แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ในวันอังคารที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๔
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง การสร้างบารมีของพระพุทธเจ้า ตอนแสดงปฐมเทศนา - วางรากฐานพระพุทธศาสนา
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
พุทธัง ธัมมัง สังฆัง นะมัสสามิ
ขอความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย น้อมใจกราบถวายความเคารพบารมีธรรมแห่งองค์
พ่อแม่ครูบาอาจารย์ กราบขอโอกาสพระมหาเถระ พระเถรานุเถระ เพื่อนสหธรรมิกทุกรูปด้วยความเคารพ ขอความเจริญในธรรม ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ จงบังเกิดมีแด่คุณโยมทุกคนทุกท่าน พวกเราเอามือลง นั่งฟังธรรมตามสบาย
วันนี้เป็นวันอังคารที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ องค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ หลวงพ่อใหญ่ ได้เมตตาให้บรรยายธรรม เพื่อให้คณะสงฆ์และผู้ปฏิบัติธรรมได้เข้าใจในพระพุทธศาสนา ได้ทราบถึงเรื่องแห่งบุคคลผู้เป็นมหาบุรุษ ผู้ที่เสียสละมากที่สุด จนกว่าจะได้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ผู้ทรงเป็นองค์บรมครูของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ทำให้มีพระพุทธศาสนา ให้มีพระสัทธรรม อันนำไปสู่ความดับทุกข์ ความพ้นทุกข์ ถึงมรรคผลพระนิพพานได้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงเป็นยอดบุคคลในดวงใจที่เราต้องยกไว้เป็นที่หนึ่งในใจของเราเสมอ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่พวกเราจะต้องทราบเรื่องราวของบุคคลในดวงใจคือ พระพุทธเจ้า
เมื่อวานก็เล่ามาถึง หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้เสวยวิมุตติสุข ๗ สัปดาห์ จากนั้นพระองค์ก็เสด็จกลับไปที่ต้นอชปาลนิโครธ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เคยรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา ทรงเสด็จกลับไปอีกครั้ง แล้วพระองค์ก็ทรงรำพึงถึงธรรมที่ตรัสรู้ว่า ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ “อธิคโต โข มฺยายํ ธมฺโม คมฺภีโร ทุทฺทโส ทุรนุโพโธ สนฺโต ปณีโต อตกฺกาวจโร นิปุโณ ปณฺฑิตเวทนีโย” ซึ่งหมายความว่าธรรมที่เราได้บรรลุนี้ “คมฺภีโร” มีความลึกซึ้ง รู้ตามได้ยาก เห็นตามได้ยาก สงบประณีต ไม่ใช่วิสัยของนักคิด “อตกฺกาวจโร” คือไม่ใช่วิสัยของนักคิด จะคิดเอาเองไม่ได้ เพราะธรรมะไม่ใช่เรื่องของความคิด แต่เป็นเรื่องของการที่ต้องลงมือปฏิบัติ แล้วก็ไม่ควรจะลงความเห็นด้วยการเดา คาดเอา มาถกเถียงกันแบบเป็นปรัชญา แต่ว่าเป็นธรรมที่บัณฑิตพอจะรู้ได้ แล้วอนึ่งเล่า สัตว์ทั้งหลาย ส่วนมากยินดีในอาลัย คือกามคุณ ๕ สัตว์ผู้เห็นปานนั้น ยากที่จะเห็นปฏิจจสมุปบาท แล้วก็พระนิพพาน ซึ่งมีสภาพบอกคืนกิเลสทั้งมวล ทำตัณหาให้สิ้น ดับทุกข์ เราจะพึงแสดงธรรมหรือไม่หนอ พระองค์ทรงคิดแบบนี้ พอพระองค์ทรงดำริอย่างนี้ ก็เลยน้อมพระทัยเพื่อที่จะเป็นอยู่สบาย ขวนขวายน้อย ไม่ปรารถนาจะแสดงธรรม
ขณะนั้น ท้าวสหัสบดีพรหม ทรงทราบถึงพระพุทธดำริของพระพุทธเจ้า เลยทรงชักชวนเหล่าทวยเทพที่เป็นองค์มหาเทพ หัวหน้าสวรรค์ชั้นต่าง ๆ มาเข้าเฝ้า กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้ทรงแสดงธรรม แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงรับคำอาราธนาของท้าวมหาพรหม ณ ขณะนั้น พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงฝังอยู่ในพระกมลอันบริสุทธิ์มาเป็นเวลาช้านาน ตั้งแต่เวลาที่พระองค์ทรงปรารถนาพุทธภูมิ เพื่อขนเวไนยสัตว์ให้ข้ามห้วงมหรรณพคือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ได้เตือนพระทัยให้หวนนึกถึงปฏิญญาที่พระองค์ทรงให้ไว้แก่โลก ตั้งแต่ทรงตั้งพระทัยปรารถนาพุทธภูมิครั้งแรก พระทัยที่ประกอบด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ได้ทูลกระตุ้นเตือนพระหทัยพระองค์ว่า ธรรมอันไม่บริสุทธิ์ที่คนมีมลทินคิดกันปรากฏอยู่ในแคว้นมคธมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ขอพระองค์จงเปิดประตู เพื่อให้บุคคลเดินเข้าไปสู่แดนอมตะเถิด คนทั้งหลายต้องการฟังธรรม ซึ่งพระองค์ปราศจากมลทินได้ตรัสรู้แล้ว ขอพระองค์ผู้ไม่โศก มีปัญญาดี จงเสด็จขึ้นสู่ปราสาทที่สำเร็จด้วยธรรม แล้วมองดูหมู่สัตว์ผู้ยังก้าวข้ามความโศกไม่ได้ ถูกชาติชราครอบงำคร่ำครวญอยู่ พระองค์เป็นประดุจผู้ยืนอยู่บนยอดเขา สามารถมองเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ โปรดลุกขึ้นเถิดพระมหาวีระ ผู้ชนะสงครามภายในแล้ว พระองค์ผู้ประดุจนายกองเกวียน ผู้สามารถนำสัตว์ให้ข้ามพ้นห้วงอันตราย พระองค์เป็นผู้ไม่มีหนี้ ขอเสด็จเที่ยวไปในโลกเถิด ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงแสดงธรรมเถิด ผู้รู้ตามจะมีเป็นแน่แท้ อันนี้คือความรำพึงที่อยู่ในพระทัยของพระองค์
จากนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงตรวจดูเหล่าสัตว์ทั้งหลายด้วยทิพยจักษุญาณ ได้มองเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในจักษุ คือ กิเลสน้อยก็มี มากก็มี มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีบ้าง อาการชั่วบ้าง ให้รู้ได้โดยง่ายบ้าง ให้รู้ได้โดยยากบ้าง เหมือนกับดอกบัว ๔ เหล่าที่อยู่ในน้ำ
เหล่าแรกคือ “อุคฆฏิตัญญู”เหมือนกับบัวที่โผล่พ้นน้ำมาแล้ว พร้อมที่จะเบ่งบานเมื่อได้รับแสงตะวัน เหมือนกับบุคคลผู้ที่ได้ฟังธรรมเพียงแค่นิดเดียว บทเดียว บาทเดียว ก็สามารถบรรลุธรรมได้โดยฉับพลันในขณะนั้น
เหล่าที่ ๒ “วิปจิตัญญู” เหมือนกับดอกบัวที่เสมอน้ำ รอที่จะโผล่พ้นน้ำ แล้วก็จะเบ่งบานในวันต่อ ๆ ไปเหมือนกับผู้ที่มีอุปนิสัยวาสนาบารมีปานกลาง มีกิเลสแล้วก็ปัญญาปานกลาง เมื่อได้ฟังธรรม ได้ปฏิบัติไม่นานก็จะได้บรรลุธรรม
เหล่าที่ ๓ คือ “เนยยะ” ผู้ที่มีวาสนาบารมีน้อย มีสติปัญญาน้อย มีกิเลสหนา ต้องเพียร ต้องปฏิบัติ ต้องขัดเกลา ต้องเร่งความเพียร เพียรแล้วเพียรเล่า สุดท้ายและในที่สุดก็จะบรรลุถึงความหลุดพ้นได้ เหมือนกับดอกบัวที่ยังอยู่ในน้ำ รอที่จะโผล่พ้นน้ำ แล้วก็เบ่งบานในวันต่อ ๆ ไป
