ทำวัตร กับ สวดมนต์ นั้น ไม่ใช่สิ่งเดียวกันดอก ;
ทำวัตรนั้นจะกระทำให้เป็นกิจวัตรในการไป เหมือนกับไปเฝ้าพระพุทธเจ้าประจำวัน,
สวดมนต์เป็นการศึกษาเล่าเรียน เรียนมนต์ เรียนคือความรู้
กิจวัตร ข้อที่ ๔. เรื่อง ทำวัตรสวดมนต์ ; ทบทวนมาดู บิณฑบาต กวาดวัด ปลงอาบัติ แล้วทำวัตรสวดมนต์. เราทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น, แล้วก็ยังสวดมนต์เล็กๆ น้อยๆ. ทำวัตร กับ สวดมนต์ นั้น ไม่ใช่สิ่งเดียวกันดอก ; ทำวัตรนั้นจะกระทำให้เป็นกิจวัตรในการไป เหมือนกับไปเฝ้าพระพุทธเจ้าประจำวัน, สวดมนต์เป็นการศึกษาเล่าเรียน เรียนมนต์ เรียนคือความรู้.
บททำวัตรก็คือ นมัสการ หรือ สดุดีสรรเสริญรวมทั้งอ้อนวอน ให้เกิดความสุข, ในบททำวัตรเช้าเย็น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าทำถูกวิธี จะมีอาการเหมือนกับเราไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ทั้งเช้าทั้งเย็น คล้ายๆกับว่าเกิดอยู่ในสมัยเดียวกัน : ตอนเช้าก็ไปพบพระพุทธเจ้าครั้งหนึ่ง, ตอนเย็นไปพบพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง เหมือนพระครั้งพุทธกาล. เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำวัตรให้ถึงขนาด ด้วยจิตใจที่ซึมทราบอยู่ในคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ซึมทราบอยู่จริงๆ, เหมือนกับมีพระพุทธเจ้ามาจริงๆ หรือว่าเหมือนกับเราไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงองค์ท่านจริงๆ, อย่างนี้เรียกว่าทำวัตร. เดี๋ยวนี้เราก็มีคำแปล รู้ได้ง่าย ; สมัยผมแรกบวชไม่รู้อะไร หาคำแปลดูที่ไหนก็ไม่ได้ ก็ยังทำ, ยังทำด้วยความยึดมั่นถือมั่นเป็นของศักดิ์สิทธิ์. เดี๋ยวนี้ก็ทำให้เป็นของจริงขึ้นมาได้ โดยรู้คำแปล, ทำจิตใจให้ซึมทราบ รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ, รู้สึกซึมทราบเอิบอาบพอใจยินดี มีความสุข มีจิตใจเหมือนพระพุทธเจ้า เหมือนพระธรรม พระสงฆ์ ขณะหนึ่ง ชั่วขณะหนึ่งก็ยังดี, ก็ยังดีกว่าไม่ทำ ; เพราะเมื่อไปทำวัตรสวดมนต์นั้นทำจริงๆ พอลุกขึ้นไปแล้วมันก็ติดไปด้วย มันไม่ใช่หมดเลย มันเกิดเป็นการสร้างนิสัยขึ้นมาใหม่อันหนึ่ง. อีกทางหนึ่ง คือมีจิตใจเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ประจำ ที่เรียกว่าได้บุญได้กุศล ได้อะไรแล้วแต่จะเรียกในการทำวัตรสวดมนต์นี้.
ฉะนั้นขอร้องให้พิจารณาดูให้ดีๆ ในเรื่องนี้ อย่าทำแต่เพียงว่า เกรงใจผู้ใดหรือว่าเป็นระเบียบบังคับแล้วก็ไปทำ มันไม่ค่อยได้บุญ. นี่เราก็ทำด้วยคิดว่าจะฝึกหัดนิสัยให้เป็นคนสม่ำเสมอ ตรงต่อเวลา ขยัน ทำจิตใจให้ประกอบไปด้วยธรรมะเหมือนพระพุทธเจ้า วันละ ๒ ครั้ง คือทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น.
จากหนังสือนวกานุสาสน์ เล่ม ๑ (น.๕๕)
พุทธทาสภิกขุ
พระราเชนท์ อาจริยวํโส
รวบรวม