แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันพุธที่ ๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง การสร้างบารมีของพระพุทธเจ้า นางแก้วคู่บารมี - พุทธกิจ - เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระผู้เป็นประธาน พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่คุณโยมพุทธศาสนิกชนทุกคนทุกท่าน พวกเราเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันพุธที่ ๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ และในวันนี้องค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงพ่อใหญ่ก็ได้เมตตาให้บรรยายธรรมเกี่ยวกับประวัติแห่งบุคคลสำคัญ เพื่อให้พวกเราได้ทราบถึงเรื่องของบุคคลผู้เป็นมหาบุรุษ ผู้ที่เสียสละมากที่สุดในโลกจนกว่าจะได้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ผู้ทรงเป็นบรมครูของเทวดาและมนุษย์ ทำให้มีพระพุทธศาสนา ทำให้มีพระธรรม ทำให้มีพระอริยสงฆ์อยู่ได้จนทุกวันนี้ก็เพราะว่ามีพระพุทธเจ้า ดังนั้นเราจึงต้องยกพระพุทธเจ้าเป็นบุคคลสำคัญ เป็นบุคคลในดวงใจ ที่เราต้องยกไว้เป็นที่หนึ่งของในใจเราเสมอ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่พวกเราต้องทราบเรื่องราวของพระองค์
เมื่อวานก็เล่ามาถึงตอนที่พระองค์ได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ในวันมาฆบูชา ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงต้นพุทธกาล เป็นช่วงแรก ๆ แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ บำเพ็ญหน้าที่ของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ คือทำหน้าที่พระพุทธเจ้าอยู่ ๔๕ ปีหลังจากที่ได้ตรัสรู้ตอนพระชนมายุ ๓๕ จนกระทั่งถึงเสด็จดับขันธปรินิพพานตอนพระชนมายุ ๘๐ ปี ๔๕ ปีที่พระองค์บำเพ็ญพุทธกิจ ทรงบำเพ็ญพุทธจริยา พุทธจริยาคือการประพฤติภาระหน้าที่ของการเป็นพระพุทธเจ้า
อย่างแรก พุทธัตถจริยา ทรงทำหน้าที่ของความเป็นพระพุทธเจ้า ก็คือ ตั้งแต่พระองค์ตั้งความปรารถนาสร้างบารมีมาจนกระทั่งสำเร็จเสร็จสิ้นเป็นพระพุทธเจ้า อันนี้คือพุทธัตถจริยา โลกัตถจริยา คือทรงประพฤติประโยชน์เพื่อชาวโลก เพื่อเวไนยสัตว์ เพื่อชนทั้งหลาย ให้ได้รู้ทันตาม และก็อย่างที่สามคือ ญาตัตถจริยา ทรงพระพฤติประโยชน์เพื่อหมู่พระประยูรญาติ เพราะคนที่จะได้มาเกิดเป็นพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ได้มีความเกี่ยวเนื่อง มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์
อย่างที่เล่าเมื่อวาน คนที่ได้มาเป็นอัครสาวก เป็นสาวกทั้งหลาย ไม่ใช่แค่ตั้งความปรารถนาเพียงชาติเดียว แต่ว่าสร้างบารมียาวนาน อย่างพระอัครสาวก ๑ ใน ๔ ของพระพุทธเจ้า หลังจากที่ได้รับพุทธพยากรณ์ คือ ๑ อสงไขย ๑ แสนกัปตั้งความปรารถนาตั้งแต่พระอโนมทัสสีพุทธเจ้าเป็นต้นมา เพราะฉะนั้นการทำภาระหน้าที่ของพระพุทธเจ้าเพื่อโปรดพระประยูรญาติ เพื่อสงเคราห์หมู่ญาติ พระพุทธองค์ก็ทรงทำได้อย่างสมบูรณ์
ในพรรษาที่ ๒ หลังจากที่พระองค์ได้แสดงพระโอวาทปาติโมกข์ ก็ประทับอยู่ที่วัดพระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ตอนนั้นพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา ก็ทรงสดับข่าวว่าพระราชโอรสของพระองค์บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอัครมหาบุรุษ บุคคลสำคัญของโลกแล้ว และกำลังเสด็จประกาศคำสอนอยู่ที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ พระองค์เลยส่งคณะทูตเพื่อมาทูลเชิญเสด็จ ส่งหัวหน้าคณะทูตและก็มีบริวาร ๑ พันคน คณะแรกมาก็เงียบ เพราะว่าคณะทูตเหล่านั้นมาแล้ว ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ออกบวช บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ไม่ได้กราบทูลเรื่องการเสด็จมา ส่งคณะที่ ๒ คณะที่ ๓ มาจนถึง ๙ คณะ คือหัวหน้าคณะ ๙ ท่านและทหารอีก ๙ พันคน บวชหมดเลย พระเจ้าสุทโธทนะก็เลยส่งคณะสุดท้ายที่พอจะไว้ใจได้หน่อย นั่นก็คือ ท่านกาฬุทายีอำมาตย์
ท่านกาฬุทายีอำมาตย์ เป็นหนึ่งในสหชาติผู้ที่เกิดวันเวลาเดียวกันกับพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่ ๗ ด้วยกันคือ พระนางพิมพา พระอานนท์ ฉันนะอำมาตย์ กาฬุทายีอำมาตย์ ม้ากัณฐกะ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ และขุมทรัพย์ทั้ง ๔ ก็เลยส่งกาฬุทายีอำมาตย์เป็นหัวหน้าคณะมา พร้อมกับกำชับว่า ท่านจะบวชหรือไม่บวชก็ตามต้องพาลูกเรากลับมาที่กรุงกบิลพัสดุ์ พากลับบ้านให้ได้ ท่านกาฬุทายีอำมาตย์เป็นเพื่อนกับเจ้าชายสิทธัตถะมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นเพื่อนเล่นเป็นกลุ่มมาด้วยกัน พอเติบโตก็เหมือนกับเป็นราชเลขาด้วย นายฉันทะก็เป็นนายสารถี กาฬุทายีอำมาตย์ก็คือเป็นคนรับใช้ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า เมื่อท่านกาฬุกายีอำมาตย์มาฟังธรรมและออกบวช ไม่นานก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ จากนั้นพอเห็นเวลาสมควรเป็นฤดูร้อน ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ก็ทูลเชิญเสด็จพระพุทธเจ้าเพื่อเสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดา พร้อมกับพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์
ในคราวนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงเสด็จไปพร้อมกับภิกษุบริวาร ๒ หมื่นรูป ตอนนี้มีพระเพิ่มมาอย่างไวมาก จากตอนวันแสดงโอวาทปาติโมกข์ตอนนั้นมีพันกว่ารูป แต่ตอนนี้มีถึง ๒ หมื่นรูปตามเสด็จพระพุทธองค์ไปที่กรุงกบิลพัสดุ์ กรุงราชคฤห์ไปที่กรุงกบิลพัสดุ์ระยะทาง ๖๐ โยชน์ ๑ โยชน์คือ ๑๖ กิโลเมตรก็คูณไป ๖๐ โยชน์เสด็จเดินทางวันละ ๑ โยชน์ ก็ใช้เวลา ๒ เดือน ๖๐ วัน จนกระทั่งไปถึงที่กรุงกบิลพัสดุ์ เหล่าพระประยูรญาติทั้งหลายก็มาเฝ้ารับเสด็จ ส่วนใหญ่ที่มีอายุมากกว่าพระพุทธเจ้าก็เห็นว่าเจ้าชายสิทธัตถะเป็นเด็กกว่าเรา ถึงจะออกบ้านออกบวชไปนาน แต่ก็ไม่ได้รู้ว่าเป็นยังไง มีฤทธิ์หรือว่าเป็นพระพุทธเจ้าจริงหรือเปล่า ทิฐิมานะกษัตริย์ก็เลยไม่ยกมือไหว้ พระพุทธองค์ทรงทราบดังนั้น พระองค์เลยเสด็จเดินจงกรมอยู่บนอากาศ เดินจงกรมอยู่บนอากาศและโปรยธุลีจากพระบาทให้ตกลงมาเบื้องบนพระประยูรญาติเหล่านั้น แล้วฝนโบกขรพรรษก็ตกลงมาในท้องพระโรง ฝนชนิดนี้เป็นฝนพิเศษ เป็นฝนที่มีสีแดง ใครอยากจะให้เปียกก็เปียก ไม่อยากจะเปียกก็ไม่เปียก ดังนั้นพอพระพุทธองค์ตรัส เหล่าพระประยูรญาติทั้งหลายก็เกิดอัศจรรย์ศรัทธา ถวายบังคมประคองอัญชลีด้วยกันทุกคน ก็กล่าวชมเชยกันว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์เหลือเกินที่ฝนชนิดนี้ตกลงมา พระพุทธองค์ก็เลยทรงแสดงว่าการที่ฝนโบกขรพรรษตกมาในเวลาที่เราเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ได้น่าอัศจรรย์เท่ากับตอนที่เรากำลังสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ พระองค์ก็เลยตรัสเวสสันดรชาดก กับเล่าเรื่องเกี่ยวกับตอนที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร แล้วตอนท้ายท้ายที่ก่อนที่พระองค์จะเสด็จกลับเมืองจากเขาคีรีวงกตก็มีฝนชนิดนี้ตกลงมาเหมือนกัน พระองค์ก็ตรัสยาวเป็นถึง ๑ พันพระคาถาที่บ้านเรามีการเทศน์มหาชาตินี่ล่ะ ก็คือเรื่องพระเวสสันดร พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระประยูรญาติครั้งแรก ในคราวนั้น ทางอีสานก็คือบุญผะเหวดพระเวสสันดร
