Art of Life ศิลปแห่งชีวิต
วิธีวางลง ก็คือถือว่ามี โดยไม่ยึดมั่นว่ามี
ในทางจิตใจ มีลูกมีเมีย มีเงิน มีทอง มีอะไรก็ตาม โดยไม่ต้องยึดมั่นว่ามี! เพราะความยึดมั่นถือมั่นทำให้มืด ทำให้หลง ทำให้พูดผิด คิดผิด ทำผิด แต่ความไม่ยึดมั่นว่ามี มันทำให้เกิดสติปัญญาแจ่มแจ้ง สว่างไสวรู้ว่าควรทำอย่างไร นี่ขอให้ท่านถือว่า นี่เป็นศิลป หรือเป็น ART ของพุทธศาสนา พวกชาวต่างประเทศเขาชอบเรียกกันด้วยคำนี้ว่า Art of Life ศิลปแห่งชีวิต หรืออะไรทำนองนี้ของพุทธศาสนา มันอยู่ตรงนี้เอง มันอยู่ตรงที่มีอะไรได้อะไร หรือเป็นอะไรแล้วไม่เป็นทุกข์
ส่วนคนที่ไร้ความรู้ หรือไร้ศิลปะข้อนี้แล้ว ยิ่งมีอะไรก็ยิ่งเป็นทุกข์ ยิ่งได้อะไรก็ยิ่งเป็นทุกข์ ยิ่งเป็นอะไรก็ยิ่งเป็นทุกข์มันต่างกันตรงนี้ เพราะเขาไม่มีศิลปที่ประเสริฐในข้อนี้ คือศิลปแห่งความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง มันจะจริงมากน้อยเท่าไรเราอย่าไปพิสูจน์ อย่าไปสอบสวนมันเลย เราเอาแต่ผลที่ประจักษ์เฉพาะหน้าว่า มันไม่ทุกข์ก็แล้วกัน พอใจกันที่ตรงนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่านํ้ ถ้าท่านไปตั้งปัญหาไต่สวนว่า จริงไหม จริงอย่างไร เพราะเหตุไร มันกลายเป็นเรื่องปรัชญาไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นปัญหาที่เขาเรียกว่า ปัญหาอจินไตย บัญหาโลกแตกอะไรไม่มีที่สิ้นสุด เราให้มันสิ้นสุดเดี๋ยวนี้ทีนี่ ไม่ทุกข์ได้ด้วยอาการอย่างนี้ จึงทันตาเห็น
บางทีจะเสร็จเสียก่อนในเวลาไม่เท่าไร แล้วเราจะได้มีเวลาที่ไม่เป็นทุกข์มากเสียก่อนที่ร่างกายจะแตกดับ เราจะมีเวลาที่ไม่เป็นทุกข์นี้มาก นี่คือผลกำไร ถ้ามัวไปตั้งปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเหตุใด อย่างไร ตามรูปปรัชญาเรื่อย แล้วก็ตายเปล่า ไม่มีทางที่จะรู้เด็ดขาด แล้วก็เลยไม่ได้ปฏิบัติ แล้วก็ตายเปล่า เพราะฉะนั้น เพื่อให้ทันแก่เวลา เราต้องปฏิบัติอย่างนี้
ตุลาการิกธรรม เล่ม ๓ (น.๔๖๘)
ธรรมโฆษณ์ : พุทธทาสภิกขุ