คำว่า ความเพียร นี้เป็นเครื่องมือ เป็นธรรมประเภทเครื่องมืออย่างยิ่ง จนมีพระพุทธภาษิตว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ - คนล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ไม่ได้พูดว่ามีความสุข พูดว่าล่วงทุกข์ ก้าวล่วงความทุกข์ไปได้ ด้วยอำนาจของวิริยะคือความเพียร
แต่แล้ว คนเดี๋ยวนี้ก็ล่วงทุกข์ไม่ได้ เพราะมีความเพียรผีสิง ความเพียรผีสิงคือความเพียรที่ทนไม่ได้ รอไม่ได้ พอลงมือทำก็ปวดหัว เดี๋ยวใจก็เป็นโรคประสาท ความเพียรผีสิงมันให้ผลอย่างนั้น คือในจิตใจมันกลัดกลุ้มรอไม่ได้ คอยไม่ได้ แต่ต้องทนทำ ฝืนทำ เพราะความจำเป็นบังคับ มันก็ทำด้วยจิตใจที่กระสับกระส่ายเหมือนผีสิง จะทำได้ก็หยาบกว่าเสมอไป
ที่ถูกคนควรจะรู้จักความเพียรแบบของพระพุทธเจ้า ให้ถูกต้องให้สมบูรณ์ แยกออกเป็น เพียรระวัง เพียรละ เพียรสร้าง เพียรรักษา เป็นความหมายที่กลางที่สุด ใช้ไปในรูปไหนก็ได้
เมื่อระวัง ต้องระวัง อย่าโง่ ระวังอย่าขี้เกียจ ละก็ละความโง่ ละความขี้เกียจ สร้างก็สร้างความขยันความฉลาด แล้วก็รักษาความขยันความฉลาด เพียรอยู่อย่างนี้ ทุกคนจะทำอะไรได้เท่ากันหมด ผิดกันเพียงแต่ช้ากับเร็ว ตามสติปัญญามีมากมีน้อย ถ้ามีปฏิกาณไหวพริบมาก ก็ทำได้เร็ว เรียนได้เร็ว ทำได้เร็ว แต่ถ้ามีความเพียร ย่อมทำได้ แม้จะทำช้าๆ ก็ทำได้ ความฉลาดมีมาเอง ที่เคยโง่ก็ค่อยฉลาดขึ้นมาเอง มันก็เป็นไปได้
สุญญตาปริทรรศน์ เล่ม ๒ (น.๖๕)
ธรรมโฆษณ์ l พุทธทาสภิกขุ