ธรรม คือ ตัวธรรมชาติ
ธรรม คือ กฎของธรรมชาติ
ธรรม คือ หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติ
ธรรม คือ ผลที่เกิดมาจาก การปฏิยัติหน้าที่อย่างถูกต้อง
ความหมายของคำว่า "ธรรม"
ทีนี้ก็มาถึงคำว่า "ธรรม" คำว่า ธรรม นี้เคยบอกกันมาตลอดเวลา ว่าคำๆนี้เป็นอย่างไร คำนี้เป็นคำประหลาด พิสดารอย่างยิ่งในภาษาบาลี หรือที่เราเอามาเป็นภาษาไทย "ธรรม" คำนี้หมายถึงทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไร เล็งไปถึงทุกสิ่งโดยไม่ยกเว้นอะไร จนถึงกับแปลเป็นภาษาอื่นไม่ได้ แม้ในภาษาไทยเรา ก็ต้องใช้คำว่า "ธรรม" ไปตามเดิม. เพื่อจะให้เข้าใจได้บ้างก็เคยบอกว่า เรามาพิจารณาดูสิ่งที่เรียกว่าธรรมนี้กัน สัก ๔ ความหมายเถิด
ความหมายที่ ๑. ธรรม คือตัวธรรมชาติ ที่ปรากฏอยู่ จะเป็นรูปธรรม นามธรรม จะเป็นเหตุ หรือจะเป็นผล หรือจะเป็นกิริยาอาการ ที่เปลี่ยนแปลงหมุนเวียนก็ตาม นี้เรียกว่าปรากฏการณ์ที่ปรากฏอยู่ เรียกว่าธรรมทั้งนั้น คือปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ
ความหมายที่ ๒. ก็คือ กฎของธรรมชาติ นั่นเอง ก็เรียกว่า "ธรรม" ตัวธรรมชาติ ย่อมมีกฎของธรรมชาติกำกับอยู่ สิงอยู่ ก็เรียกว่า "ธรรม" กันไปเสียทั้ง ๒ อย่าง
ความหมายที่ ๓. หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติ ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาตินั้น ก็ยังเรียกว่า "ธรรม" อีกนั่นแหละ คำเดียวกันนั่นแหละ แต่เป็นธรรมในส่วนที่เป็นหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติ หรือกำลังปฏิบัติอยู่ก็ตาม ก็เรียกว่าธรรม
ความหมายที่ ๔. ได้ผลอย่างไรมา เป็นความสุขความทุกข์, หรือแม้กระทั่งเป็นสิ่งที่เรียกว่าบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ก็เรียกว่า "ธรรม" นี่ในฐานะที่เป็นผลที่เกิดมาจาก การปฏิบัติหน้าที่ อย่างถูกต้อง
จากหนังสือธรรมสัจจสงเคราะห์ (น.๘)
พุทธทาสภิกขุ