แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันจันทร์ที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๕ บูชาผู้ที่ควรบูชาและปฏิบัติบูชาอันเป็นยอดแห่งบูชาทั้งปวง
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันจันทร์ที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ การบรรยายธรรมในเรื่องของการเปลี่ยนฐานของชีวิตให้เป็นมงคล วันนี้จะเป็นมงคลข้อที่ ๓ นั่นคือบูชาบุคคลที่ควรบูชา ในมงคลหรือว่าทางพัฒนาชีวิตจิตใจ เปลี่ยนฐานจิตฐานใจข้อที่ ๓ ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า ปูชา จ ปูชะนียานัง แปลว่า บูชาบุคคลที่ควรบูชา ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจการบูชาแล้วก็บุคคลที่ควรบูชา ๒ ความหมาย ๒ ประการนี้ที่เราต้องมาทำความศึกษาทำความเข้าใจ บางคนคิดว่าเรื่องการบูชาไม่จำเป็น ต้องศึกษา เพราะแค่เอาดอกไม้ธูปเทียน เอาเครื่องเซ่นไหว้ เครื่องสักการะเอามาบูชาพระพุทธรูป หรือว่าปูชนียวัตถุ หรือปูชนียบุคคล อะไรสักอย่างก็เป็นการบูชาแล้ว ถ้าเข้าใจอย่างนั้นเป็นความเข้าใจที่น้อยเกินไป ถ้าหากมันเพียงแค่นั้น พระ พุทธเจ้าคงไม่ตรัสไว้เป็น ๑ ในมงคล ๓๘ ประการ ที่มีความสำคัญ ปูชา คำว่า “บูชา” ก็มาจากภาษาบาลีว่า ปูชานั่นเอง เพียงแค่เปลี่ยน ป.ปลา เป็น บ.ใบไม้ เพราะ บ.ใบไม้ในภาษาบาลีไม่มี ปะ ผะ พะ ภะ มะ หมวดนี้ไม่มี บ.ใบไม้ เพราะฉะนั้นเปลี่ยนตัว ป.ปลาเป็น บ.ใบไม้ ก็เป็นบูชา ซึ่งในอินเดียปัจจุบันก็ยังใช้คำนี้ เขาเรียกกันว่า ปูจาๆ ปูจา “puga” ทับศัพท์ไปเลย ปูจา เวลามีบูชาไหว้เทพเขาก็ใช้คำนี้ ซึ่งเป็นคำที่ใช้มาเป็นพันๆ ปี คำว่าบูชา
ในมงคลข้อนี้ เมื่อได้ศึกษาจากอรรถคาถา ท่านก็จะให้ความหมายของคำว่า บูชา ไว้ ๓ ประการด้วยกัน
ประการแรก คือ สักการะ สักการะเราได้ยินบ่อย แปลว่า การบูชาด้วยสิ่งของ
๒. สัมมานะ บูชาด้วยความนับถือ แล้วก็
๓. ปัคคหะ บูชาด้วยการยกย่อง
ประการแรก บูชาแบบสักการะ เราก็เข้าใจอยู่แล้ว ก็คือ การที่เราเอาของต่างๆ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ของหอม เป็นต้น นำมาบูชาปูชนียสถาน เช่น พระสถูป เจดีย์ สถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมธาตุต่างๆ หรือแม้กระทั่งพระพุทธรูป การบูชาเจดีย์ ๔ อย่าง ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า บริโภคเจดีย์ คือสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงเคยอยู่ เคยประทับ เช่น สังเวชนียสถาน แล้วก็สถานที่อะไรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธ เจ้า คือ อัฐบริขาร จัดอยู่ในบริโภคเจดีย์ แล้วก็ ธรรมเจดีย์ ก็คือพระธรรมวินัย อุเทสิกะเจดีย์ คือเจดีย์ที่ยกขึ้นมาเพื่อเป็นองค์แทน แต่ว่าไม่ใช่องค์แทนจริงๆ แต่เหมือนกับว่าให้รู้ว่าเครื่องหมายนี้คือพระพุทธเจ้า เช่น รูปที่เป็นเกี่ยวกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ ธรรมจักร พ.ศ.๕๐๐ เป็นต้นมาก็เริ่มมีการสร้างพระพุทธรูป ก็เป็นอุเทสิกะเจดีย์ สุดท้ายคือ ธาตุเจดีย์ ก็คือพระบรมสารีริกธาตุ ที่สร้างบรรจุไว้ในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก
การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของดอกไม้ ธูปเทียน ต่างๆ หรือแม้กระทั่ง โคม โคมไฟ ประทีป ประดับธงอื่นๆ ดังนี้นี่เรียกว่า “เครื่องสักการะ” เป็นการบูชาด้วยสักการะ ฉะนั้นคำว่า “สักการะ” จึงแปลว่า เครื่องประกอบพิธีการ จะเรียกตามภาษาของปัจจุบันก็คือว่า อุปกรณ์ที่ประกอบในการบูชา สารพัดที่ปัจจุบันบูชากัน
การที่เอาดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องประดับต่างๆ ไปประดับที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เราเอาของเหล่านั้นไปให้พระ เพราะว่าการให้เป็นเรื่องของ “ทาน” การให้เป็นเรื่องของทาน แต่ว่าเป็นการบูชา คือเรายกย่อง เราบูชาในพระพุทธคุณ บูชาในพระธรรมคุณ บูชาในพระสังฆคุณ เช่น เราจัดของเหล่านั้นบูชาพระ แล้วก็เครื่องบูชาเหล่านี้เป็นเครื่องชักจูงให้จิตใจของผู้ที่ได้พบเห็นเกิดความเลื่อมใส เกิดความแช่มชื่น เกิดมุมานะในการทำความดี นี่คือจุดมุ่งหมายของคนโบราณที่บูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ตั้งแต่พ่อแม่พาเราทำมา
เราลองคิดดูให้ดี แล้วจะเห็นความลึกซึ้งของผู้คิดริเริ่มในเรื่องของการสักกา ระบูชา โดยเฉพาะพระพุทธรูปที่มีมาประมาณสองพันปีเศษ เมื่อเรามีความเครียด หรือว่ามีความเสียใจอะไรสักอย่าง เวลาที่เข้าไปในโรงพระอุโบสถหรือว่าในห้องพระที่บ้านก็ จะมีความรู้สึกปลอดโปร่ง รู้สึกผ่อนคลายความทุกข์ได้อย่างประหลาด เมื่อได้พบกับพระพักตร์อันงดงามของพระพุทธรูป นึกถึงบาปบุญคุณโทษ นึกถึงความดีต่างๆ ทำให้ความเมตตามันเข้ามาสู่จิตสู่ใจ อันนี้เป็นเรื่องของความรู้สึก แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็คือจัดอยู่ในอย่างแรก คือสักการะบูชา
