พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ ตรัสพระไตรปิฎกไว้จริงหรือไม่ นี้ไม่เป็นปัญหา พักไว้ก่อนก็ได้ พิจารณากันแต่ว่า ถ้อยคำที่ตรัสไว้นั้น ครั้นปฏิบัติตามแล้วดับทุกข์ได้หรือไม่
.
หลักกาลามสูตร เป็นเครื่องช่วยให้เราไม่ต้องมีปัญหาว่า พระพุทธเจ้าได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่? คัดลอกกันมาถูกต้องหรือไม่? มีปลอมปนหรือไม่?
.
เมื่อทรงพระชนม์อยู่ ได้ตรัสว่า การเห็นกายของพระองค์ แต่ไม่เห็นธรรม นั้นไม่ชื่อว่าเห็นพระองค์ บัดนี้เราจะเห็นอัฐิธาตุ รูปวาด รูปหล่อของพระองค์ ว่าเป็นพระองค์ได้อย่างไร รีบเห็นธรรมกันเสียเถิด
.
คำสอนของผู้รู้ที่แท้จริงแม้เป็นเวลา ๒ -๓ พันปีมาแล้วแต่ก็ยังใช้ได้อยู่เหมือนคำพูดใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ นั่นคือคำสอนของพระพุทธองค์แก่ชาวกาลาม ที่เรียกว่ากาลามสูตร (ดังต่อไปนี้)
.
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ฟังตามๆ กันมา" เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้นก็ได้ เพราะเปลี่ยนไปตลอดเวลาที่ฟังตามๆ กันมาก็ได้
.
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ทำตามสืบๆ กันมา" เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้น หรือเปลี่ยนไปๆ ตลอดเวลาที่ทำตามๆ กันมาก็ได้
.
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "กำลังเล่าลืออยู่อย่างกระฉ่อน" เพราะการเล่าลือเป็นการกระทำของพวกที่ไม่มีสติปัญญา มีแต่โมหะก็ได้
.
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "มีที่อ้างอิงในปิฎก (ตำรา) เพราะปิฎกหรือตำราทั้งหลายเกิดขึ้นและเปลี่ยนไป ตามปัจจัยที่แวดล้อม หรือตามกฏอิทัปปัจจยตา ก็ยังได้
.
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ถูกต้องตามหลักทางตรรกะ" เพราะตรรกะเป็นเพียงความคิดชั้นผิวเปลือก ใช้เหตุผลและเดินตามเหตุผลชั้นผิวเปลือก
.
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ถูกต้องตามหลักทางนยายะ" เพราะนยายะเป็นการคาดคะเนที่เดินไปตามเหตุผลเฉพาะหน้าในการคาดคะเนนั่นเอง
.
อย่าเชื่อได้รับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ถูกต้องตรงสามัญสำนึก" เพราะสามัญสำนึกเดินตามความเคยชินของความรู้สึกชั้นผิวเปลือก
.
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ทนต่อการเพ่งด้วยทิฏฐิของตน" เพราะทิฏฐิของเขาผิดได้ โดยเขาไม่รู้สึกตัว
.
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ผู้พูดอยู่ในฐานะควรเชื่อ" เพราะเป็นเหตุให้ไม่คิดใช้สติปัญญาของตนเอง ในการพิจารณา
.
อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "สมณะผู้พูดเป็นครูของเรา" เพราะเป็นเหตุให้ไม่คิดใช้สติปัญญาของตนเองในการศึกษา
.
ในกรณีเหล่านี้ เขาจะต้องใช้ยถาภูตสัมมัปปัญญาหาวี่แววว่า สิ่งที่กล่าวนั้นมีทางจะดับทุกข์ได้อย่างไร ถ้ามีเหตุผลเช่นนั้นก็ลองปฏิบัติดู ได้ผลแล้วจึงจะเชื่อ และปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป กว่าจะถึงที่สุดแห่งความดับทุกข์
.
อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์ ฟ้าสางระหว่าง ๘๐ ปี
พุทธทาส อินทปัญโญ (น.๓,๑๑)