แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอาทิตย์ที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง เปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคล ตอนที่ ๔ รู้จักและคบบัณฑิตภายนอก น้อมเข้ามาสู่ใจเพื่อเป็นบัณฑิตภายใน
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่ผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนทุกท่าน ทุกท่านเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ วันนี้องค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านก็เมตตาให้บรรยายในช่วงของเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนฐานของชีวิตแล้วก็จิตใจเพื่อให้เป็นอุดมมงคล วันนี้เป็นข้อที่ ๒ สำหรับสิ่งที่เป็นอุดมมงคล เป็นมงคลสูงสุดของชีวิต เมื่อวานได้อธิบายถึงเรื่องเกี่ยวกับลักษณะของคนพาล มงคลภายนอกมงคลภายใน ซึ่งมงคลภายนอกนี้ช่วยอะไรเราไม่ได้ ช่วยให้พ้นจากอบายภูมิไม่ได้ ช่วยให้พ้นจากทุกข์จากวัฏสงสารไม่ได้ จึงต้องมาพึ่งมงคลภายในของพระพุทธเจ้า เพราะว่ามงคลภายนอกนี้เป็นมงคลของนักคิด ของนักคาดคะเน ของนักเดามั่วเอา แต่มงคล ๓๘ ประการนี้เป็นมงคลที่ออกมาจากจิตออกมาจากใจของผู้ที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ออกมาจากจิตใจที่บริสุทธิ์ ออกมาจากพระนิพพาน เพราะฉะนั้น ทุกๆ ข้อนี้ จึงมีคำกำกับว่า “เอตมฺมงฺคมุตฺตมํ” เป็นมงคลอันสูงสุดทุกข้อเลย แล้วก็จะน้อมไปสู่ความดับทุกข์คือมรรคผลพระนิพพาน เหมือนกับแม่น้ำทุกสายที่ไหลลงไปสู่ทะเล พอสู่ทะเลแล้วก็จะโน้มเอียง ลาดเอียง ลึกโดยลำดับ เพราะฉะนั้น มงคลทุกๆ ข้อนี้ จึงโน้มเอียงไปสู่พระนิพพาน
การคบบัณฑิต สองข้อแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการคบคน ส่วนอีก ๓๖ ข้อ เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตเกี่ยวกับใจทั้งนั้นเลย เกี่ยวกับการประพฤติ เกี่ยวกับคำพูด เกี่ยวกับเรื่องภายใน สองข้อแรกเกี่ยวกับคน เพราะตั้งแต่เราเกิดจนกระทั่งตายนี้เกี่ยวข้องกับคนโดยตลอด คนเราทุกคนนี้ไม่มีใครจะสามารถยืนหยัดมีชีวิตอยู่ตามลำพังตนเองผู้เดียวได้นับตั้งแต่เกิด พอเกิดมาก็มีพ่อมีแม่คอยเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน ให้คำปรึกษาแนะนำ ตลอดจนส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุดตามศักยภาพทั้งของเราแล้วก็ของท่าน เมื่อเราออกจากบ้าน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะที่เป็นเด็กไปเรียนหนังสือ ก็ต้องเจอครูอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยก็ต้องเจออาจารย์ พอโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นนักเรียนนักศึกษาหรือว่าจะเป็นผู้ประกอบการงาน มีอาชีพรับราชการหรือว่าประกอบธุรกิจต่างๆ เราก็จำเป็นต้องคบหาสมาคมกับบุคคลอื่นๆ อีกมากมาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแบ่งบุคคลต่างๆ ซึ่งโดยทั่วไปนี้แต่ละคนจำเป็นต้องติดต่อเกี่ยวข้องด้วยออกเป็น ๖ ประเภทด้วยกัน ประเภทแรก มารดาบิดา ประเภทที่ ๒ ครูบาอาจารย์ ๓. บุตรภรรยา ๔. มิตรสหาย ๕. เจ้านาย คนใต้บังคับบัญชา แล้วก็ ๖. พระสงฆ์ สมณพราหมณ์ ครูบาอาจารย์ที่เป็นที่พึ่งทางจิตใจ
ในบรรดาบุคคลทั้ง ๖ ประเภทดังกล่าวแล้วนี้ คงจะมีแต่ประเภทที่ ๑ คือพ่อคือแม่ที่เราไม่สามารถเลือกได้เลยด้วยตนเอง เพราะว่ากรรมเป็นผู้เลือกให้ กรรมเป็นผู้จัดสรรว่าต้องมาเกิดกับตระกูลนี้ มาเกิดกับพ่อแบบนี้ มาเกิดกับแม่แบบนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เรื่องบังเอิญเพราะว่ากรรมนี่แหละเป็นผู้จัดสรรเป็นผู้จัดแต่ง เรามีกรรมเป็นของของตน มีกรรม แล้วก็เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย โดยเฉพาะที่ว่า กัมมะทายาทะ หรือกรรมทายาท มีกรรมเป็นทายาทส่งมาเกิด กัมมะโยนิ มีกรรมเป็นแดนเกิด รับช่วงต่อมา แล้วก็มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เหล่านี้ พอมาเจอพ่อเจอแม่นี้ เราไม่สามารถเลือกได้ แต่หลังจากที่เราถือกำเนิดเกิดมาดูโลกนี้แล้ว อย่างไรก็ตาม มารดาบิดาที่มีจิตใจปกติมีสติ สัมปชัญญะสมบูรณ์บริบูรณ์ ไม่ว่าจะมั่งมีหรือว่ายากจนเข็ญใจก็ย่อมมีคุณธรรมเหมือนกันประการหนึ่ง ก็คือมีความรักมีความปรารถนาดีต่อลูกทุกคน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่ยอมรับกันว่า กัลยาณมิตร เพื่อนคนแรก เพื่อนแท้คนแรกของเราก็คือมารดาบิดาของเรานั่นเอง ส่วนบุคคลอีก ๕ ประเภท คือ ครูบาอาจารย์ บุตรภรรยา มิตรสหาย เจ้านาย คนใต้บังคับบัญชา แล้วก็ที่พึ่งทางจิตใจที่เป็นสมณะชีพราหมณ์ เรามีโอกาสเลือกสรรได้ สำหรับบุตรของเรานั้น เราก็ย่อมอบรมสั่งสอนให้เป็นไปตามแนวทางที่เราต้องการได้ ปัญหาจึงมีอยู่ว่าเราจะใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกคบหาสมาคมกับบุคคลต่างๆ เพื่อจะได้พบแต่คนดี พบแต่บัณฑิต พบแต่บุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร ให้ห่างไกลจากคนพาล