แล้วก็เหล่าที่ ๔ “ปทปรมะ” คือบัวที่ยังอยู่ในโคลนตม เปรียบเหมือนกับคนที่ไม่สามารถจะรู้ธรรมได้ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นอเวไนยสัตว์ คือแนะนำไม่ได้ สั่งสอนไม่ได้
ดังนั้น พระพุทธองค์ทรงทราบดังนี้ ทรงตรวจดูดังนี้ ก็เลยทรงตั้งพุทธปณิธานที่จะดำรงพระชนม์อยู่ จนกว่าจะประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลาย หลังจากนั้น เหล่าท้าวมหาพรหมและเทพยดาทั้งหลายก็กลับสวรรค์ พระพุทธองค์ทรงรำลึกถึงบุคคลที่จะทรงแสดงธรรมโปรดก่อน ตอนแรกรำลึกถึงอาจารย์ทั้ง ๒ ท่าน คือท่านอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุทกดาบสรามบุตร แต่ว่าอาจารย์ทั้ง ๒ ท่านนี้ เพิ่งจะสิ้นบุญไปเมื่อ ๗ วันที่แล้ว แล้วท่านได้สมาบัติ ๗ กับสมาบัติ ๘ เป็นอรูปฌาน ไปเกิดเป็นอรูปพรหม อรูปก็คือ ไม่มีร่างกาย มีแต่จิต มีแต่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีรูปขันธ์ ไม่มีตา ไม่มีหู เห็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ ฟังธรรมไม่ได้ พระพุทธองค์ก็เลยบอกว่า เสียดายเหลือเกิน เพราะว่าอาจารย์ไปเกิดตรงนั้น ไปช่วยไม่ได้ พระองค์ก็เลยนึกถึงบุคคลที่จะแสดงธรรมโปรดต่อไป ก็เลยรำลึกถึงคุณของปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือ ท่านโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ ซึ่งท่านทั้ง ๕ นี้ เคยดูแลอุปัฏฐากปรนนิบัติรับใช้ ตอนที่บำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ แล้วพอพระมหาบุรุษกลับมาเสวยพระกระยาหารดังเดิม ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็เลยเหมือนกับเสียใจ น้อยใจที่พระโพธิสัตว์หยุดความเพียร ไม่ทรมานร่างกายต่อ ก็เลยไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
พระพุทธองค์อยู่ที่บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์หลายวัน พอจนถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๘ พระองค์ก็เสด็จไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เป็นระยะทางประมาณ ๑๘ โยชน์ ๑ โยชน์คือ ๑๖ กิโลเมตร ๑๘ โยชน์ก็ ๒๘๘ กิโลเมตร พระองค์เสด็จไปถึงอีกวันหนึ่ง ก็คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เหล่าปัญจวัคคีย์เห็นพระพุทธองค์เสด็จเดินมาแต่ไกล ก็เลยนัดหมายกันว่า พระโคดมผู้นี้คลายความเพียร เวียนมาเป็นคนมักมาก ดังนั้น พวกเราจะไม่ไหว้ จะไม่ลุกต้อนรับ ไม่รับบาตรจีวรของพระองค์ แค่จัดอาสนะไว้ให้ก็พอ เพราะยังมีอาการนอย (annoy) มีอาการน้อยใจอยู่ ก็เลยตั้งกติกากันไว้อย่างนั้น เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึง ด้วยสัญญาเดิมที่เคยทำ ที่เคยปฏิบัติ เคยรับใช้ ก็เลยลืมสัญญาที่นัดกันไว้ บางคนก็ลุกมาต้อนรับ บางคนก็เชื้อเชิญให้นั่ง แต่ว่าเรียกพระพุทธเจ้าด้วยถ้อยคำที่ไม่เคารพ เรียกว่า อาวุโสโคตมะ คำว่าอาวุโสนี้ในทางพระคือเรียกคนที่อายุน้อยกว่า อาวุโสก็เหมือนกับคุณ ๆ หรือ น้อง ๆ ประมาณนี้ หากคนที่แก่กว่า จะเรียกว่าภันเต คือท่านผู้เจริญ แล้วในวันนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงบอกเขาไปว่า อย่าเรียกเราด้วยถ้อยคำแบบนี้ ตอนนี้เราตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เขาก็เลยถามว่าพระองค์ละการบำเพ็ญทุกรกิริยา หันมาเสวยพระกระยาหาร แล้วจะบรรลุได้อย่างไร
พระพุทธองค์ก็เลยย้อนให้ฟังว่า ตั้งแต่เวลาที่อยู่ด้วยกันมา เราเคยบอกท่าน เคยพูดกับพวกท่านด้วยถ้อยคำแบบนี้ไหม? เขาก็นึกได้ว่าไม่เคย เขาก็เลยยอม ในวันนั้น กลุ่มดาวนักษัตรแห่งเดือนอาสาฬหะกลางเดือน ๘ กำลังดำเนินไป เป็นเวลากลางคืน ทรงห้อมล้อมด้วยพรหม ๑๘ โกฏิ แล้วก็ตรัสเรียกปัญจวัคคีย์มา ทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นพระสูตรที่เป็นการหมุนกงล้อแห่งพระธรรมให้เป็นไป จักรเหมือนกับล้อ จักรก็คือล้อ
ปวัตตนคือการหมุน เป็นพระสูตรที่เปรียบเหมือนกับหมุนกงล้อแห่งพระธรรมให้ดำเนินต่อไป ในใจความสำคัญแห่งพระธรรมเทศนาที่เป็นปฐมเทศนาครั้งนี้ ที่พวกเราได้สวดกันประจำ ทั้งสวดแปล สวดบาลี เราเข้าใจเนื้อหา คืออย่างแรกนี้ พระองค์บอกก่อนเลยว่า ให้เว้นทางที่ทำตนให้มันสุขสบายเกินไป คือกามสุขัลลิกานุโยค เส้นทางนี้ถึงแม้จะบวชมาแล้ว หลีกออกจากกามมาแล้ว แต่ยังประกอบตนให้สุขสบายด้วยกามคุณ พระพุทธองค์บอกว่า “หีโน” เป็นของเลวทราม “คัมโม” เป็นของชาวบ้าน “โปถุชชะนิโก” เป็นของปุถุชน ผู้ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลส “อะนะริโย” ไม่ประเสริฐ ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า “อะนัตถะสัญหิโต” ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แล้วพระองค์ก็บอกว่า ทางสุดโต่งอีกสายหนึ่ง คือ อัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้มันทุกข์ทรมาน ลำบากร่างกายตัวเอง ทางนี้ “ทุกโข” มันเป็นทุกข์ “อะนะริโย” ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า “อะนัตถะสัญหิโต” ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เพราะว่าค่านิยมของนักบวชสมัยนั้น เมื่อออกบำเพ็ญพรตแล้ว ต้องทรมานร่างกายตัวเอง ต้องทำตัวเองให้ลำบากทุกสิ่งทุกอย่างจึงจะหลุดพ้น เพราะเป็นความเชื่อที่เชื่อกันมาอย่างนั้น ศาสนาเชน ของศาสดามหาวีระ นิครนถนาฏบุตร ก็คือ กลุ่มชีเปลือย กลุ่มนี้จะหนักไปทางอัตตกิลมถานุโยค คือทรมานร่างกายตัวเอง
นักบวชบางกลุ่มก็ย่อหย่อน มุ่งแต่กามคุณ เหมือนกับไม้สดที่แช่อยู่ในน้ำ จะเอามาสีไฟ จะให้เกิดไฟก็ทำได้ยาก ดังนั้น พระพุทธองค์ก็เลยบอกว่า ทางสุดโต่งที่ข้างหนึ่งหนักไปทางกาม อีกข้างหนึ่งคือหนักไปทางตึงเกินไปกับหย่อนเกินไป มันไม่พอดี พระองค์เลยทรงประกาศเส้นทางสายกลาง คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ทางสายเดียว คือทางสายกลาง แต่ประกอบด้วยองค์ประกอบ ๘ อย่าง นั่นก็คือ สัมมาทิฏฐิคือ ความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง แล้วจะเป็นเครื่องที่นำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ การงานชอบ ก็คือศีล ๕ ครบถ้วนบริบูรณ์ ศีลข้อ ๑ ข้อ ๒ ข้อ ๓ อยู่ในสัมมากัมมันตะ ศีลข้อ ๔ อยู่ที่สัมมาวาจา สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบก็คือ ไม่ประกอบอาชีพการงานที่เป็นโทษ เช่น ค้าขายน้ำเมา ค้าขายยาเสพติด ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ค้ายาพิษ ค้าอาวุธ เหล่านี้เป็นต้น สัมมาวายามะ เพียรพยายามชอบ ก็คือเพียรละบาปอกุศล เพียรไม่ให้บาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น เพียรให้กุศลคุณงามความดีทั้งหลายเกิดขึ้น และเพียรรักษากุศลคุณงามความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้ดำรงอยู่ และเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป นี้คือสัมมาวายามะ สัมมาสติ ก็คือสติปัฏฐาน ๔ แล้วก็สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่น