ตามพุทธประวัติบอกว่าฝนโบกขรพรรษตกอยู่ ๓ ครั้งเท่านั้นเอง ก็คือ ตอนที่เป็นพระเวสสันดรชาติหนึ่ง ตอนที่โปรดพระประยูรญาติครั้งหนึ่ง และก็อีกครั้งหนึ่งก็คือตอนประมาณพรรษาที่ ๔ ที่พระองค์เสด็จกรุงไวสาลีเพื่อไปบำบัดโรค ตอนนั้นกรุงไวสาลีเกิดโรคระบาดอหิวาตกโรค คนตายเกลื่อนเมือง เจ้าลิจฉวีไวสาลีก็มาทูลเชิญพระพุทธเจ้า ตอนที่พระมงคลบาทแรกของพระพุทธเจ้าเหยียบลงที่กรุงไวสาลี ฝนโบกขรพรรษชนิดนี้ก็ตกลงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นตกอยู่ ๓ ครั้งด้วยกัน
พอในวันรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งที่กรุงกบิลพัสดุ์ พระพุทธเจ้าก็เสด็จออกบิณฑบาตตามปกติ ขณะนั้นพระเจ้าสุทโธทนะก็คิดว่าอย่างไรเสียลูกของเราก็ต้องมาฉันในวัง เลยมิได้นิมนต์พระพุทธเจ้าด้วยวาจา เพียงแต่คิดว่ายังไงลูกเราก็ต้องมา แต่เช้าวันนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตผ่านมาทางพระราชวังด้วย พระเจ้าสุทโธทนะเห็นก็รีบเสด็จลงไป จับชายจีวรของพระพุทธเจ้าแล้วกล่าวว่า สิทธัตถะ ทำไมเจ้าจึงทำอย่างนี้ ตระกูลของเจ้าเป็นคนขอทานหรือ ศากยวงศ์ไม่เคยทำเลย เจ้าทำให้วงศ์ของพ่อเสีย บ้านของเจ้าก็มี ทำไมจึงไม่ไปรับอาหารที่บ้าน เที่ยวเดินขอทานชาวบ้านอยู่ พ่อจะเอาหน้าไปไว้ไหน พ่อเป็นจอมพลในแผ่นดิน เป็นกษัตริย์ แต่ลูกมาทำตัวเป็นขอทาน พระเจ้าสุทโธทนะตอนนั้นรู้สึกตกใจที่เห็นพระพุทธเจ้าบิณฑบาต ไม่เคยเห็นมาก่อน พระองค์ตรัสว่ามหาบพิตร เสียงที่นุ่มนวลกังวานออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า บัดนี้อาตมภาพมิใช่ศากยวงศ์แล้ว อาตมภาพเป็นอริยวงศ์ เป็นพุทธวงศ์ พระพุทธเจ้าในอดีตทุก ๆ พระองค์ทรงกระทำอย่างนี้ทั้งนั้น อาตมภาพทำอย่างนี้ก็เพื่อรักษาวงศ์ของอาตมภาพไม่ให้สูญหาย สำหรับอาตมา บ้านก็ไม่มี อาตมภาพเป็นอนาคาริกมุนี คือผู้ที่ไม่มีเรือน พระเจ้าสุทโธทนะก็เลยทูลว่า ช่างเถิดสิทธัตถะ เจ้าจะเป็นวงศ์อะไรก็ตาม จะมีเรือนหรือไม่มีเรือน แต่ว่าเจ้าเป็นลูกของพ่อ เจ้าจากพ่อไปตั้ง ๗ ปี พ่อคิดถึงเจ้าสุดประมาณ พิมพาหรือก็คร่ำครวญถึงแต่ลูก ราหุลเล่ามีบิดาก็เหมือนกับไม่มี วันนี้เจ้าต้องกลับไปบ้าน ไปหาพิมพา ไปหาราหุล ว่าแล้วพระเจ้าสุทโธทนะก็นำเสด็จพระพุทธเจ้าไปยังพระราชวัง ถวายภัตตาหาร แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงอนุโมนา หลังจากอนุโมนาพระเจ้าสุทโธทนะก็สำเร็จเป็นพระโสดาบัน วันที่สอง ก็ทำเหมือนเดิม พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมแก่พระบิดา หลังจากฉัน หลังจากเสวยภัตตาหารเสร็จ พระบิดาบรรลุสกทาคามี พระน้านางมหาปชาบดีโคตรมีบรรลุเป็นพระโสดาบัน วันที่สามก็เสด็จไปอีก แสดงธรรมโปรดพระบิดา ตอนนี้พระบิดาได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นที่สามเป็นพระอนาคามี พระน้านางก็ตั้งอยู่ในสกทาคามี
สามวันผ่านไปที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปที่พระราชวัง แต่ว่าไม่เห็นพระนางพิมพาหรือว่าพระนางยโสธราผู้ที่เป็นชายาเลย เพราะพระนางพิมพารู้สึกเสียใจและน้อยใจที่เจ้าพี่เสด็จหนีออกบวชไม่บอกลา ไม่บอกกล่าวสักคำ เหมือนกับว่าทิ้งลูกทิ้งเมียไปโดยมิได้บอกกล่าว ตอนนี้ผ่านไป ๗ ปี เจ้าพี่กลับมาก็ต้องมาหาเราที่ปราสาท ต้องมาหาเราที่ห้อง นางก็เลยมีความเสียใจมีความน้อยใจตามแบบของผู้หญิง ก็เลยไม่ออกไป พระเจ้าสุทโธทนะก็เลยทูลให้ฟังว่า สามวันมานี้พิมพาไม่ได้ออกมา นางยังเสียใจมากที่เจ้าออกไปออกบวชโดยที่ไม่ได้บอกกล่าวนางเลย พอนางทราบว่าลูกเป็นอยู่อย่างไร นางก็อยู่อย่างนั้น โดยปกติตามธรรมเนียมของชาวอินเดีย ผู้หญิงที่อยู่เหมือนกับถูกสามีทิ้ง ไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี แต่ว่าถ้ามีชายอื่นมาขอก็สามารถแต่งงานใหม่ได้ แต่พิมพามีเจ้าชายเมืองอื่นมาขอ นางไม่สนใจไยดีเลย ทั้งที่ไม่ทราบข่าวด้วยว่าลูกไปอยู่ยังแห่งหนตำบลใด นางจงรักภักดีขนาดนี้ อีกอย่างหนึ่ง เวลาใดที่นางทราบว่านุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ห่มผ้าที่ย้อมด้วยน้ำฝาด นางก็ห่มผ้าที่ย้อมน้ำฝาดตาม พอนางทราบว่าลูกนอนบนที่ที่นอนมิได้ปูด้วยฟูก มิได้ใช้หมอน นางก็นอนบนพื้น มิได้นอนบนเตียง พอนางทราบว่าลูกมิได้ใช้เครื่องลูบไล้ มิได้ใช้เครื่องหอม นางก็เว้นจากเครื่องลูบไล้เครื่องหอมตาม พอนางทราบว่าลูกอดอาหาร นางก็อดอาหารตาม พ่อไม่เคยเห็นผู้หญิงที่จงรักภักดี รักในสามีขนาดนี้มาก่อนเลย สมควรที่ลูกจะไปเยี่ยม สมควรที่ลูกจะไปดูนางหน่อย
ว่าแล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จไปพร้อมกับพระอัครสาวกคือพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร เหตุที่ต้องพาพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตรไปด้วย เพื่อป้องกันคำครหาในภายหลังว่าพระพุทธเจ้าเสด็จไปองค์เดียว เพราะว่าจิตของคนพร้อมที่จะคิดไม่ดี คิดจะต่ำ คิดต่ำ ๆ ได้ตลอดเวลา ดังนั้นพระพุทธองค์ก็เลยพาพระอัครสาวกไปด้วย แล้วก็ตรัสว่าสารีบุตรและโมคคัลลาน์ ถ้าเราเข้าไปในตำหนักของพระนางพิมพา ถ้าหากพิมพาจะมากอดที่ขาเรา เธออย่าห้ามนะ ถ้าเธอห้าม นางจะเสียใจจนอกแตกตาย เพราะว่าตลอดระยะเวลาที่สร้างบารมีมา นางมิได้ทำด้วยตนเอง เพียงแต่ว่าพลอยอนุโมทนากับกุศลบารมีที่เราได้ทำ เพราะฉะนั้นมีแต่เราที่เป็นที่พึ่งของนางได้
ว่าแล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จไปพร้อมกับพระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร ไปยังพระตำหนักของนาง พอนางเห็นพระพุทธเจ้าที่ไม่ได้พบหน้ากันมาถึง ๗ ปี นางก็จูงลูกน้อยราหุลมาด้วย เมื่อพระพุทธองค์ประทับบนพุทธอาสน์ นางก็เข้ามากอด วิ่งเข้ามากอดที่ขา เข้ามากอดที่ขาของพระพุทธเจ้า สยายพระเกศาทรงพระกรรแสง สยายผมร้องไห้ แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสตอบนางว่าอย่าได้เศร้าโศกเสียใจ ตรัสเพื่อให้นางได้สติ แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงเรื่องจันทกินรีชาดก ว่าด้วยเรื่องในอดีตชาติที่เคยเสวยพระชาติเป็นกินนรกับกินรีอยู่ที่ภูเขาคันธมาส ถึงในเวลานั้นนางก็ยังจงรักภักดีต่อผู้เป็นสามีโดยที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง โดยที่ไม่เคยเปลี่ยนใจเลย หลังจากตรัสชาดกนี้จบลง พระนางพิมพาก็ได้ดวงตาเห็นธรรมและบรรลุเป็นโสดาปัตติผล เป็นผู้ที่มั่นคงถึงกระแสแห่งพระนิพพาน