ในเรื่องของการคบหาสมาคมนั้น บัณฑิตในสมัยก่อนได้ให้คำแนะนำไว้ว่า “ไม่ควรไว้ใจในคนไม่คุ้นเคย แม้ในคนคุ้นเคยก็ไม่ควรไว้ใจ” จากข้อความนี้จะทำให้เข้าใจได้ว่า ในการคบหาสมาคมกับบุคคลต่างๆ เราต้องไม่ประมาท ควรตั้งข้อสังเกตไว้เสมอว่า บุคคลที่เราคบหาสมาคมด้วยแต่ละคนนั้นมีอุปนิสัยจิตใจแท้จริงอย่างไร เพราะบางคนแม้มีความปรารถนาดีต่อเรา แต่ด้วยความที่ตัวของเขาเองเป็นคนพาล เขาก็จะชักนำเราไปในทางชั่ว โดยที่ตนเองคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ เช่น ปรารถนาดีต่อเพื่อน อยากให้เพื่อนคลายเครียด เลยพาไปเที่ยวบ่อนคาสิโน พาไปกินเหล้า พาไปเสพยา พาไปเที่ยวกลางคืน สารพัดแบบนี้ เป็นความหวังดีของเพื่อนที่เป็นคนพาล แล้วเราก็หลงตามไปแบบนี้ จึงต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ แต่สำหรับผู้ที่มีความจริงใจต่อเรา พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเรา เป็นที่พึ่งแก่เราในยามที่มีปัญหาหรือมีภัย ปกป้องผลประโยชน์ให้เรา ทั้งยังคอยแนะ นำให้เราตั้งอยู่ในความดี ตักเตือนห้ามปรามเมื่อเห็นว่าเราจะทำผิดทำชั่ว คอยแนะนำความรู้และคุณธรรมที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ตลอดจนบอกทางแห่งความสุข บอกทางมนุษย์สมบัติ ทางสวรรค์สมบัติ แล้วก็ทางที่เราจะพ้นทุกข์ คือพระนิพพานให้ เมื่อเรามีความทุกข์ก็คอยช่วยเหลือให้กำลังใจ เมื่อเรามีความสุข ประสบความสำเร็จ เขาก็พลอยยินดีด้วย มีมุทิตา ไม่อิจฉาริษยา ไม่เอารัดเอาเปรียบ เมื่อผู้อื่นติเตียนก็คอยยับยั้งแล้วก็ปกป้องให้ เมื่อผู้อื่นสรรเสริญเราเขาก็คอยสนับสนุนส่งเสริมด้วย ลักษณะนิสัยดังกล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของบัณฑิต เป็นลักษณะของเพื่อนดี เป็นลักษณะของกัลยาณมิตร มิตรแท้มิตรเทียมนี้ พระพุทธเจ้าสอนไว้ในเรื่องของการคบคน ที่ว่ามาเมื่อสักครู่นี้คือลักษณะของมิตรแท้ ช่วยในยามยาก ปกป้องผลประโยชน์ คอยแนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี ตักเตือนห้ามปรามเมื่อจะทำชั่ว แนะนำความรู้ คุณธรรมให้ได้ยินได้ฟัง บอกทางแห่งความสุขคือสวรรค์ จนกระทั่งความดับทุกข์ เมื่อเรามีทุกข์ก็คอยช่วยเหลือให้กำลังใจ เมื่อเราได้ดีก็ไม่อิจฉาริษยา เมื่อคนนินทาก็ช่วยห้ามปราม เมื่อคนสรรเสริญก็คอยสนับสนุน นี่แหละคือมิตรแท้ ที่เป็นกัลยาณมิตรคือเพื่อนดี จะเป็นกัลยาณมิตรได้ก็ต้องเป็นบัณฑิตก่อน เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงย้ำแล้วย้ำอีกในเรื่องของการคบคน ที่พระองค์ตรัสว่า “น ภเช ปาปเก มิตฺเต น ภเช ปุริสาธเม ภเชถ มิตฺเต กลฺยาเณ ภเชถ ปุริสุตฺตเม” ไม่ควรคบมิตรเลว ไม่ควรคบคนต่ำช้าเลวทราม ควรคบแต่กัลยาณมิตร ควรคบบุรุษสูงสุด พระพุทธเจ้าตรัสเช่นนี้ เพราะคบคนเช่นใดย่อมเป็นคนเช่นนั้น คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล คบคนพาล พาลพาไปหาผิด ผ้าที่ห่อหุ้มของหอม ผ้าผืนนั้นมันย่อมพลอยหอมตลบอบอวลตามไปด้วยกันฉันใด ผู้ที่คบบัณฑิตก็ย่อมพลอยได้รับความ รู้ความสามารถแล้วก็ความดีตามบัณฑิตไปด้วยฉันนั้น
ลักษณะคําสอนในมงคลข้อที่ ๒ นี้แตกต่างจากข้อที่ ๑ คือข้อที่ ๑ เป็นคำสอนที่ทวนกระแสหน่อย เพราะว่าคนเรานั้นแต่ละวันคบทั้งคนดีคนชั่ว มั่วกันไปหมด ทีนี้ พอพระพุทธองค์สอนห้าม ห้ามไม่ให้คบคนชั่ว บางทีฟังแล้วมันฝืนใจ จะทำอย่างไร? ก็ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดแล้วเมื่อวานว่าให้ออกห่าง ให้ตีห่าง แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเห็นความสำคัญ เพราะสิ่งแวดล้อมต่างๆ นั้นมาจากคนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงได้ทรงชี้ให้เห็นสิ่งที่สามารถจะเห็นได้ชัดมาแสดง สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนฐานชีวิตให้เป็นมงคลข้อนี้ นั่นก็คือลักษณะของบัณฑิต เมื่อท่านสอนให้เราคบกับบัณฑิต ฉะนั้น เราก็ต้องรู้เสียก่อนว่า บัณฑิตที่แท้จริงมีลักษณะอย่างไรจึงจะคบหาถูก ไม่อย่างนั้น ต่อให้อยู่ตรงหน้าก็หาไม่ถูก ลักษณะของคนที่พระพุทธองค์ทรงให้คบที่เรียกว่าบัณฑิตนี้ เป็นชื่อของคุณลักษณะที่บอกถึงคุณความดีของคนๆ นั้น
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า บัณฑิตหมายความว่าอย่างไร? บัณฑิตคือคนที่มีใจผ่องใสอยู่เป็นปกติ ทำให้มีความเห็นถูก ยึดค่านิยมที่ถูกต้อง สามารถดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ผู้นั้นแหละจึงชื่อว่าบัณฑิต บัณฑิตเป็นภาษาบาลี “ปัณฑิตะ” แปลว่าผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ลักษณะความรู้ที่จะทำให้คนเป็นบัณฑิตได้นั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ผู้ที่ฉลาดรู้ประโยชน์ในชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า แล้วก็ประโยชน์อย่างสูงสุดเรียกว่าบัณฑิต ประโยชน์ชาตินี้ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ในชาตินี้คือ รู้จักในการแสวงหาที่จะได้มนุษย์สมบัติที่สมบูรณ์ ประโยชน์ในชาติหน้า สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือภพภูมิต่อไปที่ดีต้องเป็นสุคติ รู้จักทางสวรรค์ คือสวรรค์สมบัติ หรือต่อยอดจนกระทั่งถึงพรหมสมบัติ เป็นสมาธิ เป็นฌาน