นี่แหละคือหนทางสายกลางที่ประกอบด้วยองค์ ๘ ที่พระพุทธองค์ทรงชี้บอกในวันนั้น แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงประกาศอริยสัจ ๔ ก็คือ เรื่องของทุกข์ ทุกข์ควรกำหนดรู้ ควรรู้ทุกข์ที่เริ่มตั้งแต่ทุกข์คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากคนรัก ของรัก ต้องประสบพบเจอกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ ทุกข์เหล่านี้ควรกำหนดรู้ สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์พระองค์ทรงแสดงว่า คือ ตัณหา ตัวนี้คือตัวที่ก่อภพชาติ ให้สัตว์ทั้งหลายติดอยู่ในภพ “ตัตระ ตัตราภินันทินี” เพลิดเพลินยิ่งอยู่ในภพภูมินั้น ๆ ก็คือ กามตัณหา ปรารถนาอยากในกามคุณ ภวตัณหา อยากเป็นโน่น อยากเป็นนี่ วิภวตัณหา ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ๓ อย่างนี้ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงนิโรธ ซึ่งนิโรธก็คือความดับทุกข์ ดับทุกข์ คือ ดับอะไร? ก็คือ ดับตัณหานี่แหละ “โย ตัสสาเยวะ ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ” ดับโดยไม่เหลือเชื้อ แล้วก็ “จาโค” คือ ความเสียสละ ต้องเป็นผู้เสียสละ มีความสุขในการเสียสละ ยินดีในการเสียสละ เสียสละตัณหา เสียสละความไม่ดี เสียสละความทุกข์ หลังจากนั้น พระองค์ก็ทรงแสดงทุกข
นิโรธคามินีปฏิปทา ก็คือ มรรค ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับทุกข์ ก็คือ มรรคมีองค์ ๘ นี้เอง อันนี้คืออริยสัจ ๔ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
แล้วพระองค์มิได้ทรงแสดงแค่รอบเดียว พระองค์ทรงแสดงถึง ๓ รอบ เลยเรียกว่า อริยสัจ ๔ ที่มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ แล้วจากนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงชี้ให้ดูว่า พระพุทธองค์หมดจดดีแล้ว จึงกล้ายืนยันว่า ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ยอดเยี่ยมทั้งในมนุษยโลก เทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย อาสวะกิเลสของพระองค์ไม่กลับกำเริบขึ้นมาอีก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ชาติใหม่จะไม่มีอีก เมื่อพระพุทธองค์ทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไป เหล่าเทวดาทั่วทุกชั้นฟ้า ก็เปล่งเสียงสาธุการ ตั้งแต่ชั้นจาตุมมหาราชิกาเรื่อยขึ้นไปจนกระทั่งถึงพรหมโลก
เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตรจบลง ธรรมจักษุที่ปราศจากธุลี “วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง อุทะปาทิ” ธรรมจักษุที่ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ก็เกิดขึ้นแก่ท่าน
โกณฑัญญะ ท่านโกณฑัญญะท่านเข้าใจว่า “ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมัง” สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา อันนี้แหละคือธรรมจักษุ คือดวงตาเห็นธรรม คือโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ที่เกิดขึ้นแก่ท่าน เมื่อท่านได้ฟังธรรมจักรกัปปวัตนสูตรครั้งแรก แล้วไม่ใช่เฉพาะแต่ท่าน พรหม ๑๘ โกฏิ ก็ได้บรรลุธรรม มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ในคราวครั้งนั้นด้วย แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเปล่งอุทานว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ, อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ จากนั้นท่านก็เลยได้นามว่า อัญญาโกณฑัญญะ เป็นนามของท่าน นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
หลังจากนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาปกิณณกเทศนาให้แก่ปัญจวัคคีย์อีก ๔ ท่านที่เหลือ ก็คือท่านวัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ ก็บรรลุธรรม ท่านละวัน ๆ ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ ๓ ค่ำ ๔ ค่ำ เป็นพระโสดาบันด้วยกันทุกคน วันอาสาฬหบูชาในวันนั้นจึงนับว่า เป็นวันที่เกิดพระอริยสงฆ์ขึ้นครั้งแรกในโลก เป็นวันที่พระรัตนตรัยครบ ๓ คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยปกติแล้ว ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ในสมัยของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ ๆ แสดงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่ได้แสดงครั้งที่ ๒ เพราะว่าเป็นพุทธประเพณี เป็นธรรมเนียมของพระพุทธเจ้า พระธรรมเทศนาอันนี้ เปรียบเหมือนกับพระธรรม คือราชรถที่ปรารถนาจะใช้บรรทุกสัพพะเวไนยสัตว์ ให้ข้ามห้วงวัฏสงสารไปสู่แดนเกษม คืออมตมหานิพพาน พระพุทธองค์เปรียบเหมือนกับนายสารถี แล้วล้อรถ หรือว่า ล้อเกวียนนี้ หรือ ที่เรียกว่าจักร จะประกอบด้วยองค์ประกอบ ๓ อย่าง จึงกลายเป็นล้อ ก็คือ ดุม กำ แล้ว กง
