สิ่งทั้งปวงนั้นมันมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา
มันดับไม่ได้ จนกว่าจะดับเหตุเสียก่อน
แม้ใจความสำคัญนี้ ก็เป็นการชี้ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนั่นอีกเหมือนกัน คือเป็นการชี้ให้รู้ว่า อย่าไปเห็นว่าปรากฏการณ์อะไร เป็นตัวตนที่ถาวร ไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวร มีแต่สิ่งที่เกิดงอกงามออกมาจากเหตุ และงอกงามเจริญต่อไปโดยอำนาจของเหตุ และจะดับไปเพราะความสิ้นสุดของตัวเหตุ
คำว่าเหตุในที่นี้หมายถึงสิ่งที่มีอำนาจปรุงแต่ง ซึ่งเราอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปัจจัยก็ได้ สิ่งหนึ่งๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยปรุงแต่งสิ่งอื่นๆ สืบต่อกันไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฎอยู่ในบัดนี้ หรือปรากฎการณ์ ทั้งหลายที่ปรากฎอยู่ในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นผลิตผลของสิ่งที่เป็นเหตุ ไม่มีตัวมันเองที่เป็นของอิสระตายตัว เป็นแต่ความเลื่อนไหลไป ในฐานะเป็นผลของสิ่งที่เป็นเหตุที่ปรุงทยอยกันมาไม่หยุด เพราะอำนาจของธรรมชาติมีลักษณะปรุงไม่หยุดยั้ง สิ่งต่างๆ จึงปรุงแต่งกันไม่หยุด และเปลี่ยนแปลงกันไม่หยุด
พุทธศาสนาจึงบอกให้รู้ว่าสิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตน มีแต่ความที่เหตุปัจจัยปรุงแต่งกันไป และเป็นความทุกข์รวมอยู่ในนั้นด้วย เพราะไม่มีอิสระในตัวเอง ต้องเป็นไปตามอำนาจของเหตุ จะไม่มีความทุกข์ ก็ต่อเมื่อหยุดหรือดับ จะหยุดหรือดับ ก็ต่อเมื่อดับเหตุ ทำเหตุนั้นให้หยุดให้ดับ ไม่ให้มีการปรุงสืบไป ข้อนี้เป็นการบอกให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างลึกซึ้ง อย่างสุดสามารถที่คนเราหรือว่าผู้มีสติปัญญาตามธรรมดาจะบอกได้ นับว่าเป็นหัวใจพุทธศาสนาจริงๆ
การบอกนี้คือบอกให้รู้ ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นแต่เรื่องของมายา คือเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งกันขึ้นเท่านั้น อย่าไปหลงยึดถือ จนชอบ หรือชังมันเข้า ทำใจให้เป็นอิสระจากความชอบ หรือความชังดีกว่า เมื่อทำใจให้เป็นอิสระจากความชอบหรือความชังในสิ่งทั้งปวงได้จริงๆ แล้ว นั่นแหละ คือการออกมาเสียได้จากอำนาจแห่งเหตุ เป็นการดับเหตุเสียได้ ไม่ทำให้ความทุกข์เกิดได้ เพราะความชอบหรือความชังอีกต่อไป
ข้อนี้เห็นได้ว่า หลักหัวใจพระพุทธศาสนานั้น ก็เป็นการชี้ในข้อที่ว่า "อะไรเป็นอะไร" อย่างถูกต้องลึกชื้งที่คนทั่วไปตามธรรมดาไม่เคยได้ยินได้ฟังนั่นเอง อีกอย่างเดียวกัน
ตุลาการิกธรรม เล่ม ๑ (น.๑)
ธรรมโฆษณ์ : พุทธทาสภิกขุ