"... จะมีสัมมาทิฏฐิที่ถูกต้อง จะต้องปฏิบัติตามหลักกาลามสูตร ..."
ทีนี้ก็จะอธิบายคำนี้ พร้อมกันไปกับคำว่า สัมมาทิฏฐิ, สัมมาทิฏฐิ - ความเห็นชอบ หรือ เห็นถูกต้อง มันก็มีปัญญาที่เรียกว่า ยถาภูตสัมมัปปัญญา นั้นเอง มาเป็นเครื่องเห็น, แล้วก็จะเห็นอย่างถูกต้อง. ถ้าเห็นอย่างนี้ก็ไม่มีทางที่จะเป็นปรัชญา หรืออะไรเพ้อเจ้อไปในทางไหนได้ ; จะคงเป็นแต่สัมมาทิฐิในพระพุทธศาสนา, เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ ; แต่ว่า เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตใจ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ทางวัตถุ. สัมมาทิฏฐินี้ ต้องเป็นสิ่งที่มีฐานะรองรับ มีตัววัตถุ มีสิ่งที่จะมาใช้พิจารณาลงไปบนวัตถุ เห็นผลออกมาเป็นความจริง.
ถ้าจะพูดให้เกลี้ยงเกลา ก็ต้องพูดถึงหลักที่ว่า กาลามสูตร อีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าสัมมาทิฏฐิที่แท้จริงนั้น มันคั้นออกมาได้ จากเครื่องกรองของกาลามสูตรทั้ง ๑๐ อย่างนั้นเอง ถ้ามันผ่านเครื่องกรองของกาลามสูตร ๑๐ อย่าง มาได้แล้วออกมาก็จะเป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วก็ไม่เป็นปรัชญา ไม่เพ้อเจ้ออะไรหมด จึงขอร้องให้อดทนทำความเข้าใจ เกี่ยวกับกาลามสูตร การอีกสักครั้งหนึ่ง.
ข้อที่ ๑ มา อนุสฺสเวน - อย่าเชื่อ อย่ารับ อย่าเห็นด้วย อย่าอะไร ด้วยเหตุสักว่า ฟังตามๆ กันมาแต่นมนานแล้ว แต่ดึกดำบรรพ์แล้ว. ต้องเป็นเรื่อง ยถาภูตสัมมัปปัญญา จึงจะยอมรับ ยอมเชื่อ ยอมฟัง ยอมรับเอาเป็นหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง
ข้อที่ ๒. มาปรมฺปราย - อย่าเชื่อ อย่ายอมเห็นด้วย หรืออย่ารับเอา ด้วยเหตุสักว่า มันมีการกระทำ ประพฤติตามๆ ตามๆ กันมา ฯ
ข้อที่ ๓ มา อิติ กิราย - อย่ายอมรับยอมเชื่อ ยอมเห็นด้วยเพราะเหตุว่า มันกำลังลือกระฉ่อนอยู่ทั้งบ้านทั้งเมือง หรือทั้งโลก ฯ
ข้อที่ ๔ มา ปิฏกสมฺปทาเนน - อย่าเชื่อถือ อย่ารับเอา อย่าเห็นด้วย เพราะเหตุว่า มันมีอ้าง มีที่อ้างอยู่ในปิฎก คือในตำรา รวมทั้งพระไตรปิฎกด้วย ฯ
ข้อ ๕ มา ตกฺกเหตุ - อย่ายอมรับ เอามาเชื่อถือ ด้วยเหตุ ว่ามันมีเหตุผลในทางตรรก ฯ
ข้อ ๖ มา นยเหตุ - อย่าเชื่อเอา ถือเอา โดยเหตุผลทางนัยยะ นัยยะนี่คือปรัชญาที่กำลังพูดอยู่ ฯ
ข้อ ๗ มา อาการปริวิตกฺเกน - อย่าเชื่อหรือรับเอา ถือเอา โดยความตรึกตามอาการ, อาการ ปริวิตกฺเกน - การตรึกตามอาการ นี้คือสามัญสำนึกที่เรียกว่า Common Sense อันนี้ก็ใช้ไม่ได้ ฯ
ข้อที่ ๘ มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา - อย่าเชื่อถือ อย่ารับเอา อย่าเห็นด้วย โดยเหตุว่ามันเข้ากันได้ หรือมันทนได้ กับความคิดเห็นของเรา. ฯ
ข้อที่ ๙ มา ภพฺพรูปตาย - อย่าเชื่อถือ อย่ารับเอา อย่าเห็นด้วย เพราะเหตุว่าผู้พูดนี้มีลักษณะควรเชื่อ ฯ
ข้อที่ ๑๐ มา สมโณ โน ครูติ - อย่าเชื่อถือ อย่าเห็นด้วย อย่ายอมรับเอา เพราะเหตุว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา,
นี่รวมด้วยกันเป็น ๑๐ ข้อ ไปทบทวนดูให้ดี เขียนติดไว้ข้างฝาก็ยิ่งดีว่า ๑๐ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสห้ามไว้ ว่าอย่าใช้เป็นหลักสำหรับเชื่อ, หรือรับเอา หรือเห็นด้วย หรืออะไรทำนองนั้น. แต่ให้พิสูจน์ ให้กระทำ ให้ทดลอง ไปจนกระทั้งมันมียถาภูตสัมมัปปัญญา เกิดขึ้นในภายในใจของตัวเอง ตามกฎเกณฑ์ของธรรมะ ของสัจจะที่แท้จริง จึงจะยอมรับเอามาเชื่อ มาเห็นด้วย.
จากหนังสือเมื่อธรรมครองโลก (น.๓๒๓- ๓๒๗)
พุทธทาสภิกขุ
พระราเชนท์ อาจริยวํโส : รวบรวม