แล้วก็ปรมัตถประโยชน์ ประโยชน์อย่างสูงสุดคือมรรคผลพระนิพพาน ผู้รู้ประโยชน์แบบนี้ ประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน จึงเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ ถ้าจะสรุปเอาสาระใจความก็คือดังนี้ รู้จักผิดชอบ รู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้จักประโยชน์แล้วก็ไม่ใช่ประโยชน์ ลักษณะดังกล่าวมานี้ต้องเกิดจากปัญญา มีตาปัญญา มีตาภายนอกยังไม่พอ ต้องมีปัญญาจักษุด้วย เป็นผู้รู้ดี คือรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว เป็นผู้รู้ถูก คือรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด เป็นผู้รู้ชอบ คือรู้ว่าอะไรบุญ อะไรบาป ฉะนั้น คนที่เป็นบัณฑิตจะต้องเป็นคนมีปัญญา มีความรู้จักผิดชอบชั่วดี ถึงจะมีความรู้อย่างอื่นทางโลกมากสักเพียงใด จบปริญญากี่ใบๆ เป็นสิบๆ ใบก็ตามที แต่ถ้าขาดความรู้จักผิดชอบชั่วดีแล้วก็เป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ เป็นบัณฑิตของพระพุทธเจ้าไม่ได้ บัณฑิตที่จบตามมหาวิทยาลัยนี้เป็นแค่บัณฑิตใบกระดาษ ใบประกาศนียบัตร ใบปริญญาระดับต่างๆ นี้ ขนาดเล็กๆ เล็กกว่า A๔ เป็นแค่ใบประกาศ จบมาแล้วมันเป็นเครื่องมือที่บอกให้รู้ว่าจบแค่นั้นเอง แล้วก็เอาไปสมัครทำงาน เอาไปทำมาหากิน แต่มันไม่ได้เป็นเครื่องการันตี ไม่ได้ confirmให้เราได้ว่าจะปิดอบายภูมิได้ จะนำพาเราไปสู่สุคติได้ เพราะส่วนใหญ่โจรนี่แหละ โจรในเครื่องแบบ โจรที่มาจากบัณฑิตเยอะแยะมากมาย จบเมืองนอก จบสูงๆ แล้วเอาความรู้ความสามารถเอามาให้กิเลสมันกินหัวเอา สุดท้ายไปโกงไปกินไปทำชั่วมากมาย มีให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจากบัณฑิตใบกระดาษนี่แหละ บัณฑิตจริงๆ อาจจะเป็นใครสักคนก็ได้ บางทีอาจจะเป็นคนที่อ่านหนังสือไม่ออก อาจจะเป็นชาวไร่ชาวนาหรืออาจจะเป็นผู้มีการศึกษาสูง เป็นญาติพี่น้องของเราหรือไม่เป็นญาติของเรา แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที จะต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจผ่องใส ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญาภายใน คือเป็นคนดีนั่นเอง เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงย้ำเสมอว่า ต้องประกอบด้วยวิชชาจรณะ พุทธคุณข้อหนึ่งของพระพุทธเจ้าก็คือว่า วิชชาจรณสัมปันโน สมบูรณ์ด้วยวิชาความรู้ แล้วก็จรณะ แต่ของพระพุทธ เจ้านี้เป็นสูงไปแล้ว คือพระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชา ๘ จรณะ ๑๕ แต่คนเราทั่วไปที่จะเป็นบัณฑิตนี้ อย่างน้อยๆ ต้องเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยความรู้ที่เป็น IQ แล้วก็ความรู้ภายในที่เป็นอีคิว IQ ความรู้ภายนอกที่เรียนมาจากข้างนอก เรียนมากก็รู้มาก EQ คือความฉลาดในอารมณ์ เท่าทันจิตเท่าทันใจ อย่างน้อยๆ ให้มีพรหมวิหาร เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาอยู่ในใจ จึงมี EQ อคติ ๔ ก็ต้องน้อยจึงจะมี EQ แล้วก็ที่สำคัญที่สุดต้องมี RQ ด้วย RQ คืออะไร? RQ-realistic quotient หมายถึงว่า ความฉลาดในการรู้จักชีวิตจริงๆ ความเข้าใจในเรื่องของชีวิต นั่นก็คืออริยสัจ ๔ นั่นเอง รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ มีมรรคมีองค์ ๘ อยู่ในใจ จึงจะเป็นผู้มี RQ IQ EQ นี้ ทางโลกๆ เขาก็สามารถมีได้ แต่ผู้ปฏิบัติธรรมต้องเพิ่ม RQ เข้ามา คือมรรคมีองค์ ๘
คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าผู้ที่เรียนหนังสือนั่นแหละ จบได้ปริญญานั้นเป็นบัณฑิต เพราะมีชื่อกำกับเลยว่า จบปริญญาตรีจะเรียกบัณฑิตสาขานั้นสาขานี้ เช่น แพทยศาสตร์บัณฑิต ศิลปศาสตร์บัณฑิต วิทยาศาสตร์บัณฑิต เหล่านี้เป็นต้น พอจบปริญญาโทก็เพิ่มเข้ามาหน่อยสูงขึ้นมาหน่อย เป็นขั้นกว่า เป็นมหาบัณฑิต มหาบัณฑิตสายนั้นสายนี้ เช่นว่า วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต เหล่านี้เป็นต้น พอสูงสุดเป็นดุษฎี ปริญญาเอก ดุษฎีบัณฑิต แต่ปริญญาเหล่านี้ก็เป็นเพียงแต่กระดาษ เป็นแต่วิชาความรู้ที่อยู่ในตำรับตำรา จะเอามาเกิดประโยชน์ได้เราต้องมาต่อยอด เพราะวิชาความรู้เหล่านี้เป็นของดี ถ้านำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เป็นเหมือนกับแผนที่นำทาง อยู่ที่ว่าจะนำไปทางโลกหรือนำไปทางธรรม สุดท้ายเราก็ต้องลงมือประพฤติ ลงมือปฏิบัติ จึงจะเป็นบัณฑิตที่แท้จริง เพราะบัณฑิตที่จากใบกระดาษประพฤติไม่ดีติดคุกติดตะรางก็เยอะ แต่บัณฑิตที่แท้จริง แม้จะจบแค่ ป. ๔ หรือไม่จบอะไรเลย แต่ว่าเป็นผู้ที่ตั้งใจละชั่ว ทำดี ประพฤติปฏิบัติชอบ ประกอบแต่ความดี ความถูกต้อง ความสุจริต สามารถป้องกันตนให้พ้นจากคุกจากตาราง แม้กระทั่งป้องกันตนไม่ให้ตกอบายภูมิ คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานได้ บัณฑิตจึงมิใช่ผู้มีเพียงปริญญา แต่บัณฑิตที่แท้จริงคือผู้ที่อุดมไปด้วยศีล สมาธิแล้วก็ปัญญา
ลักษณะของบัณฑิต เนื่องจากว่า บัณฑิตนี้เป็นผู้ที่มีจิตใจผ่องใส มีความเห็นถูก ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา ฉลาดในการสอดส่องหาเหตุผล จึงมีลักษณะพิเศษสูงกว่าคนทั้งหลาย ๓ ประการ คือ
ประการแรก ชอบคิดดีเป็นปกติ คิดให้ คิดเสียสละ ให้อภัยอยู่เสมอ ไม่ผูกพยาบาท คิดเห็นถูกต้อง มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ตามความเป็นจริง เช่นว่า เห็นว่าบาปมี บุญมี บุญคุณของพ่อแม่มีจริง นรกมี สวรรค์มี เป็นต้น นี่คือเป็นลักษณะของผู้ที่คิดดีเป็นปกติ มองโลกในแง่ดี
ประการที่ ๒ พูดดีเป็นปกติ บัณฑิตลักษณะอย่างที่ ๒ พูดดีเป็นปกติ พูดดีไม่ใช่ดีแต่พูด พูดดีหมายความว่าพูดคำจริง พูดคำสมานไมตรี คำสมานไมตรีก็คือตรงข้ามกับคำพูดส่อเสียด เหน็บคนนั้น เหน็บแนมคนนั้น เหน็บแนมคนนี้ พูดดิสเครดิตกันอย่างนี้ จัดอยู่ในปิสุณวาจา ส่อเสียดทั้งหมด ทั้งส่อทั้งเสียด จึงไม่ใช่ลักษณะของบัณฑิตเลย เอาง่ายๆ พวกชอบนินทาชาวบ้านคือพูดส่อเสียด คุณ ธรรมของบัณฑิตก็ไม่มีแล้ว ดังนั้น คนที่เป็นบัณฑิตจึงเป็นผู้พูดดีเป็นปกติ พูดคำจริง พูดคำสมานไมตรี พูดคำมีประโยชน์ พูดด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา แล้วก็ต้องพูดถูกต้องตามกาละเทศะ นี้คือลักษณะของบัณฑิตที่เป็นผู้ที่พูดดีเป็นปกติ
ต่อไปอย่างที่ ๓ ลักษณะของบัณฑิตคือชอบทำดีเป็นปกติ คือมีความเมตตา-อยากให้ผู้อื่นมีความสุข กรุณา-อยากให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์ ประกอบสัมมาอาชีวะ มีอาชีพบริสุทธิ์ อาชีพใดๆ ก็ทำไปเถิด แต่ว่าอาชีพนั้นต้องไม่เบียดเบียนคนอื่นสัตว์อื่นก็พอแล้ว แม้กระทั่งเป็นพระภิกษุก็ต้องเป็นอาชีพที่ไม่เบียดเบียน คือไม่ทำอเนสนา อเนสนา-การแสวงหาโดยที่ไม่สมควร เช่นว่า การประจบคฤหัสถ์ การขอของ การทำเดรัจฉานวิชา ตะกรุด ผ้ายันต์ เครื่องราง ของขลัง อะไรพวกนี้ จัดว่าเป็นอเนสนา คือการหาเลี้ยงชีพโดยไม่สมควรทั้งหมด พระพุทธเจ้าห้ามมาเป็นพันๆ ปีแล้ว แล้วก็ชอบทำดีเป็นปกติ ก็คือเป็นผู้มีความสุขในการให้ ในการเสียสละ เป็นผู้มีศีล แล้วก็ไหว้พระ สวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนาอยู่สม่ำเสมอ นี่เรียกว่าเป็นผู้ทำดีเป็นปกติ
ต่อไป องค์ประกอบของบัณฑิต ท่านสรุปไว้มี ๔ อย่าง อย่างแรกกตัญญู รู้อุปการะคุณที่ท่านกระทำแล้วแก่ตน ๒. อัตตสุทธิ-ทำตนให้บริสุทธิ์จากบาป เพราะทุกคนมีเชื้อพาล มีเชื้อบาปอยู่ในใจทุกคนแหละ เพราะมันมาจากกิเลสที่มันนอนเนื่องอยู่ในสันดาน จึงต้องพยายามขวนขวายหาทางที่จะให้จิตตัวเองนี้บริสุทธิ์จากบาป ๓. ปริสุทธิ ทำผู้อื่นคนรอบข้างให้บริสุทธิ์จากบาป คือให้เป็นคนดีตามตัวเองด้วย แล้วก็ ๔. สังคห คือ สงเคราะห์แก่คนทั้งหลาย ๔ อย่างนี้เป็นลักษณะเป็นองค์คุณของบัณฑิต
ทีนี้ วิธีสังเกตบัณฑิต บัณฑิตมักจะกระทำในสิ่งต่อไปนี้คือ
๑. บัณฑิตชอบชักนำในทางที่ถูก รู้ว่าอะไรผิดนี้ห้าม แล้วก็ชักนำในทางที่ถูก เช่นว่า ชักนำให้เลิกสูบบุหรี่ ให้เลิกดื่มสุรา ให้เลิกกินเหล้ากินเบียร์ ให้เลิกเล่นการพนัน ให้เลิกเสพยาเสพติด ชักนำให้สวดมนต์ไหว้พระ ชักนำให้รักษาศีล ชักนำให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ชักนำให้ทำมาหากินในทางสุจริต เป็นต้น ชักนำในทางที่ถูก
ต่อไป ๒. บัณฑิตชอบทำแต่สิ่งที่เป็นธุระ ไม่เกะกะเกเรใครๆ เร่งรีบทำการทำงานในหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ไม่ปล่อยการงานให้มันคั่งค้างแบบดินพอกหางหมู แล้วก็ไม่ไปก้าวก่ายงานในหน้าที่ของคนอื่น เว้นแต่เมื่อได้รับการขอร้องหรือว่าเพื่ออนุเคราะห์ช่วยเหลือ
๓. บัณฑิตชอบทำแต่สิ่งที่ถูกที่ควร เช่น ชอบพูดแล้วก็ทำตรงไปตรงมา พูดอย่างไรทำอย่างนั้น ทำอย่างไรพูดอย่างนั้น ชอบสนทนาธรรม รังเกียจการนินทาว่าร้าย ชอบบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
๔. บัณฑิตเมื่อถูกว่ากล่าวตักเตือนด้วยดีย่อมไม่โกรธ มีนิสัยเอาความถูกต้อง เอาความดี เอาความมีประโยชน์เป็นที่ตั้ง ไม่ถือตัว อวดดี ดื้อรั้น แต่เห็นว่าผู้ที่มาตักเตือนตัวเองคือผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ ให้มองเห็นในสิ่งที่ตนเองมองไม่เห็น เพราะส่วนใหญ่มักจะเข้าข้างตัวเอง คิดว่าดีไปหมด แต่บางสิ่งบางอย่างมันไม่ถูกมันไม่ควร เมื่อมีคนมาตักเตือน มาแนะนำ มากล่าวปวารณาให้คือแนะนำตักเตือน มองให้เป็นของดี เหมือนกับผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้ เป็นเหมือนกับกระจกส่อง แล้วก็พยายามแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นตามคำแนะนำนั้นๆ ไม่โกรธด้วย โดยไม่นึกรังเกียจว่า ผู้ที่ตัดเดือนนั้นจะมีอายุน้อยกว่า มียศศักดิ์น้อยกว่า มีฐานะสูงหรือว่าต่ำกว่า อันนี้แหละคือการกำจัด ego กำจัดมานะทิฐิไปในตัว หรือว่าหากมีผู้ที่เข้าใจตัวเองผิด พูดก้าวร้าวไม่สมควร พูดใส่ความ ใส่ฟืนใส่ไฟ ก็อดทนไว้ ไม่โกรธตอบ แล้วพยายามหาโอกาสชี้แจงให้เขาเข้าใจภายหลัง จึงทำความอบอุ่นแล้วก็เย็นใจให้แก่ทุกคน
ประการที่ ๕ วิธีสังเกต บัณฑิตย่อมรับรู้ระเบียบวินัย รักที่จะปฏิบัติตามระเบียบวินัย ข้อวัตรข้อปฏิบัติของหมู่คณะอย่างเคร่งครัด เพราะตระหนักดีว่าวินัยนี่แหละที่จะเป็นเครื่องนำตนไปให้ถูกต้อง ให้เป็นผู้เห็นแจ้ง วินัยเป็นเครื่องยกหมู่คณะให้เจริญขึ้นได้จริง ทำให้หมู่คณะสงบเรียบร้อย ไม่วุ่นวาย ทำให้เกิดความสุข ความผาสุก จึงรังเกียจความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความไม่สะอาด รกรุงรัง สกปรกเลอะเทอะ เป็นต้น
ทีนี้ เรารู้แล้วว่า ลักษณะของบัณฑิตเป็นอย่างนี้ๆ เราก็มีหลักในการสังเกตอย่างที่ว่ามา เราก็ต้องไปคบหา ไปนั่งใกล้ คำว่า “ปณฑิตานญฺจ เสวนา” คบบัณฑิต เสวนะนี้ เสวนะแปลตรงๆ ว่าเสพ แต่พอภาษาไทยมาใช้คำว่าเสพนี้ มันหมายถึงไปในทางไม่ดี เช่น เสพยา แต่ความจริงแล้วคำว่าเสพในคำนี้เป็นคำกลางๆ “เสวนะ” “เสวนา” หรือ ”เสพ”ตรงนี้ แปลว่าการคบ วิธีคบบัณฑิตคือทำอย่างไร? หมั่นไปหาสู่ หมั่นเข้าไปนั่งใกล้ มีความจริงใจ ให้ความเกรงอกเกรงใจต่อท่าน ฟังคำแนะนำ ฟังคำพูด ฟังธรรมจากท่าน จำสิ่งที่ท่านสอน ก็คือจำธรรมที่ได้ฟังมานั้นไว้ พิจารณาใจความของถ้อยคำของธรรมะที่ได้จำได้นั้นให้ดี แล้วก็พยายามปฏิบัติตามที่ได้ฟัง แล้วก็ใคร่ครวญอย่างดีแล้ว จึงจะเป็นการคบ คบไม่ใช่แค่คุยอย่างเดียว แต่ท่านหมายถึงว่าหมั่นไปมาหาสู่ เข้าไปนั่งใกล้ มีความเกรงอก เกรงใจ ฟังคำแนะนำ คือฟังธรรมจากท่าน ฟังก็ตั้งใจฟังแล้วก็จดจำ จดจำแล้วก็เอามาพิจารณา พิจารณาแล้วนำไปประพฤตินำไปปฏิบัติ จึงจะเป็นคำว่าเสวนา คือการคบต้องมีองค์ประกอบทั้ง ๗ อย่างดังที่ว่ามานี้ ย้ำอีกครั้งหนึ่ง ๑. หมั่นไปมาหาสู่ ๒. หมั่นเข้าไปนั่งใกล้ ๓. มีความจริงใจให้ความเกรงอกเกรงใจต่อท่าน ๔. ฟังคำแนะนำ ฟังธรรมจากท่าน ๕. จดจำสิ่งที่ได้ฟัง ๖. จำแล้วเอามาพิจารณา ๗. น้อมมาสู่การประพฤติการปฏิบัติ
โคลงโลกนิติโบราณท่านบอกว่า “ใบพ้อพันห่อหุ้มกฤษณา หอมระรวยรสพาเพริศด้วย คนเสพเสน่หานักปราชญ์ ความสุขซาบฤาม้วย ดุจไม้กลิ่นหอม” แปลความได้ว่า ใบไม้ที่ห่อหุ้มกฤษณา กฤษณาคือไม้หอม ไม้มีราคาแพง ภาษา อังกฤษ agar wood ก็คือไม้หอมมาก เป็นของแพง คนที่คบกับบัณฑิต ก็ย่อมทำให้ความคิดกาย วาจา ใจหอมไปด้วย
แล้วทีนี้ ท่านก็มาสรุปตรงว่า บัณฑิตนี้มีอยู่ ๒ ประเภทด้วยกัน อย่างแรก บัณฑิตภายนอกคือบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่เป็นผู้ประพฤติดี มีคุณธรรมดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา มีองค์ประกอบดังที่ว่ามานี่แหละคือบัณฑิตภายนอก สอง บัณฑิตภายใน บัณฑิตภายในคือ ดึงเข้ามาหาใจเราแล้ว เข้ามาสู่จิตสู่ใจคือตัวเราขณะที่พูดดี คิดดี ทำดีนั่นเอง เป็นบัณฑิตภายใน ดังนั้น การคบบัณฑิตภายในก็คือ การพยายามฝึกตนให้เป็นผู้ที่มีจตใจผ่องใส เมื่อจิตใจผ่องใสแล้ว จะมีสติระลึกถึงแต่ความคิดที่ดีๆ คิดแต่สิ่งดีๆ พอคิดดีแล้ว มันจะส่งผลออกมาให้เป็นผู้ที่พูดดีๆ ทำดีๆ นี่คือ องค์ประกอบแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง มรรคมีองค์ ๘ นี่แหละ คือบัณฑิตภายในของเรา คิดดี มีความเห็นถูก เข้าใจถูก จึงนำพาไปสู่การคิดถูก พอคิดถูกแล้ว ก็พูดดี ทำดีไปโดยลำดับ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นแล้ว บัณฑิตภายในนี้หาไม่ได้จากข้างนอก เราต้องปลูกฝัง ต้องทำให้เกิดขึ้นด้วยตัวของตัวเอง
อานิสงส์ของการคบบัณฑิต ท่านก็สรุปไว้ว่า ทำให้มีจิตใจผ่องใส สามารถทำความดีตามไปด้วย ทำให้ได้ปัญญาเพิ่มเติมเพิ่มขึ้น เป็นคนหนักแน่นมีเหตุผล ทำให้มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ ทำให้ไม่ต้องเศร้าโศกเดือดร้อนเพราะทำผิด ทำให้เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนทั่วไป ทำให้มีความสุข ปลอดภัยจากอุปสรรคภัยพาลต่างๆ ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า สามารถตั้งตัวได้เร็ว ทำให้แม้จะละโลกนี้ไปแล้ว ตายจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ แล้วก็สุดท้าย ทำให้บรรลุมรรคผลพระนิพพานได้โดยง่าย นี่คืออานิสงส์ คือผลลัพธ์ที่ได้จากการคบบัณฑิต
หากเราพิจารณาสภาพแวดล้อมรอบตัวเรานี้ นับตั้งแต่ครอบครัวของเราซึ่งเป็นองค์ประกอบเล็กที่สุดของสังคม เมื่อไตร่ตรองแล้วจะพบว่า สมาชิกครอบครัวของเราที่เราอยู่กันมาตั้งแต่เกิดนี้ ประกอบด้วยพ่อแม่ลูกหรือว่าพี่น้องประมาณ ๔-๕ คน หรือมากกว่านั้นนิดๆ หน่อยๆ หากมีสมาชิกคนใดคนหนึ่ง แม้เพียงคนเดียว ประพฤติผิดศีล คนในครอบครัวก็ย่อมจะพลอยเป็นทุกข์กันไปหมด มีตัวอย่างปรากฏให้เห็นกันบ่อยๆ ในสังคมก็คือ เช่น ผู้เป็นพ่อเมาสุราแล้วก็ทะเลาะตบตี ทะเลาะวิวาทกับผู้เป็นแม่ บรรดาลูกๆ นี้ย่อมตกอยู่ในความทุกข์เพราะว่าครอบครัวไม่อบอุ่น พ่อก็เมาเหล้า เมาเหล้ามาแล้วมาอาละวาดใส่แม่ ตบตีกัน เถียงกัน มีแต่สัตว์เลื้อยคลานเต็มบ้านไปหมด ด่ากัน ลูกมันจดจำ มันจำภาพมาตั้งแต่เกิด เห็นแต่ภาพเหล่านี้ พ่อแม่ตบตีกันด่ากัน พ่อกินเหล้าเมายา เล่นการพนัน บางทีก็ไม่ค่อยกลับบ้าน แม่ก็เครียด พอเครียดแล้วไม่รู้จะลงกับใคร มาลงกับลูก ทีนี้ด่าลูกสารพัด สุดท้ายเป็นคนมีปมในใจ ลูกเป็นคนมีปมในใจ เลยเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาออกไปแสวงหาความสุขจากที่อื่นมาชดเชย เพราะไม่ได้รับความสุขจากพ่อจากแม่ พอไปหาความสุขจากข้างนอก พอไปมั่วสุมกับคนพาลเข้า ก็เลยเป็นเหยื่อของยาเสพติด กลายเป็นนักเลงอันธพาล กลายเป็นมิจฉาชีพ เป็นอันตรายต่อสังคมที่เป็นข่าวอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน
จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า คนพาลในครอบครัวแม้เพียงคนเดียว ก็ทำให้ผู้คนทั้งหลายเดือดร้อนกันไปทั่ว ยิ่งกว่านั้น คนพาลเหล่านี้ ยังพร้อมที่จะแพร่เชื้อพาลออกไปสู่หน่วยต่างๆ ของสังคม ยิ่งกว่าเชื้อโควิดเสียอีก โควิดติดแล้วตายหรือรักษาหาย แต่ปัจจุบันรักษาหาย อย่างไรก็ไม่ตายหรอก แต่เชื้อของพาลติดแล้วมันติดเลย บางทีแทบจะไม่หายเลย เพราะมันกัดกินเข้าไปในใจ มันไม่ได้กัดกินเข้าไปในปอดเหมือนโควิด แต่ว่ามันกัดกินเข้าลึก เข้าไปในใจ มันจดจำเอาไว้ จดจำเอาไว้ สุดท้ายถอนตัวไม่ออก คนพาลบางคนมีความรู้ความสามารถ พรั่งพร้อมไปด้วยกลโกงเล่ห์อุบายต่างๆ สามารถไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ไปเป็นผู้ที่มีอำนาจ แต่ว่าด้วยมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด เข้าใจผิด ปฏิบัติผิดของเขา จะนำพาสังคม นำพาหน่วยงาน นำพาองค์กรต่างๆ ไปสู่ความหายนะ บ้างก็ก่อสง คราม ทำให้ผู้คนต้องเดือดร้อน ต้องล้มตายอย่างโหดร้ายทารุณ ประชาชนเดือดร้อนดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์โลก ที่เราเห็นๆ กันมา ที่เราอ่านประวัติ ศาสตร์ ที่ต่อสู้กันรบกัน เพราะอะไร? เพราะผู้นำ ผู้นำที่มีความเห็นผิด เข้าใจผิด แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ในลักษณะนี้
เราต่างก็ทราบว่าโลกของเราจะประสบสันติสุขได้ จะมีความสุขได้เพราะคนดี ต้องมีธรรมะ ดังที่บทหนึ่งบอกว่า
“เมืองใดไม่มีทหารหาญ เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า
เมืองใดไร้จอมพารา เมืองนั้นไม่ช้าอับจน
เมืองใดไม่มีพาณิชย์เลิศ เมืองนั้นย่อมเกิดขัดสน
เมืองใดไร้ศิลปโสภณ เมืองนั้นไม่พ้นเสื่อมทราม
เมืองใดไม่มีกวีแก้ว เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม
เมืองใดไร้นารีงาม เมืองนั้นหมดความภูมิใจ
เมืองใดไม่มีดนตรีเลิศ เมืองนั้นไม่เพริดพิสมัย
เมืองใดไร้ธรรมอําไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่นอน”
สุดท้ายนี้ เมืองใดไม่มีธรรมะส่องอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่นอน ทุกประเทศถ้าไม่มีธรรมาธิปไตย ไม่มีความสันติสุขเลย แต่ว่าจะมีวิธีการนี้แหละที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้คนเป็นคนดี นั่นก็คือ ต้องมาพัฒนาตนให้เป็นบัณฑิต ต้องรู้จักบัณฑิตภายนอก แล้วก็ต้องมาพัฒนาตัวเองให้มีบัณฑิตภายใน คือเป็นคนดีนั่นเอง ผู้ที่คิดดี พูดดี ทำดี คุณธรรมเหล่านี้ คนดีเหล่านี้ จึงจะดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง คนดี คนเป็นบัณฑิต แม้ไม่ร่ำรวยแต่มีความสุข
“คนดีอยู่ที่ไหนใครก็รัก คนดีมีคนทักใครก็สน
คนดีแม้นตกอับก็ไม่ยากจน คนดีแม้จะจนคนก็เมตตา
คนดีอยู่ที่ไหนใครก็ช่วย คนดีแม้นมอดม้วยใครก็เห็น
คนดีอยู่กับใครอยู่ที่ไหนก็ร่มเย็น คนเย็นอยู่กับใครก็สบาย”
การที่คนเราโดยทั่วไปจะเป็นคนดีได้นั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นเองได้โดยอัตโนมัติ ขอให้ลองพิจารณาจากธรรมชาติโดยรอบตัว เช่น ถ้าหวังจะปลูกต้นมะม่วงที่ให้ผลดีมีรสอร่อยสักต้นหนึ่ง จะต้องประกอบเหตุมากมายหลายอย่าง นับตั้งแต่คัดเลือกมะม่วงพันธุ์ดี ปลูกลงในดินที่ดี แล้วก็ต้องคอยรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช หมั่นถอนหญ้าที่มันมาแทรกแซง เมื่อถึงเวลาที่มะม่วงออกดอกออกช่อ ก็ต้องคอยฉีดน้ำ ฉีดยากันแมลงที่จะมากัดกินดอก เมื่อมะม่วงออกผลแล้ว ถ้าจะให้ได้ผลดีเลิศนี้ก็ต้องหาวัสดุที่สมควรมาห่อผลมะม่วงไว้ ไม่อย่างนั้นก็ถูกแมลงเจาะกิน จึงจะได้ลูกมะม่วงงามๆ ลูกหนึ่ง ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การที่ผู้ปลูกมะม่วงจะได้รับผลดีตามที่คาดหวังเอาไว้นี้ ไม่ใช่ปลูกเสร็จแล้วก็นั่งรอนอนรอเฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไรเลย สุดท้ายมะม่วงตาย จะได้มะม่วงดีๆ ไม่ใช่นั่งรอนอนรอ แต่ต้องลงมือประกอบเหตุมากมายหลายอย่าง ข้อนี้ฉันใด การจะปลูกฝังอบรมคนให้เป็นคนดีก็ฉันนั้น คือจะต้องเริ่มอบรมกันตั้งแต่เยาว์วัย ต้องใช้วิธีการต่างๆ ซึ่งมีความยุ่งยากสลับ ซับซ้อน แล้วก็รายละเอียดอ่อนยิ่งกว่าการปลูกมะม่วงหลายเท่าทีเดียว เพราะมะม่วงมันไม่มีชีวิตจิตใจ พอเราดูแลดีมันก็งาม แต่คนนี้มีชีวิตจิตใจ กว่าจะได้ลูกดีๆ หลานดีๆ คนดีๆ สักคนนี้ มันยาก แม้การปลูกฝังอบรมสั่งสอนเยาวชน ลูกศิษย์หรือใครก็แล้วแต่ จะให้เป็นคนดีเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ซับซ้อนมาก แต่ว่าเหตุปัจจัยสำคัญที่จะต้องส่งเสริม หล่อหลอมให้เป็นคนดีได้นั้น สรุปง่ายๆ มี ๒ ประการ