ต่อไปอย่างที่ ๒ บูชาแบบสัมมานะ สัมมานะ แปลว่า การยอมรับนับถือ คือหมายความว่า ไม่ใช่แต่เพียงนับถือเฉยๆ จะต้องใจเปิด เปิดยอมรับและก็น้อมเข้ามาสู่ใจ นับถือตลอดไป หมายถึง ถือเอาเป็นคติ เอาเป็นตัวอย่างแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ในการประพฤติ ในการปฏิบัติ เป็นการฝากกายถวายชีวิต เป็นลักษณะหนึ่งของการบูชาที่สูงขึ้นมา ตัวอย่างเช่น ชาวพุทธยอมรับนับถือพระรัตนตรัย คือใจรับ ชาวมุสลิมยอมรับนับถือพระอัลเลาะห์ หรือว่า ศาสดานบีมูฮัมมัด ชาวคริสต์ยอมรับนับถือพระยะโฮวาห์ พระเยซูแล้วก็ชาวฮินดูยอมรับนับถือเทพต่างๆ เทพตรีมูรติ แล้วก็สารพัดเทพ ศาสนาชาวซิกข์ก็นับถือศาสดาคุรุนานัก แล้วก็เทพของเขา อย่างนี้เป็นต้น อันนี้เป็นการบูชาแบบสัมมานะ การนับถืออย่างนี้เป็นการยอมรับ การที่ใครยอมรับนับถือศาสนาใดก็หมายความว่าได้บูชาศาสนานั้น การบูชายกย่องของชาวพุทธนั้นไม่ใช่การนับถือหรือบูชาอย่างงมงาย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้มีศรัทธาแต่ปราศจากปัญญา คือถ้าเราบูชาแล้วปราศจากปัญญา ก็นับว่าเป็นกรรมของคนๆ นั้นแล้ว เช่น ไปบูชาจอมปลวก เพราะปลวกมันขึ้นบ้าน แทบจะไล่มันแทบเป็นแทบตาย ไปเอายาฉีดปลวก ไปจ้างเขามา แต่พอเวลาจอมปลวกมันขึ้นในท้ายบ้าน ในเนินที่มันสูงเท่าหัว ไปไหว้ซะอย่างนั้น อย่างนี้เป็นต้น คืองมงายๆ หลายๆ อย่างที่เราเห็นข่าวกัน ยอดมะพร้าวแตกยอดออกมาคล้ายๆ พญานาค ก็ไปจุดธูปไหว้กันอย่างนี้ หมูแคระ หมูพิการ วัวพิการห้าขาสองหาง จิ้งจกสองหาง ไปไหว้สัตว์พิการแบบนี้ อย่างนั้นเป็นการบูชาแบบงมงายมาก แบบผู้มีปัญญาน้อย ๆ วงเล็บโง่ ก็คือหลวงพ่อพุทธทาสพูดชัดเจนเลยว่าไสยศาสตร์มีมาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของคนมีปัญญาน้อย ท่านพูดให้แบบทะนุถนอมน้ำใจก็คือว่าคนมีปัญญาน้อย อีกความหมายเราก็รู้อยู่แล้วคืออะไร ดังนั้นแล้ว การบูชาในพระพุทธศาสนาต้องปราศจากความงมงาย เพราะความงมงายมันมาจากอวิชชา มันมาจากโมหะ ถ้ายังงมงายอยู่ปัญญามันก็ไม่เกิดหรอก เพราะว่าเขาพาไปไหนก็ไป เขาพาไหว้อะไรก็ไหว้ ปัญญาไม่เกิด แล้วพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงสรรเสริญด้วย พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกไม่ได้สอนด้วย เรื่องแบบนี้
ทีนี้ บูชาอย่างที่ ๓ เรียกว่า ปัคคหะ คือ การบูชาแบบยกย่อง ถ้าหากจะกล่าวตามความหมายสมัยนี้ ก็คือการสนับสนุน เหมือนกับการที่เราจะยกย่องใครคนใดคนหนึ่ง ใจเรายอมรับ อย่างเช่นว่า จะให้ใครสักคนหนึ่งมาเป็นตัวแทนของเรา ก็เลือกตั้งการเลือกผู้แทน เป็นต้น แต่การบูชาแบบปัคคหะที่ว่ามานี้ ถ้าเรายกย่องคนที่ไม่สมควรแล้ว แทนที่จะให้ประโยชน์ กลับจะเกิดโทษ
ข้อความหนึ่งในชาดก ชื่อ “เตสกุณชาดก” ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน มีพระบาลีว่า
“นิคคัณเห นิคคะหาระหัง ปัคคัณเห ปัคคะหาระหัง - พึงข่มผู้ที่ควรข่ม พึงยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง”
คำกลอนหรือคาถา ๒ วรรคนี้ เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เราเคยได้ยิน นั่นก็คือผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน เอามาเป็นคำขวัญของหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ แล้ว
“นิคคัณเห นิคคะหาระหัง ปัคคัณเห ปัคคะหาระหัง พึงข่มผู้ที่ควรข่ม พึงยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง”
สังคมใด ยกผู้ที่ไม่ควรชม ข่มผู้ที่ไม่ควรชัง สังคมนั้น ก็มักจะพังเป็นธรรมดา
ต่อไป เป็นบุคคลที่ควรบูชา ทีนี้ เมื่อกี้ได้อธิบายถึงเรื่องการบูชาแล้วที่ว่ามี ๓ อย่าง ทีนี้ บุคคลที่ควรบูชา เรื่องนี้เราควรสนใจ เพราะว่าการที่เราจะยกย่องหรือยอมรับนับถือสักการะคนใด เราก็ต้องเลือกบูชา เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เราอาจจะไม่ได้รับมงคลที่เป็นอุดมมงคลแบบที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ จากอุดมมงคลมันจะกลายเป็นอัปมงคลทันที ถ้าบูชาผู้ไม่ควรบูชา เพราะเราอยู่กันทุกวันในโลกนี้ เราก็ต้องคบกับคน คนใกล้ตัวนี่แหละ หรือว่าคนที่เรารู้จักต้องระมัดระวัง ยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง บูชาผู้ที่ควรบูชา เราจะเจริญหรือว่าเสื่อมมันก็ขึ้นอยู่กับคน ถ้าเราบูชาคนผิดก็จะให้โทษ ถ้าบูชาคนถูกก็จะเป็นคุณเป็นมงคล เพราะว่าเป็นการคบบัณฑิตด้วย บูชาผู้ที่ควรบูชาด้วย มงคลมันเลยสืบต่อกันมาอย่างนี้
สรุปความหมายว่า “บูชา” จึงเป็นการยกย่อง เป็นการนับถือ เป็นการบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ แล้วบุคคลที่ควรบูชานั้นในมงคลทีปนี ท่านจำแนกไว้หลายประเภทด้วยกันคือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระปัจเจกพุทธเจ้า ครูอาจารย์ บิดา มารดา ผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นต้น
บุคคลที่ควรบูชา คือผู้ที่มีคุณความดี ควรค่า แก่การระลึกนึกถึง และก็ยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตาม ได้แก่ ผู้มีศีล สมาธิ ปัญญาสูงกว่าเรานั่นเอง ซึ่งประมวล สรุปไว้ดังนี้
๑. องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นยอดบัณฑิต เป็นจอมบัณฑิตที่ประเสริฐที่สุดในโลก แล้วก็ทรงไว้ด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ อันมาจากความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เมื่อทรงรู้ คำว่า “รู้” ก็หมายถึงว่า เป็นผลของพระปัญญาคุณ ทรง “ตื่น” ตื่นจากกิเลสนิทรา เป็นผลของพระบริสุทธิคุณ แล้วก็ทรง “เบิกบาน” ก็หมายถึงว่า มีพระทัยที่เปี่ยมด้วยเมตตากรุณา ก็คือพระมหากรุณาธิคุณ จัดเป็นบุคคลที่ควรบูชาสูงสุดของพุทธศาสนิกชนทั้งหลายแล้วก็
๒. คือพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระอริยสงฆ์ ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบก่อนแล้ว ทำตนให้พ้นแล้ว มีที่พึ่งที่ได้โดยยากคือมรรคผลนิพพานแล้วจึงสอนให้ผู้อื่นประพฤติดีปฏิบัติชอบตามอย่างบ้าง จัดเป็นบุคคลที่ควรบูชาของพุทธศาสนิก ชนแล้วก็
๓. คือ บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ที่มีความประพฤติดี เป็นบัณฑิตที่อยู่ในฐานะสูงเกินกว่าจะคบ แต่ว่าจัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชา คือเป็นปูชนียบุคคล ของบุตรหลานทุกๆ คนนั่นเอง
ต่อมาก็คือ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม เป็นธรรมราชา จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของประชาชนแล้วก็
