยทำบุญเอาไว้ ปัจจุบันถ้าเรากำลังทำกรรมดี สร้างกุศลกรรม ทำเหตุที่ดี นี่แหละบุญเก่าของอนาคต ไม่ต้องไปเรียกร้องที่ไหน
ธรรมะ กุศลธรรมเปรียบเสมือนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ เป็นถนนที่ดีที่สุดในโลก ถ้าเราออกจากธรรมแล้วก็แสดงว่าเราเป๋แล้ว ทุกๆคนต้องสมาทานไว้ในใจเลย ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่คิด เราจะไม่พูด เราจะไม่ทำ เราต้องขยัน เพราะความขยันนี้คือความสุข เรารับผิดชอบนี้คือมีความสุข ทำให้มันออกมาชัดเจน ด้วยใจด้วยเจตนา เป็นผู้เที่ยงแท้แน่นอนต่อพระนิพพาน ไม่ไปที่อื่น ศีลกับธรรมคือชีวิต ชีวิตคือศีลคือธรรม ถ้าเราตั้งใจและมีเจตนาอย่างนี้มันก็ง่าย เราได้ตั้งใจแล้ว เราได้ปลงใจแล้ว เราได้วางธาตุวางขันธ์ วางภาระหนัก ให้ขันธ์เป็นขันธ์บริสุทธิ์ รูปบริสุทธิ์ เจตนาบริสุทธิ์ ความปรุงแต่งหมดไป ยังไม่หมดก็เป็นเรืองกำลังเจริญมรรคเพื่อให้ได้รับผล ต้องวางใจไว้อย่างนี้
ธรรมะ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มันก็อยู่ที่ความตั้งใจ อยู่ที่เจตนา ตัวเราไม่มี บุคคลไม่มี สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี มีแต่ธรรมะ เราต้องพากันประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เรียกว่า พรหมจรรย์ พรหมจรรย์อย่างต้น ศีล ๕ ศีล ๘ พรหมจรรย์อย่างกลางสูงขึ้นมาหน่อย ศีล ๘ ศีล ๑๐ พรหมจรรย์อย่างสูงคือศีล ๒๒๗ มันต้องไปตามทางที่ตั้งใจไว้ชอบอย่างนี้ เราไม่ต้องไปอาลัยอาวรณ์ อย่าไปไขว้เขว ให้มีความสุขในการเสียสละ ทุกอย่างมันจะอยู่ที่ปัจจุบัน เราต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนจน กว่าเราจะถึงที่สุดแห่งความทุกข์คือพระนิพพาน ถ้าเราเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นที่ตั้ง มันจะระเบิดวัฏสงสารไปในตัว มันจะทำลายภพชาติไปในชีวิตประจำวัน การประพฤติการปฏิบัติมันก็ทำให้กิเลสลดน้อยลง เพราะมันขึ้นอยู่ที่เราตั้งใจไว้ชอบ
เหมือนกับผู้ที่มาบวชสมาทานไว้ว่าจะฉันมื้อเดียว ตั้งใจไว้ชอบ เมื่อใจนี้วาง ใจนี้ปล่อยแล้ว มันก็ไม่หิวข้าว เพราะใจนี้วางไปแล้ว เรื่องโลกธรรม เขานินทาสรรเสริญ มันก็ไม่มีอะไร เพราะว่ามันวางไปแล้ว มันก็ไม่ระแคะระคายเรา เพราะใจของเราไม่ชอบแล้ว เพราะมีความแข็งแรงแข็งแกร่งทางจิตใจ ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ ไม่ใช่จะไม่มีปัญญานะ ปัญญาจะยิ่งมีในปัจจุบันเรื่อยๆ ยิ่งเปลี่ยนฐานจากสามัญชนจากปุถุชนเป็นพระอริยเจ้า เราก็ยิ่งฉลาดขึ้นในปัจจุบัน ถ้าจิตใจภูมิธรรมของเราเป็นสกทาคามี เราก็ยิ่งฉลาดขึ้น ถ้าเราเป็นอนาคามี เราก็ยิ่งฉลาดขึ้น เพราะว่ามันเป็นปัจจุบันธรรมชัดเจนขึ้น เมื่อเราเดินไปยังไม่ถึง เราก็อย่าไปสงสัย อย่าไปมีวิจิกิจฉามาก จะไปดีไหม จะทำดีไหม เพราะปลาก็ไม่รู้เรื่องของนกหรอก นกก็ไม่รู้เรืองของปลาหรอก ปุถุชนก็ไม่รู้เรื่องของพระอริยเจ้าหรอก มันจะเป็นปัจจุบันธรรม เพราะสิ่งเหล่านี้จะรู้ได้เฉพาะตน ยิ่งเราประพฤติปฏิบัติไป เราจะยิ่งรู้จักพระพุทธเจ้ามากขึ้น ว่าพระพุทธเจ้าทำไมท่านประเสริฐแท้ สุดยอดแท้
ถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ ไม่ตั้งมั่นอย่างนี้ เราเป็นพระภิกษุต้องอาบัติเยอะ ถ้าใจตั้งมั่นในพระธรรมในพระวินัย ก็ไม่มีอาบัติ พวกที่ตามใจตามอารมณ์คือพวกอาบัติ นั่งก็ต้องอาบัติ นอนก็ต้องอาบัติ คิดไปเรื่อยในสิ่งที่ไม่ดี มันไม่มีความตั้งมั่น จะยืนเดินนั่งนอน มันต้องแต่อาบัติ มันคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี วันหนึ่งๆ มันต้องแต่อาบัติ มันจะไปพระนิพพานได้ยังไง เพราะมันไม่ได้ตั้งมั่น วางใจในทางที่ไม่ชอบ ไม่ได้ตั้งใจไว้ชอบ ความตั้งใจมั่นชอบหมายถึง มีสัมมาทิฐิ ไม่ได้ชอบอย่างโลกๆ ถ้าชอบอย่างนั้นเรียกว่ามีมิจฉาทิฏฐิ คือกิเลสมันชอบ คำว่าชอบนี้ก็ยังเป็นกลางๆอยู่ ถ้าตั้งใจชอบในพระธรรมวินัย ถ้าชอบธรรมดายังเป็นโลก เป็นวัฏสงสาร เป็นโลกีย์
ผู้ที่มีบุญเก่า บุญเก่าก็คือปัจจุบันนี้ที่เรามีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ในปัจจุบันนี้ เหมือนที่ว่าเดินไปทีละก้าว ทานข้าวทีละคำ เดี๋ยวอีกหลายเดือนข้างหน้า ตรงนี้ก็จะเป็นบุญเก่า มันเดินไปอย่างนี้ ที่เราเกิดมาเป็นล้านๆชาติก็แก้ไขไม่ได้ ให้เน้นที่ปัจจุบัน เอาอริยมรรคมีองค์ ๘ ในปัจจุบัน เดี๋ยวอดีตมันก็จะดีขึ้น แล้วเราก็เป็นผู้ที่มีบุญเก่าที่สั่งสมไว้อย่างดี อันไหนไม่ดีก็อย่าไปคิด เน้นที่ปัจจุบัน แล้วทุกอย่างก็จะดี เพราะอดีตแก้ไขไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง เน้นที่ปัจจุบัน
เราก็ต้องพัฒนาตนเอง เพราะธรรมเหล่าใดเกิดจากเหตุ ถ้าเราไม่สร้างไม่ประพฤติปฏิบัติมันก็ไม่มีหรอก อย่างแต่ก่อนไม่รู้หนังสือ เราก็เรียนหนังสือ อย่างเราไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่อาศัย เราก็ต้องสร้างบ้านสร้างที่อยู่อาศัยให้สัปปายะ เพราะอันนี้มันทางกาย ส่วนทางจิตใจเราก็ทำไปพร้อมๆกัน ถ้างั้นมันก็ไม่น่าอยู่หรอก เราจะเป็นคนหลักลอยไปตามความคิดเหมือนสัมภเวสีไม่ได้ อย่างเรามีที่โล่งแจ้งเท่า นั้นไร่ เท่านี้ไร่ เราปลูกตรงนั้นปลูกตรงนี้ ทำอันโน้นทำอันนี้ในภาคปัจจุบัน ก็จะเป็นผู้ที่มีปุพเพกตปุญญตา เพราะเราทำปัจจุบันนี้แหละ อีกหลายวันมันก็เป็นอดีต ทุกอย่างเราพัฒนาได้ จากเดินเท้าจนไปถึงดวงจันทร์แล้ว ไปทั้งใจไปด้วยทางสายกลาง ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ
เราต้องทำอย่างนี้ ถ้าไม่อย่างนั้นเราทำไม่ถูก เช่นว่า ประเทศพม่าอยากพัฒนาบ้านตัวเองครอบครัวตัวเองก็หนีมาทำงานที่ประเทศไทย อย่างประเทศไทยอยากพัฒนาครอบครัวตัวเองก็ไปทำงานประเทศอเมริกา ไปทำงานที่ประเทศอังกฤษ มันมองข้ามปัจจุบันไป เราไม่มีความสุขในการเรียนการศึกษา การพัฒนาอะไร เราไม่ได้ศีลมีธรรม เราไม่ได้มีหลักวิชาการทางวิทยาศาสตร์ แล้วก็อยู่เหนือวิทยาศาสตร์ก็คือ มีปัญญา ไม่หลงในทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะความหลงเป็นอวิชชา มันจะระเบิดปัญญาของเราไปในตัว
