แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)
ใน พุทธศักราช ๒๕๖๖
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
เรื่อง สั่งสมทรัพย์ภายใน ตอนที่ ๙ บัณฑิตย่อมลดละการเพ่งโทษผู้อื่น หมั่นสำรวจโทษในตนเอง แล้วแก้ไขให้ถูกต้อง
(บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)
คำเทศนา วันเสาร์ที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๖
สามเณรเป็นผู้มีบุญที่ได้พ่อได้แม่ดี ที่ให้มาบวช แล้วก็ให้เข้าใจพระศาสนาเข้าใจปฏิบัติ แล้วก็ต้องเอาความรู้ไปประพฤติไปปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง ความรู้ถ้าเราไม่ปฏิบัติมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เห็นไหมพวกที่เรียนตั้งแต่ประถม ถึง ด็อกเตอร์ มันก็ไม่มีประโยชน์ เหมือนกับพวกที่มาบวชสามเณร จนไปถึง ป.ธ.๙ ก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่ได้เอามาประพฤติปฏิบัติ ต้องเอาภาคประพฤติภาคปฏิบัติไปให้ติดต่อต่อเนื่อง ไม่ว่าเราจะเป็นสมณะ หรือว่าเป็นประชาชน เราต้องเอาธรรมเป็นหลักเอาธรรมเป็นใหญ่
ดูตัวอย่างแบบอย่างประเทศไทย เขามาบวชกันไม่รู้กี่แสน ตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมา ก็น่าจะหลายล้าน แต่ที่ไม่ได้ผลก็เพราะตอนมาบวชก็ยังไม่เข้าถึงพระศาสนา ยังตามใจตามอารมณ์ตัวเอง สึกไปก็ยิ่งกว่า เราต้องรู้จักสิ่งที่ประเสริฐ ลาสิกขาไปเราก็ต้องไปปฏิบัติต่อที่บ้าน ต้องรู้จักอบายมุขอบายภูมิ การตามใจตัวเอง ตามอารมณ์ตัวเอง ตามความรู้สึก คืออบายมุข อบายภูมิ
ชีวิตของเราให้เป็นการเดินทางสู่มรรคผล พระนิพพาน ไปเรียนไปศึกษา กลับไปที่บ้าน ก็ต้องไปต่อหน้าที่ที่บ้าน ให้มีความสุข ต้องพยายามฝึกสู้กับตัวเอง เรามาอยู่ที่วัด ถ้าไม่ตั้งใจฝึกก็เหมือนที่ผ่านๆ มา ไม่ได้ฝึกไม่ได้มาปฏิบัติ พอมาบวช สึกออกไป ก็เกลียดวัด ไม่ชอบวัด คนแบบนี้แหละ เวลาสึกไปแล้วก็ไปอยู่กับอบายมุขอบายภูมิ ทุกคนก็พากันไปโทษพ่อ โทษแม่ โทษดินฟ้าอากาศ โทษรัฐบาล ไม่ยอมโทษตัวเอง
พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงเรื่อง กำลัง หรือ อำนาจ ดังนี้ “ทารกทั้งหลายมีการร้องไห้เป็นกำลัง, มาตุคาม (ผู้หญิง) ทั้งหลายมีความโกรธเป็นกำลัง, โจรทั้งหลายมีอาวุธเป็นกำลัง, พระราชาทั้งหลายมีอิสริยยศเป็นกำลัง, คนพาลทั้งหลายมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง, บัณฑิตทั้งหลายมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง, พหุสุตบุคคลทั้งหลายมีการพิจารณาเป็นกำลัง, สมณพราหมณ์ทั้งหลายมีขันติเป็นกำลัง”
การเพ่งโทษ คือการคิดร้าย การหวังประทุษร้าย การกล่าวถึงผู้อื่นด้วยจิตอกุศล และการเฝ้าตำหนิหรือมองแต่แง่ลบของผู้อื่น คนพาลดังคำที่ท่านกล่าวถึงคือคนที่มีจิตใจต่ำทรามหรือยังถูกครอบงำด้วยกิเลสอยู่มาก มักเป็นผู้ชอบวิวาทและก่อความเบียดเบียนแก่ผู้อื่น ย่อมใช้การเพ่งโทษคนอื่นเป็นการสร้างอำนาจให้กับตนเอง ย่อมเบียดเบียนผู้อื่นด้วยการเพ่งโทษเขาอยู่เสมอๆ
ในทางกลับกัน ผู้เป็นบัณฑิต คือบุคคลที่มีปัญญาพาออกจากทุกข์ มีการไม่เพ่งโทษคนอื่นเป็นอำนาจของตนเอง ไม่เที่ยวเทียวให้ร้ายใคร ไม่คิดอกุศลต่อคนอื่น หรือเพ่งจับผิดข้อบกพร่องของใคร ย่อมมากด้วยความเคารพและมีจิตใจที่สงบมั่น แตกต่างจากบุคคลพวกแรกที่มิอาจหาความสงบร่มเย็นให้แก่จิตใจได้เลย เพราะมัวแต่ควานหาข้อผิดพลาดของผู้อื่น
