"สิ่งทั้งหลายทั้งปวง เป็นไปในอำนาจของสิ่งๆ เดียว คือจิต"
ที่ว่าธรรมะครองโลกนี้ อยากจะขอย้ำไว้เสมอว่า ธรรมะนั้นครองใจคน, เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับแห่งโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับแห่งโลกก็ดี อยู่ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง ที่ยังเป็นๆ คือยังมีทั้งสัญญา มีทั้งใจ เอาละ สิ่งที่เรียกว่าโลกโดยแท้จริงนั้นอยู่ในคน อยู่ในคนด้วยซ้ำไป ไม่ใช่ว่าที่ตัวคนที่ยาววาหนึ่ง แต่มันอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าคน ที่ยาวประมาณวาหนึ่งนั้น.
เมื่อธรรมะจะครองโลก ก็ต้องครองอยู่ที่สิ่งนั้น คือที่อยู่ในคนที่ยาวประมาณวาหนึ่ง ไม่ได้หมายถึงตัวโลกทางวัตถุ ที่เห็นด้วยตาที่ใหญ่โตกว้างขวางนี้. แต่ถึงอย่างนั้น ก็จะหมายถึงตัวโลกทางวัตถุที่ใหญ่โตกว้างขวางนี้ด้วยก็ได้ เพราะว่าโลกวัตถุหรือโลกทางกายนี้ มันก็ขึ้นอยู่กับโลกทางจิตใจ มันเป็นไปตามความเจริญของจิตใจ
เห็นได้ง่ายๆว่ามนุษย์นี้ ก็จัดอะไร ทำอะไรไปตามจิตใจ ตามความต้องการของตน สิ่งต่างๆจึงเกิดขึ้นในโลกอย่างนี้ แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน มันก็ทำอะไรไปตามจิตใจ หรือไปตามความประสงค์ของมัน มันจึงเกิดนั้นเกิดนี่ขึ้น เพราะสัตว์เดรัจฉานมันขวนขวายกระทำไปตามความต้องการในจิตใจของมัน
แม้แต่ต้นไม้ ซึ่งเป็นโลกๆ หนึ่ง ซึ่งก็มีจิตใจ แต่มันน้อยมาก มันต่ำมาก มันสลัวมาก จนไม่เรียกกันว่าจิตใจ. แต่ที่ถูกนั้นก็เป็นนามธรรมอันหนึ่ง ซึ่งมันรู้สึกได้ เมื่อมันรู้สึกได้มันก็มีความต้องการได้ ฉะนั้นต้นไม้จึงมีความต้องการ และวิวัฒนาการไปตามความรู้สึก เช่น เติบโตได้ เปลี่ยนแปลงอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ยืดออกไปทางนั้นได้ หดเสียทางนี้ได้ อย่างนี้เป็นต้น ก็เป็นไปตามความต้องการ ซึ่งที่แท้ก็เป็นความรู้สึก ซึ่งเราเรียกกันว่า เป็นเรื่องของจิตใจ
ท่านผู้รู้ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน จึงได้กล่าวไว้ว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวง เป็นไปในอำนาจของสิ่งๆเดียว คือจิต" แต่ขอให้รู้ว่า จิตนี้มีอยู่หลายระดับ แต่ก็คงเรียกว่าจิตเหมือนกัน สิ่งทุกสิ่งเป็นไปในอำนาจของสิ่งสิ่งเดียวคือจิต
จากหนังสือเมื่อธรรมครองโลก (น.๙๖)
พุทธทาสภิกฺขุ