จะว่าไปในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ของพระพุทธเจ้า ที่เราทราบกันดีว่าพระพุทธเจ้าของเราสร้างบารมีมาถึง ๒๐ อสงไขย ๑ แสนกัปจนกว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า สร้างถึง ๑๖ อสงไขยจนกว่าจะได้รับพุทธพยากรณ์ หลังจากได้รับพุทธพยากรณ์ตอนนั้นแหละพระพุทธองค์จึงมีคนสร้างบารมีตาม แต่ก่อนหน้านั้น ก่อนที่จะได้รับพุทธพยากรณ์ พระองค์สร้างบารมีอย่างโดดเดี่ยว คือไม่ได้มีคนสร้างบารมีด้วย ไม่มีแม้กระทั่งคู่บารมี ไม่มีแม้กระทั่งลูกศิษย์ ไม่มีสาวก แต่หลังจากที่ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าในชาติที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นสุเมธดาบสแล้ว หลังจากนั้นก็มีคนอธิษฐานสร้างบารมีตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะในพระชาติที่พระองค์เป็นสุเมธดาบส
ตอนที่พระทีปังกรพุทธเจ้าทรงมีพุทธพยากรณ์ให้กับสุเมธดาบสว่าอีก ๔ อสงไขย ๑ แสนกัป ข้างหน้าจะได้เป็นพระพุทธเจ้านามว่าโคดม ในเวลานั้นก็มีหญิงสาวอยู่นางหนึ่งอายุ ๑๖ ปี ชื่อว่าสุมิตตากุมารี เป็นหญิงงามมาจากปัจจันตคาม ปัจจันตคามก็คือชายแดน ก็คือมาทำไม ก็คือมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทีปังกร และในระหว่างนั้นก็เห็นการกระทำของสุเมธดาบสตลอด เห็นตั้งแต่ที่ท่านเหาะลงมา ขอพื้นที่ในการปรับที่ปรับทางถวายพระทีปังกร จนพระทีปังกรพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุบริวารเสด็จมาถึง ตรงที่ของท่านทำไม่เสร็จ ยอมเสียสละร่างกายทอดเป็นสะพานให้พระทีปังกรพุทธเจ้าเสด็จผ่าน จนพระทีปังกรพุทธเจ้ามีพุทธพยากรณ์ สุมิตตากุมารีก็เห็นเหตุการณ์โดยตลอด แล้วก็ทราบถึงว่าตอนนี้สุเมธดาบสได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว เป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอย่างแน่นอน นางก็เลยปีติใจ ไปเก็บดอกอุบล ดอกบัว มา ๘ ดอก เก็บดอกอุบลมา ๘ ดอกเอามาถวายพระพุทธเจ้า แล้วนางก็ตั้งอธิษฐานว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ด้วยอานิสงส์ที่ข้าพระบาทได้ทำสักการะบูชาแก่พระพุทธองค์ในกาลบัดนี้ ขอให้สุเมธดาบสจงเป็นสามีของข้าพระบาทสมใจปรารถนาในภายภาคหน้าด้วยเถิด นางอธิษฐานขนาดนี้ ทั้งที่เพิ่งเห็นสุเมธดาบสไม่กี่นาทีเอง แต่นางอัศจรรย์ใจในความปรารถนาของสุเมธดาบส ปลื้มปีติใจ คือใจของนางบอกเลยว่าบุคคลคนนี้เป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ในการสร้างบารมีเป็นพระพุทธเจ้า นางเก็บดอกบัว ทำที่ทำทางปรับที่ปรับทางถวายพระพุทธเจ้าเหมือนกัน แต่นางไม่ได้ขอเพื่อตัวเอง ขอเพียงแต่เพียงว่าให้สุเมธดาบสได้เป็นสามีของนาง
สุเมธดาบสพระโพธิสัตว์พอได้ฟังคำของนางก็สะดุ้งตกใจ ไม่เคยเห็นผู้หญิงคนนี้มาก่อน ทั้งที่เห็นกันเพียงแค่แวบเดียว แต่นางทำไมขอแบบนี้ สุเมธดาบสก็เลยห้าม บอกว่าดูก่อนเจ้าซึ่งผู้มีพักตร์อันเจริญ ผู้มีพักตร์อันเจริญก็แปลว่าน้องสาวผู้งดงามนั่นเอง ผู้มีหน้าตาที่สวย ดูก่อนเจ้าซึ่งผู้มีพักตร์อันเจริญ ความปรารถนาที่จะให้เราเป็นสามีแม้ว่าจะเป็นความปรารถนาที่ดี แต่เราก็ไม่ได้ชอบใจด้วยสักนิดหนึ่งเลย ขอเจ้าจงถอนความปรารถนาเถิด ปรารถนาอย่างอื่นแทน สุมิตตากุมารีผู้ที่มีใจมั่นคง มีจิตใจที่แรงกล้า แม้จะถูกสุเมธดาบสกล่าวห้ามปรามถึงหลายครั้ง นางก็ยังยึดมั่นในความปรารถนาเดิมของนาง พระทีปังกรพุทธเจ้าผู้มีพระอนาวรณญาณ คือมีพระญาณที่ไม่ขัดข้องในทุกกรณี ทรงมองเห็นถึงอนาคตกาลอันนานไกลว่า สุมิตตากุมารีก็ไม่ใช่คนอื่น สามารถที่จะเป็นคู่บารมีของพระโพธิสัตว์ได้ พระองค์ก็เลยตรัสว่า ดูก่อนสุเมธดาบสเอย...ตัวท่านอย่าได้ห้ามซึ่งความปรารถนาแห่งกุมารีน้อยคนนี้ ด้วยว่าในอนาคตกาลในภายภาคหน้า ถ้าหากท่านสร้างบารมีจนถึงขั้นปรมัตถบารมี บารมีที่ใกล้จะเต็ม กุมารีคนนี้จะเป็นที่พึ่ง จะเป็นที่อาศัยของท่าน ในเวลาที่บำเพ็ญบารมีด้วยภริยาทาน คือบริจาคภรรยา ให้ภรรยาเป็นทาน ท่านก็จะได้ทำบารมีข้อนี้โดยอาศัยกุมารีผู้ที่มีจิตใจมั่นคงคนนี้แหละ สุเมธดาบสเอย...ถึงเราตถาคตตอนที่ยังสร้างบารมีท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร ก็ยังได้อาศัยสตรีผู้ที่มีโอกาส ผู้ที่มีจิตใจที่มั่นคง จึงได้บำเพ็ญภริยาทานเหมือนกัน ขอท่านจงอย่าได้ห้ามความปรารถนาของสุมิตตากุมารีคนนี้ ปล่อยให้ความปรารถนาของนางสำเร็จเสร็จสิ้นเถิด เหล่ามนุษย์เทพยดาได้ฟังก็สาธุการให้กับสุเมธดาบสและสุมิตตากุมารี จากนั้นท่านสุเมธดาบสก็กลับไปยังป่าหิมพานต์ตามเดิมในชาตินั้นไม่ได้อยู่กินด้วยกันนะ เพราะว่าท่านเป็นดาบส เป็นฤาษี เป็นนักพรต แต่ว่าตั้งความปรารถนาต่อหน้าพระทีปังกรพุทธเจ้าเหมือนกัน
หลังจากนั้นมาทุกภพทุกชาติท่านทั้งสองก็ได้เกิดเป็นคู่บารมี เป็นคู่สร้างคู่สม เป็นคู่บุญ เป็นคู่ทุกข์คู่ยาก ในการทำความดีในการสร้างบารมี จนกว่าจะสำเร็จในชาติสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าของเราบำเพ็ญบารมีเต็มสำเร็จเสร็จสิ้นแก่สัมมาสัมโพธิญาณ เพราะฉะนั้นในชาติที่ว่านี้จึงเป็นชาติที่สำคัญของพระโพธิสัตว์และของพระนางพิมพา เป็นชาติที่สร้างบารมีคู่กันมา ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดเป็นสัตว์ นางก็เกิดเป็นสัตว์ตาม พระพุทธเจ้าเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ นางก็เกิดเป็นนางแก้วคู่บารมี พระพุทธเจ้าเกิดเป็นยาจกเกิดเป็นขอทาน นางก็เกิดเป็นยาจกเป็นขอทานตาม พระพุทธเจ้าเกิดเป็นพญากวาง นางก็เกิดเป็นกวางตัวเมีย พระพุทธเจ้าเกิดเป็นนกยูงทอง นางก็เกิดเป็นนกยูงตัวเมีย ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะเกิดเป็นอะไร นางก็เกิดเป็นคู่บารมีทุกภพทุกชาติ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นคน คนจนคนรวยเป็นราชาเป็นมหากษัตริย์ เป็นพญาครุฑ เป็นพญานาค เป็นเทวดา นางก็จะเกิดเป็นภรรยาทุกภพทุกชาติในการสร้างบารมี ไม่เคยมีชาติไหนที่พลัดพรากจากกันเลย ตลอดระยะเวลา ๔ อสงไขย ๑ แสนกัป จนกระทั่งมาสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นจึงนับได้ว่าผู้หญิงคนนี้เป็นผู้ที่เสียสละมาก เสียสละตัวเองในการให้พระโพธิสัตว์สร้างบารมี บางภพชาติพระโพธิสัตว์ต้องบริจาคตัวของนางเป็นทาน นางก็ยอม นางไม่เสียใจ เพราะนางรู้ว่าที่สามีทำลงไปไม่ใช่ว่าไม่ได้สนใจไยดีในตัวนาง แต่ทำเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่า นั่นคือสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นคนที่เข้าใจ เข้าใจกันจึงยอมจึงเสียสละได้มากขนาดนี้