เดี๋ยวมันจะเป็นอดีตไปโดยอัตโนมัติ อย่างเราไปสร้างสถานที่ สิบกว่าปี ต้นไม้สูง สิบเมตร ยี่สิบเมตร สามสิบเมตรแล้วอย่างนี้ เราจะไปโทษว่าสถานที่มันอดอยากแห้งแล้งไม่ได้ เรายังมีความเห็นไม่ถูกต้องเข้าใจไม่ถูกต้อง เราจะไปหาที่สัปปายะภายนอกไม่ได้ ต้องหาสัปปายะในความเห็นความเข้าใจแล้วปฏิบัติขึ้น ทำขึ้น พวกคนไม่ดีเพราะว่าเขาไม่เห็นตัวอย่างในสิ่งที่ดี ต้องพัฒนาตัวเอง เอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ เอาธรรมเป็นที่ตั้ง เราจะได้มีสถานที่สัปปายะ เพราะว่าสัปปายะต้องเป็นอย่างนี้ แล้วคนโน้นก็ทำอย่างโน้น ทำเหมือนกันหมด ภาพรวมก็ออกมาดี แต่ก่อนเราเข้าใจผิด ไปแสวงหาที่สัปปายะที่เป็นไปได้ยาก ไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้จักเหตุเกิดทุกข์ในปัจจุบัน เป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน อุดมไปด้วยอบายมุข ชีวิตของเราก็ต้องตกไปสู่อบายภูมิ ชีวิตของเราก็ไม่มีศิลปะ แปลว่า ไม่มีศีล ไม่มีธรรม เพราะว่าไม่มีพระธรรมอยู่ในชีวิตในจิตในใจของเรา แล้วเราก็ไปจัดการแต่สิ่งภายนอก ไปจัดการแต่คนอื่น ไปหาตังค์แต่กับคนอื่นที่อื่น ตัวเราไม่ทำไม่ปฏิบัติ เราไม่ต้องไปหาเงิน หาตังค์จากคนอื่น เราปฏิบัติ เราต้องเป็นผู้ให้คนอื่น เราเป็นพ่อเป็นแม่ เราต้องทำค้างไว้ให้ลูก เขาเรียกว่าเป็นการปฏิบัติบูชาต่อบรรพบุรุษของเรา อันนี้เป็นการต่อยอด สิ่งไหนดีเรารู้กันอยู่แล้ว สิ่งไหนไม่ดีเราไปทำตามไม่ได้ ความใจอ่อนมันมีทุกคน แต่เราไปทำตามไม่ได้ ถึงจะตายก็ช่างหัวมัน มันต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ มันจะเสื่อมหรือมันจะเจริญ ไม่ได้อยู่ที่คนอื่น มันอยู่ที่ตัวเรา เน้นลงไปอย่างนี้ ตัวเรานี้แหละคือผู้ที่มาต่อยอดพ่อแม่ ถือว่าตัวเรานี้แหละมาต่อยอดของพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่ปฏิบัติถือว่าไม่ต่อยอด แต่มาทำลายประเพณีของพระพุทธเจ้า เมื่อเราไม่ประพฤติไม่ปฏิบัติอย่างนี้ สัปปายะจะมีมาจากไหน เพราะเราไม่รู้จักสัปปายะ สัปปายะก็คือการประพฤติการปฏิบัติของเราเอง ถ้าอย่างนั้นไปหาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มันจะยุ่ง ทุกคนต้องทำให้ได้ ทุกคนมันต่อสู้กับใคร ต่อสู้กับตัวเองนี้แหละ ต่อสู้กับความเห็นแก่ตัว ต่อสู้จากคนไม่มีกินให้มีกิน ต่อสู้จากคนไม่มีสมาธิให้มีสมาธิ ต่อสู้จากคนไม่ปัญญาให้มีปัญญา ปัญญาจะเกิดได้จากการมีสมาธิ สมาธิจะเกิดได้จากการมีศีล จึงเป็นศีลสมาธิปัญญา นี้คือความสุข ความดับทุกข์ของเรา นี้เป็นการหยุดไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่บุญแต่กุศลถึงพร้อม ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ถ้าพระลูกศิษย์ไม่ได้มาต่อยอดอาจารย์ มันจะสลายไป ความดีๆ มันก็กลายเป็นความฝันไป ภาคประพฤติภาคปฏิบัติเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นหลักการ เป็นศาสนา เราปฏิบัติตามใจตามความรู้สึก เขาเรียกว่านิติบุคคล เป็นตัวตน ไม่ใช่ศาสนา ไม่ใช่ธรรมะ มันคือการก่อกรรมทำเวร ไม่มีศักยภาพอะไร มันอยู่ที่บุคคลนั้น ไม่ได้เป็นบุคคลตัวตน ถ้าใครเป็นบุคคลตัวตน จะทำให้ที่นั้นไม่เป็นสัปปายะ มันจะมีตัวตน พระจะอยู่ไม่ได้ ทำทั้งดีทำทั้งชั่ว มันจะหมดอนาคต มันไม่ใช่พระนิพพานแล้ว
การปฏิบัติเน้นที่ปัจจุบัน เพราะอดีตก็ปฏิบัติไม่ได้ อนาคตก็ปฏิบัติไม่ได้ การปฏิบัติเน้นที่ปัจจุบัน เอาทั้งศีล เอาทั้งสมาธิ เอาทั้งปัญญามาใช้ที่ปัจจุบัน ถ้าเราไม่ปฏิบัติตอนนี้ ไม่มีการปฏิบัติ ก็ต้องเน้นให้เกิดขึ้น ถ้างั้นเป็นอันว่าเราประมาท เราปล่อยโอกาสเวลาให้ผ่านไป โดยที่ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ปฏิบัติ ก็เป็นโมฆบุรุษ ชีวิตก็เป็นหมัน
คนเราจะเก่งฉลาดเป็นธรรมมีคุณธรรมอยู่ที่ตรงนี้เอง ที่ผ่านมาเป็นบทเรียน เราต้องเสียสละ เพราะอนาคตอยู่ที่ปัจจุบัน จะเป็นฐานให้เราก้าวไป เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ปัจจุบันเราถึงมีสติมีสัมปชัญญะ มีทั้งศีลสมาธิปัญญาในปัจจุบัน มันถึงทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ได้ ต้องมีพระพุทธเจ้า ต้องมีพระธรรม มีพระอริยสงฆ์ไปอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าเราทำอย่างนี้ก็เป็นของง่ายขึ้น แล้วก็ปฏิบัติได้ ถ้าใจเราจะเข้มแข็ง มันจะเข้มแข็งตอนนี้แหละ ถ้าใจเราตั้งมั่น มันก็ตั้งมั่นตอนนี้แหละ เราจะปล่อยให้ความเคยชินไปตามอัธยาศัยไปไม่ได้ เพราะธรรมะเป็นธรรมะ มันไม่ได้เป็นอย่างอื่น ทุกคนถือว่าเป็นผู้ที่โชคดี เราต้องมีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ ยิ่งปฏิบัติไปมันก็เลื่อนตำแหน่งไป ตามที่เราประพฤติตามที่เราปฏิบัติ เพราะว่ามันจะสัปปายะหรือไม่สัปปายะ มันอยู่ที่การประพฤติการปฏิบัติของเรา คนเราไม่มีใครปฏิบัติให้ใครได้ เพราะว่าเราก็ต้องหายใจของเราเอง คนเราจะปล่อยให้ตัวเองคิดผิดไม่ได้ ปล่อยให้ตัวเองมีอัตตาตัวตนไม่ได้ ต้องสละคืน ต้องเห็นภัยในวัฏสงสาร ต้องประพฤติต้องปฏิบัติ มันจะชัดเจน
แต่ก่อนเราคิดว่ามันไม่สำคัญ นี่เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องพากันจับหลักตรงนี้ให้ได้ ต้องเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ในการประพฤติการปฏิบัติ แล้วปฏิบัติติดต่อต่อเนื่องในปัจจุบันไปเรื่อยๆ อานาปานสติของเราต้องมีอยู่กับเราทุกอิริยาบถ หายใจเข้าสบาย หายใจออกสบาย เอาศีลเอาสมาธิเอาปัญญามาใช้ เอามาประพฤติ มาปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงเราไป เปลี่ยนจากอวิชชาเป็นปัญญา เปลี่ยนจากดำเป็นขาว จากชั่วเป็นดี มันเป็นการสร้างเหตุสร้างปัจจัย เป็นการเปลี่ยนฐาน เปลี่ยนภพภูมิ ทีนี้เราก็จะสว่างขึ้น ทุกคนก็อย่าไปหลงขยะ หลงเปลือก หลงกระพี้ เราต้องพัฒนาสัมมาทิฏฐิ ต้องพัฒนาตามพระพุทธเจ้า และพัฒนาการประพฤติการปฏิบัติของเราไปเรื่อยๆ เราไม่ต้องไปหาธรรมะที่ไหนหรอก เพราะธรรมะอยู่ในตัวของเราที่มีความเห็นถูกเข้าใจถูก ที่ยังมีชีวิตยังไม่ตายนี้ เพราะถ้าเราตายแล้ว เราก็หมดเวลา