การใช้ชีวิตของคนเรานั้นย่อมต้องเกี่ยวข้องผูกพันกับโลกธรรมทั้งหลาย หนึ่งในนั้นคือการมีอำนาจ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของสถานะหรือยศ การยอมรับหรือสรรเสริญ และลาภทั้งหลายที่เป็นสมบัติภายในคือศักยภาพ กับสมบัติภายนอกคือวัตถุต่างๆ จิตเรามักถูกผลักดันให้แสวงหาในอำนาจเหล่านี้เพื่อทำให้รู้สึกมั่นคงและมีตัวตน ซึ่งบ่อยครั้งที่การเสาะแสวงในโลกธรรมเหล่านี้ทำให้เกิดการเบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม บางครั้งเราก็แสวงหาความมั่นใจตนเองด้วยการเพ่งโทษคนอื่น กลั่นแกล้งคุกคามเพื่อให้ตนเองรู้สึกมีอำนาจชดเชยความขาดแคลนในจิตใจ บางครั้งเราก็ต้องการการยอมรับเพื่อรู้สึกถึงความมีตัวตน จึงร่วมขบวนการก่นด่าสาปแช่งผู้อื่น หรือแสดงความเห็นคล้อยตามไปกับคนอื่นๆ ให้เป็นที่รับรู้ หลายครั้งที่การเพ่งโทษคนอื่นเป็นกลไกของจิตที่หวังให้ตัวเราเองรู้สึกมีคุณค่าและความมั่นคงมากขึ้น แต่เป็นเหมือนเกราะกลวงๆ ที่ไว้บังหน้า มิอาจให้ความมั่นคงทางจิตใจที่แท้จริงได้เลย
พระพุทธเจ้าสอนให้เราไม่คอยจับผิดคนอื่น ด้วยเหตุผลหนึ่งคือ “โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก เพราะว่าบุคคลนั้นย่อมโปรยโทษของคนอื่น ดุจบุคคลโปรยแกลบแต่ปกปิดโทษของตนไว้ เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพด้วยกิ่งไม้ ฉะนั้น อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลผู้ตามเพ่งโทษผู้อื่น”
เรามีชีวิตร่วมกัน แต่ถ้าใครพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ฐานะครอบครัวก็จะเปลี่ยนไป การปฏิบัติของเรา ระบบกริยามารยาทของเรา ระบบคำพูดของการปฏิบัติของเรา ระบบที่เราจับจ่ายใช้สอย ใช้สิ่งของในชีวิตประจำวัน ฝึกการปฏิบัติของเรา ฝึกการทานอาหารเข้าห้องน้ำ มันก็คือการปฏิบัติของเรา อย่าไปมองข้ามปัจจุบัน ต้องเอาใจใส่ด้วยธรรมชาติเพื่อปัจจุบันของตัวเอง เราต้องเห็นคุณเห็นโทษ เด็กน้อยสมัยโบราณในที่บ้านเมืองใช่ตะเกียงน้ำมันก๊าซ ยังใช้แสงสว่างด้วยขี้ไต้ ที่เอานำมันยางมาผสมกับไม้ผุแล้วเอามาห่อใบตองแล้วมัด เด็กกลางคืนมันเห็นแสงไฟมันอยากไปจับ หรือว่า มันไม่รู้ไฟมันร้อน ห้ามอย่างไงมันก็ไม่ฟัง ร้องไห้ ปล่อยให้มันไปจับครั้งเดียวก็ หืม... กลัวเลย คนเรามันต้องเห็นโทษเห็นภัยในการปล่อยใจ ไม่ฝึกใจ เพราะการเห็นภัยการที่ทุกคนต้องเป็นผู้ละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป การประพฤติการปฏิบัติมันเป็นเรื่องปัจจุบันเป็นเรื่องเร่งด่วนเพราะเราต้องปฏิบัติติดต่อต่อเนื่อง
ผู้ที่มาบวชก็ต้องมารู้หลักรู้เหมือนเราเรียนหนังสือภาคบังคับ คนโบราณภาคบังคับก็ประถมศึกษปีที่ ๔ ทุกวันนี้ก็มัธยมศึกษาปีที่ ๓ เมื่ออ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เราไม่อ่านหนังสือหรอก ถ้าเราเข้าใจแล้วเราก็ไปปฏิบัติทุกหนทุกแห่ง เน้นกระทั้งให้ได้ติดต่อต่อเนื่อง เพื่อให้ความเห็นนี้เข้าใจนะ
มีสามเณรอีกรูปหนึ่งประวัติความเป็นมาค่อนข้างน่าอัศจรรย์ สามเณรน้อยรูปนี้นามว่า สามเณรสุมน เรื่องราวบันทึกอยู่ในธัมมปทัฏฐกถาภาค ๘ สามเณรสุมนะ ผู้มีฤทธิ์ปราบพญานาค สหายเก่าของพระอนุรุทธเถระ ผู้เกื้อกูลกันและกันในอดีตชาติ ท่านได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุขณะมีวัยเพียง ๗ ขวบ
ท่านพระอนุรุทธเถระได้ระลึกชาติเพื่อไปโปรดสหายเก่าที่เคยเกื้อกูลกันมา เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งท่านพระอนุรุทธเถระได้เข้าสมาธิเล็งดูโลกธาตุพันหนึ่งได้ด้วยทิพยจักษุ ระลึกได้ซึ่งบุพเพนิวาสานุสติ ครั้งหนึ่งในอดีตชาติกาลก่อน เราเป็นผู้มีชื่อว่า อันนภาระ เป็นผู้ยากจน เป็นคนขนหญ้า ท่านได้ไปอาศัย สุมนะเศรษฐี ผู้มียศ ผู้ยิ่งใหญ่ในกรุงพาราณสี สุมนะเศรษฐีผู้มอบเงินให้เรา เลี้ยงชีวิต ครั้งหนึ่งเราได้ถวายบิณฑบาตแก่ พระอุปริฏฐะปัจเจกพุทธเจ้า สุมนะเศรษฐีได้ขออนุโมทนาบุญกับเรา ท่านเลยคิดถึงเพื่อนเก่า สุมนะเศรษฐี เพื่อนรักที่ตายจากกันไปบัดนี้ไปเกิดที่ไหน ก็เล็งด้วยทิพยจักษุหรือตาทิพย์ก็พบว่าสุมนะเศรษฐีเพื่อนเก่า บัดนี้ตามมาเกิดทันกันแล้วแต่อายุไม่ทันกัน สุมนะเศรษฐีได้มาเกิดในบ้านชื่อว่ามุณฑนิคม อยู่ใกล้ภูเขา ใกล้ป่าที่ถูกไฟไหม้ แล้วก็ไปเกิดในตระกูลของโยมอุปัฏฐากของท่านเอง ที่ชื่อว่า มหามุณฑะ ในมุณฑะนิคม อุบาสกที่เป็นโยมอุปัฎฐากท่านมีลูกอยู่ ๒ คน ตนโตชื่อ มหาสุมนะ คนที่ ๒ ชื่อว่า จูฬสุมนะ โดยสุมนะเศรษฐีก็มาเกิดเป็น “จูฬสุมนะ”
หวังจะสงเคราะห์สหายเก่าจึงเดินทางมุ่งหน้าไปยังนิคมนั้น หัวหน้านิคมเห็นพระเถระก็นิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาที่นิคมของตน เพื่อสงเคราะห์ชาวบ้าน ท่านก็รับนิมนต์ เพราะมีความประสงค์เช่นนั้นอยู่แล้ว
ถึงวันออกพรรษามหามุณฑะก็นำไทยธรรม (ของถวายพระ) จำนวนมากมายถวายพระเถระบอกว่า จะให้อาตมารับได้อย่างไรอาตมาไม่มีสามเณรผู้เป็น “กัปปิยการก” นายนิคมจึงว่าถ้าอย่างนั้นผมจะให้บุตรชายคนโต บวชดีกว่า (ลูกชายคนโต ไม่มีความผูกพัน อุปนิสัย บารมีไม่มี) ท่านก็บอกว่าอาตมาไม่ต้องการ ถ้าอย่างนั้นลูกชายคนเล็กก็แล้วกัน จูฬสุมนะ (อายุ ๗ ขวบ) ปรากฏว่าความปรารถนามุ่งหวังของท่านพระอนุรุทธเถระสำเร็จผล ท่านก็ได้จัดการเอาน้ำมาลูบผมและสอนสามเณร สุมนะเป็นเด็กที่มีบุญได้สั่งสมบุญเก่ามาดีข้ามภพข้ามชาติ เพราะฉะนั้นเวลาบวชเพียงใบมีดโกนจรดปลายเส้นผม สามารถพิจารณาเห็นแจ้งถึงความไม่เที่ยงของสังขาร แล้วบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พอปลงผมเสร็จก็บรรลุอรหันตผลทันที ท่านพระอนุรุทธเถระได้อยู่อบรมสั่งสอน “สามเณรสุมนะ” ประมาณครึ่งเดือน พอสามเณรห่มผ้าเป็น สวดมนต์เป็น ก็พาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ปรากฏว่าสามเณรรูปนี้ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสามเณรรูปนี้มาก
ท่านพระอนุรุทธะพาสามเณรสุมนไปอยู่ในป่าหิมพานต์ บังเอิญโรคลมจุกเสียด ซึ่งเป็นโรคประจำตัวของพระเถระกำเริบทำให้ได้รับทุกขเวทนา พระเถระบอกสามเณรสุมนไปเอาน้ำจาก สระอโนดาตมาให้ดื่มเพื่อระงับโรคลม สั่งว่าพญานาคชื่อ ปันนกะ รู้จักกับท่านให้ไปขอน้ำจากพญานาค
สามเณรเหาะไปด้วยอิทธิฤทิ์มุ่งตรงไปยังสระอโนดาต ขณะนั้นปันนกะกำลังพานาคบริวารทั้งหลายลงเล่นน้ำในสระอโนดาตพอดี เห็นสมณะน้อยเหาะข้ามศีรษะมาก็โกรธ หาว่าสมณะโล้นน้อยนี้มาโปรยฝุ่นที่เท้าลงบนศีรษะตน
สามเณรอ้างนามพระอุปัชฌาย์ซึ่งพญานาครู้จัก ขอน้ำไปทำยาเพราะท่านกำลังป่วย พญานาคไม่สนใจ ไล่กับท่าเดียวแถมยังแผ่พังพานใหญ่ปิดสระน้ำทั้งหมด ดุจเอาฝาปิดหม้อข้าวฉันใดฉันนั้น ร้องท้าว่า ถ้าสามเณรเก่งจริงก็มาเอาได้เลย
สามเณรถือว่าได้รับอนุญาตแล้ว จึงแปลงกายเป็นพรหมสูงใหญ่ เหยียบลงตรงพังพานของพญานาค พังพานยุบลงเปิดช่องให้สายน้ำพุ่งขึ้นมาเป็นลำสามเณรเอาบาตรรองน้ำจนเต็มแล้วก็เหาะกลับไป
พญานาคทั้งเจ็บทั้งอาย ที่ถูกสามเณรน้อยเหยียบหัวแบน จึงตามไปทันที่สถานที่อยู่ของพระเถระ ฟ้องว่าสามเณรเอาน้ำมาโดยไม่ชอบธรรม
พระเถระหันมามองสามเณร สามเณรกราบเรียนท่านว่า น้ำนี้กระผมนำมาโดยชอบธรรมแล้ว พญานาคร้องบอกอนุญาตแล้วพระเถระเชื่อว่าพระอรหันต์ย่อมไม่พูดเท็จจึงฉันน้ำนั้น และโรคในกายท่านก็สงบระงับ
พระเถระขอให้พญานาคขอโทษสามเณรเสีย พญานาคก็ยอมขอขมาและปวารณาว่าถ้าสามเณรต้องการน้ำเมื่อใด เพียงแต่สั่งเท่านั้นตนจะนำมาให้เอง
เมื่อพระอนุรุทธะพาสามเณรสุมนไปพระวิหารเชตวัน พระภิกษุอื่นๆ เห็นสามเณรน้อยน่าเอ็นดูก็จับหูบ้าง ลูบศีรษะบ้าง ด้วยความเอ็นดู หยอกล้อว่าเจ้าเด็กน้อย บวชแต่อายุยังน้อยเจ้าไม่คิดถึงแม่ดอกหรือ หย่านมหรือยังจ๊ะ อะไรทำนองนี้ พระพุทธเจ้าทรงดำริว่า “พระพวกนี้ไม่รู้ว่าตัวเองล้อเล่นกับหายนะ เหมือนกำลังจับงูที่คอ” ทรงเกรงว่าพระปุถุชนจะละลาบละล้วงล่วงเกินพระอรหันต์มากกว่านี้เป็นบาปเป็นกรรมเปล่าๆ
องค์พระบรมศาสดาจึงทรงประสงค์จะทำฤทธิ์สามเณรสุมนะให้ปรากฏ เลยเรียกประชุมสามเณรทั้งหมดและตรัสว่า...“พระองค์ประสงค์จะล้างพระหัตถ์ด้วยน้ำจากสระอโนดาต จากตุ่ม ๘๐ ตุ่มที่นางวิสาขาอุบาสิกานำมาถวายไว้ ใครสามารถนำมาได้บ้าง”
ในบรรดาสามเณรแม้จะมีพระอรหันต์หลายรูป ทรงอภิญญามีอิทธิปาฏิหาริย์ก็มี แต่ทราบว่า “พวกดอกไม้” นี่พระพุทธองค์ทรงร้อยไว้เพื่อสามเณรสุมนเท่านั้น (เป็นสำนวน หมายความว่า เรื่องนี้ต้องการให้เป็นหน้าที่ของสามเณรสุมน) จึงไม่เสนอตัว เมื่อไม่มีใครอาสา สามเณรสุมนก็รับอาสาถวายบังคมพระพุทธองค์แล้ว
จนมาถึงสามเณรสุมนะ ท่านรับคำ แล้วเอานิ้วก้อยเกี่ยวตุ่ม ๘๐ ตุ่มที่ผูกด้วยเชือกเหาะไปที่สระอโนดาต ป่าหิมพานต์ทันที พญานาคราชรีบมาต้อนรับ ถามว่าทำไมไม่บอกตน จะได้นำน้ำไปถวาย สามเณรบอกว่าพระบรมศาสดาใช้มา แล้วตักน้ำไป ว่ากันว่าแสดงตัวให้พระสงฆ์เห็นกับตาเลยทีเดียว ต่างก็ร้อง โอ้โฮๆ น่าออนซอนแท้ๆ ว่ากันอย่างนั้น
ขากลับก็ปรากฏตัวให้เห็นกลางนภากาศลิ่วๆ ลงมายังลานพระวิหารแล้วก็นำน้ำไปถวายพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสถามเธอว่า “สุมนะ เธอมีอายุเท่าไหร่แล้วตอนนี้” สามเณรกราบทูลว่า “มีอายุ ๗ ขวบแล้วพระเจ้าค่ะ” พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า “อชฺชโต ปฏฺฐาย ภิกฺขุ โหหิ...สุมนะ ถ้าอย่างนั้นนับจากนี้ไปเธอจงเป็นภิกษุเถิด” คัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า การอุปสมบทที่ทรงประทานให้สามเณรครั้งนี้เรียกว่า “ทายัชชอุปสมบท” เป็นกรณีพิเศษที่บวชเณรอายุ 7 ขวบ เป็นพระ