เพราะฉะนั้น หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติเสร็จ พระนางพิมพาก็รับสั่งให้พระราหุลไปทูลขอราชสมบัติจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เลยให้อริยทรัพย์แก่ราหุลโดยการให้บวชเป็นสามเณร ให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ให้กับสามเณรราหุล ตอนที่ ๗ ขวบนั่นแหละ หลังจากนั้นพระนางพิมพาก็อาศัยอยู่ในพระราชวังกบิลพัสดุ์ต่อมาอีก ๓ ปี แล้วพระเจ้าสุทโธทนะก็สวรรคต ราชสมบัติแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ก็ตกอยู่กับพระเจ้ามหานามะ พระเจ้ามหานามะครองราชย์ต่อ พระนางมหาปชาบดีโคตมีออกบวชเป็นภิกษุณี พระนางพิมพาก็เลยพาเหล่าบริวาร ๑,๑๐๐ คนบวชเป็นภิกษุณีตาม อยู่ในสำนักของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี พระนางบวชได้ ๑๕ วันก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ได้รับพระนามใหม่ว่าพระนางภัททากัจจานาเถรี นางมี ๓ ชื่อ พิมพา ยโสธรา หลังจากที่ออกบวชแล้วได้รับฉายานามว่าภัททากัจจานาเถรี ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ทรงอภิญญาใหญ่ อภิญญาใหญ่คือนางเข้าสมาธิเพียงครั้งเดียวสามารถระลึกชาติได้ ๑ อสงไขยกับ ๑ แสนกัป เพียงแค่เข้าสมาธิครั้งเดียวระลึกชาติได้เยอะขนาดนั้น ก็เลยได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าผู้อภิญญาใหญ่ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าของเรา ผู้ที่ทำได้ขนาดนี้มีเพียง ๔ ท่านเท่านั้น คือ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระพากุลเถระ ผู้ที่มีอาพาธน้อยที่มีอายุ ๑๖๐ ปีและได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าผู้มีอภิญญาใหญ่ในด้านฝ่ายพระสาวก ส่วนพระนางพิมพาก็ทรงอภิญญาใหญ่ในด้านฝ่ายสาวิกา ก็คือฝ่ายพระเถรี
เนื่องจากว่าพระนางภัททากัจจานาเถรี หรือว่าพิมพา ยโสธรา สร้างบารมีร่วมกับพระพุทธเจ้ามานานขนาดนี้ เพราะฉะนั้นการที่นางระลึกชาติได้ขนาดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก พระนางยโสธราเถรีนิพพานในพรรษาที่ ๔๓ ของพระพุทธเจ้า ก็คือตอนที่พระพุทธเจ้าพระชนมายุ ๗๘ ปี พระนางก็ ๗๘ ปีเท่ากัน ก่อนที่พระนางจะนิพพาน พระเถรีก็ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วก็ทูลลา คำกราบทูลลาลึกซึ้งและน่าฟังว่า หม่อมฉันมีอายุได้ ๗๘ ปี ล่วงเข้าปัจฉิมวัยแล้ว ถึงความเป็นผู้ที่มีกายพร้อมลงโดยลำดับ ขอกราบทูลลาพระมหามุนี หม่อมฉันมีวัยแก่หง่อม ในชีวิตของหม่อมฉันมีอยู่นิดหน่อย หม่อมฉันจะละพระองค์ที่พึ่งของตน หม่อมฉันก็ทำไว้แล้ว ในกาลที่เป็นปัจฉิมวัยนี้ ความตายได้เข้ามาปิดล้อม ขอพระมหาวีระได้อดโทษ ได้งดโทษล่วงเกินตลอดระยะเวลาที่เวียนว่ายตายเกิดสร้างบารมีร่วมกันมา ตลอดระยะเวลา ๔ อสงไขย ๑ แสนกัป โทษอันใดที่หม่อมฉันได้ล่วงเกิน ขอพระองค์ได้อดโทษล่วงเกินอันนั้นแก่หม่อมฉันด้วยเถิด
แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสกับพระนางว่า เมื่อเธอจะบอกลานิพพานตถาคตก็จะไม่กล่าวว่าอะไรเธอ เพราะว่าเธอได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของเรา ขอเธอจงตัดความสงสัยของบริษัททั้งหลายเถิด หลังจากนั้นพระนางยโสธราเถรีก็ได้แสดงฤทธิ์เพื่อตัดความสงสัยของมหาชน แล้วพระนางก็เล่า เล่าถึงเรื่องที่ได้สร้างบารมีกับพระพุทธเจ้าทุกภพทุกชาติที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องที่พระนางเล่า ถ้าเราฟังก็น่าสะเทือนใจว่าพระนางได้กลายเป็นวัตถุทานให้แก่พระพุทธเจ้า ตั้งแต่สมัยที่พระโพธิสัตว์ได้บริจาค ไม่เฉพาะชาติที่พระนางเกิดเป็นพระนางมัทรี แล้วพระพุทธเจ้าเป็นพระเวสสันดรที่บริจาคภริยาเป็นทาน แต่หลายภพหลายชาติก็ได้บริจาคภริยาทาน นับได้หลายพันโกฏิกัป พระพุทธเจ้าก็ทรงบริจาคพระนางให้เป็นภริยาของคนอื่นเช่นเดียวกัน พระนางเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพระพุทธเจ้า ดังนั้น พูดได้ว่าถ้าหากไม่มีพระนางพิมพาก็จะไม่มีพระพุทธเจ้าในวันนี้ เพราะฉะนั้นพระเถรีจึงเป็นบุคคลสำคัญยิ่งในการเติมเต็มให้พระบารมีของพระพุทธเจ้าเต็ม ไม่มีสตรีนางใดที่จะทัดเทียมกับพระนางในความเสียสละได้ เพราะว่าพระนางเสียสละได้แม้กระทั่งชีวิต เพราะว่าใจของพระนางเสมอเต็มกับพระโพธิสัตว์ เมื่อชาติสุดท้ายของพระนางสมบูรณ์บริบูรณ์ งดงามทั้งในเบื้องต้น ทั้งในท่ามกลางและในที่สุด ชีวิตคู่สร้างบารมีร่วมกันมาหลายกัปหลายอสงไขยก็มาสำเร็จเสร็จสิ้นในชาติสุดท้ายนี้ แล้วพระนางก็ทูลลาเสด็จสู่นิพพาน
พวกเราในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ได้ทราบถึงเรื่องราวของพระอรหันต์ ของพระพุทธเจ้า บุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าที่ผ่าน ๆ มา เราต้องทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงพระคุณยิ่งใหญ่ ๓ อย่าง คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ แม้กระทั่งพระพุทธคุณ ๙ ประการของพระพุทธเจ้าที่เราสวดกันทุก ๆ วัน อิติปิโสภควา อะระหังสัมมาสัมพุทโธ วิชาจรณสัมปันโน ก็คือพุทธคุณ ๙ ประการของพระพุทธเจ้า แต่ว่าในแต่ละวัน แต่ละวัน พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงทำอะไรบ้างที่เป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาของพระพุทธองค์ พระองค์ทรงใช้วันเวลาให้ผ่านไปด้วยความเสียสละ พระองค์เป็นบุคคลที่เสียสละที่สุดในโลก เสียสละตั้งแต่ชาติแรกที่ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า จนกระทั่งชาติสุดท้ายที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสียสละด้วยการบำเพ็ญพุทธกิจหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ๕ อย่างอย่างสมบูรณ์
กิจของพระพุทธเจ้านี้ทำเหมือนกับเข็มนาฬิกา ทุก ๆ วัน ทุก ๆ เวลาจะเหมือนกันหมด ก็คือ อย่างแรก ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต สายณฺเห ธมฺมเทสนํ เวลาเย็นแสดงธรรมโปรดมหาชน ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ เวลาค่ำให้โอวาทแก่ภิกษุภิกษุณี อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ เวลาเที่ยงคืนตอบปัญหาเทวดา ปจฺจูสกาเล คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ ในเวลาใกล้รุ่งจวนจะสว่างพระองค์แผ่ข่ายคือพระญาณตรวจดูสัตว์โลกผู้ที่จะตรัสรู้ ผู้ที่จะเห็นธรรม พระองค์ก็จะเสด็จไปโปรด อันนี้แหละคือหน้าที่ของพระพุทธเจ้า เอเต ปญฺจวิเธ กาเล วิโสเธนฺติ มุนิปุงฺคโว พระมุนีพุทธเจ้าทั้งหลายทรงทำหน้าที่ ทรงทำพุทธกิจใหญ่ทั้ง ๕ อย่างนี้ให้สำเร็จให้บริบูรณ์ทุก ๆ วัน ในวันหนึ่ง ๆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำหน้าที่ทั้ง ๕ เป็นกิจวัตรหลักเลย ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งทรงบรรทมก็เพื่อประโยชน์แก่เวไนยสัตว์
พุทธกิจทั้ง ๕ อย่างเริ่มตั้งแต่ในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จลุกขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ ทรงปฏิบัติพระสรีระแล้วก็ประทับนั่งเข้านิโรธสมาบัติ จนกระทั่งถึงเวลาเสด็จออกบิณฑบาต พระองค์ก็จะคล้องจีวร ถือบาตร บางครั้งก็เสด็จไปพระองค์เดียว บางครั้งก็มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ บางครั้งก็มีหมู่ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อมไปบิณฑบาตตามหมู่บ้านบ้าง ตามพระนครบ้าง เมื่อพระบรมไตรโลกนาถพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาต ในพระไตรปิฎกท่านเล่าว่าลมที่พัดอ่อน ๆ พัดไปเบื้องหน้า แผ้วพื้นพสุธาให้สะอาดหมดจด ทันทีที่พระบาทเบื้องขวาประดิษฐานลงภายในธรณีประตู พระฉัพพรรณรังสีก็คือพระรังสี ๖ สีของพระพุทธเจ้าจะเปล่งสว่างไสวแผ่ซ่านออกจากพระพุทธสรีระประมาณ ๑ วา นกทั้งหลายที่อยู่ในสถานที่ใกล้ ๆ ก็จะพากันเปล่งสำเนียงเสียงเสนาะโสต ทิพยสังคีตของเหล่าเทวดาในสรวงสวรรค์ก็จะขับขานไพเราะเสนาะโสต เป็นเสียงแผ่วเบาลงมา