"จิตที่คิดจะให้ นั้นสบายกว่าจิตที่คิดจะเอา"
ถ้าใครยังคิดถึงแต่เรื่องของตัว บุคคลนั้นจะมีจิตใจชนิดหนึ่ง ซึ่งเหมาะสำหรับจะถูกกิเลสกลุ้มรุม กิเลสจะกลุ้มรุมจิตใจ ของบุคคลผู้มีความเห็นแก่ตัวส่วนเดียว นั่นแหละมากขึ้นๆ หลายปีๆ หนักเข้าๆ ก็จะยุ่งไปหมด สางไม่ออก เพราะมันมีความเห็นแก่ตัวมากเกินไป ในลักษณะที่จิตใจนี้ไม่เบิกบาน จิตนี้ไม่ได้ถูกปล่อยให้ออกไปกว้างๆ ไปทั่วๆ โลก
จิตนี้มันหมกมุ่น มันม้วนเข้ามา ม้วนเข้ามา รวมจุดอยู่ที่ตัวกูตัวเดียว มันไกลกันมากจากจิตของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระศาสดาของเรา คือท่านมีจิตที่แผ่กว้างออกไป กว้างออกไป ไกลออกไป ถึงผู้อื่น จนลืมนึกถึงพระองค์เอง คือ ไม่รู้เรื่องเหน็ดเหนื่อย ลำบาก ในการที่จะไปเที่ยวสอนผู้อื่น นี่แหละเรียกว่า นึกถึงแต่ผู้อื่นจนลืมเรื่องของตัว
ทีนี้ ถ้าอีกคนหนึ่ง มันตรงกันข้าม มันนึกถึงแต่เรื่องของตัว มารวมจุดอยู่ที่ตัว มันก็ต้องมีการแปลกกันอย่างมากมาย แม้เรื่องของตัวแท้ๆก็จะแก้ไม่ได้ เพราะมันสลับซับซ้อนเกรอะกรังมากเกินไป
นี่เราไม่พูดถึงยุวชน อะไรก็ได้ พูดแต่หลักกลางๆ ว่าเราจะต้องนึกถึงผู้อื่น เมื่อนึกถึงผู้อื่น ก็นึกไกลไปถึงโลกในอนาคต เมื่อนึกถึงโลกในอนาคต มันก็ไปหาเยาวชน เพราะเยาวชนมันจะเป็นผู้จัดโลกในอนาคต
ถ้าใครคิดอย่างนี้ จะรู้สึกสบายขึ้นมาทันที การไม่นึกถึงตัว แต่นึกไปถึงผู้อื่นนั่น จะรู้สึกสบายขึ้นมาทันที เหมือนกับที่เคยบอกกันมาแล้วว่า "จิตที่คิดจะให้ นั้นสบายกว่าจิตที่คิดจะเอา" แต่คงฟังยากสำหรับบางคน เขาไม่เคยมีจิตที่คิดจะให้โดยบริสุทธิ์ มันก็ไม่ได้รู้รสของจิตชนิดนี้ และมันก็รู้รสของ "จิตที่คิดจะเอาอยู่ตลอดเวลา" คำนวณไม่ถูก
เยาวชนกับศีลธรรม (น.๓๐)
พุทธทาสภิกฺขุ