๕. ครูบาอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ ความประพฤติดี เป็นบุคคลที่ลูกศิษย์ควรบูชา
๖. ผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติดี ตั้งอยู่ในธรรม จัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาของผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะบุคคลคนนั้นเป็นผู้นั่งอยู่ในใจของลูกน้อง เป็นผู้นั่งอยู่ในใจคน ไม่ใช่นั่งอยู่บนหัวคน ถ้านั่งอยู่บนหัวคน ด้วยใช้แต่พระเดช แต่ไม่ใช้พระคุณ พอหมดอำนาจเมื่อไหร่ก็ไม่มีค่า ไม่มีอะไรที่คนจะกล่าวถึงเลย แต่ถ้าคนที่นั่งอยู่ในใจคนแล้ว ถึงแม้จะหมดอำนาจ จะเกษียณอายุราชการ จะหมดในตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือว่าตายไปกี่ปีๆ คนก็ยังเก็บเอาไว้ในใจ กล่าวสรรเสริญถึงอยู่ตลอด เพราะว่านี่เป็นผลแห่งความดี
ทีนี้ นอกจากนี้บัณฑิตที่มีเพศภาวะสูงเกินกว่าที่จะคบอยู่ในฐานะผู้เสมอกันได้ ล้วนจัดเป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชาทั้งนั้น เพราะว่าสองข้อนี้ต่อเนื่องกัน คบบัณฑิต แล้วก็บูชาผู้ที่ควรบูชา ต่อเนื่องกันอยู่ในหมวดเดียวกัน
สิ่งที่เนื่องด้วยท่านเหล่านี้ ก็จัดเป็นสิ่งที่ควรบูชาอีกเช่นกัน เมื่อเราบูชาสิ่งเหล่านี้ ก็ทำให้รำลึกนึกถึงคุณงามความดีของบุคคลที่สิ่งเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องด้วย ตัวอย่างเช่น สิ่งที่เนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ พระพุทธรูป พระบรมสารีริกธาตุ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล เป็นต้น ซึ่งก็เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน
สิ่งที่เนื่องด้วยพระอริยเจ้า พระอริยสงฆ์ เช่น พระธาตุ อัฐบริขาร ข้าวของเครื่องใช้ ของของท่าน หรือแม้กระทั่งรูป รูปถ่าย ภาพถ่าย ภาพเขียน ภาพวาดของท่าน ก็เป็นสิ่งที่ควรบูชา
แล้วก็ต่อไปก็คือคำสั่งสอน หรือแม้กระทั่งว่าเป็นรูปภาพของพ่อของแม่ ของครูบาอาจารย์ ของผู้บังคับบัญชา ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ตั้งใจประพฤติธรรม เป็นบัณฑิต ก็จัดเป็นสิ่งที่ควรบูชาทั้งนั้น
ทีนี้การแสดงออกถึงการบูชา ๓ ทาง คือทางกาย วาจา ใจ
๑. ทางกาย ไม่ว่าจะยืนเดินนั่งนอนหรือประกอบกิจใดๆ เมื่ออยู่ต่อหน้าท่าน หรือสัญลักษณ์แทนตัวของท่าน ก็อยู่ในอาการที่สำรวม ๆ
๒. ทางวาจา สรรเสริญยกย่องคุณความดีของท่าน ทั้งต่อหน้าแล้วก็ลับหลัง อย่างเช่น เราสวดมนต์ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น เป็นการสวดบูชาสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณนั่นเอง เป็นการนำความดีของท่านไปสรรเสริญ แล้วก็น้อมเข้ามาสู่ใจ
๓. ทางใจ ตามระลึกนึกถึงคำสอนของท่านด้วยความเคารพซาบซึ้ง แล้วก็พิจารณาใคร่ครวญนำไปปฏิบัติ
การบูชาในทางปฏิบัตินั้นท่านแยกไว้ ๒ ประเภท
๑. อามิสบูชา การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ อันนี้เราทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว เราเคารพใคร นับถือใคร เราก็นำวัตถุสิ่งของไปเคารพ ไปให้ ไปถวาย หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ เราก็เอาของไปให้ บุคคลที่เป็นญาติผู้ใหญ่ ผู้ที่เรานับถือท่าน เราก็นำของไปให้ นำของไปฝาก มีอะไรติดไม้ติดมือไปหา เป็นต้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นวัตถุสิ่งของที่มอบให้แก่บุคคลที่ควรบูชา ทั้งหมดที่ว่ามาจัดเป็นอามิสบูชาทั้ง หมด
๒. ปฏิบัติบูชา การบูชาด้วยการตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามคำสอน ตามแบบอย่างที่ดีของท่าน โดยเฉพาะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พยายามประพฤติ ปฏิบัติธรรม กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ด้วยการมีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติบูชา นี้แหละจัดเป็นการบูชาที่สูงสุด เพราะเป็นวิธีที่จะทำให้กาย วาจา ใจ ของเราใสสะอาด แล้วก็เป็นบัณฑิตอย่างแท้จริงตามท่าน แล้วเป้าหมายก็คือไม่ใช่แค่สวรรค์สมบัติ แต่หมายถึงนิพพานสมบัติ อามิสบูชาต่อให้จะบูชามากมายขนาดไหน ก็ไปสุดแค่สวรรค์สมบัติ แต่ต้องมาต่อยอด ต่อยอดด้วยการประพฤติการปฏิบัติจึงจะไปสูงกว่านั้น จึงจะต่อยอดได้สูงกว่านั้น ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ก่อนที่จะดับขันธ์ปรินิพพานว่า
“ดูก่อนอานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าอันพุทธบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชา นอบน้อม ด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้ หามิได้ ผู้ใดแล จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ผู้นั้นย่อมชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยอด เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ อานนท์ พวกเธอพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามธรรมอยู่ ดังนี้ ฯ”
นี่คือพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในปรินิพพานสูตร เป็นค่ำคืนสุดท้ายที่พระองค์จะปรินิพพาน ทรงตรัสไว้ยาวมาก ตั้งแต่เริ่มต้นปฐมยาม จนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งพระพุทธองค์ ข้อความนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ก่อนปรินิพพาน แล้วท่านก็อธิบายว่า พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปนะว่า
“ดูก่อนอานนท์ เราตถาคตหมอบอยู่แทบพระบาทมูลของพระพุทธ เจ้าพระนามว่าทีปังกร ประชุมธรรม ๘ ประการ เพื่อจะกระทำอภินิหาร มิใช่กระทำอภินิหาร เพื่อประโยชน์แก่พวงมาลัยของหอม และดุริยางค์สังคีต ดนตรีสวรรค์ มิใช่บำเพ็ญบารมีทั้งหลายเพื่อประโยชน์แก่สิ่งเหล่านั้นๆ เพราะฉะนั้น เราตถาคต จึงไม่ชื่อว่าเขาบูชาแล้วด้วยบูชาอันนี้เลย.”