เป็นเสียงดนตรีสวรรค์ขับกล่อม พุทธศาสนิกชนเมื่อรู้ว่าวันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จบิณฑบาตก็จะพากันแต่งตัวนุ่งห่มเรียบร้อย ถืออาหารคาวหวานของหอมและดอกไม้ เดินออกมาจากบ้าน เดินไปตามถนน บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยของหอมและดอกไม้ ถวายบังคมพระพุทธเจ้าและขอหมู่สงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งเพื่อที่จะเป็นอุปัฏฐาก รับบาตรพระรูปใดรูปหนึ่งเพื่อที่จะมาบรรจุอาหารใส่ในบาตรแล้วก็ถวายแด่พระรูปนั้น โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้เสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว พระพุทธองค์วันหนึ่งเสวยเพียงแค่ ๑ มื้อ พระพุทธเจ้าก็จะทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทให้ได้บรรลุธรรม ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ บางคนก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ จากนั้นก็จะทรงลุกจากอาสนะเสด็จกลับพระวิหาร ครั้นบำเพ็ญพุทธกิจในช่วงเช้าเสร็จแล้วก็จะให้โอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ตามสมควรแก่จริต แก่อัธยาศัย แก่ภิกษุรูปนั้น ๆ ทรงประทานกรรมฐานที่เหมาะสมแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามแต่จริต เมื่อท่านได้รับโอวาทจากพระศาสดาก็จะกลับไปยังที่พักของตนเอง ไปปฏิบัติภาวนา บ้างก็เดินจงกรม บ้างก็นั่งสมาธิ ไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ ไปสู่เรือนว่าง ไปสู่ลำธาร ไปสู่ที่สงัด เพื่อหลีกเร้นสำหรับภาวนา บางท่านที่สำเร็จกิจเป็นพระอรหันต์แล้วท่านก็จะเข้านิโรธสมาบัติเสวยสุขอยู่กับพระนิพพานในปัจจุบัน ส่วนพระพุทธเจ้าก็จะเสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี ทรงตรวจดูเวไนยสัตว์ ผู้ที่จะได้บรรลุธรรมในช่วงบ่ายอีกรอบหนึ่ง
ช่วงเวลาบ่ายคล้อยมหาชนก็จะถือดอกไม้ถือของหอมถือน้ำปานะไปยังวัด ไปถวายพระพุทธเจ้าเพื่อจะฟังธรรม พระพุทธองค์ก็จะทรงแสดงธรรมจนกระทั่งถึงเย็น เพื่อให้คนทั้งหลายกลับบ้านก่อนที่พระอาทิตย์ตกดิน เพราะว่าเป็นธรรมเนียมของทุก ๆ เมืองในประเทศอินเดีย ของชมพูทวีปในสมัยนั้น ประตูเมืองจะปิดตอนที่พระอาทิตย์ตกดิน วัดทุกวัดของพระพุทธเจ้าจะอยู่นอกประตูเมือง เพราะฉะนั้นแสดงธรรม จะเสร็จลงในช่วงเวลาเย็นเพื่อให้คนทั้งหลายได้กลับบ้านของตัวเองก่อนที่ประตูเมืองจะปิด พอเวลาพลบค่ำ เวลาหัวค่ำ ก็คือช่วงปฐมยาม ยามจะแบ่งเป็นสามยาม ๖ โมงเช้าถึง ๔ ทุ่มคือปฐมยาม ๔ ทุ่มถึงตี ๒ คือมัชฌิมยาม คือยามที่สอง และตี ๒ ถึง ๖ โมงเช้าคือปัจฉิมยาม ยามที่สาม ช่วงปฐมยามพระพุทธเจ้าจะใช้เวลาแสดงธรรมโปรดภิกษุสงฆ์ โปรดภิกษุณี หลังจากนั้นมัชฌิมยามคือเวลายามที่สอง พระองค์จะตอบปัญหาเทวดา เหล่าเทวดาเหล่าพรหมทั้งหลายจะมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าก็คือในเวลานี้แหละ อย่างเช่นมงคลสูตร มงคล ๓๘ ประการที่พวกเราได้ทราบ ที่พวกเราได้สวดกัน ก็มาจากเทวดาทูลถาม เทวดาก็มาในเวลาประมาณเที่ยงคืน เพื่อที่จะมาถามปัญหาพระพุทธเจ้าในเรื่องมงคล อย่างนี้เป็นต้น หรือแม้กระทั่งอาฏานาฏิยปริตร อาฏานาฏิยสูตร พระพุทธเจ้าก็ตอบปัญหาแก่เทวดาที่เขาคิชกูฏในเวลาเที่ยงคืนเหมือนกัน เทวดาจะมาถามปัญหาพระพุทธเจ้าจะมาตอนเที่ยงคืนส่วนใหญ่
หลังจากนั้นช่วงปัจฉิมยาม หลังจากตอบปัญหาเทวดาเสร็จแล้ว ปัจฉิมยามประมาณ ๔ ชั่วโมง พระพุทธองค์ก็จะทรงยับยั้งอยู่ด้วยการเสด็จจงกรมเพื่อจะเปลื้องความเมื่อยล้าที่ทรงแสดงธรรมและตอบปัญหาเทวดามาหลายชั่วโมง หลังจากนั้นพระองค์ก็เสด็จเข้าพระธรรมกุฎี ทรงมีสติสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาสน์ นอนตะแคงขวา ทรงบรรทม พระพุทธเจ้าจะทรงบรรทมด้วยท่านอนตะแคงขวาคือสีหไสยาสน์ ท่านอนที่นอนเหมือนกับราชสีห์ พอถึงเวลาใกล้สว่าง พระองค์ก็จะตื่นบรรทม จากนั้นพระองค์ก็จะมาเข้าสมาบัติ ก็จะมาทำหน้าที่เดิมคือตรวจดูสัตว์โลก แผ่ข่ายคือพระญาณไปยังหมื่นจักรวาลว่าวันนี้ใครเป็นเวไนยสัตว์ จะไปโปรดใครดี
ถ้าหากคนที่เป็นเวไนยสัตว์เข้ามาในข่ายคือพระญาณ ระยะทางไกลขนาดไหนพระองค์ก็จะเสด็จไป เพราะอาศัยพระมหากรุณาธิคุณที่ฝังลึกอยู่ในพระกมลอันบริสุทธิ์มานาน มีพระเมตตาเป็นหลัก มีพระเมตตาเป็นใหญ่ ไกลขนาดไหนพระพุทธเจ้าจะเสด็จไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่บุคคลเหล่านั้น พระพุทธเจ้าทำอย่างนี้ทุกวัน เหมือนกับเข็มนาฬิกา ทำอย่างนี้ หน้าที่พุทธกิจ ๕ อย่าง ทำอย่างนี้ทุกวันทุกวัน จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา ๔๕ ปี การอุบัติเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข เพื่อมรรคผลพระนิพพานแก่เหล่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เพราะพระองค์ตั้งจิตปรารถนาแรกว่า อยากจะช่วยคนหรือหมู่สัตว์ออกจากวัฏสงสาร เพราะฉะนั้นในพระชาติสุดท้ายของพระองค์ พระองค์จึงใช้เวลานอนนิดเดียว เวลาที่เหลือทำเพื่อมหาชน ทำเพื่อเหล่าสัตว์ จึงสมกับพระนามว่าสัตถาเทวมนุสสานัง ทรงเป็นองค์บรมครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะว่าเป็นที่พึ่งช่วยคนหรือหมู่สัตว์ให้ออกจากวัฏสงสารอย่างแท้จริง
ในระหว่าง ๔๕ พรรษาที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ช่วงพรรษาที่ ๑ ถึงพรรษาที่ ๑๙ ๒๐ ปีแรกพระพุทธองค์จำพรรษาแทบจะไม่ซ้ำที่เลย เสด็จเดินไปตลอดเพื่อโปรดมหาชน จำพรรษาจะไม่ซ้ำที่นะ บางที่เช่นวัดพระเวฬุวันก็จะจำพรรษาซ้ำบ้าง ก็คือพรรษา ๒ ๓ ๔ พรรษาที่ ๑๗ พรรษา ๒๐ คือจำวัดพระเวฬุวัน หลังจากนั้นไม่ซ้ำที่เลย พรรษา ๑๘ ๑๙ ที่จาลิยบรรพต พอพระชนมายุ ๕๕ พรรษาที่ ๒๐ ทรงรับพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ หลังจากนั้นมาพระองค์ก็ประทับที่วัดพระเชตะวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ประทับที่สาวัตถียาว ๒๕ ปี ก็คือที่วัดพระเชตวัน ๑๙ ปี วัดบุพพารามของนางวิสาขา ๖ ปี รวมแล้ว ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า ๒๐ พรรษาแรกไม่ซ้ำที่ ๒๕ พรรษาปลาย ส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงสาวัตถี พรรษาสุดท้ายพระองค์เสด็จมาจำพรรษาที่บ้านเวฬุวคาม กรุงไวสาลี เวฬุวคามเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ไม่ได้เป็นหมู่บ้านใหญ่ ไม่ได้อยู่ในเมือง อยู่ชายแดนกรุงไวสาลีด้วยซ้ำไป เวฬุวคามหมู่บ้านที่มีผลมะตูมมาก เวฬุวะ แปลว่ามะตูม พระองค์จำพรรษาสุดท้ายที่นี่เพื่อโปรดมหาชน เพื่อแสดงธรรม พอออกพรรษาแล้วพระองค์จึงเสด็จกรุงกุสินาราเพื่อจะดับขันธ์ปรินิพพาน
ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาที่ผ่านมา ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ จะเห็นว่าทรงลำบากตรากตรำอย่างยิ่งยวด เสวยอาหารแค่เพียงวันละมื้อ ไม่มีรถยนต์ ไม่สวมรองเท้า ไม่กางร่ม เสด็จด้วยพระบาทเปล่า เสด็จเดินพระองค์แทบจะไม่ใช้อิทธิฤทธิ์เลย ทั้งที่มีฤทธิ์ เพราะว่าพระองค์ไม่ได้ทรงสรรเสริญอิทธิปาฏิหาริย์ แต่พระองค์ทรงสรรเสริญเทศนาปาฏิหาริย์ ทรงสรรเสริญปาฏิหาริย์จากการแสดงธรรม มิได้สรรเสริญการแสดงฤทธิ์ เพราะฉะนั้นใครแสดงฤทธิ์พระองค์จะทรงติเตียน ไม่ทรงเห็นด้วย ทั้งที่พระองค์ก็มี มีมากด้วย แต่เวลาพระองค์ไปไหนจะเสด็จด้วยพระบาทเปล่าเป็นส่วนใหญ่ ก็เพื่อที่จะโปรดมหาชนระหว่างทาง เพื่อจะไม่ให้คนที่เห็นพระพุทธเจ้าได้เสียโอกาสได้เสียประโยชน์ เพราะใครที่ได้เห็นได้ฟังพระนามของพระพุทธเจ้าเป็นมงคลอย่างสูงสุด เป็นมงคลอย่างหาประมาณมิได้
ในพรรษาที่ ๔๕ พระองค์ตรากตรำมาตลอด พระอัครสาวกทั้ง ๒ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ก็นิพพานไปก่อนพระพุทธเจ้า แม้แต่พระนางพิมพาผู้ที่เคยเป็นชายา ตอนนี้ก็คือพระนางยโสธราหรือพระนางภัททากัจจานาเถรี ก็นิพพานไปก่อน แม้กระทั่งโอรสของพระองค์คือพระราหุลเถระก็นิพพานไปก่อนพระพุทธเจ้า พระเทวทัตที่เป็นคู่ปรับ ผู้ที่ตั้งตนเป็นศัตรูในการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้ามายาวนานก็สิ้นชีพไปก่อนพระพุทธองค์ ศาสดามหาวีระ นิครนถนาฏบุตร ศาสดาเจ้าลัทธิทั้งหลายที่เป็นคู่แข่งในการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้าก็ตายไปก่อนพระพุทธเจ้า เป็นอันว่าบุคคลใกล้ตัวของพระพุทธเจ้าไปหมดเลย แม้กระทั่งพระเจ้าพิมพิสาร ก็สวรรคตไปก่อน พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งกรุงสาวัตถีก็สวรรคตไปก่อน ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้ถวายวัดพระเชตวันท่านก็สิ้นบุญไปก่อน เพราะฉะนั้นในพรรษาที่ ๔๕ ตอนที่พระพุทธเจ้าย่างเข้าสู่พระชนมายุ ๘๐ ปี จึงนับได้ว่าพระองค์ตรากตรำทำงานอย่างหนัก แต่ว่าพระองค์ก็ทรงอดทน ทรงมีพระขันติอย่างรุนแรง มีพระขันติอย่างแก่กล้าเพื่อที่จะข่มทุกขเวทนาของพระองค์เอาไว้ ตอนนั้นพระองค์ทรงป่วย คือพระพุทธเจ้าก็เหมือนคนเราทั่ว ๆ ไป ร่างกายมิได้แตกต่างจากเราเลย ถึงแม้จะมีความงามด้วยลักษณะแห่งมหาบุรุษ ๓๒ อย่าง แต่เมื่อถึงคราวแก่ก็แก่ ถึงคราวเจ็บก็เจ็บ ถึงคราวป่วยก็ป่วย พระองค์ทรงปักขันทิกาพาธ ถ่ายเป็นเลือด พระองค์ทรงป่วยเป็นโรคนี้อยู่นาน โดยเฉพาะพรรษาสุดท้าย โรคนี้ก็กำเริบ เวทนาก็แก่กล้า แต่พระองค์ก็ทรงใช้ขันติในการข่มเวทนาเอาไว้ ทรงใช้อิทธิบาทภาวนาในการข่มเอาไว้ แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังเสด็จ มิได้หยุดพักเลย เสด็จเดินทางตลอด เดินด้วย ไม่มีใครแบกไม่มีใครหาม เดินไปกับพระอานนท์
เราลองคิดดูว่าคนแก่อายุ ๘๐ พระอานนท์ที่เป็นอุปัฏฐากก็อายุ ๘๐ คนแก่ ๘๐ กับ ๘๐ เดินประคองกันไป น่าเห็นใจขนาดไหน แต่พระองค์อาศัยพระมหากรุณาธิคุณที่เปี่ยมล้นอยู่ในพระทัยของพระองค์ ต้องเสด็จต่อไป ต้องไปนิพพานที่กรุงกุสินาราให้ได้ เพราะอาศัยเหตุ ๓ อย่าง พระองค์ไม่ไปนิพพานที่เมืองอื่น ไม่นิพพานที่ไวสาลี ไม่นิพพานที่ราชคฤห์ แต่ไปนิพพานที่กุสินาราเพราะอาศัยพระมหากรุณา ๓ อย่าง ก็คือ อย่างแรก ที่กุสินาราเป็นเมืองเล็กเป็นเมืองน้อยก็จริง แต่ว่ามีโทณพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของเหล่ากษัตริย์ทั่วชมพูทวีปอยู่ โทณพราหมณ์ผู้นี้สามารถห้ามสงครามในการแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุในอนาคตได้ คือพระองค์กลัวศึกนองเลือดจะเกิดขึ้น แย่งชิงกระดูกพระพุทธเจ้า พระองค์เลยต้องไปที่กุสินารา อย่างที่สอง ต้องการเพื่อจะไปโปรดสุภัททปริพาชก ผู้นี้ตั้งความปรารถนาเพื่อจะเป็นสาวกพระพุทธเจ้าแต่เขาทำบุญช้าไปหน่อย เลยมาเป็นปัจฉิมสาวก สาวกองค์สุดท้าย แต่เขาอยู่กุสินารา ถ้าพระองค์ไปนิพพานที่เมืองอื่นก็จะไม่ได้เจอกับสุภัททปริพาชก พระองค์เลยต้องไปกุสินารา เหตุผลข้อที่สอง ข้อที่สามเพื่อที่จะไปแสดงมหาสุทัสสนะสูตรที่นั่น พระองค์เลยต้องเสด็จไป
เสด็จจากไวสาลีไปยังกุสินารา ถ้าหากพวกเราเคยไปอินเดีย เดินทางจากไวสาลีไปกุสินาราเดินทาง ๕ ถึง ๖ ชั่วโมง นั่งรถเรายังรู้สึกเหนื่อย แต่พระพุทธเจ้าอายุ ๘๐ เดินด้วยพระบาทเปล่า ป่วยด้วย แต่พระองค์ก็ทรงอดทนมาเสมอ ๆ แล้วพอเสด็จมาถึงที่ปาวาลเจดีย์ วันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ ก็คือวันมาฆบูชา พระพุทธองค์ประทับที่ใต้ต้นไม้ซึ่งมีเงาครึ้มต้นหนึ่ง ตรัสกับพระอานนท์ว่า อานนท์...ผู้ที่อบรมอิทธิบาท ๔ มาอย่างดีแล้ว ทำจนแคล่วคล่อง ปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ถึง ๑๒๐ ปี มีอายุยืนอยู่ตลอดกัปคือ ๑๒๐ ปีก็ทำได้ พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง แต่พระอานนท์ก็ไม่ได้ทูลอะไรเลย เพราะคิดว่ามันเป็นความวิตกกังวล เป็นความเศร้าหมองที่อยู่ในใจของพระอานนท์เถระ จึงทำให้มาปิดบังดวงปัญญาของท่าน ท่านเลยปล่อยโอกาสทองให้หลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย โอกาสทองอะไร โอกาสทองก็คือ ถ้าหากว่าพระอานนท์ทูลขอให้พระพุทธเจ้ามีพระชนม์อยู่ต่อ พระองค์ก็จะสามารถมีอายุอยู่ต่อได้อีกถึง ๔๐ ปี คือ ๑๒๐ แต่พระอานนท์มิได้ทูลขออะไรเลย พระพุทธองค์ก็เลยบอกว่า อานนท์ เธอไปพักผ่อนเสียบ้างเถิดนะ เธอเหนื่อยมามากแล้ว แม้เราตถาคตก็จะพักผ่อนเหมือนกัน พระอานนท์ก็เลยหลีกไปพักอยู่ใต้ต้นไม้อีกต้นหนึ่ง
หลังจากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงรำพึงถึงอดีตกาลแต่นานไกล ล่วงมาถึง ๔๕ ปี เมื่อที่พระองค์ตรัสรู้ใหม่ ๆ ตอนนั้นพระองค์รู้สึกท้อพระทัยที่จะแสดงธรรมโปรดมหาชน แต่พระองค์ก็ทรงอาศัยพระมหากรุณาแสดงธรรมโปรดมหาชนมาจนถึง ๔๕ ปี จนกระทั่งมีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พุทธบริษัท ๔ เป็นปึกแผ่นมั่นคง พระศาสนาตั้งมั่นเป็นปึกแผ่นในชมพูทวีปในโลกแล้ว พระองค์จึงเห็นว่าตอนนี้แหละเป็นเวลาสมควรที่จะเข้าสู่มหาปรินิพพาน พอทรงดำริดังนี้แล้ว พระองค์ก็ทรงปลงพระชนมายุสังขาร คือ อธิษฐานในใจว่าอีก ๓ เดือนข้างหน้า จะต้องปรินิพานแน่นอน มันเป็นเหตุอัศจรรย์อย่างยิ่งใหญ่ในการปลงพระชนมายุสังขารของพระพุทธเจ้า แผ่นดินก็สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น แผ่นดินก็สั่น ลมก็พัด รุกขสาขาหวั่นไหวไกวแกว่งด้วยแรงพายุโบกสะบัดแล้วก็นิ่งสงบ ท้องฟ้าที่มีสีครามก็กลายเป็นสีแดงเหมือนกับเสื่อลำแพนที่มาไล้ทาด้วยเลือดสด เขาอุปมาอย่างนั้น ปักษาชาติก็ร้องระงมสนั่นไพร เหมือนกับจะประกาศว่าพระผู้ทรงมหากรุณาธิคุณกำลังจะจากโลกนี้ไป