โดยธรรมชาติ ทุกชีวิตเมื่อยังไม่หมดกิเลส ก็ต้องทนรับทุกข์กันไป มากบ้างน้อยบ้างตามแต่กรรมที่ตนทำไว้ เราเวียนเกิดเวียนตายกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว ถ้ามีใครสามารถเอากระดูกของเราทุกชาติมากองรวมกันเข้าก็จะสูงท่วมภูเขา ถ้าเอาน้ำตาของเราที่หลั่งไหลออกมาเพราะความทุกข์ความลำบากความเสียใจทุกๆ ชาติมารวมกัน ก็จะมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก ใครสามารถเข้านิพพานได้ก่อน ทำพระนิพพานให้แจ้งก่อนก็หมดทุกข์ก่อน ที่ยังอยู่ก็ต้องเวียนเกิดเวียนตายในทะเลทุกข์แห่งวัฏสงสารต่อไป
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกับพวกเรา แต่พระองค์ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ถูกต้อง คือตั้งเป้าไว้ว่าจะกำจัดกิเลสในตัวให้หมดโดยเร็ว แล้วนำตนเองและผู้อื่นเข้านิพพานด้วย จากนั้นก็ตั้งใจบำเพ็ญเพียร ฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่มานับภพนับชาติไม่ถ้วนในการสร้างพุทธบารมี แม้มีอุปสรรคหนักหนาสาหัสเพียงไรก็ไม่ย่อท้อ สละได้แม้เลือดเนื้อและชีวิตเพื่อรักษาเป้าหมายที่จะเข้านิพพานไว้ไม่ให้คลอนแคลน ในที่สุด พระองค์ก็ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถกำจัดกิเลสได้หมด เข้านิพพานอันบรมสุขได้ แล้วเอาเวลา ๔๕ พรรษาที่เหลือในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้เข้าถึงพระนิพพานตามพระองค์ด้วย ส่วนพวกเรามัวเที่ยวเถลไถล เกะๆ กะๆ ไม่เอาจริง ไม่ตั้งใจมุ่งมั่นในการทำความดี บ้างก็ยังไม่รู้เป้าหมายสูงสุดของชีวิตว่าคือการเข้านิพพาน บ้างก็รู้แล้ว แต่เกียจคร้านประพฤติย่อหย่อนอ่อนแอ ทำๆ หยุดๆ จึงต้องมาเวียนเกิดเวียนตายรับทุกข์อยู่อย่างนี้ ฉะนั้น ถ้าใครฉลาดก็ต้องรีบแก้ไขตนเอง ตั้งเป้าหมายสูงสุดของชีวิตไว้ให้มั่นคง ไม่ประมาทในการสร้างความดี หมั่นให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ชำระกาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ เพื่อกำจัดกิเลสให้หมดไป จะได้พ้นทุกข์เข้านิพพาน ได้รับความ สุขอันเป็นอมตะตามอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “จงอย่าประมาท เร่งเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดา ถึงจะทำประโยชน์ให้คนอื่นมากมาย ก็ไม่ควรละทิ้งจุดหมายปลายทางของตน เมื่อรู้ว่าอะไรคือจุดหมายปลายทางแล้ว ก็ควรใส่ใจขวนขวาย”
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลนิพพานทุกท่านเทอญ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee