"...โกรธนี้เกิดจากว่าไม่ได้ดังใจ ไม่เหมือนใจ..."
โทสะ กับ โกธะ อันไหนมันมาก่อน มีพุทธภาษิตว่า "โทโส โกธสมุฏฺฐาโน" แปลว่า โทสะมีความโกรธเป็นสมุฏฐาน ซึ่งก็คือ โกรธก่อนแล้วจึงเกิดโทสะ.
โทสะ หมายถึงว่า จิตคิดประทุษร้าย ประทุษร้ายในทางทรัพย์ ในทางกาม จิตมันคิดประทุษร้าย เรียกว่าโทสะ. โทสะนั้นเกิดจากความโกรธ คือความโกรธในเรื่องอะไรก็ตาม แล้วเราคิดว่าจะทำร้าย พอคิดจะทำร้าย เรียกว่า เป็นตัวโทสะเกิดขึ้นในใจ แล้วก็ไปทำร้ายคนนั้นคนนี้ด้วยประการต่างๆ ดังนั้นความโกรธกับโทสะมีมาด้วยกัน เป็นเพื่อนคู่ขากัน ; ไอ้ตัวหนึ่งเริ่ม ไอ้อีกตัวหนึ่งก็ผสมโรงทันที ; พอโกรธปี๊บ โทสะก็เข้าผสมโรงทันที คิดมุ่งร้ายหมายขวัญ มันมีความโกรธขึ้นก่อน. คนเราทำไมจึงโกรธ เรื่องโกรธมันเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น เราควรมาศึกษาว่า ทำไมจึงโกรธ ? มันเกิดขึ้นมาจากอะไร ?
โกรธนี้เกิดจากว่าไม่ได้ดังใจ ไม่เหมือนใจ. ไม่ได้ดังใจในสิ่งที่เราต้องการ ได้มาก็ไม่เหมือนใจ ไม่ทันใจไม่ทันเวลาไม่ทันความต้องการเราจึงเกิดความโกรธ. ยกตัวอย่างง่ายๆ เราใช้เด็กให้ไปนำอะไรมาให้เรา เราต้องการไวๆ แต่เด็กไปช้า มันอาจกำลังไปหาอยู่ก็ได้ อาจไม่รู้จักสิ่งนั้นก็ได้ เรารู้สึกอย่างไรในขณะที่เราคอย รู้สึกว่าร้อนใจ ร้อนใจในเรื่องที่ว่าทำไมมันช้า. ความร้อนใจนี้เป็นลักษณะของความโกรธ พอเด็กมา เอาของมาช้าก็เปรี้ยงเข้าให้ โทสะตามมาทันทีเลย ทำไมมึงช้า มันติดกันอย่างนี้. พอเกิดโกรธก็เกิดโทสะ ; คนที่เกิดโกรธก็เกิดโทสะ. คนที่เกิดโกรธก็เพราะไม่ได้เหมือนใจ. คนที่โกรธนั้นเขาเรียกว่าพวกใจร้อน ใจเร็ว มีความรู้สึกรุนแรงต่างๆ. ความรุนแรงมันไม่ใช่ของดี ต้องกลางๆ จึงจะดี ; ใจอ่อนเกินไป หรือตึงเกินไปก็ไม่ดี มันต้องพอดีๆ ; ความรุนแรงมันทำให้เกิดความโกรธได้ง่าย.
จากหนังสือคำสอนผู้บวชใหม่ (น. ๔๔๔)
ท่านปัญญานันทภิกขุ
พระราเชนท์ อาจริยวํโส
รวบรวม