พระอานนท์เห็นอาการผิดสังเกตก็เลยเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามว่า พระองค์ผู้เจริญ โลกธาตุวิปริตแปรปรวนผิดปกติไม่เคยมีไม่เคยเป็น เกิดแบบนี้ขึ้นเพราะเหตุอะไรพระพุทธเจ้าข้า พระพุทธองค์ก็เลยตรัสว่าอานนท์เอย...อย่างนี้นี่แหละ คราใดที่ตถาคตประสูติ ตรัสรู้ หมุนธรรมจักรให้เป็นไป ปลงอายุสังขาร และปรินิพพาน ย่อมมีเหตุการณ์แบบนี้ ตอนนี้พระอานนท์ก็ทราบได้ทันทีว่าตอนนี้พระพุทธเจ้าปลงพระชนมายุสังขารแล้ว ท่านเกิดความสะเทือนใจ น้ำตาไหลเอ่อออกมา ไหลออกมาทั้งสองแก้ม ท่านก็หมอบแทบพระบาทพระพุทธเจ้าทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์อาศัยความกรุณาจงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ต่ออีกเถิดพระพุทธเจ้าค่ะ อย่าได้ด่วนปรินิพพานเลย พระพุทธองค์ก็ตรัสว่า อานนท์เอย...เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ตถาคตกลับใจ ตถาคตจะต้องปรินิพพานในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ อีก ๓ เดือนข้างหน้าอย่างแน่นอน อานนท์ เราได้แสดงนิมิตโอภาสแก่เธอถึง ๑๖ ครั้ง ว่าอย่างเราที่บำเพ็ญอบรมอิทธิบาท ๔ มาอย่างดี ถ้าหากมีความประสงค์จะอยู่ต่อถึง ๑๒๐ ปีก็ทำได้ แต่เธอก็หาได้เฉลียวใจไม่ เธอไม่ได้ทูลอะไรแก่เราเลย เราได้แสดงนิมิตโอภาสแก่เธออย่างนี้ ที่กรุงราชคฤห์ถึง ๑๐ ครั้ง ก็คือที่เขาคิชฌกูฏ ต่อมาเราได้แสดงนิมิตโอภาสแก่เธอที่โคตมนิโครธ ที่เหวสำหรับทิ้งโจร ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหาใกล้ภูเขาเวภารบรรพต ที่ถ้ำกาฬสิลาใกล้ภูเขาอิสิคิลิที่พระโมคคัลลาน์ได้นิพพาน ที่เงื้อมเขาสัปปิโสณฑิกา ใกล้ป่าสีตวัน ที่ตโปทาราม ที่เวฬุวันสวนไผ่วัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนา ที่สวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ที่มัททกุจฉิทายวัน ทั้ง ๑๐ แห่งนี้ เราแสดงนิมิตโอภาสแก่เธอที่กรุงราชคฤห์
จากนั้น จากกรุงราชคฤห์เดินทางมาที่กรุงไวสาลี เราก็แสดงนิมิตโอภาสแก่เธออีกถึง ๖ ครั้ง ก็คือที่อุเทนเจดีย์ สัตตัมพเจดีย์ โคตมกเจดีย์ พหุปุตตเจดีย์ และสารันทเจดีย์ และที่แห่งสุดท้ายคือปาวาลเจดีย์แห่งนี้ เราก็แสดงนิมิตโอภาสแก่เธอ แต่เธอก็มิได้ฉงนใจอะไรเลย เป็นความผิดพลาดของเธอเอง เธอจะคร่ำครวญเอาอะไรอีก อานนท์เอย...บัดนี้สังขารเหมือนกับเทียนที่ชำรุด เราได้สละแล้ว การที่จะให้ดึงกลับมาอีกนั้นมิใช่วิสัยของตถาคต อานนท์เธอจงเบาใจเถิด เรามิได้ปรักปรำเธอ เธอได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว บัดนี้เป็นกาลสมควรที่เราตถาคตจะต้องจากโลกนี้ไป ยังเหลือเวลาอีก ๓ เดือน เธอ...เราเคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า บุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งรัก จากสิ่งที่พึงใจเป็นธรรมดาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อานนท์เอย...ชีวิตนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุด สิ่งทั้งหลายมีความแตกไป ดับไป สลายไปเป็นธรรมดา จะให้เป็นไปตามใจของเรานั้นทำไม่ได้ ขอให้พวกเธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นใหญ่ จงมีธรรมเป็นที่ตั้งเถิด
หลังจากนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จจากปาวาลเจดีย์ไปยังกรุงกุสินารา เมื่อถึงที่ชายแดนกรุงไวสาลี พระพุทธองค์ก็เสด็จหันพระพักตร์มองไวสาลีเป็นครั้งสุดท้าย แสดงนาคาวโลกคือหันไปมองเป็นครั้งสุดท้าย เหมือนกับพญาช้างตัวประเสริฐ ที่เหลียวกลับไปมองไวสาลีเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเป็นการแสดงว่า ไวสาลีที่งดงามที่ยิ่งใหญ่จะไม่ได้กลับมาดูอีก จะไม่ได้กลับมาเห็นอีก เป็นการมองครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นพระองค์ก็เสด็จไปยังกรุงกุสินารา ผ่านที่เมืองปาวา นายจุนทะกัมมารบุตรก็ได้ถวายอาหารบิณฑบาตมือสุดท้ายด้วยสูกรมัททวะ ก็คืออาหารที่ทำด้วยเห็ดชนิดหนึ่ง ที่หมูมันจะดมและคุ้ย ๆ ขึ้นมา เป็นเห็ดที่หายาก นายจุนทะก็นำเห็ดชนิดนี้มาปรุงถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเสวยแล้วก็รับสั่งว่า จุนทะเธอเอาไปฝังนะ เพราะว่าในโลกนี้มีแต่เราตถาคตที่ย่อยเห็ดชนิดนี้ได้ พระพุทธองค์ป่วยปักขันธิกาพาธ แต่ยังอาศัยพระมหากรุณาเป็นห่วงภิกษุสงฆ์ ให้นำอาหารอย่างอื่นมาถวายแทน
หลังจากนั้นพระพุทธองค์พร้อมพระอานนท์ ตอนนี้พระองค์เสวยสูกรมัททวะเข้าไป มันแสลงต่อโรค พระองค์ถ่ายเป็นเลือดหนักกว่าเดิมอีก เดินจากบ้านนายจุนทะไปถึงกุสินารา ระยะทางประมาณ ๑ โยชน์ก็คือ ๑๖ กิโลเมตร แต่พระพุทธองค์หยุดพักถึง ๒๕ ครั้ง คือตอนนี้หนักเต็มที่แล้ว อาการประชวรของพระองค์ พระองค์กับพระอานนท์ก็ประคองกันไปจนถึงกุสินารา ที่สาลวโนทยาน ป่าไม้สาละของเจ้ามัลละในกรุงกุสินารา พระองค์ให้พับผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้น แล้วพระองค์ก็ประทับนอนหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนืออยู่ที่ใต้ต้นสาละทั้งคู่ แล้วในคืนนั้นพระองค์ก็ทรงแสดงธรรมมากมายเพื่อโปรดภิกษุ โปรดมหาชน พระองค์ก็ตรัสว่าในอนาคตกาลมีภิกษุ ภิกษุณี มาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์มากมาย พอเราตถาคตไปแล้วก็จะว้าเหว่ว่าตถาคตไม่อยู่ สถานที่เราตถาคตได้ประสูติที่ลุมพินี สถานที่เราได้ตรัสรู้ที่พุทธคยา สถานที่เราได้หมุนพระธรรมจักรให้เป็นไปครั้งแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน สถานที่เราตถาคตกำลังจะปรินิพพานในบัดนี้ กุลบุตรผู้มีศรัทธาจาริกไปยังสถานที่ทั้ง ๔ แห่ง ยังกิจให้เลื่อมใส เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ถ้าตายไปย่อมเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง
แล้วก็แสดงถึงว่า ในอนาคต พระอานนท์ก็ทูลถามว่า ในพรหมจรรย์นี้มีสุภาพสตรีเป็นอันมากเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระภิกษุ ในฐานะเป็นพี่บ้าง เป็นน้องบ้าง เป็นแม่บ้าง เป็นโยมอุปัฏฐากบ้าง แล้วจะพึงปฏิบัติต่อสตรีอย่างไรพระเจ้าค่ะ พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสว่า อานนท์...การที่ภิกษุจะไม่ดูสตรีนั้นเป็นการดี ถ้าหากต้องดูก็อย่าพูดด้วยอย่าสนทนาด้วยเป็นการดี ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วยก็จงมีสติ ควบคุมสติให้ได้ สำรวมอินทรีย์และกายวาจาให้เรียบร้อย อย่าให้ความกำหนัดมันฟุ้งขึ้นมาในใจ อย่าให้ความหลงใหลมันครอบงำจิตใจได้ อานนท์...เรากล่าวว่าสตรีที่บุรุษเอาใจเข้าไปเกาะ เอาใจเข้าไปเกี่ยวข้องนั้นเป็นมลทินของพรหมจรรย์ แล้วถ้าสตรีที่บุรุษมิได้เอาใจเข้าไปเกี่ยวข้องล่ะพระเจ้าค่ะ จะเป็นมลทินของพรหมจรรย์ได้ไหม ไม่เป็นสิอานนท์ เธอระลึกได้หรือไม่ เราเคยกล่าวกับเธอว่าอารมณ์ที่วิจิตรงดงาม สิ่งที่สวยงามที่มันอยู่ในโลกมิใช่กาม แต่ความกำหนัดยินดีที่เกิดขึ้นเพราะความคิดเพราะความดำริต่างหากเป็นกามของคน เมื่อกระชากความพอใจออกเสียได้ สิ่งที่วิจิตรสวยงาม ของสวยของหล่อที่เราหลงกันทั้งหลาย มันก็จะอยู่เก้อ ๆ อย่างนั้น มันจะทำพิษทำภัยอะไรต่อไปให้เราอีกไม่ได้ ความเงียบสงัดปกคลุมอยู่ครู่หนึ่ง พระอานนท์ก็ทูลถามพระพุทธองค์เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ มากมาย เรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติ เกี่ยวกับพุทธสรีระว่าจะทำอย่างไร พระพุทธองค์ก็ให้ทำเหมือนกับทำกับพระเจ้าจักรพรรดิ ก็คือห่อด้วยผ้า ๕๐๐ ชั้น ซับด้วยสำลี แล้วก็ใส่ในโรงเหล็กที่เต็มด้วยน้ำมันหอม แล้วก็ตั้งไว้จิตกาธานแล้วก็เผาไฟ จากนั้นก็นำอัฐิธาตุมาสร้างสถูปเจดีย์ เพื่อให้คนทั้งหลายได้บูชา เพื่อเป็นสิ่งสักการะสิ่งเคารพ เป็นประโยชน์แก่คนทั้งหลายในอนาคต