คือ หมายความว่า พระพุทธองค์ทรงเล่าความหลังให้ฟังตอนที่ได้รับพุทธพยากรณ์แทบบาทมูลของพระทีปังกรพระพุทธเจ้า ทรงมีองค์ประกอบ ๘ อย่าง จึงได้รับพุทธพยากรณ์ แล้วเมื่อได้รับพุทธพยากรณ์ พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ปรารถนาลาภสักการะเหล่านี้เลย ถึงแม้จะบูชาด้วยลาภสักการะมากมายขนาดไหน ก็เป็นบุญของบุคคลนั้น แต่ยังไม่ใช่การบูชาที่สูงสุด ถามว่าเพราะเหตุไร? พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญวิบาก วิบากก็คือผลของบุญ ที่แม้พระพุทธญาณก็กำหนดไม่ได้ของการบูชาที่บุคคลถือเพียงดอกฝ้ายดอกเดียว ระลึกถึงพระพุทธคุณ บูชาแล้วไว้ในที่อื่น ในที่นี้กลับทรงคัดค้านการบูชาใหญ่อย่างนี้
ก็ตอบว่า เพราะเพื่อจะอนุเคราะห์พุทธบริษัทอย่างหนึ่ง และเพื่อประสงค์จะให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ยั่งยืนนานประการหนึ่ง จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าถ้าไม่พึงคัดค้านอย่างนั้นไซร้ ต่อไปในอนาคต พุทธบริษัท โดยเฉพาะภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ก็จะไม่บำเพ็ญศีลในฐานะที่ควรกระทำ แล้วก็เมื่อไม่มีศีล ก็จะไม่ทำให้สมาธิบริบูรณ์ จากนั้นเมื่อสมาธิไม่บริบูรณ์ วิปัสสนาก็จะไม่เกิดขึ้นได้เลย จะมัวแต่ชักชวนๆลูกศิษย์ทั้งหลาย แล้วก็ญาติโยมอุปัฏฐาก ทำแต่อามิสบูชา ทำแต่สักการะบูชา สร้างแต่วัตถุใหญ่โตมโหฬาร ชวนแต่ทำสาธารณะสงเคราะห์ที่เราเห็นๆ กัน ขึ้นป้ายป่าวประกาศ หรือแม้กระทั่งปล่อยโค ปล่อยกระบือ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งพระพุทธองค์ก็ไม่ได้ทรงสรรเสริญ จะมัวแต่พากันทำสิ่งเหล่านี้ ไม่สนใจในการประพฤติศีล สมาธิ ปัญญาให้บริสุทธิ์ ให้บริบูรณ์
จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่าอามิสบูชา คือการบูชาด้วยวัตถุสิ่งของนั้น ไม่สามารถจะดำรงพระศาสนาแม้วันหนึ่ง หรือแม้เพียงแค่การดื่มข้าวยาคูอึกเดียว ไม่สามารถจะดำรงไว้ได้ พระพุทธเจ้าท่านอธิบายแบบนี้ จริงอยู่ มหาวิหารพันหลังใหญ่โตเหมือนกับมหาวิหาร เจดีย์พันพระเจดีย์ เช่นกับพระมหาเจดีย์ ก็ดำรงพระศาสนาไว้ไม่ได้ บุญผู้ใดทำไว้ก็เป็นของผู้นั้นผู้เดียว ส่วนสัมมาปฏิบัติ คือการปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่งนี้ จึงชื่อว่าเป็นบูชาที่สมควรแก่ตถาคต คือพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น ภิกษุตั้งอยู่ในอคารวะ๖ ก็คือไม่เคารพในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในความไม่ประมาท แล้วก็ไม่เคารพในปฏิสันถาร คือตั้งอยู่ในอคารวะ๖ ละเมิดพระบัญญัติ เลี้ยงชีวิตด้วยอเนสนา การแสวงหาอันไม่สมควร มีการทำเดรัจฉานวิชา ประจบคฤหัสถ์ เป็นต้น ภิกษุนี้ชื่อว่าไม่ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม ส่วนภิกษุใดไม่ละเมิดสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติแล้วแก่ตนทั้ง หมด ไม่เลยขีดขั้น เขตแดน เส้นบรรทัดของพระพุทธเจ้าแม้มีประมาณน้อย ก็คือไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ภิกษุนี้ชื่อว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แม้ภิกษุณีก็มีนัยยะเดียวกัน อันนี้คือส่วนภิกษุ ภิกษุณีที่เป็นปฏิบัติบูชา
แล้วอุบาสก อุบาสิกาทำอย่างไร? ท่านก็อธิบายว่า ก็อุบาสก อุบาสิกาใด ยึดเวร ๕ เวร ๕ ก็คือทำเวรทางกาย ทางวาจา โหดร้าย ใจหยาบ มากรัก ปากชั่ว มัวเมา อกุศลกรรมบถ ๑๐ ก็คือความชั่วทางกาย ๓ ความชั่วทางปาก ๔ อย่าง ความชั่วทางใจ ๓ อย่าง ความชั่วทางกาย ๓ ก็คือว่าเบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่น ทุจริต โกงกิน คอร์รัปชั่น ประพฤติผิดในกาม ความชั่วทางปาก ๔ อย่างก็คือว่า พูดปด พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ แล้วก็ใจพยาบาท ใจเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น แล้วก็มีความเห็นผิด เป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประพฤติไว้แนบแน่น กอดเอาไว้แน่น อุบาสก อุบาสิกาผู้นั้นก็ชื่อว่าไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ส่วนอุบาสก อุบาสิกาผู้ใดปฏิบัติให้สมบูรณ์ในสรณะ ๓ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในศีล ๕ ในศีล ๘ ศีล ๑๐ รักษาศีลอุโบสถเดือนละ ๒ ครั้ง หรือว่า ๔ ครั้ง ๘ ครั้งก็ได้ ถวายทาน บูชาของหอม บูชาด้วยวัตถุสิ่งของ บำรุงมารดาบิดา บำรุงสมณะพราหมณ์ อุบาสก อุบาสิกาผู้นี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม จริงอยู่ พุทธบริษัททั้ง ๔ จักบูชาเราด้วยการบูชานี้เพียงใด ศาสนาของเราก็จะรุ่งเรืองดุจพระจันทร์วันเพ็ญ ลอยเด่นอยู่กลางท้องฟ้าฉะนั้น นี่คือที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