เราลองนึก ภาพล้อเกวียนสมัยก่อน จะมีองค์ประกอบ ๓ อย่าง ส่วนหนึ่งเป็นดุม ส่วนหนึ่งเป็นกำ ส่วนหนึ่งเป็นกง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุปมาว่า โพธิปักขิยธรรมธรรม ธรรมที่เป็นเครื่องนำไปสู่การตรัสรู้ เปรียบเหมือนกับดุมของล้อ ดุมของจักร ปฏิจจสมุปบาทเปรียบเหมือนกับเป็นกำ แล้วก็อริยสัจ ๔ ก็คือ กงของรถ พระธรรม ๓ อย่างนี้ เหมือนกับเป็นยอดคำสอนของพระพุทธเจ้า สรุปง่าย ๆ ก็คือ ธรรมะที่นำไปสู่มรรคผลพระนิพพานนั่นเอง แล้วการแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ ในสมัยพุทธเจ้าแต่ละองค์มีแค่ครั้งเดียว และสถานที่พระองค์ทรงแสดงธรรมที่เรียกว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เป็นหนึ่งใน “อวิชหิตสถาน” คือสถานที่พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ในภัทรกัปนี้ไม่ทรงละเลย มีอยู่ ๔ แห่งด้วยกัน คือ ๔ แห่งนี้จะเป็นที่ ๆ เดียวกัน ที่พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ในภัทรกัปจะมาทำซ้ำ ๆ กัน ๑ คือ โพธิมณฑล สถานที่ตรัสรู้จะเป็นที่เดียวกัน ๒ สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา สถานที่แสดงธรรมจักรคือที่เดียวกัน ๓ สถานที่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ เสด็จขึ้นสู่เทวโลกจะเป็นที่เดียวกัน แล้วก็ ๔ คือ สถานที่เสด็จลงจากเทวโลกหลังจากโปรดพระพุทธมารดาเสร็จ ในวันที่ทรงแสดงเทโวโรหณะ วันที่พระเจ้าเปิดโลก ๔ แห่งนี้เรียกว่า “อวิชหิตสถาน” พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในภัทรกัปนี้จะมาทำที่เดียวกัน
ดังนั้น เมื่อถึงวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากวันแสดงธรรมจักร ๕ วัน ปัญจวัคคีย์แต่ละท่านได้โสดาบันด้วยกันทุกคน พระองค์ก็ทรงเห็นว่า สมควรจะสดับพระธรรมเทศนาเพื่อความหลุดพ้นเบื้องสูงขึ้นไป พระองค์จึงตรัสเรียกปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มาประชุมกัน แล้วก็ตรัสพระธรรมเทศนา อนัตตลักขณสูตร คือพระสูตรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องไตรลักษณ์โดยเฉพาะ
แล้วอะไรล่ะที่เป็นไตรลักษณ์? พระองค์ตรัสแสดงถึงขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือว่าขันธ์ ๕ ย่อง่าย ๆ ก็คือ กาย กับ ใจ กายกับใจเรานี้มันไม่เที่ยง อยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มีความแปรเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นทุกข์ อยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ บังคับไม่ให้แก่ บังคับไม่ให้เจ็บ บังคับไม่ให้ตาย บังคับไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ปวดนี้ บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นอนัตตา แล้วไม่ควรที่จะเห็นโดยสำคัญด้วยตัณหา ด้วยมานะ ด้วยทิฐิว่า นั่นเป็นตัวเรา นั่นเป็นของ ๆ เรา นี่คือใจความสำคัญของอนัตตลักขณสูตร
เมื่อทรงแสดงธรรมจบลง ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ชุดแรกของโลก หลังจากนั้นไม่นาน ในเมืองพาราณสีก็มีบุตรเศรษฐีท่านหนึ่งนามว่า ยสะ ก็ได้รับการดูแลอย่างดี เหมือนกับพระพุทธเจ้าเลย พ่อแม่ให้อยู่ในปราสาทสามหลัง มีเหล่านางบำเรอ เหล่าผู้หญิง คอยฟ้อนรำ คอยขับกล่อมทุก ๆ คืน ในคืนวันหนึ่ง ท่านยสะเพิ่งจะแต่งงานไม่นาน แล้วพ่อแม่ก็ให้นักฟ้อนนางรำมาขับกล่อมดูแลอย่างดี ท่านตื่นมากลางดึก เห็นสภาพของนักฟ้อนนางรำ บางคนก็นอนเสื้อผ้าหลุดลุ่ย บางคนก็นอนน้ำลายไหล บางคนก็นอนกัดฟัน บางคนก็นอนกรนเสียงดัง เหมือนกับเสียงอีกา เห็นสภาพแล้วรับไม่ได้ เหมือนกับป่าช้าผีดิบ ท่านก็เลยเบื่อหน่ายขึ้นมาในใจนะ บ่นพึมพำ ๆ พูดคำว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ”
ท่านก็เลยออกไปนอกเมือง ไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทำไมต้องไปที่นั่น? เพราะว่าที่นั่น ชื่อมันบอกอยู่แล้วว่า อิสิปตนมฤคทายวัน ป่าที่เป็นพระราชอุทยานที่เป็นเขตอภัยทานแก่ฝูงกวาง แล้วก็ อิสิปตน เป็นที่ประชุมของเหล่าฤๅษี ท่านอยากหาความสงบ ท่านเลยไปที่นั้น แล้วไปเจอกับพระพุทธองค์พอดี พระพุทธองค์ก็เลยบอกว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่เถิด ยสะ ท่านยสะก็เข้าไป พระพุทธองค์ก็เลยทรงแสดงอนุปุพพิกถา เพื่อเป็นการชำระล้างจิตใจก่อน คือเริ่มต้นแสดงจากเรื่องของทาน พรรณนาให้ดูว่า อานิสงส์ของทาน อานิสงส์ของศีลเป็นอย่างไร? และพรรณนาถึงสวรรค์ เพราะว่าให้ทาน เพราะว่ารักษาศีล เขาจึงไปเกิดในสวรรค์ ถึงแม้ว่าต่อให้เป็นทาน ต่อให้เป็นศีล ที่ให้ไปเกิดในสวรรค์ ไปเกิดในมนุษย์ ทั้งสวรรค์ ทั้งมนุษย์ ยังพัวพัน ยังมัวเมาอยู่ด้วยกามคุณ ๕ พระองค์เลยแสดงโทษของกาม เป็นข้อ ๔ ของอนุปุพพิกถา “กามาทีนวกถา” โทษของกาม หลังจากนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงอานิสงส์ของการหลีกออกจากกาม ใน “เนกขัมมานิสังสกถา” มีบุญ มีอานิสงส์ มีคุณอย่างไรสำหรับการออกจากกามนี้? ต้องเป็นผู้ออกจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือน ถ้าหากว่าอยู่ในเพศฆราวาส ท่านจะเข้าใจเลยว่า มันเป็นชีวิตที่คับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี ทำอย่างไรหนอเราจึงจะออกบวช การประพฤติพรหมจรรย์จะให้บริสุทธิ์ให้บริบูรณ์เหมือนกับสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว ทำได้ยาก ต้องบวชเท่านั้น ส่วนใหญ่เมื่อได้ฟังอนุปุพพิกถา จะมีความคิด มีความเข้าใจแบบนี้ ท่านพระยสะก็เหมือนกัน ได้ฟังอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ จากพระพุทธเจ้า ก็บรรลุพระโสดาบัน
พ่อของท่าน เมื่อลูกหายไปกลางดึกก็ตามหา เห็นรองเท้าก็จำได้ ก็เลยเข้าไปเฝ้า
พระพุทธองค์ ๆ ก็ทรงแสดงอนุปุพพิกถากับอริยสัจ ๔ ซ้ำอีกรอบหนึ่ง พระยสะฟังอยู่ตรงนั้นด้วย ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ จากนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานการบวชด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา รุ่งเช้า พ่อของท่านก็นิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระยสะกลับไปยังบ้าน บอกว่าตอนนี้ ทั้งแม่แล้วก็ภรรยาเป็นห่วงมาก พอถึงเรือน รับอาหารบิณฑบาต เสวยเสร็จ พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรมอันเดิมนี้แหละ อนุปุพพิกถา เรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของสวรรค์ โทษของกาม แล้วก็อานิสงส์ของการออกบวชให้กับแม่ของพระยสะและภรรยาของท่านฟัง ท่านทั้งสองก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน นับว่าเป็นอุบาสก อุบาสิกา คู่แรกของโลก และมารดาของพระยสะก็คือนางสุชาดา ผู้ที่เคยถวายข้าวมธุปายาสให้กับพระพุทธเจ้าก่อนวันตรัสรู้นั่นเอง เพราะว่านางสุชาดานี้เคยตั้งความปรารถนาไว้กับเทวดาประจำต้นไทร โดยขอพร ๒ ข้อ บนกับเทวดา ๒ ข้อ ข้อแรก ขอให้ได้แต่งงานกับตระกูลที่มีทรัพย์สมบัติเสมอกัน ข้อ ๒ ให้ได้ลูกคนแรกคือลูกชาย จากนั้นนางก็ได้ไปสู่ (แต่งงานกับ) ตระกูลเศรษฐีที่เมืองพาราณสี แล้วก็ได้ลูกคนแรกคือลูกชายด้วย แต่นางยังไม่ได้กลับมาแก้บน ไม่ได้กลับมาทำพิธีกรรม เพราะว่า ระยะทางห่างกันตั้ง ๑๘ โยชน์ ภาระหน้าที่ของหญิงชาวอินเดียนี้ ต้องดูแลสามี ดูแลพ่อแม่สามี แล้วยิ่งมีลูก ต้องดูแลลูก ต้องดูแลลูกจนกระทั่งลูกโต ลูกแต่งงาน นางก็เลยมีโอกาสกลับไปทำพลีกรรม บวงสรวงเทวดา แล้วก็เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ เป็นวันเดียวกับที่พระพุทธองค์กำลังจะตรัสรู้พอดี เหตุการณ์มาประจวบกันพอดี
ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะว่าท่านเหล่านี้ตั้งความปรารถนาเอาไว้แล้ว เพื่อที่จะเป็นอุบาสก อุบาสิกาคนแรก เหตุการณ์ในวันนั้นที่เกิดขึ้นที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน จึงนับว่าเป็นวันแรกที่มีปฐมเทศนาอริยสัจ ปฐมอุบัติอริยสงฆ์ ปฐมจำพรรษาพระพุทธองค์ ปฐมวงศ์อุบาสิกา ปฐมบิดาอุบาสก และปฐมศกแห่งการประกาศพระศาสนา หลังจากที่พระยสะบวชได้ไม่นาน ก็มีเพื่อนของท่านอีก ๔ ท่าน ก็คือ พระวิมละ พระสุพาหุ พระปุณณชิ และพระควัมปติ ก็บวชตาม พร้อมกับสหายชาวชนบทอีก ๕๐ คน ก็ออกบวชตาม บรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วยกันทั้งหมด เป็นอันว่าในพรรษานั้น มีพระอรหันต์ ๖๐ รูป อยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
พอออกพรรษาแล้ว พระองค์ก็ทรงส่งพระอรหันต์ทั้ง ๖๐ รูป ไปประกาศพระศาสนา เพื่อเป็นพระธรรมทูตชุดแรกของโลก พระองค์ตรัสว่า “มุตฺตาหํ ภิกฺขเว สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา” เป็นต้น แล้วก็ตรัสว่า “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถายหิตาย สุขาย” เป็นต้น หมายความว่า การที่พวกเธอจะเที่ยวไปแสดงธรรมนี้ พระพุทธองค์ตรัสท่อนแรกก่อน ก่อนที่จะส่งไปประกาศพระธรรม พระองค์ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตนี้ พ้นจากบ่วง ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แล้วเธอก็พ้นจากบ่วงนี้ด้วย พูดง่าย ๆ คือ เป็นพระอริยบุคคล เป็นอรหันต์แล้ว พ้นจากบ่วง พ้นจากเหยื่อของโลก ทั้งที่เป็นของทิพย์ แล้วก็เป็นของมนุษย์ เมื่อเธอเป็นผู้พ้นด้วยดี เธอจงเที่ยวไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก แต่ว่าเธออย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูป ให้ไปคนละทิศ คนละทาง จงแสดงธรรมที่งดงามในเบื้องต้น ในท่ามกลาง แล้วก็ในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ ครบบริสุทธิ์บริบูรณ์ สัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีคือกิเลสในดวงตาน้อยก็ยังมีอยู่ ถ้าหากไม่ได้ฟังธรรมก็จักเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมก็จักมี
ส่วนตัวเรา (พุทธองค์) นี้ จะไปที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม จากนั้น พระองค์ก็เสด็จกลับมาที่ตำบลอุรุเวลาฯ คือ บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่ออะไร? เพื่อที่จะมาโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง ระหว่างทางพระองค์ก็พบกับเจ้าชายภัททวัคคีย์ ๓๐ ท่าน ที่กำลังมาตามหาผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ขโมยเครื่องประดับมา สวนทางกับพระพุทธเจ้ามา ก็เลยถามพระองค์ว่า เห็นผู้หญิงคนหนึ่ง มีรูปร่างแบบนี้ ถือห่อเครื่องประดับมาไหม? พระพุทธองค์ไม่ตอบ แต่ตอบว่า การที่พวกเธอหาหญิงคนนี้กับหาตัวเอง อย่างไหนประเสริฐกว่า? เขาก็ตอบมาได้ว่า ต้องหาตัวเอง พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรมอนุปุพพิกถา แล้วก็อริยสัจ ๔ จนท่านทั้งหมดได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ออกบวช พระองค์ก็ส่งไปประกาศพระศาสนา จากนั้น พระองค์เสด็จกลับมาที่อุรุเวลาเสนานิคม ต้องมาหาชฎิลสามพี่น้องที่มีบริวารพันคน เพราะว่าท่านนี้มีบริวารมาก เป็นที่เคารพนับถือของชาวมคธ
ในสมัยนั้นแคว้นมคธ เป็นแคว้นมหาอำนาจ เป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชมพูทวีป จับโจรต้องจับหัวหน้า การจะไปประกาศพระศาสนาต้องไปเจาะที่ผู้เป็นใหญ่ก่อน ดังนั้น พระองค์ต้องมีบริวาร พระองค์เสด็จไปองค์เดียว ยังไม่มีบริวาร พระองค์จึงต้องหาบริวารในการประกาศพระศาสนาก่อน พระองค์จึงไปหาชฎิล ๓ พี่น้องนี้ ท่านอุรุเวลกัสสปเถระ พี่คนโต มีบริวาร ๕๐๐ นทีกัสสปะ คนกลาง มีบริวาร ๓๐๐ แล้วก็ คยากัสสปะ มีบริวาร ๒๐๐ มีอาศรม มีสำนัก อยู่คนละจุด ๆ ไม่ห่างกัน เมื่อพระองค์ไปถึงที่อาศรมของชฎิล ชฎิลคือกลุ่มนักบวชที่เอาผมเกล้าขึ้นมาเป็นชฎา เลยเรียกว่า ชฎิล เป็นลัทธิบูชาไฟ บูชาเทพเจ้าไฟ เหมือนศาสนาโซโรอัสเตอร์ของอาหรับ ของอิหร่าน ของเปอร์เซีย บูชาไฟเหมือนกัน เกิดมาในยุคช่วงเวลาที่ไม่ห่างกัน บูชาไฟเหมือนกัน
พระพุทธองค์ไปขอพัก (อยู่ด้วย) อุรุเวลกัสสปะไม่ให้พัก เพราะต่างศาสนา พระพุทธองค์เลยตรัสว่า โคก็เข้ามาสู่สำนักของโค นักบวชก็เข้ามาสู่สำนักของนักบวช ถ้าท่านไม่เห็นเป็นความลำบาก เราขอพักที่โรงบูชาไฟก็ได้ จากนั้นพระองค์ก็พักที่โรงบูชาไฟ ที่มีพญานาคดุร้ายอยู่ แล้วพระองค์ทรงทำให้พญานาคสิ้นฤทธิ์ ด้วยการขดเอาไว้ในบาตร แล้วนำมาให้ชฎิลอุรุเวลกัสสปะดู เขาเห็นเขาก็ชมเชยอยู่ในใจนะ แต่มีมานะขวางอยู่ เขาบอกว่าพระสมณะองค์นี้มีฤทธิ์มาก แต่ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนกับเรา มานะตัวนี้แหละ คิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์
พระพุทธเจ้าอยู่ที่นั่นถึง ๒ เดือน ทรงแสดงปาฏิหาริย์ถึง ๓,๕๐๐ อย่าง จนกระทั่งอุรุเวลกัสสปะยอมรับนับถือ ยอมตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า แล้วทั้งสามพี่น้อง แล้วก็บริวารอีกพันคน ก็ยอมออกบวช ลอยบริขาร ตัดผม ตัดชฎา ลอยหนังเสือ ลอยไปตามแม่น้ำ แล้วพระพุทธองค์ก็พาทั้ง ๑,๐๐๐ ท่านไปที่ “เขาพรหมโยนี” แสดงอาทิตตปริยายสูตร เป็นพระสูตรที่ทรงแสดงว่า อินทรีย์ทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นของร้อน เพราะท่านทั้งพันรูปนี้อยู่กับไฟมาค่อนชีวิต อยู่กับความร้อน อยู่กับของร้อน พระองค์ได้แสดงธรรมที่ถูกจริต โดยแสดงธรรมเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เป็นของร้อน ทำให้เกิดความเร่าร้อน เพราะว่าไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ต้องรู้ให้เท่าทัน เมื่อเท่าทันย่อมเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น
เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรจบลง ชฎิล ทั้ง ๑,๐๐๓ ท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ จากนั้นพระองค์ก็พาภิกษุชฎิลเหล่านี้ที่เป็นบริวาร เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ เพื่อไปเปลื้องคำปฏิญญา เป็นคำสัญญาระหว่างเพื่อน พระพุทธองค์กับพระเจ้าพิมพิสารเป็นเพื่อนกัน แต่เป็นอธิษฐปุพพสหาย คือเป็นเพื่อนที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน แต่เคยส่งพระราชสาส์น เขียนจดหมายหากัน ด้วยความเป็นองค์มกุฎราชกุมาร เป็นรัชทายาทเหมือนกัน ตอนพระพุทธองค์เสด็จออกบวชใหม่ ๆ มาถึงที่กรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสาร ก็ทรงขอพรเอาไว้ ๕ ข้อว่า ข้อแรกขอเพื่อตัวเอง ขอให้ข้าพระองค์ได้ครองราชย์ ข้อที่ ๒ เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ขอให้เสด็จกลับมาโปรดข้าพระองค์ ข้อ ๓ ขอให้ข้าพระองค์ได้นั่งใกล้ ได้ฟังธรรม แล้วก็ได้รู้เห็นธรรมตาม พระพุทธองค์เลยเสด็จกลับมา แล้วไปอยู่ที่สวนตาลหนุ่มลัฏฐิวัน
พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่า พระพุทธองค์เสด็จมา พาบริวาร ๑๒ นหุต ๑ นหุตคือ ๑ หมื่น ๑๒ นหุต ก็คือ ๑ แสน ๒ หมื่นคน ไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่สวนตาลหนุ่ม คนเหล่านั้นรู้จักชฎิลอุรุเวลกัสสปะเป็นอย่างดี เพราะว่าเป็นลูกศิษย์มาก่อน ก็เลยสงสัยว่าชฎิลอุรุเวลกัสสปะที่แก่ชรานี้เป็นอาจารย์ หรือว่าพระพุทธเจ้าที่อายุเพิ่งจะ ๓๕ ชันษาเป็นอาจารย์ ต่างคนก็ต่างสงสัย พระพุทธองค์ก็เลยตรัสกับอุรุเวลกัสสปะว่า ท่านอุรุเวลฯ ท่านอยู่ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคมมานานนี้ ร่างกายท่านซูบผอม เพราะว่ากำลังของตบะ กำลังของการบำเพ็ญพรต ท่านเห็นโทษอะไร? จึงละการบูชาไฟ ท่านจงบอกความนั้นเถิด ท่านชฎิลอุรุเวลกัสสปะถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วก็เหาะขึ้นไปบนอากาศ สูงประมาณเท่าลำต้นตาล แล้วก็กลับลงมากราบพระศาสดา ทำอย่างนี้ถึง ๗ ครั้ง แล้วก็ประกาศท่ามกลางบริษัทนั้นว่า ข้าพระองค์เห็นโทษในการบูชาไฟ ต่อให้เป็นการบูชา การเซ่นสรวง การเซ่นไหว้เทพ อะไรก็แล้วแต่ มันไม่ประเสริฐเลย เพราะไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ มันยังเป็นมลทินในใจอยู่ ดังนั้น ข้าพระองค์เห็นโทษในการบูชายัญ ในการบูชาไฟ ข้าพระองค์จึงละทิ้งเสีย
ในที่ประชุมนั้น พอเห็นดังนั้นก็เกิดปีติ ความเบิกบานใจ เมื่อปีติเกิด ใจยอมรับ ใจเกิดศรัทธา พระองค์ก็ได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาเหมือนเดิม พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร ๑๑ นหุต ก็คือ ๑๑๐,๐๐๐ คน บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และอีก ๑ นหุต ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ คือ ไม่ได้บรรลุธรรม แต่ว่าแสดงตนเป็นอุบาสก อุบาสิกา หลังจากนั้น พระเจ้าพิมพิสารก็นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ไปเสวยภัตตาหารในพระราชวัง แล้วพระองค์ก็ทรงอุทิศถวายสวนไผ่เวฬุวันให้กับพระพุทธเจ้า แล้วพระเจ้าพิมพิสารก็ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกลงบนพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า ในขณะที่น้ำไหลลงบนพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า แผ่นดินก็ไหว เพื่อเป็นการประกาศว่า ตอนนี้พระอารามแห่งแรกของโลก บังเกิดขึ้นแล้ว การอุทิศถวายวัดต่าง ๆ ไม่ได้มีแผ่นดินไหว มีครั้งเดียว มีแห่งเดียวเท่านั้น คือ วัดพระเวฬุวัน (เวฬุวันกลันทกนิวาป) วัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนา
พระเจ้าพิมพิสารเมื่ออุทิศถวายวัดแล้ว ก็ทำบุญอุทิศถวาย แต่ตอนนั้นพระองค์ก็ยังไม่ได้รำลึกถึงว่าจะอุทิศบุญ จะส่งบุญให้กับใคร คืนนั้นพระองค์ฝันเห็นเปรต ทรงบรรทมกึ่งหลับกึ่งตื่น ก็เห็นภาพนิมิตเป็นเปรตร่างกายซูบผอมโซ น่าเกลียดน่ากลัวมาปรากฏเกิดขึ้น รุ่งเช้าพระองค์ก็เลยไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ที่ข้าพระองค์เห็นเมื่อคืนนี้ มันคืออะไร พระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าให้ฟังว่า เขาเหล่านี้เป็นเปรตที่เคยเป็นญาติของพระองค์ ย้อนหลังไปในสมัยพระพุทธเจ้านามว่า ปุสสะ ๙๒ กัป นับจากภัทรกัปนี้ ย้อนหลังไป ๙๒ กัป ก็เท่ากับว่า โลกแตก โลกเกิดดับ -ดับ ๙๒ ครั้ง ย้อนหลังไป ๙๒ กัป ในสมัยพระพุทธเจ้านามว่าปุสสะ
ตอนนั้นพระพุทธเจ้าปุสสะอุบัติเกิดขึ้นมาในโลก แล้วก็มีพระอนุชาต่างพระมารดา ๓ องค์ ซึ่งมีความศรัทธาในพระพุทธเจ้าปุสสะมาก ขอพระราชบิดาว่า ที่ข้าพระองค์ไปรบชนะมานี้ ไม่ได้ขอพรอะไรเลย แต่ขอเวลา ขอส่วนแบ่งบุญให้ข้าพระองค์ได้ถวายการดูแลอุปถัมภ์พระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระเชษฐาด้วยเถิด ขอ ๑ ปี ๒ ปี ๓ ปี ไม่ให้ สุดท้ายได้ ๓ เดือน พระราชบิดา พระเจ้าชัยเสนทรงอนุญาตแค่ ๓ เดือน หลังจากนั้นเจ้าชายทั้งสาม พร้อมด้วยบริวารที่เป็นทหาร ๑ พันคน นุ่งขาวห่มขาว สมาทานศีล ๘ ถือศีลอุโบสถ แล้วก็ให้นายเสมียนเป็นผู้ดูแลการใช้จ่าย การจัดหาอาหาร มาคอยดูแลพระพุทธเจ้าปุสสะ
ตลอดระยะเวลา ๓ เดือนนี้ นายเสมียนก็เลยไปหาญาติพี่น้องจากชนบท ก็คือ จากต่างจังหวัดมา ๑๑,๐๐๐ คน มาช่วยกันตระเตรียมหุงหาอาหารดูแลพระพุทธเจ้า ตลอดระยะเวลา ๓ เดือนนั้น นายเสมียนทำหน้าที่อย่างดี คนในชนบทในต่างจังหวัด ๑๑,๐๐๐ คนนี้ บางคนก็เลื่อมใส บางคนก็ไม่เลื่อมใส บางคนไม่เคยเห็นของดี ๆ ของในวังมาก่อน บางกลุ่มก็แอบเอามากินก่อน จิ๊กมา ยังไม่ทันได้ถวายพระพุทธเจ้า แอบเอามากินก่อน เอาไปให้ญาติบ้าง เอามาเป็นของตัวเองบ้าง ด้วยเศษกรรม นี้แหละ ในกลุ่มคนที่ทำดีก็ไปเกิดบนสวรรค์ ในกลุ่มคนที่ทำไม่ดีด้วยการเอาของ ๆ ที่เขาเตรียมถวายพระพุทธเจ้าแล้วเอามาบริโภคก่อน เป็นกรรมหนัก เกิดเป็นเปรต