หลังจากนั้นพระพุทธองค์ก็บรรทมนิ่งอยู่ พระอานนท์ถอยออกจากที่เฝ้าเพราะความเศร้าสลดสุดที่จะอดกลั้นได้ ท่านไปยืนอยู่ที่ประตูวิหารจับลิ่มสลักน้ำตาไหลจนอาบแก้ม เสียงสะอื้นเบา ๆ ก็ตามมา บัดนี้ท่านอายุอยู่ในวัยชรานับได้ ๘๐ ปี เท่ากับพระชนมายุของพระพุทธเจ้า อุปสมบทมานานถึง ๔๔ พรรษาได้ยินได้ฟังพระธรรมและอบรมจิตใจอยู่เสมอ ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน ผู้ที่มีคุณธรรมขนาดนี้ถ้าไม่มีเรื่องกระทบกระเทือนใจคงจะไม่เศร้าโศกเสียใจถึงขนาดร้องไห้ออกมา ท่านสะอึกสะอื้นจนสั่นเทิ้มไปทั้งองค์ บางคราวจะเห็นผ้าสีเหลืองหม่นที่คลุมกายของท่านสั่นน้อย ๆ ตามแรงสั่นแห่งรูปกาย ท่านรู้สึกสะเทือนใจและว้าเหว่ เพราะว่าท่านอยู่กับพระพุทธเจ้ามาหลายสิบปี ตอนนี้พระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังจะดับขันธ์ปรินิพพาน เหมือนกับกำลังจะมากระชากดวงใจของท่านให้หลุดลอยไป ท่านก็ร้องไห้ ร้องไห้จนสั่นไปทั้งองค์
พอพระอานนท์หายไปนาน พระพุทธองค์ก็เลยเรียกหา พระอานนท์มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยน้ำตา พร้อมด้วยใบหน้าที่ยังชุ่มด้วยน้ำตาอยู่ พระศาสดาก็เลยตรัสปลอบใจว่า อานนท์...อย่าคร่ำครวญแล้วนักเลย เราเคยบอกไว้มิใช่หรือ บุคคลน่ะย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งรัก สิ่งที่พอใจเป็นธรรมดา ในโลกนี้ ไม่ว่าในโลกไหน ๆ ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนถาวรเลย สิ่งที่เกิดขึ้นมาก็ต้องย่อมดับไปในที่สุด ข้าแต่พระองค์ผู้หยุดเดือนตะวัน พระอานนท์ทูลด้วยเสียงที่สะอื้นอยู่ ข้าพระองค์มารำพึงถึงว่าตลอดระยะเวลาที่ข้าพระองค์อยู่กับพระพุทธองค์ เที่ยวไปเหมือนกับเงาที่ตามตัว บัดนี้พระพุทธองค์จะจากไปแล้ว ข้าพระองค์จะพึงปรนนิบัติ จะพึงอุปัฏฐากใคร จะปัดปูเสนาสนะที่หลับที่นอนให้ผู้ใด และตอนนี้ข้าพระองค์ก็ยังมีกิเลสอาสวะอยู่ เหมือนกับยังเป็นเด็กน้อย แต่พระองค์ต้องมาด่วนจากไป ข้าพระองค์รู้สึกว้าเหว่รู้สึกเดียวดาย พระพุทธองค์ก็ตรัสตอบว่า อานนท์...เธอเป็นผู้มีบารมีธรรมที่ได้สั่งสมมาแล้ว เป็นผู้มีบารมีธรรมไว้มาก เธออย่าได้เสียใจเลย กิจอันใดที่ได้ทำแก่ตถาคต เธอก็ได้ทำกิจอันนั้นอย่างสมบูรณ์ด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่ประกอบด้วยเมตตาอย่างยอดเยี่ยม จงประกอบความเพียรเถิด เมื่อเราล่วงลับไปแล้วเธอจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์อย่างแน่นอน แล้วก็ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาชมเชยพระอานนท์เป็นอเนกประการ
ภายใต้แสงจันทร์สีนวลที่ยองใย พระผู้พี่พระภาคบรรทมเหยียดพระวรกายในท่าสีหไสยาสน์ แวดล้อมไปด้วยพุทธบริษัทมากมาย แผ่ปริมณฑลกว้างออกไป กว้างออกไป พระพุทธองค์ก็ตรัสกับพระอานนท์ว่า อานนท์เอย...เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว เธอทั้งหลายอาจจะคิดว่าบัดนี้พวกเธอไม่มีศาสดาแล้วจะพึงว้าเหว่ ไร้ที่พึ่ง อานนท์เอย...เธอพึงประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงได้บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยอันนั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอหลังการล่วงไปแห่งเรา บัดนี้พละกำลังของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหลืออยู่น้อยเต็มที ประดุจน้ำที่เทราดลงไปในแผ่นดินที่กำลังจะเหือดแห้งไป มิได้ปรากฎแก่สายตา ถึงกระนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังรวบรวมพละกำลังครั้งสุดท้ายตรัสปัจฉิมโอวาทเหมือนกับเป็นคำสั่งเสียว่า หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ขอพวกเธอจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด
จากนั้นพระพุทธองค์ก็หลับพระเนตรนิ่ง โดยที่มิได้ตรัสอะไรออกมาอีกเลย ในที่ประชุมนั้นก็ข้องใจว่าตอนนี้พระผู้มีพระภาคเจ้านิพพานหรือยัง พระอนุรุทธะก็เลยเข้าสมาบัติตาม ก็ทราบว่าตอนนี้พระพุทธเจ้าอยู่ในฌานที่ ๑ แล้วก็ไปสู่ฌานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ จนกระทั่งถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ จากนั้นก็ถอยออกมายังฌานที่ ๘ ก็คือเนวสัญญา ไล่ลงมาเป็นฌานที่ ๗ ที่ ๖ ที่ ๕ ที่ ๔ ที่ ๓ ที่ ๒ ที่ ๑ ออกจากปฐมฌาน ก็เข้าสู่ทุติยฌาน ออกจากฌานที่ ๒ ก็เข้าสู่ฌานที่ ๓ ออกจากฌานที่ ๓ เข้าสู่ฌานที่ ๔ พอออกจากฌานที่ ๔ คือ จตุตถฌานแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ดับขันธปรินิพพานในระหว่างนั้น ขณะเดียวกับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพาน ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ แผ่นดินก็ไหวไปทั่ว สากลจักรวาลโลกธาตุก็สั่นสะเทือนหวั่นไหวไปหมด มหาปฐพีที่สามารถรองรับทุกสิ่งทุกอย่างได้ก็ไม่อาจจะทนอยู่ได้ แสดงอาการกัมปนาทหวั่นไหวไปทั่ว ห้วงมหรรณพมหาสมุทรก็ตีฟองคะนองคลื่นสั่นสนั่นไปทั่วทั้งสาธร ท้องฟ้านภากาศก็มืดสลัวลง พร้อมทั้งมีเสียงครืนครันสนั่นทั่วเวหา เหมือนกับแสดงอาการคร่ำครวญถึงองค์พระโลกนาถผู้จากไป พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว พระกายของพระองค์ก็เหมือนกับคนทั้งหลายที่ต้องแตกสลายไปในที่สุด มีแต่ความดีและเกียรติภูมิของพระองค์ยังคงดำรงอยู่ในโลก ต่อไปอีกตราบกาลนาน
บัดนี้พระบรมศาสดาได้ดับลมหายใจลงแล้ว พวกเราจึงต้องมาช่วยกันสืบต่อลมหายใจของพระศาสดา สืบต่อลมหายใจแห่งพระพุทธศาสนา สืบต่อลมหายใจแห่งพระธรรมวินัย สืบต่อลมหายใจแห่งคุณธรรมวิเศษทั้งหลาย คือวิปัสสนา คือฌาน คือมรรคผลพระนิพพาน ให้พวกเราอยู่กับลมหายใจ อยู่กับอานาปานสติ อยู่กับธรรมเป็นเครื่องอยู่ เอายอดพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าคือความไม่ประมาทมาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา พวกเราจะได้ไม่เสียชาติเกิดที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ที่ประเสริฐ เกิดมาเพื่อพระนิพพาน ได้เกิดมาพบ ได้เกิดมาเจอ ได้เกิดมาทำได้เกิดมาปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พวกเราได้ฟังประวัติของบุคคลผู้ที่เป็นมหาบุรุษ ผู้ที่ทรงเสียสละมากมายขนาดนี้ สร้างบารมีมาจนกระทั่งสำเร็จเสร็จสิ้นเป็นพระศาสดาเอกของโลก ทำหน้าที่ทุกสิ่งทุกอย่างอย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ งามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และในที่สุด ให้พวกเราเอาพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เอาพระพุทธเจ้า เอาพระธรรม เอาพระอริยสงฆ์ไว้เป็นที่พึ่ง ที่ระลึกที่สูงสุด อยู่ในใจของเราอยู่เสมอ ๆ เราต้องทำตามพระพุทธเจ้าเพื่อที่จะได้ดับทุกข์ เพื่อที่จะได้พ้นทุกข์ด้วยกันทุกคน เพื่อที่จะได้ก้าวล่วงความทุกข์โทมนัส ทุกข์สาหัสเพียงใดหายขื่นขม เพื่อจะได้บรรลุสู่ธรรมะอภิรมย์ เพื่อจะได้เชยชมอมตะมหานิพพาน ด้วยกันทุกท่านทุกคน
ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัยและบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องพานหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถาน อันตรายใด ๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