การตรัสรู้นั้นเป็นเรื่องของปัญญา
ปัญญาคือความรู้ความเข้าใจขั้นที่จะทำให้ตรัสรู้นี้
มีความหมายลึกซึ้งลงไป กล่าวคือ การตรัสรู้นั้นหมายถึงว่า
ประการที่ ๑ รู้แจ้งความจริงของสิ่งทั้งปวง
เห็นสว่างโล่งทั่วไปหมด ไม่มีจุดหมองจุดมัว
เพราะความรู้นั้นชำระใจให้หมดกิเลส
ให้บริสุทธิ์ด้วย เพราะฉะนั้น ปัญญาตรัสรู้นี้จึงหมายถึงความรู้บริสุทธิ์ หรือความรู้ที่เป็นเหตุให้เกิดความบริสุทธิ์
ประการที่ ๒ ปัญญาที่ทำให้ตรัสรู้นี้ทำให้เกิดความตื่น คือ เดิมนั้นมีความลับอยู่ คือมัวเพลิน มัวประมาทอยู่ ไม่ลืมตาลืมใจดูความเป็นจริง และมีความหลงใหล เช่น มีความหมกมุ่นมัวเมา ยึดติดในสิ่งต่างๆ เมื่อปัญญารู้แจ้งความจริงตรัสรู้แล้วก็กลายเป็นผู้ตื่นขึ้น พ้นจากความหลับ จากความประมาทมัวเมา พ้นจากความยึดติดต่างๆ พูดสั้นๆ ว่า ตื่นขึ้นทั้งจากความหลับไหลและจากความหลงใหล และ
ประการที่ ๓ จากการที่บริสุทธิ์และตื่นขึ้นมานี้
จะทำให้จิตใจของผู้นั้นมีความเบิกบานผ่องใส
ปลอดโปร่งโล่งเบา เป็นอิสระ อันนี้คือสภาพจิตที่ดีงาม
ถ้าเรียกในสมัยปัจจุบันก็ว่าเป็นสุขภาพจิตที่ดีมาก
ถ้าผู้ใดก็ตามมีสุขภาพจิตอย่างนี้แล้ว
แม้จะไม่ถึงขั้นหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง
ก็นับว่าเป็นผู้มีความสุขมาก
ถ้าเป็นผู้ป่วยไข้ก็เรียกว่ามีสภาพจิตที่เหมือนกับไม่ได้ป่วย
อย่างที่เรียกว่า กายป่วยแต่ใจไม่ป่วย
หรือป่วยแต่กายใจไม่ป่วย
ดังที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสสอนท่านผู้สูงอายุ
ท่านผู้เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะกระสับกระส่ายในวัยชราว่า
ให้ทำใจว่า ถึงแม้กายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วยด้วย
ถ้าทำอย่างนี้ ก็จะเป็นจิตใจที่มีความสุขและก็จะช่วยผ่อนคลายหายจากโรคนั้น
หรืออย่างน้อยก็บรรเทาทุกขเวทนาที่เกิดจากโรคนั้นลงได้
อันนี้คือการอธิบายความหมายของคำว่าโพชฌงค์ ที่แปลว่าองค์แห่งการตรัสรู้
จากหนังสือโพชฌงค์ : พุทธวิธีเสริมสุขภาพ (หน้า ๔)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ฉบับไทย - อังกฤษ พิมพ์ครั้งแรก
สิงหาคม ๒๕๖๓
พุทธวิธีเสริมสุขภาพ