ทุกท่านทุกคน พึงระลึกเสมอว่า สิ่งที่เราจะเรียนรู้นั้น ถ้าเราเทิดทูนบูชา ตั้งใจประคองรักษาไว้อย่างดี ไม่นำไปล้อเลียน หรือพูดเล่น ผลของการศึกษาเล่าเรียนตลอดจนการประพฤติ การปฏิบัติธรรมของเรา ก็ย่อมจะมีความเจริญก้าวหน้าประสบผลสำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์
ตรงกันข้าม ถ้าไม่มีความเคารพแต่กลับลบหลู่ครูบาอาจารย์หรือแม้กระทั่งธรรมวินัย ความเข้าใจ ความซาบซึ้งที่จะปฏิบัติตามคำสอนก็หมดไป เกิดความรู้สึกไม่อยากบูชาหรือไม่ศรัทธา ใจที่จะตรึกนึกถึงธรรมะมันก็มืดมิด เป็นการปิดกั้นหนทางที่จะเข้าถึงปัญญาอันเป็นแสงสว่างส่องธรรมวิถีชีวิตให้ก้าวไปในทางที่ถูกที่ควรที่ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป อันตราย ๕ อย่างที่ขวางแก่การบรรลุธรรมข้อสุดท้ายคือ อริยุปวาท กล่าวร้าย ว่าร้ายพระอริยเจ้า พูดไม่ดีกับท่าน หรือว่าพูดจาแบบเป็นการล่วงละเมิดท่าน เห็นมั๊ยว่ามันเป็นการปิดกั้น ดังนั้นการบูชาจึงเป็นการมาห้ามในการลบหลู่ดูหมิ่นคุณของท่าน
ทีนี้ เมื่อได้อธิบายถึงบูชาผู้ที่ควรบูชาไปแล้ว ก็อย่าไปบูชาในสิ่งที่ไม่ควรบูชา เพราะจะชักนำไปสู่ความงมงายหลงผิด จิตใจขุ่นมัวเป็นพาลไป คือ
๑. ไม่บูชาคนพาล ไม่ยกย่อง ไม่เชิดชู ไม่ส่งเสริม ไม่สนับสนุนคนพาล ไม่ว่าคนพาลนั้นจะมียศศักดิ์ สถานภาพสูงส่งเพียงไรก็ตาม
๒. ไม่บูชาสิ่งที่เนื่องด้วยคนพาล เช่น รูปภาพ รูปปั้น ผลงาน สิ่งของ เครื่องใช้ของคนพาล หรือทำตามคำแนะนำของคนพาล อย่าไปทำตาม
๓. ไม่บูชาสิ่งที่บูชาแล้วไม่ทำให้เกิดสิริมงคล เช่น รูปภาพดารา นักร้อง นักกีฬา นักมวย เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งไม่มีคุณธรรมเพียงพอ หรือแม้กระทั่งภาพโฆษณาเกี่ยวกับอบายมุข อย่านำมาประดับไว้ตามบ้านตามเรือน
๔. ไม่บูชาสิ่งที่บูชาแล้วทำให้เกิดงมงายยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น ต้นไม้ ภูเขาสูง คนทรง ภูตผีปีศาจ อะไรต่างๆ ที่สมมุติเรียกกันว่ามงคลๆ ที่ได้อธิบายไว้สองวันก่อน ที่คนเราส่วนใหญ่ยึดติดมงคลภายนอก พวกชอบมอง ก็ติดในสี สีนั้น สีนี้เป็นมงคล บางทีรถสีแดงก็บอกว่ารถคันนี้สีเขียว ถือมงคลผิดๆ บางทีก็ไปยึดถือชอบฟังก็เอาเสียงอะไรที่คิดว่าเป็นมงคลก็ไปยึดแบบนั้น อย่างเวลาพราหมณ์เป่าหอยสังข์เสียงดังตูม ก็คิดว่าใบมะตูมนี่แหละเป็นใบมงคล ก็เลยเอามาประกอบในพิธีต่างๆ ผู้ที่คิดว่ามงคลเกิดขึ้นทางจมูก ทางปาก ทางกาย ก็ชอบอะไรต่างๆ ที่มันเกี่ยวกับมงคลเช่นว่า เป็นสร้อย เป็นเครื่องประดับอย่างนั้น เครื่องประดับอย่างนี้ ที่ยึดถือเป็นมงคล ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นมงคลภายนอกทั้งนั้น แต่มงคลของพระ พุทธเจ้าเป็นมงคลภายใน สร้างดึงเข้ามาหาจิตมาหาใจ จึงจะเป็นอุดมมงคลอย่างแท้จริง
แล้วทีนี้ วิธีการกราบ การบูชา แต่ละวันเรากราบพระหลายรอบ เราลองนึกดูตั้งแต่ตื่นยันหลับ กราบหลายสิบรอบ กราบต้องกราบให้ถึงพระ ซึ่งในเรื่องนี้ท่านก็สอนไว้ว่า กราบมี ๓ ประเภท
๑. ยิ่งกราบยิ่งเมื่อย คือพวกที่เห็นคนอื่นกราบก็กราบตามเขา โดยไม่รู้ความหมาย ทำลวกๆ เหมือนลิงไหว้เจ้า หรือเหมือนกับตะครุบกบ กราบพอให้เสร็จๆ อย่างนี้ก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร เมื่อยเปล่า ยิ่งกราบยิ่งเมื่อย
๒. ยิ่งกราบยิ่งโง่ คือพวกที่กราบพระแล้วขอในสิ่งที่ไม่สมควร เช่น ขอให้ถูกหวย ขอให้สอบได้ทั้งที่ไม่ดูหนังสือ ขอให้รวยแล้วไม่ทำการงาน อันนี้คือยิ่งกราบยิ่งโง่ ไม่ได้ปัญญาอะไรเลย
๓. ยิ่งกราบยิ่งฉลาด คือผู้ที่กราบพระแล้วยึดถือเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาปฏิบัติเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตาม เช่น
กราบครั้งที่ ๑ ระลึกถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้า ที่ทรงมีปัญญามาก สามารถพิจารณาเห็นทุกข์ และก็คิดค้นวิธีการดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงค้นคว้าใช้ชีวิตจิตใจเป็นเดิมพัน สร้างบารมีมาหลายๆ ล้านชาติ จนกระทั่งมาเป็นปัญญาคุณ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
กราบครั้งที่ ๒ ระลึกถึงพระบริสุทธิคุณของพระองค์ ที่ทรงมีความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ เพราะพระองค์ทรงมีศีล ไม่เคยให้ร้ายแก่ใครเลย เป็นตัวอย่างในการรักษาศีลได้อย่างดี แล้วเราก็ต้องตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์อย่างพระองค์ด้วย แล้วก็แม้กระทั่งจิตใจของพระองค์ปราศจากกิเลสธุลี จึงเป็นบริสุทธิ์อย่างแท้จริง
กราบครั้งที่ ๓ ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงเทศนาสั่งสอนผู้คนทั้ง หลาย โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากพระวรกาย ก็เพราะว่าพระองค์ทรงมีความเมตตากรุณาเป็นเลิศ เป็นผู้เสียสละผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่มีพระพุทธศาสนาทุกวันนี้ มีองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายทุกวันนี้ มีพระสงฆ์ทั้งหลายในประเทศไทยทุกวันนี้ ก็เพราะพระพุทธเจ้า กราบ ๑ ๒ ๓ รำลึกถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า หรือกราบพระพุทธ กราบพระธรรม กราบพระสงฆ์ ก็กราบออกมาจากใจจริงๆ คำโบราณท่านบอกว่า
