พึ่งตนนั้นคือพึ่งธรรม,
พึ่งธรรมนั่นแหละคือพึ่งตน
คำธรรมะ แม้แต่คำว่า นิพพาน พูดอยู่ที่บ้านเป็นธรรมดาสามัญ ก็คือ เย็น - เย็น ว่านิพพาน. เย็นทางธรรมก็หมายความว่า เย็น - เย็น - เย็น อย่างนี้; แต่เป็นความเย็นในความหมายเฉพาะ คือเย็นเพราะไฟกิเลสดับไป.
ทีนี้ พอท่านคิดได้ หรือเห็นจริงในเรื่องสิ่งๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นของแท้ถาวร และเป็นที่พึ่งได้ ก็ไม่รู้ว่าจะเอาคำอะไรมาใช้ ก็เลยเอาคำว่า ตัว หรือ ตน, ตัวตนที่ชาวบ้านเขาพูดอยู่ที่บ้านเป็นประจำมาว่า ตัวตน; แต่มีความหมายเฉพาะในเรื่องนี้ เป็นคำใหม่; ก็เลยมีตัวตนอีกอันหนึ่ง เป็นตัวตนที่แท้จริง ตัวตนที่พึ่งได้ คือธรรมะนั่นแหละเป็นตัวตน.
ในพุทธศาสนานี้ จึงมีพุทธภาษิตที่ว่า พึ่งตนนั้นคือพึ่งธรรม, พึ่งธรรมนั้นแหละคือพึ่งตน หรือ ตน นั่นแหละคือธรรม ธรรมนั่นแหละคือตน, ถ้าจะมีตนหรือถ้าจะเรียกว่าตน; มิฉะนั้นก็อย่าเรียกเสียดีกว่า อย่าเรียกว่า ตัวตน อย่างที่เคยเรียกกันมาแต่ก่อน. เอาตัวกู - ของกูเป็นตัวตนอย่างนี้เป็นอันตราย; ถ้ายังอยากจะมีตัวตนอยู่ ก็เอาธรรมะเป็นตัวตน, ดังมีคำบาลีว่า :- ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา, อตฺตทีปา อตฺตสรณา, หรือ อตฺตสรณา อตฺตทีปา, ธมฺมสรณา ธมฺมทีปา. พูดวนเวียนกันอยู่ มีตนเป็นสรณะมีตนเป็นที่พึ่ง, นั้นคือ มีธรรมะเป็นสรณะ มีธรรมะเป็นที่พึ่ง. ถ้ามีธรรมะเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง นั้นคือมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ; นี่เกิดเป็นสองตน ขึ้นมาอย่างนี้. ขอให้ดูกันทีละตนให้ชัดเจน : ที่ได้เป็นสองตนคือ ตนกิเลส กับ ตนธรรมะ ขึ้นมาแล้ว.
จากหนังสือตัวเองที่ทุกคนควรรู้จัก และ มิตรสหาย ที่ทุกคน ควรรู้จักคบ (น.๑๖)
พุทธทาสภิกขุ