ผ่านพระพุทธเจ้ามาถึง ๗ พระองค์ เปรตก็ไม่มีทางได้ส่วนบุญ เจอพระพุทธเจ้าวิปัสสี พระพุทธเจ้าสิขี พระพุทธเจ้าเวสสภู กัปก่อน ๆ จนมาถึงภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคม พระพุทธเจ้ากัสสปะ พระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ก็บอกว่า ญาติของท่านยังไม่ได้มาเกิด ญาติท่านจะยังไม่ได้ส่วนบุญในศาสนาของเรา จนกระทั่งถึงพระโคดมพระพุทธเจ้าของเราอุบัติเกิดขึ้น ญาติของเขา ที่เคยไปเกิดเป็นเปรต ก็เหมือนกลับมาขอส่วนบุญ พระพุทธองค์ก็บอกว่า คนเหล่านี้ที่เคยเป็นญาติตอนนั้นแหละ ที่เคยแอบเอาอาหารของพระพุทธเจ้าไปบริโภคก่อน เขามาขอส่วนบุญของพระองค์ เพราะนายเสมียนคนนั้นในสมัยพระพุทธเจ้าปุสสะมาเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร และพระอนุชาทั้ง ๓ เจ้าชายทั้ง ๓ กับทหารบริวาร ๑,๐๐๐ คน มาเกิดเป็นชฎิล ๓ พี่น้อง คือ ท่านอุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ และก็บริวารพันคน ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เกิดเจอกันมาหลายภพหลายชาติ สร้างบารมีด้วยกันมา เลยได้มาเกิดได้มาเจอกัน สร้างบุญร่วมกัน
ดังนั้น พระเจ้าพิมพิสาร เมื่อถวายภัตตาหารแด่พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุแล้ว ก็ทรงกรวดน้ำเป็นครั้งแรก “อิทัง โน ญาตินัง โหตุ สุขิตาโหนตุ ญาตะโย” ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด ด้วยบทกรวดน้ำหลั่งลงต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้า เปรตเหล่านั้นก็มีอาหารอันเป็นทิพย์ปรากฏเกิดขึ้นตรงหน้าทันที เพราะว่ากรรมของเขาสิ้นแล้ว พอคืนต่อมา เปลือยกาย วันรุ่งขึ้นพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายผ้าไตรจีวรอุทิศให้แก่เปรตเหล่านั้น แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงติโรกุฑฑสูตร ว่าด้วยเรื่องการอุทิศบุญนี่แหละ “อะทาสิ เม อะกาสิ เม ญาติมิตตา สะขา จะ เม” บทนี้ ที่เป็นบทให้พร ที่พระได้ให้พรในงานศพ พร้อมทั้งบท “ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรังฯ” ก็เกิดขึ้นในคราวครั้งนั้น ในติโรกุฑฑสูตร พระพุทธศาสนาตั้งมั่น มั่นคง ในดินแดนแคว้นมคธ ในกรุงราชคฤห์
จากนั้นไม่นาน คู่อัครสาวก คือ ท่านอุปติสสะ และท่านโกลิตะ ท่านทั้งสองนี้เป็นเพื่อนโตมาด้วยกัน คนหนึ่งเป็นลูกผู้ใหญ่บ้านอุปติสสะคาม อีกคนหนึ่งเป็นลูกผู้ใหญ่บ้านโกลิตะคาม เป็นเพื่อนเล่นกันมา โตเป็นหนุ่มด้วยกันมา วันหนึ่งไปดูหนังกลางแปลง ดูมหรสพอยู่บนยอดเขา โกลิตะเห็น
อุปติสสะ ปกติทั้งยิ้มทั้งหัวเราะ ถึงบทโศกก็โศก ถึงบทหัวเราะก็หัวเราะ ถึงบทร้องไห้ก็ร้องไห้ แต่วันนี้ทำไมเพื่อนเรานั่งนิ่งแบบนี้ ก็เลยถาม อุปติสสะก็เลยบอกว่า เราก็ดูละคร ดูหนัง ดูมหรสพมาเยอะ คนเหล่านี้เขาก็เล่นไปตามบทละคร คนเหล่านี้อายุไม่ถึงร้อยปีก็ต้องตาย มันจะได้ประโยชน์อะไรกับการมาดูของพวกนี้ เอาอย่างนี้ไหม เราไปหาทำสิ่งที่มันเป็นประโยชน์กว่านี้ดีกว่า
จากนั้น ท่านก็เลยเลิกชีวิตชายหนุ่มเสเพล มาแสวงหาอาจารย์ ไปอยู่กับสำนักอาจารย์
สัญชัยเวลัฏฐบุตรก่อน เป็นสำนักชีปะขาว ไปอยู่ไม่นานก็เรียนจบความรู้ของอาจารย์ จนกระทั่งในวันหนึ่ง ท่านอุปติสสะไปทำธุระในเมือง เห็นพระอัสสชิเถระบิณฑบาตในเมือง ครั้งแรกที่ท่านเห็นพระอัสสชิ ท่านอุปติสสะคิดขึ้นมาในใจเลยว่า สมณะรูปนี้ทำไมงดงามเหลือเกิน อินทรีย์ก็ผ่องใส อากัปกิริยามารยาทเรียบร้อย จะเดิน จะลุก จะนั่ง จะรับบิณฑบาต กิริยาอาการงามไปหมดนะ ท่านนี้ต้องมีคุณธรรมภายในแน่ ๆ เดี๋ยวรอได้โอกาส เราต้องไปถามปัญหากับท่าน ท่านอุปติสสะท่านรู้กาล รู้เวลา รอให้ท่านพระอัสสชิบิณฑบาต ฉันภัตตาหารเสร็จ ท่านก็น้อมเข้าไปไหว้ แล้วก็ถามว่าท่านเป็นใคร บวชในสำนักของใคร ชอบใจธรรมของใคร พระอัสสชิก็เลยบอกว่า เราเพิ่งจะมาสู่ธรรมวินัยนี้ไม่นาน บวชอุทิศพระตถาคตพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าพระโคดม เราชอบใจธรรมของท่าน ท่านอุปติสสะก็เลยบอกว่า ท่านแสดงธรรมสักนิดหนึ่งได้ไหม พระอัสสชิก็เลยแสดงว่า “เย ธัมมา เหตุปัปพวา เตสัง เหตุ ตถาคโต เตสัญจ โย นิโรโธ จ เอวัง วาทีมหาสมโณ” ซึ่งหมายความว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุเกิดขึ้น และความดับไปแห่งธรรมเหล่านั้น อันนี้คือปกติวาจาของพระมหาสมณะ ท่านอุปติสสะได้ฟังเพียงเท่านั้น ก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน ได้ดวงตาเห็นธรรม ก็บอกว่าผมอยากตามไปตอนนี้เลย แต่ว่าตั้งกติกาเอาไว้กับเพื่อนโกลิตะว่า ใครได้ของดี ได้ดวงตาเห็นธรรมก่อน จะกลับไปบอกอีกฝ่าย เดี๋ยวผมไปหาเพื่อน แล้วจะไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ท่านอุปติสสะก็ไปหาโกลิตะ แล้วก็เอาบท ๆ นี้แหละไปบอก ท่านโกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม จากการได้ฟังคาถาเดียวกันจากเพื่อน ก็เลยชวนอาจารย์สัญชัยไปเฝ้าพุทธเจ้า อาจารย์สัญชัยก็มีมานะทิฐิขวางอยู่ในใจว่า เราก็เป็นเจ้าลัทธิ อายุแก่ขนาดนี้แล้ว จะให้ยอมตัวไปฟังธรรมพระโคดมเพิ่งจะอายุ ๓๕ - ๓๖ ปี รับไม่ได้ ก็ไม่ไป ลูกศิษย์ก็คะยั้นคะยอ ก็เลยบอกว่า คนในโลกนี้ คนโง่กับคนฉลาดอะไรมากกว่ากัน ก็เลยบอกอาจารย์ว่า คนโง่มากกว่า ถ้าอย่างนั้น คนฉลาดไปหาพระพุทธเจ้า คนโง่มาอยู่กับเรานี่แหละ บอกอย่างนี้ ท่านอุปติสสะ - โกลิตะก็เลยไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์บอกกับสาวกเลยว่า เห็นคู่อัครสาวกของเราไหม ทั้งสองคนนี้ เขาไม่ใช่คนธรรมดา เขาปรารถนาความเป็นสาวกผู้เลิศ จากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงประทานการบวช ด้วยเอหิภิกขุฯ ให้กับท่านทั้งสอง ท่านทั้งสอง พระโกลิตะเมื่อบวชแล้ว ได้นามว่าโมคคัลลา พระอุปติสสะเมื่อบวชแล้ว ได้นามว่าสารีบุตร
พระโมคคัลลานะปฏิบัติธรรม บำเพ็ญธรรมอยู่ ๗ วัน ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ที่บ้าน