"กราบพระพุทธ อย่าสะดุดที่ทองคำ
กราบพระธรรม อย่าสะดุดคัมภีร์ใบลาน
กราบพระสงฆ์ อย่าสะดุดเอาลูกชาวบ้าน"
หมายความว่า ไม่เห็นของจริง พระพุทธรูปจึงบังพระพุทธเจ้า ใบลานจึงบังพระธรรม ลูกชาวบ้านจึงบังพระสงฆ์
พระพุทธรูปทอง หรือว่าพระพุทธรูปอะไรต่างๆ บังพุทธะที่แท้ บังพระพุทธเจ้า ก็หมายถึงว่าการที่เคารพกราบไหว้พระพุทธเจ้าอย่างที่คนทั้งหลายนับถือ ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้ว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็สามารถจะบันดาลสิ่งต่างๆ ให้ได้อย่างนั้น ให้ได้อย่างนี้ เป็นการบังไม่ให้เห็นพระพุทธเจ้าองค์จริง เพราะกราบด้วยความงมงาย คือว่าไปติดอยู่เพียงแค่นั้นว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ เราจะเห็นกันทั่วโลกเลย แห่ไปกราบพระพุทธรูปองค์นั้น พระพุทธรูปองค์นี้ แล้วก็ไปกราบไม่พอนะ ไปบนด้วย ไปขอ วันหนึ่งพระพุทธรูปรับแขกเป็นพันเป็นหมื่น จำไม่ได้หรอกว่าใครขออะไรบ้าง สรุปแล้วเป็นความงมงายทั้งนั้นเลย พระพุทธรูปก็คือพระพุทธรูป จะไปจำอะไรได้ แต่ที่จะสำเร็จได้ คือสองมือ คือการกระทำ คือบุญ ความศักดิ์สิทธิ์ก็คือความ success success ก็คือสำเร็จ จึงจะเป็นศักดิ์สิทธิ์ จริงๆ ไม่งั้นไปขออย่างเดียวไม่ได้อะไรหรอก เป็นความงมงายซึ่งพระพุทธเจ้าไม่เคยสอนแบบนี้เลย เราอย่าไปติดอยู่เพียงแค่นั้น
ทีนี้ กราบอย่างไรก็ไม่ถึงพระพุทธคุณ พระปัญญาคุณ พระมหากรุณาธิคุณ พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้าหรอก เลยเป็นการกราบพระไม่ถึงพระ ติดอยู่ที่พระพุทธรูปองค์นั้นองค์นี้ ปางนั้นปางนี้เท่านั้นเอง จึงกลายเป็นพระพุทธรูปบังพระ พุทธเจ้า
ใบลานบังพระธรรม คือถ้ามัวแต่อ่านคัมภีร์ ศึกษาคัมภีร์ ยึดมั่นถือมั่นแต่คัมภีร์ แต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรมให้รู้แจ้งเห็นจริง ทำให้คัมภีร์นั้นมาบังพระธรรม คือว่าหลงอยู่ในคัมภีร์ ติดอยู่ในคัมภีร์ คิดว่าการได้เล่าเรียนนักธรรมตรี โท เอก เปรียญธรรม ๑ ถึง ๙ หรือว่าเรียนอะไรต่ออะไรที่เขาเรียนกันอยู่มากมาย ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จ ก็เลยนอนกอดคัมภีร์อยู่อย่างนั้น ไม่ได้ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม คือว่าไม่ได้เอาธรรมที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาปฏิบัติให้บังเกิดผลขึ้น ก็เลยเรียกว่า คัมภีร์มาบังพระธรรมของจริง เพราะว่าพระธรรมของจริงนั้นอยู่ที่การประพฤติการ ปฏิบัติ แต่การศึกษาเล่าเรียนนั้นเป็นเข็มทิศนำทาง เป็น GPS เพื่อที่จะให้ถึงทางได้ง่ายขึ้น ไม่หลงทาง เป็นแผนที่บอกทางว่าเราควรจะไปทางไหน ทางไหนผิด ทางไหนถูก ควรจะไปอย่างไร อันนี้ถ้าเรียนแล้วไม่นำมาปฏิบัติก็เป็นการที่เอาคัมภีร์มาบังพระธรรม หรือแม้เรียนแล้วเอาความรู้นั้นมาแว้งกัดตัวเอง เลยเป็น อลคัททูปมปริยัติ เป็นการเรียนแบบปริยัติงูพิษ เรียนแล้วมาแว้งกัดตัวเอง ไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติ ทำนอกรีตนอกรอย อย่างที่เราเห็นๆกันเป็นข่าวๆ อยู่ทุกวันนี้ นอกรีตนอกรอยไป เลยกลายเป็นปริยัติงูพิษ ไม่เกิดผล ไม่เกิดประโยชน์ การเรียนที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องก็คือ ธรรมภัณฑาคาริกปริยัติ เรียนเพื่อทรงธรรม ทรงวินัย และอันสุดท้าย นิสสรณัตถปริยัติ เรียนเพื่อที่จะหลุดพ้น ก็คือปฏิบัติเพื่อจะหลุดพ้นจากวัฏสงสาร สองอันนี้จึงเป็นจุดประสงค์ที่แท้จริง ดังนั้นแล้วใบลานบังพระธรรมก็ดังที่ว่ามา
ลูกชาวบ้านบังพระสงฆ์ สุดท้ายถ้าคนนับถือพระสงฆ์ที่เพียงแต่นุ่งเหลืองห่มเหลือง โกนศีรษะเป็นพระสงฆ์ โดยไม่คำนึงถึงข้อวัตรข้อปฏิบัติของพระสงฆ์ ไม่ได้คำนึงถึงสังฆคุณที่ว่า
สุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดี
อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง
ญายปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อญายธรรม คือเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ ธรรมที่ควรรู้คือพระนิพพาน
สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ
ถ้าไม่นึกถึงคุณสมบัติเหล่านี้ แล้วก็จะไปบำรุงลูกชาวบ้านที่มาบวชเป็นพระ สงฆ์เพื่ออาชีพ หรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่ โดยไม่มีคุณสมบัติของพระสงฆ์ที่แท้จริง คือไม่มีสุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน อย่างนี้เลยเรียกว่าลูกชาวบ้านบังพระสงฆ์จริงๆ ดังนั้นกราบพระต้องให้ถึงพระ ดังที่ว่ามานี่แหละ
ทีนี้อานิสงส์ของการบูชาบุคคลที่ควรบูชา ท่านก็สรุปว่าคือ
