"...พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เมล็ดพันธุ์แห่งความรู้ เพาะปลูกแล้ว
เจริญเติบโตแล้ว เบิกบานถึงที่สุดแล้ว
นี่เราจะเป็นพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้า
เราก็ต้องรู้เรื่องนี้..."
ทีนี้ชีวิตที่สูงขึ้นมาจากสัตว์เดรัจฉานก็มาถึงคน คนธรรมดาที่ยังไม่มีการศึกษาอย่างกับเป็นคนป่ายุคแรกๆ ที่สุดนี้ก็ไม่สู้จะแตกต่างจากสัตว์มากนัก นี่เราเรียกว่าเป็นคนตามธรรมชาติ มันเป็นไปเองตามธรรมชาติ
เอ้า ทีนี้ชีวิตมันมีวิวัฒนาการขึ้นมาเป็นคนที่รู้อะไรได้คือเป็นมนุษย์ขึ้นมา เป็นคนนะเป็นตามธรรมชาติ เป็นมนุษย์นี้ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติแล้ว เพราะมันเกิดมีความรู้อะไรขึ้นมา แล้วมันก็ประพฤติกระทำหรือจัดความเป็นคนนั้นให้สูงกว่าที่ธรรมชาติจะเป็นไป อย่างนี้เราเรียกว่าเป็นมนุษย์ธรรมดา นี่ถ้าว่ามนุษย์ธรรมดานี้มันจะวิวัฒนาการสูงขึ้นไปอีก
มันก็กลายเป็นมนุษย์ชั้นที่เรียกว่า อริยบุคคล พระอริยเจ้า คือ พระอริยบุคคล สูงสุดอยู่ที่ความเป็นพระพุทธเจ้า นี่ชีวิตมันมีอยู่หลายระดับอย่างนี้ ชีวิตอย่างเซลล์ในน้อยๆ ชีวิตอย่างพืชพันธุ์ต้นไม้ ชีวิตอย่างสัตว์เดรัจฉาน ชีวิตอย่างคนธรรมดา นี้มันก็มีชีวิต
ในสิ่งที่มีชีวิตมันก็มีเมล็ดพันธุ์แห่งความรู้ เขาเรียกกันว่าธาตุรู้ ในเซลล์หนึ่งๆ มันก็มีธาตุรู้ ไอ้เซลล์นั้นมันก็รู้จักต่อสู้ รู้จักกินอาหาร รู้จักอะไรของมัน มันมีธาตุรู้เพียงแค่นั้น ในต้นไม้มันก็มีธาตุรู้ รู้จักกินอาหาร รู้จักโน้มไปหาแสง รู้จักสืบพันธุ์ รู้จักมีความรู้สึกต่อสู้ มันก็มีธาตุรู้
นี้มาถึงสัตว์มันก็มีธาตุรู้มากกว่าต้นไม้ขึ้นไปอีก มาถึงคนแม้คนธรรมดาสามัญมันก็มีธาตุรู้มากไปกว่าสัตว์อีก ทั้งหมดนี้มันมีธาตุรู้ในลักษณะที่เป็นเหมือนกับเมล็ดพืช คือ สิ่งที่จะต้องขยายตัวเบิกบานออกไป ช่วยจำคำว่าเบิกบานไว้ให้ดี ถ้ามันหุบอยู่ มันหยุดอยู่ มันนิ่งอยู่ มันไม่เบิกบานแล้วมันก็ไม่มีวิวัฒนาการ
ทีนี้ก็มาถึงชั้นมนุษย์ สูงกว่าคนคือมนุษย์ นี่เมล็ดพืชแห่งธาตุรู้นั้นมันจะถูกเพาะหว่านให้เกิดเป็นต้น เป็นลำอะไรขึ้นมา จนกระทั่งถึงชีวิตขั้นอริยบุคคล มันก็เป็นการเพาะหว่านที่ได้ผลคืองอกงามเป็นต้น และมันก็เป็นการเบิกบานถึงที่สุด เราจึงมีคำบัญญัติสำหรับพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าคือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
นี่บทสวดก็มีอยู่แล้วว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เมล็ดพืชแห่งความรู้ เพาะปลูกแล้ว เจริญเติบโตแล้ว เบิกบานถึงที่สุดแล้ว นี่เราจะเป็นพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้า เราก็ต้องรู้เรื่องนี้ รู้ความหมายของคำว่า พุทธะ นี่เป็นคำที่ต้องการจะให้รู้กันอย่างยิ่งทุกคน ไม่เสียทีที่ว่าปฏิญาณตนว่าเป็นพุทธมามกะ เป็นต้น
จากหนังสือประโยชน์ของการเป็นพุทธบริษัท (น.๑๒)
พุทธทาสภิกขุ
พระราเชนท์ อาจริยวํโส รวบรวม