ว่างที่ไม่ใช่สูญเปล่า คือ เพียงแต่ว่างจากความรู้สึกว่า "เรา" ว่า "ของเรา" เท่านั้น นี้คือ ว่างของพระพุทธเจ้า
ที่ในเมืองไทยเรานี้ก็มีการสอนกันผิดๆ เพราะแปลคำนี้ผิด ขนาดนักศึกษายังหลงผิด ยังฟังมาผิด ตั้งแต่กาลก่อนมา เขาแปลคำว่า "ว่าง" นี้ว่า สูญเปล่า ไม่ได้อะไร ไม่มีอะไร ถ้าแปล "ว่าง" ว่าสูญเปล่าละก็ผิดแน่ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้มีความหมายว่า สูญเปล่า แต่มีความหมายว่า "ว่าง" อย่างที่ในบาลีมีคำอธิบายที่เป็นคำนิยามอยู่ชัดแล้ว เช่นว่า ที่ว่าโลกว่าง โลกนี้ว่าง ก็เพราะ ว่างจากส่วนที่ควรถือ ว่าของเรา ว่าตัวเรา
เรื่องว่างนี้เราพูดเสียใหม่ เราพูดไม่ให้กำกวมก็ได้ คือพูดว่า " ทุกสิ่งไม่มีอะไรที่ควรถือว่า เป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา" ใช้ประโยคนี้แหละ ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมดนี้ ไม่มีอะไรที่ควรถือว่าเป็นตัวเรา - เป็นของเรา เมื่อมันว่างก็ไม่มีส่วนที่ควรถือว่า เป็นตัวเรา - ของเรา แต่ท่านใช้คำสั้นที่สุด ว่า "โลกว่าง" เพราะไม่ใช่อัตตา เพราะไม่ใช่อัตตนียา, ว่างเพราะไม่มีอะไรเป็นอัตตา คือ เป็นตัวเรา โลกว่างเพราะไม่มีอะไรเป็นอัตตนียา และที่พูดว่า "ไม่มีอะไร" ก็เท่ากับพูดว่า มีหมดครบหมด แต่ไม่มีส่วนไหนจะมาเป็นตัวเรา หรือของเราได้
จากหนังสือธรรมปาฏิโมกข์ เล่ม ๑ (น.๘๐)
พุทธทาสภิกขุ