๑. ยังความเห็นถูกที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๒. ทำความเห็นถูกที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามยิ่งๆ ขึ้นไป
๓. ทำให้มีกิริยามารยาทสุภาพอ่อนโยน น่ารักน่านับถือ
๔. ทำให้จิตใจผ่องใส เพราะตรึกอยู่ในกุศลธรรมเสมอ
๕. ทำให้สติสัมปชัญญะบริบูรณ์ขึ้นเพราะมีความสำรวมระวัง เป็นการป้องกันความประมาท
๖. ป้องกันความลืมตัวความหลงผิดได้ เพราะตระหนักอยู่เสมอว่า ผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่าตนยังมีอยู่มากมาย
๗. ทำให้เกิดกำลังใจและอานุภาพอย่างมหาศาล สามารถคุ้มครองป้องกันตนให้พ้นจากอุปสรรคและภัยพาลต่างๆ ได้ จากกำลังใจ กำลังของจิตที่เป็นจิตตานุภาพนี่เอง
๘. เป็นการกำจัดคนพาลให้พินาศไปโดยทางอ้อม เพราะมีแต่คนบูชาบัณฑิตที่มีคุณธรรม
๙. เป็นการเชิดชูบัณฑิตให้สูงเด่น ทำให้ท่านสามารถบำเพ็ญสิ่งที่ควรทำ เพื่อพระศาสนา เพื่อพระธรรมวินัยได้สะดวกกว้างขวางยิ่งขึ้น
บูชาผู้ที่ควรบูชา ดังที่ว่ามา บูชาพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รวมทั้งพ่อแม่ปู่ย่าตายาย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่ คือเป็นแบบพิมพ์เป็นตัวอย่างแบบอย่าง เราก็ต้องเอาธรรมเป็นหลัก เอาธรรมเป็นใหญ่ มีศีล ๕ ปิดอบายมุข ปิดอบายภูมิให้ตนเอง ลูกหลานเขาถึงจะทำใจได้ จะได้มีความสุขในการบูชาพ่อบูชาแม่ อย่าเป็นพ่อแม่มิจฉาทิฐิ เพราะพ่อแม่ไม่เอาศีลไม่เอาธรรม พ่อแม่ที่ไม่กราบพระไหว้พระ กินเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน ทะเลาะกัน พ่อแม่อย่างนั้นก็ ลูกหลานก็ทำใจไม่ได้ เพราะลูกหลานก็มีความสุขในการที่เห็นพ่อแม่รักกัน สามัคคีปรองดองกัน พ่อแม่มีศีลมีธรรม เขาจะได้เอาเป็นตัวอย่างแบบอย่าง เขาจะได้ต่อยอดเรา
อย่างพ่อแม่ ลูกหลานก็ทำใจไม่ได้ เพราะว่าพ่อแม่เป็นคนไม่ดี เป็นคนเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจตัวเอง เอาแต่อารมณ์ตัวเอง ไม่มีศีลไม่มีธรรม ลูกมันจะเคารพได้ยังไงลูกหลานมันจะเคารพได้ยังไง ใช่มั๊ย? เขาแต่งตั้งให้เป็นพระอรหันต์ของลูก เป็นพรหมของลูก แต่ไม่ได้เป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ที่ดี ไปเป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ระเบิด ด้วยมิจฉาทิฐิ ความเห็นผิด เข้าใจผิดของตนเอง จึงต้องกลับจิตกลับใจ กลับกายกลับตัว กลับหางกลับหัว กลับชั่วให้เป็นดี จะได้พัฒนาตนเอง ด้วยธรรม ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง จะได้เข้าสู่ยุค ๕G ๑๐G โดยเฉพาะในเรื่องจิตใจ ต้องพัฒนาให้ไปไกลกว่านั้น ให้ไกลเกินกว่า ๕G
อย่าไปบูชาคนพาลที่กินเหล้า เจ้าชู้ เล่นการพนัน พวกที่มีความรวยอย่างโง่ๆ หมายถึงว่า มีแต่ IQ ฉลาดในเรื่องการทำมาหากิน ในการทำธุรกิจ แต่ไม่มี EQ คือ ความดี อารมณ์ที่ดี สภาพจิตใจที่ดี แม้กระทั่ง RQ คือความเข้าใจในชีวิต โดยเฉพาะอริยสัจ ๔ ความเห็นถูกต้องเข้าใจถูกต้อง จึงต้องรวยอย่างฉลาด หมายถึงว่าต้องเสียสละซึ่งตัวซึ่งตน เพราะมนุษย์สมบัติ หรือแม้กระทั่งสวรรค์มันก็เป็นถนนเหยียบผ่านเฉยๆ เราต้องมีปัญญาต้องเข้มแข็ง ถึงจะเป็น อกาลิโก คือไม่ล้าสมัยในยุค ๕G ไม่ตกยุคแห่งการพัฒนาจิตใจ
เพราะว่ามนุษย์เราต้องพัฒนาการเรียนการศึกษา พัฒนาทั้งธุรกิจหน้าที่การงาน เพื่อเอาเทคโนโลยีมาใช้และพัฒนาทางจิตใจไปพร้อมๆ กัน เขาจะได้บูชาบุคคลที่ควรบูชา ถ้าอย่างนั้นวงศ์ตระกูลเราก็ไม่มั่นคง เหมือนถูกลอยแพ ไม่มีศีลไม่มีธรรม ทุกวันนี้หาคนที่คู่ควรแก่การบูชาก็ถือว่ายาก แต่ถึงอย่างไรพ่อแม่ปู่ย่าตายายบรรพบุรุษก็คือผู้มีพระคุณ ถ้าเราไม่มีพ่อไม่มีแม่ เราก็ไม่ได้เป็นคนดี ไม่ได้เป็นเศรษฐี ไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ลูกทุกคนต้องเคารพพ่อแม่ พ่อแม่ก็ต้องสำนึกสําเหนียกว่า ถ้าตัวเองเป๋ไป ก็ต้องตั้งหลักใหม่ อย่าปล่อยให้เป็นคนพาล ปล่อยชีวิตจิตใจให้กินเหล้าเมายา เจ้าชู้ เล่นการพนัน ขี้เกียจขี้คร้าน ไม่ขยัน ไม่อดทน ไม่รับผิดชอบ ไม่เอา ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นอย่างนี้ ก็ถือว่ายังไม่ได้มาตรฐานแห่งความประเสริฐที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เลยเป็นได้แต่เพียงคน
พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระพุทธบารมีมาหลายแสนหลายล้านชาติไม่มีใคร ยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าที่เป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยความเสียสละมากมายขนาดนี้ พระองค์ก็ยังทรงบูชา ทรงเคารพในพระธรรม คือพระสัทธรรม เราจึงต้องเคารพในพระสัทธรรม เคารพในสัจธรรมในความเป็นจริง เพราะธรรมชาติมีหลายอย่าง มีทั้งดีมีทั้งชั่ว มีทั้งผิดมีทั้งถูก คนที่เราเกี่ยวข้องบางคนก็เป็นคนดี บางคนก็เป็นคนไม่ดี แต่ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล เราจะไปติดในดีในชั่วของบุคคลอื่น ก็ถือว่าเรายังไม่เคารพในพระธรรม เพราะเราก็ทำใจยาก เพราะว่าบางทีผู้ที่บวชก่อนเรา หรือผู้ที่เกิดก่อนเรา พื้นฐานจิตใจของเขา บางคนก็มีสัมมาทิฐิ บางคนก็เป็นมิจฉาทิฐิ ยากที่เราจะทำใจได้ แต่ถ้าเรามีความเห็นไม่ถูกต้อง ไม่เข้าใจโลกตามความเป็นจริง เราก็จะเครียด เพราะคนเหล่านั้นเขาไม่ได้เป็นพระธรรม ไม่ได้เป็นพระวินัย ทำตามใจของเขา ทำตามอารมณ์ของเขา ทำตามความรู้สึกของเขา เราก็เลยเครียด แต่ละบุคคลต้องเข้าใจว่า ความบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง นาญโญ อัญญัง วิโสธเย คนอื่นจะทำคนอื่นให้บริสุทธิ์หมดจด มันเป็นไปไม่ได้ใครทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว ตนเองจะบูชาตนเองได้ ตนเองก็ต้องมุ่งมรรคผลพระนิพพาน มุ่งพระธรรม มุ่งพระวินัย ตนเองถึงจะเคารพตนเองได้ บูชาตนเองได้ คนเราฟังธรรมะที่เป็นของพระอริยเจ้า ของพระอรหันต์ บางทีมันก็ไม่ได้อะไรเลย เพราะไม่ได้มีเจตนาที่จะเอามรรคผลพระนิพพาน ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนแห่งธรรม คือมรรคผลพระนิพพานที่ท่านได้ ที่ท่านเห็น เพราะตัวเองเป็นคนมีทิฐิมานะมาก อัตตาตัวตนมาก ไม่ละตัวละตน ก็ย่อมบูชาตัวเองไม่ได้
ทุกคนต้องพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นนักบวช ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ก็ต้องปฏิบัติตัวเองให้ตัวเองกราบไหว้บูชาตัวเองได้ ถ้าอย่างนั้นฟังธรรมอะไรไป มันก็รับไม่ได้ เพราะว่าอุณหภูมิมันไม่สมดุลกัน จะฟักไข่อย่างนี้มันก็ไม่ออกลูก ฝนดินฟ้าอากาศกับเมล็ดพันธุ์มันไม่สมดุลกัน มันก็ไม่งอกเงยขึ้นมาได้ การปฏิบัตินี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ที่เราต้องปฏิบัติให้เกิดเป็นการบูชา ก็ต้องกลับมาหาตัวเองมาเปลี่ยน แปลงตัวเอง
เราต้องจับหลักของพระพุทธเจ้า บูชาในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ คือความเป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และบูชาด้วยการประพฤติ การปฏิบัติ เพราะการบูชาด้วยวัตถุข้าวของอะไรต่างๆ ก็ส่วนหนึ่ง แต่การ บูชาด้วยการประพฤติการปฏิบัตินั้นเป็นของเลิศ การบูชาด้วยการประพฤติการปฏิบัตินี้ เราต้องมาต่อยอดพ่อ แม่ บรรพบุรุษที่พาเราทำมา ถึงจะเป็นการสืบทอดต่อยอดในสิ่งที่ดี ด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราดูตัวอย่างแบบอย่างสำนักปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์เป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอรหันต์ เมื่อท่านละสังขารนิพพานไป สถานที่แห่งนั้นก็เป็นที่รกร้าง คือ ร้างราจากมรรคผลพระนิพพาน เหลืออยู่ที่ภิกษุ กับโบสถ์ เจดีย์ อาคาร สถานที่ วิหารต่างๆ ตระกูลต่างๆ ที่พ่อแม่ทำไว้ดี แต่เมื่อลูกหลานไม่ได้ประพฤติปฏิบัติสืบทอดต่อยอด ตระกูลนั้นก็ตั้งอยู่ได้ไม่นาน พวกลูกหลานต้องมาสืบทอดต่อยอดพ่อแม่ด้วยภาคประพฤติปฏิบัติ จึงจะชื่อว่าได้บูชาด้วยการประพฤติการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสสอนและนำพาให้บูชาในสิ่งที่ควรบูชา คือธรรมะ ด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ไม่ใช่บูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน อาหารเซ่นไหว้ โดยเฉพาะการบูชาข้าวพระพุทธ เป็นการลดระดับพระพุทธเจ้ามาเป็นเทพ เลยเอาเครื่องเซ่นไหว้ไปไหว้ อย่างนั้นไม่ถูก พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ปรินิพพานไปแล้ว บูชาข้าวพระพุทธจะได้อะไร เป็นการลดเกรดของพระ พุทธเจ้า จากที่อยู่สูงส่งแล้ว เอามาเป็นในระดับเทพที่มารับเครื่องเซ่นไหว้ อย่างนี้ก็ไม่ใช่ แต่ต้องบูชาด้วยการประพฤติการปฏิบัติ ด้วยศีล ตั้งมั่นในศีล สมาธิ จิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน และปัญญาคือสัมมาทิฐิ เอาธรรมเป็นหลักเป็นใหญ่ มีหลักการมีจุดยืน จึงจะเป็นการบูชาอย่างแท้จริง เป็นการบูชาที่เลิศ เป็นการบูชาที่ประเสริฐ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะว่า
"อานนท์! พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชาเราอยู่ด้วยเครื่องสักการะบูชาทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น ก็หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยบูชาอันเยี่ยมยอดไม่ อานนท์เอย! ผู้ใดปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมให้เหมาะสม ผู้นั้นแล ชื่อว่าสักการบูชาเรา ด้วยบูชาอันยอดเยี่ยม"
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ด้วยอำนาจแห่งสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยะสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใดๆ ไม่แผ้วพาน พระสัจธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลนิพพานทุกท่านเทอญ
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee