แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง การสร้างบารมีของพระพุทธเจ้า ตอนถวายพระเพลิง - สังคายนา - พระพุทธศาสนาเข้า
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
วันนี้เป็นวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ พื้นฐานของเราทุกคน ยังเป็นสามัญชนที่ท่องเที่ยวในวัฏสงสาร เราต้องมาเดินตามพระพุทธเจ้า เพราะชีวิตของเราที่ผ่านมามีทั้งดำทั้งขาวทั้งด่าง มันเป็นได้แต่เพียงคน ต้องพากันเข้าใจ เพราะอันนี้มันต้องเปลี่ยน ต้องตั้งใจตั้งเจตนา เราต้องเปลี่ยนฐานเพราะฐานเก่าเป็นได้แต่เพียงคน
ทุกท่านทุกคนที่เกิดมาร่างกายเป็นมนุษย์นี้ถือว่าเป็นผู้ที่ประเสริฐ ต้องพากันเข้าใจ เมื่อเรามีชีวิตที่ประเสริฐ เราก็ต้องเอาร่างกายนี้มาประพฤติปฏิบัติธรรม เดินตามพระพุทธเจ้า เพราะชีวิตของเราส่วนใหญ่ไม่เกินร้อยปีก็ต้องจากโลกนี้ไป เราต้องเปลี่ยนฐาน จากที่ต้องการมนุษย์สมบัติ ต้องการสวรรค์คือความสุข ความสะดวก ความสบาย ที่เราได้มีเงินมีทอง มีสตางค์ มีบ้าน มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ ส่วนใหญ่พื้นฐานเราจะอยู่เพียงเท่านี้ อันนี้มันคิดว่ายังไม่ก้าวไกล พื้นฐานของเราต้องหยุดเวียนว่ายตายเกิด เพราะสวรรค์นี้เป็นทางเดินผ่าน ถ้าเราทำตามหลักเหตุหลักผล มันก็ต้องมีอยู่ มีกิน มีใช้ เหลือกิน เหลือใช้ นี้มันแค่มนุษย์สมบัติ แม้แต่เราทำบุญทำทาน มีปราสาท มีวิมาน มันก็แค่สวรรค์ มันไม่หยุดการเวียนว่ายตายเกิดได้ มันต้องพัฒนาสู่ภาวนาวิปัสสนา การเดินทางนี้ ทางเดินของเราต้องเปลี่ยนฐาน เปลี่ยนพฤติกรรม จากคนที่ดำๆ ด่างๆ ให้เป็นคนที่ขาวบริสุทธิ์ด้วยความตั้งใจด้วยเจตนา เช่นว่า เราเกิดมาชาตินี้ เราหยุดในการฆ่า จะฆ่าเองหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่า หรือว่ายินดีในการฆ่า เราก็ต้องชำระใจของเรา มันยังดำ ยังด่างอยู่ หยุดเจตนาในความโลภ ในความหลง ให้เรามาเป็นผู้ที่เสียสละ เป็นผู้ให้
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงสอนแต่เรื่องกายเรื่องใจ สอนแต่อริยสัจ ๔ ธรรมทั้งหลายที่พระพุทธองค์ทรงสอนทั้งหมดก็ดึงเข้ามาหาอริยสัจ ๔ น้อมมาสู่อริยสัจ ๔ ทั้งหมด ประชาชนคนที่เป็นเวไนยสัตว์ได้ประพฤติปฏิบัติตามเป็นร้อยๆ พันๆ หมื่นๆ แสนคนๆ นี้ พากันมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง และพากันประพฤติปฏิบัติ ถึงได้เป็นพระอริยเจ้าเยอะแยะขนาดนี้ เพราะว่าถ้าทำถูก มันก็ง่าย ในตมมันมีเพชร เรารู้อยู่ในใจว่าตรงนั้นมีเพชร เราไปขุดมัน ก็ต้องได้เพชรแน่นอน ถ้าไปทำตรงที่รู้ว่ามันผิด ก็จะไปเจอระเบิดเข้า มันก็ทำให้เราไม่ได้ปฏิบัติ ชีวิตของเรามันก็วิบัติ เพราะการประพฤติการปฏิบัติมันดี ทำให้เราเกิดความมั่นคง ตระกูลเกิดความมั่นคง บางทีก็น่าเสียดาย พวกที่มีศรัทธามาก มีศรัทธาตั้งมั่น เห็นภัยในวัฏสงสาร ได้มาขอบวชแล้ว พอมาบวชแล้ว มาเจอความสะดวกสบาย มาเจอกับพวกอามิสต่างๆ ลาภสักการะต่างๆ ไปเจอที่เขาให้สมณศักดิ์ ให้เป็นเจ้าคณะ เป็นผู้บริหาร พาศาสนาเป๋ไปไม่เป็นท่า เลยลืมไปว่าตำแหน่งเหล่านี้เป็นตำแหน่งที่เขาแต่งตั้ง มันเป็นตำแหน่งแห่งโลกียะ ไม่ใช่ตำแหน่งในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ตำแหน่งแห่งความเป็นโลกุตระ แทนที่จะมีปัญญาว่า ประชาชนไว้วางใจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางใจ ให้ยศให้ตำแหน่ง แต่กลับไปหลงเสียอีก อันนั้นมันแค่มนุษย์สมบัติ หรืออย่างมากก็ไปได้แค่สวรรค์สมบัติ พรหมโลกนี้ไม่ได้แน่ๆ เพราะในใจมันมีกามเยอะ ยังมีนิวรณ์เยอะ เลยไม่ได้ปฏิบัติในหลักของพระพุทธศาสนาแท้ๆ เป็นแต่เพียงศาสนาพื้นๆ พวกที่ทำการกุศล แจกของอะไรต่างๆ เมื่อใจของตัวเองไม่มีพระนิพพาน ก็จะไปชวนแต่เรื่องให้ทาน เรื่องบริจาค เรื่องทำโน่นทำนี่ ไปเก่งทางการประจบข้าราชการผู้ใหญ่ ประจบคนรวย มันเพี้ยน เสียความตั้งใจหมด พากันยินดีในความสกปรก ยินดีในขยะที่ไม่ใช่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันไม่ใช่ มันเป๋แล้ว ถ้าใครเป๋ไป ก็พากันตั้งหลักดีๆ นะ
การงานของเรา แต่ก่อนมันทำเพื่อมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ เดี๋ยวนี้ ให้ความคิดของเรามันก้าวไกลทำเพื่อมรรคผลพระนิพพาน สวรรค์มันก็ต้องได้อยู่แล้ว เพราะมันเป็นถนนสายเดียวกัน แต่ความตั้งใจของเรามันต้องไปไกลกว่านั้น เรียกว่ามีตาทิพย์มองไปไกลกว่านั้น
ให้เราเข้าใจว่า คำว่าพระ ได้แก่พระโสดาบัน พระสกทาทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ นี่แหละคือตำแหน่งในพระศาสนา คือตำแหน่งแห่งพระอริยเจ้า ตำแหน่งแห่งพระอริยบุคคล เป็นตำแหน่งที่ได้มาจากการประพฤติการปฏิบัติโดยตรง คำว่าพระ คำว่าสมณะ ก็คือพระอริยบุคคล ๔ จำพวกดังที่ว่ามา ที่ปลงผมห่มผ้าเหลืองนี้ มันไม่ใช่พระ แต่ว่ากำลังจะพัฒนาตัวเองตามรอยพระพุทธเจ้าเพื่อจะเป็นพระ นี่เป็นเพียงภิกษุ ที่เราเห็นด้วยตา ฟังด้วยหูทั่วบ้านทั่วเมือง ส่วนใหญ่เป็นแต่เพียงภิกษุ ซึ่งแปลว่าผู้เห็นภัยในวัฏสงสารก็ได้ แปลว่าผู้ขอก็ได้ อยู่ที่การประพฤติการปฏิบัติตัวเอง ถ้ามุ่งประพฤติปฏิบัติขัดเกลาตามพระธรรมวินัยจึงเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร แต่ถ้าทำในสิ่งที่องค์สมเด็จพ่อพระพุทธเจ้าไม่ได้สอน ดื้อรั้นคำของพ่อ ก็เป็นได้แต่เพียงผู้ขอ ขอเขากิน แถมยังเป็นเถยยบริโภค ลักกินขโมยกิน ไม่ใช่ความภาคภูมิใจอะไร คำว่าพระนี้ มันไม่ใช่นิติบุคคล คำว่าพระนี้เป็นส่วนรวม เป็นศีล เป็นธรรม พระแต่ละระดับ ก็เป็นพื้นฐานทางจิตใจของแต่ละระดับ ท่านก็ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อละสังโยชน์ทั้งสิบ
ประชาชนก็ปฏิบัติได้ เป็นพระได้ ถ้ามีศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์ ก็พัฒนาตัวเองจนเป็นพระอริยเจ้า พระโสดาบันจนถึงพระอนาคามี มันไม่เกี่ยวกับวัดบ้าน วัดป่า เกี่ยวกับที่มีความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติถูกต้อง เพราะดูแล้วยังเป็นบุคคล เป็นนิติบุคคลอยู่ ศาสนาพุทธของเรามันจะไปได้อย่างไร ต้องก้าวไปไกลกว่านั้น ต้องรู้จักเหตุ รู้จักผล ผลของความเป็นสมณะนี้บวชแล้วได้อะไร? จุดประสงค์ของการบวชของการพัฒนาที่จะเป็นสมณะเป็นอย่างไร? ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ที่ท่านจัดไว้เป็นหมวดแรกแห่งพระสูตรเลย คือสามัญญผลสูตร “สามัญญะ” แปลว่าความเป็นสมณะ “สามัญญผล” แปลว่าผลแห่งความเป็นสมณะ คือบวชแล้วได้อะไร ที่พระเจ้าอชาตศัตรูนี้หลงทางผิดไป ไปหลงเชื่อพระเทวทัตจนกระทั่งกระทำปิตุฆาต จนมากลับจิตกลับใจกลับกายกลับตัวได้ ก็เพราะว่าทรงฟังเทศน์บทนี้จากพระพุทธเจ้า
นักบวชผู้มีส่วนแห่งสามัญญผล หรือผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการบวชจึงจำเป็นต้องขวนขวายในการประกอบเหตุที่ดี นำข้อวัตรข้อปฏิบัติในพระธรรมวินัยมาเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติอย่างจริงๆ จังๆ มิใช่เพียงแค่จำแต่พระคัมภีร์ หรือแตกฉานในพระไตรปิฎก หรือว่าไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน หรือว่าเรียนมาแล้วมากมายแค่ไหนก็ไม่ได้นำมาปฏิบัติ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว นักบวชย่อมไม่ได้รับผลดีอันใดแก่ตนเลย ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า หากภิกษุกล่าวพุทธพจน์ได้มาก แต่ยังเป็นคนประมาท ไม่ทำตามพุทธพจน์ คือคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นๆ ก็ไม่มีส่วนแห่งสามัญญผล คือผลที่จะได้จากความเป็นสมณะ เหมือนกับคนเลี้ยงโค คอยแต่นับโคให้ผู้อื่นฉะนั้น พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบแรงตรงนี้ว่า ถ้าบวชแล้วไม่รู้จักผลแห่งความเป็นสมณะว่าบวชเพื่ออะไร ไม่ต่างจากอะไรจากคนเลี้ยงวัวเลี้ยงควายเพื่อค่าจ้าง ค่าจ้างคืออะไร? คือลาภสักการะ คืออาหารบิณฑบาต ลาภ ยศ สรรเสริญ ตำแหน่งต่างๆ อะไรพวกนี้ ที่ส่วนใหญ่ยึดติดกันในวัตถุกาม ในอามิสสินจ้างต่างๆ เป็นได้แต่เพียงคนรับจ้างเลี้ยงวัวเลี้ยงควายแค่นั้นเอง พระพุทธเจ้าเปรียบเช่นนี้ จากพุทธพจน์ตรงนี้มีความหมายว่า บุคคลที่บวชมานี้สามารถจำพระธรรมคำสั่งสอนได้มาก จะมากหรือน้อยแต่ว่าไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเลย จึงเปรียบเหมือนกับคนรับจ้างเลี้ยงโค คนรับจ้างเลี้ยงวัว พอรุ่งเช้าก็มารับโคไปเลี้ยง พอตกเย็นลงก็นับโคไปส่งคืน แต่ไม่เคยได้ลิ้มรสนมโคหรือผลิตภัณฑ์จากนมโคเลย เทียบได้กับผู้รู้ธรรมมาก แสดงธรรมได้มาก มีชื่อเสียงมาก แต่หากไม่ได้นำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ ไปประพฤติปฏิบัติขัดเกลาใจตัวเอง ก็ย่อมไม่มีโอกาสจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้เลย แถมยังทำให้ศาสนานั้นเสื่อมลงๆ เพราะไม่ได้เอาคำของพระพุทธเจ้าไปสอน เอาแต่คำของตัวเองไปสอน แล้วเอาไปใส่ในพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าอีก บอกว่าพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนั้น ตรัสอย่างนี้ ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสไว้ แบบนี้มีเยอะแยะมากมาย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในสามัญญผลสูตร เหตุแห่งคนที่บวชกันนี้ว่า เพราะคิดเห็นว่า ฆราวาสนี้ การอยู่ครองเรือนเป็นทางคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลีคือกิเลส การบรรพชา การได้มาบวชเป็นทางปลอดโปร่ง หมายความว่า การครองชีวิตเป็นฆราวาสนั้น ย่อมมีโอกาสปฏิบัติกุศลธรรมได้น้อยกว่าการเป็นนักบวช ดังที่เราท่านประจักษ์แจ้งแก่ใจกันดี ทั้งนี้เพราะว่าการดำรงตนเป็นฆราวาสนี้ ต้องใช้เวลาในวันๆ หนึ่ง หมดไปกับการทำมาหาเลี้ยงชีพตนเองแล้วก็ครอบครัว จนบางคนไม่มีเวลาแม้แต่จะสวดมนต์ไหว้พระในแต่ละวัน ซ้ำร้ายกว่านั้น บางคนไม่เคยมีเวลาศึกษาหาความรู้ หรือว่าได้ฟังธรรมอะไรเลย หรือไปฟังก็ไปฟังแต่อะไรไม่รู้ ซึ่งไม่ใช่พระธรรม แล้วบอกว่าตัวเองเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาแท้ๆ เลย จึงขาดหลักธรรมในการดำเนินชีวิต ขาดหลักคิดด้วยโยนิโสมนสิการ เมื่อขาดสิ่งนี้เสียแล้ว คนเราย่อมประพฤติตนไปตามอำนาจกิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลง ทิฐิ ตัณหา มานะต่างๆ การที่ต้องเสียเวลาไปกับกิจทางโลกเช่นนี้ ย่อมยากที่จะมีโอกาสในการประพฤติธรรม ยากที่จะมีเวลาในการประกอบคุณงามความดีอย่างเต็มที่ ที่พระพุทธองค์ตรัสบอกว่า ฆราวาสเป็นทางคับแคบ หรือถ้าหากจะเปรียบภาชนะนี้เป็นภาชนะเล็ก รับธรรมะได้ไม่มาก แต่ถ้าบวชแล้วประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จึงเหมือนกับภาชนะใหญ่ที่จะรองรับธรรมะ รองรับคุณธรรมได้มาก
สภาพชีวิตของฆราวาสทุกระดับ ทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมระดับผู้บริหารประเทศ จนกระทั่งสังคมของระดับหาเช้ากินค่ำ ต่างก็ตกอยู่ในทางคับแคบนี้ด้วยกันทั้งสิ้น นอกจากนี้ การที่ต้องอยู่ในสังคมที่ประกอบด้วยทั้งคนดีคนชั่ว ซึ่งบางครั้งก็เลือกคบได้ บางครั้งก็เลือกไม่ได้ จึงมีโอกาสที่บุคคลนี้จะก่อกรรมทำเข็ญต่อกัน แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แก่งแย่งชิงดีกัน ให้ร้ายป้ายสีกัน หักหลังกัน เลื่อยเก้าอี้กัน จนอาจถึงกับทำลายล้างผลาญชีวิตกันได้ เหล่านี้จึงเป็นทางมาแห่งธุลีคือกิเลส ตราบใดที่คนเรายังต้องอยู่ในฆราวาสวิสัยนี้ ก็ย่อมยากที่จะมีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะขัดเกลาตัวเองให้หมดจดจากกิเลสทั้งปวงได้ นั่นย่อมหมายความว่า เขาจะต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในวัฏสงสารอีกไม่รู้สุดรู้สิ้น ซึ่งหากพลาดพลั้งไปก่อกรรมทำเข็ญขั้นรุนแรงเข้า ก็ย่อมจะต้องเสวยผลกรรมในนรกโดยไม่มีผู้ใดสามารถช่วยลดหย่อนให้ได้
วิบากกรรมนี้ไม่มีสินบน จะไปประกันเอาทรัพย์เอาสินไปประกันตัวก็ไม่ได้ จะเอาอะไรไปประกันไม่ได้เลย ไปต่อรองกับกฎแห่งกรรมไม่ได้ทั้งสิ้น ไม่เหมือนกับการต้องโทษตามกฎหมายบ้านเมือง ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสนับสนุนการบวช ทั้งทรงชี้ให้เห็นคุณค่าอันประเสริฐยิ่งของการบวช ซึ่งทรงแสดงไว้ในสามัญญผลสูตรอย่างชัดเจนตรงคำหนึ่งที่ว่า บรรพชาคือการบวชนี้เป็นการดำเนินชีวิตที่เป็นนักบวช เป็นทางปลอดโปร่ง ผลดีของการบวชเป็นสมณะในขั้นต้นก็คือ การยกสถานภาพของผู้บวชให้สูงขึ้นจากสถานะเดิม แม้จะเป็นคนชั้นต่ำ เป็นทาส เป็นกรรมกร เป็นคนรับใช้ อยู่ในวรรณะจัณฑาล หรืออยู่ในวรรณะศูทร หรืออธิกศูทรก็แล้วแต่ ที่เป็นวรรณะต่ำต้อยที่สุดในสังคม เมื่อบวชเป็นบรรพชิตแล้ว วรรณะกษัตริย์ก็ยังต้องให้ความเคารพกราบไหว้ พอบวชมาแล้วจากชนชั้นต่ำแค่ไหนก็ตาม จากลูกชาวบ้านปกติก็ตามนี้ พระราชามหากษัตริย์ ผู้เป็นหลักเป็นใหญ่กราบไหว้ ดังนั้น จุดประสงค์ของการบวชเป็นพระแท้ๆ สามัญญผลข้อแรก ยกระดับตัวเองให้สูงขึ้น
การจะยกนี้ เพศยกได้แล้ว ต้องยกด้วยการประพฤติการปฏิบัติตนด้วย คุณธรรมพื้นฐานที่ผู้บวชจะต้องมีก็คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง บางครั้งใช้ว่าความเห็นถูก เช่น เห็นว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว โลกนี้ โลกหน้ามีจริง บุญบาปมีจริง บุญให้ผลเป็นความสุข บาปให้ผลเป็นความทุกข์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า เป็นสัมมาทิฏฐิขั้นพื้นฐาน สัมมาทิฏฐิขั้นสูงก็คือ ให้เห็นอริยสัจ เห็นทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักวิธีปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ ผู้บวชก็ต้องเข้าใจว่า วัตถุประสงค์ของการบวชคือการสร้างบารมี ๑๐ อย่างของพระพุทธเจ้านี้ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี สิบอย่างนี้ เพราะบุญบารมีสามารถเอื้ออำนวยให้คนเราเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกทางธรรม ส่วนบาปนั้นส่งผลให้ชีวิตตกต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อบวชแล้วต้องสำรวมกายวาจาใจ ไม่ปล่อยใจให้คิดไปทางบาปทางอกุศล คิดแต่ในทางบุญกุศล ทำแต่บุญกุศลเท่านั้น เมื่อคิดก็ต้องยับยั้งชั่งใจ รู้ให้เท่าทัน เมื่อบวชแล้วต้องอยู่อย่างสันโดษ พอใจในปัจจัยอันเป็นเครื่องดำรงชีวิตของสมณะตามมีตามได้ ไม่ปรารถนาความฟุ้งเฟ้อ ความหรูหรา ความสะดวกสบาย สุรุ่ยสุร่ายเยี่ยงชีวิตฆราวาส เมื่อบวชแล้วต้องรักชีวิตที่เงียบสงบ ไม่เอิกเกริก ครึกครื้น สนุกสนานเฮฮา ทั้งนี้ ก็เพื่อจะได้มีโอกาสฝึกใจให้เป็นกุศล ให้เป็นสติเป็นสมาธิ เป็นวิปัสสนาได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสรุปผลแห่งการบวชนี้ คือ ได้รับการยกย่องบูชากราบไหว้ บำรุงด้วยปัจจัยสี่ แม้จะเคยเป็นชาวนา ต้องทำงานเสียภาษีให้รัฐ แต่ครั้นออกบวชเป็นบรรพชิตแล้วมีวัตรปฏิบัติตามพระวินัย เป็นนักบวชที่ดีทุกประการ แม้แต่กษัตริย์ก็ยังต้องถวายความเคารพกราบไหว้ ให้การบำรุงปกป้องคุ้มครองโดยธรรม กุลบุตรที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา มาสมัครใจบวชเองโดยมิได้ถูกบังคับ แต่เพราะมีศรัทธาในพระธรรม มีปัญญาไตร่ตรองถึงสภาวะอันแท้จริงของชีวิตจึงตัดสินใจเข้ามาบวช ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระเจ้าอชาตศัตรูว่า “เมื่อตถาคตสอนหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม คฤหบดี บุตรคฤหบดีหรือผู้เกิดภายหลังในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ฟังธรรมนั้น ครั้นฟังแล้วได้ศรัทธาในพระตถาคต เมื่อได้ศรัทธาแล้วย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ชีวิตฆราวาสในการครองเรือนนี้มันคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนกับสังข์ที่ขัดดีแล้วที่ขาววาววับนี้ ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาก็ละกองโภคทรัพย์น้อยใหญ่ คือละสมบัติ ละเครือญาติน้อยใหญ่ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต” นี่คือพระพุทธเจ้าตรัสถึงจุดประสงค์ของผู้บวชในสมัยนั้น
จากบางส่วนแห่งพระพุทธดำรัส คำขององค์สมเด็จพ่อที่ยกมานี้ จะเห็นว่า พระพุทธองค์มีพระประสงค์ที่จะทรงแสดงให้เห็นถึงแรงจูงใจที่เป็นเหตุให้กุลบุตรเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา คือ มีศรัทธาในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีปัญญาตรองเห็นโทษภัยในชีวิตของการครองเรือนว่าคับแคบ เป็นที่มาของกิเลส มีปัญญาตรองเห็นคุณค่าของชีวิตนักบวชว่า มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่บวชเพื่อมายกระดับให้ร่ำให้รวย ให้เป็นพระเศรษฐี พระจนคนจะนับถือ คนนี่-ถ้ายิ่งรวยคนจะนับถือ ดังนั้น เป็นพระต้องจน ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่ให้รับเงิน ไม่ให้รับทอง ไม่ให้สะสมข้าวของวัตถุต่างๆ เพื่อให้เป็นผู้ปลอดโปร่ง ชีวิตบรรพชิตจึงจะเป็นชีวิตที่ปลอดโปร่งถ้าอยู่ในพระวินัย แต่ถ้าไม่อยู่ในพระวินัยแล้ว ความเป็นฆราวาสเหมือนเดิม เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบภายนอก มาโกนผมห่มผ้าเหลือง แต่การปฏิบัติตนเหมือนฆราวาสทุกอย่าง แบบนั้นไม่ได้ผลแห่งความเป็นสมณะใดๆ เลย ได้แต่เพียงข้อแรก เพียงแค่ยกระดับให้สูงแค่นั้นเอง แต่สุดท้าย พฤติกรรมยังเหมือนเดิมทุกอย่าง ดังนั้น แรงจูงใจที่จะให้ได้ผลของความเป็นสมณะจริงๆ นี้ คือบวชเพื่อละ ละบาป ละอกุศลทั้งปวงนั่นเอง บวชเพื่อละกาม บวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ อันเป็นการสั่งสมทางมรรคผลพระนิพพานให้ยิ่งๆ ขึ้นไป คำว่าพระ จึงมาจากคำว่าพอ พอแล้วในชีวิตฆราวาส แล้วก็มาละ ละวัตถุกาม ละกิเลสกาม ละการประพฤติการปฏิบัติที่ตามใจ ตามอารมณ์ ตามความรู้สึก ตามแบบฆราวาส พอกับละรวมกันจึงเป็นพระที่แท้จริง สิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ที่มันเป็นทางมาทำให้คับแคบ คือว่ากิเลสกาม
กิเลสกามคืออะไร? คือสิ่งที่มันติดใจมาตั้งแต่เกิด ทุกภพทุกชาติมันติดใจมาตลอด ความใคร่ ความอยาก สิ่งที่น่าปรารถนา กิเลสกามนี้มันเป็นความชั่วที่แฝงอยู่ในใจ ผลักดันทำสิ่งผิดๆ เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ปรารถนา กิเลสกามท่านก็แยกเป็น ๑๐ อย่าง
โลภะ - ความโลภ อยากได้ของผู้อื่นในทางที่ผิด
โทสะ - ความคิดประทุษร้าย ความโกรธ เบียดเบียนรังแกผู้อื่น
โมหะ - ความหลง ความไม่รู้ตามความเป็นจริง
มานะ - ความถือตัว สำคัญว่าตัวดีกว่าเหนือกว่าผู้อื่นหรือเสมอกับเขาหรือด้อยกว่าเขาพวกนี้
ทิฏฐิ - ความเห็นผิด ผิดดื้อดึง เมื่อทิฏฐิรวมกับมานะจึงเป็นทิฏฐิมานะ หมายความว่า ดื้อรั้น อวดดี ดื้อดึงถือตัวนี้ มันจะมาคู่กัน ทิฏฐิมานะ
วิจิกิจฉา - ลังเลสงสัย
ถีนะ - หดหู่ ท้อแท้ ท้อถอย
อุทธัจจะ - ฟุ้งซ่าน ขาดความสงบในจิตใจ
อหิริกะ – ไม่ละอายต่อบาป
อโนตตัปปะ - ไม่เกรงกลัวต่อบาป
กิเลสสิบตัวนี้ มันเป็นกิเลสกามที่ต้องรู้ แล้วก็ต้องละ
วัตถุกามหมายถึงว่า สิ่งที่มันเข้ามาจากข้างนอกอันน่าใคร่น่าปรารถนา นั่นก็คือกามคุณนั่นเอง รูปก็ต้องสวย เสียงก็ต้องไพเราะ กลิ่นต้องหอม อาหารต้องอร่อย ถูกต้องสัมผัสต้องดี มันเป็นวัตถุกาม กิเลสกามและวัตถุกามสองอย่างนี้ มันมารบกวนตลอดเวลา จนเหมือนว่ากิเลสกามมันเป็นลักษณะของใจคนเราที่เกิดความคิดชั่วขึ้นได้เองอยู่แล้ว ถ้าเราปล่อยปละละเลย ไม่อบรมขัดเกลา ก็มีแต่จะพอกพูนทวีมากขึ้นๆ ตัวเราแก่ กิเลสมันไม่ได้แก่ตาม กิเลสมันก็ยังทำหน้าที่ของมันเหมือนเดิม เพราะมันเป็นนามธรรม พอกิเลสกามมันมากระทบกับวัตถุกาม รูปสวย เสียงไพเราะกลิ่นหอม อาหารอร่อย ถูกต้องสัมผัสดีๆ นี้ แล้วก็มาประจวบกับใจคนเราที่มีโลภะโมหะเป็นเชื้อสำคัญอยู่ ก็ย่อมจะเกิดรู้สึกว่า อะไรๆ ในโลกนี้ล้วนแต่น่าใคร่น่าปรารถนาไปหมด ถ้าได้วัตถุกามเหล่านั้นมาสาสมใจตัวเองแล้วคงจะมีความสุข จึงเกิดความเพียรพยายามแสวงหาวัตถุกามมาไว้ในครอบครองให้มากเท่าที่จะมากได้ ในที่สุดก็กลายเป็นความหลง หลงแล้วก็ยึด ยึดมั่นถือมั่นอยู่กับวัตถุกามเหล่านั้นๆ ว่า คนนี้ของเรา คนรักของเรา วัตถุสิ่งของอันนั้น อันนี้ของเรา มันหลงไปหมด ในทำนองกลับกัน ถ้าพลาด ไม่สมหวังในวัตถุกามที่ตนปรารถนา คนเราก็จะรู้สึกเป็นทุกข์ หากไม่เกิดความรู้สึกหดหู่ท้อแท้หรือว่าผิดหวังอย่างรุนแรง จนถึงกับทำลายตนเองด้วยวิธีการต่างๆ ไปเสียก่อน
โทสะ โมหะ ทิฏฐิ มานะ ตลอดจนความไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาปซึ่งนอนเนื่องอยู่ในใจคนเราตลอดเวลานั้น มันจะกระตุ้นหรือหันเหความรู้สึกเป็นทุกข์นั้นมาเป็นความคิดประทุษร้าย เบียดเบียนรังแกตนเอง เบียดเบียนรังแกผู้อื่นโดยประการต่างๆ จึงเป็นการสั่งสมบาปให้กับตนเองด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาโดยแท้ นี่แหละคือทางมาแห่งธุลีคือกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกสุข หรือว่าทุกข์ที่มันมาจากวัตถุกาม คือกามคุณ ๕ นี้ ล้วนแต่มีโทษภัยต่อใจของเราทั้งสิ้น ตราบใดที่คนเรายังมีความคิดว่ากามคุณ ๕ นี้ อย่างนี้เท่านั้น มันจะทำให้เรามีความสุข คนเราก็จะตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาแต่กามสุขเรื่อยไปโดยไม่หยุดยั้ง ทั้งไม่รู้จักสอนใจตนเองได้ว่าจุดที่พออยู่ตรงไหน เพราะมันไม่เคยอิ่มไม่เคยเต็ม ไม่มีคำว่าพอกับคำว่าวัตถุกาม กิเลสกามเหล่านี้ เมื่อมุ่งหน้าแสวงหาต่อไปเรื่อยๆ ไม่วันใดวันหนึ่งก็ต้องประสบปัญหา เพราะแต่ละคนนี้ก็ปรารถนาคล้ายๆ กัน มันเลยต้องเผชิญหน้ากัน สุดท้ายต่อสู้แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นเพื่อสิ่งๆ นี้ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ แต่ทำไมจึงต้องมาดิ้นรนแสวงหาจนเลือดตาแทบกระเด็น พอได้มาแล้วไม่เห็นจะมีอะไรเลย ความทุกข์ในใจก็มีเท่าเดิม กิเลสก็เพิ่มพูนขึ้นมาอีก มันสุขตรงไหน? แต่ส่วนใหญ่มองไม่เห็นหรอก เพราะตาปัญญามันบอด
กิเลสกามนี้ มันเลยสอน สอนให้แต่ละฝ่ายนำกลยุทธ์ออกมาใช้ในการต่อสู้ชิงชัยกันทุกรูปแบบเพื่อความเป็นผู้ชนะ ดังที่จะเห็นได้จากประวัติศาสตร์โลก ตั้งแต่ที่เขาจดบันทึกกันมานี้ ตั้งแต่ฟาโรห์ อียิปต์สู้กัน กรีกโรมันก็สู้กัน จีนก็สู้กัน สู้รบห้ำหั่นชิงชัยกันมาตลอด ประวัติศาสตร์อินเดีย ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์ไหนๆ ในโลก มีแต่ต่อสู้ เพื่ออะไร? เพื่อแย่งชิงวัตถุกาม สุดท้าย ตายทุกคน ไม่เห็นมีใครเอาอะไรไปได้สักอย่าง มีอยู่แค่ชื่อ ชื่อดีกับชื่อให้คนด่าตามหลังแค่นั้นเอง ก็เพราะว่ากิเลสกามมันมากระตุ้น มันมาทำให้ต่อสู้ ชิงไหวชิงพริบกันในด้านต่างๆ แม้กระทั่งด้านเศรษฐกิจ ระหว่างบุคคล ระหว่างประเทศ การคดโกง การแก้แค้นกันไปจนถึงสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัน เหล่านี้ล้วนจะเป็นทางมาแห่งธุลีคือกิเลสทั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสโทษของกามเอาไว้มากมายนับไม่ถ้วน เป็นต้นว่า กามทั้งหลายนี้ มันตระการหวานชื่นใจ ย่อมย่ำยีจิตโดยรูปแบบต่างๆ
จากที่ได้พรรณนามาทั้งหมดนี้ พอจะเป็นแนวทางชี้ให้เห็นได้ว่า การที่ยังเอากายเอาใจไปอยู่กับความคับแคบ ซึ่งมันเป็นทางมาแห่งธุลีคือกิเลส ก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของกาม เป็นบ่อเกิดแห่งบาปแห่งอกุศลทั้งปวง ดังนั้น ชีวิตของนักบวชที่ตามพระธรรมวินัย ต้องวงเล็บด้วยว่า ตามพระธรรมวินัย จึงมีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนที่ว่า ฆราวาสคับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี การบวชบรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียวเหมือนกับสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย
ทีนี้ ตรงที่ว่า การบวชบรรพชาเป็นทางปลอดโปร่งนั้น หมายความว่า ผู้บวชมาตั้งใจบวชจริงๆ มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ง่าย เพราะไม่ต้องไปหมดเวลากับการทำมาหากินอะไร การเลี้ยงชีพก็เนื่องด้วยผู้อื่น พอมาฉันอาหารเสร็จ ก็จบไปแล้ววันหนึ่ง ไม่ได้สะสมอะไร เวลาที่เหลือเป็นเวลาแห่งการมุ่งมั่นในการภาวนา ในการประพฤติปฏิบัติขัดเกลา ทำข้อวัตร กิจวัตร เสียสละเพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น กิจของพระมีอยู่แค่นี้เอง หน้าที่ของพระก็มีอยู่แค่สอง ที่พระพุทธเจ้าบอก คันถธุระ -เล่าเรียนธรรมวินัย วิปัสสนาธุระ-เจริญวิปัสสนา เท่านี้เอง หน้าที่ของพระจึงง่าย จึงเบา ไม่ใช่มีอะไรมาแบก มาหนัก ที่ต้องเอามาถาโถมเข้ามาในตัวเอง พระภิกษุในพระธรรมวินัยแท้ๆ จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องการทำมาหากินแบบฆราวาส ทำให้สามารถทุ่มเทเวลาและชีวิตเพื่อการศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยทั้งปริยัติปฏิบัติได้โดยสมบูรณ์ กรณีเช่นนี้ย่อมเอื้ออำนวยให้ภิกษุห่างไกลจากกามคุณได้มาก จะทำให้ผลในการประพฤติพรหมจรรย์นั้นบริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ซึ่งเป็นผลที่ได้จากการบวช
ต่อมา จะเห็นว่าสามัญญผล ผลของความเป็นสมณะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนมาตั้งแต่แรกเลยว่า อย่างแรก ได้ยกระดับเพศของตนเอง จากที่เป็นคนต่ำต้อยด้อยค่า พอเอากายมาห่มผ้ากาสาวพัสตร์แล้วยกระดับให้สูงขึ้น คนทุกชนชั้นทุกระดับกราบไหว้ แล้วก็ถวายบำรุงด้วยปัจจัยสี่ โดยไม่ต้องไปแสวงหา ไม่ต้องไปลำบากด้วยการทำมาหากิน ดังนั้น เมื่อได้อันนี้มาแล้ว จึงเอาชีวิตที่เหลือนี้ในการทำให้ผลแห่งความเป็นสมณะเต็มบริบูรณ์ นั่นคือ ศีล สมาธิ และปัญญา
ศีลนี้ชำระปาฏิโมกขสังวรศีล อินทรียสังวรศีล - การสำรวมอินทรีย์ อาชีวปาริสุทธิศีล - การเลี้ยงชีวิตในทางที่บริสุทธิ์ มีการบิณฑบาต ไม่ทำเดรัจฉานวิชาเป็นต้น ปัจจยศานติศีล คือการมีสติพิจารณาในการบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ ศีลบริบูรณ์จึงทำให้สมาธิพัฒนาเกิดขึ้นโดยลำดับ เป็นฌาน เป็นอภิญญา เป็นสมาบัติ แล้วก็พัฒนาไปสู่วิปัสสนาปัญญาตามลำดับเช่นนี้ นี่คือผลแห่งความเป็นสมณะ พระแท้ๆ ฐานของพระในสมัยพุทธกาลเป็นอย่างนี้ ปัจจุบันก็ต้องเป็นอย่างนี้ ในอนาคตก็ต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าหากต้องการที่จะบวชมุ่งที่จะประพฤติปฏิบัติขัดเกลาตามพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ถ้าหากไม่ทำตามนี้ก็ถือว่าไม่ได้ผลของความเป็นสมณะเลย ได้แค่กิ่ง ได้แค่ใบ แล้วก็ได้นรกเป็นของแถม เพราะธรรมวินัย พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นอกาลิโก
อกาลิโกคำนี้คือเข้าได้กับทุกยุคทุกสมัย ไม่ล้าสมัย ไม่ใช่ไปปรับเปลี่ยนตามยุค ตามสิ่งแวดล้อม ถ้าคล้อยตามสิ่งแวดล้อมไปนี้ อย่างที่ทำเห็นๆ กันปัจจุบันนี้ ไปเล่น ไปโน่น ไปนี่ ไปนั่น ปรับพระธรรมวินัยเข้าหาความถูกใจของคนส่วนมาก ซึ่งความถูกใจของคนส่วนมากเป็นคนที่ส่วนใหญ่แล้วตามใจตามอารมณ์ตามความรู้สึกทั้งนั้น ถ้าเอาความถูกใจเหนือความถูกต้องแล้ว ศาสนาก็จบกัน ไปไม่รอด
ก็พอจะประมวลลักษณะของภิกษุแท้ๆ กับภิกษุไม่แท้ให้เห็นได้ง่ายๆ ถ้าบวชโดยมิได้มีความศรัทธาในพระธรรมวินัยเลยทำให้ไม่ได้มีเจตนาที่จะอบรมหรือพัฒนาตนให้บริสุทธิ์ในด้านกาย วาจา ใจ ตามหลักแห่งพระธรรมวินัย ภิกษุบางรูปก็บวชเพื่อหนีปัญหาความยากลำบากในการทำมาหากิน บวชเพื่อจะอัพเกรดตัวเองให้เป็นคนรวย ให้เป็นคนมั่งคนมี บางรูปก็บวชเพื่อหนีคดีอาญาบ้านเมือง บางรูปก็บวชเพื่อใช้ความเป็นสมณะนี้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพหลอกลวง หลอกเขากินด้วยเดรัจฉานวิชาต่างๆ มีให้เห็นมากมาย พุทธบริษัท ๔ ต้องมีปัญญา อย่าเอาความศรัทธาที่ประกอบด้วยความโง่ ต้องเอาศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาชี้วัดให้เห็นพระแท้ พระปลอม ผลของความเป็นสมณะจะเกิดขึ้นไม่ได้กับภิกษุจำพวกนี้เลย ที่ไม่ได้มุ่งธรรมวินัย หลวงพ่อก็สอนก็บอกตลอดว่า ต่อให้เรียนจบระดับสูงถึงเปรียญ ๙ จบด็อกเตอร์ แต่ถ้าไปหลงในรูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ เป๋กันหมด ไปไม่รอด ทิ้งธรรมทิ้งวินัย ไปเอาสิ่งที่ทำแบบฆราวาส แล้วก็ย่อหย่อนในพระปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์คือศีล พูดปด เสพยาเสพติด ทำโน่นทำนี่แบบฆราวาสทำกัน ขับรถขับรา เดินห้างแม็คโคร โลตัส ห้างสรรพสินค้า ไปในสถานที่อโคจรต่างๆ แล้วก็ชอบไปสู่ที่อโคจรที่ว่ามานี้ โดยไม่ใช่ไปกิจนิมนต์ สถานเริงรมย์ ศูนย์การค้าเป็นการส่วนตัว ไปเดินห้างเซ็นทรัล แมคโคร โลตัส ไม่ต่างจากฆราวาสเลย ต่างกันแค่มีผ้าเหลืองห่มกายแค่นั้นแหละ แต่การใช้ชีวิตเหมือนฆราวาสทุกอย่าง บางทีเล่นแต่การพนัน ส่งเสริมให้ประชาชนหลงใหลอยู่กับการพนัน หวย ล๊อตเตอรี่ก็อยู่ในขอบข่ายนี้ ถ้าพระไปทำผิดทั้งนั้นแหละ แล้วก็สนใจพูดคุยในเรื่องการบ้านการเมือง เรื่องแฟชั่น เรื่องใดๆ ก็แล้วแต่ที่มันนอกเหนือจากกิจของสงฆ์ ไปพูด ไปรีวิวสินค้า โฆษณาสินค้า พูดเรื่องแฟชั่น เรื่องการบ้านการเมือง นั่นก็ไม่ใช่กิจของพระ ไม่ใช่กิจของสงฆ์ แล้วสามัญญผลไม่เกิดเลย บางคนบางรูปอาสารับใช้ทำงานต่างๆ อันเป็นเรื่องของฆราวาส เช่น เป็นพ่อสื่อให้คู่หนุ่มสาว รับติดต่อฝากสาส์นให้กับฆราวาส บางทีเป็นหัวคะแนน อย่างนี้เป็นต้น ไม่ใช่กิจของสงฆ์ ผลของความเป็นสมณะ สมาธิ ปัญญา ไม่มีทางเกิดเลย เพราะใจยังมีกาม หลวงพ่อพูดไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า อย่างมากก็ได้แค่มนุษย์ แค่สวรรค์ เผลอๆ อาจจะไปได้นรกเสียด้วยซ้ำ สมาธิ หรือว่าพรหมโลกไม่ได้แน่นอน เพราะใจยังมีกาม คือยังมีนิวรณ์ ๕ นี้ กามฉันทะพยาบาท วิจิกิจฉา ถีนมิทธะ ลังเลสงสัย พวกนี้ไม่มีทางได้สมาธิแน่นอน เพราะใจยังมีนิวรณ์ เลี้ยงชีพด้วยเดรัจฉานวิชา เป็นหมอดูโชคชะตา หมอปลุกเสก หมอเสน่ห์ หมอผี ลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน ทายลักษณะบุรุษ สตรี เด็ก สัตว์ ตลอดจนพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ ให้ฤกษ์ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าห้าม ย้ำนะ พระพุทธเจ้าห้าม แล้วก็ยังมีการเล่นเกมส์ต่างๆ หมากรุก หมากฮอส เล่นไพ่เพื่อความสนุกสนาน เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ มือถือ เล่นตะกร้อ เป็นต้น พวกนี้ก็ถือว่าอยู่ในขอบข่ายของจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีลของพระพุทธเจ้าทั้งหมด โอ้อวดความรู้ความสามารถของตนเอง กล่าวดูถูกข้อวัตรข้อปฏิบัติที่ดีงามของเพื่อนบรรพชิตเพื่อเป็นการดิสเครดิตกัน แล้วก็ไม่สำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใช้กลอุบายหลอกลวงให้สาธารณชนเข้าใจผิด หลอกลวงให้คนเข้าใจว่า ตนเป็นผู้ขลัง ผู้ศักดิ์สิทธิ์ หรือแม้กระทั่งเป็นผู้ที่เป็นอริยะ หลอกนะแบบนี้ถือว่าหลอก โฆษณาวัตถุมงคลเกินจริงก็คือหลอก บางทีแม้กระทั่งการเข้านิโรธนี้ ถ้าตนเองยังไม่ได้เป็นพระอนาคามี ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ใช้คำว่าเข้านิโรธ ผิดนะ เพราะว่านิโรธใช้กับพระอนาคามี พระอรหันต์เท่านั้น นิโรธสมาบัติคือการที่ดับ ดับสัญญา ดับเวทนา ดับความรู้สึก เสวยอารมณ์ของพระนิพพาน โสดาบันยังไม่ได้จะไปเห็นพระนิพพานได้อย่างไร แล้วใช้คำว่าเข้านิโรธ นี่แหละคือการโฆษณาเกินจริง เข้าข่ายอวดอุตริฯ ด้วย ไม่สันโดษ ข้อนี้สังเกตได้จากการตกแต่งเสนาสนะ ที่อยู่ที่อาศัยอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยด้วยเครื่องเรือนราคาแพง มีเครื่องใช้อำนวยความสะดวกสบาย หรือความบันเทิงที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติธรรม หรือมีการสะสมสิ่งของเครื่องใช้ไว้ในกุฏิมากมายเกินความจำเป็น หลวงพ่อพุทธทาสเคยพูดถึงความเสื่อมของนักบวชในศาสนาคริสต์ เพราะมีความเป็นอยู่หรูหราฟุ่มเฟือยฟู่ฟ่าเกินกว่าชาวบ้านธรรมดา ไปไม่รอด หลวงพ่อพุทธทาสใช้คำว่านักบวชขี้เรื้อน พวกนั้นเลยไปไม่รอด
น้อมมาที่ประเทศไทยนี้ ถ้ามีความเป็นอยู่ ชาวบ้านยังไม่ได้ความสุข ยังมีความทุกข์อยู่ ถ้าหากพระไปอยู่หรูหราฟุ่มเฟือย ของใช้แพงๆ หรูๆ อย่างนี้เกินกว่าฆราวาส เราก็ดูอยู่แล้วว่า ใจคนนี้พอเห็นอะไรที่มันหรูๆ ที่อยู่กับพระ ศรัทธา drop ลงเลย เพราะพระต้องสันโดษ พระพุทธเจ้าก็สอนมาแบบนี้ ความเข้าใจ ความรู้สึกของเราก็รับรู้อย่างนี้มาตลอด ลักษณะของพระภิกษุที่ควรนับถือ ไม่ควรนับถืออาจจะมีมากกว่านี้ บางทีมีมากกว่านี้แหละ มากมายนับไม่ถ้วน กระนั้นก็ตาม ภิกษุที่มีพฤติกรรมเข้าลักษณะแม้เพียงข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าวมานี้ ก็ต้องแก้ กลับจิตกลับใจ กลับกายกลับตัว กลับหางกลับหัว กลับชั่วให้เป็นดี พุทธบริษัท ๔ ก็ต้องสังเกตไว้ ถ้าหากทำตามนี้คือผู้ที่ย่อหย่อนอ่อนแอในพระธรรมวินัย มิได้บวชเข้ามาเพื่ออบรมตนให้เป็นพระดีตามหลักพระพุทธศาสนาโดยประการทั้งปวง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้ลูกของพระองค์ โดยเฉพาะลูกพระเป็นผู้ครองชีวิต เป็นนักบวชที่บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนา เมื่อได้บวชเข้ามาตามจุดประสงค์ของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงนี้ ย่อมได้รับอานิสงส์มากมายนานัปการ ตามธรรมดาของสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ สิ่งใดมีคุณมากมีคุณอนันต์ สิ่งนั้นก็มักจะมีโทษมหันต์แฝงอยู่ด้วยเป็นของคู่กันไป แต่การเป็นนักบวชที่บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างแท้จริงในพระพุทธศาสนา ย่อมจะบังเกิดแต่ผลดีเท่านั้น คือ มรรคผลพระนิพพานก็ง่าย แต่ถ้าหากกลับกัน ก็เหมือนกับดาบสองคมนี้ พร้อมที่จะไปทิ่มตัวเอง แล้วก็ทิ่มใส่คนอื่น สุดท้ายก็ลงอบาย ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี “กุโส ยถา ทุคฺคหิโต หตฺถเมวานุกนฺตติ” ย่อมมาบาดมือตัวเอง “สามญฺญํ ทุปฺปรามฏฺฐํ นิรยายูปกฑฺฒติ” ความเป็นพระ ความเป็นสมณะ เห็นพระพุทธเจ้าใช้คำว่า “สามญฺญํ” หรือ “สามัญญะ” คือความเป็นสมณะ ที่บุคคลประพฤติลูบคลำ “ทุปฺปรามฏฺฐํ” นี้ ลูบคลำไม่ดี คือประพฤติย่อหย่อนอ่อนแอนี้ “นิรยายูปกฑฺฒติ” ย่อมฉุดคร่าไปในนรก นี่คำของพระพุทธเจ้า
จะเห็นว่า เมื่อมีคุณมาก ก็มีโทษมากถ้าหากประพฤติไม่ดี ดังนั้น จึงต้องบริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญานี้ ผลดีที่นักบวชจะพึงได้รับนั้นก็ย่อมจะเกิดขึ้นโดยลำดับ ฐานของนักบวชต้องเป็นเช่นนี้ ที่เห็นได้ชัดเจนในทันทีนี้ การได้รับความเคารพยกย่องจากบุคคลโดยทั่วไป นอกจากนี้ การเป็นนักบวชยังทำให้เป็นผู้มีความสงบกาย วาจา ใจ มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญาพิจารณาไตร่ตรองเรื่องต่างๆ รอบคอบขึ้น มีความเข้าใจเรื่องโลกและชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้นักบวชสามารถสอนตนเอง อ่านตนออก บอกตนได้ ใช้ตนเป็น เห็นผลได้ชัด เพื่อการครองชีวิตอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลส สามารถเป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้ที่บอกคนอื่น สอนคนอื่นในทางที่ถูกต้องดีงามได้ ย่อมจะได้รับผลดียิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งสามัญญผลสูงสุด คือ มรรคผลพระนิพพาน หากไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานในปัจจุบันชาติ ประสบการณ์แห่งการบวช ผลกุศลทั้งปวงที่นักบวชได้บำเพ็ญไว้ในปัจจุบันชาติก็ไม่สูญเปล่า สั่งสมไว้เป็นรากฐาน หรือว่าเป็นกองทุนเพื่อรอเวลาออกผลในภพชาติต่อๆ ไป ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “แม้หม้อน้ำย่อมเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกทีละหยดๆ ฉันใด ผู้มีปัญญาสั่งสมบุญทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยด้วยบุญฉันนั้น เมื่อบุญเต็มเปี่ยมแล้วย่อมเป็นเหตุให้มรรคผลพระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเต็มบริบูรณ์ฉันนั้น”
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้อภิบาลปกป้องคุ้มครองรักษาให้ทุกท่านปราศจากสัพพะทุกข์ สัพพะโศก สัพพะโรค สัพพะภัย อันตรายใดๆ อย่าได้มาพ้องพาน เจริญยิ่งยืนนานด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ด้วยกันทุกท่านเทอญ