กัลวาลมุตตคาม ส่วนพระสารีบุตร ผ่านไป ๑๕ วัน ถวายงานพัดพระพุทธเจ้าอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตา ถ้ำที่มีรูปร่างเหมือนกับคางหมู อยู่ที่เขาคิชฌกูฏ ตอนนั้นหลานของท่านคือ ทีฆนขะอัคคิเวสสนะ ตามหาพระสารีบุตรผู้เป็นลุง ยิ่งมาเห็นพระสารีบุตรกำลังพัดให้พระพุทธเจ้าอยู่ ใจก็ขุ่นเคืองขึ้นมาทันทีเลยว่า ลุงของเรามาโกนหัวบวช มาทำตัวเป็นคนรับใช้พระพุทธเจ้า โกรธขึ้นมาในใจ แล้วก็พูดว่า อะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ชอบใจ ข้าพระองค์ไม่ชอบใจหมด พระพุทธองค์ก็พูดตรัสขึ้นมาว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงชอบใจในความไม่ชอบใจอันนี้ด้วย เขาก็ไปไม่เป็นเลยนะ พูดไม่ออก พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรมเวทนาปริคคหสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยการกำหนดเวทนา
เวทนา ก็คือ การเสวยอารมณ์ ความรับรู้อารมณ์ ทางกาย ทางใจ คือความทุกข์ คือความสุข คือความเฉย ๆ เวทนาเหล่านี้ ต่อให้ดี ไม่ดี จะเป็นด้านบวก ด้านลบ อย่างไรก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของ ๆ เรา เมื่อแสดงธรรมจบลง พระสารีบุตรที่ถวายงานพัด พัดไป ฟังไป จิตของท่านส่งกระแสจิตตามพระธรรมเทศนา ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนหลานของท่าน คือ ทีฆนขะอัคคิเวสสนะ ก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน
ตอนบ่ายวันนั้น พระพุทธองค์ก็เสด็จมาที่วัดพระเวฬุวัน เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ วันมาฆบูชาพอดี ในตอนนั้นเป็นวันจาตุรงคสันนิบาต ภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย มีองค์ ๔ ภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ พระพุทธเจ้าบวชให้ แล้วก็เป็นพระอรหันต์ขีณาสพด้วยกันทั้งสิ้น และวันนั้น เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ เป็นวันเพ็ญมาฆปูรมี ๑,๒๕๐ รูปที่มา ท่านเหล่านี้ เป็นพราหมณ์ โดยปกติวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ พราหมณ์เขาต้องทำพิธีบูชาอย่างใหญ่ ของศาสนาของตน ๆ เมื่อออกบวชแล้ว ก็เลยมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดพระเวฬุวัน พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ วิธีการ ๖ เป็นการวางรากฐานพระพุทธศาสนา
พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูปคือใครบ้าง ก็คือ ๑,๐๐๐ รูป ที่เป็นบริวารของท่านชฎิลสามพี่น้อง กับอีก ๒๕๐ ที่เป็นบริวารของพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ แล้วอีกกี่รูปที่ไม่ได้มา ประมาณ ๙๐ รูปที่ไม่ได้มาประชุมในครั้งนั้น เพราะขณะนั้น พระพุทธเจ้าเพิ่งจะตรัสรู้ได้ ๗ เดือน พอจะนับได้บ้างว่าพระสาวกมีใครบ้าง ๙0 รูปที่ไม่ได้มาก็คือ ท่านพระยสะพร้อมด้วยเพื่อน ๆ รวม ๖๐ รูป ภิกษุภัททวัคคีย์ ๓๐ รูปที่ไม่ได้มา ท่านพระสารีบุตร พระโมคคัลลา ท่านตั้งความปรารถนา บำเพ็ญบารมีสาวกบารมีญาณ สร้างบารมี ๑ ใน ๔ ของพระพุทธเจ้า ตั้งความปรารถนาตั้งแต่พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า ๑ อสงไขยแสนกัปไม่ใช่น้อย ๆ ส่วนสาวกอื่น ๆ เช่น พระอัญญาโกณฑัญญะ ภิกษุชฎิลนี้ สร้างบารมีตั้งความปรารถนาตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ สร้างบารมี ๑ แสนกัป ความปรารถนาของท่านจึงมาสำเร็จในศาสนาของพระพุทธเจ้าโคดม
ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างกว่าจะได้มา ต้องสร้างบารมี ต้องตั้งใจ ต้องตั้งเจตนา ต้องตั้งอธิษฐาน ปักธงชัย ความปรารถนาจึงสำเร็จ ท่านสร้างบารมีทุกภพทุกชาติ ก็เพื่อได้พบเจอ ได้สร้างบารมี เพื่อเห็นพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคต ความปรารถนาของท่านเหล่านั้น ก็มาสำเร็จเสร็จสิ้นบริบูรณ์ ในศาสนาของพุทธเจ้าโคดมของเรา
พวกเราได้ฟังเรื่องราวการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้า การสร้างบารมีของพระอรหันต์สาวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอัครสาวกองค์สำคัญ คือ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ที่พุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นสาวกผู้เลิศเบื้องซ้าย เบื้องขวา พระสารีบุตรเป็นผู้เลิศด้านปัญญา พระโมคคัลลาเป็นผู้เลิศด้านอิทธิฤทธิ์ ส่วนพระอุรุเวลกัสสปะเป็นผู้เลิศทางด้านมีบริวารมาก พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นผู้เลิศทางด้านผู้รัตตัญญู ผู้รู้ราตรีนาน คือเป็นพี่ใหญ่ของบรรดาสาวกทั้งปวง ท่านเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่สร้างบารมี ตั้งความปรารถนามาด้วยกันทั้งสิ้น แล้วก็มาจบลง ณ ศาสนาของพระโคดมพระพุทธเจ้าของเรา ให้พวกเราได้เกิดความปีติเบิกบานใจว่า พวกเราโชคดีที่ได้เกิดมาประสบพบเจอในศาสนาของพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสอนยังดำรงอยู่ ให้พวกเราได้เอาธรรมะเป็นใหญ่ เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง เอาธรรมะเป็นหลักในการปฏิบัติ ในการดำเนินชีวิต มีความสุขในการปฏิบัติ
เส้นทางแห่งมรรคมีองค์ ๘ พระพุทธองค์ก็ทรงปูทางไว้ให้ แล้วนั่น คืออริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่ง “เส้นทางนี้ เป็นไปเพื่อความหมดจด จากกิเลสเผาลนจิต รักษาพิษสัตว์ทั้งหลาย ใจเศร้าหมอง ก้าวล่วงพ้นโศกา น้ำตานอง คร่ำครวญร้อง สะอื้นไห้ใจระบม เพื่อกำจัดความทุกข์ โทมนัส ทุกข์สาหัสเพียงใด หายขื่นขม บรรลุสู่ธรรมะ อภิรมย์ ได้เชยชม อมตะมหานิพพาน” เส้นทางนี้ก็คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เริ่มต้นจาก การมีความเห็นถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้อง ปฏิบัติให้ถูกต้อง
ก็ขออนุโมทนาบุญกับทุกคนทุกท่านในวันนี้ ขอตั้งจิตอธิษฐานใจ ขออำนาจแห่งพระรัตนตรัย และบารมีธรรมแห่งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ขอกุศลบารมีทั้งหลายที่ได้ทำ ขอจงสำเร็จ เป็นผลบุญแด่ คุณแม่วรรัตน์ คำสด หากท่านมีทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ หากท่านมีสุข ขอให้สุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ด้วยอำนาจแห่งพระสัมมาสัมพุทธะ ขอทุกท่านจงชำนะความขัดข้อง ด้วยอำนาจแห่งพระธรรมอันเรืองรอง อย่าได้พ้องผ่านหมู่ศัตรูมาร ด้วยอำนาจแห่งพระอริยสงฆ์ ขอทุกท่านจงเป็นสุขทุกสถานอันตรายใด ๆ ไม่แผ้วพาน พระสัทธรรมอภิบาล ถึงมรรคผลพระนิพพานทุกท่านเทอญ
สาธุ สาธุ สาธุ