เธอจงมีสติ โดยมองเห็นโลกเป็นของว่างอยู่เสมอ ถอนความยึดมั่นว่าตัวตนออกเสียให้หมด แล้วมัจจุราชจะตามหาเธอไม่พบ
พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่อง "ความว่าง" นี้ มากมายหลายแง่หลายมุม แล้วเราจะพูดกันวันหลัง แต่ที่ควรจะนึกถึงก่อนก็มี เช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่ผู้ที่ไปถาม "เธอจงมีสติเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่เสมอ ถอนความเข้าใจผิดว่าตัวตนเสียได้ แล้วมัจจุราชก็จะตามเธอไม่พบ" มันเป็นคำกลอนไพเราะ ฉะนั้นคำมันก็เพี้ยนๆ ไป ตามแบบของคำกลอน ท่านตรัสไว้เป็นคำกลอน "เธอจงมีสติ โดยมองเห็นโลกเป็นของว่างอยู่เสมอ ถอนความยึดมั่นว่าตัวตนออกเสียให้หมด แล้วมัจจุราชจะตามหาเธอไม่พบ" นี้ก็ถือว่าเป็นหลักที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา
ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะต้องมองให้เห็นว่าในพุทธภาษิต เพียงคำกลอนคำเดียวนี้ สี่บทกลอนนี้มันเป็นการแสดงถึงสติปัญญา พูดว่า "ให้มีสติเห็น" นี้คือปัญญาเห็นโลก โดยความเป็นของว่างอยู่เสมอ แล้วมันก็เป็นเรื่องสติปัญญาล้วน ไม่ใช่เป็นเรื่องจิตเงียบนิ่ง ตัวแข็งเป็นท่อนไม้ นั่งใจลอยอยู่ ที่ถูกคือเป็นๆ อยู่ ตื่นๆ อยู่ มีสติปัญญาอยู่ เห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่เสมอ ไม่มีความรู้สึกว่าตัวกูเหลืออยู่เลย
เมื่อนั้นความตายก็ไม่มีแก่ผู้นั้น มันเลยเป็นเรื่องของสติปัญญาที่สูงสุด เป็นปัญญาตามแบบของพุทธศาสนา แล้วก็สูงสุด จนมัจจุราชเที่ยวตามหาตัวผู้นั้นไม่พบ
คำว่า "สุญญตา" นี้ แปลว่าความว่าง ความว่างของโลก คือความที่ไม่มีตัวตนที่จะหาพบได้ในโลก ความว่างของจิต หมายความว่าจิตประกอบอยู่ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นเราจึงให้หัวข้อของเราในวันนี้ว่า "ความว่างจากตัวกู คือ ความเต็มของสติปัญญา"
สุญญตาปริทรรศน์ เล่ม ๑ (น.๘๒)
ธรรมโฆษณ์ l พุทธทาสภิกขุ