การบวชพระภิกษุมีหลายวิธี เช่น การบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา สมัยแรกๆ พระพุทธเจ้าประทานการบวชเป็นพระอุปัชฌาย์ด้วยพระองค์เองให้แก่ผู้มาขอบวชโดยทั่วไป บางครั้งก็ประทานการบวชให้บางคน เช่น พระมหากัสสปะ ด้วยการทรงประทานพระโอวาทให้แก่ท่านเพื่อรับไปปฏิบัติ พระภิกษุที่ได้รับการบวชด้วยวิธีแบบพิเศษนี้มีเพียงพระมหากัสสปะรูปเดียวเท่านั้น เรียกว่า การบวชแบบโอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา ครั้นต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ขยายออกไป จึงเกิดความไม่สะดวกต่อผู้ใคร่ที่จะออกบวชเพราะจะต้องเดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อให้ทรงประทานการบวชให้ จึงทรงยกเลิกการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วบัญญัติให้มี การบวชแบบติสรณคมนูปสัมปทา ขึ้น โดยให้ผู้มาขอบวชนั้นโกนหัว ห่มผ้าเหลือง กราบเท้าพระ แล้วก็เปล่งวาจาต่อหน้าพระสาวกผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ ขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง นับเป็นการบวชที่ง่าย แต่ต่อมาภายหลังการบวชแบบนี้ได้นำไปใช้ในการบวชสามเณรเท่านั้น ซึ่งสามเณรเวลาจะบวชก็ง่าย โกนหัว ห่มผ้าเหลือง แล้วก็มาเปล่งวาจาขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง และรับศีล ๑๐ ข้อก็เสร็จการ ส่วนการบวชพระภิกษุให้เปลี่ยนมาเป็น การบวชแบบญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา แทน ถือเป็นวิธีการบวชพระภิกษุที่ใช้สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งต้องมีพระอุปัชฌาย์ มีพระกรรมวาจาจารย์ มีขั้นตอนพิธีกรรม ฯลฯ วิธีนี้เป็นวิธีบวชที่ทรงมอบอำนาจให้คณะสงฆ์เป็นใหญ่ คือพระภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปร่วมกันทำพิธีบวช
สมัยแรกๆ ในครั้งพุทธกาลนั้น ไม่ว่าจะบวชพระภิกษุหรือบวชสามเณร พระพุทธองค์ทรงใช้คำเดียวว่า “อุปสมบท” (อุปสัมปทา) ต่อมาเมื่อทรงมอบอำนาจให้คณะสงฆ์ทำพิธีบวชแทนพระพุทธองค์แล้ว คำว่า “บรรพชา” (ปัพพัชา) จึงใช้เฉพาะบวชสามเณร และคำว่า “อุปสมบท” (อุปสัมปทา) ใช้เฉพาะบวชพระภิกษุ เนื่องจากคนจะบวชพระภิกษุจะต้องผ่านขั้นตอนการบวชสามเณรก่อน จึงเรียกรวมกันว่า “บรรพชาอุปสมบท”
แต่ปรากฏว่าทรงมีพระพุทธประสงค์ที่จะยกย่องสุมนะสามเณร ซึ่งในประวัติศาสตร์ตามหลักการบวชพระภิกษุต้องมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ แต่มีอยู่เพียง ๓ รูปเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้เป็นพระภิกษุแบบพิเศษ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สามเณรได้รับการบวชยกขึ้นเป็นพระภิกษุได้ โดยไม่ต้องรอให้อายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ก่อน เรียกว่า การบวชแบบทายัชชอุปสัมปทา หมายถึง การบวชแบบมอบความเป็นทายาทให้ หรือการรับเข้าหมู่โดยความเป็นทายาท ซึ่งเป็นการบวชเป็นพระภิกษุแบบพิเศษ ทั้งนี้เพราะพระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า สามเณรนี้มีคุณสมบัติสมควรที่จะเป็นพระภิกษุได้เพราะเป็นพระอรหันต์ และปฏิบัติหน้าที่รับภาระหนักเทียบเท่าพระภิกษุ (ในพระพุทธศาสนามีสามเณรที่ได้รับการบวชด้วยวิธีแบบพิเศษนี้เพียง ๓ รูปเท่านั้น คือ สามเณรสุมนะ, สามเณรโสปากะ และสามเณรทัพพะ)
เรื่องราวของสามเณรสุมนค่อนข้างพิลึกกว่ารูปอื่น คือ เต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ความจริงเรื่องนี้มิใช่เรื่องประหลาด หรือลึกลับอะไร ผู้สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมอภิญญาย่อมสามารถสำแดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ได้นับว่าเป็น “ธรรมดาของพระอรหันต์ ผู้ทรงอภิญญา” ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร ถ้าเราเข้าใจคำว่า “ธรรมดา” ก็จะหมดสงสัย ธรรมดาของนกมันย่อมบินได้ธรรมดาของปลาย่อมแหวกว่ายในน้ำได้ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามพิเศษอะไร
เวลาเราเห็นนกบิน เห็นปลาแหวกว่ายออยู่ในน้ำทั้งวันเราอัศจรรย์ไหม เปล่าเลย เห็นเป็นของธรรมดาฉันใด พระอรหันต์ที่ท่านได้อภิญญา (อรหันต์บางประเภทก็ไม่ได้อภิญญา) ท่านสามารถแสดงฤทธิ์ เช่น เหาะได้ดุจนก เพราะนั่นเป็น “ธรรมดา” ของท่าน
พอได้บวชเป็นพระภิกษุ ๗ ขวบ พระภิกษุทั้งหลายก็ตื่นเต้นกัน ดูก่อนผู้อาวุโสทั้งหลาย น่ามหัศจรรย์เหลือเกิน อานุภาพของสามเณรน้อยแม้เห็นปานนี้ก็ยังมีได้ พวกเราไม่เคยเห็นเรื่องอย่างนี้มาก่อน พระพุทธเจ้าเสด็จมาก็ทรงตรัสถามว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกท่านกำลังคุยอะไรกัน” พวกพระภิกษุก็ตรัสทูลว่า “กำลังคุยปรารถเรื่องสุมนสามเณรพระเจ้าค่ะ มหัศจรรย์เหลือเกิน เด็ก ๗ ขวบได้เป็นพระ แต่จริงๆ แล้วถ้ามองโดยคุณภาพทางใจท่านเป็นพระอรหันต์ไปแล้วตั้งแต่ปลงผมเสร็จ เพราะฉะนั้นรูปกายโดยสมมติเป็นเณร แต่ใจท่านเป็นพระ” เมื่อพระภิกษุทั้งหลายกราบทูลเช่นนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า “ในศาสนาของเรา บุคคลแม้เป็นเด็ก ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมได้สมบัติเห็นตามนี้เหมือนกัน”
จากชีวประวัติเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า สามเณรแม้อายุยังน้อยแต่อานุภาพไม่ธรรมดา ฉะนั้น เราจึงไม่ควรจะไปดูหมิ่นดูแคลนสมณะว่ายังเยาว์ ว่าเป็นสามเณรน้อยๆ คงไม่มีความสามารถอะไร สามเณรนี่แหละเป็นเหล่ากอของสมณะที่จะเป็นผู้สืบต่ออายุของพระศาสนา เป็นผู้สืบทอดพระสัทธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาให้ดำรงคงอยู่คู่โลกต่อไป พระพุทธองค์เคยตรัสสอนแก่พระเจ้าปเสนธิโกศล ถึงภัยมีสิ่งอยู่ ๔ ประการที่ไม่ควรจะไปดูถูกดูแคลน ได้แก่ อันดับที่ ๑ ก็คือ งู ตัวมันเล็กนิดเดียวก็อย่าไปประมาท มันฉกกัดเอาก็ตายได้ อันดับที่ ๒ ก็คือ ไฟ ก็เหมือนกันนิดเดียวก็อย่าไปประมาท ไม้ขีดก้านเดียวไหม้ทั้งเมืองมาแล้ว อันดับที่ ๓ ก็คือ กษัตริย์ที่เป็นยุวกษัตริย์ อย่าไปประมาท เป็นกษัตริย์เด็กๆ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังไม่มีอำนาจอะไร แต่เมื่อใดที่ถึงเวลาท่านบรรลุนิติภาวะแล้วละก็พระราชอำนาจของพระองค์ท่านก็ยิ่งใหญ่ปกครองประเทศ หาผู้ใดสมควรล่วงเกินไม่ อันดับที่ ๔ ก็คือ พระแม้บวชใหม่พรรษาน้อยหรือ “สามเณรน้อย” มีความสำคัญมาก เพราะว่าเราไม่รู้ว่าท่านสั่งสมบุญบารมีมาอย่างไร ชาวบ้านนี้ชอบใส่บาตรกับพระแก่ๆ ไม่ยอมใส่บาตรกับพระหนุ่ม เณรน้อย บอกว่าได้บุญน้อย สู้ใส่บาตรกับพระแก่ๆ พรรษาเยอะๆ ไม่ได้ ใครจะไปรู้หล่ะว่าเด็ก ๗ ขวบอาจจะเป็นพระอรหันต์ พระที่บวชใหม่เพียงวันเดียวอาจจะเป็นพระอรหันต์ก็ได้ เพราะแต่ละคนอบรมสั่งสมบุญบารมีกันมาไม่เหมือนกัน ฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะดูหมิ่นหรือดูถูกกัน โบราณท่านยังกล่าวว่า “ลูกคนจนตื่นเต้นแสนจะคิด อาจประริดกลายเวทย์เป็นเศรษฐี ลูกคนโง่อาจโผล่เป็นเมธี เหตุฉะนี้ไม่ควรถูกดูหมิ่นกัน”
ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงอันตรายสองแบบ คือ อันตรายที่ปรากฏ กับ อันตรายที่ปกปิด
อันตรายที่ปรากฏ เช่น สัตว์ร้าย สัตว์มีพิษ โรคทางร่างกายทั้งหลาย อากาศร้อน อากาศหนาวจัด แดดร้อน ความหิวกระหาย ความเจ็บไข้ได้ป่วย และสิ่งที่อาจเป็นอันตรายอันอยู่นอกตัวเราและเกี่ยวกับร่างกาย เป็นอันตรายที่สังเกตได้ง่าย
อันตรายที่ปกปิด เช่น กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต คือการกระทำไม่ดีทางกาย วาจา และใจ, นิวรณ์อันบดบังปัญญา ได้แก่ ความรัก ความชัง ความลังเล ความฟุ้งซ่าน และความห่อเหี่ยว, กิเลส ได้แก่ โลภ โกรธ หลง ความอาฆาตแค้น ความลบลู่คุณ การตีเสมอ อิจฉาริษยา ความตระหนี่ การหลอกลวงความโอ้อวด ความหัวดื้อ การแข่งดี การถือตัว การดูหมิ่นคนอื่น มัวเมาหลงใหล ความประมาท เป็นต้น รวมทั้งความกระวนกระวาย ความเร่าร้อนทั้งปวง ความเดือดร้อนทั้งปวง อกุศลธรรมทั้งปวง อันตรายเหล่านี้ เรียกว่าอันตรายที่ปกปิด เพราะสังเกตได้ยากและมักเผลอไผลไม่ระวัง
อันตรายในธรรมะของพระพุทธเจ้า หมายถึง สิ่งที่สามารถครอบงำ บั่นทอน ทำร้าย หรือย่ำยีตัวเรา มิว่าทางกายหรือทางใจ ให้เป็นไปในทางเสื่อม เป็นที่อยู่แห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงชื่อว่าอันตราย
หากเรามัวแต่โทษคนอื่น เพ่งเล็งข้อบกพร่องและข้อผิดพลาดของผู้อื่นอยู่บ่อยๆ เราก็จะไม่ทันระวังอันตรายที่ปกปิดไว้ในตัวเราเอง อกุศลที่หมักดองไว้ก็จะทำให้กาย วาจา และใจตนค่อยๆ เน่าเสีย เสื่อมลงช้าๆ เพราะไม่ระวังในอกุศล เช่น กิเลสทั้งหลายที่มีอยู่ ระหว่างที่มัวจับผิดคนอื่นเขา เราจึงค่อยๆ แย่ลงเรื่อยๆ ในทางธรรมและการพัฒนาจิตใจตนเอง การเปรียบเทียบตนกับคนอื่น การแข่งดี การโอ้อวดตัวเอง การดูหมิ่นคนอื่น ต่างก็เป็นหนึ่งในอันตรายใกล้ตัวที่ปกปิดไว้ ด้วยความไม่รู้ตัว ด้วยเอาจิตส่งออกนอกไปใส่ใจสิ่งนอกกายเกินไป หรือด้วยการโปรยแกลบโทษของคนอื่นอำพลางไว้ ทำให้ตัวเราเองคือผู้ที่เบียดเบียนตนกับคนอื่นโดยไม่รู้ตัว เป็นผู้ร้ายที่น่ากลัวที่สุดผู้หนึ่ง
ตราบใดที่ใจเรายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง และการแข่งดี เราก็สามารถทำร้ายตนเองและคนอื่นได้เสมอ มิว่าด้วยกาย วาจา หรือใจ ไม่เพียงแค่นั้นยังอาจชักชวนหรือเป็นปัจจัยให้ผู้อื่นก่ออกุศลกรรมตามตนเองอีกด้วย เป็นหนทางที่นำไปสู่ความทุกข์ มิอาจอยู่อย่างเป็นสุขและร่มเย็นในจิตใจ
หากเราพึงหวังให้ตนเองไม่เป็นผู้เบียดเบียน ปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขและร่มเย็น พึงปราบปรามหรือกำราบความโลภ ความโกรธ ความหลง และการแข่งดีในจิตใจตนเอง ไม่มัวเพ่งโทษของผู้อื่นจนหลงลืมตน บางครั้งเรารู้สึกว่าจำเป็นต้องเพ่งโทษคนอื่น เพราะสิ่งที่เขาเป็นหรือที่แสดงออกมาทำให้เราทุกข์ แต่การกระทำที่เขาแสดงเป็นความรับผิดชอบของเขา แต่อารมณ์ของเรา กิเลสของใจ ความขุ่นข้องรำคาญกับข้อผิดพลาดคนอื่นไม่ใช่ความรับผิดชอบของคนอื่น แต่เป็นของตัวเราเอง
ขณะที่เราว่าร้ายหรือวิจารณ์คนอื่นนี้ จิตใจเราเองอาจทำลงไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง และการแข่งดี มีความอยากเด่น อยากมีคุณค่า อยากมีตัวตน อยากโอ้อวด อยากได้รับการยอมรับ และกิเลสน้อยใหญ่ที่ผลักดันอยู่เบื้องหลัง ทำให้การกระทำนั้นๆ เป็นอกุศล ทำให้เกิดความเบียดเบียน ทำร้ายซึ่งกันและกัน การที่เราเฝ้าจับผิด คิดลบร้าย มองแต่ข้อบกพร่องของผู้อื่นและสิ่งทั้งหลาย แง่หนึ่งก็เป็นเพราะว่าตัวเราอยากมีคุณค่า อยากดีพอ หรืออยากเป็นที่ชื่นชมสรรเสริญ ความอยากดีพอที่ว่านี้ ย่อมทำให้จิตโลเล วุ่นวาย ไม่ตั้งมั่น ทำให้เกิดอกุศลกรรมต่างๆ ตามมา เช่น การแข่งดี การโอ้อวดตนเอง และการดูหมิ่นผู้อื่น เป็นต้น
"คนทั่วไปอยู่บนยอดเขา ด้วยมุ่งหมายการแก่งแย่งกันเพื่อ 'คำว่าชนะ' ไม่สามารถยืนอยู่ได้อย่างเป็นสุข ย่อมโดดเดี่ยว ย่อมเย็นยะเยือกด้วยความหนาวเหน็บ สายตาที่สาดส่องไปเบื้องต่ำ มีแต่ความหวาดระแวงทุกวินาที ว่าจักมีผู้ใดไหมหนอ? ที่กำลังหมายจะมาแทนที่เรา... ส่วนทายาทแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่บนยอดเขา พึงมีใจดุจภูเขาศิลาล้วนเป็นแท่งเดียว ดั่งคำสอนแห่งองค์พระพุทธบิดร สามารถยืนอยู่ได้อย่างเป็นสุข ปราศจากความอ้างว้างโดดเดี่ยวและเหน็บหนาว มี 'ไตรลักษณ์' เป็นอารมณ์ สายตาที่สาดส่องไปเบื้องต่ำ มีแต่เมตตาอันประมาณมิได้ ปรารถนายิ่งยวดว่า มาเถิด ท่านทั้งหลาย จงขึ้นมายืนอยู่ตรงจุดนี้ร่วมกับเรา..."
บุคคลทั่วไปย่อมใช้ชีวิตไปตามกระแสการแสวงหาโลกธรรมทั้งหลาย อยากได้รับการยอมรับ คำชื่นชม และการมีตัวตน ย่อมอยากได้ใคร่มีในคำสรรเสริญเยินยอทั้งหลาย ย่อมเคลิ้มหรือหวั่นไหวไปกับคำสรรเสริญเยินยอทั้งหลาย แต่สิ่งนี้เป็นของน้อย ไม่ได้ทำให้เราขจัดปราบปรามอันตรายอันปกปิดในตัวเราเองได้เลย และอาจยิ่งส่งเสริมให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นไปด้วยความหลงอีกด้วย
การจะลดละการเพ่งโทษผู้อื่น เราต้องหมั่นสำรวจโทษในตนเอง รับฟังในคำตำหนิติเตียน ไม่เพลิดเพลินและแสวงหาแต่การสรรเสริญ พิจารณาและยอมรับในความผิดพลาดไปตามความเป็นจริง ย่อมทำให้อยู่บนทางของการระงับอกุศลทั้งหลายภายในจิตใจ แล้วนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุขสงบอย่างแท้จริง
แจกปัญญา แจกศาสนา แจกธรรมวินัย แจกสิ่งที่ถูกต้อง
เพื่อเดินตามรอยพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
โดยทุกท่านสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่
https://linktr.ee/watsubthawee
Share wisdom, spread Buddhism and its discipline.
Advocate righteousness to follow Lord of Buddha's footsteps 100%
ธรรมะสบายสบาย | Dhamma Sabaai Sabaai
You can receive new Dharma updates.
https://linktr.ee/watsubthawee