อย่างแรกโยนิโสมนสิการ แปลโดยรูปศัพท์ โยนิโสมนสิการแปลว่า ทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย คือ รู้จักคิด รู้จักจับแง่มุมในการคิดวิเคราะห์ แยกแยะเหตุผล จนเข้าใจถึงที่มาที่ไปได้กระจ่างชัด มีความคิดสร้างสรรค์ คิดเป็น คิดแล้วความโลภ ความโกรธ ความหลงมันลดลง คิดแล้วมีกำลังใจในการทำความดี กล่าวให้เข้าใจได้ง่ายก็คือว่า ผู้ที่มีโยนิโสมนสิการนี้ต้องเป็นผู้มีปัญญา พอที่จะเข้าใจโลกแล้วก็ชีวิตตามความเป็นจริง สามารถแยกแยะระหว่างบุญบาป ดีชั่ว ผิดถูก ควรไม่ควร เมื่อมีปัญญาแยกแยะได้เช่นนี้แล้ว ย่อมประพฤติปฏิบัติแต่กุศลธรรม คือความดีอย่างเดียว ไม่ข้องแวะกับบาปทั้งหลาย ผู้ที่จะมีโยนิโสมนสิการได้สมบูรณ์ จำเป็นต้องได้รับการปลูกฝังอบรมคุณธรรมเรื่องนี้โดยตรง แล้วก็ต้องมีตัวอย่าง แบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อเป็นแม่ แล้วก็แวดล้อม สิ่งแวดล้อม คนที่แวดล้อม ในขณะเดียวกัน ตัวของเขาเองก็ต้องลงมือประพฤติปฏิบัติจริงจังด้วย มีคนคอยช่วยตรวจสอบชี้แนะการปฏิบัตินั้น นั่นแหละจึงจำเป็นมาก นั่นคือ ต้องมีกัลยาณมิตร มีเพื่อนที่ดี มีบัณฑิตคอยแนะนำ
๒. การมีกัลยาณมิตร ในแต่ละครอบครัวนั้น ผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร คือเป็นเพื่อนดีให้แก่ลูกๆ ได้ดีที่สุดก็คือพ่อแม่ ทั้งนี้ ย่อมหมายความว่า พ่อแม่จะต้องเป็นบุคคลแรกที่ปลูกฝังโยนิโสมนสิการ คือความคิดดี รู้จักคิดให้เป็น พูดให้เป็น ทำให้เป็นให้แก่ลูกตั้งแต่เด็กๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยเฝ้าติดตามสอดส่องพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิดสม่ำเสมอ พร้อมกันนี้ ผู้ที่เป็นพ่อแม่ก็ต้องสำรวจตัวเองให้ถี่ถ้วนว่า ตัวเองเป็นพ่อเป็นแม่ที่ดีหรือยัง ดังได้กล่าวแล้วนี้ เพราะว่าพ่อแม่นี่แหละเป็นจุดเริ่มต้นของลูกๆ แล้วยังมีบุคคลอีก ๕ ประเภทที่คนเราจะต้องคบหาสมาคม ถ้าหากบุคคลทั้ง ๕ ประเภทที่เราคบหาสมาคมด้วยนั้นเป็นคนดี มีโยนิโสมนสิการ นอกจากเราจะประสบความสุข ห่างไกลจากความเดือดร้อนรำคาญใจอันเนื่องมาจากคนพาลแล้ว เรายังได้โอกาสซึมซับคุณธรรมจากคนดีเหล่านี้ แล้วก็ได้โอกาสสร้างนิสัยดีๆ ให้เกิดขึ้นแก่เราอีกด้วย
กัลยาณมิตรชุดแรกคือลูก หรือว่าคือพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ต้องเป็นผู้ปลูกฝังความดีให้แก่ลูกๆ ดังนั้น พ่อแม่ทุกคนจึงต้องถือว่าเป็นหน้าที่โดยตรงในการปลูกฝังอบรมบ่มนิสัยตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง มีหลักฐานจากงานวิจัยในวงการแพทย์ แล้วก็จิตวิทยาสมัยใหม่มากมายที่บ่งชี้ว่า นิสัยต่างๆ ของคนเรานั้นได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเป็นทารก ตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ เช่น เด็กอ่อนที่พ่อแม่ไม่เคยปล่อยปละละเลยให้นอนแช่อยู่กับความสกปรกแล้วก็เปียกชื้นของปัสสาวะ อุจจา ระ แต่หมั่นเช็ดถูความสะอาดให้ เมื่อโตเด็กคนนั้นจะมีนิสัยรักความสะอาด เป็นต้น แต่ถ้าพ่อแม่ให้นอนแช่อยู่กับขี้ อยู่กับเยี่ยว โตมาเด็กก็จะเป็นคนซกมก เป็นคนสกปรก เป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน อันนี้คือผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น พ่อแม่จึงไม่ควรละเลยในการสร้างลักษณะนิสัยที่ดีงามต่างๆ ให้ลูกด้วยตัวเอง ส่วนการปลูกฝังคุณธรรมสูงๆ ขึ้นไปก็ยิ่งมีความสำคัญมาก จะคอยไว้ให้เป็นภาระหน้าที่ของครูอาจารย์ที่โรงเรียนหรือว่าสถาบันการศึกษา ไม่ได้ผลเต็มที่หรอก เพราะว่าครูเขาก็มีหน้าที่ อาจารย์ก็มีหน้าที่มากมาย ลูกศิษย์อยู่ในความดูแลรับผิดชอบเป็นจำนวนมาก ดูแลไม่ทั่วถึงหรอก อีกทั้งวิชาการต่างๆ ที่เปิดสอนกันในโรงเรียนก็มากมาย จนแทบไม่เหลือเวลาไว้อบรมคุณธรรมให้แก่นักเรียน นอกจากนี้ เวลาที่เด็กอยู่โรงเรียนน้อยกว่าอยู่ที่บ้าน
ด้วยเหตุนี้ การปลูกฝังอบรมคุณธรรมแก่ลูกจึงเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้เป็นพ่อเป็นแม่ ซึ่งจะต้องเริ่มทำกันตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็ก เพราะว่าพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างแบบอย่าง พ่อแม่คือแบบพิมพ์แม่พิมพ์ เราต้องเปลี่ยนฐานเปลี่ยนความเข้าใจให้มันยิ่งๆ ขึ้นไป เช่นว่า ลูกเราเกิดมาอยู่ในท้องไปถึง ๒-๓ ขวบ ที่หลวงพ่อบอกคือให้เลี้ยงอย่างไข่ในหิน เมื่อแม่ตั้งครรภ์ต้องใจมีศีลมีธรรมเพื่อลูกเราจะได้รับเอากรรมพันธุ์ที่ดี ผู้ที่เป็นแม่ ใครเป็นคนเจ้าอารมณ์ขี้โมโหต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ เพราะเรามีลูกอยู่ในท้องตั้ง ๙ เดือน เขาจะไปรับเอาสายเลือด เอากรรมพันธุ์ที่ไม่ดี ถ้าเป็นคนโมโหร้ายใจบาป ลูกเราก็จะรับเอาสิ่งนั้นสืบทอดไปทางสายเลือด ไปทาง DNA RNA โดยตรงเลย เห็นไหม? เด็กทุกวันนี้ ไม่กี่ปีก็เป็นโรคจิตเป็นโรคประสาทกันแล้ว เราดูกรรมพันธุ์ พ่อแม่เป็นโรคเบาหวาน ลูกก็เป็นเบาหวาน พ่อแม่เป็นมะเร็ง ลูกก็เป็นมะเร็ง พ่อแม่หน้าตาเป็นอย่างไร มีหน้าตา มีเค้าโครงมาจากพ่อจากแม่ ก็คล้ายคลึงพ่อแม่ทั้งนั้น เรามีลูกแล้ว ก็ต้องดูแลทั้งจิตใจและโภชนาการ เราต้องสอนลูกด้วยปัญญา ด้วยภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ลูกเรา ๒-๓ ขวบต้องเลี้ยงอบรมให้ดี ให้เข้าสู่ระบบระเบียบ เพราะเด็กก็ต้องอาศัยพ่อแม่เป็นแม่แบบแม่พิมพ์ เพราะเรามีความรู้มาก ต้องมีภาคประพฤติภาคปฏิบัติที่ดี ถ้าไม่ดี มันก็เป็นไปไม่ได้ ให้สอนลูกด้วยศีล คือฝึกประพฤติปฏิบัติตั้งแต่เด็กๆ ให้ลูกมีความตั้งมั่น สอนให้ลูก รู้จักดี รู้จักชั่ว รู้จักอันไหนผิด อันไหนถูก อันไหนอันตรายไม่อันตราย ตั้งแต่เด็กๆ เราต้องเข้ากับเขาให้ได้ ไม่อย่างนั้น เขาจะไปติดเพื่อน แล้วจะต้องทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จากสิ่งที่ง่ายไปสู่สิ่งที่ยากขึ้นตามลำดับ โดยให้เหมาะสมกับการรับรู้แล้วก็ภูมิปัญญาของเด็ก พ่อแม่ต้องเป็นผู้รู้ เป็นผู้รู้ยังไม่พอนะ ต้องเป็นผู้ปฏิบัติ ครอบครัวเราจะได้เป็นครอบครัวบัณฑิต การที่เราไม่ทำแบบนี้ เราก็ไม่ได้เป็นบัณฑิต แล้วก็เป็นพ่อแม่ที่ไม่ดี ก็เป็นโจรไป เมื่อลูกเรามันคบกับโจร มันจะรวยได้อย่างไร มันจะมีปัญญาได้อย่างไร มันจะเป็นคนดีได้อย่างไร ครอบครัวเราก็เป็นครอบครัวโจร แบบนี้ไม่ได้ ต้องเป็นครอบครัวบัณฑิต เพราะลูกเราจะได้คบกับบัณฑิต
เราเป็นประชาชนเราก็เป็นพระได้ พระในใจนี้ เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ยานพาหนะที่จะพาเราออกจากวัฏสงสารนี้ ก็คือศีล สมาธิ ปัญญา ความหลงความเพลิดเพลินนี้ มันทำให้เราเนิ่นช้า ทำให้เราเสียเวลาไปในแต่ละวัน เราต้องรู้จักว่าอันไหนดี อันไหนไม่ดี ต้องเน้นเข้าสู่ภาคประพฤติ ภาค ปฏิบัติ เราต้องหันมาหาพระพุทธเจ้า หันมาทางพระอริยสงฆ์ หันมาทางของผู้รู้ ของบัณฑิต ในการเรียนการศึกษานี้ก็เป็นแนวทางที่จะเข้าหาผู้รู้ ความขี้เกียจขี้คร้าน การทำตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึกนี้ มันเป็นขบวนการ เป็นคุณสมบัติของคนพาล บัณฑิตที่แท้จริงได้แก่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระอริยเจ้า ผู้ที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง ตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ส่วนบัณฑิตภายในใจของเราก็คือ เราต้องน้อมเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติ เพื่อสร้างบัณฑิตในกาย วาจา ใจ ของเรา เพราะฉะนั้น จะว่าไปแล้ว พระในพระพุทธศาสนานี้ถึงมีน้อย ถึงแม้ประเทศไทยเราจะมีพระหลายแสนรูปอย่างนี้ แต่จะมีพระแท้ๆ นี้คงมีไม่กี่รูป ที่ว่าหลายแสนรูปนี้ก็คือว่ายังเป็นเสขะบุคคล บุคคลที่ยังต้องศึกษา ต้องประพฤติ ต้องปฏิบัติอยู่ จึงเป็นเพียงภิกษุ บัณฑิตที่เป็นบัณฑิตแท้ๆ ต้องนับจากพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี จนถึงพระอรหันต์ สำหรับประชาชนก็ต้องนับตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอนาคามี ถึงแม้บางท่านบางคนหรือคนส่วนใหญ่ที่ถือว่าเห็นภัยในวัฏสงสารแล้วก็ตามที แต่เมื่อไปคบกับคนพาลก็ทำให้ไขว้เขวได้ เขาเรียกว่าไปคบคนผิด เช่นว่า ไปบวชผิดวัด ถ้าวัดนั้นเขาไม่ได้มุ่งหวังมรรคผลพระนิพพาน การคบกับภิกษุด้วยกันที่เขาไม่ได้มุ่งมรรคผลพระนิพพาน มันก็ไม่ได้ผล มรรคผลพระนิพพานเราก็เสื่อมไป เขาบวชเพียงเอาศาสนามาเลี้ยงชีพ เพราะการบวชนี้ บ้านก็ไม่ได้เช่า ข้าวก็ไม่ได้ซื้อ เขาถวายข้าวของแล้วก็ยังมากราบไหว้อีก ก็เลยเห็นว่าเป็นของสะดวกสบาย บวชมาหากินกับศาสนา การไปคบกับบุคคลเช่นนี้ถึงเรียกว่าผิด พลาดไป การได้คบบัณฑิต การได้คบพระอริยเจ้าถึงเป็นมงคล อย่างในพระวินัยสำหรับพระที่บวชใหม่นี้ ท่านถึงให้ถือนิสัยครูบาอาจารย์ ให้ถือนิสัยของพระพุทธ เจ้า ของพระอริยเจ้า ของพระอรหันต์ เพราะเรื่องนี้สำคัญ คนเราเกิดมาถึงไม่เหมือนกัน บุคคลที่มีพ่อดีแม่ดี ที่พ่อแม่มีศีลธรรม เป็นสัมมาทิฏฐิ ไม่ได้พัฒนาตั้งแต่ความร่ำรวยธุรกิจหน้าที่การงานอย่างเดียว แต่ว่าพัฒนาทั้งอาชีพทั้งจิตใจไปพร้อมๆ กันนี้นี่แหละ จงเป็นพ่อแม่บัณฑิต เป็นสิ่งที่สำคัญ
บัณฑิตนี้ก่อสร้างขึ้นได้ ปฏิบัติขึ้นได้ เหมือนกับเราแต่ก่อนนี้ ตอนเป็นเด็กๆ เราก็ต้องเรียนอนุบาล เรียนประถม มัธยมไปตามลำดับ เข้าสู่ภาคประพฤติ ภาค ปฏิบัติ เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจ สัมมาสมาธิเป็นสิ่งที่เราต้องตั้งมั่น สัมมาปัญญาเป็นสิ่งที่เราต้องมีความเห็นถูกต้อง แล้วก็พัฒนาตนเองเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นบัณฑิตในทางพระพุทธศาสนา ไม่ใช่บัณฑิตเหมือนเราไปเรียนปริญญาตรี โท เอก อย่างนี้ มันเป็นเพียงบัณฑิตทางโลก เรียกว่าบัณฑิต IQ บัณฑิตที่แท้จริงนี้ ต้องพัฒนาทั้ง IQ EQ RQ ไปพร้อมๆ กัน เพราะคนเราเกิดมายังไม่มีความรู้ความเข้าใจ เราเลยต้องอาศัยพ่ออาศัยแม่ แต่ถ้าพ่อแม่ยังไม่ได้เป็นบัณฑิตในทางพระพุทธศาสนา เป็นบัณฑิตแต่เพียงทางโลก ยังไม่ได้พัฒนาจิตใจไปพร้อมๆ กัน การดำรงชีพจึงเป็นไปเพื่อทำร้ายตัวเอง เพื่อทำร้ายคนอื่น คนเรานี้ถ้าเราเข้าใจธรรมะแล้ว ธรรมะกับการงานต้องไปด้วยกัน ไม่ใช่หยุดการงานแล้วมาปฏิบัติธรรม การงานคือการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมคือการทำ งาน ที่เรียกว่า เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ เราต้องพัฒนาให้ติดต่อต่อเนื่องอย่างนี้ มันจะได้ดับทุกข์ จะได้เย็นเป็นพระนิพพาน
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาทุกท่านปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติด้วยกันทุกท่านเทอญ