เป็นอยู่อย่างต่ำ มีการกระทำอย่างสูง
เรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องนุ่ง เรื่องห่ม เรื่องใช้ เรื่องสอยอะไรให้มันต่ำ ในระดับต่ำ แต่ไม่ใช่เลว คำว่า ต่ำ ไม่ได้หมายความว่าเลว เรื่องการกระทำทางกายทางวาจาทางใจนี้ ให้มันสูงสุดเท่าที่จะสูงได้ สำหรับความคิดความมุ่งหมายอะไรนั้น ให้มันสูงถึงนิพพาน มีความมุ่งหมายที่จะไปนิพพาน คืออยู่เหนือโลกเหนือทุกสิ่ง ที่มันน่าเกลียดน่าชัง มีความทุกข์ทรมาน
พระเณรสมัยนี้ก็ลืมตัวกันหมดในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในเมืองหลวง ไม่มีใครคิดจะกินอยู่อย่างต่ำ อุตส่าห์ขวนขวายให้มันมีการกินอยู่อย่างสูง แล้วการกระทำนั้นก็ไม่สูง เพียงแต่เล่าเรียนอะไรเพื่อประโยชน์ในอนาคต เพื่อเป็นอาชีพ เรียนเป็นเปรียญ ๙ ประโยคนี้ เพื่อจะออกไปรับราชการทีเดียวได้ตำแหน่งพอเลี้ยงชีพ อย่างนี้ไม่สูง ฉะนั้นพระป่าที่ไม่รู้อะไร ทำนองนั้น ไม่รู้อะไรกับเขา แต่ว่ามีจิตใจสูง มีความมุ่งหมายสูง มีการกระทำสูง ในบาลีเขาเขียนว่า เทวดาไหว้พระพวกนี้ ในหนังสือภาษาบาลี ไม่ใช่ในพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกก็อาจจะมี แต่นี้หมายถึงในอรรถกถามีเยอะแยะไปหมด เทวดาไม่ไหว้ ไม่ไหว้พระที่ทรงพระไตรปิฎก ไปไหว้พระที่ไม่รู้ปริยัติ แต่มีการบังคับตัวเองสำรวมดี แสดงว่าครั้งโน้นเขาก็รู้เรื่องนี้กัน เขานึกถึงเรื่องนี้กันว่า สูงนั้นมันสูงที่เป็นเรื่องของธรรมะ มีกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์สะอาด แล้วสูง ไม่ใช่มีวิทยฐานะให้สอบได้ได้มาก
ที่นี้ผมยังเชื่ออยู่เสมอว่า แม้ออกไปเป็นฆราวาส หลักเกณฑ์อันนี้ก็ใช้ได้ แต่ต้องกล้า กล้าพอ เป็นอยู่อย่างต่ำ มีการกระทำอย่างสูง ทีนี้โลกมันจะฉิบหายเพราะข้อนี้ ทั้งโลกนี้มันตะกละในเรื่องความสุข เรื่องกินเรื่องอยู่อะไรนี้ จิตใจมันก็ไม่สูง เพราะมัน กินอยู่สูง จิตใจมันก็หล่นลงมาต่ำ จิตใจทราม เห็นแก่ตัวเอาเปรียบผู้อื่น โดยรู้สึกว่าไม่เป็นเรื่องที่เสียหายอะไร ถึงกับจะแก้ศีลธรรม แก้ไขระบบศีลธรรมกันแล้ว นี่ศีลกาเมสุมิจฉาจารนี้ไม่ต้องมีแล้วในโลกนี้ นี่ผลของการตามใจตัวเรื่องเนื้อหนัง ปัญหาทั้งโลกมันเกิดขึ้น เพราะการที่เป็นทาสของวัตถุนิยม เพราะว่ามันอยากกินอยู่สูง แล้วใจมันก็ลงต่ำมาเอง ถ้าจะกินอยู่ต่ำใจมันก็ต้องหนีไปทางสูง เป็นเรื่องที่ธรรมชาติบันดาลให้เป็นไป คล้ายๆมันเป็นอย่างนั้นอยู่โดยธรรมชาติ ถ้าเราพ่ายแพ้แก่รสอร่อยจิตใจมันก็ต่ำ เราชนะต่อรสอร่อยจิตใจมันก็สูง มันก็มีเท่านี้เอง เมื่อยังเป็นพระอยู่ ก็ต้องทำให้มันดี ให้มันมากกว่าที่เป็นฆราวาส ฆราวาสก็ควรทำอย่างนี้เหมือนกัน
จากหนังสือนวกานุสาสน์ (น.๑๐๔)
พุทธทาสภิกขุ